ประชาไท | Prachatai3.info |
- สำรวจความเห็นผู้นำกรรมกร ว่าด้วยทำไมรัฐไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87,98
- คนรุ่นใหม่ รำลึก 6 ตุลา กลางเมืองอุบลฯ
- รวมข่าวนิติบัญญัติประจำสัปดาห์ 30 ก.ย. - 6 ต.ค. 2556
- หลัง 14 ตุลา: อุเชนทร์ เชียงเสน ความคิดและปฏิบัติการ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ปัจจุบัน
- กวีประชาไท: ใคร?
- เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและการพัฒนาประชาธิปไตย
- คนงานเย็บผ้าชัยภูมิ แจ้งความนายจ้างเบี้ยวค่าแรง แฉกลยุทธ์ใหม่บีบเข้า ‘กลุ่มอาชีพ’
- รอบโลกแรงงานกันยายน 2556
- องค์กรข่าวกรองสหรัฐฯ และอังกฤษ พยายามเจาะโปรแกรมท่องเว็บแบบนิรนาม Tor
สำรวจความเห็นผู้นำกรรมกร ว่าด้วยทำไมรัฐไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 Posted: 06 Oct 2013 03:02 PM PDT ชวนอ่านเหตุผลของผู้นำกรรมกรว่าทำไมรัฐไทยต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว รวมถึงร่วมเจรจาต่อรอง และความไม่เพียงพอแค่การรับรอง นับตั้งแต่ไทยร่วมเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO เพียง 14 ฉบับจากจำนวนทั้งสิ้น 185 ฉบับ และอนุสัญญาที่สำคัญกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่าง ฉบับที่ 87 ซึ่งว่าด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ซึ่งว่าด้วย การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ก็ยังไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งขบวนการแรงงานไทยมีการเรียกร้องมากว่า 21 ปีแล้ว ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนายสนั่น ขจรประศาสน์ ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับข้อเรียกร้องของคนงานในวันที่ 7 ต.ค.52 พร้อมรับปากว่าจะดำเนินการผลักดันการให้สัตยาบันภายใน 5 เดือน แต่ก็ไม่เป็นผลตามที่รับปากไว้ มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการแรงงานมีการเรียกร้องหลักในวันกรรมกรสากลให้รัฐบาลรับรองทั้ง 2 ฉบับ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยวันที่ 7 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่า(Decent Work) คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดชุมนุมค้างคืนเพื่อเรียกร้องให้เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือน พ.ค.57 โดยมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับคนงาน (คลิกอ่านรายละเอียด) ด้วยเหตุนี้ประชาไทจึงรวบรวมความเห็นของผู้นำแรงงานบางส่วนจากการสัมภาษณ์โดยตรงและเวทีเสวนาเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้เห็นถึงมุมมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวเพื่อรับรองอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ 0000 ทวีป กาญจนวงศ์ : ภาพจาก PITV แฟนเพจ สิทธิแรงงานต้องเป็นมาตรฐานสากลไม่ใช่แบบไทยๆ ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวในงานเสวนา "ขบวนการกรรมกรกับ 14 ตุลา 2516 และอนาคตประชาธิปไตยไทย" ที่จัดโดยคณะกรรมการ14ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.56 ว่า "ประชาธิปไตย"สำหรับแรงงานนั้นจะพูดถึงสิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก เรามีเสรีภาพในการสมาคม รวมตัวหรือยัง ขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมานาน แต่ปัจจุบันการจัดตั้งสหภาพแรงานของเราอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ต้องมีการจดทะเบียน ดังนั้นการรวมกลุ่มของเราจึงยิงขาดการคุ้มครองอย่างเพียงพอ การเจรจาก็ถูกแทรกแซงของรัฐ เราต้องใช้มาตรฐานสากลไม่ใช่มาตรฐานไทยอย่างที่เป็นอยู่ จิตรา คชเดช เสรีภาพในการรวมตัวเป็นไปได้อย่างเสรีปราศจากการเลือกปฏิบัติ จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 เป็นเรื่องที่ขบวนการสหภาพแรงงาน ตื่นเรียกร้องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ปี 2535 แต่ก็มีกระแสขึ้นๆลงๆ ตามสถานการณ์การเมืองไทย สถานการณ์องค์กรเงินทุนสนับสนุน สถานการณ์ขบวนการสหภาพแรงงานเป็นหลัก เพื่อให้รัฐบาลไทยในยุคต่างรับรอง อนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 แต่ประเด็นหลักจริงๆในการเรียกร้องของนักสหภาพแรงงานในไทยมุ่งไปเรื่องเสรีภาพการรวมตัวมีสหภาพแรงงาน สิทธิเหล่านี้จะรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย และเสรีภาพในการเจรจาต่อรองเคารพสิทธิของผู้แทนเจรจาของลูกจ้าง แต่ถ้าจะตีความในเรื่องของ อนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 ให้สิทธิการรวมตัวของลูกจ้างรัฐด้วย และที่สำคัญคือเสรีภาพในเรื่องการรวมตัวนั้นเป็นไปได้อย่างเสรีปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ อาชีพ ศาสนา เพศ อายุ ความคิดเห็นทางการเมือง สีผิว ของเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่าทำให้การมีองค์กรที่ไม่ต้องจดทะเบียนและสามารถเข้าไปสู่ความเชื่อทางการเมืองของคนงานได้อย่างเต็มที่ รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง และต้องป้องกันการแทรกแซงองค์กรต่างๆของนายจ้างลูกจ้าง ซึงฝ่ายรัฐและนักสหภาพแรงงานที่ล้าหลังกังวลว่าจะมีการรวมตัวกันมากไปเป็นองค์กรเล็กองค์กรน้อยที่จะทำให้ควบคุมลำบาก ลูกจ้างรัฐรวมตัวจะทำให้มีผลกระทบเรื่องความมั่นคงของรัฐ แต่ถ้าเอาเรื่องประชาธิปไตยและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญก็จะเป็นช่องทางให้คนงานมีโอกาสได้ต่อรองกับนายจ้างมากขึ้นและเรียนรู้การรวมตัวเป็นองค์กรใหญ่ และอาจจะนำไปสู่การมีพรรคการเมืองที่ใช้ความคิดความเชื่อได้อย่างอิสระโดยใช้หลักการของอนุสัญญา ILO ข้อ 87 กัมพูชา-พม่า ก็รับแล้ว จิตรา กล่าวว่า แม้แต่ประเทศเพื่อบ้านใกล้เคียงเช่น กัมพูชาก็ได้รับรองทั้งสองข้อนี้แล้ว ในพม่าก็มีการรับรองไปหนึ่งข้อ แต่การรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 สองข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ดี มีประโยชน์มากสำหรับขบวนการแรงงาน คือหมายรวมถึงลูกจ้างรัฐ แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ ที่จะทำให้เรื่องสิทธิการรวมตัว การเจรจาต่อรองทำได้ง่ายขึ้นในกลุ่มลูกจ้างที่มีองค์กรสหภาพแรงงานอยู่แล้วและเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสหภาพแรงงาน สมาชิกมีการตื่นตัวและเข้าใจในเรื่องสหภาพแรงงาน และเรื่องสิทธิการรวมตัว ต้องไม่เป็นแค่ตัวการันตีความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ประกาศใช้ "ถ้าการรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 นั้นอยู่ภายใต้ คนยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง ยังไม่มีสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นตามกฎหมายไทยก็เป็นเพียงการรับรองที่ไม่ได้เกิดประโยชน์จริงกับคนทั้งหมด เพราะไม่มีการนำมาหยิบใช้ เพราะฉะนั้นการทำงานรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลรับรองนั้น ฝ่ายนักสหภาพแรงงานเองก็ต้องเตรียมจัดตั้ง คนงานที่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด และควรจะหยิบใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อขบวนการแรงงานอย่างแท้จริง" จิตรา กล่าว เพราะในข้อตกลงระหว่างประเทศในหน่วยธุรกิจต่างๆ เช่นจรรยาบรรณทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติบางที่ เช่น บริษัทไทรอัมพ์ ก็ใช้หลักปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 เช่นเดียวกัน เพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อการแข่งขันในเรื่องของการแสดงออกถึงการเป็นประเทศที่จะเป็นผู้นำในอาเซียน รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 โดยเร็วที่สุด "สิทธิต่างที่ได้มาจะให้เขียนดีขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่นำไปใช้ไม่มีความรู้ความเข้าใจและคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าใจกลไกเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นแค่ตัวการันตีความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ประกาศใช้เท่านั้นเอง" จิตรา กล่าว มนัส โกศล : ภาพจาก voicelabour.org กม.แรงงานสัมพันธ์ที่ให้สิทธิการรวมตัว-เจรจาต่อรองไม่เป็นธรรม มนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) กล่าวในเวทีเสวนา หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 ที่จัดโดย คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลชอบอ้างเสมอเรื่องสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยนั้นมีอยู่แล้ว โดยถูกกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ให้สิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง ทั้งที่กฎหมายนั้นเป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่เป็นธรรมทั้งอำนาจการต่อรอง การรวมตัวที่มีข้อจำกัดในการที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน 10 ประเทศที่จะถึงนี้ มี 3 ประเทศที่รับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับแล้ว และอีก 6 ประเทศก็รับเป็นบางอนุสัญญา ซึ่งประเทศไทยที่ยังพิจารณาและยังไม่รับรองแม้แต่ฉบับเดียว ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การรับรองอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับนั้นก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมโดยขั้นตอนการรวมตัวจะไม่ต้องมีการขึ้นตรงกับรัฐ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องอนุญาต ใครก็สามารถรวมตัวกันได้ เพราะปัจจุบันต้องไปขอจดทะเบียนที่เจ้าหน้าที่รัฐ และก็ถูกเลิิกจ้าง สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องของกฎหมายลูกที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงว่า จะมารองรับสิทธิในการปฏิบัติ เพื่อให้กำหนดเรื่องสิทธิตามอนุสัญญาILO เช่น อินโดนีเซียที่มีปัญหาแม้รับรองอนุสัญญาแต่ไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับทำให้ในทางปฏิบัติจึงยังไม่เป็นไปได้จริงตามเจตนารมณ์ เสน่ห์ หงส์ทอง ข้อจำกัดต่างๆในการจัดตั้งสหภาพฯ ที่มีในกฎหมายจะลดลง เสน่ห์ หงส์ทอง คณะทำงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เตรียมงาน รณรงค์ ILO 87 ,98 ในช่วงวันที่ 7 - 8 ตุลานี้ กล่าวว่า ILO 87 ,98 เมื่อรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO 87 ,98 จะต้องแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ผลที่น่าจะเกิดประโยชน์กับคนงานก็คือข้อจำกัดต่างๆที่มีในกฎหมายและข้อบังคับใช้อยู่ก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการรวมตัวการจัดตั้งสหภาพแรงงานเราไม่ต้องมีกฎหมายควบคุมเราจะร่วมกับใครจัดตั้งแบบไหนก็เป็นสิทธิของคนงานซึ่งปัจจุบันเราต้องไปขอจดแจ้งให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบออกทะเบียนสหภาพแรงงานซึ่งไม่มีความเป็นอิสระตามหลักอนุสัญญา ILO 87 สำหรับเรื่องการเจรจาต่อรองตาม อนุสัญญา ILO 98 เช่นกันเมื่อมีการเจรจา จะต้องไม่มีการแซกแซงจากรัฐ "วันนี้คนงานเจรจาต่อรอง นัดหยุดงานภายใต้กฎหมายที่คนงานเสียเปรียบ นัดหยุดงานนายจ้างสามารถให้ใครมาทำงานแทนก็ได้ และยังเลิกจ้างคนงานในระหว่างมีการยื่นข้อเรียกร้อง รวมไปถึงการใช้อำนาจทางศาลมากกว่าที่จะให้กระบวนการเจรจาเป็นไปตามกลไกระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง" เสน่ห์ กล่าว ศรีไพร นนทรี สำคัญต่อคนงานทุกสาขาอาชีพทุกเชื้อชาติ ศรีไพร นนทรี ฝ่ายการศึกษาและประชาสัมพันธ์กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านและใกล้เคียง(กสรก.) กล่าวว่า "อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับสำคัญต่อคนงานทุกสาขาอาชีพมาก แม้ว่าทุกวันนี้ถึงจะมีการตั้งสหภาพแรงงานได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนก็ตาม แต่สหภาพแรงงานก็อ่อนแอ และล้มง่ายกว่าในอดีต อาจเป็นเพราะการถูกย่ำยี่จากเผด็จการทุกครั้งที่ทำรัฐประหาร ไหนจะลูกจ้างที่อยู่ในส่วนราชการ คนงานตามบ้าน ตามภาคเกษตร ที่กฎหมายแรงงานเข้าดูแลไม่ทั่วถึง แรงงานข้ามชาติที่ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ยังไม่ให้สิทธิการรวมตัว เท่ากับแรงงานไทย จึงส่งผลให้เป็นอุปต่อการรวมตัว และการต่อรองเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและมีช่องว่างระหว่างคนงานด้วยกันเองให้น้อยลง วันหนึ่งเผด็จการอาจกลับมาอีก กฎหมายแรงงานอาจถูกย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อนุสัญญาฯ ไม่ใช่กฎหมายในประเทศที่โจรเหล่านั้นจะมาเปลี่ยนได้ จึงเป็นหลักประกันชั้นสองที่คอยคุ้มครองคนงานมากขึ้นในการพูดถึงสิทธิและต่อรอง ดังนั้นการที่คนงานออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงเป็นเรื่องปกติ และรัฐบาลควรยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศไปอีกขั้นระดับหนึ่ง" บุญยืน สุขใหม่ ปัญหาไม่ใช่ 'การรับรอง' แต่เป็น 'กลไกบังคับ' รัฐภาคีปฏิบัติตาม บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ตั้งคำถามกับการรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ว่า "หลังจากรับรองแล้วหลังจากนั้นขบวนการแรงงานหรือผู้นำแรงงานไทยจะทำอย่างไรต่อไป เพราะประเด็นหลัก ณ วันนี้ผมมองว่าเนื้อหาหลักไม่ใช่อยู่ที่การให้การรับรองหรือไม่ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แล้ว แต่ที่สำคัญคือกลไกหรือเครื่องมือที่จะให้รัฐไทยหรือรัฐภาคี ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ว่าไว้ในอนุสัญญา ILO มากกว่า เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่ขบวนการแรงงานไทยพบ และเผชิญมาโดยตลอดก็คือปัญหาการที่บริษัทข้ามชาติได้เข้ามากดขี่ขูดรีด และเอาเปรียบแรงงานไทย" "ทั้งที่ประเทศส่งออกทุนเหล่านั้นก็ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 อยู่แล้ว และก็มีกลไกอื่นๆ ที่ประเทศส่งออกทุนได้ให้สัตญาบัญไว้กับองค์กรแรงงานสากลว่าจะไม่ละเมิดหลักการในอนุสัญญา ILO 87,98 อยู่แล้ว แต่ที่เราพบเห็นมันกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม อนุสัญญา อนุสัญญา ILO 87,98 เป็นอนุสัญญาหลักที่ทุกประเทศที่เป็นรัฐภาคีในองค์การสหประชาชาติถึงแม้จะไม่ให้การรับรองแต่ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว เพราะเป็นอนุสัญญาหลักพื้นฐานที่ทุกรัฐภาคีของสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม" บุญยืน กล่าว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา ก็รับรอง แต่ยังมีการละเมิดแรงงาน บุญยืนมองด้วยว่า จะพูดเพียงประเด็นการให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างเดียวคงยังไม่เพียงพอ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา ก็ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แต่การกดขี่ขูดรีดแรงงานก็ไม่หายไปผู้นำแรงงานยังถูกอุ้มหายไปในค่ายทหารให้เห็นตลอดมาจนปัจจุบัน ดังนั้นนอกจากจะผลักดันให้รัฐให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ขบวนการแรงงานไทยต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นให้ได้ด้วยตัวของแรงงานเองเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับตนเอง และที่สำคัญอีกประการคือ "รัฐ" ในที่นี้หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานต้องทำความเข้าใจในบทบาทของลูกจ้างในการที่จะใช้สิทธิที่ถูกรับรองในอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างชัดแจ้งด้วย และองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการก็คือประเทศที่ส่งออกทุนที่มาลงทุนในประเทศไทย ต้องเคารพในกฎกติกาที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่ตัวหนังสือที่ถูกเขียนอยู่บนกระดาษแต่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด "ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แต่ต้องการเห็นว่าเมื่อมีการรับรองแล้วมันต้องมีกลไกมีเครื่องมือหรือสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อขบวนการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยในอนาคตเมื่อเปิดเสรีอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช้เป็นแค่ข้ออ้างหรือตรายางให้กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือหนว่ยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ" บุญยืน กล่าวย้ำ เซีย จำปาทอง หากไมรับรองมิเช่นนั้นก็ไม้ต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านๆมา เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย(สพท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี พ.ศ. 2462 การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน เป็นหนึ่งในสามข้อที่ที่ ILO ได้จัดลำดับความสำคัญรีบด่วน เพื่อช่วยในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน "ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ควรให้การรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ เพราะเป็นการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนในการรวมตัว การคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่าพรรคต่อต้านระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ และส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นแล้วรัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างเร่งด่วนและปฏิเสธมิได้ มิเช่นนั้นแล้วรัฐบาลชุดนี้ก็คงมิได้แตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านๆมา" เซีย กล่าว ILO 87 & 98 โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย อธิบายองค์ประกอบของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง 3. องค์กร (สหภาพแรงงาน) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี สำหรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง มีเนื้อหาหลักคือ 1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง 3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนรุ่นใหม่ รำลึก 6 ตุลา กลางเมืองอุบลฯ Posted: 06 Oct 2013 10:33 AM PDT นักกิจกรรม นศ. ม.อุบล รณรงค์ รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา กลางเมืองอุบล ชูป้าย"วันนี้ 6 ตุลา ผ่านมา 37 ปี หลายคนสละชีพ หวังคงไว้อุดมการณ์" และ "แค่เห็นต่างต้อง ตาย! ความทรงจำที่จางหาย กับความตายที่ทุกข์ทน" คนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย กลุ่ม Student's Role, กลุ่มกลุ่มแว่นขยาย, กลุ่มแสงแห่งเสรี, และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ 6 ตุลา 19 (56) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่สนใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากับการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองในสังคมไทย และชวนพิจารณาประวัติศาสตร์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่ประวัติศาสตร์หน้าเก่าเริ่มเลือนหายไป สังคมต้องตระหนักและเห็นความสำคัญกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาให้เป็นบทเรียนในการแก้ไขความขัดแย้งอันปราศจากความรุนแรง ประกอบด้วยกิจกรรมวงสนทนา "บทบาทคนรุ่นใหม่กับการรณรงค์เพื่อสาธารณะ" ณ สวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองคนรุ่นใหม่ในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะ และบทบาทของนักศึกษาในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีน้อยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน หากคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงพลังทางความคิดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความตระหนักรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม้กับประชาชนในสังคม เพราะประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและนำมาซึ่งระบอบการเมืองการปกครองไทย เพื่อเป็นบทเรียนในการออกแบบสังคมในปัจจุบันที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางงความคิดถึงขั้นนำไปสู่การทำลายชีวิตของคนที่คิดต่าง สังคมประชาธิปไตยที่ต้องการความหลากหลายการยอมรับความแตกต่างถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ของสังคม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รวมข่าวนิติบัญญัติประจำสัปดาห์ 30 ก.ย. - 6 ต.ค. 2556 Posted: 06 Oct 2013 08:41 AM PDT รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หลัง 14 ตุลา: อุเชนทร์ เชียงเสน ความคิดและปฏิบัติการ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ปัจจุบัน Posted: 06 Oct 2013 06:45 AM PDT เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ในการจัดสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นวันแรกที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น ในช่วงเช้า อุเชนทร์ เชียงเสน ได้นำเสนอบทความหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาชน": ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) โดยวิดีโอการนำเสนอของ อุเชนทร์ เชียงเสน มีรายละเอียดดังนี้ คลิปการนำเสนอของ "อุเชนทร์ เชียงเสน" หัวข้อ "ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาชน": ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 06 Oct 2013 05:57 AM PDT หกตุลาฯ สองห้าหนึ่งเก้า น่าเศร้าจิต ใครบอกว่า ข้าราษฎร์ อุกอาจหมิ่น เผากลางเมือง ทั้งเป็น เห็นทั้งโลก ใครว่าแกว เข้ามา ก่อกวนบุก ผ่านมานาน หลายปี วันนี้รู้ .......................................
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและการพัฒนาประชาธิปไตย Posted: 06 Oct 2013 01:48 AM PDT ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ มองบทบาทกองทัพกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ขณะพุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ สำรวจสถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เสนอหัวข้อ กองทัพไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของเขายังคงเอาทหารเป็นตัวเดินเรื่อง และมองว่าทหารไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ งานศึกษาของเขาทดลองนำเสนอ 2 ประเด็น ประเด็นแรก ทฤษฎีทหารกับประชาธิปไตย ทหารสามารถแทรกแซงให้เกิดผลบวกกับประชาธิปไตยได้หรือไม่ เขากล่าวถึงทฤษฎีทหารในการเมืองทั่วไป คือแบบที่เป็นอยู่ทั่วโลก โดยประเด็นหลักคือ ปกติแล้วเมื่อเรานึกถึงบทบาททหารในการเมือง หรือแทรกแซงในการเมืองเมื่อไหร่จะถูกมองว่าเป็นผลลบต่อประชาธิปไตยโดยทันทีแทบจะเป็นอัตโนมัติ โดยไม่พิจารณาอะไรอื่นเลย เขายกตัวอย่างนายพลปิโนเช ของชิลี และพลเอกตานฉ่วย ของพม่าที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองและสร้างผลร้ายต่อประชาธิปไตยในประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิดอีกครั้งว่าทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตยเสมอไปนั้น อาจจะไม่ใช่ข้อสรุปที่จริงทุกครั้งไป เหตุการณ์ที่กระตุกให้คิดขึ้นมาคือเหตุการณ์ที่กองทัพอียิปต์เข้ามามีอำนาจการเมืองหลังการลุกฮือของประชาชนในกระแสอาหรับสปริง มูบารักลงจากตำแหน่งหลังถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่คนที่มาแทนมูบารักไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกองทัพอียิปต์ที่เข้ามา "ดูแลประเทศ" ดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ตอนนั้นกระแสชาวโลกมองเหตุการณ์นี้ของอียิปต์โดยไม่ได้มองว่ามันคือการรัฐประหารหรือเป็นอะไรที่เลวร้าย แต่กลับมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ถูกใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าจะทำให้ประชาธิปไตยในอียิปต์เดินหน้าต่อไป สิ่งนี้ทำให้ต้องคิดว่าการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองก็สามารถเป็นผลบวกต่อประชาธิปไตยก็ได้ อียิปต์เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง 2 ปีต่อมา และคราวนี้หนักกว่าครั้งแรกเพราะโค่นล้มผู้นำจากการเลือกตั้ง และถูกวิจารณ์อย่างหนัก
ประเด็นที่ 2 ทหารกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา เขากล่าวว่า Democratization หรือการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น คือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคมก่อนจะเป็นประชาธิปไตยแล้วนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไรบ้าง โดยมีสามช่วงเวลาหลัก คือ สภาพก่อนประชาธิปไตย สภาวะเปลี่ยนผ่าน และขั้นตอนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตย เขาเห็นว่าต้องสนใจกองทัพและนับรวมกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตย เพราะกองทัพเป็นองค์กรที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นผู้ที่ผูกขาดความรุนแรงในนามของรัฐ เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง มีระเบียบวินัย มีระบบการบังคับบัญชาชัดเจน ทำให้แตกต่างจากสถาบันอื่นๆ ที่เป็นสถาบันพลเรือน และกองทัพมีลักษณะรักพวกพ้อง มีความรักและภูมิใจในความเป็นทหาร ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของตัวเอง สิ่งที่สังคมที่อยากจะเป็นประชาธิปไตยควรจะสนใจคือ การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือน ว่าจะทำอย่างไรให้กองทัพสามารถเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่หันมาล้มล้างรัฐบาลและทำให้ประชาธิปไตยสิ้นสุดลง แนวคิดด้านความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร มีทฤษฎีความสัมพันธ์ที่จะทำให้ไม่เกิดการรัฐประหารหรือเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยทหารว่า ประการแรกคือ สังคมจะเป็นประชาธิปไตยได้ พลเรือนต้องเป็นใหญ่ คือ Civilian Supremacy ถ้าสังคมไหนไม่มีสิ่งนี้อยู่ สังคมนั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตย ประการที่ 2 คือ การแยกทหารออกจากการเมือง (Military professionalism) ซึ่งเป็นข้อเสนอของแซมมูเอล ฮันติงตัน คือหลักความเป็นมืออาชีพของทหาร คือความเชื่อว่าทหารกับรัฐบาลพลเรือนมีหน้าที่คนละอย่างกัน ขณะที่ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รัฐบาลพลเรือนมีหน้าที่บริหารประเทศ และต่างคนต่างมีปริมณฑลแยกกันโดยสิ้นเชิง ถ้าสภาพนี้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ดีต่อประชาธิปไตย เพราะถ้าทหารเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาสนใจการทำหน้าที่ของตัวเองไม่มีใครไปก้าวก่ายก็จะทำให้ทหารไม่มีเวลามาสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง และถ้าทหารไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองก็จะไม่มีความอยากมาแทรกแซงปริมณฑลของเหตุการณ์บ้านเมือง รัฐบาลก็จะอยู่ด้วยความปลอดภัยจากการแทรกแซงของทหาร อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ข้อเสนอของฮันติงตันไม่สามารถใช้ได้ทุกประเทศ ในบางบริบทประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสภาพอย่างหนึ่งคือ สถาบันพลเรือนไม่มีความเข้มแข็งพอ อาจจะเป็นเพราะเพิ่งได้รับเอกราชภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลังเผด็จการอันยาวนาน สภาพเช่นนั้นเป็นอุปสรรคต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแบบนี้ ทหารควรเข้ามาดูแลปกครองประเทศไปก่อนระยะหนึ่ง เทียบได้กับกรณีอียิปต์หลังมูบารัก ภารกิจทหารบางครั้งต้องยอมรับว่าต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง ในไทยเองก็มีการศึกษาบทบาททหารในฐานะที่ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร ในต่างประเทศมีงานเขียน เช่น The Military as the Guardian of Constitutional Democracy มองว่าทหารสามารถเป็นผู้พิทักษ์ ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย สร้างระเบียบให้สังคม ลดความขัดแย้ง และนำพาไปสู่ประชาธิปไตยได้ วิเคราะห์บทบาททหารไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตย เขาพบว่ามีงานของพอล แชมเบอร์ที่ศึกษาในทำนองนี้มาก่อนโดยประเมินว่าช่วงไหนทหารมีบทบาทสูง ช่วงไหนมีบทบาทต่ำ แต่ตัวเขาพยายามมองบทบาทของทหารโดยอิงเข้ากับทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตย โดยดู 3 ด้านทางการเมือง คือ หนึ่ง ด้านการกำหนดตัวกลุ่มผู้นำประเทศ เฉพาะหลัง 14 ตุลามาจนถึงปัจจุบัน ในทางบวก พบว่า ทหารยอมถอยอำนาจจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในด้านลบ มีการรัฐประหารหลายครั้ง ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองบางพรรค มี ส.ว. สรรหา และหนุนรัฐบาลพลเรือนบางฝ่ายไม่หนุนอีกฝ่าย กรณีที่ชัดเจนคือไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ แต่กลับออกมาปราบคนเสื้อแดง การรัฐประหาร 2549 เป็นการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่า เขาชี้ว่าไม่ใช่เพราะมันต้องเป็นการโค่นล้มเผด็จการ ซึ่งทักษิณไม่ได้เป็นเผด็จการแต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกว่า 19 ล้านเสียง สอง ด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในทางบวก ทหารไทยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรของกองทัพเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่ในด้านลบ ทหารมีบทบาทอย่างสูงในอดีต และปัจจุบัน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็สามารถกล่าวได้ว่า ทหารก็ยังพร้อมที่จะต่อต้านนโยบายที่ขัดประโยชน์ของตน เช่น ทหารยังคงได้งบประมาณเยอะมาก เป็นเพราะว่ารัฐบาลรู้ว่าทหารจะต่อต้านใช่หรือไม่ถ้าไปตัดงบทหาร หรือกรณีที่รัฐบาลพยายามเล่นงานฝ่ายที่ปราบปราม นปช. ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เล่นงานทหาร แต่เล่นงานเฉพาะสุเทพ และอภิสิทธิ์ เพราะรัฐบาลรู้ว่าถ้าเล่นงานทหารก็จะถูกต่อต้าน สาม ด้านความมั่นคงภายใน จะเป็นประชาธิปไตยได้พลเรือนต้องเป็นคนกำหนดเป้าหมาย ขอบเขตภารกิจ และงบประมาณ ในด้านบวก ทหารไทยเคยทำการเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยโดยการต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ทำในฐานะที่ตัวเองเป็นใหญ่ในบางยุค และในฐานะที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลพลเรือนในบางยุค ขณะที่บทบาทในทางลบ คือ กอ.รมน. มีประวัติด้านการรักษาความมั่นคงภายใน แต่คำถามคือไทยปัจจุบันเผชิญความมั่นคงอะไรบ้าง ความมั่นคงถูกตีความอย่างกว้าง และขัดต่อหลักประชาธิปไตย เช่น รวมถึงการปกป้องสถาบัน และขยายอำนาจด้านความมั่นคงเพื่อปราบปรามคนต่อต้านสถาบัน ซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย 000
พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ นำเสนอหัวข้อ สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 กรณีเหล่านี้ได้แก่ การที่องค์การตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่ใช้อำนาจบิดผันรัฐธรรมนูญให้มีผลทางกฎหมายและดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เป็นการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ ประเด็นต่อมา การรัฐประหารที่ใช้กำลังทหาร โดยเป็นผลสำเร็จ จากการศึกษา หลัง 14 ตุลา มีการรัฐประหารสำเร็จ 4 ครั้ง อีกประเด็น รัฐประหารสำเร็จคืออะไร คือต้องเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ ประชาชนเชื่อฟัง แม้จะเป็นคำสั่งของผู้ปกครองมาจากรัฐประหาร แต่ตัดสินใจยากมาก ว่าเมื่อไหร่ที่จะเรียกว่ารัฐประหารสำเร็จแล้ว เช่น เมื่อคณะรัฐประหารออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แล้ว หรือไม่ งานของเขา พิจารณาสถานะทางกฎหมายของประกาศหรือคำสั่ง เมื่อคณะรัฐประหารทำรัฐประหารสำเร็จ ยึดอำนาจมา และใช้อำนาจไปในการต่างๆ เช่น การรักษาความสงบ และบริหารราชการแผ่นดิน และป้องกันรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารกลับมามีอำนาจ เรามักพบรูปแบบของประกาศและคำสั่ง ในชั้นต้นพิจารณาได้ว่าแถลงการณ์ ประกาศและคำสั่งที่แยกได้เป็นสองแบบ คือแบบที่มีผลทางกฎหมาย เช่น ประกาศและคำสั่ง กับอีกแบบคือไม่มีผลในทางกฎหมาย เช่น แถลงการณ์ เป็นที่ทราบกันดีว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาใช้อำนาจ การใช้อำนาจของทหารจึงมีลักษณะผิดกฎหมาย ดิบเถื่อน เพื่อกลบเกลื่อนสิ่งที่เกิดขึ้น จึงต้องพยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร จึงหันมาใช้กฎหมายตามวาทกรรมว่าด้วยนิติรัฐ นับจาก 6 ตุลา ถึง 19 กันยา ระยะเวลาการครองอำนาจของคณะรัฐประหารต่างๆ มีเวลาที่ต่างกันไป มีระยะเวลาสั้นลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จำนวนประกาศและคำสั่งมีจำนวนลดลง เช่นก่อน 14 ตุลา มีรัฐประหาร 20 ต.ค. 2501 มีประกาศและคำสั่งร้อยกว่าฉบับ หรือ 17 พ.ย. 2514 ก็มีประกาศและคำสั่งถึง 300 ฉบับ แต่หลังจากนั้น จำนวนเวลาครองอำนาจสั้นลง ส่งผลให้ประกาศและคำสั่งน้อยลงไปด้วย เช่น กรณี 6 ตุลา มี 70 กว่าฉบับ หรือ 19 กันยา มีเพียงแต่ 60 กว่าฉบับ ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าจำนวนระยะเวลาที่ครองอำนาจน้อยลง เพราะภายหลัง 14 ตุลา เกิดการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยและมีการลงหลักปักฐานของระบอบรัฐสภามากขึ้น สถานะทางกฎหมายของประกาศและคำสั่งแบ่งได้เป็นสองหัวข้อย่อย ในรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 222 ก็เป็นครั้งแรกที่มีการรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมา หลังรัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการรับรองอีกครั้งว่าประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหารว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยสรุป องค์กรตุลาการมีท่าทีในทางรับรองความชอบธรรมขณะที่คณะรัฐประหารก็มีเทคนิคที่จะทำให้ได้รับความชอบธรรมและได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ และในทางเนื้อหาก็ยังพัฒนาไม่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารด้วย องค์กรตุลาการ เป็นองค์กรที่ยืนยันว่าคำสั่งและประกาศสามารถใช้ได้ ทั้งนี้ แต่ก่อนบทบาทนี้อยู่กับศาลยุติธรรม โดยบทบาทที่สำคัญอยู่ที่ศาลฎีกาที่วางแนวบรรทัดฐาน อาทิ ฎีกาที่ 45/2496, ฎีกา1662/2505 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีแนวทางใกล้เคียงกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัย 5/2551 ในแนวทางรองรับอำนาจรัฐประหาร กล่าวโดยสรุปคือองค์กรตุลาการรองรับความสมบูรณ์ของอำนาจคณะรัฐประหาร ทำให้สถานะประกาศและคำสั่งมีสภาพบังคับตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังยอมรับองค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจรัฐประหาร เช่น คตส. เป็นต้น กรณีต่อต้านอำนาจรัฐประหารนั้น พบจากกรณี คำวินิจฉัยส่วนตนของ กีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประเด็นต่อมาคือการนิรโทษกรรม ก่อนหน้า 19 กันยายน 2549 เป็นการนิรโทษกรรมโดยองค์กรอื่น แต่รัฐประหาร 19 กันยา ผู้ทำรัฐประหารได้นิรโทษกรรมตัวเอง กล่าวโดยสรุป มีข้อสังเกต 2 ข้อที่สำคัญ ประการแรก การรับรองความสมบูรณ์ของประกาศคณะรัฐประหาร คือการรับรองความสมบูรณ์โดยศาล โดยการนำมาใช้ และสองคือ รองรับอำนาจหน้าที่องค์กรที่จัดตั้งโดยประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทำให้น่าพิจารณาต่อไปว่าแท้จริงแล้วการรัฐประหารไม่ได้สิ้นสุดลงที่คณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลลง แต่มีผลต่อเนื่องมาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่สิ้นสุด และการที่องค์กรตุลาการนำประกาศและคำสั่งมาใช้ ถือว่าเป็นองค์กรที่ทำให้วัตถุประสงค์ของการรัฐประหารนั้นบรรลุไปด้วย และที่ผ่านมาส่วนมากแล้วประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ปรากฏขึ้นในความเป็นจริงมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อตรวจสอบคำสั่งและประกาศเหล่านั้นมาปรับปรุงและประกาศใช้ต่อไป ทั้งนี้ มีกรณีที่นิติราษฎร์ได้เสนอให้ล้มล้างผลพวงของคำสั่งและประกาศโดยรัฐประหาร เขาเห็นว่าแม้ว่าการรัฐประหารจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลสำคัญทางการเมือง แต่ผลที่ตามมาทางกฎหมายนั้นได้แฝงเร้นอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ
หมายเหตุ การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนงานเย็บผ้าชัยภูมิ แจ้งความนายจ้างเบี้ยวค่าแรง แฉกลยุทธ์ใหม่บีบเข้า ‘กลุ่มอาชีพ’ Posted: 06 Oct 2013 01:47 AM PDT อดีตคนงานบริษัทเอ็มแคพไอราวัณ 40 คน เข้าแจ้งความครั้งที่ 3 เหตุนายจ้างปิดโรงงานไม่จ่ายค่าชดเชย-ค้างจ่ายค่าแรง 'จิตรา' เผยมีการบีบให้คนงานเปลียนเป็น'กลุ่มอาชีพ'แทนลูกจ้าง รับงานได้ค่าจ้างรายชิ้นแทนค่าแรง 300 วานนี้(5 ต.ค.56) ที่สถานีตำรวจภูธรหนองบัวโคก จ.ชัยภูมิ อดีตคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ 40 คน เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่นายจ้างเลิดจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และค้างจ่ายค่าจ้าง หลังจากที่ตำรวจดำเนินการประสานงานไกล่เกลี่ย ฝ่ายบุคคลได้นัดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 9 ต.ค.นี้ นางไพรรัตน์ ทวีลาภ อดีตคนงานบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่เปิดบริษัทใหม่ๆ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว กล่าวว่า เดินทางมาแจ้งความครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ฝ่ายบุคคลของบริษัทจึงนัดให้มารับค่าจ้างที่ค้างจ่ายในที่ 9 ต.ค.นี้ โดยที่โรงงานปิดกิจการเลิกจ้างคนงานกว่า 100 คน ตั้งแต่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าขาดทุน และค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน ส.ค. ขณะที่ตอนนี้โรงงานที่ปิดตัวลงก็มีทหารมาเฝ้า 6 คน นางไพรรัตน์กล่าวต่อว่า ค่าชดเชยที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายให้นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปร้องต่อแรงงานจังหวัด ซึ่งเหตุเกิด 1 เดือนแล้ว เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดนั้นทราบเรื่องแต่ก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างไร จึงติดต่อให้จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ช่วยประสานกับทางกระทรวงเพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ นางไพรรัตน์ให้ข้อมูลว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นเมื่อ 20 เม.ย.49 อยู่ที่หนองบัวโคก อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกให้กับยื่ห้อดัง เช่น Nike(ไนกี้) adidas(อาดิดาส) แกรนสปอร์ต Kappa (แคปป้า) ห่านคู่ เป็นต้น จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในส่วนของการเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทนั้นจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และจะให้คนงานเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเอง เนื่องจากคนงานไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด ที่ไม่ดำเนินการใดๆ แม้จะมีการร้องขอจากคนงานไปตั้งแต่ 1 เดือนที่แล้ว นอกจากนี้จากการสอบถามคนงานที่ถูกเลิกจ้างพบว่า หลังจากที่ปิดโรงงาน หน่วยงานของรัฐในท้องที่ได้พยายามเสนอแนะให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างไปจดทะเบียนเป็นกลุ่มอาชีพตามนโยบายของรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทและรัฐดำเนินการจดทะเบียนให้ แล้วให้คนงานกลับเข้าทำงานเหมือนเดิมหลังจากบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโกเด้นทอง จากที่เคยได้ค่าแรง 300 บาท คนงานเหล่านั้นก็จะกลายสภาพเป็นผู้รับงานมาทำตามกลุ่มอาชีพและได้ค่าตอบแทนตามชิ้นงาน แต่เนื่องจากคนงานไม่ยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้จึงเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างและค่าแรงที่ค้างจ่าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 05 Oct 2013 09:15 PM PDT 1 ก.ย. มาเลเซียปราบปรามลักลอบเข้าเมือง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
องค์กรข่าวกรองสหรัฐฯ และอังกฤษ พยายามเจาะโปรแกรมท่องเว็บแบบนิรนาม Tor Posted: 05 Oct 2013 08:20 PM PDT โปรแกรมท่องเว็บแบบให้ผู้ใช้กลายเป็นบุคคลนิรนามสำหรับอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการเข้าถึงเว็บที่ถูกปิดกั้นและป้องกันตัวตนจากรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศ แต่จากข้อมูลแฉล่าสุดของสโนว์เดน ทำให้เห็นว่าองค์กรข่าวกรองของสองชาติพยายามเจาะแม้แต่โปรแกรมสร้างความเป็นนิรนาม Tor
จากเอกสารลับของ NSA ที่ถูกนำมาเผยแพร่โดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดเผยว่า NSA สามารถระบุตัวผู้ใช้โปรแกรม Tor ได้ อีกทั้งยังมีการแทรกแซงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ โดยเทคนิคหนึ่งที่นำมาใช้คือการโจมตีเป้าหมายผู้ที่ใช้โปรแกรมท่องเว็บไฟร์ฟอกซ์ร่วมกับ Tor ทำให้ NSA สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเป้าหมายได้ รวมถึงการเข้าถึงไฟล์ อ่านแป้นพิมพ์ และกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ในเอกสารที่ถูกเปิดโปงระบุว่า Tor ยังคงมีระบบรักษาความปลอดภัยหลักๆ อยู่ โดย NSA ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้โดยการถอดความเป็นนิรนามออกไปได้ทั้งหมดในคราวเดียว และไม่สามารถถอดความเป็นนิรนามของผู้ใช้ออกได้เมื่อมีคำร้องอย่างเจาะจง โปรแกรม Tor มีชื่อย่อมาจาก The Onion Router เป็นโปรแกรมโอเพ่นซอร์สที่ใช้วิธีการเปลี่ยนรหัสการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่เรียกว่า "รีเลย์" (Relay) หรือ "โหนด" (Nodes) เพื่อปกปิดตัวตนของผู้เข้าสู่อินเทอร์เน็ตและหลีกเลี่ยงเครื่องมือเซนเซอร์ Tor ถูกนำมาใช้ในหมู่นักข่าว นักกิจกรรม และนักรณรงค์ ทั้งในสหรัฐฯ ในประเทศแถบยุโรป รวมถึงในประเทศจีน อิหร่าน และซีเรีย เพื่อเป็นการปกป้องความเป็นส่วนตัวและหลีกเลี่ยงการโต้ตอบจากรัฐบาล ทำให้เป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มต่อต้านและองค์กรสิทธิมนุษยชน แม้ว่าโครงการ Tor จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมซึ่งมีหน่วยงาน NSA อยู่ แต่ NSA และสำนักงานข่าวกรองของอังกฤษ (GCHQ) ก็พยายามแทรกซึมโปรแกรมนี้ ซึ่งทางหน่วยงานบังคับกฎหมายอ้างว่ามีการนำมาใช้เพื่อการก่อการร้าย แลกเปลี่ยนรูปกระทำชำเราเด็ก และซื้อขายยาเสพติด ก่อนหน้านี้กลุ่มปกป้องสิทธิต่างๆ ก็เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของโปรแกรม Tor หลังจากทราบเรื่องการสอดแนมของ NSA แม้ดูเหมือนว่าในตอนนี้ NSA จะยังไม่สามารถเจาะเข้าไปในระบบความปลอดภัยหลักของ Tor ได้ แต่ในเอกสารระบุว่าพวกเขาได้ทดสอบวิธีการ (proof-of-concept) เจาะเข้าไปเพื่อสอดแนมข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้
เดอะการ์เดียนเปิดเผยว่าวิธีการหนึ่งที่ NSA และ GCHQ ใช้คือการพยายามจับสัญญาณที่เข้าและออกระบบเครือข่ายของ Tor เพื่อพยายามถอดความเป็นนิรนามของผู้ใช้นั้นๆ ซึ่งระบบของ Tor มีข้อเสียซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงนานแล้วคือการที่ผู้ใช้เครือข่ายที่เป็นโหนดสุดท้ายก่อนส่งข้อมูลออกไปยังเป้าหมายสามารถดักข้อมูลที่ผ่านมาได้ โดยการทดสอบวิธีการที่ระบุไว้ในเอกสารใช้วิธีการดักข้อมูลผ่านเคเบิลของ NSA โดยมีองค์กรทำหน้าที่เป็นเครื่องโหนดอยู่อย่างลับๆ แต่วิธีการนี้ก็ยังมีประสิทธิภาพต่ำเนื่องจาก NSA เข้าถึงจำนวนโหนดได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม แม้ในเอกสารลับยืนยันว่า NSA ได้เก็บข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากบางโหนด แต่ก็ไม่ได้ระบุจำนวน และไม่ได้ระบุวิธีการในการถอดความเป็นนิรนาม วิธีการอื่นๆ ได้แก่ การพยายามทำให้การเข้าถึงถูกโยงเข้าไปที่เซิร์ฟเวอร์ของ NSA อีกวิธีการหนึ่งคือการแทรกซึมซอฟต์แวร์อื่นๆ ของผู้ใช้ Tor นอกจากนี้ ยังมีการพยายามประเมินเวลาเข้าออกของซอฟต์แวร์เพื่อระบุตัวผู้ใช้ หรือแม้กระทั่งพยายามก่อกวนหรือลดความสามารถระบบ Tor จนทำให้ผู้ใช้ยกเลิกการปกป้องตัวตนในอินเทอร์เน็ต วิธีการแทรกซึมผ่านซอฟต์แวร์ของผู้ใช้ Tor มีรหัสปฏิบัติการเรียกว่า EgotisticalGiraffe ซึ่งใช้ประโยชน์จากโปรแกรมไฟร์ฟอกซ์รุ่นเก่า โดยไม่ได้โจมตีที่ระบบของ Tor โดยตรง แต่จะโจมตีที่โปรแกรมเปิดเว็บของผู้ใช้ Tor ปัญหานี้ถูกแก้ไขแล้วโดยไฟร์ฟอกซ์รุ่น 17 ซึ่งออกมาเมื่อเดือน ก.ย. 2012 โดยในช่วงที่ NSA เขียนเอกสารที่ถูกเปิดโปงนี้ในเดือน ม.ค. 2013 พวกเขายังไม่สามารถหาทางเจาะโปรแกรมเข้าไปได้อีก ความพยายามเหล่านี้ทำให้เกิดข้อกังวลในด้านกฎหมายและนโยบายขององค์กรข่าวกรองที่มีส่วนร่วม ข้อกังวลลำดับแรกสุดคือการกระทำของ NSA ถือเป็นการละเมิดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ โดยจงใจหรือไม่ มีการพยายามแทรกซึมด้วยการวางโปรแกรมอันตรายให้เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคนที่เข้าเว็บไซต์บางเว็บ ซึ่งทางองค์กรอ้างว่าพวกเขาตั้งเป้าหมายเป็นผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มมาเฟีย แต่การแทรกซึมเช่นนี้สามารถเกิดกับนักข่าว นักวิจัย หรือคนอื่นๆ ที่บังเอิญเข้าไปในเว็บไซต์เหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ยังทำให้เกิดข้อกังขาต่อหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ Tor ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวาระเรื่องเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลโอบาม่า เพื่อให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับประเทศอย่างอิหร่านและจีนซึ่งในเอกสารของ NSA เองก็มีการระบุถึงเรื่องนี้ ขณะที่เอกสารของ GCHQ แสดงท่าทีดูถูกผู้ใช้ Tor โดยบอกว่าเป็นคนเลวและ "คนที่ซุกซนมากๆ" ที่จะใช้ Tor
โรเจอร์ ดิงเกิลดีน ประธานของโครงการ Tor กล่าวว่า ความพยายามของ NSA เป็นการชวนให้ตระหนักว่าการใช้ Tor เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการการันตีเรื่องความเป็นบุคคลนิรนามสำหรับรับมือกับหน่วยงานข่าวกรองทั้งหลาย แต่ก็ยังถือว่ามีความสามารถในการต้านระบบการสอดแนมใหญ่ๆ ได้ ดิงเกิลดีน บอกว่า หน่วยงานข่าวกรองในตอนนี้ใช้วิธีการเจาะโปรแกรมเปิดเว็บหมายความว่าพวกเขายังไม่สามารถเจาะระบบของ Tor หรือวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าเว็บจากเครือข่ายของ Tor ได้ ขณะเดียวกันการให้โปรแกรมอันตรายต่างๆ วางตัวอยู่ในเครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก็เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการสอดแนมผู้ใช้ "มีสิ่งที่ Tor ยังช่วยได้ คุณอาจจะเลือกบุคคลเจาะจงตัวเพื่อเจาะโปรแกรมเปิดเว็บของพวกเขา แต่ถ้าหากคุณแทรกซึมผู้ใช้เป็นจำนวนมากก็จะมีคนเอะใจ ดังนั้นแม้ว่า NSA พยายามสอดแนมทุกคน ไม่ว่าที่ใดก็ตาม พวกเขาก็ต้องเลือกเฟ้นว่าจะสอดแนมผู้ใช้ Tor คนใดโดยเฉพาะ" ดิงเกิลดีนกล่าว
เมื่อเดอะการ์เดียน ได้ซักถามองค์กร NSA ว่าเหตุใดพวกเขาถึงโจมตีบริการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ พวกเขาแน่ใจได้อย่างไรว่าการแทรกซึมจะไม่ถือเป็นการแทรกเข้าไปในระบบของพลเมืองผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น นักกิจกรรมหรือนักข่าว และองค์กร NSA มีส่วนในการตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนา Tor หรือไม่ ซึ่งทาง NSA ไม่ได้ตอบคำถามโดยตรง แต่ได้ออกแถลงการณ์ดังนี้ "เพื่อภารกิจด้านงานข่าวกรอง ทางสภาความมั่งคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้เก็บรวบรวมข้อมูลการสื่อสารที่มีการมอบอำนาจทางกฎหมายเพื่อจุดประสงค์ด้านการข่าวกรองต่างประเทศและการต้านการข่าวเท่านั้น โดยไม่ว่าเป้าหมายจะมีความพยายามใช้วิธีการทางเทคนิคหรือพยายามปกปิดการสื่อสารด้วยวิธีการใดก็ตาม ทางสภาความมั่นคงฯ ก็มีความสามารถด้านเทคนิคเพื่อทำให้ภารกิจที่ถูกกฎหมายสำเร็จลุล่วงไปได้" "จากที่กล่าวไปแล้ว ทำให้เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของพวกเราจะใช้วิธีการโต้ตอบการใช้เทคโนโลยีซ่อนการสื่อสารของเป้าหมาย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลายชาติได้ใช้วิธีการต่างๆ ในการปกป้องความลับของพวกเขา และกลุ่มผู้ก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรไซเบอร์ กลุ่มผู้ค้ามนุษย์ และกลุ่มคนอื่นๆ ได้ใช้เทคโนโลยีในการแอบซ่อนกิจกรรมของพวกเขา ดังนั้นแล้วทีมข่าวกรองของพวกเราจึงต้องทำงานเพื่อต่อต้านการกระทำเหล่านี้"
NSA and GCHQ target Tor network that protects anonymity of web users, James Ball, Bruce Schneier and Glenn Greenwald, The Guardian, 04-09-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น