โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คุยกับสุรชัย แซ่ด่าน : เห็นอะไรหลังสงครามในเมือง ในป่า และในคุก

Posted: 27 Oct 2013 10:42 AM PDT

สรุปประวัติของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ พร้อมมุมมองการเมือง ทั้งต่อ รัฐบาล นปช. คนเสื้อแดง นำเสนอการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ รวมถึงไอเดีย "เวลาที่เหมาะสม" สำหรับการนิรโทษกรรมบุคคลต่างๆ

วิดีโอสัมภาษณ์สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ตอบคำถามเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ คิดอย่างไรเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม ใครควรได้รับการนิรโทษกรรม ใครไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม มองสถานการณ์การเมืองในเวลานี้เป็นอย่างไร และชีวิตหลังได้รับอิสรภาพจะเป็นอย่างไร

 

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือนามสกุลเก่าคือ แซ่ด่าน อายุอานาม 72 ปีแต่หน้าตายังสดใส เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง ดูแข็งแรง ในวันที่นัดคุยกันเขามากับภรรยา คือ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ วัย 56 ปี หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า ป้าน้อย ภรรยาผู้คอยเยี่ยมสามีทุกวันตลอด 2 ปี 7 เดือนที่อยู่ในเรือนจำ พร้อมๆ กันนั้น ป้าน้อยยังคอยช่วยเหลือดูแล ประสานงานต่างๆ ให้นักโทษการเมืองคนอื่นๆ ด้วย จนเป็นที่เคารพนับถือของผู้คน

สำหรับสุรชัย เราคงไม่ต้องกล่าวแนะนำตัวอะไรมากนัก เพราะมีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่อาจมีไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า พื้นเพของเขานั้นเป็นคนชั้นล่างโดยทั่วไปของสังคม อาศัยอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช การศึกษาไม่สูง ชีวิตวัยเด็กยากลำบากจนเรียกได้ว่าอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เมื่อเติบใหญ่มีอาชีพซ่อมวิทยุโทรทัศน์ และจับพลัดจับผลูเข้าสู่ "การเมือง" ด้วยสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ม็อบเบ่งบาน รวมถึงม็อบไล่ผู้ว่าฯ ในพื้นที่บ้านของเขาด้วย คุณสมบัติส่วนตัว ที่พูดเก่ง โน้มน้าวใจคนเก่งและรักความเป็นธรรม ประกอบกับช่วงนั้นม็อบขาดคนปราศรัย เพียงเท่านี้ก็ลากเขาจากโต๊ะซ่อมวิทยุมาสู่เวทีปราศรัยเสียฉิบ! ทั้งที่จริงแค่ตั้งใจแวะไปดูการชุมนุม

"ผมไม่เคยผ่านการอบรมวิชาการใดๆ แต่ผมเชื่อว่า การที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยากจนทนทุกข์ แต่คนส่วนน้อยมั่งคั่งมีสุข เป็นเพราะการจัดสรรปันส่วนทางเศรษฐกิจไม่เป็นธรรมนั่นเอง และแม้ผมจะไม่เคยผ่านโรงเรียนการฝึกพูด แต่ผมก็สามารถกล่าวคำพูดให้ประชานนิยมชมชื่นได้ เพราะสิ่งที่ผมกล่าวคือ คำพูดที่ถอดออกมาจากหัวใจอันเป็นดวงเดียวกันกับประชาชนผู้ทุกข์ยากนั่นเอง" (น.143 หนังสือ "ตำนานนักสู่ สุรชัย แซ่ด่าน" ,2530.)

จากผู้นำปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรม สถานการณ์ระลอกที่สองก็ผลักให้เขาไปไกลยิ่งขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงผู้ว่าฯ บานปลายจนมีการเผาจวนผู้ว่าฯ แน่นอน จับใครไม่ได้ก็ต้องแกนนำผู้ปราศรัย เขาจึงหลบหนีเข้าป่าหาพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนคลื่นนักศึกษาจะเข้าป่าหลังถูกปราบในปี 19 ไม่นาน คือ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2519 และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจนวันที่ 23 มิถุนายน 2524 ในวันที่นักศึกษา "อกหัก" พากันกออกจากป่าด้วยนโยบาย 66/23 เขาก็ยังอยู่ที่นั่น และลงจากป่าครั้งสุดท้ายด้วยหน้าที่ "ทูตสันติภาพ" มาเจรจาระหว่างทางการไทยกับ พคท. แต่สุดท้ายถูกจับกุม เขายังคงเรียกการกระทำนั้นว่า "การหักหลัง" มาจนทุกวันนี้

สุรชัย ถูกขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน สถานที่เดียวกับเรือนจำหลักสี่ คุมขังนักโทษการเมืองในปัจจุบัน ในวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ก่อนจะนำมาขังที่เรือนจำบางขวางเมื่อ 27 พฤษภาคม 2525  จากนั้นวันที่ 21 ตุลาคม 2526 ศาลพิพากษาคดีเผาจวนผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ก่อการจลาจลเป็นคดีแรก ลงโทษจำคุก 23 ปี ตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์และปล้นรถไฟ ในวันที่ 29 มกราคม 2529 ซึ่งศาลทหารพิพากษาประหารชีวิต จากนั้นเขาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับพระเมตตาจากโทษประหารก็เหลือจำคุกตลอดชีวิตในปลายปีเดียวกันนั้นเอง สุรชัยอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา ได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระต่างๆ เหมือนนักโทษโดยทั่วไปอีก 5 ครั้ง จึงสามารถออกจากเรือนจำได้ในกลางเดือน มิถุนายน 2539 รวมระยะเวลาในเรือนจำครั้งนั้น 16 ปี

และสำหรับครั้งนี้ ข้อหาหมิ่นสถาบัน อีก 2 ปี 7 เดือน (ระหว่าง. 22 ก.พ.54 – 4 ต.ค. 56 ) จากโทษจริง 12 ปี 6 เดือน โดยใช้ช่องทางเดิม อันที่จริง คดีของเขามีความน่าสนใจในแง่ที่เจ้าหน้าที่พื้นที่ต่างๆ ทยอยแยกกันแจ้งความ โดอยอ้างอิงถ้อยคำจากการเดินสายปราศรัยของเขาในหลายพื้นที่ คำปราศรัยของเขาส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมาและติดตลก แต่ไม่หยาบคายหรือรุนแรง กระนั้นก็ยังไม่สามารถรอดพ้นการฟ้องร้องไปได้

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของชายผู้ผ่านประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมืองกว่า 40 ปี จนปัจจุบันยังคงแอคทีฟในนามกลุ่ม "แดงสยาม" พร้อมทั้งตั้งใจจะจัดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสนามหลวง ... เราจึงขอใช้โอกาสแห่งอิสรภาพพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ กับชายผู้นี้ เป็นการพูดคุยในบ่ายวันหนึ่งก่อนที่ประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะร้อนขึ้นมา



===============

มองสถานการณ์คดี 112 ยังไง ?

มาตรา 112 ไม่ใช่เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ มันมีมาตลอดและมีทางออกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เบื้องต้นถ้าไม่มีใครไปแจ้งความมันก็ไม่เป็นคดี แต่ถ้ามีคนแจ้งความก็เป็นคดี เราจะตัดสินใจเดินทางไหนแต่ละรายต้องรู้ตัวเองว่า สู้คดีชนะไหม ปัญหาหลักก็คือ ได้ประกันตัวหรือเปล่า อย่างยุทธภูมิชนะคดีแต่ติดคุกไปแล้วปีหนึ่ง อย่างนี้จะเรียกว่าชนะอย่างไร

เรื่องประกันตัว เป็นหัวใจสำคัญ คดีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้ประกันตัวถึงชนะคดีก็ติดคุกไปแล้ว

กรณีดา สมยศ จะสู้คดีชนะได้อย่างไร เราต้องอย่าหลอกตัวเอง คนไม่อยากติดคุกและคิดว่าสู้แล้วจะไม่ติดคุกแต่สู้แล้วกลับติดคุกยาวกว่า

ดารณีเคยพูดว่าอยากสร้างบรรทัดฐานคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก คิดยังไง ?

ถามว่ามันได้ผลตรงไหน เรื่องนี้ผมทำมาก่อนตั้งแต่เรื่องเผาจวน ปล้นรถไฟ เราไม่ยอม เราสู้คดีเพื่อเป็นต้นแบบ แล้วผลมันคืออะไร ผลคือโดดเดี่ยวเดียวดายในคุก ผมไม่รับนโยบาย 66/23 เขาบอกมอบตัวจบ แต่เราไม่มอบ เราอยากสร้างต้นแบบเป็นนักปฏิวัติต้องกล้าหาญ กล้าเผชิญ แล้วเป็นยังไง โดดเดี่ยวเดียวดายอยู่ในคุก 16   ปีปรับลดจากโทษประหารชีวิต แล้วออกมายังต้องใช้หนี้แทนพรรคคอมมิวนิสต์อีก 1.2 ล้าน ค่าปล้นรถไฟ พรรคปล้น ไม่ใช่ผม ยิงตำรวจก็คนอื่นยิง ผมไม่ได้เกี่ยวข้องเลย แต่ผมต้องถูกตัดสินประหารชีวิตฟรีๆ โดยไม่ได้ทำผิด แล้วก็ถูกคดีเผาจวน 23 ปีฟรีๆ ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เราถือว่าเราบริสุทธิ์ ต้องการพิสูจน์แล้วเป็นยังไง

คดีนี้เราถึงยอม เพราะถ้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์เราคงแก่ตายในคุก ถามว่าแล้วใครให้คะแนนความบริสุทธิ์คดีเผาจวน ปล้นรถไฟ แม้แต่ในแวดวงเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้ให้ราคาเลย เอาตัวรอดหมด ทิ้งให้เราต้องรับเคราะห์คนเดียว

เหมือนกันกับยุคนี้ไหม ?

เดี๋ยวนี้ยังดีกว่า เพราะมันหลากหลาย ไม่ใช่หลอกคนเสื้อแดงไปติดคุกไม่ดูแล ตอนนี้ก็ดูแลกันหลายส่วน พรรคดูแล คนเสื้อแดงด้วยกันเองดูแล แต่ของเราตอนนั้นไม่มีเลย 6 เดือนไม่มีคนไปเยี่ยมต้องปลูกผักบุ้งขาย ได้วันละ 10 บาทเผื่อจะได้เอาไปซื้อขนมปังกินสักแถวหนึ่ง ต้องซ่อมวิทยุโทรทัศน์หากินในคุก สู้กับขบวนการกรมราชทัณฑ์ มาเฟียบางขวาง ไม่มีใครไปดูแล คนเดือนตุลา พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครไปเหลียวแล ปล่อยให้เราถูกเพิ่มโทษ ถูกลดชั้น ถูกขังซอย ถูกรังแกย่ำยียิ่งกว่าตอนนี้พันเท่า เพราะดันไปเปิดเผยเรื่องทุจริต นสพ.อาทิตย์วิวัฒน์ของชัชรินทร์ (ไชยวัฒน์) นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าในคุกบางขวางมีการค้ายาเสพติด ตั้งตัวเป็นผู้อิทธิพลไหม เราก็บอกไปลงได้แต่อย่าบอกว่าใครบอก แต่เขาก็ดันไปลงว่าสุรชัยให้ข่าวมา เรียบร้อย โกรธทั้งกรมเลย แล้วก็สั่งลดชั้น 2 ชั้น นั่นแหละสิ่งที่ประสบมาแล้ว พิสูจน์มาแล้ว สร้างบรรดทัดฐานมาแล้ว ตัวเราต้องแบกรับหนัก แต่คุณค่าที่เราสร้างไม่มีใครให้คุณค่าเลย

คุณสุรชัยมีบทเรียนทางการเมืองมาหนักหนาสาหัส ทำไมหลังรัฐประหารยังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ?

ก็มันถูกบังคับ ถูกทำ หลังออกจากคุกจริงๆ ก็ต่อสู้แนวทางสภา ปี 2545 ลงสมัคร ส.ว.เลือกตั้งซ่อม ได้ 120,000 คะแนนแต่ถูกประชาธิปัตย์รุม แข่ง 16 คน ปชป.ส่งถวิล ไพรสน ลงเลือกตั้ง ตั้งกองบัญชาการที่สุราษฎร์ กวาดส.ส.จากจังหวัดต่างๆ มารุมเราคนเดียว ใช้เงิน 42 ล้าน จนชนะไป 20,000 กว่าคะแนน แต่เรามีเงินอยู่ 600,000

ไม่คิดจะพักผ่อน ?

ถามว่าจะออกไปได้ยังไง ตอนนี้อยากออก รับปากผู้ใหญ่เลยว่าอยากกลับบ้าน แต่ออกมายังไม่ทันได้เปลี่ยนกางเกง ใส่ขาสั้น เขาพาไปแล้ว วันนี้ถ้าจะให้หยุดก็ได้ ปิดโทรศัพท์แล้วกลับไปอยู่บ้าน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นข่าวจะออกมาดีหรือ เหมือนไก่ถูกขังแล้วปล่อยออกมาก็ฝังเลย แต่พอเปิดโทรศัพท์มันจะอยู่ได้หรือ เขาก็โทรกันมาไม่หยุด คนเสื้อแดงเยอะแยะ แล้วจะบอกว่า "ผมหยุดแล้วครับ" ได้เหรอ เหมือนรถวิ่งมาด้วยความเร็ว 120 แล้วหยุดทันทีมันก็คว่ำ ต้องค่อยๆ ผ่อนความเร็ว คิดว่าทำได้ เพราะเดี๋ยวนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ที่ชุมนุมกันเป็นแสนแล้วไม่ชนะไม่เลิก มันไม่ได้แล้ว ตอนนี้มันสู้กันในคุณภาพมากกว่าแดงกับเหลือง

ช่วยขยายความเรื่องการต่อสู้ในเชิงคุณภาพที่ว่า

สถานการณ์มันคลี่คลาย ฝ่ายเหลืองพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์ หมายความว่า โดยภาพรวมทั้งหมด ที่เขาต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ วันนี้ในที่สุดคนที่เข้าร่วมก็เห็นว่ามันไม่ใช่ เพราะความต้องการให้สังคมหยุดนิ่งและถอยหลังเป็นไปไม่ได้ วันนี้ พูดง่ายๆ ว่า ทักษิณเป็นผู้ร้ายที่เขาชูขึ้นมาเท่านั้นเอง ความขัดแย้งวันนี้ไม่ใช่ทักษิณขัดแย้งกับสนธิ เพื่อไทยขัดแย้งกับประชาธิปัตย์ แต่มันเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างสังคม มันเป็นความขัดแย้งในเรื่องกฎวิวัฒนาการ สังคมมาถึงจุดนี้แล้วมันไม่ไปต่อไม่ได้

การไปข้างหน้าก็คือ การเป็นทุนนิยมเสรี แบบยุโรป ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่สังคมนิยม โลกนี้ยังไม่มีสังคมนิยม จีนก็ยังไม่ใช่ วิวัฒนาการสังคมก็คือ พอถึงยุคศักดินา ก็จะเสื่อมแล้วไปยุคทุนนิยม แล้วก็พัฒนามาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสาร มันถอยหลังไม่ได้ทั้งความคิดของคน พลังการผลิต วิวัฒนาการทางสังคม
หลังจากทุนนิยมเสรีก็จะไปสู่สังคมรัฐสวัสดิการ ไปสู่สังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ว่านานเท่าไรแค่นั้นเอง

ยังเชื่อในคอมมิวนิสต์ ?

แน่นอน สังคมไหนมันจะหยุดนิ่งได้ โลกต้องไปข้างหน้าซึ่งต้องมีรูปการณ์ ไปข้างหน้าไม่รู้ไปไหน ไม่ได้ คนที่เป็นนักสังคมต้องเข้าใจว่าข้างหน้าคืออะไร วันนี้รูปการณ์มันก็ชัดเจน

มองขบวนเสื้อแดงยังไง ?

ในส่วนของสีแดง เขายืนอยู่กับปัจจุบัน วันนี้ทุนโลกาภิวัตน์คือปัจจุบัน ผมไม่ได้บอกว่าทุนโลกภิวัตน์ดีหรือไม่ดี อันที่จริงทุนมันก็ไม่ดีหรอก แต่ถามว่าทุนโลกาภิวัตน์มันก้าวหน้ากว่าทุนอนุรักษ์นิยมไหม

แต่เพื่อนๆ คุณสุรชัยเลือกทุนเก่าเยอะเลย

เขาหลงทาง พอป่าแตก ต้องเข้าใจก่อนว่า คนเดือนตุลาเขาสู้กับเผด็จการทหาร เป้าชัดเจนว่าคือกองทัพ  ผู้ถืออาวุธ แต่หลังจาก 14 ตุลา มันไม่ใช่แล้ว สังคมเปลี่ยน จากคนถือปืนมีอำนาจทางการเมืองมาเป็นคนถือเงิน 14 ตุลาไม่ใช่วันประชาธิปไตยนะ แต่เป็นวันปลดโซ่ตรวนให้ทุนนิยมไทย ทุนไทยได้ประโยชน์ หลังจากนั้นบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ถูกนายทหารเป็นกรรมการเสวยผลประโยชน์ ก็ได้รับอิสระ สามารถสะสมทุน ขยายทุนและเริ่มเข้ามาไต่เต้าทางการเมือง การเมืองเปลี่ยน แล้วหลังจากนั้นคนถือปืนก็พยายามจะต่อสู้ให้ฟื้นมาในยุคสุจินดา ดิ้นเฮือกสุดท้ายแล้วก็จบ ถามว่าวันนี้ทหารยังเข้ามาในการเมืองอยู่นี่ วันนี้มันเป็นเรื่องของทหารหลงยุค ไม่ใช่เจ้าของยุค

เพื่อนๆ ยุคนั้นคิดอีกแบบเพราะ ?

เป้าเปลี่ยนจากทหาร เข้าสู่ยุคทุน ก็ไม่รู้ว่าสู้กับใคร ดังนั้น พอเขาชูทักษิณขึ้นมาว่าเป็นมารร้าย พวกนี้ก็คิดว่าเขาต่อสู้ทุนนิยม

มันเป็นปัญหาแค่เรื่องมองคู่ขัดแย้งหลักต่างกัน หรือมีปัจจัยอื่นด้วย ?

วันนี้ต้องมองให้ออกว่าคู่ขัดแย้งหลักคือใคร ไม่ใช่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เสื้อแดงกับเหลือง คู่ขัดแย้งหลักคือ ทุนใหม่โลกาภิวัตน์กับทุนเก่าอนุรักษ์นิยม ทุนชั้นบนสุดของสังคม ทุนเก่าเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง ทุนใหม่เป็นด้านรอง เสื้อแดงและพรรค เป็นผลสืบเนื่องมาถึงรากหญ้า ถ้าแก้ต้องแก้ที่ยอดบนสุด แต่พวกนี้เป็นโครงสร้างทางอำนาจ ทุนเก่าที่มีอำนาจต่อเนื่องมายาวนานคุมทุกอย่างรวมถึงความเชื่อ เขากลัวทุนใหม่เหมือนแต่ก่อนกลัว ถนอม ประภาส นั่นแหละ พวกจารีตนิยมเขากลัวทหาร ล้มทหารไม่ได้ ถนอมคุมหมด ก็เลยสร้างขบวนการนักศึกษาขึ้นมาไม่รู้ตัว เหมือนกับที่สร้างสนธิ ลิ้มฯ ขึ้นมาในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั่นแหละ

พูดง่ายๆ ว่า เป้าตอนนั้นคือทหาร แต่ตอนนี้เป็นกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ขณะที่ทหารลดต่ำลง ทุนก็ไต่ระดับขึ้น ในช่วงนั้นทั้งต่อสู้และร่วมมือกันระหว่างทหารกับทุน ไต่มา 28 ปี กลุ่มทักษิณตัวแทนทุนโลกาภิวัตน์เข้ามา ทุนเก่าเริ่มกลัวเหมือนกลัวถนอม ดังนั้น จึงชิงลงมือก่อน ล้มทักษิณเสียก่อน แต่บังเอิญว่ามันไม่เหมือนล้มถนอม เพราะถนอมมันอยู่ในระบบราชการ ปลดแล้วก็จบ แต่ทุนใหม่มันไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่มันเป็นตัวแทนรูปการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจของทั้งโลก มันเป็นไปไม่ได้

คำอธิบายนี้เน้นโครงสร้างส่วนบนของอำนาจ คนทั่วๆ ไปอย่างคนเสื้อแดง ในสายตาคุณสุรชัยเป็นยังไง และอยู่ตรงไหนในคำอธิบายของคุณสุรชัย ?

ถามว่า 3 เกลอรู้รึเปล่า ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ารู้หรือยัง เพราะเขามองเป้า ตอนแรกก็สนธิ ลิ้มฯ เหมือนคนเพิ่งต่อยมวยใหม่ ต่อมาก็สู้กับประชาธิปัตย ต่อมาก็สู้กับระบอบอำมาตย์ อาจจะยังไม่รู้ว่าระบอบอำมาตย์คืออะไร หนึ่ง รู้แต่แกล้งไม่รู้ หรืออาจไม่รู้จริงๆ   อาจมีเพดานจำกัด ตรงนั้นก็มีส่วนด้วย แต่พวกเขาเองความเข้าใจก็ยังไม่พอ แต่เดี๋ยวนี้คงรู้เหมือนเสื้อแดงรู้ ตาสว่างเหมือนกัน

คุณวีระ (วีระกานต์ มุสิกพงศ์) ก็เคยโดนจับในคดีหมิ่นฯ คนที่โดนจับในคดีเขาจะมองไม่เห็นสิ่งที่คุณสุรชัยเห็นเลยหรือ ?

ต้องเข้าใจ เขานักการเมืองประเภทผู้กว้างขวาง ไม่ใช่คนต่อสู้แบบคนเดือนตุลา เป้าหมายของเขาไม่ใช่เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม ที่ถูกจับไม่ใช่ปัญหาความคิดแต่เป็นพูดติดลมไป เหมือนพวกเราหลายคนที่โดนคดี 112 บางคนเพราะโกรธ ใช้อารมณ์ ความรู้สึก เช่น ขู่วางระเบิด แต่ถ้าระดับความคิด ดา  สมยศ ผม นี่เป็นระดับความคิด

นี่ก็ยังเป็นส่วนของแกนนำ ในส่วนของมวลชนเห็นยังไง ?

เดิมทีที่มามันก็หลายส่วน ที่มาเพราะชอบทักษิณเยอะเลย ไม่พอใจฝ่ายโน้น ส่วนไอ้ที่จะรู้เบื้องลึกอะไรก็ไม่รู้หรอก มีแดงดาราเสียเยอะ ไม่รู้เป้าหมายเชิงโครงสร้าง จตุพรเดือนพฤษภาก็เป็นความคิดเดือนตุลา ต่อสู้หากบาดเจ็บล้มตายจะมีประมุขของประเทศมาแยก และอยู่ข้างประชาชน

ปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์ 53 ไม่เหมือน 14 ตุลาคืออะไร ?

คู่ต่อสู้เปลี่ยน

การวิเคราะห์สถานการณ์ของ นปช.ปี 53 ผิดหรือเปล่า ?

เราไม่อยากจะพูดแบบนั้น แต่ถามว่าทำไมปี 53 ผมไม่ร่วม จนวีระก็ยังประกาศไล่เวทีเรา แม้แต่ปลายข้อลปลายแขน ในความคิดผม การชุมนุมเป็นเพียงยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ และการบอกว่าไม่ชนะไม่เลิกนั้นไม่ได้ เป็นคำขวัญที่ผิด แบบผมนี่แหละคือไม่ชนะไม่เลิก สู้มา 40 ปีแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลา ติดคุก ออกมาแล้วสู้ต่อ นี่คือความหมายของไม่ชนะไม่เลิก แต่ไม่ใช่ชุมนุมแล้วไม่เลิก ถามว่าชุมนุมไม่เลิกแล้วมันชนะตรงไหน ชนะในทางยุทธวิธี อภิสิทธิ์ยอมรับ ยอมยุบสภา แล้วเลือกตั้งเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ถามว่าจบไหมมันก็ยังไม่จบ แล้วตอนนั้นถ้าอภิสิทธิ์เป็นยอมยุบสภา วันนี้เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล และแทนที่จะเป็นผู้ต้องหา อภิสิทธิ์จะกลายเป็นฮีโร่เลย

เชื่อในพลังชนบทไหม หลายคนเห็นตรงกันว่าพลังชนบทก็เอาทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ต้องให้เขารู้ปัญหาด้วย แค่มาชุมนุมเพราะฉันชอบทักษิณ ไม่กี่วันก็จางถ้าชอบบุคคล แต่ถ้าเขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ เพราะโครงสร้างนี้มันพาประเทศไปต่อไม่ได้ แบบนี้ถึงจะไปได้ยาว และการเปลี่ยนโครงสร้างก็ไม่ใช่แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ตอนนี้ผมนำเสนอว่า การปฏิรูปประเทศไทย คณะกรรมการปฏิรูป มันใช้ไม่ได้ เพราะมันคือการซ่อมแซม โดยโครงสร้างก็ยังเหมือนเดิม วันนี้ต้องใช้คำว่า เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ ฉะนั้น วันนี้ยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายต้องกำหนดตรงนี้ เป็นคณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ เพราะสังคมต้องเปลี่ยนแปลง

หมายความว่า ฝ่ายเราเป็นฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องให้โอกาสเขา ให้เวลาเขาในการปรับความคิด เราต้องเข้าใจพัฒนาการทางความคิดของคนว่า คนเราพัฒนาความคิดได้
สิ่งที่ต้องนำเสนอในเสื้อแดงวันนี้คือ จุดหมายปลายทางคืออะไร และต้องไปอย่างไร สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงคือความรุนแรง

ผมเสนอว่า คณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ จุดหมายปลายทางในการทำให้เกิดการปรองดอง ลดความขัดแย้งคือ ต้องพาสังคมไทยเปลี่ยนไปข้างหน้า ไม่ใช่เปลี่ยนแบบประเทศที่ไม่มีประมุข เปลี่ยนไปในแบบประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี่แหละ ตัวอย่างในต่างประเทศก็มี แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยน ฝ่ายที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงต้องเยือกเย็นที่จะรอคอย ให้อีกฝ่ายปรับความคิด อีกฝ่ายก็ต้องค่อยๆ ศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องค่อยๆ เปลี่ยน

ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน และคุณสุรชัยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นไหม ?

สถานการณ์วันนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว และเริ่มมีคุณภาพใหม่ของการเปลี่ยนแปลง นี่เป็นสิ่งที่ผมสบายใจมาก

อะไรคือคุณภาพใหม่ของการเปลี่ยนแปลง ?

เราดูสิ ความขัดแย้งในสังคมวันนี้ ฝ่ายใหม่ฝ่ายเก่าในทางสภา ฝ่ายเก่าพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง วันนี้มันมีแค่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ถามว่าวันนี้ประชาธิปัตย์โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลมีกี่เปอร์เซ็นต์ ถามว่านอกสภาวันนี้จะสร้างคนเสื้อเหลืองเป็นแสนเป็นล้านมาล้อมสนามบินเป็นไปได้ไหม นี่คือคุณภาพใหม่ ฝ่ายที่เคยคึกคักกันใหญ่โต นายทุนหนุนเพียบ ก็เรียกว่าแพ้ทางยุทธศาสตร์เช่นกัน กองทัพ อันนี้สำคัญที่สุด วันนี้การแสดงออกชัดเจนมากว่าไม่เข้าฝ่ายในความขัดแย้ง ถ้าสมัยก่อนออกมาเต้นแล้ว ผบ.ทบ.ออกมาแสดงความเห็นให้นายกฯ ลาออก

วันนี้ฟันธงได้เลยว่า พันเปอร์เซ็นต์เรื่องทหารลากรถถังมายึดอำนาจ ผมไม่กลัวเลย ยึดวันนี้ถามว่าใครเป็นนายกฯ ถ้ายึดอำนาจประเทศไทยไปแบบซีเรียทันที ประเทศรอบบ้านเขาจะเข้าสู่ AEC พม่ายังเปลี่ยนแล้วไทยจะกลับไปหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมรับรองว่าไปหมด ไปทั้งยวงด้วย หมดทั้งระบอบเลย อเมริกาก็ไม่เอา ไม่เอาทั้งโลก ทหารคงไม่ปัญญาอ่อนถึงขนาดนั้น

ตอนนี้แนวรบที่ยังเหลืออยู่คือ ตุลาการ กับ องค์กรอิสระ ตุลาการนี่เรามองเห็นเลยตั้งแต่มีมติว่านายกฯ จะต้องไปยื่นกรณีแก้รัฐธรรมนูญ เรื่อง ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้า ในที่สุดก็ยอม เรื่องงบประมาณก็ยอม แนวรบนี้เริ่มถอย
ทุกแนวรบทางยุทธศาสตร์ ฝ่ายเก่าแพ้ทุกแนวรบ นี่คือสถานการณ์คลี่คลาย

ฝ่ายแดงมีปัญหาขัดแย้งภายในไม่น้อย ระหว่างฝ่ายที่ปกป้องรัฐบาลกับฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คุณสุรชัยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่จุดแตกหักไหม และบทบาทรัฐบาลที่เป็นอยู่นี่มันเวิร์คไหม ?

เรื่องนี้ไม่วิตก เป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกขบวนการ แต่ถามว่ามันขัดแย้งรุนแรงถึงกับล้มล้างกันไหม เป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช่ศัตรู ความขัดแย้งจะเป็นบ่อเกิดของการพัฒนา แล้วสุดท้ายจะรู้ว่าใครเป็นหลัก เป็นรอง ใครถูก ไม่ถูกเรื่องไหน เหมือนผมกับ นปช.ตอนแรกก็ขัดแย้งกัน ตอนนี้ก็ไม่ขัดแย้งกันแล้ว ทำงานร่วมกันได้ ไม่โกรธกัน เพราะมันเป็นความขัดแย้งในฝ่ายมิตรที่คิดไม่ตรงกัน

มองบทบาท นปช.ยังไง ?

นปช. พูดง่ายๆ ว่า เขาแยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทย และไม่แตกกันเหมือนพันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์ เพราะคนใน นปช.เองก็เข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาล แล้วเขาเดินยุทธศาสตร์ 2 ขา จุดหมายปลายทางคือ สนับสนุนให้พรรคได้เป็นรัฐบาล เมื่อเป็นแล้วก็ป้องกันไม่ให้รัฐบาลถูกล้ม แต่ปัญหาประเทศไทยวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้าง การเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างได้ เป็นรัฐบาลแล้วไม่ชนะ ไม่ชนะในเชิงโครงสร้างทางสังคม แม้แต่คนเสื้อแดงในคุกยังเอาออกไม่ได้เลย ถามว่ามีอำนาจอะไร เจ้าของโครงสร้างอำนาจเก่ายังมีอำนาจเหนือนรัฐบาล แล้วจะเอาอะไรไปชนะ  นปช.เป็นรถพ่วง รัฐบาลเป็นรถลาก พอรถลากหยุด รถพ่วงก็หยุด ลากมวลชนไปไม่ได้เพราะเป็นรถพ่วง

ผมเสนอว่า วันนี้ นปช.ต้องแยก แยกกันเดิน รวมกันตี อย่าเป็นสองขา วันนี้ควรใช้คำว่า สองแนวทาง สองยุทธศาสตร์ นปช.และคนเสื้อแดงต้องเดินแนวทางนอกสภา ยุทธศาสตร์คือตาสว่าง ส่วนพรรคเพื่อไทยเดินแนวทางในสภา ยุทธศาสตร์ ชนะเลือกตั้งและทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์เล็กลง แบบนี้จะไม่ขัดแย้งกัน

สิ่งที่อยากนำเสนอคือ ยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านอย่างสันติ เดินไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ใช่ทำลายฝ่ายเก่า ทำอย่างไรให้ฝ่ายเก่ายอมรับในการเปลี่ยนแปลง ถ้าทำลายฝ่ายเก่าก็จะเป็นการปฏิวัติประชาชนแบบพรรคคอมมิวนิสต์ คนชนะก็ชนะบนซากปรักหักพัง ชัยชนะบนซากปรักหักพังและซากศพมันไม่ใช่ชัยชนะ อันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ข้อคิดทั้งแดงทั้งเหลือง 

ไม่กังวลเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจ ผู้ที่ชนะในทางยุทธศาสตร์หรือ

ถ้าสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เข้าสู่ความเป็นทุนนิยมเสรีแล้ว ทุนใหม่ชนะฝ่ายทุนเก่าเด็ดขาดแล้ว ต่อไปคนเสื้อแดงต้องมีความเป็นอิสระที่จะต่อสู้กับทุนใหม่อีกนะ ไม่ใช่จบ คนเสื้อแดงวันนี้จึงไม่ใช่รถพ่วงของพรรค ผมสนับสนุนทักษิณ สนับสนุนเพื่อไทย แต่ไม่ใช่ทักษิณหรือเพื่อไทยจะมากำหนดความคิดผม และต่อไปไม่แน่ในอนาคตผมอาจต้องต่อสู้กับทักษิณ กับเพื่อไทย ถ้าพวกคุณเกิดเปลี่ยนไป ดังนั้น เราต้องกำหนดว่า เมื่อคุณชนะแล้วคุณต้องทำยังไง คุณเข้าไปแล้วต้องอุ้มคนชั้นล่าง ลดความได้เปลี่ยนของคนชั้นบน สร้างคนชั้นกลางให้มากที่สุด คุณจะต้องต่อยอดประชานิยมของคุณไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า ที่ผ่านมา เอาล่ะ มันลดแลกแจกแถม แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ จุดมุ่งหมายของมันคือ อุ้มคนชั้นล่าง ไม่ใช่อุ้มทุกชนชั้น การลดความได้เปรียบของคนชั้นบน ไม่ใช่แบบพรรคคอมมิวนิสต์ไปยึดของเขามา แต่ลดด้วยระบบกฎหมายและภาษี ในต่างประเทศก็ให้เห็นอยู่ มีรายได้มากต้องเสียภาษีมาก มรดกเยอะเก็บภาษีมากหน่อย ในทางการเมืองก็ต้องส่งทอดให้ชนชั้นกลาง เพราะโลกในยุคต่อไปเป็นยุคของคนชั้นกลาง มันต้องกระจาย คนชั้นกลางมาจากไหน ก็อุ้มขึ้นมาจากชนชั้นล่าง และชนชั้นบนลดความได้เปรียบหน่อย ไม่ได้ให้ชนชั้นบนกลับมาเป็นคนชั้นล่าง

ทำแบบนี้ทักษิณก็จบในทางการเมืองอย่างสวยงาม แต่ถ้ายังผูกขาดอำนาจเต็มที่เพื่อชนชั้นตัวเอง ก็กลายเป็นทุนอนุรักษ์แล้วฝ่ายที่ก้าวหน้ากว่าก็ต้องโค่นล้มคุณ ดังนั้น คนเสื้อแดงต้องเตรียมความพร้อมตรงนี้ ไม่ใช่ส่งทักษิณถึงฝั่งแล้วจะไม่ทำอะไร เราต้องสร้างตรงนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลเขา ไม่ใช่ให้ร้ายเขาแต่เพื่อดูแลเขาว่าคุณอย่าเปลี่ยนไปนะ คุณชนะได้เพราะเป็นกลุ่มการเมืองที่ก้าวหน้า อย่ากลายเป็นกลุ่มเก่า ถ้าคุณไม่ทำเราก็จะเอากลุ่มที่ก้าวหน้ากว่าเข้ามา ต้องสู้กับคุณอีก

เครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ คืออะไร?

พูดง่ายๆ ว่าทั้งในสภาและนอกสภา ต้องเป็นพลังมวลชนและต้องพัฒนาพลังความคิด สังคมที่จะพัฒนาได้ต้องมีพลังการผลิตสูงและมีจิตสำนึกสูง รัฐประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าต้องสร้างระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า  ทำยังไงไม่ให้คนเห็นแก่ตัว บางคนบอกมึงอยากมีชีวิตที่ดีนั่นเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ การอยากอยู่ดีกินดีไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวคือ การที่เราอยู่ดีมีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นต่างหาก

พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน คงต้องพูดถึงนิรโทษกรรม ในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมืองคนหนึ่ง มองยังไงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งมีข้อถกเถียงกันมาก แต่เกือบทุกคนเห็นเป็นทางเดียวกันคือ ไม่รวม มาตรา 112 คิดว่าใครควรได้นิรโทษ และใครไม่ควรได้?

จริงๆ แล้ว 112 จะไม่เรียกเป็นนักโทษทางการเมืองได้ยังไง นี่มันนักโทษทางความคิด นักโทษทางมโนธรรมสำนึก มันเหนือกว่าคนไปชุมนุม คนชุมนุมบางทีไม่ได้มีความคิดอะไร ไปชุมนุมแล้วก็พลอยถูกจับไปด้วย ผมต่อสู้มา 40 ปี ถามว่าผมไม่ใช่นักโทษทางการเมืองหรือ ผมมันยิ่งกว่าการเมืองทุกคนที่ถูกจับด้วยซ้ำ

เรื่องนิรโทษกรรมในทางการเมืองเป็นเรื่องจะต้องทำ แต่จังหวะเวลาไหนที่เหมาะสมคือประเด็น ดังนั้นที่ออกมาของคุณวรชัย เหมะ คือ พวกปลาซิวปลาสร้อย เอาไปขังทำไมเขาเป็นแค่เหยื่อ ดังนั้น พันธมิตร 5 คนที่ยึดรถเมล์ก็ควรได้นิรโทษกรรม คนเสื้อแดงที่ถูกขังเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แกนนำควรได้ ปล่อยเขาไป ส่วนระดับอภิสิทธิ์ สุเทพ แกนนำทั้งหลายค่อยว่ากัน แล้วก็ต้องนิรโทษกรรมในท้ายที่สุดอยู่ดี เพราะไม่เช่นนั้นติดคุกหมดทุกคน ทักษิณ ติด 2 ปียังน้อย แต่คนน่าห่วงคือคุณอภิสิทธิ์ แต่คุณอภิสิทธิจะติดคุกเมื่ออายุ 60 กว่า คุณสุเทพเมื่ออายุ 80 กว่า กลายเป็นตาแก่เข้าไปอยู่ในคุก เป็นเรื่องน่าสงสาร เพราะหมดสภาพทางการเมืองหมดแล้วกลายเป็นคนแก่รับกรรมเก่าเหมือนประธานาธิบดีฟูจิโมริแห่งเปรู ที่ไปแก่หง่อมอยู่ในคุก น่าสงสารไหมตรงนี้ ดังนั้น นิรโทษกรรมเป็นเรื่องจำเป็นต้องใช้ แต่วันนี้ต้องนิรโทษกรรมให้ปลาซิวปลาสร้อยก่อน พวก 112 ก็อย่าไปกีดกันเลย แล้วขั้นต่อไปก็ระดับแกนนำ ขั้นต่อไปก็ระดับทักษิณ อภิสิทธิ์ สุเทพ แต่ว่าควรนิรโทษเมื่อศาลตัดสินแล้วเข้าไปอยู่ในคุกซักพักก่อน

ก็ทั้งหมด แต่ต้องดูว่าเวลาไหน ตอนนี้ยังไม่เหมาะจะนิรโทษอภิสิท และสุเทพ ตอนนี้มันยังร้อนๆ อยู่ ความเสียใจ ความเจ็บปวด มันยังไม่จาง แต่ถ้าผ่านไปอีกซัก 10 ปี เขาเริ่มจาง อีก 10 ปีข้างหน้า อภิสิทธิ์ สุเทพ ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองอะไรแล้วกลายเป็นคนแก่ไปอยู่ในคุก ญาติผู้สูญเสียก็สงสารได้ แต่ต้องให้ศาลลงโทษก่อน ตัดสินก่อน ซึ่งผมคิดว่าเวลาก็ยัง 10   ปีข้างหน้า มันเป็นเรื่องของเวลา

สมัยก่อนระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล รบ ฆ่ากันตายเท่าไร ใครจะยอมให้คอมมิวนิสต์มามอบตัวแล้วไม่เอาเรื่อง แต่ทำไมเขายอมกันได้ ผมกับ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา น่าจะต้องโกรธกันตลอดชีวิต เพราะเป็นคนหักหลังผม จับผมเข้าคุก แต่พอมาอยู่พรรความหวังใหม่ด้วยกัน แกเป็นประธานภาคใต้ ผมเป็นที่ปรึกษาทำงานด้วยกัน ทำไมไม่โกรธกัน เพราะกาลเวลามันผ่านไป สภาพการณ์มันเปลี่ยนไป

ดังนั้น นิรโทษกรรมมันต้องเกิดแต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม สำหรับคนเล็กๆ นิรโทษกรรมได้เลย เขาไม่ได้ฆ่าใคร และเขาถูกกล่าวหา ถูกกล่าวหาว่ามาชุมนุม ถูกล่าวหาว่าเผาศาลากลาง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเผาจริง ไม่เผาจริง และไม่มีญาติพี่น้องของศาลากลางไหนจะเจ็บปวด มันเป็นรัฐไม่ใช่บุคคล

ขึ้นบันไดต้องค่อยๆ ก้าวทีละก้าว อย่าก้าวเร็ว ไม่งั้นขาฉีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Free Write : ลิเกบทใหม่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์

Posted: 27 Oct 2013 10:21 AM PDT

    
  บทลิเก บทเก่า เล่าประวัติ  
  วังกับวัด คืออำนาจ วาสนา  
  ผู้ต่ำต้อย ที่เห็น เป็นประชา  
  ใส่ศรัทธา ฝังแน่น ทั่วแดนไทย 
      
  สร้างชนชั้น ชนช้ำ เพราะกรรมเก่า 
  จึงโง่เง่า ถูกปิดตา เหมือนบ้าใบ้ 
  จูงจมูก ไล่ลาก กระชากไป  
  เป็นทาสไพร่ รากหญ้า มานมนาน 
      
  ได้แต่เพ้อ แต่ฝัน ว่าวันหน้า  
  จะเกิดมา สูงศักดิ์ มีหลักฐาน  
  เป็นเจ้าคน นายคน คอยบนบาน 
  น่าสงสาร เวทนา ประชาชน  
      
  ใช้ลิเก เป็นสื่อ มือสร้างภาพ  
  ให้ซึมซาบ กว้างไกล ไปทุกหน 
  อยู่ใต้ตีน เจ็บช้ำ ต้องจำทน  
  ยอมจำนน ชินชา ชะตากรรม  
      
  ลวงให้เห็น เป็นพระ มาโปรดสัตว์ 
  สารพัด เล่ห์กล จนถลำ  
  สร้างกฎเกณฑ์ ระบอบ มาครอบงำ 
  แสดงซ้ำ เช่นนี้ ทุกปีไป  
      
  แต่วันหนึ่ง ไพร่ทาส ประกาศก้อง 
  ตะโกนร้อง ตากระจ่าง สว่างไสว 
  ไม่เชื่อแล้ว บทเก่าเก่า เอาคืนไป 
  ต้องเขียนใหม่ แทนบทเก่า ให้เท่าเทียม 
      
  พลันพระเอก กลับร้าย กลายแปลงร่าง 
  ไล่ล่าล้าง พิโรธ อย่างโหดเหี้ยม 
  ศพแล้วศพเล่า เผาไฟ จนใหม้เกรียม 
  ผลงานเยี่ยม สยดสยอง ก้องแผ่นดิน 
      
  ถึงวันนี้ ลิเกคง ดำรงอยู่  
  แต่ใจรู้ อนาคต จะหมดสิ้น  
  ดุจอาทิตย์ อัสดง ลงลับดิน  
  เหลือเพียงดิ้น ครั้งสุดท้าย ก่อนตายจริง 
      
  อีกไม่นาน จะขอ รอโอกาส  
  ทรราชย์ อัปปรีย์ ผีสิง  
  ต้องรับกรรม ในชาตินี้ มีจริง  
  ปิดฉากทิ้ง ลาโรงลับ ดับมลาย 
      
  บทลิเก บทใหม่ ใกล้เริ่มต้น  
  เมื่อผู้คน รวมพลัง ตั้งจุดหมาย 
  ประชาชน ยิ่งใหญ่ ไม่เคยตาย  
  ประชาธิปไตย สุดท้าย ต้องสมบูรณ์ 
      
 
    
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานในร้านสะดวกซื้อ: ว่าที่ผู้ประกอบการหรือแรงงานทาสวัยเยาว์

Posted: 27 Oct 2013 07:53 AM PDT

หลายคนอาจจะชินตาภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ให้การต้อนรับเชิญชวนเราซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ (ยอดนิยม) อย่างยิ้มแย้ม และเราอาจจะวาดภาพช่วยลุ้นว่าหากเติบใหญ่และมีประสบการณ์มากพอ แรงงานเหล่านี้คงจะได้เป็นผู้ประกอบการร่วมสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่ให้หลากหลาย ตามการประโคมข่าวสร้างภาพของหลักสูตรการเรียนการสอนของหน่วยธุรกิจในเครือบรรษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศแห่งหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ในด้านหนึ่งพบว่าการจ้างงานในร้านสะดวกซื้อยอดนิยมนี้ก็ได้สร้างความกดดันให้กับแรงงานวัยเยาว์เหล่านี้พอสมควร

โดยจากการศึกษา "ปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อ" ของ ดลฤดี เพชรขว้าง (จากวิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการพยาบาลอาชีวอนามัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อ กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน 312 คน รวบรวมข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2551)

ซึ่งผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างบางส่วนรับรู้ว่ามีการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน โดยร้อยละ 48.4 เห็นด้วยว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก ร้อยละ 38.1 เห็นด้วยว่าเป็นงานหนัก ร้อยละ 53.5 เห็นด้วยว่าตนเองได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานน้อยกว่าที่ควรได้รับร้อยละ 60.9 เห็นด้วยว่ามีโอกาสถูกทำร้ายร่างกายและร้อยละ 50.7 เห็นด้วยว่ามีโอกาสถูกทำร้ายจิตใจ นอกจากนั้นร้อยละ 12.5 เห็นด้วยว่าต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรจากผู้บังคับบัญชาและร้อยละ 9.6 เห็นด้วยว่าผู้บังคับบัญชาใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

นอกจากนี้ด้านความเครียดจากการทำงานประเมินจากอาการและอาการแสดงทางด้านร่างกาย จิตใจและพฤติกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รายงานว่ามีอาการดังต่อไปนี้บ่อยถึงบ่อยมากที่สุด คือ ร้อยละ 57.7 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก ร้อยละ 47.7 มีอาการหัวใจเต้นแรง ร้อยละ 47.1 มีอาการปวดศีรษะ ร้อยละ 74.3 รายงานว่าไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้เมื่อมีความกดดันมากระทบต่องานร้อยละ 70.6 เห็นด้วยว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ร้อยละ 61.6 รู้สึกไม่มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและร้อยละ 55.8 รับประทานหรือดื่มมากกว่าปกติ

เมื่อเปรียบเทียบอาการแสดงในกลุ่มตัวอย่างที่ควรให้ความสนใจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำงานประจำร้อยละ 17.4 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมากเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานตามฤดูกาลที่มีเพียงร้อยละ 3.0 กลุ่มที่ทำงานร่วมกับการเรียนร้อยละ 11.5 มีความรู้สึกว่าในระหว่างวันมีความรู้สึกไม่ผ่อนคลายและไม่สบาย ส่วนกลุ่มที่ทำงานอย่างเดียวมีอาการดังกล่าวร้อยละ 7.6 กลุ่มที่ทำงานเฉพาะกะดึกร้อยละ 31.2 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมากเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานเฉพาะกะเช้ามีเพียงร้อยละ13.1 นอกจากนั้นกลุ่มที่ทำงานเฉพาะกะดึกร้อยละ 18.8 มีพฤติกรรมการรับประทานหรือดื่มมากกว่าปกติขณะที่กลุ่มที่ทำงานกะเช้าพบพฤติกรรมดังกล่าวร้อยละ 10.4

จากข้อมูลขั้นต้น ทำให้เราพบว่าหนทางสู่การเป็นผู้ประกอบการณ์ของเขาและเธอทั้งหลายนั้นมันช่างขมขื่น รวมทั้งจะรับประกันได้อย่างไรว่าเขาและเธอจะไปถึงจุดสูงสุดที่ฝันไว้มีร้านเป็นของตนเอง เพราะในธุรกิจนี้แทบจะถูกผูกขาดจากนายจ้างปัจจุบันของเขาและเธอไว้หมดแล้ว

หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงการขายฝันพร้อมขูดรีดเหยื่อของคนงานรุ่นเยาว์ ในอีกวิธีการที่ดูดีเท่านั้น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช.แดงเชียงใหม่-แดงเสรีชนลำพูน ชุมนุมค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

Posted: 27 Oct 2013 07:14 AM PDT

คนเสื้อแดงกลุุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ และแดงเสรีชน จ.ลำพูน นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และผูกผ้าแดงเพื่อคัดค้านร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง โดยผู้นำการชุมนุมระบุว่าต้องการให้คนธรรมดาได้รับการปล่อยตัว-เยียวยา ส่วนผู้สั่งสลายการชุมนุมต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และถูกดำเนินคดี

27 ต.ค.56 เวลา 10.00 น. บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ และกลุ่มเสื้อแดงเสรีชนจากจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมตัวและชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถูกกรรมาธิการวิสามัญแปรญัตติในวาระสอง หรือที่ถูกเรียกว่าฉบับ "เหมาเข่ง" หรือฉบับ "สุดซอย" โดยกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่มีคนเสื้อแดงและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมราว 100 คน

กิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้มีทั้งการผูกผ้าสีแดงบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ การกล่าวปราศรัยถึงปัญหาของร่างนิรโทษกรรมฉบับนี้ การถ่ายภาพร่วมกัน และการเขียนป้ายและชูข้อความคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง โดยป้ายข้อความที่กลุ่มผู้ชุมนุมเขียน มีทั้งข้อความว่า "ไม่เอาเหมาเข่ง" "ไม่ลืมความเจ็บปวด" "ไม่ลืมรอยเลือดราชประสงค์" "เราไม่ลืม พี่น้องเราตาย" "จะนิรโทษเหมาเข่งต้อง + ม.112" "FREE SOMYOT" "เราอยากให้นายกฯ ทักษิณได้กลับบ้าน แต่เราไม่ลืม เราไม่เอา ไม่เหมาเข่ง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลา 12.00 น. ทางกลุ่มเสื้อแดงจากจังหวัดลำพูนราว 50 คน ได้เดินทางมาสมทบ พร้อมกับมีการชูแผ่นป้ายข้อความคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนร่วมกันว่า "เราไม่ลืม ไม่เอา ไม่เหมาเข่ง" และ "เราไม่เอานิรโทษกรรมแบบยกเข่ง" รวมทั้งยังมีการนำจดหมายของอะลิซาเบตตา โพเลงกี น้องสาวของ ฟาบิโอ โพเลงกี ผู้นักข่าวชาวอิตาลีที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ที่มีถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาอ่านในระหว่างการชุมนุมด้วย

ศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ กล่าวว่าการขึ้นคู่ขนานกับกิจกรรมที่ราชประสงค์ของกลุ่มบก.ลายจุด โดยการรวมตัวกันในวันนี้เกิดจากการที่หลายคนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ซึ่งจะมีการยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน แต่หลายคนอยากเห็นผู้กระทำความผิดถูกลงโทษก่อน อีกส่วนหนึ่งอยากให้เน้นช่วยเหลือประชาชนที่เคลื่อนไหวที่ไม่ใช่แกนนำออกจากคุก และได้รับการเยียวยาด้วย อีกทั้งถ้าจะเหมาเข่งก็ต้องเหมารวมผู้ถูกกล่าวหาจากมาตรา 112 ไปด้วย เพราะผู้ที่โดนข้อหานี้ในช่วงหลัง ก็ล้วนเป็นคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง คดีนี้เพิ่มมากขึ้นที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2549 คดี 112 จึงเป็นคดีทางการเมือง การนิรโทษกรรมจึงควรจะรวมถึงผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

พรศิลป์ บุญเรือง สมาชิกกลุ่มเสื้อแดงจากจังหวัดลำพูน กล่าวว่ากลุ่มของตนราว 50 คนนัดรวมตัวกันที่ลานเจ้าแม่จามเทวี ที่จังหวัดลำพูน ก่อนเดินทางมารวมสมทบกับกลุ่มเสื้อแดงในเชียงใหม่ โดยทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม แบบเหมาเข่ง เพราะต้องการให้ฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนนั้นได้ถูกนำตัวมารับโทษ มากกว่าที่จะให้มีการนิรโทษกรรม โดยยังไม่มีการหาตัวผู้กระทำผิด การรวมตัวครั้งนี้จึงเป็นการแสดงพลังให้เห็นว่าพลังของคนเสื้อแดงยังมีอยู่ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชันวิสัยทัศน์โค้งสุดท้าย - ก่อนเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเชียงใหม่ 3 พ.ย.

Posted: 27 Oct 2013 06:45 AM PDT

เวทีแสดงวิสัยทัศน์นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่โค้งสุดท้าย พรชัย จิตนวเสถียร ชูนโยบายขนส่งมวลชน จุดจอดรถส่วนตัวเพื่อเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะ - ทัศนัย บูรณุปกรณ์ เน้นนโบบายด้านสังคมและวัฒนธรรม - ธิดารัตน์ ศิริวิทยากร ระบุนโยบายใครจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าบริหารงบไม่โปร่งใส ปชช.จะลำบาก - วัลลภ แซ่เตี๋ยวเน้นเชียงใหม่เป็นเมืองดนตรี กีฬา และเป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง

27 ต.ค. 2556 - เวลา 18.00 น. วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ลานพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีเวทีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. นี้ ทั้งนี้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM100 MHz และถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตทาง http://www.livebox.me/ ด้วย

โดยรอบแรกเป็นการแสดงนโยบายของผู้สมัคร ตามลำดับจากการจับฉลาก

หมายเลข 4 พรชัย จิตนวเสถียร กล่าวว่า จะทำให้เชียงใหม่ท่องเที่ยวได้ทุกเดือน ให้มีคนมาเที่ยวเชียงใหม่มากขึ้น ส่วนระบบขนส่งมวลชนนั้นจะสนับสนุนรถเมล์หลัก 10 สาย สำหรับเส้นทางหลัก และรถสองแถวสี่ล้อแดง ให้วิ่งบนนถนนสายรอง ให้มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 30 จุด และส่งเสริมมีจุดจอดรถยนต์ที่มาจากนอกเมืองหรือ Park and Ride บริเวณห้างสรรพสินค้าใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนเข้ามาในเมือง จะทำครัวเรือนให้มีรายได้มากขึ้น โดยรายได้เพิ่มขึ้นมาจากการท่องเที่ยว ทำให้ครัวเรือนมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ทำให้บ้านน่าอยู่มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนโครงการก่อสร้างจะไม่เน้นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง แต่จะเป็นโครงการขนาดเล็กที่ใช้งบประมาณท้องถิ่นทำได้ทันที และปลอดคอมมิชชั่น

หมายเลข 6 นนท์ หิรัญเชรษฐ์ กล่าวว่ามีนโยบายหลัก 5 ข้อ โดยจะ 1. ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ เทศบาลนครเชียงใหม่ตั้งมา 78 ปี และเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ การท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลัก จึงอยากส่งเสริมการท่องเที่ยว

 2. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะติดกล้อง CCTV ทุกมุม มีอาสาสมัครตรวจตราชุมชน 3. จัดการขยะ ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่มีขยะ 300 ตัน จะแก้ปัญหาด้วยการจัดเก็บขยะสองเวลาเช้าเย็น หาแหล่งสร้างเตาเผาขยะ และพัฒนาพื้นที่ถมขยะ 4. การจราจร จะทำทางลัดแก้ปัญหารถติด เพื่อเป็นทางเลี่ยงในการเดินทาง และลดปริมาณรถยนต์บนถนนเส้นหลัก เพิ่มผิวการจราจรจากกวดขันผู้ประกอบการที่รุกล้ำถนน

 5. เรื่องคลองแม่ข่า จะมีมาตรการจูงใจทางภาษี ให้ครัวเรือนหาวิธีบำบัดน้ำเสียก่อนลงคลองแม่ข่า โดยนโยบายทั้ง 5 สามารถทำได้เลยตามงบประมาณเทศบาล

หมายเลข 3 ทัศนัย บูรณุปกรณ์ กล่าวว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ต้องพัฒนา ด้วยการพัฒนาต้องรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนท้องถิ่น ครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผู้สมัครท่านอื่น อาจจะเน้นนโยบายเศรษฐกิจมากมาย แต่ตนจะเน้นทั้งนโยบายด้านสังคม และวัฒนธรรมด้วย โดยจะทำนโยบายดังนี้

1.เพิ่มความปลอดภัย ด้วยการโซนนิ่งพื้นที่ และติดตั้งกล้องวงจรปิด 2.คุณภาพชีวิต สังคมเชียงใหม่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องมีทุนตรวจสุขภาพทุกปี 3.สิ่งแวดล้อม สานต่อเชียงใหม่เมืองสะอาด ลดขยะเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพิ่มคุณภาพคลองแม่ข่า 4.ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ตอนนี้หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทำเสร็จแล้ว และจะทำนครเชียงใหม่ ตรงเขตเป็นเมืองเก่าเมืองมรดกโลก 4.โครงสร้างพื้นฐาน เน้นสายไฟฟ้าลงใต้ดินที่ ถ.ท่าแพ ถ.ช้างคลาน 5.แก้ปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้พยากรณ์อากาศจะต้องคาดการณ์ได้เพื่อคุ้มครองเชียงใหม่จากอุทกภัย 6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการชุมชน 7.เศรษฐกิจนครเชียงใหม่คือการท่องเที่ยว ยี่เป็ง เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ให้อยู่นานกว่าเดิม 8.ด้านการศึกษา ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียน เพิ่มการเรียนภาษาจีน นอกจากภาษาอังกฤษ และส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 9.ขนส่งมวลชน ถ้ารวมจำนวนยานยนต์ คนเชียงใหม่มีน้อยกว่ารถ เพิ่มความสะดวกของขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

หมายเลข 1 ธิดารัตน์ ศิริวิทยากร กล่าวว่า จะสร้างเมืองให้รับใช้คน เราจะสร้างคนให้รับใช้เมือง ทำให้เมืองเชียงใหม่อำนวยความสะดวกประชาชน มีความพร้อมดูแลประชาชน ถนน หนทาง แก้ปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟดับ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาคุณภาพชีวิต เดี๋ยวนี้ถ้าทุกคนลองเดินไปตามซอกซอยจะเห็นว่าถนนไม่ดี ไฟถนนไม่ดี จากเติมเต็มสาธารณูปโภคพื้นฐานก่อน แล้วจะยกระดับคุณภาพชีวิตจากเสริมสร้างอาชีพให้กินดีอยู่ดี ที่ผ่านมาไปเดินไปหาเสียงมาเดือนหนึ่ง เดินเข้าไปในหลายชุมชน พบว่าชาวบ้านยังมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก

ทั้งนี้จะสร้างคนให้รู้รักษาดูแลเมือง และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมจะได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ สตรี เยาวชน กลุ่มสังคมต่างๆ จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ด้วยกัน ทั้งนี้ปัญหาต่างๆ ประชาชนทราบดี โดยเมื่อได้รับตำแหน่งแล้วจะลงชุมชนทุกชุมชน ลงพื้นที่ทุกพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง อยากให้แก้ไขปัญหาสิ่งใดบ้าง จะทำให้อย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้นโยบายต่างๆ ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าบริหารงบประมาณไม่โปร่งใส ประชาชนจะยังลำบากอยู่ คนรวยก็รวยไป ใครจนก็จนอยู่อย่างนั้น

หมายเลข 2 สัมพันธ์ ฉัตรมงคลพันธ์ กล่าวว่า ความรู้สึกตอนนี้เหมือนอายุ 35 เพราะมานั่งใกล้เบอร์ 1 ที่ผ่านมาเวลามีการแสดงวิสัยทัศน์ก็นั่งใกล้เบอร์ 1 มาตลอด มันเป็นความโชคดีมากกว่า ทั้งนี้ สิ่งที่เบอร์ 1 พูดมาก็ดีหมด เหมือนนโยบายของผมครับ คนอาวุโสย่อมรู้จักผมดี ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มารู้จักผมไว้เสีย หนุ่มรูปหล่อสมัยก่อน ทั้งนี้ผมต้องการเปลี่ยนแปลง หลายคนอาจยังไม่รู้จักผม ป้ายโฆษณาผมอาจจะน้อย แต่ผมก็มานั่งที่นี่แล้วนะครับ

ผู้สมัครหมายเลข 2 กล่าวด้วยว่า เขาไม่เคยเกลียดคนจน แต่เกลียดความยากจน อยากพัฒนาการศึกษาอันดับแรก ทั้งนี้คนในเขตเทศบาลไม่ได้มีโอกาสเรียนสูง ไม่มีครูบาอาจารย์ดีๆ ไม่ได้เรียนโรงเรียนมงฟอร์ต หรือยุพราช แต่โรงเรียนเทศบาลนั้นมีความพร้อม จึงขอเสนอนโยบายสร้างโรงเรียนเตรียมเทศบาล โดยคนรวยตัวเขาจะไม่เน้น จะเน้นช่วยการศึกษาของพี่น้องในเขตชุมชน และจะขยายโรงพยาบาลของเทศบาล

หมายเลข 5 วัลลภ แซ่เตี๋ยว กล่าวว่าจะพัฒนา เชียงใหม่เป็นเมืองกีฬา พัฒนาสนามกีฬาเทศบาลให้รองรับการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ และชุมชนใช้ประโยชน์ได้

อีกนโยบายคือ เชียงใหม่เมืองดนตรี ทั้งนี้เชียงใหม่เป็นเมืองวัฒนธรรมมา 700 กว่าปี และปัจจุบันเรามีบุคคลากรด้านดนตรีนี้เยอะ ถ้านำบุคลากรด้านดนตรีมาเสริม มาทำกิจกรรมการแสดง คิดว่าจะเป็นการรวมศูนย์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองดนตรี

นอกจากนี้จะดำเนินนโยบาย เชียงใหม่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้แต่ละเมืองใหญ่ทั่วโลก จะเริ่มเห็นว่าสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกับคน นอกจากนี้ก็จะดูแลสุนัขจรจัด ดูแลปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า และอีกนโยบายคือเมืองอนาคต โดยจะทำถนนการสื่อสาร ติดตั้งจุด Wifi แต่ละจุดบนนถนน ให้คนมีรายได้น้อยใช้ช่องทางนี้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้จะออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ คนพิการ ไม่ใช่เดินไปตรงไหนก็จะชนป้าย และขอให้สัตยาบรรณว่าไม่ซื้อเสียง จะใช้การหาเสียงเท่านั้น หวังว่าลูกๆ หลานๆ จะไม่เอาเงินมาซื้อประชาชน สำนึกรักบ้านเกิดนะครับ

อนึ่ง ในตอนท้ายของการแสดงวิสัยทัศน์ ธิดารัตน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โปรยใบปลิวโจมตีทางการเมืองว่า ขอยืนยันว่าข้อความในใบปลิวไม่ใช่ความเห็นของตัวเองแต่เกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดีตัดต่อ โดยได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วและจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และยังกล่าวด้วยว่ารู้ตัวคนกระทำความผิด และคนที่จ้างวานแล้ว

สำหรับเทศบาลนครเชียงใหม่ มีพื้นที่ 40.216 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลในปี 2551 มีประชากรในเขตเทศบาล 148,477 คน โดยยกฐานะเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ปัจจุบันนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่คนปัจจุบันคือทัศนัย บูรณุปกรณ์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อ 4 ต.ค. 52 หลังจากก่อนหน้านี้ ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ลาออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมื่อ 24 มิ.ย. 52

ต่อมาทัศนัยได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระไม่กี่เดือนเมื่อ 6 ก.ย. 56 เพื่ออุปสมบทให้กับปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อาของเขาซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 1 ก.ย. 56 โดยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสหภาพฯ ชี้คนงานต้องมีพรรคการเมือง เลือกตั้งในสถานประกอบการ

Posted: 27 Oct 2013 03:17 AM PDT

ผู้นำสหภาพแรงงานร่วมอภิปราย "เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปขบวนการแรงงานบนเส้นทางการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทย" ชี้ประเด็นปฏิรูปบทบาทของขบวน สร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

27 ต.ค.2556 เวลา 9.00 น. ที่ ห้องประชุม ตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต และ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดอภิปรายหัวข้อ "เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปขบวนการแรงงานบนเส้นทางการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทย" เนื่องในวาระ 40 ปี 14 ตุลา โดยมี จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ, บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, วัฒนะ เอี่ยมบำรุง อดีตประธานสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย, นภาพร อติวาณิชยพงศ์ กรรมการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร, นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และพนมทวน ทองน้อย กรรมการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ร่วมอภิปราย

จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ 

นักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ 14 ตุลา

ก่อนเริ่มอภิปราย จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวเปิดว่าหลัง 14 ตุลา 2516 ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นส่งผลให้ลูกจ้างคนงานลุกขึ้นมานัดหยุดงานเรียกร้องค่าแรงสวัสดิการมากกว่าที่เคยเป็นก่อนหน้า และมีการเคลื่อนมาเรื่อยๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นั้น นักศึกษานำโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ ธรรมศาสตร์ มีการทำกิจกรรมร่วมกับกรรมกร เริ่มจากการสอนหนังสือให้ลูกจ้างในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เข้าไปทำให้รู้จักผู้นำคนงานมากขึ้น ปลายปี 2515 มีประกาศอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสมาคมได้ ทำให้พวกนักศึกษาสภาหน้าโดมเข้าไปช่วยแนะความรู้เช่นเรื่องบัญชี เรื่องอื่นๆ ให้กับกรรมกรจำนวนมาก และตอนนั้นก็เข้าไปด้วยความคิดเรื่องปฏิวัติ ไม่ได้ไปเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนงานหรือสิทธิ

จรัล กล่าวด้วยว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีลูกจ้างคนงานก็เข้ามาร่วมกับนักศึกษาจำนวนมาก และหลังจากนั้นนักศึกษาก็ทำงานกับคนงานกันต่อเนื่อง รวมทั้งบางกลุ่มก็เข้าไปอยู่เลยกับคนงาน ทำให้หลัง 14 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็ฯฐานที่มั่นของประชาชน คนงาน มีการชุมนุมที่สนามหลวง ที่นี่ก็เป็นที่ทำข้าวอาหาร  กลายเป็นฐานที่มั่น กองเสนาธิการ จนกระทั่งเกิดเหตุ 6 ตุลา 2519

ขบวนการแรงงานขาดโฆษก

จรัล มองว่าขบวนการผู้ใช้แรงงาน 20 ปีที่ผ่านมาในทั่วโลกเป็นช่วงขาลง เช่นเดียวกับประเทศไทย สาเหตุประการหนึ่ง คือ 30 กว่าปีมานี้ขบวนการผู้ช้แรงงานไม่มีโฆษก ซึ่งสมัยก่อนมีนักศึกษาและนักสังคมนิยม คอมมิวนิสต์เป็นโฆษก ดังนั้นตนจึงคิดว่าในวาระ 40 ปี 14 ตุลา นี้ก็อยากให้นักศึกษาไปเป็นโฆษกให้กับกรรมกรชาวนา  อีกสาเหตุที่ทำห้ขบวนการแรงงานอ่อนแอเพราะมีจำนวนองค์การระดับชาติ มาก ซึ่งปัจจุบันมีถึง 13 สภาองค์กรระดับชาติ ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย 

ระบบจ้างงานบีบสาเหตุสมาชิกสหภาพน้อย

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย อภิปรายว่า ปัญหาในขบวนการแรงงาน คือ ขาดความเป็นเอกภาพ แตกแยกเป็นหลายกลุ่ม ปัจจุบันเรามา 3-4 กลุ่มด้วยกัน รวมทั้งไม่มีผู้นำรุ่นใหม่เข้ามา และระบบไตรภาคีทำให้เกิดความแตกแยกในขบวนการ กฏหมายแรงงานที่ทำให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องยาก อย่างกฏหมายแรงงานสัมพันธ์ ไม่ได้มีการแก้ไขให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐเองขาดความเป็นกลาง

ประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย มองว่าขบวนการแรงงานขาดผู้นำหลักในการประสานงานให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีแกนกลางที่จะรวมกลุ่มกัน

บรรจง กล่าวอีกว่า ระบบการจ้างงานเองก็เป็นตัวทำลายขบวนการไปในตัวเนื่องจากการจ้างแบบรับเหมาค่าแรง โรงงานหลายที่มีนิติบุคคลซ้อนอยู่ในหลายบริษัท มีลูกจ้างประจำลดลง ขณะที่ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น แต่ก็รวมตัวจัดตั้งก็ไม่ได้ อีกทั้งหลายที่ถ้าโรงงานไม่มีการทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างเองก็จะเปลี่ยนงานทันที คนงานส่วนมากเข้าทำงานและออกจากงานเร็ว จากเหตุเพราะเงินไม่เพียงพอ จากค่าแรงงานที่น้อยจึงมักเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ส่งผลให้สหภาพยิ่งมีน้อย ในทางตรงกันข้ามสภาหรือองค์กรแรงงานระดับชาติกลับมีมาก อีกทั้งระบบการศึกษาเป็นปัญหา เนื่องจากนัศึกษาจบมาก็ไม่รู้เรื่องแรงงานแม้แต่นิดเดียว ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความสนใจเรื่องสิทธิแรงงานด้วย

แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้จัดตั้งสหภาพง่าย ตั้งกรมส่งเสริมสหภาพฯ

บรรจง กล่าวว่า ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานง่ายขึ้น รวมทั้งในกระทรวง แรงงานยังขาดกรมส่งเสริมการมีสหภาพแรงงาน เพราะถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เขาก็จะปัดไปแรงงานจังหวัดหมด รวมทั้งผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ต้องศึกษาทางชนชั้น เพราะถ้าไม่มีอุดมการณ์เมื่อเข้ามาในขบวนการก็จะลำบาก หากไม่มีอุดมการณ์นั้นขาดช่วงแน่นอน

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง

วัฒนธรรมองค์กร และเงินสนับสนุนจากองค์กรแรงงานระหว่างเทศ

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง อดีตประธานสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าคนเป็นหัวใจหลักของขบวนการแรงงาน ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรแรงงานระดับสหภาพแรงงานและสภาองค์กรแรงงานระดับชาติ มีตัวที่แฝงอยู่ คือตัววัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน องค์กรแรงงานนะดับชาติบางแห่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ บางองค์กรได้รับความช่วยเหลือต่อปี 2 ล้านบาท มีการจัดสัมมนามากมาย แต่ไม่มีการพูดเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงงานเลย มีเพียงความเข้มแข็งภายใน ทำให้มีวัฒนธรรมแบบก็ต่างคนต่างอยู่ ความช่วยเหลือของแหล่งทุนเหล่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรแรงงานนั้นกำหนดว่าเพื่อสร้างขบวนการแรงงานที่มีความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นและพร้อมรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทำให้ผู้นำแรงงานเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องร่วมทำงานกับองค์กรอื่นเพราะเขาอยู่สุขสบายดี

นภาพร อติวาณิชยพงศ์ 

การปฏิรูปบทบาทของขบวนการแรงงาน และการสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

นภาพร อติวาณิชยพงศ์ กรรมการ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มองว่า ปัจจุบันขบวนการแรงงานอยู่ในฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้นำขบวน ต่างจากฐานะของผู้นำของขบวนการปฏิวัติสังคมอย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานแม้ไม่ได้เป็นหัวขบวนแต่ก็มีอำนาจการต่อรองจำนวนหนึ่ง

นภาพร กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปขบวนการแรงงาน 2 ประเด็น คือ การปฏิรูปบทบาทของขบวนการแรงงาน และการสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง

1. ปฏิรูปบทบาท เนื่องจากการจ้างงานเปลี่ยน มีการแทนที่ด้วยแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ถ้าขบวนการรงงานเป็นตัวแทนในแรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจในระบบอย่างเดียวก็จะไม่สามารถรักษาบทบาทเป็นแกนนำของแรงงานทั้งหมดได้ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีแผนปรับเปลี่ยนเพื่อนำแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติเข้ามารวมอยู่ด้วย

ในส่วนของการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม คือขบวนการแรงงานจะต้องเป็นมากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ ถ้าขบวนการแรงงานต้องการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่ก้าวหน้าต้องมีมิติตรงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ขบวนการแรงานถูกโดดเดี่ยวหรือต้านจากสังคม

2. การสร้างความเข้มแข็งอำนาจการต่อรอง ในมิติด้านการบริหารนั้นจะทำอย่างไรให้คนงานข้ามชาติและนอกระบบเข้ามาร่วมได้ ส่วนการเติบโตเชิงคุณภาพต้องมองเรื่องการพึ่งตัวเองทางการเงิน ต้องมีปัญญาชนของขบวนการแรงงาน โดยการพึ่งตัวเองได้ทางการเงิน กลุ่มสหภาพแรงงานหลายองค์กรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจ แต่องค์กรระดับชาติที่ต้องมานำขบวนการแรงงานนั้นยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ผลักดันการเก็บค่าบำรุงของสมาชิก ซึ่งหลายที่ก็ทำไม่ได้ ส่วนที่มาทางการเงินต้องมีระบบที่จะระดมทุนจากสังคมด้วย

นภาพร กล่าวว่า ปัจจุบันขบวนการแรงงานขาดมันสมองในการคิดเชิงนโยบายและการสื่อศารจากสังคม จึงต้องมีปัญญาชนของขบวนการแรงงาน ซึ่งมาได้ 2 ทาง คือจากการสร้างคนคนงานขึ้นมาเป็น และจากปัญญาชนภายนอก อย่างนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และนักศึกษา ซึ่งบทบาทของปัญญาชน ต้องคิดเรื่องเชิงนโยบาย มีวิสัยทัศน์ที่มากกว่าเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องของการบริหารจัดการขบวนการแรงงานอย่างไร พบว่ายังขาดเยอะ การสื่อสารต่อสังคมที่ไม่ใช่เพียงแค่การประชาสัมพันธ์ การเป็นโฆษกที่จะสื่อให้ประชาชนเข้าใจขบวนารแรงงาน ซึ่งนำมาซึ่งการสนับสนุนขบวนการแรงงาน  

จิตรา คชเดช 

สหภาพมักเกิดเมื่อเจอปัญหา

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าที่มาของสหภาพแรงงานมักมาภายใต้การเกิดปัญหาก่อนจึงคิดรวมตัวเป็นสหภาพแรงงงาน ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกว่าต้องการสิทธิ เช่นมีปัญหาเรื่องการลดค่าจ้างการตัดสวัสดิการ คนงานก็คิดเรื่องการรวมตัว คนก็เข้าไปจัดตั้งสหภาพแรงงาน ทำให้คนแรกๆที่เข้าไปจัดตั้งจะเป็นผู้มีพระคุณ และหากถ้าเป้าหมายสำเร็จก็ต่อเนื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จ อาจถูกเลิกจ้าง ก็จะเข็ดไม่กล้ายุ่งกับสหภาพอีก ทำให้คนงานรู้จักสหภาพฯ ก็เมื่อตอนเกิดปัญหา

บรรจุเรื่องกฏหมายคุ้มครองแรงงานและสหภาพเข้าแบบรียน

จิตรา เสนอด้วยว่า เรื่องแรกคือต้องการบรรจุเรื่องสหภาพแรงงาน กฏหมายพื้นฐานเกี่ยวกับแรงงาน เช่น การคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการรวมตัวต่อรอง เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ควรมี สถาบันแรงงาน มีนักวิจัยที่สนับสนุนข้อมูล รองรับการต่อสู้เรียกร้องเจรจาต่อรองของคนงาน และต้องเป็นคนงานที่จ้างนักวิจัยทำงานข้อมูลเหล่านี้ เช่นเดียวกับฝ่ายนายจ้างที่มีการจ้างนักวิจัย ซึ่งในต่างประเทศในการเรียกร้องค่าจ้างนั้นนายจ้างกับลูกจ้างจะมีข้อมูลเท่าเท่ากัน รวมทั้งการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพประเภทอุตสาหกรรมมากขึ้น และพัฒนาไปเป็นพรรคการเมืองในอนาคต

ปัญหาระบบไตรภาคีคือ 1 สหภาพ 1 เสียง และการให้รางวัล

จิตรา กล่าวว่า ระบบไตรภาคี มีปัญหาคือ 1 สหภาพฯ 1 เสียง ทำให้สหภาพฯที่มีสมาชิกมากก็มีแค่ 1 เสียง รวมทั้งระบบดังกล่าวมีการให้รางวัล เช่น ให้เครื่องราช พระราชทานเพลิงศพ ซึ่งกรรมกรในภาวะปกติไม่สามารถหาได้ ด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้รู้สึกตัวเองใหญ่โตและเพื่อให้ได้รางวัลดังกล่าวก็ต้องเป็นถึง 2 สมัย ทำให้เกิดการล็อบบี้เพื่อได้ตำแหน่งต่อ และไม่กล้าที่จะพูดมากในระบบ เนื่องจากจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น

จิตรา เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นข้อจำกัดในการออกนโยบายของพรรคที่มีอุดมารณ์ต่างออกไปจากกรอบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

การบีบของการจ้างงานทำให้คนงานไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ เช่น เมื่อสามีออกมาประชุมสัมมนาด้านแรงงานก็ถูกเมียก็ด่าว่าไม่ทำงานลูกจะไม่มีเงินกิน เพราะติดค่าจ้างและสวัสดิการที่ต่ำแม้ขึ้นเป็น 300 บาท แต่ค่าครองชีพก็ขึ้นตาม

แนวคิดเรื่องนายจ้างเป็นผู้มีพระคุณ

จิตรา กล่าวว่า หากคนงานอยู่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่ยกให้นายจ้างเป็นผู้มีพระคุญ ก็ทำห้ไม่สามารถกล้าที่จะต่อรองได้ รวมทั้งการมาจากความล้มเหลวจขอภาคเกษตรที่ทำให้คนงานมีหนี้ติดตัวมาด้วย จึงต้องทำงานหนักใช้หนี้แทนพ่อแม่ เวลาในการเคลื่อนไหวด้านแรงงานก็น้อยลง

กลุ่มศึกษาหัวใจของการต่อสู้ คนงานเข้าไปมีส่วนร่วมใน ก.แรงงานและประกันสังคม

จิตรา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนเองและกรรมกรเรียนรู้ผ่านกลไกเรื่องกลุ่มศึกษา เช่น เรื่องคิดเลข เพราะถ้าไม่สามารถคิดเป็นก็ต่อรองยาก การดูงบดุล การทำความเข้าใจที่มาจของอำนาจในการกำหนดค่าจ้าง เป็นต้น

จิตรา เสนอว่า ต้องยกระดับกระทรวงแรงงาน เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่จะเข้ามาคุ้มครองชีวิตของคนงงาน และคนงานต้องเข้ามาตรวจสอบกระทรวงและระบบประกันสังคมได้ด้วย รวมไปถึงมีส่วนในการวางนโยบายขององค์กรเหล่านี้ รวมทั้งคนงานควรมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการโดยใช้บัญชีจากประกันสังคม จะทำให้คนงานหรือสหภาพที่มีจำนวนสมาชิกมาก็อาจได้รับการเลือกตั้งและสามารถผลักดันในเชิงนโยบายได้ เพราะปัจจับุนคนงานแทบไม่มีตัวตนทางการเมืองในที่ทำงานหรือในเมืองเลย

สหภาพฯ ควรใช้ระบบจ้างเจ้าหน้าที่ทำงานมากกว่าขออาสาสมัครและเอ็นจีโอ

จิตรา เสนอด้วยว่าสหภาพแรงงานควรจ้างเจ้าหน้าที่ในการทำงาน และเลิกใช้เอ็นจีโอและอาสาสมัครให้มาช่วยงานชั่วคราว เพราะการมีการจ้างงานมันมีความเป็นอาชีพ แต่การขอให้อาสาสมัครมาช่วยนั้นมันจะขัดแย้งกันกับการเรียกร้องค่าจ้างค่าตอบแทนต่อนายจ้าง ด้วยหลักการทำงานและจ้างงาน

จิตรายังกล่าวว่านักสหภาพแรงงานต้องมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นการณ์ที่ สมานฉันท์ที่จัดทำพระเครื่องนั้นไม่ถูกต้องเพราะเป็นการนำเอาความเชื่อแบบนี้มาเป็นตัวนำจะเกิดปัญหา เพราะจะทำให้คนงานขาความเชื่อมั่นในตัวเองและการรวมตัว โดยหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความคิดเรื่องกรรมเก่าเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตและการจ้างงาน

อีกทั้งนักสหภาพแรงงานต้องไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงโดยรัฐไม่ว่าชุดไหน หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถูกรัฐปราบปราม ก็ควรออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐ ไม่ว่าฝ่ายไหน

ยุทธศาสตร์ 10 ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มองถึงการเปลี่ยนภาวะวิสัยอย่างไร ให้เอื้อต่อขบวนการแรงงานใหม่ ที่มีทั้งเชิงประมาณและคุณภาพ โดยในปริมาณคือขยายครอบคลุมแรงงานนอกระบบและข้ามชาติ รวมทั้งการเป็นขบวนการทางสังคม สำหรับความเข้มแข็งเชิงคุณภาพนั้นมีการควบรวมปรับโครงสร้าง และการพึ่งตนอง

ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ 10 ปีว่า ในปีที่ 1-2 คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะสร้างถกเถียงถึงแนวทาง ความเป็นไปได้ในการทำงานทางการเมืองของขบวนการแรงงาน และในปีที่ 3-5  ผลักดันในคนงานสามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนฯในเขตพื้นที่ทำงานได้ การจำกัดสิทธิด้วยคุณสมบัติการศึกษาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข รวมไปถึงมีผู้แทนจากขบวนการแรงงานลงสมัครรับการเลือกตั้งในการเมืองระดับท้องถิ่น อย่างน้อย 5 คน และหลังจากนั้นในปีที่ 6-10 มีตัวแทนคนงานเป็นผ็แทนในสภาไม่น้อยกว่า 5 คนและมีผู้แทนคนงานได้รับเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ รวมไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงานได้รับการเลือกตั้ง1คน

รื้อฟื้นการต่อสู้แนวสังคมนิยม

นิติรัฐ เสนอว่า ช่วงการต่อสู้ปี 2475-2500 หรือ 2516-19 มีแนวคิดทางการเมืองที่สนับสนุนการต่อสู้ชนชั้นแรงงาน และมีมิติการมองเชิทฤษฏีการต่อสู้ ดังนั้นควรรื้อฟื้นการต่อสู้แนวสังคมนิยม และท้าทายวัฒนธรรมการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่เป็นระบบอุปถัมภ์

พนมทวน ทองน้อย

เสนอผู้นำแรงงานนั่งปาร์ตี้ลิสต์รับเลือกตั้งเข้าสภา

พนมทวน ทองน้อย กรรมการบริหารสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาการต่อสู้ทุกครั้งไปจบที่ภาครัฐบาลทั้งนั้น แต่ที่นั่นไม่มีคนของแรงงานเข้าไปนั่งเลย ดังนั้นการเลือกตั้งที่ตอนนี้ มี 2 แบบ คือแบบแบ่งเขตกับปาร์ตี้ลิสต์  ในเขตชลบุรีมีนิคมอุตสาหกรรมอมตะอมตะ ในปทุมธานี มีนิคมฯนวนคร สมุทรปราการ ก็มีโรงงานมาก แต่เมื่อไปดูแล้วคนงานไม่มีสิทธิเลือกในสถานประกอบการ แล้ว ส.ส. ที่มาจาก ปาร์ตี้ลิสต์นั้นคะแนนมาจากทั่ว ประเทศดังนั้น เราสามารถมีคนของเราเข้ามาได้ เราหวังว่าผู้นำแรงงานไปนั่งในปาร์ตี้ลิสต์ 13 สภา 13 คน สามนฉันท์ฯ และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ อีก 2 คน รวมเป็น 15 คน ก็มีโอกาสที่ตัวแทนคนงานจะเข้าสู่ภาครัฐบ้าง

โชคชัย สุทธาเวศ

ข้อเสนอที่พูดซ้ำ

โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่าในการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกนั้นการปฏิรูปเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และการปฏิวัติก็เข้ามาเสริมบ้าง ทำให้เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ สหภาพฯ เป็นขบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงสมาชิกทำให้การก้าวไปจะเร็วก็ไม่ได้ แต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นก็ไม่ใช่ช้ามากเกินไป

เลขาธิการ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร เล่าว่าเคยตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยก็ยุบไปแล้ว ดังนั้นข้อเสนอเรื่องตั้งพรรคการเมืองเหล่านี้ก็เป็นการทำงานวนไปเวียนมา แต่อาจเป็นธรรมชาติของการปฏิรูปที่ต้องเป็นไปเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับการพูดถึงการพึ่งพาตนเองด้านการเงินของสหภาพฯ นั้นก็เป็นสิ่งที่พูดมากว่า 30 ปีแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก

โชคชัย กล่าว่า ในขณะที่ขบวนการของเสื้อแดงที่ผูกพันกับพรรคเพื่อไทยสูง อาจเป็นเพราะประชาธิปไตยยังไม่เรียบร้อยอาจจะต้องร่วมกับเพื่อไทยในการทำให้ประชาธิปไตยเรียบร้อย อย่างไรก็ตามเมื่อเรียบร้อยแล้วก็อาจมีพรรคใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือก

นอกจากนี้ โชคชัย ยกกรณีสหกรณ์คนงาน TRY ARM ว่าเป็นกิจการที่คนงานเป็นเจ้าของโรงงานก็แสดงให้เห็นตัวแบบของประชาธิปไตยในโรงงาน เป้าหมายอยู่ที่คนงานเป็นเจ้าของกิจการ คนงานก็เป็นเจ้าของกำไรเอง ดังนั้นจะขยายการที่สถานประกอบการที่คนงานเป็นเจ้าของไปสู่อุตสาหกรรมอื่นเป็นเจ้าของอย่างไร น่าจะเป็ยุทธศาสตร์หนึ่งของขบวนการแรงงานด้วย

อย่างไรก็ตาม โชคชัย ได้กล่าวถึงข้อเสนอจัดตั้งกรมส่งเสริมสหภาพแรงงานของ บรรจง ด้วยว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำงานได้หรือไม่  ตัวอย่างกรณีกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น ความเป็นจริงก็กลายเป็นการควบคุมมากกว่าส่งเสริม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘บก.ลายจุด’ นำผูกผ้าแดงต้านนิรโทษฯ เหมาเข่ง

Posted: 27 Oct 2013 02:17 AM PDT

กลุ่มคนเสื้อแดงราว 300 คน ผูกผ้าแดง-จัดกิจกรรมไม่เอาเหมาเข่งที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ บก.ลายจุดลั่น หากเพื่อไทยยังเดินหน้าจะเรียกชุมนุม "หมื่นอัพ" แสดงพลังต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
 
ที่มาภาพจาก: facebook บก.ลายจุด
 
 
 

27 ต.ค.2556 เวลา 12.00 น. กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นำผู้ชุมนุมราว 300 คน ทำกิจกรรมผูกผ้าแดงต่อต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งที่สี่แยกราชประสงค์ จากนั้นได้มารวมตัวกันบริเวณแมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า
 
 
บก.ลายจุดให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะนี้จะให้เวลาพรรคเพื่อไทยถึงวาระที่ 3 เพื่อทำจุดยืนให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเรียกชุมนุม "หมื่นอัพ" ในอนาคต โดยเรียกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมาเข่งมาชุมนุมให้ถึงหมื่นคน เพื่อแสดงพลังการคัดค้าน

ในงานดังกล่าว ยังมีนักวิชาการ อาทิ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรรมด้วย

ด้านวรพล พรหมมิกบุตร กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ถือว่าเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมสภา และขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างที่อยู่ในการพิจารณาขณะนี้เป็นการเอาข้อความของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน และ พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาใส่ แต่ทั้ง 2 ฉบับนี้ ยังไม่ผ่านวาระ 1 และยังไม่เข้าสู่ระบบการพิจารณาของสภา  หากว่าพรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะผ่านกฎหมายฉบับนี้ โดยหลักการแล้ว จะถือว่าเป็นการขัดข้อบังคับการพิจารณาการประชุมสภาข้อที่ 117 และยังเป็นการขัดหลักรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการผ่านกฎหมายโดยยังไม่ผ่านวาระ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และหลักจารีตของการพิจารณากฎหมายในฝ่ายนิติบัญญัติ

วรพลยังกล่าวด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยยืนยันจะผ่านกฎหมายดังกล่าว อาจส่งผลให้กรรมการพรรคถูกดำเนินคดีทางอาญา โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอาจทำให้พรรคหลงเหลือเพียง ส.ส. ที่ไม่ได้ยกมือสนับสนันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งเท่านั้น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมฟุตบอลฝรั่งเศสเตรียมหยุดเตะประท้วงนโยบายเก็บภาษีคนรวย

Posted: 27 Oct 2013 12:49 AM PDT

ทีมฟุตบอลในลีกฝรั่งเศส เตรียมสไตรค์ไม่ลงเตะในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ออกนโยบายรีดภาษีดารานักเตะ ประธานสหภาพทีมฟุตบอลอาชีพระบุเป็นการปกป้องวงการฟุตบอลฝรั่งเศส



27 ต.ค. 2013 - เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพทีมฟุตบอลอาชีพฝรั่งเศส หรือ ยูซีพีเอฟ (Union of Professional Football Clubs - UCPF) ประกาศยืนยันว่า ทีมฟุตบอลในระดับลีก 1 และลีก 2 จะสไตรค์ไม่ลงทำการแข่งขันเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ในสัปดาห์ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ (ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม) เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ประกาศเก็บภาษีคนรวยสูงถึง 75% ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานดารานักเตะค่าเหนื่อยแพงของแต่ละทีม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ต.ค. 2013 ที่ผ่านเว็บไซต์โกลดอทคอมรายงานว่า นายฌอง-ปิแอร์ ลูเวล ประธานของยูซีพีเอฟระบุว่าการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นความตั้งใจในการปกป้องวงการฟุตบอลฝรั่งเศส นอกจากนี้ท่าทีของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส หรือ แอลเอฟพี (French Football League - LFP) ก็ยังสนับสนุนการสไตรค์ครั้งนี้ด้วย โดยมีแถลงการระบุว่าวงการฟุตบอลฝรั่งเศสกำลังตกอยู่ในอันตราย ภายใต้กฎหมายที่จะถูกนำมาบังคับใช้ในปี ค.ศ.2014 แอลเอฟพีเห็นว่าระบบภาษีนี้ไม่ยุติธรรม เป็นการเลือกปฏิบัติ กอปรกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ทีมต่างๆ ต้องทำยอดขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็ยังถูกลดลงเหลือแค่ 3 ปี

โดยนโยบายเก็บภาษีคนรวย 75% นี้จะส่งผลกระทบต่อคนในวงการฟุตบอลฝรั่งเศส (ผู้เล่น, โค้ช และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ) ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านยูโรต่อปี

ทั้งนี้การสไตรค์ของทีมฟุตบอลในฝรั่งเศสครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1972  


ที่มาข่าวบางส่วนจาก: Goal.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ด้วยการฟ้องคดี เอากับ อดัมส์และอีฟ !!!???

Posted: 26 Oct 2013 10:24 PM PDT

[1] ทฤษฎีทางกฎหมายเรื่องหนึ่ง ที่ไม่มีนักกฎหมายคนใดไม่รู้จัก คือ "ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล" ที่ใช้กันในทางกฎหมาย แพ่ง (ละเมิด) และอาญา หรือที่เรียกว่า "Causation" มีหลักสากลในการวินิจฉัยความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำในทางอาญา คือ "ทฤษฎีผลโดยตรง/ทฤษฎีเงื่อนไข/ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุ" แล้วแต่จะเรียกขาน

ทฤษฎีนี้มีสาระสำคัญว่า "ถ้าไม่มีการกระทำ ผลจะไม่เกิด" ถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้น แม้จะต้องมีเหตุอื่น ๆ ในการก่อให้เกิดผลนั้นขึ้นด้วยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีการกระทำนั้น ผลก็ยังเกิด เช่นนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทำนั้นไม่ได้

กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ของไทย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่อง "ผลโดยตรง" ตามทฤษฎีเงื่อนไข ซึ่งก็เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ที่มิได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของคำอธิบายในตำรา และการวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการพิจารณานั้น "ผลธรรมดา" ซึ่งก็หมายความว่า เป็น "ผลโดยตรง" แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็น "ผลธรรมดา" ด้วย "ผลธรรมดา" นี้ คือผลตามทฤษฎี "เหตุที่เหมาะสม" ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างประเทศได้คิดค้นขึ้นเพื่อลดความแข็งกระด้างของการใช้หลัก "ผลโดยตรง" และทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำมากขึ้น

นอกจากนั้น ความแข็งกระด้าง และข้อเสียของทฤษฎีดังกล่าว ถูกแก้ไขโดยการเกิดขึ้นของ "ทฤษฎีเหตุแทรกแซง" กล่าวคือ เหตุแทรกแซงเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายขึ้น หลังจากการกระทำอันแรกได้สิ้นสุดไปแล้ว

[2] เช่น "หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายแล้วได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่า หากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลง โดยการดึงเครื่องช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้านและผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรง เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตาย" หรือ หากมีการทำร้ายกันขึ้น ผู้ถูกทำร้ายวิ่งหนีและถูกฟ้าผ่าตาย เหตุการณ์ที่เกิดฟ้าผ่าย่อมถือว่าเป็นเหตุแทรกแซงที่เกิดขึ้นใหม่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดใน "ผลสุดท้าย (ความตาย)" ที่เกิดขึ้น

[3] หรือ เหตุในตอนแรกเกิดจากการทำร้ายจนสลบ แต่ผู้กระทำเข้าใจว่าผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายจึงเอาผ้าขาวม้ามาผูกคอแขวนกับต้นไม้ทำเป็นว่าผู้นั้นแขวนคอตาย กรณีเช่นนี้ผู้กระทำต้องรับผิดเพียงใดนั้นพิจารณาได้ดังนี้ สำหรับผลที่เกิดจากเหตุในตอนแรก ผู้กระทำต้องรับผิดในผลนั้นอย่างแน่นอนนั้นก็คือ "ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย" ส่วนผลที่เกิดภายหลังคือความตายนั้น ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เพราะผู้กระทำกระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  คือไม่รู้ว่ากรรมของการกระทำยังมีสภาพความเป็นมนุษย์ ความผิดที่น่าพิจารณาต่อไปก็คือการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 เป็นต้น

[4] อีกทฤษฎีหนึ่ง ที่นักนิติศาสตร์ไม่ค่อยได้กล่าวถึง (เพราะไร้เหตุผล) คือ "Adam and Eve and the doctrine of original sin" ความผิดบาปทั้งปวง ล้วนมาจาก "อดัมส์และอีฟ" ทั้งสิ้น เนื่องจาก มนุษย์คู่แรกของโลก (ตามความเชื่อทางพระคัมภีร์) ได้เป็นผู้กระทำผิดต่อพระเจ้า และการกระทำผิดต่อพระเจ้าถือเป็นบาป และ "การทำบาป" คือ "อาญชากรรม-Crime" ยกตัวอย่างเช่น จอห์น ดื่มสุราจนเมาคุมสติไม่อยู่ นำมาซึ่งการก่ออาชญากรรม ฆ่าผู้อื่น / จอห์น อ้างว่าไม่ผิด ความผิดเกิดจากคนขายสุรา ที่ขายสุราให้จอห์น / คนขายสุราก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด แต่ผิดที่คนผลิตสุรา / คนผลิตสุราก็อ้างว่าตนไม่ผิด ผิดที่คนปลูกข้าว เพราะข้าวเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตสุรา / คนปลูกข้าวก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด แต่ผิดที่พ่อแม่ที่ทำให้ตนเกิดมากับอาชีพปลูกข้าว / พ่อแม่ก็อ้างว่าตนเองไม่ผิด ผิดที่ปู่ย่า ที่ประกอบอาชีพปลูกข้าว / ปู่ย่าก็อ้างว่าไม่ผิด ผิดที่ทวดบรรพบุรษ ที่ประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่แรก / บรรพบุรุษก็อ้างบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้าตนเองไปเรื่อยๆ ทุกทอดตลอดสาย จนความผิดสุดท้ายไปตกอยู่กับ "อดัมส์และอีฟ" ในฐานะมนุษย์คู่แรกของโลก

"The doctrine of original sin" จึงอยู่ตรงข้ามกับเหตุผล (นิติ) กฎหมายคือเหตุผล ซึ่งหมายความว่าการตีความ และบังคับใช้กฎหมาย จะย้อนหลังไปไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น จึงต้องหา "จุดตัด" ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เพื่อให้การใช้กฎหมายเกิดความยุติธรรม และไม่ลักลั่น นั่นคือ "หลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation)" นั่นเอง โดยกรณีของจอห์น "การกระทำและผลจะต้องมีความสัมพันธ์กัน" ซึ่งอาชญากรรมที่จอห์นก่อ (การกระทำ) จะต้องสัมพันธ์กับความตาย (ผล) ดังนั้น จอห์นจะไม่สามารถอ้างว่า การฆ่านั้น สาเหตุมาจากสุรา

"The doctrine of original sin" ไม่ได้รับการยอมรับในวงการนิติศาสตร์ เพราะเป็นทฤษฎีที่ไร้เหตุผล แต่ทฤษฎีนี้ จะกล่าวถึง และมีการศึกษาอย่างจริงจังใน "วงการอภิปรัชญา Metaphysics"

เกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 !!!???

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309

"บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"

รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 222

"บรรดาประกาศ หรือคําสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือกฎหมายที่มีผลเป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ออกใช้บังคับก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือคําสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ บรรดาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ตลอดไป และถ้าประกาศหรือคําสั่งดังกล่าวมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ หรือในทางตุลาการ การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหรือคําสั่งดังกล่าว ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ การตราพระราชบัญญัติตามมาตรานี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานของบุคคลหรือคณะบคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว และให้บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะนําไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้"

"มาตรา 222 รสช. นิรโทษฯ ตัวเอง" กับ "มาตรา 309 คมช. นิรโทษฯตัวเอง" ทั้งสองมาตรา จากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ มีผลเหมือนกัน เพียงแต่ มาตรา 309 เขียนให้ดูหล่อและดูเป็นผู้ดีกว่า มาตรา 222 เท่านั้นเอง ถ้อยคำว่า "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" ใน 309 กับถ้อยคำว่า "นำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดๆมิได้" ใน 222 / ถ้อยคำแรก ดูเป็นผู้ดีมีสกุล เขียนกฎหมายแบบนักวิชาการ ส่วนถ้อยคำหลัง ดูเป็นนักเลงโต ไม่เคารพกฎหมาย)


หากเราไล่ดูระยะเวลาของเหตุการณ์รัฐประหารทั้งสองเหตุการณ์ จะพบว่า การรัฐประหาร รสช. 34 นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 "ที่ประชาชนร่วมกันเขียนขึ้นมา" ทำนองเดียวกับ การรัฐประหาร คมช.49 นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 "ที่ประชาชนทั้งประเทศ ลงมติว่ารับ แม้จะไม่ได้ร่วมกันเขียนขึ้นมา"

มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ถอดความหมาย และแบ่งการพิจารณาออกได้ เป็นสองตอน คือ

1. บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

2. รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ปัญาหาที่เรากำลังพูดถึงและมีประเด็นกันคือ ระหว่าง "นิรโทษฯ" กับ "การลบล้างผลพวกรัฐประหาร" แบบไหนจะแก้ไขปัญหาได้ดีดว่ากัน ประเด็นนิรโทษฯ เอาไว้ทีหลัง โน็ตนี้จะมุ่งประเด็นเฉพาะ "การลบล้างผลพวงรัฐประหาร" ว่ามันจะพอมีทางออก และปัญหาตามมาอย่างไรบ้าง

ผมสามารถเข้าใจได้ หากจะบอกว่า "ต้องการดำเนินคดีกับ คมช. ผู้ก่อการ ในฐานะกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113" (โดยแยกการดำเนินคดีกบฎ ออกจากผลพวงรัฐประหาร ซึ่งก็ยังติดปัญหาข้อกฎหมายอยู่ดี)

แต่ผมยังไม่เข้าใจ หากจะบอกว่า "ต้องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร" (ในตัวบทส่วนที่ว่า "….รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว หลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้…")

และปัญหาใหญ่ทุกวันนี้คือคำถามที่ว่า "อะไรคือผลพวงของรัฐประหาร ผลพวงของรัฐประหาร มีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร"

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ การคงไว้ซึ่งมาตรา 309 จะเป็นการนิรโทษกรรมให้คณะทหาร เพราะการชิงอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เป็นความผิดในตัวอยู่แล้ว (ป.อ.มาตรา 113) ไม่ต้องมีประเด็นอะไรให้มานั่งพิจารณากันมากนัก (ซึ่งมาตรา 309 ระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมาย – ก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง)

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้อยคำว่า "รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้" มีความหมายกว้าง หรือแคบมากน้อยเพียงใด และใครเป็นผู้กำหนดของเหตุของการกระทำดังกล่าว เราจะเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างไร ให้ทุกฝ่ายพอใจ

[5] "นิติราษฎร์" ให้แนวทางไว้อย่างกว้าง ๆ คือ

1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

2. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

3. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

4. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

5. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ 3 และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ 4 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้"

หมายความว่า การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวทั้งก่อน และหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หากยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และทำให้ผลพวงของการรัฐประหารเป็น "โมฆะ"

"นิติราษฎร์" บอกในทำนองว่า ต้องการลบล้างผลพวงเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เนื่องจาก การรัฐประหารครั้งนี้ นำมาซึ่งความขัดแย้งในปัจจุบัน หาก "นิติราษฎร์" ใช้ "เงื่อนไขความขัดแย้งของสัมคม" เป็นเกณฑ์ ว่าเราสมควรลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งใด

นั่นหมายความว่า หากลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร คมช. 49 แล้ว ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งขึ้นรอบใหม่ จากกลุ่มคนที่ต้องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร รสช.34 "นิติราษฎร์" ยังต้องการเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร รสช.34 เช่นเดียวกันกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร คมช.49 อีกหรือหรือไม่

ในทำนองเดียวกัน หากมีผู้เสียประโยชน์จากการรัฐประหารทุกครั้ง มาเรียกร้องในทุกครั้งที่มีลบล้างผลพวงรัฐประหารครั้งใดๆ ต่อไป วิธีใช้กฎหมายในประเทศไทย คงจะต้องอ้าง "The doctrine of original sin" ทฤษฎีอดัมส์และอีฟ เป็นแน่แท้

ยังไม่นับถึงผลการกฎหมายกับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

1. การชนะการเลือกตั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554 เป็น "โมฆะ" หรือไม่

2. นโยบายจำนำข้าว ราคาตันละ 15,000 บาท เป็น "โมฆะ" หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ประชาชนคนได้รับสิทธิ จะต้อง "คืนเงิน" หรือไม่

3. นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก เป็น "โมฆะ" หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ประชาชนคนได้รับสิทธิ จะต้อง "คืนเงิน" หรือไม่

4. พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่ผ่านสภาฯ ออกมาบังคับใช้ เป็น "โมฆะ" หรือไม่ หากเป็นโมฆะ เงินจากกฎหมายดังกล่าวที่ได้ถูกเบิกออกมาใช้ และเกิดดอกเบี้ย ผู้ใดจะเป็นคนรับผิดชอบ

5. การประกาศใช้กฎหมายธรรมดา ตามกระบวนการทางรัฐสภา เป็น "โมฆะ" หรือไม่ หากเป็นโมฆะ ใครจะเป็นผู้เยียวยาความเสียหายอันเกิดจากความเป็นโมฆะนั้น

ฯลฯ

คำว่า "ผลพวง" หมายถึง "ผลทั้งหมด" ซึ่งหมายความว่า ผลทางกฎหมายที่เกิดจากการรัฐประหาร คมช.49 ทั้งหมด แต่หาก "นิติราษฎร์" แย้งว่า "ไม่ทั้งหมด เอาเฉพาะแค่ แนวทางของนิติราษฎร์ 5 ข้อ ข้างต้น"

คำถามคือ เป็นการ "เลือกปฎิบัติ" หรือไม่ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งตามกรอบที่ "นิติราษฎร์" เสนอคือการลบล้างกฎหมายบางมาตรา และคำพิพากษาของศาลบางคำพิพากษา ด้วยเหตุผลคือ "ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ"

นอกจากนั้น กฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐในปัจจุบัน ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ จะลบล้างไปด้วยหรือไม่ เช่น "กฎหมายนิรโทษฯเหมาเข่ง" เป็นต้น

"ณ นาทีนี้" ทุกเหตุการณ์ที่มีผลในทางกฎหมาย คือ ผลพวงของรัฐประหาร คมช. 49 ทั้งสิ้น

รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง >> การเลือกตั้งมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 >> รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงมติของประชาชน >> การลงมติของประชาชน มาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าถูกลบล้างด้วยวิธีการนอกกฎหมาย >> และวิธีการนอกกฎหมาย คือการรัฐประหาร 2549 โดย คมช.

"เราจะใช้กฎหมาย เพื่อบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับได้จริงหรือ"

หากอ้างเอาความขัดแย้งของสัมคม มาเป็นฐานคิดของความต้องการลบล้างผลพวงรัฐประหารในครั้งใด ทฤษฎี "The doctrine of original sin" (ทฤษฎีความผิดบาปของอดัมส์และอีฟ) "ที่แสนจะไร้เหตุผลก็จะถูกนำมาใช้"

ในความเป็นจริง และสิ่งที่ถูกต้องเราควรจะต้องนำ "ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation)" มาใช้หรือไม่ !!!???

เมื่อมีคนอ้าง รัฐประหาร รสช.34 (เหตุ) เราต้องพิจารณาว่า ผลพวงของการรัฐประหารที่ต้องการลบล้าง (ผล) มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความสัมพันธ์กันแล้ว ผลพวงของการรัฐประหารมีเหตุแทรกแซง ไปแล้ว นั่นก็คือ "การประกาศใช้ของรัฐธรรมนูญ 2540" นั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีคนอ้างการรัฐประหาร คมช.49 (เหตุ) เราต้องพิจารณาว่า ผลพวงของการรัฐประหารที่ต้องการลบล้าง (ผล) มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ คำตอบคือ มีเหตุแทรกแซง ไปแล้ว นั่นก็คือ "การลงประชามติรับของประชาชน ที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 2550" นั่นเอง

ส่วนที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญโจรก็ดี รัฐธรรมนูญเผด็จการก็ดี "เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น" เพราะเมื่อครั้งที่ประชาชนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่มีมือที่มองไม่เห็น หรือเผด็จการคนไหนเอารถถัง หรือสไนเปอร์มาจ่อหัว ให้กากบาทในช่อง "ไม่รับ" เท่านั้น (ส่วนจะต้องแก้มาตราไหนที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง)

ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation) ใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดีอาญา รวมไปถึงคดีแพ่ง (ละเมิด) ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฎ "ให้ใช้ในคดีทางมหาชน" (อาจจะมี แต่ยังไม่เคยอ่านเจอ) แต่ก็ไม่ปรากฎว่า "ห้ามใช้ในคดีทางมหาชน" เช่นกัน

Causation คือทฤษฎีทางกฎหมายที่เป็นมีเหตุมีผล เป็นนิติวิธีที่ใช้ระงับข้อพิพาทอย่างยุติธรรม ไม่ให้ลากยาวย้อนเวลาไปเรื่อยจนไม่มีสิ้นสุดถึง "อดัมส์และอีฟ" ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ "เพ้อเจ้อ"

เราจะลบล้างผลพวงของการรัฐประหารได้หรือไม่ อย่างไร !!!???

[6] ไม่มีเหตุผลใดที่จะบอกว่า "ไม่ได้" แต่ทั้งนี้ การลบล้างดังกล่าว จะต้องยังไม่มีเหตุแทรกแซง ที่ทำให้ผลของการกระทำรัฐประหารสิ้นผลไป กล่าวคือ ลบล้างในช่วงเวลาที่คดีแรก ที่มาจาก คตส. ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลต้องเป็นผู้มีหน้าที่ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารดังกล่าว (ตามแนวทางคำพิพากษาส่วนตนของ ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีที่ อม.9/2552) แต่ในข้อเท็จจริง ศาลในคดีอื่น กลับไม่ได้ใช้แนวคำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานเลย (ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง)

[7] การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ตามกรอบแนวคิดของ "นิติราษฎร์" ไม่ได้บอกไว้ในรายละเอียดทางเทคนิค หรือร่างออกมาเป็น "ตัวบท" ให้ประชาชนวิจารณ์ หากลบล้าง คมช.49 ได้แล้ว ต่อมามีคนไม่พอใจ อยากลบล้าง รสช.34 ขึ้นมา จะทำอย่างไร และต่อไปหากมีคนอยากลบล้างครั้งก่อนหน้าไปเรื่อยๆ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารดังกล่าวจะไปจบที่ไหน ในประเทศนี้มีการรัฐประหารมากมายหลายครั้งเหลือเกิน เกณฑ์ที่ "นิติราษฎร์" เสนอให้ลบล้าง คมช.49 อยู่ที่ "ความขัดแย้งของสังคม"

ถึงตอนนี้ "นิติราษฎร์" เสนอกรอบแนวทาง "การเป็นนักท่องเวลา (Time Traveller)" ให้กับประเทศไทย และหากทำได้ตามกรอบแนวทางที่ "นิติราษฎร์" เสนอ หมายความว่า การบังคับใช้กฎหมายในประเทศนี้ จะสุ่มเสี่ยงต่อการที่กลุ่มคนสนับสนุนการแก้ปัญหาคอรร์รัปชั่นด้วยการรัฐประหาร จะเรียกร้องหา "ทฤษฎีอดัมส์และอีฟ The doctrine of original sin"

นั่นหมายความว่า "นักนิติศาสตร์" ในฐานะวิศวกรสังคม สมควรที่จะต้องเป็น "ผู้ที่มีเหตุผลมากที่สุด" กลับกลายเป็น "ผู้ที่เพ้อเจ้อเหลวไหลมากที่สุด" ไปเสียแทน ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับ

ที่สาธยายมายืดยาวนั้น ไม่มีประเด็นอื่นใด นอกจากจะสื่อถึง "ปัญหาที่ตามมาของการใช้กฎหมาย เพื่อบังคับให้สายน้ำไหลย้อนกลับ" ตามกรอบที่ "นิติราษฎร์" เสนอ

"รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ไม่เป็นประชาธิปไตย และเราจะแก้ปัญหาเพื่อไม่มีปัญหาตามมา อย่างไรกันดี"

ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน........


___________________________

[1] บันทึกท้ายฏีกา ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ (ท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532)
[2] คำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532
[3] คำพิพากษาฎีกาที่ 1395/2518
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Crime, http://www.newadvent.org/cathen/11312a.htm, http://www3.nd.edu/~mrea/papers/Metaphysics%20of%20Original%20Sin%20_final_.pdf,  http://www.bbc.co.uk/religion/religions/christianity/beliefs/originalsin_1.shtml
[5] (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316339430&grpid=01&catid=02)
[6] http://www.facebook.com/notes/tongrob-sunontalad/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/515205488533305
[7] นิติราษฎร์ ตอบคำถามประเด็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารแบบกว้าง ๆ ไม่ลงเฉพาะเจาะจง (ดูข้อ 15) (http://prachatai.com/journal/2012/01/38873)
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327226024&grpid=03&catid&subcatid)
(http://www.siamintelligence.com/nitirat-constitution-roadmap/)
(http://www.enlightened-jurists.com/blog/60/search_keyword/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/search_id/52270)

* ศาลตุรกี พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้ก่อการรัฐประหาร เมื่อครั้ง ค.ศ.1980 (แต่ไม่ปรากฎข้อมูลว่า หากประชาชนผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนั้น ต้องการให้มีการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร เมื่อครั้งปี 1971 และ 1960 ด้วย ประเทศตุรกีจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร / ซึ่งในประเทศไทย มีคนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกเดียวในการล้มรัฐบาลคอรร์รัปชั่น และความคิดชุ่ยๆแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย กลับยิ่งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มด้วยซ้ำ) http://www.nytimes.com/2013/10/10/world/europe/turkish-court-upholds-convictions-of-coup-plotters.html?_r=0 http://www.reuters.com/article/2013/10/09/us-turkey-coup-verdict-idUSBRE9980FU20131009

** ที่อธิบายมาทั้งหมด โปรดอ่านละเอียดหลายๆรอบ ผมไม่ได้บอกเลย "ซักประโยค" ว่า "นิยมการรัฐประหาร" นะครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ ร่าง นิรโทษสุดซอย นำการเมืองไทยหายนะ

Posted: 26 Oct 2013 10:06 PM PDT

บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin นักโทษทางความคิด คดี112 วิพากษ์พรรคเพื่อไทยกำลังก้าวเข้าสู่หายนะทางการเมือง ยืนยันมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ได้มาต่อสู้เพื่อความเมตตา

เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 25 ต.ค.56 - นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" ของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุด เพราะนอกจากคนที่จะได้ประโยชน์จริงๆ เป็นฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พังไปด้วย พร้อมกับเรียกร้องให้ ส.ส. 42 คน ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ "วรชัย เหมะ" ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถผลักดันร่างที่นำเสนอให้สำเร็จได้ และเนื้อหายังถูกปรับเปลี่ยนไปอีกด้วย โดยนายสมยศ ได้เปรียบเทียบว่าเหมือนเสนอกฎหมายแมว แต่ได้กฎหมายหมา

นายสมยศ ได้กล่าวเรียกร้องให้แกนนำเสื้อแดงรักษาสัญญาต่อประชาชนในการปราศรัยที่ โบนันซ่าว่าจะเร่งผลักดันให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และผลักดันให้รัฐบาลลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) รวมทั้งการประกาศจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีจุดยืนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

นายสมยศ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า หาก ส.ส.เสื้อแดงปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" ผ่าน ก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เหมือนคนไม่มีสัจจะ พร้อมทั้งเน้นย้ำหากต้องการเดินหน้า ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจริง ต้องรักษาสัจจะที่ให้ไว้ต่อประชาชน หากทำได้เช่นนั้นก็จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล นอกจากนั้น นายสมยศ ยังได้ตั้งคำถามถึง ส.ส.พรรคเพื่อไทยว่าหากผลักดันจนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" ผ่าน จะมองหน้าญาติพี่น้องคนตาย จะมองหน้าประชาชนได้อย่างไร

ทั้งนี้ นายสมยศ ยังกล่าวอีกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" ขัดกับหลักแห่งความเสมอภาค เพราะนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายแต่ยกเว้นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากแนวคิดทางการเมืองเช่นเดียวกัน ซึ่งในที่สุดก็ขัดกับรัฐธรรมนูญนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นายสมยศ กล่าวว่า ขณะนี้ขอสู้ต่อ หากไม่ไหวก็พร้อมตาย และยังเน้นย้ำถึงอุดมการณ์ในการต่อสู้ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความเมตตา และกล่าวเพิ่มเติมว่าการต่อสู้ครั้งนี้มีความหมายต่อสังคมไทย เป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย ได้รับสิทธิประกันตัวเหมือนผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รายอื่น และยังยอมรับว่าการท้าทาย การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ต้องลำบาก ทรมาน แต่ก็พร้อมยืนหยัดต่อสู้โดยไม่หวั่นไหว.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำกล่าวของคุณสุนัย จุลพงศธรเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ

Posted: 26 Oct 2013 07:24 PM PDT

ผมฟังคลิปที่คุณสุนัย จุลพงศธรพูดเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกับเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตดังนี้

ประการแรก คุณสุนัยพูดว่า หากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่านสภาแล้วหลุดทั้งหมด คนที่มีโอกาสสูงมากที่จะถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศมากที่สุดคือคุณอภิสิทธิ์ และคุณสุเทพเพราะว่าเงื่อนไขสำคัญที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับคดีไว้พิจารณาคือ "รัฐนั้นไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตาย" ในประเด็นนี้ผมเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติใดในธรรมนูญกรุงโรมกำหนดเงื่อนไขที่ว่านี้เลย ในธรรมนูญกล่าวแต่เพียงกรณีที่รัฐภาคี "ไม่เต็มใจ (unwilling) ที่จะให้มีการดำเนินคดีอาญาหรือไม่สามารถ (unable) ที่จะดำเนินคดี" ท่าจะว่าไปแล้ว ธรรมนูญกรุงโรมจะให้ความสำคัญในแง่ของการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่าการเยียวยาความเสียหายให้กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ดังนั้น เงื่อนไขเรื่องไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตายนั้น จึงไม่นับเป็นเงื่อนไขในการรับคดีเพื่อพิจารณา (Admissibility) ในธรรมนูญกรุงโรมแต่อย่างใด

ประการที่สอง ดูเหมือนว่าคุณสุนัยพยายามโยงเรื่องการให้สัตยาบัน ICC กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่กำลังลงมติวาระ 3 นั้น โดยคุณสุนัยพูดว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะมีช่องทางมากขึ้น ตรงนี้คุณสุนัยอธิบายไม่ชัดเจนว่าการแก้ไขมาตรา 190 จะเพิ่มช่องทางมากขึ้นกับการให้สัตยาบันอย่างไร รวมไปถึงการทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามข้อที่ 12 (3) ผมเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมเลย ไม่ว่าจะแก้ไขหรือไม่ก็ตาม การให้สัตยาบันก็จะต้องผ่านสภาอยู่แล้วเพราะเป็นกรณีที่จะต้องตราพระราชบัญญัติให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือที่เรียกว่าออกกฎหมายอนุวัติการ สำหรับประเด็นการยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะคดี (ad hoc) นั้น ผมเห็นว่า หากรัฐบาลมีนโยบายหรือมี political will จริง ทำไมไม่ยอมทำคำประกาศฝ่ายเดียวก่อน แล้วจึงค่อยออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างน้อยก็แสดงว่ารัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้

ประการที่สาม ที่คุณสุนัยกล่าวว่า ตอนนี้คุณอภิสิทธิ์ตกเป็นจำเลยในศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะทนายอัมสเตอร์ดัมได้ฟ้องไว้เพียงแต่ศาลยังไม่ได้พิจารณานั้น ในประเด็นนี้ผมเห็นว่า อาจจะมีการใช้ถ้อยคำที่คลาดเคลื่อน หากพิจารณาธรรมนูญกรุงโรมแล้วจะพบว่า บุคคลธรรมดาไม่มีสิทธิฟ้องคดีได้เลย อำนาจการริเริ่มการสอบสวนและฟ้องคดีเป็นของอัยการ โดยการริเริ่มให้มีการสอบสวนที่เรียกว่า Deferral นั้นสงวนไว้เฉพาะอัยการประจำศาลอาญาระหว่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและรัฐภาคีเท่านั้น (รวมถึงรัฐที่ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ) ขนาดอัยการริเริ่มสอบสวนคดีเองที่เรียกว่า "propio motu" ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันมากในที่ประชุมตอนร่างธรรมนูญกรุงโรมว่าจะยอมให้อัยการริเริ่มคดีได้เองหรือไม่ แล้วบุคคลธรรมดาจะมีอำนาจฟ้องหรือริเริ่มคดีได้หรือ

จริงๆแล้วสิ่งที่คุณอัมสเตอร์ดัมได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นเพียงขั้นตอนของการส่งข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้สำนักงานอัยการพิจารณา ตรวจสอบและวิเคราะห์เท่านั้นว่าคดีมูลมากพอที่จะสืบสวนสอบสวนต่อไปหรือไม่ เป็นขั้นตอนที่เรียกว่า Communication ที่สำคัญที่สุด คุณอัมสเตอร์ดัมอ้างว่าคุณอภิสิทธิ์ถือสัญชาติอังกฤษๆให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมจึงฟ้องได้ แต่ผมสงสัยว่า ยังไม่เคยมีข่าวออกมาว่ามีการฟ้องคุณอภิสิทธิ์ต่อศาลอังกฤษเลย (หรือผมอาจตกข่าว) ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะจะต้องมีการพิจารณาประเด็นเรื่อง "การรับคดีไว้พิจารณา" ที่เรียกว่า Admissibility  ซึ่งตามปกติแล้วคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับพิจารณาคดีได้จะเป็นกรณีที่ศาลภายในของรัฐภาคีไม่เต็มใจหรือไม่สามารถที่จะดำเนินคดีได้ (ดูข้อบทที่ 17 ของธรรมนูญกรุงโรม) ซึ่งผมยังไม่เคยได้ยินว่าศาลอังกฤษ "ไม่เต็มใจ" หรือ "ไม่สามารถ" ที่จะดำเนินคดีกับคุณอภิสิทธิ์ได้แต่อย่างใด

อีกประการหนึ่งคือ ผมเคยอ่านข่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้ช่องทางของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติให้เสนอเรื่องไปยังอัยการให้สอบสวน ผมอ่านแล้วงงมากว่าคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติมาเกี่ยวอะไรด้วยกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ กรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงจะเข้าเกี่ยวข้องได้ต้องเป็นกรณีเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามหมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้นซึ่งตามหมวด 7 (Chapter VII) เป็นกรณีที่เกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพและการรุกราน (ดูข้อที่ 13 (b) และข้อ16 ของธรรมนูญกรุงโรมและดูหมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติประกอบกัน) พูดง่ายๆก็คือ กรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงจะให้อัยการริเริ่มสอบสวนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศซึ่งเหตุการณ์ราชประสงค์ไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศเลย

ประการที่สี่ คุณสุนัยกล่าวว่า หากว่าร่างพระบัญญัตินี้ผ่านสภา ประชาชนก็สามารถร้องต่อได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ให้ความเป็นธรรมเพื่อเปิดทางให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ผมเห็นว่า อย่าลืมน่ะครับว่าหน้าที่ในนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ใช่ศาลที่จะมาทำหน้าที่ทดแทนศาลภายในแต่มาเสริมเขตอำนาจศาลภายในเท่านั้นที่เรียกว่าหลักเสริมเขตอำนาจศาลภายใน (Complementarity) ดังปรากฏให้เห็นจากอารัมภบทของธรรมนูญกรุงโรม

นอกจากนี้แล้ว หากกฎหมายนิรโทษกรรมออกโดยสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  ผมจะไม่สงสัยในสิ่งที่คุณสุนัยได้กล่าวไว้เลย แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีแรงสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภา ในเมื่อไม่ยอมให้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศทำงานก่อนแต่กลับส่งเรื่องไปให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ให้ความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ต้องถามกลับว่าแล้วใครเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอันมีผลให้บรรดาคดีความทั้งหลายที่คุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีโดยศาลอาญาสิ้นสุดลง

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น