โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบยีนที่ทำให้เผาผลาญอาหารได้ช้า

Posted: 25 Oct 2013 12:32 PM PDT

นักวิจัยเคมบริดจ์พบว่าคนที่มียีน KSR2 ผ่าเหล่าจากเดิม ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญอาหารช้าขณะที่ความอยากอาหารเพิ่ม มีส่วนทำให้พวกเขามีน้ำหนักเกินตั้งแต่เด็ก โดยที่ก่อนหน้านี้ข้ออ้างเรื่อง "การเผาผลาญอาหารช้า" เพื่ออธิบายคนน้ำหนักเกินไม่เป็นที่ยอมรับจากแพทย์และจากสังคมทั่วไป

24 ต.ต. 2556 - ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันศึกษาด้านการเผาผลาญอาหาร มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศสหรัฐฯ ค้นพบว่า ดีเอนเอผ่าเหล่าที่ทำให้คนบางคนมีอัตราการเผาผลาญอาหารได้ช้า (slow metabolism) มีอยู่จริง ไม่ได้เป็นเพียงข้ออ้างสำหรับผู้มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน

ทีมนักวิจัยเปิดเผยในนิตยสารชีววิทยาที่ชื่อ 'เซลล์' (Cell) บอกว่ามีบุคคลคนน้อยกว่า 1 ใน 100 คน ได้รับผลกระทบจากดีเอนเอดังกล่าว ทำให้กลายคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานอย่างมากตั้งแต่วัยเด็ก และการค้นพบครั้งนี้อาจช่วยเหลือด้านการรักษาได้ แม้แต่กับคนที่ไม่ได้มีดีเอนเอตัวนี้

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองโดยทำการตัดส่วนของยีนที่ชื่อ KSR2 ออกจากดีเอ็นเอของหนูทดลอง และพบว่าหนูที่ถูกตัดยีนดังกล่าวออกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการสำรวจในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินอย่างมาก 2,101 คน พบว่าบางคนมียีน KSR2 ที่ผ่าเหล่าจากเดิม ทำให้เกิดผลสองด้านคือด้านหนึ่งเป็นการเพิ่มความอยากอาหารและอีกด้านหนึ่งคือทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารช้าลง

ศาตราจารย์ ซาดาฟ ฟารูกี หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า การกลายพันธุ์ของยีนตัวนี้นอกจากจะทำให้มีความต้องการอาหารมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนรู้สึกไม่อยากขยับตัวเนื่องจากมีอัตราการเผาผลาญช้า และมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตั้งแต่วันเด็ก (เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดที่ร่างกายยังสร้างอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาล แต่เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้มีการสร้างอินซูลินน้อยลง)

"มัน (การผ่าเหล่าของ KSR2) ทำให้การเผาผลาญแคลอรี่ช้าลง และถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือเป็นคำอธิบายใหม่สำหรับโรคน้ำหนักเกิน" ฟารูกีกล่าว

ยีน KSR2 ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่สมองโดยมีความเกี่ยวข้องกับการที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะตอบสนองต่อสัญญาณต่างๆ เช่นต่อฮอร์โมนอินซูลินจากกระแสเลือด ทำให้มีผลต่อความสามารถที่ร่างกายจะเผาผลาญอาหาร

ฟารูกีกล่าวว่าก่อนหน้านี้ข้ออ้างเรื่องการเผาผลาญอาหารที่มีผลต่อน้ำหนักถูกปฏิเสธจากแพทย์และคนทั่วไปในสังคมเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานรองรับเพียงพอ และในกลุ่มผู้มีน้ำหนักเกินบางรายมีลักษณะตรงกันข้ามคือมีการเผาผลาญมากกว่าปกติเพื่อรองรับร่างกายที่ใหญ่โต

ฟารูกีระบุว่ามีคนน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่ยีนตัวนี้เกิดการผ่าเหล่า และในกลุ่มคนผ่าเหล่านั้นอาจมีบางคนที่มีน้ำหนักปกติ แต่ในเด็กราวร้อยละ 2 ที่มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐานก่อนอายุ 5 ปี พบว่ามีการผ่าเหล่าของยีนตัวนี้

อย่างไรก็ตามหากมีการผลิตยาเพื่อรักษาอาการจากยีน KSR2 แล้วก็อาจเป็นประโยชน์กับผู้มีน้ำหนักเกินด้วยสาเหตุอื่นด้วย

ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบยีนอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความอยากอาหารถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ เช่นยีนที่ชื่อ FTO ซึ่งเพิ่มความอยากอาหารไขมันสูงและปรับระดับฮอร์โมนเกรลินที่เป็นฮอร์โมนกระตุ้นความหิว เคยมีการสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่มาจากพ่อแม่ที่โอกาสสูงที่จะถ่ายทอดยีน FTO มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นผู้มีน้ำหนักเกินเมื่อเทียบกับพ่อแม่ที่มีโอกาสถ่ายทอดยีนต่ำ

 

เรียบเรียงจาก

Slow metabolism 'obesity excuse' true, BBC, 24-10-2013 http://www.bbc.co.uk/news/health-24610296

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนไทยกลุ่ม 'ราชบุรีโฮลดิง' ลงทุนโซลาร์ฟาร์มในออสเตรเลีย 6.9 พันล้านบาท

Posted: 25 Oct 2013 11:47 AM PDT

กลุ่มราชบุรีโฮลดิ้งลงทุนเพิ่มในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการในออสเตรเลีย กำลังผลิตรวม 53 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 6,900 ล้านบาท



25 ต.ค. 2013 - เว็บไซต์พีเพิลเดลีออนไลน์ของจีนรายงานว่าบริษัทมหาชนผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ของประเทศไทยได้ลงทุนเพิ่มในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการกำลังผลิตรวม 53 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัทราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RAC) ซึ่งราชบุรีโฮลดิ้งถือหุ้นอยู่ 80% เป็นผู้ดำเนินการ และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,900 ล้านบาท

โดยโครงการคอนลินส์วิลล์ โซลาร์ พีวี (Collinsville Solar PV) ขนาด 23 เมกะวัตต์ ได้รับใบอนุญาตแล้ว และอยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทดำเนินงานด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง มีกำหนดผลิตไฟฟ้าขายได้ในปี ค.ศ. 2015

ส่วนโครงการคอนลินส์วิลล์ โซลาร์ เทอร์มอล (Collinsville Solar Thermal) กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์นั้นได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียจำนวน 75 ล้านบาท (2.5 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ในปี ค.ศ. 2017

ทั้งนี้มีการคาดหมายว่าโครงการคอนลินส์วิลล์ โซลาร์ เทอร์มอล ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกเพื่อให้โครงการคุ้มค่าเชิงพาณิชย์และเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีโซลาร์ เทอร์มอล (Solar Thermal) ในประเทศออสเตรเลีย

อนึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนของแสงอาทิตย์ (solar thermal electricity) นั้นเป็นการใช้พลังงานของแสงอาทิตย์โดยใช้กระจกหรือเลนส์รวมแสงหรือรางรูปพาลาโบลิคเพื่อเพิ่มปริมาณความร้อนแล้วโฟกัสให้แสงไปทึ่จุดใดจุดหนึ่ง (concentrated solar power or CSP) พลังงานความร้อนนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรงหรือไปเก็บไว้ในสารเคมีบางอย่างที่สามารถเก็บความร้อนได้เช่นสารละลายเกลือ (molten salt) จากนั้นค่อยเปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกที ดังนั้นโรงไฟฟ้าประเภทนี้ จึงสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าประเภทโซลาร์ เทอร์มอลนี้อยู่ใน ประเทศสเปน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ที่มา: People's Daily Online

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Free Write : เมื่อดินเสียดเบียดดาวบนราวฟ้า

Posted: 25 Oct 2013 10:58 AM PDT

เจ้าท้องฟ้าขับดาราให้หักเห   เจ้าทะเลเร่นทีรี่รินไหล
เจ้าภูผาข่มพนาเหนือแนวไพร   เจ้าแผ่นดินรุกไล่ฝุ่นธุลี

เปรียบชนชั้นยิ่งใหญ่ใช่สูงกว่า   ฟ้าบ่มีดาราคงหม่นสี
ทะเลใหญ่หากสิ้นไร้สายวารี   ขุนคีรีสิ้นพนาสูญค่าครอง

ผู้เป็นใหญ่หากสิ้นไร้ไมตรีจิตร   ขึงกฎเกณฑ์อำมหิตจิตผยอง
ขังความคิดมอบความตายใต้ปกครอง  ดินจึงนองด้วยเลือดที่เดือดแดง

ฟ้ายังเย้ยดินด้อยค่าราคาต่ำ   ความเหลื่อมล้ำจึงคล้ำมัวหัวระแหง
ที่ดินต่ำฟ้าสูงเพียงรุ้งแวง   ตะวันแลงเส้นแสงแบ่งบรรจบกัน

แหงนมองฟ้ากี่คราฟ้ายังหม่น   ฟ้าเข่นคนใต้ฟ้าให้อาสัญ
ค่าเพียงดินยินเพียงฝุ่นละอองควัน  ใต้ตีนท่านคือเท่ากันแบบไทยไทย

ร้องเรียกหาความเท่าเทียมตามระบอบ  อันมีกรอบต้องหมอบคลานพาลสงสัย
จักให้สมบูรณาประชาธิปไตย   ต้องล้างเจ้าล้างไพร่ให้เท่ากัน

ลงมือพลันใช่รอวันฟ้าเปลี่ยนสี   ความเท่าเทียมอันพึงมีที่ใฝ่ฝัน
ล้างระบอบโบราณต้านประจัน   สองมือนี้จงฝ่าฟันสู่วันเรา

แกนสันหลังยังตั้งตรงใช่ลงราบ   ใครจะก้มใครจะกราบก็ช่างเขา
เมื่อฟ้าสิ้นดินจึงเสียดเบียดดวงดาว  แผ่นดินไทยไพร่กับเจ้าต้องเท่าเทียม.
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ซอยตัน กลับบ้านเรารักรออยู่"

Posted: 25 Oct 2013 10:49 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ซอยตัน กลับบ้านเรารักรออยู่"

ผู้ว่าฯ รฟท.ขอขยายเวลาซ่อมรางรถไฟสายเหนือออกไปอีก 30 วัน

Posted: 25 Oct 2013 09:23 AM PDT

25 ต.ค. 2556 - เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมกองบำรุงเขตลำปาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาตรวจติดตามงาน การซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในสายเหนือ โดยได้ประชุมรับฟังข้อสรุปการทำงานก่อนจากวิศวกรฝ่ายช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจาก ว่า การซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในสายเหนือ ใกล้ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในการปิด 45 วัน ระหว่างวันที่ 16 กันยายน-31ตุลาคม 2556 รวมระยะเวลา 45 วัน แล้ว ดังนั้น จึงเดินทางมารับฟังความคืบหน้า และสรุปผลในการที่จะซ่อมแซมเส้นทางรถไฟ จะแล้วเสร็จหรือไม่ เพราะได้ประกาศไว้ว่า จะเสร็จทัน และกำหนดจะเดินรถได้ตามปกติ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 นี้

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคืบหน้าของการทำงาน ในที่ประชุมแล้ว นายประภัสร์ เปิดเผยว่า จากเดิมที่มีการวางแผนในปิดซ่อมรางรถไฟสายเหนือไว้ 45 วัน ขณะนี้ เหลือระยะเวลาอีกเพียง 6 วัน เท่านั้น แต่เมื่อเดินทางมาตรวจสอบ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ จึงพบว่าการทำงานมีอุปสรรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกหลายประการ  อาทิ ช่วงเวลาทำงานจริง ซึ่งจะต้องรอจนบริเวณ ที่จะซ่อมแซม ไม่ให้มีรถไฟที่ขนอุปกรณ์วิ่งผ่าน ทำให้การทำงานจริงมี ระยะเวลาเพียง 3 - 4 ชั่วโมง และคนงานก็ยังมีไม่เพียงพอ เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่ มาจากภาคอื่น โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา จึงทำให้คนงานขออนุญาตกลับบ้านไปช่วยน้ำท่วม

"นอกจากนี้ ในพื้นที่หลายจุด ในการซ่อมแซม เส้นทางรถไฟ ยังเกิดฝนตกหนัก จนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ จากปัญหาทั้งหมด ที่พบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาขยายระยะเวลาในการปิดซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในสายเหนือออกไปอีก 30 วัน ระยะทางตั้งแต่สถานีรถไฟศิลาอาร์ท จ.อุตรดิตถ์ ถึงเส้นทางรถไฟ จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะในบางจุด ที่ทำการซ่อมแซมหมอน และรางแล้ว แต่ในจุดเสี่ยงบางจุด ก็ต้องมีการซ่อมแซมในส่วนอื่น ๆ เช่น พื้นดินใต้ราง เพื่อเพิ่มให้เส้นทางรถไฟ มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้ และไม่ซ่อมก็อาจจะเกิดปัญหามาตามทีหลัง สำหรับเรื่องขยายระยะเวลาดังกล่าวนั้น ตนได้นำเรียนในเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และมั่นใจว่า ในการประกาศปิดเส้นทางรถไฟในสายเหนือ ในอีก 30 วัน โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 เส้นทางรถไฟในสายเหนือ จะแล้วเสร็จทันอย่างแน่นอน"

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

9 ปีตากใบ PerMAS จี้คู่ขัดแย้งบอกวันยุติสงคราม เปิดทางประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง

Posted: 25 Oct 2013 09:16 AM PDT

เกาะกระแส 9 ปีตากใบ PerMAS ออกแถลง จี้คู่ขัดแย้งบอกวันยุติสงคราม เปิดทางประชาชนใช้สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง เวทีเสวนาชี้เหยื่อตากใบตายหลังเหตุชุมนุมอีกเพียบ องค์กรสิทธิยันให้เงินเยียวยาไม่ใช่ความยุติธรรม ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ ชี้ทั้งสองฝ่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบ กอ.รมน.ระบุคนที่ไม่เกี่ยวเอามาใช้ปลุกระดม วอนอย่ายกมาอ้างเพื่อก่อความรุนแรง

กลุ่มนักศึกษาในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ร่วมแสดงละครใบ้ตากใบ ในงานเสวนา 9 ปีตากใบ "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ที่จัดงานเสวนา 9 ปีตากใบ "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

 

25 ตุลาฯ ครบรอบ 9 ปีตากใบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ตรงกับวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์ตากใบ หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างร่วมกันจัดงานรำลึกหรือมีความเคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น การออกแถลงการณ์เพื่อแสดงท่าทีทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมในพื้นที่

เหตุการณ์ตากใบ คือ เหตุเจ้าหน้าที่รัฐได้สลายการชุมนุมของประชาชนนับพันคนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนชาวมุสลิมรวม 85 คน โดยเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 78 คน เหตุการณ์กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของรัฐไทยต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยกลุ่มที่ออกมาทำกิจกรรมในวันดังกล่าว เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ที่จัดงานเสวนา 9 ปีตากใบ "ไร้ซึ่งสันติภาพ ตราบใดที่เสรีภาพและความเป็นธรรมยังไม่เห็น" ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี โดยนำเรื่องการรำลึก 9 ปีเหตุการณ์ตากใบโยงกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเต็มห้องประชุม

 

ชี้เหยื่อตากใบตายหลังเหตุการณ์อีกเพียบ

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ฝ่ายต่างประเทศ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวระหว่างเสวนาว่า สถานการณ์ปัจจุบันของผู้ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ตากใบไม่ค่อยมีการพูดถึงหรือรำลึกมากนัก เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาจากรัฐ โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิตที่ได้รับเงินเยียวยาถึงรายละ 7.5 ล้านบาท 

นายอาเต็ฟ กล่าวอีกว่า การเยียวยาดังกล่าวเป็นความฉลาดของรัฐไทยในการเมืองระหว่างประทศ เพราะรัฐไทยต้องการให้นานาชาติเห็นว่ารัฐได้ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วโดยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งๆที่ชาวบ้านได้เงินเยียวยา7.5 ล้านบาทนั้น เป็นผลพลอยได้จากนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ไม่ได้มาจากการเรียกร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบโดยตรง

"ที่สำคัญคือหลังเหตุการณ์ตากใบ ผู้ชุมนุมหลายคนที่กลับไปอยู่บ้านแล้วถูกยิงเสียชีวิตจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบเสียอีก แต่หน่วยงานที่เก็บสถิติไม่ได้เก็บสถิติผู้เสียชีวิตในกรณีนี้" นายอาเต็ฟ กล่าว

หลังการเสวนามีการแสดงละครใบ้ตากใบ แสดงโดยกลุ่มนักศึกษาหญิงงของ Permas ประมาณ 20 คน จากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์ โดยมีนายสุไฮมี ดูละสะ ประธาน Permas

 

PerMAS แถลง "ตากใบบทเรียนเพื่อยุติสงคราม"

แถลงการณ์ เรื่อง รำลึก 9 ปีตากใบบทเรียนเพื่อยุติสงคราม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับปาตานีได้ยกระดับถึงขั้นมีการพูดคุยสันติภาพแล้ว แต่เหตุการณ์ตากใบยังคงเป็นคำถามคาใจของประชาชนปาตานี โดยรัฐไทยยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

 

ให้เป็นจุดเริ่มต้นสอบเหตุรุนแรง-ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง

แถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ สรุปได้ดังนี้

1.ให้คู่สงครามทำสงครามภายใต้กติกาสากล

2.ขอให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน โดยเฉพาะรัฐมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพปาตานีควรแสดงบทบาทนี้โดยเริ่มจากเหตุการณ์ตากใบ

3.ให้คู่สงครามชี้แจงว่าจะยุติสงครามเมื่อไหร่และอย่างไร เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถกำหนดบทบาทและท่าทีต่อการสร้างสันติภาพได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

4.ขอให้คู่สงครามและผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพให้ความสำคัญว่า ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองตามหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยสากล

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยัน"ให้เงินเยียวยาไม่ใช่การให้ความยุติธรรม"

ส่วนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ CRCF ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ตากใบเช่นกัน

แถลงการณ์ดังกล่าวได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบกับการเยียวยาและความยุติธรรม โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นคนละ 7.5 ล้านบาท ผู้ได้รับบาดเจ็บคนละ 200,000 - 4.5 ล้าน และผู้ถูกควบคุมตัว คนละ 15,000บาท จากเดิมในคดีแพ่งที่รัฐตกลงจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บคนละ 3-4 แสนบาท 

แถลงการณ์ยังระบุว่า แม้รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเยียวยาอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่า คือการเยียวยาด้วยความจริงและความยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเยียวยาต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวมด้วย

"การจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจมองว่าเป็นการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด"

แถลงการณ์ระบุว่า กรณีมีผู้เสียชีวิต 6 ศพในที่เกิดเหตุ ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนและไม่มีการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด จึงงดการสอบสวน

 

เผยจุดจบเส้นทางคดี "อัยการไม่ฟ้องผู้ทำผิด"

"ส่วนผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 ศพ แม้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพและศาลมีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวพนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ เป็นเหตุให้การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐสิ้นสุดเพียงเท่านี้"

แม้กฎหมายจะให้สิทธิญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง ที่ผ่านมาญาติได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)เป็นผู้ฟ้องคดีแทน แต่ไม่มีความคืบหน้า โดยกสม.ให้เหตุผลว่าญาติผู้เสียชีวิตไม่ประสงค์จะฟ้องคดีอาญาแล้ว เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ยาวนาน ความกังวลต่อความปลอดภัย ฯลฯ

"การที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแต่เพียงลำพังเป็นภาระที่มากเกินไป รัฐต้องสนับสนุนให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย"

"มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กระบวนการปรองดองและสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากซึ่งความจริงและความยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้รัฐอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง"

 

แอมเนสตี้ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ

ส่วนองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ออกแถลงการณ์ต่อกรณีตากใบเช่นกัน โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นางสาวปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลพ้นผิดไม่ต้องรับโทษในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปด้วย

"กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ"

 

ให้เงินแล้วไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ละเมิดสิทธิอีก

นางสาวปริญญา ได้ยกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ที่บังคับใช้ในพื้นที่มีลักษณะที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้เป็นข้ออ้างไม่ต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกทันที หรือแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้

นางสาวปริญญา กล่าวด้วยว่า การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่ได้เป็นการรับประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

ทั้งสองฝ่ายที่ก่อความรุนแรงต้องมีส่วนรับผิดชอบ

นางสาวปริญญา กล่าวว่า นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

"ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้ เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางหรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม" ปริญญากล่าว

 

กอ.รมน.แถลง คนที่ไม่เกี่ยวเอามาใช้ปลุกระดม

วันเดียวกัน ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้สัมภาษณ์กรณีวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบว่า เป็นอีกวันที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยังหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อมอบนโยบายในการรักษาความปลอดภัย ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งวางระบบการรักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม 9 ปีที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบพยายามที่จะลืมเหตุการณ์ดังกล่าว และในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว

"9 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีคนกลุ่มๆหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับเหตุการณ์ตากใบ พยายามหยิบยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาตอกย้ำความรู้สึกและปลุกระดมทางความคิด ให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า ภาครัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และไม่ให้ความเป็นธรรม"

 

วอนอย่ายกมาอ้างเพื่อก่อความรุนแรง

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ตนอยากให้สังคมได้ตรวจสอบดูว่า ที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด พยายามเยียวยาความรู้สึกและความเสียหาย ที่เป็นตัวเงิน แต่สิ่งที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น พยายามหยิบยกขึ้นมาสร้างสถานการณ์

"ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามยกมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ได้รู้เห็นกับเหตุการณ์ จึงขอเรียกร้องไปยังกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ตากใบหรือองค์กรต่างๆ ให้ยุติพฤติกรรมที่จะสร้างความแตกแยก สร้างบาดแผลความรู้สึก ไม่รื้อฟื้นเหตุการณ์ และช่วยกันยุติความรุนแรง เหตุการณ์ในพื้นที่ก็จะลดความรุนแรงลง" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผย 61% ไม่เห็นด้วยนิรโทษแกนนำ-นักการเมือง

Posted: 25 Oct 2013 08:06 AM PDT

ประชาชนกว่า 61 % ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้แกนนำและนักการเมืองที่มีเอี่ยวกับการชุมนุมและเห็นว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนและนักการเมืองบางกลุ่ม มากกว่าเพื่อความปรองดอง



25 ต.ค. 2556 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน คน 1,195 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.0 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำ/ผู้นำการชุมนุม เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.7 ระบุว่าไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ร่วมชุมนุม ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.4 ระบุว่าเห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 34.2 ระบุว่าไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เมื่อถามความคิดเห็นโดยรวมว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมพบว่า ประชาชนร้อยละ 55.1 ระบุว่าไม่เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 28.2 ที่ระบุว่าเห็นด้วย

ส่วนจุดประสงค์หลักของการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในครั้งนี้ประชาชนร้อยละ 55.3 มีความเห็นว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ/ นักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 28.7 ที่เห็นว่าทำเพื่อความปรองดองของคนในชาติ

สำหรับทิศทางการเมืองไทย หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระที่ 3 และนำมาประกาศใช้จริง ร้อยละ 41.3 เชื่อว่า อาจเกิดการชุมนุมต่อต้านขยายในวงกว้าง รองลงมาร้อยละ 15.1 เชื่อว่าทำให้ประชาชนสงบสุข ปรองดอง และร้อยละ 14.3 เชื่อว่าจะช่วยลดความตรึงเครียดทางการเมืองและสังคมลงได้
    
เมื่อถามว่าการชุมนุมคัดค้านการออก พ.ร.บ นิรโทษกรรมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะสามารถยับยั้งการออกกฎหมายฉบับนี้ได้หรือไม่ ประชาชน ร้อยละ 46.8 คิดว่ายับยั้งไม่ได้ และมีเพียงร้อยละ 11.6 เท่านั้นที่คิดว่ายับยั้งได้
    
ส่วนกลิ่นอายของระดับความรุนแรงที่ประชาชนรู้สึกได้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดที่จะนำการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคือ การปิดถนนและยกระดับการชุมนุม เคลื่อนขบวนไปที่ต่างๆมากที่สุด(ร้อยละ 26.4) รองลงมาคือ การปิดถนน มีคนมาร่วมชุมนุมเยอะ และยืดเยื้อกินเวลานาน(ร้อยละ 24.4) และ การชุมนุมจะรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม(ร้อยละ 15.0)
    
นอกจากนี้กรุงเทพโพลล์ได้ทำการวัดระดับความขัดแย้งทางความคิดด้านการเมืองของคนในสังคมไทยปัจจุบันพบว่า ร้อยละ50.4 เชื่อว่ามีความขัดแย้งอยู่ในระดับมาก รองลงมาร้อยละ 24.9 มีความขัดแย้งในระดับปานกลาง และร้อยละ 21.8 มีความขัดแย้งในระดับมากที่สุด และมีเพียงร้อยละ 1.8 และ1.1 เท่านั้นที่ระบุว่ามีความขัดแย้งอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ตามลำดับ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ชี้ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษกรณีตากใบ

Posted: 25 Oct 2013 07:07 AM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส โดยต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม



25 ต.ค. 2556 - สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี

นางสาวปริญญา บุญฤทธิฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลพ้นผิดไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้

"กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ"

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา และมีลักษณะที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้เป็นข้ออ้างไม่ต้องรับผิดทางอาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้

ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการ่ที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ

"การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ หรือการจ่ายค่าชดเชยก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต"

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น แสดงให้เห็นว่า ทางการไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิต 85 ศพที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่อำเภอตากใบได้         

นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบได้สังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่เลือกหน้าด้วย

"ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางหรือบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเพื่อลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม" ปริญญากล่าว  

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ในปี 2552 ภายหลังจากศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งในการไต่สวนการตายกรณีการเสียชีวิตของบุคคล 78 คนที่อำเภอตากใบทางภาคใต้ ศาลระบุว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุรายละเอียดของพฤติการณ์การตายตามที่กฎหมายกำหนด ญาติของผู้เสียชีวิตจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาให้ทบทวนคำสั่งไต่สวนการตาย ต่อมาได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ

คำสั่งของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ระบุว่า ญาติของผู้เสียหายควรส่งคำคัดค้านยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น  ไม่ใช่ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ผลจากคำสั่งดังกล่าวคือการพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งระบุว่า การเสียชีวิตของบุคคล 78 คนเป็นผลมาจากการขาดอากาศหายใจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่มีส่วนรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทางราชการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ 9 ปี เหตุการณ์ตากใบ การเยียวยากับความยุติธรรม

Posted: 25 Oct 2013 06:47 AM PDT

25 ต.ค. 2556 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ 9 ปี เหตุการณ์ตากใบ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏภาพและข้อมูลต่อสาธารณะชนอย่างแพร่หลาย เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง อันเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้มีนโยบายให้จ่ายเงินเยียวยาเพิ่มให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นคนละ 7.5 ล้านบาท ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเงินคนละ 4.5 ล้าน – 2 แสน และผู้ถูกควบคุมตัว คนละ 15,000 บาท จากเดิมในคดีแพ่งที่รัฐตกลงจ่ายค่าเสียหายให้ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บคนละ 3-4 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลได้มีการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมและครอบคลุมมากขึ้น แต่ก็ยังมีการเยียวยาอีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญกว่าการเยียวยาด้วยเงิน คือการเยียวยาด้วยความจริงและความยุติธรรม ความจริงและความยุติธรรมนอกจากจะเป็นการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเยียวยาต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมด้วย การจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจมองว่าเป็นการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด

ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า กรณีมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ในบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนและไม่มีการยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด จึงงดการสอบสวน ส่วนผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้าย 78 ศพ แม้จะมีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพและศาลมีคำสั่งแล้วว่าผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่ภายหลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าวพนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ เป็นเหตุให้การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐสิ้นสุดเพียงเท่านี้

แม้ว่าช่องทางตามกฎหมายจะให้สิทธิญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง ซึ่งที่ผ่านมา ญาติได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดโดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องคดีแทน แต่ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด โดยกสม. ให้เหตุผลว่าญาติผู้เสียชีวิตไม่ประสงค์จะฟ้องคดีอาญาแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องรับภาระในการดำเนินคดีอาญาต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ยาวนาน ความกังวลเรื่องความปลอดภัย ฯลฯ การที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแต่เพียงลำพังเป็นภาระที่มากเกินไป รัฐต้องสนับสนุนให้ญาติผู้เสียชีวิตสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กระบวนการปรองดองและสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากซึ่งความจริงและความยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้รัฐอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ส.ศิวรักษ์ ลอกคราบสังคมไทยภาคพิเศษ “หนทางสู่อนาคตประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน”

Posted: 25 Oct 2013 03:12 AM PDT

ปาฐกของ 'ส.ศิวรักษ์' 'ในหัวข้อ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน...หนทางสู่อนาคต" ซึ่งจัดขึ้นโดย "ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง" 

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนฝีปากกล้า เจ้าของฉายา "ปัญญาชนสยาม" ในวัย 80 ปี เดินทางสู่เชียงใหม่ เพื่อเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน...หนทางสู่อนาคต" กิจกรรมพิเศษซึ่งจัดโดย "ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง" ซึ่งกำลังจะยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร ตามแนวทางกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดจัดการตนเอง อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ต่อผู้แทนจากรัฐสภา ในวันที่ 26 ตุลาคม 2556 และสถานีวิทยุออนไลน์ "คนเมืองเรดิโอ" สื่อท้องถิ่นเพื่อความเข้มแข็งของคนเมือง
 
การปาฐกถาทางสังคมศาสตร์ครั้งนี้ จัดกันที่ลานหน้าอุโมงค์ ในวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่ มีผู้ให้ความสนใจมาฟังเกือบ 100 คน ไม่รวมคนที่ฟังการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกเพราะสามารถรับฟังที่ไหนก็ได้ ผ่านวิทยุออนไลน์ "คนเมืองเรดิโอ" และ ส.ศิวรักษ์ ก็พูดแบบเต็มที่ เท่าที่ต้องการจะพูด แต่ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง คงไม่สามารถเอาทั้งหมดที่ทุกคนได้ยินได้ฟังในวันนั้นมาบันทึกเผยแพร่ต่อไปได้ สิ่งที่นำมาบันทึกไว้ในที่นี้จึงเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นส่วนที่พิจารณาแล้วว่าน่าจะครอบคลุมเนื้อหาหลักๆ เอาไว้ได้ โดยไม่หมิ่นเหม่ต่อ "ข้อจำกัดบางประการ" ที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย
 
 
เริ่มต้นด้วยนิยามของ "รัฐ" และ "ราษฎร"
 
หัวข้อที่ตั้งไว้นี้ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน...หนทางสู่อนาคต" ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "รัฐ" แปลว่าอะไร "รัฐ" เป็นภาษาบาลีนะครับ แต่ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตคือ "ราษฎร" คำเดียวกันเลยครับ "รัฐ" หรือ "รัษฎ์" อันเดียวกัน "แผ่นดิน" และ "เจ้าของแผ่นดิน" อันเดียวกันเลย แล้วมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 วันที่ 27 มิถุนายน ธรรมนูญการปกครองฉบับแรกเขียนไว้ชัดเจน "อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม" อีกนัยหนึ่ง รัฐกับราษฎรต้องเป็นอันเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์ของเราบิดพลิ้วมาโดยตลอด เราสอนกึ่งจริงกึ่งเท็จมาตลอด ถ้าตราบใดความกึ่งจริงกึ่งเท็จยังมีอยู่ อำนาจของราษฎรก็เป็นไปไม่ได้
 
กลับมาพูดถึง "รัฐ" หรือ "รัฐไทย" พูดตรงไปตรงมา เราเริ่มคำว่า "รัฐไทย" หรือ "สยาม" ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ 4 เสวยราชย์ ก่อนหน้านั้นเวลาเราติดต่อกับต่างประเทศ จะใช้คำว่า "พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา" อีกนัยหนึ่งอำนาจอยู่ที่ราชธานี สัญญากับโปรตุเกสหรือสัญญาไหนๆ ก็ใช้คำว่ากรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ 3 อีกนัยหนึ่งรัฐหรืออำนาจการปกครองอยู่ที่ราชธานี กรุงศรีอยุธยาแตกแล้วย้ายมาอยู่กรุงธนบุรี ก็ยังเรียกกรุงศรีอยุธยา 
 
ที่ผมพูดนั้นคือต้องเข้าใจว่าเดิมทีเดียวอำนาจรัฐอยู่ที่ราชธานี นอกราชธานีอำนาจเป็นของประชาชน คุณไปอ่านวิทยานิพนธ์ของ เตช บุนนาค ตอนนี้ทำงานเป็นผู้ช่วย แผน วรรณเมธี ที่สภากาชาด วิทยานิพนธ์เขาเขียนเรื่องการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 เขียนไว้ชัดเจนว่าเมื่อปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ 5 นั้น กรุงศรีอยุธยากลายเป็นกรุงเก่าไปแล้วโดยมีผู้รักษากรุงเก่า และเตชเขียนไว้ชัดเจนว่าผู้รักษากรุงเก่ามีอำนาจเฉพาะในเกาะกรุงเท่านั้น นอกเกาะกรุงอำนาจเป็นของราษฎรหมด อีกนัยหนึ่งรัฐมีอำนาจน้อยมาก 
 

"อำนาจประชาชนอีกหน่อยก็กลับมา ก่อนรัชกาลที่ 5 นี่เอง เชียงใหม่ก็เป็นตัวของตัวเอง น่านก็เป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าของเชียงใหม่อีกต่อไปแล้ว เราไม่ต้องการทักษิณมาเป็นเจ้าของเชียงใหม่ ให้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้
เราไม่ต้องการยิ่งลักษณ์ เราไม่รังเกียจคนพวกนี้ครับ
เรารักคนพวกนี้เหมือนรักหมาที่บ้านของเรา"

 
การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
 
การปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรกที่ดึงเอาอำนาจมาอยู่ที่กรุง กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงแรกที่คุมการปกครองทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร เมื่อก่อนเชียงใหม่มีพระเจ้าเชียงใหม่ บางครั้งพม่าแข็งแรงกว่า เชียงใหม่ก็ขึ้นกับพม่า อยุธยาแข็งแรงกว่า เชียงใหม่ก็ขึ้นกับอยุธยา แม้กระทั่งขึ้นกับอยุธยาหรือทีหลังขึ้นกับรัตนโกสินทร์แล้ว เชียงใหม่ก็ยังเป็นตัวของตัวเอง คนเชียงใหม่จะไม่ยอมตัดผมสั้นอย่างคนภาคใต้ เขาไว้ผมยาว ไว้มวย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผู้หญิงนุ่งซิ่น ไม่นุ่งโจง นี่สำคัญมาก 
 
รัฐในสมัยโบราณแต่ละรัฐจะมีพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าน่าน พระเจ้าแพร่ เมืองเล็กๆ เขาปกครองตัวเองทั้งนั้น แต่ต้องสยบยอมกับกรุงศรีอยุธยา เพราะมีอำนาจมากกว่า ทฤษฎีอันนี้ทางฝ่ายพุทธ ภาษาบาลีให้คำนิยามว่า "พระราชา" คือผู้ซึ่งทำความนิยมยกย่องให้แก่ประชาชน ปกครองเฉพาะของตัว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ปกครองเฉพาะเชียงใหม่ คนในเชียงใหม่ก็เป็นตัวของเขาเอง แม้จนกระทั่งเชียงใหม่เกือบจะหมดอำนาจแล้ว มีเจ้าปกครองนครเชียงใหม่จนถึง พ.ศ. 2478 เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังมีเจ้าเชียงใหม่อยู่ 
 
เจ้าแก้วนวรัฐเป็นองค์สุดท้าย และเจ้าแก้วนวรัฐก็ยังถือประเพณีเดิม ที่เชียงใหม่เวลาหน้าเอื้องหลวงบาน พวกกะเหรี่ยง พวกพื้นเมือง จะเอาดอกเอื้องหลวงมาถวาย เอายาสูบและไพลมาถวาย พระเจ้าเชียงใหม่ก็ประทับท้องพระโรง ซึ่งมีพื้นเป็นดิน ท่านก็จะรับยาสูบมาเคี้ยวหรือสูบ เอาไพลมาเคี้ยว เป็นประเพณี ท่านก็จะถ่มเขฬะลงที่พื้น บอกตราบใดที่เอื้องหลวงบาน พวกเจ้าไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงหรือละว้า เอาดอกดวงมาถวายเรา แสดงความจงรักภักดีต่อเรา เราก็สัญญาพวกเจ้าว่าเราจะไม่ให้ขุนนางท้าวพญาลาวไปรังแกเจ้า 
 
คือแต่ละชุมชนเป็นตัวของเขาเอง มีอำนาจของเขาเอง พันธสัญญาอันนี้เจ้าครองนครจะต้องให้กับชุมชน และชุมชนก็ต้องทำเช่นเดียวกัน ชุมชนก็ต้องดูแลนก กวาง สัตว์ป่า ต้นหมากรากไม้ เจ้าเชียงใหม่ก็ต้องไปขึ้นกับเจ้ากรุงศรีอยุธยา สามปีถึงจะส่งดอกไม้เงินทองไปทีหนึ่ง การปกครองเป็นของตัวเอง จะไม่พูดภาษากลาง ภาคใต้ก็พูดภาษาใต้ ภาคเหนือก็พูดภาษาเหนือ 
 
ศาสนาพุทธดั้งเดิมคือ "อิทัปปัจจยตา" ต้องโยงใยถึงกันหมด แผ่นดินนี้เป็นแม่พระธรณี น้ำเป็นแม่พระคงคา ข้าวเป็นแม่พระโพสพ เราทั้งหมดเคารพแผ่นดินแผ่นน้ำ ทำไมถึงเรียกแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง ขุนยวม แม่ริม แม่แจ่ม ทั้งหมดนี้เป็นแม่เป็นพ่อเราหมด พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นพ่อหลวง อันนี้เป็นความคิดดั้งเดิม ความคิดเราเริ่มเปลี่ยนเมื่อเราเริ่มคบกับฝรั่ง อันตรายจากการคบกับฝรั่ง ข้อเสียคือเราอยากจะทำตัวให้เหมือนฝรั่ง นี่สำคัญมาก
 
ฝรั่งเขาต้องแสดงความโอหังอหังการ ของเราต้องแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตัว คนกะเหรี่ยงคนคะฉิ่นมาถวายพระเจ้าเชียงใหม่ก็อ่อนน้อมถ่อมตัวต่อพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็อ่อนน้อมถ่อมตัว มันอ่อนน้อมถ่อมตัวเป็นลำดับไป เราอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อต้นหมากรากไม้ เทวดาอารักษ์ เพราะการอ่อนน้อมถ่อมตัวถือเป็นคุณธรรมข้อต้นของความเป็นมนุษย์แง่พุทธศาสนา
 

"อาจารย์ปรีดีบอกว่าไม่ใช่ เราไม่ได้ต้องการชนะเจ้าองค์เดียวแล้วมามีเจ้าหลายองค์
เราต้องการให้อำนาจอยู่ที่ราษฎร
เพราะฉะนั้นท่านถึงตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้คนมาเรียนธรรมะ
เอาธรรมะเป็นศาสตราที่แหลมคมเพื่อรับใช้การเมือง ให้คนทุกคนรู้เรื่องการเมือง"

 
ความผิดพลาดของการรวมศูนย์อำนาจ
 
คนที่เห็นความผิดพลาดของการรวมศูนย์อำนาจอยู่ในคนสกุลเดียวในชนชั้นเดียว คนแรกคือ ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2475 ปีที่ผมเกิด ยึดอำนาจ 24 มิถุนายน แล้ว 27 มิถุนายน ตรารัฐธรรมนูญ อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม อาจารย์ปรีดีประคับประคองมาสิบห้าปี จอมพล ป. รู้สึกว่าเอาเจ้าลงได้ พวกเราขุนนางต้องเป็นใหญ่ สู้กัน
 
อาจารย์ปรีดีบอกว่าไม่ใช่ เราไม่ได้ต้องการชนะเจ้าองค์เดียวแล้วมามีเจ้าหลายองค์ เราต้องการให้อำนาจอยู่ที่ราษฎร เพราะฉะนั้นท่านถึงตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้คนมาเรียนธรรมะ เอาธรรมะเป็นศาสตราที่แหลมคมเพื่อรับใช้การเมือง ให้คนทุกคนรู้เรื่องการเมือง 
 
คุณเตียง ศิริขันธ์ อยู่สกลนคร เป็นครูประชาบาล มาเรียนธรรมศาสตร์ ได้เป็นผู้แทนราษฎร ไม่โกงไม่กิน ชาวบ้านรัก เป็นรัฐมนตรี ขบวนการเสรีไทย คุณเตียงเป็นผู้นำภาคอีสานทั้งหมด เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อาจารย์ปรีดีเสนอให้ตั้ง "สหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์" ก่อนอาเซียนสี่สิบปี สหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์จะอุดหนุนประเทศที่ยังไม่ได้รับเอกราช พม่า ลาว เขมร อาวุธที่เรารับจากสหประชาชาติมาต่อสู้ญี่ปุ่น ไม่ได้ใช้ ท่านให้โฮจิมินห์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีกองพลสยามสองกองพล เพราะเราช่วยเพื่อนบ้าน ช่วยเจ้าเพชรราช (รัตนวงศา) ที่ลาว ช่วยอินโดนีเซีย 
 
อาจารย์ปรีดีเสนอให้ตั้งประเทศทั้งหมดในเอเชียอาคเนย์มารวมกัน ให้อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ ให้เป็นสังคมประชาธิปไตย แล้วอาจารย์ปรีดีไปคุยกับท่านพุทธทาส ตอนนั้นท่านพุทธทาสอายุสามสิบกว่า อาจารย์ปรีดีก็อายุสามสิบกว่า คุยกัน ทำอย่างไรจึงจะเอาประชาธิปไตยให้เป็นไท ให้เป็นพุทธ ให้เป็นธรรมิกสังคมนิยม
ก่อนที่อาจารย์ปรีดีจะหลุดจากอำนาจ ได้ตกลงกับฮัจญีสุหลง ผู้นำปัตตานี เขาสืบเชื้อสายเจ้าปัตตานี สามสี่จังหวัดภาคใต้จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ภาษายาวีต้องมีสอนเท่ากับภาษาไทย มุสลิมต้องใช้กฎหมายอิสลามเรื่องครอบครัว โรงเรียนปอเนาะต้องมีค่าเท่ากับโรงเรียนของรัฐ พออาจารย์ปรีดีถูกถีบออกไป ฮัจญีสุหลงก็ถูกฆ่า
 
ที่พวกทหารเล่นงานอาจารย์ปรีดี เพราะเขาถือว่าอาจารย์ปรีดีหักหลังพวกอำมาตย์ เพราะพวกเขายึดอำนาจได้ แต่อาจารย์ปรีดีจะให้บักหนานบักเสี่ยวมาเป็นใหญ่ ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมาอำนาจประชาชนไม่ได้ฟื้นเลย
 

"ในเวลานี้เสื้อแดงก็ไม่ใช่เรื่องฟื้นอำนาจประชาชน บางคนอาจจะเชื่อเรื่องฟื้นอำนาจประชาชน
แต่ตราบใดที่ยังดำเนินกระบวนการเสื้อแดงแบบนี้ ไม่มีทางฟื้นอำนาจประชาชนได้
เสื้อเหลืองก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวทำ เพราะจะฟื้นอำนาจประชาชนมีอย่างเดียว
คุณต้องลงไปหาประชาชน และไม่ใช่ลงไปสอนประชาชน แต่ไปเรียนจากประชาชน" 

 
 
ย้อนมองอดีตมารับใช้ปัจจุบัน
 
ในเวลานี้เสื้อแดงก็ไม่ใช่เรื่องฟื้นอำนาจประชาชน บางคนอาจจะเชื่อเรื่องฟื้นอำนาจประชาชน แต่ตราบใดที่ยังดำเนินกระบวนการเสื้อแดงแบบนี้ ไม่มีทางฟื้นอำนาจประชาชนได้ เสื้อเหลืองก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวทำ เพราะจะฟื้นอำนาจประชาชนมีอย่างเดียว คุณต้องลงไปหาประชาชน และไม่ใช่ลงไปสอนประชาชน แต่ไปเรียนจากประชาชน 
 
ตอนนี้เขาฉลอง 40 ปี 14 ตุลา มีคนมาถามผมว่า 14 ตุลาล้มเหลวตรงไหน พวกคุณหลายคนอาจจะเกิดไม่ทัน ผมเกิดทัน และผมเห็นว่า 14 ตุลานั้นนักศึกษาพลาด เพราะนักศึกษานึกว่าตัวชนะ แต่ไม่ได้ชนะ เพราะ 14 ตุลาเป็นการแย่งอำนาจระหว่างทหารขั้วถนอม-ประภาส กับอีกขั้วคือกฤษณ์ สีวะรา นักศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือ แล้วนักศึกษานึกว่าตัวชนะ 
 
ผมบอกเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เองเลยนะครับ ให้ไปดูนิทานอีสป ไอ้ไก่ที่มันตีกัน โก่งคอร้องว่ากูชนะ เหยี่ยวมันเอาไปกินเลยครับ นั่นละครับ 6 ตุลา เหยี่ยวเอาไปกินหมด เพราะนักศึกษาไปสอนประชาธิปไตย ผมบอกเอ็งไปสอนอะไร เอ็งไม่รู้จักประชาธิปไตยเลย เพราะโรงเรียนมันเป็นเผด็จการ อาจารย์ก็เป็นเผด็จการ ถ้าเอ็งไปเรียนจากประชาชน ประชาธิปไตยที่แท้อยู่ที่ประชาชน หนทางสู่อนาคตประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน 
 
ทำไมถึงเป็นประชาธิปไตย? เพราะเมืองไทยสมาทานพุทธศาสนามาอย่างน้อย 800-900 ปี แล้วคนลืมไปนะครับว่าพระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์ 2,600 ปีเมื่อปีกลายนี้ เมื่อแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก การตั้งคณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตยครั้งแรกในโลกเลยนะครับ คนที่มาเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ เมื่อเข้ามาสู่คณะสงฆ์ เสมอกันหมด คุณจะเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ เป็นลูกโจรก็ได้ ลูกโสเภณีก็ได้ เสมอกันหมด และ Seniority ใครเข้ามาก่อนเป็นพี่ 
ศากยวงศ์เขาถือขัติยะมาก ถือสกุลชาติมาก เมื่อเวลามาบวช ต้องขอให้อุบาลีบวชก่อนเป็นช่างตัดผมให้พวกเจ้าเหล่านั้น เพื่อเจ้าเหล่านั้นจะได้ลดอติมานะ กราบอุบาลีก่อน นี่สำคัญมาก มีเสมอภาค เสรีภาพ และมีภราดรภาพ อยู่เพื่อเอาชนะโลภ โกรธ หลง เราลืมกันไป อาจารย์ปรีดีคุยกับท่านพุทธทาสอยากจะเอาคณะสงฆ์มาเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย 
 
ที่ผมอยากจะเห็นว่าหนทางสู่อนาคตคืออำนาจประชาชน และเป็นประชาชนคนไทยพื้นล่าง ถ้าพวกเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะไปเรียนรู้จากเขา อย่าง 14 ตุลา นักศึกษาพลาดเพราะไม่ได้เรียนรู้จากเขา ตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป เสื้อเหลืองเสื้อแดง เอาเขามาเป็นพวกให้ได้
 
ผมถูกจับเมื่อ 6 ปีก่อน เพราะคนเมืองกาญจน์ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องท่อก๊าซ เมืองกาญจน์เป็นต้นน้ำดีที่สุด ป่าดีที่สุด ชะนี ช้าง แล้วก็ต่อสู้เพื่ออุดหนุนคนพม่า คนกะเหรี่ยง คนไทใหญ่ อันเดียวกัน ขีดเส้นประเทศมันของปลอม เราเป็นคนในโลกนี้อันเดียวกัน เรามีแม่พระธรณีเดียวกัน ภาษาอาจจะต่างกัน 
 
ผมบอกแล้วอาจารย์ปรีดีเป็นบุคคลสำคัญ อีกอันหนึ่งที่ท่านต่อสู้ก็เพื่อเอกราชของเรา แล้วท่านส่งคุณจำกัด พลางกูร ไปเมืองจีน ไปต่อสู้ ท่านพูดกับคุณจำกัดว่าไปครั้งนี้เพื่อชาติบ้านเมืองเรา และ Humanity มนุษยชาติทั้งหมด มนุษย์เราไม่ได้มีหน้าที่แค่เพื่อชาติของเราอย่างเดียว ชีวิตเพื่อสรรพสัตว์ทั้งหมด 
 
ทะไลลามะเป็นประมุขของทิเบต ท่านเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ท่านบอกว่าหน้าที่อันแรกของท่านคือหน้าที่เพื่อสรรพสัตว์ เพื่อมนุษย์ทั้งหมด สอง-ท่านเป็นพระ ท่านมีหน้าที่เพื่อพุทธศาสนา แต่ไม่ได้บอกว่าพุทธศาสนาดีกว่าศาสนาอื่นนะครับ แต่เป็นศาสนาที่ให้เข้าใจว่าความเมตตากรุณามีค่ามากกว่าความรุนแรง สัจจะมีค่ามากกว่าอสัจ และสามในฐานะที่ท่านเป็นคนทิเบต ท่านต้องการรักษาวัฒนธรรมทิเบต เราก็ต้องรักษาพื้นภูมิลำเนาของเรา และเราก็ต้องรักเพื่อนบ้านของเราทั้งหมด
 
ที่เมืองกาญจน์ก็เป็นจุดเริ่มต้น ไม่ได้ทำเพื่อเราอย่างเดียว ทำเพื่อพม่าด้วย ตอนนี้เขาต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โปแตสที่อุดร ที่สงขลาก็ต่อสู้เรื่องท่อก๊าซ คนเหล่านี้มีพลังหมดเลยครับ และคนเหล่านี้เขาอยู่กับธรรมชาติ เขายังเป็นชุมชนพื้นบ้าน และผมคิดว่าคำตอบอยู่ตรงนี้ครับ อนาคตอยู่ที่คนเหล่านี้ ปีนี้ครบ 40 ปี 14 ตุลา เราเอาบทเรียน 14 ตุลามาเรียน ลงไปหาประชาชน การลงไปหาประชาชนไม่ใช่ของง่าย แต่ทำสำเร็จได้
 
 
จากอินเดียและวอลสตรีท...ถึงเมืองไทย
 
ผมรู้จักราชาโกปาล (Rajagopal P.V.นักสู้ตามแนวทางคานธี) คนไทยไม่รู้จัก ผมรู้จักตั้งแต่นมเริ่มแตกพาน ตอนนี้อายุ 60-70 ปีนี้จะได้รับรางวัล Alternative Nobel เพราะผมเป็นคนเสนอ ราชาโกปาลออกไปร่วมกับประชาชนทั้งอินเดีย ห้าปีมานี้ ปลุกระดมชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ใช้ศาสนธรรม ใช้วัฒนธรรม ร้องรำทำเพลง นายกรัฐมนตรียอมแล้วว่าทุกคนต้องมีที่ดินทำกิน เมืองไทยที่เท่าไร เจ้าของที่ดินมีที่ไม่ทำอะไร 
 
ตอนนี้เบียร์ช้างซื้อที่เป็นว่าเล่น ที่เชียงใหม่ด้วย แต่ก่อนเชียงใหม่ หนึ่งเป็นของมิชชันนารี สองเป็นของนิมมานเหมินท์ ตอนนี้เป็นของเบียร์ช้าง กรุงเทพฯ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นที่ทรัพย์สินฯ เอาไปทำอะไรครับ ไล่คนจน ให้คนรวยอยู่ ปลูกคอนโดฯ เพราะมันไม่เห็นอำนาจประชาชน ถ้าเราปลุกอำนาจประชาชนขึ้นมา มันจะกลัวครับ 
 
แต่การปลุกนั้นต้องใช้สัจจะ ใช้อหิงสา ใช้ธรรมะ ที่ตะวันตกแต่ก่อนเคยมีการต่อต้าน หนังสือพิมพ์ก็เห็นเป็นของเล่น ตอนนี้เขาเอาจริงแล้ว ขบวนการต่อต้านวอลสตรีท และผมก็เกี่ยวข้องกับเขาด้วย ผมว่าในการต่อต้านพวกคุณต้องใช้อหิงสา ใช้วัฒนธรรม มีภาวนาด้วย มีร้องรำทำเพลงด้วย สนุกครับ ต่อต้านแล้วสนุก 
 
อันนี้หนทางสู่อนาคตคืออำนาจประชาชน และอำนาจประชาชนอีกหน่อยก็กลับมา ก่อนรัชกาลที่ 5 นี่เอง เชียงใหม่ก็เป็นตัวของตัวเอง น่านก็เป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าของเชียงใหม่อีกต่อไปแล้ว
 
เราไม่ต้องการทักษิณมาเป็นเจ้าของเชียงใหม่ ให้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เราไม่ต้องการยิ่งลักษณ์ เราไม่รังเกียจคนพวกนี้ครับ เรารักคนพวกนี้เหมือนรักหมาที่บ้านของเรา
 
ผมบอกแล้วว่าตอนนี้ผมแก่แล้ว ไม่สามารถปลุกระดมอะไรได้ ก็เอาความจริงมาเล่าให้ฟัง เห็นว่าการลดอำนาจรัฐ ก็ต้องเพิ่มอำนาจประชาชน และการเพิ่มอำนาจประชาชนในเมืองไทยนี้เป็นไปได้ มันเหมือนเส้นผมบังภูเขาเท่านั้นเอง พอเราเริ่มเดินให้ดีๆ ปีนี้เราฉลอง 40 ปี 14 ตุลา อีกสามปีเราจะฉลอง 40 ปี 6 ตุลา ต้องไม่เป็นไปในทางลบอย่างที่แล้วๆ มา 
 
และอีกสามปี ป๋วย (อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ก็อายุครบร้อยปี ป๋วยเป็นดุจสัญลักษณ์ของสันติประชาธรรม คือคนที่ถูกถีบออกไปเหมือนอาจารย์ปรีดี เราต้องเอาคนเหล่านี้กลับมา เอาคนต่างๆ ที่เป็นคนธรรมดาสามัญที่ถูกลืมกลับมา เราต้องเลิกเคารพอนุสาวรีย์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อนุสาวรีย์พิบูลสงคราม กลับมายกย่องคนธรรมดาสามัญ แล้วเมื่อนั้นคือหนทางสู่อนาคต ตัวประชาชนเป็นใหญ่ แล้วฟ้าจะใส อนาคตจะเป็นไปในทางสันติประชาธรรม
 
 
 
ถาม/ตอบ เกี่ยวกับเชียงใหม่จัดการตนเอง
และการเสนอร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร
 
ชำนาญ จันทร์เรือง : อาจารย์พูดเรื่องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน หนทางสู่อนาคต ผมอยากฟังความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิหรือให้กำลังใจ คือขณะนี้ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองได้ยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ซึ่งมีหลักการที่จะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนท้องถิ่นก็มีสองระดับคล้ายๆ ญี่ปุ่น และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีสภาพลเมืองคอยให้คำแนะนำและตรวจสอบดูแล ซึ่งเราก็มีการรณรงค์รวบรวมรายชื่อ กำหนดนัดไว้ เรียนทางรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง คุณวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นผู้มารับ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ผมอยากฟังความเห็นของท่านอาจารย์ว่าวิธีการขับเคลื่อนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
 
ส.ศิวรักษ์ : เป็นคำถามที่ดีมาก คือเสนอไปตามลำดับขั้นก็เป็นพิธีกรรมอันหนึ่ง และพิธีกรรมอันนี้เขาก็จะดองเอาไว้ เพราะเขายังไม่พร้อมจะกระจายอำนาจ เขาจะพร้อมเมื่อเขากลัว นี่สำคัญมาก พื้นฐานของมนุษย์ขั้นลึกซึ้งที่สุดคือความกลัว กลัวตาย กลัวจะหลุดจากตำแหน่ง แม้กระทั่งเรื่องเซ็กส์ก็เป็นเรื่องความกลัว กลัวจะไม่มีการสืบพันธุ์ ความกลัวนี้ลึกซึ้งที่สุด
 
ศาสนาลึกๆ สอนให้เข้าใจเรื่องความกลัว แต่ทีนี้ศาสนาพุทธในเมืองไทยไม่ทำงาน กลายเป็นพิธีกรรม เป็นไสยศาสตร์ เราเองต้องฝึกว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่กลัว ให้เรามีความกล้าหาญทางศีลธรรม เราต้องมีกัลยาณมิตรที่รวมตัวกัน และต้องเห็นว่าวิธีการยื่นนี่เป็นอันหนึ่งที่มันจะไม่ได้ผล สอง-สื่อมวลชนจะไม่เล่น แต่ก็ต้องหาทางในการสื่อสารความเคลื่อนไหวออกไป 
 
ยกตัวอย่างเรื่องเขื่อนแม่วงก์ โอ้โห...คนมาเป็นหมื่นๆ ผมไปตามติดที่หอศิลป์ กทม. ฝนตกหนัก คนไม่หนีเลยนะครับ แต่สื่อมวลชนรายงานน้อยมาก เพราะสื่อมวลชนส่วนใหญ่มันยังเป็นสื่อมวลสัตว์ เป็นสื่อที่หากินกับอำนาจรัฐ มีความกลัวขึ้นสมอง ช่อง 3 เจ้าของมันหนีไปไหนแล้ว ศาลฎีกาตัดสิน แล้วไอ้คนที่ประกาศข่าวแจ้วๆ มันของเล่นทั้งนั้น 
 
แต่ว่าขณะเดียวกันเราก็ทิ้งสื่อมวลชนไม่ได้ ต้องหาคนในสื่อมาเป็นพวกให้มาก อีกนัยหนึ่งคนจะมาเป็นพวกเราได้เพราะเขาเกิดมโนธรรมสำนึก มหาตมะคานธีที่ชนะจักรวรรดิอังกฤษเพราะสามารถเอาบาทหลวงอังกฤษและนักการเมืองมาเป็นพวก สภาเราก็ไม่ได้เรื่องแต่ต้องหามาเป็นพวก และมาเป็นพวกที่เข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
 
เพราะฉะนั้นเรื่องการเสนอนี่อย่าไปหวังผล ถือว่าเป็นขั้นต้น ล้มแล้วลุกต่อ อีกสามปีงานป๋วย สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด ป๋วยสอนผม "คุณสุลักษณ์กัดแล้วต้องไม่ปล่อย" ผมแปดสิบแล้วยังไม่ปล่อย ฟันหักเหลือแต่เหงือกแล้วก็ยังกัดอยู่ 
 
คุณทำที่เชียงใหม่ คุณต้องหาทางให้แพร่ น่าน ปัตตานี ฯลฯ เขาทำด้วย เป็นพวกกันทั้งหมด ทีนี้มันจะลุกพรึบขึ้นมา ที่ราชาโกปาลสามารถทำได้ ปลุกทั่วอินเดีย นายกรัฐมนตรีรักตำแหน่งตัวเอง กลัวหลุดจากตำแหน่งเลยต้องยอม ถ้าเราสามารถทำให้มีพลังได้มากขนาดนั้น ยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งลักษณ์เถอะ ปูก็ถอยเป็นเหมือนกัน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญญาชนประชาธิปไตย กับอนาคตรัฐสยาม

Posted: 25 Oct 2013 02:59 AM PDT

ควันหลงจากงานรำลึกครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ได้สร้างปรากฏการณ์พิเศษมากกว่าพิธีกรรมประจำปี ตรงที่ปาฐกถาพิเศษของอดีตผู้นำนักศึกษาในขบวนการประชาธิปไตยในอดีตอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี ได้แสดงออกมา ซึ่งได้ยืนยันพฤติกรรม และจุดยืนของคนทั้งคู่ออกมาอย่างชัดเจนว่า ใครเป็นปัญญาชนของขบวนการประชาธิปไตย และใครเป็นปัญญาชนจอมปลอมที่ได้แต่สร้างภาพลักษณ์

สื่อมวลชนบางสำนัก พยายามประจบเอาใจคนทั้งคู่ว่า "ยอดเยี่ยมเหมือนกัน" ด้วยเป้าประสงค์อย่างใดไม่ชัดเจน แต่น่าเสียดายข้อเท็จจริงถึงคุณภาพทางปัญญาของคนทั้งคู่ที่ต่างกันลิบลับ ทำให้ไม่สามารถปิดฟ้าด้วยฝ่ามือได้เลยว่า ใครคือนักประชาธิปไตยที่แท้ และใครปลอม

เสกสรรค์ แสดงปาฐกถา 2 ครั้ง โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ในหัวข้อ "เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือประชาธิปไตย" ส่วนวันที่ 14 ตุลาคม ในหัวข้อ "ความฝันเดือนตุลา สี่สิบปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในประเทศไทย" ส่วนธีรยุทธ พูดครั้งเดียวในวันที่ 14 ตุลาคม ในหัวข้อ  "40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516"

กรอบความคิดของคำปาฐกถาของทั้งคู่ มุ่งตอบคำถามร่วมหลัก คือ การเชื่อมโยงเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม เข้ากับสถานการณ์ของประชาธิปไตยปัจจุบัน  ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมในสถานการณ์จริงในบางช่วงมาด้วยกัน  รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อชี้ทางออกสำหรับอนาคต แต่เนื่องจากรากฐานของกรอบคิดทางวิชาการของคนทั้งคู่ต่างกัน(เสกสรรในฐานะนักรัฐศาสตร์ ธีรยุทธในฐานะนักสังคมวิทยา)  ดังนั้น คำตอบย่อมแตกต่างกันไปด้วย

จุดร่วมอีกประการหนึ่งของคนทั้งคู่คือ การเชิดชูเจตนารมณ์และขบวนการประชาธิปไตยในฐานะเป้าหมายและวิธีการในการปลดปล่อยพลังให้สังคมไทย และเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือบนความขัดแย้งของกลุ่มพลังในสังคมด้วยสันติวิธี

ปาฐกถาทั้งสองครั้งของเสกสรร มีความต่อเนื่องกันในเชิงความคิดที่สอดรับกันอย่างดี โดยเริ่มต้นอย่างถ่อมตนผิดจากที่เคยว่า "ในฐานะปัจเจกบุคคลอาจจะมองปัญหาดังกล่าวได้ไม่ครบถ้วน" และเรื่องที่พูดก็"เป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน"  แต่ก็นำเสนออย่างคนที่ตกผลึกทางความคิดเป็นระบบที่ดีเยี่ยม ด้วยข้อมูลพื้นฐานเนื้อหาที่สอดคล้องกัน"เพื่อบอกพวกท่านว่าผมยืนตรงไหนและคิดอย่าง ไร"  โดยเริ่มต้นว่า เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516  ของปวงชนหลายกลุ่มนำโดยขบวนการนักศึกษา ล้วนมุ่งมาดปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ซึ่งแยกไม่ออกจากจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า

จากนั้น เสกสรรค์วิเคราะห์อย่างลงลึกถึง ปมปัญหาที่ทำให้ เวลาที่ผ่านไป 40 ปี ซึ่งทำให้" ส่วนยอดของระเบียบอำนาจเก่าได้ล้มลงในชั่วเวลาข้ามคืน ขณะที่ระเบียบใหม่ยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจน" แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ว่างเปล่า แต่ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ทำให้เป้าหมาย "ความฝันเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ยังไม่ปรากฏเป็นจริง" ด้วยกระบวนทัศน์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ยังคงมีอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซ์ ผสมกับแนวคิดอำนาจการนำ(hegemony)ของอันโตนิโอ กรัมซี่ และ"ประชาธิปไตยรากหญ้า"(radical democracy)ของเออร์เนสโต้ ลักเลา และชานทาล มูฟเฟ่ อยู่ในระดับสำคัญ (แม้ปราศจากคราบไคลของข้อเสนอที่ตั้งบนรากฐานวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน-เหมา เจ๋อ ตง ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง) โดยเฉพาะการวิเคราะห์โครงสร้างทางชนชั้นของสังคม

แกนหลักของประชาธิปไตยที่แท้จริงในกระบวนทัศน์ของเสกสรรค์คือ ความยุติธรรม ซึ่งอยู่เหนือกว่าเสรีภาพและเสมอภาค ดังที่เขาย้ำว่า"คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สามารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหนหากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้ม ครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา"

การวิเคราะห์ของเสกสรรค์ ชี้ให้เห็นว่า ปมปัญหาหลักที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถเดินหน้าไปได้ จมปลักอยู่ในเขาวงกตทำให้ "ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนรอบห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐ ประหารซึ่งผูกพ่วงไปมาสลับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้รับอิสระ เสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมของมนุษย์ต้องหลั่งเลือด ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน" เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญา อยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง

เสกสรรค์ประมวลว่าเหตุปัจจัย 3 อย่างที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่คืบหน้า ล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันคือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และ สภาพที่กำลังของฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา

จากแกนหลักของการวิเคราะห์เหตุปัจจัยดังกล่าว เสกสรรไม่รีรอที่จะฟันธงชัดเจนลงไปว่า "ผู้ร้ายหลัก"ของประชาธิปไตยไทยคือ ชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ที่ยังคงรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำ และความพยายามของชนชั้นปกครองเก่าที่จะทวงอำนาจกลับคืนมาอย่างแน่วแน่ แม้จะปรับเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์บ้าง โดยอาศัยพลังสนับสนุนของผู้พิทักษ์แนวคิดเดิม และเงื่อนไขทางสังคมจำเพาะ โดยมุมมองที่ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพทุกชนิดล้วนเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและพวกเขา

บทบาทของผู้ร้ายหลักนั้น เสกสรรค์ถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง เริ่มตั้งแต่การทำลายพลังนักศึกษาและปัญญาชนที่เคยเป็นกองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ทำลายล้างพลังของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทำลายโอกาสของประเทศไทยในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภา และทำลายพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภาที่มีแนวทางสังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการที่ถูกทำให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย โดยการปราบกวาดล้าง 6 ตุลาคม 2519 ที่นำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองนานหลายปี

นอกจากนั้น หลังการฟื้นคืนบรรยากาศประชาธิปไตยรอบใหม่ ตั้งแต่ปี 2521 ผู้ร้ายหลักนี้ ยังได้ส่งมอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และกำหนดเงื่อนไขที่มุ่งหวังให้นักการเมืองมาช่วยตกแต่งหน้าร้าน เพื่อปกป้องฐานะการนำกลุ่มอำนาจเดิมในฐานะคนเชิดหุ่นเอาไว้ แทบไม่มีพื้นที่อันใดสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสิน ใจ  กระทั่งการเลือกตั้งก็มีความหมายเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะผู้นำรัฐบาลไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกจากประชาชน

ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้เปิดโอกาสอย่างสูงให้ระบบทุนนิยมในประเทศได้หยั่งรากแน่น จนไม่มีรัฐบาลชุดไหนต่อๆมากล้าแตะต้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทุนยังถูกยกระดับขึ้นเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ

สภาพทางการเมืองอันจำกัด ได้ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกตัดโอกาสที่จะพัฒนาตนเป็นผู้นำตั้งแต่ต้น ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนหรือเป็นแค่บริวารของผู้นำกองทัพ แต่ที่สำคัญ ได้ก่อตัวเป็นขบวนการทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบเจ้าพ่อ และเวทีการเมืองก็เป็นเพียงโอกาสขยายธุรกิจและผลประโยชน์ต่าง ๆของคนบางกลุ่ม เพราะนักการเมืองจำนวนไม่น้อย เติบโตมาจากนักธุรกิจในท้องถิ่นหรือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ฐานเสียง

นักการเมืองจำนวนมากในประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อนี้ ไม่เพียงแต่เคยชินแต่การรับบทพระรอง และไม่สามารถสถาปนาอำนาจการนำอย่างแท้จริง หรือขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากขยายตัวเท่านั้น หากเมื่อพวกเขาได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเอง ก็ได้กลายเป็นรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์และถูกติฉินนินทาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น จนเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและระบอบการเมือง สร้างเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการก็สุกงอมกลับเข้าสู่วังวนรัฐประหารรอบใหม่ คือรัฐประหาร 2534

การรัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างผิดเงื่อนไขและเงื่อนเวลา เพราะโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว และเงื่อนไขในการสร้างรัฐบาลทหารโดยมีนักการเมืองผสมก็จางหายไป ทำให้ภายในเวลาเพียงปีเดียว การต่อต้านก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงนำไปสู่กระแสปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นเจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมมายืนยันอย่างมีพลังอีกครั้ง

ส่วน"ผู้ร้ายรอง" ได้แก่กลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์และการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น ซึ่งความกลัวฝ่ายซ้ายของชนชั้นนายทุนเริ่มหมดไปจากฉากหลังทางการเมือง และทำให้บทบาทของกองทัพและแนวคิดขวาจัดลดพลังลง  นักการเมืองที่สถาปนาตนเองจากภาคธุรกิจเริ่มแสดงความต้องการที่จะขึ้นกุมอำนาจโดยตรงอย่างเปิดเผยมากขึ้น  แทนที่จะยอมเป็นแค่หางเครื่องของผู้นำกองทัพและผู้บริหารระบบราชการ

ความต้องการพื้นที่ทางการเมืองแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์ผูกขาดอำนาจรัฐเดิม กระทำได้โดยฉวยโอกาสใช้เวทีประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือสร้าง "หุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อ" กับชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางล่างในเมืองใหญ่ ที่"ไม่ต้องการเป็นสัตว์เลี้ยงในคอกของผู้ปกครองเดิมอีกต่อไป"

ผลลัพธ์ด้านบวกของหุ้นส่วนที่เหลือเชื่อดังกล่าว คือช่วยชุบชีวิตให้ระบบรัฐสภาไทยด้วยการใช้ การเมืองภาคตัวแทนช่วยต่อรองในระดับนโยบาย ช่วยลดทอนช่องว่างทางชนชั้นในเรื่องอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างในด้านรายได้ แต่ด้านลบคือ มันนำไปสู่การสะสมความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่กับกลุ่มผู้กุมอำนาจนำเหนือรัฐเดิม และ"หุ้นส่วนที่เหลือเชื่อ"อีกรูปแบบหนึ่งกับพลังอนุรักษ์นิยมของชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองที่"รวยได้โดยไม่ต้องโกง" และอ่อนไหวง่ายกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ตนเองเสียผลประโยชน์ที่เคยได้มาในอดีตจากแผนพัฒนาประเทศและการขยายตัวของทุนนิยม ตลอดจนกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการจำกัดอิทธิพลของตลาดเสรี สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ ลดทอนลดอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ฉ้อฉล และเพิ่มอำนาจประชาชน กลายเป็นการขัดแย้งอันยุ่งเหยิงของกลุ่มพันธมิตรที่เหลือเชื่อ 2 กลุ่ม ที่เป็นรากเหง้าของการเมืองแบบสีเสื้อในปัจจุบัน

การที่ผู้ร้ายรองนี้ เติบโตมากับกระแสโลกาภิวัตน์และเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ของโลกมากกว่า จึงต้องการปลดปล่อยอำนาจการนำรัฐออกจากมือของชนชั้นนำจากท้องถิ่น หรือนักการ เมืองอาชีพซึ่งเคยชินกับการให้สัญญาเชิงอุปถัมภ์หรือปฏิญาณตนแบบลม ๆ แล้ง ๆ มากกว่าการสร้างนโยบายที่จับต้องได้ และตรงกับประเด็นปัญหา โดยอาศัยช่องว่างจากบรรยากาศประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่จำนวนน้อย และยังแอบยกฐานะเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีขึ้นมาเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 87 ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการเลือกนโยบายทางเศรษฐกิจนอกกรอบทุนนิยมไปอย่างสิ้นเชิง นอกเหนือจากการให้คุ้มครองคนเสียเปรียบอย่างเดียว

กลุ่มทุนใหม่ที่เป็นผู้ร้ายรองในสายตาของเสกสรรนี้ เป็นผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทและหัวเมืองต่างจังหวัดก่อนใคร ๆ เห็นชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อพยพเข้าเมืองได้แปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ทำการผลิตในเชิงพาณิชย์และจำเป็นต้องอยู่กับตลาดทุนนิยม  แต่เป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งภายใต้กลไกตลาดเสรีที่ต้องการนโยบายรัฐมาหนุนช่วย ตั้งแต่เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน การตัดวงจรหนี้สิน จนถึงการคุ้มครองราคาผลผลิตทางเกษตรที่พวกเขาฝากชีวิตเอาไว้ ผ่านกระบวนการอำนาจต่อรองในทางการเมือง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางรุ่นเก่าในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ซึ่งไม่มีใครช่วยก็รวยได้ เพราะมีกลไกตลาดคอยดีดเงินเข้ากระเป๋าอยู่แล้ว แต่ให้ความสำคัญกับประเด็นซ้ำซากว่าด้วยคุณธรรมของฝ่ายบริหารและกติกาของระบบตลาดเสรี  จนบางส่วนจึงถึงกับเต็มใจให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เสกสรรได้ทิ้งท้ายปาฐกถาของเขาเอาไว้ด้วยข้อเสนอหลายประการว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยในปัจจุบันแม้จะมีข้อเด่นตรงที่ได้ลดบทบาทของการเมืองของชนชั้นนำลง เข้าสู่เรื่องของสามัญชนมากขึ้น ถือเป็นการเติบโตของประชาธิปไตย แต่เงื่อนไขต่างๆที่ผลิตความขัดแย้งในสังคมกลับท้าทายความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง 2 กลุ่มหลักคือ ความแตกต่างทางชนชั้นอย่างสุดขั้ว หรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ล้นเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงอำนาจได้ไม่เท่ากันและมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกัน กับ แรงผลักของกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมแบบไร้พรมแดน ซึ่งทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของชาติกลายเป็นเพียงภาพลวงตา

เสกสรรค์ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่นับวันยิ่งขยายกว้างนี้ ทำให้มุมมอง ทัศนคติ และระดับความภักดีต่อประชาธิปไตย ของมวลชนกลุ่มต่างๆไม่เหมือนกัน ซึ่งยากจะไกล่เกลี่ยประนีประนอม เพราะมันผูกติดอยู่กับเดิมพันเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นแกนชีวิตของแต่ละฝ่าย ทำให้บรรยากาศเสรีนิยมเกิดขึ้นได้ยาก และมักนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมือง กระทั่งในบางกรณี ถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง ดังเช่นการที่ชนชั้นกลางและกลุ่มทุนเก่าในเมืองหลวงยอมเปิดทางให้กับกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 และกรณีนองเลือดกระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริงที่ราชประสงค์ในปี 2553

เสกสรรย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสุดขั้ว ซึ่งถูกสนับสนุนให้เลวลงด้วยระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนรวยเสียภาษีทางตรงน้อยเกินไป ส่วนคนจนก็เสียภาษีทางอ้อมทุกวัน คือที่มาของความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ผู้คนในประเทศไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากการโกงบ้านกินเมืองอย่างเดียว แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีจริงและสมควรแก้ไข แต่คนที่ดูเหมือนมือสะอาดก็ใช่ว่าจะผุดผ่องอันใดนักหนา เพราะเงื่อนไขที่ก่อเรื่องมากกว่าคือระบบที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรวยได้อย่าง เหลือล้นโดยไม่ต้องโกง ขณะคนส่วนใหญ่ลำบากได้อย่างเหลือเชื่อทั้งๆที่ไม่ได้เกียจคร้าน

ในกรณีของแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ เสกสรรค์มีมุมมองในเชิงลบยิ่งขึ้น เพราะเขามองว่า ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้รัฐไทยตกอยู่ในภาวะจำยอม ให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ปัญหาการเมืองไทยยิ่งสลับซับซ้อนมากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะไม่เพียงเข้ามาเร่งขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเท่านั้น หากยังปิดกั้นหนทางแก้ไขเอาไว้ด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาสรุปว่า คงฝากประชาธิปไตยไว้กับสถาบันและกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียว ไม่ได้ หากต้องประสานบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการเมืองมวลชนเข้ากับระบบรัฐสภา ทั้งนี้เพราะพลังทั้งสองส่วนต่างก็มีปัญหากับทุนนิยมโลกไปคนละแบบ และมีแรงจูงใจสูงที่จะอาศัยมาตรการทางการเมืองมาทำการขับเคลื่อน

ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนของเสกสรรค์จึงเรียกร้องให้สังคมไทยต้องทำการรักษาบาดแผลเรื่องความเหลื่อมล้ำและขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่ง"สำหรับคนจำนวนไม่น้อย เคยเป็นเรื่องต้องห้ามและชวนให้ไม่สบายใจ" อันเป็นท่าทีเขาเห็นว่า ไร้ประโยชน์และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะนี่คือ "ปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย  ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ ซึ่งเขาระบุชัดเจนอย่างมีส่วนร่วมว่า "วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น"

สำหรับธีรยุทธ การวิเคราะห์โจทย์ยอดนิยม"ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน" ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเป้าหมายหรือวิธีการ แต่กระบวนทัศน์และท่าที รวมทั้งข้อสรุป แม้จะสะท้อนว่าเป็นทั้ง 2 อย่าง แต่ได้แสดงชัดว่า พยายาม"ลอยตัว"ออกจากการมีส่วนร่วมในปัญหา ในท่วงทำนองของแมกซิมิเลียน เวเบอร์ นักสังคมวิทยาเยอรมันในอดีต เพราะเขามุ่งไปตรงไปที่ชุดคำตอบเบ็ดเสร็จคือ  2 คำตอบ"ตรงไปตรงมา" และ 2 คำตอบเชิงนามธรรมว่าด้วยอุดมการณ์และวัฒนธรรมการเมือง

2 คำตอบแรก ธีรยุทธระบุว่า เพราะผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร และยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ว่า 1) ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด แต่เป็นลักษณะจำเพาะของแต่ละสังคมที่มีสารภาพเงื่อนไนอำนวยให้ 2) ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น  ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่ม ต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้

ข้อสรุปของธีรยุทธในระดับนี้คือ ไม่มีกลุ่มพลังใดในสังคมไทย มุ่งมั่นจะรักษาระบบประชาธิปไตยให้ทำงานไปได้หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ โดยยกตัวอย่างว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน ในขณะที่"กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง)"
สำหรับธีรยุทธแล้ว ไม่มีผู้ร้ายเลย หรือ ทุกคนเป็นผู้ร้าย ในปัญหาของประชาธิปไตยไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการ"ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง"อย่างพลิ้วไหวอย่างไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ในระดับต่อไป คำตอบของธีรยุทธในเรื่องอุดมการณ์ คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้าย จำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจ ของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย

เขายกตัวอย่างว่า จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ "ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ" มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน "ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์" ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ "สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์" นั่นเอง

สำหรับกลุ่มทุนดั้งเดิมของไทย (-ไม่ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหน และวัดจากอะไร-) ธีรยุทธ ระบุว่า ทำตัวเป็นกาฝากการเมืองมากกว่า เพราะ "นอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของ ตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน"

ในส่วนของพรรคการเมือง ธีรยุทธมองในเชิงลบอย่างถึงที่สุดว่า เป็นส่วนเกินที่ไร้ประโยชน์ของประชาธิปไตยไทย เพราะไร้จิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย แม้จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพื้นที่จากกรณี 14 ตุลาคม 2516 "ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด " และ "ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่ เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง"

คำตอบในเรื่องวัฒนธรรมการเมือง ธีรยุทธสรุปอย่างย่นย่อด้วยข้อสรุปส่วนตัวชนิดไร้ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่า "สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า" ให้อ้างว่า คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย โดยโยงเข้ากับกรณีที่ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวอย่าง

จากนั้น ธีรยุทธก็ทำการใช้สำนวนลีลาด้วยการผูกโยงเพื่อชี้ให้เห็นจุดบกพร่องทางวัฒนธรรมการเมืองของคนไทยว่า นิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่อง"สารพัด"ขี้ เพื่อที่จะแขวะโยงไปถึงทักษิณ ชินวัตรและพลพรรคที่ถูกจัดกลุ่มเดียวกันในเชิงลบเช่น ให้เรียกทักษิณเป็น "ขี้ขำ" ของการเมืองไทย และยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ "ขี้หย้อง" กับ "ขี้แบ๊ะ" (คำหลังนี้ ใช้ผิด เพราะ "ขี้แบ๊ะ"ไม่มีในภาษาเหนือหรือคำเมือง มีแต่คำว่า ขี้แขะ(บางถิ่นออกเสียวห้วนๆว่า ขี้แคะ) ที่มีความหมายว่าขี้ขลาด ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นโล้เป็นพาย)
 
นิยามข้างต้นนั้น ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ ธีรยุทธนิยามความหมายของ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทย และนิยามกองทัพ ซึ่งเป็นหัวขบวนกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยว่า เป็นพวก "ขี้หักถ่อง" ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง  โดยกองทัพก็มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

การให้คำนิยามดังกล่าว ตอกย้ำทัศนคติ"ไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตย"ของธีรยุทธ ว่ายังคงเหมือนเดิมทุกประการ นับตั้งแต่กรณีการยกย่องเชิดชูการเข้ามามีบทบาทของอำนาจตุลาการในการเมืองไทยในกลางปี พ.ศ. 2549 ก่อนการรัฐประหารโดยกองทัพว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ ก่อนใครอื่น และมองเห็นการรัฐประหารเป็น"ความจำเป็นทางการเมืองเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง"

กระบวนทัศน์ และจุดยืนจากชุดคำตอบที่เปิดเผยตัวตนออกมาเองเช่นนี้ เปิดเผยธาตุแท้ของธีรยุทธอย่างหมดเปลือกว่า อดีตความเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขา ได้สูญสลายไปอย่างสิ้นเชิง ภาพลักษณ์ของนักประชาธิปไตยที่ปรากฏในสื่อและสาธารณะทั่วไปจนถึงปัจจุบัน เป็นแค่เพียง"หนังราชสีห์ที่ห่ม คลุมร่างลา"เท่านั้นเอง เมื่อใดที่เปล่งเสียงออกมาก็แยกแยะได้ทันที่ว่า เป็นคนเช่นไร

กระบวนทัศน์ที่สะท้อนจุดยืนอันต่างขั้วกับประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ทำให้คำกล่าวของธียุทธต่อมาที่ว่า "จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมือง ไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น"เบาบางลง รวมทั้งคำสารภาพของเขาเองที่ว่าไม่แน่ใจเช่นกันว่าตนเองมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ด้วยซ้ำ  "14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร"

หลังจากคำสารภาพ ธีรยุทธได้สร้างข้อเรียกร้อง 4 ประการ ที่ไม่เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาประชาธิปไตยโดยตรง แต่เป็น 1) ทิศทางในอนาคตของสังคมไทย 2) ปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ของรัฐไทย 3) ประชานิยม ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ  4) แม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมที่ผิดพลาดของผู้นำรัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจ นอกจากไม่ช่วยป้องปรามปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายแล้ว ยังทำให้สังคมหลงทางจนยากจะแก้ไขและนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย

ทั้งหมดนี้ ธีรยุทธชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคตได้ก้าวพ้นเกินปัญหา ประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย โดยเฉพาะปมประเด็นว่าด้วย การลดอำนาจรัฐจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นเพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตน เพราะ"กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปให้ได้
ทางออกของธีรยุทธ โดยที่ไม่ได้เอ่ยถึงรากที่มาว่า การกระจุกตัวของอำนาจรวมศูนย์ของรัฐไทยสร้างปัญหาให้กับ" 2 คำตอบตรงไปตรงมา และ 2 คำตอบเชิงนามธรรม"ของเขาอย่างใดบ้าง ทำให้ทางออกที่เขาเสนอมีลักษณะ"ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา" เปรียบได้กับ"นักเรียนตัดแปะข้อมูลส่งการบ้านครู"อย่างรวบหัวรวบหางแบบหักมุมจบว่า "มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่ง" เป็นเพียงประโยคที่ว่างเปล่า เพราะไม่ได้ชี้ให้เห็นให้เห็นว่า เป้าหมายและวิธีการที่นำเสนอ สอดรับและปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด

หากใช้มุมมองของอันโตนิโอ กรัมชี่  นักคิดสังคมนิยมชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งเคยนิยามคำว่า ปัญญาชนอินทรีย์ จากคำถามขึ้นต้นที่ว่า ปัญญาชนในฐานะปัจเจกบุคคล เป็นอิสระชนทางสังคม หรือมีสังกัดทางชนชั้นที่แน่นอน โดยมีข้อสรุปว่า ทุกกลุ่มทุกชนชั้นในแต่ละสังคม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการมีปัญญาชนของตนเองหลายๆ ชนิดในรูปแบบธรรมชาติ หรือ อินทรีย์ เพื่อสร้างเอกภาพด้านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของชนชั้นหรือกลุ่มในทุกด้าน และส่งมอบมรดกทางประวัติศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น ผู้เขียนจึงประเมินปาฐกถาของเสกสรร และธีรยุทธ ที่เพิ่งผ่านไปได้อย่างง่ายดายว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาคนเดิม ซึ่งใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษวนเวียนกับการแสวงหาตนเองหลังจากตกอยู่ในสภาพ"สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"เมื่อกลับจากป่าสู่เมืองในปี 2524 ได้หวนคืนกลับสู่ฐานะของปัญญาชนประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง (ถือเป็นเสกสรร เรอเนสซองส์ ก็ไม่ผิดข้อเท็จจริง) อย่างน่าชื่นชมและควรแก่การยินดีต้อนรับ

ในขณะที่ธีรยุทธในคราบของนักวิชาการเสื้อกั๊กขาดที่หลงทาง"ติดกับดัก"ไปกับภาพลักษณ์และชื่อเสียงจอมปลอมของตนเอง ได้เปลี่ยนสีแปรธาตุไปไกลและมาก กลายเป็น"แกะหลงทาง"ที่สับสน และ เลอะเทอะจนยากจะกู่กลับเสียแล้ว เหลือไว้เพียงแค่ภาพลักษณ์ที่นับวันจะเลือนหาย

จุดยืนของการเป็นปัญญาชนประชาธิปไตยที่แจ่มชัดของเสกสรรค์ แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นและน่าชื่นชม แต่ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ยังไม่เพียงพอ และสมควรแก่การวิพากษ์เพื่อ"กำจัดจุดอ่อน"ในบางเรื่อง หากไม่ถือว่าการวิพากษ์ดังกล่าวเป็น"ผลแอปเปิลแห่งความปริร้าว"(An Apple of Discord)  เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การแสดงจุดยืนจากปาฐกถาของเสกสรรในวาระนี้ ได้ชี้ให้เห็นการตกผลึกทางปัญญาอันเคี่ยวกรำมายาวนานของเขาว่า มีวุฒิภาวะมากพอที่จะยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

จุดอ่อนของข้อเสนอของเสกสรรที่ผู้เขียนเห็นว่าที่ต้องช่วยกันปรับปรุง เสริมสร้างตาข่ายนิรภัยไม่ให้พลังประชาธิปไตยอ่อนกำลัง และป้องกันการย้อนกลับมาของเชื้อชั่วเผด็จการที่จะไม่มีวันตาย มีดังต่อไปนี้

-ดูเบาพลังของชนชั้นรากหญ้า หรือ ชนชั้นล่าง เพราะลำพังชนชั้นกลางล่างนั้นหากมีอำนาจก็พร้อมจะเปลี่ยนสีแปรธาตุด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าได้ทุกเมื่อ หากได้รับอำนาจ หรือ สินบนที่เปรอปรน

-ดูเบาพลังการจัดตั้งมวลชนของพลังอนุรักษ์และต่อต้านประชาธิปไตย และกลุ่มสมคบคิดต่างๆ

-ขาดความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลที่มีนัยสำคัญของพลวัตทุนนิยมและโลกาภิวัตน์จนประเมินความน่ากลัวเกินจริง ซึ่งควรต้องปรับปรุง เพื่อจะเข้าใจวิภาษวิธีของทุนนิยมโลกร่วมสมัยได้ชัดเจน ไม่โน้มเอียงไปสู่ข้อสรุปทางลบแบบพวกต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านโลกาภิวัตน์

-ความถี่ของการนำเสนอจุดยืนและท่าทีต่อปัญหารูปธรรมในแต่ละย่างก้าวของการต่อสู้ที่นับวันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาของ"ขั้นยัน"ที่ดำเนินอยู่ และยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ นักคิดปรือปัญญาชนประชาธิปไตย จะต้องไม่ถือว่าการนำเสนอความคิดชี้นำนั้น เป็นแค่พิธีกรรมประจำปี หรือ พิธีกรรมครบครบ 10 ปี แต่จะต้องพร้อมออกมาในช่วงเวลาที่สถานการณ์แหลมคมด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่หวาดหวั่นต่อเสียงวิพากษ์รอบข้าง

-เพิกเฉยปัญหาวิธีการเพื่อออกแบบโครงสร้างรัฐ ที่ไม่เปิดช่องให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งบ่อนทำลายพลังอำนาจของมวลชนผู้รักประชาธิปไตย และใช้มวลชนจัดตั้งที่เป็นผู้รักประชาธิปไตยจอมปลอมเข้ามาเป็นเครื่องมือ

ในเรื่องแรกนั้น แม้เสกสรรจะให้ความสำคัญกับพลังที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทและชนชั้นกลางล่างในเขตเมืองใหญ่ (ซึ่งเป็นจำนวนประชากรจำนวนมากสุดในสังคมยามนี้รวมแล้วประมาณ 37 ล้านคน) ในฐานะหุ้นส่วนอันเหลื่อเชื่อของกลุ่มทุนใหม่ที่มากับกระแสโลกภิวัตน์และอุตสาหกรรม แต่การดูเบาพลังของชนชั้นล่าง หรือรากหญ้าในพลวัตของสังคมไทยซึ่งมีจำนวนตามสถิติทางการ 5 ล้านคน (และจำนวนที่นอกเหนือสถิติหรือมีหนี้ล้นพ้นตัวที่ไม่ระบุตัวเลขอีกประมาณ 5 ล้านคน) เสมือนหนึ่ง"แนวร่วมที่ไร้พลัง" หรือ "เบี้ยในกระดาน"ซึ่งมีคุณค่าต่ำ ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นพลังหนุนและเป็นผู้เล่นที่เสียเปรียบอย่างยิ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ  และเป็นเป้าหมายอ้างอิงเสมอในเมื่อพูดถึงความยุติธรรมทางสังคมที่จะต้องแก้ไข

การต่อสู้ของกลุ่มพลังทางการเมืองทุกกลุ่มใน 40 ปีมานี้ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่พลังมวลรากหญ้าหรือชนชั้นล่าง ไม่ถูกลากจูงเข้ามาสู่ขบวนแถวในฐานะส่วนประกอบของ"มวลชนอันไพศาล" ไม่ว่าจะโดยการจัดตั้ง จ้างวาน การเข้าร่วมโดยสมัครใจ หรือการชี้ชวน แล้วเมื่อมีการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต คนกลุ่มนี้แหละที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่ตกอยู่ในฐานะ "ผู้ไม่อาจแสดงตนเรียกร้องความเป็นธรรม"จากสังคมมากสุดได้

ตัวอย่างของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่หาญกล้าเสียสละชีวิตตนเองกับเผด็จการหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นแบบของจิตใจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชนชั้นรากหญ้าได้โดดเด่น

หากย้อนกลับไปดูผู้ที่เสียสละจากการต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นผ่ายประชาชนหรือฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่เลือดเนื้อและชีวิตของคนในสมาชิกชนชั้นล่างหรือรากหญ้าจะขาดหายไป ไม่นับถึงการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งจะมีคนในสังกัดชนชั้นดังกล่าวเป็นกำลังสำคัญ หรือหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้"อยู่เสมอมาแม้จะไม่อยู่ในฐานะแกนนำหรือกลุ่มชี้ขาดก็ตาม

การประเมินบทบาทและสร้างแนวร่วมเพื่อส่งเสริมให้ชนชั้นล่างหรือรากหญ้าได้แสดงในเวทีต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยในอนาคต รวมทั้งการดึงคนเหล่านี้ออกจากเงื้อมเงาของนักการเมืองแบบเจ้าพ่อ เพื่อให้พวกเขาตระหนักในพลังและอนาคตของตนเอง เป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องไม่ดูเบาและเป็นไปได้ แม้จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตัวแทน หรือชนชั้นล่างบางคนหรือบางกลุ่มดังกล่าว อาจเปลี่ยนสีแปรธาตุได้ หากว่าสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอัตวิสัยและพลวัตส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นได้สำหรับคนในสังกัดทุกชนชั้น

การดูเบาพลังความสามารถจัดตั้งของกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตย ที่อาศัยพลังมวลชนเทียมมาสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างสถานการณ์สร้างเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการกลับคืนด้วยกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเสมอมาในรอบ 40 ปีนี้ นับตั้งแต่กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มวิทยุยานเกราะ ตามมาด้วยลูกเสือขาวบ้าน กลุ่มนักศึกษาเทียมเผาตัวเองสมัยรัฐบาลชาติชาย กลุ่มเกษตรกรเทียม-กรรมกรเทียม รวมทั้งกลุ่มสันติอโศก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มสื่อที่สมคบคิดต่างๆ ซึ่งพลังทั้งเปิดและแฝงเร้นเช่นนี้ สามารถที่จะฉกฉวยโอกาสในการทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยเพลี่ยงพล้ำได้หากเปิดช่องให้

ไม่เพียงเท่านั้น การที่เสกสรรค์ให้น้ำหนักค่อนข้างสูงกับ"การเมืองภาคประชาชน" โดยมองว่าเป็นส่วนร่วมสำคัญในทางออกของประชาธิปไตยไทยนั้น ก็ยังชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทของกลุ่มเอ็นจีโอ และการเมืองภาคประชาชนทั้งหลาย ที่มีบทบาทอย่างสูงในฐานะ"ทนายแก้ต่าง"ให้กับอำนาจนอกระบบในการใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มที่นับแต่ก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า กลุ่มคนที่อ้างตนเองเป็น"การเมืองภาคประชาชน"เหล่านั้น จะเป็นพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับท่าทีต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของเสกสรรค์ เป็นประเด็นอ่อนด้อยที่ผู้เขียนจำต้องวิพากษ์เช่นกัน เพราะเป็นท่าทีที่โน้มเอียงถึงความไม่ไว้วางใจต่อทั้งทุนนิยม และต่อกระแสโลกาภิวัตน์ โดยไม่พิจารณาลักษณะ 2 ด้านของทั้งทุนนิยม และโลกาภิวัตน์

ทุนนิยมในปัจจุบัน แม้จะมีพัฒนาการและธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนไปจากในอดีตมากนัก คือมีทั้งด้านบวกที่สอดคล้องกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์(กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ปัจเจกชนนิยมทางสังคม และการแข่งขันเพื่อเพิ่มศักยภาพของปัจเจกบุคคลและสร้างความมั่งคั่งให้สังคมผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) และมีด้านลบที่น่าสะพรึงกลัว(การเอารัดเอาเปรียบ และการเพิกเฉยต่อผู้แพ้ในการแข่งขัน) ปะปนอย่างแยกกันไม่ออก แต่พลวัตของทุนนิยมซึ่งผ่านวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายร้อยปีมานี้ ไม่เพียงแต่ไม่ได้ทำให้ทุนนิยมล่มสลายดังที่นักคิดทางสังคมพยากรณ์เอาไว้ หากกลับเติบใหญ่อย่างท้าทายมากขึ้นจนสามารถครอบงำกลไกเศรษฐกิจโลกอย่างล้ำลึกในทุกระดับ

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ทุนนิยมได้ผ่านการพิสูจน์นับครั้งไม่ถ้วนชนิดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มนุษย์โลกยังไม่สามารถค้นหารูปแบบทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการสร้างและกระจายความมั่งคั่งแก่สังคม โดยไม่ต้องใช้กระบวนการบังคับและความรุนแรงซึ่งละเมิดต่อเสรีภาพส่วนบุคคลและธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่แตกต่างจากกลไก"มือที่มองไม่เห็น"ของทุนนิยม รวมตลอดถึงการปรับเปลี่ยนพัฒนาการของทุนนิยมที่พ่วงมาตรการใหม่ๆ เพื่อลดความหยาบกระด้างในการแข่งขันด้วย สวัสดิการต่างๆ (สวัสดิการรัฐ หรือประกันสังคม หรือ หุ้นพนักงาน หรือ ฯลฯ) เพื่อลบด้านมืดของระบบด้วยการแบ่งส่วนเกินของความมั่งคั่งมาให้คนที่พ่ายแพ้ในการแข่งขัน โดยยังเหลือช่องทางสำหรับคนที่ต้องการแสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์แบบลองผิดลองถูกเพื่ออนาคต

นอกจากนั้น ทุนนิยมในยุคของสงครามเย็น ได้ถูกสหรัฐฯ ขับเคลื่อนให้ชาติบริวารในเครือข่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำการ ชูธงนำความคิดด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พัฒนาการที่นำเสนอโดยวอลท์ วิทแมน รอสโตว์ (ทฤษฎี 5 ขั้นของการเติบโตของเศรษฐกิจชาติ) ซึ่งเป็นปรัชญาเบื้องหลังนโยบายการพัฒนาด้วยงบประมาณรัฐและการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง โดยไม่ต้องเป็นรัฐสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ซึ่งเปิดช่องส่งมรดกชั่วร้ายให้อำนาจรัฐรวมศูนย์ในชาติกำลังพัฒนา ทำการครอบงำอำนาจเหนือสังคมทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนโลกาภิวัตน์นั้น เป็นกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์แบบ"ข้ามรัฐ" ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลงไป โดยใช้กระบวนการของทุนนิยมเป็นพลังขับเคลื่อน เริ่มต้นจากสร้างความร่วมมือสร้างกติการะหว่างรัฐ (ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี)เพื่อทำให้เกิดการการไหลเวียนของทุนและทรัพยากรที่เอื้อต่อความม่งคั่งของทุน(แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สินค้า และเงินตรา ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อผู้คนและรัฐประชาชาติทั้งหลายในโลก เพราะโลกาภิวัตน์ก็มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเช่นกัน

ความใหญ่โตของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทุนข้ามชาติ หรือสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นถ่ายเดียว แต่ชาติเล็กๆบางแห่งก็เรียนรู้ที่จะฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ดูไบ สโลวาเกีย สโลวีเนีย  ไต้หวัน เกาหลีใต้ และ ล่าสุดชาติใหญ่อย่าง จีน ก็ถือเป็นตัวอย่างรายล่าสุด  ซึ่งสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมโดยไม่ได้รู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติหรือคนในท้องถิ่นแต่อย่างใด เพราะโครงสร้างทางการเมืองของรัฐในชาติเหล่านี้ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับภารกิจของการรัฐมี 2 ประการหลักในระบบทุนนิยมคือ 1) ดูแลทิศทางให้การสร้างและกระจายความมั่งคั่งมีหลักประกัน 2) ให้การอุดหนุนการลงทุนที่กระตุ้นเอกชนให้สร้างความมั่งคั่งในอนาคต  ซึ่งเป็นภารกิจที่พลังประชาธิปไตยจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบอย่างจริงจัง เพื่อ"ลดทอนด้านมืด และ ฉวยโอกาสจากด้านสว่าง"

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เสกสรรค์ไม่อาจปฏิเสธได้คือ การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงทางการเมืองของไทยในอดีตนับแต่ครั้งกรุงสุโขทัยนั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในเพียงลำพัง แต่เชื่อมโยงเข้ากับบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือภูมิภาคในยุคเดียวกันเสมอมา ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่นสุโขทัยและอยุธยาตอนต้นสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นมาได้ เพราะการล่มสลายของมหาอำนาจในกัมพูชายุคอังกอร์ อยุธยาตอนกลางก็รุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงจีนกับอินเดียผ่านช่องแคบมะละกาในยุคตะวันตกเริ่มล่าอาณานิคม ส่วนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบจารีตจตุสดมภ์ของสยามเป็นรวมศูนย์เบ็ดเสร็จแบบรัฐประชาชาติตะวันตก ก็เกิดจากการตอบโต้การคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกที่ยึดครองอาณาจักรโบราณข้างเคียงเป็นอาณานิคมเกือบหมด การเปลี่ยนแปลง 2475 ก็เป็นผลพวงของการล่มสลายของเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งแรก กรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็เชื่อมโยงเข้ากับผลพวงของความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหลังสหรัฐฯฉีกข้อตกลงเบรตตันวูด 2514 และวิกฤตราคาน้ำมันโลกครั้งแรก 2516 กรณี 6 ตุลาคม 2519  ก็เชื่อมโยงเข้ากับความหวั่นกลัวคอมมิวนิสต์หลังจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐหลังสงครามอินโดจีน 2518 ส่วนการปฏิรูปทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เกิดจากปฏิกิริยาของคนในสังคมไทยต่อความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลผสม หลังเหตุการณ์นองเลือด 2535 ต่อการรับมือกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2538-2540  เป็นต้น

นอกจากนั้น โลกาภิวัตน์ในทางการเมืองและธุรกิจ ก็เปิดทางให้พลังประชาธิปไตยและจริยธรรมทางธุรกิจในระดับโลกสามารถ"ข้ามรัฐ"ในการสร้างยับยั้งอำนาจเผด็จการของรัฐและพฤติกรรมของทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ซึ่งช่องทางดังกล่าว นอกเหนือจากการแสวงหาแนวร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระดับสากล แม้จะไม่ครอบคลุมเสียทีเดียว ก็สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพลังประชาธิปไตยในประเทศได้ เช่น กรณีกฎบัญญัติของสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯ ที่จะไม่สนับสนุนการการเงินให้กับรัฐบาลเผด็จการของประเทศคู่ค้า หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีข้อกำหนดลงทาผู้นำเผด็จการที่ปราบปรามประชาชน  หรือ กฎระเบียบของSECของสหรัฐฯที่ห้ามบริษัทมหาชนจดทะเบียนจ่ายสินบนหรือกระทำผิดต่อสิ่งแวดล้อม หรือกดขี่แรงงาน หรืออื่นๆในทั่วโลก และมีบทลงโทษที่รุนแรง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพียงเพราะทัศนคติที่ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์เพียงด้านเดียว

การที่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์มีส่วนขับเคลื่อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เสกสรรระบุว่า "ทำให้รัฐไทยมีพื้นที่น้อยลงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ" หากมองอีกมุมหนึ่ง น่าจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพลังประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนให้อำนาจรัฐไทยที่รวมศูนย์และไม่ได้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมมายาวนาน เกิดการเปลี่ยนแปลงสนองตอบพัฒนาการสังคมซึ่งมุ่งไปสู่สังคมพหุนิยม ซึ่งมี"ความหลากหลายของผลประโยชน์ ความแตกต่างทางความคิด สภาวะทางจิต และวิถีชีวิตดำเนิน" เพื่อออกแบบรัฐสยามใหม่ ที่สนองตอบต่ออนาคตของผู้คนสังคมด้วยการกระจายอำนาจ สร้างกฎระเบียบใหม่ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ด้านสว่างของทุนนิยมแสดงพลังออกมาในรูปของ"สังคมกำกับรัฐ" แทนที่จะปล่อยให้กลไก"รัฐควบคุมสังคม" และขับเคลื่อนพาสังคมลงเหวไปสู่ทิศทางที่"ถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์กดดันให้เมินเฉยต่อชนชั้นที่เสียเปรียบมากขึ้น" หรือ "อำนาจในการจัดการสังคมถูกโอนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่  และรัฐเองก็กำลังถูกแปรรูปดัดแปลงให้รับใช้เฉพาะชนชั้นนายทุน" ถ่ายเดียว

กรณีที่เสกสรรชี้ให้เห็นถึงการถดถอยของสหภาพแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเขาอ้างว่า "ถูกควบคุมเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่" กระทั่งหมดสภาพในการเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมกร จนยากที่พลังกรรมกรจะเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีคำถามเช่นเดียวกันว่า เป็นข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะในโลกปัจจุบันนั้น "ลัทธิสหภาพแรงงาน" ได้ลดทอนพลังและความน่าเชื่อถือในสายตาของชนชั้นกรรมกรทั่วโลกอย่างรุนแรง (ยกเว้นบางประเทศในสหภาพยุโรปเช่น เยอรมนี หรือ อังกฤษ ซึ่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จำเพาะ) เนื่องจากสภาพและเงื่อนไขของการจ้างงานในระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอย่างมาก เช่น เงื่อนไขการจ้างงานระหว่างภาคการผลิต และภาคบริการ จนกระทั่งไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาสหภาพแรงงานแบบเดิมอีกต่อไป อีกทั้งความหลากหลายของวิชาชีพและภารกิจในการทำงาน ก็มีส่วนทำให้การรวมตัวกันของคนงานในรูปแบบสหภาพแรงงานลดความสำคัญลงไป

ประการต่อไป ข้อเท็จจริงที่ว่า การปรากฏตัวแสดงจุดยืนของปัญญาชนประชาธิปไตยของเสกสรรค์ในแต่ละครั้งนั้น มีความถี่ต่ำเกินไป (ไม่นับถึงท่าทีที่ไม่ชัดเจนของเขาเองในหลายครั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของพลังประชาธิปไตย) เกินกว่าจะสร้างพลังในการชี้นำที่เป็นพลังรูปธรรมให้กับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ เพราะดังที่ทราบกันดี นับตั้งแต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน พลังประชาธิปไตยกับพลังฝ่ายต่อต้าน ได้พัฒนาการต่อสู้ขึ้นมาอยู่ในระดับ"ขั้นยัน"(ดังที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไว้ใน ภารกิจใหม่ในการเริ่มต่อสู้ขั้นยัน, ศิวะ รณยุทธ์, สิงหาคม 2555) ซึ่งยังดำเนินอยู่ และยังไม่รู้ผลแพ้ชนะเบ็ดเสร็จ ทำให้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภารกิจของปัญญาชนประชาธิปไตย ต้องแสดงท่าที และนำเสนอจุดยืนต่อปัญหารูปธรรมในแต่ละย่างก้าวที่นับวันจะเข้มข้นและถี่กระชั้นมากขึ้น เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ที่แหลมคมด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่หวาดหวั่นต่อเสียงวิพากษ์รอบข้าง โดยต้องไม่ถือว่าการนำเสนอความคิดชี้นำดังกล่าว เป็นแค่พิธีกรรมประจำปี หรือ พิธีกรรมครบครบ 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งในบางกรณี อาจะเป็นแค่"คำบอกเล่าถึงอดีตที่ผ่านเลย"อย่างเปล่าประโยชน์

ผู้เขียนเชื่อว่า พลังปัญญา บารมี  ความกล้าหาญทางจริยธรรม และศักยภาพที่ยังเต็มเปี่ยมของเสกสรรค์จะสามารถสนับสนุนให้พลังประชาธิปไตยสามารถช่วงชิงความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อแผ้วถางประชาธิปไตยและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล หากเขาต้องการที่จะมีส่วนร่วมในขบวนแถวดังกล่าวไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม

ท้ายสุด การที่เสกสรรค์ไม่ได้เสนอทางออกใดๆที่เป็นรูปธรรมเพื่อหาทางออกให้กับสังคมในกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถือเป็นข้อด้อยอย่างสำคัญที่จะทำให้ขบยวนการประชาธิปไตยขาดจินตนาการที่เป็นรูปธรรมสำหรับก้าวเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างแผนที่นำทางเบื้องต้น (โรดแม็พ) สำหรับรัฐสยามในอนาคต ที่สามารถที่ปิดช่องมิให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งบ่อนทำลายพลังอำนาจของผู้รักประชาธิปไตย และใช้มวลชนจัดตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์แย่งชิงอำนาจกลับคืนไป

ผู้เขียนยังคงขอยืนยันอีกว่า ข้อเสนอที่เคยแสดงเอาไว้ว่า การที่รัฐไทยถูกออกแบบให้ขนาดใหญ่ที่รวบอำนาจการนำเหนือสังคมในทุกระดับ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จนถึงปัจจุบัน รวมตลอดจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับนับแต่ พ.ศ. 2504 ที่ทำให้เศรษฐกิจเปิดกว้างอ้าซ่าจนกระทั่งไม่สามารถสร้างตาข่ายนิรภัยรองรับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของทุนนิยมโลกได้เพียงพอ ไม่เพียงเป็นปัญหาทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังมีส่วนทำให้สังคมปริร้าวจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงแบบที่เสกสรรค์กล่าวเอาไว้ ทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็นจากการบริหารจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน ถือเอาประโยชน์ของรัฐเหนือกว่าผลประโยชน์ของมวลชน และท้ายสุด รัฐมีแนวโน้มใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชนได้ง่าย นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเหมารวม

ผู้เขียนได้เคยเสนอเอาไว้ (โมเดลสวิส เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสยาม: กรณีศึกษา เพื่อสร้างสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย, ศิวะ รณยุทธ์, 2554) ว่าสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นโมเดลต้นแบบสหพันธรัฐที่โดดเด่นมากสุดสำหรับอนาคตของสังคมสยาม โดยมีพื้นฐานบนรัฐธรรมนูญอันก้าวหน้าของสหพันธรัฐสวิสที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1848 (ก่อนที่คาร์ล มาร์กซ และเฟรดริก เองเกลส์จะเขียนแถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์อันลือลั่นหลายเดือน) ทั้งในด้านของการสร้างความเป็นธรรมในสังคม การสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติ และการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย เพราะองคาพยพของสังคมเกือบทั้งหมดถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นเอกภาพอย่างเป็นอิสระและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากมีดัชนีความสุขของพลเมืองในระดับหัวแถว รายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าทุกชาติในยุโรปและญี่ปุ่น ค่าเงินสวิสฟรังก์แกร่งแถวหน้าของโลกและผันผวนต่ำกว่าสกุลอื่นๆ เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับสองของโลกโดยที่ไม่มีวัตถุดิบในประเทศ เป็นผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลกโดยที่ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีสถาบันการเงินระดับโลก มีบริษัทข้ามชาติทางด้านยา อาหาร เคมีภัณฑ์ และวิศวกรรมมีชื่อเสียงระดับโลก และที่สำคัญสุดคือ ไม่มีรอยปริร้าวของคนในสังคมที่เกิดจากปัญหาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ 

ความรุ่งโรจน์เหล่านี้ มิใช่ได้มาโดยง่ายดายและสันติ (สวิสเป็นชาติที่อนุญาตให้สตรีได้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นชาติหลังสุดของโลกเมื่อประมาณ 15 ปีมานี้เอง) แต่มีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการต่อสู้อย่างโชกโชนทางกระบวนทัศน์ สังคม และการเมืองถึงเลือดเนื้อ และสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วนตลอดกว่าพันปี ทั้งก่อนหน้าและหลังการเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านสังคมภายใต้โมเดลสวิส ที่ทำการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น กับรัฐบาลกลางให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากรัฐภายนอก  และเพื่อเปิดช่องให้กับเสรีภาพ ยุติธรรม และการจัดสรรทรัพยากรภายในที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมพหุนิยมของสมาชิกในสังคมที่มีหลายชาติพันธุ์ โดยมีโครงสร้างหยาบๆดังต่อไปนี้

1)เส้นทางเพื่อได้มาซึ่งสันติภาพยั่งยืน เกิดจากการต่อสู้อันยากลำบากจากสมาพันธรัฐฟิวดัลที่กษัตริย์นครรัฐครองอำนาจนำ สู่สงครามกลางเมืองจากการปฏิรูปศาสนา สู่รัฐขนาดใหญ่แบบสาธารณรัฐ แล้วจนท้ายสุดท้ายสุดกลับไปสหพันธรัฐมหาชน และนโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่โลกเคารพในศักดิ์ศรีอย่างลงตัวยั่งยืน
2)มวลชนมีบทบาทแข็งขันในการสร้างฉันทามติร่วมว่าต้องการรัฐขนาดเล็กที่มีการถ่วงดุลเหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นโดยไม่จำต้องมีอุดมการณ์ที่ตายตัว ไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างมาก และไม่ต้องการลัทธิชาตินิยมคับแคบ แต่เน้นการมีส่วนร่วม และขันติธรรมของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง

3)โมเดลของรัฐแบบสวิสที่มีโครงสร้างให้ระบอบเศรษฐกิจและกระจายผลประโยชน์ที่ลงตัว การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ก็ลดความเข้มข้นลงโดยไม่กระทบต่อพัฒนาการทางปัญญาอื่นๆของสมาชิกในสังคม

4)โมเดลการสร้างรัฐที่ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองกำลังที่ถ่วงดุลกันระหว่างทหารบ้าน ทหารประจำการ และทหารอาสา ทำให้สวิสเป็นชาติกำลังทหารและอุปกรณ์การรบสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่มีสันติภาพยั่งยืน มีอาชญากรรมต่ำ และมีความยุติธรรมทางสังคมสูง

ข้อเสนอแนะของผู้เขียนที่มีต่อปัญญาชนประชาธิปไตย และอนาคตของรัฐสยาม จากบทวิเคราะห์ปาฐกถาของเสกสรร และธีรยุทธเช่นนี้ อาจจะเข้าข่าย "เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน" ได้เช่นกัน แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ขบวนการประชาธิปไตยไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย

อย่างน้อยที่สุด ความเห็นพ้องกันในหลักการว่า ประชาธิปไตยซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการในตัวเองนั้น ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่า เป็นสิ่งที่เป็นจริงได้ ไม่ใช่ความละเมอฝัน ข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ของ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ (ค.ศ.1688) สงครามกู้เอกราชของสหรัฐอเมริกา(ค.ศ.1776) การปฏิวัติฝรั่งเศส(ค.ศ.1789) การปฏิวัติของเคมาล อตาร์เติร์กในตุรกี(ค.ศ.1923) และซานดินิสต้าของนิคารากัว(ค.ศ.1979) ล้วนยืนยันได้ดีว่า ประชาธิปไตยและความรุ่งโรจน์ของสังคม เป็นสิ่งเดียวกันที่ทำให้สังคมสยามพ้นจากอาการป่วยเรื้อรังนานกว่า 80 ปีแล้วจากเงื้อมมือของ"ผู้ร้ายหลัก" และจะไม่ตกเป็นเหยื่อใหม่ของ"ผู้ร้ายรอง"อีกต่อไปในอนาคต

ประชาธิปไตยแห่งรัฐสยาม สำหรับผู้ที่"ปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม" จงเจริญ!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ปรับ 500 ก่อนปล่อยเนติวิทย์กับพวก หลังชุมนุมปฏิรูปการศึกษา

Posted: 25 Oct 2013 01:17 AM PDT

แนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทย นำโดย 'เนติวิทย์' ถูกจับปรับ 500 ข้อหาใช้รถดัดแปลง ขณะชุมนุมที่ลานพระบรมรูปฯ เรียกร้องปฏิรูปการศึกษา

ภาพจากเฟซบุ๊ก 'Decharut Sukkumnoed'

25 ต.ค.2556 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. แนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยประมาณ 30 คน นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับการปล่อยตัวจาก สน.ดุสิต หลังถูกจับที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะเตรียมเดินขบวนไปกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำรวจตั้งข้อหาใช้รถดัดแปลง ซึ่งทั้งหมดโดนปรับรวม 500 บาท

ปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาหนึ่งในผู้ถูกจับกุม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตำรวจมีความพยายามแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่งคงด้วย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาจากข้อเรียกร้อของแนวร่วมฯ ไม่มีประเด็นทางการเมืองจึงยอมไม่เอาความ แต่ทางกลุ่มตนเตรียมแจ้งความกลับตำรวจในข้อหาใช้รถไม่ติดทะเบียน

ล่าสุดตำรวจได้นำรถตู้จำนวน 2 คันนำนักเรียนนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมาส่งที่กระทรวงศึกษามารับเข้าเพื่อไปยื่นหนังสือ โดยมี สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการออกมารับหนังสือแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กลุ่มดังกล่าวต้องการเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการรูปการศึกษาให้มีความเป็นธรรม รวมถึงจัดสว้สดิการการศึกษาในแบบรัฐสวัสดิการ และยกเลิกกฎระเบียบทางการศึกษาที่โบราณขัดหลักสิทธิเสรีภาพต่างๆ 

 

แถลงการณ์
 
แนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษาผลักดันสภาปฏิรูปการศึกษาไทย
ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖
 
เรียน ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
 
สืบเนื่องจากการที่สังคมไทยได้ตระหนักรู้แล้วว่าปัญหาของชาติในปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการให้การศึกษาของเด็กไทย คนในสังคมยังทราบดีว่ามาตรฐานการศึกษาของไทยมีทิศทางตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลทางสถิติขององค์กรภายในประเทศก็ดี หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ดี  อาจจะไม่เกินจริงนัก ต่อคำกล่าวที่ว่าสภาวะวิกฤตการณ์อันร้ายแรงของประเทศไทยคือความล้มเหลวของระบบการศึกษานี้ อันเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ การเมือง การบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากทั้งผู้บริหารและผู้สนองนโยบาย 
 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พวกเรา นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากหลากหลายกลุ่มหลายสถาบัน ที่กำลังเป็นผู้อยู่ในระบบตามแนวนโยบายของรัฐบาล เช่น สมาพันธ์นักเรียนเพื่อการปฏิวัติการศึกษาไทย กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ  กลุ่มลูกชาวบ้าน และสภาหน้าโดม ได้มีการประชุมหารือและมีมติให้จัดทำข้อเสนอและข้อเรียกร้องไปถึงท่านรัฐมนตรีฯและรัฐบาล โดยข้อเสนอของเราต้องการให้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปการศึกษาไทยขึ้นโดยเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่คล้ายกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ปกติมีบทบาทภารกิจเกี่ยวกับการเสนอนโยบาย แผนมาตรฐานการศึกษาของชาติโดยรับผิดชอบในการดำเนินการและประสานงาน  แต่พบจุดอ่อนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา คือไม่ได้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานอื่นๆนำไปดำเนินการตามแผนงาน เพราะเนื่องจากเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในหลายๆหน่วยงานที่ขึ้นกับสภาการศึกษาโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานสภา  
 
ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยน รัฐมนตรีหรือรัฐบาลความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามแผนพัฒนากระบวน การศึกษาของไทยจึงมักต้องเป็นอันหยุดชะงักไปโดยปริยายทำให้ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นควรว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยที่ตกต่ำย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย นโยบายการแก้ไขปัญหาตอนนี้เป็นเพียงการตอบสนองนโยบายของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าที่จะมุ่งยกระดับคุณภาพ สวัสดิการ และมาตรฐานของการศึกษา สภาปฏิรูปการศึกษาควรประกอบไปด้วยประธานสภาฯที่ต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด เพื่อความคล่องตัวและแสดงถึงการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นสมาชิกสภาฯควรมีจำนวนไม่มากจนเกินไปและต้องประกอบไปด้วยบุคคลทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ ผู้บริหารการศึกษา และนักวิชาการเป็นต้น บทบาทหน้าที่สภาปฏิรูปการศึกษา  คือ รวบรวม กลั่นกรอง และพิจารณาข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องที่มาจากทุกสิทธิทุกเสียงตามระเบียบการ หลังจากนั้นจึงจะนำไปสู่การลงมติเป็นแผนงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่ขั้นปฏิบัติต่อไป
 
สุดท้ายเรามีข้อเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการภายใต้การกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรีฯได้โปรดรับพิจารณาและดำเนินการเพื่อสนองต่อข้อเรียกร้องของเรา โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
ข้อเรียกร้องของนักเรียน
 
1. ต้องมีการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมในทุกพื้นที่โดยให้แต่ละโรงเรียนมีความเป็นอิสระในการบริหารงานภายใน  
2. ให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในการตรวจสอบสถานศึกษารวมถึงในการแสดงทัศนะและกำหนดทิศทางของร่างกฎหมายหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น พระราชบัญญัติทาง    
การศึกษาหรือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ต้องมีการประเมินคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพโดยประเมินจากสุขภาพจิตของผู้เรียนควบคู่ไปกับ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 
4. การตรวจเยี่ยมโรงเรียนของภาครัฐ ควรเป็นไปเพื่อการสำรวจสภาพแวดล้อมทางการศึกษาตามความเป็นจริง ไม่ควรมีการเปิดโอกาสให้มีการจัดเตรียมล่วงหน้า โดยเฉพาะเมื่อมีผู้บริหารเข้าตรวจเยี่ยม อาทิ    
รัฐมนตรีฯไปจนถึงปลัดกระทรวง ควรมีการลงไปตรวจเยี่ยมด้วยตนเองตามโอกาสที่เหมาะสมรวมทั้งให้มีการประเมินคุณภาพภายใน เรื่องการทำงานและจรรยาบรรณของผู้บริหารและครูโดยให้นักเรียนและครูมีส่วนร่วม
5. หลักสูตรการเรียนการสอน ควรเน้นพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์กล้าที่จะตั้งคำถาม แสดงทัศนะของตน สามารถโต้แย้งกับแนวคิดที่แตกต่างได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล 
6. หนังสือและตำราเรียนที่ใช้ควรเน้นให้มีการถกเถียงในประเด็นต่างๆโดยควรเปิดกว้างให้ผู้มีความรู้และ
ประสบการณ์ตรงเข้ามาแสดงความเห็นได้อย่างเสรี
7.จัดการศึกษาที่เน้นไปที่การส่งเสริมทักษะในการดำเนินชีวิตและความเป็นมนุษย์ มากกว่าเน้นจำนวนชั่วโมงเรียนและมุ่งพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพมิใช่เพียงเพื่อสร้างบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน
8. ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้บริหาร ครู และนักเรียน ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา และครูควรเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนในทุกๆเรื่อง
 
ข้อเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา
 
1. เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหาร สามารถทำได้โดยประชาคมคือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งเรียกร้องให้มีตัวแทนนิสิตนักศึกษาสามารเข้าร่วมในสภามหาวิทยาลัย เพื่อรับฟัง
นโยบายตลอดไปถึงมีส่วนร่วมในการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัย
2. เรียกร้องให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นในสังคมได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมอันจะเป็นการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาพัฒนาประเทศชาติในอนาคต 
3. วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีใน โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชน อันขัดต่อหลัก
กฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ควรมีการยกเลิกและควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจนทั้งผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบ
4. ควรสนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาในอัตราส่วนที่มากกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพวิชาการไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ตร.วอน สถานบันเทิงงดการละเล่น 15 วันไว้ทุกข์พระสังฆราชฯ

Posted: 25 Oct 2013 12:30 AM PDT

25 ต.ค.2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเนื้อหาระบุว่า  เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ถวายความอาลัยด้วยการลดธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัว ได้ร่วมถวายความอาลัย โดยพร้อมเพรียงกัน จึงให้ดำเนินการดังนี้

1.ให้ทุกหน่วยงานลดธงลงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ต.ค. 2556

2.ให้ข้าราการตำรวจและครอบครัวแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.- 8 พ.ย. 2556และอธิษฐานถวายพระพร ตามที่สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชได้เผยแพร่ไว้

3.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ให้งดเว้นการละเล่น การแสดงบันเทิงและให้ร่วมถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.- 8 พ.ย. 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น