โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

70 ปีภาษามลายูกับการต่อสู้ จากหะยีสุหลงถึงอาเซียนและสันติภาพ

Posted: 12 Oct 2013 11:07 AM PDT

70 ปีภาษามลายูท่ามกลางการต่อสู้ ตั้งแต่ยุคหะยีสุหลงถึงการเปิดประชาคมอาเซียน กระทั่งเป็นสื่อในกระบวนการสันติภาพ แต่กระนั้นการใช้ภาษามลายูของคนในพื้นที่ก็ยังมีปัญหา จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคประชาชนในการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของคนปาตานี

70 ปีกว่ารัฐจะยอมรับภาษามลายู

"ความพยายามรื้อฟื้นภาษามลายูที่ปาตานี(3จังหวัดชายแดนภาคใต้) เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีมาแล้ว คือในสมัยหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้นำศาสนาอิสลามในสมัยนั้นได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 7 ข้อเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลไทย

ใน 7 ข้อดังกล่าว มี 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายู คือ ข้อเรียกร้องที่ให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูทุกระดับการศึกษา และข้อเรียกร้องที่ให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

ปัจจุบันการใช้ภาษามลายูในพื้นที่มีปัญหามาก ถึงขนาดที่ว่า เด็กๆ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่เอง ไม่สามารถฟังคุตบะห์(การเทศนาธรรม) ในการละหมาดวันศุกร์ด้วยภาษามลายูได้เข้าใจ ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาษามลายูที่ปาตานีในช่วงที่ผ่านมา"

นั่นคือคำถามชวนคิดข้อหนึ่งที่ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม (ตนกู อารีฟีน บินจิ) ประธานคณะกรรมการดำเนินสถานีโทรทัศน์และวิทยุภาษามลายู กล่าวในพิธีเปิดการเสวนาสื่อภาษามลายู หัวข้อ "Bahasa Melayu Dalam Era Proses Damai"

เป็นวงเสวนาที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี จัดโดย madrasah kewartawanan sempadan selatan (DSJ) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นความพยายามในการฟื้นตัวของภาษามลายูในพื้นที่มากขึ้น เห็นได้จากการมีสื่อภาษามลายูมากขึ้น เช่น วิทยุภาษามลายู หนังสือพิมพ์หรือวารสารภาษามลายู

"ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเองก็ยอมรับภาษามลายูมากขึ้น เห็นได้จากการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ขึ้นมาแล้ว" พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับภาษามลายู

ในความเป็นจริง การยอมรัฐภาษามลายูของรัฐบาลไทยไม่เพียงแค่เห็นจากการตั้งสถาบันดังกล่าวเท่านั้น หากพิจารณาในช่วงหลังๆมานี้ จะพบว่า รัฐได้กำหนดเป็นนโยบายในการส่งเสริมภาษามลายูในพื้นที่แล้ว

โดยในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้ระบุชัดเจนในวัตถุประสงค์ข้อที่ 5 ว่า รัฐต้องส่งเสริมให้คนในพื้นที่สามารถเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศทั้งในด้านการศึกษาและการสื่อสาร

เมื่อมีนโยบายชัดเจน กิจกรรมหรือโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายูก็เกิดขึ้นตามมา โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นแม่งานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนภาษามลายูในพื้นที่

ที่ผ่านมา มีหลายโครงการ ศอ.บต.ดำเนินการ เช่น การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์มลายู 24 ชั่วโมง การติดตั้งป้ายภาษามลายูในหน่วยงานของรัฐบาล การติดตั้งป้ายภาษามลายูริมทางหลวง กระทั่งมีความพยายามเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นภาษามลายูให้ถูกต้องตามคำเรียกดั้งเดิม เป็นต้น

นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังเปิดอบรมภาษามลายูอีกหลายรายการ โดยเฉพาะการอบรมครูผู้สอนภาษามลายูตามโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ และอบรมกลุ่มสื่อวิทยุในพื้นที่ ถึงกระนั้นก็ตาม หลายรายการวิทยุภาษามลายูของรัฐ ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการใช้ภาษา

การเกิดขึ้นของอาเซียน

ยังมีอีก 2 ประการ ที่ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำต้องยอมรับภาษามลายู ในฐานะอัตลักษณ์หนึ่งของคนมลายูในพื้นที่

ประการแรก คือการเกิดขึ้นของประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนที่พูดภาษามลายู ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวม เมื่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียนมาถึงในปี พ.ศ.2558 เพราะจะมีการเปิดให้เคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าได้อย่างเสรี

ประการต่อมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาษามลายูได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการต่อสู้ของคนในพื้นที่ เนื่องจากคนในพื้นที่มองว่า ความตกต่ำของภาษามลายูมาจากความตั้งใจของรัฐเองที่ไม่ต้องการให้คนในพื้นที่พูดภาษามลายูแล้วหันมาพูดภาษาไทยอย่างเดียว ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของเหตุรุแรงที่เริ่มปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ด้วยเหตุนี้รัฐจึงพยายามสนับสนุนภาษามลายูมากขึ้น เพื่อขจัดเงื่อนไขดังกล่าวออกไป

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้มีการใช้ภาษามลายูอย่างถูกต้องของหลายองค์กรในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนและองค์กรสื่อด้วย

ภาษามลายูกับกระบวนการสันติภาพ

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการต่อสู้ที่อยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ โดยเริ่มปรากฏการต่อสู้ในทางการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) หรือบีอาร์เอ็น (BRN) เริ่มปรากฏตัวผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย

การสื่อสารของ BRN ก็ใช้ภาษามลายู ทั้งการสื่อสารต่อมวลชนในพื้นที่หรือต่อสาธารณะ เห็นได้จากการประกาศข้อเรียกร้องของขบวนการผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือป้ายข้อความต่างๆ ที่ถูกติดตั้งตามจุดต่างๆในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่การแปลเนื้อหาจากภาษามลายูมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้สังคมไทยได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ภาษามลายูจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของการสร้างสันติภาพในพื้นที่ไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีการอธิบายเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของขบวนการBRN ที่เป็นเอกสาร 38 หน้าที่ส่งให้ฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายBRNเริ่มจากการเขียนด้วยภาษามลายู ส่งให้ฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ

ฝ่ายมาเลเซียก็จัดการแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งมาให้ฝ่ายไทย แน่นอนฝ่ายไทยก็ต้องจัดการแปลเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง ก่อนจะส่งให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ซึ่งในทางกลับกันในการตอบกลับของฝ่ายไทยก็คงต้องมีการแปลกลับไปเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายูต่อไปด้วย

โจทย์สำคัญในการรื้อฟื้นภาษามลายู

ทว่า ความพยายามในการรื้อฟื้นภาษามลายูในพื้นที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากปัจจุบันการใช้ภาษามลายูของคนในพื้นที่มีปัญหามาก เหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับอิทธิพลจากสื่อภาษาไทยที่มีอยู่ตลอดทั้งวัน และไม่มีสื่อภาษามลายูอย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้คนรุ่นใหม่ใช้ภาษามลายูที่ไม่ถูกต้อง มีการแทรกคำในภาษาไทยมากขึ้น เพราะนึกคำในภาษามลายูไม่ออก มีการใช้คำที่สลับกันระหว่างภาษามลายูกับภาษาไทย หรืออาจจะเห็นบางคนกำลังพูดภาษามลายู แต่ก็เรียงประโยคเป็นแบบภาษาไทยไปแล้ว

ที่สาหัสกว่านั้น คือการเขียน เพราะมีหลายแห่งที่เขียนภาษาไทยด้วยอักษรยาวีแล้วคิดว่าเป็นคำภาษามลายู เช่นคำว่า "กรรมการ" แทนที่จะเขียนว่า "Jawatan kuasa" ก็เขียนเป็นคำว่า "kamkan"

หรืออาจเป็นเพราะต้องการตอบสนองคนมลายูในพื้นที่ที่พูดภาษามลายู แต่เข้าใจภาษาไทยมากกว่า ก็เป็นไปได้

ตัวอย่างนี้เป็นเพียงปัญหาและอุปสรรคส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่จะต้องมาร่วมกันฝ่าฟันกันต่อไป หากจะให้ภาษามลายูของที่นี้เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างพลังทางการสื่อสารในโลกอาเซียนให้ได้ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐมนตรีศึกษาการเปิดสถาบันมลายูไทยแลนด์

Posted: 12 Oct 2013 10:53 AM PDT

จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีศึกษาการ เปิดสถาบันมลายูไทยแลนด์ ส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมุ่งสู่อาเซียน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี คณะกรรมการสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ จัดพิธีเปิดสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์อย่างเป็นทางการ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีนายหะมิดิง สะนอ ประธานสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ กล่าวรายงาน และมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในพิธีเปิดว่า การเปิดสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะเมื่อ 8 ปีก่อนที่ตนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ประกาศนโยบายให้มีการเรียนการสอนแบบ 2 ภาษา คือภาษาไทยกับภาษามลายูกลาง แต่ให้ผู้เรียนเรียนภาษามลายูก่อนแล้วค่อยเรียนภาษาไทย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ด้วยความเข้าใจว่าพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดภาษามลายูถิ่นและใช้ภาษามลายูกลางสื่อสารกับหลายประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์มากเพราะภาษามลายูเป็นภาษาที่กว้างขวาง

นายจาตุรนต์ กล่าว่า การเรียนการสอน 2 ภาษานี้ มีโครงการนำร่องอยู่แล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่ผู้สอนยังคงสอนรูปแบบเดิมอยู่ ที่ผู้เรียนนำไปใช้สื่อสารและประกอบอาชีพไม่ได้ ถือเป็นการสอนที่ล้มเหลว จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนภาษามลายูประสบความสำเร็จ

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกัน คือใช้เวลาเรียนนาน 12 ปี เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี แต่เรียนจบแล้วก็นำไปใช้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เราได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษน้อยมาก ปัจจุบันมีผู้เรียนภาษาอังกฤษ 1 ล้านคน แต่ที่พูดได้และแปลได้มีไม่กี่คน

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ด้านรัฐบาลเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ทุกภาษามีความเท่าเทียมกันและอยากให้ศึกษาอย่างลึกซึ้งและศึกษาอย่างแท้จริง รัฐบาลประสงค์ให้เรียนรู้ภาษามลายู ไทย และจีน เพื่อเรียนรู้ภาษาที่ทรงคุณค่า และนำไปสื่อสาร นำไปประกอบอาชีพและนำไปศึกษาต่อ

นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมหลังพิธีเปิดว่า การส่งเสริมภาษามลายูของรัฐมาจากการพูดคุยกับคนในพื้นที่และตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง จึงสองคล้องกับนโยบายของรัฐที่ทำโครงการสอนภาษามลายูในพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อนภาษามลายูได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า การก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ คือ หนึ่งในยุทธศาสตร์ของศอ.บต.ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวว่า การใช้ภาษามลายูกลางสามารถสร้างเครือข่ายกับมิตรประเทศที่ใช้ภาษามลายูได้ และใช้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งเป็นต้นทุนของคนในพื้นที่อยู่แล้ว และประเทศไทยก็จะได้เปรียบเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 เพราะประเทศไทยก็จะมีศักยภาพมากขึ้น

สำหรับการก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ ระบุว่า เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อภาษามลายู ทั้งทางด้านการศึกษา ศาสนา สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมแนวคิดด้านพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยและเร่งนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ภายในงานพิธีเปิดดังกล่าว มีการจัดเสวนาทางวิชาการและการจัดงานราตรีวรรณกรรมภาษามลายูอาเซียนในช่วงเวลากลางคืนด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิชีววิถีเตือนการส่งออกมะละกอกำลังเข้าสู่วิกฤต

Posted: 12 Oct 2013 10:40 AM PDT

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เตือนการส่งออกมะละกอเข้าใกล้วิกฤต เหตุยุโรปตรวจพบมะละกอที่นำเข้าจากประเทศไทยปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอมากเป็นประวัติการณ์ ชี้ไทยอาจสูญเสียตลาดทั้งหมดในยุโรปและญี่ปุ่น หลังญี่ปุ่นเริ่มต้นมาตรการตรวจเข้มเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา

 
12 ต.ค. 56 - หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้สั่งให้ตรวจเข้มผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยมากขึ้น โดยสุ่มตรวจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยตรวจหาสาเหตุของการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์มะละกอของไทย หลังจากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะละกอจีเอ็มโอต้านโรคใบด่างจุดวงแหวน (Papaya Ring Spot Virus)ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยซึ่งขัดต่อกฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Act) ของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีสัญญาณชี้ว่าการส่งออกมะละกอของไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตแล้ว เนื่องจากสหภาพยุโรปพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มจากประเทศไทยมากเป็นประวัติการณ์
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า จากการติดตามระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยทางอาหารและอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed) ของสหภาพยุโรปพบว่า เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ยุโรปตรวจพบมะละกอผลดิบและผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งที่นำเข้าจากประเทศไทยปนเปื้อนจีเอ็มโอสูงถึง 24 ตัวอย่างทั้งๆที่เป็นการสุ่มตรวจเพียงแค่ 9 เดือนแรกของปี 2556 เท่านั้น โดยจากสถิติที่ผ่านมา อียูเพิ่งพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอครั้งแรกจากประเทศไทยเมื่อปี 2549 จำนวน 1 ตัวอย่าง ปี 2552 จำนวน 3  ตัวอย่าง  ปี 2555 จำนวน 11 ตัวอย่าง
 
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีชี้ว่า การตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอจากผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยในระดับสูงขนาดนี้จะทำให้อียูยกระดับการตรวจเข้มมะละกอจากประเทศไทยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยอาจสุ่มตรวจในระดับมากถึง 50% ของจำนวนตัวอย่างที่นำเข้า และหากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อียูอาจสั่งห้ามการนำเข้ามะละกอจากประเทศไทยในที่สุด  "ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรที่ปลูก ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกมะละกอและผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทยที่จะต้องมีภาระเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอก่อนการส่งออกหรือไม่ และเชื่อว่าอียูจะขยายการตรวจสอบไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้มะละกอเป็นส่วนผสม เช่นซอส และฟรุตสลัดที่มีมะละกอเป็นองค์ประกอบด้วย "
 
"ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกซึ่งจะต้องตรวจสอบเมล็ดพันธุ์มะละกอของตนว่ามาจากแหล่งที่ปลอดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ผู้ประกอบการที่รวบรวมผลผลิต แปรรูปและส่งออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมอย่างจริงจังมากกว่านี้"
 
ปัญหาการตีกลับและการตรวจสอบเข้มมะละกอ อาจทำให้ประเทศสูญเสียตลาดการส่งออกมะละกอไปยังยุโรป อียู และอีกหลายประเทศให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จากสถิติเมื่อปี 2554 ของ FAO ประเทศที่ส่งออกมะละกอมากที่สุดคือเม็กซิโก ส่งออก 104,797 ตัน รองลงมาคือบราซิล 28,823 ตัน ส่วนประเทศในอาเซียนที่ส่งออกมากได้แก่มาเลเซีย 22,207 ตัน และฟิลิปปินส์ 2,945 ตัน ส่วนไทยส่งออก 995 ตัน
 
ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยเกิดจากการหลุดลอดของมะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการปลูกทดสอบที่สถานีวิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตร จ.ขอนแก่น รายงานจากการเฝ้าระวังของมูลนิธิชีววิถียังรายงานด้วยว่านอกจากมะละกอแล้ว ปัญหาการปนเปื้อนจีเอ็มโอในข้าวโพดซึ่งยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งความพยายามของบางฝ่ายที่จะนำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม NK603 ของบริษัทมอนซานโต้มาปลูกทดสอบในแปลงเปิด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลัง 14 ตุลา: กนกรัตน์ เลิศชูสกุล - Tyrell Haberkorn - ประจักษ์ ก้องกีรติ ว่าด้วย "คนเดือนตุลา"

Posted: 12 Oct 2013 09:10 AM PDT

คลิปการนำเสนอบทความของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา'  การนำเสนอบทความของ Tyrell Haberkorn จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หัวข้อ "ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา" และการวิจารณ์โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการอภิปรายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 56

 

วิดีโอการนำเสนอบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา'

โดยนำเสนอบทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล หัวข้อ การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา' นั้น ผู้อภิปรายเริ่มต้นจาก คำถามหลักอันเป็น "คำถามยอดฮิตของคนในยุคสมัยความขัดแย้งเหลืองแดง" ที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป" "จากที่คนเดือนตุลาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง กลับกลายมาอยู่ในขั้วตรงข้ามทางการเมือง ภาพคนเดือนตุลาที่มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นนักต่อสู้กับเผด็จการเพื่อความเป็นธรรมของสังคม กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกแยก แบ่งขั้ว มีความขัดแย้งแตกต่างจากภาพที่เคยเห็นในอดีต"

ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการอภิปราย กนกรัตน์ชี้ว่า ภาพการปรากฏตัวของ "คนเดือนตุลา" ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ "ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฉบับประชาธิปไตย" นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพิ่งลงหลักปักฐานในทศวรรษที่ 2530 ความจริงในช่วงต้นที่พวกเขาออกมาจากป่าเมื่อทศวรรษ 2520 คนเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการวมตัวกัน การรวมกันเป็นไปเพื่อเยียวยา รักษาบาดแผลทางการเมือง กระทั่งค่อยๆ รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางการเมือง และได้รับความยอมรับในฐานะ "คนเดือนตุลา" วีระบุรุษประชาธิปไตยแห่งทศวรรษที่ 1970 งานเฉลิมฉลอง 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นงานฉลองประชาธิปไตยระดับชาติ

 

วิดีโอการนำเสนอบทความของ Tyrell Haberkorn ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา

ถัดมาเป็นการอภิปรายของ Tyrell Haberkorn หัวข้อ "ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา" เป็นการศึกษาบทบาทของนักกิจกรรมทางการเมืองในต่างจังหวัด ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 - 2519 ได้แก่ 1.องุ่น มาลิก อาจารย์วิชาจิตวิทยา ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเชียงใหม่ และต่อมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกคณะรัฐประหารนำไปกักบริเวณข้อหาภัยสังคม 2.นายแพทย์อภิเชษฐ์ นาคเลขา หรือนามปากกา "หมอเมืองพร้าว" แพทย์สาธารณสุขประจำ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่วมมือกับประชาชนเพื่อปราบทุจริตใน อ.พร้าว ทำให้ถูกขู่ฆ่า และถูกเขียนจดหมายร้องเรียนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และ 3.พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ปัญญาชนชาวนาจากภาคเหนือ รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกร้องให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา และต่อมาถูกสังหารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517

Tyrell กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาว่า 1.ทำให้สิ่งที่ถูกนับว่าเป็นประวัติศาสตร์เดือนตุลาขยายกว้างกว่าเดิม 2.เขียนประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ทีเดียว การเปลี่ยนรูปสังคมและการเมืองเริ่มต้นตอนที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบระบบเก่า การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้เลนส์ชีวิตบุคคลทำให้เรามองและเข้าใจได้ และ 3.ยืนยันว่าชีวิตบุคคล 3 คนนี้ไม่ใช่มีแค่รายละเอียดน่าสนใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่พลาดไม่ได้ หากเราจะเข้าใจการเปลี่ยนรูปแห่งเดือนตุลาก็ควรทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ช่วงนี้เปลี่ยนขยาย ทั้งเนื้อหาและกรอบคิด

วิดีโอการวิจารณ์การนำเสนอโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ และการแสดงความเห็นของผู้ร่วมประชุม

โดยภายหลังการนำเสนอ ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ตั้งคำถามต่องานศึกษาของกนกรัตน์ ที่ตั้งคำถามที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ เปลี่ยนไป" โดยประจักษ์ถามต่อไปว่าแต่ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือนักต่อสู้รุ่นอื่นๆ แม้แต่ในกลุ่มคนพฤษภา 35 ซึ่งก็มีความคิดไปคนละทิศละทาง ทำไมคนเดือนตุลาจึงกลายเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ของสังคมและในทางวิชาการ ทั้งที่ ในประวัติศาสตร์ทุกคนเปลี่ยน และในทุกสังคมด้วย

งานศึกษานี้กำลังศึกษาในสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นกระบวนการปกติในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม โดยเฉพาะการต่อสู้ที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม ไม่มีทางที่ทุกคนจะเห็นตรงกันตั้งแต่ต้น และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์เกิดมา 40 ปีแล้ว จากคนหนุ่มสาวที่เคยเคลื่อนไหวมาเป็นคนวัย 60 ซึ่งคาดหวังให้ความคิดเหมือนเดิมไม่ได้

สิ่งที่อยากชวนคิดต่อ คือ มุมมองเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ว่ามีประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ จากงานศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ศึกษาขบวนการนักศึกษาญี่ปุ่นในปี 1960 ที่เปลี่ยนไป โดยสัมภาษณ์อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายซึ่งกลายมาเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายขวาที่มีชื่อเสียงในสังคม

ส่วนงานศึกษาของ Tyrell ที่ตั้งคำถามว่า "คนเดือนตุลา" หมายถึงใครบ้าง ทั้ง 3 คนที่นำมานำเสนอ คือคนเดือนตุลาหรือไม่ เมื่อทั้ง 3 ต่างก็เกิดความตื่นตัวเข้าร่วมต่อสู้ทางสังคมจากเหตุการณ์เดือนตุลา และถึงที่สุดคนเดือนตุลาเป็นแค่กลุ่มนักศึกษาหรือเปล่า ไม่ได้รวมกรรมการ ชาวนา หรือครูที่มาทำงานเพื่อสังคมเอาไว้ด้วย เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาเรานับรวมใครและไม่นับรวมใครบ้าง

งานศึกษาเป็นการศึกษาชีวิตของคนที่ไม่ถูกโฟกัสมาก่อน และเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลามีศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และอย่างที่หากคนวิพากษ์วิจารณ์คือเป็นประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ แม้แต่ประวัติศาสตร์นักศึกษาก็มีการตั้งคำถามว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อยู่ที่ไหน จึงไปศึกษาตัวละครอื่นๆ ไปรื้อฟื้นคนเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วคนเหล่านี้อาจไม่ใช่คนชายขอบที่ไม่มีตัวตนจริงๆ ทุกท่านมีตัวตนทางสังคม ไม่ถึงกับเป็นชายขอบ ยังมีคนที่เป็นชายขอบกว่านี้ที่เราไม่รู้จักเลย ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่อยากศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ

จริงที่ประวัติศาสตร์ตุลากีดกันและละเลยคนจำนวนมากไป แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องปัญหาของชายขอบ แต่เป็นปัญหาเรื่องศูนย์กลางที่ศึกษาไม่ได้ กลายเป็นข้อบกพร่องของประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะคนที่มีบทบาทมากหลายคน หลายกลุ่มที่อยู่ตรงศูนย์กลางกลับถูกทำให้พูดถึงไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงไม่สามารถเข้าใจ 14 ตุลา และ 6 ตุลาได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับเนื้อหาของการนำเสนอโดยละเอียด สามารถติดตามได้จากการนำเสนอของประชาไทก่อนหน้านี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เขื่อน

Posted: 12 Oct 2013 04:13 AM PDT

โดยหลักการพื้นฐานแล้ว ผมยังเชื่อว่า การสร้างเขื่อนกันแม่น้ำหรือสายน้ำขนาดใหญ่ได้ประโยชน์น้อยกว่าเสียประโยชน์

เพราะเขื่อนทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากกว่าที่ตาเราอาจมองเห็นได้ เช่น สูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ได้หมายความเพียงเสียพื้นที่ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นแยะๆ และเป็นที่อยู่อาศัย (กิน-นอน-สืบพันธุ์-ตายไปเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น) ของสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความละเอียดอ่อนของธรรมชาติป่าซึ่งตาเรามองไม่เห็นอีกมาก เช่น เชื้อราและพืชบางชนิดซึ่งมีเฉพาะถิ่น ซึ่งผูกพันอยู่กับสัตว์บางชนิดซึ่งต้องมีเฉพาะถิ่นอีกเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ในระยะยาวหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าคิดในแนวนิเวศวิทยาเชิงลึก ทุกรูปแบบชีวิตย่อมมีสิทธิจะอยู่รอดบนดาวเคราะห์ดวงน้อยนี้เท่ากัน ไม่เฉพาะแต่สิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์เท่านั้น

แต่ความขัดแย้งกรณีเขื่อนแม่วงก์ทำให้ผมกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่ แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าควรหรือไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะผมมีข้อมูลน้อยเกินไป แต่ก็พบว่าเขื่อนเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่าหลักการพื้นฐานที่ผมกล่าวไว้มากทีเดียว

เพราะหลักการพื้นฐานที่ผมยกขึ้นมานั้น เป็นหลักการลอยๆ ที่อยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น จึงใช้ได้เพียงเป็นเครื่องชี้นำทิศทางที่เราควรดำเนินไปเท่านั้น ไม่ใช่กฎตายตัว

ยิ่งกว่านี้ปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของสังคม ซึ่งสังคมไม่อยากแก้ไข หรือกลไกที่มีอยู่ไม่เพียงพอจะแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยปัญหานั้นไว้โดยไม่ทำอะไรเลย เขื่อนจึงเป็นคำตอบของปัญหาสังคมไปอย่างน่าประหลาด

ผมขอยกตัวอย่างจากกรณีเขื่อนแม่วงก์

นํ้าแม่วงก์ทำให้น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมในหน้าน้ำ ทั้งที่อยู่ใกล้ และไกลไปถึงลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่เปิดใหม่ไม่นานมานี้ โดยภูมิสัณฐานของพื้นที่แล้ว ไม่เหมาะกับการทำเกษตร แต่ประชาชนไทยจำนวนมากไม่อาจผันตัวเองไปสู่อาชีพอื่น ซ้ำต้นทุนของการทำเกษตรก็สูงมาก หากต้องซื้อที่ดินในเขตที่เหมาะสม จนกระทั่งหากไม่สามารถทำเกษตรได้ เขาจะยังชีพอยู่ได้อย่างไร

ดังนั้น พื้นที่ "ชายขอบ" ของการเกษตรจึงถูกจับจอง หรือครอบครองกว้างขวางทั่วประเทศ แม้ได้ที่ดินมาฟรีหรือได้มาในราคาถูก แต่ในระยะยาวแล้ว ต้นทุนการทำเกษตรก็สูงกว่าพื้นที่อื่น กำไรที่ได้จึงมีน้อยหรือบางแห่งอาจถึงขาดทุนต่อเนื่อง

น้ำท่วมพื้นที่เกษตรที่แม่วงก์จึงไม่ได้มีต้นเหตุทางธรรมชาติ แต่มีต้นเหตุทางสังคม นับตั้งแต่เรากระจายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพไปไม่ทั่วถึง ทำให้คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากอยู่ในภาคเกษตร อันเป็นทักษะอย่างเดียวที่ตนมีอยู่ เราไม่ยอมปฏิรูปที่ดิน ทำให้การถือครองกระจุกอยู่ในคนจำนวนน้อย ซึ่งไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการผลิต แต่เพื่อเก็งกำไรในตลาด คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากรพื้นฐานนี้ บังคับให้ต้องบุกเบิกเข้าไปในพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็น "ชายขอบ" ของการเกษตร เหมือนสาปชีวิตตนเองให้ตกยากไปชั่วนิรันดร์

หากไม่มีต้นเหตุทางสังคมดังที่กล่าวนี้ พื้นที่เกษตรซึ่งถูกน้ำแม่วงก์ท่วมอยู่ทุกปี ก็จะยังเป็นพื้นที่ป่า เกิดระบบนิเวศของป่าที่ต้องถูกน้ำท่วมทุกปีซึ่งแตกต่างจากป่าบนเขา ไม่มีใครเดือดร้อน ซ้ำเพราะพื้นที่ป่ามีขนาดกว้างมากขึ้น ก็ช่วยลดอุทุกภัยด้านล่างได้ เพราะป่าช่วยซับน้ำให้ไหลช้าลง อีกทั้งในหน้าแล้งยังช่วยเก็บน้ำไว้ให้พื้นที่แกนกลางเกษตรได้ใช้ด้วย

แต่จะไม่มีต้นเหตุทางสังคมเช่นนี้ได้ ก็ต้องแก้ไขทางสังคม ซึ่งเราไม่อยากแก้ หรือไม่มีกลไกทางสังคมและการเมืองสำหรับแก้ จึงต้องปล่อยให้ผู้คนทำเกษตรในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะจะทำเกษตรไปเรื่อยๆ แล้วสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เราเอาเขื่อนมาแก้ปัญหาสังคมด้วยเหตุฉะนี้

(ผมออกจะระแวงอย่างยิ่งว่า การแก้ปัญหาสังคมด้วยเทคโนโลยีในเมืองไทยนั้น นิยมทำกันมากในหมู่ชนชั้นนำ เพราะเป็นผลให้ไม่ต้องกลับมาจัดการกับต้นเหตุทางสังคมของปัญหา ซึ่งจะทำให้เห็นความไม่เป็นธรรมมากมายที่เอื้อให้ชนชั้นนำได้เปรียบอยู่)

ซึ่งก็น่าประหลาดนะครับ เพราะมันแก้ได้บางส่วน อย่างน้อยก็ช่วยสงบผู้เดือดร้อนว่าปัญหากำลังถูกแก้ไขแล้ว

ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง คือความทันสมัยที่ทำให้คนไทยแตกต่างจากบรรพบุรุษ มากเสียจนเราไม่อาจถอยกลับไปใช้ชีวิตอย่างบรรพบุรุษได้อีกแล้ว เราต้องใช้ทรัพยากรในชีวิตมากกว่าบรรพบุรุษหลาย (ร้อย) เท่าตัว ฉะนั้น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น น้ำหลากหรือน้ำแล้ง จึงกลายเป็น "ภัย" ร้ายแรง

จุด "พอเพียง" ของเราไม่ใช่จุดเดียวกับปู่ของเรา อย่างน้อยเราก็อยากส่งลูกเรียนหนังสือ อยากได้รับความนับหน้าถือตาจากคนอื่น (อันเป็นธรรมชาติมนุษย์ทุกยุคสมัย) ซึ่งผ่านพบเพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้อง "ซื้อ" คุณสมบัติบางอย่างมาพอกตัว เราอยากดูทีวี เพราะทีวีช่วยผนึกเราให้เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมรัฐชาติ และการผนึกเข้าไปนี้ทำให้เราเสียเปรียบน้อยลง ฯลฯ

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้ ทำให้เราไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้มากเหมือนเดิมใช่ไหม ก็คงจะใช่ ถ้าเทียบกับเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังสามารถรักษาไว้ได้มากทีเดียว หากสามารถจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรม และมีผลิตภาพมากกว่านี้ และถ้าทำได้เราก็คงต้องการเขื่อนเพื่อการชลประทานน้อยลงมาก

แต่ก่อนที่เราจะทำอย่างนั้นได้ (ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกกี่ชาติก็ไม่ทราบ) เขื่อนบางเขื่อนคงมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีสติพอจะไม่ไปเชื่อคุณประโยชน์ของเขื่อนอย่างหลับหูหลับตาด้วย ผมอยากจะยกตัวอย่างถึงคุณประโยชน์ที่ไม่จริงของเขื่อนให้ดูสักหน่อย

ผมไม่เชื่อว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ ก็ที่ท่วมอยุธยาครั้งหลังสุดนี้ (สูงถึง 80 ซม.) ก็ว่ามาจากน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะฝนมาหลายลูกจนทำให้เขื่อนต้องรีบปล่อยน้ำก่อนจะสายเกินไป เขื่อนจึงอาจป้องกันน้ำท่วมได้ในปีสองปีแรก ก่อนที่จะเก็บกักน้ำได้เต็ม หลังจากนั้น ในบางปีเขื่อนก็อาจช่วยบรรเทาอุทกภัยได้บ้าง แต่ในอีกบางปี กลับทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างไม่น่าเกิด มีความเสี่ยงเท่ากับจับหัวจับก้อยหรือแล้วแต่เทวดาจะโปรด

บางคนอาจบอกว่า เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการกักและปล่อยน้ำให้ได้จังหวะ เช่น พร่องน้ำไว้ก่อนฝนใหญ่จะมาเป็นต้น ฟังดูดีนะครับ แต่ความจริงแล้วพูดเฉยๆ นั้นง่ายดี ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดามรสุมและไต้ฝุ่นที่พาฝนเข้าสู่พื้นที่เหนือเขื่อนได้จริง ไต้ฝุ่นที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนนั้น ปีหนึ่งมีหลายสิบลูก ลูกไหนบ้างที่จะผ่านเข้าสู่ไทยส่วนเหนือเขื่อน ต้องทำนายกันวันต่อวัน และผิดได้วันต่อวัน เพราะพ่อ (หรือแม่) เจ้าประคุณเปลี่ยนทิศทางโดยไม่มีอะไรให้คาดเดาล่วงหน้าได้เลย

ดังนั้น จึงบอกไม่ได้ว่า ควรพร่องน้ำสักเท่าไรจึงจะพอดีรับฝนในฤดู ในประเทศไทยเคยมีประวัติการพร่องมากเกินไปจนทำให้ปีฝนแล้งเกิดภัยพิบัติมากกว่าที่ควร หรือพร่องน้อยเกินไปจนเกิดอุทกภัยที่ไม่น่าเกิด

ฉะนั้น คุณประโยชน์ที่ฟังขึ้นที่สุดของเขื่อนก็คือ เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง อาจเกิดน้ำท่วมบ้างแต่พอมีน้ำให้ใช้กว้างขวางหน่อยในหน้าแล้ง (หากมีคลองส่งน้ำกระจายไปกว้างขวางสักหน่อย) แม้กระนั้นก็ต้องระวังว่า เขื่อนมีหน้าที่หลักคือชลประทาน ไม่ควรโลภมากอเนกประสงค์เป็นอันขาด โดยเฉพาะไม่ควรเอามาปั่นไฟ ถึงจะปั่นก็ต้องเป็นหน้าที่รองๆ การเก็บน้ำให้พอใช้ในการเกษตรหน้าแล้งต้องมาก่อน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะเก็บน้ำไว้ปั่นไฟก่อนส่งมาเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม

สมัยที่เขื่อนภูมิพลยังผลิตไฟฟ้าประมาณ 25% ของประเทศ เกิดภัยแล้งในที่ราบภาคกลางอยู่บ่อยๆ เพราะเขาไม่ปล่อยน้ำลงมามากกว่าเพื่อปั่นไฟ กลัวน้ำหมดแล้วปั่นไฟไม่ได้

เขื่อนปั่นไฟใหญ่ๆ ของโลก มีน้ำธรรมชาติเก็บไว้ในรูปของหิมะหรือน้ำแข็งบนยอดเขา ซึ่งสามารถเลี้ยงเครื่องปั่นไฟไปได้ตลอดหน้าแล้ง ในขณะที่เราต้องรอฝนลูกเดียว เขื่อนปั่นไฟจึงไม่เหมาะกับประเทศไทยเท่าไรนัก

จะอเนกประสงค์อย่างไร ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของประสงค์ให้ชัด

ผมมีข้อมูลไม่พอว่า น้ำแม่วงก์ซึ่งรินไหลตลอดปี เพราะป่าอุดมสมบูรณ์ดีอยู่นั้น มีน้ำพอจะเลี้ยงพื้นที่ชลประทานได้กว้างขวางแค่ไหน (หากทำคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน แต่อาจใช้ฝายยกระดับน้ำเป็นช่วงๆ) อาจไม่พอก็ได้ และถ้าไม่พอ การสร้างเขื่อนก็ได้ประโยชน์ในแง่เลี้ยงน้ำแก่พื้นที่เกษตรแน่ แต่ประโยชน์อื่นๆ นั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือว่ามีอยู่จริง

แต่หากบอกว่าเขื่อนมีประโยชน์ด้านชลประทานเป็นหลัก วิธีคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป และอาจไม่มีเขื่อนไหนที่คุ้มค่าพอจะสร้างขึ้นเลย ทั้งนี้ เพราะเวลาคำนวณ "ค่า" ว่าคุ้มหรือไม่นั้น เขาเอาผลิตภาพเป็นตัวตั้ง และผลิตภาพมีความหมายจำกัดแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของสิ่งที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้มีชีวิตมนุษย์อยู่ใน "ค่า" เอาเลย

เช่น กรณีเขื่อนแม่วงก์นั้น หากถามประชาชนที่จะได้รับน้ำในฤดูแล้งว่า คุณผลิตอะไรบ้างครับ รวมทั้งหมดแล้วอาจมีมูลค่าเพียงไม่กี่บาท แต่การที่คนสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี มีรายได้เข้าครอบครัวกระจายไปทั้งปี ส่งลูกเรียนหนังสือได้โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไป พ่อแก่แม่แก่ได้กินไก่ย่างซีพีบ้างแทนที่จะกระเดือกไข่ต้มตาปีตาชาติ ผู้คนพอใจที่ได้เป็นพลเมืองไทยโดยไม่ต้องร้องเพลงชาติวันละ 2 ครั้ง ฯลฯ อย่างนี้จะนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสักเท่าไร

โดยส่วนตัว ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่า ควรหรือไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะข้อมูลไม่พอ

ผมได้ยินมาว่า กรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนแม่วงก์เป็น "การเมือง" แต่เรื่องอย่างนี้กลายเป็น "การเมือง" ไปได้ในสังคมไทย ไม่ใช่เพียงเพราะเราแบ่งสีเท่านั้น แต่สาเหตุหลักมาจากการที่สังคมไทยขาดเสียงซึ่งจะดึงผู้คนหันมาใส่ใจตรวจสอบข้อมูล และข้อสรุปทางวิชาการอย่างจริงจัง เพื่อขัดแย้งกันในเรื่องเหล่านี้ แทนขัดแย้งกันทาง "การเมือง"

 


ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 ตุลาคม 2556 หน้า 32

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์ :รัฐกึ่งศาสนากึ่งประชาธิปไตย

Posted: 12 Oct 2013 02:47 AM PDT

แม้ในทางนิตินัยเราจะบอกตัวเองว่าสังคมไทยปกครองด้วย "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แต่ในทางวิชาการยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า "รูปแบบ" และ "อุดมการณ์" ของระบอบการปกครองดังกล่าวนี้เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่

เพราะยังเห็นตรงกันไม่ได้นั่นเอง ความขัดแย้งจึงมีมาตลอด 81 ปี นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น ฝ่ายที่ทำรัฐประหารมักอ้างว่าทำรัฐประหารเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ฝ่ายนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารก็บอกว่าพวกทำรัฐประหารนั่นแหละทำลายประชาธิปไตย นักศึกษาประชาชนต่างหากที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

แสดงให้เห็นว่าระบบการปกครองตามที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มีปัญหาในสาระสำคัญบางประการ ดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งข้อสังเกตว่า

ปัจจุบันเราเรียกระบอบการปกครอง หรือ form of government ของเราว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะเรียกอีกแบบหนึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ...เป็นรูปแบบที่จงใจจะจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าเป็นการจำกัดความหลากหลายในระดับที่ผมเรียกว่า ระดับ existentialist เป็นความหลากหลายในเชิงความเป็นตัวตนของมนุษย์ ใน existential activity หรือ existential diversity โดยพื้นฐานแล้วความเป็นมนุษย์เราคืออะไร ในความคิดผมสิ่งที่เป็นหัวใจของมนุษย์เลยคือ freedom คือ เสรีภาพ ...ถ้ามนุษย์ไม่สามารถจะคิดอะไรที่อยากจะคิดได้ ไม่สามารถที่จะพูดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้ ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบนี้ เนื้อแท้ของมันออกแบบให้จำกัด existence ของเรา

(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริง: เงื่อนไขของการยอมรับความหลากหลาย" ใน เกษม เพ็ญภินันท์, ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในมนุษยศาสตร์, 2552, หน้า 33-34)

นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงต่อไปอีกว่าจริงๆ แล้วรัฐไทยเป็นรัฐศาสนา หรือรัฐโลกวิสัยกันแน่ ถ้าบอกว่าเป็น "รัฐศาสนา" ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะรัฐไทยปัจจุบันไม่ได้ปกครองด้วยหลักศาสนาเหมือนรัฐอิสลาม แต่ถ้าบอกว่าเป็น "รัฐโลกวิสัย" ก็ไม่ใช่อีก เพราะรัฐโลกวิสัย รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพทางศาสนา คุ้มครองไม่ให้มีการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมือง ไม่ปกครอง ไม่ก้าวก่ายกิจการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง องค์กรทางศาสนาต่างๆ มีสถานะเป็นองค์กรเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐ

แต่องค์กรพุทธศาสนาไทย คือ "มหาเถรสมาคม" เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยทั้งประเทศ ที่สถาปนาขึ้นแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นองค์กรปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐ ใช้กฎหมายของรัฐปกครองคณะสงฆ์ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้น แม้ไม่ได้ใช้หลักศาสนามาเป็นกฎหมายปกครองเหมือนรัฐอิสลาม แต่ก็ปกครองด้วยอุดมการณ์พุทธศาสนา คือ "การปกครองแผ่นดินโดยธรรม" พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องว่าทรงทศพิธราชธรรม มีการแต่งตั้งสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมพระสงฆ์ไม่ให้สอนพุทธศาสนาไปในทางที่ท้าทายอำนาจรัฐ เช่น กรณีรัชกาลที่ 6 ถอดสมณศักดิ์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เพราะเทศนาคัดค้านการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการส่งทหารไทยไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของชนชั้นปกครอง เป็นต้น

เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่กำหนดให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ครั้นต่อมาเริ่มใช้ชื่อระบอบการปกครองว่า "ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา ย่อมเป็นที่ทราบกันว่าชื่อระบอบการปกครองดังกล่าว เกิดขึ้นโดยการผลักดันของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เอาชนะคณะราษฎรลงได้ โดยการขจัดปรีดี พนมยงค์ด้วยรัฐประหาร 2490 ส่วนหนึ่งของชัยชนะนั้น คือการฟื้นฟูอำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์ โดยการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ปกครองแผ่นดินโดยธรรม พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมมีสถานะสูงสุดอยู่เหนือราษฎรทุกคน

ในปัจจุบันสถานะของสถาบันกษัตริย์ยังอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังคงมีการอ้างอิงอุดมการณ์ทางพุทธศาสนา "ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม" (รัชกาลที่ 4 ทรงใช้อุดมการณ์นี้เป็นครั้งแรกตามทฤษฎี "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ") ยังคงมีระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐ มีระบบสมณศักดิ์ขึ้นต่อพระราชอำนาจ ที่กำหนดให้คณะสงฆ์เทศนาทศพิธราชธรรมสนับสนุนความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้น เราจะทำความเข้าใจระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ (แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อย่างไรดี หากจะถือว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตย" (เสรีประชาธิปไตย) ทำไมสถานะของสถาบันกษัตริย์จึงวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เหมือนอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น เช่นเดียวกันเราจะเรียกรัฐไทยที่องค์กรปกครองสงฆ์ขึ้นต่อรัฐ คณะสงฆ์รับสมณศักดิ์จากสถาบันกษัตริย์ มีหน้าที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์เหมือนดังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็นรัฐอะไรดี เป็นรัฐศาสนา หรือรัฐกึ่งศาสนา

ความที่ไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยอย่างอารยประเทศได้ ทำให้รัฐไทย "ติดหล่ม" จะถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะโลกสันนิวาส สภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมหมุนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ครั้นจะหมุนตามโลกให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างคนอื่นเขา ก็ถูกฉุดด้วยระบบอำนาจและอุดมการณ์แบบเก่าที่ครอบสังคมอยู่ ทั้งในแง่ "ระบบความนึกคิด" (Ideology) ที่ถูกปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และในแง่ระบบกฎหมาย

ในทำนองเดียวกันจะเป็นรัฐศาสนาก็เป็นไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาเองที่คณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐมาแต่โบราณ แต่จะก้าวไปเป็นรัฐโลกวิสัยก็ไม่ได้ เพราะถูกล็อกด้วยระบบเก่า

แต่การอยู่ในสภาพครึ่งๆกลางๆ ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย ก็รังแต่จะทำให้ประชาธิปไตยวิกฤต และพุทธศาสนาวิกฤต จึงจำเป็นที่เราควรตื่นตัวอภิปรายถกเถียงปัญหา "ภาวะครึ่งๆกลางๆ" ดังกล่าวด้วยเหตุผล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าสังคมเราจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยอย่างราบรื่นได้อย่างไร

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (12-18 ต.ค.2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.อาเซอร์ไบจานถูกแฉ ประกาศผลการเลือกตั้งก่อนการลงคะแนน

Posted: 12 Oct 2013 01:04 AM PDT

ประเทศอาเซอร์ไบจานถูกวิจารณ์เรื่องการทุจริตการเลือกตั้งและบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันมายาวนาน แต่ล่าสุดเกิดกรณีที่สำนักข่าวต่อต้านรัฐบาลได้นำเสนอภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นผลการนับคะแนนของ กกต. ที่เสร็จสิ้นก่อนการลงคะแนนเสียง 1 วัน ด้านกลุ่มผู้สังเกตการณ์บอกว่าการเลือกตั้งในอาเซอร์ไบจานบกพร่องร้ายแรง

วันที่ 11 ต.ค. 2013 คณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์กรว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) กล่าวว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศอาเซอร์ไบจานเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมามี "ข้อบกพร่องร้ายแรง"  ขณะที่ช่องโทรทัศน์ Meydan TV ได้นำเสนอข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของอาเซอร์ไบจานประกาศผลตั้งแต่ก่อนที่การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของอาเซอร์ไบจานได้ประกาศผลว่า อิลฮัม อลิเยฟ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีกสมัยก่อนหน้าวันเลือกตั้งถึง 1 วัน โดยที่ช่องโทรทัศน์ Meydan TV ซึ่งเป็นช่องที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้นำเสนอภาพถ่ายหน้าจอจากโปรแกรมมือถือที่แสดงผลการนับตะแนนของ กกต. ระบุว่า อลิเยฟได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 72.76 ขณะที่จามิล ฮาซันลี คู่แข่งของเขาได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 7.4

นักวิจารณ์มองว่าประเทศอาเซอร์ไบจานมีการกำหนดผลการเลือกตั้งล่วงหน้ามานานแล้ว โดยอีมิน มิลลี กรรมการผู้จัดการของ Meydan TV ผู้ที่เคยถูกจับกุมจากการแสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาลกล่าวว่า แม้จะเคยมีการโกงการเลือกตั้งด้วยการแอบเพิ่มบัตรลงคะแนนมาก่อน แต่การที่ข้อมูลผลการเลือกตั้งรั่วไหลออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจริงแบบนี้เป็นเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งที่ร้ายแรงกว่า

"พวกเขาจะแอบสอดบัตรลงคะแนนเพิ่ม แล้วก็ยังเขียนตัวเลขแบบที่ตัวเองอยากเขียน" มิลลีกล่าว

บริษัทผู้ผลิตโปรแกรมซึ่งจับภาพการแสดงผลการเลือกตั้งไว้ได้แถลงผ่านเว็บไซต์ว่าผลของการเลือกตั้งมาจากการทดลองโปรแกรมแอปพลิเคชันโดยใช้ข้อมูลจากโพลล์ความคิดเห็นของประชาชนและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการเลือกตั้งครั้งนี้


OSCE เผยการเลือกตั้งอาเซอร์ไบจานบกพร่องร้ายแรง

ทางด้านคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์กรว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวว่า การเลือกตั้งในอาเซอร์ไบจานเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพบรรยากาศที่มีการจำกัดเสรีภาพสื่อ และมีข้อกล่าวหาเรื่องการข่มขู่คุกคามผู้ลงสมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ทานา เดอ ซูลูเอตา ผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานเพื่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของ OSCE กล่าวว่าในช่วงเลือกตั้งมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การร่วมสมาคม และการแสดงความคิดเห็นซึ่งถือเป็นการลดระดับการแข่งขัน ซูลูเอตากล่าวอีกว่าคณะผู้สังเกตการณ์ได้รับแจ้งเรื่องการข่มขู่และพบเห็นการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

ทาง OSCE กล่าวอีกว่าการนับผลคะแนนในอาเซอร์ไบจานมีการแอบเพิ่มบัตรลงคะแนนเกิดขึ้นใน 37 หน่วยเลือกตั้ง แต่ที่แย่ที่สุดคือเรื่องการนับผลคะแนน ซึ่งจากจากสังเกตการณ์ใน 121 เขต จาก 125 เขตเลือกตั้ง มีอยู่ร้อยละ 58 ที่ได้รับรายงานว่ามีการนับคะแนนอยู่ในระดับที่แย่ถึงแย่มาก

อย่างไรก็ตามสำนักข่าวเรดิโอฟรียุโรปเปิดเผยว่าในที่ประชุมแถลงข่าวของ OSCE ตกอยู่ในภาวะโกลาหลหลังจากที่กลุ่มนักข่าวที่เข้าข้างรัฐบาลตะโกนขัดว่า "OSCE มีอคติ" พากันปรบมือและบังคับให้ผู้พูดต้องตัดการนำเสนอให้สั้นลงออกจากเวทีไป

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สังเกตการณ์อีกกลุ่มหนึ่งคือ สมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรป (PACE) และรัฐสภายุโรป แถลงว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีปัญหาร้ายแรงในเรื่องเสรีภาพสื่อ โดยตัวแทนจากองค์กรสภายุโรปกล่าวว่าพวกเขาไม่พบเห็นการกดดันผู้ลงคะแนนและไม่พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คูหาเลือกตั้ง

 


เรียบเรียงจาก

OSCE Says Azerbaijan Election 'Seriously Flawed', Radio Free Europe, 11-10-2013
http://www.rferl.org/content/azerbaijan-election/25132214.html

Azerbaijan releases election results… before the polls even open, The Independent, 09-10-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/azerbaijan-releases-election-results-before-the-polls-even-open-8869732.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลัง 14 ตุลา: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เล่าวิวาทะเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมไทย

Posted: 11 Oct 2013 11:21 PM PDT

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ในงานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ที่จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น ในช่วงบ่าย เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อภิปรายหัวข้อ "วิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมของไทย และปัญหาการเมืองไทยหลัง 14 ตุลา" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

"Transition debate" หลัง 14 ตุลา

เก่งกิจเริ่มต้นอภิปรายด้วยการเปรียบเทียบดีเบตเรื่องนี้ระหว่าง สำนักนิธิ เอียวศรีวงศ์ และสำนักฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งเขาระบุว่าเป็นดีเบตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสังคมไทย งานที่พูดถึงงานเขียนของนิธิมีเยอะมาก แต่งานที่วิพากษ์นิธิยังมีน้อยอยู่ มีของแค่งานสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่เขียนปี 2525 งานของทวีศักดิ์ เผือกสม ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงความรู้ของชนชั้นนำสยาม และงานของคริส เบเคอร์ ซึ่งอยู่ในบทสุดท้ายของหนังสือปากไก่และใบเรือที่เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่งานของฉัตรทิพย์ จะวิจารณ์งานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงงานเขียนสายมาร์กซิสต์-เหมาอิสต์ของ พคท.

งานของนิธิมองว่ารัฐสยามก่อนการเข้ามาของสนธิสัญญาเบาริ่งในรัชกาลที่สี่ มีลักษณะเป็นพลวัตร เกิดความคึกคักในด้านการค้า วรรณกรรม และสะท้อนว่าเกิดวัฒนธรรมกระฎุมพีซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ในสยาม คือไม่ได้อยู่ในสังคมลักษณะศักดินาเสียทีเดียว แต่งานของฉัตรทิพย์มองว่า ก่อนการเข้ามาของสนธิสัญญาบาวริ่งสยามเป็นสังคมที่หยุดนิ่ง หรือเป็น "เพียว ศักดินา" ไม่มีอย่างอื่นมาเจือปน

ต่อมุมมองเรื่องชนชั้นนำ นิธิมองว่าชนชั้นนำสยามช่วงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีความเป็นกระฎุมพีมากขึ้น มีบทบาทมากในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ เช่น การเกิดขึ้นของงานเขียนต่างๆ แต่งานฉัตรทิพย์มองว่าชนชั้นนำไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงบริสุทธิ์อยู่

ส่วนเรื่องลักษณะของกระฎุมพี แม้นิธิเสนอว่าเกิดขึ้นช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ก็ไม่ได้เป็นอิสระจากชนชั้นศักดินา โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกระฎุมพีที่เกิดขึ้นในราชสำนัก สองคือกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ทั้งสองกลุ่มไม่มีความเป็นอิสระจากโครงสร้างสังคมเก่าโดยเฉพาะศักดินา แม้พ่อค้าจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็พึ่งพิงอยู่กับรัฐศักดินาอย่างเต็มที่ ไม่สามารถเป็นพลังที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมทุนนิยมได้ ต่างจากธรรมชาติของกระฎุมพีจะจะอยู่ตรงข้ามกับเจ้าหรือชนชั้นนำ ส่วนงานฉัตรทิพย์มองว่าช่วงนั้นยังไม่มีกระฎุมพี จึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คืองานของนิธิ แม้มองว่ามีการเกิดขึ้นของกระฎุมพี แต่รัฐไทยก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาริ่งไม่ใช่สังคมทุนนิยม เพียงแต่มีกระฎุมพีมากอย่างมีนัยยสำคัญ นิธิจึงไม่ชี้ไม่ชัดว่าสังคมทุนนิยมเกิดขึ้นในช่วงไหน สมศักดิ์ชี้ว่า งานของนิธิเป็นงานที่ลดความสำคัญของคำว่า ศักดินา กระฎุมพี หรือเรื่องชนชั้น ในขณะที่ฉัตรทิพย์มองว่าทุนนิยมเกิดปี 2484 เกือบสิบปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วนงานของสมศักดิ์ปี 2525 ที่วิจารณ์งานนิธิ ในช่วงท้ายบทความ สมศักดิ์แสดงความเห็นซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างสำนักฉัตรทิพย์และสำนักนิธิ โดยเสนอว่า รัฐสยามก่อนสนธิสัญญาเบาริ่งเข้ามา มีลักษณะเป็นทุนนิยม คือสังคมสยามเป็นทุนนิยมอยู่แล้ว แต่ทุนนิยมก่อนสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นทุนนิยมจากภายใน แต่ไม่ได้อธิบายว่ามีปัจจัยอะไร แต่หลังเบาริ่ง ทุนนิยมเกิดจากการพึ่งพิงทุนต่างประเทศคือเจ้าอาณานิคม

เก่งกิจมองว่า ดีเบตเรื่องการเปลี่ยนผ่านเป็นปมที่ยังไม่ได้ถูกคลี่คลายออก และเป็นจุดสิ้นสุดของดีเบตเรื่องนี้ในสังคมไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และชี้ว่า งานของสมศักดิ์ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาของนิธิ ในขณะที่นิธิชี้ให้เห็นว่าเกิดกระฎุมพีมากมาย แต่หายไปไหนในสังคมไทย โดยเฉพาะเบเคอร์อภิปรายว่ามุมมองนิธิ ชี้ว่าลักษณะกระฎุมพีในยุคปัจจุบันกับสมัยนั้น มีความคล้ายคลึงกัน แต่อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้พูดถึงต่อมาโดยนิธิและลูกศิษย์

ฉะนั้นปมของงานนิธิคือ เกิดชนชั้นกระฎุมพีในช่วงรัตนโกสินทร์แต่หายไปไหนในตอนนี้ เมื่อมองเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน จะนำมาสู่การถกเถียงว่าตอนนี้เราเป็นทุนนิยม เป็นศักดินา หรือกึ่งศักดินากันแน่

ปัจจุบันความคิดความเข้าใจในสังคมไทยต่อเรื่องการเปลี่ยนผ่านในฝ่ายก้าวหน้าจะถูกก่อร่างขึ้นโดยงานเขียนของธงชัยปี 2544 คือเรื่องมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เก่งกิจเสนอว่านี่เป็นการต่อยอดความคิดของเบเนดิก แอนเดอร์สัน คืองาน "Studies of the Thai state: The state of Thai studies"

ความต่างของสำนักนิธิและธงชัย คือในขณะที่นิธิมองความเปลี่ยแเปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป งานธงชัยชี้ว่า มีความไม่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่ออาณานิคมเข้ามา ความคิดของชนชั้นนำไทยเกิดปะทะสังสรรค์กับความคิดใหม่จากภายนอก ทำให้เกิดรัฐสมบูรณายาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

ในขณะที่นิธิเน้นเสนอว่าความเปลี่ยนแปลงสู่ทุนนิยมเกิดจากภายใน ถ้าไม่เกิดจากภายในอยู่แล้ว การเข้ามาของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งจะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากอย่างที่เราเห็น แต่ในงานธงชัยหรือเบน ประเด็นที่สำคัญคือ อิทธิพลของปัจจัยภายนอก คืออาณานิคมตะวันตก เทคโนโลยี ความรู้ ถ้าไม่มีอันนี้จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในสยามได้

นิธิชี้ว่า ตัวแสดงที่สำคัญคือกระฎุมพี ซึ่งคล้ายงานฉัตรทิพย์ แต่งานธงชัย ดูจากกรอบของอาณานิคม ซึ่งพลังการเปลี่ยนแปลงคือการเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก รวมถึงการกดขี่ของเจ้าอาณานิคม ทำให้เกิดกระบวนการชาตินิยมเป็น "popular nationalist movement" ซึ่งเป็นตัวที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบรัฐชาติ

ข้อเสนอของเบนคือ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามมีอายุสั้นมาก เมื่อเทียบกับสังคมอื่นในยุโรป หรือในเอเชียอาคเนย์ พบว่ารัฐสมบูรณไทยมีอายุสั้นมาก คือเพียงสี่สิบปี เมื่ออายุสั้น ทำให้การบ่มเพาะกระบวนการชาตินิยมประชาชนมีจำกัด ทำให้พลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มีพลังมากพอที่จะล้มได้ชนชั้นนำได้เด็ดขาด

ธงชัยเสนอว่า ปัจจุบันยังคงมีมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ในทุกอณูของสังคมไทย 81 ปีที่ผ่านมา สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นข้อเสนอที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย

ส่วนงานของจิตร ภูมิศักดิ์ และทรงชัย ณ ยะลา อภิปรายเรื่องรัฐ เห็นไปในทิศทางเดียวกันคือดูวิถีการผลิตว่าเป็นแบบไหน ใครเป็นผู้ถือครองหรือใช้อำนาจรัฐ โดยทฤษฎีนี้คล้ายกับทฤษฎีของวิคเตอร์ ลีเบอร์แมน จากหนังสือ strange parallels ที่เสนอไอเดียว่า รัฐก่อนสมัยใหม่มีความพยายามจะรวมศูนย์อำนาจ ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจกระจายกันมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานของจิตรที่ว่ารัฐพยายามจะรวมศูนย์ สัมพันกับใกล้ชิดกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งภายในและที่ชนชั้นนำไทยไปปฏิสัมพันธ์กับระบบโลก

 

ลักษณะของรัฐศักดินา

เก่งกิจตอบคำถามว่ารัฐศักดินาคืออะไร โดยอภิปรายปัจจัยสี่ข้อ ได้แก่

หนึ่ง รัฐสยามเป็นศักดินาตั้งแต่อยุธยา คือรวมศูนย์ กระจายอำนาจ แข่งอำนาจกับรัฐเพื่อนบ้านตลอด เมื่อมีอำนาจกำลัง ก็รวมศูนย์ แต่เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง ก็จะล่ม และก็จะขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ไปตลอด

สอง คุณสมบัติการบ่งชี้สำคัญสุดว่าอะไรเป็นรัฐศักดินา คือรัฐและกลไกรัฐที่รับใช้ผลประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

สาม ความเปลี่ยนแปลงล้วนแล้วแต่เกิดจากระบบเศรษฐกิจทั้งภายในและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก

และสี่ รัฐศักดินาช่วงท้าย เสนอว่าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงปลายก่อนจะล่มสลาย ซึ่งเกิดจากการที่รัฐสยามมีปฏิสัมพันธ์กับทุนนิยมโลกโดยมีอังกฤษเป็นศูนย์กลาง ทำให้รัฐต้องบีบหาประโยชน์จากระบอบทุนนิยม มีการปฏิรูปกลไกการปกครอง ระบอบการศึกษา ระบอบราชการ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบโลก เพื่อให้มีฐานทางเศรษฐกิจที่สร้างรัฐขึ้นมาใหม่

 

ลักษณะ-การเกิด-และบทบาทการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกระฎุมพีไทย

เก่งกิจอภิปรายต่อไปว่า นิธิเสนอว่าราชสำนักแปลงตัวเองเป็นกระฎุมพี แต่ข้อเสนอมีว่า กระฎุมพีช่วงแรกคือกลุ่มพ่อค้าชาวจีน งานลีเบอร์แมนชี้ว่าในสมัยกรุงเทพฯ มีกระฎุมพีมากกว่าสมัยอยุธยาถึงเจ็ดเท่า หรือประมาณเจ็ดแสนคน ซึ่งนี่เกิดจากการที่เศรษฐกิจสยามสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกคือจีน แต่เขาไม่ได้เป็นพลังการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่มีอิสระจากโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิม และชนชั้นนำในสยามก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับกระฎุมพี เก่งกิจเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือหลังร.ห้าเป็นต้นมา คือเกิดรัฐราชการ มีกลุ่มชนชั้นกลางชาวไทยจีนอยู่ในระบบราชการแต่ไม่ได้เลื่อนขั้นไม่ได้ จึงเกิดความขัดแย้ง ชนชั้นกระฎุมพีที่เกิดขึ้นจึงเป็นชนชั้นกระฎุมพีราชการ คือคณะราษฎร เป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี แต่ไม่สามารถขยายการปฏิวัติหรือการมีส่วนร่วมลงไปชั้นล่างของสยาม กระฎุมพีราชการจึงกลายเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงในรัฐไทย

 

กรอบคิดแบบโคโลเนียล มีพลังแค่ไหนในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของรัฐสยาม

เก่งกิจเสนอว่า เราไม่สามารถใช้กรอบอาณานิคมในการทำความเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของรัฐสยาม แต่ต้องใช้ระบอบทุนนิยมโลกเพื่อมาอธิบาย จะเห็นว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบการผลิตในฐานล่างของสังคม ฉะนั้น ชาวนาทั้งหลายยังอยู่ในรูปแบบการผลิตแบบเก่า แต่สังคมอาณานิคมอย่างในพม่า อินโดนีเซีย เจ้าอาณานิคมให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงการผลิต คือให้ชาวนามเป็นผู้ประกอบการเอง อย่างดัตช์ หรือฝรั่งเศส ที่สร้างระบบชลประทาน

ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์หาประโยชน์จากทุนนิยมจริงแต่ไม่ให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงชนชั้นล่าง จะเห็นว่า ชนชั้นล่างจึงไม่ให้ความสำคัญในกระบวนการชาตินิยม ในขณะที่เบเนดิกไม่ได้พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจระดับล่างเลย การปฏิวัติ 2475 จึงจำกัดอยู่ตัวที่รัฐแคบ ๆ ต่างจากรัฐอาณานิคมอื่นๆ

เก่งกิจสรุปว่า การดูรูปแบบของรัฐ ว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจากศักดินาสู่ทุนนิยม จึงต้องดูว่าใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐ อย่างปี 2475 เกิดการถ่ายอำนาจจากกษัตริย์มาสู่กระฎุมพี ฉะนั้นจึงเป็นปฏิวัติกระฎุมพี โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นช่วงท้ายๆ ของรัฐศักดินาไทย การปฏิวัติ 2475 เป็นการเริ่มสร้างรัฐชาติและสร้างทุนนิยมให้อยู่ในสังคมไทย เช่น การสร้างเทคโนโลยี เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

 

การเมืองไทยหลังปี 2549

หลังการปฏิวัติ 2475 รัฐไทยไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป เพราะกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมอำนาจและการผลิตอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เล่นต่างๆ เข้ามาใช้พี้นที่ในระบบเศรษฐกิจการเมือง ทำให้ชนบทเปลี่ยนแปลง อย่างการเข้ามาของทักษิณ เป็นบทบาทที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจการเมืองคึกคักอย่างหลัง 2475 ไม่เคยมี และสรุปว่ารัฐไทยปัจจุบันมีลักษณะเป็นรัฐชาติ เป็นสังคมทุนนิยม ที่ยังมีพลังความขัดแย้งต่างๆ ยังคงเข้ามาควบคุมหรือมีส่วนร่วมในรัฐ ซึ่งไม่ได้ผิดประหลาดไปจากรัฐทุนนิยมอื่นๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยหนังอาเซียน : คุยกับภาณุ อารี และหนังเรื่อง ‘ILO ILO’

Posted: 11 Oct 2013 09:28 PM PDT

พบกับรายการทีวีออนไลน์ใหม่ล่าสุดของประชาไท 'คุยหนังอาเซียนกับฟิล์มกาวัน' เป็นรายการที่จะนำภาพยนตร์ซึ่งผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาแนะนำ เพื่อให้ผู้ชมรู้จักเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์มากขึ้นผ่านตัวภาพยนตร์

รูปแบบรายการเป็นการสนทนาผ่านภาพยนตร์เพื่อสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ ฯ ของเพื่อนบ้านซึ่งสอดแทรกอยู่ในหนัง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 'ประชาไท' และ 'กลุ่มฟิล์มกาวัน' ซึ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษาทั้งปัจจุบันและที่จบการศึกษาไปแล้วจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความรักและสนใจในภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับเทปแรก ช่วงที่ 1 นำเสนอภาพยนตร์สิงคโปร์เรื่อง 'ILO ILO' ซึ่งเป็นเรื่องราวของการพัฒนาความสัมพันธ์ของชาวฟิลิปปินส์จากเมือง ILOILO ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานเป็นแม่บ้านให้กับครอบครัวชนชั้นกลางสิงคโปร์ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' ปี 2540 ความกดดันและความตึงเครียดจากพายุเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ครอบครัวชาวสิงคโปร์ ร่วมทั้งความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม จะส่งผลต่อการปรับตัว และความสัมพันธ์ที่เริ่มจากความตึงเครียดให้คลี่คลายลงได้อย่างไร

ช่วงที่ 2 พูดคุยกับ 'ภาณุ อารี' ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีและหนังสั้นที่มีผลงานชวนให้ติดตามหลายเรื่อง อย่าง เบบี้ อาราเบีย รวมถึงล่าสุดเรื่อง 'เงาประวัติศาสตร์' ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยมาร่วมสนทนาและวิเคราะห์ให้เห็นถึงเรื่องราวของหนัง ILO ILO ที่สะท้อนภาพของสังคมสิงคโปร์ และการเข้ามาทำงานของแม่บ้านต่างชาติ ดำเนินรายการโดย 'จริง' จิรัชฌา อ่อนโอภาส และ 'แอร์' นภิศา วิสุทธิพันธ์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น