โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ลาวเดินหน้า ‘เขื่อนดอนสะโฮง’ – เอ็นจีโอลุ่มน้ำโขงห่วงกระทบข้ามพรมแดน

Posted: 03 Oct 2013 01:54 PM PDT

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแจ้งรัฐบาลลาวตัดสินใจเดินหน้า 'เขื่อนดอนสะโฮง' หวังไฟฟ้ารองรับความต้องการในประเทศ ด้าน 5 องค์กรเอ็นจีโอในประเทศลุ่มน้ำโขง ออกโรงจี้โครงการควรผ่านกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อการตัดสินใจร่วมระดับภูมิภาค 
 
ที่มา: www.livingriversiam.org 
 
3 ต.ค.56 - คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เผยแพร่ใบแจ้งข่าว ระบุว่า รัฐบาลลาวแจ้ง MRC ว่าได้ตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง บริเวณสีพันดอนทางตอนใต้ของประเทศแล้ว โดยเขื่อนดังกล่าวจะทำการตลอดทั้งปีและจะผลิตไฟฟ้าได้ 260 เมกะวัตต์ (ราว 2 เท่าของเขื่อนปากมูลในไทย ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 136 เมกะวัตต์)
 
หนังสือแจ้งการตัดสินใจนี้ส่งถึงกองเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลลาวระบุว่าได้เตรียมผลการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค ซึ่งรวมถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยจะมีการเผยแพร่ต่อประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างกัมพูชา ไทย และเวียดนามด้วย 
 
รัฐบาลลาวระบุว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มสร้างในเดือน พ.ย.56 และจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.61 โดยพลังงานที่ได้ทั้งหมดจะขายให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos: EDL) เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น  
 
 
ในวันเดียวกัน (3 ต.ค.56) เว็บไซต์องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เผยแพร่แถลงการณ์กรณีเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงในลาว ชื่อ "หายนะพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง เขื่อนดอนสะโฮงของลาวประกาศเดินหน้า" ของ 5 องค์กร คือ เอ็นจีโอฟอรัมกัมพูชา (NGO Forum on Cambodia) เครือข่าย 3S เพื่อปกป้องแม่น้ำ (3S Rivers Protection Network) กัมพูชา ศูนย์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Green Innovation and Development Centre) เวียดนาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และองค์การแม่น้ำนานาชาติ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะขวางกั้นร่องน้ำเดียวที่เป็นเส้นทางอพยพของปลาในแม่น้ำโขงที่เหลืออยู่ในช่วงหน้าแล้ง การสร้างเขื่อนแห่งนี้จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อแหล่งประมงน้ำจืดใหญ่สุดของโลก 
 
อีกทั้งจากจดหมายแจ้งล่วงหน้าต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นว่า ทางการลาวละเลยความรับผิดชอบที่จะต้องเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (prior consultation process) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แม้ว่าก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและแหล่งทุนระหว่างประเทศจะระบุว่า โครงการนี้ควรผ่านกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อให้มีการตัดสินใจร่วมกันในระดับภูมิภาค 

"เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ลาวพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ พร้อมๆ กับบังคับให้สาธารณชนทั้งภูมิภาคต้องแบกรับภาระจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง" ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว
 
"ลาวต้องยกเลิกโครงการนี้ รวมทั้งโครงการอื่นในแม่น้ำโขงสายหลัก ก่อนจะสายเกินไป" ธีระพงศ์ ให้ความเห็น
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮงเมื่อปี 2550 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้ความเห็นว่า โครงการนี้ต้องผ่าน 'การปรึกษาหารือล่วงหน้า' เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนไม่ได้มาจากลำน้ำสาขาแต่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก
 
ในระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของแหล่งทุนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อเดือนมิถุนายน แหล่งทุนระหว่างประเทศ 10 แห่งรวมทั้งสหภาพยุโรป (European Union) ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาขอให้รัฐบาลลาวเปิดเผยข้อมูลในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮง และเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า

"ถ้าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินงานของลาวได้ เท่ากับไม่สามารถปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ และจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะองค์กรที่ชอบธรรมไป" เอมี แทรนเดม จากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าว
 
"คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่อาจปล่อยให้ลาวละเลยความรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป โครงการนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อกำหนดในความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 นอกจากนี้ควรมีการปฏิบัติตามความตกลงยุติการสร้างเขื่อนทั้งหมดในแม่น้ำโขงสายหลักเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประเมินผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงที่ลาวและประเทศเพื่อนบ้านให้ความเห็นชอบเมื่อปี 2554" ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติให้ความเห็น

แถลงการณ์ให้ข้อมูลต่อมาว่า จากบทเรียนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ลาวได้เริ่มแผนเบื้องต้นสำหรับการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เมื่อปี 2555 และคาดว่าต้องมีการขุดท้องน้ำเพื่อนำตะกอนปริมาณ 1.9 ล้านลูกบาศก์เมตรออกไป การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมื่อปี 2552 ระบุว่า การดำเนินงานเช่นนั้นจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำ และส่งผลให้มีปริมาณน้ำประมาณ 9-10% ที่ไหลผ่านร่องน้ำฮูสะโฮงในช่วงฤดูฝน 
 
แถลงการณ์ ระบุว่า การมีสิ่งปลูกสร้างขวางกั้นร่องน้ำเดียวที่มีอยู่ซึ่งเป็นช่องทางอพยพของปลาตลอดทั้งปี จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแบบแผนการหาอาหารและการผสมพันธุ์ของพันธุ์ปลาที่หลากหลายจำนวนมาก และก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน นอกจากนั้น ปลาโลมาอิระวดีซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการสูญเสียแหล่งอาศัยและการเปลี่ยนแปลงด้านนิเวศในลำน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการไหลของน้ำผ่านร่องน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

"เขื่อนดอนสะโฮงจะยิ่งทำให้กัมพูชาและเวียดนามเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตอาหารมากขึ้น เพราะที่ตั้งของเขื่อนอยู่ติดกับพรมแดนกัมพูชา ลืมไปแล้วหรือว่าปลาเป็นเส้นเลือดและเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเรา? ปลาเป็นอาหารหลักและเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนในประเทศ" จิต สัมอาต (Chhith Sam Ath) เอ็นจีโอฟอรัมกัมพูชา (NGO Forum on Cambodia) กล่าว
 
"เราไม่อาจเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนด้านท้ายน้ำ หรือโดยไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่น่าเชื่อถือ ปลาน้ำโขงคือทรัพยากรที่มีคุณค่า อย่าปล่อยให้ถูกทำลายง่ายๆ" เอ็นจีโอฟอรัมกัมพูชาระบุ

"เรายังมีพลังงานจากแหล่งอื่นที่ยั่งยืน ทำไมถึงจะต้องทำลายปลา การประมง และอาหาร สิ่งนี้หากหมดไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้" งุยถี่คาน (Nguy Thi Khanh) ศูนย์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Green Innovation and Development Centre) เวียดนามกล่าว
 
"รัฐบาลของประเทศแม่น้ำโขงต้องเร่งแก้ปัญหานี้ ก่อนที่ความตึงเครียดในภูมิภาคจะลุกลาม เราไม่อาจปล่อยให้การเมืองและการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวส่งผลกระทบต่อแม่น้ำและความมั่นคงด้านน้ำและอาหารในอนาคตของเรา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องการให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐภาคี ร่วมมือกันปกป้องทรัพยากรในแม่น้ำโขงที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชนนับล้านคน" งุยถี่คานกล่าวย้ำ
 
 
 
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนดอนสะโฮง: ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลัก บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งหรือที่รู้จักกันในชื่อ สี่พันดอน ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากพรมแดนลาว-กัมพูชาทางด้านเหนือน้ำประมาณ 2 กม. เขื่อนดอนสะโฮงจะเป็นโครงสร้างที่ขวางกั้นฮูสะโฮง มีความสูงประมาณ 30-32 เมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 260 เมกะวัตต์ ผู้พัฒนาโครงการนี้ได้แก่ บริษัท เมกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Mega First Corporation Berhad) ของมาเลเซีย ส่วนบริษัท AECOM ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเป็นวิศวกรให้กับเจ้าของโครงการ (Owner's Engineer)
 
 
 
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้ที่นี่: http://www.internationalrivers.org/resources/pr-fish-plunder-at-stake-laos-announces-plans-to-build-don-sahong-dam-8102
 

ข้อมูลเพิ่มเติม: เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก http://www.internationalrivers.org/files/attached-files/mekong_mainstream_28thai29.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แสงสำนึก: บทสัมภาษณ์อีริค ฮอบสบอว์ม

Posted: 03 Oct 2013 12:13 PM PDT

"ถ้าอย่างนั้นเรามีกลุ่มคนที่นำการเคลื่อนไหวใหม่ได้ไหม? คราวนี้คงไม่ใช่ชนชั้นใดชนชั้นเดียวอีกแล้ว ซึ่งผมว่าอันที่จริงมันก็ไม่เคยเป็นไปได้ ตอนนี้มีการเมืองแบบพรรคร่วม ร่วมระหว่างพวกชนชั้นกลางปัญญาชนเสรีนิยมไปจนถึงมวลชนและพวกไม่สนใจการเมืองด้วยซ้ำ ทั้งสองกลุ่มจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวนี้ แต่ก็รวมกันเป็นหนึ่งได้ยาก"

"หน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติไม่ได้เป็นฐานของแนวคิดเรื่องรัฐชาติอีกต่อไป คือมันไม่ได้เป็นสโลแกนที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป มันอาจจะเคยมีพลังในการสร้างชุมชนสังคมทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ แต่ในวันนี้มิติการต่อต้านคนต่างชาติในชาตินิยมสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ยิ่งจะมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นเท่านั้น"

"นักประวัติศาสตร์หลังปีค.ศ.1968 เลิกสนใจคำถามใหญ่ เพราะคิดว่าคำถามเหล่านี้ถูกตอบหมดแล้ว พวกเขาสนใจในแง่ระดับบุคคลมากกว่า...ผมไม่คิดว่าประวัติศาสตร์แบบใหม่ๆ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลักใดๆ ผมยกตัวอย่างในฝรั่งเศสนะ ประวัติศาสตร์หลังโบรเดลไม่ได้สำคัญในหมู่นักประวัติศาสตร์รุ่นทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 นานๆ ทีจะมีงานที่ดีมากๆ ออกมา แต่ว่าโดยภาพรวมมันเปลี่ยนไปแล้ว...ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ผมพบว่าไม่เป็นเรื่องดีต่อประวัติศาสตร์"


นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์คนสำคัญ อีริค ฮอบสบอว์มเสียชีวิตลงด้วยวัย 95 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีที่แล้ว (2555) คงจะเป็นโอกาสที่ดี ในการจะนำบทสัมภาษณ์ของเขาเมื่อสองปีก่อนหน้าเขาเสียชีวิตมาแลกเปลี่ยน เพื่อเราจะได้เห็นถึงมุมมองของเขาต่อทุนนิยมโลกในศตวรรษนี้

 

โรคร้ายของโลก

ยุคแห่งความสุดขั้ว (Age of Extremes) จบลงในปีค.ศ.1991 ด้วยภาพการถล่มทลายทั่วโลก ความหวังของยุคทอง (Golden Age) ในการที่โลกจะมีสังคมที่ดีขึ้นได้ล่มสลายลง อาจารย์เห็นอะไรหลังจากนั้น

ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ห้าอย่างด้วยกัน อย่างแรก การเคลื่อนย้ายของจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก จากแอตแลนติกเหนือไปสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก เริ่มจากญี่ปุ่นในยุคเจ็ดศูนย์และแปดศูนย์ และการขึ้นมาของจีนในยุคเก้าศูนย์นั้นได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อย่างที่สอง แน่นอนว่าเราเห็นวิกฤตของทุนนิยม ซึ่งอันที่จริงเราได้ทำนายมาก่อนหน้าแล้ว แต่ใช้เวลานานกว่ามันจะเกิดขึ้น อย่างที่สามคือความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของสหรัฐฯในการพยายามจะเป็นมหาอำนาจโลกแต่เพียงผู้เดียวในยุคหลังค.ศ.2001 อย่างที่สี่ มีการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในฐานะหน่วยทางการเมือง ก็คือกลุ่ม BRICs [บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน] ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่ผมเขียนหนังสือ Age of Extremes และอย่างสุดท้าย การผุกร่อนอ่อนกำลังลงของอำนาจรัฐ ทั้งในรัฐชาติเองและพื้นที่ต่างๆ ในโลก สิ่งเหล่านี้ผมพอมองเห็นว่าจะเกิด แต่มันเร็วเสียจนผมคาดไม่ถึงในหลายกรณีทีเดียว

มีอะไรอีกที่ทำให้อาจารย์ประหลาดใจ

ผมก็ยังประหลาดใจเสมอในความเสียสติของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservative) ซึ่งไม่ได้เพียงแค่แสร้งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีอนาคตอันสดใส แต่กลับไปคิดเสียอีกด้วยว่า สหรัฐฯ มียุทธศาสตร์จะประสบความสำเร็จภายใต้วิธีคิดแบบนั้นได้ เท่าที่ผมเห็น พวกเขาไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันด้วยซ้ำ อย่างที่สองที่ทำให้ผมประหลาดใจ เรื่องนี้เล็กกว่า แต่ก็สำคัญ นั่นก็คือการกลับมาใหม่ของโจรสลัด ซึ่งโลกยุคเราได้ลืมไปแล้ว เรื่องนี้ก็ใหม่ อย่างที่สาม เป็นเรื่องเฉพาะหน่อย คือการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (สายมาร์กซิสต์) ในเบงกอลตะวันตก ซึ่งผมไม่นึกมาก่อนเลยว่าจะเกิด คุณประกาศ กะรัต เลขาธิการของพรรคเพิ่งบอกกับผมว่าในเบงกอลตะวันตกนั้น พรรครู้สึกว่ากำลังประสบสถานการณ์ที่ยากเย็น กดดัน และคิดว่าจะล้มเหลวในการเลือกตั้งท้องถิ่น นี่หลังจากที่ร่วมรัฐบาลมาสามสิบกว่าปีนะ นโยบายการทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่เอาที่ดินไปจากชาวนาได้ส่งผลเสียหายอย่างมาก และเป็นความผิดพลาดมหันต์ ผมเข้าใจว่าพวกเขาต้องพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมเอกชน อย่างที่รัฐบาลปีกซ้ายที่เหลือรอดในยุคนี้ทำ ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจให้แข็งแรง แต่ผมก็ประหลาดใจอยู่บ้างที่ผลออกมามันจะสวนทางอย่างนั้น

อาจารย์พอจะมองเห็นการรวมตัวทางการเมืองของชนชั้นหนึ่ง ที่เคยถูกเรียกว่า ชนชั้นแรงงาน หรือไม่

มันคงไม่เกิดในรูปแบบดั้งเดิมของชนชั้นแรงงานหรอก แต่ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามาร์กซ์ถูก ที่ทำนายถึงการก่อตัวของพรรคการเมืองของชนชั้นขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของกระบวนการการเป็นอุตสาหกรรม แต่พรรคเหล่านี้ ก็ไม่ได้เป็นพรรคของชนชั้นแรงงานอย่างแท้จริง เพราะหากต้องการจะขยายฐานความนิยม พวกเขาก็ต้องเรียกตัวเองว่าเป็นพรรคของประชาชน และผูกพันตัวเองกับองค์กรที่ก่อตั้งโดยชนชั้นแรงงาน เพื่อตอบสนองชนชั้นแรงงาน

กระนั้นก็ตาม มันก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสำนึกความเป็นชนชั้นอยู่นั่นเอง ในอังกฤษ พรรคแรงงานไม่เคยได้รับเสียงเลือกตั้งเกินครึ่ง ในอิตาลีก็เหมือนกัน พรรคคอมมิวนิสต์ที่นั่นก็เป็นพรรคของประชาชนมากกว่า ในฝรั่งเศสฝ่ายซ้ายได้รับความสนับสนุนจากฐานชนชั้นแรงงานที่ค่อนข้างอ่อนแอ แต่ก็ได้แรงหนุนอันสำคัญจากพลังการปฏิวัติที่มีมาโดยตลอด ซึ่งก็ทำให้มีฝ่ายซ้ายมีพลังต่อรองที่สูง

การจ้างแรงงานใช้แรงกายที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์ ต่อไปนี้จะมีคนจำนวนมากที่ถูกทิ้งให้ทำงานที่ใช้แรงกาย และรัฐบาลฝ่ายซ้ายก็จะมีภารกิจหลักในการดูแลความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ แต่พวกแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มีศักยภาพในการเคลื่อนไหว (แม้แต่ในทางทฤษฎี) ในการจะก่อตั้งองค์กรอย่างที่ชนชั้นแรงงานดั้งเดิมมี

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาทางลบหลักๆ อีกสามอย่าง อย่างแรก เรื่องการต่อต้านคนต่างชาติ ที่ August Bebel ใช้คำว่า "สังคมนิยมของพวกงั่ง" คือช่วยทำให้ฉันไม่ถูกแย่งงานโดยไอ้พวกคนต่างชาติหน่อยเถอะ ยิ่งการเคลื่อนไหวของแรงงานยิ่งอ่อน การต่อต้านคนต่างชาติยิ่งมาก อย่างที่สองคือ งานจำนวนมากไม่ได้มั่นคงหรอก เป็นงานชั่วคราว นึกถึงงานที่นักศึกษาหรือคนอพยพทำ อย่างงานร้านอาหารเป็นตัวอย่างก็ได้ ในสถานการณ์แบบนี้การจะจัดตั้งองค์กรการเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องยาก ส่วนองค์กรที่พอจะจัดตั้งได้ก็ถูกจ้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ และนี่เป็นเพราะหน่วยงานเหล่านั้นเปราะบางทางการเมืองและต้องการเสียงสนับสนุนมากกว่า

อย่างที่สามสำคัญที่สุด มีความแตกแยกอันเกิดขึ้นจากเส้นแบ่งชนชั้นแบบใหม่ นั่นคือการใช้การสอบอย่างที่ใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการรับเข้าทำงาน นี่คือการไต่เต้าด้วยตัวเอง (meritocracy) ที่วัดผล จัดการ และประสานด้วยระบบการศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันไปทำให้การต่อต้านนายจ้าง เปลี่ยนไปสู่การต่อต้านคนรวยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเป็นปัญญาชน ชนชั้นนำเสรีนิยม คนที่เราหมั่นไส้ หรือใครก็ตามทีเถอะ สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างของสิ่งนี้ และก็พอมีให้เห็นในอังกฤษด้วยเช่นกัน สถานการณ์ก็ยากขึ้นไปอีก เมื่อค่านิยมการเรียนจบสูงๆ มีให้เห็นทั่วไปหมด

ถ้าอย่างนั้นเรามีกลุ่มคนที่นำการเคลื่อนไหวใหม่ได้ไหม? คราวนี้คงไม่ใช่ชนชั้นใดชนชั้นเดียวอีกแล้ว ซึ่งผมว่าอันที่จริงมันก็ไม่เคยเป็นไปได้ ตอนนี้มีการเมืองแบบพรรคร่วม ร่วมระหว่างพวกชนชั้นกลางปัญญาชนเสรีนิยมไปจนถึงมวลชนและพวกไม่สนใจการเมืองด้วยซ้ำ ทั้งสองกลุ่มจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวนี้ แต่ก็รวมกันเป็นหนึ่งได้ยาก ในแง่หนึ่ง นี่ก็ทำให้คนจนสามารถคิดแบบเศรษฐีได้ เช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ พวกเขาพูดว่า "นี่ถ้าผมโชคดีสักหน่อยนะ ผมคงได้เป็นดาราไปแล้ว" แต่จะไม่พูดว่า "นี่ถ้าผมโชคดีสักหน่อยนะ ผมคงได้รางวัลโนเบลไปแล้ว" นี่เป็นปัญหาที่แท้จริง ในการนำคนที่ดูเหมือนว่าจะอยู่พวกเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน

อาจารย์จะเทียบวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันกับ Great Depression อย่างไร

วิกฤตในปี ค.ศ.1929 ไม่ได้เริ่มขึ้นจากธนาคาร ซึ่งเพิ่งมาล้มในสองปีให้หลัง จริงๆ สิ่งที่เป็นปัญหาคือตลาดหุ้นทำให้การผลิตลดฮวบ มีอัตราว่างงานและการผลิตตกต่ำมากที่สุดอย่างที่หลังจากนั้นไม่มีอะไรเทียบได้อีกเลย คือเหมือนว่าจู่ๆ มันก็เกิดขึ้นน่ะครับ วิกฤตในปัจจุบันจะว่าไปมีการเตรียมตัวมากกว่าใน ค.ศ.1929

ในวิกฤตล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเสรีนิยมใหม่ได้ทำลายเสถียรภาพการทำงานของทุนนิยม ก่อนปี ค.ศ.2008 ดูเหมือนว่าวิกฤตกระทบเฉพาะบริเวณขอบๆ เท่านั้น ละตินอเมริกาโดนในช่วงเก้าศูนย์และต้นสองพันก็เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัสเซีย ซึ่งก็เป็นการสะดุดของตลาดหุ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แล้วก็กลับขึ้นมาได้ในเวลาไม่นานนัก

ผมคิดว่าสัญญาณหายนะมาตอนที่การจัดการเงินทุนระยะยาว (Long-Term Capital Management) ล่มสลายในปี ค.ศ. 1998 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกโมเดลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอะไรพวกนี้มันไปผิดทางแค่ไหน แต่ก็ไม่มีใครเห็นอย่างนั้น สิ่งที่ย้อนแย้งคือ นักธุรกิจและนักข่าวจำนวนหนึ่งกลับมาอ่านงานมาร์กซ์ใหม่ มองมาร์กซ์ว่าเป็นนักคิดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

เศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ.1929 มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงทั้งโลกไม่เท่ากับในปัจจุบัน และนี่ก็มีผล อย่างเช่นคนตกงานในเวลานั้นก็กลับบ้านนอกไปทำงานได้ง่ายกว่าในทุกวันนี้ บริเวณนอกยุโรปและอเมริกาเหนือก็ไม่ได้มีพลวัตทางเศรษฐกิจขนาดนั้น โซเวียตไม่ได้ส่งผลสำคัญต่อ Great Depression แต่ในอีกทางหนึ่งได้เสนอแนวทางอุดมการณ์อันสำคัญ นั่นคือการบอกว่ามันมีทางเลือกอื่นอยู่ด้วยนะ

พอในช่วงเก้าศูนย์เป็นต้นมา เราเห็นการขึ้นมาของจีนและประเทศเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทอย่างชัดเจนต่อวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกเอาไว้ อันที่จริงแล้วนะครับ แม้แต่ตอนที่พวกเสรีนิยมใหม่อ้างว่าตัวเองกำลังรุ่ง การเจริญเติบโตก็ไปอยู่ในประเทศเกิดใหม่เหล่านี้แหละ โดยเฉพาะจีน ผมว่าถ้าไม่มีจีนนะ วิกฤตตอนปี ค.ศ.2008 ต้องหนักกว่านี้แน่ และด้วยเหตุเหล่านี้ เราก็อาจจะฟื้นได้เร็วขึ้น แต่บางประเทศ เช่นอังกฤษ ก็คงแย่ไปอีกสักพัก

แล้วผลทางการเมืองล่ะครับ

วิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ.1929 นำไปสู่การเปลี่ยนขั้วไปสู่ฝ่ายขวา ยกเว้นในอเมริกาเหนือ เม็กซิโก และประเทศสแกนดิเนเวีย ในฝรั่งเศส Popular Front ระหว่างปี 32 ถึง 36 ได้รับเสียงโหวตเพิ่มขึ้นแค่ 0.5 เปอร์เซนต์เท่านั้นเองนะ เพราะฉะนั้นชัยชนะของพวกเขาก็เป็นเพียงการขยับปรับเปลี่ยนทางการเมือง ในสเปนแม้ว่าจะมีบรรยากาศปฏิวัติ แต่ผลของวิกฤตเศรษฐกิจก็คือกลายเป็นขวามากขึ้น ส่วนในที่อื่นๆ เช่นยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก การเมืองเปลี่ยนเป็นขวาอย่างมาก แต่ผลของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันมันไม่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายนี้ชัดเจนขนาดนั้น เราอาจจะพอเดาได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญคราวนี้ไม่ได้มาจากสหรัฐฯ หรือตะวันตกแล้ว แต่คงเกิดกับจีน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราคงได้แต่เดา

อาจารย์ว่าจีนจะสู้เศรษฐกิจโลกตกต่ำนี้ต่อไปไหม

ผมไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จีนจะไปหยุดการโตทางเศรษฐกิจนะ รัฐบาลจีนก็โดนวิกฤตไปจั๋งหนับเหมือนกัน เพราะภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องหยุดไปชั่วคราว แต่จีนกำลังอยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น หมายความว่ามีพื้นที่ขยายออกไปได้อีกมหาศาล ผมไม่อยากพยากรณ์นะ แต่อีกยี่สิบสามสิบปีข้างหน้าเราคงเห็นจีนที่สำคัญในเวทีโลกมากกว่านี้ อาจเป็นทางเศรษฐกิจและการเมือง และไม่จำเป็นจะต้องเป็นทางการทหารเสมอไป แน่นอนว่าปัญหาก็เยอะ คงมีคนถามว่าแล้วประเทศมันจะยังยึดอยู่รวมกันไปได้อีกนานแค่ไหน แต่ผมคิดว่าเหตุผลทั้งในทางปฏิบัติและทางอุดมการณ์ที่คนอยากให้จีนยังรวมกันอยู่นั้น ก็ยังแข็งแรงอยู่

อาจารย์จะประเมินรัฐบาลโอบามาอย่างไร

ผู้คนแฮปปี้มากที่คนอย่างโอบามาได้รับเลือกตั้ง และพอถึงช่วงวิกฤตผู้คนก็คิดว่าเขาจะเป็นนักปฏิรูปที่เยี่ยมยอดได้ จะสามารถทำอย่างที่รูสเวลท์ทำได้ แต่โอบามาเป็นไม่ได้ เขาล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม ถ้าลองเอาร้อยวันแรกในตำแหน่งของโอบามากับรูสท์เวลท์มาเทียบกันนะ สิ่งที่ชัดเจนคือรูสท์เวลท์พร้อมที่จะมีที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ คือลองอะไรใหม่ๆ แต่โอบามาเลือกที่จะอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง ผมคิดว่าเขาเสียโอกาสสำคัญไปแล้ว โอกาสสำคัญของเขาจริงๆ อยู่ในช่วงสามเดือนแรก เมื่อพรรคตรงข้ามกำลังเสียขวัญ แต่โอบามาก็ไม่ได้ทำ ผู้คนก็หวังว่าเขาจะไปได้ดี แต่ผมคิดน่าจะทีเหลวมากกว่า

พอเราลองมาดูที่พื้นที่ขัดแย้งที่ร้อนที่สุดในเวทีระหว่างประเทศอย่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อาจารย์ว่าโมเดลแบบสองรัฐ (two-state) ที่พูดๆ กันอยู่นี้ จะเป็นทางออกได้ไหม

ส่วนตัวนะผมไม่เชื่อว่ามันมาถึงจุดนั้นแล้วด้วยซ้ำ คือไม่ว่าทางออกจะเป็นอย่างไรนะ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนนโยบายของตัวเอง และกดดันอิสราเอลบ้าง ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเกิด

มีส่วนไหนของโลกที่อาจารย์เห็นว่าการเคลื่อนไหวกำลังเกิดขึ้นบ้าง

ผมนึกถึงละตินอเมริกาก่อนเพื่อนเลย การเมืองและการตัดสินใจสาธารณะที่นั่นยังทำกันอยู่ในแบบยุคภูมิธรรมเก่า ยังใช้ศัพท์แสงของเสรีนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ละตินอเมริกาเป็นสถานที่ๆ คุณจะพบทหารพูดด้วยภาษาแบบสังคมนิยม และพวกเขาก็เป็นนักสังคมนิยม คุณจะเจอปรากฏการณ์อย่าง Lula [Luiz Inácio Lula da Silva ประธานาธิบดีของบราซิลระหว่าง ค.ศ.2003-2010 เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคแรงงาน] หรือ Evo Morales ซึ่งมีฐานจากการเคลื่อนไหวชนชั้นแรงงาน นี่มันจะนำไปสู่อะไรคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ภาษาแบบเก่ายังใช้ได้ที่นั่น การเมืองแบบเก่ายังเป็นทางเลือกอยู่

ทีนี้ผมไม่แน่ใจนักเมื่อพูดถึงอเมริกากลางนะ ถึงแม้ว่าจะมีการก่อตัวของบรรยากาศการปฏิวัติในเม็กซิโกเองก็ตาม ผมว่ามันคงไปไม่ไกล เพราะเม็กซิโกก็เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรียบร้อย ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ละตินอเมริกาไม่มีชาตินิยมทางภาษาและชาติพันธุ์ และการแบ่งแยกทางศาสนาทำให้แนวคิดแบบเก่ายังอยู่ได้ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจนะที่ละตินอเมริกาไม่มีการเมืองเรื่องเชื้อชาติจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวโดยคนพื้นเมืองของเม็กซิโกและเปรู แต่ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับอะไรที่เกิดขึ้นในยุโรป เอเชียและอาฟริกา

มีความเป็นไปได้ด้วยว่าการเคลื่อนไหวก้าวหน้าในอินเดียจะกลับมาใหม่ ทั้งนี้เพราะความแข็งแรงของวิธีคิด secular ของเนห์รู แต่ก็ดูจะไม่ได้มวลชนเท่าไหร่ ยกเว้นในบริเวณที่คอมมิวนิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากอย่างเช่นเบงกอลและเคอราลา หรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเช่นแนคซาไลท์ (Naxalites) หรือเหมาอิสต์ในเนปาล

นอกเหนือจากนี้ในยุโรป มรดกของของการต่อสู้แบบเก่า แนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ของยุโรปก็ยังค่อนข้างเข้มแข็ง พรรคการเมืองที่ก่อตั้งตามแนวคิดเองเกลส์ก็ยังมีทั่วไป เป็นผู้นำฝ่ายค้านหรือมีโอกาสจะได้เป็นรัฐบาล ผมสงสัยว่ามรดกของคอมมิวนิสต์ เช่นในคาบสมุทรบัลข่านหรือบางส่วนในรัสเซีย จะนำไปสู่อะไรที่ผมเองก็มองไม่เห็น อะไรจะเกิดขึ้นในจีน ผมก็ไม่รู้ แต่พอแน่ใจว่าจีนกำลังคิดไปทางที่ต่างออกไป ไม่ได้เป็นทางการปรับเปลี่ยนแนวคิดเหมาและมาร์กซ์

อาจารย์วิพากษ์การใช้ชาตินิยมในทางการเมืองมาโดยตลอด เตือนฝ่ายซ้ายไม่ให้เหมาชาตินิยมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันกับตัวเอง แต่ขณะเดียวกันอาจารย์เองก็ต่อต้านการทำลายอำนาจอธิปไตยของรัฐด้วยการแทรกแซงในนามมนุษยธรรม (humanitarian intervention) คำถามคือหลังจากการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานทั่วโลกล้มเหลว อาจารย์ว่าลักษณะข้ามชาติ (internationalism) แบบไหนจะเป็นไปได้ในวันนี้

อย่างแรกเลยนะ เรื่องมนุษยธรรม เรื่องจักรวรรดินิยมในนามสิทธิมนุษยชน (imperialism of human rights) เนี่ย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเรื่องลักษณะข้ามชาตินะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นสองอย่าง คือจักรวรรดินิยมแบบใหม่ ซึ่งพบข้ออ้างที่แสนเหมาะในการทำลายอธิปไตยของรัฐ จะด้วยความจริงใจหรือไม่ก็ตาม หรืออีกอย่างหนึ่งที่อันตรายมาก คือการเน้นย้ำความเชื่อที่ว่า มีพื้นที่หนึ่งในโลกที่มีอำนาจเหนือพื้นที่อื่นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหกถึงศตวรรษที่ยี่สิบ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณค่าที่ตะวันตกต้องการไปเน้นย้ำในที่ต่างๆ นั้นเป็นแบบเฉพาะถิ่น (regional) ไม่ได้เป็นสากล (universal) เพราะถ้าจะเป็นสากลมันจะต้องถูกปรับเปลี่ยนและนำเสนอใหม่

ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามแบบกรอบชาติหรือนานาชาตินะครับ เพราะชาตินิยมก็เข้าไปสู่พื้นที่วิวาทะแบบนี้อยู่ดี เนื่องจากระบบโลกเวสฟาเลียวางอยู่บนแนวคิดรัฐ-ชาติ และที่ผ่านมาก็เป็นวิธีการป้องกันคนนอกเข้ามาในประเทศ ไม่น่าสงสัยเลยว่าถ้าระบบนี่ล้มไป ก็จะเป็นหนทางไปสู่สงครามขยายดินแดน คุณก็เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ชอบระบบเวสฟาเลีย

ลักษณะข้ามชาติ (internationalism) ซึ่งเป็นเหมือนทางเลือกจากความคิดชาตินิยมนั้น ในตัวมันเองก็มีปัญหานะครับ คือทางหนึ่งมันเป็นแนวคิดทางการเมืองที่คลุมเครือว่างเปล่า ไม่สามารถจับต้องอะไรในแง่ของการเคลื่อนไหวชนชั้นแรงงาน หรืออีกทางหนึ่ง มันเป็นแนวคิดที่ไปเสริมพวกองค์กรรวมศูนย์อย่างโรมันคาธอลิก หรือโคมินเทิร์น สำหรับคาธอลิก ลักษณะข้ามชาติหมายความว่าคุณเชื่อในความเชื่อและวิถีปฏิบัติเดียวกันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนในโลก เรื่องนี้ใช้ได้กับพรรคคอมมิวนิสต์ กระบวนการนี้เกิดขึ้นในระดับใด หรืออยู่ตรงไหนแล้วนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาเรียกกันว่าลักษณะข้ามชาติ

ปัจจุบันนี้รัฐชาติยังคงเป็นกรอบในการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ว่าจะเรื่องภายในหรือระหว่างประเทศ การเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานทั้งหลายแหล่ที่ผ่านมาจนถึงเร็วๆ นี้ ต่างก็ดำเนินการภายในกรอบรัฐชาติทั้งสิ้น แม้แต่การเมืองของสหภาพยุโรปเองก็อยู่ในกรอบรัฐชาติ พูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีอำนาจระดับเหนือรัฐ มีแต่การร่วมของรัฐหลายๆ รัฐ แต่อาจพูดได้ว่าอิสลามfundamentalist เป็นข้อยกเว้น ซึ่งข้ามรัฐต่างๆ ไป แต่ตัวมันเองก็ยังไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจน ความพยายามครั้งล่าสุด คือการสร้าง pan-Arab super-state จากอียิปต์ไปซีเรียล้มเหลวลงก็เนื่องด้วยการมีอยู่ของรัฐชาตินี่แหละ

อาจารย์เห็นว่าอุปสรรคในการจะข้ามเส้นรัฐชาติคืออะไร

ในทางเศรษฐศาสตร์และด้านอื่นๆ รวมทั้งด้านวัฒนธรรมด้วย การปฏิวัติทางการสื่อสารได้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างข้ามชาติได้ง่ายขึ้นกว่าก่อนมาก แม้แต่ในภาษาต่างๆ ในตอนนี้ก็ได้รับภาษาการสื่อสารในพื้นที่นานาชาติรวมเข้าไป

แต่ในทางการเมือง ผมไม่เห็นสัญญาณของการข้ามเส้นรัฐชาติที่ว่านี้เลย เหตุผลประการหนึ่งก็คือว่าการเมืองในศตวรรษที่ยี่สิบเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแยะ และนั่นทำให้คนจำนวนมากเข้ามาเล่นในกระดาน สำหรับพวกเขาแล้ว รัฐเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตและเสนอโอกาสในชีวิตให้กับพวกเขา แต่ก็มีความพยายามในการลดอำนาจรัฐลงจากภายในด้วยการกระจายอำนาจในสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าประสบความสำเร็จ ในเยอรมนี ในอิตาลีก็เช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งความพยายามในการสร้างอภิรัฐ (supra-national states) กลับไม่ประสบความสำเร็จ สหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ผมคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งคือประเทศผู้ก่อตั้งไปคิดว่าอภิรัฐ เป็นเหมือนรัฐชาตินั่นแหละ แต่ใหญ่กว่า ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ สหภาพยุโรปเป็นความสัมพันธ์แบบเฉพาะในยุโรป ขณะเดียวกันมีสัญญาณการเกิดอภิรัฐในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ ด้วย แต่ดูเหมือนว่ามีแต่สหภาพยุโรปเท่านั้นที่พอจะก้าวไปได้บ้าง ผมเองไม่เชื่อถึงการจัดตั้งอะไรแบบนี้ในละตินอเมริกา ผมต่อต้านเรื่องนี้

ปัญหาที่แก้ไม่ตก และมีความย้อนแย้งคือ ด้านหนึ่งพวกลักษณะข้ามชาติต่างๆ ที่อำนาจรัฐมีส่วนร่วมน้อย ตัวมันเองก็กำลังล่มสลาย แต่ถ้าสมมติว่ามันจะเกิดขึ้น (ซึ่งผมว่าไม่ใช่เร็วๆ นี้ และไม่ใช่ในประเทศพัฒนาแล้ว) ใครจะทำหน้าที่ๆ รัฐเคยทำได้แต่เพียงผู้เดียวล่ะ ตอนนี้เราเห็นความร่วมมือและความขัดแย้งในเวลาเดียวกัน นี่เป็นปัญหาพื้นฐานของการเมืองประชานิยมในวันนี้

ชาตินิยมเป็นพลังทางการเมืองอันสำคัญในศตวรรษที่ 19 จน 20 อาจารย์เห็นบรรยากาศวันนี้เป็นอย่างไร

โอเค ชาตินิยมเป็นพลังสำคัญในการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งต้องการหาความชอบธรรมในการปกครองที่ต่างไปจากรัฐศาสนาและรัฐราชวงศ์ ความคิดดั้งเดิมของชาตินิยมคือการต้องการสร้างรัฐชาติที่ใหญ่ขึ้น และผมคิดว่าชาตินิยมสำคัญในการทำอะไรแบบนี้ เราเห็นจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ในปี ค.ศ.1790 มีคนพูด "เราไม่ใช่ ดูฟีนัวส์ (Dauphinois) หรือ คนใต้ (Southerners) อีกต่อไป แต่เราเป็นคนฝรั่งเศส"

หลังทศวรรษที่ 1870 เป็นต้นมา เราเห็นความเคลื่อนไหวภายในรัฐเหล่านั้น เพื่อเรียกร้องสถาปนารัฐอิสระของตนเอง สิ่งนี้ได้ส่งผลต่อการก่อตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่ ดีอยู่ที่ว่าในปี ค.ศ.1918 ถึง 1919 มันยังมีสิ่งที่เรียกว่า "การเคารพเสียงข้างน้อย" ซึ่งหลังจากนั้นก็สลายหายไป ความคิดนี้ก็คือการเปิดยอมรับว่าไม่มีรัฐชาติไหนที่มีเพียงภาษาและชนชาติเดียว แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จุดอ่อนของระบบแบบนี้ก็เผยตัวออกมา ไม่เพียงแค่โดยเหล่าสังคมนิยมเป็นผู้วิพากษ์เท่านั้น แต่ใครๆ ก็เห็น เพราะมันไปพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติขึ้น ซึ่งผลของมันคือความโหดร้ายและความรุนแรง ซึ่งเราก็จะเห็นว่าการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบบนี้ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วงนั้น ชาตินิยมแบบที่มุ่งแยกเป็นรัฐอิสระ (separatist type of nationalism) ก็ทำงานค่อนข้างดี ได้รับแรงหนุนหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยพลังต่อต้านอาณานิคม และกระบวนการนี้มุ่งสร้างรัฐจำนวนมากขึ้น และยิ่งมากขึ้นไปอีกหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ผมคิดอยู่นะ ว่าลักษณะของรัฐเล็กๆ ที่แยกตัวออกมาจากรัฐใหญ่ ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลัง ค.ศ.1945 ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน อย่างหนึ่งก็คือ รัฐเหล่านี้ได้รับการยอมรับถึงอำนาจอธิปไตยมากขึ้น ลองคิดดู ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนะ รัฐเล็กๆ เหล่านี้ อย่างแอนดอร์ราและลักเซมเบิร์กและอื่นๆ ไม่ได้รับการยอมรับในนานาชาติ (ลองนึกถึงว่านักสะสมแสตมป์ไม่เก็บแสตมป์รูปรัฐเหล่านี้ด้วยซ้ำ) ความคิดที่ว่า ลักษณะการปกครองหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงนครวาติกันในวันนี้ถือว่าเป็นรัฐ และสามารถเป็นสมาชิกของสหประชาชาติได้นั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ นอกจากนี้ผมยังเห็นว่ารัฐเหล่านี้เอง ก็ไม่สามารถเล่นบทบาทแบบที่รัฐจารีตได้ทำ รัฐเหล่านั้นไม่มีศักยภาพจะรบกับรัฐอื่นได้ ซึ่งมากที่สุดก็เป็นดินแดนสวรรค์ทางการเงิน หรือเป็นฐานสำรองของคนข้ามชาติสำคัญๆ ไอซ์แลนด์เป็นตัวอย่างนี้ หรือสกอตแลนด์ก็ไม่ผิดนัก

หน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติไม่ได้เป็นฐานของแนวคิดเรื่องรัฐชาติอีกต่อไป คือมันไม่ได้เป็นสโลแกนที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป มันอาจจะเคยมีพลังในการสร้างชุมชนสังคมทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างๆ แต่ในวันนี้มิติการต่อต้านคนต่างชาติในชาตินิยมสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ ยิ่งจะมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้เป็นทางวัฒนธรรมมากกว่าการเมือง คุณลองดูชาตินิยมของอังกฤษและสกอตแลนด์สิ แต่เรื่องการเมืองก็มองข้ามไม่ได้เหมือนกัน

ฟาสซิสต์เองก็มีด้านการต่อต้านคนต่างชาติอย่างนี้ไม่ใช่หรือ

ในส่วนหนึ่ง ฟาสซิสต์ก็คือการมุ่งสร้างชาติที่ใหญ่ขึ้น คือไม่ต้องสงสัยเลยว่าฟาสซิสต์ของอิตาลีคือก้าวสำคัญที่ทำให้คนคาลาเบรียน (Calabrians) และคนอัมเบรียน (Umbrians) กลายเป็นคนอิตาเลียน แม้แต่ในเยอรมนีนะ ก่อนหน้า ค.ศ.1934 ไม่มีการเรียกคนเยอรมันว่าเป็นเยอรมัน และการเป็นคนเยอรมันไม่ได้แปลว่าพวกเขาเป็น สวาเบียน (Swabian) หรือแฟรงก์ (Frank) หรือแซกซอน (Saxon)

แน่นอนว่าฟาสซิสต์เยอรมัน ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกนั้นมุ่งต่อต้านคนนอก ซึ่งไม่เพียงแค่คนยิวเท่านั้น คือฟาสซิสต์ดูเหมือนจะมีด้านการต่อต้านคนต่างชาติมากกว่าด้วยซ้ำ ข้อได้เปรียบอย่างใหญ่หลวงของการเคลื่อนไหวแรงงานแบบเก่านั้น เคยเป็นว่า มันได้ให้หลักประกันว่าการต่อต้านคนต่างชาติจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นยาก และนี่ชัดเจนมากในอาฟริกาใต้ แต่เอาละ สำหรับจุดประสงค์ขององค์กรปีกซ้ายดั้งเดิมที่นั่น ในการมุ่งสู่ความเท่าเทียมและการเลิกการกีดกันทางสีผิวแล้วล่ะก็ ความต้องการในการแก้แค้นคนขาว (Afrikaners) ก็ดูเป็นเรื่องยากจะห้ามไม่ให้เกิด

อาจารย์ได้เน้นย้ำด้านการแยกรัฐ (separatist) และด้านการต่อต้านคนต่างชาติของลัทธิชาตินิยม ถึงตอนนี้พอจะบอกได้ไหมว่าปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้ดูจะลดความสำคัญลงในเวทีการเมืองโลก

ใช่ ผมว่าก็จริงอยู่นะ ถึงแม้ว่าในบางที่ ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้สร้างความเสียหายอย่างมาก เช่นในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และแน่นอนว่า ลัทธิชาตินิยม ความคลั่งชาติ หรือการมุ่งบูชาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเชื้อชาติก็ได้นะ สิ่งเหล่านี้มันช่วยสร้างความชอบธรรมในการปกครองไง ในจีนเรื่องนี้ชัดเจน แต่ในอินเดียไม่มี ส่วนสหรัฐฯ ไม่สามารถทำอะไรที่ใช้เรื่องชนชาติเดียวกันเป็นตัวนำได้ นั่นชัดเจนอยู่แล้ว แต่ชาตินิยมในสหรัฐฯ ก็แข็งมาก ในหลายๆ รัฐที่ทำงานได้ดี ความคิดชาตินิยมนี้ยังอยู่ตลอด และเราจะเห็นได้ว่า การอพยพข้ามชาติในปัจจุบันก่อปัญหามากกว่าที่เคยในอดีต

อาจารย์มองไปในอนาคต เห็นพลวัตทางสังคมของการอพยพย้ายถิ่นชั่วคราวในที่ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้มีคนอพยพเข้าสหภาพยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ อาจารย์เห็นว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์แบบหม้อหลอม (melting pot) ในยุโรปได้ไหม

แต่คุณ ในสหรัฐฯ นี่หม้อหลอมมันหยุดหลอมไปในทศวรรษที่ 1960 นะครับ และมากกว่านั้น ความหมายของการอพยพโดยตัวของมันก็เปลี่ยนไปเมื่อสิ้นศตวรรษที่ยี่สิบ คือหมายความว่าผู้อพยพไม่สามารถตัดจุดเชื่อมโยงของตัวเองได้อย่างเด็ดขาดจากที่ตัวเองจากมาได้อย่างที่การอพยพในก่อนหน้านี้เป็น ตอนนี้คุณสามารถอยู่ในโลกสองหรือสามใบในเวลาเดียวกันได้ และมีชีวิตประจำวันกับสองสามที่ในเวลาเดียวกันได้ คุณยังเป็นคนกัวเตมาลาได้แม้ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ในสหภาพยุโรปยังมีสถานการณ์ที่ว่า การอพยพไม่ได้ช่วยความผสมกลมกลืนในสังคม ตัวอย่างเช่นคนโปแลนด์ที่มาทำงานในอังกฤษก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าคนโปแลนด์ที่มาทำงาน

เรื่องที่ผมพูดมานี่เป็นเรื่องใหม่ และต่างออกไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในรุ่นผม เหล่าผู้อพยพทางการเมือง (ผมไม่ได้เป็นนะ) ที่ครอบครัวเป็นอังกฤษ แต่ทางวัฒนธรรมก็ไม่เคยหยุดเป็นคนออสเตรียหรือคนเยอรมัน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เชื่อว่าตนเองจะต้องเป็นอังกฤษ แม้คนเหล่านี้จะกลับไปที่ๆ ตนจากมา มันก็ต่างไปซะแล้ว คือบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว

แต่เอาละ ย่อมมีข้อยกเว้นอยู่เสมอ อย่างกวีอีริค ฟรายด์ (Erich Fried) ซึ่งอยู่ที่วิลส์เดนมาห้าสิบปี แต่แล้วก็ย้ายไปอยู่เยอรมัน ผมยังเชื่อนะว่าเราต้องรักษากฎพื้นฐานของการผสมกลมกลืน ว่าพลเมืองของประเทศหนึ่งๆ จะต้องปฏิบัติตัวแบบหนึ่งๆ และมีสิทธิหนึ่งๆ และนี่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นในแบบที่เป็น ซึ่งไม่ควรเพิ่มอุปสรรคไปด้วยการเสนอเรื่องพหุวัฒนธรรมอะไรเทือกนั้น

ประเทศอย่างฝรั่งเศสรวมชาวอพยพต่างชาติเข้าไปอย่างที่สหรัฐฯทำ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนฝรั่งเศสและคนอพยพนั้นดีกว่าในสหรัฐฯ นี่เป็นเพราะคุณค่าของความคิดแบบสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ความเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ วัฒนธรรมใดๆ ก็ตามที่คุณปฏิบัติในพื้นที่ส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในสาธารณะนั่นคือประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส (อันที่จริงสหรัฐฯ ก็เป็นแบบนี้ในศตวรรษที่ 19)

คราวนี้ปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่กับผู้อพยพมากเท่ากับคนท้องถิ่นแล้วก็ได้ ประเทศอย่างอิตาลีและสแกนดิเนเวีย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีเรื่องการต่อต้านคนนอกมากนัก ก็เริ่มมีปัญหากับคนต่างชาติ

วันนี้เราเห็นว่าศาสนา ไม่ว่าจะ อีวานเจลิคอล คาธอลิก ซุนหนี่ ชีอะห์ นีโอฮินดู พุทธ และศาสนาอื่นๆ ได้กลับมาเป็นพลังอันสำคัญ อาจารย์มองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ในระดับฐานรากหรือไม่ หรือมันคงเป็นแค่เพียงผิวเผิน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

คือมันชัดเจนว่าศาสนา นี่ผมพูดในแง่พิธีกรรมนะครับ พวกความเชื่อเรื่องผี อะไรต่างๆ นี่มีอิทธิพลต่อชีวิต และเป็นสิ่งเชื่อมระหว่างชุมชนต่างๆ มันเป็นมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ และเราจะไปมองว่ามันผิวเผินคงไม่ได้ โดยเฉพาะคนจนและผู้ที่อ่อนแอ ซึ่งคงจะมีความต้องการแสวงหาหนทางสร้างความสบายใจที่มากกว่า และความต้องการคำอธิบายว่าทำไมสิ่งรอบตัวของพวกเขาเป็นอย่างนั้น ตัวอย่างเช่นในจีนมีระบบของกฎบางอย่างนะ ที่ด้วยเหตุผลทางปฏิบัติแล้วมันปรากฏตัวขึ้นในแบบที่เราเรียกมันว่าศาสนาไม่ถนัดนัก คือมันเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ผมคิดว่าความผิดพลาดของสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในอดีตคือไปมุ่งถอนรากถอนโคนศาสนาอย่างรุนแรงในเวลาที่ไม่ควรจะต้องทำขนาดนั้น ลองหันไปดูทางอิตาลี การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังยุคมุสโสลินีคือการที่ Palmiro Togliatti เลิกกีดกันคนคาธอลิก ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูก เพราะผลก็คือเขาได้เสียงโหวต 14 เปอร์เซนต์ของเหล่าแม่บ้านให้แก่คอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 1940 นี่เปลี่ยนภาพพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี จากพรรคเลนินนิสต์ไปเป็นพรรคของมวลชน

ในขณะเดียวกันอีกทางหนึ่ง จริงที่ว่าศาสนาเองก็มีอำนาจน้อยลงมาก หมายความว่า secularization ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก มากน้อยต่างกันไปในแต่ละที่ ในยุโรปก็ค่อนข้างชัดเจนว่ากำลังเกิดขึ้น ส่วนในสหรัฐฯ ไม่เป็นขนาดนั้น ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าเหตุผลคืออะไร แต่เท่าที่พูดได้คือ secularization ก็มีบทบาทในเหล่าปัญญาชนและคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการศาสนา

สำหรับคนเคร่งศาสนา การที่ต้องอยู่ในโลกที่มีภาษาทางวาทกรรมสองอย่าง (ศาสนาและไม่มีศาสนา) ก็สร้างความเคร่งเครียด ซึ่งเห็นบ่อยๆ เช่นยิวในเวสต์แบงก์ คือเป็นพวกเคร่งครัดเชียวนะ แต่ทำงานเชี่ยวชาญด้านไอที การเคลื่อนไหวอิสลามในยุคปัจจุบันประกอบไปด้วยนักเทคโนโลยีหนุ่มๆ แบบนี้แหละ และพิธีกรรมทางศาสนาก็จะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล แต่นั่นหมายความว่าจะทำให้เกิด secularization ต่อหรือเปล่าก็ต้องดูกันต่อไป คือผมไม่แน่ใจว่า ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงคาธอลิกเรื่องการบังคับผู้หญิงให้ปฏิบัติตามกฏนั้น จะทำให้ผู้หญิงหันมานับถือคาธิลิกน้อยลงหรือเปล่าน่ะ

การอ่อนแรงลงของอุดมการณ์ภูมิธรรม (enlightenment) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เปิดพื้นที่การเล่นการเมืองทางศาสนาและชาตินิยมที่อิงอยู่กับศาสนา แต่ผมก็ไม่เห็นการโตขึ้นอย่างรวดเร็วของศาสนาใดๆ เลยนะ กลับกันซะอีกดูเหมือนว่าศาสนาต่างๆ จะอยู่ในขาลง โรมันคาธอลิกต่อสู้อย่างมาก แม้แต่ในละตินอเมริกา ซึ่งต้องสู้กับอีวานเจลิคอล โปรแตสแตนท์ และผมว่าที่โรมันคาธอลิกยังอยู่ได้ในอาฟริกาก็เพราะยอมให้ธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นยังอยู่ได้

ดูอย่างเผินๆ แล้วอีวานเจลิคอล โปรแตสแตนท์กำลังอยู่ในข่วงขาขึ้น แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ระดับเล็กๆ อย่างที่พวกนอนคอมฟอร์มิสต์ (nonconformist) เป็นในอังกฤษ นอกจากนี้ยังชัดเจนว่า Jewish Fundamentalism ซึ่งสร้างผลเสียมากแก่อิสราเอล กำลังเป็นปรากฏการณ์มวลชน มีข้อยกเว้นสำคัญคืออิสลาม ซึ่งก็ยังขยายตัวออกไปเรื่อยในสองสามร้อยปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้มีผู้เผยแพร่ศาสนาเป็นหลัก

ในศาสนาอิสลามเอง ผมก็ไม่แน่ใจนักหรอกว่า แนวโน้มอย่างที่เป็นในปัจจุบัน เช่นการเคลื่อนไหวกองกำลังในการรื้อฟื้นกาหลิบกลับมาใหม่เป็นอะไรมากกว่าการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มน้อยหรือไม่ อย่างไรก็ดี อิสลามดูเหมือนว่าจะสามารถขยายต่อไปได้อีก ผมว่าหลักๆ ก็เพราะมันได้ให้ความรู้สึกต่อคนจนว่า พวกเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และความรู้สึกว่าคนมุสลิมมีความเท่าเทียมกัน

ศาสนาคริสต์เป็นอย่างนั้นไหมครับ

ผมว่าไม่นะ ผมคิดว่าคนคริสต์คนหนึ่งไม่ได้เชื่อว่าเขาดีเท่าๆ กับคนคริสต์คนอื่นๆ เพราะผมไม่คิดว่าคนคริสต์ผิวดำเชื่อว่าพวกเขาดีเท่าๆ กับคนคริสต์เจ้าอาณานิคม ซึ่งต่างออกไปจากมุสลิม เพราะคนมุสลิมผิวดำเชื่อว่าเขาดีเท่าๆ กับคนอื่น โครงสร้างของศาสนาอิสลามนั้นเท่าเทียมกว่า และมีมิติทางด้านกองกำลังที่ชัดเจน

ผมจำได้ว่าอ่านจากที่ไหนสักที่ เรื่องนักค้าทาสในบราซิลยกเลิกนำเข้าทาสมุสลิม เพราะทาสพวกนี้ลุกขึ้นต่อต้านไม่หยุด จากจุดที่เรายืนอยู่นี้ในปัจจุบันเนี่ยนะ ความคิดแบบนี้ก็อันตรายอยู่ ในแง่ที่ว่าศาสนาอิสลามทำให้คนจนปิดรับความคิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมลงไป คือเหมาไปว่าอิสลามได้ให้คำตอบทั้งหมดไปเสียแล้ว เหล่าพวกก้าวหน้าในโลกอิสลามรู้ดีกันมาตั้งแต่ต้นว่า คงไม่มีหนทางเปลี่ยนมวลชนไปจากอิสลามได้ แม้แต่ในตุรกีเองก็ต้องหาจุดประนีประนอมระหว่างฆราวาสและศาสนา ตุรกีดูเหมือนจะเป็นที่เดียวที่สำเร็จ

ในที่อื่นๆ การขึ้นมามีบทบาทของศาสนา ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง โดยเฉพาะในการเมืองแบบชาตินิยมนั้นเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก ในอินเดียมีปรากฏการณ์ของชนชั้นกลาง ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะมันไปเชื่อมกับกองกำลังและชนชั้นนำกึ่งฟาสซิสต์ และองค์กรอย่าง RSS [Rashtriya Swayamsewak Sangh – องค์กรชาตินิยมฮินดู] ซึ่งง่ายในการจัดตั้งเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิม โชคดียังมีอยู่ตรงที่ว่า secularization ของชนชั้นสูงในการเมืองอินเดียหยุดให้มันโต ไม่ใช่เพราะชนชั้นนำอินเดียต่อต้านศาสนาหรืออะไร แต่เพราะความคิดพื้นฐานของเนห์รูในการสร้างรัฐโลกิยะ (secular state) ที่ศาสนามีอยู่ได้ทั่วไป ไม่มีใครในอินเดียที่เห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งอื่นขึ้น มันจำกัดอยู่ด้วยคุณค่าสูงสุดของประชาสังคมโลกิยะ (secular civil society) ในอินเดีย

วิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สองชั่วอายุคนต่อมา วิทยาศาสตร์ก็ลดความสำคัญลงไปในกระแสความคิดมาร์กซิสต์และสังคมนิยม อาจารย์คิดว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มาสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน จะทำให้วิทยาศาสตร์กับการเมืองสายราดิคัลมารวมกันอีกครั้งหรือเปล่า

ผมแน่ใจว่าการเคลื่อนไหวก้าวหน้าสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องอื่นๆ เป็นเหตุผลที่สำคัญที่จะวิพากษ์วิธีเข้าหาปัญหาแบบวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างมากช่วงเจ็ดศูนย์และแปดศูนย์ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติต่างจากนักสังคมศาสตร์ คือไม่มีอะไรผลักให้พวกเขาเข้าสู่การเมือง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พวกเขาถ้าไม่ยุ่งกับการเมือง ก็ไปมีการเมืองของชนชั้นของตัวเอง แต่มีข้อยกเว้นนะ เช่นในกรณีคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศสช่วงต้นศตวรรษที่ 19 และทศวรรษที่สามศูนย์และสี่ศูนย์ แต่พวกนี้เป็นกรณีพิเศษจริงๆ เกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์มองเห็นว่างานของพวกเขาส่งผลกระทบต่อสังคมจริงๆ แต่สังคมยังมองไม่เห็นสิ่งนั้น งานสำคัญในเรื่องนี้คือของ John Desmond Bernal เรื่อง The Social Function of Science ซึ่งส่งผลมหาศาลต่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ แน่นอนว่าการที่ฮิตเลอร์โจมตีทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยด้วย

ในศตวรรษที่ยี่สิบ วิทยาศาสตร์กายภาพเป็นพระเอก แต่ศตวรรษนี้วิทยาศาสตร์ชีวภาพขึ้นมาเป็นพระเอกแทน นั่นก็เพราะมันเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับชีวิตมนุษย์มากกว่าและเป็นการเมืองได้มากกว่า แต่มีปัจจัยที่ขัดแย้งอันหนึ่ง นั่นก็คือนักวิทยาศาสตร์เองก็ถูกดึงเข้าไปอยู่ในระบบทุนนิยมเรียบร้อย ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และองค์กรวิทยาศาสตร์ต่างๆ สี่สิบปีก่อนเรานึกไม่ออกว่าจะมีใครพูดถึงการจดสิทธิบัตรยีน วันนี้คนจดสิทธิบัตรยีนเพื่อหวังจะเป็นเศรษฐีเงินล้าน และนั่นเป็นการดึงเอาวิทยาศาสตร์ออกจากการเมืองของฝ่ายซ้าย

ยังมีสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าสู่การเมืองได้คือการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมที่เข้าไปยุ่มย่ามกับงานของพวกเขา ปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของสหภาพโซเวียตคือนักวิทยาศาสตร์ที่นั่นถูกบีบให้ต้องเกี่ยวกับการเมือง นั่นเพราะพวกเขาได้อภิสิทธ์เรื่องสิทธิพลเมืองและเสรีภาพ (ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็เป็นได้เพียงต้องทำตาม พยักหน้าตามรัฐหงึกๆ ) และกลายเป็นผู้นำการประท้วง ปรากฏการณ์นี้เกิดไม่บ่อย และเกิดไม่ได้ในประเทศอื่นๆ แน่นอนว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมคงทำให้นักวิทยาศาสตร์เคลื่อนไหว ถ้าประเด็นเรื่องโลกร้อนขยายมากออกไปอีก ผู้เชี่ยวชาญก็จะมาเกี่ยวข้องอยู่ดี ผมว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้ไปไหนหรอก

มาสู่คำถามเรื่องประวัติศาสตร์บ้างนะครับ อะไรที่ทำให้อาจารย์มาสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวยุคโบราณในหนังสือเรื่อง Primitive Rebels และอาจารย์วางแผนมานานขนาดไหน

งานนี้มันมาจากสองสิ่งครับ สิ่งแรก ตอนที่เดินทางไปอิตาลีในช่วงทศวรรษที่ 1950 ผมพบเจอปรากฏการณ์แปลกๆ คือสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์ในทางใต้ ได้เลือกพยานพระยะโฮวาห์ขึ้นเป็นเลขาธิการของพรรค และมีปรากฏการณ์อื่นๆ อีก คือพวกเขาคิดถึงปัญหาที่เรากำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ด้วยภาษาที่เราไม่คุ้นเคย สิ่งที่สอง โดยเฉพาะหลัง ค.ศ.1956 ที่นั่นมีเสียงความไม่พอใจต่อการมองเคลื่อนไหวแรงงานแบบง่ายๆ ที่เรากำลังทำอยู่ ใน Primitive Rebel ผมเองก็ไม่ได้วิพากษ์วิธีการมองแบบที่เราทำกันอย่างทั่วไป กลับกันซะอีก ผมเสนอว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะไปไม่ไกล จนกว่าพวกเขาจะใช้ภาษาใหม่ วิธีใหม่และสถาบันใหม่ มีหนทางที่สามารถดำเนินการทางการเมือง ที่รวมเอาความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่เพียงแค่ระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ที่อ่อนแอ รวมไปทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีตรรกะบางอย่างที่ใช้ด้วยกันได้ แต่ผมไม่มีโอกาสที่จะตามเรื่องนี้ต่อ แม้ว่าหลังจากนั้นก็ตาม ตอนที่อ่านงานของ Barriton Moore เรื่อง Injustice ผมพอเริ่มเห็นว่าจะมองประเด็นนี้อย่างไร มันเป็นจุดเริ่มของสิ่งที่ไม่เคยถูกสานต่อ และผมรู้สึกเสียดาย และหวังว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

ในหนังสือเรื่อง Interesting Times อาจารย์ได้แสดงให้เห็นกระแสเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์ อาจารย์คิดว่าวงการประวัติศาสตร์ยังคงเดิมหรือไม่

ผมประทับใจในขนาดที่เพิ่มขึ้นของการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญา ในประวัติศาสตร์ ในสังคมศาสตร์จากช่วงเจ็ดศูนย์เป็นต้นมา นักประวัติศาสตร์ในรุ่นของผม ซึ่งได้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงการสอนประวัติศาสตร์และเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ก็ช่วยกันหาทางสถาปนาจุดเชื่อมโยงถาวรระหว่างวิชาประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นความพยายามที่เอาเข้าจริงแล้วมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1890 เศรษฐกิจโลกเป็นไปในอีกทางหนึ่ง แต่เราไม่ใส่ใจมัน แล้วคิดไปว่าเรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นความจริงภววิสัย ถึงแม้ว่า (ตั้งแต่ในยุคของมาร์กซ์และสังคมวิทยาขององค์ความรู้) เราไม่ได้เพียงแค่บันทึกข้อเท็จจริงง่ายๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยม ซึ่งอันที่จริงแล้วเหล่ามาร์กซิสต์ไม่ได้เป็นพวกแรกที่เสนอเรื่องนี้ แต่เป็น Wilhelm Abel ที่เข้าไปศึกษาเศรษฐกิจของยุคกลางอีกครั้ง ด้วยการมองแบบที่ใช้มอง The Great Depression ในยุคสามศูนย์ คือพวกเราเป็นพวกมุ่งเปลี่ยนแปลง สนใจคำถามใหญ่ๆ และมีเรื่องที่พวกเราต่อต้าน คือ เราต่อต้านพวกจารีตนิยม ต่อต้านประวัติศาสตร์ของพวกชนชั้นนำ หรือประวัติศาสตร์ความคิด พวกเราปฏิเสธไม่พูดถึงเรื่องพวกนี้เลย และนี่ไม่ใช่วิธีวิทยาของมาร์กซิสต์โดยตรง แต่เป็นวิธีทั่วไปที่ใช้โดยพวกเวบเบอรเรียนในเยอรมนี หรือโดยนักวิชาการในฝรั่งเศสที่ไม่ได้ถูกฝึกมาทางสายมาร์กซิสต์ อย่างพวกที่อยู่ในสำนักอังนาเล่ (Annale) และนักสังคมศาสตร์อเมริกัน

ในช่วงหนึ่งของทศวรรษที่เจ็ดศูนย์ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ วารสาร Past & Present ตีพิมพ์บทความแลกเปลี่ยนระหว่างผมและ Lawrence Stone ระหว่างปี 1979-80 เรื่อง "การฟื้นคืนของ narrative" มีคำถามประเภทว่า "เกิดอะไรขึ้นกับคำถามว่า 'ทำไม'?" ตั้งแต่นั้นมา คำถามใหญ่ๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลงในภาพกว้าง การเปลี่ยนแปลงระยะยาวก็ถูกลืม ในขณะเดียวกัน ก็มีการขยายอย่างมากเรื่องหัวข้อการศึกษา ตอนนี้คุณสามารถเขียนเรื่องอะไรที่ต้องการ อะไรล่ะ วัตถุ อารมณ์ การปฏิบัติ หรืออะไรอื่นๆ ได้ทั้งหมด สิ่งนี้ก็น่าสนใจ แต่ว่าก็มีการเพิ่มขึ้นของอะไรบางอย่างที่เรียกว่า "fanzine history" คือเขียนประวัติศาสตร์เพื่อสนองความต้องการตัวเอง การทำแบบนี้ผมรู้สึกว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่ผลของมันก็น่าสนใจนะ วันก่อนผมเพิ่งเห็นวารสารประวัติศาสตร์แรงงานใหม่ ซึ่งมีบทความเกี่ยวคนดำในเวลส์ช่วงศตวรรษที่ 18 ไม่ว่าเรื่องนี้จะสำคัญขนาดไหนต่อคนดำในเวลส์แต่โดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นประเด็นหลัก สิ่งที่อันตรายที่สุดในเรื่องนี้ คือ การเกิดขึ้นของมายาคติชาตินิยม ที่รัฐใหม่สร้างขึ้น เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ชาติของตนเอง ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการประเภทที่ว่า เราไม่สนใจหรอกว่าประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร เราอยากฟังสิ่งที่เราต้องการได้ยินให้รื่นหูมากกว่า ตัวอย่างคลาสสิกคือคนอเมริกันพื้นเมืองที่ไม่ยอมเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากเอเชีย และบอกว่า "เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว"

การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นการเมือง นักประวัติศาสตร์หลังปี ค.ศ.1968 เลิกสนใจคำถามใหญ่ เพราะคิดว่าคำถามเหล่านี้ถูกตอบหมดแล้ว พวกเขาสนใจในแง่ระดับบุคคลมากกว่า วารสาร History Workshop ก็เป็นไปในกระแสนี้ ผมไม่คิดว่าประวัติศาสตร์แบบใหม่ๆ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลักใดๆ ผมยกตัวอย่างในฝรั่งเศสนะ ประวัติศาสตร์หลังโบรเดลไม่ได้สำคัญ ในหมู่นักประวัติศาสตร์รุ่นทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 นานๆ ทีจะมีงานที่ดีมากๆ ออกมา แต่ว่าโดยภาพรวมมันเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งผมคิดว่าในอังกฤษก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน มันมีการต่อต้านเหตุผลนิยมและความคิดสัมพัทธนิยมในยุคทศวรรษที่ 1970 ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลผมพบว่าไม่เป็นเรื่องดีต่อประวัติศาสตร์

ในอีกทางหนึ่ง มันก็มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งทางบวกที่สุดคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ซึ่งพวกเราละเลยไปหมด เราสนใจประวัติศาสตร์ที่ในฐานะที่มันผูกผันอยู่กับคนในประวัติศาสตร์น้อยเกินไป เราสมมติไปเองว่าเราเหมารวมเรื่องตัวละครในประวัติศาสตร์ได้ แต่ถ้าคุณจะบอกว่าคนเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์แล้วล่ะก็ เราก็ต้องถามต่อไปว่าเขาเขียนอย่างไร ในการปฏิบัติของพวกเขา ในชีวิตของพวกเขา หนังสือของอีริค วูล์ฟ (Eric Wolf) เรื่อง Europe and the People without History เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ดี นอกจากนี้ยังมีการเกิดขึ้นของวิชาประวัติศาสตร์โลกอย่างมาก ในหมู่คนที่ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ มีความสนใจในประวัติศาสตร์ทั่วไปที่เพิ่มขึ้นมาก เรื่องว่ามนุษยชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่ต้องขอบคุณการวิจัย DNA เวลานี้เราเริ่มจะรู้เรื่องการตั้งรกรากของมนุษย์ในที่ต่างๆ ของโลกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งเรามีฐานที่แข็งในการเขียนประวัติศาสตร์โลก ในหมู่นักประวัติศาสตร์ มีการย้ายออกจากมุมมองยุโรปและตะวันตกเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาด้านบวกอีกอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จากนักวิชาการอเมริกันและบางส่วนจากนักประวัติศาสตร์หลังอาณานิคม ก็คือการตั้งคำถามเรื่องความเฉพาะของอารยธรรมยุโรปหรือแอตแลนติกและการขึ้นมาของทุนนิยม หนังสือของ Kenneth Pomeranz เรื่อง The Great Divergence พูดถึงเรื่องนี้ สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าเป็นเรื่องบวก ถึงแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนนิยมสมัยใหม่โตขึ้นในยุโรปบางส่วน ไม่ใช่ในจีนหรืออินเดีย

ถ้าอาจารย์จะเลือกหัวข้อที่ยังไม่มีใครศึกษา ที่จะท้าทายต่อนักประวัติศาสตร์ในอนาคต อาจารย์จะเลือกหัวข้อไหน

ถ้าเป็นผม ผมก็อยากดูเรื่องที่กว้าง เผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่อัตราความเร็วก็แตกต่างไปตามที่ต่างๆ บางครั้งมันก็เคลื่อนย้ายอย่างเชื่องช้า บางครั้งก็รวดเร็ว บางครั้งถูกควบคุม บางครั้งก็ไม่ ชัดเจนว่านี่คือการพยายามควบคุมธรรมชาติ แต่เราไม่ควรคิดไปเองอย่างนั้น มาร์กซิสต์ถูกต้องที่มุ่งเน้นศึกษาที่การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต และความสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะสิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดในแบบที่ว่า "คนสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง" คำถามใหญ่คือ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชุมชนและระบบทางสังคมต่างๆ มุ่งสร้างเสถียรภาพ และการผลิต คนเราสร้างกลไกเพื่อควบคุมในสิ่งที่เราไม่รู้ หรือควบคุมไม่ได้ การต่อต้านการพลังแทรกแซงจากภายนอกยังเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองโลกในปัจจุบัน ของมนุษยชาติและสังคม ถ้าอย่างนั้น คำถามของผมเป็นอย่างนี้ มนุษย์จะจัดการโครงสร้างเพื่อสร้างความนิ่ง ในเมื่อเรื่องวิถีการผลิตโดยสารัตถะแล้วเป็นเรื่องไม่นิ่ง ไม่จบไม่สิ้น และไม่อาจคาดเดาได้อย่างไร นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์จะได้รับประโยชน์มาก หากเข้าไปศึกษาความขัดแย้งพื้นฐานนี้ : คือระหว่างกลไกที่มุ่งนำการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ก่อตัวเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำนำ: ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

Posted: 03 Oct 2013 07:46 AM PDT

คำนำสำนักพิมพ์

หนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง รวมบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่เขียนขึ้นระหว่างปี 2547 – 2555 ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ธงชัยได้คลี่ให้เห็น เค้าโครงประวัติศาสตร์ประชา – ธิปไตยไทย แบบเป็นกระแสซ้อนกัน โดยดูจากประวัติศาสตร์ ในช่วงยาว ซึ่งเริ่มจากการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงประชาธิปไตย แบบอำมาตย์ท่ามกลางวิกฤตการเมืองเหลือง – แดงที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ในสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนาน ธงชัยวิเคราะห์ให้เราเห็นการต่อสู้ต่อรองของผู้เล่นมากหน้าหลายตา ทั้งการปะทะกันระหว่างสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้า กับคณะราษฎรและผู้เอาใจช่วยระบอบใหม่ที่มีจุดยืนร่วมกันว่า"อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" เพื่อกำหนดสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปะทะกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายเสรีนิยมที่จบลงด้วยชัยชนะอย่างไม่กระโตกกระตากของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุน กับขบวนการพลเมืองซึ่งหันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมเจ้า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เล่นที่ธงชัยวิเคราะห์แจกแจงบทบาทไว้อย่างละเอียดและลุ่มลึกที่สุดก็คือสถาบันกษัตริย์ที่คนส่วนใหญ่มองว่ามีสถานะ "เหนือการเมือง"

กล่าวได้ว่า การวิเคราะห์วิพากษ์บทบาทสถาบันกษัตริย์ของธงชัยเป็นเสียงเตือนที่มาก่อนกาล ดังจะเห็นได้จากภาค 1 "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งทั้งหมดเขียนขึ้นก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ธงชัยชี้ให้เห็นว่า สถานะเหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองไทย และกำลังได้รับความเชื่อถือสูงยิ่งขึ้นเมื่อความไว้วางใจต่อรัฐสภาลดต่ำลงธงชัยเตือนหนักๆ  ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ความพยายามต่อสู้กับรัฐบาลบ้าอำนาจด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และยังแนะด้วยว่า จะข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาที่สถาบันกษัตริย์ได้ขึ้นมามีบทบาทนำมากขึ้นนั้นต้องมองให้ออกว่าประชาธิปไตยไทยเป็นระบบการเมืองแบบสามเส้า ได้แก่ มวลชน ทุนกับนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยม โดยมีสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ของฝ่ายเจ้าขึ้นจริงตามคาด ในภาค 2 "รัฐประหาร"นอกจากสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้าซึ่งถูกธงชัยวิพากษ์แล้ว บรรดาปัญญาชนทั้งหลายที่ทำตัวเป็นอภิชน pragmatists ให้การรับรองความชอบธรรมในการรัฐประหาร ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการวิพากษ์ด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้นอกจากบทความที่ "วิวาทะ" กับผู้สนับสนุนรัฐประหารแล้ว ในบทความ "ล้มประชาธิปไตย"ธงชัยได้ "ถอยออกมาหนึ่งก้าว" เพื่อชี้ให้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตย (Democratization) โดยแจกแจงวาทกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายเจ้าที่ปูทางมาสู่การรัฐประหารครั้งนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นการกลับมาของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย การปรับตัวจนกลายมาเป็นสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ และการเกิดขึ้นของลัทธิกษัตริย์นิยมที่เป็น "ประชาธิปไตย" พร้อมกับวิเคราะห์ให้เห็นด้านกลับของวาทกรรมทำการเมืองให้สะอาดของ "ภาคประชาชน" ที่เกื้อหนุนให้เกิดการรัฐประหารอีกด้วย

ขณะที่ภาค 3 "สังหารหมู่" ไม่แปลกที่จะมีลักษณะอัตวิสัย (subjective) ค่อนข้างสูง เพราะธงชัยเขียนในฐานะผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ 6 ตุลา และถูกกล่าวหาว่าจงใจให้เกิดความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นเพื่อก่อให้เกิดภาวะ "ตายสิบเกิดแสน"

บทความแรกเป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาของชนชั้นกลางชาวกรุงต่อเหตุการณ์คนเสื้อแดงบุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีฐานมาจากการครุ่นคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทมาเป็นเวลาหลายปี ขณะที่บทความหลังเป็นความพยายามทำความเข้าใจโศกนาฏกรรมสังหารหมู่คนเสื้อแดงตรงราชประสงค์และกระบวนการปรับแปลงลงเป็นประวัติศาสตร์หลังจากนั้น โดยมองผ่านหนังและวรรณกรรม กล่าวได้ว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวทำให้ธงชัย "เข้าใจ" แกนนำเสื้อแดงในฐานะ "มนุษย์" คนหนึ่ง

ในสภาวะปลายรัชกาลที่วิกฤตอันจะเกิดขึ้นจากการสืบราชสมบัติเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ภาค 4 "เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน" ซึ่งประกอบด้วยบทความ 3 ชิ้น ที่ย้อนกลับไปวิเคราะห์ถึงการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามโดยมีประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นแกนหลัก มาจนถึงสภาวะที่เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง"สถาบันกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านเครือข่ายกษัตริย์" ในปัจจุบัน ชัดอยู่แล้วว่าบทความดังกล่าวกำลังสื่อสารอะไรกับสังคมไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันกษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยม ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ "น้อยเกินไป สายเกินการณ์" เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์บ้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เจ็บปวดน้อยกว่าในท้ายที่สุด

ในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เรา –ฟ้าเดียวกัน– หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยวิธีวิทยาแบบประวัติศาสตร์หลากกระแสหลายมิติที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้แสดงให้เห็นในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้เราพึงตระหนักว่า การต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องถือว่าประชาธิปไตยมิใช่เพียงแค่เครื่องมือ (tool) แต่คือวิถีทาง (means) ที่เป็นจุดหมาย(end) และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมิใช่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายหรือม้วนเดียวจบแบบที่พูดๆ กัน แต่เป็นการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางที่ไม่สิ้นสุด และไม่เคยสมบูรณ์

 

ธงชัย วินิจจะกูล

คำนำ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ต้นปี 2548 ผู้เขียนได้รับการติดต่อให้เป็นองค์ปาฐกสำหรับปาฐกถา 14 ตุลาในปลายปนี นั้ ในขณะนั้นเป็นเวลาไม่ถึงปีหลังจากเขยีนบทความ "ชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง" เสร็จ ผู้เขียนจึงบอกกับผู้จัดไว้ล่วงหน้าว่าจะพูดประเด็นดังกล่าว เพราะขณะนั้นเริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างที่เป็นอยู่น่าจะเป็นปัญหา และก่อนหน้าปาฐกถาเพียงไม่กี่เดือนก็ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวเริ่มปะทุขึ้นมาจริงๆ ในระยะนั้นรวมทั้งปาฐกถา 14 ตุลาปีนั้นผู้ขยีนจึงได้ย้ำเตือนผู้ที่สนใจ  ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยให้ระวังพวกกษัตริย์นิยมหรือพวกเจ้าในการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง

ปาฐกถาคราวนั้นผู้เขียนร่างและส่งให้ผู้จัดงานตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยเหมือนกับปาฐกถา 14 ตุลาในปีอื่น ๆ แต่กลับปรากฏว่าก่อนวันงาน หนังสือ ดังกล่าวที่ตี พิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วถูกดึงออกไปให้นักกฎหมายดูก่อนว่า ผู้เขียนพูดอะไรเกินเลยหรือมีสิทธิ์จะก่อปัญหาทางกฎหมายหรือไม่ ถึงแม้ว่านักกฎหมายดูแล้วบอกว่าไม่เป็นปัญหาอะไร แต่กลับปรากฏว่าหนังสือปาฐกถาดังกล่าวในปี 2548 นั้น เป็นหนังสือเล่มเดียวในประวัติ ปาฐกถา 14 ตลุาที่ถูกดึงเอาไว้และไม่เผยแพร่แจกจ่ายในเช้าวันงานลงท้ายจึง เป็นปาฐกถาที่ผู้เข้าร่วมงานไม่มีโอกาสได้เห็นตัวบทไม่ว่า ก่อนหรือหลังวันงานทั้งที่ตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้น ก่อนวันกล่าวปาฐกถาเพียงหนึ่งหรือสองวันก็มีคำขู่มาจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามยุคใหม่ว่า ให้ระวังไว้ให้ดีว่าจะพูดอะไร เป็นคำกล่าวเตือนในแบบเพื่อนฝูงเก่าๆ แต่ในขณะนั้นไม่ต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างมากมายก็พอดูออกแล้วว่า เหตุร้ายนั้นคงไม่ได้มาจากใครหรอก นอกจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามยุคใหม่ นั่นเอง ผู้เขียนเดินอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้นสองสามวัน จึงต้องมีบอดีการ์ดอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มาทำงานอยู่ต่างประเทศที่ขณะเดินเข้าประตูเครื่องบิน ผู้เขียนรู้สึกโล่งใจและรู้สึกอย่างเต็มที่ว่าเรากำลังจะกลับ "บ้าน" หมายความว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่เมื่อออกจากประเทศไทยกลับไปสหรัฐอเมริกาผู้เขียนรู้สู้กว่ากำลังจะกลับสู่ที่อบอุ่นกว่า ปลอดภัยกว่าอย่างเต็มที่ทั้งที่ไม่เคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลยตลอดเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา

บทความในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นระหว่างปี 2547-2555 หลายชิ้นเขียนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์หรือความเข้าใจเบื้องต้นซึ่งไม่ชัดเจนนักต่อสถานการณ์หนึ่งๆก่อนจะกลับชัดเจนขึ้นในเวลาต่อมา แต่ผู้เขียนต้องการคงเนื้อความตามที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นเป็นส่วนใหญ่ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่ไม่สำคัญเช่น แก้ไขสำนวนหรือถ้อยคำต่างๆ จำนวนหนึ่ง แต่ข้อวิเคราะห์หรือความเห็นต่างๆที่สำคัญในบทความเหล่านั้นจะคงไว้ดังเดิมตามที่เขียนไว้แต่ครั้งแรก

เราจะเห็นได้ว่า ความเห็นหรือข้อวิจารณ์บางตอนก็ดูฉลาดหรือเข้าท่าดี ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์นั้นในเวลาต่อมาได้ บางอย่างก็ดูเขลาหรือดูตื้นเขินหรือคาดการณ์ผิดๆ ก็มี บทความอย่างเช่น "เชื้อร้าย : เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง" เขียนขึ้นในเวลาสั้นมาก คือเสร็จในวันเดียวขณะที่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุม นปช. บุกโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่กลับมีพื้นฐานมาจากการที่ผู้เขียนครุ่นคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทมาเป็นเวลาหลายปี เพราะฉะนั้นบทความที่เขียนในวันเดียวกลับสามารถมีนัยหรือมีความหมายให้เข้าใจความขัดแย้งหรือวิกฤตที่ผ่านมามากอย่างที่ผู้เขียนก็ไม่ตระหนักในขณะนั้น แต่ว่าบางบทความ อย่างเช่น "ชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง" เขียนขึ้นก่อนที่จะคาดการณ์หรือล่วงรู้ว่าจะมีวิกฤตการณ์ต่อเนื่องมาจากระบอบการเมืองดังกล่าว

บทความส่วนมากในเล่มนี้เป็นความพยายามถอยออกมาหนึ่งก้าว เพื่อมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมุมมองระยะยาวๆ ทางประวัติศาสตร์ พยายามวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลายาวๆ ชนิดที่ความคิดเห็นสาธารณะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้ามักมองไม่เห็น ในทางกลับกัน บทความเรื่อง "สัมฤทธิผลนิยม(pragmatism) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ไม่ต้องการให้เป็นข้อเขียนทางทฤษฎีหรือวิชาการแต่อย่างใดเลย แต่เป็น polemic หรือเป็นบทความต่อปากต่อคำกับความคิดเห็นที่แพร่หลายหลังรัฐประหาร 2549 โดยต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ความคิดทางการเมืองของหลายคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร เอาเข้าจริงเป็นการคิดสั้นๆ คิดเพื่อหวังผลในระยะสั้น ผู้เขียนพยายามทิ้งประเด็นสำคัญจำนวนหนึ่งไว้ด้วยในทุกๆ บท ซึ่งหวังว่าจะมีผู้หยิบยกมาอภิปรายหรือพัฒนาขึ้นในเวลาต่อไป รวมทั้งตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดในหลายประเด็นเหล่านั้นเลยต่อไปจากหนังสือเล่มนี้ ตัวอย่างเช่นเรื่อง hyper-royalism ซึ่งจะขยายความในโอกาสอื่นต่อไป

อันที่จริงผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ไม่เคยค้นเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับช่วง 2475 ถึงปัจจุบันอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นอาชีพผู้เขียนเป็นเพียงผู้ศึกษาและสังเกตการณ์ทางการเมืองซึ่งได้เรียนรู้หลายเรื่องจากงานศึกษาของคนอื่น บทความในเล่มนี้จึงนำเอาสิ่งที่หลายท่านศึกษามาใช้ในการช่วยคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่และช่วยคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ในระยะใกล้ลองเสนอคำอธิบายและการตีความแบบใหม่ๆ ทั้งในฐานะของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นระยะๆ

หลายท่านอาจเห็นว่าการที่ผู้เขียนอยู่นอกสังคมไทยเป็นข้อดี หลายท่านเห็นเป็นข้ออ่อน ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องภายนอกภายในต่างมีข้อดีข้ออ่อนไปต่างๆ กัน คำกล่าวที่ว่า คนนอกไม่รู้เรื่องหรอก จะไปรู้ดีกว่าคนไทยได้อย่างไร เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร คำกล่าวที่ว่า คนนอกเห็นแง่มุมที่ต่างจากคนในประเทศ อาจได้รับข่าวสารมากกว่าคนที่อยู่ในประเทศเสียอีก อันนี้ก็ไม่จริงนักขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรเช่นเดียวกัน และขึ้นอยู่กับคำถามหรือกรอบการคิดการวิเคราะห์ในเรื่องหนึ่งๆ ด้วย ดังนั้น ผู้ เขียนจะไม่ขออวดอ้างว่า หนังสือ เล่ม นี้ดีเด่นเพราะเป็นการมองจากข้างนอก และต้องขอแย้งไว้ล่วงหน้าหากมีคนทึกทักล่วงหน้าว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าเชื่อถือเพียงเพราะผู้เขียนไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ผู้เขียนคงขอแย้งความเห็นทั้งสองขั้วดังกล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์ในคราวสงกรานต์เลือดปี 2552 ผู้เขียนเฝ้าดูการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงอยู่ห่างออกไปครึ่งโลก ฟังคำปราศรัยทุกๆ คำของคุณวีระ มุสิกพงศ์ในยามที่เฝ้ารอกองกำลังฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ามา ผู้เขียนคงไม่สามารถบอกได้ว่าเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมด แต่ในทางกลับกัน กล้าบอกว่าเข้าใจบรรดาผู้นำการชุมนุมในครั้งนั้น ปี 2553 ก็เช่นกัน ผู้เขียนจดจ่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ผู้นำการชุมนุมขึ้นไปอยู่บนเวทีขณะที่มีการล้อมปราบอย่างหนัก จนถึงนาทีที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว

กล้องจับนิ่งอยู่แต่ภาพเวทีที่ว่างเปล่าและมีเสียงปืนระดมยิงอยู่เป็นฉากหลัง ในขณะนั้นผู้เขียนพอนึกออกและเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ หรืออยู่ร่วมในสถานการณ์ที่ราชประสงค์ด้วยตัวเองแต่อย่างใด

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์พัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยในมุมมองที่กว้างขึ้น ยาวไกลกว่าเดิม และแตกต่างจากความคิดเห็นที่แพร่หลายครอบงำสังคมไทยอยู่ ถึงแม้ว่าฝุ่นของประวัติศาสตร์จะไม่มีวันสงบอย่างสมบูรณ์เลยก็ตาม

สุดท้าย ในระหว่างเขียนบทความชิ้นต่างๆ ผู้เขียนได้รับการช่วยเหลือ ข้อคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนมาก และขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อคุณธนาพล ลิ่มอภิชาติ ประจักษ์ ก้องกีรติและธนาพล อิ๋วสกุล ในการช่วยค้นคว้าและจัดทำต้นฉบับของบทความ "ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา" คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ สำหรับการแปลบทความ "รัฐประหารของฝ่ายเจ้ากับแรงจูงใจซ่อนเร้น" "ล้มประชาธิปไตย" "สถาบันกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านเครือข่ายกษัตริย์ : ช้างสองตัวในห้องการเมืองไทยกับสภาวะปฏิเสธความเป็นจริง"  คุณพงษ์เลิศ  พงษ์วนานต์ สำหรับการแปลบทความ "เชื้อร้าย : เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง" และคุณไอดา อรุณวงศ์ สำหรับการแปลบทความ "วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดสั้น"

 

สารบัญ

 

 

ที่มา: http://www.sameskybooks.net

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮัสซันยืนยัน BRN แทคทีมใหม่ 15 คน ยกระดับสู่การเจรจา

Posted: 03 Oct 2013 07:44 AM PDT

ฮัสซันให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น ยัน BRN รวมกลุ่มใหม่ 15 คน มุ่งเจรจา แจงละเอียดยิบ'สิทธิความเป็นเจ้าของ' ย้ำข้อเรียกร้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไทย ยังไม่คุยเรื่องเขตปกครองพิเศษจนกว่าการพูดคุยสันติภาพจะมีเสถียรภาพ
 
วันที่ 2 ก.ย.56 เมื่อเวลา 21.00 น.รายการโลกวันนี้ สถานีวิทยุร่วมกันช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) ออกอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คลื่น 91.50 MHz และเว็บไซต์ www.rdselatan.com ถ่ายทอดบันทึกเสียงสัมภาษณ์ของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการ BRN ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย โดยนายฮัสซันให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันที่ประเทศมาเลเซีย
 
นายฮัสซัน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอกสาร 38 หน้าของ BRN ที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN ที่ส่งให้ตัวแทนฝ่ายไทย
 
นายฮัสซัน ระบุว่า การที่ BRN อ้างเรื่องเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยากับกรุงเทพมหานครในเอกสาร 38 หน้าดังกล่าวนั้น ไม่ได้ความหมายว่า BRN ต้องการให้มีการปกครองพิเศษเหมือนกับเมืองพัทยาหรือกรุงเทพมหานคร แต่สิ่งที่ BRN เรียกร้อง คือ "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Right of Self Determination) ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย"
 
นายฮัสซัน ยืนยันว่า ปัจจุบัน BRN จะยังไม่พูดคุยประเด็นเขตปกครองพิเศษในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย เนื่องจากการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ ทั้งนี้ BRN จะพูดคุยประเด็นนี้ก็ต่อเมื่อการพูดคุยสันติภาพมีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
 
 
แทคทีม 15 คนเดินหน้าสู่การเจรจา
 
นายฮัสซัน กล่าวว่า หากรัฐไทยจะเดินหน้าพูดคุยสันติภาพกับ BRN ต่อไป ทาง BRN จะดำเนินการ ดังนี้
 
1.BRN จะดำเนินการพูดคุยสันติภาพต่อไปภายใต้กรอบของฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ (GENERAL CONSENSUS ON PEACE DIALOGUE PROCESS) ที่ลงนามเมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 และจะมีการพูดคุยสันติภาพตามตารางที่แนบไว้กับเอกสาร 38 หน้า
 
2.การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 5 นี้ (ครั้งต่อไป) BRN จะมีการเปลี่ยนคณะพูดคุยสันติภาพ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพต่อไปด้วยหรือไม่
 
3.การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 5 นี้ BRN จะมีคณะพูดคุยสันติภาพ 15 คน มาจาก ตัวแทน BRN จำนวน 4 คน ตัวแทนองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (PULO) 2 คน ตัวแทนจากขบวนการแนวร่วมอิสลามเพื่อปลดปล่อยปาตานี (BIPP) 1คน นักประวัติศาสตร์ 1 คน นักเศรษฐศาสตร์ 1 คน นักกฎหมาย 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ 3 คน ตัวแทนนักเคลื่อนไหว 1 คน และตัวแทนนักศึกษา 1 คน ซึ่งคณะพูดคุยสันติภาพชุดนี้นำโดย BRN
 
4.BRN พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องขั้นตอนและมาตรการลดปฏิบัติการความรุนแรง
 
5.BRN ยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดน
 
6.ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN เป็นประเด็นสำคัญในการพูดคุยสันติภาพต่อไป เพื่อจะยกระดับการพูดคุยสันติภาพเป็นการเจรจาในอนาคต เพื่อนำไปสู่การวางอาวุธของทั้ง 2 ฝ่าย และนำไปสู่การลงนามสันติภาพ (Peace Agreement) ของทั้ง 2 ฝ่าย
 
 
ย้ำข้อเรียกร้องทั้งหมดอยู่ใต้รัฐธรรมนูญไทย
 
นายฮัสซัน กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ที่ว่าด้วย "สิทธิความเป็นเจ้าของชาวมลายูปาตานี" มีใจความสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของชาวมลายูปาตานี ดังนี้ 1.สิทธิขั้นพื้นฐานและความยุติธรรมสำหรับสังคมมลายูปาตานี 2.รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิของชาวมลายูปาตานี
 
3.สิทธิในการปกครองด้วยตนเอง รวมเป็นถึงสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม และ 4.รัฐไทยต้องให้โอกาสและเปิดช่องทางแก่ชาวมลายูปาตานี ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลาได้ปกครองตนเอง
 
"ข้อเรียกร้องทั้งหมดอยู่ภายใต้ของกรอบรัฐธรรมนูญไทย ปี 2550" นายฮัสซัน กล่าว
 
 
คำอธิบาย 'สิทธิความเป็นเจ้าของ'
 
นายฮัสซัน กล่าวด้วยว่า สำหรับคำอธิบายของข้อเรียกร้องข้อที่ 4 มีดังนี้ 1.รัฐบาลต้องยอมรับว่า สังคมมลายูปาตานีเป็นประชาคมซึ่งมีเอกภาพและเป็นประเด็นที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาของประเทศไทย
 
2.รัฐต้องยอมรับว่า ในประวัติศาสตร์ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เคยเป็นรัฐอิสลามมาก่อน ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้อาศัยเป็นชาวมลายูปาตานีที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ดั้งเดิมและถูกสยามยึดไปในปี ค.ศ.1786
 
ดังนั้นตามข้อเท็จจริงนี้ ประชาคมมลายูปาตานีสามารถที่จะเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของได้ ขณะเดียวกันรัฐไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิความเป็นเจ้าของในดินแดนปาตานีแห่งนี้ และต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในรัฐสภาของไทยด้วย
 
3.BRN ยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน และเรื่องนี้ต้องเข้าพิจารณาในรัฐสภาด้วย และ 4.เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของของมลายูปาตานี ต้องมีการพูดคุยอย่างละเอียดกันต่อไป เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกัน ซึ่งมีประเด็นด้วยกัน 7 ข้อ
 
 
ประเด็นที่ต้องคุย รวม"เขตปกครองพิเศษ"
 
นายฮัสซัน กล่าวว่า สำหรับเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของของมลายูปาตานี มีประเด็นที่ต้องพูดคุยด้วยกัน 7 ประเด็น ดังนี้ 1.ต้องยอมรับสถานะของประชาคมมลายูปาตานี 2.เขตปกครองพิเศษ (Special Administration Region)
 
3.ต้องมีตัวแทนพิเศษที่เป็นชาวมลายูปาตานีในรัฐสภาไทย 4.ผู้ว่าราชการในพื้นที่ต้องเป็นคนมุสลิมมลายูปาตานี โดยมีรองผู้ว่าฯ 2 คน โดยเป็นตัวแทนคนไทยพุทธ 1 คนและตัวแทนจากส่วนกลางอีก 1 คนที่เป็นมุสลิม
 
5.ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาสให้มีหัวหน้าตำรวจระดับจังหวัดเป็นชาวมลายูปาตานี รวมถึงตำรวจส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นชาวมลายูปาตานีด้วย 6.ข้าราชการในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องเป็นชาวมลายูปาตานี
 
7.กอฏีหรือดาโต๊ะยุติธรรมและสำนักงานกอฎีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา ปัตตานี และสงขลา ต้องมีหน้าที่ดูแลกิจการศาสนาอิสลามในพื้นที่ ส่งเสริมเรื่องหลักศรัทธา การใช้กฎหมายอิสลามจริยธรรมและการศึกษาอิสลาม
 
8.สื่อวิทยุและโทรศัพท์ต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอ ต้องสนับสนุนให้มีหนังสือพิมพ์ นิตยสารภาษามลายูอักษรยาวีด้วย
 
และ 9.ภาษีที่เก็บได้จากชาวมลายูปาตานีรัฐต้องส่งคืนให้ชาวมลายูปาตานี เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางแก่พื้นที่อย่างเท่าเทียมกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเผยแพร่เทปดังกล่าวแล้ว ทางสถานีวิทยุได้เปิดสายให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น ปรากฏว่ามีผู้เข้าสาย 26 สาย ส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นพ้องกับข้อเรียกร้องของนายฮัสซัน โดยมีบางส่วนแสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ข้อเสนอของ BRN เป็นเรื่องที่คลุมเครือ แต่การอธิบายของนายฮัสซันครั้งนี้ได้ให้ความกระจ่างมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ผู้แสดงความเห็นยังแสดงความเป็นกังวลต่อท่าทีของฝ่ายไทยว่า จะมีความจริงใจในการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพมากน้อยเพียงใด บางคนยังไม่มั่นใจว่ารัฐจะเปิดเวทีรับฟังชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา
 
ล่าสุด นายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เปิดเผยว่า ในคืนวันนี้ (3 ต.ค.) เวลา 21.00 น.ทางสถานีได้รับการตอบรับจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายทางการไทย ให้เข้าสายสัมภาษณ์สด เพื่อให้ภาพรวมของการพูดคุยสันติภาพในขณะนี้ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของนายฮัสซันที่ให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นจะเปิดสายให้ผู้ฟังรายการได้เสนอประเด็นความคาดหวังต่อการพูดคุยสันติภาพในปัจจุบัน
 
 
ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN
 
1.การพูดคุยสันติภาพเป็นการพูดคุยของขบวนการต่อสู้ปาตานี โดยการนำของBRNกับรัฐบาลไทย
2.BRN เห็นด้วยกับการให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการพูดคุยสันติภาพ
3.ตลอดระยะเวลาการพูดคุยต้องมีตัวแทนของอาเซียน โอไอซีและเอ็นจีโอเป็นสักขีพยาน
4.รัฐบาลไทยต้องยอมรับความเป็นเจ้าของการเป็นชนชาติมลายูบนแผ่นดินปาตานี
5.รัฐบาลไทยต้องให้อิสรภาพแก่นักต่อสู้ปาตานีและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านในอิตาลี ประท้วงต้านเสาสัญญาณคลื่นความถี่สูงของกองทัพสหรัฐฯ

Posted: 03 Oct 2013 07:14 AM PDT

ชาวเมืองนิสเซมี ในเขตปกครองตนเองซิซิลี ประเทศอิตาลี ประท้วงต่อต้านระบบสื่อสารดาวเทียมด้วยคลื่นความถี่สูงของสหรัฐฯ เกรงกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลแตกต่างกันในเรื่องนี้ แต่แนะว่าควรศึกษาเพิ่มเติมหลังติดตั้งแล้ว
 
2 ต.ค. 2013 - สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเรื่องประชาชนในเขตปกครองตนเองซิซิลี ประเทศอิตาลี ประท้วงการก่อสร้างระบบสื่อสารดาวเทียมสำหรับผู้ใช้แบบพกพา (Mobile User Objective System - MUOS) ของกองทัพสหรัฐฯ ในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวเมือง โดยชาวเมืองนิสเซมีได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า หลายร้อยฉบับเพื่อให้ระงับโครงการนี้
 
ทางการสหรัฐฯ มีแผนสร้างระบบ MUOS ในสถานีส่งสัญญาณฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในเมืองนิสเซมี โดยในฐานทัพดังกล่าวมีเสาสัญญาณตั้งอยู่ 44 เสานับตั้งแต่ปี 1991 มีอยู่ 21 เสาที่ยังคงใช้การได้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารทางการทหารของสหรัฐฯ
 
ผู้ประท้วงเริ่มต่อต้านโครงการสร้าง MUOS มาตั้งแต่หลายเดือนก่อนจนถึงบัดนี้ โดยมีการเดินขบวนและปิดกั้นทางไม่ให้รถขนวัสดุก่อสร้างเข้าไปในฐานทัพสหรัฐฯ
 
โดยในวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มสตรีที่เรียกตัวเองว่า "มารดาผู้ต่อต้าน MUOS" พากันแต่งชุดขาวเดินขบวนไปตามท้องถนนในเมืองปาแลร์โม พร้อมถือป้ายเขียนว่า "เด็กๆ ของพวกเราไม่ใช่หนูทดลองของพวกคุณ"
 
เมื่อไม่นานมานี้ยังมีผู้ชุมนุมราว 2,000 คน รวมตัวกันที่เมืองปาแลร์โม กล่าวหาว่าโรซาริโอ ครอกเซต้า ผู้นำเขตปกครองตนเองซิซิลีทรยศต่อประชาชนของตัวเอง จากการที่เขายกเลิกการสั่งห้ามการก่อสร้าง MUOS ซึ่งครอกเซตต้าบอกว่า เรื่องนี้เป็นการตกลงของทางรัฐบาลกลางอิตาลีและเขาไม่มีส่วนสั่งการให้มีการก่อสร้าง
 
ประชาชนในซิซิลีกังวลต่อความเสี่ยงเรื่องสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสคลื่นสัญญาณความถี่สูง โดย ดร.มาสซิโม ซูเคทตี ศาตราจารย์ผู้ศึกษาเรื่องการป้องกันคลื่นรังสีจากมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคแห่งตูรินและผู้ช่วยวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ได้ทำการวิเคราะห์พบว่าการติดตั้งเครื่องรับส่งสัญญาณคลื่นความถี่สูงส่งผลต่อความเสี่ยงเรื่องสุขภาพของผู้คนรวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เนื่องจากการรบกวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
 
ขณะที่ ผลการวิจัยโดยสถาบันสุขภาพของอิตาลี (ISS) ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือน ม.ค. และเสนอรายงานผลเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในพื้นที่จะส่งผลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม มีการเสนอว่าควรดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไปอีก โดยเฉพาะหลังจากที่มีการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว
 
ทางด้านโฆษกสถานทูตสหรัฐฯ สตีเฟน แอนเดอสัน กล่าวว่าเรื่องที่ประชาชนซิซิลีกังวลไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยอ้างว่าในสหรัฐฯ เองก็มีการติดตั้งระบบแบบเดียวกันซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชนมากกว่าของกรณีนิสเซมี แต่ก็ไม่มีรายงานเรื่องผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมจากชุมชนละแวกนั้น
 
 
ทำไมสหรัฐฯ ต้องติดตั้งระบบ MUOS
 
อนึ่ง ระบบ MUOS จะช่วยให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถสื่อสารและส่งข้อมูลมัลติมีเดียไปยังฐานทัพทั่วโลกได้ ซึ่งจนถึงบัดนี้ทหารสหรัฐฯ ยังต้องใช้วิธีการถือเสารับสัญญาณในที่โล่ง เพื่อเชื่อมต่อกับระบบดาวเทียมทำให้เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากศัตรู
 
สหรัฐฯ มีความพยายามติดตั้ง MUOS ทั้งหมด 4 แห่ง โดยสองแห่งแรกติดตั้งใกล้กับเมืองเชสพีก รัฐเวอร์จิเนียและเมืองโฮโนลูลูในฮาวาย แหล่งที่สามกำลังสร้างใกล้กับเมืองเจอราลตัน ประเทศออสเตรเลีย
 
โดยสถานีส่งสัญญาณฐานในนิสเซมีเป็นส่วนหนึ่งของฐานทัพการบินนาวีในซิโกเนลลาซึ่งถูกเลือกให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ เขตปกครองตนเองซิซิลีซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลายเป็นพื้นที่สำคัญของกองทัพนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 
 
แอนเดรีย คาราตี ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยการเมืองนานาชาติของอิตาลีกล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ 'อาหรับสปริง' ภูมิภาคตะวันออกกลางกลายเป็นพื้นที่ขาดเสถียรภาพ ทำให้กลุ่มประเทศนาโต้กังวลในเรื่องนี้มากขึ้น โดยนอกจาก MUOS แล้ว ฐานทัพซิโกเนลลายังมีแผนการติดตั้ง 'ระบบสอดแนมภาคพื้นดินของกลุ่มประเทศพันธมิตร' (Alliance Ground Surveillance: AGS) ซึ่งจะทำให้นาโต้สามารถปฏิบัติการสอดแนมในวงกว้างโดยใช้อากาศยานไร้คนขับภายใต้สภาวะอากาศและแสงแบบใดก็ได้
 
ต่อความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ นายกเทศมนตรีฟรานเซสโก ลา โรซ่า ได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อศาลปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขอให้ยับยั้งการสร้างเสาสัญญาณ ซึ่งจะมีการตัดสินคดีนี้ในวันที่ 10 ต.ค. โดยที่ศาตราจารย์ มาร์เซลโล ดิอามอร์ ที่ปรึกษาของศาลปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวว่า ปัญหาของกองทัพสหรัฐฯ ในเรื่องนี้คือการที่พวกเขาไม่มีข้อมูลที่มีเนื้อหาครอบคลุมเพียงพอ คือไม่มีข้อมูลการจำลองสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกต้องแม่นยำ
 
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Idyllic Italian town protests US army base, Michele Bertelli and Rosario Sardella, Aljazeera, 02-09-2013
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'One for Ten' สารคดีสั้น เล่าชีวิตคนบริสุทธิ์แดนประหารในอเมริกา

Posted: 03 Oct 2013 05:27 AM PDT

ผู้กำกับหนังสั้นสี่คน ด้วยเวลาห้าสัปดาห์ ออกเดินทางไปสิบเมืองในสหรัฐ ตะลุยสัมภาษณ์ผู้บริสุทธ์อดีตเหยื่อแดนประหาร พร้อมๆ กับถ่ายทำ-ทวีตสด-ตัดต่อ-ขึ้นยูทูบ เพื่อให้คนดูมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนัง และเข้าใจปัญหาของ "โทษประหารชีวิต" 

 
"One for Ten" หรือ "หนึ่งจากสิบ" เป็นชื่อโครงการหนังสั้นสิบเรื่อง ที่ทำโดยทีมผู้กำกับชาวอังกฤษและอเมริกันสี่คน ซึ่งออกเดินทางทั่วสหรัฐอเมริกาไปยังสิบเมืองภายในห้าสัปดาห์ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของอดีตนักโทษแดนประหาร ที่ภายหลังพบว่าบริสุทธิ์ และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตไปด้วยความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรมที่ต่างๆ กัน โดยที่มาของชื่อหนัง "หนึ่งจากสิบ" มาจากสถิติจำนวนผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งหมดในอเมริกา 1,323 คน ตั้งแต่ปี 1976 (พ.ศ. 2519) ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ หลังจากหยุดสั้นๆ เป็นเวลาสี่ปี และมีผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง 142 คน
 
ภาพยนตร์สั้นสิบเรื่อง เรื่องละ 5 นาที บอกเล่าชีวิตของคนอย่าง เคิร์ค บลัดสเวิร์ธ ชายวัย 50 กว่าๆ จากรัฐแมรี่แลนด์ ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า เนื่องจากเกิดเหตุฆาตกรรมข่มขืนของเด็กสาวอายุ 9 ขวบในบริเวณละแวกบ้านของเขาเมื่อปี 1984 และจากหลักฐานภาพวาดที่ตำรวจได้จากคำบอกเล่าของเด็กชายทั้งสองคน ก็ไปมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับบลัดสเวิร์ธ ทำให้เขาถูกจับกุมและดำเนินคดีในศาล เนื่องจากเขาไม่มีพยานแวดล้อมที่หนักแน่น ทำให้เขาถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า 
 
"ผมพยายามตะโกนบอกว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่มันก็เหมือนว่าคุณอยู่คนเดียวในห้องเก็บเสียง ที่ทั้งตะโกน ทั้งทุบผนัง แต่คนที่เดินผ่านไปผ่านมา เขาไม่ได้ยิน ไม่สนใจคุณ" บลัดสเวิร์ธกล่าวในภาพยนตร์
 
หลังจากที่เขาอยู่ในคุกมา 8 ปี เขาได้ไปอ่านเจอในหนังสือว่า มีการพลิกคดีฆาตกรรมคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยได้นำหลักฐานไปพิสูจน์ดีเอ็นเอ ทำให้เขากลายเป็นผู้บริสุทธิ์ บลัดสเวิร์ธจึงผลักดันให้ทนายของเขานำร่องรอยอสุจิที่ตำรวจเก็บไว้ ไปพิสูจน์หลักฐานดีเอ็นเอ ซึ่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา ทำให้บลัดสเวิร์ธถูกปล่อยตัวในปี 1993 หลังจากเขาอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 9 ปี เขาเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกทำให้พ้นผิดจากโทษประหารชีวิตด้วยหลักฐานทางดีเอ็นเอ
 


ภาพยนตร์สั้นกรณีของเคิร์ค บลัดสเวิร์ธ (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย เลือก CC และเลือก Thai)

วิล ฟรังโครม ผู้กำกับหนังกล่าวถึงที่มาของชื่อเรื่องว่า มาจากสถิติที่ว่าทุกๆ สิบคนที่ถูกตัดสินประหารในอเมริกา จะมีหนึ่งคนที่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง
 
"เราอยากให้คนที่แม้จะสนับสนุนโทษประหารชีวิต มองเห็นปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมผ่านหนังเรื่องนี้" ฟรังโครมกล่าว 
 
ฟรังโคม ซึ่งเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด ออกเดินทางกับทีมงานอีกสามคนในกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเช่ารถบ้านเคลื่อนที่หรือรถอาร์วี เดินทางทั่วสหรัฐอเมริการาว 8,000 กิโลเมตร เพื่อเดินทางไปแต่ละเมืองสำหรับกรณีต่างๆ โดยตั้งเป้าการผลิตหนังสั้นนี้สัปดาห์ละสองเรือง ทั้งหมดสิบเรื่อง ใช้เวลาห้าสัปดาห์ โดยผู้คนที่ผู้กำกับเลือกสัมภาษณ์สิบคน จะสะท้อนความผิดพลาดของการมีโทษประหารชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินประหารชีวิต
 
ในขณะที่เขาสัมภาษณ์ผู้คนในเรื่องราว ทีมงานของเขาก็จะทวีตคำให้สัมภาษณ์ออกไปแก่ผู้ที่ติดตาม เพื่อให้คนดูสามารถส่งคำถามเข้ามาร่วมสัมภาษณ์ได้ หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ พวกเขาจะออกรถเดินทางไปยังจุดต่อไปทันที พร้อมๆ กับถอดเทป และตัดต่อฟุตเทจที่ได้มาบนรถบ้านขนาดยาว 9 เมตรขณะอยู่บนถนน เมื่อตัดต่อเสร็จ ก็จะโพสต์วีดีโอขึ้นยูทูบ พร้อมทั้งโพสต์สคริปต์สัมภาษณ์ขนาดเต็ม และฟุตเทจสัมภาษณ์ทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ oneforten.com เพื่อให้สาธารณะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยที่ผ่านมา ก็มีนักรณรงค์ หรือครู นำเอาวัตถุิบเหล่านี้ไปใช้สอนต่อด้วย
 
"เราอยากทำโปรเจคที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นโปรเจคที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ต้น เราจึงคิดถึงการทำสารคดีที่มีปฏิสัมพันธ์ หรือ 'สารคดีที่เป็นประชาธิปไตย' ที่ทำให้คนดูเป็นส่วนหนึ่งของมันได้" ฟรังโคมกล่าว  
 

วิล ฟรังโครม (ซ้าย)  และมาร์ค พิซซี่ (ขวา) ทีมผู้กำกับภาพยนตร์ One for Ten
 
เมื่อถามถึงอะไรเป็นสิ่งที่เขารู้สึกสะดุดใจที่สุดจากการทำหนังสั้นโครงการนี้ ฟรังโครมบอกว่า เขาเห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีทนายที่แย่ หรือการเหยียดสีผิวในการดำเนินคดี
 
"มันแสดงให้ผมเห็นว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดแล้วเกิดอีก และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมช็อคมากที่สุด" เขากล่าว 
 
ทั้งสิบกรณี เผยให้เห็นถึงคนอเมริกัน ต่างเพศ ต่างเชื้อชาติ ต่างช่วงปี ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากความผิดพลาดที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ คณะลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ในขณะที่จำเลยเป็นคนผิวดำ อย่างกรณีของแคลเรนซ์ แบรนด์ลีย์ ภารโรงผิวดำวัย 60 เศษ ซึ่งถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 1981 จากกรณีการฆาตกรรมเด็กหญิงอายุ 16 ปี เขาถูกจับกุมจากตำรวจเพราะเป็นคนผิวดำ และการให้ปากคำที่มีพยานหลักฐานไม่ชัดเจน 
 
เขาถูกไต่สวนโดยคณะลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวทั้งคณะ และถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม 6 ปีถัดมา ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวใหม่ ด้วยมองว่าแบรนด์ลีย์ไม่ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม หนึ่งในผู้พิพากษาคดีนี้ เขียนในคำแถลงว่า "ไม่เคยมีคดีไหนมาก่อนที่แสดงถึงอคติทางเชื้อชาติที่น่าตกใจขนาดนี้ รวมถึงการให้การเท็จ การข่มขู่พยาน และการสอบสวนที่ตั้งธงเอาไว้แล้ว"
 
การพิจารณาคดีใหม่ แสดงให้เห็นว่าหลักฐานที่เอาผิดแบรนด์ลีย์นั้นอ่อนเกินไป ทำให้เขาพ้นความผิดและปล่อยตัวในปี 1990 เก้าปีหลังจากที่เขาอยู่ในเรือนจำรัฐเท็กซัส เขาระบุว่าจนถึงทุกวันนี้ เขายังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ จากรัฐ
 


ภาพยนตร์สั้นกรณีขอแคลเรนซ์ แบรนด์ลีย์ (มีซับไตเติ้ลภาษาไทย)

นอกจากสองกรณีที่ยกมา ยังมีอีกแปดคดีที่สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับให้สารภาพ การใช้คำให้การของผู้เชี่ยวชาญที่ผิดข้อเท็จจริง การชี้ตัวผิดคนจากพยาน และอื่นๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่เว็บไซต์ oneforten (มีซับไตเติ้ลไทย)
 
ภาพยนตร์สั้นเรื่อง One for Ten จำนวนสี่เรื่อง จะฉายในงานวันเปิดนิทรรศการโปสเตอร์ Death Is Not Justice ในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) เวลา 19.00 ที่ Dialogue Coffee and Gallery ถ.ราชดำเนิน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

AREA แถลงผลสำรวจความเห็นคนนครสวรรค์กรณีเขื่อนแม่วงก์

Posted: 03 Oct 2013 05:13 AM PDT

กรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ AREA ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน จ.นครสวรรค์ ระบุคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แนะการแก้ไขปัญหาคือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูล
 
วันนี้ (3 ต.ค.56) ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ต.ค.56 จากรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ระบุคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
 
รายละเอียด ดังนี้
 
AREA แถลง ฉบับที่ 133/2556: วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556
ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์
 
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
 บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)
 
กรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ คาดว่าประชากรในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ถึง 2:1 สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
ตามที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2556 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ได้ร่วมออกสำรวจเอง ได้ผลสรุปสำคัญดังต่อไปนี้:
 
1. การสำรวจนี้ครอบคลุมอำเภอเมือง เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง รวมประชากรทั้งหมด 458, 834 คน โดยประมาณว่ามีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจำนวน 344,736 คน หรือ 75% ของประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจพบว่าประชาชน 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามหากไม่รวมกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ สัดส่วนระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน จัดเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หากประมาณการเป็นจำนวนประชากรจะมีผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนจำนวน 238,486 คน และผู้คัดค้าน 106,250 คน จากทั้งหมด 344,736 คน
 
2. กลุ่มประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ และในเขตเทศบาลตำบลลาดยาว แต่ในเขตอื่น ๆ ประชาชนทั่วไปส่วนมากจะสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยท้องที่ที่สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนอย่างล้นหลาม ได้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลาดยาว
 
3. ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนให้เหตุผลสำคัญเกี่ยวกับความสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ความไม่เหมาะสมของสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ความรักและสงสารสัตย์ป่า และความไร้ประสิทธิผลของเขื่อนที่คาดว่าจะก่อสร้างขึ้น อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าที่คาดว่าจะสูญเสียก็มีพื้นที่ขนาดเล็ก คือใหญ่กว่าประมาณ 2 เท่าของเขตสาทร กรุงเทพมหานครเท่านั้น
 
4. สำหรับผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนให้เหตุผลถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วม และการมีน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมในฤดูแล้ง โดยได้วิงวอนให้สังคมเห็นแก่ความทุกข์ยากของเกษตรกรมากกว่าสัตย์ป่า แต่ทั้งนี้หากไม่มีการบริหารและจัดการน้ำที่ดี ก็อาจไม่ได้ประสิทธิผลตามที่คาดหวัง
 
5. จะสังเกตได้ว่าผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนจะเป็นเกษตรกรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเกษตรกรในบางพื้นที่ที่ไม่ได้ผลกระทบก็ไม่เห็นควรให้มีการก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน สำหรับผู้คัดค้านส่วนมากเป็นผู้ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรืออยู่ในเขตเมือง เห็นว่าตัวเองไม่เดือดร้อนและเกรงกลัวการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และสัตย์ป่าอย่างไม่มีวันกลับมา
 
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ข้อมูล นอกจากนี้ควรให้มีการลงประชามติในหมู่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียงที่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้
 
นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเขื่อนที่คิดจะจัดสร้าง ทางราชการยังควรพัฒนาคลองชลประทาน คลองส่งน้ำขนาดใหญ่ รวมการทั้งขยายและขุดลอกคูคลองในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำที่มีประสิทธิผลเพิ่มเติม
 
สำหรับรายละเอียดของผลการสำรวจนี้จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
 
ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนนครสวรรค์เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ 2-3 ตุลาคม 2556
ท้องที่ จำนวนประชากร (คน) ประชากร 20 ปีขึ้นไปเห็นอย่างไรกับเขื่อนแม่วงก์ % ของความเห็น
  รวม 20 ปีขึ้นไป ควรสร้าง ไม่ตอบ ไม่ควร ควรสร้าง* ไม่ควร* ควร ไม่ตอบ ไม่ควร ควร* ไม่ควร*
เมืองนครสวรรค์ 145,278 109,152 84,138 20,466 4,548 103,554 5,598 77% 19% 4% 95% 5%
เทศบาลนครนครสวรรค์ 95,237 71,555 16,398 4,472 49,194 17,889 53,666 23% 6% 69% 25% 75%
โกรกพระ 35,966 27,022 12,888 3,742 5,820 18,615 8,407 48% 14% 22% 69% 31%
ลาดยาว 81,492 61,228 44,529 8,349 8,349 51,560 9,668 73% 14% 14% 84% 16%
เทศบาลตำบลลาดยาว 8,296 6,233 1,438 1,247 3,548 1,798 4,435 23% 20% 57% 29% 71%
แม่วงก์ 53,132 39,920 17,696 11,112 11,112 24,522 15,398 44% 28% 28% 61% 39%
แม่เปิน 20,515 15,414 8,596 2,668 4,150 10,395 5,018 56% 17% 27% 67% 33%
ชุมตาบง 18,918 14,214 8,577 2,573 3,431 10,153 4,061 60% 18% 24% 71% 29%
รวม 458,834 344,736 194,261 54,629 90,151 238,486 106,251 57% 16% 27% 69% 31%
สัดส่วน 100% 75.1%                    
 
* ตัดกลุ่มไม่มีความเห็นออกเพื่อให้เห็นชัดเจนระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
จำนวนประชากรนครสวรรค์ 2555 http://61.19.192.247/webnkw/nsinfo/economic/index.php?tagpage=edata1
จำนวนประชากรเทศบาลตำบลโกรกพระ http://www.krokphra.go.th/frontend/theme-1/citizen.php
จำนวนประชากรเทศบาลตำบลลาดยาว 2553 http://www.ladyaocity.go.th/content/content/pdf/pop.pdf
จำนวนประชากรในเขตเทศบาลทั่วประเทศ 2554 http://www.dla.go.th/upload/service/2011/9/156.pdf
     
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอรับเก้อ ยังไม่ปล่อย 'สุรชัย' อธิบดีราชทัณฑ์แจงยังไม่เห็นเอกสารอภัยโทษ

Posted: 03 Oct 2013 04:57 AM PDT

(3 ต.ค.56) กรณีมีกระแสข่าว สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดย ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย แซ่ด่านและลูกชาย อดีตผู้ต้องขังคดี 112 รวมถึงมวลชนจำนวนราวร้อยคน มารอรับที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือคำสั่งปล่อยตัวสุรชัยแต่อย่างใด โดยเชื่อว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงข่าวลือ กรมราชทัณฑ์จะปล่อยตัวผู้ต้องขังได้ต้องมีหมายปล่อยอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 18.30น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ชินวัฒน์ หาบุญพาด ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก แจ้งกับมวลชนว่า การปล่อยตัวสุรชัยคงไม่เกิดขึ้นในวันนี้เนื่องจากมีกระบวนการด้านเอกสาร และอื่นๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยืนยันว่าสุรชัยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชอภัยโทษแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการปล่อยตัวเมื่อไร อาจเป็นวันพรุ่งนี้ จากนั้น มวลชนจึงได้ทยอยกันกลับ

เมื่อเวลา 18.00 น.หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ประชาชนที่มารอต้อนรับสุรชัยร่วมร้องเพลงชาติ 24 มิถุนา ระหว่างรอการปล่อยตัว ขณะนี้มีคนทยอยมาร่วมรอรับราวร้อยคน พร้อมด้วยภรรยา ลูกชายคนโตของสุรชัย รวมถึงอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ไม่ว่า ธันย์ฐวุฒิ ณัฐ สุรภักดิ์ สุชาติ นาคบางไทร

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนจำนวนมากได้เดินทางกลับแล้วหลังมีกระแสข่าวว่าไม่สามารถหาคำยืนยันการอภัยโทษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการยอภัยโทษปรากฏในสื่อมวลชนรวมทั้งในเฟซบุ๊คมากมาย นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันเรื่องนี้ว่า มีความเป็นไปได้สูง เพราะนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.แจ้งว่าได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้เมื่อนางปราณีสอบถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในส่วนงานเกี่ยวกับเรื่องการอภัยโทษก็ได้คำตอบว่า มีความเป็นไปได้ราว 80% แต่ยังไม่กล้ายืนยันเพราะพระราชโองการยังมาไม่ถึง 

ปราณี กล่าวว่า หากนายสุรชัยได้รับพระราชทานอภัยโทษจริง คาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 15.00 น. ไม่เช่นนั้นก็เป็นช่วงเย็นวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม เช้านี้ทางเรือนจำได้ส่งตัวนายสุรชัยออกไปตรวจสุขภาพยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทำให้ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้

ทั้งนี้ สุรชัยเป็นแกนนำกลุ่มแดงสยาม มีชื่ออยู่ใน 'ผังล้มเจ้า' ของศอฉ.ที่ในภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยอมรับว่าแผนผังดังกล่าวเป็นเพียงความเชื่อ ปราศจากหลักฐาน สุรชัยถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 รวมแล้ว 5 คดี จากการปราศรัยทางการเมืองใน 5 พื้นที่ในช่วงปี 2551-2554 รวมศาลพิพากษาจำคุก 12 ปี 6 เดือน เขาถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.54 และไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมานฉันท์แรงงานฯนำแถลงเตรียมชุมนุม 7 ต.ค.จี้รัฐบาลรับรอง ILO 87,98

Posted: 03 Oct 2013 04:39 AM PDT

คณะทำงานผลักดันฯ ILO 87,98 นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แถลงเตรียมชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบ 7 ต.ค.นี้ จนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว รวมทั้งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

ภาพจาก voicelabour.org

2 ต.ค. 56 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ราชเทวี  คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ฯลฯ ร่วมกันแถลงข่าว "หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98"

โดย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานฯ เป็นผู้แทนในการอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 คือ 2 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ที่ทั่วโลกถือกันว่าเป็นอนุสัญญาที่สำคัญที่สุด ที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน และประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ให้ความยอมรับโดยให้สัตยาบันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมักอ้างเสมอว่าเป็น 1 ใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว

ในวันกรรมกรสากลของทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ขบวนการแรงงานในประเทศไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อเนื่องกันมาทุกปี ขณะนี้เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาลต่างบ่ายเบี่ยงและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว การที่รัฐบาลเพิกเฉยและบ่ายเบี่ยงที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ คือ การปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยได้มีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม เป็นความจงใจและสมรู้ร่วมคิดเพื่อที่จะให้มีการละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นประเทศที่ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงสิทธิการรวมตัวน้อยมาก คือ ราว 1.5 % ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งถือเป็นลำดับท้าย ๆ ของโลกเลยทีเดียว การไร้ซึ่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย มีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่ในอัตราที่สูงมากระดับต้นๆของโลก

ชาลี กล่าวว่า ผลจากโครงสร้างและกฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่มีกลไกที่จะทำให้แรงงานสามารถต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิแรงงานด้วยตัวของเขาเองได้ การอ้างความมั่นคงของชาติกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการที่จะไปละเมิดกฎหมายซึ่งให้การคุ้มครองหรือการประกันสิทธิต่างๆของแรงงาน

พวกเราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามในการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างไรก็ตามบทบาทของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดว่า รัฐบาลยังขาดความจริงจังในการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้ออำนวยแก่การระดมความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีของคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานร่วมกัน การเจรจาต่อรองเพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้รับรองอนุสัญญากลายเป็นเพียงเรื่องของวิวาทะแบบโต้วาที คือ รับฟังแต่ไม่ดำเนินการ เจรจาเพื่อให้แบบผ่านไปวันๆและมองเห็นเพียงคู่ขัดแย้งขั้วตรงข้ามที่เห็นเพียง "ทุน" และ "แรงงาน" เท่านั้น การมองที่พยายามตีขลุมโดยผลักคู่ตรงข้ามให้กลายเป็น "คนผิด" ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ที่จะเชื่อมต่อในอนาคต "ขาดสะบั้น" แบบง่ายดาย ดังนั้นไม่มีเหตุผลใดๆอีกแล้วที่รัฐบาลจะไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 การเพิกเฉยใส่เกียร์ว่างต่อกระแสเพรียกหาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่สวนทางกับกระแสที่ยึดเอาปัญหาของประชาชนระดับล่าง และสิทธิมนุษยชนเป็นหนทางนำ

วันนี้พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้ก่อตั้งและดำเนินการรณรงค์เรียกร้องในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จึงเห็นร่วมว่าหมดเวลาแล้วที่รัฐบาลจักบิดพลิ้วและโยกโย้ทอดเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ชาลี กล่าวด้วยว่า ขอยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับเครือข่ายองค์กรแรงงานในวันที่ 7 ต.ค. 56 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน โดยมีการดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือน พ.ค.57 เพื่อเป็นของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันกรรมกรสากล ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลยังคงไม่มีรูปธรรมการตัดสินใจชัดเจนในวันที่ 7 ต.ค. 56 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้มีการชุมนุมยืดเยื้อของผู้ใช้แรงงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนต่อไป

21 ปีของการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

สำหรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองมาแล้วกว่า 21 ปี โดยศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา เคยแลกเปลี่ยนเสมอมาในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่า "องค์กรแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเนื่องในวันกรรมกรสากลมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว แต่ไม่เคยได้รับการขานรับจากรัฐ"  ช่วงฮึกเหิมสุดของการเรียกร้องกล่าวได้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปี 52 เมื่อองค์กรแรงงานระดับชาติส่วนใหญ่ได้ร่วมมือกันก่อตั้ง "คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98" โดยมีคุณชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นประธานคณะทำงาน และช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังในปี 52-53 จนกระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง "คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98" ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (อ่านรายละเอียดที่ 21ปี ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล : การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87, 98)

 

 

 

เรียบเรียงจาก voicelabour.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกลับเรื่อง "ศรีบูรพา" ครึ่งศตวรรษในจีน (8)

Posted: 02 Oct 2013 10:58 PM PDT

ที่มาภาพ : หนังสือรำลึก ๑๐๐ ปีศรีบูรพาเนื่องในวาระได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากยูเนสโก
 

แนวคิดศรีบูรพาในจีน

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแนวคิดในงานเขียนของศรีบูรพาระหว่างอยู่ในจีน คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ เล่าว่า

"ศรีบูรพาเมื่อมาอยู่ที่จีน ท่านมีแนวความคิดอย่างไร ท่านไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่จากการสนทนากันในบางเรื่อง ทำให้ผมรู้ว่าความคิดของท่านมีการเปลี่ยนแปลง ความคิดของท่านผมรู้ว่าสังกัดอยู่ในสำนักปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ แต่ว่าท่านไม่ได้พูดออกมาว่าความคิดท่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เกี่ยวกับการมองปัญหาอะไรต่างๆ ท่านได้แสดงออกมาในเวลาคุยกับผม ทำให้ผมรู้ว่าความคิดของท่านมีการเปลี่ยนแปลง ลองไปอ่านดูหนังสือของท่าน เช่น "สงครามชีวิต" "ข้างหลังภาพ" และอื่นๆ จะรู้ว่าความคิดท่านเริ่มต้นจากอะไร ผมว่าเริ่มต้นจากลัทธิมนุษยธรรม พัฒนามาจนถึงวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ความคิดของท่านในระยะหลังใกล้เคียงกับความคิด "หลู่ซิ่น" (ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ปรมาจารย์นักประพันธ์จีนแห่งศตวรรษที่ 20" - ผู้เขียน)

หลู่ซิ่นเป็นถึงนักประพันธ์เอกของโลก ท่านไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเท่าที่ผมทราบ ศรีบูรพาก็ไม่ใช่

พอประธานฯ เหมา (เหมาเจ๋อตง-อดีตผู้นำจีน) ประธานฯ เหมาพบท่านก็เรียกท่านว่า "ไท่กว๋อเตอะหลู่ซิ่น" แปลว่า "หลู่ซิ่นแห่งประเทศไทย" ผมว่า เหมาะสม

คำพูดนี้ที่ท่านประธานฯ เหมาเรียกศรีบูรพา ก็เพราะรู้ว่า สองคนนี้มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน

หลู่ซิ่นเองก็ไม่ใช่เริ่มต้นก็ก้าวหน้า ท่านเริ่มมาจากความเห็นอกเห็นใจประชาชนผู้ทุกข์ยาก เขียนเพื่อประชาชน ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งยึดถือหลักปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ศรีบูรพาก็เป็นเช่นนั้น ไปอ่านดูเรื่องต่างๆ ที่ท่านเขียนไว้ แล้วจะพบว่า ความคิดท่านค่อยๆ พัฒนามาเป็นลำดับ

ศรีบูรพามีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ สิ่งอะไรที่ท่านไม่แน่ใจ ท่านจะไม่ยอมยึดถือง่ายๆ ถ้าท่านแน่ใจและยึดถือแล้ว ท่านก็จะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ

ท่านก้าวหน้ามาอย่างนี้ทีละขั้นๆ

ลักษณะของท่านเป็นอย่างนี้ หมายความว่า แต่ละก้าวของท่านก้าวมาด้วยฝีก้าวอันมั่นคง ท่านไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ ยังไม่ยึดถือ

เมื่อเข้าใจแล้ว แน่ใจแล้ว จึงจะยึดถือ ยึดถือแล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ

 

บทอำลา

ระหว่างพำนักที่จีน

บางเวลานักเรียนนักศึกษาจีนโพ้นทะเลจากเมืองไทย ทั้งชายและหญิงจะผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเรา ศรีบูรพาท่านเป็นคนรักชอบเยาวชน เมื่อมีโทรศัพท์นัดมา ถ้าไม่ติดธุระอย่างอื่นท่านก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะพบปะสนทนาด้วย แม้กระทั่งเด็กหนุ่มสาวเหล่านั้นขอถ่ายรูปกับท่านที่หน้าโรงแรมเหอผิงปินกว่าน ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธ

เด็กหนุ่มสาวจากเมืองไทยก็เคารพรักท่าน มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจก็นำมาเล่าให้ท่านฟัง

ในระหว่างปี พ.ศ.2504 ผมใคร่ครวญถึงว่า มาอยู่ในประเทศจีนไม่รู้ภาษาจีนก็เป็นอุปสรรคในการศึกษาค้นคว้าสังคมจีนในด้านต่างๆ จึงคิดจะไปเรียนภาษาจีนให้ใช้การได้ ผมได้นำความตั้งใจนี้ไปปรึกษากับศรีบูรพา ท่านก็เห็นชอบด้วยที่ผมอยากจะเรียนภาษาจีน

วันหนึ่งในโอกาสที่ผู้รับผิดชอบของสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์มาเยี่ยมเราที่โรงแรม ศรีบูรพาท่าก็เอ่ยเรื่องที่ผมอยากเรียนภาษาจีนให้เขาฟัง เขาก็รับปากจะไปจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้

ต่อมาประมาณครึ่งเดือนทางสมาคมก็แจ้งให้ผมเตรียมตัวไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ศรีบูรพาท่านยังคงพำนักอยู่ที่โรงแรมเหอผิงปินกว่าน มีเวลาวันเสาร์ วันอาทิตย์ ผมก็จะกลับมาเยี่ยมท่าน

ผมเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 2 ปี เมื่อสอบผ่านแล้ว และมีความรู้ภาษาจีนพอที่จะฟังเล็กเชอร์ได้ ก็ตัดสินใจเรียนต่อในแผนกปรัชญา เพราะรู้ว่าแผนกหรือคณะนี้เขาสอนปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของมาร์กซิสม์

ผมอยากเรียนปรัชญาด้านนี้มานานตั้งแต่อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่ไม่ได้เอ่ยปากพูดกับใคร เพราะมาร์กซิสม์มักจะถือกันว่าเป็น กฎศาสตร์อันตราย

ภายหลังที่ได้เรียนแล้วจึงได้รู้ว่ากฎปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาค้นคว้าวิทยาศาสตร์หรือสภาพการณ์ใดๆ จักต้องใช้ทรรศนะ วัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ มาชี้นำจึงจะพบสัจธรรม

ในปี พ.ศ.2507 ผมได้รับเชิญให้ออกมาเป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ สาขาวิชาชีพแผนกภาษาไทย

ปี พ.ศ.2513 ย้ายงานมาอยู่องค์กรการพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง แผนกจัดพิมพ์หนังสือเล่มภาษาไทย มีที่พักอยู่ที่โรงแรมอิ่วหยีปินกว่าน (โรงแรมมิตรภาพ)

หากมีเวลาว่างผมกับภรรยา (ศรีกานดา) ก็จะไปเยี่ยมศรีบูรพา และ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของท่านที่โรงแรมเหอผิงปินกว่าน

เราได้ปฏิบัติอย่างนี้เสมอมา จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2517 ผมได้ทราบว่าศรีบูรพาท่านล้มเจ็บด้วยโรคปอดบวม เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเสเหอ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเวลานั้น ผมกับภรรยาได้ไปเยี่ยมท่าน

หลายครั้ง เห็นท่านมีอาการดีขึ้น เราก็รู้สึกดีใจมาก

ครั้งหนึ่ง เราไปเยี่ยมท่าน พอก้าวเข้าไปในห้องคนไข้ ก็แลเห็นท่านค่อยๆ ยันตัวลุกขึ้นนั่งหย่อนขาอยู่บนเตียง ผมถามถึงอาการไข้ของท่าน ท่านก็บอกแต่เพียงว่ารู้สึกอ่อนเพลีย

ครู่หนึ่งท่านก็บอกให้เราเล่าสถานการณ์เมืองไทยให้ท่านฟัง ผมก็สรุปตามข่าวที่อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์โดยทั่วๆ ไป และได้เล่าสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลังจากกรณี 14 ตุลาคม ที่ได้ผลักดันให้สังคมไทยเคลื่อนเข้าหาระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

ขณะนั้นเราเห็นท่านมีอาการอ่อนเพลียมาก ผมกับภรรยาจึงเข้าไปประคองท่านให้เอนหลังลงนอน ครู่หนึ่ง ท่านก็พูดออกมาเบาๆ ว่า "นี่เป็นชัยชนะของนักศึกษา"

ท่านหยุดพูดครู่หนึ่ง แล้วก็พูดอีกว่า "เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศชาติ"

คำพูด 2 ประโยคนี้ของท่านแสดงออกมาชัดว่า ใจของท่านสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 อย่างเต็มที่ ถึงเวลาจะผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ท่านก็ติดตามข่าวนี้ตลอดมา และคำพูดที่ว่า "เยาวชนเป็นอนาคตของประเทศชาติ" ก็แสดงว่าท่านได้มองเห็นสัจธรรมอันนี้ชัดแจ้ง

นั่นเป็นคำพูดประโยคสุดท้ายที่ท่านกล่าวกับผมและภรรยา ถึงแม้จะเป็นคำพูดเบาๆ แต่ก็เต็มไปด้วยความหมายอันหนักแน่นในสัจธรรม!

จากวันที่เราไปเยี่ยมท่านครั้งหลังไม่นาน เพื่อนจีนทางสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์ ได้โทร.มาบอกว่าศรีบูรพาหมดสติไม่รู้สึกตัวและพูดไม่ได้แล้ว

เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนหลายท่าน เช่น ฉู่ถูหนาน นายกสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีน เลี่ยวเฉิงจื้อ นายกสมาคมจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน จ้าวผู่ชู นายกสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน และคนอื่นๆ ได้ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล แต่หมอไม่ยอมให้เข้าเยี่ยม

ท่านเหล่านั้นจึงได้แต่ชะเง้อมองอยู่นอกห้องไอซียู ทางโรงพยาบาลยอมให้เข้าเยี่ยมได้คนเดียวคือ คุณชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของท่าน

ผมกับภรรยาหมอก็ไม่ให้เข้าเยี่ยมเหมือนกัน

ในที่สุด วันแห่งความโศกศร้าก็มาถึง

ศรีบูรพาได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2517 ณ โรงพยาบาลเสเหอ ปักกิ่ง

เมื่อได้รับข่าวนี้ น้ำตาเรา (ผมกับภรรยา) ก็หลั่งลงด้วยความเศร้าโศกเสียใจ

ฝ่ายจีนได้จัดงานฌาปนกิจศพศรีบูรพาที่สุสานปาเป่าซาน ในปักกิ่งอย่างสมเกียรติ

โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉู่ถูหนาน นายกสมาคมวัฒนธรรมวิเทศสัมพันธ์แห่งประเทศจีน เลี่ยวเฉิงจื้อ นายกสมาคมจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน จ้าวผู่ชู นายกสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน ผู้ใหญ่ฝ่ายจีนที่รู้จักกับศรีบูรพา หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะ ผู้แทนส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้ส่งพวงหรีดมาตั้งประดับในสถานฌาปนกิจศพศรีบูรพา

สถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งก็ได้ออกอากาศประกาศข่าวการถึงแก่กรรมของท่าน และหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้า (หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ก็ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการถึงแก่กรรมของท่านด้วย

คุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้กล่าวกับผู้เขียนในที่สุดว่า

"ถูกละ ศรีบูรพาได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ในความรู้สึกของเรา ญาติมิตรของท่าน ตลอดทั้งประชาชนผู้ศรัทธาท่านนั้น ศรีบูรพาไม่ได้ตาย ท่านยังมีชีวิตอยู่ในหัวใจของเราทุกคน!"


 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายสัปดาห์

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น