โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กสม.ประชุมร่วมราชการ-ชาวบ้าน สอบกรณีตั้งโรงงานยางพาราฯ

Posted: 30 Oct 2013 02:16 PM PDT

หมอนิรันดร์ ลงพื้นที่คอนสาร จ.ชัยภูมิ นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมหน่วยราชการ-ท้องถิ่น-เอกชน-ชาวบ้าน กรณีขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่งไม่โปร่งใส ยินดีจะมีการชะลอออกใบอนุญาตไปก่อน และตั้งคณะกรรมการโดยมีประชาชนเข้าร่วมตามข้อร้องเรียน
 
 
30 ต.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.56 เวลา 08.30 น. ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสาร จาก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ได้รวมตัวชุมนุมที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมรับฟังผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง ของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงในวันดังกล่าว
 
นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดินทางถึงบริเวณพื้นที่ชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.และได้กล่าวทักทายกลุ่มชาวบ้านพร้อมระบุว่า ทุกกระบวนการที่หน่วยงานหลายฝ่ายร่วมประชุมเพื่อแสดงเหตุผลข้อเท็จจริงนั้น ได้มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้มาร่วมชุมนุมที่อยู่บริเวณพื้นที่ด้านล่างกว่า 2,000 คน ได้ร่วมรับฟัง ในทุกขั้นตอนตลอดช่วงเวลาที่มีการประชุมด้วย
 
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีนิรันดร์เป็นประธาน โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร อาทิ วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, ประสาท มีแต้ม, สุวิทย์ กุหลาบวงศ์, ส.รัตนมณี พลกล้า, สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูรณ์, ประยงค์ ดอกลำไย, ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ หน่วยงานภาครัฐ อาทิ นิพนธ์ สาธิตสมิธพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขอำเภอคอนสาร อบต.คอนสาร อบต.ดงบัง อบต.ทุ่งนาเลา และตัวแทนจากบริษัทศรีตรังฯ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร
 
 
วิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้มอบหนังสือรายชื่อของประชาชนอำเภอคอนสารกว่า 5,000 รายชื่อที่ได้ร่วมเสดงเจตนารมณ์คัดค้านการเข้ามาดำเนินกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง เพื่อยืนยันว่าประชาชนในพื้นที่คอนสารไม่ได้ต้องการโรงงานดังกล่าว
 
วิเชษฐ กล่าวว่า การที่ต้องคัดค้านโรงงานยางพาราเพราะไม่มีความเหมาะสม ในพื้นที่ อ.คอนสารนั้นเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำใต้ดินและบนดิน ลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยเทือกเขาที่มีความหลากหลายในระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์สัตว์นานาชนิด เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสารนั้นก็ไม่มีแผนในการที่จะทำการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
 
หากโรงงานที่มีขนาดใหญ่ดำเนินกิจการได้ แน่นอนว่าจะต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก นั่นคือน้ำที่ต้องมาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้ ทำให้นอกจากผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจไม่มีน้ำใช้ อีกทั้งอาจได้รับผลกระทบหากมีการปล่อยน้ำเสีย
 
"สภาพพื้นที่บริเวณที่จะสร้างโรงงานยางพาราเป็นพื้นที่สูง และอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงคนคอนสารและอำเภอใกล้เคียง อาทิ อ่างเก็บน้ำโสกลึก รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน เช่น น้ำผุดนาวงเดือน น้ำผุดนาเลา น้ำผุดซำภูทอง และลุ่มน้ำเซิน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะสี่แยกคอนสาร ซึ่งเป็นขุมชนขนาดใหญ่ และเป็นตลาดสดของอำเภอคอนสาร" นวิเชรษฐ กล่าวว่า
 
ด้าน ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ชาวบ้านมีสิทธิทั้งอำนาจและหน้าที่ในการที่จะร่วมกันปกป้องชุมชน รวมทั้งมีสิทธิสามารถกำหนดอนาคตของตนเอง ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐควรมองสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะกฎหมายของหน่วยงานตนเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญ นับแต่ปี พ.ศ.2540 ถึง 2550 นั้นได้มีการพูดถึงเรื่องของสิทธิชุมชน ทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวที่จะใช้สิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 15.30 น. นิรันดร์ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวสรุปผลการประชุมว่า ทางด้านยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสารไม่มีแผนที่จะมีการดำเนินการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งมีความบกพร่องในกระบวนการขออนุญาตเพื่อจัดตั้งโรงงานยางพารา ส่วนประชาชนในตำบลดงบังเองก็ไม่มีการรับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ดังนั้นจึงไม่ใช่ความชอบธรรมในการที่จะให้อนุญาตโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น
 
ด้านสภาพพื้นที่ พบว่าสภาพพื้นที่บริเวณที่จะสร้างโรงงานยางพาราเป็นพื้นที่สูง โดยสภาพไม่มีความเหมาะสม เพราะอยู่ระหว่างกลางชุมชน และอยู่ใกล้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงคนคอนสารและอำเภอใกล้เคียง และอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำโสกลึก รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติใต้ดิน
 
ส่วนบริษัทศรีตรังฯ ควรให้คำนึงถึงการเคารพสิทธิชุมชน ในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินคดีความกับแกนนำ จำนวน 4 ราย ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการให้ข้อมูลที่อาจเข้าข่ายทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งร้ายแรง และควรพึงระวังเป็นที่สุด
 
นอกจากนี้ นิรันดร์ได้กล่าวขอขอบคุณที่จะมีการชะลอการออกใบอนุญาตออกไปก่อน และให้ตั้งคณะกรรมการโดยมีประชาชนเข้าร่วมด้วยตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ทั้งนี้ ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมายที่ประชาชนแสดงสิทธิการร้องเรียนได้ และทางบริษัทศรีตรังฯ ซึ่งเป็นโรงงานที่ยึดหลัก CSR ต้องทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงควรคิดให้ดีในการเลือกพื้นที่ที่จะก่อตั้งโรงงาน อีกทั้งยุทธศาสตร์ของอำเภอคอนสาร ในเรื่องของอุตสาหกรรมนั้นต้องมีความสอดคล้องกับเรื่องทุนทางสังคมด้วย โดยการประกอบกิจการใดๆ ต้องไม่ทำลายภาคการเกษตรของประชาชน และต้องคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนด้วย
 
อนึ่ง ตั้งแต่ที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ยื่นขออนุญาตดำเนินการประกอบกิจการโรงงานยางพารากับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังในการเข้าดำเนินกิจการในพื้นที่บ้านหินรอยเมย ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นที่ 291 ไร่ ชาวคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จึงจัดตั้งกลุ่มรักษ์คอนสารขึ้น เพื่อคัดค้านความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมของโรงงานยางพาราฯ มานานกว่า 3 เดือน
 
ทางกลุ่มรักษ์คอนสารมีข้อสังเกตและทำการคัดค้านการดำเนินงานของบริษัทศรีตรังฯ ในประเด็นอาทิ การลงมติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังนั้นไม่สมบูรณ์ และมีความบกพร่องที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ รวมทั้งการดำเนินการเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารจัดชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอครั้งแรก เพื่อทวงถามหนังสือที่ระบุให้มีการทบทวนต่อการอนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานพาราฯ โดยก่อนจะมีการชุมนุม กลุ่มรักษ์คอนสารได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ทั้งยังได้เดินทางเข้าพบสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ถึงปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ต่อมา 14 – 15 ต.ค.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง เพื่อทวงสัญญาประชาคม เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิไม่ดำเนินตามที่รับปากไว้ จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.56 รองผู้ว่าฯ ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ให้คำมั่นสัญญาว่าภายใน 10 วัน จะให้มีการจัดการทำประชาคม
 
วันที่ 17 ต.ค.2556 กลุ่มรักษ์คอนสารชุมนุมอีกครั้ง โดยสุภรณ์เดินทางมาร่วมประชุมพร้อมลงตรวจสอบพื้นที่ เพื่อดูข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว และรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2556

Posted: 30 Oct 2013 01:54 PM PDT

ผลสำรวจ SMEs ค่าแรงขั้นต่ำดันต้นทุนพุ่ง- 2 ใน 3 ยังจ่ายต่ำกว่า 300 บาท

ระหว่างวันที่ 5ส.ค.-6 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น( มข.)ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้ทำการสำรวจ "ผลกระทบและการปรับตัวต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของ SMEs อีสาน ไตรมาส 3 ปี 2556" โดยสุ่มสอบถามเจ้าของกิจการ ในภาคอีสาน จำนวน 670 ราย ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี

ล่าสุด วันนี้ (24 ต.ค.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มข.เปิดเผยถึงผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังจ่ายค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท/วัน คิดเป็นร้อยละ 66.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เนื่องจากรายได้ของผู้ประกอบการบางรายไม่คุ้มทุน หากต้องจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล

ทั้งยังมีผู้ประกอบการบางราย จ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือจ้างเหมาชิ้น จึงทำให้รวมแล้วค่าจ้างรวมไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่จัดบ้านพักและอาหารแก่ลูกจ้าง จึงทำให้ค่าแรงที่จ้างไม่ถึง 300 บาทต่อวันเช่นกัน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนค่าแรงงานสูงขึ้น ส่งผลให้ได้กำไรน้อยลงและมีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 69.1 โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 37.3 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถปรับตัวได้ คิดเป็นร้อยละ 96.1 ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการ มีร้อยละ 33.7 จะยังคงไม่ลดจำนวนลูกจ้างลง ณ ตอนนี้

แต่มีถึงร้อยละ 26.3 ที่มีแผนจะปรับลดเฉพาะลูกจ้างคนไทย มีเพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้นที่จะปรับลดเฉพาะลูกจ้างต่างด้าว และร้อยละ 1.4 จะปรับลดแรงงานทุกสัญชาติ และที่เหลือร้อยละ 36.4 ได้ปรับตัวการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เช่น ลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง ปรับขึ้นราคา จ้างแบบเหมาชิ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงาน

นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ภาคการผลิตได้รับผลกระทบสูงกว่าสาขาอื่นๆเนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยมีร้อยละ 84.6 ของผู้ประกอบการภาคการผลิต ที่ระบุว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นปี ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 73.1 และภาคบริการอื่นๆ มีร้อยละ 71.0

ในส่วนของกำไรสุทธิ พบว่าภาคการผลิตมีร้อยละ 54.1 ระบุว่ามีกำไรสุทธิลดลง ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 52.2 และภาคบริการอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ระบุว่ากำไรสุทธิลดลง

สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมช่วยเหลือ หรือสนับสนุนจากผลกระทบนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีคิดเป็นร้อยละ 26.1 รองลงมาคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คิดเป็นร้อยละ 20.1

ส่งเสริมการตลาดคิดเป็นร้อยละ 20.0 การจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตให้แก่สถานประกอบ กิจการคิดเป็นร้อยละ 8.4 การเพิ่มผลผลิตของสถานประกอบกิจการและการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (พัฒนาฝีมือแรงงาน) คิดเป็นร้อยละ 6.2 การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจ้างแรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ5.3 การช่วยจัดหาแรงงานคิดเป็นร้อยละ 5.2 และมาตรการอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 2.3

"ผลสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 จังหวัดใหญ่ของภาคอีสานได้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถจ่ายค่าแรง ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันได้ตามนโยบาย และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างแรงงาน แต่ยอดขายและกำลังการผลิตไม่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กำไรลดลง"ดร.สุทินกล่าวและว่า

โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง แต่ยังสามารถรับมือและปรับตัวได้ และบางส่วนอาจปรับลดพนักงานลงโดยเฉพาะแรงงานไทย โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นเป็นภาคการผลิต เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการในการทำธุรกิจเพื่อลดต้น ทุนการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ และรัฐบาลจะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดีเพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำ ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs มากนัก

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-10-2556)

ผู้ประกันตนเมิน สปสช. ฮึ่มถ้าย้ายหยุดจ่ายสมทบ

หลังจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอให้มีการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมเป็นกอง ทุนเดียวกัน เพื่อให้การรักษาเป็นมาตรฐานเดียว ขณะเดียวกันให้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเมื่อเป็นกองทุนเดียว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะเหมือนกันนั้น

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นการรวมกองทุนฯ หรือจะอาศัยมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังมี อย่างการเข้าถึงบริการ การส่งต่อ ซึ่งตรงนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรพัฒนาระบบการบริการก่อนหรือไม่ ที่สำคัญผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบและการจ่ายเงินก็หวังจะได้มาตรฐาน การรักษาที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลของ สปส.ยังสามารถเลือกโรงพยาบาลในเครือข่ายได้ แต่ยอมรับว่า บางอย่างสิทธิประกันสังคมอาจไม่ดีมาก แต่ก็ต้องมีการปรับปรุง ซึ่งประกันสังคมยังมีปัญหาในแง่การบริหารจัดการ กลไกการควบคุม ตรงนี้เห็นด้วยว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ผู้ประกันตนโอนไปอยู่กับสปสช. มองว่าไม่ใช่

"เคยจัดเวทีแรง งานและพูดประเด็นนี้มากว่า 20 เวที ผู้ประกันตนล้วนไม่เห็นด้วยเพราะ สปสช.ก็มีข้อจำกัดอยู่ ที่สำคัญมองว่า สปส.มีความยั่งยืนในตัวระบบ เนื่องจากมีการร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสามฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มี เป็นภาครัฐจ่าย ซึ่งหากในอนาคตรัฐไม่มีงบประมาณตรงนี้ และการรักษาจะทำอย่างไร เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย" น.ส.วิไลวรรณกล่าว

นายชาลี ลอยสูง" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากต้องไปอยู่แล้วยังต้องจ่ายเงินสมทบส่วนรักษาพยาบาลเหมือนเดิม ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯยังไม่ต้องจ่าย ทำไมผู้ประกันตนยังต้องจ่าย

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิทธิข้าราชการ ซึ่งในมาตรา 4 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้กองทุนประกันสังคมได้ ด้วยเหตนี้ที่ผ่านมาจึงได้หารือกับ สปสช.ว่าสามารถมาช่วยบริหารกองทุนสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือ ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอลักษณะนี้ โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนคนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะในส่วนพนักงานมหาวิทยาลัย ก็มีทางเลือกในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเฉพาะขึ้น บริหารจัดการในรูปแบบเหมือนข้าราชการท้องถิ่น ที่ปัจจุบันได้โอนให้ สปสช.ดูแล

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-10-2556)

กก.ฝ่ายนายจ้างบอร์ดค่าจ้าง ขอให้คงค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2 ปี ตามมติเดิม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่ลูกจ้างบางกลุ่มเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นมาก ที่ประชุมเห็นว่าการปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นอาจไม่เป็นประโยชน์ หากไม่สามารถคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพได้ ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างคงอยู่ได้ แต่หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างอีกก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ จึงอยากให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทไปอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามมติบอร์ดค่าจ้างก่อนหน้านี้ ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไปจนถึงปี พ.ศ.2558 หากไม่มีปัจจัยความผันผวนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก หลังจากนั้นใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็นฐาน โดยใช้การปรับค่าจ้างเป็นอัตราลอยตัว ที่เป็นราคาค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง ซึ่งค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ หรือส่งเสริมให้มีเรื่องโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการที่กำหนดให้สถาน ประกอบการที่ลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง

กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงแนวคิดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่จะกำหนดให้นายจ้าง ต้องปรับค่าจ้างประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไปนั้น ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน โดยนายจ้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนั้น การที่จะออกเป็นกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ ก.แรงงานจะต้องศึกษาระดมความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

"ขอฝากไปถึงพรรคการเมือง อย่านำเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้ง เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ควรจะเป็นเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผลเชิงวิชาการ เข้ามาสนับสนุน ให้เกิดความสมดุล ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถอยู่ได้" นายปัณณพงศ์กล่าว

(มติชนออนไลน์, 28-10-2556)

"จาตุรนต์" มอบ สอศ.วางแผนผลิตแรงงานภาคปฏิบัติป้อนธุรกิจโรงแรม

(28 ต.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะเดินทางเข้าพบ และ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ว่า ทาง สทท.ได้มาหารือเพื่อขอให้ ศธ.และ สอศ.ผลิตนักศึกษาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแรงงานภาคปฏิบัติการในโรงแรมมีความต้องการมาก ทั้งนี้ สอศ.มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานประกอบการอยู่แล้ว จึงขอให้ สทท.มาร่วมจัดหาผู้มีความเชี่ยวชาญงานบุคคล และนักวิชาการด้านหลักสูตรมาร่วมกันในการกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนา ขณะเดียวกันที่จะต้องทำเร่งด่วน คือ จัดคอร์สฝึกอบรมระยะสั้น เวลา 3 เดือน เพื่อพัฒนาทักษะในเรื่องที่ สทท.ต้องการทั้งเทคนิค งานบริการบางด้าน และภาษา โดยจะเปิดสอนแบบเข้มข้น ซึ่งอาจจะเปิดสอนทั้งคนที่เรียนจบและกำลังจะทำงานหรือผู้ที่ทำงานแล้วแต่ ต้องการเพิ่มทักษะ ส่วนในระยะยาว ก็จะนำแนวคิดไปปรับใช้หลักสูตรในการเรียนระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในบางสาขาที่จำเป็นต้องปรับการเรียนอย่างเข้มข้นก่อนจบในสัปดาห์สุดท้าย และจะขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จทางท่องเที่ยวและมีความ ร่วมมือกับ สอศ.ในการพัฒนาอาชีวศึกษาที่มาร่วมพัฒนา ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งนี้ ตนได้ขอให้ สทท.ไปสำรวจความต้องการแรงงานภาคการโรงแรมจำนวนเท่าไร สาขาใดบ้าง รวมถึงความต้องการของล่ามและมัคคุเทศก์ด้วย ซึ่งการดำเนินการจัดคอร์สอบรมระยะสั้นจะจัดในบางพื้นที่ที่มีความต้องการโดย จะเป็นที่ใดบ้างนั้นขอรอดูตัวเลขที่ทาง สทท.จะเป็นผู้สำรวจก่อน
      
นางปิยะมาน กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตมากโดยปี 2555 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศถึง 22.34 ล้านคน แต่ในปีนี้ (2556) คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะพุ่งสูงถึง 26 ล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่ภาคการบริการโรงแรมที่พักมีการขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญในเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะรองรับ โดยเฉพาะในด้านการโรงแรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคปฏิบัติการ ประมาณ 1 ล้านคน เพราะที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาของไทยทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจะผลิต นักศึกษาที่ออกมาทำงานด้านการบริหารและการโรงแรม จึงได้มาหารือร่วมกับรมว.ศึกษาธิการ และ สอศ.ร่วมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรเพื่อผลิตแรงงานภาคปฏิบัติการ โดยเฉพาะ 4 สาขาหลักได้แก่ 1.สาขาการต้อนรับส่วนหน้า 2.งานแม่บ้าน 3.การต้อนรับในห้องอาหาร และ4.การผลิตอาหารสู่ระบบโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มสาขาสอดคล้องกับความต้องการแรงงานตามมาตรฐานอาเซียน

"ที่ผ่านมาเราไม่มีคนที่จบเฉพาะด้าน ส่วนใหญ่จะนำคนมาอบรมและพัฒนามากกว่าแต่เราต้องการคนที่เก่งจริงมาทำงาน เพราะในอนาคตเราต้องแข่งขันกับอาเซียน เมื่อเราก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้มาหารือเพื่อขอความร่วมมือและจะกำหนดสัดส่วน หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ได้มาตรฐานที่นำไปใช้ผลิตบุคลากรร่วมกันใน ทุกวิทยาลัยอาชีวศึกษา" นางปิยะมาน กล่าว
      
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า จากการหารือได้ข้อสรุปว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน 1 ชุดระหว่าง สทท.และ สอศ.เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะขอให้ นางปิยะมาน เป็นประธาน และเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) อาชีวศึกษาก็จะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าเสนอในที่ประชุมด้วย โดยคณะทำงานชุดนี้จะยึดความต้องการของภาคประกอบการเป็นหลัก โดยจะดำเนินการในระยะสั้นซึ่งจะทำร่วมกันในการอบรมพนักงาน นักศึกษาและครูผู้สอน ส่วนระยะยาว สอศ.จะต้องปรับหลักสูตรและปรับการสอนอย่างมาก โดยต้องเน้นการสอนที่เข้มข้นมั่นใจว่าทำงานได้แท้จริง โดยอาจจะต้องปรับหลักสูตรบางวิชาจากเดิมที่สอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจจะต้องเป็นตลอด 2 สัปดาห์สุดท้ายจะเน้นสอนวิชานั้นอย่างเข้มข้น เป็นต้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2556)

นายจ้างยืนยันคงอัตราค่าจ้าง 300 บ. ไปอีก 2 ปีตามมติเดิม

28 ต.ค.-กรรมการฝ่ายนายจ้าง ยืนยันให้คงอัตราค่าจ้าง 300 ไปอีก 2 ปีตามมติเดิม พร้อมย้ำอัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายปรับค่าจ้างประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้าง ที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป

นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่กระทรวงแรงงานว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีลูกจ้างบางกลุ่มเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นมาก โดยเห็นว่าอยากให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไว้ถึงปี 2558 หากไม่เกิดความผันผวนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก และเห็นว่าการปรับค่าจ้างจะไม่เป็นประโยชน์ หากไม่สามารถคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในการครองชีพ

ส่วนการใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็นฐาน โดยใช้การปรับค่าจ้างเป็นอัตราลอยตัว ที่เป็นราคาค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง ซึ่งค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศหรือส่งเสริมให้มีเรื่อง โครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการที่กำหนดให้สถานประกอบการที่ลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง 

อย่างไรก็ตามฝากไปถึงพรรคการเมือง อย่านำเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้ง เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผล เชิงวิชาการเข้ามาสนับสนุน ให้เกิดความสมดุล

ส่วนแนวคิดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่จะกำหนดให้นายจ้างต้องปรับค่าจ้าง ประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไปนั้น ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนั้น การจะออกเป็นกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานจะต้องศึกษาระดมความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้อง

(สำนักข่าวไทย, 28-10-2556)

บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาร้องภาครัฐ ปลดล็อคสัญญาจ้างสีดำทั่วประเทศ

จากกรณีที่มีข่าวการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ ฟ้าหลวง  และมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม  โดยผู้ร้องเป็นบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดย รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ในฐานะเลขาธิการ กล่าวว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา 1 แสน 6 หมื่นคน มีข้าราชการ 3 หมื่นกว่าคนและมีพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ในกรณีสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม เป็นส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่มักเรียกกันว่า "สัญญาจ้างสีดำ" ศูนย์ประสานงานฯได้กำหนดเป็นวาระปัญหาระดับชาติ เป็น 1 ในข้อเรียกร้องหลักที่เสนอ รมว. ศธ. ไปแล้ว เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่องนี้ส่งผลถึงศักดิ์ศรีและความไม่มั่นคงในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย จากข่าวที่มีการบีบสัญญาจ้างเหลือคราวละ 6 เดือนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สร้างความไม่มั่นใจในการทำธุรกรรมการเงินของแหล่งทุนทั่วประเทศ พนักงานมหาวิทยาลัยถือเป็นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่พนักงานบริษัท ระบบนี้เกิดขึ้นตามมติ ครม. ปี 2542 ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ชะตากรรมของพนักงานฯถูกภาครัฐผลักไปฝากไว้ในมือผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัย จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยด่วนเพราะไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยออกกฏกระทรวงหรือมติ ครม. ที่ระบุให้สัญญาจ้างพนักงานฯทั่วประเทศ ถึงอายุ 60 ปี และมีการประเมินออกเพื่อคัดคนคุณภาพเหมือนระบบราชการเดิม ซึ่งการกลั่นแกล้งด้วยวิธีบีบสัญญาจ้างทำได้ยากเพราะมีช่องทางในการฟ้องร้อง เรียกความเป็นธรรมมากขึ้น

"จะมีองค์กรไหนบ้างที่ ดูแล ชาวอุดมศึกษา 1 แสน 6 หมื่นคน ตาดำๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจบริหาร  อาจารย์ธรรมดาเหล่านั้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนไปตามยถากรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องกฏหมาย เช่น ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ขึ้นกับกฏหมายแรงงาน แต่ขึ้นกับสัญญาที่ยอมเซ็นต์ นักเรียนทุนรัฐบาลที่กลับมาในช่วงเปลี่ยนผ่านมีระบบพนักงานฯมาแทนข้าราชการ ตอนไปเรียนต่างประเทศนึกว่าจะได้มาเป็นข้าราชการ แต่จบมาในช่วงปี 2542 จึงต้องบรรจุเป็นพนักงานฯ และอยู่ในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น จำต้องอยู่เพื่อใช้ทุน ระบบนี้จะสร้างความกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกลายเป็นระบบที่สร้างให้อาจารย์บางส่วนฝึกการเอาตัวรอด ด้วยวิธีต่างๆ  เมื่อมีปัญหาความไม่เป็นธรรม  ก็ต้องดิ้นรนไปฟ้องร้องกันเอาเอง ส่วนใหญ่ฟ้องแล้วแพ้คดี โดยไล่ออกแบบถูกกฏหมายคือไม่ต่อสัญญา บางคนก็เอาชีวิตการทำงานมาแลกความเป็นธรรม โดยหันมาฟ้องอาญา ม. 157 ตามที่เป็นข่าว หันมองไปหาองค์กรกลางที่จะดูแลแต่ละท่านแต่ละคนก็ไปเป็นกรรมการสภา กรรมการที่ปรึกษา ไปทุกมหาวิทยาลัย มีความสนิทชิดเชื้อกับผู้บริหาร บางมหาวิทยาลัยกำหนดเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ต่ำกว่ามติ ครม. แต่กำหนดเงินเดือนอธิการบดี เดือนละ  4 แสนกว่า มากกว่านายกรัฐมนตรีไทยถึง 4 เท่า บางแห่งผู้บริหารก็บอกว่าตนเองก็เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีชะตากรรมเหมือนกัน แต่มองเข้าดูรายละเอียดแล้ว เขาเหล่านั้นเป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงใดๆในสถานะพนักงานฯเลย เพราะมีรายรับ 2 ทาง" รศ. ดร. วีรชัย กล่าว

ด้าน อ. ประทัย พิริยะสุรวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า หลังการมีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยถี่ขึ้น หลายมหาวิทยาลัยกลับเปลี่ยนระบบสัญญาจ้างให้เข้มงวดกว่าเดิม  ระบบเงินเดือนก็ยังไม่เป็นตามมติ ครม. ปี 2542 แต่เริ่มประกาศใช้สัญญาใหม่ บังคับให้มาเซ็นต์ใหม่ เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น  อาทิ สัญญาจ้างระบุให้ทำตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายใน 5 ปี  หากไม่ทำไม่ต่อสัญญาจ้าง ปริญญาตรีลาปริญญาโทได้เพียง 2 ปี  ปริญญาโทเรียนต่อปริญญาเอก 3 ปี  โดยประกาศใช้กับพนักงานฯไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการในมหาวิทยาลัยที่ยังคงมี อยู่ ตนอยากให้บุคลากรแต่ละมหาวิทยาลัย รวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เพื่อเข้าไปมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น หากกฏระเบียบบางอย่างริดรอนสิทธิของท่าน หรือออกมาร่วมกับส่วนกลาง คือศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่เป็นศูนย์รวมทั้ง ข้าราชการและพนักงานทั่วประเทศ

ด้าน อ. บัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองก็อยู่ในสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรกลางที่เป็นที่พึ่งในเรื่องความเป็นธรรม ตนอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยทำชมรมเพื่อเป็นศูนย์รวมย่อย เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น การทำงานของชมรมพนักงานมหาวิทยาลัย จะเป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างพนักงานฯ และข้าราชการที่เหลืออยู่ พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร เจรจาต่อรองในเรื่องความไม่เป็นธรรมต่างๆ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานมหาวิทยาลัยทำงานและอยู่ที่มหาวิทยาลัย ขอนแก่นได้อย่างมีความสุข ส่วนการขับเคลื่อนในสิทธิที่ขาดหายไปในส่วนกลางนั้น ทางชมรมฯยินดี เข้าสนับสนุนส่วนกลาง รวมถึง ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่เป็นแกนหลักในการเรียกร้องเชิงรุกมาโดยตลอด

(มติชนออนไลน์, 28-10-2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกม.หมื่นชื่อ-แก้ รธน.ใช้ 5 หมื่น

Posted: 30 Oct 2013 11:38 AM PDT

มติที่ประชุมสภาฯ 368 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง 1 หมื่นคน เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย และ 5 หมื่นคน เสนอญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญได้

30 ต.ค.2556 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา โดยมีสาระสำคัญคือเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 และให้สิทธิประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,000 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ และให้สิทธิประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยในขั้นตอนต้องมีการแจ้งให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบถึงความริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย หรือเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภา, สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือหน่วยงานที่มีอำนาจช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมายแต่ประชาชน ตามที่ผู้ริเริ่มเสนอร่างกฎหมายต้องการ นอกจากนั้นให้สิทธิประชาชนขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามที่กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมืองกำหนดได้ ทั้งนี้หลังจากการแสดงเจตจำนงริเริ่มร่างกฎหมายแล้ว ต้องดำเนินการเข้าชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามเวลาให้สิทธิ์จำหน่ายเองคืนผู้ริเริ่ม

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาจะต้องเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องไม่เป็นผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และเมื่อประชาชนยื่นรายชื่อประกอบเสนอร่างพ.ร.บ.หรือญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาต้องตรวจสอบความถูกต้องให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน จากนั้นให้ประกาศรายชื่อผู้เขาชื่อทางสื่อเทคโนโลยีของสำนักงานเลขาธิการสภา และจัดทำเอกสารให้ประชาชนรวมถึงให้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีตรายชื่อตรวจสอบ และหากประชาชนคนใดถูกแอบอ้างชื่อสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อประธานรัฐสภา ภายใน 30 วัน ส่วนบุคคลใดที่แอบอ้างชื่อเพื่อร่วมเสนอกฎหมายได้กำหนดให้มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากบุคคลใดสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจูงใจให้ร่วมลงชื่อ หรือไม่ให้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการบังคับให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ มีมติเห็นชอบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มีมติด้วยเสียง 368 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง และหลังจากที่สภามีมติเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่กระบวนการประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายพลเมืองเน็ตวอนรัฐต้องไม่นิรโทษกรรมตัวเอง

Posted: 30 Oct 2013 09:59 AM PDT

30 ต.ค.2556 เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network)  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่รวมตัวกัน เพื่อสนับสนุนเสรีภาพออนไลน์และคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ออกแถลงการณ์แสดงความเห็น 5 ข้อต่อกรณีการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อยกเลิกความผิดทางการเมืองและความผิดที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันทางการเมืองทั้งหมดในลักษณะเหมาเข่ง โดยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยและส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวของเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุไว้ดังนี้

"รัฐต้องไม่นิรโทษกรรมตัวเอง กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการสืบสวนและถูกบันทึก"

ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ต่อเนื่องสู่การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และเหตุการณ์หลังจากนั้น การแสดงออกทางการเมืองได้ทวีความเข้มข้นและขยายตัวมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการชุมนุมบนพื้นที่กายภาพและการแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สื่อทุกชนิด ซึ่งในหลายวาระก็ตามมาด้วยการปะทะกัน ทั้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ประชาชนกับประชาชน หรือกับกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ทั้งด้วยกำลังและด้วยการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนักข่าวและอาสาสมัครกู้ชีพ เป็นที่ชัดเจนว่าพบการใช้มาตรการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการชุมนุมและการสลายการชุมนุม ซึ่งจำเป็นต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดี ปรากฏการกล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ ที่ประกาศใช้ในเวลานั้น หรือตามกฎหมายที่กำหนดให้การแสดงออกบางลักษณะเป็นอาชญากรรม หรือตามกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ถูกใช้เพื่ออ้างเหตุให้จับกุมฟ้องร้องได้ กฎหมายต่างๆ ดังกล่าวเช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551

คดีเหล่านั้นจำนวนหนึ่ง อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลสั่งยกฟ้อง หรือศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด (แต่ติดคุกไปแล้วหลายปี) อย่างไรก็ตามยังมีคดีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และบางคดีก็ยังใช้พยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ยอมรับต่อศาลในคดีอื่นแล้วว่า เป็นหลักฐานที่หน่วยงานความมั่นคงที่ตนสังกัดสร้างขึ้นมาโดยหวังผลทางการเมือง

เนื่องด้วยขณะนี้กำลังมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อยกเลิกความผิดทางการเมืองและความผิดที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันทางการเมืองทั้งหมด "แบบเหมาเข่ง" โดยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยและส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเสื้อแดง เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

การนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง ซึ่งยังประกอบไปด้วยกระบวนการค้นหาความจริง การนำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ การขอโทษอย่างเป็นทางการ การทำให้มีหลักประกันว่าจะไม่มีการกระทำผิดซ้ำอีก และการเยียวยาอื่นๆ

การนิรโทษกรรมจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วน คำนึงถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย ให้สามารถกลับไปมีเสรีภาพดังเดิมโดยเร็วที่สุด คำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มประชาชนดังกล่าวจะได้รับ พร้อมกับรักษาสิทธิในการได้รับการเยียวยาทางจิตใจ

การนิรโทษกรรมกลุ่มบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการร่วมชุมนุมและการแสดงออกรูปแบบอื่นๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้กระบวนการการเมืองในสังคมเดินต่อไปได้

การนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผู้มีส่วนร่วมดังกล่าวทั้งหมดจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาความจริงและการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้เสียหาย

การนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการแยกประเภทของฐานความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจ ไม่มีการกำหนดว่าผู้กระทำผิดจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างก่อนจะได้รับนิรโทษกรรม เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด และจะทำให้สังคมไทยไม่หลุดจากวังวนของการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซาก

การบิดเบือนการนิรโทษกรรม จะเป็นการ "กลับไปเริ่มจากศูนย์" ในวันนี้ เพื่อพบว่าจะต้อง "กลับไปเริ่มจากศูนย์" ในวันข้างหน้าอีกไม่รู้จบ เราขอเชิญชวนทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นจริง ร่วมกันคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขที่กำลังถูกพิจารณาอยู่ในขณะนี้

เครือข่ายพลเมืองเน็ต

30 ตุลาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Free Write : สี่สิบปีตายกี่ครั้งใครสั่งฆ่า

Posted: 30 Oct 2013 09:23 AM PDT

สี่สิบปีตายกี่ครั้งใครสั่งฆ่า
จะเดินหน้าก็ถูกดึงไม่ถึงไหน
อำนาจรัฐทั้งผองเป็นของใคร
แค่ประชาธิปไตยแต่ในนาม

กระทำการฆาตกรรมอำมหิต
ต่อชีวิตผู้คนบนสยาม
ในขอบขัณฑสีมาพุทธาราม
ขู่คุกคามความคิดสิทธิ์เสรี

สร้างกฎกรอบมอบผ่านการศึกษา
ล้างปัญญาลบเหตุผลจนป่นปี้
ยัดเยียดหลักคุณธรรมและความดี
เป็นตัวชี้โครงสร้างทางสังคม

ประชาชนเป็นใครไม่ต้องรู้
ให้กินอยู่เพียงพอก็เหมาะสม
สิ่งศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้ให้งายงม
ค่านิยมบูชาอย่าล่วงเกิน

เมื่ออนาธิปไตยขยายผล
ชนชั้นบนชั้นล่างยิ่งห่างเหิน
ใครเข้าถึงทุนได้ใช้เพลิดเพลิน
ความเจริญแบ่งสรรกันกี่คน

สี่สิบปีที่คนกล้าต้องมาตาย
เพราะท้าทายคนดีที่ฉ้อฉล
ทวงอำนาจอธิปไตยให้ปวงชน
ที่ถูกปล้นล่วงลับเอากลับมา

ไม่เกิดซ้ำต้องกำจัดรัฐประหาร
อุดมการณ์เป็นธงอยู่ตรงหน้า
ต้องยอมรับกับกฎ-กติกา
เสียงประชาแจ่มชัดจะหยัดยืน

สี่สิบปีคนส่วนใหญ่เริ่มใจกล้า
เห็นคุณค่าสิทธิ์ของตนไม่ทนฝืน
ประชาชนจะชนะกระบอกปืน
ต้องหยิบยื่นความรู้คู่ปัญญา

สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้ลูกหลาน
เผด็จการต้องหมดไปในวันหน้า
รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขไม่รอช้า
เพื่อประชาธิปไตยไทยสมบูรณ์.
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บก.ลายจุด ปลุกแดงชุมนุม ‘10,000 UP’ ค้านนิรโทษฯสุดซอย 10 พ.ย.นี้

Posted: 30 Oct 2013 09:11 AM PDT

30 ต.ค.2556 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา เชิญช่วนสวมเสื้อแดงร่วมชุมนุมต้านการนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เมื่อช่วงเม.ย.-พ.ค.2553 ในชื่อกิจกรรม "10,000 UP เราไม่ลืม" วันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. 2556 เวลา 12.00 น. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะมาร่วมชุมนุมมากกว่า 10,000 คน

นายสมบัติ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ด้วยว่า เห็นข่าวว่าทางพรรค หรือทางคุณทักษิณ ประเมินว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมสุดซอย แค่ประมาณหมื่นคน หมายความว่าเขาพร้อมดันร่างกฎหมายนี้ เพราะมีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้แค่หมื่นคนเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าพรรคยังไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางและคิดว่ามีคนค้านแค่นี้ ผมจะทำกิจกรรมที่เรียกว่า "หมื่นอัพ" เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่คุณคิดว่ามีไม่ถึงหมื่นคน หรือมีแค่หมื่นคน จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น

โดยนายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ถ้ามี หมื่นอัพ ผมจะจัด "หมื่นอัพ" ถ้ามีไม่ถึงก็จบ หรือถ้านัดกันว่ามีหมื่นอัพ แต่มากันไม่ถึงหมื่น ผมยอม เพราะเขาบอกว่ามีแค่หนึ่งหมื่นใช่ไหม เราก็ต้องมีมากกว่าหมื่น ถ้ามีมวลชนมาไม่ถึงหมื่น ผมยอม

จดหมายชวนร่วมกิจกรรม "10,000 UP เราไม่ลืม" โดย บก.ลายจุด :

ถึงศิษย์เก่าราชประสงค์และมิตรสหายทุกท่าน

ณ ขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า เรามิสามารถหยุดยั้งการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยที่จะผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งสุดซอย อันนำไปสู่การปลดปล่อยให้ฆาตกรในช่วงเดือนเม.ย.- พค 2553 ลอยนวล

ท่ามกลางความคิดที่แตกต่างกันภายในขบวนเสื้อแดงที่มองเรื่องนี้กันไป 2-3 ฝ่าย

นี่เป็นช่วงที่แหลมคมและอ่อนไหวที่สุดครั้งหนึ่งในขบวนเสื้อแดงทั้งในประเด็นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ อนาคตของขบวนประชาธิปไตย

อีกทั้งยังไม่ทราบชะตากรรมของประเทศหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านวาระ 3 จะมีกลุ่มมวลชนต่าง ๆ และพรรคการเมืองบางพรรคใช้โอกาสดังกล่าวขับเคลื่อนปลุกเร้าทางการเมืองเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบตามที่พวกเขาเฝ้ารอมานานแสนนาน

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนและตัดสินใจที่จะเดินแนวทางเช่นนี้ ต่อจากนี้พรรคจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง

ส่วนพวกเราคนเสื้อแดงเราขอประกาศที่จะไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการในเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดง แม้จะไม่มีผลทางกฎหมายแต่เราจะบันทึกไว้ในความทรงจำและเขียนไว้บนแผ่นดินว่าฆาตกรยังลอยนวล

เราขอเชิญชวนพี่น้องผู้รักประชาธิปไตย ผู้ร่วมในเหตุการณ์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานได้ร่วมกันกลับมายังสถานที่ทุ่งสังหารแห่งนี้อีกครั้ง เพราะนี่อาจเป็นกิจกรรมรำลึกครั้งสุดท้ายที่เรายังตะโกนชื่อคนเหล่านั้นในฐานะฆาตกรสังหารประชาชน

วันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. 2556 ณ ทุ่งสังหาร ราชประสงค์ เวลา เที่ยงวันเป็นต้นไป กรุณาสวมเสื้อสีแดงเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้เสียชีวิต

 

บก.ลายจุด

ศิษย์เก่าราชประสงค์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช.เตรียมเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ‘ลุงนวมทอง’ พรุ่งนี้ ‘เหวง’ร่อนจม.เปิดผนึกวอนผบ.ทบ.ขอโทษ

Posted: 30 Oct 2013 08:26 AM PDT

30 ต.ค.2556 นายเหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ผู้บัญชาการกองทัพบก ขอโทษ นายนวมทอง ไพรวัลย์ พร้อมทั้งรับผิดชอบต่อครอบครัวนายนวมทอง คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในคืนวันที่  31 ต.ค.2549 โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" หลังจากนายนวมทองขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร

โดยในวันพรุ่งนี้(31 ต.ค.2556) 09.30 น.  นปช. จะจัดพิธีเปิดสดมภ์อนุสรณ์ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต (คลิกอ่านรายละเอียดกิจกรรม)

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการทหารบก :

รัฐสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม.10300

30 ตุลาคม 2556

 

เรื่อง      เรียกร้องให้ "ผู้บัญชาการกองทัพบก ขอโทษ ลุงนวมทองไพรวัลย์อย่างเป็นทางการ และรับผิดชอบต่อครอบครัวของลุงนวมทองไพรวัลย์

เรียน      ผู้บัญชาการทหารบก

ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สื่อจำนวนมาก และผู้ที่สนับสนุนรัฐประหารจำนวนมาก แสดงการชื่มชมการรัฐประหารจนท่วมท้นประเทศ

ลุงนวมทองไพรวัลย์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องการกระตุกสังคมไทยอย่างรุนแรงให้เห็นความชั่วร้ายเลวทรามของรัฐประหาร19กันยายน2549 จึงใช้ "ปฏิบัติการแท็กซี่ชนรถถัง มุ่งประสงค์สละชีพเพื่อกระตุกสังคมไทยให้เห็นความชั่วร้ายของการรัฐประหาร"

แต่เนื่องจากลุงนวมทองไม่ต้องการชนพลทหารที่เฝ้ารถถัง ลุงนวมทองจึงไม่เสียชีวิต จากนั้นก็มีสื่อและพวกรัฐประหารนิยมประนามลุงนวมทองอย่างเสียหายเช่น เสพยาบ้า เป็นบ้าไปแล้ว ไม่มีผู้โดยสารจึงเครียดฯลฯ

หลังจากที่รักษาตัวและได้รับกำลังใจจาก สมาพันธ์ประชาธิปไตย ลุงนวมทองก็กลับมาใช้ชิวิตเช่นเดิม

แต่ "โฆษกกองทัพบก หยามเหยียด ลุงนวมทอง อย่างเลวร้าย อย่างที่คนไทยด้วยกันไม่คิดว่าจะทำเช่นนี้ต่อกันได้" คือ

โฆษก กองทัพบกในสมัยนั้น พอ.อัคร ทิพยโรจน์ ได้เหยียบย่ำ หยามหยัน ลุงนวมทองไพรวัลย์ ว่า "ผมไม่เชื่อว่า จะมีคนมีอุดมการณ์แก่กล้าพอที่จะพลีชีพให้กับประชาธิปไตย"

ลุงนวมทองได้ใช้การกระทำที่เป็นจริงพลีชีพเพื่อประชาธิปไตย โดยกระทำการ"แขวนคอตนเองที่สะพานคนข้ามถนนหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถนนวิภาวดีรังสิต"และเขียนจดหมายพลีชีพว่า "นิสัยคนไทย ฆ่าได้-หยามไม่ได้" "เกิดชาติหน้า ขออย่าให้พบกับการปฏิวัติอีกต่อไป"

ผู้บัญชาการกองทัพบกครับ โฆษกของกองทัพบกนะครับ เป็นผู้กล่าวคำหยามหยัน ลุงนวมทองและกล่าวในฐานะ "โฆษกกองทัพบก"ครับ

ลุงนวมทองได้ใช้การกระทำที่เป็นจริง "ตบหน้า"โฆษกกองทัพบกคนดังกล่าวแล้วครับ ในวันนั้นผู้บัญชาการกองทัพบก อยู่ที่ไหนครับ

จากวันนั้น ถึงวันนี้ เป็นเวลา7ปีแล้วครับ(31ตุลาคม2549-31ตุลาคม2556) ผู้บัญชาการกองทัพบกในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่เคยสำนึกถึงความผิดที่"โฆษกกองทัพบก พอ.อัคร ทิพย์โรจน์" ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองกระทำต่อ ประชาชนไทยที่ "เกลียดชังการรัฐประหารยิ่งกว่าชีวิตตนเอง"

ผู้บัญชาการกองทัพบกผ่านมาหลายท่านแล้ว เคยกล่าวคำขอโทษต่อลุงนวมทองไพรวัลย์ให้ปรากฏต่อสาธารณชนแล้วหรือยังครับ

แล้วที่ไปรับปากกับ ภรรยาลุงนวมทองว่าจะดูแล ครอบครัว

ทางผู้บังคับบัญชาของกองทัพบกทำแล้วหรือยัง เจ็ดปีแล้วครับ ท่านยังไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาของท่านเลย

ท่านจะยังตระบัดสัตย์ไปถึงวันไหนครับ จึงจะปฏิบัติตามสัจจะวาจาที่มีต่อครอบครัว"ไพรวัลย์"  ปณิธานของมนุษย์ในโลกนี้ อย่าว่าแต่ ทหารเลยครับ แม้ประชาชนทั่วไปก็ยังต้องถือไว้ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง ก็คือ

"เสียชีพ อย่าเสียสัตย์"ครับ

ผมเรียกร้องผู้บัญชาการกองทัพบกให้กระทำการ "ขอโทษลุงนวมทองไพรวัลย์อย่างเป็นทางการ และรับผิดชอบต่อครอบครัวของลุงนวมทองไพรวัลย์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ"ครับ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นพ.เหวง โตจิราการ)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พีระพงษ์' แจงแค่ถอนร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อไปแก้ให้ชัด-เล็งชงเข้า กสท. 4 พ.ย.

Posted: 30 Oct 2013 06:37 AM PDT

กสทช. แจงถอนร่างประกาศคุมเนื้อหารายการ เพื่อนำไปปรับแก้ให้ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องไปตีความอีก ยันให้นักกฎหมายหลายสำนักดูแล้ว ชอบด้วย กม. เล็งเสนอกลับไปใหม่ 4 พ.ย.นี้

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ถอนร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ออกจากวาระการพิจารณาของที่ประชุม เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา

30 ต.ค. 2556 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงสาเหตุที่ถอนร่างประกาศฯ ว่า เป็นการถอนเพื่อเอาไปปรับแก้ เนื่องจากเนื้อหาในร่างประกาศฯ นี้บางส่วน ยังมีข้ออ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่ เพราะมีบางถ้อยคำที่คนอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ต้องไปตีความกันอีก โดยเฉพาะในหมวดที่ 2 ที่มีถ้อยคำต้องปรับแก้มากหน่อย ยืนยันว่าการถอนร่างประกาศฯ นี้ออกที่ประชุม กสท.วันดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ให้นักกฎหมายหลายสำนักรวมถึงฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช.ดูร่างประกาศฯ นี้แล้ว ก็ไม่มีใครท้วงติงเรื่องปัญหาทางข้อกฎหมายแต่อย่างใด

พล.ท.พีระพงษ์ ระบุด้วยว่า จะนำร่างประกาศฯ นี้กลับไปหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อปรับแก้เนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจน จากนั้นจะเสนอกลับไปให้ที่ประชุม กสท.ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 พิจารณาทันที โดยการปรับแก้เนื้อหาครั้งนี้ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์บางคนหรือบางกลุ่ม

อนึ่ง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....  มีใจความถึงเนื้อหาที่ต้องห้ามนำเสนอในสื่อวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขยายความจากมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการการดำเนินรายการที่เน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จตุพร พรหมพันธุ์

Posted: 30 Oct 2013 06:13 AM PDT

"เมื่อไปถึงซอยตันแล้ว พอมีเรื่อง พวกเราก็ไม่หนีเสียด้วยสิ แต่ไม่รู้พวกพาไปด้วย อ้าว หายหน้าไปไหนหมดแล้วตอนนั้น แล้วก็ไปตายเรียบกันในซอยตัน ชันสูตรว่าเป็นชายไทยชุดแดงอีกแล้วครับท่าน แล้วคนพาไป ... อ้าวหายไปไหนแล้ว ผมถึงบอกว่าผมไม่ร่วมเข้าซอยตันด้วย ผมจะมารอที่ถนนใหญ่ เพราะขบวนการประชาชนนี้จะพาประชาชนไปถูกฆ่าไม่ได้ ซอยนั้นเป็นจุดล็อกเป้า จุดลวงสังหาร ด้วยความรักผมถึงบอกว่าอย่าเข้าไปเลย"

แกนนำ นปช. ระหว่างแถลงข่าวไม่ร่วมนิรโทษกรรมสุดซอย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: 40 ปี 14 ตุลา: ความรุนแรงกับการเมืองไทย (2)

Posted: 30 Oct 2013 05:54 AM PDT

ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ที่สังคมไทยถือว่าเป็นความรุนแรงทางการเมืองทั้ง4 เหตุการณ์ คือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, 17-20 พฤษภาคม 2535 และ 10เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 โดยยกเลิกการจัดประเภทแบบเหมารวมว่าเป็น "ความรุนแรงโดยรัฐ"และยอมรับความเป็นจริงว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ของ "ความรุนแรงโดยภาคที่ไม่ใช่รัฐ"หรือ "ความรุนแรงโดยสังคม" ที่พลเรือนมีส่วนคร่าชีวิตพลเรือนด้วยกันทั้งในทางตรงและทางอ้อม

คำถามคือความรุนแรงทั้งสองแบบมีหน้าที่ในสังคมแตกต่างกันอย่างไร?

ในกรณี 14 ตุลาคม2516 และ 17-20 พฤษภาคม 2535 การประทุษร้ายประชาชนเป็น "ความรุนแรงเชิงปราบปราม"ที่ดำเนินไปโดยกองกำลังของรัฐ ยิ่งกว่านั้นคือปฏิบัติการทำร้ายประชาชนเกิดขึ้นในเวลาที่ถนอม (14 ตุลาคม)และสุจินดา (17-20 พฤษภาคม) มีอำนาจในความเป็นจริง ผู้นำทั้งสองรายจึงพัวพันกับความรุนแรงจนปฏิเสธไม่ได้แม้ถนอมจะอ้างว่าความรุนแรงปี 2516เกิดจากกองกำลังที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลก็ตาม

ในกรณีตุลาคม 2516 ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นขณะที่มีการเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมแต่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลยอมปล่อยผู้นำนักศึกษา ตกลงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน1 ปี และเกิดพระราชดำรัสกับผู้นำนักศึกษาในเย็นวันที่13 ตุลาคม ว่า "รัฐบาลได้โอนอ่อนผ่อนตามมากแล้ว...สิ่งที่ได้มาควรพอใจ" รวมทั้งมีผู้นำนักศึกษาได้ "ขอให้"ผู้แทนราชสำนักอ่านพระราชกระแสนี้ซ้ำใหม่เพื่อยุติการชุมนุมในเช้ามืดของวันที่ 14ตุลาคม

ปริศนาซึ่งยังไร้คำอธิบายที่ดีคืออะไรทำให้ตำรวจปะทะประชาชนบริเวณหน้าสวนจิตรในยามซึ่งการชุมนุมแทบยุติแล้วประเด็นนี้สำคัญเพราะการปะทะคือข้ออ้างให้ทหารตำรวจใช้กำลังอย่างต่อเนื่องแม้มีพระราชดำรัสแต่งตั้งนายกคนใหม่ในเย็นวันที่14 โดยถนอมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อไป การลาออกของถนอมจากตำแหน่งนายกจึงไม่ได้ปิดฉากการใช้กำลังไปด้วยและต้องรอจนถนอมออกนอกประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 18.40 น. ความรุนแรงจึงยุติลงจริงๆ

ถึงตรงนี้การสร้างคำอธิบายว่าการปะทะคืออุบัติเหตุจึงเป็นวาทกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการสืบสาวว่าใครอยู่เบื้องหลังคำสั่งปะทะและการปราบปรามในปี2516 ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา

ในกรณี 2535 ความรุนแรงเริ่มเมื่อตำรวจไม่ให้ผู้ชุมนุมข้ามสะพานผ่านฟ้าไปทำเนียบในคืนที่17 พฤษภาคม เพื่อขับไล่สุจินดาในฐานะนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นโรงพักนางเลิ้งถูกเผาจนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้ทหารประทุษร้ายผู้ชุมนุมต่อเนื่องถึงคืนวันที่19 ต่อมามีพระราชกระแสให้สุจินดาและจำลองเข้าเฝ้าเวลา 21.30 ของวันที่ 20 พร้อมพระราชดำรัส"ขอให้หันหน้าเข้าหากัน" แต่ก็ต้องรอถึง 24พฤษภาคม กว่าสุจินดาจะลาออกไป

แม้ 14 ตุลาคม และ17-20 พฤษภาคม จะเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำทุกกลุ่มชิงความได้เปรียบจากเหตุการณ์ทั้งหมดแต่เหตุการณ์แรกเกิดเมื่อเครือข่ายถนอมคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ส่วนเหตุการณ์หลังเกิดเมื่อผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพเรียนทหารรุ่นเดียวกันจนกองทัพมีเอกภาพระดับไม่เคยมีมาก่อนความรุนแรงทั้งสองกรณีจึงดำเนินไปในขณะที่อำนาจการเมืองควบแน่นกับอำนาจทางทหาร ผลก็คือการใช้ทหารจรรโลงอำนาจผู้นำการเมืองเป็นไปได้อย่างแทบสมบูรณ์

ในแง่นี้ "ความรุนแรงเชิงปราบปราม"คือความรุนแรงที่รัฐเป็นผู้สั่งการและกองกำลังของรัฐเป็นผู้ปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบโดยถือว่าความมั่นคงของผู้นำคือเป้าหมายที่ชอบธรรมในตัวเองความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาที่ผู้สั่งการเชื่อว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้อีกแล้วจึงเป็นความรุนแรงที่ไม่ต้องการความสนับสนุนจากคนกลุ่มไหนยิ่งกว่าอำนาจสั่งให้ทหารตำรวจไปฆ่าคนตามอำเภอใจ

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ความรุนแรงแบบนี้มีโอกาสถูกตราหน้าเป็น"ทรราช" ได้ตลอดเวลา  เพราะน้อยเหลือเกินที่การปราบปรามจะชนะในระยะยาว

บทเรียนในกรณี 14ตุลาคม 2516 และ 17-20 พฤษภาคม 2535 คือต่อให้ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนได้สำเร็จความรุนแรงเชิงการปราบปรามก็มีศักยภาพที่จะทำให้ฝ่ายปราบปรามสูญเสียอำนาจการเมืองและการทหารระดับซึ่งเคยมีไปอย่างไม่มีวันกลับเพราะการไล่ล่าทรราชคือโอกาสในการต้านทรราชเท่ากับเป็นโอกาสในการช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายทรราชเอง ทรราชที่พ่ายแพ้จึงต้องเผชิญกับศัตรูที่มากมายมหาศาลจนคำว่ามิตรหมดความหมายไปในพริบตา

ในบางกรณี แม้ผู้ปราบปรามจะหลุดพ้นจากความผิดทางกฎหมายแต่ความพยายามถึงรุ่นหลานก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คำว่าทรราชไม่ใช่คำนำหน้าผู้พัวพันกับการฆ่าประชาชน

ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไปไม่มีใครอยากได้ชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงแบบนี้ ผลก็คือการรำลึกเหตุการณ์ประเภทนี้ทำง่ายถึงขั้นอาจกลายเป็นรัฐพิธี หรือเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำแห่งชาติที่ถูกถ่ายทอดอย่างไม่เป็นทางการซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ได้ด้วยซ้ำผู้ถูกปราบคือวีรบุรุษผู้ต่อต้านทรราชของชาติ ส่วนระยะห่างกับการปราบปรามของทรราชเป็นเรื่องยอมรับได้สำหรับทุกฝ่ายตั้งแต่อดีตพันธมิตรของฝ่ายทรราชเองไปจนถึงฝ่ายที่ถูกทรราชปราบปรามจริงๆ

ในกรณี 6 ตุลาคม 2519การประทุษร้ายเกิดในเวลาที่นักศึกษารวมตัวอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตัวการชุมนุมเองจึงไม่ได้เป็นอันตรายกับคนกลุ่มไหนในสังคมทั้งนั้น  จะปล่อยให้นักศึกษาชุมนุมไปก็ได้  แต่ฝ่ายผู้ฆ่าและผู้สนับสนุนการฆ่ากลับลากการชุมนุมไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นผู้ชุมนุมกลายเป็นคนต่างด้าวและผู้ก่อการร้ายจนไม่เหลือเหตุผลให้ไม่ฆ่าและปล่อยให้ผู้ชุมนุมมีชีวิตต่อไปอีก  - อย่างน้อยก็ในทรรศนะของผู้ฆ่าในวันที่ 6 ตุลาคม

ในเช้าวันนั้น คนพวกแรกที่บุกเข้าธรรมศาสตร์คือประชาชนและกองกำลังกึ่งรัฐอย่างลูกเสือชาวบ้านกระทิงแดง และตำรวจตระเวนชายแดนภายใต้การนำของเสน่ห์ สิทธิพันธ์ ยิ่งกว่านั้นคือประชาชนฝ่ายขวาทั้งกลุ่มที่ลงมือฆ่าและกลุ่มอื่นล้วนอ้างเหมือนกันว่าการฆ่านักศึกษาคือสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์คุมสถานการณ์ไม่ได้ การฆ่าจึงทำให้ผู้ฆ่าได้โอกาสขจัดประชาชนและนักศึกษาขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลงไป

มีผู้ศึกษาไว้มากแล้วว่าสังคมไทยช่วงก่อน 6 ตุลาคม เต็มไปด้วยใบอนุญาตให้ฆ่าประชาชนในรูปหนังสือ คำปราศรัย เพลงปลุกใจ ฯลฯภาพฆ่าและทำร้ายศพแสดงให้เห็นว่าพลเรือนทั้งชาย หญิง และเด็กคือผู้ฆ่าและผู้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ การฆ่าได้รับการสนับสนุนจากคนแทบทุกกลุ่มตั้งแต่พระ นักเขียนเจ้าของโรงแรมห้าดาว อาจารย์มหาวิทยาลัย ดาราหนัง สื่อมวลชน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ฝ่ายนักศึกษาเอง

แม้บรรยากาศหลังวันที่6 ตุลาคม จะเต็มไปด้วยความปรีดา ซ้ำผู้ที่เกี่ยวพันกับการฆ่าล้วนยืนยันความมีเหตุมีผลในการฆ่าอย่างไม่ขาดสายตัวอย่างเช่นเสน่ห์อ้างว่ามีอุโมงค์ที่ธรรมศาสตร์แต่เปิดเผยหลักฐานไม่ได้และเถียงข้างๆ คูๆ ว่าถ้าตำรวจใช้กระสุนจริง อาคารของมหาวิทยาลัยคงพังไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็แทบไม่มีใครแสดงตัวอย่างภาคภูมิใจว่าพัวพันกับการฆ่าในวันนั้นอีกไม่ต้องพูดถึงการยืนยันว่าถูกแล้วที่ฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอย่างที่เคยพูดกัน

ผ่านไปสี่สิบปีตอนนี้ไม่มีใครอยากรื้อฟื้นเหตุการณ์หกตุลาแล้วฝ่ายผู้สูญเสียคือฝ่ายที่จริงจังกับการรำลึกเหตุการณ์นี้อย่างต่อเนื่องมากที่สุดถัดจากนั้นก็คือฝ่ายซึ่งต้องการใช้หกตุลาอภิปรายปัญหาการเมืองบางอย่างในปัจจุบันส่วนฝ่ายผู้ฆ่าหรือผู้สนับสนุนการฆ่าหายไปจากเรื่องนี้เฉยๆ ราวกับการฆ่าไม่เคยเกิดขึ้นและพวกเขาไม่เคยมีตัวตน

การประทุษร้ายและความรุนแรงในกรณี10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 กำลังเดินไปสู่วัฎจักรคล้ายกับหกตุลานั่นคือแม้รัฐจะเป็นผู้สั่งการและปฏิบัติการฆ่า แต่การฆ่าก็ดำเนินไปด้วยความสนับสนุนของหมอพ่อค้า นักสิทธิมนุษยชน พรรคการเมือง นักธุรกิจ ทหาร อาจารย์มหาวิทยาลัย  นักแสดง พระ นักเขียน  นักศึกษา ฯลฯ ซึ่งยิ่งเวลาผ่านไปทุกฝ่ายก็ยิ่งวางระยะห่างกับเหตุการณ์นี้ จนในที่สุดจะมีแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดทางศีลธรรมและการเมือง

ถึงตอนนี้ ความรุนแรงในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 มีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างจากความรุนแรงเชิงปราบปรามในกรณี14 ตุลาคม 2516 และ 17-19 พฤษภาคม 2535 อย่างน้อย 3 มิติ

มิติแรกความรุนแรงเกิดขึ้นโดยรัฐอาจเป็นผู้สั่งการ หรืออาจไม่มีผู้สั่งการที่ชัดเจนเลยก็ได้แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือพลังส่วนที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยให้เกิดความรุนแรงทั้งหมดรวมทั้งการลงมือทำลายชีวิตโดยตรง 

มิติที่สองความรุนแรงแบบนี้ต้องการฐานสนับสนุนทางสังคมที่กว้างขวางจนกระบวนการสร้างความชอบธรรมอย่างเป็นระบบคือเงื่อนไขเบื้องต้นซึ่งจำเป็นก่อนที่จะเกิดปฏิบัติการรุนแรงและการฆ่าที่เป็นรูปธรรมจริงๆ

มิติที่สามแม้ผู้ใช้ความรุนแรงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าไม่ถูกตราหน้าเป็น "ทรราช"ซ้ำยังเป็นไปได้ที่จะเป็นวีรบุรุษในเวลาที่ปฏิบัติการรุนแรงล่วงไปไม่นานแต่ในที่สุดผู้บัญชาการฆ่าจะมีฐานะเป็นแพะรับบาปทางศีลธรรมของสังคม

ข้าพเจ้าอยากเรียกความรุนแรงแบบที่เกิดในวันที่6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ว่าเป็นความรุนแรงเชิงบูชายัญ ความรุนแรงประเภทนี้มุ่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวางในนามของการพิทักษ์สังคมจากสภาวะผันผวนที่สังคมเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่ามีศักยภาพจะทำลายระเบียบสังคมทั้งหมดความรุนแรงจึงมีความชอบธรรมในตัวเองถึงขั้นที่พลเมืองพึงมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งในการประทุษร้ายชีวิตอย่างเต็มไปด้วยความภาคภูมิ

จริงอยู่ว่าเป็นไปได้ที่ความรุนแรงเชิงปราบปรามในกรณีตุลาคม2516 หรือพฤษภาคม 2535 จะเกิดจากอุบัติเหตุ การวางแผนซ้อนแผนเพื่อแย่งอำนาจโดยพวกเดียวกันหรือเป็นปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันเฉพาะหน้าของฝ่ายทรราชเพื่อตอบโต้การลุกฮือของมวลชนที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ความรุนแรงเชิงบูชายัญในกรณี 2519 และ 2553 คือผลของการเลือกคร่าชีวิตมนุษย์บางกลุ่มโดยสังคมผ่านการคิดคำนวณแล้วว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่สังคมได้จากการพรากชีวิตพวกเขาไป

ในกรณีแบบนี้ การคร่าชีวิตเป็นสัญลักษณ์ว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมเห็นว่ามีค่าและชีวิตที่ถูกฆ่าคือชีวิตที่สังคมเห็นว่าไร้ค่าจนชอบธรรมที่จะประกอบกิจกรรมบูชายัญรวมหมู่เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่สังคมถือว่าสำคัญ

น่าสังเกตว่าในการอภิปรายเรื่องความรุนแรงในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ประเด็นที่ฝ่ายผู้สูญเสียพูดถึงมากที่สุดคือการยืนยันความบริสุทธิ์โดยวิธียืนกรานว่าผู้ที่ตายหรือบาดเจ็บนั้นไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือคอมมูนิสม์แม้ข้อโต้แย้งนี้จะตรงประเด็นแต่ผลในด้านกลับคือการรับรองตรรกะว่าสังคมสามารถใช้วิธีรุนแรงและการฆ่าเพื่อขจัดบุคคลหรือกลุ่มที่ถูกถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งที่การฆ่าเกิดขึ้นไม่ได้ ต่อให้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริง

ขณะที่เป็นเรื่องง่ายที่จะรำลึกความรุนแรงเชิงปราบปรามเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยย้อนหลังต่อทรราชสภาพที่มนุษย์ฆ่าหรือสนับสนุนให้ฆ่ามนุษย์ด้วยกันอย่างวิปริตทำให้ความรุนแรงเพื่อบูชายัญกลับจำยากและน่าสะอิดสะเอียนความรุนแรงแบบนี้จึงเริ่มต้นในฐานะกิจกรรมสาธารณะก่อนที่จะกลายเป็นความเงียบ เพื่อให้สังคมลืมด้านอันโหดร้ายหรือชำระความบริสุทธิ์ให้กับสิ่งที่มีค่าซึ่งดำรงอยู่ผ่านอาชญากรรมรวมหมู่ในทางใดทางหนึ่งของสังคม

ในวาระ 40 ปี 14ตุลาคม  แม้สังคมไทยจะเต็มไปด้วยประสบการณ์ว่ารัฐประหารเกิดได้ทุกเมื่อแต่ผู้นำทหารแบบเผด็จการทรราชนั้นไม่มีทางเกิดได้ง่ายอย่างที่ผ่านมา ความรุนแรงเชิงปราบปรามเพื่ออำนาจของผู้นำแบบ2516 และ 2535  จึงไม่น่าจะมีให้เห็นอีก ประเด็นสำคัญคือสังคมไทยมีเชื้อมูลสำหรับความรุนแรงเพื่อบูชายัญจนเกินพอ  ความรุนแรงในนามของส่วนรวมแบบ 2519 และ 2553 จึงเป็นไปได้เสมอแม้สังคมไทยจะเผชิญความโหดเหี้ยมแบบนี้มากเกินไปแล้วก็ตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐไทย:รัฐศาสนาหรือรัฐฆราวาส

Posted: 30 Oct 2013 05:52 AM PDT

ได้อ่านบทความ "กรณีสังฆราชสิ้นพระชนม์ และรัฐศาสนาอำพราง?" ของคุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ของกลุ่ม พุทธศาสน์ของราษฎรแล้วรู้สึกซาบซึ้งเป็นพระคุณยิ่งเพราะได้รับทราบข้อมูลใหม่มากมายเกี่ยวกับการเมืองภายในคณะสงฆ์และมีความเห็นด้วยในหลายประเด็น ของบทความแต่อย่างไรก็ตามในประเด็นตอนท้าย ผู้เขียนกลับมีความคิดเห็นไม่เหมือนกับคุณภิญญพันธุ์ อยู่ 2 ประการ ดังต่อไปนี้

1.คุณภิญญพันธุ์เขียนถึงประโยคหนึ่งว่าสังคมไทยเป็น "สังคมที่คนนับถือพุทธศาสนาน้อยลงทุกที"  สำหรับตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นการเขียนอ้างโดยลอยๆ ไม่ได้มีหลักฐานในการยืนยัน (1) อาจจะจริงที่ว่าเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่กล้าประกาศว่าตัวเองในโลกไซเบอร์ว่าเป็นคนไร้ศาสนา  สำหรับผู้เขียนเองซึ่งกล้าประกาศตนเองว่าเป็นคนไร้ศาสนา (อย่างน้อยก็กับคนรอบข้างๆ) ก็ยังเห็นว่าสัดส่วนในการประกาศตัวเช่นนี้ของคนไทยยังน้อยมากและอยู่ในพื้นที่จำกัดเช่นมักอยู่ในโลกไซเบอร์และอยู่ในเว็บไซต์ที่ไม่หัวอนุรักษ์นิยมเกินไปนัก  ถึงแม้สังคมไทยจะไม่อนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้วเหมือนตะวันออกกลางที่ผู้ประกาศตนว่าไม่นับถือศาสนาอะไรหรือล้อเลียนศาสนาต้องถูกลงโทษทางกฏหมายอย่างรุนแรง แต่สังคมไทยก็ไม่อิสระในด้านการแสดงตนเช่นนี้เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสหรัฐฯ หรือยุโรปหลายประเทศซึ่งทำให้มีการสำรวจและแสดงจำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาได้อย่างสะดวก (อันนี้หาดูได้ในเว็บไซต์ทั่วไปแม้แต่วิกีพีเดีย)  ยิ่งรัฐไทยพยายามโยงศาสนาเข้ากับสถาบันสำคัญดังเช่นวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ยิ่งทำให้ศาสนาดูทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่ประกาศตนว่าไม่มีศาสนาก็ยิ่งเหมือนยักษ์เหมือนมารเช่นเดียวกับพวกคอมมิวนิสต์ แม้ว่าจะไม่มีกฏหมายแต่ก็มีกฏสังคมที่มีพลังในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนเช่นการดูถูกเหยียดหยามหรือการประนาม เราจึงไม่ทราบว่ามีผู้เลิกนับถือศาสนาพุทธที่ไม่ประกาศตัวเองเป็นจำนวนเท่าไร มีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่

ส่วนพฤติกรรมหรือความคิดของคนจำนวนมหาศาลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านว่าพุทธแต่กลับเป็น "อพุทธ"(un-Buddhistic) เช่นมีพฤติกรรมผิดศีล คดโกง ฉ้อราษฎรบังหลวง นอกใจคู่สมรสฯลฯ  อันเป็นเหตุให้เรามองว่าชาวพุทธลดจำนวนลง แต่ในความจริงคนเหล่านั้นก็ยังเข้าร่วมพิธีกรรมทางพุทธ (ผสมกับพราหมณ์และไสยศาสตร์)อยู่เนืองๆ  นอกจากนี้การที่ผู้มีอำนาจหลายท่านประกาศตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนหรือใกล้ชิดกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเองไปพร้อมๆ กับอำพรางความชั่วของตนนั้นเอง ผู้เขียนเคยเห็นภาพของผู้บริหารหน่วยงานหนึ่งซึ่งเป็นเอกทัตคะในด้านโกงกิน ฉ้อราษฎรบังหลวงนั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่ข้างๆ พระชื่อดังรูปหนึ่งเพื่อถ่ายรูปในการออกสื่อ ดูมลังเมลืองเป็นยิ่งนัก

ใยไม่นับคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมหรือปฏิบัติตามหลักคำสอนเท่าใดนักแต่ก็หวังใช้พิธีกรรมและหลักคำสอนของพุทธทางด้านจิตวิทยาจากหนังสือของพระชื่อดัง (แทนที่จะเป็นพระไตรปีฏก) เพื่อปลอบใจตัวเองในหลายครั้งที่ต้องพบกับปัญหาชีวิตหรือการพลัดพรากจากคนที่รักซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้คิดจะประกาศตนว่าไม่ได้นับถือพุทธแต่ประการใด แต่น่าจะจัดว่าคนเหล่านั้นเป็นพุทธแบบเฉพาะกิจ (Occasional Buddhists)  หรือพฤติกรรมของชาวพุทธแบบเปลือก(2)  มากกว่าจะนิยามว่าเป็นคนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

2.คุณภิญญพันธุ์ยังกล่าวว่า "รัฐไทยอาจเป็นรัฐศาสนาอำพรางที่แฝงตัวอยู่" ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยเพราะจริงๆ แล้วรัฐไทยคือรัฐแห่งการผสมผสานอย่างสับสนมั่วซั่วระหว่างรัฐฆราวาสและรัฐศาสนา(ใช้ภาษาอังกฤษคือ confusing hybrid) อย่างเปิดเผยมานานแล้ว เป็นความจริงที่ว่าเราไม่ได้ใช้กฏหมายของศาสนามาเป็นกฏหมายหรือองค์กรทางสงฆ์ไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองชัดเจนเหมือนประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศ  แต่เราก็ได้ถูกศาสนาพุทธเข้ามามีอิทธิเหนือความคิดและวิถีชีวิตอย่างมากมายมหาศาล อันเป็นการเสริมสร้างอำนาจของรัฐผ่านศาสนาและองค์กรสงฆ์ นับตั้งแต่เราเกิด (ก็ถูกแจ้งในทะเบียนบ้านว่านับถือพุทธไปแล้ว)  จนไปเข้าเรียนที่โรงเรียนซึ่งบังคับให้นักเรียนต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิ ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ  (ซึ่งผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่งเพราะถ้าเราบอกกับครูว่าเราจะไม่นั่งสวดมนต์หรือเรียนวิชาเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพราะเราไม่ศรัทธาในศาสนาพุทธ เราก็จะถูกครูลงโทษ) ส่วนผู้ชายไทยซึ่งมีอายุมากหน่อยก็มักจะถูกถามว่าเคยบวชแล้วหรือยัง (ซึ่งคนถามบางทีก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าคนที่บวชแล้วจะดีกว่าคนยังไม่ได้บวชหรือไม่ แต่มักจะมีความเชื่อเรื่องบารมีหรือบุญตอบแทนพ่อแม่มาอธิบายแทน)

ในวันพระหรือวันหยุดทางศาสนาก็จะมีคนถามว่าเราไปทำบุญหรือยัง ถ้าตอบแบบขวานผ่าซากว่าไม่เคยทำบุญหรือไม่เคยคิดไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นอันขาดก็จะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ (อันนี้ผู้เขียนโดนเข้ากับตัวเอง) เช่นเดียวกับรายการโทรทัศน์ที่เวลาผู้ดำเนินรายการเสนอข่าวเกี่ยวกับโพลที่สำรวจการทำบุญที่วัด สังเกตให้ดีหากมีจำนวนคนตอบว่าไม่ทำบุญที่วัดมีมาก ผู้ดำเนินรายการก็มักทำสีหน้าและน้ำเสียงไม่สู้จะสบายใจนักราวกับจะมองว่าการทำบุญหรือการทำสมาธิที่วัดคือศีลธรรมขั้นสูงสุด   หรือแม้แต่ตอนท้ายสุดของชีวิตมนุษย์  ผู้เขียนคิดว่าคงมีคนจำนวนมากที่นึกไม่ออกถึงภาพการฝังศพที่ผู้ตายถูกระบุว่าเป็นชาวพุทธจะไม่มีเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาพุทธมาเกี่ยวเป็นอย่างไร  เช่นเอาไปฝังหรือเผาและมีการกล่าวไว้อาลัยเฉยๆ  ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะแยกย้ายกันไป

นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังว่าพระเป็นบุคคลที่เราต้องพินอบพิเทา ให้ความเคารพ การด่าว่าพระจะต้องเป็นบาป ตกนรก   ฆราวาสผู้หยาบช้าต้องปรนนิบัติรับใช้พระผู้ประเสริฐทุกอย่าง ทั้งที่ความจริงแล้วพระก็เป็นบุคคลหนึ่งไม่ควรถูกอุปโลกน์ให้เป็นอีกชนชั้นหนึ่งตามความคิดแบบศักดินา เพราะตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย พระก็มีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับฆราวาสทั้งหลาย ที่แตกต่างก็เพียงเพราะเป็นนักบวชในศาสนาหนึ่งเท่านั้นที่พยายามผูกขาดวาทกรรมความดีไว้กับตัวเอง  อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีพระจำนวนมากที่มีพฤติกรรมชั่วช้าก็ถูกสังคมก่นด่าประนาม แต่ก็คงมีชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่งนอกจากในสังคมโลกไซเบอร์ที่ยังคงคาดหวังต่อพระดีๆ อยู่และยังคงยึดมั่นในแนวคิด "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" อยู่มาก โดยไม่เข้าใจว่าพระก็เป็นบุคคลสาธารณะที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผู้เขียนคิดว่าชาวพุทธแบบสลิ่ม (passive) เช่นนี้น่าจะมีเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าก็จะเกิดปรากฏการณ์พระเซเลปเจ้าของวลี "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน"  พระใส่แว่นตาดำนั่งเครื่องบินเจตต์ อดีตพระที่เขียนหนังสือออกมาสารภาพว่าตัวเองเสียความบริสุทธิ์ตอนอายุ 60 กว่า ฯลฯ ออกมาเรื่อยๆ ในอนาคต   

ที่สำคัญที่สุด รัฐไทยได้ผูกอัตลักษณ์ของความเป็นคนไทย หรือความเป็นคนดี ไว้กับศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งพิธีกรรมของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนที่ขาดไม่ได้  รัฐไทยยังกำหนดให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันหยุดและจัดให้มีการถ่ายทอดสดพิธีกรรมทางพุทธในโทรทัศน์ทุกช่อง ทำให้คนหันไปดูเคเบิลทีวีกันเป็นทิวแถว ที่น่าเศร้าคือพิธีกรรมพุทธที่เราศรัทธา (และภูมิใจเพราะมักโยงเข้ากับลัทธิชาตินิยม) มักมาร่วมกับพราหมณ์และไสยศาสตร์ได้อย่างเนียนๆ บนความเชื่อที่ว่าทั้ง 2 ลัทธินี้จะต้องอยู่เชื่อง ๆอยู่ภายใต้อำนาจของวาทกรรมพุทธเหมือนตัว Minions ในเรื่อง Despicable Me  โดยหารู้ความจริงไม่ว่าชาวพุทธจำนวนมากแม้แต่ชนชั้นสูงยังแยกไม่ออกระหว่างพุทธ พราหมณ์ หรือไสยศาสตร์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ผู้เขียนคิดว่าเรากลายเป็นรัฐพุทธแบบจำลอง  (Virtual Buddhist state) มากกว่าจะเป็นรัฐศาสนาแบบแฝงตัว สาเหตุสำคัญเพราะะชาวไทยจำนวนมากก็แยกไม่ออกระหว่างคำว่ารัฐฆราวาสกับรัฐศาสนา และไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าหรือความสำคัญของความเป็นรัฐฆราวาส (secular state)  ดังเช่นตอนเที่ยงวันหนึ่งก่อนจะอ่านบทความของคุณภิญญพันธุ์  ผู้เขียนออกไปทานข้าวกับเพื่อนร่วมงาน ได้แลเห็นเสาธงของที่ทำงานลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแก่การสิ้นพระชนม์ของพระสังฆราช ผู้เขียนได้บ่นว่าไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะเป็นการเอาศาสนามาปนกับเรื่องของรัฐ  หากสถาบันศึกษาหรือองค์กรใดๆ เป็นของศาสนาอื่น จำเป็นต้องลดธงลงหรือไม่ เพื่อนของผู้เขียนทำหน้าเหมือนไม่เข้าใจ ผู้เขียนมาคิดว่าตอนที่มีการต่อสู้รณรงค์ให้ศาสนาพุทธถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญในฐานะศาสนาประจำชาติ (3) เมื่อหลายปีก่อน หากรัฐจัดให้มีการลงประชามติอย่างเป็นทางการจริงๆ อย่างที่ชาวพุทธหัวเคร่งศาสนาหลายกลุ่มเรียกร้องก็คงจะผ่านฉลุยโดยหารู้ไม่ว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเช่นการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของคนไทยจะถูกลดทอนลงอย่างมหาศาลอย่างไร

ดังนั้นรัฐไทยจึงสามารถกำหนดวาทกรรมพุทธให้เหนือชีวิตของคนไทยมักน้อยแค่ไหนก็ได้ ไม่ต้อง      อำพรางทั้งสิ้น   ยิ่งผูกเข้ากับสถาบันเบื้องสูงก็จะ unlimited เข้าไปอีกแม้ว่าจะกระทบกับชีวิตแบบสุขนิยมของคนไทยก็ตามเช่นให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลหรือปิดสถาบันบันเทิงและอาบอบนวดในวันสำคัญทางศาสนา (4)ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับนักเขียนในประชาไทหลายคนที่เคยออกมาโวยวายว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ

ผู้เขียนนอกจากจะแย้งความคิดของบทความดังกล่าวแล้วยังใคร่อยากจะตั้งคำถามเหมือนกับนักเขียนหลายท่านในประชาไท ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องลดความเป็นพุทธหรือ De-Buddhistize สังคมไทยให้เป็นรัฐฆราวาสและตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล กับคุณค่าของประชาธิปไตยเช่นเคารพสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายของปัจเจกชนอย่างแท้จริงมากกว่าความเชื่อที่ผสมผสมกันระหว่างพุทธ พราหมณ์ ไสยศาสตร์ ศักดินา ทุนนิยม อำนาจนิยมอย่างที่รัฐไทยพุทธกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

เชิงอรรถ
(1) ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าในหลายประโยคนี้ไม่มีการอ้างอิงแต่เป็นการกล่าวลอยๆ เช่นกัน ด้วยมาจากความรู้สึกและมุมมองของผู้เขียนเอง  ดังนั้นผู้อ่านบทความนี้ซึ่งหลายท่านมีความรู้มากกว่าผู้เขียนก็คงสามารถใช้วิจารณาแยกแยะได้เอง
(2) นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้แยกแยะระดับของศาสนิกชนออกเป็น 3 ระดับคือ 1.ผู้เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา   2.ผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอน    3.ผู้ที่ยึดติดแต่ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งในข้อ 3 นี้เองที่ท่านถือว่าเป็นแบบเปลือก ส่วนคนที่รอแต่จะใช้หลักคำสอนของพุทธมาใช้เฉพาะบางเวลา ผู้เขียนก็อยากจะจัดไว้ในข้อ 3 ในระดับปริ่มๆ เกือบถึงระดับ 2
(3) ผู้เขียนเคยลักไก่ถามนิสิตในห้องเรียนว่า ศาสนาประจำชาติของไทยคือศาสนาอะไร ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม (น่าจะเกิน 70%) ว่า "ศาสนาพุทธ"!
(4) ในวันสำคัญทางศาสนา (หรือวันสำคัญอื่นๆ) แม้รัฐจะประกาศไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้เขียนคิดว่าผู้ที่เสียผลประโยชน์ไปคือร้านสะดวกซื้ออย่างเช่นเซเว่น อีเลฟเว่นนั้นเอง เพราะคนไทยสามารถแอบไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างอิสระในร้านโชว์ห่วยหรือแม้แต่ผับ สถานบันเทิงแถวบ้านที่มีเงินจ่ายให้กับตำรวจ  ผู้เขียนเคยไป ทานอาหารนอกบ้านที่ร้านหมูจุ่มแห่งหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา  เจ้าของบอกกับผู้เขียนว่าถ้าจะดื่มเบียร์ก็ให้จ่ายเงินทันที และถ้าตำรวจมาตรวจก็ให้บอกว่าเอามาจากบ้าน ซึ่งคนหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายฉ้อฉล และบาป สำหรับผู้เขียนคิดว่าหาหากมองอีกมุมหนึ่งสิ่งนี้เป็นการขบถของปัจเจกชนต่อกฏเกณฑ์ที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐซึ่งก็ไม่ได้นิสัยดีอะไร ฆ่าคนเป็นผักเป็นปลา กดขี่ข่มเห่งเอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่เป็นนิจจะต้องห้ามในเรื่องที่ไร้สาระเช่นนี้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกฎหมายสิทธิฯ แถลงนิรโทษฯ ไม่มีเงื่อนไขสร้างวัฒนธรรมละเมิดสิทธิต่อเนื่อง

Posted: 30 Oct 2013 03:21 AM PDT

30 ต.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ โดยระบุว่าคณะกรรมาธิการจะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้ รวมทั้งการนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน แม้การนิรโทษกรรมเป็นกลไกหนึ่งของหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แต่การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

รายละเอียดระบุว่า 

แถลงการณ์

เรื่อง  ความเห็นทางกฎหมายต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

วันที่ 30 ตุลาคม 2556

            ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ฉบับนายวรชัย เหมะ (กฎหมายนิรโทษกรรม) และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีหลักการ "ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554"  และต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติในการแก้ไขมาตรา 3 ให้บัญญัติว่า  "ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย มีความเห็นต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมาธิการจะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ นั้นมีเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายมุ่งแต่เพียงการนิรโทษกรรมแก่ "บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง" ในระยะเวลาดังกล่าวเท่านั้น แต่การที่คณะกรรมาธิการ ได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงฐานความผิดอันเกิดจากการกล่าวหาขององค์กรหลังการรัฐประหารและการดำเนินงานขององค์กรอื่นสืบเนื่องมา ซึ่งจะรวมถึงความผิดในคดีทุจริตหลายคดี  ครอบคลุมระยะเวลาการกระทำความผิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ซึ่งไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตมาก่อนรวมถึงครอบคลุมถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการในวาระแรก ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 117 ซึ่งบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการว่าอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น รวมถึงขัดต่อหลักการในการร่างกฎหมายอันเป็นหลักการในระดับรัฐธรรมนูญ

2. การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

การนิรโทษกรรมเป็นกระบวนการหนึ่งของการปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นย่อมขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และสร้างวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด(impunity)  ดังนั้นการนิรโทษกรรมนั้นจำเป็นกระทำอย่างมีเงื่อนไขซึ่งควรพิจารณาเงื่อนไขที่สำคัญได้แก่

2.1 เงื่อนเวลาที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งเกิดการรัฐประหารอันเป็นหนึ่งในต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองและสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันที่นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร

แต่การขยายกรอบระยะเวลาให้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นั้น แม้จะเริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองแต่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมจึงต้องยึดถือหลักเกณฑ์ "ความขัดแย้งทางการเมือง" เป็นสำคัญในการกำหนดเงื่อนเวลาเริ่มต้น

2.2 ฐานความผิดที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายที่ต้องการจะนิรโทษกรรม ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เหมะ มีความมุ่งประสงค์ในการนิรโทษกรรมแก่เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง หรือเพราะมูลเหตุแห่งความขัดแย้งของการเมืองของประชาชนเท่านั้น การขยายขอบเขตลักษณะแห่งการนิรโทษกรรมไปถึงความผิดหรือข้อกล่าวหาอื่นใดจากองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐบาลซึ่งจะรวมถึงคดีทุจริตด้วยนั้นจึงไม่สอดคล้องความมุ่งประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในภายหลังซึ่งทำให้ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมได้

อีกทั้งการนิรโทษกรรมซึ่งรวมถึงฐานความผิดต่อชีวิตนั้นย่อมไม่อาจยอมรับได้เพราะสิทธิในชีวิตถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสำคัญที่สุดในฐานะมนุษย์จึง และเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ  6 ซึ่งมีหลักการว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาแต่กำเนิด สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและบุคคลต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจอย่างร้ายแรง และในข้อ  4. มีหลักว่าไม่ว่าภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ เช่นการชุมนุมทางการเมือง สิทธิในชีวิตและร่างกายก็เป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้

2.3   กลุ่มบุคคลที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม แม้การนิรโทษกรรมเป็นกลไกหนึ่งของหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แต่การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้ เพราะนอกจากเป็นการสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนแล้ว การนิรโทษกรรมให้กับผู้นำความเคลื่อนไหวหรือผู้บังคับบัญชาที่มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมไม่ใช่คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็มิอาจถือเป็นเหตุยกเว้นความผิดได้ นอกจากนี้ หากเป็นการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ยังเป็นการงดเว้นการเยียวยาต่อประชาชน เป็นการทำลายกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ขอแสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรยังดำเนินการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไป จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด และทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงความขัดแย้งและไม่อาจออกจากวงเวียนของความรุนแรงได้ในระยะยาว ดังนั้นแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากรอบการนิรโทษกรรมให้รอบคอบ เคารพถึงหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ทั้งนี้ มูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันเรียกร้องให้เร่งรัดให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัวทุกกรณี และรวมมาตรา 112 ด้วย สนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายญาติฯ ในข้อที่ว่า "รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องชะลอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมใดใดไว้ก่อนและจัดให้มีเวทีพูดคุยในระดับชาติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาสังคม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน" และการนิรโทษกรรมนั้นนิรโทษฯประชาชนตั้งแต่ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมความผิดตามมาตรา 112 มีมาตราการชดเชยผู้ได้รับนิรโทษอย่างเหมาะสม ไม่รวมผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรืออำนาจในการสั่งการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการณ์ที่กระทำเกินกว่าเหตุอันสมควร และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองหัวหน้าปชป.ลาออก กก.บห.นำม็อบต้านนิรโทษฯ กันยื่นยุบพรรค

Posted: 30 Oct 2013 02:50 AM PDT

'กรณ์' แถลงความในใจ ลาออก กก.บห.พรรค ต้องการสู้ทุกเวที ยันเคารพระบบรัฐสภา 'อิสสระ สมชัย' ระบุออกเพราะต้องการเคลื่อนอิสระ กันไม่ให้มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยื่นเรื่องไปยัง กกต. เพื่อยุบพรรคประชาธิปัตย์

30 ต.ค. 2556 เนชั่นแชลแนล รายงานว่าเมื่อเวลา 10.15 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่รัฐสภา โดยได้อ่านแถลงการณ์ต่อต้านการที่รัฐบาล ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ขณะนี้มีกรรมการบริหารพรรคและรองหัวหน้าสาขาต่างๆได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้แล้ว อาทิ นายอิสสระ สมชัย นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นต้น ส่วนหลังจากที่ชุมนุมที่สถานีรถไฟแล้วทางพรรคจะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องแต่ไม่สามารถระบุจุดที่จะร่วมชุมนุมได้ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนที่เลือกใช้สถานีรถไฟเพราะเป็นพื้นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมีเส้นทางรถไฟเป็นเส้นเขตแดนตัดขาดจากเขตควบคุม และจากนี้พรรคจะประเมินสถานการณ์ทุกระยะ

ด้านนายอิสสระกล่าวว่า ผู้ที่ลาออกไปร่วมชุมนุมเพื่อต้องการเคลื่อนไหวอย่างอิสระและเป็นการป้องกันไม่ให้มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยื่นเรื่องไปยัง กกต. เพื่อยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อตัดปัญหาจุดนี้ทุกคนจึงขอลาออกจากตำแหน่ง ส่วน ส.ส. จะลาออกหรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ต้องรอดูสถานการณ์ เพราะต้องทำหน้าที่อภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในที่ประชุมสภา

โดยเดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นอกจากนายอิสสระ และนายกรณ์ แล้ว ยังมีนายถาวร เสนเนียมและนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ได้ยื่นใบลาออกจากกรรมการบริหารพรรคด้วย

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช โพสต์ในเฟซบุ๊ก 'Korn Chatikavanij' ยกโควทคำพูดของเพลโต นักปรัชญากรีก ว่า "หนึ่งในการถูกลงโทษเพราะเราปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือการถูกปกครองโดยคนชั้นเลว" พร้อมแถลงความในใจของตัวเอง 

แถลงความในใจ

เมื่อเก้าปีก่อน ตอนที่ผมลาออกจากบริษัทที่ผมตั้งขึ้นมาเองเพื่อไปลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทน ผมไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องมาร่วมต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้

ผมได้เข้ามาทำงานการเมืองด้วยความตั้งใจใว้ว่าจะใช้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงาน 20 ปีในภาคเอกชนในการพัฒนาบ้่านเมือง ผมภูมิใจที่ประชาชนและพรรคได้ให้โอกาสผมทำตามความตั้งใจมาโดยตลอด เพียงแต่ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างในสถานการณ์ปัจจุบัน

วันก่อนมีคนถามผมว่า 'ไม่ทะเลาะกันได้ไหม' ผมตอบว่าคุณรู้หรือไม่ว่าส่วนใหญ่ ฝ่ายค้านเราลงคะแนนสนับสนุนเรื่องที่รัฐบาลนำเสนอในสภาฯ พูดง่ายๆ เราไม่ได้ทะเลาะทุกเรื่อง อะไรที่ตกลงกันได้และเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเราก็ยินดีสนับสนุน

แต่บางเรื่องเราจำเป็นต้องคัดค้าน และมีบางเรื่องที่เรามีหน้าที่ ในฐานะนักการเมือง ที่ต้องใช้สิทธิอันควรในระบอบประชาธิปไตยที่จะต่อต้าน

สำหรับผมเรื่องนั้นคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะ 'ล้างผิด' ให้กับผู้มีอำนาจที่ถูกจับได้ว่าโกงบ้านโกงเมือง ในฐานะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยผมเห็นว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องคัดค้านการใช้อำนาจในการทำลายระบบนิติรัฐที่ถือว่าเป็นเสาหลักสำคัญของสังคม

ดังนั้นเมื่อเขาไม่ฟังเสียงเราเลยในสภาฯ เราก็ต้องออกมาใช้สิทธิเคลื่ิอนไหวเพื่อสื่อสารโดยตรงกับประชาชนนอกสภาฯ เพียงแต่เราต้องไม่ใช้ความรุนแรง และต้องอาศัยพลังของประชาชนในการกดดันให้รัฐบาลทบทวนความคิด

ส่วนที่กังวลว่าเราจะเคลื่อนไหวเพื่อโค่นรัฐบาลหรือไม่ ผมยืนยันว่าส่วนตัวไม่มีเจตนานั้น ผมเพียงต้องการคัดค้านกฎหมายนี้ และไม่ประสงค์จะเข้ามาเป็นรัฐบาลนอกจากในกรณีที่เรามีเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งที่สนับสนุนเรา

ส่วนท่านที่คบกันมากับผมในฐานะเพื่อนทาง facebook ก็คงต้องไตร่ตรองว่าท่านจะมีส่วนร่วมกับผมในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าพวกเราส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ พวกผมก็สู้ไม่ได้ ต้องตัดสินใจกันเองครับ

ต้องตัดสินใจว่าเราจะยอมเป็นประเทศที่พรรครัฐบาลสามารถออกกฎหมายล้างผิดให้พรรคพวกตนเอง ที่ทุจริตต่อบ้านเมืองหรือไม่

ส่วนถ้าใครมีคำถามต่อจุดยืนของผม หรือถามถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในการต่อต้านกฎหมายนี้ ขอให้เขียนเข้ามาถามได้ และคอยติดตามคำชี้แจงของผมครับ

คำถามแรก

ผมจะลาออกจากตำแหน่งบริหารของพรรคตามข่าวจริงหรือ คำตอบคือจริงครับ

ถามว่า

ผมยังเป็นประชาธิปัตย์และเป็นสส.อยู่หรือเปล่า คำตอบคือเป็นครับ เพราะผมต้องการสู้ทุกเวที

ถามว่า การเป่านกหวีดนี้เป็นการไม่เคารพระบบสภาฯหรือเปล่า

ตอบว่าเคารพครับ จึงต้องต่อต้านผู้ที่ยํ่ายีสภาฯด้วยการอ้างเสียงข้้างมากในการใช้สภาฯเป็นเครื่องมือฟอกตัวเอง

ถ้าถามว่าให้ร่วมอย่างไร ในชั้นแรก ไปเจอกันที่จุดนัดพบที่สามเสนได้ครับ

หกโมงเย็น วันพฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2556 นี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: 29 บริษัท ร่วมประมูล 24 ช่องทีวีดิจิตอล

Posted: 30 Oct 2013 02:36 AM PDT


คลิกที่นี่ เพื่อดูรูปขนาดใหญ่

 

กสทช. สรุปจำนวนผู้เข้ายื่นแบบคำขอใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ มีผู้สนใจเข้ายื่นแบบคำขอฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 29 บริษัท 41 แบบคำขอฯ 

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เนื่องจากเอกสารที่นำมายื่นคำขอฯ มีเป็นจำนวนมาก สำนักงาน กสทช.จะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารอย่างละเอียดรอบคอบต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลต่อไป โดยสำนักงาน กสทช.จะประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 45 วัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมจัดสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ในเอเชีย-แปซิฟิก ที่กรุงเทพฯ 18-22 พ.ย.

Posted: 30 Oct 2013 02:23 AM PDT


30 ต.ค.2556 วานนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีการแถลงข่าวการจัดประชุมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (ICAAP 11)  ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

จันทวิภา อภิสุข ประธานร่วมคณะกรรมการจัดการประชุมประเทศเจ้าภาพ กล่าวว่า ธีมของงานปีนี้คือ "เอเชียและแปซิฟิก: เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้ด้วยการลงทุนในนวัตกรรม" ซึ่งจะมุ่งให้เกิด 3 ศูนย์ (triple zero) คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และไม่มีการตีตรา เลือกปฏิบัติ

สำหรับสถานการณ์เรื่องเอดส์ในประเทศไทย จันทวิภา มองว่า ในภาพรวมพัฒนาขึ้นมาก โดยด้านหนึ่งมีองค์กรเอ็นจีโอ ชุมชน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายใหญ่ มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งยังมีเครือข่ายเฉพาะของตัวเอง เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้ใช้ยา นอกจากนี้ เรื่องเอดส์ยังเข้าไปอยู่ในนโยบายหลักประกันสุขภาพ ทำให้การพัฒนาด้านสิทธิดีขึ้น มีการให้ตรวจเลือดได้ปีละ 2 ครั้ง ตรวจ CD4 ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 ที่เปิดให้โทรได้ โดยไม่ต้องบอกชื่อ

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า ยังมีอุปสรรคคือรัฐบาลยังไม่ได้เป็นผู้นำการปฏิบัติ บุคลากรการแพทย์ยังเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ ไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่น แม้จะวางยุทธศาสตร์ 3 ศูนย์ แต่นโยบายเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขบุคลากร คนจึงไม่ไปโรงพยาบาล นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และกำลังสนใจเรื่องการเมือง การแก้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มากกว่าเรื่องสุขภาพอนามัย

จันทวิภา กล่าวว่า สำหรับการประชุมในเดือนหน้านี้ จะมีผู้เข้าร่วมราว 3,500-4,000 คนจากกว่า 35 ประเทศโดยหนึ่งในประเด็นร่วมในภูมิภาคขณะนี้คือเรื่องของการเข้าถึงยา ซึ่งปัจจุบัน แม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่ผู้ป่วยต่างฐานะกัน ก็เข้าถึงยาคนละตัว หรือไม่คนจนก็ตายก่อนคนรวย

ด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาพประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องเอดส์นั้นเป็นความท้าทาย แต่พอมีเรื่องของข้อตกลงการค้าเสรีเข้ามา ซึ่งจะทำให้ยามีราคาแพงและผูกขาด จะส่งผลให้ความท้าทายนั้นกลายเป็นหายนะทันที

กรรณิการ์ กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี 2543 ยาต้นแบบที่จะรักษาเอชไอวีนั้น มีราคาสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หรือหลายหมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่เมื่อมียาชื่อสามัญ ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมนั้น มีค่ายาเพียง 600-700 บาทต่อเดือนเท่านั้น

กรรณิการ์ กล่าวว่า ที่บริษัทยามักอ้างตารางแสดงอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ที่ลดลง ว่าเป็นเพราะนวัตกรรมของบริษัทนั้นไม่จริง เพราะยาที่ผู้ป่วยใช้คือยาชื่อสามัญ ไม่ใช่ยาต้นแบบที่มีราคาสูง และเมื่อยาชื่อสามัญทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่มีกำไรลดลง บริษัทยาจึงพยายามผลักดันมาตรการหลายอย่าง ทั้งการขยายอายุสิทธิบัตรยา ผูกขาดข้อมูลทางยา รวมถึงในข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ยังขยายนิยาม "ยาปลอม" ให้รวมถึงยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งหากยอมรับสิ่งเหล่านี้ จะทำให้การเข้าถึงยาเป็นไปได้ยากขึ้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น