โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คชก.ไม่ผ่าน ‘EHIA' โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนรอบ 2 ทั้งฝ่ายหนุน-ต้านลุ้นผล

Posted: 17 Oct 2013 01:02 PM PDT

เครือข่ายติดตามผลกระทบฯ ชี้การไม่ให้ความเห็นชอบของ คชก.เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและความมั่นคงทางอาหาร-พลังงานของประเทศ ด้านฝ่ายหนุนให้เหตุผลต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเพราะประเทศต้องมีการพัฒนา
 
 
ที่มาภาพ: Greenpeace Southeast Asia (THAILAND)
 
วันนี้ (17 ต.ค.56) ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านกว่าร้อยคนจากจังหวัดฉะเชิงเทราเดินทางเข้านำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือดับเบิ้ลเอ เพื่อยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ได้
 
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยนำเสนอข้อมูลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่ทำโดยชุมชนต่อคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA จนส่งผลให้การพิจารณา EHIA ในรอบแรก เมื่อเดือน ก.ค.55 ไม่ผ่านความเห็นชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ได้ส่ง EHIA รอบที่ 2 เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาในวันนี้ พร้อมประกาศผ่านสื่อมวลชนอย่างมั่นใจว่าโครงการจะได้รับการอนุมัติ
 
ทั้งนี้ ช่วงเย็นวันนี้ เฟซบุ๊กเพจ Greenpeace Southeast Asia (THAILAND) รายงานผลการพิจารณา EHIA โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ว่า คชก.ไม่อนุมัติ EHIA ดังกล่าว
 
 
 
ที่มาภาพ: Greenpeace Southeast Asia (THAILAND)
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านนัดหมายกันเวลา 10.30 น.ต่อมามีการจัดกิจกรรมหน้า สผ.โดยมีการยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้คัดค้าน EHIA โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อนที่มีการรวบรวมรายชื่อในแคมเปญรณรงค์ "หยุด EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ปกป้องพื้นที่อาหารอันอุดมสมบูรณ์" ผ่านเว็บไซต์ Change.org ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา กว่า 6,000 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA ก่อนการประชุมพิจารณาจะมีขึ้น
 
จดหมายถึงประธานและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ Change.org  มีรายละเอียดดังนี้
 
 
ถึง: คุณรวีวรรณ ภูริเดช, รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
ประธานและคณะกรรมการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
 
เราทุกคนที่ได้ร่วมลงชื่อครั้งนี้ขอยืนยันว่าลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นพื้นที่อาหารอันอุดมสมบูรณ์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ได้ เราขอเรียกร้องให้ท่านและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

1. ลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นพื้นที่ผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ เลี้ยงปากท้องคนทั้งในและต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตข้าวและผักอินทรีย์หลากหลายที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เป็นแหล่งผลิตมะม่วงของดีเมืองแปดริ้วที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เป็นแหล่งผลิตเห็ดฟางโดยเฉพาะเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกและเป็นอันดับสองของประเทศ พื้นที่นี้จึงมีความอ่อนไหวต่อมลพิษที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
 
2. น้ำในคลองท่าลาดเป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวฉะเชิงเทราและชาวลุ่มน้ำบางปะกง ถูกใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาจ่ายให้คนส่วนใหญ่ใน จ.ฉะเชิงเทรา และบางส่วนใน จ.ชลบุรี และจัดสรรสู่พื้นที่ชลประทานกว่า 300,000 ไร่ เพื่อการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ และเป็นต้นน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันประสบปัญหาทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหินนี้จะยิ่งซ้ำเติมทำให้ปัญหาที่มีอยู่สาหัสเพิ่มขึ้นอีก 

3. ไม่มีถ่านหินใดเป็นถ่านหินสะอาด แม้เทคโนโลยีจะสามารถลดปริมาณซัลเฟอร์ได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อน ปรอท และโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ตลอดจนสารอินทรีย์อันตราย ซึ่งสารเหล่านี้จะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จะมีการสะสมจนเป็นอันตรายต่อคนได้ นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบอีกมากมายจากการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน และเถ้าที่เหลือจากการเผาถ่านหิน 
 
4. ปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ และเรายังมีทางเลือกในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะไปทำลายแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่เหลืออยู่ไม่มากนัก
 
ด้วยความเคารพ 
 เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
 
 
นอกจากนี้ เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนยังมีการอ่านแถลงการณ์ "ถ่านหินคือมายา ข้าวปลาสิของจริง ยกเลิก EHIA ปกป้องอู่ข้าวอู่น้ำไทยจากถ่านหินสกปรกของบริษัทดับเบิลเอ" โดยระบุว่า การใช้อำนาจของ คชก.ในการ "ไม่ให้ความเห็นชอบ" รายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญสูงสุดเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพราะต้องการยืนยันอีกครั้งว่า "โรงไฟฟ้าถ่านหินคือมายา ข้าวปลาสิของจริง" และไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินใดในโลกนี้ที่รับประกันว่าแหล่งอาหารของคนไทยแห่งนี้จะไม่ถูกคุกคาม
 
แถลงการณ์ให้ข้อมูลว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเชื่อมต่อโดยตรงกับลุ่มน้ำคลองท่าลาด แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำบางปะกงที่หล่อเลี้ยงผู้คนกว่าครึ่งล้าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาแหล่งใหญ่และหัวใจของระบบชลประทานของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมตามลำน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ปัญหาการแย่งชิงน้ำที่เป็นวิกฤตเรื้อรังของประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและภาคตะวันออกทวีคุณเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของน้ำเสียที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักในพื้นที่จนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้
 
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้มิเพียงแต่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่รอบโครงการในรัศมี 10 กิโลเมตร ตามที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA แต่ผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรนี้และการปนเปื้อนของสารพิษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารปรอทในน้ำ ดิน อาหารและการสะสมในร่างกายของประชาชนผ่านระบบห่วงโซ่อาหารและรับโดยตรงสู่ร่างกายคือหายนะของสังคมไทยที่จะมาเยือนหาก คชก.อนุมัติรายงาน EHIA ฉบับแก้ไขนี้
 
อีกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ประมาณ 2-3 เท่า มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่รวมพลังงาน จากแสงอาทิตย์ถึง 4,734 เมกะวัตต์
 
ด้านเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวว่า ในวันเดียวกันนี้มีชาวบ้านตำบลเขาหินซ้อนจำนวนกว่า 300 คน จากหลายภาคส่วนประกอบไปด้วย อบต.เขาหินซ้อน เครือข่ายภาคประชาชนด้านการมีส่วนร่วมฯ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ และเทศบาลตำบลเขาหินซ้อน เดินทางมายัง สผ.เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนในพื้นที่ โดยมีนายนพดล ธิยะใจ รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือและดอกไม้ให้กำลังใจ
 
นายธีรวัฒน์ ศรีวิกาญจน์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาหินซ้อน กล่าวถึงกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ไม่ทราบจุดประสงค์ที่แน่ชัดของกลุ่มผู้คัดค้าน แต่ตนเองเป็นคนในพื้นที่ และได้รับรู้รวมและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของโครงการฯ มาโดยตลอด เพราะทางโครงการฯ ได้มีการชี้แจงข้อมูลกับชาวบ้าน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ จึงขอความกรุณากลุ่มผู้คัดค้านช่วยหยุดการชักจูงให้เกิดความหวั่นวิตกหรือสร้างอิทธิพลกดดันต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่ และการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐผู้พิจารณาโครงการฯในครั้งนี้
 
"ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพราะประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นทุกวัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม หากไฟฟ้าไม่พอใช้จะเกิดความเดือนร้อนแก่ทุกท่านในประเทศ รวมไปถึงคนที่มาคัดค้านด้วยเช่นกัน หากจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านและทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่าจะมีวิธีการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม และทางโครงการฯควรมั่นรับฟังและดูแลชุมชนที่อยู่รอบๆอย่างใกล้ชิด หากทางโครงการฯสามารถทำแบบนี้ได้ ชาวบ้านอย่างเราก็ยอมรับได้" นายธีรวัฒน์ กล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลัง 14 ตุลา: ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ - พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ - อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ว่าด้วย "กองทัพ"

Posted: 17 Oct 2013 11:44 AM PDT

คลิปการนำเสนอบทความของ ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ กองทัพไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา และ พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 วิจารณ์โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การนำเสนอของ ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ หัวข้อ กองทัพไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา 

การนำเสนอของ พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ หัวข้อ สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ วิจารณ์การนำเสนอของภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ และพุฒิพงศ์ มานิสสรณ์

 

โดยในการนำเสนอหัวข้อ กองทัพไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา โดย ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐนั้น ตอนท้ายเขาได้วิเคราะห์บทบาททหารไทยกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเขาพบว่ามีงานของพอล แชมเบอร์ ที่ศึกษาในทำนองนี้มาก่อนโดยประเมินว่าช่วงไหนทหารมีบทบาทสูง ช่วงไหนมีบทบาทต่ำ แต่ตัวเขาพยายามมองบทบาทของทหารโดยอิงเข้ากับทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตย โดยดู 3 ด้านทางการเมือง คือ

หนึ่ง ด้านการกำหนดตัวกลุ่มผู้นำประเทศ เฉพาะหลัง 14 ตุลามาจนถึงปัจจุบัน ในทางบวก พบว่า ทหารยอมถอยอำนาจจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในด้านลบ มีการรัฐประหารหลายครั้ง ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองบางพรรค มี ส.ว. สรรหา และหนุนรัฐบาลพลเรือนบางฝ่ายไม่หนุนอีกฝ่าย กรณีที่ชัดเจนคือไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ แต่กลับออกมาปราบคนเสื้อแดง การรัฐประหาร 2549 เป็นการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่า เขาชี้ว่าไม่ใช่เพราะมันต้องเป็นการโค่นล้มเผด็จการ ซึ่งทักษิณไม่ได้เป็นเผด็จการแต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกว่า 19 ล้านเสียง

สอง ด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในทางบวก ทหารไทยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรของกองทัพเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่ในด้านลบ ทหารมีบทบาทอย่างสูงในอดีต และปัจจุบัน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็สามารถกล่าวได้ว่า ทหารก็ยังพร้อมที่จะต่อต้านนโยบายที่ขัดประโยชน์ของตน เช่น ทหารยังคงได้งบประมาณเยอะมาก เป็นเพราะว่ารัฐบาลรู้ว่าทหารจะต่อต้านใช่หรือไม่ถ้าไปตัดงบทหาร หรือกรณีที่รัฐบาลพยายามเล่นงานฝ่ายที่ปราบปราม นปช. ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เล่นงานทหาร แต่เล่นงานเฉพาะสุเทพ และอภิสิทธิ์ เพราะรัฐบาลรู้ว่าถ้าเล่นงานทหารก็จะถูกต่อต้าน

สาม ด้านความมั่นคงภายใน จะเป็นประชาธิปไตยได้พลเรือนต้องเป็นคนกำหนดเป้าหมาย ขอบเขตภารกิจ และงบประมาณ ในด้านบวก ทหารไทยเคยทำการเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยโดยการต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ทำในฐานะที่ตัวเองเป็นใหญ่ในบางยุค และในฐานะที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลพลเรือนในบางยุค เช่น กอ.รมน. อย่างไรก็ตามคำถามคือไทยปัจจุบันเผชิญความมั่นคงอะไรบ้าง ความมั่นคงถูกตีความอย่างกว้าง และขัดต่อหลักประชาธิปไตย เช่น รวมถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และขยายอำนาจด้านความมั่นคงเพื่อปราบปรามคนต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย

000

ส่วนการนำเสนอของ พุฒิพงศ์ มานิสสรณ์ ซึ่งเสนอหัวข้อ สถานะและผลทางกฎหมายของการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ: จาก 6 ตุลา 19 ถึง 19 กันยา 49 เขามีข้อสังเกต 2 ข้อที่สำคัญคือ ประการแรก การรับรองความสมบูรณ์ของประกาศคณะรัฐประหาร คือการรับรองความสมบูรณ์โดยศาล โดยการนำมาใช้ และสองคือ รองรับอำนาจหน้าที่องค์กรที่จัดตั้งโดยประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทำให้น่าพิจารณาต่อไปว่าแท้จริงแล้วการรัฐประหารไม่ได้สิ้นสุดลงที่คณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลลง แต่มีผลต่อเนื่องมาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่สิ้นสุด และการที่องค์กรตุลาการนำประกาศและคำสั่งมาใช้ ถือว่าเป็นองค์กรที่ทำให้วัตถุประสงค์ของการรัฐประหารนั้นบรรลุไปด้วย และที่ผ่านมาส่วนมากแล้วประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ปรากฏขึ้นในความเป็นจริงมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อตรวจสอบคำสั่งและประกาศเหล่านั้นมาปรับปรุงและประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ มีกรณีที่นิติราษฎร์ได้เสนอให้ล้มล้างผลพวงของคำสั่งและประกาศโดยรัฐประหาร และเขาเห็นว่าแม้ว่าการรัฐประหารจะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลสำคัญทางการเมือง แต่ผลที่ตามมาทางกฎหมายนั้นได้แฝงเร้นอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ

อ่านฉบับเต็มได้ที่ เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา: ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและการพัฒนาประชาธิปไตย http://prachatai.com/journal/2013/10/49104

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ กมธ.แก้วันเริ่มนิรโทษกรรมจาก 19 ก.ย.เป็น ปี 47

Posted: 17 Oct 2013 11:07 AM PDT

(17 ต.ค.56) ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม มีการลงมติที่ชัดเจน ในส่วนของจุดเริ่มต้นของการนิรโทษกรรม โดยสรุปร่วมกันว่าจะแก้ไขให้เริ่มการนิรโทษกรรมในปี 2547 จากเดิมที่ร่างกฎหมายของนายวรชัย เหมะ เสนอกำหนดให้นิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 - 10 พฤษภาคม 2554 

จากนั้นที่ประชุมได้หารือประเด็นฐานความผิดประเภทใดที่ควรนิรโทษกรรม แต่สุดท้ายยังไม่มีข้อสรุปทั้งเรื่องกำหนดเวลาสิ้นสุดการนิรโทษกรรมและฐานความผิด ซึ่งที่จะประชุมจะพิจารณาต่อในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) เวลา 09.30 น.



ที่มา: สำนักข่าวไทย และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เบื่อระอาม็อบเหลวไหล

Posted: 17 Oct 2013 10:15 AM PDT

 

ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้ชื่อกันว่า กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) นำโดยบุคคล เช่น นายไทกร พลสุวรรณ  พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เป็นต้น ได้เคลื่อนจากสวนลุมพินี มายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ถนนพิษณุโลก แล้วประกาศค้างคืน เพื่อรอรับวันที่ 8 ตุลาคม ที่มีคำทำนายของพวกโหรการเมืองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดย พล.ร.อ.ชัยแถลงว่า กลุ่มของพวกเขาคัดค้านการที่นายกรัฐมนตรีจะยื่นทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ยกเลิกวุฒิสมาชิกสรรหา เพราะถือว่ารัฐบาลมีเจตนาจะละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ และว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนไม่เห็นด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า มีประชาชนมาร่วมชุมนุมด้วยน้อยมาก ที่มาร่วมปักหลักเพียงไม่กี่ร้อยคน แต่กระนั้น ในวันที่ 9 ตุลาคม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตอบโต้โดยการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงรอบบริเวณทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาและเขตพระราชฐาน ด้วยเหตุผลคือ หวั่นเกรงจะมีการบุกรุกสถานที่สำคัญ ในโอกาสที่ นาย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม หลังจากนั้น รัฐบาลได้ตั้งด่านตำรวจหลายพันคนปิดล้อมบริเวณที่เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมทั้งหมด รวมทั้งล้อมรอบผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย

บ่ายวันที่ 10 ตุลาคม กลุ่มผู้นำการชุมนุมของ กปท. ตัดสินใจถอนกำลังกลับที่ตั้งที่สวนลุมพินี แต่กลับมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่พอใจ เช่น กลุ่มนักศึกษาอาชีวะพิทักษ์ราชบัลลังก์ กลุ่มกองทัพนิรนาม และองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงแยกตัวมาจัดชุมนุมกันเองโดยปิดถนนที่บริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม 6 ซึ่งเป็นบริเวณนอกเขตที่ประชิดพื้นที่ประกาศควบคุมตาม พรบ.ความมั่นคง ขณะที่  กทม. ได้ส่งรถสุขาเคลื่อนที่ และรถปั่นไฟมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ ได้จัดตั้งเป็น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และการชุมนุมก็ยังยืดเยื้อต่อมา

รายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองส่วน ต่างก็พยายามในการเรียกระดมมวลชนฝ่ายขวาครั้งใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม เพื่อจะยกระดับการต่อสู้ให้เข้มข้นมากขึ้น  เพราะในวันนั้น ก็จะมีการเคลื่อนไหวประจำของกลุ่มหน้ากากขาวที่นัดรวมตัวกันหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในที่สุด กลุ่มหน้ากากขาวก็เดินขบวนมาสมทบกับผู้ชุมนุมที่อุรุพงษ์ โดยมีคนสำคัญปรากฏตัวเข้าร่วม เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เช่นเดียวกับเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย (จคป.) ก็ได้ประกาศสนับสนุนการชุมนุมประชาชนที่อุรุพงษ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที เรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ครองบ้านเมืองอย่างทุจริต และเป็น"เผด็จการรัฐสภา"

แต่ในที่สุด ความพยายามในการยกระดับก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนถึงวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม สถานการณ์ก็กลับคืนสู่ภาวะกระแสต่ำปกติ แม้ว่า กลุ่ม กปท. และ กลุ่ม คปท. จะยังไม่สลายการชุมนุมก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาเหล่านี้ประสบความล้มเหลว ก็คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากแทบทุกภาคส่วนในสังคม ประชาขนที่เป็นกลางจำนวนมากเบื่อระอากับการชุมนุมอันเหลวไหลขององค์กรเหล่านี้ เพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้อคติแห่งความเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ แต่ประชาชนส่วนข้างมากในประเทศไทยเขาไม่ได้ร่วมแชร์อคติเช่นนี้ด้วย การเคลื่อนไหวจึงได้เหี่ยวเฉาไปทุกครั้ง

ปัญหาที่ชัดเจนประการหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาทั้งหมดนี้ก็คือ การที่ไม่สามารถจะหาข้อเรียกร้องที่เป็นที่เห็นพ้องสำหรับทุกภาคส่วนของสังคมได้ หรือแม้กระทั่งการสร้างประเด็นร่วมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เอกภาพของกลุ่มฝ่ายขวาทั้งหมดก็ไม่มี การเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประธานของกลุ่มเอเอสทีวี ผู้จัดการ ได้กล่าวไว้ในวันที่ 11 ตุลาคมว่า ม็อบมางวดนี้ถึงเสียเที่ยว ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ผิด ทั้งที่ใจคนที่ไปชุมนุมเกินร้อยแล้ว พร้อมที่จะเสี่ยง ปัญหาคือ ทั้งการชุมนุมทั้งที่อุรุพงษ์และสวนลุมพินี ต่างก็มีประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น "แต่ประชาธิปัตย์ไม่ออกมาเต็มตัว ให้คนออกไปตายแทนจะได้ขึ้นเสวยสุข" คุณสนธิจึงบอกประชาชนฝ่ายเหลืองว่า อย่าไปตายแทนประชาธิปัตย์ ให้รอหน่อยก็ไม่เสียหาย ถ้าสู้แล้วไม่ชนะจะออกไปทำไม

ข้อวิเคราะห์ของนายสนธินับว่า ถูกต้อง เพราะการเคลื่อนไหวที่ดำเนินอยู่นี้ มีลักษณะอับจนในด้านยุทธวิธีที่จะสร้างผลสะเทือน แต่ปัญหาหลักคือเรื่องในทางยุทธศาสตร์ เพราะไม่สามารถเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า จะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงได้อย่างไร และถ้าหากล้มได้แล้ว รัฐบาลใหม่หรือคนกลุ่มใหม่ที่จะมาบริหารแทนจะมีวิธีการมาอย่างไร ถ้าจะหวังให้เกิดการล้มรัฐบาลในลักษณะเดียวกับรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อ พ.ศ.2551 ก็คือให้ศาลยุบพรรค แล้วให้พรรคเพื่อไทยแตกโดย มี ส.ส.กลุ่มใหญ่ย้ายข้างมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ก็ไม่เห็นทางเป็นจริง หรือถ้าหากมีการล้มโดยยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่เห็นทางที่พรรคเพื่อไทยจะแพ้เลือกตั้ง แต่ถ้าจะล้มโดยการสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหาร ก็กลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อต้านอำนาจรัฐลุกลาม บ้านเมืองจะกลายเป็นทุรยุค เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนรัฐประหาร เหลือวิธีเดียวคือล้มด้วยอำนาจศาล แต่ทุกวันนี้ความเชื่อถือในศาลก็เสื่อมลงมาก การล้มโดยศาลก็ไม่ได้ใจประชาชน และไม่ได้เป็นการคลี่คลายปัญหาอะไรเลย

ดังนั้นความพยายามในการก่อม็อบล้มรัฐบาลในวันนี้ จึงเป็นไปเพียงเพื่อสนองความสะใจของพวกเกลียดทักษิณสุดขั้วจำนวนน้อยนิด ไม่สามารถจะตอบได้เลยว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาบริหารประเทศตามหลักการและกติกาประชาธิปไตย ความพยายามในการล้มรัฐบาลก่อนวาระจึงต้องล้มกติกาประชาธิปไตยลงไปด้วย การเคลื่อนไหวจึงกลายเป็นความพยายามอันเหลวไหลที่ไม่มีทางบรรลุผล

ถ้าต้องการโค่นระบอบทักษิณและล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหลายกลับไปหาวิธีการใหม่น่าจะเป็นการดีกว่า นั่นคือ การคอยเวลาอีก 2 ปี เพราะนี่เป็นกรอบเวลาที่กำหนดล่วงหน้าแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะหมดวาระไม่เกินเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 และในระหว่าง 2 ปีนี้ก็รวบรวมข้อมูลความผิดพลาดหรือความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล แล้วมานำเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นระบบมีเหตุผล ทำสงครามต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เป็นสงครามแห่งความรู้ พร้อมทั้งนำเสนอทางออกใหม่แก่สังคม รวมทั้งเสนอบุคคลที่เป็นทางเลือกใหม่ที่ภาพลักษณ์ดี ไม่เป็นพวกฆาตกรมือเปื้อนเลือดแล้วโกหกปลิ้นปล้อนรายวัน โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากจะหันมาสนับสนุนก็เป็นไปได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงประเทศก็จะเป็นไปอย่างสันติวิธีและตามกติกา

สรุปแล้ว ถ้าจะล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แทนที่จะใช้วิธีการม็อบบังคับประชาชน ก็ใช้วิธีเคลื่อนไหวทางความคิดให้คนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย จะไม่ดีกว่าหรือ

 

ที่มา:  โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 434 19 ตุลาคม 2556

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงจากชายแดนใต้: เมื่อทหารเดินเข้าร้านหนังสือ

Posted: 17 Oct 2013 10:06 AM PDT


ช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2556 ขณะที่ผู้เขียนกำลังพูดคุยกับลูกค้าซึ่งกำลังชำระเงินค่าหนังสือและยังไม่ทันเดินออกจากร้าน ก็ปรากฏว่ามีทหารสามนายเดินเข้ามาในร้าน

นายหนึ่งถืออาวุธปืนประจำกายยืนอยู่ตรงทางเข้า อีกนายไม่พูดพร่ำทำเพลงยกกล้องขึ้นถ่ายรูปภายในร้าน และอีกนายหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าชุดเดินเข้ามาสำรวจ

เมื่อพิจารณาแล้วว่าทหารกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการซื้อหนังสือหรือสั่งเครื่องดื่ม จึงได้สอบถามว่ามาทำอะไรและต้องการอะไร ได้คำตอบว่ามาขอข้อมูล ผู้เขียนรู้สึกไม่สบายใจที่มีทหารถือปืนมายืนอยู่ในร้านและคิดว่านี่ไม่ใช่การมาแบบปกติ จึงได้บอกกับหัวหน้าชุดให้นำทหารที่ยืนถือปืนตรงทางเดินออกไปข้างนอก เพราะร้านหนังสือเป็นเขตปลอดอาวุธ ไม่ควรจะมีใครมายืนถือปืนอยู่แบบนี้ และลูกค้าจะไม่กล้าเข้ามาเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายในร้าน

หัวหน้าชุดจึงรีบสั่งลูกน้องให้ออกไปรอข้างนอก ผู้เขียนได้ตำหนิเจ้าหน้าที่ทหารที่ยังถ่ายรูปในร้านไม่หยุด ว่าทำไมถึงไม่ขออนุญาตก่อน อยู่ๆมายืนถ่ายรูปในร้านแบบนี้ ลูกค้าที่เพิ่งออกไปจะรู้สึกอย่างไร คงสงสัยว่าทำไมร้านหนังสือจึงมีเจ้าหน้าที่ทหารมาถ่ายรูป ยืนถือปืนเฝ้าหน้าร้าน

ที่สำคัญคือผู้เขียนรู้สึกว่านี่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง นายทหารที่เป็นหัวหน้าจึงสั่งให้ลูกน้องหยุดถ่ายรูป และให้ออกไปยืนรอหน้าร้าน ผู้เขียนได้เชื้อเชิญให้นายทหารผู้เป็นหัวหน้านั่งลงคุยกันถึงจุดประสงค์ในการเข้ามาที่ร้าน โดยมีหุ้นส่วนอีกคนมาร่วมสมทบด้วย เราใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงพูดคุยกันในหลายประเด็น

เริ่มต้น ผู้เขียนไม่รีรอที่จะสะท้อนความรู้สึกตกใจ ไม่สบายใจ และไม่ไว้วางใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่ได้มีการชี้แจงวัตถุประสงค์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมเครื่องแบบทหารพร้อมอาวุธปืนและการถ่ายรูปโดยไม่ได้ขออนุญาต ได้รับคำตอบว่า เป็นการมาทำงานตามหน้าที่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ในการดูแล เขาได้รับคำสั่งจากเจ้านายให้มาที่ร้านหนังสือ ดูว่าใครเป็นเจ้าของร้าน ร้านตั้งอยู่ตรงไหน มีสภาพอย่างไร และจำเป็นต้องมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าได้มาทำงานตามคำสั่ง

ตั้งแต่เปิดร้านหนังสือบูคูมาเกือบสองปี จากที่ตั้งร้านเก่าจนย้ายมาตั้งร้านใหม่ในที่ปัจจุบันยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสอบถามในลักษณะเดียวกันนี้หรือมาซื้อหนังสือที่ร้านเลย (เว้นแต่ในการจัดเสวนาครั้งหนึ่งมีนายทหารที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมได้รับเชิญมาร่วมเสวนาด้วย และก็ได้ขอชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของเราไปเรียบร้อยแล้ว) เหตุใดในวันนี้จึงนึกอยากจะมา ตั้งใจมาขอข้อมูลส่วนตัวและเป็นทางการ มีการขอถ่ายรูปบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ แต่ผู้เขียนยืนยันที่จะไม่ให้ เพราะบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญทางราชการ ไม่ทราบว่าจะนำไปทำไม เพื่ออะไร จะขอถ่ายรูปโดยไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร คงไม่สามารถให้ไปได้ แต่ยินดีที่จะให้นามบัตรซึ่งมีรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ครบถ้วนสำหรับติดต่อได้

นายทหารหัวหน้าชุดได้กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอธิบายถึงการทำงานที่ยากลำบากของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการซึ่งไม่สามารถขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้ แม้ในบางครั้งอาจไม่เห็นด้วยกับคำสั่งก็ตาม เมื่อได้รับคำสั่งก็ต้องปฏิบัติ แม้จะรู้ว่าการกระทำลักษณะนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาและทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมที่มักตกเป็นเป้าหมายในการตรวจค้นหรือการเข้าไปขอข้อมูล

เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ เขาก็ยอมรับว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่มีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะการเข้าไปขอข้อมูล ซึ่งบ่อยครั้งเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดจากการขาดทักษะ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการหรือทหารชั้นผู้น้อยไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำงานในลักษณะนี้แต่ชำนาญด้านการรบมากกว่า

การเข้ามาขอข้อมูลของเจ้าหน้าที่ เป็นการมาแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย นายทหารท่านนั้นยอมรับว่าไม่เคยรู้จักร้านหนังสือบูคูมาก่อน ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ นึกว่าร้านนี้เป็นของคนมลายู เคยผ่านหน้าร้านหลายครั้งแต่ไม่นึกว่าจะเข้ามา เมื่อผู้เขียนเล่าว่าตนเองไม่ใช่คนมลายู ไม่ใช่แม้แต่คนในสามจังหวัด แต่เป็นคนที่มาจากที่อื่น หุ้นส่วนอีกคนก็เช่นเดียวกัน เมื่อทราบว่าเราทั้งคู่เป็นใคร บรรยากาศก็ดูจะผ่อนคลายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผู้เขียนได้สะท้อนกลับไปว่า เราทั้งคู่ทราบดีถึงข้อจำกัดในพื้นที่ ความขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ผู้เขียนเองก็มีญาติเป็นเจ้าหน้าที่ทหารชุดเก็บกู้ระเบิดอยู่ที่ปัตตานี และในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนๆพี่น้องที่เป็นชาวมลายูที่ได้รับผลกระทบและมีความคับข้องใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกลุ่มสื่อมวลชน นักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ ซึ่งล้วนแต่เป็นลูกค้าของร้านหนังสือ หลายครั้งที่มีโอกาสสะท้อนเรื่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้นายทหารระดับสูงบางท่านได้รับทราบ แต่ดูเหมือนการทำงานก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ร้านหนังสือเป็นพื้นที่เปิด ใครๆก็สามารถเดินเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย มลายู พุทธ มุสลิม หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราไม่เคยกีดกันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้เข้ามาซื้อหนังสือ มาร่วมงานเสวนา หรือมานั่งดื่มกาแฟ

แต่หากเป็นการมาด้วยท่าทีคุกคาม พกอาวุธปืนเข้ามาภายในร้าน ผู้เขียนก็เห็นว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากอาจเป็นการรบกวนลูกค้าคนอื่นๆและทำให้เกิดความหวาดกลัวกับลูกค้าได้ หากจะมา ขอให้มานอกเครื่องแบบหรือปลดอาวุธปืนก่อนเข้ามาภายในบริเวณร้าน เพราะลูกค้าที่ร้านทุกคนล้วนมากันตัวเปล่า ไม่มีใครถืออาวุธเข้ามาซื้อหนังสือกันสักคน

ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ของความรู้ เราติดอาวุธกันที่สมอง เราต่อสู้กันที่ปัญญา เราไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ถือปืน ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร มีความเชื่อทางศาสนาแบบไหน เราเปิดพื้นที่ให้กับทุกคนทุกฝ่าย และจะยินดีอย่างยิ่ง หากเจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามาหาซื้อหนังสือไปอ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของคนในพื้นที่บ้าง อาจพบแนวทางปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ

1) ร้านค้าและประชาชนในสามจังหวัดฯ จำเป็นต้องถูกตรวจสอบข้อมูลในลักษณะเช่นนี้หรือไม่?

2) ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์เกี่ยวกับร้านหนังสือบูคูหลายครั้ง ทั้งยังมีเว็บไซต์ และเฟสบุ๊กของร้าน ภาพถ่ายในร้านหรือข้อมูลต่างๆจึงไม่ได้เป็นความลับอะไร สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเลย เหตุใดฝ่ายความมั่นคงจึงต้องใช้วิธีสวมเครื่องแบบพร้อมอาวุธ เข้ามาถ่ายรูปและขอถ่ายบัตรประชาชน เพื่อจะทราบว่าเจ้าของร้านเป็นใคร และในร้านมีสภาพอย่างไร?

3) ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการก็ทราบดีว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่มีปัญหา แต่กลับไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานหรือแก้ไขได้ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของนโยบายหรือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นการกระทำผิดแบบซ้ำซากก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกถูกคุกคามและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ด้วยเหตุจากวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่นั่นเอง?

4) หากร้านหนังสือบูคูเป็นร้านหนังสือที่มีคนนายูเป็นเจ้าของ หากผู้เขียนเป็นชาวมลายูมุสลิม เราจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากนี้หรือไม่  หากหุ้นส่วนของผู้เขียนมิใช่อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย เสียงของเราทั้งคู่จะถูกรับฟังจากเจ้าหน้าที่ท่านนั้นหรือไม่?

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าร้านหนังสือบูคูจะถูกเพ่งเล็งหรือถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรหรือในแง่มุมไหนก็ตามเรายังคงยืนยันในความบริสุทธิ์ใจและยืนยันที่จะเปิดพื้นที่ในร้านหนังสือเพื่อแลกเปลี่ยนทางความคิดทางปัญญาสำหรับทุกคนทุกฝ่ายต่อไป และหวังว่าบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจะหมดไปได้ในวันหนึ่ง

 

ที่มา:ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้>บล็อกของ Buku

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 องค์กรร่วมตั้ง 'ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน'

Posted: 17 Oct 2013 09:46 AM PDT

ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ป.ป.ช.-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ -สภาพัฒนาการเมือง-กพ.-สภาทนายความ-สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมจัดตั้ง "ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรม จริยธรรมของแผ่นดิน" ปกป้องคุณธรรม-จริยธรรม ทั้งแง่บุคคล-องค์กร

(17 ต.ค.56) จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาการ นสพ.ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับอีก 6 องค์กรอิสระ ในภารกิจสำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมทั้งในแง่ตัวบุคคลและสถาบัน โดยจัดตั้งในรูปขององค์กรร่วม ใช้ชื่อว่า "ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรม จริยธรรมของแผ่นดิน"  ภาคีเครือข่ายดังกล่าว  จะร่วมมือกันดำเนินการขับเคลื่อนพลังคุณธรรม จริยธรรมของแผ่นดินอย่างเข้มแข็ง เป็นรูปธรรม และมีความยั่งยืน ส่งเสริมการปฎิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรภาคีเครือข่าย อีกทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับ ดูแลด้านคุณธรรม จริยธรรม

"เรามีข้าราชการ ผู้ที่ทำหน้าที่ด้วยความสุจริตจำนวนมาก ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และถูกกลั่นแกล้งถูกฟ้อง ถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม เช่นกรณีของคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯสมช. คุณสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีสินค้าเกษตรโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัย ทีดีอาร์ไอ คุณณัฎฐา โกมลวาทิน พิธีกรไทยพีบีเอส ที่ถูก กสทช.ฟ้อง คนเหล่านี้จะต้องไม่โดดเดี่ยว และคนอื่นๆ ก็ต้องมีความมั่นใจในการทำหน้าที่เพื่อสร้างสังคมที่มีธรรมาภิบาล โดยไม่ต้องหวั่นเกรงภัยคุกคามใดๆ ด้วย" จักร์กฤษ กล่าว

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของสภาการ นสพ.ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรหลักและเป็นผู้นำในการกำกับดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อ การร่วมมือกับอีก 6 องค์กรครั้งนี้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของสื่อมวลชนให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกสภาการ นสพ.จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน ภารกิจของภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน ให้เป็นที่ปรากฏและเป็นที่ตระหนักรับรู้ของสังคมต่อไป

สำหรับองค์กรที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็น "ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน" ประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

บัญญัติ ทัศนียะเวช ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การรวมตัวกันในรูปภาคีครั้งนี้ จะช่วยปกป้อง คุ้มครองคนดีในองค์กรต่างๆ ซึ่งถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกโยกย้าย จากการปฏิบัติงาน หรือการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและไปกระทบกับผู้ที่มีอำนาจ คนเหล่านี้จะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการดูแล ใส่ใจจากสังคม

ดรุณี หิรัญรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน เปิดเผยว่า งานสำคัญของภาคี นอกจากงานส่งเสริม และสนับสนุนแล้ว เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสังคม ภาคีจะร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริมยกย่องคุ้มครองคนดี และองค์กรที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย และเสริมสร้างพลังผลักดันให้เกิดคนดี และองค์กรที่ดีเพิ่มขึ้น โดยขยายผลไปในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นรูปธรรม

สำหรับการแถลงข่าวและพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรม จริยธรรมของแผ่นดิน" ระหว่าง 7 องค์กร จะมีขึ้นในเวลา 10.00 – 12.00 น.วันที่ 23 ตุลาคมนี้ ณ ห้องดวงกมล โรงแรมเดอะสุโกศล (สยามซิตี้เดิม) ถนนศรีอยุธยา กทม.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยสหรัฐฯ เผย พนง.ฟาสต์ฟู้ด ต้องพึ่งโครงการช่วยเหลือจากภาษี ชี้บรรษัทผลักภาระ

Posted: 17 Oct 2013 09:11 AM PDT

จากค่าแรงที่ต่ำและหลายคนไม่ได้รับสวัสดิการสุขภาพจากที่ทำงาน ทำให้คนงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ กว่าครึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่มาจากเงินภาษีประชาชน นักวิจัยชี้ว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่ผลักภาระรายจ่ายไปให้กับประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2013 สำนักข่าว Common Dreams กล่าวถึงงานวิจัยของศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ โดยงานวิจัยระบุว่า คนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดค่าแรงต่ำร้อยละ 52 จำเป็นต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นงบประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 2 แสนล้านบาท)

แรงงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ ได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ย 8.69 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 270 บาท) และมักไม่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว ขณะที่อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดทำเงินได้ราว 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่า คนงานฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเด็กวัยรุ่นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่มีอยู่ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของคนงานทั้งหมดที่เป็นคนอายุ 20 ปีขึ้นไปและมีลูกอย่างน้อย 1 คน รวมถึงเป็นผู้หาเลี้ยงหลักของครอบครัว

จากสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้คนงานร้อยละ 52 ซึ่งรวมถึงคนที่ทำงานเต็มเวลา จำเป็นต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลเช่นโครงการประกันสุขภาพ (Medicaid) โครงการให้ความช่วยเหลือด้านโภชนาการเสริมหรือที่ถูกเรียกว่าโครงการตั๋วแลกอาหาร (Food stamps) โครงการให้ความช่วยเหลือชั่วคราวสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โครงการประกันสุขภาพเด็ก และโครงการคืนภาษีเกินเครดิตสำหรับคนรายได้น้อย (Earned Income Tax Credit) ซึ่งเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้จ่ายภาษี

"ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะเนื่องจากผู้เสียภาษีเป็นผู้จ่าย" ซิลเวียร์ อัลเลเกรตโต นักเศรษฐศาสตร์และรองประธานศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานกล่าว "แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงในการอภิปรายนโยบายระดับชาติเรื่องความยากจน การจ้างงาน และการจัดสรรงบประมาณสาธารณะ"

เคน จาคอบส์ ประธานศูนย์ศึกษาวิจัยแรงงานกล่าวว่า คนที่ทำงานในร้านฟาสต์ฟู้ดได้รับค่าแรงน้อยมากจนต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นความจำเป็นมากกว่าเป็นทางเลือกพิเศษ แม้กระทั่งกับคนที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาหฺ์

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ทำการสำรวจจากคนงานฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการซึ่งต้องทำงานอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 27 สัปดาห์ต่อปี ในช่วงปี 2007 ถึง 2011 โดยพบว่ามีคนงานร้อยละ 28 ทำงานตั้งแต่ 40 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์


บรรษัทผลักภาระให้ประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขรายจ่ายสาธารณะที่ใช้ไปกับการให้ความช่วยเหลือคนทำงานในบริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่สิบแห่ง ได้แก่แมคโดนัลด์, ร้านค้าในเครือยัม! (พิซซ่าฮัท, เคเอฟซี, ทาโก้ เบลล์), ซับเวย์, เบอร์เกอร์คิง, เวนดี้ส์, ดังกิ้น โดนัท, แดรี่ควีน, ลิตเติ้ล ซีซาร์ส, โซนิค และโดมิโนส์

ในรายงานดังกล่าวระบุว่า คนทำงานทั้ง 10 บริษัทต้องอาศัยเงินให้ความช่วยเหลือจากโครงการสาธารณะรวมแล้ว 3,800 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 117 พันล้านบาท) โดยแมคโดนัลด์มีลูกจ้างจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเงินสาธารณะมากที่สุดเป็นจำนวนราว 1,200 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 37,000 ล้านบาท)

"ทุกครั้งที่ผู้เสียภาษีถูกผลักภาระให้ต้องรับผิดชอบรายจ่ายปัจจัยพื้นฐานของคนงานซึ่งไม่ได้รับจากการจ้างงานและไม่สามารถหามาได้เองเพราะค่าจ้างต่ำ ผู้เสียภาษีเหล่านี้กำลังจ่ายเพิ่มกำไรให้กับเหล่าบรรษัทโดยตรง" คริสติน แอล โอเวนส์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว

โอเวนส์กล่าวอีกว่า "ในกรณีของฟาสต์ฟู้ดแล้ว บรรษัทข้ามชาติอย่างแมคโดนัลด์ไม่เพียงทำกำไรมหาศาลจากการจ่ายค่าจ้างราคาต่ำเท่านั้น แต่กำไรเหล่านั้นมาจากพวกเราด้วย ไม่ว่าเราจะซื้อสินค้าของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม"

Common Dreams กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจของคนงานฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับค่าแรงต่ำเริ่มได้รับความสนใจหลังจากมีการประท้วงเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 450 บาท) รวมถึงเรียกร้องสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปีที่แล้ว และในตอนนี้กำลังเริ่มขยายตัวไปทั่วประเทศสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Nearly $7 Billion a Year: The Public Cost of Low-Wage Fast-Food Jobs, CommonDreams, 16-10-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/10/16-3

Low-wage fast-food jobs leave hefty tax bill, report says, UC Berkeley News Center, 15-10-2013
http://newscenter.berkeley.edu/2013/10/15/low-wage-fast-food-jobs-leave-hefty-tax-bill-report-says/

รายงานของโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ
http://www.nelp.org/page/-/rtmw/uploads/NELP-Super-Sizing-Public-Costs-Fast-Food-Report.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผนที่ระวางทวายแร่ตะกั่วที่คลิตี้ 77 ตารางกิโลเมตร ‘กพร.-ทธ.’ เสนอเดินหน้าต่อ

Posted: 17 Oct 2013 06:08 AM PDT

 
กรมทรัพยากรธรณี[1] ได้ดำเนินนโยบายจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่เพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่[2] ชนิดต่างๆ ในขนาดมาตราส่วน 1:250,000 ทั่วประเทศ พร้อมทั้งประเมินปริมาณสำรองของแร่แต่ละชนิดในพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่แหล่งแร่ต่างๆ ที่ได้เคยสำรวจพบแล้ว โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2540 เป็นต้นมา       
 
การสำรวจและประเมินทรัพยากรแร่ ในแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ระวาง ND 47-6 หรือ ระวางทวาย ตามนโยบายดังกล่าว เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2542 เพื่อกำหนดพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่ทุกชนิด พร้อมทั้งประเมินปริมาณแร่สำรองของแร่แต่ละชนิดที่สำรวจพบในพื้นที่นี้ พื้นที่ดำเนินการตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14° 00¢ ถึง 15° 00¢ เหนือ และเส้นแวงที่ 98° 15¢ 99° 00¢ ตะวันออก คลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอทองผาภูมิ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งหมดประมาณ 5,575 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตด้านทิศเหนือ อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และประเทศสหภาพพม่า ทิศตะวันออกอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ และไทรโยค ทิศใต้และตะวันตกอยู่ติดกับประเทศสหภาพพม่า
 
กล่าวเฉพาะแร่ตะกั่ว-สังกะสี เพราะเป็นที่สนใจรับรู้ของสาธารณชน อันเนื่องมาจากมีตะกอนตะกั่วจำนวนมากในลำห้วยคลิตี้จนเป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร โดยแพร่กระจายเข้าไปในสัตว์น้ำ พืชพรรณไม้น้ำ และไม้ริมน้ำ สองฝั่งห้วยคลิตี้ จนเป็นเหตุให้ประชาชนมีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนและสะสมอยู่ในร่างกาย จนเจ็บป่วยและพิกลพิการนั้น ส่วนใหญ่จะพบแร่ดังกล่าวในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของแผนที่ระวางทวาย ระหว่างแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่
 
แหล่งแร่นี้มีการผลิตแร่มาเป็นเวลานานมากกว่า 1,500 ปี โดยหลังปี 2500 ที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศ มีเหมืองขนาดใหญ่ที่ทำการผลิตแร่เกิดขึ้นอยู่ 4 เหมือง ด้วยกัน ได้แก่ เหมืองสองท่อ เหมืองบ่อใหญ่ เหมืองบ่องาม และเหมืองบ่อน้อย ปัจจุบันเลิกผลิตหมดแล้ว (เลิกผลิตตั้งแต่ปี 2548) เนื่องจากประทานบัตรหมดอายุ กระแสการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นป่าต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เคยมีการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน และปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้
 
นอกจากพื้นที่แหล่งแร่ที่ปรากฏซ้อนทับอยู่ในพื้นที่การทำเหมืองขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ตามที่ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าก่อน การจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่ตามนโยบายดังกล่าวยังได้สำรวจและประเมินทรัพยากรแร่เพื่อกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ด้วย โดยสามารถกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ 4 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 385 ตารางกิโลเมตร หรือราว 240,625 ไร่ (ดูแผนที่ 1 แผนที่แสดงพื้นที่ศักยภาพแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 ) ดังนี้
 
(1) พื้นที่เกริงกระเวีย-สองท่อ-บ่อน้อย (Pb-Zn 1) ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่เกริงกระเวีย สองท่อ บ่อใหญ่ บ่อน้อย และหนานยะ ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล และตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 286 ตารางกิโลเมตร
 
(2) พื้นที่บ่องาม (Pb-Zn 2) ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่บ่องาม ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 92.2 ตารางกิโลเมตร
 
(3) พื้นที่ปิล็อก (Pb-Zn 3) ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร
 
(4) พื้นที่เขาตะกั่ว (Pb-Zn 4) ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.7 ตารางกิโลเมตร
 
แผนที่ 1 : แผนที่แสดงพื้นที่ศักยภาพแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 (ทวาย)
คัดลอกจาก รายงานวิชาการ ฉบับที่ กธท 2/2546 การประเมินทรัพยากรแร่ในแผนที่ระวาง ND 47-6 (ทวาย)
โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลกัมมันตรังสีทางอากาศ กองธรณีเทคนิค กรมทรัพยากรธรณี. หน้า 42
 
 
 

งานศึกษาของ TDRI

 
ต่อมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ศึกษาต่อยอดจากการจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่ตามนโยบายดังกล่าว โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้จัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี[3] เมื่อปี 2546 โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วเอาไว้ 2 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 77 ตารางกิโลเมตร (ดูแผนที่ 2 แผนที่หมู่บ้านบริเวณการทำแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี) ได้แก่
 
(1) พื้นที่สองท่อ-บ่อใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร
 
(2) พื้นที่บ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร
 
แผนที่ 2: แผนที่หมู่บ้านบริเวณการทำแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
คัดลอกจาก รายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546. หน้า8
 
งานศึกษาชิ้นนี้มีความแยบยลด้วยการใช้วิธีเปรียบเทียบระหว่าง 'การประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง' กับ 'มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการพัฒนากิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่ว' เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสนับสนุนประเด็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการพัฒนากิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่ว มากกว่าการคำนึงถึงมูลค่าสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่วที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากข้อเสนอให้กันเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วทั้ง 2 บริเวณข้างต้น พื้นที่ 77 ตารางกิโลเมตร (48,125 ไร่) เป็นเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ตะกั่วเกิดปะปนอยู่อย่างสมบูรณ์
 
โดยคำนึงถึงมูลค่าสิ่งแวดล้อมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่วที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็เพียงแต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแหล่งแร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับตะกั่วจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 
ถือเป็นการศึกษาที่ขาดประเด็นสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็น ดังนี้
 
1.ไม่ตั้งคำถามหรือวิเคราะห์และวิจารณ์ความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ-ราชการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนและสะสมสารพิษตะกั่วในร่างกายประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้ เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา
 
แต่กลับเสนอให้เดินหน้าต่อ ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่กลับฝากผีฝากไข้ไว้กับหน่วยงานรัฐ-ราชการที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากเหตุการณ์สารพิษตะกั่วปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและในชีวิตมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำห้วยคลิตี้ เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา
 
2.ไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสภาพแวดล้อมใกล้เคียงให้ฟื้นคืนกลับมาใหม่ จากเหตุการณ์สารพิษตะกั่วปนเปื้อน เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตามที่ประชาชนในพื้นที่และสาธารณชนร้องขอ
 
ไม่เพียงเท่านั้น งานศึกษาชิ้นนี้ได้พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะผลักดันให้เห็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการทำเหมืองแร่ตะกั่วมากกว่ามูลค่าสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบ โดยอ้างว่าสาเหตุการปนเปื้อนของตะกั่วซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
 
หนึ่ง – เกิดจากธรรมชาติของพื้นที่ที่มีแร่ตะกั่วเกิดปะปนกับดินและหินสูงผิดปกติ
 
สอง – เกิดจากกิจการทำเหมืองและแต่งแร่ตะกั่วในบริเวณดังกล่าว
 
การอ้างเช่นนี้ก็เพื่อโยนความผิดจากการทำเหมืองและแต่งแร่ตะกั่วที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นกับระบบนิเวศลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ จนส่งผลกระทบต่อมาเป็นลูกโซ่ไปยังประชาชนที่อาศัยลำห้วยคลิตี้เพื่อหาอยู่หากินและเลี้ยงชีพ ไปให้กับธรรมชาติ
 
ความดื่มด่ำศรัทธาใน 'ธรรมชาติ' ของงานศึกษาชิ้นนี้ได้ถูก กพร.นำไปขยายผลในทางที่สนับสนุนให้มีเหมืองแร่ตะกั่วในพื้นที่ศักยภาพแร่ 77 ตารางกิโลเมตร มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยแม้จะยอมรับความจริงว่าการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนของตะกั่วในสิ่งแวดล้อมบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่กระจายของตะกอนหางแร่จากโรงแต่งแร่ พบว่าในปี 2541-2543 น้ำห้วย ตะกอนธารน้ำ และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งพืชบางชนิดมีปริมาณตะกั่วปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
 
แต่ธรรมชาติ นี่เองที่พบว่า "ในปัจจุบันคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติของพื้นที่ ทั้งนี้ โรงแต่งแร่ที่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนถูกให้หยุดดำเนินการตั้งแต่เกิดเหตุทำนบบ่อกักเก็บหางแร่พังทลายในปี 2541 และไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกเลย"[4]
 
และ "จากข้อมูลล่าสุดในปี 2545 ผลการตรวจวัดระดับตะกั่วในเลือดของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำห้วยคลิตี้ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ทำเหมืองและแต่งแร่ แต่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับตะกั่วจากสิ่งแวดล้อม อีก 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านคลิตี้บน ห้วยเสือ ทุ่งนางครวญ เกริงกะเวีย ท่าดินแดง และทิพุเย พบว่าระดับตะกั่วในกลุ่มเด็กจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีแนวโน้มลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) แต่มีเด็กบางส่วนจาก 4 หมู่บ้าน มีระดับตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐาน ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่มีเพียงคนเดียวที่มีระดับตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน (40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร)"[5]
 
เพื่อที่จะตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาสารพิษตะกั่วไม่ได้มีสาเหตุจากกิจกรรมเหมืองแร่และโรงแต่งแร่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษของตะกั่วในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเอง เพราะสามารถตรวจพบระดับตะกั่วเกินค่ามาตรฐานในหมู่บ้านข้างเคียง 4 หมู่บ้าน ที่มิได้อยู่ท้ายน้ำของลำห้วยคลิตี้
 
นอกจากนี้ ยังพบความย้อนแย้งของข้อมูลในงานศึกษาชิ้นนี้เพิ่มเติมอีก ในบทที่ 7 ของรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบทสรุปและแนวทางการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เสนอไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมการทำแร่ตะกั่วให้ดำเนินกิจกรรมการทำแร่ตะกั่วต่อไปได้ในบริเวณสองท่อ-บ่อใหญ่ เพราะมีการลงทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่ต้องเป็นไปตามแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบ
 
ในส่วนของพื้นที่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง พบว่า มูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่ากับต้นทุน จึงสมควรชะลอการทำแร่จนกว่าราคาแร่ตะกั่วจะสูงขึ้น หรือมีวิธีการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำลง แต่ในบทที่ 6 ได้วิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำเหมืองแร่ตะกั่วที่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง เอาไว้ว่า
 
"แนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสารตะกั่ว คือการย้ายชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่มีกิจกรรมการทำเหมืองแร่ออกจากพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อจำนวนครัวเรือนแตกต่างกัน ดังนั้น จึงคำนวณต้นทุนการอพยพแยกเป็น 2 แหล่ง คือ กลุ่มเหมืองสองท่อ-บ่อใหญ่ และกลุ่มเหมืองบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง แยกเป็นพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย โดยนำพื้นที่เฉลี่ย คูณ จำนวนครัวเรือน คูณ มูลค่าที่ดินต่อไร่ ซึ่งอ้างอิงราคาที่ดินของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากการอพยพคนต้องใช้เงินเพื่อชดเชยในราคาสูงจึงจะมีการอพยพออก และเป็นมูลค่าที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน"[6]
 
โดยค่าชดเชยการอพยพประชาชนกรณีการพัฒนาเหมืองแร่บริเวณสองท่อ-บ่อใหญ่ ต้องใช้งบประมาณ 774.26 ล้านบาท ส่วนค่าชดเชยการอพยพประชาชนกรณีการพัฒนาเหมืองแร่บริเวณบ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ต้องใช้งบประมาณ 221.78 ล้านบาท
 
 

งานศึกษาของศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
ในปี 2554 กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว- สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี[7] (ดูแผนที่ 3 แผนที่แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี) เพื่อยกระดับในการจัดทำข้อเสนอทางนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนำข้อเสนอที่ได้จากงานศึกษาของ TDRI มาจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นขอบเขตอำเภอทองผาภูมิเป็นหลัก เพื่อสร้างกระบวนการการยอมรับให้เกิดการกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วออกจากเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนขอสัมปทานทำเหมืองแร่ตะกั่วในพื้นที่ 77 ตารางกิโลเมตร ขึ้นในอนาคต
 
ปัจจุบัน งานศึกษาของศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะเสนอผลงานให้กับกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) รับงานและอนุมัติจ่ายงบประมาณงวดสุดท้ายต่อไป
 
แผนที่ 3: แผนที่แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
คัดลอกจาก แหล่งแร่ตะกั่ว สังกะสี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. หน้า 5
ข้อมูลโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี.
เริ่มโครงการปี 2554 โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 

บทสรุป

 
ทั้งๆ ที่ผ่านมา การทำเหมืองแร่ตะกั่วและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของตะกอนหางแร่ตะกั่วในลำห้วยดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างรุนแรง จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จนในที่สุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งกรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 ราย คนละ 1.77 แสนบาท พร้อมสั่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ก็หาได้เป็นบทเรียนแก่รัฐ-ราชการ นักวิชาการ และนักลงทุนแต่อย่างใด ยังคงมีความพยายามผลักดันเดินหน้าเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนขอสัมปทานทำเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ต่อไป
 
นอกจากการใช้งานศึกษาวิจัยมารองรับและผลักดันให้ทำการกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ออกจากพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขกฎหมายแร่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510) เพื่อกันเขตศักยภาพแร่ทุกชนิด ไม่เฉพาะแร่ตะกั่ว ออกจากพื้นที่ป่าไม้ที่มีกฎหมายเฉพาะหวงห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ นำมาให้เอกชนประมูลเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามให้จงได้
 
ดังเช่น ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ฉบับล่าสุดเมื่อปี 2555 ที่ กพร.ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวได้ยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ที่ กพร.กำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติรับหลักการเพื่อนำไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป
 
 
พระราชบัญญัติแร่
พ.ศ. 2510
ร่างพระราชบัญญัติแร่
พ.ศ. .... (2555)
  มาตรา 6 จัตวา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย
  มาตรา 90 เพื่อประโยชน์แก่การบริหารจัดการแร่ด้านเศรษฐกิจของประเทศและการได้มาซึ่งทรัพยากรแร่อันมีค่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ต้องเป็นพื้นที่ดังต่อไปนี้
  (1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
  (2) มิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ
 
 
 

[1] ภายหลังการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีการแยกภารกิจหลักของกรมทรัพยากรธรณีไปสังกัดอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ตามที่มีการแบ่งโครงสร้างส่วนราชการใหม่ คือ งานด้านการให้สัมปทาน ควบคุม กำกับและดูแลการสำรวจและทำเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขึ้นกับหน่วยงานใหม่ชื่อ 'กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่' หรือ กพร.สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม งานด้านสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรณีตามกฎหมายแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ เฉพาะมาตรา ๖ ทวิ และ ๖ จัตวา ขึ้นกับกรมทรัพยากรธรณี ย้ายสังกัดไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านน้ำบาดาลขึ้นกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านพลังงานขึ้นกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดกระทรวงพลังงาน
 
[2] จากรายงานวิชาการ ฉบับที่ สนผ 1/2554 กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจำแนกเขตทรัพยากรแร่. ดรุณี เจนใจ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี.
กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งทรัพยากรแร่ของประเทศ โดยจัดแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ตามนิยาม ดังนี้
                (1) พื้นที่ที่สำรวจแล้วแต่ยังไม่พบศักยภาพทางแร่ หรือพื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจ (พื้นที่ไม่พบแร่/ยังไม่สำรวจ) หมายถึง พื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจหรือพื้นที่ที่ยังสำรวจไม่พบศักยภาพทางแร่หรือแหล่งแร่ ซึ่งต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมต่อไป
                (2) พื้นที่ศักยภาพแร่ หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ยังไม่มีการค้นพบทรัพยากรแร่ที่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะมีได้ โดยมีหลักฐานบ่งชี้จากข้อมูลทางธรณีวิทยา ธรณีวิทยาแหล่งแร่ ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์ ทั้งนี้ หมายรวมถึงพื้นที่ที่มีแร่กระจัดกระจายในหินซึ่งมีนัยสำคัญ หรือมีบริเวณพบแร่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น ๆ
                (3) พื้นที่แหล่งแร่ หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งมีแหล่งแร่หรือแหล่งสินแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดเกิดร่วมกันในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่มีคำขอประทานบัตร และ/หรือประทานบัตร แหล่งหินอุตสาหกรรม ที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งในการกำหนดขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่จะใช้ข้อมูลวิชาการทางธรณีวิทยาแหล่งแร่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนด
[3] รายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546
[4] ข้อความในเครื่องหมายคำพูดคัดลอกจากเนื้อหาที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์องค์กร เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://www.dpim.go.th/laws/article?catid=122&articleid=310 คัดลอกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556  ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อ้างมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี. เสนอกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมษายน 2546
[5] อ้างอิงเดียวกันกับเชิงอรรถ 4
[6] รายงานฉบับสมบูรณ์ฯ ตามเชิงอรรถ 3. หน้า 136
[7] โครงการศึกษาดังกล่าว มีระยะเวลาศึกษาโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2554 (210 วัน) แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่แล้วเสร็จ อาจจะเนื่องด้วยการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้าไปจากแผนงาน/ระยะเวลาศึกษาที่วางไว้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเดิมเวทีรับฟังฯ โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน คนลำพูนแห่ค้านเขื่อนห้วยตั้ง

Posted: 17 Oct 2013 04:57 AM PDT

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจวก กบอ.ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เสียง 80-90 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้งในเวที รัฐบาล-กบอ. ต้องทบทวนตัวเอง พร้อมนัด 30 ต.ค.นี้ ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เชียงใหม่
 
 
วันนี้ (17 ต.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15-16 ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียบการสร้างเขื่อนการพัฒนาที่ผิดแนวทาง โดยมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ อาทิ โครงการเขื่อนแม่ขาน อุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่, โครงการเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, โครงการเขื่อนแม่ยม เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และโครงการเขื่อนชมพู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กว่า 70 คนเข้าร่วม ณ ศาลาวัดแม่ขนิลท์ใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.56 ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ ในโมดูล A1 "โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก" ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีแรกของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่หอประชุมบุรีรัตน์ ชั้น 3 โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน พบว่าประชาชน 80-90 เปอร์เซ็นต์ แสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
 
 
เวทีดังกล่าวมีข้อเสนอให้ กบอ.พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ทั่วทุกหมู่บ้าน เพราะการสร้างเขื่อนห้วยตั้งจะกระทบต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ยอมให้สร้างแน่ แต่หากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งข้อเสนอให้สร้างอ่างขนาดเล็กนี้ไม่มีในแผนและไม่มีในTOR ของ กบอ.
 
 
หลังเวทีรับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้ประชุมหารือกันต่อและได้ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายภาคประชาชนเสนอข้อเสนอแนะต่อ กบอ. 3 เรื่อง ดังนี้
 
1.การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ พบว่าเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้เป็นเอกสารเดิมๆ ที่มีการแจกจ่ายในการจัดนิทรรศการ "น้ำเพื่อชีวิต" มาแล้วก่อนหน้านี้ ในเอกสารมีข้อมูลระบุเพียงสั้นๆ ถึงจุดสร้างเขื่อน ที่ตั้งโดยสังเขป ความจุอ่างเก็บน้ำ แต่กลับไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 7(7) คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ในเวทีมีเพียงคู่มือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แจกช่วงลงทะเบียนในช่วงเช้าเท่านั้นไม่ได้มีการจัดส่งเอกสารให้กลุ่มเป้าหมายล่วงหน้าก่อน 15 วัน จึงขาดโอกาสทำความเข้าใจในเอกสารก่อนร่วมเวที
 
2.ผิดกลุ่มเป้าหมาย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้มีจำนวนน้อย ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เจ้าของเวทีจัดไว้ เมื่อมาลงทะเบียนผู้เข้าร่วมจึงถูกผลักไปอยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในห้องประชุมหลัก ขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และกระบวนการรับฟังได้กำหนดเวลาให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงคนละ 3 นาที จึงไม่สามารถอธิบายเนื้อหาได้ครบถ้วน
 
3.สถานที่จัดเวทีไม่เหมาะสม เวทีในวันนี้จัดที่หอประชุมโรงเรียนจักคำคณาทร ที่มีพื้นที่จำกัดไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ทั้งหมดในห้องเดียวกัน จึงทำให้ผู้เข้าร่วมขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ด้วยข้อสังเกตดังที่กล่าวมา เครือข่ายภาคประชาชนฯ มีความเห็นว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 57(2) ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือมีความเห็นว่า จากการประชุมหารือของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเห็นว่า กบอ.วางแผนการจัดการน้ำในห้องแอร์ ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านต้องการอะไร เป็นการรวมโครงการของกรมชลประทานเก่าๆ ที่ดำเนินการไม่ได้มาพ่วงกัน เหมาเข่งขายโครงการให้ต่างชาติ ทั้งอิตาเลียนไทย และเกาหลี ซึ่งไม่สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้รับรู้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจรวมศูนย์ไม่สอดคลองกับความต้องการในพื้นที่ก็จะถูกต่อต้านอย่างแน่นอน
 
 
นายสมเกียรติ มีธรรม แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เขื่อนแม่แจ่มจะทำลายป่าต้นน้ำ 1A ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงแม่น้ำปิง อันจะทำให้เกิดภัยแล้งน้ำท่วมหนักขึ้นกว่าเดิม ป่าไม้เมืองไทยเหลือน้อยมากแล้วไม่ควรผลักดันโครงการใดๆ ที่ทำลายป่าอีกต่อไป เราควรรักษาป่าที่เหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นเราควรฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการรักษาสมดุลธรรมชาติ จะได้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตามมา
 
ด้านนายพิษณุ สร้อยเงิน แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำยม เขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง ซึ่งปรับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน โดยเว้นชุมชนสะเอียบไว้ไม่ให้น้ำท่วม กล่าวว่า ชาวสะเอียบ ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เช่นเดียวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ถึงแม้ว่าเราไม่ต้องอพยพออกจากบ้านเรา แต่เขื่อนก็จะท่วมป่า ท่วมที่ทำกินของพวกเราชาวสะเอียบ
 
"เราคงไม่ยอมให้รัฐบาลหรือ กบอ. สร้างอย่างแน่นอน เพราะเรามีทางออก มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทั้ง 12 แนวทาง ซึ่งได้เสนอต่อนายก เสนอต่อรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง แต่ กบอ. ตาบอด มองไม่เห็น ไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาแบบอื่น จะสร้างแต่เขื่อนอย่างเดียว หรือว่า กบอ. อยากกินป่าสักทองที่พี่น้องสะเอียบอนุรักษ์ รักษา กันมากว่ายี่สิบปี" นายพิษณุ กล่าว
 
ทั้งนี้ การหารือกันของชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือมีมติในการตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ของรัฐบาลและ กบอ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ให้สาธารณะชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะได้มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง
 
 
ตารางการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
 
วิธีการ
วันเริ่มต้น
วันสิ้นสุด
สถานที่
รายละเอียดอื่น ๆ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
15/10/2556
15/10/2556
จังหวัดลำพูน
โรงเรียนจักรคำคณาทร
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
18/10/2556
18/10/2556
จังหวัดชัยนาท
โรงแรมชัยนาทธานี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
26/10/2556
26/10/2556
จังหวัดตราด
โรงแรมโกลเด้นท์ คลิป บีช รีสอร์ท
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
27/10/2556
27/10/2556
จังหวัดระยอง
โรงแรมโกลเด็นซิตี้
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
27/10/2556
27/10/2556
จังหวัดชลบุรี
The Sez Hotel
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
28/10/2556
28/10/2556
จังหวัดบุรีรัมย์
โรงแรมเทพนคร
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
28/10/2556
28/10/2556
จังหวัดอ่างทอง
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอ่างทอง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
29/10/2556
29/10/2556
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอน
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
30/10/2556
30/10/2556
จังหวัดระนอง
โรงแรมไอเฟลระนอง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
30/10/2556
30/10/2556
จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
31/10/2556
31/10/2556
จังหวัดศรีสะเกษ
โรงแรมศรีพฤทธาลัย
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
1/11/2556
1/11/2556
จังหวัดลำปาง
หอประชุมจันทร์ผา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
1/11/2556
1/11/2556
จังหวัดอุทัยธานี
มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยาบริการเฉลิมพระเกียรติ จ.อุทัยธานี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
1/11/2556
1/11/2556
จังหวัดเลย
โรงแรมเลยพาเลส
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
2/11/2556
2/11/2556
จังหวัดหนองคาย
โรงแรมรอยัลแม่โขง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
2/11/2556
2/11/2556
จังหวัดสิงห์บุรี
โรงแรมชัยแสง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
3/11/2556
3/11/2556
จังหวัดเพชรบุรี
โรงแรมไอธารา รีสอร์ท แอนด์สปา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
3/11/2556
3/11/2556
จังหวัดนครศรีธรรมราช
โรงแรมทวินโลตัส
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/11/2556
4/11/2556
จังหวัดพะเยา
มหาวิทยาลัยพะเยา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/11/2556
4/11/2556
จังหวัดชุมพร
โรงแรมแกรด์พาเลส
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/11/2556
4/11/2556
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โรงแรมหาดทอง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/11/2556
4/11/2556
จังหวัดนครสวรรค์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
5/11/2556
5/11/2556
จังหวัดหนองบัวลำภู
โรงแรมณัฐพลแกรนด์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
6/11/2556
6/11/2556
จังหวัดแพร่
มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
6/11/2556
6/11/2556
จังหวัดบึงกาฬ
โรงแรมเดอะวันโฮเตล
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
6/11/2556
6/11/2556
จังหวัดลพบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
7/11/2556
7/11/2556
จังหวัดเชียงราย
โรงแรมไดมอนปาร์ค
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
8/11/2556
8/11/2556
จังหวัดอุตรดิตถ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
8/11/2556
8/11/2556
จังหวัดสุพรรณบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (ศูนย์สุพรรณบุรี)
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
8/11/2556
8/11/2556
จังหวัดน่าน
โรงแรมเทวราช
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
9/11/2556
9/11/2556
จังหวัดสระแก้ว
โรงแรมธนาศิริ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
10/11/2556
10/11/2556
จังหวัดข่อนแก่น
โรงแรมเจริญธานี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
11/11/2556
11/11/2556
จังหวัดสุโขทัย
วิทยาลัยอาชีวศึกษา สุโขทัย
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
11/11/2556
11/11/2556
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
11/11/2556
11/11/2556
จังหวัดอุดรธานี
โรงแรมนภาลัย
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
12/11/2556
12/11/2556
จังหวัดยโสธร
โรงแรมเดอะกรีนพาร์คแกรนด์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
13/11/2556
13/11/2556
จังหวัดตาก
ห้องประชุมเทศบาลนครแม่สอด
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
13/11/2556
13/11/2556
จังหวัดกาฬสินธุ์
โรงแรมริมปาว
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
13/11/2556
13/11/2556
จังหวัดปทุมธานี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
14/11/2556
14/11/2556
จังหวัดนครพนม
โรงแรมรีเวอร์วิว
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
15/11/2556
15/11/2556
จังหวัดกำแพงเพชร
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
15/11/2556
15/11/2556
จังหวัดร้อยเอ็ด
โรงแรมร้อยเอ็ดซิตี้
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
15/11/2556
15/11/2556
จังหวัดฉะเชิงเทรา
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
16/11/2556
16/11/2556
จังหวัดนครราชสีมา
โรงแรมสบายแกรนโฮเต็ล
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
17/11/2556
17/11/2556
จังหวัดมุกดาหาร
โรงแรมพลอยพาเลส
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
18/11/2556
18/11/2556
จังหวัดมหาสารคาม
โรงแรมตักศิลา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
18/11/2556
18/11/2556
จังหวัดพิจิตร
โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
18/11/2556
18/11/2556
จังหวัดสมุทรปราการ
หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
19/11/2556
19/11/2556
จังหวัดอำนาจเจริญ
โรงแรมฝ้ายชิด
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
20/11/2556
20/11/2556
จังหวัดสตูล
โรงแรมสินเกียรติธานี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
20/11/2556
20/11/2556
จังหวัดพิษณุโลก
มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (พิษณุโลก)
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
20/11/2556
20/11/2556
จังหวัดสมุทรสาคร
วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
21/11/2556
21/11/2556
จังหวัดสุรินทร์
โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
22/11/2556
22/11/2556
จังหวัดเพชรบูรณ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
22/11/2556
22/11/2556
จังหวัดพัทลุง
โรงแรมชัยคณาธานี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
22/11/2556
22/11/2556
จังหวัดสมุทรสงคราม
วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
23/11/2556
23/11/2556
จังหวัดอุบลราชธานี
โรงแรมสุณีย์แกรนด์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
24/11/2556
24/11/2556
จังหวัดกระบี่
โรงแรมบุญสยาม
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
25/11/2556
25/11/2556
จังหวัดสกลนคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
25/11/2556
25/11/2556
จังหวัดพังงา
โรงแรมภูงา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
25/11/2556
25/11/2556
จังหวัดสงขลา
หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
26/11/2556
26/11/2556
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โรงแรมไดมอนพลาซ่า
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
27/11/2556
27/9/2556
จังหวัดชัยภูมิ
มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
27/11/2556
27/11/2556
จังหวัดภูเก็ต
โรงแรมภูเก็ตออคิดรีสอร์ท
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
27/11/2556
27/11/2556
จังหวัดราชบุรี
วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี หรือ...........
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
28/11/2556
28/11/2556
จังหวัดนราธิวาส
โรงแรมตันหยง
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
29/11/2556
29/11/2556
จังหวัดสระบุรี
วิทยาลัยสารพัดช่างสระบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
29/11/2556
29/11/2556
จังหวัดกาญจนบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
29/11/2556
29/11/2556
จังหวัดยะลา
โรงแรมยะลามายเฮ้าส์
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
30/11/2556
30/11/2556
จังหวัดตรัง
โรงแรมธรรมรินทร์ธนา
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
2/12/2556
2/12/2556
จังหวัดนครนายก
โรงเรียนนครนายกวิทยาคม
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
2/12/2556
2/12/2556
จังหวัดนครปฐม
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
2/12/2556
2/12/2556
จังหวัดปัตตานี
โรงแรมเซาร์เทิร์นวิว
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/12/2556
4/12/2556
จังหวัดปราจีนบุรี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/12/2556
4/12/2556
จังหวัดนนทบุรี
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
4/12/2556
4/12/2556
จังหวัดปราจีนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
6/12/2556
6/12/2556
จังหวัดจันทบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
การประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสีย
6/12/2556
6/12/2556
กรุงเทพมหานคร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ความรับผิดชอบของสังคมไทย กับการลงทุนในพม่า

Posted: 17 Oct 2013 02:50 AM PDT

 
ที่มาภาพ: Sulak Sivaraksa
 
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ปาฐกถาหัวข้อ "ความรับผิดชอบของสังคมไทย กับการลงทุนในพม่า" ในการประชุม "ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรม กับความรับผิดชอบ" เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคมไทยและพม่า เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบแนวคิดและกระบวนการลงทุน และคิดค้นมาตรการในการคุ้มครองชุมชน สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
มีรายละเอียด ดังนี้
 

I

 
รัฐบาลในปัจจุบันประกอบไปด้วยโสณทุจริตที่ไร้ยางอายอย่างหนาตา สมาชิกรัฐสภาก็มากไปด้วยคนกึ่งดิบกึ่งดี ที่ไม่ยืนอยู่ข้างราษฏรตาดำๆ ที่เดือดร้อนแสนลำเค็ญ แม้ผู้พิพากษาตุลาการที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยเข้าถึงความยุติธรรมอย่างไปพ้นตัวบทกฏหมายอย่างประกอบไปด้วยการุณยกรรมนั้น ก็หาได้ยากยิ่งนัก ยังมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็แทบหาความเป็นครูที่เป็นปูชนียบุคคลได้ยากเป็นอย่างยิ่ง นี่ว่าถึงในทางอาณาจักร ซึ่งสยบไปกับบรรษัทข้ามชาติและอภิมหาอำนาจอันได้แก่ จีนและสหรัฐอย่างไม่พึงต้องสงสัย
 
แล้วในทางศาสนจักรเล่า กรรมการมหาเถรสมาคม ไม่อยู่ในสภาพที่ดีกว่ารัฐบาลเอาเลย เรามีสมเด็จพระราชาคณะที่ชอบเสพกามกับคนเพศเดียวกันถึง 2 รูป และเรามีรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีภรรยาอย่างเปิดเผยก็อย่างน้อย 2 รูป อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปราชิกทั้งทางด้านการเสพเมถุนและโกงกิน แต่กลับได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ หัวหน้าคณะธรรมกาย ซึ่งมีลายพระหัตถ์พระสังฆราช ประกาศออกมาชัดเจนว่าหมดความเป็นพระแล้ว ทั้งทางอัยการก็เตรียมฟ้องคดีอาญาด้วยแล้ว แต่ถูกอดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีความฉ้อฉลอย่างสุดๆ สั่งให้ยุติไว้อย่างผิดกฏหมาย ก็ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์
 
การบริหารงานของศาสนจักรและอาณาจักร รวมถึงแวดวงมหาวิทยาลัย ใช้อำนาจเป็นธรรม ไม่ใช่ธรรมเป็นอำนาจ มีการเล่นพรรคเล่นพวก และใช้เล่ห์ทุบาย ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างน่าสมเพชเวทนา สื่อสารมวลชนก็เป็นไปเพื่อเดินตามทางของทุนนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม ด้วยการมอมเมามหาชนอย่างแยบคาย อย่างยากที่จะหาผู้ที่จะกล้าท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงทั้งหลายเหล่านี้เอาเลย
 
แล้วเราจะหวังอะไรได้กับบ้านนี้เมืองนี้ แต่พุทธศาสนาสอนให้เราใช้อุปายโกศล คือการวางท่าทีที่ถูกต้อง เพื่อเอาวิกฤตมาใช้ให้เป็นโอกาส ฉะนั้น เราจึงต้องตระหนักรู้ทุกขสัจทางสังคม โดยโยงไปหาเหตุแห่งทุกข์ให้ชัด แล้วเราก็จะดับทุกข์ได้โดยครรลองของพระอริยมรรค
 
นี่เป็นเพียงคำปรารภหรือคำเตือน ที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร
 

II

 
ว่าเจาะจงไปที่ความรับผิดชอบของสังคมไทยกับการลงทุนในพม่า เราต้องตราไว้ว่าพม่าเป็นประเทศปิดมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เผด็จการภายใต้การนำของนายพลเนวินในปี ค.ศ.1962  ยิ่งค่ายฝ่ายตะวันตกที่อ้างว่าเป็นเสรีประชาธิปไตย ที่สมาทานลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีอิทธิพลกับประเทศพม่ายิ่งๆ ขึ้น จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐในอารักขาของรัฐบาลจีนก็ว่าได้
 
ว่าไปทำไมมี ไทยเราก็หาได้พ้นไปจากอาณัติของจักรวรรดินิยมจีนและจักรวรรดินิยมอเมริกา แต่ตอนนี้ขอว่าด้วยเรื่องพม่าก่อน อย่างน้อยพม่าเริ่มรู้ตัวว่าจักรวรรดิจีนก้าวก่ายมากไป ดังที่จีนก็ทำเช่นนี้กับทุกๆ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงลาว ไทย เขมร ตลอดจนญวน แต่พม่าปลดแอกออกจากจีนได้ก่อนประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ แม้จะยังไม่เป็นไทจากจีนแท้ทีเดียวก็ตาม
 
อย่างน้อยการปลดแอกจากจีนไปในประการแรกคือ ถือโอกาสเชื้อเชิญให้โลกตะวันตกที่เคยรังเกียจพม่าให้เลิกคว่ำบาตร โดยอ้างว่าพม่าจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างแล้ว รวมถึงการใช้การให้อิสรภาพกับนางอองซานสุจีเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งด้วย
 
หน่วยงานของข้าพเจ้าร่วมงานกับชุมชนต่างๆ ในพม่ามากว่า 15 ปี ไม่แต่กับพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา ตลอดจนศาสนิกนิกรอื่นๆ เช่น คริสต์ และมุสลิม โดยเฉพาะก็ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งมอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น ฯลฯ กล่าวด้วยว่าพวกเราชาวไทยที่ร่วมงานกับคนในพม่าที่ว่านี้ มีความเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งกันและกัน คือเราเตือนกันได้ เราวิพากษ์วิจารณ์กันได้ หรือเราก็ต่างพูดให้กันและกันฟัง แม้จะขัดใจกัน ก็อดกลั้นไว้ด้วยเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นกัลยาณมิตร ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่ากัลยาณมิตรคือผู้ที่พูดในสิ่งซึ่งเราไม่อยากฟัง แต่เขาหวังดี คือเขาเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก
 
ประเด็นอยู่ตรงนี้เอง คือความรับผิดชอบกับสังคมนั้น ผู้ที่ถือว่าตนว่าตนเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะสังคมของตนเอง หรือสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องสร้างความเป็นกัลยาณมิตรขึ้นให้ได้ก่อน แล้วจึงจะพูดถึงการลงทุนด้วยกัน หรือค้าขายร่วมกัน รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ด้วย
 
จำได้ว่าข้าพเจ้าเคยพูดกับมหาเทวีแห่งยางห้วย ซึ่งเคยเป็นภรรยาของประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า โดยที่ต่อมาท่านผู้นี้ถูกเนวินจับเข้าขังคุกจนไปตายในที่คุมขัง เผอิญข้าพเจ้าโชคดีทีไม่แต่มหาเทวีเท่านั้นที่ถือว่าข้าพเจ้าเป็นกัลยาณมิตร โอรสท่านทุกองค์ก็ถือเอาว่าข้าพเจ้าเป็นกัลยาณมิตรด้วยเช่นกัน โดยที่ทุกท่านต้องอพยพหลบภัยไปอยู่ ณ ต่างแดนทั้งนั้น องค์มหาเทวีเองก็ไปพิลาไลยในประเทศคานาดา
 
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า "คุณสุลักษณ์ ไทยกับไทยใหญ่ หรือชนชาติใดในพม่า ควรเป็นเพื่อนกันก่อน เมื่อเป็นเพื่อนอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว การทำมาค้าขาย หรือลงทุนลงแรงร่วมกัน ก็ย่อมเป็นไปด้วยดี" ข้าพเจ้าถือว่านี่ออกมาจากหัวใจของผู้คนที่มีความเป็นมนุษย์ ยิ่งกว่าการเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังที่สัตว์เศรษฐกิจคุมโลกอยู่ โดยเฉพาะก็ในระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ที่สหรัฐและสหภาพยุโรปคุมอยู่ในตะวันตก แล้วจีนก็สมาทานลัทธินี้เช่นกัน โดยมีสิงคโปร์เป็นสุนัขรับใช้ของทั้งสองค่ายนี้ที่ในเอเชียอาคเนย์ มิไยต้องเอ่ยถึงบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ซึ่งไม่พ้นจักรวรรดินั้นๆ ด้วย บรรษัทข้ามชาติในไทยอย่างซีพี และอิตาเลียนไทย และเบียร์ช้าง ก็สมาทานลัทธิดังกล่าว ซึ่งไม่เห็นคุณค่าของกัลยาณมิตรหรือคุณค่าของแรงงาน หรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ยิ่งจะให้เข้าใจถึงเอกลัษณ์พิเศษของวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยแล้ว ย่อมไปพ้นความคิดหรือความเข้าใจของสัตว์เศรษฐกิจเหล่านี้เอาเลย โดยที่บรรษัทพวกนี้มีสายสนกลไกเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำในจักรวรรดิอเมริกันและจักรวรรดิจีน รวมถึงนักการเมืองในแต่ละประเทศที่สยบยอมกับลัทธิทุน จนอาจกล่าวได้ว่าสมาทานลัทธิดังกล่าวแทนลัทธิศาสนาของปู่ย่าตายายที่ต่างอ้างว่าเคารพนับถือแต่เพียงทางรูปแบบและพิธีกรรมเท่านั้น
 
ขอให้กำหนดลงมาที่ทวายแห่งเดียวก็ได้ว่า  บริษัทอิตาเลียนไทยต้องการไปลงทุนที่นั่น ด้วยโครงการท่าเรืออ่าวน้ำลึก โดยมีแผนการทำถนนอย่างยิ่งใหญ่ ทะลุเข้าไปทางกาญจนบุรี ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาอย่างโลกาภิวัตน์ จนตลอดถึงเมืองจีน โดยเบียดเบียนบีฑาคนแถบถิ่นนั้นอย่างสุด ฃๆ มิไยต้องพูดถึงการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แต่แล้วลำพังบริษัทอิตาเลียนไทยเท่านั้น ก็มีทรัพยากรไม่พอกับโครงการขนาดยักษ์ดังกล่าว  
นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยิ่งใหญ่เท่าๆ กับบรรษัทข้ามชาติ และมีอำนาจเหนือรัฐบาลไทย จึงสั่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าไปลงทุนในโครงการนี้อีกด้วย โดยใช้เงินจากภาษีอากรของราษฏรไทย ดังเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เอาเงินแผ่นดินไปปู้ยี่ปู้ยำกับการลงทุนในพม่า จนนายกรัฐมนตรีพม่าคนหนึ่งต้องปลาสนาการจากอำนาจไปแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณาถึงประชาชนที่ว่านี้อย่างจริงจัง โดยที่โครงการอันมหึมาก็ยังคงดำเนินที่ทวาย ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ยังรัฐบาลจีนก็เข้ามาเออออห่อหมกอย่างออกหน้า ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีจีนเข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนำเอาพิณพม่ามามอบให้
 
แล้วความรับผิดชอบของคนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจและอยู่นอกเหนือบรรษัทนั้นๆ จะทำอะไรได้  นี่ข้าพเจ้าขอฝากไว้ให้อภิปรายกัน
 

III

 
นิมิตดีก็ตรงที่ กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย สามารถมีบทบาทได้แม้ในพม่า ถ้าคนไทยไปละเมิดสิทธิชุมชนในประเทศนั้น ทั้งบัดนี้เรายังมีคนไทยเป็นตัวแทนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนอีกด้วย ยังบทบาทของผู้คนในแวดวงขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อสู้กับความชั่วร้ายางด้านการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งของไทย เช่น ที่มาบตาพุด ก็อาจโยงใยให้ชาวทวายตื่นตัวขึ้นมาต่อสู้อย่างสันติวิธีได้ โดยเราต้องชมว่าชาวทวายและชาวพม่าตลอดจนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ รวมทั้งพระเจ้าพระสงฆ์และบาทหลวง หลายต่อหลายท่าน ลุกขึ้นท้าทายอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างนิยมชมชอบ แม้ในขณะที่พม่ายังเป็นเผด็จการ คนเหล่านี้ก็มีวิญญาณของเสรีภาพและอิสรภาพอย่างน่ายกย่องยิ่งนัก
 
ข้าพเจ้าได้แต่เตือนพวกเขาว่า เมื่อเปิดประเทศขึ้นเช่นนี้ แม้ดูจะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่การต่อสู้กับรัฐและบรรษัทข้ามชาติอาจซับซ้อนกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ โดยขอให้ดูไทยเป็นตัวอย่าง และการที่ตะวันตกเข้ามาในพม่านั้น  หลายหน่วยงานอาจหวังดี แต่ความหวังดีนั้นๆ อาจเป็นทุกขลาภก็ได้ และบางหน่วยงานมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยที่การลงทุนจากจะวันตกอาจไม่สูบเอาซึ่งๆ หน้าอย่างจีน แต่มีวิธีขูดรีดอย่างชาญฉลาดกว่า ซึ่งจำต้องเรียนรู้ไว้ ให้รู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง  คือต้องหากัลยาณมิตร ทั้งจากฝรั่ง และจากไทย  ที่น่ายินดีก็คือคนจีนที่ยืนหยัดขึ้นต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติวิธีที่มุ่งสัจจะก็มีขึ้นแล้ว ถ้าเรารวมตัวกัน รับผิดชอบร่วมกัน นั่นอาจเป็นอุปายโกศลประการหนึ่ง
 

IV

 
การลงทุนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลที่ส้องเสพสังวาสกับบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น แม้บริษัทเอกชนขนาดย่อมและขนาดกลางก็กระทำได้ โดยที่ในเมืองไทยนี้เองก็มีเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งดำเนินกิจการมาได้ 15 ปีเข้านี่แล้ว เครือข่ายดังกล่าวมีความเข้มแข็งที่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาด้วย แต่บางประเทศในยุโรปมีกิจการเป็นมรรคเป็นผลมากกว่าที่ในสหรัฐ และที่เมืองไทยนี้เอง เครือข่ายนี้ก็ดำเนินกิจการอย่างน่าสังเกต โดยที่นักธุรกิจนั้นๆ ไม่ได้หวังมุ่งเพียงผลกำไร หากมีแก่ใจกับกรรมกรและลูกจ้างตลอดจนลูกค้าอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่ใช้โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เช่น บริษัทในกระแสหลัก ทั้งพวกเขายังสำนึกถึงธรรมชาติ โดยไม่เห็นว่าเป็นเพียงทรัพยากรเพื่อนำเอามาเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจพาณิชยการเท่านั้น หน่วยงานดังกล่าว เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Venture Network หรือ SVN ได้ร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในบางเรื่อง บางกรณี อย่างควรแก่การจับตามอง
 
เมื่อนางออกซานสุจี ถูกกักขังไว้ในบ้านเป็นเวลานานนั้น เธอขอไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าไปพม่า เธอว่าจะเป็นการยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเคยเชิญข้าพเจ้าไป แต่ข้าพเจ้าปฎิเสธตามคำขอของเธอ ครั้นเมื่อเธอได้รับอิสรภาพ เธอจึงเชิญข้าพเจ้าให้ไปพบที่ราชธานีแห่งใหม่ ข้าพเจ้าได้พาคนสำคัญจากเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมของไทยไปพบเธอด้วย
 
เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอควรระวังการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติหรือนักลงทุนตัวโตๆ  รวมถึงรัฐบาลจากมหาอำนาจ ที่มุ่งการพัฒนาทางด้านวัตถุ โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ข้าพเจ้าเล่าให้เธอฟังถึงกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ที่ต่อต้านท่อแก๊สจากพม่ามาไทยให้เธอฟัง ว่านั่นเป็นการทำลายชุมชนกับทำลายธรรมชาติด้วย โดยที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าออกหน้า หากได้ผลน้อยแต่ให้โทษมากกว่า แต่บรรษัทข้ามชาติคือ ยูโนแคลในสหรัฐ และโตตัลในฝรั่งเศสได้ผลเต็มที่
 
เธอตั้งใจฟัง และรับข้อเสนอจากฝ่ายเราว่า เธอพร้อมจะเชิญนักธุรกิจเพื่อสังคมจากไทยและจากประเทศอื่นๆ ไปลงทุน โดยเธอบอกว่าเธอจะมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่เมืองไทย และจะขอพบนักธุรกิจเพื่อสังคมชาวไทย เพื่อหาทางวางแผนร่วมกันในการลงทุนที่แผกไปจากเดิม
 
อนึ่ง นักธุรกิจเพื่อสังคมของไทยยังได้รับปากว่าจะช่วยฝึกคนพม่าในไทย ที่มาเป็นแรงงาน หากต้องการจะกลับไปลงทุนในพม่า ก็จะหาทางช่วยเหลือเกื้อกูล โดยเราต้องไม่ลืมว่า บริษัทพม่าเป็นจำนวนมิใช่น้อยได้มาลงทุนในเมืองไทยอยู่ด้วย ถ้าเราโยงใยนักธุรกิจพม่าเหล่านี้ให้มาเป็นกัลยาณมิตรกับนักธุรกิจเพื่อสังคมของไทย น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี
 
เป็นที่น่าเสียใจ ที่อองซานสุจีไม่ได้ทำตามคำพูดที่เราตกลงกันไว้ เพราะเธอมุ่งมั่นทางการเมืองในระดับชาติ ถึงขนาดต้องการเป็นประธานาธิบดี จึงยอมไกล่เกลี่ยหลักการ เพื่อประชานิยมเท่านั้นเอง
 
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูงทำลายสาธุชนคนดี คนที่มีสติย่อมรู้ว่าอะไรควรทำในบัดนี้ เพื่อผลประโยชน์ของพหูชน ยิ่งกว่าเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน หรือหวังผลข้างหน้ามากเกินไป ไม่ว่าจะในทางทรัพย์ศฤงคารหรืออำนาจวาสนา
 
อย่างน้อยประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีพม่า ก็ฟังคำเตือนของพวกเรา ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรกับท่าน ท่านประธานาธิบดีก็ฟังคำเตือนจากพวกเราอย่างจริงใจ แต่อำนาจของประธานาธิบดี ที่มีทหารเป็นรัฐภายใจรัฐและนายพลเหล่านี้คุ้นเคยมากับความทุจริตต่างๆ อย่างไม่เห็นอำนาจเป็นธรรม ย่อมยากที่จะแก้ไขอะไรๆ ได้
 
จะอย่างไรก็ตาม ขบวนการทางสังคมของพม่าได้กล้าแข็งขึ้นอย่างน่านิยมชมชื่น พระเจ้าพระสงฆ์ของพม่าและของชนเผ่าต่างๆ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างที่พระไทยทาบไม่ติดเอาเลย แม้พระคุณเจ้าบางรูปจะยังชาตินิยมจัด อาจเกลียดคริสต์ หรือมุสลิม เมื่อท่านเข้าใจเขาซึ่งเป็นมนุษย์ด้วยกัน ชี้แจงให้เห็นว่า คนที่ต่างศาสนาก็เป็นกัลยาณมิตรกันได้ ท่านก็ได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีอย่างน่าทึ่ง
 
อาจสรุปได้ว่า พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจยิ่ง เราเคยถือว่าเขาเป็นศัตรูกับเรา แต่เขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เราเคยหยิ่งยะโสว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ในขณะที่เขาถูกผนวกเข้าไว้ในจักรวรรดิอินเดีย แต่เขาปลดแอกจากฝรั่งได้และยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นพม่าไว้อย่างน่าสรรเสริญ ในขณะที่เรายังเดินตามก้นฝรั่งอย่างไร้จิตสำนึก และการอ้างถึงความเป็นไทยนั้นเป็นวาทกรรมทางการเมือง หากขาดการแสดงทางวัฒนธรรมของตัวเองอย่างจริงจัง มาถึงตอนนี้พม่าจะเอาอย่างไทยในทางเลวร้ายคล้ายๆ กับภูฐานหรือไม่ น่าสงสัย อย่างน้อยองค์กรเอกชนในพม่า และนักธุรกิจในพม่าจำนวนหนึ่งรวมถึงพระเจ้าพระสงฆ์ได้พร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรกับเรา เราน่าจะเรียนจากเขา ฟังเขา ร่วมรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา ซึ่งหลายครั้งมาจากไทยที่เป็นสื่อให้จีนและฝรั่งอีกที แม้ไทยอาจจะดีกว่าสิงคโปร์ ก็ไม่มากนัก ถ้าเราตีประเด็นนี้แตก ว่าความรับผิดชอบทางสังคม ผู้คนต้องไม่เป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นสิงคโปร์ หากมีความเป็นมนุษย์ที่รักอิสระ เสรีภาพ ความงาม ความดี และความจริง ยิ่งกว่าเงินและอำนาจ เราจะรับผิดชอบกับสังคมไทยเท่าๆ กับรับผิดชอบกับสังคมเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า และจากความเป็นมิตรนี้แล การลงทุนและธุรกิจการค้า หรือกรณียกิจอื่นๆ ก็จะเป็นไปในทางที่เป็นกุศล สมดังคำของมหาเทวีแห่งยางห้วย อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของสหภาพพม่า
 
จึงขอจบปาฐกถานี้ด้วย ถ้อยคำของเจ้านางร่มขาว อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหภาพพม่า โดยนำคำของท่านมาเอ่ยซ้ำไว้ในที่สุดนี้ คือ
 
"คุณสุลักษณ์ ไทยกับไทยใหญ่ หรือชนชาติใดในพม่าก็ตาม ควรเป็นเพื่อนกันก่อน เมื่อเป็นเพื่อนอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว การทำมาค้าขาย หรือลงทุนลงแรงร่วมกัน ก็ย่อมเป็นไปด้วยดี"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนง.มหาลัย ฟ้องผู้บริหาร แฉสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม

Posted: 17 Oct 2013 01:49 AM PDT

พนง.มหาวิทยาลัย แจ้งความผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แฉถูกกดดัน-บีบสัญญาจ้าง ด้านศูนย์ประสานงานบุคลาการในสถาบันอุดมศึกษาเผย พบกรณีสัญญาพนักงานมหาวิทยาลัยไม่เป็นธรรมทุกภูมิภาค ชี้ระบบพนักงาน ม.ยากต่อการเรียกร้องสิทธิ

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากแหล่งข่าว พร้อมเอกสารถึงกรณีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต่อสถานีตำรวจภูธร จังหวัดเชียงราย และผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาไต่สวน

โดยแหล่งข่าวแจ้งว่า มูลเหตุจูงใจที่ทำให้ต้องเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว เพราะมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการประเมินการต่อสัญญาจ้าง ในลักษณะกดดัน และบีบสัญญาจ้าง  รู้สึกถูกประเมินในลักษณะกลั่นแกล้ง ขยายการจ้างเป็น 1 เดือน และ 6 เดือน เพื่อจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ วุฒิ ป.โท และ ป.เอก ในช่วงปิดปีงบประมาณเดือน ต.ค. นี้

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง รศ.วีรชัย พุทธวงศ์  ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา  โดย รศ.วีรชัย กล่าวว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ ได้รับทราบข้อมูลทั่วประเทศ และมีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงทุกภูมิภาค ล่าสุดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษร์ธานี ก็ได้รับแจ้งจากเพื่อนคณาจารย์ว่า มีการแจ้งความในลักษณะเดียวกัน 

รศ.วีรชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ตนเองและตัวแทนคณะอาจารย์ทั่วประเทศกว่า 50 คนได้เข้าพบและนำเรียนปัญหานี้แล้วกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นย้ำเรื่องระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เป็นระบบที่ดีมากในระบบอุดมศึกษา แต่ในปัจจุบันมีเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ได้กลายเป็นเครื่องมือในการขจัดคนดีคนเก่งออกจากระบบของผู้บริหารที่ไม่มีธรรมาภิบาลบางแห่ง  ศักดิ์ศรีและความไม่มั่นคงในอาชีพพนักงานมหาวิทยาลัยลดลง จะทำธุรกรรมการเงินก็ไม่มีใครอยากให้ทำ เพราะสัญญาจ้างหากเหลือ 6 เดือน ทั้งที่จบปริญญาเอก เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล หากถูกให้ออกหรือไม่จ้างต่อ ต้องใช้ทุนหัวโต พร้อมกับศักดิ์ศรีในอาชีพที่แทบจะไม่เหลือ และระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ขึ้นกับกฎหมายแรงงาน การฟ้องเรียกคืนความเป็นธรรม ทำได้ลำบากมาก

"ผมเคยเห็นเพื่อนอาจารย์ ประกาศหางานใหม่ ในช่วงปิดปีงบประมาณ เดือน ต.ค. 56 นี้จำนวนมาก ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก ตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สะเทือนใจอย่างยิ่งต่อ วงการอุดมศึกษาไทย อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ออกกฎกระทรวง หรือ กฎ ก.พ.อ. เป็นแนวปฏิบัติกลางที่เป็นธรรม ในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้าราชการพันธุ์ใหม่ ให้ถึงอายุ 60 ปี แล้วค่อยประเมินผลงานในการคัดคนไม่เก่งออก เหมือนระบบราชการเดิม จะดีกว่าการมาทำสัญญาระยะสั้น ซึ่งเปิดช่องทางในการกลั่นแกล้ง และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคณาจารย์ ในการวิพากษ์วิจารณ์" วีรชัย พุทธวงศ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริง

Posted: 17 Oct 2013 01:18 AM PDT

ประเด็นข้อถกเถียงที่เป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งในสังคมไทยยุคปัจจุบันก็คือ ประเด็นที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงคืออะไร หากศาลรัฐธรรมนูญทำเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ ฯลฯ

ก่อนอื่นเราต้องมาเข้าใจกันเสียก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ในหมวด ๑๐ ส่วนที่ ๒

ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียวไม่สามารถที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำวินิจฉัยต่อไปอีกได้ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก ๘ คน รวมเป็น ๙ คน (มาตรา ๒๐๔)

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้(ที่มา : โชต อัศวลาภสกุล )

๑.๑ พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองใด จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ (มาตรา ๖๕ วรรคสาม)

๑.๒ วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง)

สั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการดังกล่าว (มาตรา ๖๘ วรรคสาม) ซึ่งมีผลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำการดังกล่าวเป็นระยะเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง (มาตรา ๖๘ วรรคท้าย)

๑.๓ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๑๐) หรือ (๑๑) หรือมาตรา ๑๑๙ (๓) (๔) (๕) (๗) หรือ (๘) แล้วแต่กรณี หรือไม่ (มาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง)

๑.๔ วินิจฉัยว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลงนั้น มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม หรือไม่ (มาตรา ๑๐๖ (๗))

๑.๕ พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๔๑)

๑.๖ วินิจฉัยว่า ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา ๑๔๗ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ (มาตรา ๑๔๙)

๑.๗ พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๑๕๔)

๑.๘ พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๑๕๕)

๑.๙ พิจารณาวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือของคณะกรรมาธิการ ได้มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ (มาตรา ๑๖๘ วรรคเจ็ด)

๑.๑๐ วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) หรือไม่ (มาตรา ๑๘๒ ประกอบมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒)

๑.๑๑ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดใดตราให้ใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ หรือได้ตราขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ (มาตรา ๑๘๕)

๑.๑๒ วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาว่า หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศฉบับใด มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่ (มาตรา ๑๙๐)

๑.๑๓ พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๑)

๑.๑๔ วินิจฉัยคำร้องจากบุคคลซึ่งอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๒)

๑.๑๕ พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป (มาตรา ๒๑๔)

๑.๑๖ วินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๓๐ หรือไม่ (มาตรา ๒๓๓)

๑.๑๗ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอพร้อมด้วยความเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๔๕ (๑))

๑.๑๘ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอพร้อมด้วยความเห็น ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๕๗ (๒))

จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีจำกัดมาก ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าที่จะสามารถไปบัญญัติหรือตีความนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้ เพราะแม้แต่กฎหมายที่ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขากอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยังไม่รวมศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนแล้ว

กอปรกับตามหลักนิติรัฐองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนทั้งหลายจะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนด หรือที่เรียกว่า "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" และ "เมื่อใช้อำนาจก็ต้องใช้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย"

 


 

ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการโดยไม่มีอำนาจหรือกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ คำวินิจฉัยนั้นจึงไม่มีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๑๖ วรรคห้า จะบัญญัติไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายในที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญอันเป็นฐานแห่งอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง

-------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอว็อทช์จวกรัฐสภา แก้ ม.190 ตัดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ประชาสังคม

Posted: 17 Oct 2013 01:16 AM PDT

(17 ต.ค.56) หลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วาระ 2 เสร็จสิ้นไปเมื่อคืนที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์ "มาตรา 190 ตายแล้ว...ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทย" โดยระบุว่า การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ มีการแก้ไขในสาระสำคัญ คือการตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ และการเพิ่มอำนาจรัฐบาล ให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ไม่ต้องเสนอ "กรอบการเจรจา"

เอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า ผลจากการแก้ไขเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยการไม่ต้องผ่านกระบวนการเสนอ "กรอบการเจรจา"  จะเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม 

นอกจากนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุด้วยว่า ปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า ของการมีหนังสือสัญญาจำนวนมากต้องเสนอไปสู่รัฐสภาโดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 นั้น มีรากฐานสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ และการใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออกจากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด


00000


มาตรา 190 ตายแล้ว...ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทย

ตามที่การประชุมของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม โดยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.190 โดยมีสาระการแก้ไขที่สำคัญ คือ

1. ตัดลดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญออกไปให้เหลือเพียง  (หนึ่ง) หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตดินแดน (สอง) หนังสือสัญญาที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ (สาม) จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และ (สี่) หนังสือสัญญาที่มีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน

2. เพิ่มอำนาจรัฐบาล ให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ไม่ต้องเสนอ "กรอบการเจรจา" ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

ผลสรุปจากการแก้ไขมาตรการ 190 ดังกล่าว สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายการเอาชนะทางการเมืองเป็นที่ตั้งโดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล และไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ซ้ำยังเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชนอย่างไร้สำนึก

บทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ นอกจากนี้คณะเจรจายังสามารถใช้ "กรอบเจรจา"ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง ปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า การมีหนังสือสัญญาจำนวนมากต้องเสนอไปสู่รัฐสภาโดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 นั้น มีรากฐานสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ (หนึ่ง) การไม่จัดทำกฎหมายลูกรองรับมาตรา 190 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าให้ดำเนินการโดยเร็วภายในเวลา 1 ปีนับจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่ปี 2552 (สอง) การใช้มาตรา 190 เป็นเครื่องมือต่อสู้กันทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งทั้งสองสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเบียดขับประชาชนออกจากกระบวนการหรือลดทอนความโปร่งใสแต่อย่างใด

ผลจากการแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้หนังสือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ความตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม ความตกลงด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ไม่ต้องผ่านกระบวนการเสนอ "กรอบการเจรจา"  เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ทุกฝ่ายกำลังเรียกร้อง เป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองแทน

การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งนี้ เป็นเพียงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนัก(การเมือง)ประชาธิปไตยแต่ปาก กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่ต้องการปลดเปลื้องภาระในการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย

17 ต.ค.2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การจัดดัชนีทาสทั่วโลกเผยไทยมีทาสมากสุดอันดับ 7 ของโลก

Posted: 16 Oct 2013 11:38 PM PDT

การจัดดัชนี "การค้าทาสสมัยใหม่" โดยมูลนิธิในออสเตรเลียเผย ยังมีการใช้ทาสมากราว 30 ล้านคนใน 162 ประเทศทั่วโลก ตามคำนิยามการใช้คนเป็นทรัพย์สินค้ำประกัน บังคับให้แต่งงานและการค้ามนุษย์

 
17 ต.ค. 56 - การจัดดัชนีการค้าทาสสากลประจำปี 2556 (Global Slavery Index 2013) โดยมูลนิธิ Walk Free ของออสเตรเลีย ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนราว 30 ล้านคนทั่วโลกยังอาศัยอยู่ในสภาพเยี่ยงทาส โดยในอินเดียมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 13,956,010 คน ตามมาด้วย จีน ที่ 2,949,243 คนและปากีสถานที่ 2,127,132 คน
 
ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวได้นิยามคำว่า "การค้าทาสสมัยใหม่" หมายถึงการปฏิบัติต่อมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะเยี่ยงทาส อาทิ การใช้มนุษย์แทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน การบังคับสมรส การค้าเด็ก การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น โดยสำรวจประเทศทั้งหมด 162 ประเทศ 
 
ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก โดยจากจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมี 66,785,001 คน มีจำนวนทาส 472,811 คน สูงกว่าคองโก พม่า และบังกลาเทศ โดยไทยจัดเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากปากีสถาน อินเดีย และเนปาล
 
อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นจำนวนตามสัดส่วนประชากร จะทำให้ประเทศมอริทัวเนียในแอฟริกาตะวันตกมีจำนวนมากที่สุด โดยจำนวนทาสคิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือจากจำนวนประชากรทั้งหมด 3.8 ล้านคน มีประชากรที่อยู่ในสภาวะการเป็นทาสจำนวน 140,000-160,000 คน ตามมาด้วยเฮติ และปากีสถาน
 
การประมาณการณ์ตัวเลขของทาสสมัยใหม่ของมูลนิธิ Walk Free ที่จำนวนทาสทั่วโลกอยู่ที่ 29.8 ล้านคน สูงกว่าการประมาณการณ์ขององค์กรอื่นๆ อย่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้ประเมินว่ามีราว 21 ล้านคน ทั่วโลก ถูกบังคับใช้แรงงาน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เสียบประจาน! ความดีอันบัดสี...

Posted: 16 Oct 2013 11:08 PM PDT

ฉันอาเจียน
ตอนที่คุณเอาความดียัดปากฉัน
แล้วบอกฉันว่า ห้ามพูด
สิ่งที่ฉันพูดมันไม่ดี

ฉันขนลุก
เมื่อคณเอาขี้ยัดใส่หัวฉัน
ขู่ให้ฉันกลัว
ฉันกลัวขี้ในหัวของฉันเอง

ฉันรู้สึกอนาจาร
เมื่อคุณเอาไม้เสียบประจานของคุณมายัดรูทวาร
ห้ามฉันขี้
วิธีการของคุณมันช่างลามกบัดสี

ฉันอาจจะพ่นด่าคำเกลียดชัง
ผีร้ายมันสิงสู่ในตัวฉัน
แต่พวกมันน่ารักกว่าเทพในตัวคุณตรงที่ไม่ตอแหล แสร้งดี

ฉันโกรธและฉันเกลียด
แต่คนที่ลงมือ เด็ดหัวกัน คือคุณ
พวกคนดี!


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น