ประชาไท | Prachatai3.info |
- หลัง 14 ตุลา: ธิกานต์ ศรีนารา เล่าเรื่องปัญญาชนภายหลังยุค พคท. กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
- เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: คำถามทำไมคนเดือนตุลาเปลี่ยนไป และใครคือชายขอบของคนตุลา
- คปก.ปลุกคน 4 แสน ร่วมดันกฎหมายประชาชนให้เป็นจริง
- นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: เสี้ยวความทรงจำ 6 ตุลา 19
- ถอดบทเรียน 16 ปี ใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง เสนอ กม. 44 ฉบับอเตรียมล่าล้านชื่อดันร่าง กม.ช่วยคนจน
- ชาวบ้านแม่ยม แม่แจ่ม แม่ขาน โป่งอาง ร่วมทำพิธีทางศาสนาค้านเขื่อน
- เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: โลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิม หลัง 14 ตุลา 16
- คุกคามน่ะไม่เท่าไหร่ แต่เศร้าใจเรื่องอื่นมากกว่า
- เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: วิหารไม่ว่างเปล่า
- เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา : ฝ่ายซ้าย-นักกิจกรรมไทย หลังยุคพคท. ทำไมหันหาแนวคิดอนุรักษ์นิยม
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา!
- ILO ILO : ชีวิตขันขื่นของ 'แมงเม่า' กลางแสงไฟ
หลัง 14 ตุลา: ธิกานต์ ศรีนารา เล่าเรื่องปัญญาชนภายหลังยุค พคท. กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม Posted: 05 Oct 2013 12:49 PM PDT เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา มีการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" เป็นวันแรกที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยการสัมมนาดังกล่าวจัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในช่วงเช้า ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้เขียน "หลัง 6 ตุลาฯ: ความขัดแย้งระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ได้นำเสนอบทความหัวข้อ "การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2524-2534" โดยมีรายละเอียดของวิดีโอการนำเสนอดังนี้ การนำเสนอโดย ธิกานต์ ศรีนารา ในหัวข้อ "การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2524-2534" ในการสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 5 ต.ค. 56 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 05 Oct 2013 12:21 PM PDT มีหลายปริมณฑลมากที่ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน เหตุการณ์ 14 ตุลา, 14 ตุลา แทบไม่มีความหมายหากมองผ่านเลนส์ศาสนา ในนทางกลับกันแปลได้หรือไม่ว่ามีการให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา มากเกินไปแล้ว วิจารณ์ในการนำเสนอประเด็นบทบาทพุทธศาสนาและปัญญาชนมุสลิม ในงานสัมมนาวิชาการ "หลัง 14 ตุลา" | |
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: คำถามทำไมคนเดือนตุลาเปลี่ยนไป และใครคือชายขอบของคนตุลา Posted: 05 Oct 2013 12:03 PM PDT กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เสนอคำถามคนตุลาเปลี่ยนหรือเราเข้าใจผิดเอง Tyrell Haberkorn เสนอประวัติศาสตร์คนชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา วิจารณ์โดยประจักษ์ ก้องกีรติ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็น 'คนเดือนตุลา' คำถามหลักของงานชิ้นนี้เริ่มต้นจาก คำถามยอดฮิตของคนในยุคสมัยความขัดแย้งเหลืองแดงที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป" จากที่คนเดือนตุลาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง กลับกลายมาอยู่ในขั้วตรงข้ามทางการเมือง ภาพคนเดือนตุลาที่มีความเป็นกลุ่มก้อน เป็นฝ่ายก้าวหน้า เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นนักต่อสู้กับเผด็จการเพื่อความเป็นธรรมของสังคม กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกแยก แบ่งขั้ว มีความขัดแย้งแตกต่างจากภาพที่เคยเห็นในอดีต งานศึกษาชิ้นนี้พยายามก้าวข้ามการอธิบายแบบง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์และความไร้เดียงสาทางการเมือง โดยพยายามนำเสนอคำอธิบายที่หลากหลาย เมื่อถามว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ จึงเปลี่ยนไป" คำอธิบายตั้งต้น คือ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เปลี่ยน แต่พวกเราต่างหากที่เข้าใจผิดว่าพวกเขาเปลี่ยน ทั้งที่ความจริงพวกเขาเหมือนเดิม คือมีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และขัดแย้งกันมาตลอดทั้งด้านความคิดและกระบวนการในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เราเข้าใจผิดไปตามภาพกระแสภายหลัง ในการรับรู้ของคนวงกว้างที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อความจริงปรากฏขึ้นเราจึงคิดว่าเขาเปลี่ยน คำถามสำคัญของงานศึกษานี้คือ เราไปเข้าใจว่าเขาเปลี่ยนได้อย่างไร กระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจอย่างนั้นคืออะไร ในความเป็นจริง ภาพการปรากฏตัวของคนเดือนตุลาคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ 'ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฉบับประชาธิปไตย' นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพิ่งลงหลักปักฐานในทศวรรษที่ 30 ความจริงในช่วงต้นที่พวกเขาออกมาจากป่าเมื่อทศวรรษ 2520 คนเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการวมตัวกัน การรวมตัวในช่วงแรกเป็นลักษณะแบ่งแยก ไม่มีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน เน้นการรักษาและสานต่อเครือข่ายเพื่อนเก่า มีลักษณะเป็นการชุมนุมศิษย์เก่าเพื่อเยียวยา รักษาบาดแผลทางการเมือง ภาพในความรับรู้ของสังคมช่วงนั้นคือการเป็น 'ฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้' สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จในการวมตัว คือ 1.บรรยากาศทางการเมืองไม่เป็นมิตร อยู่ในช่วงการล่มสลายของ พคท.ใหม่ๆ ถูกจับตาโดยรัฐ จึงกลายเป็นอุปสรรค์ในการสานต่อกิจกรรมทางการเมือง 2.ปัญหาโครงสร้างและเครือข่ายของกลุ่มนักศึกษาในยุค 70-80 ซึ่งหลวมและกระจายอำนาจ 3.ความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง ที่เริ่มตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา มาจนออกจากป่า ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปถึงปัญหาในอดีตและทิศทางในอนาคตร่วมกันได้ มาถึงปีทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ.2533-2542) คนเดือนตุลาค่อยๆ ประสบความสำเร็จในกลับการมารวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทางการเมือง รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์การเมืองในยุค 1970 (2513-2522) และประสบความสำเร็จในการสร้างการยอมรับจากสาธารณะ พวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานะ 'ฝ่ายซ้ายผู้พ่ายแพ้' แต่กลายเป็น 'คนเดือนตุลา วีระบุรุษประชาธิปไตย แห่งทศวรรษที่ 1970 งานเฉลิมฉลอง 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นงานเฉลิมฉลองประชาธิปไตยระดับชาติ เนื่องมาจากเงื่อนไข คือ 1.บริบททางการเมืองเปลี่ยน สิ้นสุดยุคสงครามเย็น มีการล่มสลายของ พคท.ทำให้รัฐบาลเลิกมองนิสิตนักศึกษาในฐานะภัยคุกคามทางการเมือง มีการเปิดเสรีทางการเมือง จากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ชนชั้นกลางประสบความสำเร็จในการต่อต้านการกลับมาของระบอบทหารในยุคพฤษภาทมิฬ มีการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม การปฏิรูปการเมือง เหล่านี้ช่วยสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่กระตุ้นและเชื้อเชิญให้คนเดือนตุลากลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง และ 2.ความสำเร็จของคนเดือนตุลาที่ก้าวสู่สถานภาพทางการเมืองและสภานะภาพทางสังคมในรูปแบบใหม่ ในฐานะ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง นักการเมืองดาวรุ่ง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเป็นนักเขียน นักแสดง นักร้องที่มีชื่อเสียง สถานภาพใหม่นี้กลายเป็นฐานอำนาจแบบใหม่ทั้งด้านวิชาการและการสื่อสารต่อสาธารณะ เงื่อนไขที่สร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนใหม่ของคนเดือนตุลา มีกระบวนการ 3 อย่าง ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันตลอดช่วง 30 ปี และมาประสบความสำเร็จในช่วงทศวรรษ 2530 คือ 1.การนำเสนอประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ในนามของประชาธิปไตย 2.การเลือกนำเสนอภาพลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมฝ่ายซ้าย ในมุมมองที่สังคมยอมรับได้ และ 3.การสร้างความเป็นสถาบันให้กับความเป็นคนเดือนตุลาผ่านการรื้อล้างประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย Tyrell Haberkorn: ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา เดือนตุลามีจำนวนวัน 31 วัน แต่มีวันสำคัญ 2 วัน วันแรก 14 ตุลา (2516) เป็นวันที่ระบอบเผด็จการล่มสลาย หลังจากประชาชนเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯและทุกจังหวัด อีกวันหนึ่งคือ 6 ตุลา (2519) ซึ่งเป็นวันแห่งความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขวาจัดบุกโจมตีสังหารนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ที่ธรรมศาสตร์ และมีรัฐประหารโดยกองทัพ เผด็จการกลับมา เดือนตุลาจึงหมายถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของช่วงเวลาพิเศษแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทย ทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา หากพิจารณาเฉพาะทั้ง 2 เหตุการณ์ในแง่การบันทึกประวัติศาสตร์ หรือการวิเคราะห์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ เราจะไม่อาจเข้าใจถึงประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลายที่เกิดขึ้นช่วงนั้น แม้ 14 ตุลา จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเต็มถนน แต่เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ในวันนั้นไม่ได้ให้ภาพสมบูรณ์ของการทำให้ระบอบเผด็จการล้มลงหรือประชาธิปไตยเกิดขึ้น ส่วน 6 ตุลา ก็เกิดการนองเลือดอันขึ้นในที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ หลังจากการรัฐประหาร การที่เน้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสองวันนั้นที่กรุงเทพฯ ที่เดียวทำให้กรณีอื่นๆ ในที่อื่นๆ ถูกตัดออก และทำให้ประวัติศาสตร์ของสองวันนั้นในกรุงเทพฯ กลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติ ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถนนเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลง และนักศึกษาและคนกรุงเป็นผู้กระทำเกิดให้การเปลี่ยนแปลงนี้ บทความนี้เล่าถึงและวิเคราะห์ชีวิตของประชาชน 3 คน ที่อยู่ชายขอบประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลา ให้ชัดเจนว่าทั้งสามไม่ได้อยู่ชายขอบของประวัติศาสตร์เดือนตุลา แต่อยู่ชายขอบการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นกรุงเทพฯ เน้นนักศึกษา และเน้นเหตุการณ์ใหญ่ๆ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1.ทำให้สิ่งที่ถูกนับว่าเป็นประวัติศาสตร์เดือนตุลาขยายกว้างกว่าเดิม 2.เขียนประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ทีเดียว การเปลี่ยนรูปสังคมและการเมืองเริ่มต้นตอนที่ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับระบอบระบบเก่า การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้เลนส์ชีวิตบุคคลทำให้เรามองและเข้าใจได้ และ 3.ยืนยันว่าชีวิตบุคคล 3 คนนี้ไม่ใช่มีแค่รายละเอียดน่าสนใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่พลาดไม่ได้ หากเราจะเข้าใจการเปลี่ยนรูปแห่งเดือนตุลาก็ควรทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ช่วงนี้เปลี่ยนขยาย ทั้งเนื้อหาและกรอบคิด คนแรก อาจารย์องุ่น มาลิก ผู้เป็นแรงผลักให้หลายคนเกิดมีจิตสำนึกทางสังคมและการเมือง เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวเศรษฐีที่กรุงเทพฯ จบปริญญาโทจิตวิทยาจากสหรัฐอเมริกา อาจารย์องุ่นขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อสอนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2507 ตอนที่อายุ 51 ปีแล้ว และได้รวมกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดตั้งให้นักศึกษาไปซ่อมแซมวัดฝายหินซึ่งอยู่ติดมหาวิทยาลัย โครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นขยายการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและความสนใจของอาจารย์องุ่นต่อกิจกรรมนักศึกษา ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์องุ่นได้ลงมือร่วมทำวารสารสิ่งพิมพ์และกลุ่มละครของนักศึกษา และเป็นสมาชิกสภาอาจารย์ และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์องุ่นเข้าร่วมในงานกิจกรรมการเคลื่อนไหวสังคมและการเมืองที่ต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมอย่างเต็มที่ อีกทั้งได้มีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่ด้วย ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา อาจารย์องุ่นถูกกักขังภายใต้อำนาจของคำสั่งที่ 22 ที่ออกเมื่อวันที่ 13 ต.ค.19 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ร่วมกับครู ชาวนาชาวไร่ นักศึกษา และข้าราชการ อีก 40 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อสังคมทางการเมือง คนที่ 2 หมออภิเชษฐ์ นาคเลขา แพทย์หนุ่มจากกรุงเทพฯ ที่เลือกไปทำงานเป็นแพทย์สาธารณสุขประจำที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในปี 2517 จากการที่เกิดจิตสำนึกก้าวหน้าและร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรม โดยหมออภิเชษฐ์เป็นตัวอย่างชัดๆ ของจินตนาการของสังคมที่ดีกว่าในช่วงระหว่าง 14 ตุลาและ 6 ตุลา ในฐานะข้าราชการที่ทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งมีการเคลื่อนไหว 14 ตุลา เป็นแรงบันดาลใจ สิ่งที่ทำให้หมออภิเชษฐ์ถูกจับตาคือ ความร่วมมือกับประชาชนเพื่อปราบทุจริตใน อ.พร้าว ทำให้ถูกขู่ฆ่า และถูกเขียนจดหมายร้องเรียนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาเย็นวันหนึ่งในเดือน พ.ค.2518 มีการจัดงานฉายสไลด์ของของประชาชนและการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่ห้องสมุดชุมชน ในคืนนั้นบ้านของบ้านนายอำเภอพร้าวถูกเผา ต่อมาจึงตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ เพราะห่วงความปลอดภัยของคนที่อยู่ใกล้ชิด และไม่มีโอกาสกลับไปรับราชการ จนเสียชีวิตเมื่อเดือน พ.ย.2549 คนที่ 3 คือพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ปัญญาชนชาวนาจากภาคเหนือที่ต่อสู้เพื่อ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา เขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวก้าวหน้าครั้งแรกตอนนักศึกษาประท้วงเรียกร้องให้กองทัพอเมริกาออกจากประเทศในเดือน ก.ค.2516 ต่อมาในเดือน ก.ย.2517 พ่อหลวงอินถานำกลุ่มชาวนาสารภีเข้าร่วมการชุมนุมที่กลางเมืองเชียงใหม่ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเดินทางไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตอนที่สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2517 เขาถูกเลือกเป็นรองประธานระดับชาติและประธานภาคเหนือ ความสำเร็จประการแรกของสหพันธ์ฯ คือการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 ที่ให้จำนวนข้าวที่ต้องจ่ายเป็นค่าเช่านาเดิมลดลง และทำให้ชาวนาไม่ต้องขึ้นอยู่กับอำเภอใจของเจ้าของที่ดิน ช่วง 8 เดือนระหว่างการผ่าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ในเดือน ธ.ค.2517 จนถูกสังหารในเดือน ก.ค.2518 พ่อหลวงอินถาเดินทางไปทุกอำเภอในเชียงใหม่เพื่อคุยแลกเปลี่ยนกับชาวนาเรื่องสิทธิใหม่ที่ได้จาก พ.ร.บ.นี้ ทั้งนี้ พ่อหลวงอินถา ถูกข่มขู่ครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไม่เคยหยุดการเคลื่อนไหว และหลังจากนั้นถูกสังหาร ตำรวจสามารถจับผู้ต้องหาได้แต่ก็ปล่อยตัวในเวลาต่อมา อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังปฏิเสธความสำคัญและบทบาททางการต่อสู้ทางการเมืองของพ่อหลวงอินถาด้วย บทสรุป ไม่ใช่เหตุการณ์14 ตุลา และ 6 ตุลาไม่มีความสำคัญ เพราะทั้งสองเหตุการณ์มีความหมายต่อชีวิตของแทบทุกคนในช่วงนั้น รวมทั้งบุคคลทั้งสามด้วย แต่การเน้นแต่ 2 เหตุการณ์ ทำให้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาไม่สมบูรณ์ การมองและเขียนประวัติศาสตร์โดยเลนส์ของชีวิตบุคคลทำให้เราได้เห็นและเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและระดับต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนรุ่นหลังๆที่ไม่ใช่เป็นแค่ผู้อ่านประวัติศาสตร์แต่เป็นนักต่อสู้ที่อยากเปลี่ยนสังคมเช่นกัน
วิจารณ์โดยประจักษ์ ก้องกีรติ ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามต่องานศึกษา 'การรื้อฟื้นและการก่อร่างสร้างตัวของความเป็นคนเดือนตุลา' กับคำถามที่ว่า "ทำไมคนเดือนตุลาฯ เปลี่ยนไป" แต่ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับคนรุ่นอื่นๆ หรือนักต่อสู้รุ่นอื่นๆ แม้แต่ในกลุ่มคนพฤษภา 35 ซึ่งก็มีความคิดไปคนละทิศละทาง ทำไมคนเดือนตุลาจึงกลายเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ของสังคมและในทางวิชาการ ทั้งที่ ในประวัติศาสตร์ทุกคนเปลี่ยน และในทุกสังคมด้วย งานศึกษานี้กำลังศึกษาในสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นกระบวนการปกติในประวัติศาสตร์ของทุกสังคม โดยเฉพาะการต่อสู้ที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม ไม่มีทางที่ทุกคนจะเห็นตรงกันตั้งแต่ต้น และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์เกิดมา 40 ปีแล้ว จากคนหนุ่มสาวที่เคยเคลื่อนไหวมาเป็นคนวัย 60 ซึ่งคาดหวังให้ความคิดเหมือนเดิมไม่ได้ สิ่งที่อยากชวนคิดต่อ คือ มุมมองเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ว่ามีประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ จากงานศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ศึกษาขบวนการนักศึกษาญี่ปุ่นในปี 1960 ที่เปลี่ยนไป โดยสัมภาษณ์อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายซึ่งกลายมาเป็นนักคิดคนสำคัญของฝ่ายขวาที่มีชื่อเสียงในสังคม ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนนั้นผิดตรงไหน การคิดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ดีนั้นมีจุดเริ่มจากความเข้าใจทางปรัชญาที่ว่า สิ่งแรกเริ่มดีกว่า เป็นความบริสุทธิ์ ส่วนการเปลี่ยนคือการถูกปนเปื้อน โดยตัวเขาคิดว่าตัวตนในปัจจุบันกำลังทำสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่ทำในอดีต มีความถูกต้อง และสำคัญกว่า ในแง่นี้ หากศึกษาคนตุลาที่ไปเป็นเสื้อเหลือง แสดงให้เห็นว่าจากมุมของเขา เขาก็ยังคงต่อสู้เพื่อสังคม แต่อุดมการณ์ที่ต่อสู้เป็นคนละชุดกับอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาที่อยู่ฝั่งเสื้อแดง เป็นคนละชุดกับตัวตนของเขาในอดีต และในขณะเดียวกันก็มีคนเดือนตุลาที่ไม่ได้สนใจการเมืองแล้วด้วย กรอบการศึกษาแม้จะสรุปว่าคนเดือนตุลาไม่ได้เปลี่ยน เราเข้าใจผิดเอง ส่วนตัวคิดว่าความจริงมีหลายกรณีที่เปลี่ยน และคำถามที่สำคัญกว่าคือเปลี่ยนแล้วผิดตรงไหน ผิดเพราะมีการเอาชุดอุดมการณ์ของเราไปวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินเขาหรือไม่ การที่งานศึกษา พูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ แล้วทำให้ 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เช่นนี้ผิด แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ผิดที่เราจะตีความว่า 14 ตุลา และ 6 ตุลา คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีคุณูปการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย เพียงแต่เราให้คำนิยามประชาธิปไตยอย่างไร อุดมการณ์แบบ พคท.ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือมันเป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง อาจต้องคุยในรายละเอียด แต่งานศึกษาเขียนราวกับจะทำให้ความเป็นซ้าย ความเป็น พคท.กับประชาธิปไตยเป็นคนขั้วตรงข้ามกัน ส่วนตัวไม่เห็นด้วย และทำให้เกิดคำถามว่าการต่อสู้แบบซ้ายไม่มีส่วนในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาหรือ ส่วนงานศึกษาของ Tyrell ที่ศึกษา ชีวิตคน 3 คน คือ อาจารย์องุ่น มาลิก หมออภิเชษฐ์ นาคเลขา และพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ตั้งคำถามว่า 'คนเดือนตุลา' หมายถึงใครบ้าง ทั้ง 3 คน คือคนเดือนตุลาหรือไม่ เมื่อทั้ง 3 ต่างก็เกิดความตื่นตัวเข้าร่วมต่อสู้ทางสังคมจากเหตุการณ์เดือนตุลา และถึงที่สุดคนเดือนตุลาเป็นแค่กลุ่มนักศึกษาหรือเปล่า ไม่ได้รวมกรรมการ ชาวนา หรือครูที่มาทำงานเพื่อสังคมเอาไว้ด้วย เมื่อพูดถึงคนเดือนตุลาเรานับรวมใครและไม่นับรวมใครบ้าง งานศึกษาเป็นการศึกษาชีวิตของคนที่ไม่ถูกโฟกัสมาก่อน และเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เดือนตุลามีศูนย์กลางกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และอย่างที่หากคนวิพากษ์วิจารณ์คือเป็นประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ แม้แต่ประวัติศาสตร์นักศึกษาก็มีการตั้งคำถามว่าสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อยู่ที่ไหน จึงไปศึกษาตัวละครอื่นๆ ไปรื้อฟื้นคนเหล่านี้ขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วคนเหล่านี้อาจไม่ใช่คนชายขอบที่ไม่มีตัวตนจริงๆ ทุกท่านมีตัวตนทางสังคม ไม่ถึงกับเป็นชายขอบ ยังมีคนที่เป็นชายขอบกว่านี้ที่เราไม่รู้จักเลย ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่อยากศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ จริงที่ประวัติศาสตร์ตุลากีดกันและละเลยคนจำนวนมากไป แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องปัญหาของชายขอบ แต่เป็นปัญหาเรื่องศูนย์กลางที่ศึกษาไม่ได้ กลายเป็นข้อบกพร่องของประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เพราะคนที่มีบทบาทมากหลายคน หลายกลุ่มที่อยู่ตรงศูนย์กลางกลับถูกทำให้พูดถึงไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เราจึงไม่สามารถเข้าใจ 14 ตุลา และ 6 ตุลาได้อย่างสมบูรณ์ "ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำในช่วงนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเกิดขึ้นของ 14 ตุลา และมันจบลงตรงที่ 6 ตุลา นั้นแหละเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์ชายขอบ ในความหมายที่มันไม่เคยถูกศึกษา เจาะลึก อย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่เพราะมันไม่มีความสำคัญ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงได้" ประจักษ์ กล่าวในที่สุด
หมายเหตุ การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
คปก.ปลุกคน 4 แสน ร่วมดันกฎหมายประชาชนให้เป็นจริง Posted: 05 Oct 2013 11:19 AM PDT กรรมการ คปก.ระบุ 16 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนเสนอกฎหมายได้ 44 ฉบับ ประกาศใช้แค่ฉบับเดียว ต้องใช้กว่า 400,000 ชื่อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เสนอถ้าทุกคนร่วมแสดงตัวตนผลักดัน 'กฎหมายประชาชน' จะเป็นจริง ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงสถานการณ์การเข้าชื่ ไพโรจน์ กล่าวว่า นับจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ผ่านมา 40 ปีแก่นสารของประชาธิปไตยที่เรี ไพโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ ประเด็นปั ที่ผ่านมาการเสนอกฎหมายเป็นสิ ไพโรจน์กล่าวด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคั กลุ่มคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พอจะแบ่งได้เป็น 1.กลุ่มวิชาชีพ เสนอกฎหมายเพื่อควบคุ ไพโรจน์ กล่าวว่า กฎหมายประชาชน 44 ฉบับ เสนอด้วยคนมากกว่า 400,000 คน แล้วประชาชนเหล่านี้ไปอยู่ที่ ไพโรจน์ กล่าวเรียกร้องให้เจ้าภาพของกฎหมายแต่ละฉบับต้ "รัฐสภาจะเห็นหั ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจบเวทีสาธารณะ "บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน" เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องรัฐสภาผลักดันกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน คุ้มครองสิทธิประชาธิปไตยทางตรง มีรายละเอียด ดังนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: เสี้ยวความทรงจำ 6 ตุลา 19 Posted: 05 Oct 2013 08:49 AM PDT 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ให้บทเรียนมากมายกับสังคมที่ต้องการเรียนรู้ การเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ว่าในยุคสมัยใด เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพของเราเอง ในฐานะมนุษย์ผู้เท่าเทียม เหมือนผู้คนของวันก่อนหน้านั้น วันนี้ และอนาคต มีผู้ได้ชมวิดีโอ 6 ตุลาคม 2519 แล้วแจ้งว่าได้เห็นข้าพเจ้าประมาณนาที่ที่สี่สิบหก จึง cap ภาพมาให้ ขอขอบคุณมากค่ะ ถ้ารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วันสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบเร็วๆ จากภาพนี้ก็คือ คืนวันที่ 5 ตุลาคม เราได้ยินข่าวว่าจะมีการบุกธรรมศาสตร์ คิดว่าคงอันตรายแต่เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ถูกสังหารหมู่ จึงนึกภาพอันตรายที่จะเกิดขึ้นไม่ชัดนัก แต่ความรู้สึกก็คงเหมือนประชาชนเสื้อแดงเสื้อเหลืองที่ชุมนุมกันอยู่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ หรือกลุ่มประชาชนอื่นๆ ที่มุ่งมั่นในการต่อสู้ นั่นคือความรู้สึกไม่กลัวตาย ไม่ได้นึกถึงความตาย ประมาณว่าตายเป็นตาย ไม่เสียใจถ้าตายเพราะได้ยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อ นั่นคือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลางดึก พ่อแม่พี่น้องของนิสิตนักศึกษาประชาชนหลายคนที่ฟังวิทยุยานเกราะ มาตามลูกหลานกลับบ้าน แม่ของข้าพเจ้าก็มา แต่ตามกลับไปได้เฉพาะพี่สาว เพราะข้าพเจ้ามีงานบนเวทีที่ต้องขึ้นแสดงสลับกับการแสดงต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษา ใกล้ๆ เช้า มีเสียงปืน มีคนวิ่งมาจากทางหน้าหอใหญ่ ส่งเสียงตะโกนว่า มันยิงเราแล้ว จากนั้นก็เป็นความชุลมุน เสียงสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้ยินต่อเนื่องคือเสียงของ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งบัดนี้เป็น ศจ ดร ว่า ประมาณว่าอย่ายิงๆ เราไม่มีอาวุธ จากนั้น ก็มีความพยายามจัดการให้ผู้ชุมนุมหนีออกนอกมหาวิทยาลัย เสียงปืนเริ่มดัง มีใครสักคนล้มลงข้างๆ ข้าพเจ้าซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษาปีสี่ จูงน้องนักศึกษาหญิงปีหนึ่งคนหนึ่ง ออกทางประตูท่าพระจันทร์ (พวกเราหนีออกไปก่อนเจ้าหน้าที่จะบุกเข้ามาและบังคับนักศึกษาหญิงถอดเสื้อให้นอนกลางสนาม) จะออกไปทางศิลปากร ระหว่างวิ่งๆ เดินๆ มีใครสักคนกวักมือเรียกเราเข้าไปหลบในบ้านเขา แต่ในที่สุด เจ้าของบ้านก็เปิดประตูให้เจ้าหน้าที่เข้ามากวาดต้อนเราออกไป ให้ยืนหันหน้าเข้ากำแพงวัดมหาธาตุ ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่า เจ้าหน้าที่คงยิงเราทิ้ง จินตนาการวินาทีนั้นคือ พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า ถ้ากระสุนวิ่งเข้ามาในร่างกาย น่าจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไรกับร่างกายบ้าง แล้วก็พร้อมรับความตาย อุตส่าห์คิดได้ด้วยว่า ถ้าวิญญาณมีจริง จะไปบอกแม่พ่อและพี่น้องว่าอย่าเสียใจ ไม่ได้ทิ้งไปไหน แต่เดินทางเปลี่ยนภพไปก่อน แม่พ่อเลี้ยงลูกๆ มาดีมาก หนังสือต่างๆ ที่แม่และพ่อให้ลูกๆ อ่านตั้งแต่เล็กทำให้ลูกๆ รักความเป็นธรรม รักเสรีภาพ และตัวลูกชอบที่ลูกเป็นคนอย่างที่ลูกเป็น ^-^ แต่ไม่มีการยิงทิ้ง และข้าพเจ้าก็ถูกกวาดต้อนขึ้นรถ ตามภาพที่ปรากฎในวิดีโอ เรื่องราวก็เป็นไปตามที่เป็นเช่นนั้น และเกือบสี่ทศวรรษผ่านไป เราหลายๆ คนในช่วงเวลานั้น ก็มาถึงจุดแม่น้ำแยกสาย กลุ่มหนึ่งประกาศว่ายืนหยัดอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่อีกกลุ่มหนึ่ง (ในทัศนะของข้าพเจ้าซึ่งนับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มแรก) เหมือนยืนหยัดสนใจแต่เรื่อง "คนดี คนเลว, ความดี ความเลว" ดังนั้น ก็อาจเหมือนสนับสนุนฝ่ายรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ มันเป็นเรื่องเศร้าในบางเวลาถ้าคิดว่าเพื่อนหลายคน "จริงจัง" กับการแยกสายมาก จนโกรธไม่เผาผีกับเพื่อนที่คิดต่างแม้จะรู้จักมักคุ้นกันมายาวนานกว่าสามสิบปี สำหรับข้าพเจ้า เพื่อนก็คือเพื่อน และข้าพเจ้าเชื่อว่า หลังจากประชาชนด้วยกันฆ่ากันเองโดยไม่จำเป็นมาแล้วหลายรอบ สังคมไทยน่าจะกำลังก้าวไปถึงจุดที่เข้าใจว่า ประชาธิปไตยต้องมีความต่างและเคารพความต่าง ถกเถียงกันปะทะกันโดยวิธีที่ไม่ต้องฆ่ากัน มันเหมือน "คนแก่" รำพึง แต่คนรำพึงก็แก่แล้วจริงๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ถอดบทเรียน 16 ปี ใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง เสนอ กม. 44 ฉบับอเตรียมล่าล้านชื่อดันร่าง กม.ช่วยคนจน Posted: 05 Oct 2013 08:31 AM PDT 5 ต.ค. 56 – คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักประสานการพัฒนาเพื่อสังคมสุขภาวะ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสาธารณะ "บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน" ณ ห้องประชุมจิ๊ดเศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ชาวบ้านแม่ยม แม่แจ่ม แม่ขาน โป่งอาง ร่วมทำพิธีทางศาสนาค้านเขื่อน Posted: 05 Oct 2013 08:21 AM PDT แม่ยม แม่แจ่ม แม่ขาน โป่งอาง ร่วมใจบวชป่าสักทอง ทำพิธี พุทธ คริสต์ ปกป้องป่า ร่วมใจคัดค้านโครงการเขื่อนยมบน-ยมล่าง เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนโป่งอาง เตือนรัฐบาลหยุดทำลายป่า หยุดทำลายชุมชน
5 ต.ค. 56 - ที่ดงสักงาม ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้มีชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ จากอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และชาวบ้านสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ร่วมร้อยคน ได้ร่วมกันจัดพิธีบวชป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ณ ดงสักงาม ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง ในโมดูล A1 ภายใต้งบประมาณ สามแสนห้าหมื่นล้านบาทของ กบอ. โดยมีพิธีกรรมสองศาสนา ในทางพุทธศาสนาได้มีพระสงฆ์ 5 รูป สวดบทเอสาหังและไชยันต์โต จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันนำผ้าเหลืองไปผูกที่ต้นไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าป่าผืนนี้ได้บวชแล้ว หากใครมาทำร้ายจะบาปหนักเสมือนหนึ่งว่าฆ่าพระสงฆ์ จากนั้นได้มีพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา อธิษฐานอวยพรป่า และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า จากนั้นได้นำไม้กางเขนผูกกับต้นไม้ เสมือนหนึ่งว่าพระเจ้าได้ปกป้องผืนป่านี้เพื่อมนุษย์โลกและธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักสืบไป การบวชป่าของชาวบ้านสะเอียบได้มีการจัดต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี แต่ในปีนี้พิเศษที่มีพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนาโดยพี่น้องปกาเกอะญอ จากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ มาร่วมบวชป่าด้วย โดยได้นำไม้กางเขนผูกกับต้นไม้ และมีการสวดสรรเสริญพระเจ้าอวยพรป่าให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า "พี่น้องชาวสะเอียบ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พี่น้องชาวปกาเกอะญอได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และได้มาร่วมบวชป่าทั้งในทางพุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างหรือเขื่อนแม่น้ำยม ซึ่งคือเขื่อนแก่งเสือเต้นแบ่งออกเป็น 2 เขื่อน และพี่นองแม่แจ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม หรือเขื่อนผาวิ่งจู้ จะได้ร่วมมือกันคัดค้านเขื่อนดังกล่าวจนถึงที่สุด เพราะเขื่อนทำลายป่า ทำลายชุมชน ทั้งที่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง อีกมากมาย เราได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่รัฐบาลและ กบอ. ก็ไม่ใส่ใจ ดันทุรังจะสร้างเขื่อนทำลายป่าอยู่ได้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ กบอ.ฟังชาวบ้านบ้าง ไม่ไชเอะอะอะไรก็จะสร้างเขื่อน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อเมริกาเขารื้อเขื่อนทิ้ง แต่ทำไมประเทศไทยจะสร้างเขื่อนจัง เปิดหูเปิดตาดูโลกเขาบ้าง เราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับรัฐบาลในการสำรวจ ศึกษา หรือแม้แต่การประชาวิจารณ์ หากรัฐบาล หรือบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ไชน่าไทยจีน ยังดื้อด้าน เราคงต้องใช้มาตรการสะเอียบ อย่างเข้มข้นตอบโต้ต่อไป" นายสมมิ่งกล่าว นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้นาย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า "พวกเราพี่น้องปกาเกอะญอ ขอเรียกร้องไปยังกรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณายกเลิกโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และเขื่อนอื่นๆ ในทุกแผนงาน โดยหันมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับภูมินิเวศวัฒนธรรมแต่ละลุ่มน้ำ ที่ไม่กระทบกับสิทธิบุคคลและชุมชน และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอู่อาทรของพวกเรา" นายทะนงศักดิ์ กล่าว ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านอ่านปฏิญญาป่าสักทอง ซึ่งระบุถึงชาวบ้านจะไม่ยอมจำนนท์กับการทำลายป่าอีกต่อไป และชาวบ้านจะร่วมกันคัดค้านเขื่อนที่ทำลายป่า ทำลายชุมชน จากนั้นคณะของชาวบ้านได้เดินทางต่อไปยังจุดชมวิวเพื่อไปดูป่าสักทองมุมบนจากยอดเขาและกลับมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันที่ศาลาวัดดอนชัยอีกหนึ่งวัน ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า โครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) อ.สอง จ.แพร่ และโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, โครงการเขื่อนแม่ขาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, โครงการเขื่อนโป่งอาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อยู่ใจโมดูล A1 ของ กบอ. ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ที่รัฐบาลได้วางแผนจัดการน้ำทั้งประเทศ หลังจากเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: โลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิม หลัง 14 ตุลา 16 Posted: 05 Oct 2013 08:02 AM PDT เอกรินทร์ ต่วนศิริ วิเคราะห์ปัญญาชนมุสลิมรุ่น 3 หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นรุ่นที่ผ่านระบบการศึกษาสายสามัญ ทำให้ปัญญาชนมุสลิมเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น พร้อมมโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรองอัตลักษณ์มุสลิมในสังคมไทย เอกรินทร์ นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ มอ. ปัตตานี กล่าวว่า งานชิ้นนี้โดยหลักต้องการกลับไปดูว่าโลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิมหลัง 14 ตุลา 16 เป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากงานเขียนต่างๆ ซึ่งคำถามหลักคือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นั้น ปัญญาชนมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์หรือไม่ โดยกรอบที่ใช้อธิบายงานชิ้นนี้เพื่อที่จะตอบคำถาม คือ กรอบประชาธิปไตยและอิสลาม กระแสการฟื้นฟูอิสลามและเรื่องอัตลักษณ์หรือการเมืองแห่งอัตลักษณ์ ก่อนหน้านี้ภาพพจน์มุสลิมในสังคมไทยหากกลับไปดูงานเขียนทั้งหมดจะมี 2 ส่วนเท่านั้น
ดังนั้น สองภาพที่สังคมไทยเข้าใจและสับสนเมื่อเวลาเกิดความรุนแรงขึ้น ก็คือ มุสลิมเป็นอย่างไรกันแน่ และตั้งคำถามว่ามุสลิมจะอยู่ในสังคมไทยอย่างไร ในที่นี้จะแบ่งปัญญาชนมุสลิมเป็น 3 รุ่น รุ่นแรก ตั้งแต่อภิวัฒน์ 2475 จนถึงก่อน 14 ตุลา ปัญญาชนยุคนี้ที่โดดเด่นที่สุด คือ แช่ม พรหมยงค์ ที่ร่วมกับคณะราษฏร และมีความใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และใกล้ชิดกับหะยีสุหลงด้วย หลังการอภิวัฒน์ 2475 แช่มก็มีส่วนอย่างมากในการคุยกับปรีดีในเรื่องการดูแลมุสลิมต่างๆ โดยเฉพาะทางใต้ แต่เมื่อดูงานเขียนแล้วทั้งแช่มและหะยีสุหลงแทบจะไม่มีปรากฏเลย เป็นรุ่นที่ไม่ปรากฏงานเขียนมากนัก รุ่นที่ 2 ปัญญาชนมุสลิมเงียบไปพักใหญ่ แต่หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมอิหร่านในปี 2522 จนถึงเหตุการณ์ 9/11 โลกทัศน์งานเขียนเปลี่ยนไปอย่างมาก มีการพูดถึงอิสลาม และเน้นแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรมจำนวนมาก การคลุมฮิญาบเริ่มเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน หนังสือแปลเริ่มมากขึ้นโดยปัญญาชนมุสลิมโดยเฉพาะเรื่องการเมืองการปกครอง ทั้งที่แปลอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ เกิดสำนักพิมพ์ขึ้นเพื่อที่จะแปลหนังสือ ซึ่งในตอนแรกไม่ได้พูดถึงการเมืองการปกครองโดยตรง แต่จะพูดเรื่องวัฒนธรรมอิสลาม งานเขียนชุดนี้ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง 9/11 เป็นการเคลื่อนไหว และถูกอธิบายผ่านหนังสือ "วารสารทางนำ" เป็นหนังสือพิมพ์ของมุสลิมที่ออกมายุคหนึ่งมีงานเขียนที่เผยแพร่อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยหรืออำนาจรัฐโดยตรงเท่าไร หยิบยกแต่กรณีต่างประเทศมาเท่านั้น เพราะตอนนั้นยังกลัว คนมุสลิมไม่กล้าพูดถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองไทยโดยตรงเท่าไร เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อตัวเอง แม้งานเขียนเรื่องการปกครองในระบบอิสลามเองก็แทบจะไม่มีอยู่ในตรงนี้ แต่ปัจจุบันนั้นมีมากขึ้น ส่วนที่ต้องการเน้นคือ การพิจารณารุ่นที่ 3 ที่เรียกว่า "อิสลามานุวัตร" (Islamization) ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2544 (เหตุการณ์ 9/11) จนถึงปัจจุบัน ทำให้งานเขียนของปัญญาชนมุสลิมถูกผลิตออกมามากขึ้น พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย พูดถึงอำนาจรัฐมากขึ้น การพิจารณาปัญญาชนมุสลิมรุ่น 3 มองผ่านการก่อตัวของระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัญญาชนมุสลิมเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น กลุ่มรุ่นที่ 3 ไม่ได้เรียนเรื่องศาสนาโดยตรง เช่น ผ่านจากโรงเรียนสาธิต โรงเรียนมัธยมทั่วไปและผ่านเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มรุ่นนี้เขียนการเมือง ประชาธิปไตยในอิสลามมากกว่าคนที่ศึกษาศาสนาอย่างเดียว ปัญญาชนมุสลิมหากจะแบ่งก็สามารถแบ่งได้อีก 2 พวกคือพวกที่ศึกษาศาสนาอย่างเดียวก็เป็นโต๊ะครูไป สายที่ 2 ศึกษาเรื่องสามัญอย่างเดียว ศึกษาเรื่องทางโลกอย่างเดียว แต่รุ่นที่ 3 มีความสำคัญมาก ผ่านการศึกษาทั้งศาสนาและสามัญด้วย รวมทั้งหาความรู้ด้านศาสนามากขึ้น ดังนั้นงานเขียนของกลุ่มที่ 3 นี้ จึงพบเห็นได้มาก ในที่นี้จึงนำมาเสนอโดยพิจารณางาน 16 ชิ้น ที่มาจากโครงการคนหนุ่มสาวกับมุสลิมในโลกสมัยใหม่ ที่รวบรวมนักวิชาการมุสลิม16 คนที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นงานเขียนที่ตรงที่สุด ซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่กำลังจะเผยแพร่ งานเขียน 16 ชิ้นนี้พูดถึงโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ สมัยนิยม การสร้างความรู้ในโลกอิสลาม พลวัตรการศึกษา จนถึงประชาธิปไตย ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ 9/11 พบว่าในมหาวิทยาลัยไทย มีสถาบันที่ศึกษาเรื่องอิสลามอยู่มาก เช่น การพัฒนาจากวิทยาลัยอิสลามยะลา จนเป็นปาตอนียูนิเวอซิตี้ อยู่ที่ปัตตานี มีวิทยาลัยอิสลามอยู่ที่ มอ.ปัตานี มีศูนย์มุสลิมศึกษาอยู่ที่สถาบันเอเชียศึกษา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการจัดตั้งอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ มีสาขาที่เปิดย่อยๆ ที่ราชภัฏใน กทม. ฯลฯ การเกิดขึ้นของศูนย์ต่างๆ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็มีการพูดถึงประชาธิปไตยกันมากขึ้น มโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรอง จากงานเขียน 16 ชิ้นนั้น พบมโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรองของความเป็นมุสลิมในสังคมไทย ทั้ง 16 บทความ พูดถึง 2 แนวทาง แนวทางแรกพูดถึงกระแสฟื้นฟูหรือกระแสอิสลามบริสุทธิ์ พยายามเอาแนวความคิดอิสลามดั้งเดิมเข้ามาในสังคมไทย กับอีกแนวทางคือ เกิดการตีความศาสนาอิสลามมากขึ้น เช่น งานของ อ.สราวุฒิ อารี ที่พูดถึงอิสลามกับแนวความคิดทางโลกหรือ "secular" เพื่อเรียกร้องให้สังคมมุสลิมมีการตีความมากขึ้นเนื่องจากการมีปัญหาใหม่ๆ มามากขึ้น สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เวลาพูดถึงประชาธิปไตย มุสลิมไทยจากงานเขียนเหล่านั้นมองเป็น 2 อย่าง
มีการอภิปรายกันมากในเหล่าปัญญาชนมุสลิมว่าจะเอาอย่างไรกับประชาธิปไตย นำเอาแนวคิดเรื่องของประชาธิปไตยมาเป็นข้อถกเถียง ซึ่งส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นการจัดงานสัมมนา ประการต่อมา งานเขียนใน 16 ชิ้นที่วิเคราะห์ พบว่ามีหลายชิ้นที่อธิบายเรื่องอัตลักษณ์ของมุสลิมกับขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย เช่นงานเขียนของอาจารย์คนหนึ่งที่ขอนแก่น เขียนถึงมุสลิมในอีสาน ที่มีการต่อรองเรื่องอัตตลักษณ์ มีการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของมุสลิมในอีสาน เป็นต้น งานเขียนบางส่วนพยายามเสนอหลักการประชาธิปไตยในโลกอิสลาม พยายามจะเสนอระบบวิธีคิดแบบใหม่ที่เรียกว่า ชูรอ หรือการเลือกตั้งในอิสามขึ้นมาเพื่อจะเติมเต็มไม่ให้ขัดหลักการ เป็นการอธิบายว่าใช้หลักการบางอย่างที่มากกว่าการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับประชาธิปไตยอย่างสนิทใจ แต่เป็นเวทีเสนออัตลักษณ์ เลี่ยงความรุนแรง จากงานเขียน 16 ชิ้น ชี้ให้เห็นว่าปัญญาชนมัสลิมไทยมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับอย่างสนิทใจกับระบบประชาธิปไตย แต่ก็แสดงออกมาว่าประชาธิปไตยสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเวทีที่ยอมรับให้สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรง เป็นช่องทางที่สามารถเสนออัตลักษณ์ทางการเมืองของตัวได้ ปัญญาชนมุสลิมมีงานเขียนที่เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยเข้าใจอัตลักษณ์ของมุสลิม แต่ก็มีความอิหลักอิเหลื่อพอสมควรเนื่องจากภาพลักษณ์ที่อาศัยราชสำนักมาตลอด แม้จะมีกรณีของแช่ม พรหมยงค์ ที่เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่หลังจากนั้นไม่มีผู้นำมุสลิมที่แตกออกจากราชสำนัก มีแต่สายประณีประนอมตลอดมา พิจารณาปัญญาชนมุสลิมในประเทศไทย จาก 3 รุ่น จะพบว่า โดยเนื้อหา ปัญญาชนมุสลิมรุ่นที่ 1 มีความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวมากกว่ารุ่นถัดมา ทั้งรุ่น 2 และ 3 ปัญญาชนมุสลิมไทยไม่ค่อยแคร์ประชาธิปไตย ท้ายที่สุด จะเห็นว่าการเมืองอัตลักษณ์ของมุสลิมไม่มีแนวโน้มที่เป็นอุปสรรคกับปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็พูดได้อีกทางหนึ่งว่าปัญญาชนมุสลิมไทยไม่ค่อยแคร์ประชาธิปไตย อย่างเช่นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 กลับพบว่า ปัญญาชนมุสลิมนิ่งเฉย ไม่ได้พูดอะไร งานที่ศึกษาทั้งหมด 16 ชิ้นซึ่งเป็นผลผลิตของปัญญาชนมุสลิมในรุ่นที่ 3 นั้นมองว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน มีการพูดถึง Islamization มีชุดความคิดที่สำคัญในการนำมาอธิบาย อย่างเช่นเรื่องของการเมืองการปกครอง เรื่องเศรษฐกิจ โดยใช้พื้นที่เหล่านี้และตีความให้เข้ากับ Islamization มากขึ้น ดังนั้นปัญญาชนยุค 3 เน้นเรื่องของ Islamization พูดถึงอิสลามกับประชาธิปไตยมากขึ้น โดยพยายามพูดถึงการใช้อำนาจในการออกแบบระบบการเมืองการปกครองมากขึ้น 000 วิจารณ์โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ร่วมวิจารณ์โดยตั้งข้อสังเกตการนำเสนอของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ "วิหารไม่ว่างเปล่า : ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาหัวก้าวหน้า หลัง 14 ตุลา 2516 (พ.ศ.2516-2541)" และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ "โลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิม หลัง 14 ตุลา 16" ว่าการพูดถึง 2 เรื่องนี้ในการครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือในโอกาสหลัง 14 ตุลา มีความน่าสนใจเนื่องจากเวลาพูดถึงหลัง 14 ตุลา ความหมายที่มันควรจะเป็นคือมันเป็นเรื่องของการแบ่งยุค หลัง 14 ตุลา มันควรจะมีอะไรที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงบ้าง แต่เมื่ออ่านงานเขียน 2 ชิ้นนี้พบว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา แทบจะไม่ได้ส่งผลกับสิ่งที่งานทั้ง 2 ชิ้นนี้ที่กำลังพูดเกี่ยวกับปัญญาชนพุทธหรือโลกทัศน์อิสลามเลย มันแสดงให้เห็นว่า มีหลายปริมณฑลมากที่ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลา 14 ตุลา แทบไม่มีความหมายหากมองผ่านเลนส์ศาสนา ในทางกลับกันแปลได้หรือไม่ว่ามีการให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา มากเกินไปแล้ว เกิดขึ้นเพราะเรามองเหตุการณ์ผ่านเลนส์ประวัติศาสตร์การเมือง ถ้าเรามองเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านเลนส์เรื่องศาสนาอย่าง 2 บทความนี้ 14 ตุลา แทบไม่ได้ทำให้ศาสนาเปลี่ยนแปลงเลย ในแง่หนึ่งการพูดเรื่อง 14 ตุลา มีลักษณะของการประเมินค่า 14 ตุลาสูงเกินความจริงมาก งาน 2 ชิ้นนี้มีวิธีการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน เรื่องพุทธศาสนา นั้นพยายามศึกษาผ่านคนที่เป็นไอคอนทางศาสนา เป็นประกาศก เป็นศาสดา หน้าใหม่ๆในวงการพุทธศาสนารุ่นต่างๆ และดูว่าประกาศกแต่ละคนนั้นมีลักษณะจัดตั้งองค์กรทางสังคมของเขาอย่างไร มีการปะทะกันอย่างไรบ้าง คิดว่าสิ่งที่บทความนี้ชี้คือบรรดาประกาศกและองค์กรต่างๆของพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาราชาชาตินิยมมาโดยตลอด คำถามคือจริงหรือไม่ แต่ดูจากงานชิ้นนี้จะเห็นทุกองค์กรได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาราชาชาตินิยม ไม่ว่าประกาศกคนไหนขึ้นมาทุกคนเป็นแค่ร่างทรงของพุทธศาสนาราชาชาตินิยมเท่าๆกันหมด ความเข้มข้นจริงๆแล้วมันมีเฉดของมันหรือไม่ ความเป็นจริงมันเข้มข้นมากน้อยกว่ากันหรือไม่ ซึ่งคิดว่ามันมีความละเอียดอ่อนซึ่งอยากจะเห็นในการอธิบายเรื่องแบบนี้มากขึ้น ประเด็นต่อมาคือ บรรดาประกาศกของพุทธศาสนาไม่ว่าจะเปลี่ยนรุ่นไปแต่ไม่ได้ทำให้มีการท้าทายอุดมการณ์พุทธศาสนาแบบราชาชาตินิยม อะไรที่ทำให้องค์กรพุทธศาสนาใหม่ๆในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำอุดมการณ์ดังกล่าว การขยายตัวของตลาดกับการบริโภคของชนชั้นกลาง บทความของภิญญพันธ์ที่พูดถึงการขยายตัวของตลาด เอาลักษณะดังกล่าวมาวิเคราะห์การแพร่ระบาดของสินค้าหรือหนังสือ รายการทีวี ถือว่างานชิ้นนี้ทำได้ดี แต่คิดว่ามีบางด้านที่ไม่แน่ใจคือการสรุปว่าการแพร่ระบาดของสินค้าเหล่านี้เช่น เทปพระพยอม รายการทีวี ฯลฯ นั้น ทำให้เข้าถึงคนชั้นกลางมากขึ้น คิดว่าเป็นข้อสรุปที่เร็วเกินไปหรือไม่ คิดว่าสินค้าเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้ถูกบริโภคโดยชนชั้นกลางอย่างเดียว แต่ถูกบริโภคโดยชนชั้นล่างด้วย เรื่องแบบนี้อยากจะให้ศึกษาละเอียดมากขึ้นว่าตลาดกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมันทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร บทความนี้อาจจะวิจารณ์เรื่องที่พูดถึงพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลาง โดยที่กำลังจะบอกว่าพุทธศาสนามีปัญหาเพราะชนชั้นกลาง หรือไม่ หรือพุทธศาสนาของชนชั้นล่างอาจมีปัญหาด้วย หรือพุทธศาสนาของชนชั้นสูงอาจจะสามานย์แบบชนชั้นกลางหรือเปล่า เวลาฟังแล้วทำให้รู้สึกว่าพุทธศาสนามีปัญหาเพราะการบริโภคของชนชั้นกลาง เป็นไปได้หรือเปล่าที่เราอยู่ในยุคของการทำให้ชนชั้นกลางเป็นแพะรับบาป จนทำให้เราไม่เข้าใจอะไรมากพอ คิดว่าจุดที่แหลมคมที่สุดของบทความนี้ที่น่าจะได้รับการขยายความต่อคือการพยายามจะชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาจาก 3 ขบวนการใหญ่ คือ ธรรมกาย สันติอโศก และสวนโมกข์ กับ อนันต์ เสนาขันธ์ กับ วชิรญาณภิกขุ มีลักษณะหรือความสืบเนื่องอะไรบางอย่างนั้น คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ จุดที่ประทับใจคือ หลัง 14 ตุลา พุทธศาสนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย บทความปัญญาชนมุสลิม ทำตรงกันข้ามกับอีกบทความปัญญาชนพุทศาสนา ประการเด็นแรก คือบทความนี้ไม่ได้สนใจเรื่องของประกาศกของศาสนาอิสลาม และไม่สนใจว่าองค์กรศาสนาคิดเรื่องอะไร สิ่งที่บทความนี้สนใจคือปัญญาชนสมัยใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่นับถือศาสนาอิสลาม การบอกว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของปัญญาชนทางศาสนามันครบถ้วนหรือไม่ เมื่อเทียบกับปัญญาชนผู้นำศาสนาอย่างโต๊ะครู อิหม่าม หรือสื่งพิมพ์ทางศาสนา ซึ่งคิดว่ามันมีช่องว่างอยู่ ประเด็นที่ 2 บทความเรื่องพทุธศาสนาพูดถึงชนชั้นกลางจำนวนมาก และพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาก แต่บทความอิสลามนี้ไม่พูดเรื่องนี้เลย ทำให้เห็นว่าศาสนาอิสลามในบทความนี้มองอิสลามเป็นระบบที่ปิดมาก แทบไม่ถูกคนกลุ่มไหนเข้าไปแตะ น่าสนใจว่าจริงหรือไม่ และอะไรที่ทำให้อิสลามถูกปกป้องได้จากชนชั้นกลางหรืออุดมการณ์หลักของชาติ ด้านหนึ่งมันทำให้เห็นความเข้มแข็งของอิสลามเมือเทียบกับพุทธ 14 ตุลา ไม่มีผลกระเทือนกับศาสนา สิ่งที่คล้ายกัน คือบทความนี้แสดงให้เห็นว่า14 ตุลา ไม่มีผลอะไรกับปัญญาชนอิสลามเช่นกัน จุดแข็งของบทความอิสลามคือ การให้เห็นการพยายามต่อรองต่อสู้กันระหว่างปัญญาชนแนวครูสอนศาสนาที่เข้าถึงมวลชน กับปัญญาชนสมัยใหม่ที่อยู่ตามมหาวิทยาลัย มีการพูดถึงชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ให้ลากเส้นแบ่งระหว่าง อิสลามศึกษากับมุสลิมศึกษา ที่ให้การศึกษาอยู่ในมือของปัญญาชนสมัยใหม่มากขึ้น เป็นด้านเด่นของบทความนี้และน่าจะมีการทำต่อ ศาสนาที่ถูกบีบด้วยคุณค่าประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์ ปัญญาชนอิสลามเจอกับปัญหาคลายกับปัญญาชนพุทธ ที่ถูกบีบ ด้วยคุณค่าแบบสมัยใหม่เรื่องประชาธิปไตยและความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าพุทธหรืออิสลามต้องเป็นเป็นวิทยาศาสตร์ต้องเป็นประชาธิปไตย การมอง 14 ตุลา นอกรั้วมหาวิทยาลัย บทความสะท้อนความไม่พอเพียงของการมอง 14 ตุลา ผ่านการเมือง ถ้ามองผ่านอย่างอื่น 14 ตุลา อาจไม่สำคัญมากนักก็ได้ สองคือการศึกษา 14 ตุลา ผ่านปัญญาชนในมหาวิทยาลัยนั้นมันไม่พอ จากที่ผ่านมาศึกษา 14 ตุลา ผ่าน นักวิชาการปัญญาชนในยุคนนั้นเขียนอะไร กลายเป็น 14 ตุลา ที่เราศึกษาและผลิตซ้ำเป็นเรื่องของคนที่อยู่มหาวิทยาลัย ทำให้เราไม่เห็นคนนอกวงมหาวิทยาลัยคิดอย่างไร การโฟกัส ไปที่ปัญญาชน ทำราวกับว่ามวลชนแต่ละศาสนารับความคิดของแต่ละคน คิดว่ามุมมองแบบนี้จะถูกหรือไม่ ทำให้เรามองไม่เห็นรอยแยกหรือความไม่ลงรอยระหว่างปัญญาชนกับมวลชน และทำให้เราประเมินความสำคัญของศาสนามากกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเวลาที่ปัญญาชนนำเสนอความคิดคนที่อยู่ในแต่ละศาสนาเขาเชื่อจริงๆหรือเลือกเชื่อเฉพาะที่เขาพอใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักว่าไม่ควรประเมินมากเกินไป โจทย์ของปัญญาชนศาสนากับศักยภาพในการจรรโลงสังคม ไม่มีอะไรน่าตืนเต้นที่ปัญญาชนของทั้ง 2 ศาสนาไม่ท้าทายสังคม เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างส่วนบนการที่ศาสนาจรรโลงสังคมเป็นเรื่องปกติ การคาดหวังให้ปัญญาชนของศาสนาท้าทายสังคมต่างหากเป็นเรื่องประหลาด คิดว่าคำถามสำคัญคือปัญญาชนศาสนามีศักยภาพที่จะจรรโลงสังคมต่อไปอีกนานแค่ไหนมากกว่า โจทย์มันคนละชุด ปัญญาชนศาสนาแบบก่อนสมัยใหม่ ถ้าอ่านจากงานทั้ง 2 ชิ้น และเมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม คิดว่าปัญญาชนศาสนามีศักยภาพที่จะจรรโลงสังคมต่อไปอีกไม่นาน จากความพยายามทำให้ศาสนามีความเป็นสมัยใหม่หรือมีเหตุผล ซึ่งจากบทความพุทธศาสนานั้นแสดงให้เห็นว่าปัญญาชนพุทธศาสนาไม่มีความลึกซึ้งทางภูมิปัญญาในการอธิบายสังคมสมัยใหม่ ในระยะยาวแล้วทำให้ความสามารถในการผลิตซ้ำศาสนาที่เป็นอยู่ยากขึ้น แต่โจทย์แบบนี้มีตัวช่วยคือการสร้างมวลชนของศาสนาโดยพื้นฐานไม่ได้มาจากเหตุผล ดังนั้นปัญญาชนของศาสนามีลักษณะที่ไม่สมัยใหม่ หรือไม่มีเหตุผล แต่ถึงจุดหนึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของคนที่เชื่อเรื่องศาสนา ความไร้เหตุผลเป็นพลังของศาสนา ความเป็นปัญญาชนที่ไม่สามารถตอบปัญหาอะไรอย่างจริงจังได้นั้นคือหัวใจของปัญญาชนแบบพุทธในสังคมไทย ศาสนาในสังคมไทย ไม่ได้เป็นแบบเทววิทยาแบบตะวันตก ดังนั้นการอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนจึงต่ำ เกณฑ์ในการรับคนในวงการศาสนาต่ำ เพราะฉะนั้นโอกาสในการทำให้เป็นสมัยใหม่ของศาสนาจึงต่ำลงไปด้วย ในที่สุดฐานที่มั่นของศาสนาในสังคมไทยคือการเป็นทางออกของคนที่ปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ไม่ได้ เวลาคนค้าขายในโลกสมัยใหม่ล้มเหลว ไม่มีใครไปบอกว่าโง่หรือหากินไม่เก่ง ทุกคนจะบอกว่าดีเกินไปถูกคนอื่นเอาเปรียบ ธรรมชาติของศาสนาในโลกสมัยใหม่คือเรื่องแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกดีในเวลาที่เราแพ้ในโลกสมัยใหม่ อธิบายโลกสมัยใหม่ในแบบที่ไม่อธิบายอะไร
หมายเหตุ การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
คุกคามน่ะไม่เท่าไหร่ แต่เศร้าใจเรื่องอื่นมากกว่า Posted: 05 Oct 2013 08:00 AM PDT
บ่ายวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีถูกคุกคามจากการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ต่อท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม และผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้อนรับดิฉันและกลุ่มผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็กๆที่ติดตามไปทำข่าวอย่างดี การพูดคุยสั้นๆเต็มไปด้วยมิตรภาพ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจารย์โรมรับว่าจะนำเรื่องไปตรวจสอบและจะแจ้งให้ทราบผล ในหนังสือร้องเรียน ดิฉันขอให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบการกระทำคุกคามที่มีต่อดิฉันซึ่งกำลังทำหน้าที่ ขอให้ชี้แจงให้ผู้กระทำทราบถึงการกระทำหน้าที่โดยสุจริตของดิฉัน ขอการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางมหาวิทยาลัยว่าจะไม่เกิดพฤติกรรมเช่นนี้อีกในสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้ นอกจากนี้ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจสอบคุณภาพการแปลของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้แนบเอกสารเป็นหลักฐานบางส่วน แจ้งว่าพร้อมจะส่งมอบเอกสารเพิ่มเติมหากมหาวิทยาลัยต้องการ เรื่องคุกคามการทำหน้าที่นั้นส่วนหนึ่ง แต่เรื่องที่ดิฉันเศร้าใจกว่านั้นคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาไทย ดิฉันเป็นนักข่าวธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใหญ่โตใด แต่เชื่อว่าตนเองได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาตลอด25ปี ปัจจุบันนอกจากเป็นผู้สื่อข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ และสถานีวิทยุ ตลอดจนมีรายการวิทยุวิเคราะห์ข่าวของตนเองแล้ว ดิฉันเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวAsia Callingซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้สื่อข่าวกระจายในประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย โดยดิฉันเป็นผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย มีหน้าที่รายงานข่าวเพื่อเผยแพร่ในประเทศต่างๆในเอเชีย นอกจากนั้นดิฉันมีหน้าที่ดัดแปลงบทรายการวิทยุและโทรทัศน์ของสำนักข่าวAsia Calling ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วส่งมาออกอากาศทางสถานีวิทยุFM100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นบทความสั้นเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ด้วยภารกิจดังกล่าวทำให้ต้องอ่านและตรวจทานบทแปลภาษาไทยทุก2สัปดาห์ ต่อเนื่องมากว่า1ปี พบว่ามีการแปลผิดความหมายโดยต่อเนื่อง บางจุดเป็นการแปลที่ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง สร้างความกังวลแก่ดิฉันว่าผู้รับสารจะได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ดิฉันได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือเจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิทยุFM100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายครั้งว่ามีการแปลผิด เจ้าหน้าที่แจ้งว่าการแปลเป็นหน้าที่ของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และว่าได้แจ้งปัญหาที่พบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแปลทราบแล้ว เจ้าหน้าที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งว่าผู้บริหารได้ตรวจทานแล้ว ดิฉันจึงยุติการทักท้วง อย่างไรก็ตามยังพบการแปลผิดเรื่อยมา สร้างความกังวลต่อคุณภาพของงานที่ดิฉันมีส่วนรับผิดชอบ ตัวอย่างที่ดิฉันพบมีมากมาย แต่ในนาทีนี้เท่าที่ดิฉันจำได้และพอจะแบ่งปันกันคือ (ท่านใดต้องการหลักฐานแจ้งมาได้ค่ะ) Political Scientist ซึ่งควรจะแปลว่านักรัฐศาสตร์ แต่ในเอกสารการแปลที่ดิฉันมีโอกาสได้อ่าน แปลว่า"นักวิทยาศาสตร์การเมือง" He appeals to the court .ซึ่งน่าจะแปลว่าเขายื่นอุทธรณ์ต่อศาล (บริบทก่อนหน้าคือเขาถูกตัดสินมีความผิดจากศาลชั้นต้น) ถูกแปลว่า"เขามีความชื่นชมยินดีต่อศาล" และ There's no room for modern artists in Myanmar. ซึ่งควรจะแปลว่าไม่มีพื้นที่(สำหรับการแสงออก)สำหรับศิลปินสมัยใหม่ในพม่า แต่ถูกแปลว่า"ไม่มีห้องสำหรับศิลปินสมัยใหม่ในพม่า" สำหรับบางอัน อย่างเช่นข้อความนี้ดิฉันถือว่าเล็กน้อยจริงๆ ท่านจะเห็นว่าเล็กน้อยด้วยหรือไม่? South Korea "debates" the use of renewable and nuclear energy... ถูกแปลว่า "แถลงการณ์"ทางเลือกพลังงานทดแทนและพลังงานนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ ล่าสุดเมื่อ2ตุลาคม 2556 ยังพบการแปลผิดในบทภาษาไทยชิ้นล่าสุด ที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่งมา และได้อีเมล์แจ้งเจ้าหน้าที่สถานีFM100 กับได้สำเนาส่งไปยังสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่ามีการแปลผิดหลายจุด เจ้าหน้าที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอีเมล์ถามกลับมาว่า ขอทราบว่าผิดตรงไหน เพื่อจะสามารถปรุงแก้ไขได้ต่อไป (กรุณาอ่านสำเนาอีเมล์) ดิฉันได้แจ้งกลับไปด้วยอีเมล์2ฉบับ (กรุณาอ่านสำเนาอีเมล์) พร้อมกับแจ้งจุดที่ว่าแปลผิด ด้วยเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่อีเมล์มาว่า ต้องการทราบเพื่อนำไปปรับปรุง พร้อมกันนี้ดิฉันได้มอบหมายเลขโทรศัพท์มือถือไว้ในอีเมล์เพื่อการติดต่อ และแจ้งว่าพร้อมจะพบปะเพื่อพูดคุยหาทางพัฒนางานให้ดีขึ้น หลังส่งอีเมล์2ฉบับประมาณครึ่งชั่วโมง ประมาณ 17.56 นาฬิกา วันที่ 2 ตุลาคม 2556 สุภาพบุรุษท่านหนึ่งแจ้งว่าตนเองชื่ออาจารย์เหรียญ เป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โทรเข้ามือถือดิฉัน (สำเนาบันทึกบทสนทนาทางโทรศัพท์) แสดงความไม่พอใจที่ดิฉันทักท้วงการแปล โดยได้สอบถามว่ามีหน้าที่อะไรจึงไปตรวจสอบงานแปลของตน และดิฉันมีความรู้ภาษาอังกฤษดีเพียงไหน กับได้สอบถามความรู้ของดิฉันในแต่ละขั้นว่าจบอะไร และว่าอีเมล์ของดิฉันเป็นการใช้ภาษาที่ไม่สำรวม ไม่มีจรรยาบรรณ และกล่าวว่าที่ดิฉันบอกว่าสงสารคนรับสารนั้นได้เคยทำวิจัยหรือไม่ว่ามีคนสนใจฟังและชื่นชอบรายการวิทยุของ Asia Calling ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ มากเพียงใด ทั้งที่ดิฉันตรวจสอบเฉพาะบทภาษาไทยที่จะต้องนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเท่านั้น มิได้เคยทักท้วงรายการของสถานีวิทยุFM100 เสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่อย่างใด ในบทสนทนาดิฉันพยายามร้องขอให้อาจารย์ท่านนั้นดูเอกสารในบางจุด เพราะจะได้ชี้แจงว่ามีการแปลผิดจริง แต่ท่านปฏิเสธที่จะดู และจบท้ายบทสนทนาว่า "ผมขอด่าคุณกรรณิกาแค่นี้ก่อน นะ สวัสดีครับ" ข้อความที่ดิฉันเรียกร้องให้ท่านดู คือ The government has withdrawn the army and lifted the curfew in the areas affected by the rioting. ซึ่งถูกแปลว่า รัฐบาลได้ส่งกองกำลังทหารออกมาและกำหนดเคอร์ฟิวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการจราจล และ In the Muzaffar Nagar district, the epicenter of the riots, 65-year-old Narender Singh is still struggling to cope with the loss of his son Virender. ซึ่งถูกแปลว่า ณ อำเภอมุสาฟฟา เนการ์ ผู้นำการจลาจลวัย 65 ปี ชื่อ นาเรนเดอ สิงห์ กำลังพยายามทำใจรับมือกับความทุกข์ต้องที่สูญเสียลูกชายชื่อ ไวเรนเดอ ไป และ The trigger for the recent riots was a local fight over the alleged harassment of a Hindu girl that led to the killing of a Muslim man. ซึ่งถูกแปลว่า ต้นเหตุของการจลาจล คือการต่อสู้กันของคนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากการที่สาวชาวฮินดูก่อเหตุร่วมกันฆ่าชายชาวมุสลิม จากบทสนทนาทางโทรศัพท์ ดิฉันเห็นว่าแม้ไม่ได้กล่าวคำหยาบคาย แต่ถ้อยคำนั้นแสดงอาการส่อเสียด คุกคาม ต่อการทำหน้าที่ของดิฉันในฐานะสื่อสารมวลชน จึงเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรสื่อเท่าที่ดิฉันจะพอมีแรงและเวลาไปถึง นั่นเป็นเรื่องที่ดิฉันจะต้องต่อสู้ด้วยตนเองต่อไป แต่ที่ดิฉันกังวลมากกว่านั้นคือ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าการแปลของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีปัญหาจริงดังที่ดิฉันพยายามจะส่งสัญญาณและร้องขอการแก้ไขมาตลอด และหากมีปัญหาจริง เราจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เพราะแม้เพียงเสนอแนวคิดไปยังต้องประสบชะตากรรมดังที่ดิฉันประสบมา เราแตะต้องระบบการศึกษาซึ่งมาจากภาษีของเราไม่ได้เลยแม้แต่น้อยเลยหรือ? ดิฉันเข้าใจว่าการแปลเป็นการทำงานข้ามพรมแดนทางภาษา มันอาจมีจุดบกพร่องผิดพลาดได้ ความผิดพลาดนั้นเป็นปกติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่เราถ้าไม่ยอมรับว่าเราต่างอาจมีจุดบกพร่อง เราต่างอ่อนแอ เราจะไปให้ไกลกว่านี้กันได้อย่างไร? ดิฉันให้เกียรติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเหตุการณ์และข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงจะไม่ขอวิพากษ์การแปลของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในที่นี้ ขอให้ท่านผู้อ่าน นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ นักศึกษา นักเรียน สื่อมวลชนทุกท่านใช้วิจารณญาณและสติปัญญาของท่านเอง ตัวอย่างนี้มาจากเอกสารจริง และมาจากเอกสารเพียง9หน้าจากจำนวน40หน้าของสคริปต์1ชุด ยังมีสคริปต์อีกหลายสิบชุดที่ส่งต่อเนื่องกันมาในระยะ1ปี ที่พร้อมจะแสดงต่อผู้เกี่ยวข้อง กระทั่งสาธารณชน เพื่อให้ร่วมรับรู้ และร่วมพิจารณาต่อไป ดิฉันจบบทความนี้ด้วยความเศร้าใจเหลือกำลัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: วิหารไม่ว่างเปล่า Posted: 05 Oct 2013 03:58 AM PDT วิหารไม่ว่างเปล่า : ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาหัวก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาคม 2516 (พ.ศ.2516-2541) นำเสนอโดยภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ วิพากษ์การดำรงอยู่ของพุทธแบบอีแอบในการเมืองไทย 000 เมื่อถึงวาระรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลากรอบคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะพูดถึงปัจจัยต่างๆ โดยไม่มีกรอบของศาสนาว่าสัมพันธ์กับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร หากพูดถึงศาสนาก็จะมีภาพจำอยู่บ้าง เช่น เณรถนอม, พระกิตติวุฑโฒแต่หลังจากนั้นพุทธศาสนาก็หายไปจากการวิเคราะห์ และคนมักมองข้ามบทบาทของศาสนาในสังคมไทย หากย้อนดูสภาพสังคมไทย จะเห็นว่าวาทกรรมทางการเมืองต่างๆ จะมีสิ่งที่ปะติดปะต่อกันอยู่ ในเรื่องของความดี ความเลว เผด็จการโดยธรรม พรรคเทพพรรคมาร ฯลฯ ซึ่งเป็นการกำกับโดยไวยากรณ์ทางศาสนาทั้งสิ้น ชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาสัมพันธ์กับสังคมการเมืองตลอดเวลา งานนี้ศึกษาว่า ศาสนาพุทธดำรงอยู่อย่างไรในสังคมการเมืองไทย โดยสิ่งที่จะศึกษามี 3 เรื่องคือ พุทธทาส สันติอโศก และธรรมกาย และจำกัดกรอบเวลาในช่วงปี 2516-2541 อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นส่วนอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมร่วมสมัยผ่านหน้าสื่อด้วย เช่น เรื่องสังฆราช, เณรคำ, ว.วชิรเมธี, พระเกษม พระเหล่านี้ล้วนมีผลกับวัฒนธรรมการเมืองในสังคมไทยแต่ไม่ถูกคิดเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลง หัวข้อจะคุย คือ 1.พุทธศาสนา-ราชาชาตินิยม เนื่องจากพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ลอยๆ แต่เกี่ยวพันกับการเมือง พุทธศาสนามักอยู่ด้านหลังการเมือง หรืออาจเรียกว่าเป็น'การเมืองแบบอีแอบ' ศาสนาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา ชัดเจนมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีการออกกฎหมายควบคุมสงฆ์อย่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รศ.112 และต่อมามีการจัดทำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นการแก้กฎหมายให้คณะสงฆ์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการเกิดวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ) เกิดสภาสงฆ์ (ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 อำนาจเช่นกัน บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ) ระหว่างนี้รัฐบาล โดยเฉพาะสมัย จอมพลป. ก็ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลง ขณะเดียวกันสมัยสฤษดิ์ก็ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนา และสถาบันกษัตริย์มากขึ้น และพุทธศาสนาก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตัวอย่างสำคัญคือ บทบาทของพระพิมลธรรม ซึ่งเคยไปสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่นักโทษคดีกบฏสันติภาพปี 2495 ทำให้โดนรัฐเพ่งเล็งว่าเชื่อมโยงกับฝ่ายซ้าย แล้วถูกตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์กระทั่งถูกจับศึกในปี 2505 เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 2500 มีปัญหาความมั่นคงมากขึ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันสถาบันกษัตริย์กับพุทธศาสนาก็เชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น การที่ในหลวงสร้างพระพุทธรูป ภปร.ในปี 2508 สร้างพระเครื่องสมเด็จจิตรลดา ปี 2508-2513 พระราชทานแก่ทหารไว้เป็นเครื่องรางในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีความพยายามให้พุทธศาสนาไปได้กับประชาธิปไตยด้วย เนื่องจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้น แม้ยังไม่เจอว่ามีพระร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์14 ตุลาหรือไม่ แต่ในเชิง mass พลังพุทธศาสนาที่เกิดหลัง 14 ตุลาก็สะท้อนเหตุการณ์ช่วงนั้นด้วยเช่นกัน เช่น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีลานโพธิ์ วัดมหาธาตุข้างๆ นั้นเองก็มีพื้นที่พบปะของพระหัวหัวก้าวหน้าเรียก "ลานอโศก" นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์ให้พิมลธรรม ตลอดจนมีการเขียนบทความ บรรยายให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตย โดยมีจุดยืนให้คนมีศีลธรรม ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการเข้าทรงคาร์ล มาร์กซ์ ในการขอแนวทางการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ปรากฏบทบาทพระอย่างพระกิตติวุฑโฒ หรือแม้แต่พุทธทาสเองก็เคยไปบรรยายให้ลูกเสือชาวบ้านที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีฟัง เรียกได้ว่าเข้ามาสัมพันธ์กับรัฐอย่างใกล้ชิด เป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างความมั่นคง หลังการรัฐประหาร 6 ตุลา 19 สิ่งพิมพ์แนวคิดทางการเมืองกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ขณะที่แนวคิดทางพุทธศาสตร์ได้รับการเผยแพร่ สร้างสรรค์ ผลิตซ้ำเรื่อยๆ พระเครื่องที่เป็นพระเกจิก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ 2.จากราชาชาตินิยม จากพุทธศาสนาสู่ชนชั้นกลาง มีความพยายามยกระดับ ชาตินิยม กษัตริย์นิยม พร้อมๆ กันก็มีการผลิตสื่อธรรมะมากมายโดยผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ มีเทปคำสอน หนังสือธรรมมะของพระรูปต่างๆ ฯลฯ ซึ่งชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการจัดระเบียบพุทธศาสนา เช่นกรณีพระอนันต์ ชยานันโท (อนันต์ เสนาขันธ์) อดีตตำรวจนักเปิดโปงคอรัปชั่นได้ทำการเปิดโปงอาณาจักรบุปผาซึ่งเป็นลัทธิพิธีที่มีทั้งพุทธและคริสต์ว่างมงาย เป็นภัยความมั่นคง เจ้าสำนักมีความเป็นลูกจีน ฯลฯ นั่นเป็นตัวอย่างให้เห็นการกำจัดพระนอกรีต เป็นการสถาปนาอำนาจนำของนักคิดพุทธศาสนาชนชั้นกลาง นักคิดชนชั้นกลางที่ดูไร้ความเป็นการเมือง มีประสบการณ์จากตะวันตก พยายามนิยามพุทธศาสนาแบบก้าวหน้าว่า ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลแบบฝรั่ง ตัวอย่างผู้มีบทบาทคือ พระประยุทธ์ ปยุตโต, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เสถียรพงษ์ วรรปก, ประเวศ วะสี นอกจากนี้ภัยทางคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว แต่พุทธศาสนายังต้องการยอมรับจากตะวันตก โดยพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมีปมเรื่องความทันสมัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทที่โลกตะวันตกแสวงหาจิตวิญญาโลกตะวันออกด้วย 3. สามสำนัก พุทธศาสนาหัวก้าวหน้า ขอหยิบยกหนังสือ "สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก" ซึ่งเป็นการรวมบทความของประเวศ วะสี เขียนในนิตยสารหมอชาวบ้าน โดยพยายามอธิบายพุทธศาสนาสามสำนักที่ประเวศเห็นว่าสำคัญกับการเปลี่ยแปลงสังคมไทย ประวัติศาสตร์โดยย่อของ 3 สำนักนี้ ช่วงแรกพุทธทาสและสวนโมกข์หยั่งรากและยืนหยัดมากหลัง 6 ตุลา ในสายตาเราอาจเห็นสวนโมกข์เป็นวัดป่าและแหวกขนบโดยที่ให้พื้นที่กับฆารวาส (วัดป่าแบบเดิมไม่เน้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับมวลชน) ผ่านการบรรยายธรรมที่สดใหม่และอื่นๆ แต่ทราบหรือไม่ว่าสวนโมขก์สัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐ เช่น หลัง 6 ตุลา 2 ปี สวนโมกข์รับเสด็จพระสังฆราช พุทธทาสส่งเทปไปบรรยายธรรมทางวิทยุช่วงปี 2520-2524 เน้นการเรียกร้องศีลธรรมให้กลับมา สันติอโศก ถือว่าประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์ปี 2518 ซึ่งไม่เคยมีใครทำก่อน เป็นการปฏิเสธอำนาจรัฐโดยตรง แต่เป็นประเด็นจริงๆ ปี 2525 เมื่อสมณะโพธิรักษ์ออกทีวีบอกว่าบรรลุธรรม จากนั้นมีการโจมตีเขาอย่างมาก ส่วนธรรมกาย แตกต่างออกไปจากสองสำนักแรก เน้นสัมพันธ์กับลำดับชั้นของผู้ใหญ่เช่นการอ้างถึง หลวงปู่สด จันทสโร แห่งวัดปากน้ำฯ ลักษณะเด่นคือการสร้างมวลชนผ่านการจัดตั้ง และพยายามสร้างความสัมพันธ์กับราชสำนักแม้จะลดลงในช่วงหลัง โดยไม่ทราบเหตุผล ธรรมกายมีลักษณะเป็น mega church ที่สำคัญมากแต่เราอาจไม่เห็น 4.การสัประยุทธ์ระหว่างคณะสงฆ์ เกิดจากบริบทที่มีเรื่องอื้อฉาวของวงการสงฆ์มากขึ้นในทศวรรษ 2530 ขณะที่เศรษฐกิจก็บูมขึ้นมาก เกิดลัทธิเสด็จพ่อร.5 เจ้าแม่กวนอิม และมีการตรา พ.ร.บ.สงฆ์ปี 2535 ปี 2540 เป็นการกลับมาอีกครั้งของราชาชาตินิยมและพุทธศาสนาหลังฟองสบู่แตก มีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งปะทะโดยตรงกับสำนักธรรมกาย ธรรมกายคิดการใหญ่มาก่อนแล้วว่าจะสร้างมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ มีการระดมทุน คน มหาศาล มีการแสดงอัศจรรย์ต่างๆ และถูกโจมตีหนักว่า แปลงบุญเป็นสินค้า ถือครองที่ดินน่ากังขา ฯลฯ เหล่านี้เบียดขับให้ธรรมกายเป็นอื่นไปแต่ก็มีการตอบโต้จากฝั่งธรรมกายเช่นกัน เช่นหนังสือการเปิดโปงขบวนการล้มพุทธศาสนา โดยสรุป เรามักจะมองข้ามศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาว่ามีบทบาทกับเศรษฐกิจสังคมการเมืองไทยอย่างไร ยกตัวอย่างว่าวันที่10 ต.ค.นี้ ธรรมกายจะหล่อรูปหลวงปู่สดด้วยทองคำหนัก 1 ตัน มูลค่านับพันล้าน และเป็นองค์ที่ 7 แล้ว นอกจากนี้หลังจาก ปี 2541 ก็มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ สันติอโศกเข้าร่วม พธม. ดังนั้น พุทธศาสนาที่มีฐานอนุรักษ์นิยมได้สร้างความก้าวหน้า แต่ก็มีเพดานความคิดที่ไม่สามารถหนีจากการควบคุมของรัฐได้ มีนักวิชาการบางคนเสนอให้แยกรัฐกับศาสนา แต่กรณีของไทยค่อนข้างยาก เพราะมีความสัมพันธ์ฝังลึกและมีลักษณะเป็นอีแอบในการเมือง "พุทธศาสนาถูก depoliticized (ทำให้ไม่เกี่ยวกับการเมือง) มากไปแล้ว เราต้องมองพุทธศาสนาให้สัมพันธ์กับการเมืองและสังคมให้มากขึ้น"เจ้าของงานศึกษากล่าว
อ่านบทวิจารณ์โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา : ฝ่ายซ้าย-นักกิจกรรมไทย หลังยุคพคท. ทำไมหันหาแนวคิดอนุรักษ์นิยม Posted: 05 Oct 2013 12:20 AM PDT ธิกานต์ ศรีนารา ระบุ หลังพฤษภาคม 2535 กระแสประชาธิปไตยกลายเป็นแบบพุทธ ส่วนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ประนีประนอม ไม่ผลักตัวเองไปสู่เสรีนิยมสุดขั้ว อุเชนทร์ เชียงเสน วิเคราะห์ ปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ที่ไม่เคยจุดกระแสติด จนกระทั่งมีขบวนพันธมิตรฯ
ธิกานต์ ศรีนารา : การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่างพ.ศ.2524-2534 กระแสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ขึ้นสูงมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นแนวความคิดที่เน้นการวิจารณ์เจ้าและทหาร เมื่อ พคท.ล่มสลาย กระแสการวิจารณ์เจ้าก็หายไป ขณะที่ทหารก็บทบาทน้อยลงไม่ได้รับความสนใจ เหลือเพียงแต่กระแสวิจารณ์ทุนนิยม ฐานคิดแบบนี้เป็นฐานทางความคิดในการวิเคราะห์การเมืองตั้งแต่หลัง 2535 เรื่อยมา เราจะเห็นว่าหลัง 14 ตุลา กระแส พคท.เติบโตขึ้นและกีดกันเบียดขับกระแสความคิดอื่น หรือทำให้ความคิดอื่นเป็นเพียงแนวร่วม และครอบครองฐานะนำทางภูมิปัญญาฝ่ายค้านไปจนช่วงปี 2520 ซึ่งพคท.พังลง หลังจากนั้นก็มีกระแสคิด 7 กระแส ปรากฏขึ้นมา (2524-2534)ได้แก่ ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค ลัทธิตรอสกี้-เหมา ทฤษฎีพึ่งพา กระแสพุทธ กระแสวัฒนธรรมชุมชน และแนวคิดประชาธิปไตยรัฐสภา ทั้งหมดวางบนฐานต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านทหาร ต่อต้านลัทธิสตาลิน-เหมา สนับสนุนประชาธิปไตยรัฐสภา ที่หายไปคือกระแสวิจารณ์ศักดินานิยม ทั้งนี้ สำหรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ภายใต้กระแสคิดที่ พคท.ยังมีบทบาทสูงพร้อมนำเสนอทฤษฎี กึ่งเมือขึ้น กึ่งศักดนา นั้น พคท.มองว่า ประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย และเห็นว่ารัฐสภาเป็นพื้นที่เปิดโปงระบอบเผด็จการร่วกันของชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ กระฎีพีใหญ่ที่รับใช้จักรพรรดินิยม แนวคิดนี้หายไปพร้อมกับการพังของ พคท. เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน แนวคิดที่สำคัญเหลือแค่ 3 กระแสหลัง โดยกระแสพุทธเน้นประชาธิปไตยที่มีธรรมะเป็นแกนกลาง ขณะที่กระแสวัฒนธรรมชุมชนก็มีชุมชนเป็นแกนกลาง ไม่เหมือนกับกระแสประชาธิปไตยรัฐสภา หลังพฤษภาคม 2535 ประชาธิปไตยแบบพุทธและแนววัฒนธรรมชุมชนได้ผสมกันกลายเป็นกระแสที่มีจุดร่วมเดียวกัน ส่วนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ประนีประนอม ไม่ผลักตัวเองไปสู่เสรีนิยมสุดขั้ว กลายเป็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ สถาบันยังมีฐานะและอำนาจสูงในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2529-2535 การแชร์กันระหว่างกระแสวัฒนธรรมชุมชนและพุทธ มีผู้นำสำคัญคือ หมอประเวศ วะสี , สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งเริ่มมีนัยขัดแย้งประชาธิปไตยรัฐสภา หลังพฤษภาคม 2535 สองกระแสนั้นผลักดันไอเดีย การเมืองภาคประชาชนเพื่อต่อสู้กับประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งมีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน
อุเชนทร์ เชียงเสน :ประวัติศาสตร์ "การเมืองภาคประชาน : ความคิดและปฏิบัติการของ "นักกิจกรรมทางการเมือง" ในปัจจุบัน การนำเสนอนี้เป็นชื่อเดียวกับวิทยานิพนธ์ โดยคำถามสำคัญในการทำวิทยานิพนธ์เริ่มจากการปราศรัยของ สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงานที่ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวเมื่อปี 2551ว่า "มาเลย ไอ้นรก นปก. มาเลย เดี๋ยวให้ลูกหลานแสดงฝีมือบ้าง..." ทำให้เกิดคำถามว่า พธม.เป็นจุดสูงสุดของภาคประชาชนแล้วทำไมจึงมีทัศนะเช่นนี้ ต่อคำถามดังกล่าวเราอาจเห็นคำตอบบางส่วนได้จากวิทยากร เชียงกูล ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ การเมืองภาคประชาชนมุมมองจากชีวิตและงานของศรีบูรพา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำวิจัยเรื่องการเมืองภาคประชาชนในประบอบปชต.ไทย รวมไปถึงแนวคิดแนวทางการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จนกระทั่งมีบทบาทสำคัญใน พธม.โดย ครป.อธิบายว่าการเมืองภาคประชาชนเกิดจากความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย งานชิ้นนี้พยายามอธิบายภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนจัดตั้งกับพธม. โดยเฉพาะแกนนำหลักของ ครป. เพราะพวกเขาสำคัญมากในการระดมเอ็นจีโอเข้าร่วมพธม. ทำให้การเคลื่อนไหวของสนธิ ลิ้มทองกุล เข้มแข็งและชอบธรรมมากขึ้น ช่วงเวลาศึกษาเน้นช่วงหลัง พคท.เจ๊ง และช่วงที่เกิดคำว่า การเมืองภาคประชาชน หลังป่าแตก ลักษณะทางความคิดเป็นมรดกในเวลาต่อมาคือ ต่อต้านรัฐ ต่อต้านทุน สนับสนุนการเคลื่อนไหวองค์กรชาวบ้าน เปลี่ยนแปลงสังคมในระดับประชาสังคม หลังพฤษภา 35 ในทางสถาบันการเมืองมีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน อำนาจย้ายมาที่รัฐสภา การเลือกตั้งมีความสำคัญ ชนชั้นกลางและประชาสังคมเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย เกิดกระแสเชียร์ชนชั้นกลาง แต่ก็มีแนวคิด "สองนคราประชาธิปไตย" ซึ่งเห็นว่าพวกชนบทเป็นปัญหาประชาธิปไตย ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ชนบทเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเบ่งบานของม็อบจำนวนมาก ซึ่งในช่วงนั้นแม้นักกิจกรรมเห็นว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นปัญหา แต่ก็ยังเห็นด้านดีว่าเป็นโอกาสให้ประชาชนมีปากเสียง มองรัฐสภาทั้งด้านบวกและด้านลบ เมื่อพยายามค้นหาว่า คำว่า การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นตอนไหน ก็พบว่าเริ่มใช้กันจริงจังในปี 2538โดยใช้บรรยายม็อบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และอ้างจากจำนวนการชุมนุมที่รวบรวมโดยนักวิชาการมหาวิทยลัยเกริก สำหรับในช่วงเคลื่อนไหวของพธม.คนที่มีบทบาทในภาคประชาชนที่งานนี้สนใจศึกษาวิธีคิดมี 3 คนใน 3 องค์กร คือ เลขาฯ สนนท. (ขณะนั้น) นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่ม FOP และสุริยะใส กตะศิลา เลขาฯ ครป.โดยในที่นี้จะโฟกัสเฉพาะ ครป. ครป.หลังผ่านเหตุการณ์ พ.ค.35 มุ่งหวังระดมเครือข่ายองค์กรที่มีกิจกรรมอยู่แล้วในสายต่างๆ ให้มารวมกันภายใต้ครป. ในช่วงรณรงค์ผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ครป.ก็ตกผลึก รณรงค์การเมืองเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนและประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งรูปแบบและเนื้อหา หนุนการต่อสู้ของคนรากหญ้า และมีบทบาทสำคัญในการสร้างวาทกรรมนี้ผ่านพื้นที่สาธารณะ เวลาพูดถึการเมืองภาคประชาชน การสถาปนาและการมีพลังของมันเอยู่บนฐานการวิพากษ์ประชาธิปไตยรัฐสภา-นักการเมือง โดยอธิบายว่านักเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของนายทุน เมื่อสู่ระบอบทักษิณ ช่วงแรกๆ นั้นยังมีสัมพันธ์ที่ีดีกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะเน้นคนจน แต่จุดแตกหักที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้คือ นโยบายที่ไปละเมิดสิทธิคนจน คนส่วนน้อยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่หลายรูปแบบ จากนั้นมีการสรุปบทเรียนที่สำคัญของพวกนักเคลื่อนไหวออกมาในรูปของ "บททดลองการเมืองภาคประชาชน" นักกิจกรรมกลุ่มนี้วิจารณ์ทุกความคิดของสายประชาสังคม พวกเขาวิจารณ์เอ็นจีโอฝ่ายอื่นและองค์กรชาวบ้าน แต่ไม่วิจารณ์ตนเอง และพยายามแสวงหาทางเลือกไปด้วยในเวลาเดียวกัน "เขาคิดว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมีข้อจำกัดในตัวมันเอง ทำให้มีการพูดเรื่องพรรคการเมืองซึ่งพูดกันตั้งแต่ปี2536 แต่หยุดไปเมื่อมีพันธมิตรฯ" เมื่อกล่าวถึงเรื่องความจงรักภักดี เราไม่สามารถเรียก สุวิทย์ วัดหนู พิภพ ธงไชย นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ สุริยะใส กตะศิลา ฯ ว่าเป็นรอยัลลิสต์ได้ คนทั่วไปแม้ไม่รู้จักก็อาจพบร่องรอยเหล่านี้ได้จากคำพูดของพวกเขา เช่นครั้งหนึ่งพิภพวิจารณ์ศักดินาว่าสังคมไทยยังอยู่ในยุคซากเดนศักดินา และบอกว่าปี 2475 มีการวิจารณ์สถาบันยิ่งกว่าปัจจุบันเสียอีก คำอธิบายการเคลื่อนไหวและแนวทางของพวกเขา อาจสรุปคร่าวๆ ได้ด้วยคำให้สัมภาษณ์ของนิติรัฐว่า การสร้างเครือข่ายร่วมกับพธม. นั้น เขาประสานกับเอ็นจีโอที่เคยทำงานร่วมกันมาแต่เดิม โดยมีการพูดคุยกับเอ็นจีโอในเครือข่ายว่า "การทำงานการเมืองภาคประชาชน ทำกันมาตั้งนานไฟไม่เคยติด แต่สนธิจุดไฟติด เราจะเข้าร่วมกับเขาไหม"
วิจารณ์ และแลกเปลี่ยน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 40 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์14 ตุลาอย่างเป็นวิชาการ งานของประจักษ์ ก้องกีรติ ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7-8 ปีหลังรัฐประหาร ก็ได้จุดประกายให้นักศึกษารุ่นใหม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองมากขึ้น และไม่ใช่เรื่องความทรงจำเท่านั้น แต่เป็นความคิดทางการเมืองที่สามารถต่อเนื่องเข้ากับปัจจุบันได้ด้วย ที่ผ่านมาเราไม่มีความต่อเนื่องทางภูมิปัญญาของประชาธิปไตยแบบใหม่ มีแต่ตัวบุคคล งานของธิกานต์ ทำให้เห็นแนวคิดฝ่ายซ้ายว่าจบลงที่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร หากตอบในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ไม่แปลก เป็นไปได้และเกิดแทบทุกที่ เพราะความคิดปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นปฏิกริยาต่อความคิดก่อนหน้าที่ครอบงำอยู่และคนเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล ความคิดปฏิวัติเกิดเฉพาะในยุโรปช่วงหลังยุคเรเนอซองส์ ศตวรรษที่ 14-15 แต่ในโลกตะวันออกไม่มีประวัติศาสตร์นี้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมฝ่ายซ้ายเลื่อน ลด ไถล ออกจากความคิดก้าวหน้าได้ นั่นเพราะไม่มีกิ่งก้านหรือรากอันใหม่ทางความคิดมากเท่าในตะวันตก รากอันเดียวที่มีอยู่คือ ศาสนา ซึ่งมีความคิดรวบยอดและมีลักษณะทั่วไปสูงที่สุด พุทธเถรวาทยังผสานกับรัฐไทยแล้วสร้างเหตุผลอธิบายชีวิตปัจจุบันที่ปฏิเสธยาก กระบวนการต่อสู้ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับยุค พคท. จะเห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นหลังไม่มี "เป้าหมาย" ของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รุ่นเก่าจะชัดเจนว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วเครื่องมือ วิธีการต่างๆ จึงตามมา แต่รุ่นหลังไม่เอาทฤษฎีแบบพคท.ชี้นำ มีทฤษฎีการนำการต่อสู้แบบยืดหยุ่น ส่วนคำถามว่า พวกไม่นิยมเจ้ามาร่วมกับพันธมิตรได้อย่างไร หากจะตอบก็จะตอบว่า เพราะมันไปโยงกับเป้าหมายของการเคลื่อนไหว ในเมื่อกระบวนการรุ่นหลังไม่ได้มีเป้าหมายการปฏิวัติหรือเปลี่ยนโครงสร้างแบบพคท. ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโยงกับศักดินา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างในวิธีคิดแบบเก่า ในขณะที่การวิจารณ์ทุนนิยมยังใช้ได้ และใช้ได้มากเพราะทุนนิยขยายใหญ่ขึ้นมาก วิจารณ์อะไรไม่ได้ก็วิจารณ์ทุนนิยมไว้ก่อน แล้วสื่อก็จะรับกับประเด็นนี้ วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยคือเครื่องมือของรัฐและทุนเป็นสิ่งที่ถูกตลอด อย่างไรก็ตาม ตรรกะอันนี้วาดภาพของปีศาจที่น่ากลัวกว่าเดิมที่โอบล้อมประชาธิปไตย ทำให้ต้นประชาธิปไตยกลายเป็นผลไม้พิษ นับเป็นการตอกฝาโลงให้กับการยอมรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อุเชนทร์นำเสนอว่า บางส่วนใน พธม.ไม่ใช่พวกเชียร์สถาบัน แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเชียร์ แต่อยู่ที่การไม่รับรู้ ไม่ตระหนักถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ของเหล่าปัญญาชนไทย ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกัน และปัญหาของสถาบันก็ยังอยู่กับเราจนปัจจุบันซึ่งจะว่าไปก็เป็นช่วงสำคัญที่สุด เพราะจะมีการเปลี่ยนรัชกาลในไม่นานนี้ น่าสนใจว่า ขณะที่นักวิชาการเงียบ แล้วชาวบ้านตื่นตัวมากในช่วงปี 51-54 มาถึงวันนี้เมื่อทักษิณอิงกับกระแสเปลี่ยนรัชกาลเต็มที่ มวลชนส่วนใหญ่ซึ่งสนับสนุนทักษิณและเคยตื่นตัวกับการวิพากษ์วิจารณ์จะตีกลับเป็นกระแสปกป้องสถาบันอย่างสูงหรือไม่
หมายเหตุ การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา! Posted: 04 Oct 2013 08:51 PM PDT สำนักข่าวเอเอสทีวี-ผู้จัดการเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รายงานข่าวโดยเสนอประเด็นว่า ในการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลาประจำปี พ.ศ.2556 นี้ มีการจัดงานเป็นสององค์กรแยกกันโดยชัดเจน คือ ฝ่ายมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ซึ่งจัดงานเป็นประจำอยู่ทุกปี แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" และได้จัดงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และงานของฝ่ายเสื้อแดงนั้น เอเอสทีวีเห็นว่ามีปัญหา เพราะ จัดให้ "จาตุรนต์จ้อ พร้อมไฮไลต์ อำมาตย์เต้นทอล์กโชว์" ซึ่งหมายถึงรายการที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมากล่าวปาฐกถาในงานวันที่ 13 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตของประชาธิปไตย" และการที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมาเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ในเวลาบ่ายวันเดียวกัน แต่ความจริง รายการที่น่าสนใจจากการจัดงานของฝ่ายกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังมีอีก โดยเฉพาะรายการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรายการเด่นที่ลงทุนค่อนข้างสูง รายการวัฒนธรรมนี้จะแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเย็นทั้งวันที่ 6 และ วันที่ 13 ตุลาคม นั่นคือ ละครเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ของประกายไฟ ลิเกกายกรรมเรื่อง "บัลลังก์เลือด" โดย มะขามป้อม และ งิ้วธรรมศาสตร์19 เรื่อง "เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ" ซี่งแน่นอนว่า งานวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะสะท้อนแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสำคัญ ส่วนมูลนิธิ 14 ตุลา ได้มีการจัดกิจกรรมหลายอย่างปูทางมาสู่กระแส 40 ปี 14 ตุลาเช่นกัน เช่น การเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับวันที่ 14 ตุลาเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย การผลักดันให้ออกแสตมป์ที่ระลึก 40 ปี 14 ตุลา เป็นต้น แต่งานสำคัญคงอยู่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่ง ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ปณิธานประเทศไทย" ที่น่าสนใจคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รับจะมาปาฐกถาทั้ง 2 งาน คือ ในวันที่ 13 ตุลาคม จะปาฐกถาเรื่อง "เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือ ประชาธิปไตย" ให้กับกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย และบ่ายวันที่ 14 ตุลา ก็จะปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ความฝันเดือนตุลา 40 ปี" ที่หมุด 14 ตุลา ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายถึงว่า เสกสรรค์พยายามวางตัวเป็นกลางที่ประสานกับทั้งสองฝ่ายได้ มีคำถามที่ถามกันว่า การจัดเป็นสองงานเช่นนี้ หมายความว่าคนเดือนตุลาขัดแย้งแตกแยกกันใช่หรือไม่ หรือน่าจะมีความพยายามรวมกันเป็นงานเดียวได้หรือไม่ ต่อคำถามนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม คนเดือนตุลาก็ขัดแย้งกันมานานแล้ว ไม่เคยเป็นเอกภาพ และยิ่งขัดแย้งกันทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 จึงได้สะท้อนออกมาในการจัดงานครั้งนี้ จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้อธิบายว่า ในช่วง 7 ปีมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในกลุ่มนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดงาน 14 ตุลาด้วย ทำให้มีอีกหลายคนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดง ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น คนเสื้อแดงคงไม่มีใครสนใจที่จะไปฟังปาฐกถาของคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นแน่ ดังนั้น กลุ่มคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงต้องจัดงานขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเข้าร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการให้ความหมายแก่กรณี 14 ตุลา เพราะการที่คนรุ่น 14 ตุลาจำนวนมาก หันไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตีความประวัติศาสตร์ 14 ตุลาว่า ไม่ได้เป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นชัยชนะของฝ่ายศักดินาที่ฉวยโอกาสใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ในความเห็นของคนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่ชื่นชม 14 ตุลา แต่มีความชื่นชมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า เพราะรู้สึกว่าถูกปราบปรามสังหารจากต้นเหตุรายเดียวกัน ดังนั้น ฝ่ายของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย จึงต้องการให้มีการจัดงานเพื่อรื้อฟื้นความสำคัญของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาในฝ่ายประชาชนให้ชัดเจนขึ้น ฝ่ายกรรมการ 14 ตุลาของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังอธิบายด้วยว่า เป้าหมายของการจัดงาน 14 ตุลา จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการตอบโจทย์ 14 ตุลา อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคลที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน และไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การจัดงาน 14 ตุลาอย่างเป็นเอกภาพเพียงงานเดียว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อันที่จริงตามหลักการของประชาธิปไตย ก็ยอมรับในความเป็นอิสระของความคิดที่แตกต่าง เพราะการบังคับให้คนคิดอย่างเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพนั้นคือระบอบเผด็จการ การยอมรับในความแตกต่าง และให้แต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตามทิศทางของตนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และยังเป็นวิธีการระดมคนเข้าร่วมได้หลากหลายที่สุด ส่วนงาน 6 ตุลาครบรอบ 37 ปีในปีนี้ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเดือนตุลา เป็นเจ้าภาพในการจัดด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฝ่ายเหลืองสลิ่มส่วนมากก็ไม่จัดงานและไม่ค่อยร่วมงาน 6 ตุลามานานแล้ว จึงกลายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นคนจัดงานโดยปริยาย แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะหันไปจัดงาน และสดุดีวีรชน 7 ตุลาแทน สรุปแล้วเจตนารมณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ได้ถูกตีความใหม่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันถึงจิตใจแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการ 14 ตุลา เพียงแต่ว่าการตีความประชาธิปไตยในวันนี้มีความแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การจัดงานที่แยกจากกัน ซึ่งถือได้ว่าทำให้งาน 14 ตุลาปีนี้มีความคึกคักขึ้นกว่าปีก่อนมมาก สำหรับประเด็นในทางประวัติศาสตร์ การตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแสดงให้เห็นด้วยซ้ำว่า ประเด็นทางประวัติศาสตร์นั้นยังไม่ตายและยังเป็นที่สนใจ เช่นเดียวกับประเด็นประวัติศาสตร์ 14 ตุลาที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้
เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 432 วันที่ 4 ตุลาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ILO ILO : ชีวิตขันขื่นของ 'แมงเม่า' กลางแสงไฟ Posted: 04 Oct 2013 08:01 PM PDT หมายเหตุ : ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง แต่หากพลาดพลั้งประการใดขออภัยผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้ 1 คำนิยม : [โดยผมเอง] ทุกตัวละครหลักมีมิติ มีด้านลบ มีด้านร้าย และมีมุมน่ารักในตัวเอง เช่นเดียวกับสถานที่และเหตุการณ์ที่นำพาเราไปโดยไม่กล่าวโทษ มันเป็นเพียงความขันขื่นของชีวิตอันไม่น่าโสภาแต่แทรกเข้ามาอย่างแยบยล เสียงหัวเราะขบขันยามดูชีวิตพวกเขาเหล่านั้น บางทีมันก็คล้ายกับเสียงหัวเราะเย้ยหยันความบัดซบที่เรามีให้แก่ตัวของเราเอง ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้แบบนี้ เพราะคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวของคนที่เป็นคนและการกระเสือกกระสนดิ้นรนในโลกแบบเดียวกันนี่แหล่ะ คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่อง 'ILO ILO' เข้าไปกระตุกต่อมอารมณ์ของใครต่อใคร กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นเสียงปรบมือยาวนานร่วม 15 นาที ในการฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด พร้อมกับการคว้ารางวัล 'กล้องทองคำ' ของผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม 'แอนโธนี เฉิน' และดีอีกเช่นกันที่เวลานี้ มงคลภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอก็กำลังฉายหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา หากจะให้เชิญชวนไปดู ผมยังคงชูที่จุดนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมันก็คือ.."เรื่องของเรา" 2 บทนำ 'ILO ILO' เป็นหนังเล็กๆที่ผูกเรื่องราวกับช่วงเวลาวิกฤติทางเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' โดยเล่าผ่านภาพชีวิตของครอบครัวลิมใน 'เมือง' สิงคโปร์ ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญที่ซ้อนเข้ามาแทรกคือ 'คนใช้' หรือ'แม่บ้าน' ที่ข้ามน้ำ ข้ามทะเล และข้ามชาติมาจาก 'ฟิลิปปินส์' ในช่วงจังหวะสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งนี้ ครอบครัวลิมอาจเป็นภาพตัวแทนของชีวิตใน 'สังคมเมือง' ที่การมี 'คนใช้ /แม่บ้าน' กำลังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเป็นภาพอันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ครอบครัวร่ำรวยเท่านั้นจึงจะมีเงินเหลือพอซื้อความสบายเพิ่มเติมแม้แต่เรื่องในบ้าน แต่ภาพจำเหล่านั้นคงเก่าไปแล้ว ปัจจุบันสังคมเมืองหลายแห่งรวมทั้งกรุงเทพฯเอง 'เวลา' ได้ถูกดึงออกไปจากคนทำงานเพื่อแลกกับสถานะทางการเงินที่ชีวิตแบบชนบทไม่อาจตอบสนองได้ ในสภาพที่ชีวิตต้องขับเคลื่อนไปด้วยเรื่องเงินๆทองๆ การจ่ายเงินออกไปจึงอาจคุ้มกว่าเสียเวลามาดูแลบ้าน เวลานี้ในกรุงเทพ หลายครอบครัวที่พอมีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็จะเริ่มมองหาแม่บ้านสักคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ ในขณะที่ตำแหน่งแห่งที่นั้นเคยเป็นที่ทางของ 'เมีย' แต่แรงผลักของความจำเป็น[หรือความคุ้มค่า]ทำให้เมียต้องออกไปทำงานเพื่อเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจอีกต้นของบ้าน ซึ่งหลายครั้งพวกเธอหลายคนอาจทำตรงนี้ได้ดีกว่า 'ผัว' เสียอีก ดังนั้น ในภาวะที่การเงินคือแรงขับเคลื่อนนี้ 'ความสัมพันธ์' ภายในครอบครัวจึงกระจัดกระจายออก แต่ก็ยังเสมือนมีสายใยบางอย่างที่ยึดเอาไว้ไม่ให้ขาดออกจากกัน และในบางครั้งบางเวลา สายใยบางๆเส้นนี้เองที่จะกลับมามีความสำคัญและทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้ ภาพสะท้อนของความสัมพันธ์อันกระจัดกระจายนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้ 'เจี่ยเล่อ' ไอ้หนูวัย10 ขวบ ตัวเด่นของเรื่องใน ILO ILO กลายเป็นไอ้แสบที่เอาแต่ใจตัวเอง ดื้อรั้น ติดเกม ก้าวร้าว และขาดวินัยอย่างรุนแรง ความแสบของเจี่ยเล่อนับว่าอยู่ในระดับติดแบล็คลิสต์เบอร์ต้นๆของโรงเรียน แต่ความสำคัญของความสัมพันธ์ที่หายไปนั้นก็ยังถูกสะท้อนออกมาจากคำพูดลอยๆครั้งหนึ่งของแม่ที่ว่า "สมัยอากงยังอยู่ไม่เห็นดื้อขนาดนี้" อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเจี่ยเล่อก็เหมือนใยเส้นหนึ่งที่ดึงให้ 'แม่' ออกมาจากงานเพื่อจัดการเรื่องของเขา 'ด่วน' ในหลายครั้ง แม้แม่จะตระหนักดีถึงสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจในเวลานั้นที่ควรต้องยึดความมั่นคงทางเศรษฐกิจเอาไว้ก็ตาม สำหรับครอบครัวของเจี่ยเล่อไม่ว่าเสาเศรษฐกิจของพ่อหรือแม่ล้วนสำคัญ นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจจ้าง 'เทเรซ่า' มาเป็นแม่บ้านและเป็นพี่เลี้ยงของเจี่ยเล่อ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้ 3 คนใช้ : แม่บ้าน การต่อสู้กับทัศนคติแฝงเร้น 'สิงคโปร์' อาจเป็นสังคมที่ดูเป็นเมืองจ๋าๆและความบ้านนอกบ้านนาที่พอสัมผัสได้ 'กลิ่น' อาจเป็นที่ 'คนใช้' หรือ 'แม่บ้าน' ซึ่งในความคล้ายคลึงแต่แตกต่างโดยเฉพาะทัศนะที่มีต่องาน 'ฟิลิปปินส์' เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสาค้ำเศรษฐกิจของประเทศไว้ครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้น และหากกล่าวถึงแรงงานสาย 'แม่บ้าน' เมือง ILO ILO คือเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้ ดังที่กล่าวว่า ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ประการหนึ่งก็คือ ความเป็นภาพสะท้อนของ 'กรุงเทพฯ' ในบ้านเรา งานแม่บ้านกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจและดำเนินชีวิตสามารถเป็นไปได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ต้องห่วงเรื่องข้างหลังรวมไปถึงเบียดบัง 'เวลา' ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในทางมูลค่า อย่างไรก็ตาม ชนบทที่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นเมืองในสังคมไทย งานประเภทนี้จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆของประชากรภายใน เมื่อประกอบกับทัศนคติที่มีมาแต่ยุคเจ้าขุนมูลนาย งาน 'แม่บ้าน' จึงถูกมองในภาพเดียวกับ 'คนใช้' ที่สภาพการจ้างงานเป็นเรื่องเดียวกันกับการอุปถัมป์ค้ำชูอันชวนให้อึดอัดและคลุมเครือ งานในบ้านจึงไม่เป็นที่นิยมจากแรงงานภายในและเปิดโอกาสให้ 'แม่บ้าน' จากต่างแดนโดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาทำแทนที่ สิ่งที่สำคัญก็คือปรากฏการณ์นี้กำลังหล่อหลอมให้พวกเธอหรือพวกเขาเหล่านั้นที่ข้ามชาติเข้ามากลายเป็นส่วนเดียวกันกับโครงสร้างสังคมและครอบครัวของเรา แต่ในด้านการจัดการหรือออกแบบเพื่อการรองรับกลับเป็นเรื่องเต็มไปด้วยปัญหา ในแวดวงแม่บ้าน แรงงานต่างชาติมักถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาทำงานด้วยค่าแรงที่ถูก ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ความโดดเดียวแปลกแยกหรือห่วงกังวลทางบ้าน ความไม่ปลอดภัยจากนายจ้าง สภาพการจ้างงานหรือสัญญาที่เอาเปรียบโดยเฉพาะเวลาพักหรือวันหยุดที่มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในการจ้างงาน หรือเรื่องอำนาจที่มีน้อยกว่าในการต่อรอง เป็นต้น สำหรับสิงคโปร์ 'ภาษา' อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งของแรงงานแม่บ้าน ซึ่งคนจากฟิลิปปินส์ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีจะมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ และการมาเป็นแม่บ้านของ 'เทเรซ่า' ก็สะท้อนภาพนั้น ทั้งยังทำให้เห็นสังคมของคนฟิลิปปินส์ที่ก่อตัวขึ้นในสิงคโปร์จนมีความแข็งแรงในระดับมีย่านเล็กๆที่สามารถให้คำแนะนำกระทั่งเพิ่มช่องทางธุรกิจของคนฟิลิปปินส์ในต่างแดนที่มากขึ้นได้ อีกประเด็นที่ ILO ILO สะท้อนออกมาได้อย่างน่าสนใจก็คือ หนังยังได้นำเสนอภาพการปะทะกันเล็กๆระหว่างอุดมคติของรัฐกับความรู้สึกที่มนุษย์มักมีอยู่ ILO LO ได้เผยภาพการหล่อหลอมความเป็นสิงคโปร์ผ่านสถาบันการศึกษาออกมาอย่างชัดๆ ซึ่งนอกจากจะย้ำเรื่องความชัดเจนในระเบียบวินัยแล้ว ความเท่าเทียมไม่แบ่งแยกเชื้อชาติก็เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญในอุดมการณ์ของชาติ ดังนั้น ในขณะที่พ่อของเจี่ยเล่อพยายามแสดงออกอย่างให้เกียรติแก่เทเรซ่าอยู่เสมอ แต่สิ่งที่แม่ทำก็คือการยึด 'พาสปอร์ต' มาเก็บเอาไว้เป็นอำนาจต่อรองตั้งแต่วันแรกของการจ้างงาน ซึ่งมันก็ได้สะท้อนทัศนคติบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งออกมา แม้จะถูกหล่อหลอมมาอย่างเข้มงวดเพียงใดก็ตาม ในส่วนของเจี่ยเล่อซึ่งจะต้องมีหน้าที่ต่อกันและกันและสัมพันธ์โดยตรงกับ 'เทเรซ่า' ความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เทเรซ่าก็ไม่ใช่ตัวแทนของความบ้านนอกไร้เดียงสาที่จะใช้ความดีชนะใจเหมือนพล็อตละครบางเรื่องที่ถูกวางไว้ แต่เธอคือภาพตัวแทนของการกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น แม่บ้านจาก ILO ILO คนนี้จึงสามารถจัดการตอบโต้ได้อย่างมีชั้นเชิง แต่ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบมัวๆและจะมัวๆไปตลอดเรื่องนี้ สิ่งที่'เทเรซ่า' มีให้เจี่ยเล่อมากที่สุดก็คือ 'เวลา' และเมื่อมีสิ่งนี้ เทเรซ่าก็ไม่ใช่ 'คนอื่น' สำหรับเจี่ยเล่ออีกต่อไป 4 ลูก : ครอบครัว สังคม และการหล่อหลอม เมื่อแรงขับเคลื่อนของชีวิตในสิงคโปร์คือ ธุรกิจและตัวเลข ดังนั้น ทุกคนในครอบครัวของเจี่ยเล่อจึงต้องทำธุรกิจและคลุกคลีกับตัวเลขเสมอ [เช่นเดียวบ้านเราอย่างน้อยต้องลุ้นกันเดือนละ 2 ครั้ง] ซึ่งไอ้แสบอย่างเจี่ยเล่อเองก็มีงานอดิเรกเกี่ยวกับตัวเลขที่ทำอย่างจริงจังและบางครั้งก็ทำในเวลาเรียนจนโดนฝ่ายปกครองเรียกพบ แต่ไอ้แสบก็สามารถพลิกแพลงวิกฤติเป็นโอกาสและสามารถนำมันไปต่อรองกับอาจารย์ได้สำเร็จ แม้เขาจะดูเป็นจอมสร้างปัญหา แต่เขาก็มีทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดในระดับที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน อาจด้วยสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ 'เจี่ยเล่อ' แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่แสดงออกด้านความรักกันบางๆ แต่ก็ไม่ถึงกับไม่อบอุ่น ส่วนที่ดูจะชัดเจนกว่าคือความกระด้างไม่อ่อนไหวหรือไร้ซึ่งความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ทั้งนี้ ในภาวะที่ทุกคนต่างกระจัดกระจายออกจากกัน 'อากง' ที่น่าจะเคยขัดเกลาสัมผัสตรงนี้ก็ได้ตายจากไปแล้ว ดังนั้น ภาพสะท้อนของผลผลิตจากสังคมที่หล่อหลอมจิตใจในรูปแบบนี้ ในวันเกิดที่เจี่ยเล่อได้ลูกไก่ 2-3 ตัว มาเลี้ยงแทน 'ทามาก็อตจิ' เกมสัตว์เลี้ยงที่พังไป ไก่ที่เติบโตขึ้นจึงไม่ใช่ความผูกพันหรือความรักที่น่าจะโตขึ้นตามเวลาอย่างที่ควรจะเป็น แต่มันจะยังคงถูกมองเป็นอาหาร เป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือเป็นเครื่องติดสินบนผี และทุกคนในบ้านต่างก็ทยอยกินมันอย่างปกติกระทั่งเหลือไก่เพียงตัวเดียว เขาจึงบอกกับเทเรซ่าระหว่างกินไก่ ว่า "ผมอยากเลี้ยงมันไว้" "ถ้าเธอยากเลี้ยงมัน ก็รู้จักให้อาหารมันบ้าง" เธอตอบเรียบง่าย ผมเคยได้ยินภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ 'ลองเปลี่ยนวิธีคิดแล้วโลกของคุณก็จะเปลี่ยน' บางทีความสัมพันธ์อาจเหมือนกับการเลี้ยงไก่ เมื่อสายตาที่มองบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไป ความหมายของสิ่งนั้นก็เปลี่ยนตาม สำหรับ 'เจี่ยเล่อ' เมื่อ 'เวลา' ได้เพาะสร้างความสัมพันธ์ที่สามารถมองไก่เป็นมากกว่าอาหาร และโดยลึกๆแล้วสิ่งที่เปลี่ยนคงไม่ใช้แค่มุมมองที่มีต่อไก่เท่านั้น แต่ 'เวลา' มันคงเป็นการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ 'คน' ด้วยเช่นกัน 5 แม่ : ความแปรปรวนของผู้รองรับ ราวปี 2539 – 40 ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังตึงเครียด สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอันชวนอึดอัดที่คุกคามไปทั่วอาเซียน เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ครอบครัวของ 'เจี่ยเล่อ' ก็ได้รับผลกระทบไปเช่นกัน ในภาวะเช่นนั้นแม่ที่เป็นเสมียนรับรู้สถานการณ์เป็นอย่างดีเพราะเธอคือผู้พิมพ์จดหมายเลิกจ้างในบริษัทให้กับบุคคลที่กำลังจะโดนไล่ออกเหล่านั้นนั่นเอง ใน ILO ILO บทบาทของแม่คือการต้องรับรู้และจัดการเรื่องต่างๆหลายเรื่อง อารมณ์ของเธอจึงดูแปรปรวนหรือหวั่นไหวเป็นพิเศษ แม่ของเจี่ยเล่อกำลังตั้งท้องลูกคนที่ 2 ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก หากโชคร้ายทั้งเธอและผัวอาจถูกออกจากงานได้ทุกเมื่อ ถึงกระนั้นแต่เธอยังต้องยอมเสี่ยงโดดงานเข้าไปจัดการปัญหาของเจี่ยเล่อในโรงเรียนหลายครั้ง นอกจากนี้เรื่องเธอยังมีเรื่องต่างๆในบ้านที่ต้องรับรู้ รวมไปถึงยังต้องดูแลไปถึงเรื่องภาพลักษณ์ของผัว จนทำให้เธอออกจะดูเป็นคนจุกจิก หรือแม้แต่การรับ 'เทเรซ่า' เข้ามาเพื่อแบ่งเบาภาระในบ้าน มันจึงเป็นธรรมดาที่เธอจะมีความระแวงเล็กๆแฝงเข้ามา รวมทั้งอาจเจ็บใจเล็กๆที่เจี่ยเล่อดูจะติดเทเรซ่าเป็นพิเศษ จนแม้แต่ความเป็นแม่ยังเหมือนถูกแย่งไปดูแลโดยที่เธอเองกลับไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ทุกปัญหาที่พุ่งเข้าสู่การรับรู้ของแม่ เวลานี้เธอเหมือนเหมือนฟองน้ำที่อิ่มตัว หนักอึ้ง และกำลังจมดิ่ง แต่ในภาวะแบบนี้ สิ่งที่ดูเหมือนจะหายไปจากสังคมสิงคโปร์คือเรื่องการยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ดังนั้น ในอาการที่กำลังเคว้งคว้างทางวิญญาณของผู้คน ธุรกิจนอกรีตอีกรูปแบบจึงเกิดขึ้นมาโดยอาศัยคารมและการโน้มน้าวเป็นเครื่องมือ แม่ของเจี่ยเล่อเองก็หลงเข้าไปจนต้องเสียเงินก้อนใหญ่เช่นเดียวกับสมาชิกจำนวนมากที่ถูกหลอก ท่ามกลางความหวั่นไหวและการมองหาชีวิตที่ดีขึ้น คนเหล่านั้นกลับถูกสถานการณ์ซ้ำเข้าไปอีก 6 พ่อ : หัวหน้าครอบครัว /ความพ่ายแพ้ ? ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดและวิกฤติ 'ต้มยำกุ้ง' ที่แรงขึ้นเรื่อยๆกระทั่งมันล้มครืนลงทั้งระบบ 'พ่อ' คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดในหนัง ILO ILO หากเศรษฐกิจดำเนินไปตามปกติ วันเวลาของครอบครัวลิมก็คงผ่านไปเรื่อยๆด้วยสถานะที่ถึงไม่อู้ฟู่ก็น่าจะมั่นคง โดย 'พ่อ' คงจะเป็นแบบอย่างของแบบแผนทั้งในเชิงอุดมคติที่มีเหตุผล ความลงตัวในหน้าที่การงาน ภาพลักษณ์ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเหล้าและบุหรี่ และมีความเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคมโดยเฉพาะ 'สังคมเก่า' ที่เหมือนจะแข่งขันกันด้วยวิถีใน 'สังคมใหม่' นั่นคือการชี้วัดกันด้วยสถานะทางการเงินและการงานซึ่งแม้แต่ในหมู่เครือญาติก็เหมือนจะข่มกันอยู่ในที แต่เมื่อมันเกมจบลงด้วยฟองสบู่ที่แตกโพละ สถานะของ 'พ่อ' จึงกลายเป็นไม่มั่นคงที่สุดท่ามกลางทุกความคาดหวังที่แบกไว้ แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์ทำงานด้านการขายมานาน แต่ในนาทีที่ไม่เป็นที่ต้องการระบบ พ่อจึงถูกเลิกจ้างอย่างง่ายๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นเงินจำนวนมากยังต้องสูญเสียไปกับหุ้นที่ล้มทั้งกระดาน ปัญหาของพ่อกลายเป็นเรื่องที่พยายามปกปิดและรอวันคลี่คลายในภายหลัง 7 สรุป ILO ILO ได้เผยให้เห็นคือชีวิตของ 'แมงเม่า' กลางแสงไฟ ซึ่งมีทั้งที่ล้มตายและรอดตาย แต่กระนั้นแมงเม่าก็จะล้อเล่นกับไฟอยู่ดี เพราะการมีชีวิตในแสงสว่างมันก็น่าจะดีกว่าตกอยู่ในความมืดมนอนธกาล ไม่มีคำตอบที่สำเร็จสำหรับการปิดเรื่อง ILO ILO ในตอนจบเรื่องบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดของ 'ต้มยำกุ้ง'ก็ยังคงอยู่ หากมองจากประเทศไทยเอง ในช่วงเวลานั้นก็มีทั้งคนที่ถูกระทบมาก ถูกระทบน้อย มีคนที่เลือกจะตาย และก็มีคนที่เลือกจะไม่ตาย คนที่เลือกจะไม่ตายก็ต้องปรับตัวและดิ้นรนกันต่อไป..ไม่มีทางเลือกอื่น บางทีนาทีของการตัดสินใจมันอาจขึ้นอยู่เส้นใยบางๆที่ยึดโยงชีวิตที่เบาหวิวและกระจัดกระจายเอาไว้ด้วยกัน สำหรับ 'สังคมเมือง' แม้เส้นใยเหล่านั้นจะบางมากเสียจนแทบมองไม่เห็น แต่หากมันไม่ขาดออกในช่วงเวลาสำคัญและดึงรั้งกันเอาไว้ เส้นใยนี้เองที่จะรักษาลมหายใจของพวกเขา สำหรับเรา แม้ว่า 16 ปี จะผ่านมาแล้ว แม้ว่าเราจะเดินบนเส้นทางสายเดิมจนไม่แน่ใจว่าจะยังจำกันได้อีกไหม..ในช่วงเวลาวิกฤติ พิษเศรษฐกิจที่พังครืน วันนั้น ตัวเรา ครอบครัวของเรา สังคมของเรา อยู่ในภาวะอารมณ์แบบใด...?? บทเรียนเลวร้ายอาจกลายเป็นความกลัว แต่คงจะดีกว่าถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นความระมัดระวัง เพราะทางเลือกของคนอย่างเราๆมันก็คงมีไม่มากนักและบางครั้งมันก็ไม่มีให้เลือกเอาเสียเลย เมื่อการดิ้นรนกันต่อคงเป็นสิ่งที่ต้องทำ สุดท้ายนี้ ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้ 'แมงเม่า' ทุกตัวจงมีชีวิตต่อไป แม้ว่าจะต้องเล่นกับแสงไฟที่ร้อนแรงเพียงใดก็ตาม. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น