โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลุ่มกบฏในซีเรียปฏิเสธรายงานฮิวแมนไรท์วอทช์กรณีสังหารพลเรือน

Posted: 15 Oct 2013 11:26 AM PDT

หลังจากที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์เสนอรายงานเรื่องที่กลุ่มกบฏบางส่วนใช้กำลังสังหารและจับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นตัวประกัน ก็มีการปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้นจากกลุ่มกบฏ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลส่วนพลเรือนออกแถลงการณ์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพียงฝีมือของกลุ่มสุดโต่งบางกลุ่ม


15 ต.ค. 2013 - กลุ่มกบฏในประเทศซีเรียปฏิเสธข้อกล่าวหาขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กรณีเหตุใช้กำลังกับพลเรือนในเขตปกครองลาทาเคีย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ นำเสนอรายงานการก่ออาชญากรรมสงครามโดยฝ่ายกบฏในซีเรีย เนื้อหาในรายงานระบุว่าฝ่ายกบฏได้สังหารและจับพลเรือนเป็นตัวประกันในช่วงที่มีการบุกโจมตีหมู่บ้านบลูวตาของชาวมุสลิมนิกายอลาวีในเขตลาทาเคีย

ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กล่าวในรายงานว่า กลุ่มกบฏได้เปิดฉากยิงใส่พลเรือนในพื้นที่ มีความพยายามสังหารคนทั้งครอบครัว บางครั้งก็สังหารสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ชายและจับผู้หญิงและเด็กเป็นตัวประกัน ในรายงานระบุอีกว่า กลุ่มกบฏได้สังหารพลเรือนไป 190 คน เป็นผู้หญิง 57 คน เป็นเด็กอย่างน้อย 18 คน และเป็นชายชรา 14 คน นอกจากนี้ยังได้จับตัวพลเรือน 200 คนเป็นตัวประกัน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามกลุ่กบฏบางส่วนในซีเรียก็กล่าวปฏิเสธเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยบอกว่ารายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เป็น "เรื่องหลอกลวง" และเป็น "โฆษณาชวนเชื่อที่ผิดจากความจริง"

มูฮัมเหม็ด รัสลาน นักรบจากกลุ่มกบฏปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army หรือ FSA) กล่าวว่า พื้นที่หมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และนักข่าวไม่สามารถเข้าไปได้ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเป็นไปได้ยาก รัสลานบอกอีกว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ไม่ควรใช้ข้อมูลภาพถ่ายหรือวิดีโอที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน

กลุ่มสภาแห่งชาติซีเรียซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยกล่าวว่าเหตุการณ์ที่ระบุในรายงานไม่ใช่ลักษณะของกลุ่มกบฏโดยทั้งหมด แต่เป็นการกระทำของกลุ่มสุดโต่งเพียงบางกลุ่มที่เติบโตภายใต้การปกครองของรัฐบาลอัสซาด

รายงานดังกล่าวมาจากการที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ลงพื้นที่ตรวจสอบและสัมภาษณ์คน 35 คน ประกอบด้วยผู้รอดชีวิต เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน นักรบ และนักกิจกรรมทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน

ปีเตอร์ บุคการ์ท ประธานฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า งานของพวกเขาคือการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม รวมถึงพยายามป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายใช้กำลังต่อพลเรือน

"ผู้ที่อยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่คิดว่าพวกเขาควรช่วยเหลือผู้ร่วมอุดมการณ์โดยการปฏิเสธอาชญากรรมที่เกิดขึ้นหรือต้องการให้เน้นแค่การก่ออาชญากรรมโดยรัฐบาลอัสซาด คนเหล่านี้กำลังหลอกตัวเอง กลุ่มสุดโต่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อประชาชนชาวซีเรียมากพอๆ กับรัฐบาลอัสซาด" ปีเตอร์ บุคการ์ทกล่าว

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบลูวตาเป็นฝีมือของกลุ่มกบฏติดอาวุธ 5 กลุ่ม แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่ม FSA มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

โซมาร์ อัล-อับดุลลา ชาวมุสลิมนิกายอลาวีผู้คอยสนับสนุนการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของประชาชนชาวซีเรียกล่าวว่า เขารู้สึกว่าลักษณะของการต่อต้านรัฐบาลในซีเรียเปลี่ยนแปลงไป ตัวเขาเคยเป็นผู้จัดตั้งการประท้วงในหลายเมือง แต่ต่อมาต้องหลบหนีออกจากประเทศซีเรียหลังถูกข่มขู่จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลด้วยกันเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเกลียดชังระหว่างนิกายที่ก่อตัวขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีมากในการสร้างสันติภาพ

อับดุลลากล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบลูวตาว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป้นพลเรือนที่ไม่มีความผิดอะไร ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวนาและคนยากจนที่ไม่มีส่วนในสงครามกลางเมือง เช่นเดียวกับประชาชนในเมืองอื่นๆ ของซีเรียที่ถูกสังหารโดยฝ่ายรัฐบาล

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตลาทาเคียไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลถูกโค่นล้มเลย ในทางตรงกันข้ามจุดยืนของรัฐบาลในตอนนี้ยิ่งดูน่าเชื่อถือมากขึ้นสายตาของนานาชาติ และคำกล่าวอ้างของรัฐบาลว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายก็จะถูกสนับสนุนด้วยรายงานฉบับนี้" อับดุลลากล่าว

 


เรียบเรียงจาก

Syrian rebels deny allegations of atrocities in Latakia, Globalpost, 14-10-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/syria/131014/syrian-rebels-deny-allegations-atrocities-latakia

Syrian rebels killed civilians and took hostages in Latakia offensive: HRW (VIDEO), Globalpost, 11-10-2013
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/syria/131011/syrian-rebels-killed-civilians-and-took-hostages-lata

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รักษ์บ้านแหงเฮ! ศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีประทานบัตรเหมือง ชี้ฟ้องเพื่อส่วนรวม

Posted: 15 Oct 2013 11:22 AM PDT

กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปางเฮ หลังฟังผลศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านกว่า 400 ร่วมฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พร้อมพวกรวม 4 ราย กรณีจัดทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรเหมือง
 
 
วันนี้ (15 ต.ค. 56) เวลาประมาณ 10.30 น.ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ร่วมฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดีที่ น.ส.แววรินทร์ บัวเงิน และชาวบ้านรวม 445 คน ยื่นฟ้องจำเลยรวม 4 ราย ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
 
จากกรณีการจัดทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ ตามคำขอประทานบัตรเลขที่ 4/2553 ถึง 8/2553 ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด โดยหน่วยงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งกลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรของบริษัทฯ ซึ่งได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ของหมู่บ้าน พร้อมทั้งให้เพิกถอนกระบวนการต่อเนื่องจากการทำรายงาน ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น จ.เชียงใหม่ไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดระบุ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 445 คน เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 445 คนไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นการรับคำฟ้องไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
 
ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่า เหตุยังไม่เกิด มูลการละเมิดยังไม่มี แม้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปสู่การอนุญาตประทานบัตร ต่อมาชาวบ้านจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ส.2/2556 หมายเลขแดงที่ ส.3/2556 ของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองเชียงใหม่นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่ในวันนี้
 
น.ส.แววรินทร์ บัวเงิน กล่าวว่ารู้สึกดีใจมากเมื่อได้ฟังคำสั่งศาล และเรื่องนี้ทำให้มองเห็นว่าศาลมีการคิดแบบใหม่เพราะปกติเหมืองที่ยังไม่เกิดศาลมักไม่รับฟ้อง แต่ครั้งนี้ศาลรับฟ้องโดยให้เหตุผลว่าเรามีสิทธิที่จะฟ้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และรายงานคำไต่สวนก็ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ศาลปกครองสูงสุดเห็นแย้งกับศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นว่าควรรับพิจารณาคดี และถึงแม้จะเลยเวลาการฟ้องคดีเนื่องจากเหตุเกิดตั้งแต่เมื่อปี 53 แต่การฟ้องคดีครั้งนี้เป็นการฟ้องเพื่อคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
 
"ตอนนั้นเราอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลอยู่เลย และประเมินว่าศาลจะไม่รับฟ้อง และศาลชั้นต้นก็ไม่รับจริงๆ ชาวบ้านเสียใจมาก" น.ส.แววรินทร์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของชาวบ้านเมื่อปี 53
 
เมื่อถามว่าชาวบ้านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป น.ส.แววรินทร์ กล่าวว่า ชาวบ้านคงต้องเตรียมทำข้อมูลเอาไว้ไปสู้ในชั้นพิจารณาคดี
 
ทั้งนี้ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตร ต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.53 ต่อมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพื่อทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตร เป็นผลให้ชาวบ้าน ต.บ้านแหงกว่า 400 คน ยื่นฟ้องคดีดังกล่าว 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภิญญาเห็นต่าง 'ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช.' แนะเน้นธรรมาภิบาล-โปร่งใส

Posted: 15 Oct 2013 11:13 AM PDT

จับตา กสทช. ออกร่างกำกับจริยธรรมกรรมการ กสทช.พุธนี้ สุภิญญาแย้ง ร่างยังไม่ครอบคลุม ขาดการเน้นธรรมาภิบาล-จัดทำงบให้มีประสิทธิภาพ กรณีมีการร้องเรียน ชี้ควรส่งซูเปอร์บอร์ด ไม่ใช่พิจารณากันเอง


ในวันพุธนี้ (16ต.ค.56) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมออก "ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช." เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมสำหรับ กสทช. ตามที่ได้มีการหารือในที่ประชุมเมื่อครั้งที่ 12 วันที่ 18ก.ย.55 ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงาน กสทช. จัดทำแนวทางดังกล่าว ซึ่ง สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนั้น ได้ถอนตัวจากการพิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากควรสนับสนุนให้มีการร่างแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสำหรับ กสทช.ครอบคลุมทุกเรื่อง อาทิ การใช้งบรับรอง การเดินทางไปต่างประเทศ การรักษาระยะห่างกับผู้ประกอบการ การรับของขวัญ และเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กร โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสขององค์กร รวมถึงควรมีมาตรการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพบนมาตรฐานเดียวกับองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ

สุภิญญา กล่าวว่า "ร่างประมวลจริยธรรมของกรรมการ กสทช." ที่กำลังพิจารณานี้ มีทั้งหมด 3 หมวด 9 ข้อ แม้ว่าตนเห็นด้วยในหลายข้อของร่างประมวลฯนี้ แต่มีบางข้อที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นบทบาทหน้าที่ของกรรมการที่ยังต้องคงความเป็นอิสระ และสามารถเปิดเผยความคิดเห็นของตนต่อสาธารณะ ซึ่งอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของกรรมการในการทำหน้าที่ตามกฎหมายได้ เช่น บางข้อในหมวดมาตรฐานจริยธรรมองค์กร ระบุว่า "ต้องเคารพความเห็นของกรรมการคนอื่น รวมทั้งต้องไม่นำความเห็นของกรรมการอื่นที่เสนอในที่ประชุมไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก" หรือ "พึงแสดงความคิดเห็นในการประชุม โดยการตั้งคำถามหรือเสนอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ในด้านการเพิ่มคุณค่าให้แก่การประชุมดังกล่าว และเมื่อมีการลงมติที่ประชุมแล้ว หากกรรมการคนใดมีการลงมติแตกต่างจากมติที่ประชุมดังกล่าว ต้องระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์มติที่ประชุมดังกล่าวที่จะก่อให้เกิดความเสียหายด้านชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ การดำรงตน และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ รวมทั้งองค์กรด้วย"

นอกจากนี้ หมวดกลไกและระบบบังคับใช้ประมวลจริยธรรม ได้ระบุว่า "กรณีมีการร้องเรียนหรือปรากฏเหตุว่า กรรมการคนหนึ่งคนใด ประพฤติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้กรรมการที่เหลืออยู่ เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการเพื่อสอบสวนทางจริยธรรม" และ "การดำเนินการ...ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เป็นผู้สอบสวนทางจริยธรรม" ตนคิดว่าหากพบการฝ่าฝืนจริยธรรมควรส่งเรื่องให้ซูเปอร์บอร์ด หรือวุฒิสภาเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาตามกฎหมายน่าจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้ สุภิญญา เสนอว่า ในประมวลจริยธรรม ควรจะเน้นเรื่องการประหยัดงบประมาณสาธารณะ เพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมและจำเป็น เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การซื้อพื้นที่สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งกรรมการควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นอื่นที่แตกต่างจากตน และท้ายที่สุดสิ่งสำคัญในฐานะการทำหน้าที่กรรมการในองค์กรอิสระควรที่จะสามารถเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI: ชวนคิด 3 แนวทางอยู่กับประชานิยมแบบไทยๆ

Posted: 15 Oct 2013 10:20 AM PDT

 

เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่นโยบายประชานิยมได้รับการขับเคลื่อนจากพรรคการเมืองต่างๆ ของประเทศไทย และประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม ที่ให้ผลดีระยะสั้นแต่ผลเสียระยะยาว แม้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักประชานิยมได้ในเร็ววันแต่ควรที่ทุกคนพึงตระหนักและร่วมกันกำกับการดำเนินนโยบายประชานิยมให้ถูกต้อง  เหมาะสม  ไม่ส่งต่อภาระให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต  เกี่ยวกับเรื่องนี้  ดร. วิรไท สันติประภพ  ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้สะท้อนมุมมองและเสนอ 3 แนวคิดเพื่อการคิดต่อ ว่าเราจะอยู่กับนโยบายประชานิยมอย่างไร โดยประเทศไทยไม่ล่มจม  

ปัญหาประชานิยมแบบไทย : ผลระยะสั้น ภาระระยะยาว

ระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งค่อนข้างมาก  นโยบายประชานิยมที่เห็นจึงมีลักษณะเสนอว่าจะให้ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้ง และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็เปลี่ยนจากนโยบายที่มุ่งตอบโจทย์เรื่องสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน และการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การเรียนฟรี การเข้าถึงสินเชื่อของชุมชนในระดับรากหญ้า ฯลฯ   มาเป็นนโยบายที่มีลักษณะ "สัญญาว่าจะให้" และเห็นผลในช่วงสั้น ๆ เพื่อจะได้ชนะการเลือกตั้ง และเป็นนโยบายที่มีวิธีคิดในเรื่องการตลาดนำมากกว่าที่จะตอบโจทย์สวัสดิการขั้นพื้นฐาน  

นโยบายเช่นนี้ ทำให้เกิดภาระงบประมาณ เกิดการบริโภคที่เกินพอดี  และเกิดผลข้างเคียงทางเศรษฐศาสตร์ได้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น นโยบายรถคันแรก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เกิดผลตามมามากมายทั้งในด้านหนี้ครัวเรือน การใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหารถติด และไม่สอดคล้องกับแนวทางนโยบายที่เราจะส่งเสริมการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานน้อยลง

หลายนโยบายสร้างภาระทางการคลังทั้งในปัจจุบันและระยะยาว ทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น  และการจัดสรรรายจ่ายในโครงการเหล่านี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสรวมอยู่ด้วย และไม่สามารถมีงบประมาณพอไปทำเรื่องที่สำคัญของประเทศในระยะยาว  ขณะนี้เราเห็นได้ชัดเจนว่ารายจ่ายที่เป็นรายจ่ายประจำของงบประมาณประจำปีของภาครัฐคิดเป็นรายจ่ายร้อยละ 80  มีส่วนเงินที่จะเอามาลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี ทั้งที่ประเทศไทยยังต้องการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งถ้าไม่ทำความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง  ปัญหาสำคัญที่มีผลต่องบประมาณคือมีหลายนโยบายเป็นนโยบายปลายเปิดที่ไม่ทราบว่าภาระและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจะเป็นเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น โครงการรับจำข้าวทุกเม็ด ที่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าสร้างความเสียหายแต่ละปีเท่าไหร่

 "นโยบายหลายอย่างที่เป็นนโยบายปลายเปิด เป็นเรื่องที่สร้างภาระ และหยุดไม่ค่อยได้ นักการเมืองจะมาให้เลิกนโยบายเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความกล้าหาญค่อนข้างมากเพราะจะกระทบกับฐานเสียง"

เมื่อภาครัฐมีเงินจำกัดแต่นักการเมืองต้องการที่จะนำเสนอนโยบายที่เรียกว่าประชานิยม ก็มักจะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้แหล่งเงินทุนของภาคเอกชน มาสร้างภาระให้กับภาคเอกชน มาสร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำลายความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนในระยะยาว ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ นโยบายจำนำข้าวที่กระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ  นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ กระทบความสามารถของธุรกิจในภาคเอกชนในต่างจังหวัดค่อนข้างมาก  เป็นตัน เป็นการเอาเงินหรือทรัพยากรของภาคเอกชนไปใช้ตอบโจทย์การเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับการแข่งขันของภาคเอกชนในระยะยาว

ปัญหาที่สำคัญ คือ เมื่อมีการใช้นโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รายจ่ายของรัฐก็จะโตขึ้น หนีไม่พ้นว่ารัฐบาลจะต้องไปดำเนินการจัดภาษีเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวเพื่อให้ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตั้งในประเทศไทยก็สามารถทำธุรกิจกับคนไทยได้  โดยไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ แล้วอาศัยข้อตกลงทางการค้าส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็กระทบกับความสามารถการแข่งขันของประเทศโดยรวม และไม่สามารถยกระดับการแข่งขันของประเทศได้

เสนอ 3 แนวคิดหลุดกับดักประชานิยมฉุดรั้งประเทศ   

แม้ทางออกจากกับดักนโยบายประชานิยมที่ดีที่สุดคือทำให้ประชาชนเลิกนิยมนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและทำให้เห็นถึงค่าเสียโอกาสของประเทศและของประชาชนเอง  แต่การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน  และประเทศไทยคงไม่สามารถหลุดออกจากกับดักประชานิยมได้เร็ว  ฉะนั้นโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่า เราจะอยู่กับนโยบายประชานิยมอย่างไร จึงจะไม่ให้ประเทศไทยล่มจมได้  ขอเสนอ 3 แนวคิดเพื่อให้ร่วมกันคิดต่อและหาทางทำให้เกิดผลจริงในทางปฎิบัติ  กล่าวคือ

แนวคิดแรก  ต้องออกแบบนโยบายประชานิยมโดยคำนึงถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันและลดการบิดเบือนผลกระทบที่เกิดภาคเอกชนเป็นสำคัญ  ซึ่งในหลายประเทศที่เคยติดกับดักของรัฐสวัสดิการหรือประชานิยมสามารถจะกลับมาได้โดยใช้กลไกของภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญ ตัวอย่างเช่น แนวคิด Choice and Competition เป็นนโยบายแบบที่ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก และผู้บริการมีการแข่งขันกัน  ไม่ใช่นโยบายที่รัฐเป็นผู้คิดเอง ทำเอง กำกับเองอย่างในปัจจุบัน  และมีปัญหานโยบายปลายเปิดที่ภาครัฐเป็นคนทำแล้วภาครัฐอาจจะไม่มีประสิทธิภาพสูงมากพอ และหลายครั้งไปเบียดบังภาคเอกชนด้วย เพราะภาครัฐแข่งกับภาคเอกชนไม่ได้และภาครัฐมีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็ไปทำให้ภาคเอกชนแข่งขันได้ยากขึ้น  ตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศไทยขณะนี้ คือ  การใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกในการปล่อยสินเชื่อ  ซึ่งสินทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐไทยโตขึ้นมากถึงร้อยละ 30 ของสถาบันการเงินทั้งหมด  ขณะที่เมื่อ 15 ปีที่แล้วไม่ถึงร้อยละ 10   สภาพของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐวันนี้คือมีหนี้เสียสูงมาก หาผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ รัฐบาลต้องเข้าไปเพิ่มทุนก็เป็นภาระ 

ถ้าคิดในแนวคิด Choice and Competition  ซึ่งเคยใช้ก่อนจะมี พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ เรียกว่าเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปสนับสนุนเอสเอ็มอีและผู้ส่งออก  แล้วให้สถาบันการเงินไปแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ โดยที่ผู้ขอใช้สินเชื่อก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้บริการของธนาคาร/สถาบันการเงินใดก็ได้ โดยรัฐวางกรอบไว้ และกำหนดเงินอุดหนุนไว้ชัดเจน จึงไม่ใช่นโยบายปลายเปิด   หากมีหนี้เสียเกิดขึ้นภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระ ภาคเอกชนก็ต้องไปเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินเชื่อในการให้บริการลูกค้า ภาครัฐทราบชัดเจนว่าแต่ละปีใช้งบเท่าไหร่แล้วก็สามารถใช้เงินได้ตรงวัตถุประสงค์  ไม่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐมาเป็นปัญหา 

อีกตัวอย่างเช่น กรณีประกันสังคม ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่เข้าร่วมให้บริการและสามารถทำกำไรได้ดีเพราะมีประสิทธิภาพสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ  และการกำหนดอัตราเงินอุดหนุนรายหัวใช้ข้อมูลของโรงพยาบาลภาครัฐเป็นตัวกำหนด วิธีการแบบนี้ทำให้รัฐไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม คุมรายจ่ายได้ และทำให้โรงพยาบาลภาครัฐต้องปรับตัวเพราะมีคู่แข่งเป็นภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เป็นต้น 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในกรอบใหญ่ของวิธีคิดที่จะเอานโยบายประชานิยมไปทำให้เกิดผลในทางปฎิบัติ นั่นคือ  ภาครัฐต้องปรับวิธีการทำจากการเป็นผู้คิดนโยบายและทำนโยบายเอง มาเป็นนโยบายที่รัฐเป็นผู้คิดนโยบายและให้ภาคเอกชนทำ โดยรัฐเป็นผู้กำกับ และวางกติกาที่ถูกต้อง  เชื่อว่าปัญหารั่วไหลก็จะลดลง  และยังทำให้ภาคเอกชนคิดถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย

แนวคิดที่สอง ต้องเพิ่มความเข้มข้นของระบบวินัยการคลังและกระบวนการงบประมาณเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองแข่งขันกันเกทับนำเสนอนโยบายประชานิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ  ปัญหาภาระหนี้จากนโยบายประชานิยมที่ต้องแบกรับในอนาคตซึ่งเป็นห่วงกันมากนั้น  ควรพิจารณากรอบ กติกา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคลังว่ามีช่องทางไหนที่จะทำให้เข้มข้นกว่าเดิมเพื่อปิดช่องทางต่าง ๆ  วันนี้เราจะได้ยินเรื่องภาระหนี้ หรือสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประชาชาติซึ่งมีกรอบอยู่ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 60 เป็นความยั่งยืนทางการคลัง แต่ก็เป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้นเอง เพราะเราจะเห็นวิธีการว่าถ้าเกินก็หันไปใช้กลไกอื่น ๆ เช่น ใช้รัฐวิสาหกิจ ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ใช้กองทุนพิเศษ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะหลุดไปจากนิยามของหนี้สาธารณะ ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็มีวิธีการแตกต่างกันไป   หากมีกรอบกติกาที่ชัดเจนและเขียนไว้เป็นกฎหมายก็จะดีไม่น้อย เช่น กำหนดให้ทุกโครงการ(ประชานิยม)ของรัฐบาลต้องแสดงประมาณการความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไว้ชัดเจนเมื่อขออนุมัติโครงการ รวมถึงต้นทุนการทำนโยบาย  ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และมีการติดตามผลนั้นเปิดเผยอย่างโปร่งใส นโยบายที่เป็นนโยบายปลายเปิดไม่ทราบความเสียหายอาจจะทำไม่ได้ 

แนวคิดที่สาม ปฎิรูประบบราชการ  ต้องให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของข้าราชการระบบราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง เพราะถ้ามีการใช้นโยบายในลักษณะเชิงประชานิยมมากขึ้น ขนาดของภาครัฐจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้ากลไกการทำงานของภาครัฐยังไม่เกิดประสิทธิภาพดีพอก็จะเป็นช่องให้เกิดการรั่วไหล แทรกแซงได้ง่าย คอร์รัปชั่นสูง เป็นปัญหาบานปลายได้ในระยะยาว และที่สำคัญถ้าภาครัฐเทอะทะประสิทธิภาพต่ำก็จะไปส่งผลกระทบกับวิธีการทำธุรกิจของภาคเอกชน  ความสามารถในการแข่งขัน และต้นทุนในการทำธุรกิจของภาคเอกชน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรระบบราชการจะรักษาข้าราชการที่เก่งและซื่อตรงให้คงความเก่งและความตรงไว้ได้ในระยะยาว และมีโอกาสได้ทำงานได้อย่างเต็มฝีมือ

ถ้าเราใช้นโยบายประชานิยมโดยที่ไม่คำนึงถึงผลค้างเคียงที่เกิดขึ้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศของภาคธุรกิจที่อยู่ในประเทศผลกระทบมันจะเป็นงูกินหางที่ดึงเราลงไปเรื่อย ๆ  และถ้าเราติดกับดักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ เราจะออกจากกับดักนี้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน วันนี้เราจึงต้องช่วยกันดึงประเทศออกจากประชานิยมไม่พึงประสงค์.

 

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่สถานีทีดีอาร์ไอ   http://tdri.or.th/multimedia/populism-veerathai/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ละครเวที “ไต้ฝุ่น” ภาพ ตัดแปะ ของประวัติศาสตร์ไทย

Posted: 15 Oct 2013 09:49 AM PDT

เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับกลุ่มละคร B Floor จัดแสดงละครเวทีส่งเสริมประชาธิปไตย เรื่องไต้ฝุ่น กำกับการแสดงโดย คุณ ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ร่วมแสดงโดยนักศึกษาสาขาการละคอนและสมาชิกจากกลุ่ม B Floor โดยจัดแสดงครั้งแรกที่ หอประชุมศรีบูรพา ธรรมศาสตร์ และ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 12-14 ตุลาคม 2556

รูปแบบของละครเวทีเรื่องนี้เป็นงาน Physical Theatre ที่เน้นการใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกมายังผู้ชม  ฉายภาพให้เห็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการปะทะกันระหว่างขบวนการภาคประชาชนกับชนชั้นนำ ตามมาด้วยกระบวนการการตัดแปะความจริงให้กลายเป็นเรื่องสับสน ขบขัน และไร้ค่า การค้นหาความจริงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ห้ามถาม ห้ามสงสัย และสุดท้ายได้แสดงให้เห็นการปลุกจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอีกครั้ง จิตสำนึกในการแสวงหาคำตอบอันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจมืดก็ตาม

* สามารถชมภาพบางส่วนของการแสดง และบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับการแสดงได้ที่นี่

 

การนำเสนอละครเรื่องนี้เสมือนกับการนำภาพจำของประวัติศาสตร์ไทยมาแสดงให้เห็นบนเวที แม้การนำเสนอจะเป็นไปในลักษณะของ Physical Theatre แต่ เนื้อหาที่พูดถึงนั้นกลับลึกซึ้งและเต็มไปด้วยภาพความทรงจำที่แม้แต่บทพูดโต้ตอบ ก็ไม่อาจจะนำเสนอความลึกซึ้งได้เท่าภาพ และการเคลื่อนไหวที่ได้รับการออกแบบมาอย่างละเอียดอ่อนและมีพลังเช่นนี้

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของละครเรื่องนี้ ไม่ใช่การตีแผ่ความจริง หรือเล่าอธิบายความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ไทยอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นรูปแบบการร้อยเรียงเรื่องที่เหมือนกับการฉีกหน้ากระดาษบางหน้ามาปะติดปะต่อกัน เหมือนกับตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่ฉีกหน้าประวัติศาสตร์มาตัดแปะจนกลายเป็นความจริงชุดหนึ่งที่ปลูกฝังให้คนรุ่นหลังจดจำ


16 ตุลา 4 ตุลา ?

หลังการแสดงรอบแรกที่ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงเสวนา มีนักศึกษาคนหนึ่งถามคำถามกับวิทยากรว่า " ผมเรียนมาถึงตอนนี้แล้ว ผมก็ยังแยกไม่ออกว่า 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ต่างกันอย่างไร อาจารย์ช่วยอธิบายได้ไหมครับ"

คำถามนี้เป็นเรื่องจริงของสังคมไทย ที่ละครไต้ฝุ่นก็ได้หยิบยกแสดงให้เห็น คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2475 เป็นคำสำคัญ หรือคีย์เวิร์ด และตัวเลขที่สลับสับสน ในฐานะนักเรียนที่เคยถูกป้อนข้อมูลในวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยม ชุดคำสำคัญที่ได้รับการเน้นย้ำให้จดจำคือ

- 2475 ร. 7 ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
- 14 ตุลา กับ 6 ตุลา เหมือนๆกันคือ นักศึกษาออกมาประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกทหารปราบปราม    ตอนสุดท้ายได้รับพระมาหากรุณาธิคุณจากในหลวง ทรงทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบร่มเย็น
- พฤษภาทมิฬ...มีการประท้วง แต่ไม่สำคัญเท่าเหตุการณ์เดือนตุลา จำรายละเอียดไม่ได้


ซึ่งละครไต้ฝุ่นได้นำเสนอประเด็นเรื่องการจดจำประวัติศาสตร์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ในการที่ให้นักแสดงแต่ละคนเล่าประวัติศาสตร์ โดยสิ่งที่เล่าออกมาถูกตัดต่อ และเหมือนกับกาถูก Fast Forward เทป ตัดขาดบางช่วงออกไป ถูกทำให้เป็นเสียงยืดยาน ไร้แก่นสาร  สุดท้ายความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จึงผสมปนเป และกลายเป็นชุดความเข้าใจ ( หรือความไม่เข้าใจ) ที่บิดเบี้ยวและขาดตอน จึงไม่น่าแปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่สามารถแยกแยะได้ถึงความแตกต่างของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะตำราเรียนสังคมมัธยมศึกษาไม่เคยเชื่อมโยงเหตุกาณ์อย่างเป็นเตุผล แต่เลือกใช้การอธิบายเป็นหัวข้อหลักๆ และเน้นคำสำคัญให้เด็กท่องจำ เพื่อไปกากบาทในห้องสอบ

ละครเรื่องนี้ก็ได้นำเสนอพฤติกรรมการท่องจำและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเด็กไทยในห้องเรียนออกมาผ่าน Movement ที่เหมือนกับเครื่องจักรในโรงงานที่ถูกป้อนข้อมูลสำเร็จรูปชุดหนึ่งเข้าไป ผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ เดินตามกันไปๆ ใครที่ริคิดออกมาจากสายพาน ก็จะถูกต้อนและใช้กำลังความรุนแรงดึงกลับเข้าไปสู่สายพานเดิม ภาพที่เห็นทำให้นึกถึง ชาร์ลี แชปลิน ที่ถูกกลืนกินไปในกลไกโรงงาน ในเรื่อง Modern Times  ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไป การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยก็เช่นกัน การป้อนข้อมูลเพียงชุดเดียวให้เด็กจดจำและห้ามตั้งคำถาม ได้ลดทนความเป็นมนุษย์ จากภาพแรกที่เปิดตัวละคร นักแสดงต่างเริงร่า เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ภายหลังกลับกลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ มีเพียงหน้ายิ้มกว้างอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึก ที่ถูกฝังชิพจนไม่อาจเดินต่อเองได้หากไร้สายพานนำทาง การถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิดได้ถูกแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในบทบาทของเจ้าหนูจำไม ที่ถูกสั่งให้ห้ามคิด ห้ามถาม มิฉะนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

ถึงแม้ภาพจำประวัติศาสตร์ไทยจะถูกตัดแปะ แต่สิ่งหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ได้เน้นย้ำทุกครั้งหลังที่เกิดความขัดแย้ง นั่นก็คือทีมทำความสะอาดที่ออกมาเก็บกวาดรอยหลักฐานให้หมดไป ซึ่งละครเรื่องนี้เลือกใช้ Action นี้ได้อย่างลงตัว แทนที่จะให้ทีม Stage Manger สวมชุดดำออกมาเคลียร์ฉากในความมืด ละครเรื่องนี้ได้เลือกให้ทีมทำความสะอาดมาเคลียร์ฉากอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอกย้ำความเป็นไปของประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามจะลบเลือนความจริงที่เกิดขึ้น ดังที่เราได้เห็นล่าสุดหลังเหตุการณ์พฤษภา 53 ที่มีทีมทำความสะอาดมาร่วมแรงร่วมใจกันลบเลือนทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทีมทำความสะอาดในละครเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึง "วิธีการเล่าประวัติศาสตร์" ของชนชั้นนำไทย ที่พร้อมจะลบเลือน "รอยต่อ" หรือ "รอยด่าง" ที่ไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังได้รับรู้

สิ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้แตกต่างและน่าจดจำ คงจะเป็น Message ที่ไม่ได้นำเสนอเพื่อเชิดชูสรรเสริญวีรชน 14 ตุลา และให้คนดูซาบซึ้งกับความเสียสละของผู้คนเหล่านั้น แต่กลับเป็นการยิงคำถามมากมายให้ผู้ชมได้คิด และเห็นภาพของการปะทะกันระหว่างอำนาจของสามัญชนกับชนชั้นนำ รายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตที่ถูกพูดถึงในละครล้วนแต่เป็นคนธรรมดา ที่ไม่ได้รับการพูดถึงในบทเรียนประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์เก้าอี้ที่ประกอบกันอยู่หน้าเวทีในตอนท้าย ไม่ได้ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจหรือซาบซึ้งเลยแม้แต่น้อย แต่หากกลับทำให้รู้สึกสลดใจและเจ็บปวดกับความพ่ายแพ้ของประชาชนต่ออำนาจของชนชั้นนำ เก้าอี้นักเรียนที่แขวนอยู่บนคานเหล็กประกอบร่างเป็นอนุสาวรีย์ชวนให้นึกถึงภาพประชาชนและนักศึกษาที่ถูกแขวนคอ และภาพของเก้าอี้แต่ละตัวที่ถูกนำมาฟาดตีบนร่างของประชาชน

จริงหรือที่ว่า นี่คือชัยชนะของประชาชน? ปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือเป็นจุดเริ่มต้นการต่อรองอำนาจทางการเมืองของสามัญชนกับชนชั้นนำ แต่จริงหรือที่เราได้รับเสรีภาพและประชาธิปไตย?
รอยด่างที่ถูกชำระล้าง รอยต่อที่ถูก Fast Forward  และ เซนเซอร์ คืออะไรกันหรือ? ทำไมถึงพูดไม่ได้? หรือ 14 ตุลาคือจุดเริ่มต้นของการถูกจำกัดเสรีภาพในการคิด การตั้งคำถาม และสอนให้เราจดจำเพียงภาพตัดแปะทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามและน่าภาคภูมิใจ

ละครเรื่องไต้ฝุ่น ในฐานะละครการเมือง จึงถือเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ลึกซึ้งและชวนให้คนดูตั้งคำถาม ละครเรื่องนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจได้ในระดับเดียวกันตั้งแต่ต้น จึงไม่แปลกหากคนดูจะเข้าใจสัญลักษณ์ที่ใช้ในละครเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป แต่ภาพหนึ่งที่ชัดเจนคือภาพของการจดจำการบอกเล่าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่ปะติดปะต่อ นำเสนอผ่านงาน Performance ที่น่าประทับใจทั้งในแง่เนื้อหาและงาน Production

ระหว่างการเสวนา พิธีกรได้ตั้งคำถามกับละครเรื่องนี้ว่า

"ศิลปะ จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือ?"

ละครเพียง 1 เรื่อง คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดได้ แต่ละครเพียง 1 เรื่อง สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่อาจสรุปเป็นตัวเลขได้ว่าละครเรื่องนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้กี่เปอร์เซนต์ หรือ เปลี่ยนแปลงคนดูได้กี่คน เพราะสังคมไม่ใช่สมการตัวเลข แต่เราควรมองศิลปะในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ขับเคลื่อน เน้นย้ำ จุดไฟ รื้อฟื้นร่องรอยที่ถูกลบเลือน และลากเส้นต่อภาพปะติดเหล่านั้นให้ปรากฏขึ้นในสังคม
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง TCIJ: มองข้ามช็อต"ยุบสภา"

Posted: 15 Oct 2013 09:21 AM PDT

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ผ่าน?

ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ปรับโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่ง 2.2 ล้านล้าน จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ผ่าน?

เมื่อไหร่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะผ่านวาระ 3 แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะให้ไฟเขียวไหม แล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68, 190 และ 237 อีกล่ะ

ถ้าผ่าน ถ้าไม่ผ่าน จะเกิดอะไรในต้นปีหน้า เป็นไปได้ไหมที่จะยุบสภา

เป็นไปได้สูงมากเลยครับ เพราะไม่ว่ากฎหมายสำคัญผ่านหรือไม่ผ่าน คิดจากด้านพรรคเพื่อไทยก็น่ายุบทั้งนั้น

สมมติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน รัฐบาลก็อาจฉวยโอกาสยุบ เพื่อกลับมาพร้อมวุฒิชุดใหม่ ที่จะเลือกตั้งในเดือนมีนาคม หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญยับยั้ง ทำให้ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาต้องลงมติยืนยัน 2 ใน 3 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นโอกาสยุบ ชูธงประชาธิปไตยหาเสียงอย่างแหลมคมได้อีกครั้ง

ถ้าเงินกู้ 2.2 ล้านล้านผ่าน รัฐบาลก็ชูคำขวัญ 8 ปีสร้างอนาคต ถ้าไม่ผ่าน ยิ่งหาเสียงสนุก เลือกเพื่อไทยเพื่ออนาคตประเทศ ไม่ใช่เลือกแมลงสาบกัดแข้งกัดขา ฯลฯ

ถามว่าทำไมต้องยุบ ไม่ยุบไม่ได้หรือ เหลืออีกตั้ง 2 ปี โห 2 ปีเกิดอะไรได้ตั้งเยอะ อย่าลืมว่าที่ผ่านมาในแง่การบริหาร รัฐบาลอยู่ในช่วง "ขาลง" เพียงได้เปรียบในกระแสการเมือง ที่พวกสุดขั้วสุดโต่งพยายามล้มรัฐบาลนอกวิถีประชาธิปไตย หวังล้มด้วยม็อบ หวังล้มด้วยศาล หวังล้มด้วยทหาร ซึ่งสังคมไม่เอาด้วย

แต่ในภาคการทำงานจริง ในภาคเศรษฐกิจจริง แม้แต่มวลชนเสื้อแดงก็ยอมรับว่าของแพง ทำมาหากินฝืดเคือง นโยบายจำนำข้าวก็พ่นพิษ หนี้ท่วมหัว ไม่รู้จะเอาตัวรอดทางไหน จำนำต่อไปก็ยิ่งเจ๊ง ไม่จำนำก็เจอม็อบชาวนา เศรษฐกิจโลกปีหน้าใช่ว่าจะดี ปัญหาของรัฐบาลเรื่องโน้นเรื่องนี้จะมีโผล่มาเรื่อยๆ

เอาเป็นว่ารัฐบาลไม่มีทางทำได้ดีกว่านี้แล้วละ มีแต่จะเตี้ยลงๆ โอเค ไม่ยุบก็อยู่ได้ แต่หันไปมองเงื่อนไขหลายด้านประกอบกัน มันน่ายุบเสียกระไร ดูฝ่ายรัฐบาลเอง แม้ดูแย่ แต่ถามจริงว่ายิ่งลักษณ์ช้ำไหม ไม่ช้ำนะครับ ยังขายได้ เหมือนใหม่ๆ ซิงๆ โพลล์ส่วนใหญ่ออกมาดี แม้จะด่ารัฐบาล ด่าพรรค แต่คะแนนนิยมยิ่งลักษณ์ยังสูง

ที่สำคัญอย่าลืมว่าเดือนธันวาคมนี้ บ้านเลขที่ 109 จะเป็นอิสระ อิสระที่บรรหาร ศิลปอาชา กับลูกชายลูกสาวรอมานาน ฝั่งเพื่อไทยก็มีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อรวมกับบ้านเลขที่ 111 ที่ครั้งนี้มีโอกาสสมัคร ส.ส. ถ้าไม่ยุบสภาก็มีแรงกดดันภายใน ถ้ายุบสภา ก็จะได้ขุนพลคับคั่ง

หันไปดูคู่แข่งบ้าง พรรคประชาธิปัตย์กำลังตกต่ำ เปลี่ยนจากพระเอกหนุ่มหล่อมาเป็นนางอิจฉาในละครหลังข่าว เล่นนอกกติกา ถ่อย เถื่อน ทั้งในและนอกสภา จนนิวยอร์คไทม์ประจานข้ามโลก

ในสายตาประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เหลืองแดง กำลังเบื่อทั้งสองฝ่าย แต่ไม่รู้จะไปทางไหนดี พรรคที่สามก็ไม่สามารถเกิด แน่นอนสภาพเบื่อทั้งสองฝ่ายอาจทำให้คะแนนลด แต่ก็ลดทั้งสองฝ่าย โค้งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยยังช่วงชิงเสียงข้างมากได้อยู่ดี อย่าลืมว่า 2 ปี เพื่อไทยกุมกลไกราชการได้เกือบหมด แม้แต่ทหารก็ไม่เป็นปรปักษ์ เราจะไม่เห็น ผบ.ทบ.ออกมาต่อต้านพวก "ล้มเจ้า" อีกแล้ว ขณะที่แวดวงธุรกิจ เงินกู้ 2.2 ล้านล้านขายฝันได้ตั้งแต่กลุ่มทุนทุกกลุ่มไปถึง SME

รัฐบาลจึงมีโอกาสยุบสภาในต้นปีหน้า หรือในครึ่งปีหน้า โดยไม่จำเป็นต้องรอครบ 4 ปี กองเชียร์พรรคเพื่อไทยไม่ต้องตกใจ นี่เป็นเรื่องปกติในวิถีประชาธิปไตย การยุบสภาไม่ใช่แสดงว่ารัฐบาลย่ำแย่ ในประเทศแม่แบบอย่างอังกฤษเมื่อเห็นฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลก็รีบยุบสภา

 

อำนาจต่อรองกลับมา

ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์อย่างนี้ ประเด็นสำคัญคือ มวลชนแต่ละสี แต่ละข้าง จะมีท่าทีอย่างไร ต้องเตรียมการอย่างไร ให้สมกับที่เป็นยุค "การเมืองมวลชน"

มวลชนเสื้อเหลืองคงไม่มีปัญหา เพราะถึงเวลาก็ชูป้าย Vote No แต่เอาเข้าจริงโค้งสุดท้ายเลือก ปชป.เพราะกลัวเพื่อไทยชนะ

มวลชนเสื้อแดงก็มีด้านที่คล้ายกัน แท็กซี่เสื้อแดงบ่นว่าของแพง ทำมาหากินฝืดเคือง แต่โค้งสุดท้าย จะเอาอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ ต่อให้บ่นกะปอดกะแปดอย่างไรก็ต้องเลือกเพื่อไทย

ส่วนคนที่ห่างออกไป ไม่มีสีหรือสีจางๆ ก็อาจเบื่อหน่ายจนไม่ไปเลือกทั้งสองข้าง

นี่เป็นปัญหาที่ต้องข้ามให้พ้น ต้องเลิก "ถูกบังคับ" ให้เลือก ไหนๆ จะเลือกแล้ว มวลชนก็ควรมีส่วนร่วม ตั้งแต่การกำหนดตัว ส.ส.หรือ Primary Vote ที่เคยเรียกร้องกัน ไปจนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือมีส่วนร่วมปฏิรูปพรรค

พูดว่าสองสี แต่ความจริงคือเสื้อแดงเป็นหลัก อ้าว ก็เสื้อเหลืองบอกไม่เอาเลือกตั้งไงครับ ไม่เอาทั้งสองพรรค ด่าประชาธิปัตย์โครมๆ จะไปร่วม Primary Vote หรือปฏิรูปพรรคกับเขาได้ไง ถึงเวลาเลือกตั้งก็เลือก ปชป.ด้วยความเกลียดทักกี้เท่านั้นเอง

คนที่จะปฏิรูปประชาธิปัตย์จึงมีแค่หยิบมือ เพราะพวกคนใต้เอาใครก็ได้ ขอให้พะโลโก้ ชวน หลีกภัย ฉะนั้น ต้องให้อลงกรณ์ พลบุตร หรือ อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ไปปฏิรูปกันเอง

หันมาดูพรรคเพื่อไทยบ้าง ปฏิรูป ปชป.ว่ายากแล้ว ปฏิรูป พท.ยิ่งแสนเข็ญ เปล่า ไม่ได้พูดแบบพวกพันธมิตรฯ ว่าเป็นพรรคของ "นายใหญ่" สั่งซ้ายหันขวาหัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ แต่ความเป็นจริงคือพรรคเพื่อไทยเละกว่านั้น ทั้งความสับสนของอำนาจ คุณภาพนักการเมือง และการหาประโยชน์ของกลุ่มก๊วน

นั่นทั้งๆ ที่เพื่อไทยได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง แต่ยังไม่มีความเป็น "พรรคของมวลชน" แม้กระผีก อย่าพูดถึงแกนนำ นปช.ที่เข้าไปเป็น ส.ส. เพราะกลายเป็นเรื่องของ นปช. ลงมาถึงมวลชนน้อยมาก

ทำอย่างไรจะให้มวลชนมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งถ้ามียุบสภา ก็จะเร็วขึ้นเพราะต้องเลือกตั้งใน 60 วัน ต้องคิดและเตรียมกันตั้งแต่ตอนนี้

พูดเช่นนี้ไม่ใช่ยุให้แย่งชิงอำนาจ แต่มวลชนเสื้อแดงต้องตระหนักว่า พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและได้ความชอบธรรมทางการเมือง จากชีวิตเลือดเนื้อมวลชนเสื้อแดง แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับย่ำแย่เพราะนักการเมือง และความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร

ปัญหาของรัฐบาลเพื่อไทยมีหลายด้าน ข้อแรก ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีความสามารถเท่าทักษิณ มีความพร้อมน้อยกว่าทักษิณ เจอปัญหาหนักกว่าทักษิณ และไม่มีทีมงานที่ดีเหมือนทักษิณ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับนโยบาย มีไอเดียไว้หมดว่าจะทำอะไร และมีคนเก่งรอบตัว เช่นมีหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขานายกฯ

ยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคเหมือนทักษิณเมื่อปี 2544 แน่นอนเพราะมีทั้งพี่ชาย พี่สาว พี่สะใภ้ แต่ พ.ศ.นี้ทักษิณก็ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ พรรคไม่เป็นเอกภาพ ข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐมนตรีไม่ต้องลาออกจาก ส.ส.ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้รัฐมนตรีกลัวทักษิณหงอ อีกข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะการต่อสู้ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 ทำให้ทักษิณมีแผลเต็มตัว ต้องเป็นหนี้บุญคุณ ต้องพึ่งพาอาศัยกลุ่มต่างๆ ในพรรค และต้องต่างตอบแทน

รัฐมนตรียุคยิ่งลักษณ์ จึงเหมือนตัดเค้กแบ่งกระทรวง ใครอยากทำอะไรทำได้ตามใจชอบ และแต่งตั้งเข้ามาแบบผิดฝาผิดตัวตลอด

การปูนบำเหน็จ ให้ความดีความชอบ ของพรรคเพื่อไทยก็มีปัญหา ตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุด ผู้ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมาถูกทอดทิ้ง ผมไม่ได้บอกว่าต้องตั้งจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรี เพราะถ้ามีคนมีความสามารถกว่า ก็ไม่ควรตั้งจตุพร ณัฐวุฒิ แต่พรรคให้ความสำคัญกลุ่มก๊วน กลุ่มทุน กลุ่มตระกูล มากกว่าคนมีคุณภาพ ทั้งตำแหน่งการเมืองและราชการ ซึ่งได้คนสอพลอหาผลประโยชน์เสียตั้งเยอะ

ระดับล่างสุด มีอดีตสหายที่เชียงใหม่ เป็นแดง บ่นให้ฟังว่ามวลชนอุตส่าห์วิ่งช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อม แต่ชนะแล้วกลับไปโอ๋หัวคะแนนในระบบเก่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามเสียเยอะ

พูดก็พูดเถอะ ส.ส.เพื่อไทยบางคนยังไม่ตระหนักเลยว่าชนะเพราะมวลชน บางคนยังเชื่อเหมือนพวกพันธมิตรฯ ว่าตัวเองชนะเพราะซื้อเสียง เพราะหัวคะแนน ทั้งที่มีบทเรียนพิสูจน์ในหลายพื้นที่ นักการเมืองกเฬวรากบางคน ชนะเลือกตั้งเพราะมวลชนจำต้องเลือกพรรค แต่พอส่งลูกส่งเมียลงนายก อบจ.หรือนายกเทศมนตรี กลับแพ้ย่อยยับ

ถ้าจะรักษาชัยชนะของประชาธิปไตย ก็ต้องทำให้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นพรรคของมวลชนมากขึ้น

 

"พรรคทักษิณ" + พรรคมวลชน

การเรียกร้องให้ทำพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของมวลชนไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เรียกร้องให้ทำ Primary Vote คงมีไม่กี่เขตทำได้ เพราะมวลชนเสื้อแดงเองก็ไม่เป็นเอกภาพ แต่ละพื้นที่ก็มีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเห็นต่างกัน แกนนำส่วนหนึ่งก็กลายเป็นหัวคะแนน ส.ส.เหมือนหัวคะแนนในระบบเก่า

แต่อย่างน้อยก็ต้องตั้งเป้าว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง มวลชนต้องมีสิทธิมีเสียง มีการเสนอความเห็นต่อตัว ส.ส.หรือผู้สมัครของพรรค แสดงปฏิกิริยาออกมา ถ้าไม่ต้องการ ส.ส.คนเดิม แน่นอนว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่ต้องยอมรับความขัดแย้ง มวลชนจะต้องต่อสู้ถึงที่สุด แต่เมื่อมีข้อยุติว่าพรรคเลือกใคร ก็ต้องยอมรับและต้องสนับสนุน

เวลาพูดนะพูดง่ายแต่เวลาทำจริงยาก นิสัยคนไทยถ้าทะเลาะกันเสียแล้วอาจไม่มองหน้ากัน เรื่องไรกรูจะช่วยเมริง

ข้อสำคัญคือพรรคต้องยอมรับการดำรงอยู่ของมวลชนเสื้อแดง ที่อาจจะมี 3-4 กลุ่มใน 1 เขตเลือกตั้ง บางกลุ่มอาจไม่เอา ส.ส.ที่พรรคหรือเสียงส่วนใหญ่เลือก ก็ต้องให้พวกเขาต่อสายตรงกับพรรค มีข้อต่อรองกับพรรค ว่านี่มวลชนเลือกพรรค ไม่ได้เลือกผู้สมัคร เมื่อชนะแล้วพรรคต้องฟังมวลชนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ ส.ส.ริบอำนาจเป็นผู้แทนพรรคแต่ผู้เดียวในเขตนั้น

พูดง่ายแต่ทำยากอีกนั่นแหละ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้เข้มแข็ง ไม่มีคนทำงานซักเท่าไหร่ ก่อน "พี่อ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย เข้าไปเป็นเลขาฯ พรรคเพื่อไทยก็เป็นเหมือนตึกร้าง มีแต่ "เด็จพี่" ให้สัมภาษณ์อยู่คนเดียว คนอื่นๆ หนีไปเป็นรัฐบาลหมด

คนทำหน้าที่แทนพรรคในเรื่องนี้ที่ผ่านมาคือทักษิณ ซึ่งว่ากันว่ามีเบอร์โทร ต่อสายตรงถึงแกนนำทั่วประเทศ

คำถามคือเป้าหมายขั้นต้น ควรช่วงชิงพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคของมวลชนในระดับใด ถ้าเป็นพวกพันธมิตร ก็คงยุให้ "ก้าวข้ามทักษิณ" แต่ขั้นนี้ไม่จำเป็น เป้าหมายที่ควรจะเป็นคือทำอย่างไรให้เป็น "พรรคของทักษิณ" พร้อมกับ "พรรคของมวลชน" โดยลดอำนาจกลุ่มการเมืองทุนท้องถิ่นลงไป

มวลชนเสื้อแดงไม่ว่าก้าวหน้าแค่ไหนก็ยังไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ไม่ได้ปฏิเสธยิ่งลักษณ์ แต่ที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ "นักการเมือง"กลุ่มก๊วนที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ไม่เว้นแม้กลุ่มก๊วนที่เป็นของเครือญาติทักษิณด้วย

 

 

ที่มา: http://tcijthai.com
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำ คทป. เตรียมยกระดับการชุมนุม - เรียกร้องนายกรัฐมนตรีย้าย ผบ.ชน. หลังมีผู้โปรยหมามุ่ยใส่ที่ชุมนุม

Posted: 15 Oct 2013 07:56 AM PDT

นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง และผู้นำ คปท. ระบุเตรียมยกระดับการชุมนุม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีย้าย ผบ.ชน. ที่ไม่สามารถดูแลผู้ชุมนุมได้ ด้านสภานักศึกษา ม.รามคำแหงระบุ นายอุทัยเคลื่อนไหวส่วนตัวไม่ผ่านมติสภานักศึกษา

ตามที่เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์นั้น ล่าสุดวันนี้ (15 ต.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายนายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และแกนนำ คปท. และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ และที่ปรึกษา ได้แถลงท่าทีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม คปท. ว่ามีผู้ไม่หวังดีนำหมามุ่ยมาโปรยใส่พื้นที่การชุมนุม จนผู้ชุมนุมบางส่วนต้องถูกนำส่งโรงพยาบาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับปากจะดูแลผู้ชุมนุม แต่ไม่สามารถทำได้ จึงจะเคลื่อนไหวรณรงค์เดินเท้าบริเวณสยามสแควร์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและชุมชนใกล้เคียง เพื่อเชิญชวนนักศึกษาและประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเพิ่มเติม

โดยแกนนำ คปท. ระบุว่า หากมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ก็จะยกระดับด้วยการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้มีคำสั่งย้าย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้ โดยจะให้เวลานายกรัฐมนตรีภายในวันอาทิตย์นี้ หากไม่มีคำสั่งย้ายก็จะดำเนินกิจกรรมทางสังคมต่อไป ยืนยันการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่และการจราจรไม่ได้ติดขัดจนไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ จนถึงขั้นต้องให้มีการปิดถนนอย่างที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ออกประกาศ

นอกจากนี้นายอุทัย กล่าวตอบโต้กรณีที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือ สนนท. แถลงข่าวโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม คปท. ว่าเขามีข้อมูลว่า สนนท. ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งที่มีความโยงใยกับคนในรัฐบาลและเอื้อประโยชน์กัน จึงออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

อนึ่งก่อนหน้านี้ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และ สนนท. ได้ชี้แจงกรณีนายอุทัย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมการชุมนุมของ คปท. ว่าเป็นการเข้าร่วมของส่วนบุคคล เพราะไม่เคยผ่านมติขององค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

40 ปี 14 ตุลา “สามประสาน” กับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม

Posted: 15 Oct 2013 07:56 AM PDT

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านพ้นมาวันนี้ 40 ปีให้หลัง ขบวนการนักศึกษาประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง"ประชาธิปไตยทางการเมือง" คุณูประการจากการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ทำให้ทุกวันนี้เรามีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ทำให้กองทัพไม่สามารถปกครองประเทศไทยแบบเก่าได้อีกต่อไป แต่สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม ในความหมายของ"ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ" ประชาชนไทยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟูในปี 2516-2519 ขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งมีมิติกว้างไปกว่าสิทธิทางการเมือง เกิดศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและความเป็นธรรมในการจ้างงาน   และมีการก่อตั้งสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเศรษฐกิจชาวนา โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่มีการรณรงค์ให้ ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ ชาวนาไทยต้องไร้หนี้สิน ซึ่งทั้งหมดไปกระทบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ชนชั้นนำไทยยึดกุมโดยตรง

โดยหลักการแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้ ไม่ควรนำเข้าซื้อขายในระบบกลไกตลาด มันควรเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมของสังคม แต่ที่ผ่านมาภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินตามนโยบายทุนนิยมเสรีเต็มที่ ชนชั้นนำของสังคมไทยได้กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพย์สมบัติส่วมร่วมของสังคมไทยอย่างมากมาย ดังนั้น การลุกขึ้นจับมือกันของขบวนการนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ตามคำขวัญ "สามประสาน" ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมทางสังคม จึงถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชนชั้นนำไทยอย่างยิ่ง ต่อมาพวกเขาจึงตามไล่ล่าและลอบสังหารแกนนำเหล่านั้นจนเสียชีวิตมากกว่า 34 คน อาทิ  แสง รุ่งนิรันดรกุล,  นายนิสิต จิรโสภณ, อินถา ศรีบุญเรือง, อมเรศ ไชยสะอาด, บุญสนอง บุญโยทยาน เป็นต้น ก่อนเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในวันฆ่านกพิราบ 6 ตุลาคม 2519

การทดลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของชนชั้นนำเพียงแค่ 3 ปี ทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ พวกเขาเรียกคืนอำนาจเผด็จการเดิมแต่ก็ได้รับการกดดันจากนานาอารยะประเทศ จนนำมาสู่การรัฐประหารครั้งต่อมาเพื่อนิรโทษกรรมผู้ต้องหา 6 ตุลา และนำพาประเทศไปสู่ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" มากขึ้น เพื่อลบคำครหาและความน่าเชื่อถือต่อต่างชาติ

ผ่านมา 40 ปี วันนี้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกลับห่างกันมากขึ้นจนติดอันดับต้นๆ ของโลก โครงสร้างทางอำนาจที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันอีกด้วย

ถึงวันนี้ ขบวนการนักศึกษายังต่อสู้เพื่อการศึกษาที่เป็นรัฐสวัสดิการ หยุดนโยบายการศึกษาเพื่อการค้าและการลงทุน และมหาวิทยาลัยในกำกับซึ่งเป็นเหมือนการลอยแพการศึกษาของรัฐ, ขบวนการชาวไร่ชาวนายังต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ในขณะที่ระบบทุนนิยมได้ทำให้พวกเขากลายเป็นชาวนารับจ้างในที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง กลุ่มทุนได้ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการฮุบเอากรรมสิทธิ์ส่วนร่วมของสังคมไปกอบโกยผลประโยชน์และหารายได้ จนไม่มีทางออกใดนอกจากการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง เหมือนยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการออกพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ให้มีการยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ

ในขณะที่ขบวนการกรรมกรยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงานที่เหมาะสม สิทธิแรงงานที่พึงได้รับ แม้ว่าจะมีการก่อตั้ง"กระทรวงแรงงาน" ขึ้นแต่ก็เหมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเสียมากกว่า ในภาวะที่กรรมกรต้องแบกรับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และการแก้ไขกฎหมายเพื่อแยกสลายแรงงานทั้งหลายออกจากกัน ล้วนแต่เป็นอุปสรรคและเหตุผลที่ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคมยังไม่บรรลุ

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมคือ  การออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทาง

40 ปี 14 ตุลา เราได้มาซึ่งประชาธิปไตยทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่ถึงเวลาสืบสานอุดมการณ์สามประสานเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมที่แท้จริงทางโครงสร้าง นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ!.

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ 13 ตุลาคม 2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

EHIAเขื่อนแม่วงก์ ถึงเวลารัฐบาลรับฟังเสียงประชาชนหรือยัง?

Posted: 15 Oct 2013 07:15 AM PDT

การเดินขบวนของประชาชนจำนวนมากในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนการคัดค้านการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ของนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร เป็นปรากฏการณ์รวมพลังด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก  อาจจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปี พ.ศ. 2531 ที่เราเห็นการคัดค้านโครงการของรัฐจากคนหลากหลายกลุ่มเช่นนี้  ซึ่งปรากฏการณ์นี้กดดันให้รัฐชะลอการตัดสินใจใดๆในกรณีเขื่อนแม่วงก์ออกไปชั่วคราว 

อย่างไรก็ตามชัยชนะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเสียทั้งหมด  การคัดค้านด้วยวิธีทางการเมืองเช่นนี้มีต้นทุนสูง  และผลที่ได้รับไม่แน่นอน  ไม่สามารถทำนายได้  ที่สำคัญในขณะที่รัฐผลิตโครงการจำนวนมากออกมารายวัน  คงไม่มีใครสามารถเดินขบวนได้ทุกวันเพื่อประท้วงในทุกโครงการที่ไม่เข้าท่า คำถามคือถึงเวลาหรือยังที่กลไกทางกฎหมายจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาระของผู้ที่เห็นต่างจากการตัดสินใจของรัฐบาล

กรณีการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์นั้นสะท้อนให้เห็นว่ากลไกการผลิตนโยบายสาธารณะของไทยนั้นมีปัญหานโยบายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายของ "สาธารณะ" ไม่ใช่สิ่งที่ "สาธารณะ" ต้องการมากกว่าความต้องการของข้าราชการประจำ  เทคโนแครต  และนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น  นโยบายต่างๆ จึงไม่ครอบคลุม  ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ความชอบธรรมของนโยบายนั้นๆ จึงต่ำ และถูกต่อต้านได้ง่าย ซึ่งหนึ่งในทางแก้ไขคือการที่กฎหมายยังคับให้รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายในเวลาที่เหมาะสมก่อนจะตัดสินใจใดๆ ลงไป

ปัญหาของระบบกฎหมายไทย คือ ณ ปัจจุบันนี้คือยังไม่ครอบคลุมการกระทำของรัฐทุกรูปแบบ  ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติไว้เฉพาะกรณีคำสั่งทางปกครองว่าในการทำคำสั่งทางปกครองนั้นเจ้าหน้าที่ต้องให้โอกาสผู้ได้รับผลกระทบชี้แจงเหตุผลของฝ่ายตน[2]  แต่ในกรณีการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติเช่นนี้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการจะไม่ครอบคลุม เพราะมีสถานะเป็นกฎที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปมากกว่าคำสั่งซึ่งมีผลเป็นการเฉพาะราย จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่าการดำเนินโครงการของรัฐที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ[3] แต่ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญนี้ยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดอีกมาก ที่ผ่านมาการตีความโดยศาลก็ไม่สามารถกำหนดชัดเจนลงไปได้ว่าต้องการให้รับฟังในรูปแบบใดกันแน่ เปิดโอกาสให้รัฐจัดการรับฟังความคิดเห็นได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งก็มีปัญหาตามมา อาทิ การเร่งจัดการรับฟังอย่างรวบรัด การจัดโดยที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอหรือข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือการกำหนดชุมชนที่จะเข้ารับฟังเพียงเฉพาะชุมชนที่สนับสนุนรัฐบาลฝ่ายเดียว

ที่สำคัญที่สุด บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นเพียงจากบุคคลหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  ซึ่งชวนให้เข้าใจความหมายว่าเฉพาะชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียวกับพื้นที่โครงการ ในบางกรณีก็อาจจะเพียงพอแล้ว อาทิ กรณีการสร้างบ่อขยะซึ่งความเดือดร้อนจำกัดวงไว้ไม่ไกลมากนัก แต่ในบางกรณี ผู้มีส่วนได้เสียอาจกว้างขวางและซับซ้อนเกินกว่าชุมชนในพื้นที่ตามที่เคยเข้าใจกันมา ในกรณีเขื่อนแม่วงก์นอกจากชุมชนบริเวณที่จะสร้างเขื่อนหรืออาจถูกน้ำท่วมแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่เห็นว่าอุทยานแห่งชาติเป็นสมบัติของชาติตนจึงมีส่วนได้เสียด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการแก้ไขน้ำท่วมด้วยการสร้างเขื่อน กลุ่มคนที่ไม่อยากสูญเสียป่าสมบูรณ์แม้จะไม่เคยใช้ประโยชน์จากป่าแม่วงก์โดยตรงเลยในชีวิต ตลอดจนคนที่ "พูด" แทนสัตว์ป่าจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบด้วย การกำหนดตัวผู้มีส่วนได้เสียจึงทำได้ยาก อาจจะกล่าวได้ว่า ประชาชนทั้งหมดนั่นเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่รัฐต้องรับฟัง

แต่เดิมเรายึดถือทฤษฎีที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนของประชาชนในการเป็นปากเป็นเสียงให้  แต่ก็ไม่อาจหลีกหนีความจริงที่ว่ากลไกผู้แทนราษฎรนั้นไม่สมบูรณ์แบบ  ไม่อาจถ่ายทอดความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาลได้เต็มร้อยจริง[4]  ดังนั้นจึงต้องมีกลไกให้รัฐบาลสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง

เพราะฉะนั้นกฎหมายไทยอาจจะต้องศึกษาตัวอย่างกลไกการออกกฎของนานาอารยประเทศในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกกฎ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมการจัดสรรทรัพยากรซึ่งเป็นของคนทั้งชาติ ว่าควรมีกลไกในรูปแบบใด  อย่างน้อยที่สุด  การรับฟังความคิดเห็นภายในเวลาที่เหมาะสมควรต้องถูกบังคับโดยกฎหมาย  ไม่ใช่ดุลพินิจหรือความสมัครใจของเจ้าหน้าที่  และประการที่สองคือการรับฟังนั้นควรรับฟังจากประชาชนทั้งหมด  มิใช่เฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

หากเป็นไปได้เจ้าหน้าที่รัฐควรถูกบังคับให้แสดงเหตุผลของตนเพื่อตอบความเห็นของประชาชนด้วย  ในบางประเทศ เช่น  สหรัฐอเมริกา กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดว่าการจะออกกฎใดๆ ได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการสามขั้นตอน[5] คือ หนึ่ง  แจ้งให้ประชาชนรู้เนื้อหาแห่งกฎนั้น  สอง  เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น  และสาม  เจ้าหน้าที่ต้องตอบความคิดเห็นดังกล่าวโดยนำมาใส่ไว้ในคำปรารภโดยสังเขปด้วย ส่วนเอกสารที่ประกอบการรับฟังและตอบโต้ทั้งหมดต้องถูกเก็บเป็นหลักฐานเพื่อให้ศาลตรวจสอบได้ในภายหลัง ข้อเท็จจริงใดๆ ที่รัฐใช้ในการตัดสินใจแต่ไม่ได้แสดงให้ประชาชนรู้อาจส่งผลให้กฎนั้นถูกเพิกถอนด้วยเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ในที่สุด[6]

การยอมรับฟังความคิดเห็นก่อนการออกกฎ  นำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ (accountable  government) สามารถตอบคำถามใดๆ ที่ประชาชนสงสัยในการตัดสินใจนั้นๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนธรรมดา  (political accountability) หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ  นักวิชาการในสาขานั้นๆ โดยเฉพาะ (professional  accountability)[7]

ตัวอย่างของความรับผิดชอบทั้งสองรูปแบบ  เช่น  การตอบคำถามในหลักการว่าเขื่อนดีอย่างไร  ช่วยแก้ไขน้ำท่วมได้อย่างไร  อาจเป็นการตอบคำถามทั่วไปแก่ประชาชน  แต่การตอบคำถามเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์  หรือการบรรเทาผลกระทบต่อสัตว์ป่าเป็นการตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นเป็นประชาธิปไตยเพียงพอที่จะรับฟังประชาชน  ในขณะเดียวกันก็เป็นมืออาชีพในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจนสมควรได้รับความไว้วางใจเช่นว่า

ด้วยการบังคับให้รัฐต้อง "สนทนา" กับประชาชนที่ห่วงใยในเรื่องนั้นๆโดยตรง  รัฐจึงต้องทำตัวให้มีเหตุผลมากขึ้น  วาทกรรม เช่น "เสือชอบเล่นน้ำ"[8]  หรือ "มีนกยูงโง่ๆเพียงสามตัว"[9] จึงไม่ควรปรากฏขึ้นมาอีก  การปลุกแรลลี่สนับสนุนเขื่อน  หรือเกณฑ์ชาวบ้านมากินโต๊ะจีนต่อต้านการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์จึงควรถูกแทนที่ด้วยการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการเมืองไทยขึ้นไปอีก

ที่สำคัญที่สุด กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการออกกฎไม่ใช่การกีดขวางมือเท้าของรัฐบาล ไม่ใช่งานอดิเรกของพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หรือ "ไอ้พวกนักอนุรักษ์" อย่างที่รัฐบาลเข้าใจ แต่มันจะช่วยเสริมความชอบธรรมของรัฐบาล  การเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ท้วงติงการกระทำของรัฐโดยถูกต้องตามกฎหมายย่อมลดความตึงเครียดในทางการเมือง  ลดโอกาสที่จะเกิดการประท้วงตามท้องถนน  ลดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐและประชาชน  ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วย่อมนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองนั่นเอง




[1] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[2] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๓๐.

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง.

[4] Susan Rose-Ackerman, From Elections to Democracy, 15-16 (2005).

[5] 5 U.S.C. §553(a)(1).

[6] Sierra Club v. Costle 657 F.2d 298 (D.C. Cir. 1981). 

[7] ดู Barbara S. Romzek & Melvin J. Dubnick, Accountability in Public Sector: Lessons from the Challenger Tragedy, 47 Public Sector Review 227, (1987).

[8] เป็นคำพูดของนายวีระกร คำประกอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ ในการการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๖  จากข้อความเต็มคือ "พื้นที่ป่าตะวันตกทั้งหมด ๑๑ ล้านไร่ ผมขอพื้นที่แค่ ๘,๐๐๐-๙,๐๐๐ ไร่ ให้ประชาชนได้หรือไม่ ส่วนเสือผมให้ไปเลยตัวละ ๑ แสนไร่ ให้เสือเดินหากินให้ทั่ว และเป็นไปไม่ได้ที่เสือจะยอมให้ตัวเองจมน้ำตาย เสือเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ ผมเลี้ยงเสือในสวนสัตว์ส่วนตัว ผมรู้ดีว่าเสือเป็นสัตว์ชอบน้ำ และจับปลาในน้ำกินเป็นด้วย การมีเขื่อนจะทำให้ป่าชุ่มชื้น เพราะทุกวันนี้บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง แห้งแล้ง เมื่อป่าชุ่มชื้น เสือก็จะกระจายพันธุ์ได้เพิ่มขึ้นและมีความสุขมากกว่า"  จาก http://www.dailynews.co.th/politics/239077 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖.

[9] เป็นคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อกรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น. 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มรักษ์คอนสารยุติชุมนุมไปจัดทำประชาคม นัดใหม่ 17 ต.ค.นี้

Posted: 15 Oct 2013 06:35 AM PDT

ชุมชุมกลุ่มรักษ์คอนสารวันที่ 2 มีมติยุติการชุมนุม 1 วันเพื่อไปทำประชาคมหมู่บ้าน นัดหมาย 17 ต.ค.นี้ กลับมาชุมนุมอีกครั้ง พร้อมผลประชาคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินว่าเอา-ไม่เอาโรงงานยางพารา มายื่นนายอำเภอ
 
 
15 ต.ค.56 – การชุมนุมเป็นวันที่ 2 ของชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสาร บริเวณที่ว่าการอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อเรียกร้องให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งยกเลิกการให้อนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่งในพื้นที่ หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) พร้อมทวงสัญญาการทำประชาคมหลังได้ยื่นหนังสื่อถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง
 
 
กิจกรรมวันนี้นับจากช่วงเช้าเป็นต้นมา ผู้ชุมนุมต่างร่วมกันเขียนข้อความรณรงค์ไม่เอาโรงงานยางพารา ขณะที่กลุ่มเยาวชนร่วมกันระดมทุนในการชุมนุมที่ยื้อเยื้อ โดยตั้งกล่องรับบริจาคและขายผ้าโพกหัวที่เขียนข้อความไม่เอาโรงงานยางพาราในราคาผืนละ 20 บาท 
 
 
เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.ผู้ชุมนุมร่วมกันทำกิจกรรมแห่หุ่นฟางที่มีชื่อนายอำเภอคอนสาร และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ไปรอบๆ บริเวณที่ชุมนุมภายในสถานที่ว่าการอำเภอ 3 รอบพร้อมกับร้องเพลงและฟ้องรำ เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อนายอำเภอและผู้ว่าฯ ที่ไม่สามารถปลีกตัวลงมาพบปะกับผู้ชุมนุมได้
 
ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น.ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสารมีมติจะยุติการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ 1 วัน (16 ต.ค.56) เพื่อให้ชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานยางพารา รวม 31 หมู่บ้าน ไปจัดทำประชาคมหมู่บ้านกันเอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58, 66 และ 67
 
พร้อมนัดหมายวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง โดยนำผลการประชาคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินว่า เอา หรือไม่เอาโรงงานยางพารา มายื่นต่อนายอำเภอด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานอีสานร้องดีเอสไอถูกหลอกเก็บลูกเบอร์รีในสวีเดน

Posted: 15 Oct 2013 03:37 AM PDT

แรงงานอีสานกว่า 200 คน แห่ร้องดีเอสไอ หลังถูกบริษัท 18 มงกุฎหลอกไปเก็บลูกเบอร์รีในประเทศสวีเดน คิดค่าหัวคนละ 1 แสนบาท อ้างได้เดือนละ 85,000 บาท ผ่านไปเดือนกว่ากลับไม่ได้รับค่าจ้าง แถมลอยแพ

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่  15 ต.ค. 56 นายภาสกร เจนประวิทย์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ และคณะ ดีเอสไอ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการร้องทุกข์จาก นายวินัย แก้วเก็บคำ อายุ  38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 6 ต.นางงาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น  นายวิบูลย์ โกสน อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 6 อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  นายวิศรุต สุดาวัน อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่76 หมู่ 8 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น  พร้อมราษฎรในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี  และ จ.ชัยภูมิ ประมาณ 120 คน ขอยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น  กรณีถูกบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งใน จ.ชัยภูมิ เรียกเก็บเงินคนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อแลกกับการได้ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนตามสัญญา หลังเข้าขอความช่วยเหลือที่สถานทูตไทยประจำประเทศสวีเดน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

นายวินัย กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีนายหน้าของบริษัทจัดหางานได้เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อชักชวนชาวบ้านให้เดินทางไปทำงานเก็บลูกเบอร์รีที่ประเทศสวีเดน โดยเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประเทศสวีเดน ประมาณรายละ 100,000 บาท เพื่อแลกกับผลตอบแทนเดือนละประมาณ 85,000 บาท โดยนายหน้าคนดังกล่าวอ้างว่าลูกเบอร์รีมีมากหากคนงานไปเก็บจะไม่ขาดทุน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และอุดรธานี  กว่า 500 คน หลงเชื่อไป กระทั่งไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ร่วมมูลค่าความเสียหายกว่า 100  ล้านบาท  ซึ่งกลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายได้เดินทางไปประเทศสวีเดนเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2556 แต่เมื่อไปถึงประเทศสวีเดน บริษัทจัดหางานได้จัดให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายไปเก็บลูกเบอร์รีบนภูเขาที่เมืองอูเมียว ทางตอนเหนือ และเมืองเลตเจอร์ฟอร์ดทางใต้ของประเทศสวีเดน โดยจัดที่พักพร้อมอาหารให้

 นายวินัย กล่าวอีกว่า เมื่อชาวบ้านผู้เสียหายเก็บลูกเบอร์รีนานกว่า 1 เดือน กลับไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา จึงรวมตัวประท้วงที่ประเทศสวีเดน จนบริษัทเจ้าของไร่ลูกเบอร์รีในประเทศสวีเดนออกมาแถลงข่าวชี้แจงว่า ได้จ่ายค่าแรงงานให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายผ่านบริษัทจัดหางานดังกล่าวแล้ว และไม่ทราบว่าทำไมชาวบ้านผู้เสียหายจึงไม่ได้รับค่าจ้าง กระทั่งกลุ่มชาวบ้านผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในประเทศสวีเดน ในการออกค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556  พวกตนซึ่งมีประมาณ 120 คน อยู่ในสามจังหวัดภาคอีสานตอนบนจึงรวมกลุ่มมาขอความช่วยเหลือจากดีเอสไอภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น  ให้ตรวจสอบบริษัทจัดหางานดังกล่าว พร้อมติดตามเงินค่าจ้างคืนให้กลุ่มชาวบ้านผู้เสียหาย เพราะตอนนี้เดือดร้อนมาก บางรายเครียดป่วย หรือเสียชีวิต เพราะต้องไปกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาน ทั้งนี้ ตนอยากขอเตือนประชาชนว่าหากจะเดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน ขอให้ตรวจสอบบริษัทจัดหางานกับกระทรวงแรงงานว่าจัดตั้งถูกต้องหรือไม่ โดยมีบริษัทจัดหางานที่ดีอีกจำนวนมาก

นายวิบูลย์  แรงงานไทยจากจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนกลุ่มแรงงาน ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า  หลังจากแรงงานจากภาคอีสานประมาณ 500 คน  ซึ่งมีตนเป็นหนึ่งในนั้นได้รับการติดต่อว่าจ้างจากบริษัท เอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด  ให้ไปทำงานรับจ้างเก็บผลไม้ที่ประเทศสวีเดน ทำงานตั้งแต่ตี 3 ถึง ห้าทุ่ม และจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเป็นเงินจำนวนเกือบ 1 หมื่น 9 พัน โคลนสวีเดนต่อเดือน หรือประมาณกว่า 9 หมื่น 3 พันบาทไทย ระยะเวลาว่าจ้าง 3 เดือน แต่จะต้องจ่ายเงินค่าเดินทางและค่าดำเนินการอื่นๆ ให้กับทางบริษัทก่อน โดยบางคนจ่ายเป็นเงินสด บางคนจ่ายเป็นหลักทรัพย์โฉนดที่ดิน เบ็ดเสร็จรวมมูลค่ากว่า 1 แสน 4 พันบาทต่อคน แต่เมื่อทำงานมาได้เดือนเศษกลับไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ ทั้งจากบริษัท เอ็มฟินิกซ์ ประเทศไทย และบริษัทที่สวีเดน จึงประสานสถานฑูตไทยในสวีเดนขอเดินทางกลับประเทศเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนจะเดินทางมาร้องทุกข์กับดีเอสไอที่ จ.ขอนแก่น  ให้ตรวจสอบบริษัทดังกล่าวด้วย  ว่า มีการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และให้ดำเนินคดีหากพบการกระทำความผิดจริงเบื้องต้นดีเอสไอได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปกล่าวว่า  กรณีมีผู้เสียหายเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนจำนวนมากที่ถูกล่อลวงไปทำงานที่ประเทศสวีเดน ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ซึ่งผมได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พร้อมกับรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ ซึ้งมีผู้เกี่ยวข้องคือ บริษัท เอ็ม ฟินิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งได้ชักชวนกลุ่มคนงานในภาคอีสาน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี  ซึ่งถูกชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศสวีเดนไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศนั้น

สอบสวนทราบว่าแรงงานชุดนี้ไปอยู่ประเทศสวีเดนแบบอยู่เอง ทำเอง กระทั่งมีนายบัวลา เหล่าพรม อายุ 39 ปี ทนไม่ไหวจึงได้ผูกคอตายอยู่ในประเทศสวีเดน พวกเขาจึงต้องร้องเรียนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ  ซึ่งเป็นหลอกลวงแรงงานในภาคอีสาน   ดังนั้น กรณีนี้ผู้ร้องโดนฉ้อโกงค่าแรงงาน แถมให้เซ็นต์ในเอกสารเปล่าอีกด้วย เรื่องดังกล่าวตนได้ดำเนินการหาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจัดหางานซึ่งเป็นบริษัทอยู่ในประเทศไทยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เพราะถ้าหากเข้าถือว่าเป็นคดีพิเศษ

ทางดีเอสไอก็พร้อมที่จะดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นว่าคดีนี้น่าจะมีมูล ไม่เช่นนั้นคงไม่มีผู้เสียหายมากถึง 120  คนที่เดือดร้อนมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ทั้งนี้ เราก็ต้องฟังความหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายบริษัทที่จัดหางานด้วยว่าได้ทำถูกต้องหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการตรวจสอบในเชิงลึกทั้งหมด รวมไปถึงการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ในการจัดหางานไปต่างประเทศ.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ศึกษาฯแจงไม่มีตัดนาฏศิลป์ออกจากหลักสูตร หลังกระแส"กูเรียนรำ"ประท้วง

Posted: 15 Oct 2013 03:36 AM PDT

'จาตุรนต์ ฉายแสง' และผู้ช่วยแจงไม่มีการตัดวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรใหม่ที่กำลังปรับปรุงอยู่ระบุอยู่ในกลุ่มความรู้สังคมและความเป็นมนุษย์ หลังกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ก "กูเรียนรำ" ประท้วงระบุเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย

15 ต.ค.56 เวลา16.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ภาพและข้อความยืนยันว่าไม่มีการตัดวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรใหม่ที่กำลังปรับปรุงอยู่ โดยจะอยู่ในกลุ่มความรู้สังคมและความเป็นมนุษย์

หลังจากมีกระแสข่าวว่าสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกเลิกการเรียนนาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรใหม่ที่กำลังปรับปรุงอยู่เพื่อยกระดับให้นักเรียนมีคะแนนในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มากกว่าเดิมนั้น

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นประเด็นดังกล่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมโดยการโพสต์ภาพที่มีข้อความว่า "กูเรียนรำ หนึ่งในรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย ขอคัดค้านการถอดวิชานาฏศิลป์ออกจาการเรียนศิลปะ"  ซึ่ง "ตุ๊กกี้ ชิงร้อย" นักแสดงตลกชื่อดังโพสต์รูปภาพดังกล่าวพร้อมข้อความด้วยว่า "ถ้าไม่มีวิชานาฏศิลป์ในหลักสูตร นั่นคือการนับถอยหลังของเด็กไทยที่จะลืมรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย ยิ่งโลกมันก้าวไปข้างหน้าเรายิ่งต้องช่วยกัน สืบสาน สั่งสม บ่มเพาะ อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้อยู่คู่ประเทศไทย ให้ยาวนานที่สุด (คิดเยอะๆ นะคะ คนที่มีอำนาจในตรงนี้)" เช่นเดียกับเฟซบุ๊กแฟนเพจ "กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ" ก็มีการโพสต์ภาพและข้อความประท้วงดังกล่าว

จาก อินสตาแกรม "ตุ๊กกี้ ชิงร้อย"

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์อินไซด์ไทยกอฟ ถึงกรณีความเข้าใจผิดดังกล่าวว่า ประการแรกเลยก็คือไม่รู้ว่าข่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่มีความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือขณะนี้มีการร่างหลักสูตรการศึกษาใหม่ ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6  ที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้า แต่อาจจะมีใครสักคนหนึ่งไปดูเอกสารอะไรมาแล้วมองไม่เห็นหรือเกิดความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนแล้วจับมาสร้างเป็นประเด็นขึ้น สำหรับร่างหลักสูตรการศึกษาใหม่นั้นขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญคือในหลักสูตรการศึกษาที่ยกร่างขึ้นมาใหม่นั้นวิชานาฎศิลป์ไทยยังมีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาแน่นอนและไม่ได้หายไปไหน

"ในหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่ยกร่างขึ้นมานั้นเบื้องต้นการเรียนการสอนวิชานาฎศิลป์จะจัดอยู่ในกลุ่มความรู้สังคมและความเป็นมนุษย์ ซึ่งนอกจากการเรียนการสอนวิชานาฎศิลป์ไทยจะยังอยู่ในหลักสูตรการศึกษาเหมือนเดิมแล้ว  ในหลักสูตรใหม่เรายังให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะเปิดเป็นวิชาเลือก สำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์ในด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าหากสามารถค้นหาตัวเองเจอและรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ในด้านศิลปะต่างๆ เราก็จะเปิดโอกาสให้ได้มีการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมทุกด้าน เพื่อให้สามารถนำสิ่งที่ได้เล่าเรียนมาไปประกอบอาชีพด้วย" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

นายภาวิช กล่าวว่า จนถึงขณะนี้สามารถยืนยันได้ว่า 1.เรื่องที่จะถอดวิชานาฎศิลป์ออกจากหลักสูตรการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องจริงอย่างแน่นอน  2.ในการศึกษาทั่วไปที่เด็กทุกคนต้องเรียนนั้นยังมีการเรียนการสอนวิชานาฎศิลป์ไทยอยู่ และ 3.จะมีการเพิ่มเติมการเรียนการสอนมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่มีพรสวรรค์ในด้านนี้อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WARTANImedia: ญาติศพวิสามัญสะแนะร้องกรรมการสิทธิข้องใจมอบตัวแล้วทำไมตาย

Posted: 15 Oct 2013 02:45 AM PDT

ที่โรงแรมซีเอสปัตตานีวันที่ 13 ต.ค.2556 ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะที่บ้านสะแนะ ต.เรียง อ.รือเสาะ นราธิวาส ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมจากอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายซูเฟียน สาและ ที่ตามข่าวก่อนหน้านี้ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมพร้อมกับผู้ต้องสงสัยอีกสี่รายเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า มีผู้เห็นเหตการณ์ยืนยันได้ว่านายซุเฟียนได้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าได้กลายเป็นศพนอนตายอยู่ในบ้านที่มีการยิงปะทะกัน

โดยนายซูเฟียนได้มอบตัวพร้อมกับนายอุสมาน เด็งสาแม ซึ่งตามรายงานข่าวถูกวิสามัญเช่นเดียวกันโดยตายอยู่ในป่าสวนยางหลังหมู่บ้าน รายงานข่าวกล่าวว่า ญาติของนายซูเฟียนยังได้ร้องขอความเป็นธรรมด้วยกรณีของนายซูเฟียนว่า เงินของนายซูเฟียนจำนวน 490,000 บาทที่เก็บไว้ในบ้านที่มีการปะทะกันก็หายไปเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ในรายงานของ Deep South Watch สัมภาษณ์แม่ของนายซุเฟียน ที่ระบุว่า "ซูเฟียนเป็นคนทำไม้ เขามีลูกน้องสิบกว่าคน เป็นคนทำธุรกิจเก่ง เขามาขอยืมเงินแม่เพื่อจะไปจ่ายค่าไม้ แม่ก็ไปเบิกมาจากธนาคารให้ทีละเล็กละน้อย เงินจำนวนนี้ได้มาเพราะการขายที่ดินของตัวเอง" แม่ของซูเฟียนเล่า"

โดยญาติของซูเฟียนมีข้อข้องใจว่า เจ้าหน้าที่ได้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไปเพราะสงสัยว่าเป็นเงินที่ได้มาอย่างไม่สุจริตและเมื่อไต่ถามเจ้าหน้าที่ก็ระบุให้ญาติไปหาหลักฐานยืนยันหากต้องการเงินดังกล่าวคืน

ทางด้านคณะอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนของญาตินายซูเฟียนไว้แล้ว

อนึ่ง เหตุการณ์ปะทะดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านสะแนะนั้น เป็นการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าปิดล้อมและจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัย ในการยิงปะทะกันทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกสองรายคือนายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ หรือเปเล่ดำ และนายซุลกีฟลี หรือมะดารี นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวบุคคลอีกเจ็ดคนไปสอบปากคำในวันเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เสก โลโซ" โพสต์รำลึก 40 ปี 14 ตุลา และย้ำว่าเป็นกลาง - คนแห่อวยพรวันเกิด

Posted: 15 Oct 2013 01:55 AM PDT

และต่อมา เสก โลโซ ยังโพสต์ชี้แจงภายหลังว่า เพื่อร่วมรำลึกและขอคาราวะเหล่าผู้กล้านักศึกษาและพี่น้องประชาชนผู้เสียชีวิตในวันที่ 14 ตุลาเมื่อ 40ปี ที่แล้วและในเหตุการณ์ในวาระต่างๆ ที่เหล่าวีรชนคนกล้าได้สละเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความยุติธรรม โดยย้ำว่า "พี่เสก" เป็นกลาง เป็นที่รักของคนทุกภาค

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา เสกสรร สุขพิมาย หรือเสก โลโซ ศิลปินเพลงชื่อดัง ได้ โพสต์สเตตัสเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า

"40ปี14ตุลา" 

 

โดยมีผู้กดไลค์สเตตัสดังกล่าวนับหมื่น และนอกจากมีผู้ร่วมโพสต์รำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ยังมีผู้เข้ามาอวยพรวันเกิดให้กับเสก โลโซจำนวนมาก หรือคิดว่าเป็นเพลงของเสกสรรค์ จนทำให้มีแฟนเพจส่วนหนึ่งท้วงติง และต่อมามีผู้เข้ามาโพสต์ประชดประชันจำนวนหนึ่ง

สำหรับข้อความที่มีผู้โพสต์ในเพจ เช่น "เพลง ใช่ไหมครับ" "อายุ+วันคล้ายวันเกิดพี่เสกหรอคะ" "จัดสักเพลงสิพี่" "กูเกิ้ล มี ลองหาข้อมูลดูครับ" "I love sekloso I'm back (ใจสั่งมา) "HBD มีความสุขมากๆนะ" ไม่ไช่เพลงพี่เสกหรอกคับ/วันนี้ครบรอบ40ปี14ตุลา2516คับ" ฯลฯ

และต่อมาเสก โลโซ โพสต์สเตตัสเพิ่มเติมว่า

"Politics *วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาผมจะขอพูดเรื่องการเมืองซักหน่อย ผมเป็นคนสนใจการเมืองมากแต่ผมมีจุดยืนที่ชัดเจนคือผมเป็นกลางไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น ผมเป็นคนของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ พี่น้องทั้งเหนือ,ใต้,ออก,ตก,อีสานคือพี่น้องแฟนเพลงที่รักผมทั้งหมดทุกภาค ผมถือโอกาสในวันนี้ร่วมรำลึกและขอคาราวะเหล่าผู้กล้านักศึกษาและพี่น้องประชาชนผู้เสียชีวิตในวันที่ 14 ตุลาเมื่อ 40ปี ที่แล้วและในเหตุการณ์ในวาระต่างๆ ที่เหล่าวีรชนคนกล้าได้สละเลือดเนื้อต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความยุติธรรม ด้วยรักและนับถือ" เสก โลโซ"

ในวันเดียวกันนี้ "เสก โลโซ" ยังได้โพสต์รูปถ่ายคู่กับ "หนุ่ย ไมโคร" ด้วย

ส่วนวันเกิดของ เสกสรร สุขพิมาย หรือ เสก โลโซ คือวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2517 โดยเขาเกิดที่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"คุกเข่าลง" บทความจากนิตยสาร Spiegel ว่าด้วยระบบโซตัสในไทย

Posted: 15 Oct 2013 01:53 AM PDT

นิตยสารแดร์ ชปีเกล ของเยอรมนี รายงานการรับน้องและระบบโซตัสที่ยังคงแพร่หลายในสังคมไทย บทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันชี้ระบบนี้ดำรงอยู่ได้โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างสังคมแบบแบ่งชนชั้นที่ชัดเจน

 
รูปภาพที่ค่อนข้างพร่ามัว ทำให้หวนนึกถึงคลิปวิดีโอที่แอบถ่ายการทารุณกรรมแบบลับ ๆ ในคุกหรือสถานที่กักกันแห่งใดแห่งหนึ่ง ในภาพปรากฏรูปชายหนุ่มหลายคนที่ก้มหน้าลงกับพื้น เขาเหล่านี้ต้องวิ่งยามค่ำคืน แม้เขาจะหมดเรี่ยวแรงแล้วก็ตาม เขาถูกกลุ่มรุ่นพี่ที่ยืนรายล้อมรอบตัวพวกเขา ตะโกนใส่หน้าและขู่ตะคอกด้วยเสียงอันดัง 
 
ในคลิปวีดีโอยังปรากฏภาพชายหนุ่มที่นอนอยู่บนเตียงในสภาพที่อ่อนล้าหมดแรง "เขาต่อยท้อง และตบหัวผม" ชายหนุ่มคนเดิมกล่าว "เขาบอกว่า ยังมีหนักกว่านี้อีกหลายเท่า" ด้วยความอาย เด็กหนุ่มจึงเอาหมอนมาปกปิดใบหน้า
 
คลิปวีดีโอดังกล่าวถ่ายมาจาก ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย โดยมีนักศึกษาคนหนึ่ง ถ่ายวีดีโอการรับน้องของเด็ก ปี 1 ที่เข้าใหม่ เขาต้องการพิสูจน์ว่าประเพณีการรรับน้องซึ่งเรียกว่า "โซตัส" บางครั้งมันกลายเป็นเรื่องบานปลายได้  และโลกควรจะได้รับรู้ว่าหลายครั้งหลายหนการปฏิบัติตามประเพณีที่สืบทอดกันมามันก็ไม่ใช่เรื่องของความสนุกสนาน แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจและการดูหมิ่นเหยียดหยาม
 
เหตุการณ์การรับน้องที่ขยายความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิลด้วย ในประเทศเยอรมนี หลายประเพณีได้ถูกล้มเลิกไป ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นประเพณีที่เกิดจากการกลุ่มนักศึกษารุ่นพี่พยายามทดสอบเด็กที่เข้ามาใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดมักจะนำไปสู่การยัดเหยียดให้เด็กใหม่ดื่มเบียร์ และยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเปิดเทอมแต่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่ Hank Nuwer จาก Franklin College มลรัฐ Indiana ทราบดีว่า หลายครั้งกิจกรรมเหล่านั้นมันเป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง"
 
ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ได้ข้อสรุปว่า"ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มที่เป็นสมาชิกเก่าอาศัยความระส่ำระส่ายในจิตใจของเหล่าสมาชิกใหม่เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอำนาจและสถานะอันชอบธรรมให้ตนเอง น่าเศร้าที่ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์"  สมาชิกเก่าเริ่มเข้าหาสมาชิกใหม่ด้วยวิธีการรุนแรง แล้วสมาชิกคนอื่นก็ทำตามกันไป สุดท้ายทุกคนก็ทำตามกันไปหมดแบบเดียวกัน และคนเหล่านี้เริ่มเรียกร้องให้เด็กใหม่ทำในหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งโดยปกติแล้วพวกเขาไม่เคยคิดจะบังคับให้ใครทำแบบนี้อย่างแน่นอน
 
แล้วทำไมเด็กใหม่จึงยอมให้คนเหล่านี้ทำกับตัวเอง? ทำไมไม่พยายามหลบหนี แต่กลับปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้นอย่างเชื่อฟัง?  ตอนแรกคงเป็นเพราะ ไม่อยากให้ตนเองเป็นต้นเหตุให้เกมส์ต้องหมดสนุกลง แต่ต่อมาคงเกิดความรู้สึกอับอายขายหน้าและหวาดกลัวที่จะขัดคำสั่งของรุ่นพี่
 
บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประเพณีรับน้อง มีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Stanford-Prison-Experiment ในปี 1971 ตามข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก ขณะนั้นมีนักศึกษา 24 คน ถูกบังคับให้เล่นเกมส์ติดคุก โดยวางแผนให้เล่นกันในเวลา 2 สัปดาห์ แต่หลังจากเริ่มต้นเล่นได้เพียง 6 วัน  เกมส์ดังกล่าวก็ต้องยุติลง เพราะเหตุเกิดจาก "ผู้คุม" ใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ้าขืนยังปล่อยให้การทดลองดำเนินต่อไป คงต้องมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 
 
การดูหมิ่นเหยียดหยามเด็กปี 1 เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน  ส่วนรุ่นพี่ก็สามารถคิดหาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการรับน้องได้เสมอ   ในประเทศอเมริกา นักศึกษาที่ต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มจะถูกบังคับให้กิน Vomlets: ไข่เจียวที่ผสมอ๊วก  ในประเทศบราซิล นักศึกษาเข้าใหม่จะต้องกลิ้งตัวคลุกไปกับโคลนผสมอุจจาระและซากสัตว์ที่เหม็นเน่า และที่ประเทศฟิลิปปินส์มักมีการชกต่อยกันอยู่เสมอๆ
 
"วิธีการรับน้อง ส่วนหนึ่งคือกระจกสะท้อนสังคม" Nuwer นักวิจัยกล่าว หลังจากเกิดข่าวครึกโครมในประเทศอเมริกาว่า กองทัพได้กระทำการทารุณกรรมนักโทษที่ Abu Ghuraib และที่อื่นด้วยวิธี Waterboarding (การจับกดน้ำ) ปรากฏว่ามีนักศึกษานำเอาพฤติกรรมดังกล่าวไปเลียนแบบ
 
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ บางครั้งประเพณีเหล่านี้จบลงอย่างโหดร้าย ในประเทศไทยมีนักศึกษาบาดเจ็บจากการถูกไฟลวก 4 ราย เนื่องจากถูกบังคับให้กลิ้งตัวบนกองไฟที่ยังไม่มอดดับจากการนำทรายมากลบ หลายครั้งที่การทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต แต่มักจะถูกบันทึกสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุเนื่องจากดื่มแอลกอฮอลล์เกินขนาด
 
ประเพณีเหล่านี้จะสามารถได้รับการสืบทอดและดำรงอยู่ได้โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างสังคมแบบแบ่งชนชั้นอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นต้น   นาย สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวในงานแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า "ในประเทศนี้การตั้งคำถามกับความเห็นของผู้อาวุโสกว่าหรือกับผู้ปกครองถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โรงเรียนของเรา มหาวิทยาลัยของเราเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างคุกและนรก สถาบันการศึกษาหลายแห่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตหุ่นยนต์"
 
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านประเพณีรับน้อง "ระบบโซตัส" ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศไทยอย่างช้าๆ การปฏิวัติเล็กๆ เริ่มขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ดังที่เกิดเป็นประจำในยุคสมัยนี้  หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวคือ คุณปิยรัฐ จงเทพ อายุ 22 ปี เด็กหนุ่มรูปร่างผอมบาง สวมแว่นตาอันโต จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ในกรุงเทพมหานคร เขาปรากฏตัวขึ้นพร้อมเพื่อนอีก 2 คนที่นั่งประกบข้างราวกับเป็นบอดี้การ์ดของเขา
 
ดูจากรูปร่างหน้าตาแล้ว ปิยรัฐ น่าจะเป็นผู้ประสบเหตุที่ดูสมบูรณ์แบบที่สุด และเพราะเขารู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เขาจึงชักชวนให้ นักศึกษาส่งรูปถ่ายจากการรับน้องระบบโซตัสที่โหดร้ายทารุณ หรือแจ้งรายงานรายละเอียดการรับน้องให้เขาทราบทางเพจในเฟซบุค ปรากฏว่า มีคนส่งเข้ามาให้เขาหลายร้อยราย
 
ในจำนวนรูปถ่ายที่ส่งเข้ามา มีหลายภาพที่น่าตกใจ:  เด็กจำนวนหนึ่งนอนทับกันเป็นแถวอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย มีนักศึกษาถูกมัดและนั่งคุกเข่าอยู่กับพื้น ในขณะที่รอบตัวเขารายล้อมไปด้วยผู้ชายและผู้หญิงใส่หน้ากากและถือกระบองในมือ มีคนส่งภาพถ่ายจากเชียงใหม่มาให้ปิยรัฐด้วยเช่นเดียวกัน  "น.ศ. ส่วนมากไม่เห็นด้วยการรับน้องด้วยระบบโซตัสที่รุนแรง แต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา แต่ตอนนี้ เราสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้แล้ว"  ปิยรัฐ กล่าว
 
กลุ่มในเฟสบุ๊คของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กหลายๆคน  เขาปรากฏตัวในทีวี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา "บางครั้ง มีคนมาทักผมตามท้องถนน และให้กำลังใจให้ผมทำงานต่อไป" ปิยรัฐ กล่าว ส่วนหน่วยงานของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ยังคงเพิกเฉยและปกปิดปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป
 
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยแม้แต่แห่งเดียว ม.แม่โจ้ จ. เชียงใหม่ กล่าวกับ UniSPIEGEL ว่า มีข่าวลือและการคาดคะเนไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้องของ ม.แม่โจ้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่นี่มีการระมัดระวังเกี่ยวกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นอย่างมาก
 
อุปสรรคในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบโซตัสเกิดขึ้นเนื่องจากนักศึกษาหลายคน ยังต้องการยึดติดกับประเพณีดั้งเดิม เฟซบุคกลุ่มของปิยรัฐถูกรีพอร์ทว่าเป็น Spam และถูกลบทิ้งหลายครั้ง  เขากล่าวว่า เขาเคยได้รับจดหมายข่มขู่ และตอนที่ม.แม่โจ้ มีแผนจะย่นระยะเวลาการรับน้องให้สั้นลง มีนักศึกษาหลายร้อยคนออกมาประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัย
 
นักศึกษาชื่อ Attiwich Sutthiyuth อายุ 21 ปี เห็นตรงข้ามกับปิยรัฐ เขาได้แสดงความเห็นปกป้องการรับน้องระบบโซตัสอย่างชัดเจน ในทำนองว่าอย่างมากรุ่นพี่ก็แค่ตะโกนใส่รุ่นน้อง เพื่อให้รุ่นน้องเคารพ ก็เท่านั้น "โซตัส เปรียบเสมือนมีด มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้งานมันอย่างไร"
 
 
สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับภาษาเยอรมันได้ที่ http://wissen.spiegel.de/wissen/image/show.html?did=115400667&aref=imageArchive%2F2013%2F10%2F01%2FCO-USP-2013-005-0044-0046.PDF&thumb=false
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น