โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘สุภรณ์’ ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว พร้อมเคลียร์ปัญหาโรงงานยางพาราฯ

Posted: 18 Oct 2013 10:25 AM PDT

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ลงพื้นที่ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ระบุนายกไม่ได้นิ่งนอนใจ มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว พร้อมร่วมประชุมกรณีปัญหาที่จะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา ชี้พร้อมเชิญทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
 
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.56 เวลาประมาณ 09.00 น. นายสุภรณ์  อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งตัวแทนชุมชนบ่อแก้ว (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.) ลงพื้นที่ร่วมประชุมกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
ทั้งนี้ การประชุมในกรณีสวนป่าคอนสาร จังหวัดขัยภูมิ ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงผลการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 และตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.56 ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
จากนั้น นายสุภรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวก่อนที่จะลงตรวจสอบพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ว่า รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยนายกมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในนามตัวแทนของนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการให้ความคุ้มครองประชาชนให้สามารถอาศัยและทำมาหากินในที่ดินไปจนกว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ พร้อมจะรับข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รวมทั้งจะรับข้อเสนอให้มีการคุ้มครองพื้นที่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการประชุมในวันที่ 31 ต.ค.56  นี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันดังกล่าว นายสุภรณ์ได้ร่วมประชุมกรณีปัญหาที่จะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา ตามที่ชาวคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้เข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหา และความไม่โปร่งใสกรณีที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง บนเนื้อที่กว่า 290 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิด้วย
 
นายวิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร ชี้แจงว่าได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อคัดค้านความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมของโรงงานยางพาราฯ มานานกว่า 2 เดือน กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ก.ย.56 ได้มีการชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอครั้งแรก เพื่อทวงถามหนังสือที่ระบุให้มีการทบทวนต่อการอนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานพาราฯ ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 – 15 ต.ค.56 กลุ่มรักษ์คอนสารจึงมารวมตัวชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อทวงสัญญาประชาคม เมื่อวันที่ 30 ก.ย.56 ที่รองผู้ว่าฯ ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ให้คำมั่นสัญญาว่าภายใน 10 วัน จะให้มีการจัดการทำประชาคม กรณีโรงงานยางพาราดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรที่จะมีโรงงานยางพาราฯ หรือไม่
 
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าวว่า เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และแสดงออกในสิทธิด้วยการกำหนดชีวิต ความเป็นอยู่ และเพื่อมาทวงสัญญาประชาคม ทางกลุ่มฯ จึงได้มาร่วมชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค.56 เนื่องจากทางผู้ว่าฯ ไม่ดำเนินตามที่รับปาก
 
นอกจากนั้น ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารยังให้ข้อมูลด้วยว่า จากลำดับเหตุการณ์การเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราของ บริษัทศรีตรังฯ กับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังยังก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการดำเนินการเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน อีกทั้งขั้นตอนกระบวนการขอจัดตั้งโรงงานไม่ครบถ้วน โดยมติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังไม่สมบูรณ์ และเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่
 
นายวิเชษฐ กล่าวว่า ก่อนจะมีการชุมนุมครั้งนี้ ตนเองในฐานะประธานกลุ่มฯ ได้ทำการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ยังได้เดินทางเพื่อขอเข้าพบนายสุภรณ์ ถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่นายสุภรณ์ เดินทางมาตรวจสอบลงพื้นที่ พร้อมให้คำมั่นในความเป็นกลางที่จะจัดให้มีการประชุมร่วมกัน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ สถาบันการศึกษานักวิชาการในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อศึกษาถึงข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะพิจารณาเห็นชอบหรืออนุญาตให้บริษัทเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่
 
ด้านนายสุภรณ์กล่าว่า พร้อมที่จะเรียนเชิญทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งได้มีการลงไปดูพื้นที่ในสถานที่ที่โรงงานจะไปตั้ง เมื่อได้ไปดูข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว และรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้ในส่วนของภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณา ตัดสิน หากมีการก่อตั้งโรงงานแล้วจะเกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน หากไม่มีความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานยางพาราหรือจะยกเลิกการก่อตั้งโรงงานยางพาราจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประชุมโดยให้ประชาชนมีส่วนรวมต่อไป
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.หลายสถาบันร่วมจี้รัฐ ปฏิวัติการศึกษา ย้ำต้องเป็นรัฐสวัสดิการ

Posted: 18 Oct 2013 09:44 AM PDT

<--break->



(18 ต.ค.56) เวลา 10.00 น. กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติการศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาหลายสถาบัน รวมตัวกัน ณ ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระบุว่า วันที่ 18 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประท้วงการศึกษาโลก "Global Education Strike" ซึ่งนักศึกษาทั่วโลกได้ออกมารณรงค์และเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐจัดการศึกษาอย่างเป็นธรรม สำหรับประเทศไทย ทางกลุ่มได้มีส่วนร่วมเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยปีนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 18 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันเรียกร้องรัฐสวัสดิการทางการศึกษาไทย

ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาปราศรัยถึงความสำคัญของการศึกษาว่ามีผลในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจแก่ผู้เล่าเรียนและครอบครัวเพื่อไม่ให้ลำบากเช่นก่อนหน้า รวมไปถึงการเข้าถึงทางการศึกษาในประเทศไทยว่ายังไม่มีความเท่าเทียม แม้จะมีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับแต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริงในเชิงรูปธรรม ทั้งยังสำทับว่าการกู้เงินกองทุนเพื่อการศึกษาคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐและกระทรวงศึกษาธิการ

จากนั้นตัวแทนนักศึกษาประกาศจุดประสงค์การปฏิวัติในครั้งนี้ 2 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อบรรจุการศึกษาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการของรัฐ เหตุเพราะการกระจายรายได้ในประเทศไทยเหลื่อมล้ำถึง 15 เท่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงมีอยู่มาก แต่การศึกษาควรเป็นหนึ่งในสวัสดิการพื้นฐานสำคัญที่รัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมของคนทุกชนชั้น สอง เพื่อผลักดันให้รัฐบาลกำหนดวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันประท้วงการศึกษาโลก "Global Education Strike" เพื่อให้นักศึกษาในประเทศไทยได้มีวาระแลกเปลี่ยนสถานการณ์การศึกษาไทย

กระทั่ง 13.00 น. กลุ่มนักศึกษาได้เคลื่อนขบวนถึงกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการและเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า โดยมี สมบูรณ์ สิมะแสงยาภรณ์ เจ้าหน้าที่ทั่วไปกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับหนังสือ

ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกล่าวเสริมว่า ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการต่อยอดมาจากปีที่แล้วที่เคยยื่นเรื่องไปครั้งหนึ่งแต่ทางกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีการดำเนินเรื่องใดๆ จึงต้องการสานต่อให้เสร็จสิ้นในปีนี้ เพื่อปฏิวัติการศึกษาไทยในทุกๆ ด้าน เช่น หลักสูตร คุณภาพบุคลากร รวมถึงความเป็นธรรมทางการศึกษาแก่ลูกหลานคนจนซึ่งเป็นประชากรใหญ่ของประเทศไทยและต้องการให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ โดยในการดำเนินการ ควรให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการทางการศึกษา

สำหรับอุปสรรคในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ธัชพงศ์ มองว่า คือสถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวอยู่ในขณะนี้ โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ อาจไปขัดกับกฎหมายความมั่นคงของชาติได้ อย่างไรก็ตาม หากการเคลื่อนไหวของแนวร่วมปฎิวัติการศึกษาในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ แนวทางต่อไปที่จะผลักดันการคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและปฏิรูปการศึกษาไทยคือจัดเวทีวิชาการขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วนำไปสู่การแก้ไขในภายภาคหน้า

สำหรับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติการศึกษาไทย ประกอบด้วย แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ, แนวร่วมนักศึกษาลูกหลานเกษตรกร (นศก.), ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD), สหภาพเยาวชนแรงงาน (Young Worker Union), สมาคมยังเติร์กส (Youngturks Thailand), กลุ่มกล้าคิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกหลานเกษตรกร มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกพ่อขุนพิทักษ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มฟ้าใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา, กลุ่มกล้าพยอม มหาวิทยาลัยรังสิต, กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กลุ่มกำแพงแดง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank), เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศีลธรรม ศาสนา และสังคมประชาธิปไตย

Posted: 18 Oct 2013 09:35 AM PDT

บทความว่าด้วยการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยนั้นๆ ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร?

หมายเหตุ: บทความนี้เสนอในการสัมมนาประจำปีครั้งที่ ๑๘ สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยร่วมกับภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง ๗๒ ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม ๓ ชั้น ๓ อาคารมนุษยศาสตร์ ๒ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

ผมจะพูด ๓ ประเด็นหลักๆ คือ ๑) ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นรูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ๒) ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยที่เด่นๆ อย่างไรบ้าง และ ๓) การตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยนั้นๆ ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร แต่ละประเด็นมีรายละเอียดมาก แต่จะพยายามพูดให้กระชับที่สุด

๑. ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการอธิบายหลายแบบ แต่ผมคิดว่าคำอธิบายที่ให้ภาพปัญหาได้ตรงไปตรงมาคือ คำอธิบายที่ว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งระหว่าง "เครือข่ายอำมาตย์" กับ "เครือข่ายทุนนิยมใหม่" ที่นำโดยทักษิณ แต่ละเครือข่ายก็มีแนวร่วมที่สลับซับซ้อน มีมวลชน หรือกลุ่มคนสนับสนุนจำนวนมาก จนกลายเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ "เหลือง-แดง" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งขนาดใหญ่กว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ เครือข่ายทุนนิยมใหม่พยายามผูกโยงตัวเองเข้ากับ "วิถีทางประชาธิปไตย" เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่าพวกเขาจะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ต้อง "ผ่านการเลือกตั้ง" เท่านั้น และพวกเขายังผูกโยงตัวเองเข้ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือคนชั้นกลางระดับล่าง และคนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท ด้วยการสร้าง "การแข่งขันเชิงนโยบาย" และ "ประสิทธิภาพในการบริหาร" ที่เน้นผลงานที่เป็นรูปธรรมขณะเดียวกันพวกเขาก็ผูกโยงตัวเองกับระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้วย

แน่นอน เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่า พวกเขาโกงการเลือกตั้ง ทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายประชานิยมก่อให้เกิดปัญหา การนำประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไรบ้าง กระทั่งถามได้ว่ากลุ่มทุนนิยมใหม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือแค่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ข้อเด่นของกลุ่มนี้ที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ พวกเขายืนยันที่จะ "ต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย" และยืนยัน "การแข่งขันเชิงนโยบาย" ซึ่งเราไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ "ความชอบธรรม" ของการยืนยันที่จะ "ต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตย" ได้ และการยืนยัน "การแข่งขันเชิงนโยบาย" ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เป็นอีกมิติหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยในภาคนักการเมือง

ฉะนั้น ในความคิดของผมสำหรับกลุ่มทุนนิยมใหม่ แม้เขาจะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน แต่เมื่อว่าโดย "หลักการ" แล้ว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สังคมยังสามารถตรวจสอบเขาได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเลือก และประเมินผลงานตามนโยบายที่เขาเสนอได้ ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เขาเลวร้ายอย่างไรก็ยังอิงวิถีทางประชาธิปไตย และประชาชนสามารถใช้ "วิถีทางประชาธิปไตย" ในการวิจารณ์ ตรวจสอบเอาผิดทางกฎหมายได้ ถ้าระบบกลไกการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพก็ยังแก้ได้

ส่วนเครือข่ายอำมาตย์นั้น ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ปลอดจากทุนนิยม เพราะ "ทุนอำมาตย์" ก็อยู่ในระบบตลาดทุนนิยม และอาศัยกลไกอำนาจรัฐในการขยายทุนของพวกตนเองเช่นกัน โดยอาศัยกลไกรัฐขยายทุนมาแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ยุคพลเอกเปรม จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้ถูกตั้งคำถาม ขุดคุ้ย วิจารณ์ตรวจสอบเหมือนกลุ่มทุนนิยมใหม่ ปัญหาคือกลุ่มนี้ไม่ได้ผูกโยงตัวเองอยู่กับวิถีทางประชาธิปไตย คือกลุ่มนี้จะใช้ "วิถีทางใดๆ ก็ได้" จะใช้วิถีทางประชาธิปไตยก็ได้ ถ้าหากได้รัฐบาลที่อยู่ภายใต้อาณัติของพวกเขา ใช้รัฐประหารก็ได้ เผด็จการก็ได้ หากช่วยปกป้องความมั่นคง และสถานะ อำนาจของพวกเขา

จุดเด่นของกลุ่มเครือข่ายอำมาตย์ คือ ๑) พวกเขามีอำนาจทางวัฒนธรรมที่ส่งทอดมาแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๒) พวกเขามีชัยชนะในการกุม "อำนาจนำ" ทางการเมืองมายาวนาน กล่าวคือประมาณ ๑๕ ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐ เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างคณะราษฎร และฝ่ายกษัตริย์นิยม ฝ่ายแรกพยายามวางรากฐานประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างผ่านรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังในเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม ฝ่ายหลังพยายามต่อสู้เพื่อฟื้นฟู "พระราชอำนาจ" ผ่านทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการฟื้นฟูอุดมการณ์เชิงวัฒนธรรมกษัตริย์นิยม

ในที่สุด รัฐประหาร ๒๔๙๐ ก็ขจัดปรีดี พนมยงค์และสมาชิกคณะราษฎรหัวก้าวหน้าลงได้อย่างราบคาบ ปี ๒๔๙๒ มีรัฐธรรมนูญที่ระบุระบอบการปกครองของไทยว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เป็นครั้งแรก และเพิ่มพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญมากขึ้น รัฐประหาร ๒๕๐๐ ขจัดจอมพล ป.พิบูลสงครามออกไป เข้าสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นยุคเผด็จการทหาร พร้อมกับการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ให้มีความสำคัญเหนือประชาธิปไตยมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้น ของลัทธิ "ไฮเปอร์-รอยัลลิสม์" มาถึงปัจจุบัน

ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่เราสัมผัสรับรู้ในปัจจุบัน ที่มีฐานะเป็น "พ่อของแผ่นดิน" ผู้รักราษฎร เสียสละเพื่อราษฎร เป็นศูนย์รวมความรู้รักสามัคคีของราษฎรนั้น คือภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ และถูกเสริมเติมแต่งมาเรื่อยๆ โดยการปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา กองทัพ หรือระบบราชการโดยรวม สื่อมวลชน รวมทั้งกิจกรรมในโครงการพระราชดำริ และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของชาติ

อาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส จนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา พฤษภา ๓๕ และพฤษภา ๕๓ นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการ "เพิ่ม" ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ทั้งในทางกฎหมาย และทางอุดมการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ยุคสฤษดิ์ เพิ่มอัตราโทษ ๑๑๒ จาก ๓ ปี เป็น ๗ ปี ๑๔ ตุลา มีนายกฯพระราชทานเป็นครั้งแรก ๖ ตุลา เพิ่มอัตราโทษ ๑๑๒ จาก ๗ ปี เป็น ๑๕ ปี หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกกำหนดเป็นนโยบายแห่งรัฐ โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ทุกวันนี้มีการเรียนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ประถมถึงมหาวิทยาลัย มีการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวบ่งชี้ในการประกันคุณภาพทางการศึกษา หลังพฤษภา ๕๓ มีการเพิ่มงบประมาณเทิดทูนสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ ปีละหลายพันล้าน จนถึงกว่าหมื่นล้าน

แต่ทว่าหลังรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารแต่ละครั้ง เมื่อกลับเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลับไม่เคยมีการปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้เลย ขณะที่เมื่อมองย้อนหลังไปดูเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นภาพกองซากศพของนักศึกษา ประชาชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนนับไม่ถ้วน อย่างน่าสลดหดหู่ แต่เรายังไม่ได้มาซึ่งรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย สมกับที่พวกเขาเหล่านั้นสละชีวิตเข้าแลกแต่อย่างใด

ย้อนกลับมาถามว่า ความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายอำมาตย์กับเครือข่ายทุนนิยมใหม่ สะท้อนให้เห็นรูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่ อย่างไรหรือ  คำตอบของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล น่าจะช่วยให้เรามองเห็น "หน้าตา" ของรูปแบบการปกครองปัจจุบันอย่างชัดเจนว่า

ปัจจุบันเราเรียกระบอบการปกครอง หรือ form of government ของเราว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะเรียกอีกแบบหนึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ...เป็นรูปแบบที่จงใจจะจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าเป็นการจำกัดความหลากหลายในระดับที่ผมเรียกว่า ระดับ existentialist เป็นความหลากหลายในเชิงความเป็นตัวตนของมนุษย์ ใน existential activity หรือ existential diversity โดยพื้นฐานแล้วความเป็นมนุษย์เราคืออะไร ในความคิดผมสิ่งที่เป็นหัวใจของมนุษย์เลยคือ freedom คือ เสรีภาพ ...ถ้ามนุษย์ไม่สามารถจะคิดอะไรที่อยากจะคิดได้ ไม่สามารถที่จะพูดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้ ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบนี้ เนื้อแท้ของมันออกแบบให้จำกัด existence ของเรา [๑]

ฉะนั้น รูปแบบการปกครองเช่นนี้เองที่เป็น "เวที" ของความขัดแย้งที่กำหนดให้ฝ่ายหนึ่งอ้างอิงการใช้ "วิถีทางประชาธิปไตย" เข้ามามีอำนาจทางการเมือง แต่อีกฝ่ายสามารถใช้ "วิธีการใดๆ ก็ได้" ในการขจัดคู่ขัดแย้ง

๒. ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยที่เด่นๆ อย่างไรบ้าง ที่จริงแล้วการตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยในบ้านเราสับสนปนเปกันมาก แต่อาจแยกได้คือ มีทั้งการตีความ และการอ้างอิงใช้ที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างศีลธรรม ศาสนา และประชาธิปไตย กับความพยายามที่จะตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยไปในทางที่สนับสนุนส่งเสริมกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ [๒] ที่แยกแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยออกเป็นสองสำนัก คือ "สำนักคิดประเพณีนิยม" กับ "สำนักคิดตะวันตก" นักคิดสายแรกอ้างแนวคิดพุทธศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตย เช่น อ้างทฤษฎี "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" ของ ร. ๔ ว่ามีความเป็นประชาธิปไตย โดยโยงไปถึง "อัคคัญญสูตร" ในพระไตรปิฎกว่า เป็นแนวคิด "สัญญาประชาคม" ในพุทธศาสนา ที่ถือว่าผู้ปกครองได้อำนาจในการปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน และว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีอยู่แล้วในสังคมสงฆ์ที่มีความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ โดยวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมสงฆ์ถูกส่งทอดมาสู่วิถีชาวบ้านของสังคมไทยในอดีต สำหรับความเป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดของกลุ่มนี้ต้องมีศีลธรรมกำกับ เช่น แนวคิด "ธรรมิกประชาธิปไตย" และ "ธรรมิกสังคมนิยม" ของท่านพุทธทาสภิกขุ และแนวคิดของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น

ส่วนนักคิดสายสำนักคิดตะวันตก จะอ้างอิงหลักการสากลคือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์เป็นฐานคิดในการนิยามประชาธิปไตย ฉะนั้น สำหรับนักคิดสายนี้ ประชาธิปไตยไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพิ่งเริ่มต้น "ระบอบประชาธิปไตย" ขึ้นจากการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ แต่เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยที่ยังต้องเดินทางต่อ และต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามจากฝ่ายกษัตริย์นิยม เผด็จการทหาร และอำนาจทุนที่คอยบั่นทอนความเป็นประชาธิปไตย ตลอดกว่า ๘๐ ปีที่ผ่านมา

แต่จะอย่างไรก็ตาม มีความซับซ้อนในการตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา สนับสนุนประชาธิปไตยระหว่างสองสำนักนี้อยู่ คือถ้าเราแยกอย่างหลวมๆ ว่า นักคิดสายสำนักคิดประเพณี เป็น "ฝ่ายจารีตนิยม" นักคิดสายสำนักคิดตะวันตกเป็น "ฝ่ายก้าวหน้า" หรือ "เสรีนิยม" เราจะพบว่าที่จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะนักคิดฝ่ายจารีตนิยมเท่านั้นที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย แม้ฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนก็ตีความศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน เช่น  ปรีดี พนมยงค์ ก็ตีความการปกครอง "ระบบสามัคคีธรรม" ในคัมภีร์พุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย เห็นว่า "ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม" ทั้งยังเขียนหนังสือ "ความเป็นอนิจจังของสังคม" ที่ตีความแนวคิดของพุทธศาสนาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาค แต่งนิยายเรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" โดยอ้างอิงคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสันติภาพ เป็นต้น จอมพล ป.พิบูลสงครามเองก็อ้างแนวคิด "ธรรมาธิปไตย" สนับสนุนประชาธิปไตย แม้แต่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ก็อ้างอิงแนวคิดพุทธศาสนาสนับสนุนการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ ความเสมอภาคด้วยเช่นกัน

แม้แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่อ้างแนวคิดตะวันตกตั้งคำถามกับทฤษฎี "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" ว่า ที่จริงแล้วชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ก็ไม่เคยวางแนวทางปฏิบัติอย่างเป็น "รูปธรรม" ว่า ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิเลือกผู้ปกครองของตนเองอย่างไร แต่ขณะเดียวกันนิธิก็ยืนยันว่า

...พระควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย [๓]

สายชล สัตยานุรักษ์ ที่อ้างหลักคิดตะวันตกวิพากษ์ "ความเป็นไทย" บางด้าน ก็ยังเห็นว่ามีความเป็นไทยบางด้านที่ควรนำมาสนับสนุนประชาธิปไตย และเห็นว่า "ในอดีตทุกศาสนาล้วนมีการตีความหลักคำสอนใหม่ให้เอื้อต่อบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น การตีความศาสนาให้เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่น่าจะสามารถกระทำได้" [๔] ขณะที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสนอในการปาฐกถา "รำลึก ๔๐ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ควรมี "เสรีนิยมทางการเมือง" เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเสรีภาพถกเถียงต่อรองในเรื่องต่างๆ ได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเฉพาะของสังคมไทย และการมีที่ยืนของคุณค่าอนุรักษ์ต่างๆ ด้วย ดังที่เขากล่าวว่า

...วัฒนธรรมเก่าไม่จำเป็นต้องขัดแย้งประชาธิปไตยในทุกด้าน บางอย่างก็เข้ากันได้ ยกเว้นส่วนที่เป็นอำนาจนิยมที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม กล่าวสำหรับในมิติอื่นๆ ในด้านวัฒนธรรมประเพณีไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถตัดขาดจากประวัติศาสตร์ของตัวเองได้ทั้งหมด...พูดก็พูด แม้แต่ประชาธิปไตยในตะวันตกก็ต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ตราบเท่าที่ไม่สามารถทำให้มนุษย์มองโลกสีเดียวกันได้ [๕]

ส่วนฝ่ายจารีตนิยมที่ตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย ก็ยังแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ

๑) กลุ่มที่ตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมๆ กับสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผลของการตีความของกลุ่มนี้เท่ากับเป็นการปกป้องรูปแบบการปกครองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย คือรูปแบบที่สมศักดิ์ เรียกว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ" ให้คงอยู่ต่อไป และเท่ากับเป็นสร้างระบบ "สองมาตรฐานทางศีลธรรม" ขึ้นมา ด้วยการตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรม และศาสนาตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ ตัดสินถูก ผิด เฉพาะนักการเมืองเป็นด้านหลัก ขณะที่ตีความ อ้างอิงใช้ศีลธรรมและศาสนายกย่องความดีงามสูงส่งของสถาบันกษัตริย์แต่ด้านเดียว ผลก็คือทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า นักการเมืองเลว ไร้ศีลธรรม แต่สถาบันกษัตริย์ดีงามสูงส่งทางศีลธรรมอย่างไร้ที่ติ

การใช้ "สองมาตรฐานทางศีลธรรม" คือ "ความไม่เป็นธรรม" ในการ "ตัดสินทางศีลธรรม" (moral judgment)ความไม่เป็นธรรมนี้คือรากฐานของความไม่เป็นธรรมด้านอื่นๆ เช่น การใช้วิธีการผิดๆ อย่างไรก็ได้จัดการกับนักการเมืองเลว และใช้วิธีการผิดๆ อย่างไรก็ได้ปกป้องสถาบัน อีกทั้งยังทำให้สังคมละเลย "เพิกเฉย" หรือ "ทำเป็นไม่รู้" ว่า เครือข่ายอำมาตย์มีการอ้างอิงใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ทางธุรกิจอย่างไรบ้าง จึงไม่เรียกร้องให้มีการขุดคุ้ย ตรวจสอบ เหมือนที่เรียกร้องให้ทำกับนักการเมือง

นี่คือ "อคติ" อันเป็นรากฐานของวาทกรรมตัดสินถูก-ผิดทางการเมืองแบบ "ขาว-ดำ" "เทพ-มาร" และการอ้าง "เทพ" มาช่วยกำจัด "มาร" ที่มักนำไปสู่ความรุนแรงในนามของการปกป้องอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ตลอดมา ดังที่เราได้เห็นผ่านวาทกรรม "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" จนมาถึงวาทกรรม "ธรรมนำหน้า" ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงอีกหลายระลอกต่อๆ มา

๒) การตีความ อ้างอิงใช้พุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการยืนยันการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ตัวแทนของการตีความในแนวนี้ที่ชัดเจนคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ไม่ได้อ้างหลักทศพิธราชธรรมเพื่อสรรเสริญเจ้าดังประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมายาวนาน แต่อ้างเพื่อกำกับตรวจสอบ "ความชอบธรรม" ของสถาบันกษัตริย์ โดยเขากล่าวว่า กษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมต้องเป็นแบบอย่างในการรักษา "ระบบที่ถูกต้อง" ของสังคม (ธรรมาธิปไตย) ถ้าเป็นกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย กษัตริย์ต้องมีหน้าที่ "พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" เป็นแบบอย่างของราษฎร ต้องโปร่งใสวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ไม่ต้องมีกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต้องอยู่ให้ห่างความมั่งคั่ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ควรเปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินของแผ่นดิน ที่บริหารโดยรัฐบาล ชั่ว ดีอย่างไร รัฐบาลก็ถูกตรวจสอบและต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอยู่แล้ว สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ห่างจากกองทัพ จากอำนาจ ควรเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นที่เคารพนับถือของราษฎรเท่านั้น

๓. การตีความ และอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนา ประชาธิปไตยดังกล่าว ให้คำตอบสำหรับอนาคตที่ควรจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าข้อถกเถียงดังกล่าวทำให้เราเข้าใจได้ว่า การตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยพร้อมๆ กับสนับสนุนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้นั้น ในที่สุดเท่ากับการรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ และเป็นการสร้างสองมาตรฐานทางศีลธรรมในทางการเมือง ซึ่งเป็นอคติหรือความไม่เป็นธรรมที่เป็นรากฐานของความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ในสังคมไทย ปัญหานี้ควรถูกหยิบยกมาอภิปรายให้เกิดการตื่นรู้ในสังคมวงกว้าง และในบรรดาพระสงฆ์ เมื่อนำไปสู่การเลิกวัฒนธรรมการตีความ และการอ้างอิงใช้ศีลธรรม ศาสนาแบบสองมาตรฐานในอนาคต

ส่วนการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยของฝ่ายก้าวหน้าบางส่วน และการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยของสุลักษณ์นั้น โดยสาระสำคัญแล้วไม่ได้ขัดกับสำนักคิดตะวันตกที่อ้างอิงหลักการสากลเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคเป็นฐานในการนิยามประชาธิปไตย เพราะการที่สุลักษณ์ยืนยันว่า สถาบันกษัตริย์ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เท่ากับยืนยัน "เสรีนิยมทางการเมือง" ตามข้อเสนอของเสกสรรค์นั่นเอง แต่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธของสุลักษณ์ ไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี บริโภคนิยม วัตถุนิยม ซึ่งดูเหมือนเป็นการเสนอ "เนื้อหา" ของประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้เราอาจเข้าใจได้จากข้อเสนอของสมศักดิ์ที่ว่า การเถียงเรื่องประชาธิปไตย เราควรเถียงกันเรื่อง "รูปแบบ" ของการปกครองให้ได้คำตอบที่ชัดเจนร่วมกันก่อน ควรเถียงเรื่อง "เนื้อหา" ให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเถียงกันว่าจะเอาเนื้อหาประชาธิปไตยแบบไหน แบบสังคมประชาธิปไตย หรือแบบรัฐสวัสดิการ ก็เถียงกันมานานมากแล้ว ไม่มีวันจบ

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ข้อเสนอของสมศักดิ์ก็คือ ให้เรามาเถียงกันว่าจะสร้างรูปแบบการปกครองที่เป็น "เสรีประชาธิปไตย" กันอย่างไร เมื่อสร้างรูปแบบการปกครองนี้ได้ เรามี "เสรีภาพ" ที่จะพูด จะถกเถียงกันได้ทุกเรื่องแล้ว จึงค่อยมาเสนอกันว่าใครจะเพิ่มเนื้อหาส่วนไหนเข้ามาอย่างไร เช่นจะเอาระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือรัฐสวัสดิการ แม้แต่จะเอาสถาบันกษัตริย์หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไร ก็ต้องเอาตามนั้น โดยยังเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย แน่นอน การถกเถียงเรื่อง "รูปแบบ" ของการปกครองประชาธิปไตย ก็หนีไม่พ้นที่จะอภิปรายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย

บางคนมองว่า ข้อเสนอเช่นนี้สร้างความขัดแย้ง แต่ที่จริงความขัดแย้งเกิดขึ้นมานานและยังดำเนินต่อไปอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้คือการสร้าง "เวที" ที่มีกติกาที่ free and fair แก่ทุกกลุ่มความขัดแย้ง เป็นการทำให้ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างไร้เหตุผลในแบบเดิมๆ ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างวิถีทางประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่งจะใช้วิธีการใดๆ ก็ได้ มาเป็นให้ทุกฝ่ายต้องอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น มีเสรีภาพที่จะพูดได้ทุกเรื่องกันทุกฝ่าย นี่จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งที่มีความหมาย คือสู้กันด้วยเหตุผลจริงๆ ไม่ใช้เป็นความขัดแย้งภายใต้ "มายาคติ" นักการเมืองเลวบริสุทธิ์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมดีบริสุทธิ์อย่างที่เป็นมา

แต่ตรงนี้เราจะมองว่าเป็น "ทางตัน" หรือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน "เปิดทาง" ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเปิดทาง โดยเฉพาะฝ่ายกษัตริย์นิยมก้าวหน้าที่มีต้นทุนทางสังคมสูง เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นต้นควรออกมาเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมว่า สังคมไทยควรจะวางท่าที และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรบ้างเพื่อสร้างกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชน กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ควรหยิบยกปัญหานี้มาอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผล จนสังคมมีความเข้าใจร่วมกันและพบทางออกร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความรุนแรงนองเลือดอีกต่อไป

 




[๑] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริง: เงื่อนไขของการยอมรับความหลากหลาย" ใน เกษม เพ็ญภินันท์, ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๒, หน้า ๓๓-๓๔

[๒] ดู นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.บทความ: วาทกรรทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย, จากหนังสือรวมบทความวิชาการทางรัฐศาสตร์ พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๔๒,หน้า ๒๑๔-๒๕๖ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๓

[๓] นิธิ เอียวศรีวงศ์.พระกับการเมือง.มติชนรายสัปดาห์  ๒๔, ๑๒๕๑ (๖ สิงหาคม ๒๕๔๗), หน้า ๓๖.

[๔] สายชล สัตยานุรักษ์ "วิถีไทยกับการเสริมสร้างพลเมืองไทย" ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และฉลอง สุนทราวาณิชย์ (บก.).ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา.กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, ๒๕๕๖, หน้า ๓๑๘

[๕] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย (ประชาไท ๑๓ ต.ค.๒๕๕๖)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์: วิจารณ์ บทความเรื่อง "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!"

Posted: 18 Oct 2013 09:20 AM PDT

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบจนถึงระดับที่พออ้างได้ว่าตนมีความรู้ในด้านนี้พอกล้อมแกล้ม และเมื่อได้อ่านบทความที่ชื่อ "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!" ของคุณ ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ในเว็บไซต์ของผู้จัดการแล้วรู้สึกว่าอยากจะใช้ความรู้ที่ศึกษามาวิเคราะห์วิจารณ์นักเขียนท่านนี้บ้าง

ผู้เขียนใคร่อยากชี้ว่าบทความของคุณชัชวาลย์ค่อนข้างเขียนกำกวม ขาดการอ้างอิง (แน่นอนว่าบทความเช่นนี้ก็ไม่มีการอ้างอิงเท่าไรนักแต่ผลก็คือการยกขึ้นลอยๆ  โดยไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง)  และได้นำอคติมาชี้นำหรือรองรับประโยคที่ตนเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เช่นมีประเด็นที่น่าสนใจว่าท่านมักจะนำคุณค่าคำว่า "ดี" หรือ"เลว"มาใช้ในการเขียนบทความอยู่เสมอ ซึ่งการเป็นการขัดกับหลักการศึกษารัฐศาสตร์ที่พยายามไม่ใช้คุณค่าทั้ง 2  อย่างซึ่งเป็นจิตวิสัยมาตัดสินหรือเกี่ยวข้องให้มากนัก

เช่นท่านเขียนบทความเป็นนัยว่าการปกครองเผด็จการและประชาธิปไตยดูไม่แตกต่างกันเท่าไรเพราะ

"เผด็จการทหารในโลกใบนี้..มีทั้งดีและเลว! ประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบตะวันตก..มีทั้งดีและเลว! ระบอบการปกครองที่มิใช่เผด็จการทหารและเผด็จการเลือกตั้งฯ บนโลกใบนี้..ก็มีทั้งดีและเลวเช่นกัน!"

ตรรกะเช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดเพราะมันเป็นเป็นประโยคทำนอง "คนมีทั้งดีและเลว" ซึ่งพูดกันเกร่อ (cliché)  แต่ผู้เขียนคิดว่าในเรื่องมิติทางการเมือง เกณฑ์เช่นนี้น่าจะซับซ้อนไปกว่านั้น  ถ้าเป็นจริงอย่างที่คุณชัชวาลย์ได้ว่าไว้ข้างบน การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในวันที่  14 ตุลาคม 2516  ก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นนักเพราะเราสามารถอ้างได้ว่าเผด็จการในช่วงของจอมพลถนอมเป็นเผด็จการที่ดีจากในหนังสือหลายเล่มหรือในหลายเว็บไซต์เองก็ยกย่องจอมพลถนอมนั้นเป็นคนซื่อสัตย์และยังทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมากมาย (1) ดังนั้นการที่คุณชัชวาลเปิดฉากมาว่า

 "นักศึกษา-ประชาชน ฯลฯ เสียสละชีวิตต่อสู้เอาชนะรัฐบาล "เผด็จการทหารชั่ว"

คนที่สนับสนุนจอมพลถนอมอาจจะใช้ตรรกะของคุณชัชวาลย์เองมาแย้งกับคุณชัชวาลย์ในประเด็นนี้ก็ได้    เช่นเดียวกับการประท้วงหรือการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยในหลายวาระเช่น 6 ตุลาคม  2519  หรือแม้แต่พฤษภาทมิฬ  2535  ก็ไม่มีความหมายอีกเช่นกันเพราะจะมีคนแก้ต่างให้กับเผด็จการในสมัยนั้นได้เหมือนกันหมด (เอาง่ายๆ อย่างหนังสือเรียนวิชาสังคมในโรงเรียนอย่างไร)   นอกจากนี้อาจมีผู้ที่นำเอาหลักตรรกะนี้มาใช้ในหลายกรณีที่น่าขนลุกเช่น   "เผด็จการนาซีและฮิตเลอร์มีทั้งดีและเลว" เป็นต้น

นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ยังเขียนแบบตีขลุมเอาเองอย่างเช่น

"ระหว่างคนกับระบอบการเมืองนั้น บ้างว่า-คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง บ้างว่า-ระบอบการเมืองสำคัญกว่าคน บ้างว่า-ทั้งคนและระบอบการเมืองสำคัญทั้งคู่!

แต่คอการเมืองส่วนใหญ่ฟันธงว่า คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง!"

ประเด็นความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่ว่ามนุษย์ในฐานะปัจเจกชนกับกรอบทางสังคมหรือการเมืองสิ่งไหนมีอิทธิพลมากกว่ากันหรือว่ามีอิทธิพลควบคู่กันไป  ซึ่งคำถามนี้ยังมีการถกเถียงกันอีกมามาย แต่ท่านก็ได้สรุปไปแล้ว โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนว่าท่านไปทำวิจัยสำรวจ "การฟันธง" ที่ไหน กลุ่มคอการเมืองกลุ่มใด   หรือว่าที่จริงเป็นความคิดของท่านเอง เข้าทำนองเหมือนโฆษณาที่อ้างว่า "คนส่วนใหญ่เลือกใช้ยาสีฟันยี่ห้อ......." และยิ่งเป็นบาปมหันต์อย่างยิ่งสำหรับวงวิชาการัฐศาสตร์เพราะการวิเคราะห์เฉพาะตัวบุคคลจะทำให้ปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ เช่นโครงสร้างทางการเมือง สถาบันทางการเมือง คุณค่าทางการเมืองด้อยค่าไปเสีย มุมมองเช่นนี้เองยังทำให้วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะแบบเรียนของเยาวชนย่ำอยู่กับที่คืออยู่กับทฤษฎี "บุรุษผู้ยิ่งใหญ่" (Great man theory)

ในส่วนของทหารนั้น ท่านแสร้งเขียนเป็นกลางแต่ถ้าอ่านให้ดีจะทราบว่ามีแนวคิดบางอย่างแฝงอยู่

"ดังนั้น หากผู้นำเผด็จการทหารเป็นคนดี ชาติและประชาชนย่อมได้ประโยชน์ ถือว่าทำคุณมากกว่าโทษให้กับชาติบ้านเมือง ทว่าหากผู้นำหรือรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นคนชั่ว โกงชาติบ้านเมืองด้วยความเห็นแก่ได้ ก็จะถูกสังคมประณามสาปแช่งชั่วลูกชั่วหลานตราบทุกวันนี้"

หากอ่านในบริบทของสังคมไทย ก็จะทราบว่าแบบเรียนหรือการให้คุณค่าแก่บุคคลในประวัติศาสตร์นั้นมักจะเป็นอนุรักษ์นิยมที่เอียงข้างเข้าสถาบันสำคัญๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยจะพบการก่นด่าประณามผู้นำทางทหารเท่ากับนักการเมืองเท่าไรนัก ดังกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีความชั่วค่อนข้างชัดเจนเช่นประหารชีวิตคนตามอำเภอใจ ฉ้อราษฎรบังหลวงเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่ก็มีสื่อแนวอนุรักษ์นิยมจำนวนที่ยังเข้าข้างจอมพลผ้าขะม้าแดงท่านนี้เพียงเพราะเป็นผู้นิยมเจ้า  ดังนั้นหากผู้อ่านใช้ความรู้สึกที่ถูกปลูกฝังจากสื่อหรือบทเรียนก็จะรู้สึกว่าไม่มีผู้นำเผด็จการทหารคนไหนชั่วเท่าไรนัก (อันเป็นเหตุที่ทำให้มักมีคนมาแก้ต่างแทนเผด็จการเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ และก็ยังมีคนเชื่ออีกเรื่อยๆ )

 ดังนั้นประโยคของท่านที่ต้องการโต้กับเสื้อแดงที่มักประณามทหารว่า

"บทสรุป-คือ-เผด็จการทหารชั่ว และเผด็จการรัฐสภาทุนสามานย์ ล้วนเป็นระบอบการปกครองอันไม่พึงประสงค์ของประชาชน เพราะโกงชาติและชั่วร้ายด้วยกันทั้งคู่!"

ประโยคเช่นนี้จึงเบาหวิว เพราะ "เผด็จการทหารชั่ว" นั้นดูลอยๆ ไม่มีน้ำหนักเท่าไรนัก ไม่มีตัวตน ใครก็ไม่ทราบแต่รัฐสภาทุนสามานย์นี่ทักษิณโดนเต็ม ๆ

จากนั้นคุณชัชวาลย์ก็รีบเขียนโจมตีประชาธิปไตยตะวันตกทันที

"ส่วนระบอบการเมืองเลือกตั้งแบบตะวันตก ซึ่งนักการเมืองทุนสามานย์ใช้เป็นช่องทางทุ่มเงินซื้อเสียงการเลือกตั้ง จนได้ ส.ส.เข้าสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง ก่อนที่สภาฯ เผด็จการจะตั้งนายกฯ ชั่วบริหารชาติบ้านเมือง"

บทความนี้อาจจะไม่ผิดถ้าท่านระบุประเทศ (เช่นประเทศไทยตามความคิดของท่าน)  แต่การเขียนลอยๆ เช่นนี้ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งแบบตะวันตกทั้งหมด แถมยังพยายามโยงไปยังสหรัฐอเมริกา ทั้งที่สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  ที่สำคัญสหรัฐฯ นั้นได้ถูกจัดอันดับของการเป็นประชาธิปไตยได้เพียงอันดับที่ 17 เอง   การตีขลุมของคุณชัชวาลจึงทำให้คนอ่านมองข้ามประเทศที่มีการเลือกตั้งแบบตะวันตกอีกมากที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างเช่นนิวซีแลนด์  ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียอย่างเช่นเดนมาร์ก หรือสวีเดนซึ่งมีลำดับความเป็นประชาธิปไตยอันดับต้นๆ (1)

นอกจากนี้คุณชัชวาลยังพยายาม justify หรือสร้างความถูกต้องแก่เผด็จการอย่างตรงไปตรงมาโดยการเปรียบเทียบสหรัฐฯ กับจีนเช่น

"อเมริกาที่เป็น "มาเฟีย" แห่งการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาโกงการเลือกตั้ง มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากมาย สังคมอเมริกาจึงเต็มไปด้วยความอยุติธรรมทุกหัวระแหง

ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา ไม่อาจแก้ปัญหาคนรวยเอาเปรียบคนจนได้ และนับวันปัญหาเลวร้ายทุกมิติของสังคมอเมริกัน จึงเป็นปัญหา "ดินพอกหางหมู" มากขึ้นเรื่อยๆ

จีน-ในอดีตที่มีพลเมืองยากจนกว่าพันล้านคน จนชาวจีนบางส่วนต้องหนีความอดอยากไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อการปฏิวัติชนะและ "เหมา เจ๋อตุง" สิ้นชีพ จีนที่นำโดย "เติ้ง เสี่ยวผิง" ได้นำสังคมนิยมเข้าผสมพันธุ์กับทุนนิยม พัฒนาประเทศจีนในทุกมิติให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว"

คิดว่าคุณชัชวาลย์คงไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่นทำให้คนอ่านสับสนเข้าใจว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้นเป็นสิ่งเดียวกับระบบทุนนิยม ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ คือระบบทุนนิยมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และถึงแม้ระบบทุนนิยมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองของสหรัฐฯ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ต้องตำหนิเพียงประการเดียว  

นอกจากนี้ที่ท่านชอบประณามว่าสหรัฐฯ เต็มไปด้วยการโกงการเลือกตั้งนั้นก็ไม่หลักฐานมายืนยันชัดเจน  คำว่า "เต็ม" นั้นยังคลุมเครือไม่ระบุเวลาแน่นอนซึ่งคนอ่านอาจะเข้าใจว่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ จึงเต็มไปด้วยการซื้อขายเสียงอย่างน่าละอายใจดังนั้นสหรัฐฯก็คงจะไม่ได้อยู่ในลำดับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในลำดับต้นๆ  หากจะเขียนอย่างรัดกุมกว่านี้ก็น่าจะเขียน "สหรัฐฯ ก็พบกับสภาวะเช่นนี้เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วไป แม้แต่อังกฤษ ฝรั่งเศส "

ส่วนประวัติศาสตร์ของประเทศจีนถือว่าเป็นส่วนที่ให้อภัยไม่ได้เพราะคุณชัชวาลย์ซ่อนเร้นข้อมูลหลายส่วนไว้ไม่ยอมเขียนรายละเอียดลงไปด้วยวัตถุประสงค์คือเชิดชูจีนและเหยียบสหรัฐฯ  เช่นท่านไม่ได้บอกว่า คนจีนจำนวนมากก็ได้หลบหนีจากประเทศในช่วงหลังพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจอีกเช่นกัน นอกจากนี้เหมา เจ๋อตงนั้นมีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้คนจีนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคนจากนโยบายการก้าวกระโดดไกล (Great Leap forward) และการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural revolution) ซึ่งเกือบทำให้ประเทศจีนแตกเป็นเสี่ยงๆ จนผู้เขียนเคยคิดว่าถ้าจีนเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมและทุนนิยมมาตั้งแต่ปี 1949  จีนอาจจะเจริญและยิ่งใหญ่กว่าจีนในปัจจุบันหลายเท่านักไม่ต้องรอให้เติ้งเปิดประเทศเพราะจีนเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว  นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ซึ่งเชิดชูวีรกรรม 14 ตุลาคมยังมองข้ามวีรกรรมของเติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 1989 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนได้และยังไปอ้างทฤษฎีแมวจับหนูซึ่งก็ถือว่าเป็น cliché อีกเช่นกัน  

ถึงแม้ว่าจีนจะกลายเป็น

"ผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ของอเมริกา ปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังพัฒนากองทัพให้ทัดเทียมอเมริกาอย่างเร่งด่วน!"

แต่ปัญหาของจีนก็ยังมีอีกมายที่อยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของมวลผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) หรือการเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ  จีนยังมีความด้อยความสามารถในการกระจายความมั่งคั่ง ดัชนี Gini coefficient ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวยของจีนนั้นพุ่งสูงขึ้น (2)  ความร่ำรวยยังคงกระจุกตัวอยู่กับเศรษฐีและนายทุนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์ จีนยังเต็มไปด้วยการฉ้อราษรบังหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับตั้งแต่ล่างจนถึงระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์  รวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทำให้ประชาชนจีนต้องเดินขบวนประท้วงรัฐบาลกันเป็นแสนๆ ครั้งต่อปี (3) ส่วนศักยภาพกองทัพของจีนยังห่างไกลสหรัฐฯ อยู่มากแม้ว่าจะใช้งบประมาณทางการทหารเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ตาม (4) นอกจากนี้จีนในปัจจุบันก็มีคุณสมบัติบางส่วนดังที่ท่านได้โจมตีสหรัฐฯ หากเราติดตามข่าวของจีนอยู่เสมอ ดังนี้

"เพราะอภิมหาเศรษฐีอเมริกันไม่กี่ตระกูล เอาเปรียบคนอเมริกันทั้งชาติอยู่ตลอดเวลา สวัสดิการชาวอเมริกันผู้ยากไร้-ถูกตัด" 

แนวคิดของคุณชัชวาลจึงเป็นแนวคิดที่มีหลักตรรกะที่ขัดแย้งกันเองคือพยายามรักษาสปิริตของ 14 ตุลาคมไว้  แต่ก็พยายามสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการโดยอาศัยเครื่องมือคือการโจมตีทักษิณอย่างรุนแรงและการพยายามนำเสนอเป็นเชิงบิดเบือนข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาแล้วจนเป็นเหตุให้เกิดบทความที่เกิดปัญหาบทนี้ขึ้นมา

อนึ่งถ้าจะมีการแก้ต่างว่าข้อมูลเหล่านี้ที่ผู้เขียนอ้างเป็นการใส่ร้ายจากสื่อตะวันตก อันนี้ก็ผู้เขียนคงจะช่วยอะไรไม่ได้!

 

 

เชิงอรรถ

(1) http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A1_%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%88%E0%B8%A3
และ
http://www.thaiswatch.com/politician/info/pid/POL0000002524

(2)   http://graphics.eiu.com/PDF/Democracy_Index_2010_web.pdf

(3)  http://english.caixin.com/2012-12-10/100470648.html

(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Protest_and_dissent_in_the_People's_Republic_of_China

(5) http://www.foreignpolicy.com/articles/2010/02/22/think_again_chinas_military

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานสันกำแพงเจรจาสภาพการจ้างนัดแรกยังไม่ได้ข้อสรุป นัดสองถก 22 ต.ค. นี้

Posted: 18 Oct 2013 06:55 AM PDT



18 ต.ค. 56 - ตัวแทนคนงานบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ระบุกับผู้สื่อข่าวถึงผลการเจรจาข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในวันนี้ (18 ต.ค. 56) ซึ่งเป็นนัดแรกของการเจรจาว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และทางนายจ้างได้นัดให้มีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค. 56 นี้

ทั้งนี้หลังจากที่คนงานได้ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องประมาณ 200 รายชื่อ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 56 ไปแล้วนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 56 ที่ผ่านมาปรากฎว่ามีคนงาน 10 คนถูกบริษัทไล่ออก เนื่องจากถูกใบเตือนสะสมครบเกณฑ์ของบริษัท โดยในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมานั้นทางกลุ่มคนงานได้ตั้งข้อสังเกตว่าทางบริษัทได้ออกใบเตือนให้กับพนักงานกว่า 30 คน ซึ่งไม่เคยมีปรากฎการณ์ทำนองนี้เกิดมาก่อน โดยลักษณะของใบเตือนเป็นเรื่องการเตือนเรื่องเวลางานและข้อยิบย่อยต่างๆ ซึ่งตัวแทนคนงานระบุว่าสาเหตุอาจจะเป็นเพราะที่คนงานได้ร่วมกันลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 8 ข้อไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา

โดยในเช้าวันนี้ (18 ต.ค. 56) กลุ่มคนงานที่ถูกไล่ออกทั้ง 10 คนได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ รวมถึงลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.สันกำแพง โดยระบุว่านายจ้างได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ม.31 ที่ระบุห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องฯ ในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.นิรโทษฯ เพื่อไทย เสนอคลุมถึง 'แกนนำ-ผู้สั่งการ' ไม่นิรโทษ ม.112

Posted: 18 Oct 2013 04:24 AM PDT

กมธ.นิรโทษฯ ซีกเพื่อไทยเสนอแก้เนื้อหานิรโทษกรรมครอบคลุมถึง "แกนนำ-ผู้สั่งการ" ที่กระทำผิดคดีชุมนุมทางการเมือง ที่เกิดตั้งแต่ ปี 47- 56 ยกเว้นความผิด ม.112 ด้าน "แก้วสรร-อภิสิทธิ์" ท้วงขัดต่อหลักการและเหตุผลในร่างเดิมที่ "วรชัย" เสนอ



18 ต.ค. 56 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่รัฐสภา บรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม เป็นไปอย่างวุ่นวาย  ทันที ที่นายประยุทธ ศิริพานิชย์ กรรมาธิการเสียงข้างมาก จากพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไข เนื้อหาในมาตรา 3 ของร่างเดิมที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอ

โดยแก้ไข ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้น ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือ ความขัดแย้งทางการเมือง หรือ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ รวมถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ และผู้สั่งการด้วย แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ทั้งนี้ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อาทิ นายแก้วสรร อติโพธิ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ได้ทักท้วงว่า การเขียนกฎหมายลักษณะเช่นนี้ เข้าข่ายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดฐาน ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขัดต่อหลักการและเหตุผล ในร่างเดิม ที่นายวรชัย เสนอ ทำให้ตั้งข้อสังเกต ได้ว่า เป็นการเสนอกฎหมายเข้ามาเพื่อนำมาแก้ไขในชั้นกรรมาธิการฯ หรือไม่ อีกทั้ง เห็นว่า น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 309

นายแก้วสรร มองว่า หากแก้ไขเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลเดียวที่ถูก คตส.ดำเนินคดีในประเด็น คอร์รัปชัน ซึ่งหากมาตรา 3 เป็นไปตามที่แก้ไข อาจทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น

โดยเฉพาะการชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์ ที่จะมีจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้น หลังข่าวการแก้ไขออกไป พร้อมเสนอให้แก้ไขมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ โดยระบุ ท้ายบทเฉพาะกาลให้คดีที่เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้สามารถต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

ขณะที่ กรรรมาธิการเสียงข้างมาก ต่างแสดงความคิดเห็นสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประเทศเกิดความสมานฉันท์

จากนั้น กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายถาวร เสนเนียม นายแก้วสรร อติโพธิ นายธนา ชีรวินิจ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ได้เสนอปรับแก้เนื้อหาในมาตรา 3 โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมความผิดตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขยาย พ.ร.บ. ความมั่นคง 3 พื้น กทม. ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้

Posted: 18 Oct 2013 04:15 AM PDT

18 ต.ค. 56 - นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประเมินสถานการณ์การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในการรักษาความสงบเรียบร้อย ของการชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชน เพื่อปฏิรูปประเทศไทย ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาในการประกาศใช้ออกไปจนถึง 30 พ.ย.นี้ เนื่องจากพบว่ามีกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการชุมนุม แต่ก็ยังไม่มีการขยายพื้นที่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเพิ่มเติม โดยเฉพาะที่บริเวณแยกอุรุพงษ์

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย บนเวทีมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะต่ออายุการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ออกไปอีก โดยแกนนำยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์และจะไม่ย้ายไปที่อื่น เว้นแต่พื้นที่ที่ชุมนุมจะไม่ปลอดภัยก็จะทำหนังสือ เพื่อขอใช้พื้นที่ถนนข้างทำเนียบรัฐบาลแทน

อย่างไรก็ตามในส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ โดย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พร้อมด้วยแกนนำผู้ชุมนุม เดินทางไปพบประชาชนที่อยู่บริเวณย่านอุรุพงษ์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียน หลังมีประชาชนรายหลายโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเอสไอเตรียมส่งเพิ่ม 5 สำนวนให้ บช.น. ด้าน ยธ.โยนศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง

Posted: 18 Oct 2013 03:57 AM PDT

ดีเอสไอจะส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพเสื้อแดงไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพิ่มเติมอีก  5 ศพ ด้าน"ชัยเกษม" อ้างกรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยเสื้อแดงโดนจำคุกเต็มที่ โยนศาลใช้ดุลพินิจศาลไม่ให้ประกันเอง ลั่นรัฐบาลไม่ได้ลอยแพ แต่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง



18 ต.ค. 56 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ว่า ภายในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอจะส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพดังกล่าว ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพิ่มเติมอีก จำนวน 5 ศพ ประกอบด้วย นายธนโชติ ชุ่มเย็น นายวงศกร แปลงศรี นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์ โดยทั้ง 3 รายนี้เหตุเกิดบริเวณถนนพระราม 4 และ อีก 2 ราย คือ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และนายอำพน ตติยรัตน์ เหตุเกิดถนนตะนาว และถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53  อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตทั้ง 5 รายนี้จากพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น  จึงได้สรุปสำนวนดังกล่าวให้ทาง บช.น.พิจารณาสอบสวนเพิ่มเติม ก่อนนำหลักฐานทั้งหมดส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณาดำเนินการส่งศาลไต่สวนตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนวนคดีชันสูตรดังกล่าว ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอส่งให้ บช.น.พิจารณาแล้ว จำนวน 12 ศพ ประกอบด้วย 1.น.ส.สัญธะนา สรรพศรี อายุ 32 ปี 2.นายกิตติพันธ์ ขันทอง อายุ 25 ปี 3.นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ อายุ 17 ปี 4.นายอำพล ชื่นสี อายุ 25 ปี 5.นายอุทัย อรอินทร์ อายุ 39 ปี 6.นายสุภชีพ จุลทัศน์ อายุ 36 ปี 7.นายมนูญ ท่าลาด อายุ 44 ปี 8.นายธันวา วงศ์ศิริ อายุ 26 ปี 9..นายสรไกร ศรีเมืองปุน 10.นายบุญทิ้ง ปานศิลา อายุ 25 ปี 11.นายทิพเนตร เจียมพล อายุ : 32 ปี และ12.นายเหิน อ่อนสา อายุ  40


ยธ.โยนศาลไม่ให้ประกันเสื้อแดง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ไทยโพสต์รายงานว่า นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม กล่าว ถึงกรณีนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขอ ประกันตัวจากการชุมนุมทาง การเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ต่อนายคณิต ณ นคร อดีตประ ธานกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรอง ดองแห่งชาติว่า ความจริงทางกรมคุ้มครองสิทธิก็ช่วยเหลือทุกวิถีทางแล้ว แต่เรื่องการประกันตัวนั้นเป็นเรื่องดุลยพินิจของศาล ซึ่งตนไม่อาจจะก้าวล่วงได้

"กรมคุ้มครองสิทธิได้ยื่นประกันตัวไป 3 ครั้งแล้ว แต่ปรากฏว่าศาลไม่ให้ประกันตัว ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าเพราะอะไร เพราะเวลาศาลไม่ให้ประกันตัว ก็ไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเจนเท่าไร อย่างไรก็ตาม จะมอบหมายให้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ติดตามเรื่องนี้ต่อไป" นายชัยเกษมกล่าว

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่าเวลายื่นขอประกันตัวจะมี 2 กรณีคือทนายความของ นปช.และสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเป็นคนยื่นขอประ กันตัว แต่บางกรณีคนเสื้อแดงก็อาจมีการใช้ทนายส่วนตัว ทางกรมคุ้มครองสิทธิไม่ได้เป็นคนไปยื่นคำร้องขอประกันตัวคนเสื้อแดงเอง เพราะกรมไม่ใช่คู่ความในคดี จึงไม่เกี่ยว แต่จะให้ทนายความเป็นคนยื่น ซึ่งหากทนายความและกรมได้คุยกันอาจจะนำข้อแนะนำมาช่วยเหลือได้

นายชัยเกษมกล่าวว่า การช่วยเหลือกรมช่วยเหลือทุกฝ่าย ไม่ได้เลือกว่าเป็นเสื้อเหลืองหรือแดง ดังนั้นกรณีดังกล่าวเมื่อมีการยื่นขอไปแล้ว เป็นไปได้ว่าทนายความไม่มีข้อมูลครบถ้วน ศาลก็เลยไม่ให้ประกันตัว เพราะฉะนั้นตนคิดว่าถ้าทนายความมีปัญหา และอยากให้กรมช่วยเหลือก็สามารถมาขอความช่วยเหลือจากทางกรมได้

ซักว่า หากรัฐบาลนำข้อเสนอแนะของ คอป. ซึ่งเคยเสนอไปแล้วนำมาแนบในสำนวนแล้วส่งไปให้ศาลพิจารณา ศาลอาจจะให้ประกัน แต่รัฐบาลไม่เคยนำข้อเสนอนี้มาพิจารณาเพื่อช่วยเหลือคนเสื้อแดงเลย รมว.ยุติธรรมกล่าว ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นดุลยพินิจของศาลโดยแท้ และคนยื่นก็ไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้นไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล และไม่ได้ลอยแพ รัฐบาลอำนวยความสะดวกเรื่องค่าใช้จ่ายในการขอประกันตัว แต่หน้าที่ในการยื่นประกันตัวเป็นหน้าที่ของเขาและทนายความ.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายสภายุติธรรมแจ้งเอาผิด ป.ป.ช. หมิ่นเบื้องสูง

Posted: 18 Oct 2013 03:21 AM PDT

เครือข่ายสภายุติธรรม แจ้งดำเนินคดีกับ 10 ป.ป ช. ฐานหมิ่นสถาบัน กรณีไม่ชี้มูลความผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้บุตรชายลาไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งขัดต่อระเบียบ



เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 56 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่านางผุสดี แย้มสกุลณา และนายโชคชัย ฤทธิ์บุญรอด ในฐานะเครือข่ายสภายุติธรรม พร้อมนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ แจ้งความที่กองปราบปรามดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ทั้งคณะรวม 10 คน ในข้อหาดูหมิ่นสถาบัน จากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยพิจารณาไม่ชี้มูลความผิดคดีที่นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้บุตรชาย ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ยังได้รับเงินเดือนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน รวมเป็นเงินกว่า 800,000 บาท ทั้งที่ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขออนุญาตลาไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ จึงถือว่านายบุญส่งกระทำการโดยพลการ แต่ ป.ป.ช.กลับไม่ชี้มูลความผิด จึงเห็นว่า ป.ป.ช.ทั้ง 10 คนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำหน้าที่แทนพระองค์ ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบัน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาสอบสวนตามขั้นตอนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เต้นถูก อภ.โยนบาปซื้อยาหัวใจแพง

Posted: 18 Oct 2013 03:06 AM PDT

ตามที่มีข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 56 ที่ผ่านมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า สปสช. ยืนยันจะซื้อยาหัวใจเพิ่มอีก 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาแพงกว่ายา CL จากอินเดียประมาณ20 ล้านบาท ต่อเรื่องดังกล่าว นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า จากข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามที่แหล่งข่าวระดับสูงของ อภ. เปิดเผยเพราะที่ผ่านมายา Clopidogrel ซึ่งเป็นยาสำคัญในการรักษาโรคหัวใจที่เป็นยา CL อภ.สั่งซื้อจากประเทศอินเดียจำนวน 18 ล้านเม็ด แต่ถูกระงับการแจกจ่ายให้กับ โรงพยาบาลต่างๆ เพราะมีปัญหาด้านการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2556 เกิดการขาดแคลนยาดังกล่าวและ สปสช.กับ อภ. ได้ตกลงแก้ไขปัญหาแล้วกับ อภ.สรุปให้มีการสั่งซื้อยาจากบริษัทเอกชนที่มีราคาแพงกว่าให้พอใช้ได้ 3 เดือนเพื่อรอยา CL หลังจากซื้องวดแรก 3 ล้านเม็ดซึ่งพอใช้ได้ถึงกลางเดือนกันยายน

จากนั้น สปสช.จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 5 ก.ย.56 แจ้งว่า ระหว่างที่ยา CL ยังไม่มาขอให้ อภ.ซึ้อยาดังกล่าวจากเอกชนเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ใช้ถึง ตุลาคม 2556 แต่ อภ.ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อยาให้ และต่อมาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 56 สปสช.เพิ่งได้รับหนังสือจาก อภ.ว่ายา CL ที่ราคาถูกกว่าเอกชนจำนวน 18 ล้านเม็ดได้ผ่านการตรวจคุณภาพจากห้อง LAB เรียบร้อยแล้วและสามารถส่งมอบให้ โรงพยาบาลต่างๆ ได้ภายใน 30 ต.ค. 56 จึงขอให้ สปสช. พิจารณาว่าจะเปลี่ยนการสั่งซื้อยาดังกล่าว 3 ล้านเม็ดมาเป็นยา CL หรือไม่ ซึ่งสปสช.ยังไม่ทันได้ตัดสินใจว่าจะระงับใบสั่งซื้อเดิมเปลี่ยนเป็นซื้อยา CL ใหม่ เพราะต้องรอผลการตรวจคุณภาพยาให้โรงพยาบาลต่างๆ เกิดความเชื่อถือก่อน ดังนั้นข่าวที่ว่า สปสช. ยืนยันจะซื้อยาแพง จึงไม่เป็นความจริง

"ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดให้กับผู้ป่วย รพ.และสังคมว่า สปสช. ต้องการซื้อราคาแพงทำให้เสียเงินเพิ่มอีกประมาณ 20 ล้านบาท ผิดข้อเท็จจริงเกิดความเสียหายกับความน่าเชื่อถือต่อการบริหารกองทุนของ สปสช. และเกิดความเสียหายต่อความร่วมมือจัดหายาที่มีคุณภาพดีราคาเหมาะสมระหว่าง สปสช.กับ อภ.ที่ช่วยกันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่าง สปสช.กับ อภ.ที่ผ่านมาทำให้ราคายาราคาต่ำลงอย่างมากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายดังนั้นความน่าเชื่อถือที่เสียไปและความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานของรัฐถูกทำลายไปเป็นการสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวมและผู้ป่วย" นพ.ประทีป กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.พิทักษ์สถาบันเรียกสปอนเซอร์หนังสือ ย้ำยุก รุกสมัย ให้ข้อมูล

Posted: 17 Oct 2013 06:31 PM PDT

 

 

18 ต.ค.56 คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์ได้มีการประชุมในวันนี้ (18 ต.ค.) โดยมีหนึ่งในวาระพิจารณาเกี่ยวกับระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการในการให้การสนับสุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการต่างๆ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงาน 1.ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2.ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3.ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) 4.อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 5.ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ต.ค.) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 40 ปี 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เจ้าภาพจัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า กมธ.ชุดดังกล่าวเรียกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ลงโฆษณาหนังสือ ย้ำยุค รุกสมัย ไปให้ข้อมูล

ทั้งนี้ หนังสือย้ำยุค รุกสมัย: เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา จัดพิมพ์โดยมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นหนังสือรวมบทสัมภาษณ์นักวิชาการชื่อดังและอดีตญาติผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งต่างๆ เช่น ธงชัย วินิจจะกูล, ประจักษ์ ก้องกีรติ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เกษียร เตชะพีระ, ละเมียด บุญมาก, พะเยาว์ อัคฮาด, อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งนำมาแจกฟรีให้กับประชาชนที่ร่วมงานวันที่ 6 และ 14 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในมีโฆษณาและคำกล่าวขอบคุณหน่วยงานทั้ง 5 หน่วยงานที่กมธ.เรียกไปให้ข้อมูล  

 

รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น