ประชาไท | Prachatai3.info |
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8 - 14 ต.ค. 2556
- โต้กรณี CAT เล็งฟ้อง กสทช. มั่นใจ ประกาศห้ามซิบดับไม่ผิด กม.
- BRN ปฏิเสธเอกราชจริงหรือ?(ตอน1) - เกาะติดกระบวนการสันติภาพปาตานีจากคนใน
- ปาฐกถาธีรยุทธ บุญมี: สารพัด ‘ขี้’ ในการเมืองไทย-หัวใจคือกระจายอำนาจ
- ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190
- "Give Up Tomorrow" สารคดีสะท้อนชีวิตเหยื่อความผิดพลาดโทษประหาร
- รายงานเสวนา: มองร่างประกาศคุมสื่อของ กสทช. ในมุมกฎหมาย
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8 - 14 ต.ค. 2556 Posted: 14 Oct 2013 05:21 AM PDT กกจ.ลั่นยืนข้าง รง.ไทยจากสวีเดน ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลาง ครม. อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนลูกจ้าง สพฐ. สอศ.เล็งของบประมาณกลางพัฒนากำลังคน-รองรับ 2 ล้านล้านบาท แรงงานนับพันในอมตะนครได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กมธ.ต่างประเทศร้อง ก.แรงงาน ก.ต่างประเทศ ช่วยเหลือแรงงานไทยในฟินแลนด์ จี้ "บัวแก้ว-แรงงาน"ช่วยแรงงานไทยถูกหลอกในฟินแลนด์ ซ่อมรถไฟเหนือสะดุดเหตุขาดแรงงาน คณะตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้าพบ รมว.ศธ. ขอปรับเงินเดือน ระยะเวลาสัญญาจ้าง และกรณีการขอเครื่องราชฯ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมเปิดศูนย์พักพิงให้ผู้ประสบอุทกภัย กสร.เผยน้ำท่วมกระทบโรงงาน 393 แห่ง ลูกจ้าง 6,392 คน ปิดชั่วคราว 2 แห่ง แรงงานชัยภูมิร้อง "เฉลิม" ฟันจัดหางานหลอกคนไทยลอยแพฟินแลนด์ คปก.แนะวิธีแก้ปมแรงงานต่างด้าวเจ๋งสุด ขึ้นทะเบียนผู้ลักลอบให้เข้าสู่ระบบ ปลัด ก.แรงงานคาดรู้ผลสอบกรณี รพ.ประกันสังคมไม่รับทำคลอดสัปดาห์นี้ 'ยิ่งลักษณ์'ถกอุตฯไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์/แอร์ พร้อมปรับกฎระเบียบหนุนธุรกิจโต แรงงานมุสลิมไทยในมาเลย์แห่กลับฉลองวันฮารีรายอ ทัณฑสถานหญิงชลบุรีชี้ผู้ต้องขังหญิง พ้นโทษต้องการมีงานทำ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โต้กรณี CAT เล็งฟ้อง กสทช. มั่นใจ ประกาศห้ามซิบดับไม่ผิด กม. Posted: 14 Oct 2013 03:47 AM PDT (14 ต.ค.56) จากกรณีที่ประชุมบอร์ด กสท มีมติให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอน ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2556 (ประกาศห้ามซิมดับ) ที่ออกโดย กสทช. เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 56 สำนักงาน กสทช.เผยแพร่บทสัมภาษณ์ สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ระบุว่า กสทช. พร้อมและยินดีจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายจากกระบวนการยุติธรรม โดยมั่นใจว่ามีข้อกฎหมายรองรับชัดเจนว่าประกาศนี้ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นมาตรการทางกฎหมาย ที่จำเป็นโดยไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าที่จะสามารถคุ้มครองประโยชน์สาธารณะของประชาชนผู้ใช้บริการกว่า 18 ล้านคน สุทธิพล กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการอ้างว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดเป็นสิทธิของ CAT เพียงผู้เดียว ก็เป็นเรื่องที่มีข้อกฎหมายชี้ชัดแล้วว่า CAT ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดแล้ว โดยคลื่นความถี่ต้องกลับมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป ข้อเรียกร้องของ CAT จึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และหากมีการไปกระทำการใดๆ เพื่อให้ CAT มีสิทธิใช้คลื่นความถี่โดยปราศจากความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากประกาศนี้ถูกยกเลิกไปเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของ CAT เพียงรายเดียวก็จะเกิดผลเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังจะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดย CAT ไม่สามารถไปยึดโยงโดยอ้างสิทธิตามกฎหมายเก่า ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วและกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดช่องให้มีการยื้อสิทธิตามสัญญาสัมปทานอีกต่อไป จำเป็นที่องค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปรับแต่งองค์กรเพื่อให้ก้าวทันต่อกฎกติกาที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ กสทช. มีข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และเหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่นอย่างชัดเจนว่าข้อกล่าวหาของ CAT ไม่มีน้ำหนัก และไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ โดยหาก CAT ได้พิจารณาข้อกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 อย่างละเอียดรอบคอบและตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการเยียวยาผู้ใช้บริการโดยตลอดแล้ว ก็จะทำให้ทราบได้ว่า CAT ไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ และตามสัญญาสัมปทานต่อไปได้อีก เพราะสิทธิดังกล่าวที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหมดสิ้นไปแล้ว เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ครั้นจะไปอ้างสิทธิที่เกิดจากการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานก็ฟังไม่ขึ้นเพราะศาลปกครองเคยมีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานเอาไว้ว่า สิทธิตามสัญญาสัมปทานจะไปขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด CAT จึงไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่น 1800 MHz อีกต่อไป คลื่นความถี่ดังกล่าวจะต้องกลับมาสู่การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อรอที่จะมีการจัดสรรในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนที่ CAT อ้างสิทธิในการได้รับโอนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดเสมือนกับว่าเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสมบัติของ CAT ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติตรงกันว่าเลขหมายโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีหลายฝ่ายเข้าใจผิดและไม่ทราบว่า กติกาในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปแล้ว โดยที่ กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้เลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งหากปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาต โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กสทช.ก็มีอำนาจถอนคืนเลขหมายโทรคมนาคมได้ เมื่อ CAT ไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว CAT จึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ในการที่ กสทช. ออกประกาศห้ามซิมดับ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ให้บริการสาธารณะหยุดชะงัก ตรงกันข้าม ผลจากการที่บริการโทรคมนาคมยังคงดำเนินการต่อไป CAT จะยังคงมีรายได้ ที่จะเกิดจากการให้เช่าโครงข่ายที่ผู้รับสัมปทานจะส่งมอบให้หลังสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งเมื่อตามประกาศห้ามซิมดับกำหนดให้ CAT เป็นผู้ให้บริการด้วย ผู้ให้บริการที่ต้องใช้โครงข่ายในการให้บริการคลื่น 1800 MHz จึงต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายแก่ CAT ตามที่จะตกลงกัน ประกาศห้ามซิมดับนี้จึงไม่ได้ไปทำให้ CAT เสียสิทธิใดๆ แต่กลับไปทำให้ CAT มีรายได้จากการให้เช่าโครงข่าย ตรงกันข้ามหากมีการเพิกถอนประกาศนี้ CAT เองก็จะได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่นี้ได้ แต่ถ้า CAT ไปให้บริการโดยไม่มีประกาศนี้รองรับ ก็จะเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายทันที นอกจากนี้ข้อกล่าวหาของ CAT ยังขัดแย้งกันเอง โดยอ้างว่าประกาศห้ามซิมดับไม่ชอบและยอมรับว่าสัญญาสัมปทานสิ้นสุด แต่กลับยืนยันว่าจะเป็นผู้ให้บริการแต่ผู้เดียวในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ CAT ก็มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นตลอดกระบวนการ โดยได้ให้ความเห็นว่ายอมรับในอำนาจตามกฎหมายของ กสทช.ในการออกประกาศห้ามซิมดับ แต่ประสงค์จะเป็นผู้ดูแลผู้ใช้บริการและต้องการให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองเป็น 2 ปี ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า CAT ยอมรับในหลักการและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศแล้ว แต่ไม่พอใจในรายละเอียดของเงื่อนไขจึงต้องการให้มีการปรับปรุงให้ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบความเห็นเรื่องดังกล่าวของ CAT ได้จากผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ กสทช. ได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. แสดงความเห็นว่า การใช้สิทธิในการฟ้องร้องคดีของ CAT ในครั้งนี้น่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะเป็นการเรียกร้องสิทธิทั้งๆ ที่ CAT รู้ดีว่าไม่มีสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้ CAT ยังเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของร่างประกาศนี้มาโดยตลอดและหลายประเด็นที่ปรากฎในข่าว CAT ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นในช่วงที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงเหมือนมีการเพิ่มเติมประเด็นขึ้นมาใหม่เพื่อจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องคดี พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาอ้าง กล่าวคือเรื่องการเร่งการโอนย้ายเลขหมายนั้น ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คือ กสทช. ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงสิทธิของคู่สัญญาสัมปทานก่อนที่สัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด และยึดหลักการที่ว่า การโอนย้ายต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องของนักวิชาการบางคนที่ต้องการให้มีการโอนย้ายแบบเหมาเข่งก็ตาม แต่ กสทช. ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งตัวแทนของ CAT เองก็รับรู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
BRN ปฏิเสธเอกราชจริงหรือ?(ตอน1) - เกาะติดกระบวนการสันติภาพปาตานีจากคนใน Posted: 14 Oct 2013 03:19 AM PDT อ่านคำแปลข้อเขียนของ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม คลายข้อสงสัยทำไม BRN เรียกร้องการปกครองตนเอง(ออโตนอมี) บนผืนแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีการแยกตัวออกจากประเทศไทย อธิบายสาระสำคัญของสิทธิของประชาคมมลายูปาตานี แล้ว BRN ปฏิเสธเอกราชจริงหรือ? เมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 ทางบีอาร์เอ็น (BRN) ได้ยื่นคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อถึงรัฐบาลไทยโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) เป็นที่คาดหวังว่า ทางฝ่ายไทยจะเอาไปวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน และจะได้ส่งคำตอบมาอย่างเป็นทางการในภายหลัง ไม่ว่าจะยอมรับเพื่อนำมาถกเถียงเรื่องดังกล่าวในการประชุมกลุ่มคณะทำงานร่วมกัน (Joint-Working-Group, JWG) ในครั้งที่ 5 คำตอบดังกล่าวจะเป็นสิ่งยืนยันว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ จะเดินหน้าต่อไปหรือเป็นไปในทางตรงข้ามกัน จนถึงขณะนี้ การเดินทางของกระบวนการสันติภาพเคแอล "ถูกระงับ" เป็นการชั่วคราว เพราะทางฝ่าย BRN ยังรอคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย ก่อนที่การพูดคุยจะสานต่อใหม่อีกครั้ง เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การที่การพูดคุยถูกระงับไปในครั้งนี้ เป็นมติการตัดสินจากสภาชูราของบีอาร์เอ็นที่ได้ประกาศในเดือนรอมฎอนโดยสมาชิกกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป หลายฝ่ายรวมทั้งกองทัพ (ไทย), ฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์) และนักวิเคราะห์ข่าวบางราย ไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูลใดๆ ก็ได้สรุปไปแล้วว่า กระบวนการพูดคุยที่เคแอลได้ประสบกับทางตันหรือสิ้นสภาพไปแล้ว (ตามมุมมองของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเดอะเนชั่น) อีกทั้งเขาก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลควรทบทวนอย่างรีบเร่งถึงบทบาทของตัวเอง หรือไม่ก็หากลุ่มอื่น (ที่นอกเหนือจากกลุ่มปัจจุบันที่นำโดยท่านฮัสซัน ตอยิบ) เพื่อหาทางพูดคุยต่อไป เขามองว่าข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อนั้น เป็นเรื่องที่เกินเลย และทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีความจงใจที่จะให้รัฐบาลไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะตัดสินใจลำบาก ก็เลยตัดสินใจปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยพลัน ในขณะเดียวกันทำให้กระบวนการสันติภาพต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจากทางฝ่าย BRN ก็คือ จากคำประกาศดังกล่าว มิได้หมายความว่าฝ่ายไทยจะต้อง ยอมรับ และ ดำเนินการ ตามข้อเรียกร้องหมดทั้ง 5 ข้อแต่อย่างใด แต่ทว่าเพียงขอให้ฝ่ายไทยนั้น ยอมรับ สิ่งเหล่านั้น เพื่อเป็นแก่นสารในการถกอภิปรายในการประชุมในครั้งต่อๆ ไป จุดประสงค์ก็คือเพื่อต้องการให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลวางอยู่บนรากฐานที่ถูกต้อง จนถึงขณะนี้เอกสารข้อมูลคำอธิบายของบีอาร์เอ็น (ประมาณ 20 หน้า) ฉบับภาษาอังกฤษยังไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในประเทศไทยแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังหน่วยงานของรัฐบางหน่วยที่เกี่ยวข้อง เผื่อว่าเอกสารดังกล่าวนั้น จะถูกพิจารณาและถกเถียงกัน มีนักวิเคราะห์ข่าวบางรายได้เข้าถึงข้อมูลในเอกสารดังกล่าวในทางลับ และได้กลั่นกรองเพียงบางส่วนได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น เป็นที่แน่นอนไปแล้วก็คือ ประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกถกเถียงกันมากที่สุดก็คือข้อเรียกร้องเบื้องต้นประการที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติมลายูปาตานี (กรุณาอ่านคำอธิบายของผู้เขียนในหัวข้อดังกล่าวใน: http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4740 และฉบับแปลไทย - http://www.deepsouthwatch.org/node/4757) ในบรรดาสาระสำคัญที่มีการระบุไว้ในข้อเรียกร้องประการที่ 4 ของเอกสารของ BRN 4 ได้แก่ 1. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับว่าแผ่นดินปาตานีเป็น สิทธิ (เจ้าของ) ของประชาคมมลายูปาตานี 2. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดพื้นที่และโอกาสให้กับประชาคมมลายูปาตานีในการปกครองจังหวัดทางภาคใต้ ให้สอดคล้องกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right of Self-Determination) ผ่านหลักการการปกครองตนเอง (AUTONOMI) ที่มีการบริหารในฐานะเขตปกครองแบบพิเศษ (Special Administrative Region) ภายในประเทศไทย ตามแบบอย่างของรูปแบบการปกครองตนเองอย่างจำกัดที่ได้ลิ้มรสมาแล้วโดยเมืองกรุงเทพฯและเมืองพัทยา 3. บีอาร์เอ็นไม่ได้เรียกร้องเพื่อแยกตัวออกจากประเทศไทย กล่าวโดยสรุปก็คือว่า หากเราอาศัยข้อมูลตามเอกสารดังกล่าว BRN เรียกร้องการปกครองตนเอง (ออโตนอมี) บนผืนแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีการแยกตัวออกจากประเทศไทยนั่นเอง ตรงนี้นี่เองที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยและเครื่องหมายคำถามจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในหมู่นักต่อสู้กันเอง นักเคลื่อนไหว นักวิเคราะห์สื่อ นักวิเคราะห์การเมือง ประชาชนทั่วไป และแม้แต่คนของทางการเอง เป็นไปได้อย่างไรกันที่ขบวนการต่อสู้อย่าง BRN ซึ่งได้ต่อสู้กับรัฐไทยด้วยกำลังอาวุธมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้มาซึ่งเอกราช จะยอมรับการปกครองตนเองภายใต้กฎหมายไทย? ขบวนการ BRN ได้ทอดทิ้งอุดมการณ์แห่งการปลดปล่อยและเอกราชเสีย โดยปรารถนาเพียงการปกครองตนเองเหมือนเช่นเมืองกรุงเทพฯและพัทยา เช่นนั้นหรือ? บางฝ่ายนั้นเกิดข้อสงสัยว่า ทางฝ่าย BRN อาจมีนัยยะซ่อนเร้นภายใต้ความพยายามเรียกร้องการปกครองแบบตนเองอะไรหรือไม่ หรือจะเป็นบันไดขั้นแรกก่อนที่จะเดินหน้าสู่ความเป็นอิสรภาพเต็มรูปแบบ? ก่อนที่เราจะกล่าวอย่างอื่น คงจะเป็นการดีหากเราย้อนไปดูคำแถลงการณ์ที่ได้เผยแพร่ผ่านทางยูทูปไปแล้วก่อนหน้านี้ ภายหลังจากการลงนามข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 1. จากยูทูปคลิปที่1 : "BRN คือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี เป้าหมายในการก่อตั้งขบวนการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวมลายูปาตานี เพื่อทำการรวบรวมชาวมลายูปาตานีภายใต้ความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งเดียวกัน ที่จะครอบคลุมไปถึงทุกกลุ่มชนของสังคม ในฐานะนักต่อสู้ชาวปาตานีด้วยกัน "หลังจากนั้นเราจะทำการรวบรวมชาติพันธุ์มลายูปาตานีที่มีอยู่ให้เป็นหนึ่งและที่ทรงพลัง จากนั้นเราก็จะได้รับความเป็นอิสรภาพ ซึ่งต่อไปเราคงจะได้รับอิสรภาพในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเราจะสามารถปกครองด้วยตัวเราเองด้วยความยุติธรรมที่สุด ไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม "ด้วยเหตุนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมขอความร่วมมือจากประชาชนชาวมลายูปาตานีทุกเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นคนสยามก็ดี คนมลายูก็ดีและคนจีนเองที่มีอยู่ในปาตานี อย่าได้วิตกกังวลใจต่อการสร้างความยุติธรรมครั้งนี้เลย" "นั่นคือภาพรวมอย่างคร่าวๆของ BRN เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมความเจริญรุ่งเรืองตลอดจนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐในที่สุด بَلْدَةٌ طَيِّبَةٌ وَرَبٌّ غَفُورٌ "–อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ 2. จากยูทูปคลิปที่2 "ด้วยเหตุนี้ขบวนการ (BRN) เพื่อการปลดปล่อยปาตานีจากการยึดครองของสยามก็ได้กำเนิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราพร้อมที่จะเสียสละทั้งเลือดเนื้อและทรัพย์สิน ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและอิสรภาพของปาตานีจากการยึดครองของสยาม" - ฮัจญี อาดัม มูฮัมหมัดนูร - ตัวแทน BRN 3. จากยูทูปคลิปที่ 3: "หลังจากสยามทำให้ปาตานีตกเป็นอาณานิคม และปกครองด้วยการกดขี่และความโหดร้าย องค์กร BRN ก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีในประชาชน (ปาตานี) รวมตัวกันในการต่อสู้ปลดปล่อยชาวปาตานีจากการปกครองแบบอาณานิคมของสยาม" อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ จากทั้งคลิปทั้งสามดังกล่าวข้างต้น เราสามารถสรุปได้ว่า จุดประสงค์ของการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็นนั้นก็เพื่อหลอมรวมชาวมลายูปาตานีให้มีความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสรภาพจากอาณัติของนักล่าอาณานิคมและสถาปนาการปกครองเสมือนเช่นประเทศหนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า องค์กรที่ต่อสู้เพื่อปาตานีกลุ่มอื่นๆก็มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ PULO (Patani United Liberation Organisation) BIPP (Barisan Islam PembebasanPatani) GMIP (Gerakan Mujahidin Islam Patani) ทั้งหมดนั้นได้จัดวางการปลดปล่อย (Liberation)ในฐานะที่เป็นแนวทางและกำหนดให้อิสรภาพ (independence) เป็นเป้าหมายสูงสุด หากจะมีความแตกต่างในหมู่พวกเขาอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นเพียงความต่างในแง่ของยุทธศาสตร์และวิธีการเพียงเท่านั้น บางกลุ่มมุ่งเน้นต่อสู้ด้วยอาวุธ มีไม่น้อยที่เน้นไปที่การทำงานทางการทูตกับต่างประเทศ (ระดับนานาชาติ) และมีบางกลุ่มเช่นกันที่มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างงานทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (การศึกษา) เศรษฐกิจชุมชนและการจัดตั้งมวลชนโดยทั่วไปแล้ว บรรดาองค์กรเหล่านี้จะมีจุดยืนที่หนักแน่นว่าจะไม่ประนีประนอมไม่ให้ความร่วมมือและจะไม่มีการต่อรอง (เจรจา) ใดๆ ทั้งสิ้นกับรัฐไทย จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่านับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาประมาณ 50 ปีที่แล้วองค์กรต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีทั้งหมด ยังคงยืนหยัดกับเป้าหมายเดิมคือความเป็นอิสระ จนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีองค์กรใดออกมายกเลิกความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายของอิสรภาพอย่างเป็นทางการ แต่อยู่ๆ ประชาชนปาตานีก็ต้องตื่นตระหนกกับท่าทีของ BRN ที่ได้ตกลงจะเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลกับรัฐบาลไทย เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ และข้อสันนิษฐานจากหลายๆ ฝ่ายซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปกันไปแล้ว ตลอดระยะเวลาของกระบวนการนี้ดำเนินอยู่ สิ่งที่ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนสมาชิกคณะการพูดคุยท่านอื่นๆของ BRN ที่ปรากฏตัวขณะที่มีการลงนาม (คนอื่นที่ไม่ใช่อุซตาสฮัสซัน ตอยิบ) บางคลิปวิดีโอของ BRN ที่เผยแพร่ผ่านยูทูปอย่างการริเริ่ม "หยุดยิง" ในเดือนรอมฎอน การระงับการพูดคุยโดยอาศัยมติจากสภาชูราของบีอาร์เอ็น และล่าสุดในตอนนี้ก็เป็นเอกสารอธิบายเกี่ยวกับข้อการเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อ ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร? หรือจะเป็นเรื่องจริงตามความคาดเดาจากบางฝ่ายที่ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลนี้เป็นการจัดฉาก? อะไรคือทัศนะที่แท้จริงของ BRN และองค์กรอื่นๆที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจาดังกล่าว (PULO และ BIPP)? ฝ่ายไทยจะปฏิบัติตามความต้องการของ BRN หรือไม่? มาเลเซียในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกจะมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่อย่างไร? แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามในการแสวงหาตามอุดมการณ์แห่งเสรีภาพและความเป็นอิสรภาพของ BRN และกลุ่มพันธมิตรจะมีการยอมรับการปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทยนั้น จะมีความเป็นไปได้หรือ? ทั้งหมดนี้จะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้งในตอนที่ 2 เร็วๆนี้ น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง - จากนอกรั้วปาตานี ซุลฮิจญะฮ์ / ตุลาคม 2013 หมายเหตุ: กรุณาดูต้นฉบับเดิม "BRN TOLAK MERDEKA ? (Bahgian1)" ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4821 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปาฐกถาธีรยุทธ บุญมี: สารพัด ‘ขี้’ ในการเมืองไทย-หัวใจคือกระจายอำนาจ Posted: 14 Oct 2013 02:42 AM PDT
14 ต.ค. 56 มูลนิธิ 14 ตุลาฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาปันปรีดี พนมยงค์, สถาบันพระปกเกล้า, เครื่อข่ายองค์กรประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมจัดงานรำลึก 14 ตุลาคม 2516 โดยในงานนี้มีการปาฐกถาของอดีตผู้นำนักศึกษา 2 คน คือ ธีรยุทธ บุญมี และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปาฐกถาของธีรยุทธชื่อ "40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" มีเนื้อหาโดยสรุปถึงความเข้าใจผิดของผู้คนเกี่ยวกับความหมายของ "ประชาธิปไตย" ,อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ไม่มีอยู่จริงในสังคม, ผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ต.ค., สภาพวัฒนธรรมทางการเมืองแบบสารพัดขี้ ทักษิณ-ขี้ขำ ยิ่งลักษณ์-ขี้แบ๊ะ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์-ขี้หักถ่อง พร้อมเสนอก้าวต่อไป สังคมไทยไม่ควรมองเรื่องทักษิณหรือเสื้อแดง-เหลืองเป็นวิกฤต , ปัญหาทักษิณไม่ใช่วิกฤตประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมภิบาล, นโยบายประชานิยมที่ทำให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้งเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ, สถาบันอนุรักษ์นิยมต้องปรับตัวให้เข้าสมัย เลิกเน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและชาติไทยในทุกด้าน การเน้นสถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางของทุกสิ่งอย่างล้นเกินเป็นการสุ่มเสี่ยง ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันระยะยาว "ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร" ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป" "บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้" "ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน "เสื้อเหลือง" ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง" ส่วนหนึ่งของการปาฐกถา รายละเอียดฉบับเต็มอยู่ด้านล่าง 00000 มีคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำก็คือ "ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน" ที่แรงหน่อยก็ว่า "ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่" "อุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?" ถ้าจะตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซึ่งเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษากว่าไทย ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดในปี 2516 ฟิลิปปินส์ซึ่งคุ้นเคยกับประชาธิปไตยมาก่อนไทย เพิ่งมาล้มล้างเผด็จการมาร์กอสได้ในปี พ.ศ. 2529 เกาหลีใต้ล้มเผด็จการทหารได้ในปี 2530 ปัจจุบันพม่ายังอยู่ใต้เผด็จการทหาร อินโดนีเซียยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ ประการที่สอง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่พวกคณะราษฎร 2475 และ 14 ตุลา อัญเชิญมาจากฟากฟ้ามาประดิษฐาน แล้วประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้ ในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ทั้งขุนนาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ชาวบ้าน มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน ในศตวรรษที่ 13 อัศวินและขุนนางอังกฤษต่อสู้ให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายสิทธิยอมรับและการสืบทอดมรดกเหนือปราสาทและที่ดินของตน ทำให้เกิดกฎหมาย Magna Carta ขึ้น ปัญญาชน บาทหลวงยุโรปจำนวนมากเผยแพร่ความคิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิธรรมชาติ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อต้านผู้นำที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ส่วนชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวนา ก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน การเลิกข้อจำกัดไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ ตัดฟืน การต่อสู้ให้เลิกล้มระบบไพร่ติดที่ดินของชาวนาในฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมัน ในศตวรรษที่ 14, 15, 16 การต่อสู้เพื่อประกาศถึงสิทธิในการชุมนุม เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก บางครั้งกองกำลังหลายพันคนถูกกวาดล้างจนหมดสิ้น เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วเช่นนี้ คนตะวันตกจึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย พยายามรักษาให้มันทำงานให้มันดำรงความเป็นระบบที่ดีเอาไว้ จนไม่มีทหารหรือนักการเมืองคนใดจะกล้ามาเบี่ยงเบนหรือบิดเบือน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน เป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง) (ก) ในเรื่องอุดมการณ์ ข้อเท็จจริงก็คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ "ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ" มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน "ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์" ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ "สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์" นั่นเอง กลุ่มทุนดั้งเดิมของไทยนอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (ข) ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย (สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้ คนไทยนิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่องขี้ เช่น เรื่องนี้ขี้ปะติ๋ว ขี้ผง มองคนคนเต็มไปด้วยขี้จากหัวจรดเท้า เช่น ขี้หัว ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้เต่า ขี้เล็บ ขี้ตีน มองอุปนิสัยพฤติกรรมคนด้วย "ขี้" ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้เหร่ ขี้หลี ขี้อาย ขี้ดื้อ ขี้ตืด ขี้เหนียว ขี้กะโล้โท้ ขี้เป้ ขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ขี้ตัวะ ขี้จุ๊ มองฐานะคนด้วยคำว่า "ขี้" เช่น ขี้ข้า ขี้ครอก ขี้ทึ้ง ขี้ถัง ขี้โอ่ ขี้อวด ขี้อ่ง คนเลวทรามผ่าน "ขี้" เช่น ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้จาบ ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น "ขี้ขำ" ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ "ขี้หย้อง" กับ "ขี้แบ๊ะ" คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก "ขี้หักถ่อง" ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน) ดังนั้น เมื่อกลุ่ม องค์กร สถาบันสำคัญๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมืองไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน? ความฝันที่ยังเหลือของ 14 ตุลา คนหนึ่ง 14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ ผมอยากจะหวังอย่างเดียวคือ จากโอกาสที่เสียไป 40 ปี ผมอยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกได้ 1. สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณหรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น 2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหาของมันมาแก้ไข การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหารพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ผิดพลาด ผู้ที่คิดจะแก้ไขโดยวิธีที่ไม่ใช้กฎหมาย เช่นจะนำเอาการเมืองมาแก้ไขก็ต้องพร้อมรับปัญหา หรือพวกที่จะนำเอารัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบเช่นกัน ทักษิณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบถ้าดึงดันใช้วิธีหักดิบ ไม่ยอมแก้ปัญหาไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เพราะทักษิณคือตัวปัญหา "ขี้ดัน" ของการเมืองไทย คนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกจะหงุดหงิดอย่างมาก คงจะออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากมายแน่นอน 3. นโยบาย "ประชานิยม" หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง 4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วยกันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง และซ้ำเติมปัญหาการไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยก็คือ การที่รัฐไทยโฟกัสปัญหาอยู่ที่การรักษาความเป็นชาติ หรือความมั่นคงของชาติอย่างผิดๆ ผิวเผิน หรือสุ่มเสี่ยงมากเกินไป คือ (ก) เน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและความเป็นชาติไทยในทุกๆ ด้าน (ข) การเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของศูนย์กลางนี้ในทุกๆ ด้าน คือพยายามอาศัยท่านให้เป็นใจกลางของความมั่นคงการเมือง เป็นใจกลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นใจกลางของคุณธรรม อย่างล้นเกินจนคล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างเป็นประวัติการณ์ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันว่า พระมหากษัตริย์อีหลายพระองค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป จะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร (ค) ทั้งสองประเด็นข้างต้นส่งผลให้ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์ของตัวเอง ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คับแคบมากที่สุด การสำแดงออกซึ่งสัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ก็อยู่ในลักษณะที่คับแคบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ก็เน้นศูนย์กลางและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อย่างล้นเหลือ ละเลยประวัติศาสตร์เชิงสังคมว่า ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวบ้าน แรงงาน ได้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองมาอย่างไร ละเลยประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ประวัติศาสตร์เชิงภูมิวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือชุมชน ฯลฯ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรับรู้เชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ของคนไทยก็คับแคบตามไปด้วย ผลเสียร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถ้าเราจะลองถามตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นอกจากกรณีโจรจีนมลายูแล้วเรารับรู้อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความเจริญก้าวหน้า การอยู่ดีมีสุข หรือเป็นปัญหาคับคาใจ ที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คำตอบก็คือไม่มีเลย หรือเกือบไม่มีเลย ที่ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาความทุกข์ความสุข ความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทราม แต่เป็นเพราะกรอบความรับรู้อันคับแคบที่รัฐไทยได้ตีไว้จนไม่สามารถมีการสื่อสารใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าเราจินตนาการว่า ได้มีการรับรู้ มีความชื่นชม จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม พูดจาปราศรัยกันด้วยภาษาไทยปนภาษายาวีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน มีภาพข่าวเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมภาคใต้ มีภาพสุเหร่า มัสยิด ภาพสถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภาพผู้หญิง ผู้ชาย ในเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของพวกเขา มีนิยาย ละคร เพลง ปรากฏในสื่อต่างๆ สม่ำเสมอตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทุกวันนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยก็ได้ การไม่ยอมรับส่งเสริมสิทธิอำนาจของชาวบ้านก็ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก เพราะชุมชนและชาวบ้านไม่มีช่องทางใดๆ ที่จะโต้เถียงหรือแสดงออกได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะเพียงภาคใต้เท่านั้น คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้กับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคใต้ส่วนบนเอง เพราะทิศทางใหญ่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียนภิวัตน์คือการตื่นตัวทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ของผู้คนทั่วโลกผ่านทางข่าวสารและ Social network ต่างๆ ความสนใจใคร่รู้ การเดินทางท่องเที่ยว แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ย่อมเพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าอย่างทวีคูณ ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ จะได้ประโยชน์ก็ต้องรับรู้ รื้อฟื้น หรือสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมา นี่เป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจการลงทุนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเคารพกัน ชื่นชมกัน ให้การยอมรับกัน (recognition) อย่างแท้จริงของการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ที่ชัดเจนก็คือการรัฐประหารไม่อาจมีขึ้นได้แล้วในประเทศไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีใครสนับสนุน ถึงแม้จะรัฐประหารโดยใช้กำลังได้ พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมไม่คิดว่าเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเดิม ที่จะสามารถนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมคิดว่าแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของนักการเมือง นักคิด NGOs และขบวนการรากหญ้าของภูมิภาคและท้องถิ่น หรือมีพวกเขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้ ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน "เสื้อเหลือง" ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่งได้ 00000 ที่มาปาฐกถาเต็ม: เว็บไซต์อิศรา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 Posted: 14 Oct 2013 12:26 AM PDT บทนำ ในช่วงเวลานี้รัฐสภากำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญากับต่างประเทศ มีประเด็นที่สมควรอภิปรายเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นหลายประเด็น โดยผู้เขียนขอเสนอประเด็นดังนี้ 1."การลงนาม" กับ "การแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน" เป็นคนละขั้นตอนจริงหรือ มาตรา 190 วรรค 4 บัญญัติว่า "เมื่อลงนามหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน….." แสดงให้เห็นว่า ผู้ร่างมาตรา 190 เข้าใจว่า การลงนาม (Signature) กับการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (Consent to bound) เป็นคนละขั้นตอนกัน แต่แท้จริงแล้ว ในมาตรา 11 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ระบุว่า วิธีการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันนั้นทำได้หลายวิธี เช่น การแลกเปลี่ยนตราสารจัดทำสนธิสัญญา การให้สัตยาบัน การให้ความเห็นชอบ การภาคยานุวัติและรวมถึง "การลงนามด้วย" ดังนั้น การที่ผู้ร่างไม่นับ "การลงนาม" ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันเท่ากับเป็นการบังคับฝ่ายบริหารโดยปริยายว่าต้องทำหนังสือสัญญาเต็มรูปแบบใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ควรมีการอภิปรายเพื่อให้เกิดชัดเจนด้วย 2.ควรหรือไม่ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาประเภทหนังสือสัญญา จากการศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆพบว่า รัฐธรรมนูญของต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยประเภทของสนธิสัญญาแต่ประการใด ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญของบางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ห้ามศาลมิใช้ตัดสินความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสนธิสัญญา (ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 120 ของประเทศเนเธอร์แลนด์)[1] ยกเว้นรัฐธรรมนูญของประเทศโคลัมเบียซึ่งบัญญัติให้มีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการทำสนธิสัญญาทุกครั้งก่อนที่จะมีการลงนาม แต่การบัญญัติเช่นนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญโคลัมเบียมีภารกิจเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่ากรณีของโคลัมเบียเป็นกรณียกเว้น ส่วนใหญ่แล้ว การพิจารณาว่าสนธิสัญญาใดจะต้องให้สภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญของตนหรือไม่นั้นเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ซึ่งทางปฏิบัติของประเทศส่วนใหญ่ฝ่ายบริหารจะขอความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศของตนซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า อำนาจในการวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดตามมาตรา 190 วรรคสองจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือไม่ให้ควรอยู่ที่ "คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ" ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศจึงย่อมทราบดีว่าหนังสือสัญญาใดอยู่ในข่ายของมาตรา 190 วรรคสองหรือไม่มากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี หากที่ประชุมรัฐสภายังยืนยันให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการวินิจฉัยประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาแล้ว ควรอภิปรายในประเด็นของเงื่อนเวลาด้วยว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นควรจำกัดเฉพาะกรณีที่ฝ่ายบริหารยังมิได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (consent to be bound) หรือสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเวลาใดก็ได้ แม้กระทั่งฝ่ายบริหารได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพันแล้ว การที่มาตรา 190 วรรคท้ายมิได้กำหนดเงื่อนเวลาว่าจะต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนที่รัฐบาลจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันอย่างกรณีรัฐธรรมนูญของประเทศโคลัมเบียนั้น อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ว่า หากมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหลังจากที่รัฐบาลได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในทางระหว่างประเทศแล้ว แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การทำหนังสือสัญญาของรัฐบาลขัดกับมาตรา 190 ก็ตาม ก็หามีผลลบล้างความผูกพันของสนธิสัญญาในระดับระหว่างประเทศ (on the international plane) ไม่ เนื่องจากอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 มาตรา 46 บัญญัติว่ารัฐภาคีจะอ้างความขัดข้องของกฎหมายภายในเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญามาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้สนธิสัญญานั้นไม่มีผลผูกพันไม่ได้ ปัญหานี้ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตแต่ผู้เขียนได้ตั้งเป็นประเด็นให้ฉุกคิดว่า หากเกิดขึ้นแล้ว จะหาทางแก้ไขอย่างไร 3. กฎหมายลูกเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ มาตรา 190 ได้บัญญัติขึ้นโดยขัดกับหลักการพื้นฐานของการทำสนธิสัญญามาตั้งแต่ต้น โดยให้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทเหนือฝ่ายบริหาร อีกทั้งประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องให้สภาให้ความเห็นชอบนั้นก็มีมากมายจนยากที่จะหาขอบเขตที่ชัดเจนได้ การมีกฎหมายลูกอาจทำความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของหนังสือสัญญาประเภทต่างๆได้บ้าง แต่กฎหมายลูกไม่อาจแก้ไขขั้นตอนยุ่งยากต่างๆในมาตรา 190 ได้ทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น หากกฎหมายลูกร่างไม่รัดกุมก็จะยิ่งสร้างปัญหาการตีความให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมากขึ้นไปอีก ผู้เขียนเคยอ่านร่างกฎหมายนี้แล้วที่ยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกัน (ผู้เขียนไม่ทราบความคืบหน้าของกฎหมายลูกว่าขณะนี้มีเนื้อหาอย่างไร) ยังมีข้อสงสัยอยู่หลายเรื่อง เช่น คำนิยามของประเภทหนังสือสัญญา การกำหนดให้ทำวิจัยจากหน่วยงานที่เป็นกลางหรือไม่ก็จากส่วนราชการนั้นเอง การกำหนดเป็นบัญชีประเภทของหนังสือสัญญา เป็นต้น ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ เมื่อมีกฎหมายลูกออกมาและฝ่ายบริหาร (รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง) จะปฎิบัติตามกฎหมายลูกนี้ก็ตาม แต่หากฝ่ายค้านหรือวุฒิสมาชิกเห็นว่ามีปัญหาตามวรรคสองคือหนังสือสัญญาใดอยู่ในข่ายที่จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ มาตรา 190 วรรคท้ายกำหนดว่าให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ความเห็นของฝ่ายบริหาร (รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง) กับศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นไม่ตรงกันได้ ซึ่งก็เคยปรากฏให้เห็นมาแล้ว นอกจากนี้ แม้แต่ส่วนราชการเองก็ยังเห็นไม่ตรงกันว่าการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในกรณีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนราชการแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าต้องผ่านสภากับฝ่ายที่เห็นว่าไม่ต้องผ่านสภา จนมีการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาแล้ว 4.กรณีอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องการทำหนังสือสัญญา มาตรา 190 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญา (หรือสนธิสัญญาไม่ว่าจะเป็นความตกลงแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีก็ตาม) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ก่อให้เกิด "พันธกรณีระหว่างประเทศ" แต่พันธกรณีระหว่างประเทศนั้นมิได้มาจากสนธิสัญญาเท่านั้น แต่ยังเกิดจาก "การกระทำฝ่ายเดียว" ไม่ว่าการกระทำฝ่ายเดียวนั้นจะมาจาก "รัฐ" หรือ "องค์การระหว่างประเทศ" (เช่น การออกข้อมติ) ก็ตาม ฉะนั้น เรื่องใดก็ตามที่มิใช่เป็นความตกลงระหว่างประเทศย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้ขอบเขตของมาตรา 190 ประเด็นที่ผู้เขียนอยากเสนอให้มีการอภิปรายก็คือ สมควรยกร่างมาตราเกี่ยวกับการรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศที่มิได้อยู่ในรูปของสนธิสัญญาหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในกฎบัตรอาเซียนมีหลายข้อบทที่ใช้ถ้อยคำแตกต่างกันไป เช่น ข้อ 5 (2) บัญญัติว่า "ให้รัฐสมาชิกมีมาตรการที่จำเป็นทุกประการอันรวมถึงการออกกฎหมายภายในที่เหมาะสมเพื่ออนุวัติบทบัญญัติของกฎบัตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดของรัฐสมาชิก" หรือใน ข้อ 7 ว่าด้วยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน พบว่าที่ประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของอาเซียนมีอำนาจในการ "ตัดสิน" ในเรื่องวัตถุประสงค์ของอาเซียนและทุกประเด็นที่มีการเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนรวมทั้งข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้ตามข้อที่ 26 ด้วย หรือในข้อบทที่ 27 ได้มีการกล่าวถึงการไม่ปฏิบัติตาม ผลการวินิจฉัย (Findings) ข้อเสนอแนะ (Recommendation) หรือข้อตัดสินใจ (Decision) ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียน ผู้เขียนเห็นว่า คำว่า Findings ก็ดี หรือ Decision ก็ดี ถือว่าเป็น "พันธกรณี" (Obligation) ตามความหมายของข้อบทที่ 5 (2) แล้ว แต่ไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็น "หนังสือสัญญา" ตามมาตรา 190 เพราะมิใช่เป็นความตกลงระหว่างประเทศ (International agreement) คำถามมีว่า "ผลการวินิจฉัย" หรือ "ข้อตัดสินใจ" นี้จะมีผลผูกพันองค์กรของรัฐภายในประเทศอย่างไร จะต้องออกกฎหมายภายในอนุวัติการหรือไม่หรือมีผลผูกพันทันที หรือกรณีที่เคยเกิดขึ้นก็คือการที่ศาลโลกได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้มีการกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวและให้การถอนทหารออกจากบริเวณดังกล่าวก็มีประเด็นถกเถียงอยู่พักหนึ่งว่าการปฎิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยศาลโลกนั้นจะต้องผ่านสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 หรือไม่ ฉะนั้น สมาชิกรัฐสภาน่าจะอภิปรายในประเด็นนี้ว่า ควรยกร่างมาตราเพื่อรองรับความผูกพันและปฎิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มิได้เกิดจากหนังสือสัญญาหรือไม่และควรมีเนื้อหารายละเอียดอย่างไร สำหรับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศที่กล่าวถึงความผูกพันของ "ข้อมติ" และ "คำตัดสิน" ของสถาบันระหว่างประเทศ (International institutions) คือรัฐธรรมนูญของประเทศเนเธอร์แลนด์ (มาตรา 93 และ 95) บทส่งท้าย มาตรา 190 เป็นบทบัญญัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำสนธิสัญญา การพิจารณามาตรา 190 จึงต้องอาศัยกรอบของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 เป็นหลัก ประกอบกับพิจารณากฎหมายเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร การร่างมาตรา 190 แบบ "ไทยๆ" นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศแล้วยังทำให้อำนาจหน้าที่ขององค์กรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการต่างรวนไปด้วย นอกจากนี้ รายละเอียดต่างๆไม่ควรกำหนดในรัฐธรรมนูญแต่ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกแทน [1] ดูรายละเอียดใน Gerhard van der Schyff, Constitutional Review by the Judiciary in the Netherlands: A Bridge Too Far?, Ge rma n L aw J o u r n a l [Vol. 11 No. 02, (2010)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
"Give Up Tomorrow" สารคดีสะท้อนชีวิตเหยื่อความผิดพลาดโทษประหาร Posted: 13 Oct 2013 11:37 PM PDT เอไอประเทศไทย ฉายหนัง Give Up Tomorrow สารคดีเจ้าของ 18 รางวัล แสดงปัญหากระบวนการยุติธรรมและโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์ที่สั่นสะเทือนจิตใจประชาชนทั้งประเทศ "เวลาผมอยู่ในคุก ทุกๆ วันผมจะคิดว่า วันนี้จะทำอะไร และทำอะไรต่อหลังจากนั้น มันอาจจะมีบ้างที่รู้สึกอยากจะยอมแพ้ แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้ ผมมักจะบอกเพื่อนร่วมคุกของผมเสมอว่า ถ้าจะยอมแพ้ ให้ยอมแพ้วันต่อไป เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง ค่อยเอาไว้ยอมแพ้วันพรุ่งนี้ " นี่คือคำพูดของปาโก้ ลาราญากา (Paco Larrañaga) ที่ให้สัมภาษณ์จากเรือนจำเซบู หลังจากเขาถูกคุมขังมาแล้ว 8 ปีสำหรับคดีที่หลายคนมองว่าเขาไม่ได้ก่อ วลีนี้กลายมาเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่อง Give Up Tomorrow ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของปาโก้ ชายหนุ่มลูกครึ่งฟิลิปปินส์และสเปนจากตระกูลออสเมนา (Osmeña clan) ตระกูลของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เซอร์จิโอ ออสเมนา ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทรงอิทธิพลในเกาะเซบูทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ที่โชคชะตาพลิกผัน ให้ปาโก้ได้รับโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรม และกลายเป็นคดีที่สะท้อนความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นจนจบ
ปาโก้ถูกจับกุมเมื่อเขาอายุ 19 ปี ในเดือนกรกฎาคม ปี 2540 เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมข่มขืนสองพี่น้อง มารีจอย ชอง และแจ็คเกอลีน ชอง ทั้งคู่อยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ โดยศพที่เชื่อว่าเป็นมารีจอย ถูกข่มขืนและโยนลงจากหน้าผาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คดีดังกล่าวเป็นคดีที่สะเทือนขวัญฟิลิปปินส์โดยเฉพาะในเซบูเป็นเวลานานหลายปี โดยปาโก้ถูกจับกุมเนื่องจากในอดีตเขาเคยมีประวัติในคดีทำร้ายร่างกาย เช่นเดียวกับจำเลยอีกหกคนซึ่งยืนยันว่าตนเองถูกใส่ร้ายเนื่องจากเคยมีคดีติดตัว การที่ปาโก้เป็นลูกหลานของครอบครัวผู้มีอิทธิพลเชื้อสาย Mestizo (ลูกครึ่งระหว่างสเปนและฟิลิปปินส์) ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคมสเปน ต่างจากชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนที่มักถูกมองว่าอยู่ในชนชั้นที่ต่ำต้อยกว่าในสังคม ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อที่สื่อมวลชนและสาธารณะพร้อมที่จะโจมตีด้วยความอัดอั้นจากความไม่เท่าเทียมในสังคมฟิลิปปินส์ที่มีอยู่อย่างมหาศาล ปาโก้ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองด้วยพยานกว่า 35 คนทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียน ครู หลักฐานรูปถ่าย ทะเบียนการเข้าเรียน ที่บ่งชี้ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 40 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุฆาตกรรม ปาโก้อยู่ที่กรุงมะนิลา ห่างไปจากเซบูกว่า 600 กิโลเมตร แต่ด้วยหลักฐานฝ่ายโจทก์ที่ถูกนำเสนอมาด้วยความน่าสงสัยในตอนหลัง ทำให้ศาลเชื่อว่าเขามีความผิดจริง และถูกสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หนังฉายบรรยากาศหลังการตัดสินของคดีดังกล่าว ที่ห้องพิจารณาคดีก้องไปด้วยเสียงกรีดร้องของเทลม่า ชอง มารดาของสองพี่น้องชอง และบรรดาคนที่รอฟังคำตัดสินอยู่ภายนอกศาล ที่ต่างตะโกนด้วยความไม่พอใจที่ศาลลงโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต และเรียกร้องให้ลงโทษจำเลยทั้ง 7 คนด้วยโทษประหารชีวิต จากนั้นไม่นาน ครอบครัวลาราญากาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ด้วยคำร้องว่าปาโก้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าในกระบวนการไต่สวนมีความไม่ปกติและความไม่เป็นธรรมต่อตัวจำเลยในหลายจุด แต่สิ่งที่ครอบครัวปาโก้ได้รับจากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่มีความใกล้ชิดกับครอบครัวตระกูลชองซึ่งทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน คือการลงโทษประหารชีวิต "การพิจารณาคดีนี้เห็นได้ว่าเป็นการไต่สวนจากแรงกดดันจากสาธารณะและความคิดเห็นจากสื่อจำนวนมหาศาล" มาร์ตี้ เซจูโด ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สัมภาษณ์หลังการฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ซึ่งเป็นการฉายครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดขึ้นเนื่องในวันรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตสากล วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกๆ ปี
มาร์ตี้ ผู้กำกับที่มาจากนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เล่าที่มาของการทำหนังเรื่องนี้ว่า เขาเองได้ติดตามคดีของปาโก้มาโดยตลอด และเมื่อทราบว่าปาโก้ถูกศาลฟิลิปปินส์ตัดสินลงโทษประหารชีวิต เขาจึงรู้สึกอยากบอกเล่าเรื่องราวของปาโก้เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมรวมถึงโทษประหารชีวิต และเนื่องจากเขาเองเป็นน้องชายของพี่สะใภ้ครอบครัวลาราญากา จึงสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่จำเป็นได้ค่อนข้างสะดวก มาร์ตี้เล่าว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาทำทั้งหมดเจ็ดปี โดยร่วมกับผู้กำกับไมเคิล คอลลินส์ โดยหลังจากฉายครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ไทรเบคก้าที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา "Give Up Tomorrow" ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถึง 18 รางวัล และยังได้รับการเสนอชื่อประเภทข่าวสืบสวนสอบสวนดีเด่นสำหรับรางวัลเอ็มมี่ครั้งที่ 34 ด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ไปฉายที่ฟิลิปปินส์เป็นเวลาสามอาทิตย์ โดยมาร์ตี้เล่าว่า ตอนแรกเขาค่อนข้างไม่แน่ใจว่าผลตอบรับในภาพยนตร์จะเป็นอย่างไร เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา สาธารณชนฟิลิปปินส์เชื่อว่าปาโก้เป็นคนผิดมาตลอด แต่หลังจากที่หนังได้ฉายที่มะนิลา ความคิดเห็นของผู้คนก็เปลี่ยนไป โดยเชื่อว่าปาโก้เป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมและมองว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนดูฟิลิปปินส์อย่างล้นหลาม ฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเมื่อปี 2549 ในสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย่ หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากสหประชาชาติ ศาสนจักรแคธอลิก และสเปน ทำให้ปาโก้ซึ่งได้รับโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2547 ได้ลดโทษเหลือการจำคุกตลอดชีวิต พร้อมๆ กับนักโทษที่ได้รับโทษประหารทั่วประเทศอีกกว่า 1,200 คน หลังจากที่ปาโก้ได้รับโทษประหารชีวิต เนื่องจากบิดาของเขาเป็นคนสเปน ทำให้ทางครอบครัวของเขาพยายามใช้ช่องทางให้รัฐบาลสเปนเข้ามาช่วยเหลือกรณีปาโก้ซึ่งถือว่าเป็นพลเมืองของสเปนด้วย เขาแอบถ่ายวีดีโอและส่งออกมาให้คนข้างนอก "ผมชื่อปาโก้ ลาราญากา ผมเป็นพลเมืองสเปน และผมถูกจองจำมาเกือบ 15 ปีแล้ว" ปาโก้ ลาราญากา (เสื้อสีเทา) แรงกดดันต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์จากทุกทิศทางเริ่มมีมากขึ้น หนังสือพิมพ์ Diaro Que รายใหญ่ของสเปน ได้ทำแคมเปญล่ารายชื่อจากสาธารณชนเพื่อส่งให้รัฐบาลสเปนกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวมรายชื่อได้กว่า 300,000 รายชื่อ เพื่อส่งให้สถานทูตฟิลิปปินส์ในสเปนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวปาโก้ทันที "ทันทีที่ฉันอ่านกรณีของปาโก้ ฉันรู้ทันทีเลยว่ามีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับคดีนี้แน่นอน" ตัวแทนจากองค์กร Fair Trial Abroad กล่าว เธอชี้ว่า แต่เนื่องจากกรณีของปาโก้สิ้นสุดลงแล้วที่ศาลฎีกา จึงมีทางเดียวที่จะอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อ นั่นคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อมาสหประชาชาติจึงทำหนังสือเพื่อไปกดดันฟิลิปปินส์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตและชี้ว่ากระบวนการไต่สวนดังกล่าวไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2549 ปัจจุบัน ปาโก้ ลาราญากายังคงถูกจำคุก แต่อยู่ในเรือนจำสเปน เนื่องจากได้ร้องขอเปลี่ยนประเทศซึ่งสามารถทำตามสนธิสัญญาที่สเปนและฟิลิปปินส์ได้ตกลงร่วมกันไว้ ภาพยนตร์มิได้บอกว่าเขาจะมีชะตากรรมต่อไปอย่างไร เพียงต่อจบท้ายด้วยเสียงของปาโก้ที่ให้สัมภาษณ์ออกมาว่า เขาหวังว่าจะได้เป็นอิสระที่ประเทศสเปน แต่ในความเป็นจริง ผู้พิพากษาในสเปนก็ปฏิเสธการอุทธรณ์ของเขาหลายครั้ง และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป สำหรับจำเลยอีกหกคนที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในคดีเดียวกัน มาร์ตี้บอกว่า เขาเชื่อว่าทั้งหกคนถูกใส่ร้ายและเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เลือกหยิบคดีของปาโก้มานำเสนอเพราะมีความซับซ้อนซึ่งมีกลไกระดับระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยอีกหกคนนั้น ผู้กำกับสารคดีกล่าวว่าเขามีแผนที่จะทำหนังสั้นเกี่ยวกับแต่ละคนและอัพโหลดให้ชมทางเว็บไซต์ในภายหลัง แน่นอนว่า คดีอย่างปาโก้ ที่ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิต มิได้เกิดขึ้นเพียงแค่คดีนี้คดีเดียว สถิติการลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2516 ชี้ว่า จากจำนวนการลงโทษประหารชีวิตทั้งหมด 1,323 คดี มีจำนวน 142 คนที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกให้พ้นผิดในภายหลัง ซึ่งความผิดพลาดมาจากข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันกว่า 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ต่อการลดลงของอาชญากรรม รวมทั้งผู้บริสุทธ์อาจตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงมีความบกพร่อง สำหรับประชาคมอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมาย ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ สำหรับประเทศไทย (แม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตแทนในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 (2552-2556) ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2552 ก็ตาม) อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงานเสวนา: มองร่างประกาศคุมสื่อของ กสทช. ในมุมกฎหมาย Posted: 13 Oct 2013 09:20 PM PDT สืบเนื่องจากการร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ซึ่งร่างดังกล่าวมีใจความถึงเนื้อหาที่ต้องห้ามนำเสนอในสื่อวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขยายความจากมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการการดำเนินรายการที่เน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด ต่อกรณีดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 แห่งได้ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านร่างประกาศฯ โดยระบุว่า มีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอให้ยกร่างประกาศฯ ดังกล่าวใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล หลักการ และความคิดเห็น ขณะที่นักวิชาการแขนงต่างๆ ก็ร่วมแสดงไม่เห็นด้วย (1,2,3) ล่าสุด (10 ต.ค.56) สำนักงาน กสทช. จัดเสวนา "เสรีภาพสื่อ vs การใช้กฎหมายกำกับดูแล" ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 37 ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหารายการ, มาตรา 39 และ 40 ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า แม้ไทยจะมีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพสื่อไว้ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง แต่ก็ยังมีกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐเสนอ ด้วยเหตุผลว่ามีเทคโนโลยีที่มีผลกระทบกับสังคมที่ต้องทำให้เท่าทันกับสถานการณ์ เช่นการควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขากล่าวต่อว่า กฎหมายระยะหลังเหมือนไปยกเลิกสิทธิเสรีภาพสื่อที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน เช่นมีบทลงโทษที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอาญา กรณีหมิ่นประมาท และยังมีโทษที่สูงกว่า ก่อปัญหาในการบังคับใช้ ทำให้สื่อไม่มั่นใจในการใช้เสรีภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย ทั้งที่ในภาวะปกติ กฎหมายอาญาน่าจะเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าจะมีกฎหมายเพิ่มขึ้นใหม่ก็ไม่น่าจะเกินกว่าที่กฎหมายอาญากำหนดไว้ พร้อมย้ำว่า แม้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่สมบูรณ์ ถูกจำกัดได้ แต่ต้องไม่เป็นการลิดรอน ต้องจำเป็น สอดคล้องกับสถานการณ์ และตามสมควรแก่เหตุ สมชาย กล่าวว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของสังคม แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของรัฐ ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่เป็นเครื่องมือของกฎหมาย ทั้งนี้ เจตนารมณ์ในการผลักดันรัฐธรรมนูญ 40 ก็เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดสื่อ ขณะที่การควบคุมสื่อให้อยู่ในจริยธรรมนั้นเป็นการควบคุมกันเอง ดังนั้น จึงเสนอให้สังคมและชุมชนควบคุมกันเอง เพราะมีกฎหมายจำนวนมาก ออกมาแล้วไม่มีคนทำตาม เพราะไม่สอดคล้อง หรือมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่
กรณีมีการอ้างมาตรา 5 พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่ระบุว่า คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกประกาศนั้น เขากล่าวว่า ไม่ได้เท่ากับจะออกประกาศขยายความได้ทุกมาตรา จะใช้ได้เมื่อกำหนดให้อำนาจ กสทช. ในการออกประกาศเท่านั้น โดยชี้ว่าใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการ มีทั้งเรื่องที่ให้ควบคุมกันเองและรัฐคุม กรณีมาตรา 37 ไม่มีบอกว่า ให้คณะกรรมการประกาศ แต่ให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณา หากไม่ทำตาม กสทช.มีอำนาจสั่งลงโทษทางปกครอง ขณะที่บทบัญญัติบางประเภทไม่สามารถบังคับใช้ได้ จนกว่าจะออกประกาศ เช่น มาตรา 34 ที่ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำผังรายการ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด นอกจากนี้ เมื่อดูเนื้อหาของร่างประกาศ ยังขยายความเกินกว่าขอบเขตที่มาตรา 37 กำหนด โดยรวมไปถึงการดูแลเยาวชน การชิงโชคแข่งขัน การวิจารณ์ข่าว ทั้งนี้ การออกรายละเอียดนั้นต้องไม่ใช่โดยอำเภอใจ แต่ต้องมีที่มา ล้อความกับมาตรา 37 ให้ชัด ชี้ว่า กรณีเรื่องสิ่งลามก แม้แต่ในประมวลกฎหมายอาญา ก็ไม่ได้ขยายความไว้แบบนั้น อำนาจยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่ควรออกประกาศนี้ เพราะสุ่มเสี่ยงกับการรับผิดชอบทางปกครอง รวมถึงทางอาญาต่อไป ทั้งนี้ อำนาจแนะว่า กรณีมีถ้าสงสัยด้านข้อกฎหมาย โดยทั่วไปควรส่งให้กฤษฎีกาตีความ โดยชี้ว่า ขนาดร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ หากมีการท้วงติงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ครม.ยังต้องส่งกฤษฎีกาตีความ ทั้งนี้ เขายังวิจารณ์ มาตรา 5 ที่ให้ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นว่า ในกรณีเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศ กสทช.ก็ยังมีอำนาจออกอยู่ดี เพราะมาตรา 5 ระบุแต่ว่าให้รับฟังความเห็น ดังนั้น การรับฟังความเห็นจึงแทบไม่มีบทบังคับในทางปฏิบัติเลย แม้รับฟัง แต่ดุลพินิจก็ยังเป็นของ กสทช. เสียงข้างมาก อำนาจ กล่าวว่า เมื่อดูความจำเป็นในการออกประกาศ ที่ผ่านมา แม้ไม่มีร่างประกาศ แต่ กสทช.ก็ยังบังคับใช้มาตรา 37 ลงโทษช่อง 3 ทางปกครองกรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ได้อยู่
สาวตรี กล่าวว่า ทั้งนี้แม้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพของสื่อจะเป็นสิทธิสัมพัทธ์ คือสามารถออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเหล่านี้ได้ แต่ต้องมีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่ง เช่น จะเอาตัวบทที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาใส่ในกฎหมายเลยนั้นไม่ถูกต้อง ควรแจกแจงรายละเอียดบ้างตามสมควร โดยกรณีมาตรา 37 พบว่าเป็นการยกมาทั้งหมด ทำให้ถ้อยคำกว้าง สาวตรีชี้ว่า มาตรา 37 เป็น "ไส้ติ่ง" ของเสรีภาพในเรื่องสื่อและการแสดงความเห็น เพราะเสรีภาพสื่อในระบอบประชาธิปไตย คาดหมายให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเลือกรับสื่อ ไม่ว่าสื่อพลเมือง สื่ออาชีพ สื่อสาธารณะ หรือสื่อการเมือง หวังให้ประชาชนรับได้ทุกสื่อและเลือกเอง ในยุคเสรี รัฐต้องลดบทบาทในการควบคุมลง ในประเทศประชาธิปไตย รัฐจะไม่เข้าคุม แต่จะสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพดูแลกันเอง ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี การกำกับดูแลสื่อจะเป็นการดูคุณสมบัติการรับใบอนุญาต จัดสรรรายการ จัดสรรช่วงเวลา ไม่ใช่เนื้อหา เมื่อเป็นเช่นนี้ ตั้งคำถามกับมาตรา 37 ว่า ควรเป็นเช่นนี้หรือไม่ ที่ผ่านมา มีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ ที่มีลักษณะการเขียนแบบนี้ ได้แก่ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 20 พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ที่เมื่อก่อน ใช้ระบบเซ็นเซอร์ก่อน แต่ช่วงหลังมีการผลักดันให้ใช้การจัดระดับความเหมาะสม แต่ยังมีความพยายามแทรกให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ ขณะที่ในต่างประเทศไม่เซ็นเซอร์ก่อนกันแล้ว รัฐธรรมนูญเยอรมันบอกว่าทำไม่ได้ ได้ โดยการเซ็นเซอร์ต้องเกิดขึ้นหลังจากเนื้อหาเผยแพร่แล้ว แล้วพบว่าเกิดปัญหาขึ้นเท่านั้น กรณีของไทย สาวตรีกล่าวว่า การล้วงลูกก่อนแบบนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะให้มีเสรี ให้ประชาชนมีวิจารณญาณเอง หรือจะเป็นคุณพ่อรู้ดี พร้อมกล่าวต่อว่า ที่สุดแล้ว ที่รัฐยังคงติ่งนี้ไว้ในกฎหมายทุกฉบับเกี่ยวกับสื่อ เพราะไม่ไว้ใจประชาชนของตัวเอง ในการเลือกรับสื่อที่หลากหลาย สาวตรี กล่าวถึงการให้องค์กรวิชาชีพสื่อดูแลกันเองว่า ส่วนตัวมองว่า วันนี้ องค์กรวิชาชีพก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่คาดหวัง จะต้องกลับไปที่ภาคประชาชนต้องคอยตรวจสอบ ไม่ใช่ว่ารัฐต้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อ แต่ต้องมีกลไกให้สื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย ตราบใดที่สื่อเลือกเสนออย่างเดียว ไม่ครบถ้วน เท่ากับจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้น เสรีภาพของประชาชนจะไม่เกิดถ้ารัฐคุม รวมถึงสื่อไม่ทำหน้าทีสื่อที่ควรจะเป็น ที่สุดแล้ว สังคมต้องขึ้นมาตรวจสอบสื่อเองด้วย โดย กสทช. เป็นหน่วยสำคัญที่จะส่งเสริม ถ้าจะยืนยันออกประกาศ ในเนื้อหาก็มองว่ายังมีปัญหา โดยหมวดหนึ่ง เรื่องเนื้อหาต้องห้ามนั้นเขียนกว้างขวางและกำกวม ขณะที่หมวดสอง เรื่องมาตรการในการออกอากาศรายการก็เพ้อฝัน ทำไม่ได้ ขลาดกลัวความขัดแย้งในสังคม ทัศนคติไม่ดีต่อการเมือง ตั้งคำถามว่าความเป็นกลางของ กสทช. มีหรือยัง ส่วนตัวมองว่า ร่างนี้ หลายมาตราพยายามคุมความเห็นส่วนตัว แต่เปิดโอกาสให้กสทช. ใช้ความเห็นส่วนตัวของตัวเองไปตัดสินความเห็นส่วนตัวของคนอื่น ย้อนแย้งกันอย่างชัดเจน
สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร่างประกาศฉบับนี้ว่า "ร่างฉบับคุณพ่อรู้ดี" โดยชี้ว่า กสทช. ตั้งขึ้นด้วยความคาดหวัง ให้มาดูโครงสร้างหรือระบบเกี่ยวกับสื่อ เช่น ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม คือเข้าถึงการประกอบการ สื่อมีเสรีภาพ คือประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง แต่สิ่งที่เห็นคือ ร่างฉบับนี้ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเนื้อหาต้องห้าม ซึ่งใช้ถ้อยคำกว้างมาก และมาตรการในการออกอากาศว่าควรทำอะไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กสทช.กำลังจะโดดจากบทบาทของผู้ดูแลโครงสร้าง กลายเป็นสภาวิชาชีพ เป็น "สภาสื่อมวลชนที่ไร้สื่อมวลชน" พยายามจะทำจริยธรรมทางวิชาชีพ ในไทย มีองค์กรวิชาชีพอยู่แล้ว เช่น สภาทนายความ แพทยสภา เพื่อควบคุมจริยธรรม กำกับมาตรฐาน แต่สำคัญคือ สภาวิชาชีพ เกิดจากคนในแวดวงวิชาชีพ ซึ่งจะรู้ว่าอะไรที่จะกำหนดเป็นแนวทางได้ เขาเสนอว่า ต้องคิดดีๆ เพราะวิชาชีพแต่ละด้าน มีพื้นที่ความรู้หรือทักษะทางวิชาชีพบางอย่างที่ผ่านการสะสม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยไม่ควรกำกับวิชาชีพ ควรมี แต่องค์กรวิชาชีพสื่อในไทยอ่อนแออย่างมาก อย่างสิ้นเชิง นสพ.ทำผิด จริยธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลาออก นอกจากนี้ ส่วนตัวกังวลว่าการโยนให้สื่อกำกับกันเอง อาจมีปัญหา เพราะผลประโยชน์ของสื่อไม่ใช่ผลประโยชน์ของสังคม โดยที่ผ่านมา มีการซื้อโฆษณาระยะยาวในสื่อ ทำให้สื่อไม่กล้าวิจารณ์ ดังนั้น ไม่ใช่สื่ออย่างเดียว แต่ควรให้สังคมเข้าไปกำกับด้วย หากสื่อไม่สัมพันธ์กับสังคมจะมีปัญหา อีกทั้งในปัจจุบัน วิทยุโทรทัศน์กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน เรามีคนเข้ามาเป็นสื่อมากมาย มีเว็บ วิทยุชุมชน ไม่เหมือนในอดีต ยิ่งยุ่งยาก จะกำกับจริยธรรมสื่อในโลกปัจจุบัน ยากมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีการกำกับ สมชายกล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ คือ อย่าเป็นคุณพ่อรู้ดี ทำให้เกิดระบบการสร้างมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ทำให้เกิดความเข้มแข็งในกลุ่มองค์กร เช่น ส่งเสริมการรวมตัวในกลุ่มวิชาชีพ หรือให้ผู้ชมประเมินสื่อ อย่าโดดเข้าไปทำหน้าที่เอง เพราะไม่ใช่องค์กรวิชาชีพ แต่เป็นองค์กรวางระบบ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีต มักมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ห้ามออกอากาศ โดยส่วนใหญ่ หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เหล่านี้ เป็นข้าราชการแก่ๆ เมื่อมาตีความศีลธรรมอันดี ก็จะเป็นศีลธรรม เป็นความมั่นคงของข้าราชการแก่เมื่อ 30 ปีก่อน ขณะที่ศีลธรรมและความมั่นคงเป็นสิ่งที่ขยับอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะเห็นว่า การขีดเส้นกว้างจะเป็นอันตรายเมื่อโยนไว้ในมือคนแคบๆ และการห้ามก็จะเป็นไปตามทัศนะของคนไม่ทันโลก เสรีภาพสื่อต้องขีดเส้นให้ต่ำสุด ไม่ได้กระทบจริงจังอย่าไปห้าม เพราะคนมีวิจารณญาณกลั่นกรอง ยกตัวอย่างในอเมริกา มีข้อห้ามแค่ไม่เสนอ fighting word คือการพูดที่ก่อให้เกิดการใช้กำลัง พร้อมชี้ว่า เรื่องที่ กสทช.กำหนดในร่างประกาศอย่างเรื่องที่ให้เป็นกลางนั้นเป็นเรื่องยากมาก เขาเสนอว่า เส้นที่ไม่อนุญาตให้โดดข้าม อาทิ การไม่ใช้ภาษาลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย และไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ขณะที่หากมีเรื่องที่เห็นไม่เหมือนกันต้องปล่อยให้เกิดการถกเถียง สมชาย เสนอว่า อย่างไรก็ตาม ร่างนี้ควรจะออกมา ด้วยเหตุผลว่า หนึ่ง ไม่มีความชอบทางกฎหมาย สอง ไม่มีความชอบธรรมเท่าไหร่ แต่ควรออกมาเพราะสังคมไทยควรจะต้องเรียนรู้ ถูกช็อตบ้าง พร้อมกล่าวว่า อยากเห็นเวลาเจ้าหน้าที่ กสทช. ไปตามจี้ให้ไปเป็นตามประกาศ แล้วจะพบว่าทำไม่ได้จริง ถ้าร่างออก กสทช. จะเป็นจุดสนใจที่ถูกถกเถียงและอภิปรายกว้างขวางมากขึ้น เพราะร่างนี้เป็นเพียงกระผีกเดียวที่ กสทช. ทำแล้วมีปัญหา
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างประกาศนี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 29 ระบุว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิ แต่ร่างนี้มีการเซ็นเซอร์เซอร์เนื้อหาก่อนอากาศ ทั้งนี้ เมื่อดูตามมาตรา 43 ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ และมาตรา 45 การห้ามสื่อเสนอข่าวหรือการแทรกแซงสื่อแล้ว ก็จะเห็นว่า ทั้งสองมาตรา ไม่ได้ให้มีการเซ็นเซอร์สื่อ พรสันต์ กล่าวว่า หลักการที่ต้องเอามาใช้กับสื่อคือ ตลาดความคิด คือต้องปล่อยให้สื่อสารมวลชน ออกอากาศและโยนความคิดมา การเซ็นเซอร์จึงขวางหลักการนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เขาเตือนด้วยว่า กสทช. อย่าย้อนยุคเป็น กบว. เพราะโครงสร้างสื่อพัฒนาไปมากแล้ว มีการจัดเรทติ้ง ให้ใช้วิจารณญาณในการชม กสทช ต้องรู้บทบาทของตัวเองให้มากกว่านี้ และไม่ควรใช้อำนาจเกินและย้อนยุค โดยย้ำว่า การทำหน้าที่ของ กสทช. ส่งเสริมให้แข่งขันเสรี ทั้งนี้ เขามองว่า ปัญหา กสทช. คล้าย กกต. ที่หลักการคือบริหารจัดการการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ กกต.เมืองไทย มีอำนาจล้นพ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น