โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนา: ปฏิรูปการศึกษาไทย รัฐสวัสดิการคือทางออก?

Posted: 26 Oct 2013 09:33 AM PDT

ชี้น่าเป็นห่วงเรื่องเด็กเลิกเรียนกลางคันเกือบ 50% ปัญหาคุณภาพครูผู้สอน ไปจนถึงระบบอำนาจนิยมในการศึกษา ด้านแนวร่วมนร.นศ.ผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยแถลงขอให้ทีนิวส์ขอโทษที่ลงข่าวบิดเบือน มิเช่นนั้นจะฟ้องกลับด้วยพ.ร.บ. คอมพ์
 
26 ต.ค. 2556 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดม จัดงานเสวนาในหัวข้อ "การศึกษาไทย รัฐสวัสดิการคือทางออก?" โดยมีวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาเข้าร่วมการอภิปราย 
 
 
โดยก่อนการเริ่มเสวนา ทางกลุ่มแนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทย ได้แถลงข่าวต่อกรณีการรายงานข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์กรณีการจับกุมกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เมื่อวันที่ศุกร์ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนจากความจริง 
 
ทางกลุ่มระบุว่า เมื่อเวลา 18.42 น. ของวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวการทำกิจกรรมของนักศึกษาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยทางเว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์ โดยมีการพาดหัวว่า "เนติวิทย์" เหิมหนักเปิดเครื่องเสียงดังลั่น ระหว่างปชช.ทำพิธีส่งเสด็จ "พระสังฆราช" ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยในระหว่างการทำกิจกรรมทางกลุ่มนักศึกษาพบว่า ไม่มีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวทีนิวส์เข้ามาทำข่าวเลย เป็นเพียงการนำข้อมูลจากสำนักข่าวอื่นๆ บิดเบือนเท่านั้น  
 
โดยทางกลุ่มได้ชี้แจงว่า ในระหว่างการชุมนุม ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง ทางตำรวจสน.ดุสิตจึงได้เข้ามาล้อมที่รถ และได้แจ้งว่า นักศึกษากลุ่มนี้ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.จราจร และระบุว่าจะมีการจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ความมั่นคง รวมถึงข้อหาการดัดแปลงรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ต่อมาพบว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ทำให้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม นักเรียนนศ. ที่ไปชุมนุมทั้งหมดถูกปรับรวมกันเป็นจำนวน 500 บาท  
 
ทางกลุ่มย้ำว่า การเผยแพร่ข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์ไม่เป็นความจริงและเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และได้เรียกร้องให้สำนักข่าวทีนิวส์ทำการขอโทษกลุ่มนักเรียนนักศึกษา มิเช่นนั้น ทางกลุ่มจะดำเนินคดีฟ้องร้องสำนักข่าวทีนิวส์ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14  ในข้อหาการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  
 
น่าห่วงนักเรียน-นศ.ตกหายระหว่างทาง
 
เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  กล่าวว่า ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐพยายามจะเพิ่มเงินอุดหนุนการศึกษา พบว่า ในระดับมัธยม ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20 แรกของคนรวยที่สุด และร้อยละ 20 ของคนจนที่สุดในประเทศ ยังไม่ห่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามในระดับอุดมศึกษา ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20 แรกและสุดท้ายห่างกลับห่างออกกันไปเรื่อยๆ 
 
อย่างไรก็ตาม ในระดับมัธยมยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐสวัสดิการอาจจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักทีเดียว คือเรื่องของการเรียนจบการศึกษา และจำนวนของการเลิกกลางคันระหว่างเรียน ยังไม่มีการเก็บสถิติในระดับนี้อย่างเป็นทางการ แต่พบว่าช่วงม.สามและปวช.จะเกิดการหล่นหายไประหว่างทางมากที่สุด หากเปรียบเทียบคร่าวๆ จากนักเรียนที่เข้าเรียนชั้นประถม 1 จำนวน 50 คน มีเพียง 28 คนเท่านั้น ที่จบการศึกษาในชั้น ม.6 หรือปวส. ปัญหานี้จึงน่าเป็นห่วงและต้องแก้ให้ได้
 
อย่างไรก็ตามในเชิงอุดมการณ์เอง การศึกษาไทยก็ยังมีปัญหาอยู่ ในแง่ที่สถาบันการศึกษายอมรับการจัดการศึกษาจากรัฐ หรือโครงสร้างส่วนบน คือยอมรับอะไรก็ตามที่รัฐประทานมาให้ ถือว่าเป็นบุญคุณ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ให้การศึกษา ซึ่งยังมีความคิดว่าการให้การศึกษาเป็นบุญคุณ ซึ่งขัดกับแนวคิดเรื่องของรัฐสวัสดิการ 
 
นอกจากนี้ เดชรัตยังเล่าถึงประสบการณ์รัฐสวัสดิการของประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเมื่อเทียบกับของไทยแล้วชี้ให้เห็นว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่เพียงแค่การเสียภาษีจากประชาชนและได้ของฟรีจากรัฐเท่านั้น แต่รัฐสวัสดิการในยุโรปจะมีลักษณะเป็น "สังคมนิยมโดยวัฒนธรรม" ซึ่งหมายถึงการที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ รู้สึกว่าเป็นหน้าที่และวัฒนธรรมที่จะต้องให้ความดูแลประชาชน มีวัฒนธรรมที่ผู้แพ้ไม่ถูกคัดออก แต่จะถูกฝึกฝนให้มีความสามารถเท่าๆ กับผู้ชนะ นอกจากนี้ เขายังเล่าว่า นักศึกษาเดนมาร์คยังได้รับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐด้วย 
 
มองปัญหาหลักคือคุณภาพครูผู้สอน
 
ปิยรัฐ จงเทพ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนไทยที่ยังนับว่าน้อยอยู่มาก โดยอ้างสถิติการเข้าเรียนของนักเรียนไทย ปี 2541 มีจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 50 คน แต่เมื่อถึงม. 3 เหลือเพียง 28 คน ในขณะที่สถิติปี 2540 มีนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 1 ล้าน 1 แสนคน  แต่มีเพียง 8 แสนคนเท่านั้น ที่สามารถจบการศึกษาในชั้นม. 3
 
มีการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวจากสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนที่เรียนไม่จบนั้นมีปัญหาจากด้านการเงิน ต้องออกจากการเรียนกลางคันเพื่อไปช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน หรือไม่มีเงินส่งเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่า ในปี 2540 มีนักเรียนเข้าถึงการศึกษา 65% แต่ในปี 40 กลับลดลง เหลือเพียงร้อยละ 60% เท่านั้น
 
ปิยรัฐมองว่า ปัญหาหลักๆ ของระบบการศึกษา มาจากคุณภาพของครูที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ใครก็ได้มาเป็นครู ไม่ได้มีการคัดเลือกที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ มหาวิทยาลัยอย่างมศว. ที่เคยให้ความสำคัญกับการสร้างครูโดยเฉพาะ ก็ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน
 
นอกจากนี้ นอกจากรัฐสวัสดิการจะสามารถช่วยในแง่การเข้าถึงการศึกษาได้แล้ว รัฐสวัสดิการยังมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้วย อย่างประเทศในตะวันตกที่มีรัฐสวัสดิการด้านสาธารณสุข เช่น มีการบังคับให้แม่ต้องฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้และการศึกษาของประชากรในสังคมได้ 
 
ต้องพัฒนาอาชีวะ,พาณิชย์ รองรับความสามารถที่หลากหลาย
 
อั้ม เนโกะ นศ. คณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้รณรงค์เรื่องการให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเรียนครุศาสตร์มา ในวิธีการเรียนการสอน มีแนวคิดที่ให้ควรให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพตามที่ตนเองสนใจ แต่ในความเป็นจริงของประเทศไทย ยังเป็นระบบการให้การศึกษาตามยถากรรม คือไม่มีการพัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตนเองจริงๆ ยังมีการเป็นไปตามแบบแผน ว่าจบประถม มัธยม เข้ามหาวิทยาลัย และรับปริญญา นี่เป็นการจัดความศึกษาที่ให้ความสำคัญกับมิติเดียว
 
เธอกล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีนักศึกษาที่เรียนในระดับอุดมศึกษามากเกินไป ในขณะที่คุณภาพกลับลดลง ในขณะเดียวกันประเทศในยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี มีวิทยาลัยดนตรี การเต้น รวมถึงระดับหลักสูตร diploma หรือ certificate ที่รองรับการสร้างคนที่มีความหลากหลาย ในสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพ วิชาการ หรือเชิงพาณิชย์ เป็นต้น 
 
"ทุกวันนี้ เรามองเด็กพาณิชย์ ในแง่ลบว่า เป็นสก๊อย เป็นพวกที่ไม่สามารถเรียนต่อมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยได้ แต่สิ่งที่รัฐควรทำคือเอางบประมาณไปพัฒนาวิทยาลัยเฉพาะด้านให้เท่าเทียมกัน ไม่ควรมองว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะเป็นอนาคตของชาติได้แต่เพียงผู้เดียว" 
 
อั้มกล่าวว่า มีการเสนอว่าให้แก้ปัญหาการศึกษาไทยที่แบบเรียน เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เรื่องของชาติเต็มไปหมด มีแต่เรื่องของสถาบันกษัตริย์ แต่กลับไม่มีเรื่องของปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม หรือประวัติศาสตร์ของประชาชนในแบบเรียนเลย นี่เป็นการสร้างกลไกความเชื่อแบบที่รัฐไทยต้องการที่จะให้เป็น และอยู่ภายใต้ระบบคิดที่มีปัญหา
 
เธอเสนอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการศึกษาเมืองไทย ต้องพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาของสถานะสถาบันกษัตริย์ด้วย หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของสถาบันกษัตริย์ จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ที่รองลงมาได้เลย ถ้าจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพียวๆ แบบพูดมาเป็นสิบปี อย่างนี้ก็ไม่เปลี่ยน ตราบใดที่ยังมีตำราเรียนที่ดีแค่ไหน แต่หากอุดมการณ์เรื่องสถาบันชาติ ศาสนา กษัตริย์ยังคงครอบงำอยู่ คนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน ยังมีการเลือกคัดจัดสรรข้อมูลโดยรัฐให้ประชาชนได้รับรู้ ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแกนกลางของการเมืองไทย ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้เช่นกัน 
 
สิ่งสำคัญของเรื่องการศึกษาคือ การที่เราสามารถคิดอย่างตั้งคำถาม เชิงวิพากษ์ต่อชุดความรู้นั้น ว่ามีปัญหาอย่างไรด้วยการใช้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นชุดความรู้ของตะวันตก หรือของเราเอง เพื่อให้เราเรียนรู้ ไม่ใช่คิดว่าเราเป็นชาติที่ดีเลิศที่สุดและไม่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองไปไหนอีก 
 
การกดขี่ในสังคมสะท้อนการขดขี่ในโรงเรียน
 
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล  สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติ เห็นด้วยกับการมองปัญหาการศึกษาผ่านมุมมองของชนชั้น คือมุมมองผู้ปกครอง และชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ แม้จะมีความก้าวหน้าของสังคมขนาดไหน แต่ก็ยังมีการกดขี่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม รวมถึงในระบบการศึกษาด้วย 
 
เนติวิทย์เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน แต่ไม่ได้เป็น เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง จึงต้องยอมสละสิทธิ์ตามกฎของโรงเรียน และทางโรงเรียน ก็ลดตำแหน่งให้มีแค่รองประธานนักเรียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลับมีการยุบสภา เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากพวกครูไม่พอใจที่ตนเองได้รับเลือกเป็นประธาน จากเดิมที่ตนเองจะได้เป็นกรรมการ ก็เลยไม่ได้เป็น จึงหันมาอ่านหนังสือในห้องสมุด จัดกิจกรรมเสวนา อ่านหนังสือ ฉายหนังในโรงเรียน และรวบรวมครูที่หัวก้าวหน้าไว้ได้จำนวนหนึ่งในเครือข่าย 
 
เขาเล่าวว่า ตอนนี้โรงเรียนจะมีการสร้างอนุเสาวรีย์รัชกาลที่ห้า มีตนคนเดียวที่คัดค้าน เพราะต้องให้สถาบันการศึกษาเป็นที่ที่เอื้อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ห้า ต้องสนับสนุนให้มีการวิจารณ์ร.ห้า ไม่ใข่ส่งเสริมให้รัก นี่คือสภาพของการเมืองไทยที่สะท้อนลงมาถึงในโรงเรียน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Posted: 26 Oct 2013 05:31 AM PDT

"การจ่ายเงินเยียวยาไม่อาจมองว่าเป็นการให้ความยุติธรรมแต่อย่างใด"

25 ต.ค.56 แถลงเนื่องในวาระครบ 9 ปี เหตุการณ์ตากใบ

จดหมายถึงยิ่งลักษณ์และ ส.ส. จากน้องสาว ฟาบิโอ โพเลงกี เหยื่อกระสุนปี53

Posted: 26 Oct 2013 04:56 AM PDT

"ปฏิกิริยาต่อร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ของอะลิซาเบตตา โพเลงกีผู้สูญเสียพี่ชาย ฟาบิโอ โพเลงกี (Fabio Polenghi) ไปในระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

เรียน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ

ที่ผ่านมาดิฉันมีความเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับแนวทางการสมานฉันท์ของรัฐบาล ซึ่งดิฉันเชื่อว่าแนวทางสู่การสมานฉันท์มักมีความเปราะบาง กล่าวคือไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดยอมรับอย่างเต็มที่และตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองกระทำ ดิฉันไม่เคยเรียกร้องให้มีการลงโทษประหารหรือการคุมขัง และการอภัยโทษเป็นสิ่งที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ในขณะที่ยังไม่มีการสำนึกผิด

การลงคะแนนเสียงเห็นชอบต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการทรยศต่อผู้ที่เคยให้ความไว้วางใจและให้ความหวังกับหลักนิติธรรม ซึ่งจะถางทางนำไปสู่การยุติวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิด เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังและลบหลู่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ เป็นอุปสรรคอย่างแท้จริงต่อการอยู่ร่วมกันและความสมานฉันท์ เป็นการแทงข้างหลังผู้ที่ได้สูญเสียทั้งเลือดและน้ำตาไปแล้ว

เราควรมีจุดมุ่งหมายร่วมกันไม่ว่าจะมาจากการเมืองสีใดที่จะถางทางนำไปสู่การยอมรับและสำนึกผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยมโนธรรมสำนึก การนิรโทษที่ผิดพลาดย่อมสร้างความชอบธรรมให้กับอาชญากรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ เป็นการให้ใบอนุญาตเพื่อสั่งฆ่าซ้ำสอง และเป็นการปิดโอกาสที่ความจริงจะปรากฏขึ้น การนิรโทษเช่นนี้เป็นความผิดพลาดร้ายแรง เป็นทางเลือกที่เลวร้ายสุด


ด้วยความศรัทธาและนับถือ

อะลิซาเบตตา โพเลงกี (Elisabetta Polenghi)"

 

 

ปล. ผมแปลจากโพสต์ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน โดยใช้เว็บช่วย ท่านใดคิดว่าแปลผิดหรือควรแก้ไขอย่างไร ช่วยแนะนำด้วยครับ ขอบคุณครับ"(พิภพ อุดมอิทธิพงศ์)

 

 

ที่มา:  Isa Polenghi

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกับความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

Posted: 26 Oct 2013 04:18 AM PDT

บทนำ

ประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเนื่องจากรัฐสภากำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และประเด็นที่กำลังถกเถียงกันมากในเวลานี้ก็คือ ได้มีการเปลี่ยนเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการจากเดิมที่ร่างพระราชบัญญัติจะนิรโทษเฉพาะประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้นมาเป็นนิรโทษกรรมทั้งหมดนั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตบางประการในมุมของกฎหมายระหว่างประเทศดังนี้

1.ประเภทของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยหลักแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามรัฐตรากฎหมายภายในนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดีมีกฎหมายนิรโทษกรรมสองประเภทที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศคือ "กฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง" ที่เรียกว่า Self-amnesty กฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้มักจะเกิดขึ้นช่วงทำรัฐประหารหรือช่วงที่คณะรัฐประหารกำลังจะลงจากอำนาจอย่างคณะรัฐประหารในอาร์เจนติน่าได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองในปี ค.ศ. 1983 หรือประธานาธิบดี ฟูจิโมริก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเองในปีค.ศ.  1995 หรือในกัวเตมาลา ก่อนที่ประธานาธิบดี Vinico Cerezo จะเข้าดำรงตำแหน่ง คณะรัฐประหารได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเอง สำหรับประเทศไทยนั้นมีความคุ้นเคยอย่างดีกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้ ไม่ต้องย้อนประวัติศาสตร์ให้ยาวไกล "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549" ที่ออกหลังจากวันทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ คือตัวอย่างของกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ Self amnesty

อีกประเภทหนึ่งคือ "กฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่มีข้อยกเว้นหรือไม่มีเงื่อนไข" ที่เรียกว่า Blanket amnesty หรือ Sweeping amnesty ซึ่งพอจะเป็นภาษาไทยให้เข้ากับบริบทตอนนี้ได้ว่า นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง คือไม่มีการแยกประเภทของฐานความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจ ไม่มีการแยกพลเรือนออกจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างของนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขได้แก่ การนิรโทษกรรมในที่ระบุไว้สนธิสัญญา  Lome Peace Agreement ระหว่างรัฐบาลเซียล่า เลโอนกับกองกำลังฝ่ายปฎิวัติที่เรียกว่า Revolutionary United Front of Sierra Leone (RUF)

สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังเสนอให้สภาพิจารณานั้นก็อยู่ในข่ายประเภทนิรโทษกรรมแบบ Blanket amnesty กฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีความชอบธรรม[1] และขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในเอกสารที่ CCPR/C/79/Add.78. ลงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1997 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ตั้งข้อสังเกต กฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบ Sweeping amnesty (คือกวาดรวบทั้งหมดโดยไม่มีการแยกแยะ) เป็นการป้องกันมิให้มีการสืบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง[2]

เขียนมาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงมีคำถามในในว่าแล้วทำไมกฎหมายนิรโทษกรรมของแอฟริกาใต้จึงได้รับการยอมรับมาก คำตอบคือ ก็เพราะว่ากฎหมายนิรโทษกรรมของแอฟริการใต้ไม่มีลักษณะเป็นการนิรโทษกรรมทั้งแบบให้กับตนเองและแบบเหมารวม กฎหมายนิรโทษกรรมของแอฟริกากระทำผ่านคณะกรรมการค้นหาความจริงที่เป็นกลางและอิสระและผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการยอมรับความผิดหรือสำนึกในการกระทำความผิดของตนเองก่อน ฉะนั้น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งจึงไม่อาจเปรียบเทียบกับกฎหมายนิรโทษกรรมของแอฟริกาได้เลย ทั้งในแง่ของ "เจตนารมณ์" "เนื้อหา" และ "กระบวนการ"

2.ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Right: ICCPR)

ผู้เขียนเห็นว่าร่างพระราชนิรโทษกรรมที่ถูกคณะกรรมาธิการแก้ไขนั้นขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อที่ 2 (3) ที่บัญญัติว่า "รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติกานี้รับที่จะ

 (1) ประกันว่า บุคคลใดที่สิทธิหรือเสรีภาพของตนซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้ถูกละเมิดต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลจริงจัง โดยไม่ต้องคำนึงว่าการละเมิดนั้นจะกระทำโดยบุคคลผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่

(2) ประกันว่า บุคคลใดที่เรียกร้องการเยียวยาดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจ หรือจากหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ โดยระบบกฎหมายของรัฐ และจะพัฒนาหนทางการเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรมทางศาล

(3) ประกันว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องบังคับการให้การเยียวยานั้นเป็นผล"

จากตัวบทข้างต้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ทำรายงานCCPR/C/21/Rev.1/Add. 13 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2004[3] ในรายงานฉบับนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเน้นว่ารัฐภาคี ICCPR ต้องทำให้สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองและเป็นผลรูปธรรมอย่างจริงจัง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังเห็นอีกด้วยว่ารัฐภาคีมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดและมีการพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการยุติธรรม ความล้มเหลวที่ไม่ยอมนำผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่ากับเป็นการละเมิด ICCPR นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังย้ำอีกว่านอกจากรัฐจะต้องจัดหามาตรการเยียวยาทางจิตใจให้แก่ผู้เสียหายด้วยโดยมาตรการเยียวยานี้ได้แก่ การขอโทษอย่างเป็นทางการ (public apologies) การจัดพิธีรำลึก (public memorials) การให้หลักประกันว่าจะไม่มีการกระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคต (guarantees of non-repetition) และสำคัญที่สุด การนำผู้กระทำความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมbringing to justice the perpetrators of human rights violations (โปรดดูรายงานข้อที่ 16)

ยิ่งกว่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยังได้เตือนในเรื่องของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองหรือการนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขว่าเป็นการขัดต่อพันธกรณีข้อที่ 2 (3) ของ ICCPR เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาจากกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย (โปรดดู General Comment No. 20   ข้อที่ 15)

นอกจากนี้ ผู้แทนรายงานพิเศษว่าด้วยนิรโทษกรรมของสหประชาชาติคือนาย  Louis  Joinet ได้ทำรายงานและได้ข้อสรุปที่เรียกว่า "หลักการเพื่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยการต่อสู้การไม่ต้องรับผิด" (Set of Principles for the Protection and Promotion of Human Rights through Action to Combat Impunity)[4] โดยในหลักการนี้ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานหลายเรื่องซึ่งสรุปสาระที่สำคัญได้แก่ หลักการข้อที่ 1  สิทธิในการรู้ความจริง (Right to know truth) ซึ่งเป็นการรับรองว่าบุคคลมีสิทธิที่จะรู้เหตุการณ์เรื่องราวในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น หลักการข้อที่ 2 หน้าที่ในการจดจำ (Duty to remember) รับรองความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการกดขี่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางประวัติศาสตร์และจะต้องมีการรักษาความทรงจำนี้ไว้ หลักการข้อที่ 3 เป็นการรับรองสิทธิการรับรู้ของผู้เคราะห์ร้าย (Victim's right to know) ผู้เคราะห์ร้ายรวมทั้งญาติมีสิทธิที่จะได้รับทราบความจริงของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและที่สำคัญที่สุดคือหลักการข้อที่ 19 ซึ่งเป็นหลักการที่เกี่ยวกับการห้ามมิให้ใช้การปรองดองหรือการให้อภัยเพื่อยืดการไม่ต้องถูกรับโทษให้ยาวนานออกไป โดยข้อที่ 19 กำหนดว่า จะไม่มีความยุติธรรมและการปรองดองเกิดขึ้นหากปราศจากการมีสนองตอบอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับความต้องการยุติธรรม องค์ประกอบสำคัญของการปรองดองคือการให้อภัย ซึ่งมีนัยยะว่า ผู้เคราะห์ร้ายจะต้องรู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้กระทำความผิดได้แสดงความสำนึกผิด (There can be no just and lasting reconciliation without an effective response to the need for justice; an important element in reconciliation is forgiveness which implies that the victim knows the perpetrator of the violations and the latter has been able to show repentance.)

กล่าวโดยสรุป ร่างนิรโทษกรรมแบบเหมารวมนั้นทำให้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายเป็นหมัน เพราะไม่มีผู้ต้องรับผิดอีกต่อไปแล้ว

3.ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทุกฝ่ายขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 82 วรรคแรก

ต่อเนื่องจากข้อ 2 เมื่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทุกฝ่ายมีเนื้อหาขัดกับข้อ 2 (3) ของ ICCPR แล้ว ก็ยังขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคแรกอีกด้วย มาตรา 82 บัญญัติว่า " รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่มมือกับนานาประเทศและพึงถือหลักในการปฎิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนปฎิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี…" รัฐธรรมนูญมาตรานี้ย้ำว่าให้ประเทศไทยปฎิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีไทย ประเทศไทยเป็นภาคี ICCPR โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540  ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปฎิบัติตาม ICCPR ด้วย

4.กฎหมายนิรโทษกรรมขัดกับเจตนารมณ์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ไม่มีตัวบทใดของอนุสัญญากรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่กล่าวถึงเรื่องการนิรโทษกรรมไว้โดยเฉพาะ มีข้อสังเกตว่าตอนที่มีการร่างอนุสัญญากรุงโรมนั้นได้มีผู้แทนของรัฐได้เสนอประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาแต่ในที่ประชุมไม่อาจหาข้อสรุปได้ และในที่ประชุมของ Preparatory Commission ก็ไม่อาจหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี นักกฎหมายระหว่างประเทศหลายท่านเห็นว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของอนุสัญญากรุงโรม[5] ที่บัญญัติไว้ในอารัมภบทว่า "Affirming that the most serious crimes of concern to the international community as a whole must not go unpunished and that their effective prosecution must be ensured by taking measures at the national level…." และ "Determined to put an end to impunity for the perpetrators of these crimes…" ฉะนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายโดยรวมถึงบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบกรณีสลายการชุมชุมจนเป็นเหตุให้มีคนตายร่วม 100 ศพนั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของอนุสัญญากรุงโรม

ประเด็นต่อไปมีว่า ประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงโรมแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 ซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.  1969 ข้อที่ 18  บัญญัติว่า รัฐที่ลงนามมีพันธกรณีที่จะไม่ทำให้วัตถุประสงค์ (Object) หรือเป้าหมาย (Purpose) ของสนธิสัญญาเสื่อมเสียไปเมื่อรัฐได้ "ลงนาม" สนธิสัญญาแล้ว[6]

บทส่งท้าย

หากต้องการให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมๆนั้นจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้เขียนยังมองไม่เห็นว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะสร้างความปรองดองขึ้นได้อย่างไรในเมื่อ ไม่มีความกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ ไม่มีการนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีการยอมรับหรือรู้สึกสำนึกผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการให้หลักประกันว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นอีกในอนาคต  "การให้อภัย" เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำแต่การให้อภัยนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของ "ความยุติธรรม" (Justice) "ความจริง" (Truth) และ "การสำนึกผิด" (Contriteness) หากกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการปรองดองไม่สามารถทำสามอย่างนี้ให้ปรากฎขึ้นได้ การนิรโทษกรรมก็เป็นเพียงการปัดฝุ่นซุกใต้พรมเท่านั้น โดยสังคมไทยมิได้เรียนรู้และจดจำบทเรียนอะไรเลยจากความขัดแย้งที่กัดกินมาเป็นเวลาหลายปี




[1] Vera Vriezen, Amnesty Majzub, Peace or Justice? Amnesties and the International Criminal Court Melbourne Journal of International Law, 2002 Justifies?,(United Kingdom: Intersentia, 2012), at 40

[2] CCPR/C/79/Add.78. (Concluding Observations/Comments, para 12

[3] CCPR/C/21/Rev.1/Add. 13 26 May 2004, General Comment No. 31 The Nature of the General Legal Obligation Imposed on States Parties to the Covenant Adopted on 29 March 2004 (2187th meeting)

[4] E/CN.4/Sub.2/1997/20

[5] Scott W. Lyons, Ineffective Amnesty: The Legal Impact on Negotiating the End of Conflict, WAKE FOREST LAW REVIEW, at 832; Michael P. Scharf, The Amnesty Exception to the Jurisdiction of the International Criminal Court, 32 CORNELL INT'L L.J. 522, (1999); Vera Vriezen, Amnesty Majzub, Peace or Justice? Amnesties and the International Criminal Court Melbourne Journal of International Law, 2002 Justifies?,(United Kingdom: Intersentia, 2012), at 106 ;

[6] ข้อบทที่ 18 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา บัญญัติว่า "A State is obliged to refrain from acts which would defeat the object and purpose of a treaty when:

(a) it has signed the treaty……"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนากับการเมืองแบบสันติอโศก

Posted: 26 Oct 2013 04:11 AM PDT

โดนัลด์ เค.สแวเรอร์ ได้อ้างแนวคิด "พุทธศาสนาแบบโปรเตสแตนท์" (protestant Buddhism) ของกานะนาถ โอบีเยเสเกรี ที่มีต่อ เอ.ที.อารีย์รัตน์ นักปฏิรูปชาวพุทธผู้ก่อตั้งขบวนการสรรโวทัยสมาทานในศรีลังกา และอนาคาริกธรรมปาละ นักตรรกวิทยาทางพุทธศาสนาชาวสิงหลว่า ทั้งสองท่านนี้เป็น "ชาวพุทธโปรเตสแตนท์" เพราะรับอิทธิพลจากทรรศนะของโปรเตสแตนท์สมัยใหม่ในยุโรปตะวันตก ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความศาสนา โดยสแวเรอร์มองว่า ชาวพุทธแบบโปรเตสแตนท์อาจเป็น "จารีตนิยมใหม่" (Neo-traditionalism) ซึ่งนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ เช่นธรรมปาละในศรีลังกา หรือ "สันติอโศก" ในไทยก็ได้ หรืออาจเป็น "นักปฏิรูป" อย่างเช่นอารีย์รัตน์ในศรีลังกา และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ในไทย (โดนัลด์ เค.สแวเรอร์.การสร้างสรรค์สังคมใหม่แบบพุทธตามทัศนะของ ส.ศิวรักษ์, หน้า 58-59)

จากการวิเคราะห์ของสแวเรอร์ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความเป็น "จารีตนิยมใหม่" ที่เน้นการใช้เหตุผลในการตีความพุทธศาสนา และนำแนวปฏิบัติเดิมมาปรับใช้ใหม่ของสันติอโศก คือ การตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการเมืองว่าพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ และพระสงฆ์กับชาวพุทธควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อให้การเมืองสะอาดขึ้น มีศีลธรรมมากขึ้น ซึ่งที่จริงการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองทำนองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า พุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) ก็ถูกตีความสนับสนุนการเมืองในระบอบราชาธิปไตยมาก่อนแล้วทั้งนั้น


ต่างแต่ว่าสันติอโศกแสดงออกว่า กำลังตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนการก่อตั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ พระสงฆ์แสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆได้ เช่น การแสดงทัศนะทางการเมือง การเคลื่อนไหว หรือชุมนุมทางการเมือง นี่คือ "ความใหม่" ในการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองของสันติอโศก

แต่ "ความเก่า" ของสันติอโศก คือการยึดถือวินัยสงฆ์และศีลพรตอย่างเคร่งครัด และอ้างอิงใช้ในทางสังคมการเมืองอย่าง "ตายตัว" เช่น อ้างการกินมังสวิรัติเป็นวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องของชาวพุทธ อ้างศีล 5 ต่อต้านการที่รัฐจะออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง หรืออ้างศีลธรรมพุทธศาสนาต่อต้านการเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย เป็นต้น (ในแง่นี้การอ้างศีลธรรมทางศาสนาแบบสันติอโศกมีลักษณะยืนยัน "กฎศีลธรรมแบบตายตัว" คล้าย "คาทอลิก" มากกว่าโปรเตสแตนท์)

ส่วนในเชิงการจัดองค์กรสังฆะ "ความใหม่" ของสันติอโศกคือ การประกาศตนเป็นขบถไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งสันติอโศกมองว่าเป็น "เผด็จการ" มีการตีความ "วินัยสงฆ์" ขัดแย้งกับมหาเถรสมาคม ส่งผลให้มีการดำเนินคดี และศาลตัดสินให้สันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย แต่ในทางพระธรรมวินัยเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสมณะสันติอโศกไม่ใช่พระภิกษุในพุทธศาสนา

การไม่ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคมทำให้สันติอโศกเป็นองค์กร "สังฆะใหม่" ในสังคมไทย คือเป็นองค์กรสังฆะที่ไม่ขึ้นต่อรัฐ หรือพูดได้ว่าพุทธศาสนาแบบสันติอโศกคือ "พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ" ในสังคมไทย

ในแง่ปรัชญาองค์กร สังฆะสันติอโศกอาจมีความใหม่ในเชิงเป็นศาสนาทางเลือกที่เสนอวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบ "บุญนิยม" ต้านทุนนิยม บริโภคนิยม แต่ "ความเก่า" ของสันติอโศกคือ แม้จะปฏิเสธมหาเถรสมาคม แต่สันติอโศกก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจากทหาร (หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ "นายทหารผู้มากบารมี"  อาจเป็นเรื่องยากที่สันติอโศกจะรอดและเติบโตมาได้) มาโดยตลอด อีกทั้งยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างเข้มข้น เห็นได้จากการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง เป็นต้น

ภาวะ "ย้อนแย้ง" (paradox) ในตัวเองของสันติอโศกดังกล่าวมานี่เอง ที่ทำให้ศาสนากับการเมืองแบบสันติอโศกมีความย้อนแย้งในตัวเองไปด้วยอย่างซับซ้อน เช่น เรียกร้องประชาธิปไตย แต่สนับสนุนการทำรัฐประหารรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก และอ้างศีลธรรมแบบ "สองมาตรฐาน" คือ อ้างศีลธรรมยกย่องความดีงามสูงส่งของสถาบันกษัตริย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ พร้อมๆ กับอ้างศีลธรรมตัดสินความเลวร้ายของนักการเมืองที่ตรวจสอบได้

การอ้างศีลธรรมแบบ "สองมาตรฐาน" ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ เป็นการสร้าง "ความไม่เป็นธรรม" ในการ "ตัดสินทางศีลธรรม" (moral judgment) อันเป็นรากฐานของทัศนะทางการเมืองแบบ "ขาว-ดำ" หรือ "เทพ-มาร" และนำไปสู่การอ้าง "เทพ" มากำจัด "มาร" ด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ ซึ่งขัดต่อ "ความเป็นประชาธิปไตย" ที่พวกตนเรียกร้อง เพราะประชาธิปไตยนั้นต้องถูกต้องทั้ง "วิถี" และ "จุดหมาย" วิถีที่ผิดอย่างรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ จะทำให้บรรลุจุดหมาย คือความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมไม่ได้

ความขัดแย้งในตัวเองของสันติอโศกยังมีอีกมาก เช่น ชูธง "อหิงสา-สันติ" แต่กลับสนับสนุนโครงสร้างอำนาจนิยม และอุดมการณ์ชาตินิยมล้าหลัง สนับสนุนรัฐประหารซึ่งเป็น "วิธีการรุนแรงในตัวมันเอง" ที่อยู่ตรงข้ามกับอหิงสา-สันติ อ้างศีลธรรมนำการเมืองตลอดเวลา แต่กลับอ้างศีลธรรม "แบบสองมาตรฐาน" ที่แสดงถึงการขาดศีลธรรมพื้นฐานในทางสังคมการเมืองของ "ผู้อ้าง" เอง คือขาด "ความยุติธรรม" หรือ "ความเที่ยงตรง" หรือ "การประพฤติธรรมอย่างสุจริต" ในการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรมและศาสนาในทางการเมือง

กล่าวโดยสรุป ลัทธิจารีตนิยมใหม่แบบสันติอโศก อาจจะเป็นศาสนาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธบริโภคนิยม แต่ถ้าเข้ามาสู่การเมืองระดับชาติโดยยึดอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ชาตินิยมล้าหลัง และใช้ "สองมาตรฐานทางศีลธรรม" ตัดสินถูก ผิดทางการเมือง พุทธแบบสันติอโศกย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้อง "ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ให้ดำรงอยู่ต่อไป


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (26 ต.ค.-1 พ.ย.2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ลิ้นยาว

Posted: 26 Oct 2013 04:01 AM PDT

โอ้อกเอ๋ยอาดูรอาลัยนัก
กี่ครั้งจักต้องสิ้นชีวินสนอง
กี่ร่างไร้วิญญาณ์มารวมกอง
ในการร้องเรียกหาประชาธิปไตย

ฆาตกร ซ่อนหน้า ที่ฆ่าราษฎร์
อย่างอุกอาจ กลางเมืองหลวง เป็นข่าวใหญ่
คนทั้งโลก เห็นแล้ว ล้วนตกใจ
โอ้ เมืองไทย  เมืองพุทธ ช่างสุดโหด

ฆ่ากี่ครั้ง กี่ครั้ง ยังลอยหน้า
มิอาจหา ฆาตกร มาลงโทษ
ความเคียดแค้น ชิงชัง ชนยังโกรธ
นิรโทษกรรมสิ้น  ช่างลิ้นยาว

ลิ้นตวัดถึงใบหู ดูไม่แปลก
ลิ้นสองแฉก ฉกถึงฟ้า เวหาหาว
กวาดทุกสิ่ง ลบความจริง  ลบทุกคราว
ล้างผิดฉาว ที่ฆ่าราษฎร์ ชาติเดียวกัน

จะนิรโทษ ความโหดเหี้ยม อีกกี่ครั้ง
จะกลบฝัง  ความผิดร้าย ให้เหหัน
จะตลก โกหกโลก  อีกกี่วัน
จะห้ำหั่น ประชาชน อีกกี่ครา

ประชาชน ทนทุกข์ มาทุกหน
จลาจล ละเลงเลือด เชือดเฉือนฆ่า
ฆาตกร ถูกปกป้อง ตลอดมา
คนซ่อนหน้า นิรโทษ ตลอดไป

หมดเวลา ประชาชน จะทนต่อ
จะไม่รอ ฆาตกร  กลับมาใหญ่
ประชาชน จะรุดหน้า เดินต่อไป
ฆาตกรหน้าไหนไหน ต้องรับทัณฑ์...
.........................................

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ชลอ เกิดเทศ' เข้าเกณฑ์พักโทษหลังยื่นขอครั้งที่ 3

Posted: 26 Oct 2013 03:59 AM PDT

26 ต.ค. 2556 - มติชนออนไลน์รายงานว่านายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาหลักเกณฑ์คำร้องการพักโทษของนายชลอ เกิดเทศ ผู้ต้องขังคดีจ้างวานฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ หลังจากได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษของเรือนจำ และส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์กลั่นกรองตรวจสอบคุณสมบัติ จากนั้นจึงส่งเรื่องมายังคณะกรรมการพักการลงโทษ ที่มีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนอีกกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมกันพิจารณา เพื่อส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณาอีกครั้ง สำหรับนายชลอนั้นได้ยื่นเรื่องมาแล้ว 2 ครั้ง แต่คณะกรรมการเห็นว่ายังไม่เหมาะสมและเป็นคดีที่มีความรุนแรงและสะเทือนขวัญสังคม เป็นการพิจารณา ครั้งที่ 3

"นายชลอมีคุณสมบัติพักการลงโทษตรงตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษ หรือ 18 ปี ในโทษจำคุกตลอดชีวิต และนายชลอยังเข้าเงื่อนพิเศษ คือเป็นนักโทษชราอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย ที่ระเบียบระบุว่าสามารถพักการลงโทษได้ตามเงื่อนไข อีกทั้งคดีจบสิ้นแล้ว คณะกรรมการจึงมีความเห็นสมควรให้พักการลงโทษ"

นายวสันต์ สิงคเสลิต ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง กล่าวว่า นายชลอได้ออกจากเรือนจำกลางบางขวางช่วงบ่าย วันที่ 25 ตุลาคม มีลูกสาวมารอรับ แต่ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติในเขตพื้นที่ที่แจ้งความจำนงไว้ทุกๆ 1 เดือน จนกว่าจะครบตามเงื่อนไข โดยปกติแล้วก็ประมาณ 3-5 ปี

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานสันกำแพงยื่นหนังสือถึง ‘เยาวภา วงศ์สวัสดิ์’ ช่วยเหลือคนงานถูกละเมิดสิทธิ์

Posted: 26 Oct 2013 02:35 AM PDT

ตัวแทนคนงานบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกเลิกจ้างและถูกพักงานยื่นหนังสือถึง ส.ส.เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย วอนช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่คนงานถูกละเมิดสิทธิ

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมาตัวแทนคนงานบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกเลิกจ้างและถูกพักงาน ได้ไปยื่นหนังสือถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย จ.เชียงใหม่ ที่สำนักงานของนางเยาวภา ในอำเภอสันกำแพง โดยมีตัวแทนได้รับหนังสือร้องเรียนของคนงานไว้ ทั้งนี้รายละเอียดของจดหมายร้องเรียน มีดังต่อไปนี้

 

 

วันที่ 25 ตุลาคม 2556

เรื่อง ขอร้องเรียนกรณีบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

เรียน ส.ส.เยาวภา วงศ์สวัสดิ์

สืบเนื่องจากการที่บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบริษัทผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ Pure Handknit และ Neon Buddha ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้มีการพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการไกล่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้

จนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ลูกจ้างได้ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ฯ (ใช้สิทธิตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มีการนัดเจรจา แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งในระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและการเจรจา ทางบริษัทฯได้มีการดำเนินการซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหลายประการ ดังนี้

  1. สั่งพักงานตัวแทนลูกจ้างในการเจรจาต่อรองจำนวน 4 คน และผู้แทนลูกจ้างที่ไปร่วมยื่นข้อเรียกร้อง 1 คน รวมเป็น 5 คน โดยอ้างว่าลูกจ้างดังกล่าวทำตัวกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
  2. เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 10 คนอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องด้วยไม่ยอมเซ็นต์สัญญาใหม่ซึ่งเป็นการลดสิทธิของคนงาน
  3. มีการลดตำแหน่งและโยกย้ายหน้าที่การงานของพนักงาน และตัวแทนในการเจรจา ซึ่งตามกฎหมายทางบริษัททำไม่ได้
  4. มีการพยายามที่จะให้คนงานเซ็นต์ยอมรับสัญญาจ้างใหม่ หากใครไม่ยอมเซ็นต์ก็จะถูกเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย ด้วยข้อหาความผิดเล็กน้อยทางบริษัทก็ออกใบเตือน เมื่อใบเตือนครบ 4 ใบก็เลิกจ้าง
  5. บังคับให้คนงานเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิมที่ทำงาน 7.5 ชม. เป็นทำงานวันละ 8 ชม. ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม
  6. นอกจากนี้ยังมีการกระทำที่จงใจที่จะจับผิดคนงานด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมากรวมถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณหน้าห้องน้ำ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

พวกเราในฐานะที่เป็นคนงานของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู และตัวแทนในการเจรจาข้อเรียกร้อง จึงเรียนมายังท่าน ส.ส.เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เพื่อช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่พวกเราถูกละเมิดสิทธิในครั้งนี้

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับช่วยเหลือจากท่าน ส.ส. และขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อ่านเพิ่มเติมกรณีคนงานบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น