โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

“ขอห้องประชุมจารุพงษ์ฯ คืน” คุยกับเพจ ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’

Posted: 11 Oct 2013 10:25 AM PDT

'จารุพงษ์ ทองสินธุ์' หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 วันนี้มีผู้ตั้งแฟนเพจเขาขึ้นมาเพื่อทวนความจำ ทวงห้องประชุมชื่อเดียวกับนี้ พร้อมคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" 

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 37 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือนักศึกษาธรรมศาสตร์รหัส 18 จากสุราษฎร์ธานี ผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม เจ้าของฉายา "จา สิบล้อ"ซึ่งเพื่อนๆ ตั้งให้ด้วยเหตุที่เขาไม่เคยท้อถอยในการหาเหตุผลข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆเองก็อดเห็นด้วยไม่ได้ (อ่านเรื่องราวของจารุพงษ์ เพิ่มเติมได้ที่ 15 เรื่องเพื่อทำความรู้จักกับ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" หนึ่งในผู้เข้าสอบ 6 ตุลาคม 2519)

20 ปีต่อมากลุ่มเพื่อนเขาได้ร่วมกันปรับปรุงห้องในอาคารกิจกรรมนักศึกษาห้องหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และตั้งชื่อห้องนั้นว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของหมู่เด็กกิจกรรมรุ่นใหม่ ในฐานะที่พักพิงและพื้นที่ทำกิจกรรมของเหล่านักนักศึกษา แต่ล่าสุดจากการปรับปรุงอาคารดังกล่าวดูราวกับว่าห้องจารุพงษ์จะหายไปเสียแล้ว

เพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ที่เพิ่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ พร้อมทั้งปลุกจารุพงษ์ขึ้นมาอีกครั้งในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นใบหน้าอันยิ้มแย้มของจารุพงษ์ และมีการปล่อยวิดีโอคลิปที่ชื่อว่า "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" ซึ่งหมายถึงบททดสอบจากเหตารณ์ 6 ตุลานั่นเอง แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่สอบไม่ผ่านก็คือ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์"

วิดีโอคลิป"การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Charnvit Ks) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมข้อความในเชิงตั้งคำถามถึงห้องจารุพงษ์ฯ เช่นเดียวกับ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์ภาพรณรงค์ "อย่าลบจารุพงษ์ ออกจากธรรมศาสตร์" จากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง (Fay Suwanwattana) พร้อมกับกล่าวว่า "อย่าลบชื่อ "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ในตึกกิจกรรมนักศึกษา มธ. ท่าพระจันทร์ออกไป"

ประชาไทสนทนากับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจและผู้ทำวิดีโอคลิปดังกล่าวเพื่อสำรวจแนวคิดของการปลุกจารุพงษ์ขึ้นมา

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ประชาไท : ทำไมถึงทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้นมา?

แอดมินเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" : ในปี พ.ศ. 2555 เคยได้พบกับเพื่อนของจารุพงษ์ที่ท่าพระจันทร์ เขาสอบถามว่าป้าย "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" หน้าตึกกิจกรรมนักศึกษาหายไปไหน ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นกลุ่มที่เป็นคนร่วมกันเปิดเป็นห้องจารุพงษ์เมื่อปี 2539 หลังจากที่ได้พูดคุยกับเขา เราก็ติดตามสอบถามเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยมาตลอด แต่ก็ได้รับคำตอบจากทุกคนที่ไปถามว่า "ติดแน่ๆ" ต่อมาพอทราบว่าตึกกิจกรรมเปิดแล้วแต่ปรากฏว่าป้ายชื่อจารุพงษ์หายไป ก็เลยรู้สึกเสียดายที่สุดท้ายห้องหายไปดื้อๆ โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

ในที่สุดพอได้รวมกลุ่มกันกับเพื่อนๆ ที่อยากทำเรื่องนี้ ก็เลยได้ร่วมกันทำเพจ "จารุพงษ์ ทองสินธุ์" ขึ้น เพื่อเล่าเรื่องราวของจารุพงษ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่ามันมีคนแบบนี้อยู่ เข้าใจว่าหลายคนที่เคยเห็นคำว่า "ห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์" ก็คงสงสัยเหมือนกันว่าคนคนนี้เป็นใคร เพราะเขาไม่เหมือน "เรวัต พุทธินันทน์" หรือ "ประกอบ หุตะสิงห์" เขามีห้องหลังจากเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว

วิดีโอคลิป "การสอบที่ยากที่สุดของธรรมศาสตร์" นั้น ต้องการจะสื่อถึงอะไร?

เริ่มมาจากการที่เรานัดประชุมกันยากมาก เพราะมหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการสอบในช่วงต้นเดือนตุลา รวมทั้งวันที่ 6 ตุลาเสมอ เราก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี จะไปร่วมงานตอนเช้าก็ไม่ได้เพราะติดสอบ พอนัดประชุมกันไม่ค่อยได้เพราะสอบนี่ยิ่งทำให้ติดใจมากๆ ว่าทำไมนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำอะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลาไม่ได้ เรื่องติดสอบเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากๆ

พอสืบค้นเรื่อง 6 ตุลามากขึ้นก็พบว่า หลายคนที่รอดชีวิตมาเล่าว่ารุ่งเช้าวันนั้น (6 ตุลา) หลายคนอ่านหนังสือโต้รุ่งอยู่เพราะมีสอบเหมือนกัน เลยปิ๊งความคิดขึ้นมาว่า พวกเขาเองก็มีสอบวันนั้น แต่ใครจะไปคิดว่าพอเช้ามาหลายคนถูกทดสอบด้วยชีวิต มันก็เลยกลายมาเป็นคอนเซ็ป  "การสอบที่ยากที่สุดของเด็กธรรมศาสตร์" เพราะเราอยากให้เพื่อนที่กำลังสอบสนใจเรื่องนี้ เป็นการพยายามขยายความสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาออกไปด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ๆ

คนทำทั้งวิดีโอและเฟนเพจนี้เป็นใคร?

เรามีกันหลายคนเป็นทั้งเด็กธรรมศาสตร์ที่ยังเรียนอยู่และจบไปแล้ว

ภาพจากเพจจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ปัจจุบันมีการพยายามนำเสนอเรื่องราว 6 ตุลาแบบล้อเลียน (parody) หลายคนรู้สึกรับไม่ได้ ขณะที่บางส่วนเห็นว่ามันกระจายและสร้างความรับรู้กับเหตุการณ์มากขึ้น ทางแอดมินมองการนำเสนอในลักษณะนี้อย่างไร?

ที่จริงแล้ว ด้วยความที่ภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลามันโหดร้ายรุนแรงมาก การทำออกมาในรูปแบบดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดในการพูดถึง 6 ตุลา แต่เราก็ควรมองหาการเพิ่มพื้นที่ในการที่จะเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาในแบบอื่นด้วย สำหรับผู้สูญเสียในยุคนั้นหลายคนแม้จะเจ็บปวดแต่ก็เข้าใจดี นับว่าน่านับถือในจิตใจของพี่ๆ เขามาก

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาตลอด แต่ไม่เคยมีการลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงหรือชำระความจริง ปัจจุบันก็มีการพยายามเสนอเรื่องการปรองดอง แอดมินมองเรื่องนี้อย่างไร?

ถ้าคำว่าปรองดองหมายถึงการสมานฉันท์ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและความยุติธรรม ก็เป็นเรื่องที่รับได้ แต่ถ้าหมายถึงการลบล้างความผิดให้แก่ผู้ก่ออาชญากรรมที่ฆ่าล้างคน นั่นก็ไม่ใช่การปรองดอง

มีคนชอบบอกว่าประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 6 ต.ค.19 หรือความรุนแรงอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ เมษา-พ.ค.53 ได้?

ยิ้มก็ไม่ได้แปลว่าไม่โหดร้ายนี่นา

นักศึกษาในธรรมศาสตร์รู้จักจารุพงศ์และเหตุการณ์ 6 ตุลา มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หรือบุคคลเหล่านี้หรือไม่?

ถ้ามหาวิทยาลัยพยายามเล่าเรื่องราวของ 6 ตุลาอย่างจริงจังในทุกด้านย่อมต้องมีคนสนใจและให้ความสำคัญแน่นอน ส่วนในกรณีของจารุพงษ์ ก่อนหน้าที่จะทำเรื่องราวของเขาขึ้นมา แทบไม่มีใครในยุคนี้ที่รู้จักเลย เพื่อนๆ คนแรกๆ ที่ขอให้กดไลค์มักจะถามกลับมาว่าใครเหรอ (หัวเราะ)

ตอนนี้ต้องขอบอกว่าดีใจมากที่คนจำนวนมากให้ความสนใจเรื่องของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เขาอาจจะเป็นหนึ่งในเหยื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาท่ามกลางเหยื่ออีกหลายคน แต่ยิ่งมีการพูดถึงจารุพงษ์มาก ก็ยิ่งมีคนพูดถึง 6 ตุลามาก ยังมีเรื่องของจารุพงษ์ที่เราต้องพูดถึงอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อห้องประชุมที่หายไปจากตึกกิจกรรมนักศึกษาท่าพระจันทร์ เราอยากให้ทุกๆ คนช่วยกันส่งต่อและสนับสนุนให้ชื่อจารุพงษ์ยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ไม่ถูกลบเลือนหายไป

"และขอเรียนไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าอย่าลบจารุพงษ์ออกจากธรรมศาสตร์ ขอห้องประชุมจารุพงษ์ ทองสินธุ์กลับคืนมานะคะ" – แอดมินเพจ จารุพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหมืองทองเลยระอุ อบต.เขาหลวงเข้ารื้อที่กั้นทางของชุมชน ตำรวจนับ 100 คุ้มกัน

Posted: 11 Oct 2013 09:38 AM PDT

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย แจ้งข่าว นายก อบต.เขาหลวงเข้ารื้อถอนบล็อกคอนกรีตกันรถบรรทุกแร่และสารเคมีอันตรายผ่านถนนของชุมชน พร้อมกำลังตำรวจคุ้มกันนับ 100 เผยเคยมีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมไอ้โม่งพกอาวุธปืนทุบรื้อกำแพงที่ชาวบ้านสร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง
 
 
 
 
 
แนวกั้นถนนใหม่ที่ถูกรื้อแล้ว
 
เช้าวันนี้ (11 ต.ค.) ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย แจ้งข่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.นายก อบต.เขาหลวง ได้นำรถแทรกเตอร์มารื้อถอนบล็อกคอนกรีตที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีอันตรายผ่านถนนของชุมชน โดยระหว่างดำเนินการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายคอยกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าถึงบริเวณดังกล่าว และใช้เวลาในการรื้อถอนอยู่ประมาณ 10 นาที
 
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีพนักงานของบริษัททุ่งคำจำกัด อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ส่วนชาวบ้านหลายสิบคนที่ได้แต่เฝ้ามองอยู่โดยรอบถึงกับน้ำตาคลอ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ ณ เวลาที่รายงานคือ 15.30 น. กำลังตึงเครียด เนื่องจากชาวบ้าน 6 หมู่บ้านเมื่อทราบข่าวการรื้อบล็อกตั้งแต่ช่วงเช้าได้ทยอยเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณสี่แยกดังกล่าวซึ่งเป็นทางเข้า-ออกหลักของเหมือง คาดว่ามีจำนวนกว่า 200 คนแล้ว เกรงว่าช่วงเย็นนี้ หากถึงเวลาที่คนงานเหมืองเลิกงานและมีการสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวที่ชาวบ้านรวมตัวกันอยู่จะเกิดความขัดแย้งขึ้น
 
ทั้งนี้ บล็อกดังกล่าว สร้างขึ้นภายหลังจากที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านใน ต.เขาหลวง ทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 6 ก.ย.56 เพื่อออก 'ระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก' ซึ่งมีข้อห้ามที่ตกลงกันว่า ห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตัน และการขนสารเคมีอันตรายเข้ามาในชุมชน เพื่อป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของคนในชุมชน และหลังจากออกระเบียบชุมชนดังกล่าวชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างแนวกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้รถบรรทุกผ่านทางสาธารณะบริเวณสี่แยกที่ตัดกับทางเข้าเหมือง
 
ในเวลาต่อมา บริษัททุ่งคำจำกัดแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจำนวน 14 คน ว่าการสร้างกำแพงของชาวบ้านทำให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบการของบริษัทฯ โดยเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม คดีความดังกล่าวยังอยู่ในชั้นศาล โดยศาลยังไม่ได้ให้การคุ้มครองครองชั่วคราวดังที่บริษัทยื่นขอไปหลายครั้ง
 
ต่อมาเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกไอ้โม่งพกอาวุธปืนเข้าไปทำการทุบรื้อกำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันนำบล็อกคอนกรีตมาตั้งไว้แทนกำแพงเดิม โดยยืนยันเจตนาของชุมชนที่ออกระเบียบชุมชนฯ เพื่อดูแลและป้องกันเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ราษฎร บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจง ได้งบ สสส. 2 ล้าน ฟื้นฟูการดำเนินงาน หลังได้รับผลกระทบไฟไหม้ช่วง พ.ค.53

Posted: 11 Oct 2013 08:29 AM PDT

หลังมีผู้ร้องต่อดีเอสไอ ให้ตรวจสอบ สสส. กรณีอนุมัติเงิน "ผิดวัตถุประสงค์" มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจง ได้งบ 2 ล้านจาก สสส. ฟื้นฟูการดำเนินงาน หลังอาคารสำนักงานได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ช่วง พ.ค.53 เพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคได้

สืบเนื่องจากกรณี ธำรง หลักแดน รองประธานชมรมนักกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐ (กพผร.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกรรมการทั้งคณะรวม 17 คน กรณีที่กระทำผิดมิชอบโดยให้ความเห็นชอบอนุมัติเงินจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 3 ล้านบาท เป็นค่าปรับปรุงอาคารให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วานนี้

วันนี้ (11 ต.ค.56) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ชี้แจงว่า หลังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันบริเวณอนุสาวรีย์ชัย และลุกลามมายังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ซึ่งอยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้ทรัพย์สินและอุปกรณ์สำนักงานของมูลนิธิฯ เสียหายเกือบทั้งหมดจนไม่สามารถทำงานได้ มูลนิธิฯ จึงจัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถฟื้นฟูและปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยเร็ว และเพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในขณะนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกำหนดเวลาของโครงการ

โดยก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ ได้แจ้งขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะอ้างว่า มูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายจากไฟไหม้ที่เป็นผู้ค้าขาย นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้รับความช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงิน และอุปกรณ์สำนักงาน จากประชาชน และองค์กรต่างๆ จนทำให้มูลนิธิฯ สามารถกลับมาให้บริการประชาชน และปฏิบัติงานในสำนักงานเดิมได้เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2553

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ในหลายกรณีที่สำคัญ ทั้งยังแสดงบทบาทด้านสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักธรรมภิบาลในการพัฒนาสังคม จึงหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีบุคคลและกลุ่มใดนำไปผูกโยงกับการเมือง

 

000000

 

แถลงการณ์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่องเงินสนับสนุนจาก สสส.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงการณ์ได้รับการสนับสนุนการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติพฤษภาคม 2553 งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคได้

19 พฤษภาคม 2553 อาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันบริเวณอนุสาวรีย์ชัย และลุกลามมายังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ซึ่งอยู่ติดกัน ทำให้ทรัพย์สินและอุปกรณ์สำนักงานของมูลนิธิฯ เสียหายเกือบทั้งหมด จนไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ในการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ทั้งการให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน การจัดทำนิตยสารฉลาดซื้อ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงให้ผู้บริโภคใช้สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลังจากเกิดเหตุการณ์ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้ทำจดหมายถึง สสส. เพื่อขอขยายเวลาในการจัดทำโครงการจำนวน 2 โครงการที่ได้รับการสนับสนุน อันได้แก่ 1)โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ภายใต้แผนงานอุบัติเหตุ ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2552-28 กุมภาพันธ์ 2554 และ 2) โครงการปฏิบัติการองค์การอิสระผู้บริโภค (จำลอง) ภายใต้แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ กันยายน 2552-สิงหาคม 2554 ต่อ สสส. เนื่องจากไม่สามารถทำโครงการให้แล้วเสร็จได้ตามเวลาที่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้น และได้จัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถฟื้นฟูและปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยเร็ว และเพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ในขณะนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกำหนดเวลาของโครงการ

ก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ ได้แจ้งขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานเขตราชเทวี แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะอ้างว่า มูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายจากไฟไหม้ที่เป็นผู้ค้าขาย นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้รับความช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงิน และอุปกรณ์สำนักงาน จากประชาชน ผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภค ที่มีสมาชิกมากกว่า 250 องค์กรใน 115 ประเทศ ทั่วโลก จนทำให้มูลนิธิฯ สามารถกลับมาให้บริการประชาชน และปฏิบัติงานในสำนักงานเดิมได้เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2553

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ในหลายกรณีที่สำคัญ เช่น

1. ผู้บริโภคใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเองเพิ่มขึ้น โดยมูลนิธิฯ มีศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้บริการคำแนะนำ ให้ผู้บริโภคแก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ในแต่ละปี สนับสนุนการใช้สิทธิ การเจรจาไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 1,500-2,000 รายต่อปี การจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง พัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานจากปัญหาแคลิฟอเนียร์ฟิตเนสว้าว การบังคับใช้กฎหมายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม การยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ สร้างความตื่นตัวเรื่องความไม่เป็นธรรมด้านการเงินการธนาคาร เป็นต้น

2. การใช้ข้อมูลเพื่อการเลือกซื้อสินค้า ผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ เป็นนิตยสารรายเดือน ตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 20 ปี เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ผลการทดสอบที่เป็นจริงให้กับผู้บริโภค ในการใช้เป็นข้อมูลเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

3. พัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ เรื่องหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญ) นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร และผลกระทบของเขตการค้าเสรีต่อผู้บริโภค

4. สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค ให้มีการทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์เกือบ 20 ปี ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การหลอก การโกง ที่ยังมีทุกวัน และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นอกจากนี้มูลนิธิฯยังได้แสดงบทบาทด้านสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักธรรมภิบาลในการพัฒนาสังคม มูลนิธิฯ หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีบุคคลและกลุ่มใดนำไปผูกโยงกับการเมือง

มูลนิธิฯ จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกัน.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

11 ตุลาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังความเห็นร่างกฎหมายน้ำ คปก. วางหลักสิทธิเข้าถึง มีมาตรการป้องกันเตือนวางแผนป้องกันน้ำท่วม

Posted: 11 Oct 2013 07:36 AM PDT

11 ต.ค. 56 - คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น "ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ...."  ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า  บทบาทสำคัญของคปก.คือการให้คำปรึกษาร่างกฎหมายแก่ภาคประชาชน โดยร่างฯฉบับนี้เป็นความริเริ่มขององค์กรภาคประชาชนที่เสนอให้คปก.จัดทำ โดยที่ผ่านมากระบวนการจัดทำกฎหมายของคปก.มีสองแนวทางคือ 1.การศึกษา ค้นคว้าทางวิชาการ 2.การรับฟังความเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ทั้งนี้พบประเด็นที่สำคัญคือ ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญต่อคนทุกคน ไม่ควรถูกผูกขาดจากคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติอาจจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ประกอบกับปัจจุบันพบว่า การจัดการทรัพยากรน้ำยังคงมีปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำอุทกภัย ปัญหาน้ำขาดแคลน มลพิษทางน้ำ ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งและการระบายน้ำในช่วงอุทกภัย รวมไปถึงการสูญเสียความสมดุลของน้ำในระบบนิเวศทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
"มาตรการจัดการน้ำกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติจะต้องมีแผนก่อนโดยการจัดทำแผนควรมาจากระดับฐานรากตั้งแต่ระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับลุ่มน้ำ โดยมีแนวทางสำคัญคือ มองภาพวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งต้องมองในระยะยาวโดยเน้นไปที่การป้องกัน การเชื่อมโยง และต้องมีแผนจัดการในระยะยาว อีกทั้งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นกรณีพิเศษในระยะชั่วคราวให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการได้" 
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดการน้ำที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยรัฐแต่ในระยะ4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าชุมชนเข้ามาจัดการเรื่องน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาเรื่องน้ำ ดังนั้นการมีกฎหมายต้องตอบโจทย์การมีส่วนร่วม และควรอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ 1.การให้สิทธิในการเข้าถึงเรื่องน้ำ 2.จัดระบบมาตรการบริหารต้องจัดการร่วมกัน 3.นำไปสู่การจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาภาพและสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์ที่ดำรงอยู่ 4.มีมาตรการในการป้องกัน และหลีกหนีภาวะวิกฤติของน้ำ ตนเชื่อว่าหากมีหลักการเหล่านี้จะสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ในภาพรวมของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารองค์กร และเพิ่มบทบาทองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในประเทศไทย นอกจากการรับมือแล้ว ตนเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำมากขึ้น 
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า น้ำเป็นของส่วนรวมเพียงแต่การจัดการน้ำควรอยู่ที่ใคร และจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในรูปแบบใดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน หลักการจึงควรวางหลักการพื้นฐานให้เป็นหลักประกันว่า น้ำประเภทใดบ้างที่จะต้องได้รับการดูแลก่อนหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการดำรงชีพ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อระบบนิเวศ และน้ำเพื่อจารีตประเพณี ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่ารัฐจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น กรณีมีโครงการทุกระดับรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึงและต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
 
"หากพิจารณาองค์กรจัดการน้ำจะมีอยู่ 4 ระดับ เราออกแบบว่าควรมีระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง4  ระดับต้องทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งมีประเด็นตามมาในเรื่องกองทุนน้ำ กฎหมายฉบับนี้ได้ออกแบบให้เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ส่วนแหล่งทุน จะมาจากภาษีเกี่ยวกับน้ำตามที่กำหมายกำหนด และส่วนหนึ่งจะมาจากเงินงบประมาณประจำปีหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยกองทุนนี้มุ่งหมายให้ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาและองค์กรผู้ใช้น้ำ  อีกทั้งสนับสนุนชุมชนในการร่วมพัฒนา ฟื้นฟู คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ" 
 
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำ ซึ่งในร่างฯดังกล่าวได้กำหนดการแบ่งประเภทการจัดสรรน้ำออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน 2.การใช้น้ำเพื่อการเกษตรรายย่อย การอุตสาหกรรมในครัวเรือน 3.การใช้น้ำเพื่อจารีตประเพณี รักษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4.การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นตามที่กนช.กำหนด 5.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ  ในร่างฯดังกล่าวระบุชัดว่า การใช้น้ำประเภทที่ 4 และ 5 จะต้องจ่ายค่าใช้น้ำ และได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการปฏิบัติ ปริมาณน้ำสูงสุดที่อนุญาต ระยะเวลาที่จำเป็นแก่การควบคุมคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดงานวิจัยยุทธศาสตร์ข้าวไทย แจกแจงความสูญเสียของการรับจำนำข้าว

Posted: 11 Oct 2013 07:25 AM PDT

นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2555 รัฐบาลได้รับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 และข้าวนาปรัง 2555 รวมทั้งสิ้น 21.76 ล้านตันข้าวเปลือก (คิดเป็นข้าวสารทั้งสิ้น 13.38 ล้านตัน) ถ้าคิดเฉพาะการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 ก็กล่าวได้ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการนำข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ เพราะปริมาณการรับจำนำ (14.8 ล้านตัน) สูงกว่าปริมาณการผลิตที่คาดคะเนโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (12.2 ล้านตัน)
 
อย่างไรก็ตาม จากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ"ยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยพัฒนาข้าวไทยและการมองไปข้างหน้า" โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าโครงการนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการคลังและการค้าข้าวของไทย
 
รายงานฉบับดังกล่าวได้สรุปการรั่วไหลและความสูญเสียอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้
 
หนึ่ง เงินรั่วไหลก้อนแรก คือเงินที่ซื้อข้าวจากชาวนาบางส่วนรั่วไหลไปยังโรงสีและชาวนาในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีโรงสีบางแห่งลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์การจำนำ ไม่มีใครทราบว่ามีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นจำนวนเท่าไร แต่นักวิชาการในกัมพูชาคาดว่าอาจมีข้าวหลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย[1]
 
สอง การรั่วไหลที่สำคัญเกิดจากการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในทุกขั้นตอนการรับจำนำ เริ่มจากเกษตรกรบางรายร่วมกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าความจริง โรงสีบางแห่งซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาตลาด แล้วนำมาสวมสิทธิ์ หรือลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โดยใช้ชื่อของเกษตรกรบางคน โรงสีหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในข้าวของชาวนาเกินความจริง โรงสีบางแห่งร่วมมือกับเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดส่งข้าวต่ำกว่าจำนวนที่ต้องส่ง และ/หรือส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดังของรัฐบาล หรือมีข่าวว่ามีนายหน้านักการเมืองวิ่งเต้นนำข้าวของรัฐบาลไปขายให้ผู้ส่งออกบางคนและโรงสีบางแห่ง รวมทั้งโรงสีบางแห่งต้องจ่ายเงินค่าวิ่งเต้นเพื่อขออนุญาตข้ามเขตไปซื้อข้าวในจังหวัดอื่น โครงการรับจำนำจึงก่อให้เกิดการทุจริตที่เป็นระบบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแค่การทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางจุด
 
สาม โครงการรับจำนำก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม การรั่วไหลที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการถ่ายโอนเงินภาษีจากมือของประชาชนผู้เสียภาษีไปสู่ชาวนา โรงสี และนักธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเป็นการถ่ายโอนเงินจากชาวนาและโรงสีที่สุจริตไปสู่มือของผู้ทุจริต แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีความเสียหายอีก 4 ประเด็น
 
ประเด็นแรก คือการที่รัฐบาลเก็บข้าวไว้ในโกดังกลางเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี (เพราะรัฐขายข้าวไม่ได้) ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ งานวิจัยพบว่าการเก็บข้าวไว้ในโกดังแบบปกติ (คือไม่มีห้องเย็นหรือระบบ airtight) จะทำให้ข้าวเหลืองและมีมอด เช่น ใน 3 เดือนแรก ดัชนีความขาวจะลดลงจากร้อยละ 51.5 เหลือ 49.5 แมลงจะเพิ่มขึ้น 23.2 ตัวต่อกิโลกรัม ถ้าเก็บไว้ 6 เดือน ความขาวจะลดลงเหลือร้อยละ 49 และแมลงจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ตัวต่อกิโลกรัม หากสมมติว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มูลค่าข้าวลดลงร้อยละ 5 ต่อปี ก็แปลว่ามูลค่าข้าวในโกดังจะหายไปปีละกว่า 5,266 ล้านบาท
 
ประเด็นที่สอง คือการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวของไทยให้คู่แข่ง[2] เพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งมาก[3] และรัฐไม่มีความสามารถในการขายข้าวเหมือนพ่อค้าส่งออก การที่รัฐไม่ยอมส่งออกข้าวในราคาตลาด (เพราะเชื่อว่าจะขายข้าวได้ในราคาแพงในภายหลัง) รัฐบาลจึงปล่อยให้ประเทศอื่นขายข้าวก่อน ผลก็คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงกันยายน 2555 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงเหลือ 6.7 ล้านตัน เทียบกับการส่งออก 12.1 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2554) ทำให้รายได้จากการส่งออกของประเทศลดลงจาก 1.99 แสนล้านบาทในช่วงเดือนตุลาคม 2553 ถึงกันยายน 2554 เหลือเพียง 1.43 แสนล้านบาทในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงกันยายน 2555 การส่งออกข้าวที่ลดลงนี้เป็นตัวฉุดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลที่ตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
ประเด็นที่สาม คือการสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าว ซึ่งเกิดจากการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวคุณภาพ 2 ชนิดที่ไทยเคยขายได้ในราคาสูง เพราะมีอำนาจกำหนดราคา ตลาดแรกคือการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์เพียรพยายามสร้างตลาดส่งออกมาเป็นเวลากว่า 20 ปี การเก็บข้าวหอมไว้ในโกดังเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ข้าวหอมหมดความหอม และกลายเป็นข้าวแข็ง ข้าวหอมที่เคยส่งออกได้ในราคาสูงกว่าตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐจะหมดราคา กลายเป็นข้าวหอมคุณภาพต่ำ ราคาอาจลดลงเหลือ 600-800 ดอลลาร์สหรัฐ
 
การสูญเสียตลาดข้าวราคาสูงอีกประเภทหนึ่ง คือการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนึ่งที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยใช้เวลากว่า 40 ปีในการพัฒนาตลาดข้าวนึ่งแข่งกับอินเดีย โดยสามารถนำข้าวเปลือกธรรมดามานึ่ง ก่อนจะสีแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาบางประเทศ ในช่วงปี 2552-2554 ไทยขายข้าวนึ่งในราคาเฉลี่ยตันละ 567 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าข้าวขาว 5% ตันละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ
 
การส่งออกข้าวนึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ โดยในปี 2553 ไทยส่งออกข้าวนึ่ง 3.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 53,866 ล้านบาท แต่การรับจำนำข้าวที่กำหนดให้โรงสีในโครงการต้องแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งส่งออกได้
 
ประเด็นที่สี่ การสูญเสียตลาดส่งออกข้าวมีผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าว กล่าวคือ เมื่อการส่งออกข้าวของไทยลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ พ่อค้าข้าวส่งออก นายหน้าผู้จัดหาข้าวให้ผู้ส่งออก พนักงาน และลูกจ้างในธุรกิจการส่งออกและธุรกิจโลจิสติกส์จำนวนหลายหมื่นคนต้องตกงาน เพราะไม่มีข้าวให้ซื้อขาย ทางเลือกของนักธุรกิจข้าว พ่อค้าส่งออกข้าว และแรงงานเหล่านี้มี 3 ทางคือ หนึ่ง เข้าร่วมโครงการรับจำนำ รวมทั้งเข้าร่วมกระบวนการทุจริต สอง โยกย้ายไปทำธุรกิจนอกประเทศ และสาม เลิกประกอบธุรกิจข้าว แล้วหันไปทำอาชีพอื่น
 
สี่ ความสูญเสียอีกรายการหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของชาวนา โรงสี และโกดัง ที่ต้องการหากำไรส่วนเกินจากโครงการ (rent seeking activities)[4] ชาวนาจะขยายพื้นที่และเพิ่มรอบการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดมาขายให้รัฐบาล ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวถีบตัวขึ้นจนกว่าจะสูงเท่ากับราคารับจำนำ 15,000 บาท นอกจากการสิ้นเปลืองน้ำและปัจจัยการผลิตต่างๆ แล้ว ชาวนาจะลดพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้ผลผลิตอาหารประเภทอื่นลดลง
 
โรงสีเองก็กู้เงินมาขยายกำลังการผลิต ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตในการสีข้าวถึง 90 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีผลผลิตข้าวให้สีเพียงปีละ 35 ล้านตัน กำลังการผลิตส่วนเกินของโรงสีนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีค่าโดยเปล่าประโยชน์ พฤติกรรมนี้กำลังเกิดขึ้นกับนักธุรกิจและโรงสีในต่างจังหวัดที่ต่างพากันลงทุนสร้างโกดังให้รัฐบาลเช่าเก็บพืชผลที่รัฐบาลรับจำนำ เพราะสามารถคืนทุนในเวลาเพียงปีเดียว แม้เอกชนจะได้ผลประโยชน์คุ้มค่า แต่สังคมสูญเสียทรัพยากรที่มีค่า เพราะโกดังมิได้ทำให้ผลผลิตข้าวมากขึ้น
 
ห้า ความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และกำลังทวีความรุนแรงขึ้น คือเมื่อระบบการค้าข้าวแบบแข่งขันของภาคเอกชนถูกทำลาย และทดแทนด้วยระบบการค้าข้าวของรัฐที่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตและค้าข้าวคุณภาพสูงที่สุดในโลกเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ได้ซื้อข้าวตามคุณภาพเหมือนกับพ่อค้าเอกชน
 
รัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาเท่ากันโดยไม่สนใจคุณภาพของข้าว ราคาข้าวในโครงการรับจำนำจะต่างกันตามชนิดข้าว (เช่น ข้าวเปลือกเจ้าราคาจำนำตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิราคาตันละ 20,000 บาท) และต่างกันตามร้อยละของความชื้นและสิ่งเจือปน (กล่าวคือ ข้าวเปลือกเจ้าที่จะขายได้ราคา 15,000 บาท ต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% หากมีความชื้นมากกว่านั้นจะถูกตัดราคา 200 บาทต่อความชื้นที่เพิ่มขึ้น 1%) ดังนั้นชาวนาจึงไม่ต้องเอาใจใส่เรื่องคุณภาพของข้าวเหมือนกับการขายข้าวให้โรงสีและพ่อค้า รายรับของชาวนาขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต ยิ่งปลูกมากก็ยิ่งมีรายรับมากขึ้น ดังนั้นชาวนาจึงเร่งใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง นอกจากนั้น ชาวนาจำนวนหนึ่งยังหันมาปลูกข้าวอายุสั้น (ที่มีเมล็ดสั้นและมีคุณภาพต่ำ) เพื่อเพิ่มรอบการผลิตเป็นปีละ 3 ครั้ง หรืออย่างน้อย 5 ครั้งต่อ 2 ปี
 
ขณะที่โรงสีซึ่งอยู่ในโครงการรับจำนำก็ไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวตามคุณภาพ เพราะรัฐมิได้กำหนดเกณฑ์การรับซื้อข้าวตามคุณภาพ การตรวจรับมอบข้าวเข้าเก็บในโกดังกลางก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพของข้าวเหมือนในตลาดเอกชน ซึ่งผู้ซื้อข้าวจะตรวจสอบคุณภาพของข้าวที่ผู้ขายส่งมอบอย่างละเอียด (เช่น การนับจำนวนข้าวหักของข้าวแต่ละเกรด เป็นต้น) ข้าวที่เข้าโกดังกลางของโครงการรับจำนำจึงเป็นข้าวคุณภาพต่ำ
 
ยิ่งไปกว่านั้น การเก็บข้าวไว้ในโกดังกลางเป็นเวลานานยังทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ทั้งนี้เพราะรัฐขาดความสามารถในการส่งออกข้าว และราคาข้าวที่รัฐต้องการขายให้ตลาดต่างประเทศเป็นราคาที่สูงกว่าคู่แข่งมาก ผลก็คือ เมื่อไทยขายข้าวไม่ได้ ข้าวส่วนใหญ่จึงถูกเก็บไว้ในโกดังจนเสื่อมคุณภาพ
 
ดังนั้น นโยบายการรับจำนำจึงไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจข้าวส่งออกของไทย แต่กำลังทำลายเศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบ
 
 

[1] FAO (2012) รายงานว่าผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่ามีการลักลอบนำข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทางชายแดนไทยประมาณ 0.6-1 ล้านตันในปี 2555 ส่วน Tom Slayton and Muniroth (2012) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว คาดว่ามีการลักลอบนำเข้าข้าวเปลือกจากกัมพูชาประมาณ 6 แสนตันในไตรมาสที่ 4/2554 และลักลอบนำเข้าปลายข้าวและข้าวหักอีก 2 แสนตันในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2555 เชื่อว่าข้าวดังกล่าวถูกนำส่งโรงสีในโครงการรับจำนำที่ต้องส่งมอบข้าวหักคืนให้รัฐบาล การลักลอบส่วนใหญ่มาจากผลผลิตในจังหวัดชายแดนของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า แต่นักธุรกิจข้าวไทยเห็นว่าข้าวส่วนใหญ่ที่ลักลอบนำเข้าจะถูกนำมาสีในโรงสีที่อยู่รอบกรุงเทพฯ
 
[2] การสูญเสียรายได้จากการส่งออกจะเป็นการสูญเปล่าต่อเมื่อรัฐบาลไม่ขายข้าว หรือเก็บข้าวไว้ในสต็อกนานเกินควร จนทำให้มูลค่าข้าวลดลง แต่ถ้ารัฐบาลเลือกจังหวะขายข้าวในช่วงที่ได้ราคาดี โดยไม่เก็บข้าวไว้นานเกินไป รัฐบาลก็อาจไม่ขาดทุน หรือขาดทุนเพียงบางส่วน
 
[3] โดยปกติ ไทยขายข้าวได้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง เพราะข้าวไทยมีคุณภาพดีกว่า เช่น ในช่วงเดือนมกราคม 2551 ถึงกันยายน 2554 ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยสูงกว่าเวียดนามเฉลี่ย 77 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่โครงการรับจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (เช่น ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2555 ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยเฉลี่ย 545 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ราคาเวียดนามเฉลี่ย 434 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และราคาอินเดียเฉลี่ย 430 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน)
 
[4] นักเศรษฐศาสตร์เรียกกำไรส่วนเกินนี้ว่า "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" (economic rent) เพราะเป็นผลตอบแทนส่วนเกินจากนโยบายรับจำนำข้าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน เสวนา "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" และนิด้า

Posted: 11 Oct 2013 06:04 AM PDT

คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์จัดอภิปรายในโอกาสรำลึก 40 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" ที่นิด้า อธิการบดีร่วมกล่าวเปิดงานชี้เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย

9 ต.ค.56 เวลา 13.00 น.ที่  ห้องประชุม "จีระ บุญมาก" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์จัดอภิปรายในโอกาสรำลึก 40 ปี 14 ตุลา หัวข้อ "วีรชนจีระ บุญมาก กับเจตนารมณ์ 14 ตุลา" โดยมี ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษร จุฬาฯ ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รวมอภิปราย

ภาพซ้าย นางละเมียด บุญมาก ภรรยาจีระ

ภาพขวา จีระ บุญมาก ขณะถูกยิงเสียชีวิต

อธิการบดีเล่าถึงความผูกพันจิระกับนิด้า และคุณูปการ 14 ตุลา

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ (นิด้า) กล่าวเปิดการอภิปรายด้วยว่า คุณูปการของการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 ได้เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งผลให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางความคิดและมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ความงดงามของ 14 ตุลาไม่เพียงทำให้ประชาธิปไตยปักหลัก สร้างฐานในระบบการเมืองการปกครองของไทยเท่านั้น นักเรียน นิสิต นักศึกษาประชาชนยังได้ศึกษาถึงวีรภาพอันวีระอาจหาญของวีรชน

อธิการบดีนิด้าเล่าถึงจีระ บุญมาก ว่าเป็นนักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลาประมาณ 12.00 น. เป็นศพแรก ในวันเกิดเหตุจีระพาลูกออกไปเดินเล่นซื้อของ เมื่อกลับมาบ้านได้ฟังวิทยุรายงานข่าวว่านักเรียนนักศึกษากำลังจะก่อการจลาจล และบุกเข้ายึดวังสวนจิตรลดา จีระไม่เชื่อว่าข่าววิทยุจะเป็นความจริง จึงออกจากบ้านเพื่อมาดูสถานการณ์ จีระถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร ขอร้องว่าทหารอย่าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาวุธ แต่เขากลับถูกยิงและเสียชีวิตทันที นักศึกษาประชาชนได้นำธงชาติเข้ามาเช็ดเลือดจีระ ห่มร่างด้วยธงชาติ และนำศพขึ้นไปวางบนพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการแห่ศพข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปที่สี่แยกบ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

"ชื่อของวีรชนผู้หาญกล้าจีระ บุญมาก ได้รับการเสนอเป็นชื่อห้องประชุมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์หรือนิด้า เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปได้รำลึกถึง ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของเหตุการณ์ 14 ตุลา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์จึงไม่ลังเลที่จะร่วมกับสมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 และคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีคุณละเมียดบุญมาก ภรรยาของจีระ บุญมากเป็นรองประธานกรรมการในการจัดงานสัมมนาในวันนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจต่อความหมายที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย และเจตนารมณ์ของวีรชน เป็นการร่วมบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ช่วยเตือนใจและเตือนสติพวกเราทุกคน ถึงเรื่องราวในอดีตที่ผูกพันกับเรา" รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าว

สารคดีจีระ บุญมาก ที่นางละเมียด ภรรยาจีระ นำมาฉายในงาน

ห้องประชุม จีระ บุญมาก กับนิด้า

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี กล่าวถึงความสำคัญของห้องประชุมจีระ บุญมาก กับนิด้าเนื่องจากที่นี่เริ่มต้น 2509 ในช่วงแรกสร้างตึกแล้วไม่มีการตั้งชื่อเฉพาะ ห้องประชุมจีระ ในฐานะที่เขาเป็นเป็นอาคารแรกที่มีการตั้งชื่อ ในปี 17 ทำให้เห็นว่าจีระ นักศึกษาปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความหมายมากกับนิด้า  ซึ่งหอประชุมดังกล่าวมีชั้นเดียวสามารถรองรับคนได้ 300 คน ใช้ทั้งงานรับปริญญา ปฐมนิเทศ งานสังสรรค์ จนกระทั้งปี 46 จึงมีการรื้อเนื่องจากไม่สามารถรองรับนักศึกษาที่มีมากขึ้น จนกระทั้งมีความคิดที่จะสร้างสร้างหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ที่จะรองรับคนได้มากขึ้น ดังนั้นภาระหอประชุมจีระฯ จึงลดลง อย่างไรก็ตามห้องประชุมนี้เป็นประโยชน์กับนิด้า และทุกคนที่มาก็รู้จักจีระจากห้องประชุมนี้

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ กล่าวด้วยว่าตนมีส่วนสำคัญในการทุบห้องประชุมจีระ ในปี 47 เนื่องจากขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน เพื่อสร้างอาคารที่รองรับนักศึกษาที่มากขึ้น โดยในครั้งนั้น มีอาจารย์หลายคนก็ทักท้วงว่าจะทำให้ชื่อ "จีระ" หมายไปจากนิด้า แสดงให้เห็นว่าชื่อนี้มีความสัมพันธ์กับนิด้าย่างมาก และตามโครงการที่สร้างตึกใหม่ก็มีแผนไว้แต่แรกว่าจะต้องมีห้องประชุมจิระอยู่ด้วย

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี

จีระ กับ 14 ตุลา เคลื่อนไหวด้วยความเสียสละและสันติ

เหตุที่ชื่อจีระ ถึงเป็นที่รู้จักคู่กับ 14 ตุลา ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ มองว่า เนื่องจากเวลาคนเราทั่วไปจะจำเหตุการณ์อะไรก็จะโยงภาพเข้ากับตัวเอง ถ้านึกถึงภาพ 14 ตุลา หลายคนจะเห็นหลายอย่าง มี 2 ภาพที่เห็นคือ ภาพ จีระ บุญมาก กับธงชาติที่เปื้นเลือด อีกภาพเป็น ภาพคุณก้านยาว (ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ มีชื่อเดิมว่า ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว)ดังนั้นคุณจีระยังอยู่ในจินตภาพของคนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา

ก่อนถูกยิงคุณจีระ เขาออกจากบ้าน หลังจากฟังข่าวกรมประชาสัมพันธ์ แล้วคนรู้สึกว่าไม่จริง เมื่อไปที่เกิดเหตุเห็นว่าช่ากลกับทหารเผชิญหน้ากัน คุณจีระต้องการให้ช่างกลใจเย็นๆ แล้วเอาส้มกับธงชาติ เดินไปหาทหาร ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนนั้นต้องการสันติ ต้องการปรองดอง ดังนั้นเมื่อดูจาก จีระ แสดงให้เห็นว่าเป็นกระแสที่รักความเป็นธรรม ประชาธิปไตยด้วยใจบริสุทธิ์ และสันติ บวกกับเป็นนักศึกษาปริญญาโท มีครอบครัวแล้ว ทำให้คนเห็นถึงความเสียสละสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงไปกระตุ้นความรู้สึกกับคนอื่น คุณจีระจึงเป็นจิตภาพสะท้อนคนที่เคลื่อนไหวด้วยความเสียสละและสันติ

การเปลี่ยนแปลง 3 ด้านหลัง 14 ตุลา

ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ กล่าวว่าหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. สร้างการเปลี่ยนแปลงกับประเทศไทยใน 3 ด้าน

  1. วัฒนธรรม ในส่วนที่เปลี่ยนอย่างต่อเนื่องคือความรู้สึกที่ว่าสังคมไทยต้องมีประชาธิปไตย ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไม่ต่อเนื่องคือเรื่องของจิตใจนักศึกษาช่วงนั้นกระแสหลักคือมีจิตอาสา มีส่วนช่วยให้คนรุ่นนี้มีจิตใจสาธารณะที่กระตือรือร้นเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม แต่สิ่งนี้ไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันนักศึกษามีลักษณะที่เหมือนก่อน 14 ตุลา คือเป็นแบบสายลมแสงแดด
  2. มหาวิทยาลัยรับแนวคิดของประชาธิปไตยมาใช้ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร จากที่ก่อนหน้านี้ทหารจะเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัย โดยนิด้าเป็นที่แรกที่มีการสรรหาอธิการและมีการเลือกตั้งคณะบดี ทำให้มีบรรยากาศที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจากรัฐบาลขึ้น มีอิสระในทางวิชาการ ทหารหมดบทบาทลงในมหาวิทยาลัย
  3. เศรษฐกิจ โดย 14 ต.ค. ทำให้ไทยปฏิรูประบอบเศรษฐกิจโดยปล่อยให้ตลาดเป็นเสรี เพราะทหารถูกลดบทบาทลงในทางเศรษฐกิจ

14 ตุลา กับการพัฒนา

ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวว่าคุณจีระเป็นคนต้องการความสันติ ไม่ต้องการความรุนแรง ถือธงเพื่อที่จะไปเจรจากับทหาร นิด้า ตั้งขึ้นโดยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การศึกษาเกี่ยวกัยการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตั้แต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ดันนี้ความต้องการของคนที่ทำงานหรือข้าราชการ คือต้องกาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา คุณจีระ เมื่อมาเรียนนิด้า ก็ได้ความรู้ความคิดที่จะมีส่วนร่วมให้การพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากระบอบการเมืองการปกครองเป็นเผด็จการทหาร เมื่อเริ่มต่อสู้ 14 ต.ค. ดังนั้นคุนจีระจึงสนใจและเมื่อได้ยินกรมประชาสัมพันธ์คุณจีระก็ไม่เชื่อจึงออกจากบ้านไปที่ชุมนุม

ผลของ 14 ตุลา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายประการ เช่น

  1. ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพและตื่นตัวทางการเมือง ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ จะเห็นได้ว่าหลัง 14 ต.ค. กรรมกรชุมนุมกันมากขึ้น ชาวนาตื่นตัวมากขึ้น
  2. เป็นการไปทุบหัวผู้ปกครองจนแตก หลัง 14 ตุลา ผู้ปกครองไทยไม่สามารถปกครองเหมือนเมื่อก่อนที่คนๆ เดียว สามารถปกครองได้ยาวนาน ทำให้ชนชั้นปกครองไทยแตกไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงไม่สามารถทำได้เหมือนก่อนหน้าที่จะเป็นเผด็จการระยะยาว
  3. ในทางเศรษฐกิจ 14 ตุลา ทำลายระบบการผูกขาดตัดตอน ของทุนขุนนาง เปิดทางให้ทุนขนาดเล็กและกลางสามารถใหญ่ขึ้น เพราะเมื่อก่อนนั้นทหารจะเป็นประธานบริษัท หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ทหารก็มาเป็นอธิการบดี

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เกร็ดบางเรื่องในทางประวัติศาสตร์ 14 ตุลา
รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวถึงเกร็ดบางเรื่องในทางประวัติศาสตร์ในขณะนั้นเรารู้สึกว่ารัฐบาลเผด็จการจะมาทำลายความเป็นอิสระของศาล คิดว่า ปัญหาหลักมาจาก รัฐบาลถนอม ประภาส ภาพพจน์ไม่ดี แล้วหลวงจำรูญเนติศาสตร์ (จำรูญ โปษยานนท์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอกฏหมายโบว์ดำ จากการที่รัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถควบคุมข้าราชการยุติธรรมได้ ขณะที่ข้าราชการอื่นรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ ขณะที่ข้าราชการยุติธรรม ต้องปฏิบัติตาม กต. ตัดสิน แม้แต่ทหารขณะนั้นยังสามารถควบคุมได้ ดังนั้นหลวงจำรูญจึงเสนอให้ข้าราชการอยู่ในระบบเดียวกันหมด แต่ถูกคัดค้าน ในที่สุดก็ต้องถอย จึงปิดฉากกฎหมายโบว์ดำและหลวงจำรูญ

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแห้ง โดยเมื่อปี 2513 มหาลัยทั่วประเทศรับนักศึกษาทั้งระบบ ได้เพียงหมื่นคน ขณะที่นักเรียนจบ ม.ศ. 5 27,000 คน แสดงว่ามี คนที่ไม่ได้เรียกต่อถึงหมื่นเจ็ดพันคน จึงไม่แปลกที่นักเรียนขณะนั้นสอบเข้ามหาลัยไม่ได้ก็กินยาตาย ดังนั้นโครงการที่นักการศึกษากลุ่มหนึ่งที่ ดร.สัก เป็นแกนนำ คือการตั้ง ม.ราม จึงมีความสำคัญต่อการศึกษา และนักศึกษาที่ รามฯ ก็เป็นกำลังสำคัญของการเคลื่อนไหว 14 ตุลา แต่การเมืองก่อน 14 ตุลา ดร.สักก็ต้องเข้าหาผู้มีอำนาจหรือประภาส เพื่อผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยรามฯ จนผ่าน แต่ก็กลายเป็นปัญหาการเมืองต่อมา

มองถนอมอีกมุม

รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวว่าเมื่อมองทางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปดูการบริหาร ประเทศสมัยถนอมก็ไม่ได้เลวร้ายนัก จอมพลถนอม บริหารประเทศก่อนที่จะมาเป็นนายก เพราะจอมพลสฤษดิ์ ป่วย จอมพลถนอม จึงบริหารราชการแทนในฐานะรองนายกคนที่ 1 และเรื่องภาพพจน์ทุจริตนั้นไม่ได้มีตัวเลขที่แสดงว่าถนอมร่ำรวยผิดปกติ แต่จุดอ่อนที่ทำให้ถนอนพังคือ หนึ่งการรัฐประหารตัวเอง ทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดไปรวมศูนย์อยู่ที่ถนอม สองคือการโปรโมทณรงค์ กิตติขจร มากเกิดไป ภาพพจน์ของณรงค์จึงมาทำลายถนอมเอง ในความเป็นจริงภาพถนอมนั้น มีภาพของความเป็นเป็นนายกคนซื่อเมื่อครั้งขึ้นมาสู่อำนาจแรกๆ ซึ่งถ้าตายก่อน 14 ตุลา นั้นก็อาจมีภาพเป็นฮีโร่ บังเอิญ อยู่มาถึงปี 16 ภาพจึงเป็นผู้ร้าย ดันั้นหากมองประวัติศาสตร์แล้วเข้าใจใหม่มันมีลัษณะพิเศษอยู่ ประวัติศาสตร์ที่มันจริงมันอาจเป็นอีกเรื่องกับที่เป็นอยู่เพราะมันถูกตีความอธิบายด้วยการเมือง

กลุ่มต้านถนอม ที่ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา

รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวถึงขบวนการ 14 ตุลา ว่าแม้ขบวนการนักศึกษาจะสำคัญ แต่จริงๆ มันเกิดจากกลุ่มทางการมืองที่ต้านถนอมอยู่ 3 กลุ่ม คือ

  1. พวกก้าวหน้า รวมถึงขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย นักประชาธิปไตย
  2. กลุ่มศักดินา หรือโมนากี้เซอร์เคิล กลุ่มนิยมเจ้า กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ 2 ลักษณะกับฝ่ายถนอมหรือขุนศึก หนึ่งคือการร่วมมือ โดยขุนศึกเอากลุ่มนี้มาเป็นกำแพงต้าน ฝ่ายก้าวหน้า แต่ฝ่ายอนุรักนิยมกลับเล่นบทพระรอง จึงมีความขัดแย้งจากการที่ต้องการเล่นบทหลัก และหลังจากปี 11 ความขัดแย้งก็มีมากขึ้น สถาบันกษัติรย์มีควาใกล้ชิดกับขบวนการนักศึกษามากขึ้น เสด็จทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัย มีจำนวนหนึ่งเข้าเฝ้า หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ทันยุคสมัย ดังนั้น ขบวนการนักศึกษายังไม่ได้เป็นฝ่ายก้าวหน้า ก่อนวันที่ 14 ตุลา นักศึกษาที่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัว แต่ยังไม่มาที่ชุมนุม ช่วงบ่าย วันที่ 13 ตุลา นักศึกษาที่ออกมาจากคุกนั้นก็ไปรอเข้าเฝ้า จึงกล่าวได้ว่านักศึกษาในปี 16 ไม่ได้เป็นซ้าย หรือขบวนก้าวหน้า
  3. ทหารไม่เป็นเอกภาพ มีทหารกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เอาถนอม-ประภาส เช่น พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ที่เคยเป็นคนใกล้ชิด ปรีดี แม้แต่ถนอม-ประภาสจอมพลสฤษดิ์ ก็ไม่ได้ไว้วางใจ

ดังนั้น 14 ตุลา จึ้งเป็นความขัดแย้งที่ซับซ้อน นักศึกษาจึงเป็นผู้ที่มาถูกจังหวะ จากความขัดแย้งที่เขม็งเกลียวนี้

ห้องประชุมจีระฯ ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี

นอกจากห้องประชุมจีระ บุญมาก เปลี่ยนจากห้องประชุมที่เป็นชั้นเดียวมาอยู่ชั้น 3 อาคารสยามบรมราชกุมารี ที่สร้างใหม่แล้ว ผู้สื่อข่าวสอบถามนางละเมียด บุญมาก ภรรยาจีระ พบว่าเธอยังทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่ห้องพยาบาลชั้นล่างอาคารกีฬาและสโมสรนักศึกษาในนิด้าด้วย

ภายในห้องประชุมจีระฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: อย่าคิดว่าโทษประหารชีวิตเท่ากับความยุติธรรม

Posted: 11 Oct 2013 04:53 AM PDT

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์ประชาไท เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 10 ต.ค. ของทุกปี

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์ กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "Give Up Tomorrow"  ขึ้นเพื่อถ่ายทอดประเด็น "การใช้โทษประหารชีวิต" และ "กระบวนการยุติธรรม" ผ่านภาพยนตร์ พร้อมร่วมเสวนากับ Marty Syjuco ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ โดยศิโรตม์เป็นพิธีกรร่วมพูดคุยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ด้วย

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "Give Up Tomorrow" ที่มีการฉายนั้น เป็นเรื่องราวของ "ฟรานซิสโก ฆวน ปาโก้ ลาราญากา" หรือ "ปาโก้" ชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายสเปน อดีตนักโทษประหารที่ถูกกล่าวหาในคดีฆ่าข่มขืน วัยรุ่นหญิงสองคน เมื่อปี 2540 โดยกระบวนการตัดสินคดีเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม และถูกตัดสินประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาประเทศฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหาร ทำให้ "ปาโก้" รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และในปัจจุบันเนื่องจากการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือและทวงความยุติธรรมให้ "ปาโก้" ทั้งในฟิลิปปินส์ สเปน และทั่วโลก ทำให้ปัจจุบันเขาถูกส่งไปรับโทษที่สเปน ทั้งนี้เขายังคงอุทธรณ์โทษหลายครั้งเป็นการทำทัณฑ์บนเพื่อขอกลับไปอยู่กับครอบครัว โดยเขายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด ทั้งนี้หลังการฉายภาพยนตร์ ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันชูป้ายรณรงค์ให้มีการปล่อยตัว "ปาโก้" ด้วย

โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวถึงแนวโน้มของการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยว่า "โทษประหารชีวิตในทุกสังคมจะเริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เพราะเป็นวิธีการลงโทษโบราณ มีมานานเหมือนกับจะเป็นการลงโทษที่คล้ายเป็นธรรม เป็นการลงโทษที่เหมือนกับว่าใครทำอะไรก็ได้รับอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายสังคมโทษประหารชีวิตถูกยกเลิกมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ผมคิดว่า ในที่สุดก็จะเดินไปบนเส้นทางนี้"

"คือโทษประหารชีวิตในที่สุด ไม่สามารถจะอยู่ได้ในโลกซึ่งสังคมส่วนใหญ่เขายกเลิกโทษแบบนี้ไปแล้ว หรือถ้าไม่ยกเลิกก็ระงับการประหารชีวิตในทางความเป็นจริงไปมากขึ้นเรื่อยๆ หรือต่อให้ไม่ทำแบบนั้น ในหลายๆ สังคมก็มีการลดความผิดซึ่งนำไปสู่การประหารชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าถ้าเราดูบทเรียนจากประเทศอื่น ประเทศไทยก็จะหนีวิธีแบบนี้ไปไม่พ้น"

ตัวอย่างภาพยนตร์ "Give Up Tomorrow" ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำมาฉายพร้อมพูดคุยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา

 

สำหรับภาพยนตร์ "Give Up Tomorrow" ที่มีการนำมาฉายในกิจกรรมเนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วยนั้น ศิโรตม์กล่าวถึงแง่มุมจากภาพยนตร์ที่เห็นคือ "อย่าไปคิดว่าโทษประหารชีวิตเท่ากับความยุติธรรม อย่าไปคิดแบบที่เราถูกสอนให้เชื่อว่า โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดต่างๆ ขึ้นมาในสังคม 2 เรื่องนี้เป็นมายาคติซึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ความยุติธรรมและการเอาคนมาดำเนินคดีด้วยการประหารชีวิต โดยตัวมันเองไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันว่าสังคมจะไม่เกิดความผิดแบบนี้ขึ้นอีก"

"ต้องมีสติและแยกแยะสองสามเรื่องนี้ออกจากกัน โทษประหารชีวิตก็เรื่องหนึ่ง การคืนความยุติธรรมให้คนที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายก็เรื่องหนึ่ง การป้องกันไม่ให้เกิดความผิดแบบเดียวกันก็อีกเรื่องหนึ่ง"

"เพราะบทเรียนจากทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมอื่นเอง 3 เรื่องนี้มันไม่มีความเชื่อมโยงกัน และในหลายสังคมซึ่งมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต การดำเนินคดี หรือการกระทำผิดของคนกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ได้มากขึ้นหรือเลวลง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลยว่า การใช้โทษประหารชีวิตจะทำให้คนกระทำความผิดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา อย่างที่เราคิดกัน คือ 2 เรื่องนี้เป็นมายาคติในสังคมล้วนๆ ถ้าดูในหนังเรื่องนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าเราอาจจะเห็นก็คือ การพิจารณาโทษประหารชีวิต การตัดสินว่าใครผิดต้องประหารชีวิต มีมายาคติทางชนชั้น มีการสร้างกระแสทางสังคมผ่านสื่อ มีบรรยากาศทางการเมือง มีหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง จนอย่ามั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากเกินไป ผมคิดว่าในที่สุดหนังเรื่องนี้บอกเราสั้นๆ ว่า อย่ามั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับทุกคน แม้กระทั่งกับคนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผนที่ใหม่นาซา : อีก 20 ปีกรุงเทพ…เมืองบาดาล

Posted: 11 Oct 2013 04:50 AM PDT


ท่ามกลางการรณรงค์คัดค้านและรณรงค์เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใน เขตภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนของเมืองไทยในขณะนี้นั้น พื้นอื่นของเมืองไทยที่สัมพันธ์กับพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพด้วยเลยไม่ค่อยมีใครพูดถึง

นั่นหลังจากที่ความรู้สึกหวาดผวาในเรื่องภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ "น้ำท่วม"ในปี 2554 เริ่มซาลง  ไป เหลือไว้เพียงความหวาดกลัวรายปีจนกลายเป็นความปกติของความกลัวไป โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่ได้รับผลกระทบประจำทุกปี อย่างเช่น พื้นที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพและปริมณฑล   ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่ ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี

เมื่อมีการพูดถึงผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กระทั่งปัญหา น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกันในส่วนของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่สำคัญ โครงการบริหารจัดการน้ำของเมืองไทย ไม่ได้มองเชื่อมโยงถึงระบบผังเมือง โครงการก่อสร้าง และโครงการระบบขนส่งมวลชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รางรถไฟคู่ขนานหรือโครงการรถไฟความเร็วสูง

ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำอย่างไร คำตอบก็คือ หากกรุงเทพและพื้นที่ปริมณฑล เกิดมีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและเรื้อรัง จะมิกลายเป็นว่าเมกกะโปรเจคท์เหล่านี้ เป็นการลงทุนที่เสียเปล่า ไปดอกหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ที่องค์การบริหารอวกาศและการบินของสหรัฐ(NASA) ได้แสดงให้เห็นว่าบริเวณใด บ้างของโลกจะมีปัญหาน้ำทะเลท่วมในอนาคตอีกประมาณ 20 ปี โดยโครงการวิจัย Water Level Elevation Map (Beta)ของนาซาได้ทำสำเร็จลงแล้ว (ดูประกอบงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย Hawaii Manoa พยากรณ์น้ำจะท่วมในแถบประเทศเขตร้อน - tropical zone หลายประเทศ บางประเทศสถานการณ์อาจมาถึงเร็วแค่ปี 2020 )

ความหมายก็คือ องค์การนาซา ได้เปลี่ยนแผนที่โลกเสียใหม่ ภายหลังการคาดคะเนการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณต่างๆของโลก

ข้อมูลของนาซ่าระบุว่า ในทุกๆปีจะมีคนมากกว่า 520 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหา น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 25,000 คนต่อปี นอกเหนือจากความเสียหายด้านทรัพย์สินอื่นที่เกิดขึ้นกับ ผู้ประสบชะตากรรม โดยประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด ในอัตราส่วน ประมาณกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมทั่วโลก สูญเสียมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ มากกว่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

United Nations University (UNU)  ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 มีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว มองว่าการเพิ่มของผลกระทบที่เลวร้ายของปัญหาน้ำท่วมเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำ น้ำแข็งละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกับสาเหตุอีกประการหนึ่งคือ  การตัดไม้ทำลาย ป่าที่อยู่ทั่วโลก เพราะป่าไม้เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งในการช่วยสกัดหรือผ่อนปรนไม่ให้ปัญหาน้ำท่วมมี ความรุนแรง

ดร. Janos Bogardi  ผอ.สถาบัน UNU-EHS บอกว่า เวลานี้แต่ละประเทศต้องเพิ่มการคำนวณค่าความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมในการทำโครงการระดับนโยบายต่างๆเข้าไปด้วย รวมถึงการกำหนด มาตรการและเครื่องมือในการเตรียมการป้องกันอุทกภัย เช่น ระบบการเตือนภัย ระบบการช่วยเหลือ รวมถึงระบบการประมวลข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ป้องกันและช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงที นอกเหนือไป จากการที่หน่วยงานระดับนานาชาติอย่างเช่น องค์การสหประชาชาติ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึก สากล (international mindset) ซึ่งหมายถึงการเกิดจิตสำนึกในเรื่องอุทกภัยอย่างพร้อมเพรียงกันหลาย ประเทศไม่ใช่แค่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทยเอง  (ตามแผนที่ฉบับใหม่ของนาซา ซึ่งเป็นที่รู้กันในบรรดานักซอฟท์แวร์ ที่ทำงานเชื่อมโยงกับข่ายดาวเทียมของนาซ่า รวมถึงผู้คนที่สนใจปัญหาโลกร้อน แถวซิลิคอนวัลเลย์และซานฟรานซิสโก) กรุงเทพและปริมณฑล  รวมถึงอีกหมายเมืองใกล้เคียงบางส่วนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนมาก อย่างเช่น อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จะจมอยู่ใต้น้ำ และแผนที่ใหม่ของนาซ่าฉบับเดียวกันนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นผลของการพยากรณ์ด้านสมุทรศาสตร์และด้านธรรมชาติอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงประมาณภายในสองทศวรรษหลังจากนี้

สิ่งที่ทำให้เกิดอาการช็อกจากแผนที่ฉบับใหม่ของนาซ่า ก็คือ จะไม่เหลือเมืองกรุงเทพและปริมณฑลไว้ในแผนที่

ขณะที่ฝ่ายประเทศไทยแทบไม่ใส่ใจถึงปัญหาการยุบตัวของดินตะกอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อนกันกันเลย หลังจากที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดในปี 2554 แล้วสถานการณ์และความตื่นตัวก็ลดระดับความสนใจปัญหาด้านนี้ลง ไม่มีการทำงานด้านการวิจัย และการจัดการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอ่าวไทย หรือการสร้างเขื่อนตามแนวชายฝั่ง ไล่ตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการไปจนถึงจังหวัดชายทะเลอย่างสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

รัฐบาลไทยยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เหนือกรุงเทพและปริมณฑล โดยไม่มีการบริหารจัดการด้านสมุทรศาสตร์คู่ขนานกันไป ซึ่งหากไม่มีการวางแผนจัดการปัญหาด้าน สมุทรศาสตร์ในเชิงของการป้องกัน ก็เป็นไปได้ว่าคำพยากรณ์บนแผนที่ฉบับใหม่ (กรุงเทพ) ของนาซ่าในส่วนประเทศไทยจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา ไม่ต้องพิสูจน์กันนาน เพียงแค่ราว 20 ปีก็รู้ผลว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งพื้นที่น้ำอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพและปริมณฑล แต่จะเหลืออะไรในเมื่อ พื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่แฉะ มีน้ำท่วมขังตลอดไป

และจะมีประโยชน์อะไรกับหลายโครงการเมกกะโปรเจคท์ของรัฐและหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน ที่ต้องอาศัยระยะเวลาการคืนทุนในช่วงหลายปีฅ

ทั้งจะมีประโยชน์อะไรกับ การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญๆของกรุงเทพและปริมณฑล

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกเอาปัญหานี้ มาคุยกันอย่างจริงจังมากเท่าใดนัก อย่างน้อยก็ไม่มากเท่าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เหนือกรุงเทพไล่ตั้งแต่ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เรายังขาดการบริหารจัดการในส่วนที่สุดของปลายน้ำ ซึ่งก็คือทะเลหรือมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นตัวการสำคัญบ่งชี้ชะตากรรมของคนในเขตพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล และบางจังหวัดใกล้เคียง

อย่างน้อย หากยอมแพ้ ไม่แก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมุทรศาสตร์ คือ ปล่อยให้เป็นไปตาม ธรรมชาติ  ไม่มีการด้านการวิจัยและด้านการลงทุนโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เราก็น่าจะคิดถึงเรื่องการย้าย เมืองหลวงและเมืองสำคัญๆกันได้ก่อนที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากน้ำท่วมจะเกิดขึ้น…หรือไม่???

ในสหรัฐฯเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม และผังเมืองในหลายเมืองที่ตั้งอยู่ บนฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกได้เตรียมตัวป้องกันปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแล้ว โดยอาศัยฐานข้อมูลดาวเทียมจากการคาดการณ์ของนาซ่า ซึ่งไม่เพียงมองจากมุมของสมุทรศาสตร์เพียง อย่างเดียวหากแต่มีมุมการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาผ่านระบบดาวเทียมขององค์การนาซ่าด้วย

เหมือนกับการทำแผนที่โลกใหม่ของนาซ่าในทุกมุมของโลกก็อาศัยการสำรวจและวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาเช่นกัน เช่น การเคลื่อนย้ายของเปลือกโลก ความชื้นของชั้นดิน การยุบตัวของดินในบางพื้นที่ เป็นต้น

แผนที่โลกใหม่ของนาซ่า โดยเฉพาะเมืองบาดาลกรุงเทพ ไม่ได้บอกให้พวกเรากลัวโดยไม่ลงมือทำอะไร แต่มันน่าจะบอกให้พวกเราเตรียมตัวลงมือทำอะไรสักอย่าง.
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมมิตรเสวนา เศรษฐศาสตร์ มธ.: 2 ปีนโยบายเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์

Posted: 11 Oct 2013 04:44 AM PDT

 

10 ต.ค.56 ที่โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท มีการจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 ครั้งที่ 36 เรื่อง " 2 ปีนโยบายเศรษฐกิจยิ่งลักษณ์: ความฝันกับความจริง" โดยภายในงานมีการนำเสนองานศึกษาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน, การประเมินผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษี, ความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลัง

 

ค่าแรง 300 บาท ไม่ส่งผลลบอย่างที่คาด

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ จาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศึกษาผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย , ภาคอุตสาหกรรม, การแข่งขันของประเทศ และผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ขอบเขตของการศึกษาคือไตรมาส 1/2551- ไตรมาส 1/2556 เพื่อให้ครอบคลุมช่วงก่อนจะปรับค่าแรงแบบก้าวกระโดด

ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

ผู้วิจัยกล่าวถึงความสำคัญของปัญหาว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่ดีในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเป็นเวลานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่รัฐบาลยังคำนึงถึงผู้ประกอบการที่ต้องรับภาระน้อย ส่วนกระบวนการในการประกาศนโยบายก็ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการนิยามค่าจ้างว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ผลการศึกษาอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ด้านแรงงาน มีการขยายตัวการจ้างงานต่อเนื่อง 13 เดือนติดกัน ตั้งแต่ เม.ย.55-พ.ค.56 ในอัตรา 4.75% การเลิกจ้างลดลง 31.37% คำนวณจากผู้ประกันตน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 0.9% ส่วนการเลิกกิจการและการตั้งกิจการใหม่ก็เป็นไปในลักษณะปกติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายจนต้องปิดกิจการราว 300,000 ราย กลุ่มผู้ได้รับผผลกระทบที่เสียเปรียบมากที่สุดคือ SME เพราะไม่ได้กำไรอยู่แล้วมาตรการทางภาษีที่กำหนดออกมาจึงไม่ช่วย ส่วนสภาพการจ้างงานั้น พบว่าเมื่อสัมภาษณ์แรงงานแบบลงลึกจะเห็นความพยายามเปลี่ยนสภาพการจ้างงานของนายจ้างเพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ

ในด้านอุตสาหกรรม งานศึกษาของ TDRI ประเมินว่าการขึ้นค่าจ้างและผลิตภาพของแรงงานทักษะต่ำให้เพิ่มขึ้นนั้น ต้องเพิ่มผลิตภาพถึง 8.4% จึงทำให้การเติบโตของ GDP ไม่ติดลบ แต่เมื่อดูข้อมูลอตุสาหกรรที่ใช้แรงงานเข้มข้นบ่งชี้ว่า ผลิตภาพของแรงงานคงที่และเริ่มลดลง ดังนั้น การพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ สำหรับผลกระทบต่อราคา พบว่า ระดับราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแต่อย่างใด

ด้านการแข่งขันกับประเทศในอาเซียน พบว่า ไม่พบการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการมากอย่างที่คิด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านก็ขึ้นค้าแรงขั้นต่ำตามไทย เพราะต้องการดึงเศรษฐกิจเช่นกัน


ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

ข้อเสนอแนะควรจัดความช่วยเหลือหรือสนับสนุนนายจ้างหรือลูกจ้างให้ตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม, ควรพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะแรงงานขั้นต่ำจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ พัฒาระบบค่าตอบแทนตามความสามารถ

ผู้วิจารณ์งานศึกษานี้ คือ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ จากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สรุปว่า  หากดูในรายละเอียดจะเห็นห็นว่าปี 2556 มีแรงงานใหม่ที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากปี55   คล้ายว่าก็มีการออกอาการเหมือนกันว่ามีผลต่อสถานประกอบการที่หยุดการรับคนใหม่ แต่เน้นปรับปรุงคนงานเก่า นอกจากนี้ยังขอเสนอเพิ่มเติมว่าควรต้องเริ่มศึกษาทันทีหลังประกาศนโยบาย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ว่าเมื่อถึงปลายปี 57 จะกำหนดค่าจ้งปี 58 ในทิศทางไหน

 

โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ยังขาดข้อมูลอีกมากในสายตาธนาคารโลก

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยตั้งโจทย์ 5 ข้อและพยายามตอบคำถามเหล่านั้น ทั้งนี้ งานศึกษาอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฏในสาธารณะและร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้กู้ภายใต้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนารถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ด่านศุลกากร ตามกรอบการลงทุน 7 ปี

ภาพจากการนำเสนอของวิทยากร

1) ประเทศไทยควรพิจารณาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลอ้างการจัดอันดับการแข่งขันของประเทศจาก World Economic Forum ว่า อันดับตัวชี้วัดย่อยคุณภาพของโครงสร้างพื้นานโดยรวมนั้น ไทยอยู่อันดับ 49 (ปัจจุบันตกมาอยู่ที่อันดับ 61) ส่วนข้อมูลจาก The Global Competitive Report 2012-2013 ยังบ่งชี้ว่าไทยแพ้สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย

ดังนั้นงานศึกษานี้จึงนำข้อมูลล่าสุดของ The Global Competitive Report 2013-2014 โดยเฉพาะข้อมูลเปรียบเทียบในอาเซียน โดยพิจารณาข้อมูลทั้ง 12 องค์ประกอบ พบว่า

ไทยมีความสามารถแข่งขันในภาพรวมอยู่อันดับที่ 37   (จาก 148 ประเทศ) เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 12 ด้านจะพบว่า ด้านสุขภาพและด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับแย่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและปัจจัยด้านสถาบัน ตามด้วยด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม นนวัตกรรม ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยยังไม่ใช่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการขนส่ง แต่กลับเป็นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาด้านที่ไม่ใช่วัตถุ (soft side)

2) การลงทุนตามร่างพ.ร.บฯ จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศหรือไม่ คำตอบจากการศึกษาคือ ช่วยลดต้นทุนจากการขนส่งทางถนนซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 1.72 บาทต่อตันกิโลเมตร ขณะที่การขนส่งทางรางและทางน้ำมีต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่ามาก คือ 0.93 และ 0.64 บาทต่อตันกิโลเมตร แต่สิ่งที่ขาดไปทั้งที่ควรจะมีคือ สถานีรถไฟที่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าในลักษณะสถานีขนส่งสินค้า รวมถึงถนนเชื่มต่อสถานีกับระบราง

3) จะเชื่อมต่อภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียนอย่างไร คำตอบจากการศึกษา พบว่ามีโครงการที่เชียงของ จ.เชียงราย เท่านั้นที่เป็นการพัฒนาที่ครบถ้วนมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อทางด้านเศรษฐกิจกับ สปป.ลาว เนื่องจากีท่าเรือ รถไฟรางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้าจากระบบถนนสู่ระบบราง รวมถึงด่านศุลกากร นอกจากนี้หากโครงการ 2 ล้านล้านเน้น "ขนคน" มากกว่า "ขนของ" ยุทธศาสตร์ของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปเน้นภาคบริการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลายโครงการยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้

4) ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่เป็นประเด็นที่ต้องจับตา นอกจากนี้ ตามมาตรา 6 ระบุการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติไม่ได้ระบุโครงการที่จะดำเนินการและวงเงินชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีบางโครงการมีต้นทุนสูงกว่าคาดการณ์ และ 5) ประเด็นประโยชน์สาธารณะ ในสหภาพยุโปรนั้นมีการกำหนดบริการสาธารณะ (Public Service Obligation –PSO) ชัดเจนและไม่ได้กำหนดให้รถไฟความเร็วสูงเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรต้องอุดหนุนในส่วนนี้ ที่สำคัญ ขณะนี้ที่ดินราคาพุ่งรอแล้ว รัฐควรสร้างกรอบกำหนดเงื่อนไขดึงดูดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของผู้ได้ประโยชน์จากการเข้ามาของโครงการ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีพัฒนาท้องถิ่น

งานชิ้นนี้วิจารณ์โดย ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวศ นักเศรษฐศาสร์โครงสร้างพื้นฐาน จากธนาคารโลก ซึ่งระบุว่า การกู้จากธนาคารโลกนั้นยากกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลการศึกษาต่างๆ มากมาย ละเอียด ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยก็ไม่ได้กู้กับธนาคารโลก หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) มาระยะหนึ่งแล้ว

สิ่งสำคัญสำหรับโครงการ 2 ล้านล้านคือ เรายังรู้ข้อมูลไม่มากนัก และความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับตัวโครงการยังไม่ชัดเจนเท่าไร ผลของรัฐบาลที่บอกอยากลดต้นทุนต่างๆ นั้น จะเกิดได้อย่างไรหากไม่เห็นรายละเอียดของโครงการ รวมถึงคำถามสำคัญว่า 7 ปีจะทำเสร็จทันไหม หากต้องการกู้ธนาคารโลกจริงอาจต้องดูกันใหม่

เรื่องรถไฟความเร็วสูง ขอแบ่งปันประสบการณ์ของธนาคารโลกว่า ในโลกนี้มีประมาณ 50 โครงการ ลักษณะของรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่จะสู้กับสายการบิน แต่สำหรับทริปสั้น ๆ ลำบากกต้องสู้กับรถยนตร์ , พื้นที่ที่เหมาะ ต้องมีเมืองใหญ่สองเมืองห่างกันราว 200-500 กม. (150-300 กม.ก็มีแต่ประชากรต้องเยอะ)

 

ผลกระทบการปรับโครงสร้างภาษี 7 ปี รัฐสูญกว่า 2.6 ล้านล้าน

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการประมาณการในเบื้องต้น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2563 ราว 2.32 ล้านล้านบาท  ในขณะที่การปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันอีกราว 3.5 แสนล้านบาท มูลค่าความสูญเสียดังกล่าวไม่น่าจะสามารถทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกจให้กับระบบภาษีได้ เนื่องจากเป็นการปรับโครงสร้างไม่ตรงจุด นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวยังไม่น่าจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับการแข่งขั้นของประเทศได้ เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและเงินลงทุนจากบริษัทข้ามชาติในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะสำหรับเงินได้บุคคลธรรมดา คือ การปรับโครงสร้างค่าลดหย่อน เพื่อเสริมสร้างระบบการจัดกเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพราะปัจจุบันองค์ประกอบการลดหย่อนมีมากเกินไป , สร้าง Negative Income Tax ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับเงินจากรัฐแทนที่จะเสียภาษี , การดึงดูแรงงานทักษะสูง

วิจารณ์โดย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์  ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเสนออีกมุมในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี นโยบายปรับลดภาษีของรัฐบาลนั้นอยู่ในแผนปฏิรูปภาษีในภาพรวมของ สศค.เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยระดับสากลที่ตอบชัดเจนว่าภาษี 30% ดีกว่าในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ เพราะการวิเคราะห์ควรต้องดูทั้งต้นทุนและกำไรของนโยบาย นักลงทุนต่างประเทศมักถามเสมอว่าเมื่อไรไทยจะลดภาษีนิติบุคคลถึง 17% เท่าสิงคโปร์ ภาพรวมอัตราภาษีทั่วโลกมีเทรนด์ที่ลดลง งานศึกษาของ OECD 2010 ก็ระบุว่าแนวนโยบายภาษีที่ควรทำในอนาคตคือลดภาระภาษีฐานรายได้มาสู่ภาษีฐานการบริโภค ยังไงคนรวยก็บริโภคมากกว่าคนจน

โดยสรุปเห็นว่า ควรลดอัตราภาษีรายได้ ขยายฐานภาษี เพิ่มประสิทธิการจัดเก็บ ระยะต่อไปสิ่งที่ต้องทำคือต้องสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี หาแหล่งรายได้ใหม่ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

 

ความเปราะบางและความเสี่ยงทางการคลังภายใต้นโยบายการลงทุนของรัฐบาล

งานชิ้นนี้ศึกษาโดย ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า รัฐบาลเองได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ และหลังจากวิกฤตน้ำท่วมมาก็มีนโยบายพิเศษ เช่นการดูแลสินค้าเกษตร และการบริหารนโยบายของรัฐบาลนั้นเป็นการใช้งบประมาณทั้งที่อยูในและนอกระบบงบประมาณ ใช้หน่วยงานทั้งที่อยู่ในสังกัดและนอกสังกัด และนำมาสู่การผูกมัดเชิงงบประมาณที่นำมาสู่ความเปราะบางและความเสี่ยงในอนาคต

ความท้าทายของรัฐบาลอยู่ที่การปรับโครงสร้างภาษี ในขณะที่มีรายจ่ายมีเยอะแยะเต็มไปหมด

ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความยั่งยืนการคลัง ซึ่งต้องมีการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างเหมาะสม เพียงพอในการบริหารจัดการ 20 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าความแตกต่างระว่างการเพิ่มขึ้นของรายได้และรายจ่ายถ่างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสและความสามารถในการบริหารจัดการสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีความสามารถ และต้องขอบคุณผู้บริหารของกระทรวงการคลังที่สามารถบริหารหนี้สาธารณะได้ดี แต่ปี 2555 และ 2556 นี้ หนี้สาธารณะพุ่งพรวด  อันเนื่องจากการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน

ด้านรายจ่ายของรัฐบาลเอง ต้องดูโครงสร้างรายจ่ายเรื่องการลงทุน แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ7-8 ปีก่อน รายจ่ายประจำอยู่ที่ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐ แต่ตอนนี้รัฐรายจ่ายประจำมี 80 เปอร์เซ็นต์ทำให้รายจ่ายภาครัฐถูกกดดันไปด้วย นี่เป็นคำตอบว่าทำไมรัฐจึงเสนอเรื่องโครงการเงินกู้สองล้านล้าน และสามแสนห้าหมื่นล้าน เพราะมันไม่มีทางที่รัฐบาลจะลงทุนภายใต้โครงสร้างงบประมาณที่เป็นอยู่

ในด้านรายได้นั้น ไทยมีรายได้หลักจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคล  แต่จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสองปีที่แล้วพบว่า แม้จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลเพิ่มขึ้น แต่ช่องวางของศักยภาพในการเสยภาษียังห่างอยู่เยอะ ศักยภาพในการเสียภาษีของคนไทยถ้าดูรายได้ต่อหัวแล้วมีมาก  ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องคิดว่าจะหาโอกาสพัฒนาการเก็บรายได้ของเราจากฐานที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในส่วนของช่องว่างภาษีนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ช่องว่างศักยภาพในการจ่ายภาษีของไทยไม่แย่กว่าประเทศอื่น แต่ถ้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วจะพบว่าช่องว่างตรงนี้ยังมีอยู่เยอะ

ทั้งนี้ หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 – 2547 มีการบริหารรายจ่ายค่อนข้างเข้มงวด แต่เมื่อหลังปี 2547 เป็นต้นมา อัตราเพิ่มของการจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดช่องว่างระหว่างการเพิ่มของรายได้และการเพิ่มของรายจ่ายถ่างออกไปมากขึ้น ช่องว่างนี้เป็นประเด็นอันที่ต้องพิจารณาต่อไป ว่าจะเติมช่องว่างนี้ให้แคบลงอย่างไรบ้าง

เพื่อพิจารณารายจ่ายที่ต้องนำมาประเมินความเสี่ยงทางการคลังนั้น แบ่งเป็นสองส่วนคือ ภาระการคลังต่องบประมาณโดยตรง อาทิ รายจ่ายชำระหนี้เงินกู้ ค่าแรง 300 บาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอีกส่วนคือ ภาระคลังต่องบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้น  เช่น โครงการจำนำข้าว พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย กองทุประกันสังคม เป็นต้น

กลุ่มความเสี่ยงเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดในปี 2563 คือกลุ่มที่เป็นภาระการคลังต่องบประมาณโดยตรง ส่วนกลุ่มที่สองก็มีขนาดที่ค่อนข้างมั่นคงในภาคของภาระความเสี่ยงความเปราะบางที่เป็นผลต่อฐานะการคลังของประเทศ คำถามคือรัฐมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

โดยสรุปภาพฐานะการคลังทีเกิดขึ้นจะเห็นว่าความเปราะบางและความเสี่ยงไม่ได้เป็นเพราะโครงสร้างการคลังเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเชิงนโยบายด้วย เพราะไม่ได้มีการปรับโครงสร้างรายจ่ายประจำ ในระยะยาว ถ้าประเด็นการนำผลการขาดดุลโครงการจำนำข้าวและสินค้าเกษตรต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร ตรงนี้จะมีผลต่อความเสี่ยง ในแง่ช่องว่างทางการคลัง

ทั้งนี้ ประเด็นที่อยากฝากคือ กระบวนการจัดทำคำขอ การพิจารณา การอนุมัติต่างๆ มีปัญหามาก เพราะเป็นการพิจารณาเชิงโครงการ ความต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ที่ต่อเนื่องกันหากถูกตัดบางส่วนก็จะมีผลกระทบกัน วันนี้ต้องหันมาทบทวนว่าจะแก้ไขอย่างไร และท้ายสุดคือระบบรายงานเชิงความสำเร็จและขนาดการใช้จ่ายทั้งหมดทั้งที่อยู่ในและนอก คงต้องพยามทำให้เห็นภาพต่อไปในอนาคต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อนักดาราศาสตร์วิจารณ์ความสมจริงของภาพยนตร์เรื่อง 'กราวิตี้'

Posted: 11 Oct 2013 02:17 AM PDT

หลังจากที่ นีล เดอ กราสส์ ไทสัน นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของสหรัฐฯ วิจารณ์ช่องโหว่ในเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง 'Gravity' ที่มีชื่อไทยว่า 'กราวิตี้ มฤตยูแรงโน้มถ่วง' ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมาเขาได้หันมากล่าวถึงแง่ดีของภาพยนตร์บ้าง หลังจากที่ถูกสื่อนำข้อความจากทวิตเตอร์ของเขาไปรายงาน

ภาพยนตร์เรื่องกราวิตี้ ซึ่งเพิ่งเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงนักบินอวกาศการสองคนคือ ดร.ไรอัน สโตน (แสดงโดย แซนดรา บูลล็อค) วิศวกรการแพทย์ผู้ปฏิบัติภารกิจกระสวยอวกาศเป็นครั้งแรก กับแมทท์ โควาลสกี้ (แสดงโดย จอร์จ คลูนีย์)  นักบินอวกาศผู้ช่ำชองซึ่งปฏิบัติภารกิจนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณ แต่หลังจากนั้นก็เกิดวินาศภัย กระสวยอวกาศถูกทำลาย ทำให้ทั้งคู่ต้องเผชิญกับสภาพในอวกาศไร้แรงโน้มถ่วง

ก่อนหน้านี้ ไทสัน ผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองเฮย์เดน (Hayden Planetarium) ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) กล่าววิจารณ์เรื่องกราวิตี้ผ่านทางทวิตเตอร์ในแง่ความไม่สมจริงต่างๆ เช่น  เรื่องการที่ให้หน่วยแพทย์อย่าง ไรอัน สโตน ขึ้นไปทำงานบนกระสวยอวกาศฮับเบิล เรื่องการที่เส้นผมของตัวละครสโตนไม่แผ่สยายในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง แต่ก็บอกว่าเขาชอบเรื่องกราวิตี้มาก

หลังจากนั้นข้อความในทวิตเตอร์ของเขาถูกนำไปรายงานเป็นข่าวพาดหัวว่า "นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์พูดถึงเรื่องกราวิตี้ เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด" ทำให้เมื่อไทสันได้อ่านพบหัวข้อข่าวนี้แล้วกล่าวตอบว่ามันทำให้เขารู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทวีตข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ถูกต้องสมจริงก่อน

ไทสันจึงได้โพสต์จดหมายเปิดผนึดลงบนเฟซบุ๊กกล่าวถึงส่วนที่สมจริงของภาพยนตร์ 10 ข้อ เช่น เรื่องที่การระเบิดของกระสวยอวกาศชวนให้นึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบียที่เคยเกิดขึ้นจริง เวลาการโคจร 90 นาทีของวัตถุที่อยู่บนความสูงระดับนั้น ภาพการเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน ปรากฏการณ์แสงเหนือหรือ 'ออโรร่า' ที่เกิดขึ้นห่างๆ ในเขตขั้วโลก ความเร็วของเศษซากวัตถุอวกาศก่อนชนกับกระสวยอวกาศ ช่วงที่เปลี่ยนจากฉากเงียบในสภาพไร้แรงดันเป็นฉากมีเสียงในสภาพที่มีแรงดันภายในพื้นที่ปิดสนิท

จากนั้นไทสันก็ข้ามไปถึงข้อที่ 100 กล่าวว่า ฉากที่น้ำตาของนักแสดงบูลล็อกออกจากดวงตาเธอแล้วลอยอยู่ภายในยานนำเสนอออกมาได้ดีเยี่ยมมาก

ไทสันกล่าวว่า เขาตกตะลึงที่สื่อให้ความสนใจกับข้อความในทวิตเตอร์ของเขามาก และบอกอีกว่าการที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนหันมาวิจารณ์ความสมจริงของเรื่องกราวิตี้ ขณะที่เพิกเฉยไม่วิจารณ์เรื่องอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าเรื่องกราวิตี้ถูกให้คุณค่าอย่างมาก

ทั้งนี้ นีล เดอ กราสส์ ไทสัน เป็นผู้ที่มักจะวิจารณ์เรื่องความสมจริงทางวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้เขาก็เคยเสนอให้ผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน แก้ไขเรื่องกลุ่มดาวในเรื่อง 'ไททานิค' ฉบับสามมิติในปี 2012

 


เรียบเรียงจาก

Neil DeGrasse Tyson: 'Gravity' Still Impressive Despite Errors, Mashable, 10-10-2013
http://mashable.com/2013/10/10/neil-degrasse-tyson-gravity-2/

Neil deGrasse Tyson Doesn't Think 'Gravity' Holds Up, Mashable, 08-10-2013
http://mashable.com/2013/10/07/neil-degrasse-tyson-gravity/

โน้ตต้นฉบับในเฟซบุ๊กของ Neil deGrasse Tyson
https://www.facebook.com/notes/neil-degrasse-tyson/on-the-critique-of-science-in-film/10151673927570869


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เว็บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนตร์เรื่อง Gravity (2013)
http://www.imdb.com/title/tt1454468/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

14 ตุลาคม 2516 คือชัยชนะของพลังจารีตนิยมไทย

Posted: 11 Oct 2013 12:49 AM PDT

ในที่สุด การรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 40 ปีในเดือนนี้

ในช่วง 20-30 ปีแรก ได้มีความพยายามที่จะลบเลือนเหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะมีข้อเรียกร้องให้รื้อฟื้นความทรงจำและสร้างอนุสาวรีย์แก่ผู้ที่เสียชีวิต จนกระทั่งพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในปี 2544 อดีตนักเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯในพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลขณะนั้นจึงสามารถผลักดันให้มีการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี 14 ตุลาฯ ในปี 2546 อย่างยิ่งใหญ่โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ มีการบรรจุคำอธิบายเหตุการณ์ไว้ในตำราของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาปนาอนุสรณ์สถานขึ้น ในเวลานั้น ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมีฉันทามติตรงกันว่า การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งแรก (และครั้งเดียว) ของพลังประชาธิปไตยของประเทศไทย

แต่ทว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อถึงปัจจุบันได้ทำให้ "ฉันทามติ" ดังกล่าวสิ้นสุดลง ดังจะเห็นได้จากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างปัญญาชนเดือนตุลาฯที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยกับมวลชนเสื้อแดงในการประเมินเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้ปัญญาชนเดือนตุลาฯ ได้เพียรพยายามทั้งโดยการปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของเสื้อแดง บนเวทีเสวนา กระทั่งในโรงเรียนการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยพยายามที่จะนำเอาการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 มาเชื่อมต่อกับขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงในปัจจุบัน ด้วยการเชิดชูให้เป็นต้นแบบของขบวนประชาธิปไตยของประชาชน เป็นต้นธารของขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงในปัจจุบัน

แต่การตอบรับจากมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากคือ ความเย็นชา กระทั่งปัญญาชนเดือนตุลาฯหลายคนปรารภด้วยความน้อยใจว่า คนเสื้อแดงไม่เอา 14 ตุลาคม 2516 บางคนอธิบายปฏิกิริยาดังกล่าวว่า เป็นเพราะอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา 2516 เกือบทั้งหมดปัจจุบันเป็นพวกนิยมกษัตริย์และสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นัยหนึ่ง มองว่า คนเสื้อแดงสับสนปะปนกันระหว่างความไม่พอใจในตัวบุคคล (ที่รับใช้เผด็จการในปัจจุบัน) กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ซึ่งเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย)

ความจริงคือ มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากมีความเย็นชาต่อการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มิใช่เพียงแค่เพราะไม่พอใจอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษา 14 ตุลาฯ หากแต่เพราะพวกเขามองปริบททางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์นั้นถึงปัจจุบันแล้วสรุปด้วยตัวเองว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการที่นิยมกษัตริย์

เราจะเข้าใจปริบทประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 จากแง่มุมของฝ่ายจารีตนิยมได้นั้น จะต้องเข้าใจปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งของพวกจารีตนิยมนับแต่การปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา นั่นคือ ปัญหา "การจัดการกับกองทัพ" สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการปฏิวัติ 2475 ก็คือ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้มเหลวในการบริหารจัดการ "ความจงรักภักดีในกองทัพ" จนเป็นเหตุให้เกิดการก่อกบฏโดยทหารครั้งแรกเมื่อ รศ. 130 ตามมาด้วยการปฏิวัติ 2475 และนี่ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่พวกเขาจะไม่มีวันลืม

เมื่อกลุ่มจารีตนิยมร่วมมือกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วยรัฐประหารปี 2500แทนที่ด้วยเผด็จการทหารเต็มรูปซึ่งก็คือ ระบอบขุนศึก กลุ่มจารีตนิยมก็อาศัยเผด็จการสฤษดิ์เร่งรื้อฟื้นจารีตและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แต่ทว่า รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 โดยกลุ่มถนอม-ประภาสที่ทำการรวบอำนาจไว้ในกลุ่มตระกูลของตนกลับได้ทำลายดุลความร่วมมือดังกล่าวลง รัฐประหารครั้งนี้ทำให้ประเด็น "การจัดการความจงรักภักดีในกองทัพ" กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลุ่มจารีตนิยมเห็นว่า เผด็จการถนอม-ประภาสอาจเป็นภัยต่อสถานะและอำนาจของตน วาระเฉพาะหน้าจึงเป็นการขจัดกลุ่มถนอม-ประภาสออกไป และหนทางหนึ่งก็คือ การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาที่กำลังก่อตัวขึ้นในเวลานั้น

นิสิตนักศึกษาปัญญาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาสในเวลานั้นประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่ฝ่ายขวาที่เป็นกษัตริย์นิยมไปจนถึงพวกเสรีนิยมและพวกสังคมนิยม พวกเขามีจุดร่วมกันเพียงประการเดียวคือ ต่อต้านกลุ่มถนอม-ประภาส แต่แกนนำสำคัญของขบวนในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมกษัตริย์ มีสัมพันธ์เกื้อหนุนส่วนบุคคลกับเครือข่ายจารีตนิยมมาตั้งแต่ต้น จนสิ้นสุดลงเมื่อกลุ่มสังคมนิยมสามารถเข้ายึดกุมการนำขบวนการนิสิตนักศึกษาไว้ได้ในต้นปี 2518

บทเรียนจากการปฏิวัติ 2475 และจากการต่อสู้กับกลุ่มจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นเครื่องเตือนใจว่า ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับการจัดการ "ความจงรักภักดีในหมู่กองทัพ" และถึงอย่างไรก็ไม่อาจไว้วางใจพวกขุนศึกทหารใหญ่ที่โลภโมโทสันและกระหายอำนาจได้ รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 โดยกลุ่มถนอม-ประภาสเป็นการย้ำบทเรียนนี้อีกครั้ง การโค่นล้มกลุ่มถนอม-ประภาสในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงนับเป็นชัยชนะสำคัญครั้งแรกของกลุ่มจารีตนิยมในการจัดการกับขุนศึกในกองทัพ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาพยายาม "จัดการ" กับระบอบขุนศึก แปรเปลี่ยนกองทัพให้เป็น "ม้าในคอก" ที่ว่านอนสอนง่าย แต่พวกเขาก็ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีที่จะทำให้ชัยชนะเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 มั่นคงเป็นจริง โดยในระหว่างทาง พวกเขายังต้องจัดการกับกฤษณ์ สีวะรา สังหารหมู่นิสิตนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 และโค่นล้มเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ กระทั่งประสบความสำเร็จในท้ายสุดเมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกขึ้นควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในต้นปี 2523 แม้ภายหลังจะมีนายทหาร (เช่น อาทิตย์ กำลังเอก และกลุ่มสุจินดา คราประยูร) ที่พยายามตั้งต้นเป็นขุนศึกขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ

การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 โดยทิศทางประวัติศาสตร์จึงเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบขุนศึกและมุ่งสถาปนา "อำนาจครอบงำเด็ดขาด" ของกลุ่มจารีตนิยมเหนือกองทัพ ทิศทางของการเคลื่อนไหวนอกจากเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้วจึงเป็นการเสริมสร้างและขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 ถูกมองว่าเป็น "นิยมกษัตริย์" จากแง่มุมนี้ การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 จึงไม่อยู่ในกระแสธารของการปฏิวัติ 2475 และกระแสธารประชาธิปไตยของคณะราษฎร ในขณะที่ขบวนเสื้อแดงในปัจจุบันมองว่า ตนเองคือผู้สืบทอดอุดมการณ์ของคณะราษฎร และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันคือการต่อเนื่องของการปฏิวัติ 2475 ที่ยังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด

แน่นอนว่า มุมมองนี้มิได้ลดคุณูปการของนิสิตนักศึกษาประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 และคุณค่าของผู้ที่บาดเจ็บเสียชีวิตในครั้งนั้น พวกเขาเกลียดชังเผด็จการทหาร เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่หวั่นกลัวต่อการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธในครั้งนั้น ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญให้เผด็จการถนอม-ประภาสต้องสิ้นสุดลง แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้ให้บทเรียนแก่เราว่า ทิศทางการคลี่คลายขยายตัวของประวัติศาสตร์อาจไม่เป็นไปตามเจตจำนงส่วนตัวของบุคคลในเหตุการณ์นั้น ๆ เสมอไป

ในทางตรงข้าม มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยกลับแสดงความสนใจและเจ็บแค้นต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใหม่ ๆ ความรู้สึกดังกล่าวแสดงออกเข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อมวลชนเหล่านี้ได้ขยายตัวและวิวัฒน์เป็นขบวนคนเสื้อแดงในปี 2551 ผ่านการสังหารหมู่เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ถึงปัจจุบัน ปัญญาชนเดือนตุลาฯในขบวนคนเสื้อแดงก็อธิบายว่า นี่เป็นเพราะคนเสื้อแดงถูกกระทำอย่างอยุติธรรมและถูกปราบปรามเหมือน 6 ตุลาคม 2519 พวกเขาจึงมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์นี้มากกว่า

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
11 ตุลาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งิ้วธรรมศาสตร์ : โทษกรรมชั่งเอียงเอียง

Posted: 10 Oct 2013 11:51 PM PDT

ในงานเฉลิมฉลองเดือนตุลาประจำปีนี้ งานวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคืองิ้วการเมือง ของกลุ่มโดมรวมใจ ซึ่งจัดแสดงเรื่อง "เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ" ซึ่งได้แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ได้ชมมาแล้ว จะเห็นได้ว่า งิ้วเรื่องนี้คือวรรณกรรมการเมืองที่มุ่งที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกฆ่าตายในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ซึ่งยังคงเป็นรอยมลทินทางการเมืองไทยอยู่ในขณะนี้

ในคำปรารภของสูจิบัตรงิ้วของชมรมโดมรวมใจ เล่าว่า เหตุการณ์ความโหดเหี้ยมในครั้งนั้น มีการสังหารประชาชนไร้อาวุธจำนวนเกือบร้อยศพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หกศพที่หลบลี้หนีภัยการปราบปรามเข้าไปในเขตอภัยทานวัดปทุมวนาราม การสังหารผู้คนจำนวนมากกลางเมืองเช่นนี้ ถือเป็นอาชญากรรมทางการเมืองที่ป่าเถื่อนและใกล้ตัวที่สุด แต่ดูเหมือนว่าสื่อกระแสหลัก และชนชั้นกลางบางกลุ่มในสังคมไทยจะมองข้ามอาชญากรรมครั้งนั้น แต่ไปร่ำรำพันอาลัยอาวรณ์กับอาคารห้างสรรพสินค้าที่ถูกไฟไหม้ ด้วยเหตุนี้ แกนกลางของเนื้อหาสำหรับงิ้วเรื่องนี้ก็คือ ความพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว

ผู้เขียนบทงิ้วและกำกับการแสดงเรื่องนี้ คือ คุณสุขุม เลาหพูนรังสี ซึ่งเป็นนักเขียนและนักแต่งบทกวีที่มีความสามารถอย่างยิ่ง คุณสุขุมได้อธิบายถึงความเป็นมาโดยย่อของงิ้วการเมืองว่า ถือกำเนิดในยุคเผด็จการ โดยจัดทำขึ้นเพื่อจะเสียดสีนโยบายหรือวิธีการปกครองในยุคมืดทางการเมืองเช่นนั้น นักศึกษาที่รักประชาธิปไตยค้นพบทางออกจากการแสดงงิ้วว่า การแสดงงิ้วต้องแต่งหน้าแต่งตา จนยากที่จะจดจำได้ว่าใครเป็นผู้แสดง จึงสร้างความปลอดภัยขั้นหนึ่งสำหรับผู้แสดง นอกจากนี้ นิยายและพงศาวดารจีนมีเรื่องราวจำนวนมากที่เป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทย จึงสามารถหนิบยกมาปรับให้เสียดสีล้อเลียนการเมืองไทยในขณะนั้นได้อย่างไม่ยากนัก จากนั้น การแสดงงิ้วในลักษณะดังกล่าวก็ยังพัฒนาต่อมา จนถึงงิ้วการเมืองของฝ่ายพันธมิตรเมื่อ พ.ศ.2548 แต่จุดอ่อนของงิ้วการเมืองเช่นนี้ คือขาดความพิถีพิถัน นักแสดงก็ไม่ค่อยมีพื้นฐานการแสดง บทงิ้วก็เขียนแบบง่ายๆ หรือมีบทเจรจาไม่มีบทร้อง หรือมุ่งจะด่าอย่างไม่มีศิลปะ เน้นความสะใจของผู้ชม ซึ่งมีลักษณะเป็นการเล่นปาหี่มากกว่างิ้ว

ดังนั้น งิ้วการเมืองที่จัดแสดงครั้งนี้ จะพยายามทำขึ้นโดยการเคารพศิลปะของการแสดงงิ้วอย่างแท้จริง ให้มีการร้องแบบงิ้วต้นตำรับ มีการรำอันเป็นท่วงท่าเอกลักษณ์ของการแสดงงิ้ว และมีเครื่องดนตรีจีนเล่นประกอบสมบูรณ์แบบ เนื้อหาของเรื่องก็จะเน้นการเล่าที่เรื่องเป็นระบบ เน้นความสะเทือนใจที่เปาบุ้นจิ้นต้องจำนนต่ออำนาจอธรรม และนี่คือความพยายามในการสร้างงิ้วที่แตกต่างจากปาหี่ที่เคยเล่นกันมา

แต่กระนั้น ในบทความนี้ จะพิจารณาบทงิ้วเรื่องนี้ในฐานะวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง โดยเริ่มจากการอธิบายเนื้อเรื่องของวรรณกรรม คือ การพิจารณาคดีบนโลกมนุษย์ต่อกรณี 6 ศพที่หลบในวัดแล้วถูกฆ่าตายไม่มีความคืบหน้า แม้แต่เวลาผ่านไป 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องกล่าวหาใครเลย ทั้งที่โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็พอรู้ได้ว่าใครควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันป่าเถื่อนนี้ จึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า "ความยุติธรรมที่มาช้า ก็ไม่ต่างอะไรกับความอยุติธรรม" แม่นางหงซิงเซียน มารดาของผู้เสียชีวิต จึงสะท้อนว่า

แผ่นดินใด ไร้สิ้น ยุติธรรม  ความมืดดำ ย่อมงำแฝง ทุกแห่งหน
ย่อมไม่ผิดขุมนรก หมกมืดมน ใครยอมทน ย่อมเขลาโง่ กว่าโคควาย

ดังนั้น ผู้ถูกสังหาร 6 คน จึงได้นำคดีนี้ไปร้องเรียนต่อเอี๋ยนอ๋องที่เป็นประมุขในยมโลก เอี๋ยนอ๋องจึงได้เชิญเปาบุ้นจิ้น ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมจากโลกมนุษย์ลงไปตัดสินคดีความ เหยื่อที่ถูกสังหารได้ร้องเรียนว่า อำมาตย์หม่าเคอะเป็นผู้ใช้กำลังสั่งทหารมาประหารตายคาวัด และตุลาการชั่งเอียงเอียงช่วยถ่วงเวลาล่าช้าปกปิดความชั่ว เปาบุ้นจิ้นจึงได้เรียกวิญญาณของหม่าเคอะ และช่างเอียงเอียง มาไต่สวนในยมโลก จากนั้นได้มีการพิจารณาโทษกรรมของหม่าเคอะที่เป็นฆาตกรหลัก และช่างเอียงเอียง ผู้สมคบคิด ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างโทษกรรมของช่างเอียงเอียงที่วรรณกรรมนี้ได้สะท้อนไว้ดังนี้

เอียงเอียงเบี่ยงตาชั่ว ไร้หลักตั้งช่างเอียงเอียง
ตีความอย่างบิดเบี่ยง ไปตามธงสั่งลงมา
คนถูกทำจนผิด  แล้วเบือนบิดลงอาญา
ใครท้วงไม่นำพา  หลงตัวว่าเหนือมนุษย์
เอาอคติตน  คอยฉ้อฉลไม่ยอมหยุด
หลักการแตกซ่านทรุด จนต่ำสุดถูกเหยียบจม
กฎหมายไม่เปิดกาง กลับไปอ้างพจนานุกรม
หลักการจึงแหลกล่ม ยิ่งหมมหมักหลักทลาย
อคติเป็นที่ตั้ง  เที่ยวสั่งขังคนจนตาย
ไม่เหลือแล้วยางอาย อวดยะโสหยิ่งโอหัง
ลืมหลักจนไฟลุก  กลียุคจึงประดัง
กี่ศพถูกกลบฝัง  ฆาตกรในชุดครุย
แม้มือไม่ได้ฆ่า  แต่อาญาแบบชุ่ยชุ่ย
เลือดจึงไหลหลากลุย มหันต์โทษเท่าเทียมทัน


แต่ปรากฏว่า เปาบุ้นจิ้นไม่สามารถตัดสินลงโทษฆาตกรทั้งสองได้ เพราะหม่าเคอะมีหยกศักดิ์สิทธิ์ ม.7 ที่ได้รับมอบจากองค์กรอิสระสวรรค์แต่งตั้งไว้เป็นภูมิคุ้มกัน ส่วนช่างเอียงเอียงก็มีป้ายหยกศักดิ์สิทธิ์ที่เนติสวรรค์ประทานไว้คุ้มครอง เปาบุ้นจิ้นคับแค้นใจ จนต้องร้องถามฟ้าว่า


อำนาจฟ้ามาจุนเจือเอื้อคนผิด  หยกศักดิ์สิทธิ์ใยยื่นมอบชอบไฉน
เหมือนมอบดาบให้โจรพาลระรานไป  โลกไฉนไร้แสงธรรมส่องนำทาง


แต่ในท้ายที่สุด วรรณกรรมเรื่องนี้ก็จบลงตรงที่ว่า เปาบุ้นจิ้นก็สามารถหาอุบายมาลงโทษหม่าเคอะและช่างเอียงเอียงได้สำเร็จ ซึ่งก่อให้เกิดความยุติธรรมในเนื้อเรื่องเป็นอย่างน้อย แม้ว่าในโลกของความเป็นจริง ทั้งหม่าเคอะและช่างเอียงเอียง ยังคงอยู่ในเกราะกำบังของอำนาจแห่งอำมาตยาธิปไตยก็ตาม

สำหรับผู้สนใจ การแสดงงิ้วเรื่องนี้ ยังมีรอบสุดท้ายในวันที่ 13 ตุลาคม เวลาสองทุ่ม ผู้ชมก็คงจะได้รับทั้งศิลปะการแสดงและเนื้อหาของเรื่องที่เป็นวรรณกรรมอันน่าสนใจไปพร้อมกัน

 


ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 433 วันที่ 12 ตุลาคม 2556



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น