โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: สังคมไทยกับการพัฒนามาตรฐานการลงทุน

Posted: 16 Oct 2013 02:07 PM PDT

เอ็นจีโอพลังงานชี้พึงพิงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางต้องเสียสละ คนปลายทางโดนผลกระทบ 'สว.สุรจิต' หวังบรรทัดฐานสิ่งแวดล้อมไทยจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วน คปก.แนะสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร่วมกับเสมสิขาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรคณะกรรมการศูนย์บรรเทาในพม่า Burma Relief Center (BRC) ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุม "ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ" ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมทั้งไทยและพม่า อันจะนำไปสู่การตรวจสอบแนวคิดและกระบวนการลงทุน และคิดค้นมาตรการในการคุ้มครองชุมชน สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ภายหลังจากที่ล่าสุดไทยมีแผนการลงทุนด้านพลังงานในพม่าสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ ใน 3 โครงการหลัก คือ 1.โครงการเขื่อนสาละวิน ประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง 2.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก และ 3.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ภายใต้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย
 
 
 
'วิฑูรย์' ชี้พึงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางต้องเสียสละ คนปลายทางโดนผลกระทบ
 
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนายการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ "สังคมไทย กับการพัฒนามาตรฐานการลงทุนในโครงการด้านพลังงานไฟฟ้าในพม่า" ว่า ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ การลงทุนที่ใหญ่สุดคือการลงทุนในภาคพลังงาน โดยมีจีนและไทยเป็นผู้เข้าไปลงทุนรายใหญ่
 
ขณะที่คนไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์มีไฟฟ้าใช้ แต่คนพม่าเข้าถึงไฟฟ้าเพียง 26 เปอร์เซ็นต์ และจากตัวเลขปี 2010 การสำรวจทรัพยากรพลังงานโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ระบุว่า พม่ามีศักยภาพในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากถึงแสนเมกะวัตต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือโครงการเขื่อนที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ทั้งบนแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสาละวินเป็นไปเพื่อการส่งออก โดยรัฐบาลพม่าได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับจีนและไทยรวมกว่า 30,000 เมกะวัตต์ เท่าๆ กับกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 32,000 เมกะวัตต์
 
ล่าสุดไทยมีแผนซื้อไฟฟ้าพม่าเพิ่มจากเดิม 1,500 เมกะวัตต์ เป็น 10,000 เมกะวัตต์ และต้องมีการสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมระหว่างประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในพม่าคือภาพของสายส่งที่เชื่อมข้ามไปประเทศอื่น ส่วนชาวบ้านในเขตสร้างเขื่อนกลับไม่มีโอกาสใช้ไฟและทรัพยากรพลังงานของพวกเขากลายเป็นฟืน นี่ถือเป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้พลังงาน
 
นายวิฑูรย์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในพม่ามี 3 ระบบ คือ 1.nation grid เป็นโครงข่ายไฟฟ้าระดับชาติ รองรับคน 26 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ดูแลโดยรัฐบาล 2.off grid เป็นไฟฟ้าระดับชุมชน โดยคนพม่ากว่า 70 เปอร์เซ็นที่อยู่นอกระบบสายส่งดำเนินการเอง อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชันที่ใช้ไบโอแมสมาเป็นเชื้อเพลิง และ 3.IPP for export ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เช่นไทยและจีนที่ลงทุนเพื่อการส่งออก มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด และมีอิทธิพลมาก
 
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าส่งเสริม IPP for export โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินเพื่อนำไปใช้สร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าในระบบที่หนึ่งให้มากขึ้น ซึ่งต้องใช่เงินมหาศาล แต่ไม่มีหลักประกันที่ผลประโยชนการขายไฟฟ้าจะถูกนำไปใช้เพื่อประชาชนจริง
 
ในส่วนการให้คุณค่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า nation grid สร้างเพื่อความมั่นคงของประเทศ ประเทศจะได้มีการพัฒนา ส่วน off grid นั้นชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าโดยสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึง แต่สำหรับ IPP for export เป็นการให้ทุนต่างชาติเข้าไปเอาทรัพยากรมาแปรรูปเป็นสินค้าไฟฟ้าไปให้ผู้ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งคุณค่าคือกำไร
 
สำหรับประเทศไทย วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหากรณีพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาและเยตากุน ทำให้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,400 เมกะวัตต์หายไปจากระบบ มีการพูดว่าการที่เราพึงพาพม่าทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน แต่ถึงปัจจุบันเราก็ยังพึงอยู่ ซึ่งตรงนี้ส่งผลให้ต้องเพิ่มการสำรองไฟฟ้าจาก 15 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 25 เปอร์เซ็นเพื่อรองรับความไม่มั่นคงตรงนี้ ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น
 
"ระบบที่พึงการนำเข้าไฟฟ้า คนต้นทางก็ต้องเสียสละ คนในบ้านเราเองก็ต้องจ่ายค่าไฟแพง และต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้ระบบการผลิตมั่นคงขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนสูงมากกว่าที่ควรจะเป็น" วิฑูรย์กล่าว
 
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในพม่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ยังไม่ยุติ รัฐบาลกลางต้องควบคุมพื้นที่ที่มีการเข้าไปดำเนินโครงการลงทุนต่างๆ ทำให้สถานการณ์ไม่เอื้อต่อการดูแลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ปัญหาระยะยาว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะระหว่างผู้ลงทุนกับชุมชน แต่จะกลายเป็นปัญหาในระดับชาติได้  
 
 
'สุรจิต' หวังบรรทัดฐานสิ่งแวดล้อมไทยจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
นายสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ซึ่งแม้มีการลงนามความตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง ค.ศ.1995 แต่ก็ไม่ไปถึงไหน เพราะนักกฎหมายแต่ละประเทศต่างมีความเห็นว่ามาตรฐานการลงทุนระหว่างประเทศควรเป็นรูปแบบเดียวกับในประเทศ ซึ่งสำหรับไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศได้ แต่ทิศทางการพัฒนาในแนวทางเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เราต้องการน้ำ ไฟฟ้าเพิ่ม
 
ต่อมาความตกลงเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ซึ่งเน้นการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง การใช้น้ำอย่างเป็นธรรม และรักษาระดับน้ำในลำน้ำหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ MRC กลับไม่มีอำนาจบังคับ เป็นการตกลงโดยสมัครใจว่าจะดำเนินการโดยฉันทามิติ และมีข้อจำกัดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน
 
นายสุรจิต กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการเขื่อนของจีนบนแม่น้ำโขงตอนบนได้สร้างกระทบแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดในแม่น้ำโขงตอนล่างได้
 
ทั้งนี้ เราต้องการมาตรการป้องกันก่อนการเยียวยา โดยการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วยกับการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี ทั้งในส่วนอิทธิพลต่อแม่น้ำโขงถึงระดับแม่น้ำสาขา เทียบกับที่ MRC ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ไว้
 
สำหรับไทย กรณีศาลปกครองมีคำวินิจฉัยกรณีแผนแม่บทการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 25 ลุ่มน้ำ ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ให้แต่ละโครงการต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการจ้าง และออกแบบแต่ละแผนงาน ทำให้เห็นว่าแม้มีกฎหมายที่เข้มข้นแต่รัฐบาลก็ยังมีความพยามละเมิดกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม ไทยเรามีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีคดีสิ่งแวดล้อมที่พิจารณาตัดสินไปแล้วกว่า 3,000 คดีซึ่งกำลังสร้างบรรทัดฐาน และมีศาลปกครองแผนกคดีด้านสิ่งแวดล้อม หวังว่าจะมีการใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับเพื่อนบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยังยืนของภูมิภาค และบรรทัดฐานที่ใช้ในประเทศจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
'สมชาย' แนะสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
นายสมชาย หมอลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การพัฒนาในแนวทางทุนนิยมทำให้เกิดการไล่รื้อในชนบทสำหรับทำเกษตรขนาดใหญ่ ขณะที่ในเมืองไล่รื้อเพื่อสร้างศูนย์กลางการค้า ทำธุรกิจ ส่วนคนที่ประสบปัญหาคือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไร้อำนาจ ในเรื่องโลกร้อนก็เช่นเดียวกันคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไร้อำนาจ
 
สำหรับอาเซียนนั้น เน้นประชาคมเศรษฐกิจ ตามด้วยความมั่นคง ส่วนสังคมวัฒนธรรมเป็นอันดับสุดท้าย ทำให้เห็นภาพ 20 ปีข้างหน้าของอาเซียนว่า ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท คนรวยกับคนจนจะเพิ่มขึ้น หากแนวทางพัฒนามุ่งเรื่องเศรษฐกิจก็ยากที่จะสร้างประชาคมแห่งความมั่นคง หรือประชาคมสังคมวัฒนธรรมแห่งอาเซียนได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างขัดแย้งในประเทศไทย ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ก็เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา
 
แนวทางการสร้างประชาคมอาเซียนมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะความมั่นคง วัฒนธรรม ถูกนำด้วยเศรษฐกิจ ขณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาน้อย ในอาเซียมีแต่ไทยแต่ก็อ่อนแอ ส่วนกัมพูชา ลาว เวียดนาม โอกาสและศักยภาพของประชาชนในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรฐานอื่นๆ น้อยมาก รวมทั้งในพม่าที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยด้วย
 
นายสมชาย กล่าวถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์ (AICHR) ด้วยว่า กรรมการทุกชุดพยามสร้างความเป็นประชาคม แต่ยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ร่วมกับหลักการฉันทามติ ขณะที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก ทั้งแนวคิดในการบริหารประเทศ ระบบกฎหมาย ฯลฯ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ระหว่างประเทศตรงนี้จึงส่งผลกระทบต่อคนยากจนและไร้สิทธิไร้เสียง
 
อย่างไรก็ ตาม คปก.ในฐานคนที่มองเห็นปัญหา พยายามทำงานในแง่มุมนี้อยู่ แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือหลายภาคส่วนเพื่อสร้างมาตรฐานการลงทุน ทั้งนี้ คปก.มีหน้าที่เสนอข้อมูล การทำงานเน้นการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง และงานสำคัญอีกอันหนึ่งคือการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาประชาสังคมและนักวิชาการ โดยเน้นสร้างระบบ มีคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดกรรมาธิการธุรกิจและสังคมซึ่งทำเรื่องการคุ้มครองแรงงานในอาเซียนด้วย
 
นายสมชาย กล่าวต่อมาว่า หน่วยงานธุรกิจลงทุนพลังงานส่วนใหญ่องค์กรเป็นของรัฐหรือรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง หากรัฐใส่ใจเรื่องนี้ก็สามารถสร้างมาตรฐานได้ แม้จะอ้างว่าจีนอาจได้ประโยชน์ในการมาลงทุนแทนหากเรามีมาตรฐานมากเกินไป แต่ปัญหาคือเรามีความสำนึกและได้ต่อรองแล้วหรือไม่
 
สำหรับข้อเสนอ สมชายนายกล่าวว่า โดยกระบวนการเบื้องต้นรัฐบาลควรควบคุมมาตรฐานการลงทุนก่อน ขั้นต่อไปให้รัฐบาลออกกฎหมาย อาทิ ต่อต้านคอรัปชั่น ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมายในประเทศ ขั้นต่อไปจึงไปสู่การสร้างมาตรฐานระดับอาเซียน ตัวอย่างกรณีโครงการโรงฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนามซึ่งจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน อาเซียนสนใจไหม ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องสนใจ
 
อย่างไรก็ตาม เราคงหวังเพียงกับรัฐไม่ได้ เพราะรัฐกับทุนเป็นอันเดียวกัน ผลประโยชน์ของชาติเป็นเพียงวาทะกรรมของรัฐเท่านั้น ตราบใดที่เรายังไม่มีเครื่องมือที่จะควบคุมรัฐ ดังนั้น การจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนอย่างไรคือสิ่งที่เราต้องคิด เพื่อสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมว่า ตามกำหนดการอภิปรายหัวข้อ "สังคมไทย กับการพัฒนามาตรฐานการลงทุนในโครงการด้านพลังงานไฟฟ้าในพม่า" จะมีนายอรรคศิริ บุรณศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และนายสมบูรณ์ อารยะสกุล รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมพูดคุย แต่ผู้จัดงานแจ้งว่าได้มีการประสานงานไปก่อนหน้านี้ แต่ได้รับแจ้งว่าทั้งสองคนติดภารกิจ ไม่สามารถมาร่วมงานได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาเห็นชอบคงร่างแก้รัฐธรรมนูญ ม.190 ใน ม.3

Posted: 16 Oct 2013 01:02 PM PDT

ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบ คงร่างแก้รัฐธรรมนูญ ม.190 ใน ม.3 ด้วยคะแนน 343:51 เสียง ฝ่ายค้าน ชี้การไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ปชช.จะขาดข้อมูล 'ก่อแก้ว' ยันร่างฯ ไม่ได้เป็นการลดอำนาจนิติฯ

การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวันนี้ (16 ต.ค.) เป็นวันที่ 2 เริ่มประชุมเวลา 10.45 น. มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาในมาตรา 3 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญา จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วนอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกข้อความในมาตรา 190 เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และการค้าระหว่างประเทศ จนเป็นเหตุให้ต้องแก้ไข แต่ความล่าช้าเกิดจากฝ่ายผู้ปฏิบัติมากกว่ากระบวนการของรัฐสภา และเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 190 เพื่อไม่ต้องส่งเรื่องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาจจะส่งผลกระทบต่อการกระทำใดๆ ในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเรื่องเขตแดนได้ อีกทั้งเห็นว่า หากไม่นำกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ จึงเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาโหวตให้กลับไปใช้มาตรา 190 ตามเดิม

พุทธิพงษ์ ชี้การไม่ผ่านสภา ปชช.จะขาดข้อมูล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การแก้ไขมาตรา 190 อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการทำเอ็มโอยู เพราะไม่ต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ส่งผลให้ประชาชนไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเห็นว่า การนำกรอบเจรจากับต่างประเทศเข้าสู่รัฐสภาเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องกระทำ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ยืนยันมีความจำเป็นต้องเติมคำว่า  "โดยชัดแจ้ง" ในมาตรา 3 ที่ว่าหนังสือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ์อธิปไตยโดยชัดแจ้ง จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าสัญญาแบบนั้นสัญญาแบบนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียอาณาเขต หรือทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงโดยละเอียดรอบคอบ โดยรับฟังจากภาคประชาชน ภาคราชการ และจากนักวิชาการ แล้วก่อนตัดสินใจระบุคำดังกล่าว

'ก่อแก้ว' ยันร่างฯ ไม่ได้เป็นการลดอำนาจนิติฯ ชี้เรื่องสำคัญก็ยังเข้าสภา

ขณะที่ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างฯ ว่า ไม่ได้เป็นการลดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามที่มี ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วนได้อภิปราย แต่เป็นการพิจารณาว่า การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศเรื่องใดบ้างที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา เพื่อเป็นการลดทอนปริมาณงานที่รัฐสภาต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก ประเด็นที่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมนั้นควรเป็นเรื่องสำคัญ อาทิ เรื่องดินแดนและอาณาเขต เรื่องการทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ส่วนประเด็นที่ไม่สำคัญก็ไม่จำเป็นต้องนำมาพิจารณา

นายก่อแก้ว ยังกล่าวว่า การที่มีสมาชิกบางคนกล่าวอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ ตนยืนยันว่า การแก้ไขมาตรา 190 ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือเอื้อให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้ประเทศได้ผลประโยชน์ในหลายๆ เรื่อง

สภาเห็นชอบคงม.3

เวลาประมาณ 22.00 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอมติเห็นชอบ  ในมาตรา 3 ว่าด้วยการยกเลิกความในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ คือ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 343 : 51 เสียง ให้คงมาตรา 3 ทั้งมาตราตามร่างเดิม มีมติเห็นชอบมาตรา 190 ความในมาตรา 3 วรรคแรก 355 : 13 เสียง มีมติเห็นชอบวรรคสอง 359 : 8 เสียง และมีมติให้คงร่างเดิมของกรรมาธิการ วรรคสาม 6 : 361 ทั้งนี้ ในระหว่างการขอมติวรรค 4 ส.ส.ฝ่ายค้าน ลุกขึ้นตะโกนประท้วงอย่างต่อเนื่อง เพราะการลงมติยังสร้างความสับสนให้กับสมาชิก ประธานจึงสักพักการประชุม

 

เรียบเรียงจาก  สำนักข่าวไทย, สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเมืองหยูเหยาประท้วงทางการจีน เหตุช่วยเหลือหลังเกิดอุทกภัยล่าช้า

Posted: 16 Oct 2013 12:29 PM PDT

ชาวจีนในเมืองหยูเหยาปะทะกับตำรวจ หลังประท้วงกรณีรัฐบาลจีนแก้ปัญหาอุทกภัยล่าช้าและไม่ดีพอ ขณะที่สื่อทางการจีนบอกว่าจับตัวผู้ประท้วงบางส่วนในข้อหาก่อความรุนแรงไว้ได้


16 ต.ค. 2013 - ชาวเมืองหยูเหยาในมณฑลเจื้อเจียงหลายพันคนพากันออกมาชุมนุมในพื้นที่จนกระทั่งปะทะกับตำรวจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลจีนต่อการแก้ไขปัญหาบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังจากเกิดเหตุพายุไต้ฝุ่นพิโทว์พัดถล่มทางภาคตะวันออกของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำนักข่าวโกลบอลไทม์ของทางการจีนระบุว่า ผู้ประท้วงซึ่งเป็นคนในพื้นที่ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ทำงานตอบสนองต่อเหตุอุทกภัยได้ไม่ดีพอ รวมถึงการฟื้นฟูไฟฟ้าและสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นไปอย่างเชื่องช้า

สื่อจีนระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวประชาชนไว้ได้ส่วนหนึ่งจากการที่พวกเขาใช้ความรุนแรง โดยไม่ได้บอกตัวเลขผู้ถูกจับ โดยพวกเขาบอกว่ามีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งขว้างปาก้อนอิฐและสร้างความเสียหายต่อยานพาหนะของทางราชการ

เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย ในมณฑลเจื้อเจียง ทำให้ประชากร 11 ล้านคนถูกตัดขาดจากไฟฟ้าและประปา สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหยูเหยาและเมืองใกล้เคียงคือ หนิงปอ และเซี่ยงไฮ้ รวมแล้ว 2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 65,200 ล้านบาท)

การประท้วงเจ้าหน้าที่ทางการในจีนเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ โดยอาจเริ่มจากเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เรื่องมลภาวะจากโรงงาน ไปจนถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ทางการ แต่ BBC ก็บอกว่าเรื่องการประท้วงเหล่านี้ถูกนำเสนอน้อยมากในสื่อรัฐบาลจีน

ภาพถ่ายจากเว่ยป๋อ เว็บไมโครบล็อกของจีนเผยให้เห็นผู้ชุมนุมเดินทางมารวมตัวกันหน้าที่ว่าการท้องถิ่น มีผู้ประท้วงบางคนพยายามถอดป้ายคำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เขียนว่า "รับใช้ประชาชน" ออกจากหน้าอาคารที่ว่าการ

นอกจากนี้วิดีโอบางชิ้นได้แสดงให้เห็นภาพผู้ประท้วงผลักให้รถตำรวจพลิกคว่ำ ขณะเดียวกันก็มีภาพผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากการถูกตำรวจทุบตี

หลิว หยูเฟย ผู้ก่อตั้งองค์กรดูแลด้านสิทธิและคุณภาพชีวิตของพลเมือง ยืนยันว่ารูปเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นรูปจริง โดยบอกว่าเขาได้พูดคุยกับคนในหยูเหยาซึ่งบอกกับเขาว่ามีกำลังตำรวจติดอาวุธอยู่ทุกที่และมีคนถูกจำกุม แต่ไม่รู้จำนวนที่แน่ชัด

ทางด้านสื่อท้องถิ่น หยูเหยาเดลี่ ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กล่าววิจารณ์ผู้ชุมนุมว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนเล็กน้อยที่ใช้ความรุนแรงขณะที่ปฏิบัติการบรรเทาทุกข์กำลังดำเนินถึงช่วงสำคัญ และเรียกร้องให้ผู้อาศัยในพื้นที่แสดงออกถึงความต้องการอย่างมีเหตุผลและในเวลาที่เหมาะสม

ความไม่พอใจของประชาชนชาวจีนมักจะถูกเสริมด้วยความคิดว่าคนรวยและผู้มีอำนาจมักได้รับการปฏิบัติดีกว่า ขณะที่การสั่งการจากผู้นำอำนาจนิยมจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนกลางก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังทำให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนทางภาคตะวันออกมีความตื่นตัวมากขึ้นและมีแผนเพิ่มรายจ่ายด้านความมั่นคงทั้งที่ในตอนนี้จีนใช้งบประมาณด้านกลาโหมเกินกว่าที่มีอยู่แล้ว

 


เรียบเรียงจาก

China flood protests: Police out in force in Yuyao, BBC, 16-10-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-24548515

Thousands protest in flood-hit Chinese city, Aljazeera, 16-10-2013
http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2013/10/thousands-protest-flood-hit-chinese-city-201310165830317539.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จิตรา คชเดช

Posted: 16 Oct 2013 10:11 AM PDT

"เราขายแรงแค่วันละ 8 ชั่วโมง ไม่ได้ขายจิตวิญญาณความเป็นคนของเราให้ไปด้วย ทำไมจะแสดงออกทางการเมืองไม่ได้ ถึงแม้นการแสดงออกนั้นไม่เหมาะสมในสายตาของคนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำได้ถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร แต่ถ้าละเมิดก็มีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับอยู่แล้ว"

16 ต.ค.56 กล่าวถึงกรณีมีผู้เรียกร้องให้หญิงถือป้ายด่านายกออกจากงาน

"พรีม่าโกลด์" แจ้งสาวชูป้ายด่านายกฯแสดงความรับผิดชอบลาออกแล้ว หลังถูกล่าแม่มด

Posted: 16 Oct 2013 10:01 AM PDT

เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ 'Prima Gold' แจ้งพนักงานสาวชูป้ายด่านายกฯ ลาออกแล้ว หลังถูกไล่เสียบประจาน 'สมศักดิ์-เกษียร-จิตรา' วิจารณ์ล่าแม่มด ชี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กร ระบุเป็นวิธีการแบบฟัสซิสต์

ภาพหญิงคนดังกล่าวพร้อมข้อความที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

วันนี้(16 ต.ค.)เวลา 15.48 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ 'Prima Gold' ของบริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงแฟนเพจหลังจากมีการตั้งคำถามกรณีมีภาพสาวที่ถูกอ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัทนี้ถือป้ายด่า 'ยิ่งลักษณ์' ในที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ว่า "ทางบริษัทฯ ได้ทำการพิจารณาหาข้อยุติ โดยพนักงานท่านนี้จะขอแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกเพื่อไม่ให้การแสดงออกส่วนตัวทางการเมืองเกิดผลกระทบต่อองค์กร"

ก่อนหน้านี้ผู้หญิงถือป้ายดังกล่าวถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลในโซเชียลเน็ตเวิร์กนำมาล่าแม่มดเสียบประจานพร้อมข้อมูลส่วนตัวโดยเฉพาะสถานที่ทำงาน รวมไปถึงการตัดต่อข้อความบนป้ายในลักษณะเป็นการประกาศขายบริการทางเพศ พร้อมทั้งมีการเข้าไปโพสต์ในเพจ 'Prima Gold' เรียกร้องให้ดำเนินการกับพนักงานคนด้งกล่าว แต่เมื่อเพจดังกล่าวชี้แจงว่าพนักงานคนดังกล่าวลาออกแล้ว ก็มีคนอีกกลุ่มเข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลาออก รวมถึงให้กำลังใจพนักงานคนดังกล่าวด้วย

 

'สมศักดิ์' วิจารณ์การล่าแม่มด เป็นวิธีฟัสซิสต์

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีการเสียบประจานพนักงานสาวนี้ด้วยว่า "การเอาทัศนะทางการเมืองของใคร (โดยที่การแสดงทัศนะนั้นของเขา ไม่ได้ทำในนามองค์กร) มาเล่นงานที่อาชีพการงานส่วนตัวของเขา เป็นลักษณะสำคัญของยุคสมัยและวิธีการรณรงค์ที่เรียกว่า "แม็คคาธี่อิสม์" ใน ปวศ อเมริกัน ที่ใช้ทัศนะการเมืองของดารา นักเขียน จำนวนมาก มาบีบให้เขาตกงาน (เรียกว่าถูกขึ้น "แบล็คลิสต์")

"นี่เป็นวิธีการแบบฟัสซิสต์ ที่เราเห็น ฝ่ายเหลือง ทำกัน (บีบไม่ให้มหาวิทยาลัย รับ "ก้านธูป" หรือการกดดันจะให้มหาลัย หรือที่ทำงานไล่ นศ. หรือ พนังงานที่ "ล้มเจ้า" ออก) ก็นับว่า "ประหลาด" ดีที่เสื้อแดงหลายคน (แม้แต่คนที่มีการศึกษาและอาชีพการงานสูง คือไม่ใช่เสื้อแดง "ระดับชาวบ้าน" อะไร) ที่อ้างเสมอว่า "เป็นฝ่ายประชาธิปไตย" กลับนิยมชมชอบวิธีการแบบฟัสซิสต์แบบนี้ หรือมาแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ให้กับวิธีฟัสซิสต์ แบบนี้

"การยืนยันว่าวิธีการแบบนี้ผิด ไม่เกี่ยวกับ "มองโลกสวย" อะไร แค่ยืนยันว่า ไม่ต้องการใช้วิธีการแบบฟัสซิสต์ แต่ปากว่าตาขยิบว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย" สมศักดิ์ กล่าว ซึ่งเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์สนับสนุนความเห็นของสมศักดิ์ด้วยเช่นกัน

 

จิตรา ชี้ขายแรง 8 ชม.ไม่ได้ขายวิญญาณ ทำไมจะแสดงออกทางการเมืองไม่ได้

เช่นเดียวกับ จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่เคยถูกเลิกจ้างจากกรณีสวมเสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกโทรทัศน์ ซึ่งในครั้งนั้นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวได้นัดหยุดงาน 45 วัน เพื่อเรียกร้องในบริษัทรับจิตรา ในฐานะประธานสหภาพฯ ขณะนั้นกลับเข้าทำงานด้วย ซึ่งจิตรา โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ด้วยว่า "บริษัทไหนห้ามพนักงานแสดงออกทางการเมือง มันเผด็จการชัดๆ มันต้องประจานบริษัทแบบนี้มากกว่า"

"เราขายแรงแค่วันละ 8 ชั่วโมง ไม่ได้ขายจิตวิญญาณความเป็นคนของเราให้ไปด้วย ทำไมจะแสดงออกทางการเมืองไม่ได้ ถึงแม้นการแสดงออกนั้นไม่เหมาะสมในสายตาของคนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำได้ถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร แต่ถ้าละเมิดก็มีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟเห็นพูดกันจังเวลาด่าคนอื่น" จิตรา กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้การถูกเสียบประจาน หรือล่าแม่มดออนไลน์นั้น มักเกิดกับฝั่งที่มีความคิดเห็นต่างจากกรอบความคิดหลักของสังคม โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มปรากฏมากขึ้นเมื่อเกิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ "ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม Social Sanction: SS (facebook.com/SocialSanction) ในปี 53 เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นมีความตึงเครียด ลักษณะการล่าแม่มดจะเป็นการนำเอาข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อจริง ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ช่องทางติดต่อของเป้าหมายซึ่งมักไม่ใช่บุคคลสาธารณะแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือถูกกล่าวหาว่าละเมิดสถาบันกษัตริย์มาเผยแพร่ เพื่อให้แฟนเพจกดดันหรือประณาม แต่ก็มีการเสียบประจานกลับจากฝ่ายผู้ถูกล่าหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเพจ SS โดยการกล่าวหาว่าใครเป็นแอดมินเพจ SS เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเช่นนี้กระจายไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การปกป้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ รวมมาถึงเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยก็เสียบประจานผู้ที่เห็นต่างหรือด่าทอรัฐบาล รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลด้วย เช่น กรณี แอร์โฮสเตสสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก โพสต์ในเฟซบุ๊กแสดงความไม่พอใจเมื่อพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเครื่องบิน เพราะไม่พอใจที่การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ต้องเลิกไปในเวลาอันรวดเร็วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 หลังจากนั้นเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมองว่ามีการนำเอาข้อมูลการเดินทางของ น.ส.แพทองธาร บางส่วน มาเผยแพร่ด้วย ทำให้มีผู้เรียกร้องให้ปลดแอร์ฯ คนดังกล่าว เนื่องจากเปิดเผยข้อมูลลูกค้า และในเวลาต่อมาแอร์ฯ คนดังกล่าวได้ลาออกจากสายการบินคาเธ่ย์ฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์ชี้ คนกทม.เกินครึ่งไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารในสังคมออนไลน์

Posted: 16 Oct 2013 08:35 AM PDT

 

สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone)  แท็บเล็ต (Tablet) และอินเทอร์เน็ต (Internet) ของประชาชนในกรุงเทพฯ พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือข้อมูลข่าวสารได้รับผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนาร้อยละ 51.3 รองลงมาคือเชื่อถือข้อมูลข่าวสาร ร้อยละ 33.0 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.7

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานโปรแกรมสนทนา (Chat) อันดับหนึ่งคือ LINE ร้อยละ 50.4 อันดับสองคือ WhatsApp ร้อยละ 23.7 อันดับสามคือ WeChat ร้อยละ 8.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานโปรแกรมสังคมออนไลน์ (Social Networks) อันดับหนึ่งคือ FACEBOOK ร้อยละ 41.4 อันดับสองคือ Instagram ร้อยละ 18.9 อันดับสามคือ Googel + ร้อยละ 13.5

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ต (Internet) โดยเฉลี่ยต่อวัน อันดับหนึ่งคือ 4 – 5 ชั่วโมง ร้อยละ 29.4 อันดับสองคือ 3 – 4 ชั่วโมง ร้อยละ 20.8 อันดับสามคือ 5 – 6 ชั่วโมง ร้อยละ 11.1

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจในการซื้อสินค้า บริการ ผ่านทางโปรแกรมสังคมออนไลน์/โปรแกรมสนทนา ร้อยละ 62.2 รองลงมาคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.1 และมั่นใจ ร้อยละ 16.7

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามคือ ประชาชนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Smartphone)  แท็บเล็ต (Tablet) และอินเทอร์เน็ต (Internet) ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยเก็บข้อมูลจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,437 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งบขลุกขลัก สปสช. เร่งจัดงบให้สถานพยาบาลเพิ่มสภาพคล่อง

Posted: 16 Oct 2013 08:18 AM PDT

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพประจำปี 2557 ว่า โดยปกติ สปสช.จะจัดสรรงบประมาณกระจายไปยังหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยประมาณการจากผลงานในปีงบประมาณและหักลบด้วยตัวเลขเงินเดือนของหน่วยบริการแต่ละแห่ง ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้จัดทำตัวเลขประมาณการผลงานเสร็จแล้ว แต่ไม่มีตัวเลขเงินเดือนของหน่วยบริการแต่ละแห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยบริการจะต้องส่งตัวเลขเงินเดือนให้กับ สปสช. แต่ปีนี้ยังไม่ได้ตัวเลขดังกล่าว จึงทำให้ สปสช. ยังไม่สามารถโอนงบประมาณลงไปได้

"แต่เพื่อไม่ให้หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง สปสช.จะจัดสรรงบประมาณในไตรมาสแรกให้กับหน่วยบริการไปก่อน โดยใช้ตัวเลขเดิมในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 56 ราว 13,266.32 ล้านบาท และเมื่อได้ตัวเลขการปรับเกลี่ยเงินเดือนจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว จึงจะมาทำการหักล้างทางบัญชีและจะจัดสรรเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เขื่อนสาละวิน ถ่านหินทวาย และมาย-กก’ ทุนไทยในโครงการไฟฟ้าพม่า

Posted: 16 Oct 2013 04:02 AM PDT

เอกสารประกอบการประชุม "ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ" นำเสนอข้อมูล 3 โครงการด้านพลังงานที่ไทยเข้าไปลงทุนในพม่า เขื่อนสาละวิน โรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย และมาย-กก กับภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนร่วมภูมิภาค
 
 
ปัจจุบัน ประเทศพม่าซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สายน้ำ และแร่ธาตุ ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนทั้งจากประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก เข้าไปลงทุนในโครงการต่างๆ มากมาย โดยโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และเพิ่มปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า
 
สำหรับภาคธุรกิจที่ประเทศไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุดในประเทศพม่าคือ ภาคพลังงาน โดยมีทั้งนักลงทุนภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าจากไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่หลายโครงการด้วยกัน
 
ขณะนี้ กระทรวงพลังงานของไทยกำลังปรับปรุงแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2555-2576 (แผนพีดีพี 2013) ของประเทศฉบับใหม่ โดยมีแผนจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากถ่านหิน 10,000 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 10,000 เมกะวัตต์ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่ากระทรวงพลังงานวางแผนเจรจากับพม่าเพื่อรับซื้อเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ โดยจะแก้ไขกรอบข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) จากเดิมที่เคยตกลงรับซื้อไว้ 1,500 เมกะวัตต์
 
ทั้งนี้ โครงการด้านพลังงานที่ไทยเข้าไปลงทุนในพม่า และวางแผนรับซื้อไฟฟ้ามี 3 โครงการหลัก คือ
 
1) โครงการเขื่อนสาละวิน ประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์ - รัฐกะเหรี่ยง) และ เขื่อนมายตง (หรือเขื่อนท่าซาง เดิม 7,110 เมกะวัตต์ - รัฐฉาน)
2) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก (405 เมกะวัตต์ - รัฐฉาน)
3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ภายใต้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย (1,800-4,000 เมกะวัตต์ - แคว้นตะนาวศรี)
 

โครงการเขื่อนสาละวิน

ปัจจุบัน แม่น้ำสาละวินตอนล่างในเขตพื้นที่พม่ามีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำรวม 6 เขื่อน[1] โดยมีนักลงทุนจากจีน พม่า ไทย รวมถึงรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าจากไทย คือ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย กฟผ.มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนฮัตจี และเขื่อนท่าซาง และมีแผนที่จะนำไฟฟ้าจาก 2 เขื่อนนี้เข้าระบบเครือข่ายพลังงานของอาเซียน (ASEAN Grid) ผ่านโครงข่ายสายส่งของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
 
เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 80,000 ล้านบาท โดยมี บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ถือหุ้นอยู่ 36.5%
เขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง (7,110 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 3.6 แสนล้านบาท โดยมี บริษัท กฟผ. อินเตอร์ เนชันแนล (EGATi) จำกัด (สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่แน่นอน มีทั้งที่ระบุว่า 56.5% และ 30%)
 
เดือนกรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา กฟผ.อินเตอร์ (EGATi) กล่าวถึงแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2556-2560) ของบริษัทโดยระบุถึงเขื่อนฮัตจีและเขื่อนมายตง และให้ข้อมูลว่าเขื่อนฮัตจีมีแผนจะปั่นไฟฟ้าขายให้ไทยในปี 2566 แต่ยังติดปัญหาการสู้รบของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจพื้นที่ได้ ในขณะที่ปัญหาความล่าช้าของโครงการมายตง (หรือเขื่อนท่าซางเดิม) คือ มีการเสนอ 2 โครงการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่มีผู้ถือหุ้นคนละกลุ่มคือ โครงการท่าซาง และโครงการมายตง แต่ล่าสุดกระทรวงพลังงานของไทยระบุว่า รัฐบาลพม่าได้เลือกโครงการมายตง โดยไทยจะถือหุ้น 30% ส่วนผู้ร่วมทุนใหญ่มาจากจีน คือบริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และบริษัท Three Gorges Corporation (ผู้ถือหุ้นโครงการเขื่อนสามผาในจีน) เขื่อนมายตงจะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการประมาณ 12 ปี
 
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าไทยและพม่าอยู่ระหว่างจัดทำกรอบข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยไทยจะขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า 10,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน (มายตง) 7,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย 3,000 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งกระทรวงพลังงานระบุว่า หากได้ข้อสรุปใดๆ จะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน โดยกรอบการลงทุนดังกล่าว ยังเป็นการเชื่อมโยงระบบสายส่งอาเซียน (ASEAN Grid) โดยขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานได้เร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจารายละเอียดเพื่อจัดทำข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
 
ทั้งนี้ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงในประเทศลาว ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ก็กำลังให้ความสนใจกับโครงการเขื่อนสาละวิน โดยระบุว่าบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลู่ทางการลงทุน ในขณะที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ก็ประกาศจะร่วมลงทุนโครงการเขื่อนมายตงด้วย
 
หากสร้างเขื่อน 2 แห่งนี้ จะทำให้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนกว่า 70,000 คนต้องถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงไหลอิสระ จะถูกทำลายลง รวมทั้งการล่มสลายของระบบนิเวศที่ปากแม่น้ำสาละวินด้วยเช่นกัน
 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก (405 เมกะวัตต์)

บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทลูกของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) ได้รับสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ที่เมืองก๊ก รัฐฉาน เป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่กก ซึ่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยผ่าน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยในปี 2552 กฟผ.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) 369 เมกะวัตต์ กับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ โดยมีแผนจะสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ (kV) จากโครงการ ความยาว 80 กิโลเมตร มายังชายแดนไทย และจากชายแดนไทยไปยังสถานีไฟฟ้าเชียงรายอีก 80 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2554 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 2,740 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้า โดยได้บรรจุไว้ในแผนพีดีพี 2010 (พ.ศ.2553) ระบุการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบในปี 2559 ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็พยายามเจรจาเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนอย่างต่ำ 25% ด้วย
 
 
จากเอกสาร "ปกป้องเมืองก๊กให้ปลอดภัยจากถ่านหิน" (Save Mong Kok from Coal) โดยกลุ่มรักษ์เมืองก๊ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลทหารของพม่าในขณะนั้น ได้เพิ่มกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่เมืองกก และส่งผลไห้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีชาวบ้านมากกว่า 2,000 คนต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ และส่วนใหญ่หนีเข้ามายังประเทศไทย บางส่วนได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นติดชายแดนไทย ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และทหารได้บังคับย้ายชาวบ้านกว่า 80 ครอบครัวให้อพยพไปยังพื้นที่จัดสรรแห่งใหม่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการดำรงชีวิต
 
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังหวั่นเกรงว่า การขุดเหมืองและการเดินระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำกกซึ่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย ปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ เช่น ปรอท สารหนู โครเมี่ยม และแคดเมี่ยม รวมถึงการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ปอด ทั้งจากเหมืองถ่านหิน ที่เก็บพักถ่านหิน และการขนส่ง จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ และเป็นเหตุให้เกิดฝนกรด สร้างความเสียหายกับพืชผลการเกษตร นอกจากนี้ การสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230kV ขนาดความกว้าง 40 เมตร จะเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียพื้นที่ตั้งบ้าน เรือกสวนไร่นา และป่าไม้หลายพันไร่ ทั้งในเขตประเทศพม่าและประเทศไทย
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย (1,800-4,000 เมกะวัตต์)

ในเดือนมกราคม 2555 กระทรวงพลังงานของพม่าได้ประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย[2] โดยอ้างถึง "ปัญหาสภาพแวดล้อม" และระบุว่าการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากได้ "รับฟังเสียงของประชาชน"
 
กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาทั้งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของไทย และ กฟผ.ต่างยังคงผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย โดยอ้างถึงกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวบ้านในประเทศไทย ทำให้ต้องหาพลังงานจากเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ/หรือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.เข้าไปลงทุนก่อน และมีแผนจะกระจายหุ้นให้กับ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล โดยให้เหตุผลในความคล่องตัว เพราะหากเป็น กฟผ.อินเตอร์ฯ ลงทุนเอง อาจติดปัญหาเรื่องขั้นตอน อาทิ การขอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นต้น
 
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กฟผ.ได้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ทวาย แต่จนถึงขณะนี้ ยังมิได้เปิดเผยข้อมูลชัดเจนว่ามีข้อสรุปเช่นไร ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือต้องรอผลสรุปแผนลงทุนจากรัฐบาลก่อน และมีข้อเสนอว่าต้องลงทุนด้านสายส่งไฟฟ้าก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อเสนอทั้งการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะแรก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเริ่มเฟสแรกอยู่ที่ 20-100 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับนิคมก่อน เพราะเชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมจะยังไม่มาก และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5-1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือใช้จากนิคมจะส่งขายกลับมายังประเทศไทย และต่อมามีข้อเสนอใหม่ว่า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกใช้ในนิคมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และส่วนที่ 2 ขายให้กับไทย 4,000 เมกะวัตต์
 
ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา กฟผ. ระบุว่า ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการถ่านหินในทวาย และกล่าวว่า พม่าได้เห็นชอบในหลักการตามที่รัฐบาลไทยเสนอกรอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้า "ถ่านหินสะอาด" ขนาด 1,800 เมกะวัตต์ รวมทั้งระบบสายส่งไฟฟ้า วงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 600 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กฟผ.กับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการลงทุน สิทธิประโยชน์ และระบบภาษี ที่พม่าจะให้กับไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยรัฐบาลไทยจะให้หลักประกันในการรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการขายให้กับภาคอุตสาหกรรมในทวาย ผ่านระบบสายส่งที่ไทยลงทุน เชื่อว่าจะมีความชัดเจนและก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2556 รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงพลังงานของพม่าได้กล่าวว่า ทางกระทรวงยังไม่ได้รับข้อเสนออย่างเป็นทางการเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย แต่ระบุว่าเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงจะตรวจสอบทุกขั้นตอนหากมีการเซ็นเอ็มโอยูเกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของพม่ายังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "หากชาวบ้านไม่พอใจ โครงการก็จะดำเนินการไม่ได้"
 
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556 องค์กรภาคประชาชนของพม่าได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุถึงผลเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนพม่า ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายของประเทศพม่าในการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
 
ที่มา: เอกสารประกอบการประชุม "ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ" 15 ตุลาคม 2556 โดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
 
หน่วยงานร่วมจัด: โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ / เสมสิขาลัย / มูลนิธิบูรณะนิเวศ / มูลนิธินโยบายสุขภาวะ / กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / องค์กรคณะกรรมการศูนย์บรรเทาในพม่า Burma Relief Center (BRC) / ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) / โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

[1] หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ วันที่ 18 สิงหาคม 2556 รายงานว่า พม่ากำลังจะเดินหน้าก่อสร้าง 3 เขื่อนจากแผนที่มีอยู่ 6 เขื่อนบนลำน้ำ สาละวินในประเทศพม่า คือ เขื่อนกุนโหลง 1,400 เมกะวัตต์, เขื่อนหนองผา 1,000 เมกะวัตต์, เขื่อนมานตอง 200 เมกะวัตต์, เขื่อนมายตง 7,110 เมกะวัตต์, เขื่อน ยวาติ๊ด 4,000 เมกะวัตต์ และเขื่อนฮัตจี 1,360 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนสามตัวแรกจะร่วมกับจีน ซึ่งได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว ส่วน 3 เขื่อนหลังจะร่วมกับไทยและจีน โดยยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการการศึกษาความเป็นไปได้
 
[2] โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการที่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองทวาย แคว้นตะนาวศรี อายุสัมปทาน 60 ปี โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งที่เชื่อมโยงมายังประเทศไทย ได้แก่ ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยได้จัดตั้ง บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินงาน แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 127,000 ล้านบาท โดยมี บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้วางแผนการสนับสนุนโครงการด้วยการจัดตั้ง บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด ในรูปแบบของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle: SPV) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ของไทย ร่วมกับ Foreign Economic Relation Department ของประเทศพม่า เพื่อบริหารโครงการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 81 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจากทวายสู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรีดิยาธร ถึง ยิ่งลักษณ์ : ทบทวนจำนำข้าว เปลี่ยนเป็นจ่ายตรงชาวนา

Posted: 16 Oct 2013 03:17 AM PDT

โครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ร่วมกับองค์กรภาคี จัดประชุมสัมมนาใหญ่เรื่อง "งานมหากาพย์จำนาข้าว สู่มหกรรมกอบกู้สุจริต" ในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2556 โดยระบุว่า

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผมได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง ด้วยความวิตกว่าจะเกิดผลความสูญเสียต่องบประมาณของประเทศเป็นจำนวนมาก มีการคอร์รัปชันกันมากมาย จากการรวบรวมข้อมูลที่หน่วยราชการประกาศออกมา จากข้อมูลในวงการค้าของเอกชน และจากการสำรวจจากชาวนาเพิ่มเติม สามารถสรุปผลของการจำนำข้าวใน 2 ปีที่ผ่านมาได้ดังนี้ ดูข้อมูลมหกรรมจำนำข้าว

ข้อมูลที่ผมเสนอข้างต้นนี้คิดจากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้โดยข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐมีอยู่ แม้แต่ผลการปิดบัญชีของคณะทำงานของรัฐ ก็สอดคล้องรองรับความถูกต้องของตัวเลขผลสูญเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อเริ่มโครงการนี้ในเดือนตุลาคม 2554 ท่านนายกฯคงมองไม่เห็นว่าจะเกิดผลสูญเสียต่องบประมาณของชาติมากมายขนาดนี้ เพียง 2 ปีสูญเสียไปแล้วไม่น้อยกว่า 425,000 ล้านบาท ในขณะที่ชาวนาได้รับประโยชน์ไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งแต่กลับมีผู้อื่นที่ไม่ใช่ชาวนาใช้ช่องโหว่ทำการคอร์รัปชัน หาผลประโยชน์เข้าตนเองไปมากกว่า 110,000 ล้านบาท ในเวลา 2 ปี กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถสกัดกั้นการหาประโยชน์หรือคอร์รัปชันในโครงการนี้ได้เลย

เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว ถ้าท่านนายกฯยังเชื่อบุคคลที่อยู่รอบข้าง ยินยอมให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปเป็นปีที่ 3 (2556/57) ก็เท่ากับว่าท่านกำลังปล่อยให้มีการบริหารงานแผ่นดินในลักษณะที่เกิดความเสียหายต่องบประมาณของชาติจำนวนสูง ทั้งๆที่รู้แล้วว่าจะเสียหายเช่นนั้น

ผมเข้าใจว่าท่านต้องการช่วยให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ท่านก็น่าจะหาวิธีช่วยเหลือในลักษณะที่จะเกิดผลสูญเสียเงินของแผ่นดินไม่มากไปกว่าผลประโยชน์ส่วนที่ชาวนาจะได้รับเพิ่ม โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเกาะหลังชาวนามาหาประโยชน์ได้เลย และควรจะเป็นวิธีที่กระจายประโยชน์ไปถึงชาวนาที่มีฐานะยากจนให้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายจากการเน่าเสียของข้าว ก็ควรใช้วิธีช่วยเหลือชาวนาในลักษณะที่มิใช่ไปดึงดูดให้ข้าวมารวมกันอยู่ในมือของรัฐบาล แต่ควรให้มีการค้าขายข้าวผ่านระบบการค้าของเอกชน ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว โดยไม่เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่อย่างใดเลย

วิธีการช่วยเหลือที่จะให้เกิดผลดังกล่าวนั้น รัฐบาลของท่านได้เริ่มนำมาใช้แล้วในกรณีของยางพาราที่จ่ายเฉพาะส่วนเพิ่มที่ต้องการให้ชาวสวนยางได้รับโดยตรง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นหาประโยชน์ได้และระบบการค้ายางก็ยังดำเนินไปตามปกติ ไม่ได้ดึงดูดยางเข้ามาอยู่ในมือของรัฐซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือคอร์รัปชันในช่วงขายออก นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เริ่มใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนา สำหรับข้าวจำนวน 800,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนสุดท่านที่ให้การช่วยเหลือในปีการผลิต 2555/56 นี้เอง โดยจ่ายเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง เฉพาะผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจำนวน 2,500 บาทต่อเกวียนเท่านั้น ไม่ได้รับจำนำในราคา 15,000 บาท ต่อเกวียนแต่อย่างใด

ผมจึงใคร่ขอร้องให้นายกรัฐมนตรีได้โปรดทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยังไม่สายเกินไปที่จะยกเลิกวิธีการรับจำนำ แล้วหันมาใช้วิธีจ่ายผลประโยชน์ส่วนเพิ่มให้ชาวนาโดยตรงแทน โดยกำหนดยอดสูงสุดต่อครัวเรือน และตั้งกฏเกณฑ์ให้กระจายไปถึงครัวเรือนที่มีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าท่านทำได้เช่นนี้ ท่านก็จะได้ชื่อว่าได้ทำงานสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลปกป้องไม่ให้เงินของแผ่นดินต้องสูญเสียมากเกินความจำเป็น และยังสามารถช่วยชาวนาได้ทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยพับลิกา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.พาณิชย์ปัดขาดทุนจำนำข้าว 4 แสนล้าน คาดขาดทุนแค่ 1 แสนล้าน

Posted: 16 Oct 2013 02:53 AM PDT

วันที่ 16 ต.ค.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธานว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระแสจึงขอชี้แจงว่า ประเทศจีนซื้อข้าวจากไทยหลายวิธีการ แต่ล่าสุดในการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทยและจีนได้ลงนามว่าจะซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อย่างต่อเนื่องให้ได้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งราคาซื้อขายจะเท่าไรนั้นในเดือนพ.ย.หรืออย่างช้าในเดือนธ.ค. ตนและคณะจะไปหารือกับรมว.พาณิชย์จีนอีกครั้ง โดยประเทศจีนอาจส่งรัฐวิสาหกิจมาซื้อแบบจีทูจีอีกก็ได้ โดยไทยจะขายข้าวคุณภาพดี ราคาสูงและคุณภาพดีกว่าข้าวของประเทศเวียดนาม รวมทั้งใช้ราคาตลาดโลกเป็นราคาอ้างอิง แต่จะไม่กำหนดราคาไว้เพราะเป็นการขายข้าวในระยะยาว
       
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการเยือนของนายกฯจีนยังมีการลงนามว่าจะซื้อขายระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชนของไทยให้ได้ 1 ล้านตันใน 5 ปี  รวมถึงยังมีการขายแบบรัฐต่อเอกชน เอกชนซื้อกับเอกชนอีก ส่วนการขายข้าว 1.2 ล้านตันให้มณฑลเฮย์หลงเจียงนั้นไม่เกี่ยวกับยอดขายข้าวแบบจีทูจีครั้งนี้ แต่คาดว่าการซื้อขายดังกล่าวจะลงนามซื้อขายได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ดังนั้น ขณะนี้มีการขายที่แน่นอนแล้ว 3 ยอด ได้แก่ ขายข้าวมณฑลเฮย์หลงเจียง จีทูจี และรัฐวิสาหกิจจีนและเอกชนไทย อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เราจะเจรจาขายข้าวกับอีกหลายประเทศทั้งประเทศอิรัก และอินโดนีเซีย สำหรับสต็อกรัฐบาลที่สามารถขายได้มีประมาณ 10 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวที่มีพันธสัญญาแล้ว
       
รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึงกรณีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยตัวเลขการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขาดทุนกว่า 4 แสนล้านบาทว่า ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์นั้นมีเพียง 7 บรรทัด เนื้อหาเพียง 2 หน้า คิดว่ามีหลายตัวเลขต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นตัวเลขจากอะไร ตรงกันหรือไม่และนำมาจากไหน เพราะข้อมูลสั้นมากพิสูจน์อะไรไม่ได้ หากมีข้อมูลเรื่องทุจริตนั้นหากใครมีข้อมูลก็จะต้องไปขอเพื่อมาดำเนินคดี ทั้งนี้ โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกที่จะนำมาเข้าโครงการหรือไม่ก็ได้ ปัจจุบันจำนำอยู่ที่ปีละ 22 ล้านตัน จากผลผลิตทั้งหมด 38 ล้านตันหรือ 60% ของผลผลิตทั้งหมด โดยในปี 2555 ใช้เงินในโครงการ 3.4 แสนล้านบาท และปี 2556 ใช้เงินในโครงการ 3.3 แสนล้านบาท โอนเงินให้เกษตรกรในบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยตรง วงเงิน 3.3 แสนล้านบาทก็เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไม่มีใครเอาไปที่ไหน ไปดูได้ว่าที่ธ.ก.ส. มีบัญชีเกษตรกรกว่า 2 ล้านบัญชี
 
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการขายข้าวนั้นก็ยังขายอย่างต่อเนื่อง และใช้เงินคืนธ.ก.ส.แล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่ยังมีข้าวของปี 2554ปี 2555 และปี 2556 เหลืออยู่ ขณะที่การขาดทุนในโครงการนั้นต้องรอขายข้าวให้หมดก่อนจึงจะปิดบัญชีได้ ตัวเลขการปิดบัญชีที่ตนเห็นล่าสุดคือ ตัวเลขปิดบัญชีในเดือนมกราคม 2556 ฉบับอื่นยังไม่เห็น โดยบัญชีล่าสุดขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการคิดราคาจำนวนข้าวที่เหลือในสต็อก ขณะนี้หลายฝ่ายอยู่ในระหว่างการประเมินตัวเลขการขาดทุน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่ได้ประเมินการขาดทุนอย่างจริงจังเพราะยังขายของไม่หมด อย่างไรก็ตาม หลักการโครงการจำนำข้าวเป็นการพยุงราคาข้าว ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาข้าวก็จะไปขึ้นอยู่กับราคาตลาด ราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อตันเท่านั้น เมื่อรัฐบาลไปเติมส่วนต่างตันละ 2,500 บาทต่อตัน ราคารวมก็ยังไม่ถึง 1 หมื่นบาทต่อตัน แต่ถ้ามีโครงการจำนำข้าวอย่างแย่ที่สุดเกษตรกรจะได้รับที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการจำนำข้าวขาดทุน 4.2 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการที่ผ่านมาใช้เงินทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท หากขาดทุน 2 แสนล้านบาทต่อปี เท่ากับว่ารัฐบาลขายข้าวในราคาประมาณ 30% ของราคาที่ซื้อมา ซึ่งต่ำเกินไป ทุกปีที่ช่วยชาวนารัฐบาลเตรียมงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 6 หมื่นล้าน และที่ผ่านมาก็รับซื้อข้าวกว่า 22 ล้านตัน จึงอาจขาดทุนแบบสมเหตุสมผลที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการเปิดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้ง 18 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับแนวทางการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการชดเชยให้เกษตรการเพิ่มเติมจากระดับราคาตลาด เหมือนกับที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง เพื่อนำมาใช้กับการจำนำข้าว รัฐบาลพร้อมรับข้อเสนอแนะของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำมาดูแลราคาสินค้าเกษตร


ส่วนการเปิดเผยข้อมูลการขาดทุนจากรับจำนำข้าวเปลือก 4.2 แสนล้านบาทของปีที่ผ่านมา มองว่าเป็นการเข้าใจผิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร

สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี 56/57 นั้น รัฐบาลจะบริหารให้อยูในวง 2.7 แสนล้านบาท จึงไม่เป็นห่วงเรื่องวงเงินที่ใช้สำหรับการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะงบประมาณปี 57 ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว ทำให้มีเงินชดเชยคืนให้กับ ธ.ก.ส. หลังออกสำรองจ่ายให้ไปแล้ว 90,000 ล้านบาท และยังต้องเร่งกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าว เพื่อนำเงินมาใช้รับจำนำ เรื่องวงเงินการใช้จึงไม่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง "ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" ทบทวนโครงการรับจำนำข้าว หันใช้แนวทางเดียวกับการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยระบุว่าโครงการจำนำข้าว 2 ปีขาดทุน  425,000 ล้าน  ชาวนาจะได้รับไม่ถึงครึ่ง รั่วไหลจากการทุจริตถึง 115,831 ล้าน 

ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ตุลาคม ฝ่ายค้านได้เตรียมประเด็นกระทู้ถามสดโครงการรับจำนำข้าว จากกรณีที่หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ออกมาระบุว่าจะซื้อข้าวจากไทย 5 ปี 1 ล้านตัน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับออกมาระบุว่า จีนจะซื้อข้าว 5 ปี 5 ล้านตัน ยังไม่มีความชัดเจน มีความแตกต่างหลายเท่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่ ไม่ใช่วิสัยของผู้นำที่ทำให้สังคมเคลือบแคลง นายกฯต้องออกมาตอบ

ขณะที่ ป.ป.ช. เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบ 'กิตติรัตน์' กรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว  โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนการทุจริต โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล กล่าวถึงการดำเนินการพิจารณาคดี ในขณะนี้ว่า ทาง ป.ป.ช.ได้เตรียมตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการ ตรวจสอบกรณีการจำหน่วยข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยมีบริษัท สยามอินดิก้า เข้ามาเกี่ยวข้องตามคำร้องของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ขอให้มีการตรวจสอบ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตในการขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ เนื่องจากพบว่า บริษัท สยามอินดิก้า ดังกล่าวได้มีการถูกฟ้องล้มละลายไปแล้ว และได้กลับมามีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายข้าวครั้งนี้ ซึ่งทาง ป.ป.ช. ถือว่าเป็นกรณีใหม่ ที่ไม่ได้เป็นการร้องซ้ำ จึงรับไว้พิจารณาเตรียมตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของรัฐจริงหรือไม่

 

 

ที่มา: เว็บไซต์ASTV-ผู้จัดการ, เว็บไซต์สำนักข่าวไทย,  เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรีดิยาธร ยื่นจม.ถึงยิ่งลักษณ์ – ฟันธงจำนำข้าวเจ๊ง 4 แสนล.รั่วไหลเพียบ

Posted: 16 Oct 2013 02:43 AM PDT


เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56  โครงการอาจารย์ป๋วย จริยธรรม ร่วมกับองค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน  จัดงาน "รำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ขึ้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมีการจัดเสวนา เรื่อง มหากาพย์จำนำข้าว "มหากาฟย์กอบกู้สุจจริต "ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ"  ขึ้น  โดยมี นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) , ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายนิพนธ์ พัวพงธกร รักษาการผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขา ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท ทีดีอาร์ไอ , นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการเสวนา

โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า   โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการรับจำนำข้าวด้วยความวิตกว่าจะเกิดผลสูญเสียต่องบประมาณของประเทศชาติเป็นจำนวนมาก  และจะมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย จึงทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ทบทวนนโยบายการรับจำนำข้าวอย่างจริงจัง และหันมาใช้วิธีการจ่ายผลประโยชน์ส่วนเพิ่มให้ชาวนาโดยตรง กำหนดยอดสูงสุดต่อครัวเรือน และตั้งเกณฑ์ให้กระจายไปถึงครัวเรือนที่มีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นด้วย

หากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทำได้เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่าได้ทำงานสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดูแลป้องกันไม่ให้เงินของแผ่นดินต้องสูญเสียมากเกินความจำเป็น  และยังสามารถช่วยชาวนาได้ทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย  แต่หากยังคงเพิกเฉยและดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/2557 ต่อไปเป็นปีที่ 3  เท่ากับว่ากำลังปล่อยให้มีการบริหารงานแผ่นดินในลักษณะที่เกิดความเสียหายต่องบประมาณของชาติเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รู้มาก่อนว่าจะต้องเกิดความเสียหายมากมาย 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  ยังระบุด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการช่วยชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น  ควรหาวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ต้องสูญเสียเงินของแผ่นดินในจำนวนมาก  และเป็นแนวทางที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาเกาะหลังชาวนาเพื่อหาประโยชน์  ขณะเดียวกัน ต้องเป็นวิธีการที่สามารถกระจายประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมชาวนาที่ีมีฐานะยากจนมากขึ้น  และเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตข้าวเกิดความเสียหายจากการเน่าเสีย  รัฐบาลควรยกเลิกช่วยเหลือชาวนาโดยใช้วิธีตั้งราคารับซื้อสูง ๆ เพื่อดึงดูดข้าวทั้งหมดไว้กับรัฐ และใช้วิธีระบายข้าวผ่านระบบการค้าของภาคเอกชน  ซึ่งทำได้ดีอยู่แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐแต่อย่างใด  

โดยวิธีดังกล่าวเป็นแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกับกรณียางพาราที่รัฐดำเนินการไปแล้ว  โดยจ่ายเฉพาะส่วนเพิ่มที่ต้องการให้ชาวสวนยางได้รับโดยตรง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ระบบการค้ายางก็ยังคงดำเนินตามปกติ ไม่ได้ดึงดูดยางเข้ามาอยู่ในสต๊อกรัฐ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดทุนหรือคอร์รัปชันในช่วงขายออก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็เริ่มใช้วิธีเดียวกันนี้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนาสำหรับข้าวจำนวน 890,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวลอตสุดท้ายของฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 โดยจ่ายเข้าบัญชีของชาวนาโดยตรงเฉพาะผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจำนวน 2,500 บาทต่อตัน  ไม่ได้รับจำนำในอัตรา 15,000 บาทต่อตันแต่อย่างใด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐ  ข้อมูลของภาคเอกชนในวงการค้าข้าว และจากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวนา พบว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 425,000 ล้านบาท  โดยเป็นผลประโยชน์ในส่วนที่ชาวนาจะได้รับไม่ถึงครึ่ง และเป็นเงินที่รั่วไหลจากการคอร์รัปชันสูงถึง 115,831 ล้านบาท โดยมีปริมาณการรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 2554/2555 จำนวน 21,640,000 ตัน  และเพิ่มขึ้นเป็น 22,230,000 ตันในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 รวมปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำทั้งสิ้น 48,870,000 ตัน โดยมีปริมาณที่ช่วยเหลือประโยชน์ส่วนเพิ่ม 890,000 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไม่สามารถสกัดกั้นการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวได้เลย

ด้านนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรุนแรง และเป็นการปรับลดราคาลงอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น  เนื่องจากตลาดเริ่มรู้ว่าไทยมีสต๊อกข้าวคงคลังอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไทยเหลือสต๊อกข้าวในโกดังประมาณ 17 ล้านตัน  แต่หลังจากนั้นนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลับระบุว่าสต๊อกข้าวไทยเหลือ 10 ล้านตัน ส่งผลให้รัฐบาลมีหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวแล้วกว่า 500,000-600,000 ล้านบาท เกินวงเงินที่ตั้งไว้ และเริ่มชนเพดาน  กำลังจะเกินกำลังที่ผู้ให้กู้จะสนับสนุนได้อีกต่อไป.

นอกจากนี้ปัญหาการขายข้าวคุณภาพสูง เพราะในอนาคตการบริโภคข้าวจะลดน้อยลง เน้นเพิ่มคุณภาพข้าว ทำให้ไทยสู้ตลาดโลกไม่ได้ ราคาที่ชาวนาได้ในที่สุดเป็นราคาที่ขายข้าวได้ในตลาดโลก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามทุ่มเทเงิน แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังไม่มีเงิน คิดว่ากระทรวงการคลังเริ่มเห็นว่า ค่าใช้จ่ายจากการขาดทุนต่างๆ เริ่มมากขึ้น คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการแจงรายงานการปิดบัญชีว่า เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังไม่อยากให้กู้ยืมมาก โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงคลัง ขณะที่รัฐมนตรีช่วงนี้ก็ดูเงียบๆ ไป เช่นเดียวกับผู้นำรัฐบาลตัวจริงที่อยู่แดนไกล

"ตอนนี้ถึงจุดต้องแก้ไขปัญหา แต่จะแก้อย่างไรให้เดือดร้อนน้อยที่สุด ที่ผ่านมารัฐบาลนับว่าประสบความสำเร็จ แม้จะมีการโกงกินกันบ้าง แต่ก็โกงแบบมีจริยธรรม เป็นการโกงกิน 'ขาออก' จากโกดังรัฐบาล ด้วยคิดว่าเป็นเงินของรัฐ ฝากให้ฝ่ายค้านจี้ให้ถึงที่สุด อย่ารับไปทำเอง ไม่อย่างนั้นตายแล้วก็ยังต้องรับผิดชอบ นี่คือวิธีการทำโทษของผม ต้องจับให้ขังอยู่กับการจำนำข้าว ให้แก้ไขอย่างถึงที่สุด ต้องรับผิดชอบกับเงินที่สูญเสียไป"อัมมารกล่าว

 

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ , เว็บไซต์แนวหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุผลในการค้านเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย

Posted: 16 Oct 2013 02:01 AM PDT

หลายคนคงได้ติดตามข่าวบริษัททุ่งคำฯ ฟ้องร้องดำเนินคดี  14  แกนนำชาวบ้านกลุ่ม  "คนรักษ์บ้านเกิด"  พร้อมกับเรียกค่าเสียหายกว่า  50  ล้านบาท  ในฐานที่ไปจำกัดสิทธิ  เสรีภาพ  และทำให้ธุรกิจบริษัทฯ หยุดตัว

เรื่องนี้หากพิจารณากันให้ดี  สิ่งที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านนั้นถือว่าไม่มีอะไรผิดไปจากคาด  ครั้งนี้เกิดเป็นครั้งที่  2  หลังจากครั้งแรกบริษัทฯ เคยฟ้องร้องนายสมัย  ภักดี  แกนนำกลุ่มฯ  ข้อหาบุกรุก  เมื่อ  3  ปีที่แล้ว  กรณีเดินขึ้นไปบนภูทับฟ้าซึ่งบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นเขตห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์  แต่ครั้งนั้นบริษัทได้ถอนแจ้งความและก็ยุติเรื่องไปในที่สุด

มาคราวนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน  ครั้งนี้บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้านทั้งพวง  (กลุ่ม)  พร้อมกับเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมหาศาลถึง  50  ล้านบาท  ซึ่งก็กะว่าจะเอาเข็ดหลาบ  ขยาดกลัว  และเลิกแสดงออกในท่าทีที่ต่อต้าน

การกระทำของบริษัทฯ ถือว่าแย่สุดๆ  เพราะชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำล้วนแล้วแต่มีเหตุมีผลกันทั้งสิ้น  หากจำกันได้  ผลกระทบจากการดำเนินโครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี  2550  จนถึงวันนี้กินเวลาร่วม  6  ปี 

ในเวลา  6  ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องทนทุกข์ระทมกับผลกระทบที่ตนไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรั่วไหลของไซยาไนด์และโลหะหนัก  จนบางคนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยดังที่ปรากฏอยู่ในภาพข่าวเป็นระยะๆ

สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องอยู่วันนี้ไม่ต่างอะไรกับข้อเรียกร้องเมื่อ  5  ห้าปีที่แล้ว  คือการให้รัฐบาลและบริษัทฯ แสดงความรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบ  และให้ยุติโครงการจากการจัดการที่ล้มเหลว  แต่แล้วผ่านมาหลายปีข้อเรียกร้องนี้ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างรูปธรรม  ทั้งส่วนราชการภายในจังหวัดในฐานะกลไกของรัฐที่รับผิดชอบ  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.)  ซ้ำร้ายยังพยายามถูลู่ถูกังทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการเดินหน้าโครงการ

ปัญหานี้แก้ยากและจะลุกลามบานปลายในที่สุดเพราะรัฐไม่จริงใจในการแก้ปัญหา  แม้แต่รัฐบาลเองโดยกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานยังเพิกเฉยและลอยตัวจากปัญหา  ปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเบื่อหน่ายกับกลไกของรัฐ  จนไม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นที่พึ่งได้อีกต่อไป 

เหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจของรัฐบาลและหน่วยราชการในจังหวัด  เห็นได้จากกรณีเมื่อวันที่  8  กันยายน  ที่ผ่านมา  บริษัทฯ จัดเวทีการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  (public  scoping)  ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถเข้าไปร่วมเวทีนั้นได้  ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา  และวันนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการที่จะไปบอกให้ผู้จัดเวทีได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนที่ผ่านมา  รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งกับตัวเขาเองและชุมชน  แต่ผลที่สุดเสียงเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายแต่ประการใด

หนำซ้ำยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า  700  นาย  ปิดกั้นไม่ให้เข้าไปยังเวที  ทั้งที่ในความเป็นจริงเวทีแบบนี้มันควรจะเป็นเวทีเปิดให้ชาวบ้านทุกคนได้เข้าร่วม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า

น่าเสียดายยิ่ง  เวทีแบบนี้ควรที่บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรจะได้แสดงความชาญฉลาดในการเปิดกว้างทางความคิด  และไม่ควรจะใช้เงื่อนไขใดๆ ในการไปสกัดกั้นชาวบ้าน  แต่ควรจะเปิดโอกาสให้คนที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเข้ามารับรู้รับฟัง  และให้พวกเขานำเสนอข้อเป็นห่วงกังวล  แต่ท้ายสุดเวทีที่มันควรจะเกิดประโยชน์ก็กลายเป็นเพียงโรงละครเล็กๆ ที่ผู้บริหารบริษัทฯ กับส่วนราชการในจังหวัดร่วมกันปาหี่ตบตาชาวบ้าน

มันคงจะเจริญ?  บ้านนี้เมืองนี้กลุ่มคนที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้  คำว่า  "สิทธิชุมชน"  "สิทธิตามรัฐธรรมนูญ"  ไม่ต้องพูดถึงสำหรับที่นี่  วันนี้ใช้ไม่ได้กับชาวบ้าน  6  หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง

นับเป็นความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากกระบวนการพัฒนาของรัฐที่ดำเนินการอย่างไร้ความรับผิดชอบ  ปล่อยให้บริษัทฯ กำมะลอเข้ามาสัมปทานและจัดการทรัพยากรอย่างขาดสำนึก

สิ่งที่เจ็บปวดที่มากสุดสำหรับกรณีนี้คือ  การลุกขึ้นมาป้องป้องทรัพยากรของชาวบ้านแต่ต้องถูกบริษัทฯ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางเพ่งและอาญา  ฟังแล้วน่าหัวเราะเยาะ  บอกว่าชาวบ้านไปปิดทางเข้าบริษัทฯ  สร้างความเสียหายกับธุรกิจ  ยิ่งกว่านั้นยังบอกอีกว่า  ธุรกิจที่เดินไม่ได้ 5  วันทำให้สูญเงินไปวันละ  10  ล้านบาท  เลยจำเป็นต้องฟ้องร้องชาวบ้านถึง  50  ล้านบาท

ฟังแล้วถึงกับสะดุ้ง?  เพิ่งทราบว่าการทำเหมืองแร่ที่ภูทับฟ้า  จังหวัดเลย  สามารถทำให้มีเม็ดเงินเกิดขึ้นถึงวันละ  10  ล้านบาท 

แต่น่าเสียดาย?  สำนึกรับผิดชอบทางสังคมต่ำไปหน่อย  เงินที่ได้จากการตักตวงเอาทรัพยากรท้องถิ่นกลับไม่สามารถนำมาเยียวยาหรือว่าชดเชยความรู้สึกใดๆ ของชาวบ้านได้แม้แต่รายเดียว

นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่อีกครั้งที่ชาวบ้านตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรแล้วต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากผู้ที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าอย่างบริษัทฯ  นี่คือเรื่องเล็กๆ ของคนเฉพาะกลุ่มก้อนหรือไม่?  หรือ  มันคือโจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทย?

แต่หากจะว่าไปแล้ว  การพัฒนาใดๆ ที่เกิดขึ้นบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน  สำหรับสังคมไทยมันไม่ควรจะมีอีกต่อไป  เพราะบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนชัดว่า  รัฐบาล  หน่วยงานที่เป็นกลไกในจังหวัด  และบริษัทที่รับสัมปทานยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

สำหรับสังคมภายนอก  กรณีเหมืองแร่ทองคำ  เราต้องไม่ลืมว่าผลกระทบตรงนี้มันหนักหนาสาหัส  ยากแก่การเยียวยา  แล้วไม่ใช่พึ่งจะเกิดขึ้นปีสองปี  แต่เป็นปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญมาแล้วร่วม  6  ปี  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีคนรับผิดชอบ  โลหะหนักจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ยังเข้าเลือดชาวบ้านทุกวัน  ป่าไม้  ภูเขา  แหล่งน้ำ  ในวันนี้ไม่ต้องพูดถึง  ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ  น้ำอุปโภค  บริโภค  วันนี้ชาวบ้านไม่มั่นใจ  หอย  กุ้ง  ปลา  ผักจากธรรมชาติขณะนี้ปนเปื้อนไปด้วยไซยาไนด์

ทั้งหมดนี้คือ  "หายนะภัย"  ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้ง  6  หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง  จังหวัดเลย  และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านอย่างพวกเขากำลังใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน  และนี่คือเหตุผลสำคัญว่า  "ทำไมชาวบ้านต้องคัดค้านโครงการเหมืองแร่ทองคำ" 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักว่ายน้ำเกย์จากสหรัฐฯ เขียนจม.เปิดผนึกถึงปูติน เรื่องกม.ต้านเกย์ในรัสเซีย

Posted: 16 Oct 2013 12:49 AM PDT

จากการที่รัสเซียออกกฎหมายห้ามไม่ให้คนรักเพศเดียวกันเปิดเผยหรือแสดงการสนับสนุนแนวคิดนี้ในที่สาธารณะ นักกีฬาว่ายของสหรัฐฯ ริชาร์ด อัลเธอร์ ก็ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ปธน. ปูติน ในเรื่องนี้บอกว่าไม่อยากให้รัสเซียถูกมองในแง่ร้ายในช่วงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปีหน้า และเรียกร้องให้นักกีฬาที่เป็นเกย์ได้ลงแข่งโดยไม่ต้องหวาดกลัว

15 ต.ค. 2013 - ริชาร์ด อัลเธอร์ นักกีฬาว่ายน้ำชาวสหรัฐฯ ที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผ่านทางเว็บล็อกของตัวเองกล่าวถึงสถานการณ์อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ต่อชาวเกย์และกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันในรัสเซีย ก่อนหน้าการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่เมืองโซชิ รัสเซียเป็นเจ้าภาพ

อัลเธอร์ กล่าวเริ่มต้นในจดหมายเปิดผนึกโดยชื่นชมประธานาธิบดีของรัสเซียว่าเป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ในสายตานานาชาติว่าเป็นผู้ทรนง มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นที่น่าชื่นชมและดูเหมือนนักกีฬา อีกทั้งยังคิดว่าบทบาทเจ้าภาพของรัสเซียเป็นการให้ความสำคัญต่อร่างกายและความสำเร็จด้านการกีฬา

อย่างไรก็ตาม อัลเธอร์เขียนในจดหมายเปิดผนึกว่าเขาไม่อยากให้กฎหมายต่อต้านเกย์ในรัสเซียต้องทำให้ประเทศถูกมองในแง่ร้าย

โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาทางการรัสเซียได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการโฆษณาส่งเสริมแนวคิดรักเพศเดียวกัน เช่นการแสดงสัญลักษณ์สีรุ้ง การพูดสนับสนุนเกย์ รวมถึงการแสดงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในที่สาธารณะ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ถ้าเป็นชาวรัสเซียจะถูกสั่งปรับ แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติอาจถูกจำคุกด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศความกลัวคนรักเพศเดียวกันในรัสเซียก็มีข่าวที่ชาวเกย์ตกเป็นเป้าถูกทำร้าย เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาในเมืองโวลโกกราด มีชายอายุ 23 ปีถูกทำร้ายและทรมานจนเสียชีวิตเนื่องจากถูกหาว่าเป็นเกย์ และในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีวิดีโอในอินเทอร์เน็ตแสดงภาพของกลุ่มศาลเตี้ยที่ออกทำร้ายคนที่เป็นเกย์ และในเดือนเดียวกัน พรรครัฐบาลของปูตินก็ได้เสนอร่างกฎหมายไม่ให้เด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน

ริชาร์ด อัลเธอร์ เรียกร้องให้ปูตินสั่งปลดเหล่า "อันธพาลจอมเทศนา" และอนุญาตให้นักกีฬาที่เป็นเกย์ได้ลงแข่งขันอย่างไม่ต้องหวาดกลัว พวกเขาแค่อยากแข่งกีฬาโดยมีครอบครัวและเพื่อนคอยให้กำลังใจ

เว็บล็อกของอัลเธอร์ถูกโพสต์ต่อลงในเว็บไซต์มอสโควไทม์ ทำให้มีผู้แสดงความเห็นไม่พอใจจำนวนมาก เช่นบางคนบอกว่าชาวรัสเซียไม่ต้องการให้มีการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ชาวเกย์ต่อคนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ อีกความเห็นหนึ่งกล่าวว่ารัสเซียมักจะตกเป็นเป้าวิจารณ์และถูกทำให้เป็นผู้ร้าย

อย่างไรก็ตาม เว็บล็อกของอัลเธอร์ก็ไม่ได้วิจารณ์แต่รัสเซียอย่างเดียว แต่มีการยกตัวอย่างการแสดงความเกลียดชังต่อคนรักเพศเดียวกันที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เอง โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงฤดูร้อนในนิวยอร์กซิตี้ซึ่งมีชาวเกย์คนหนึ่งถูกยิงขณะที่ผู้โจมตีตะโกนด่าด้วยคำที่ใช้เหยียดเกย์ (faggot) รวมถึงการแสดงความเห็นที่เหยียดคนรักเพศเดียวกันบนอินเทอร์เน็ต

"พวกเรารู้ว่าคุณเป็นชายมาดเข้ม (macho man) ซึ่งก็เข้าท่าดี ตัวคุณเองก็ต้องแสดงให้เห็นว่าชายที่แท้จริงเขาปฏิบัติต่อผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อทุกๆ คน ด้วยความเคารพ การให้เกียรติ และความการุณย์" อัลเธอร์กล่าวในจดหมายเปิดผนึก

นอกจากอัลเธอร์แล้ว ลี เพียร์สัน นักกีฬาพาราลิมปิกเหรียญทองก็ประกาศว่าเขาจะประท้วงต่อต้านกฎหมายห้ามชาวเกย์ในกีซาโอลิมปิกฤดูหนาวปีหน้า แม้ว่าจะถูกจับก็ตาม

 


เรียบเรียงจาก

Putin is a 'proud buff dude' and Russia should not be vilified for anti-gay laws ahead of Sochi Olympic Games, says US swimmer, The Independent, 15-10-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/putin-is-a-proud-buff-dude-and-russia-should-not-be-vilified-for-antigay-laws-ahead-of-sochi-olympic-games-says-us-swimmer-8881354.html

An Open Letter to President Putin From a Gay U.S. Athlete, Richard Alther,Huffington Post, 10-10-2013
http://www.huffingtonpost.com/richard-alther/an-open-letter-to-president-putin-from-a-gay-us-athlete_b_4054662.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ความฝันเดือนตุลาฯ" ปาฐกถา 40 ปี 14 ตุลาโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

Posted: 15 Oct 2013 11:08 PM PDT

วิดีโอปาฐกถาพิเศษวาระ 40 ปี 14 ตุลา โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล "ความฝันเดือนตุลา สี่สิบปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในประเทศไทย" ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ที่ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 14 ต.ค. 56

 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 56 ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำการเดินขบวนในเดือนตุลาคมปี 2516 อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ความฝันเดือนตุลา สี่สิบปีแห่งการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในประเทศไทย" (ปาฐกถาฉบับเต็ม อ่านที่นี่)

ตอนหนึ่งของปาฐกถาเขากล่าวว่า "แล้วถามว่า ทำไมประชาชนจึงหันมาฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตย  คำตอบมีอยู่ว่าเพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถผลักดันความฝันให้เป็นจริงได้ด้วยพลังของตนเอง"

"ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยวิธีการกับจุดหมายสามารถเชื่อมร้อยเป็นเนื้อเดียว  ไม่ว่าจะเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐ  หรือการเดินขบวนสำแดงกำลัง"

"สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่เพียงสะท้อนเจตจำนงของประชาชนในประเด็นต่าง ๆ  หากยังเป็นการแสดงออกซึ่งความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามันคือเสรีภาพที่ปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรม"

"ในความเห็นของผม เราจำเป็นต้องวัดความคืบหน้าของประชาธิปไตยด้วยบรรทัดฐานนี้  ตราบใดที่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ สามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยเป็นเวทีแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตของพวกเขาได้ ตราบนั้นเราคงต้องถือว่าระบอบการเมืองกำลังทำงานได้ดี"

"ในทางกลับกัน ถ้าความยากลำบากของประชาชนถูกมองข้าม  อำนาจต่อรองของผู้คนจำนวนมากถูกจำกัด หรือพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาถูกปฏิเสธ ก็แสดงว่าระบอบการเมืองเองกำลังมีปัญหา  ไม่ว่าระบอบนั้นจะชูธงประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม"

ในตอนท้ายปาฐกถาเขากล่าวด้วยว่า "ผลกระทบของโลกภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล ในระดับนี้  ความยากลำบากที่สุดอยู่ที่บทบาทการเป็นผู้นำประเทศ หรือผู้นำของฝ่ายบริหาร  ทั้งนี้เนื่องจากกรอบอ้างอิงเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมแบบเก่าเริ่มใช้ไม่ได้"

"เศรษฐกิจไร้พรมแดนทำให้ผลประโยชน์ต่างชาติกับของคนในประเทศไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป ขณะที่ผลประโยชน์ของชนชั้นที่ได้เปรียบก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับของชนชั้นที่เสียเปรียบ ยังไม่ต้องพูดถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชาชนในอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งทำให้ยากต่อการเหมารวมว่ารัฐบาลกำลังทำเพื่อคนไทยทุกคน"

"ในเมื่อรัฐบาลขาดข้ออ้างที่ทุกฝ่ายยอมรับ  การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารย่อมถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตฉันทานุมัติ อย่างต่อเนื่อง มวลชนจำนวนมหาศาล และหลายหมู่เหล่า เริ่มเห็นว่ารัฐไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเชื่อฟังกันโดยปราศจากเงื่อนไข  ดังนั้นจึงพร้อมจะกดดันรัฐบาลให้ค้ำประกันผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา"

"ตามความเห็นของผม วิธีแก้ไขสภาพดังกล่าวไม่อาจเป็นอย่างอื่น นอกจากจะต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยราษฎรก้อนเดียวที่รักกันอยู่ตลอดเวลา และใครก็ตามที่มีบทบาทนำพาประเทศจะต้องเลิกอ้างอิงผลประโยชน์แห่งชาติแบบลอย ๆ เพื่อปกปิดผลประโยชน์ทางชนชั้นเสียที เพราะถึงอย่างไรก็ปิดไม่มิดอยู่แล้ว"

"อันที่จริงผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของนายทุนก็มีส่วนทำให้ชนชั้นล่าง ๆ ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะเรียกร้องผลประโยชน์อันล่อนจ้อนของชนชั้นตนด้วย  ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาข้าว ราคายาง หรือค่าชดเชยเรื่องมลภาวะ  พูดกันง่าย ๆ คือไม่มีใครยอมอ่อนข้อ หรือเสียสละเพื่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป"

"ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่าปีนี้มีการชุมนุมของประชาชนไทยมากกว่า 3,000 ครั้ง และในจำนวนนั้นเป็นการประท้วงหรือเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจปากท้องถึง 1,939 ครั้ง ที่เหลือเป็นเรื่องการเมือง"

"แน่ละ เราอาจตีความได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพของชาวไทยในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับความเสมอภาคและความเป็นธรรมแล้วเห็นทีจะไม่ใช่  ข้อเท็จจริงคือผู้คนกำลังเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์  และไม่มีใครยอมรับความเดือดร้อนนี้โดยไม่ต่อสู้ดิ้นรน"

"ดังนั้น ผู้นำการเมืองที่ตื่นรู้จึงควรย้ายฐานความชอบธรรมของอำนาจไปสู่การสนองผลประโยชน์รูปธรรมของประชาชนให้มากขึ้น  ยอมรับว่ารัฐบาลต้องมีบทบาทบริหารความเป็นธรรมและแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากกลไกตลาด  รวมทั้งต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่หลากหลายแตกต่างไม่เฉพาะในช่วงเสียงเลือกตั้ง หากตลอดช่วงที่อยู่ในอำนาจ และในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ"

"หากทำเช่นนั้นได้ก็เท่ากับแปรวิกฤตฉันทานุมัติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย"

"ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมต้องขออภัยที่ได้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการพูดถึงความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเด็นนี้คือปัญหาใหญ่สุดของยุคสมัย  ทั้งของโลกและของบ้านเรา มันเป็นสถานการณ์ที่สาปแช่งคนจำนวนมหาศาล ให้จมปลักอยู่กับความต่ำต้อยน้อยหน้า อับจนข้นแค้น และเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสความเจริญ"

"วันนี้ ผมขออนุญาตเป็นปากเสียงให้กับพี่น้องเหล่านั้น เพราะผมคิดว่าพวกเขามีโอกาสน้อยเกินไปในการพูดถึงความเสียเปรียบของตน"

"โดยสารัตถะแล้ว สิ่งที่ผมพูดก็ไม่ได้ต่างจากที่เคยพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว  ไม่ได้หลุดไปจากความฝันเดือนตุลาคมที่หมุดประวัติศาสตร์กำลังจะจดจารึกไว้ เพียงแต่ว่าในวันนี้ บริบทที่เปลี่ยนไปของโลก ทำให้เราเห็นพ้องต้องกันน้อยลง ... ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลไม่ถอนประกัน ‘ไทกร’ คดีก่อการร้าย ชี้ไม่ผิดเงื่อนไข

Posted: 15 Oct 2013 10:30 PM PDT

หลังจากอัยการขอให้ศาลเพิกถอนประกัน ไทกร พลสุวรรณกับพวกชี้ผิดเงื่อนไขประกันในคดีร่วมกันก่อการร้ายปิดสนามบิน ล่าสุดศาลยกคำร้องชี้ชุมนุมปราศจากอาวุธไม่มีเหตุเพิกถอนประกัน คปท.ยังชุมนุมต่อท่ามกลางสายฝน

สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.รายงาน ศาลอาญา รัชดา อ่านคำสั่งในคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายไทกร พลสุวรรณ, นายพิเชฐ พัฒนโชติ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.  เป็นจำเลยในคดี ร่วมกันก่อการร้าย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากเห็นว่า จำเลยทั้ง 3 มีพฤติการณ์กระทำผิดเงื่อนไขการประกัน กรณีจัดชุมนุม และขึ้นเวทีปราศรัย ที่บริเวณลานพระบรมรูป รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี โจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฏ แม้ว่า ในช่วงวันดังกล่าว จำเลยได้ร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมจำนวนมาก เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ในช่วงที่มีการชุมนุมนั้นยังไม่พบว่าเกิดความวุ่นวาย สอดคล้องกับตำรวจที่สังเกตการณ์ชุมนุม ระบุว่า การชุมนุมดังกล่าว ปราศจากอาวุธ อีกทั้ง รัฐบาล ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ก่อนครบกำหนด

ดังนั้น การกระทำของจำเลย จึงไม่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ไม่มีเหตุผลที่ศาลจะเพิกถอนการประกันตัว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทยรายงานว่า ภายหลังที่ศาลอ่านคำสั่งให้จำเลยทั้งสามฟังแล้ว ศาลยังได้กำชับด้วยวาจากับจำเลยทั้งสามว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องแต่ขอให้พึงสังวรว่า อย่ากระทำการใดๆ ที่จะเป็นการผิดต่อเงื่อนไขปล่อยชั่วคราวของศาล ซึ่งจำเลยทั้งสามได้กล่าวตอบรับศาล ภายหลังฟังคำสั่งแล้ว กลุ่มมวลชนประมาณ 20 คน ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ได้นำดอกกุหลาบมามอบให้นายไทกร นายพิเชฐ และนายสมบูรณ์ ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่น
 
ภายหลังนายพิเชฐ พัฒนโชติ เปิดเผยว่า คำสั่งของศาลเป็นบรรทัดฐานว่าผู้ที่มีคดีเกี่ยวกับการเมืองสามารถที่จะขึ้นเวทีปราศรัยได้ แต่ต้องระมัดระวังการพูดไม่ให้ผิดเงื่อนไขศาล โดยศาลได้กำชับว่าคดีที่ตนทั้งสามคนถูกดำเนินคดีมีอัตราโทษสูง เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังคำพูดให้มากยิ่งขึ้น
 

ไทกรยัน กปท.ไม่แตกแยก

นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)  กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มแกนนำว่า  เป็นการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในกลุ่มแกนนำอย่างแน่นอน คาดว่าเป็นการปล่อยข่าวลือ ส่วนกรณีที่ พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี หนึ่งในแกนนำ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่า ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจของ กปท. ที่มีการปลุกระดมมวลชนไปเคลื่อนไหวตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่เกี่ยวของกับคณะเสนาธิการร่วม แต่เป็นการกระทำของนายไทกร นั้น เห็นว่า พลอากาศโทวัชระ ไม่ค่อยได้เข้าได้เข้าร่วมประชุม จึงได้ข้อมูลที่ผิด เลยแสดงความเห็นออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่ตอนนี้ได้มีการอธิบายและเข้าใจกันแล้ว

ขณะที่ นายไทกร ได้ปฏิเสธถึงกรณีการเปลี่ยนบุคคลออกมาแถลงข่าวของ กลุ่ม กปท. นั้น เห็นว่าขึ้นอยู่กับแกนนำที่จะมอบหมายให้ใครเป็นผู้แถลงข่าว แต่หากมีการเปลี่ยนผู้แถลงข่าวก็ไม่เป็นไร เพราะตนมีคดีที่ถูกฟ้องร้อง 13 คดีแล้ว ที่เกิดจากการแถลงข่าว

นอกจากนี้ ภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เพิกถอนประกัน นายไทกร กับพวกได้ มีกลุ่มผู้ชุมนุม กปท. กว่า 20 คน เดินทางจากสวนลุมพินี มายังศาลอาญา เพื่อมอบดอกกุหลาบเพื่อให้กำลังใจแกนนำทั้ง 3 คนด้วย

 

แหล่งข่าวเนชั่น ในกปท. เผยแตกกันเองค้านยอมกลับสวนลุมฯ

สำหรับข่าวความแตกแยกใน กปท.นั้น เนชั่นแชลแนล ซึ่งอ้างถึงแหล่งข่าวใน กปท. เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมาหลังการย้ายจากการชุมนุมที่ทำเนียบว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเสนาธิการร่วม เพราะภายหลังที่ประกาศเคลื่อนกลับได้มีมวลชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ อีกทั้งการตัดสินใจคั้งนี้เสียงยังไม่เป็นเอกฉันท์ด้วย โดยมีเสนาธิการร่วมฯ บางคนไม่เห็นด้วยกับการประกาศเคลื่อนมวลชนกลับ เพราะก่อนจะมีการเจรจาในเสนาธิการร่วมได้มีการตกลงกันแล้วว่า จะไม่ยอมเคลื่อนออกจากทำเนียบรัฐบาลเด็ดขาด อะไรจะเกิดก็เกิด แต่เมื่อผลการตัดสินใจของเสนาธิการส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ เสียงส่วนน้อยก็รู้สึกไม่พอใจและท้อแท้ ถึงกับพูดขึ้นมาว่า แล้วอย่างนี้ใครจะมาร่วมชุมนุมด้วย เสียไปหมด และถ้าเป็นอย่างนี้ที่สวนลุมพินีก็ต้องประกาศยุติการชุมนุมไปด้วย แต่เมื่อผลออกมาเป็นอย่างนี้ก็ต้องยอมรับ ส่วนแผนต่อๆไปก็พังลงหมดเพราะแผนหัวขบวนล้มลงแล้ว แผนทั้งหมดที่วางไว้ก็จบไปด้วย ทั้งนี้เสนาธิการร่วมฯ จะมีการประชุมหารือกันอีกครั้ง แต่ในเสนาธิการร่วมบางคนถึงกับบอกว่าจะคุยอะไร ไมรู้จะคุยอะไรแล้ว

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ในระดับการ์ดของกปท.เองก็มีปัญหากัน ด้วยความที่การ์ดมักวางท่าว่าเป็นใหญ่ จึงทำให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เข้าร่วมชุมนุมเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเกิดความเขม่นกันอยู่ อีกไม่นานถ้าการ์ดกปท.ยังไม่ปรับปรุงก็จะมีการตีกันเองกับอาชีวะอย่างแน่นอน อีกทั้งมวลชนที่จะเข้าร่วมก็เกิดความไม่พอใจการ์ดด้วย และนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้มีมวลชนเข้าร่วมน้อย

 

คปท. ยังคงชุมนุมท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่วันนี้(16 ต.ค.56)กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยังคงชุมนุมบริเวณแยกอรุพงษ์  ท่ามกลางสายฝนที่ยังคงโปรยปรายต่อเนื่องตั้งแต่เช้ามืดที่ผ่านมา โดยมวลชนยังคงกระจายตัวอาศัยตามเต้นท์ที่พัก และนั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน บางส่วนยังมีความกังวลใจกับเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่หวังดี นำหมามุ่ยมาโรยในพื้นที่ชุมนุม แต่ยังยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป ขณะที่บนเวทีนั้นยังไม่มีกิจกรรมใด ๆ แกนนำยังคงพักผ่อนด้านหลังเวที ด้านการจราจรเป็นไปอย่างคล่องตัว มีติดขัดบ้างตามสัญญาณไฟจราจร แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจาก สน.พญาไท คอยอำนวยความสะดวก

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมออกมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ เพื่อหาฉันทามติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการชุมนุมของ คปท. ที่บริเวณแยกอุรุพงษ์


ชาวบ้านชุมชนตลาดประแจจีน แจ้งความม็อบอุรุพงษ์ทำเดือดร้อน - รถสุขาตั้งหน้าบ้านเหม็นหึ่ง

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเพิ่มเติมว่า  เวลา 14.00 น. วันที่ 16 ต.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. เผยกรณีมีชาวบ้านชุมชนตลาดประแจจีนไปแจ้งความสน.พญาไท เพื่อให้ม็อบคปท.ยกเลิกการชุมนุมเนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการและชาวบ้านบริเวณดังกล่าวเดือดร้อน ว่า ในวันนี้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมบริเวณตลาดประแจจีน 2-3 ราย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสน.พญาไท ร้องเรียนไว้ 5 ข้อ คือ 1.บริเวณถ.พระราม 6 ขาออก เป็นสถานที่ที่ผู้ชุมนุมใช้ตั้งเต็นท์ รวมถึงมีเวทีขยายเสียงเพื่อการชุมนุมทำให้ถูกปิดการจราจร ประชาชนไม่สามารถเข้าบ้านได้ เกิดความเดือดร้อน 2.กรณีมีรถสุขาตั้งอยู่หน้าบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นและน้ำของเสียไหลเข้าบ้านของประชาชนในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งลูกค้าที่มาใช้บริการร้านขายของในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถใช้บริการได้ 3.การใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัย หรือร้องเพลงบนเวทีทำให้เสียงดังรบกวนชาวบ้าน 4.การชุมนุมดังกล่าวปิดเส้นทางลูกค้าที่จะมาใช้บริการไม่สะดวกส่งผลให้ลูกค้าลดลง 5.กลุ่มประชาชนที่พักอาศัยต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายเวทีไปยังบริเวณอื่นต่อไป 

 

ศาลรับคำฟ้อง กปท.กรณี ครม.มีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

ที่ศาลแพ่ง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวไทยรายงานว่า เวลา 15.00 น. พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และ นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้ประสานงานกลุ่ม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายนิวัฒนธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและมีอำนาจออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2556 และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่อง กระทำความผิดรัฐธรรมนูญละเมิดสิทธิการชุมนุม

กรณีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 นายนิวัฒน์ธำรง จำเลยที่ 2 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำเลยที่ 1 ได้ออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เนื้อหาส่วนหนึ่งว่า "ด้วยปรากฏว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการตามแนวทางและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในขณะนี้ ได้กำหนดรูปแบบการชุมนุมเพื่อให้มีการระดมคนจำนวนมาก หรือมีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ใกล้เคียง เพื่อขัดขวางการใช้อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หรือการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งอยู่ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา"
 
ดังนั้น จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกเพิกถอนประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ของโจทก์ที่ 1 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศเรื่องการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.มั่นคงฯ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนประกาศของ ศอ.รส.ฉบับที่ 1/2556 เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากบริเวณพื้นที่ อาคารหรือสถานที่ที่กำหนด และขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 2 เรื่อง ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ 4239 /2556 และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เวลา 09.00 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น