โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลสั่งพิจารณาลับ คดี 112 คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ

Posted: 09 Oct 2013 10:24 AM PDT

<--break->

 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 56 ศาลนัดพร้อม นัดสอบคำให้การ และนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่นาย อ. (จำเลยขอสงวนชื่อและนามสกุล) ถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธต่อศาล โดยให้การว่าหนังสือที่ขายนั้นมีคนมาฝากขาย และจำเลยไม่เคยอ่านข้อความในหนังสือ

ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 11, 12, 13 กุมภาพันธ์ 2557 โดยพนักงานอัยการโจทก์ยื่นบัญชีพยาน 7 ปาก ทนายความจำเลยยื่นบัญชีพยาน 4 ปาก และศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับด้วย ซึ่งผู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้

เว็บไซต์ฐานข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ ระบุรายละเอียดด้วยว่า ในวันนัดดังกล่าวศาลได้ขอให้ทนายจำเลยรับคำให้การของพยานที่จะมาให้การเรื่องการตีความเนื้อหาของข้อความที่ถูกฟ้อง แต่ทนายความยืนยันจะต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา เนื่องจากเห็นว่าข้อความทั้ง 6 ข้อความตามฟ้องนั้นเป็นการตัดตอนมาจากหนังสือ การตีความข้อความว่าเป็นความผิดหรือไม่ต้องดูจากหนังสือทั้งเล่ม ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเป็นการกล่าวถึงทฤษฎีซึ่งไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่ใช่เนื้อหาที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

เบื้องต้นศาลไม่ต้องการให้ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา เพราะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าองค์พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ล่วงละเมิดมิได้ และข้อยกเว้นเรื่องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามมาตรา 329 ไม่อาจนำมาใช้ยกเว้นกับความผิดตามมาตรา 112 ได้ แต่ทนายยืนยันขอใช้สิทธิต่อสู้เพื่อดำเนินคดีต่อในศาลสูง

ทั้งนี้ นายอ. อายุ 65 ปี มีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค.49 หลังจากไปตั้งแผงขายหนังสือบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยตำรวจได้ทำการยึดหนังสือกงจักรปีศาจและหนังสือฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2548) หรือที่เรียกกันว่า ปกโค้ก ไปอย่างละ 1 เล่ม ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 40,000 บาท จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.56 ในคำฟ้องปรากฏ 6 ข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจเพียงเล่มเดียว ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  และถูกคุมขังในเรือนจำในเย็นวันนั้น ต่อมาวันรุ่งขึ้น 28 ส.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวนาย อ. หลังจากกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 300,000 บาท

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิฯ แคเมอรูนวิจารณ์ป้ายห้ามคนรักเพศเดียวกันเข้าบาร์ หวั่นยุยงให้เกิดความรุนแรง

Posted: 09 Oct 2013 10:02 AM PDT

ในประเทศแคเมอรูน ซึ่งมีกม.ห้ามพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน มีสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในกรุงยาฮุนเดติดป้ายห้ามคนรักเพศเดียวกันเข้า ทำให้นักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันและยุยงให้เกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate crime)

9 ต.ค. 2013 - สำนักข่าวไอพีเอสได้เผยแพร่เรื่องสถานการณ์ของชาว LGBT ซึ่งถูกกีดกันในประเทศแคเมอรูน โดยถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าสแน็คบาร์ในกรุงยาอุนเด

โดยสำนักข่าวไอพีเอสรายงานข่าวกรณีนี้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ร้านสแน็คบาร์แห่งหนึ่งในกรุงยาอุนเดมีป้าย "ห้ามคนรักเพศเดียวกันเข้า"  ติดไว้ โดยเบอนัว โควโมว ผู้จัดการร้านกล่าวว่า เขาไม่ต้องการเห็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในบาร์ของเขา เขารู้สึกว่า จำเป็นต้องติดป้ายเพื่อจำกัดพฤติกรรมบางอย่างที่เขาสังเกตเห็น

ในประเทศแคเมอรูน พฤติกรรมรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและมีโทษสั่งจำคุกมากสุด 5 ปี ซึ่งในแต่ละปีมีประชาชนหลายร้อยคนถูกจับกุมโดยอ้างกฎหมายฉบับนี้

ผู้ใช้นามสมมติว่า "แมรี่" เคยตกเป็นเป้าหลังจากที่เธอและคู่รักของเธอถูกจับกุมในกรุงยาอุนเดปี 2009 เธอบอกว่าตำรวจเรียกตัวเธอเพื่อไต่สวนโดยถามเธอว่า "คุณเป็นเลสเบี้ยนหรือไม่" ถ้าเธอปฏิเสธก็จะถูกซ้อม และถูกขู่บังคับให้รับสารภาพ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัวจนกระทั่งคู่รักของเธอยอมสารภาพ

การจับกุมและคุกคามกลุ่มชาว LGBT เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในแคเมอรูน แต่การประกาศห้ามเข้าไปในพื้นที่สาธารณะเป็นสัญญาณว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายลงกว่าเดิม ทำให้นักสิทธิมนุษยชนเกิดความกังวล โดยที่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate crime) ก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นด้วย

เชิร์จ ดูโอมอง นักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า "ป้ายห้ามคนรักเพศเดียวกันอาจเป็นตัวยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBT คนที่ไม่เคยแสดงความรู้สึกเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) มาก่อน อาจจะเห็นว่าป้ายนี้เป็นสิ่งที่ให้ความชอบธรรมหากเขาจะก่อความรุนแรง ผมคิดว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ พวกเราจะไม่ยอมรับความคิดแบบนี้ในที่สาธารณะ"

แต่โฆษกของรัฐบาลกล่าวว่า ทางการแคเมอรูนไม่มีความต้องการโจมตีกลุ่ม LGBT แต่แม้จะประกาศเช่นนี้ แต่รัฐบาลแคเมอรูนก็ได้กีดกันกลุ่ม LGBT โดยการสนับสนุนให้กลุ่มที่รู้สึกเกลียดชังวางเป้าหมายโจมตีกลุ่ม LGBT

ดูโอมอง กล่าวว่า รัฐบาลแคเมอรูนควรสั่งห้ามการกระทำเช่นนี้ เขามองว่าปฏิกิริยาเช่นป้ายห้ามเข้าบาร์เป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกกีดกันกลุ่ม LGBT ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และส่งผลต่อสังคมโดยรวมทั้งหมด

 


เรียบเรียงจาก
Public places, but not for gays in Cameroon, IPS, 02-10-2013
http://www.ipstelevision.net/ips/public-places-but-not-for-gays-in-cameroon/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยชี้ Gen Y ทั่วโลก กว่า 3 ใน 4 มีความสุขกับชีวิต

Posted: 09 Oct 2013 09:41 AM PDT

<--break->เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ไวคอม อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย เน็ตเวิรคส์ นำโดย คริสเตียน เคอร์ซ รองประธานฝ่ายวิจัยนานาชาติ เปิดเผยผลการศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกในกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ ในหัวข้อ "ภาวะปกติในอนาคต: ทรรศนะใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ทั่วโลก" (The Next Normal: An Unprecedented Look At Millennials Worldwide) (หมายเหตุ: คนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์หรือ เจนเนอเรชั่น Y เป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1980- ต้นทศวรรษ 2000) รายละเอียดมีดังนี้

• ผลการศึกษาและวิจัยในเชิงปริมาณจากทั่วโลกครั้งล่าสุดนี้ สำรวจในระหว่างเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม พ.ศ.2555 และสำรวจเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ด้วยจำนวนตัวอย่างการสำรวจทั้งสิ้นกว่า 15,600 ราย โดยทำการสำรวจเฉลี่ยแต่ละประเทศเป็นจำนวน 450 ราย (900 ราย ในประเทศอังกฤษ 1,350 รายในรัสเซีย และ 350 รายในแต่ละสามประเทศ ได้แก่ อียิปต์ โมร็อคโค และไนจีเรีย) ซึ่งครอบคลุมสามช่วงวัยอย่างเท่าๆ กันโดยคร่าว กล่าวคือ ทำการสัมภาษณ์เฉลี่ย 150 รายกับสามช่วงวัย : ช่วงอายุ 9-14 ปี (กลุ่มรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์คลื่นสุดท้าย) ช่วงอายุ 15-24 ปี และช่วงอายุ 25-30 ปี (กลุ่มรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์แรก)

• วิเคราะห์เพิ่มเติมจากกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์กว่า 3,400 ราย และผู้ปกครองกว่า 665 ราย ในสหรัฐอเมริกา

ผลวิจัยระบุว่า ทุกวันนี้ เศรษฐกิจ คือปัจจัยอันดับแรกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มคนรุ่นนี้ โดยมีจำนวนถึง 68% จากทั้งหมดที่มีความรู้สึกอ่อนไหวต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลก ถึงแม้จะมีความเป็นกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ แต่โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มคนรุ่นนี้มักจะแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสุข และการมองโลกในแง่ดี

• มากกว่าสามในสี่ (76%) ของกลุ่มคนรุ่นนี้บรรยายถึงตนเองว่า "เป็นคนที่มีความสุขมาก"

• ระดับความสุขของกลุ่มคนยุคมิลเลนเนี่ยลส์นั้นเหนือกว่าระดับความเครียดโดยอยู่ที่ระดับ 2 ต่อ 1

• ในประเทศไทย กลุ่มคนยุคมิลเลนเนี่ยลส์มีระดับความสุขอยู่ที่อันดับสามจากทั่วทั้งเอเชีย ถือเป็น 78% โดยมีประเทศฟิลิปปินส์ครองอันดับหนึ่ง ที่มีค่าเฉลี่ยระดับความสุขอยู่ที่ 83% ตามด้วยอินเดีย ที่ 81% และจีน ที่ 80% มาเลเซีย ที่ 77% และสิงคโปร์ ที่ 69%


ผลการศึกษาเพิ่มเติมที่มีนัยสำคัญที่ค้นพบ มีดังนี้
กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์จะรู้สึกมีความทุกข์ต่อความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน

ความเป็นกังวลทางด้านเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่องในด้านความมั่นคงต่อหน้าที่การงาน รวมไปถึงความไม่แน่ใจและหวาดระแวงในการขยับเลื่อนฐานะของตนเอง

• จากทั่วโลกพบว่าภาวะการว่างงานเป็นประเด็นสำคัญระดับต้นๆ ของโลกที่กลุ่มคนรุ่นนี้ต้องการให้แก้ไข ซึ่งมากกว่าปัญหาความอดอยากหิวโหยของผู้คนทั่วโลก

• เกือบครึ่งของกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ (49%) เชื่อว่าสถานการณ์ของความมั่นคงในหน้าที่การงานจะยังคงมีแนวโน้มที่แย่ลง โดยที่มีจำนวนถึง 78% ที่มีความต้องการได้รับค่าจ้างในอัตราแรงงานขั้นต่ำ ดีกว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีงานทำ

• ในขณะที่ในปี พ.ศ.2549 พบว่ามีจำนวนกว่า 38% ของกลุ่มวัยหนุ่มสาวที่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับประโยคที่ว่า "ฉันจะหาเงินได้มากกว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองของฉัน" แต่ปัจจุบันพบว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 25% ในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
 

การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวคือวิธีหาความสุขอันดับแรกสำหรับกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์

ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งในการหาความสุขของกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ ท่ามกลางคนยุคนี้ พบว่ามีแนวโน้มที่แวดวงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนในชีวิตจริงนั้นแคบลง เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนในโลกออนไลน์ซึ่งมีจำนวนพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว

• ในช่วงระยะหกปีหลัง กลุ่มคนรุ่นนี้ยังคงมีกลุ่มเพื่อนรักในจำนวนเท่าเดิม แต่ในแวดวงของเพื่อนที่ต้องพบเจอประจำวันกลับมีจำนวนที่แคบลง

• ในทางกลับกัน พบว่าคนรุ่นนี้มีเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่า 200 คน ตลอดระยะเวลาหกปีที่ผ่านมา พบว่ามีตัวเลขก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มเพื่อนทางออนไลน์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเพื่อน แม้ว่าจะไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนก็ตาม

• ในประเทศไทย พบว่านอกเหนือไปจากสมาชิกในครอบครัวแล้วนั้น ดารานักร้องและเหล่าเซเลบริตี้ รวมไปถึงครู อาจารย์ เป็นกลุ่มที่ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มคนรุ่นนี้ 

วิธีการแก้ความเครียดของกลุ่มคนรุ่นนี้ในประเทศไทยที่มักจะเลือกใช้ คือ ดูโทรทัศน์ นอน และพูดคุยกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
 

เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวกำหนด แต่เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตน

แทนที่จะเป็นตัวกำหนดกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ แต่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการแสดงตัวตน หากถามกลุ่มคนรุ่นนี้ จะได้คำตอบที่ว่า "เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นในแบบที่พวกเขาเป็น แต่มันได้ทำให้เขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะเป็น เทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุนความสัมพันธ์ให้แข็งแรงขึ้นและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสุขอย่างยั่งยืนและเปิดโลกทรรศน์ให้กว้างมากขึ้น

• สามในสี่ของคนกลุ่มนี้เชื่อว่าโซเชียลมีเดียมีผลประโยชน์ในด้านความสัมพันธ์แบบเพื่อน

• และมีจำนวนมากถึง 73% ของคนกลุ่มนี้กล่าวว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นได้เปลี่ยนวิธีคิดที่พวกเขามีต่อโลกใบนี้
กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์ในเอเชีย (นอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น) มีพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ระหว่างดูโทรทัศน์ที่ค่อนข้างบ่อยมากกว่าที่ใดในโลก ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ ในประเทศจีนมีการใช้ไมโครบล็อกเหว่ยป๋อ (Weibo) ถี่มาก ในฟิลิปปินส์กลุ่มคนรุ่นนี้มักมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากในการใช้ทุกช่องทางเพื่อสื่อสารกันเป็นปกติ ส่วนผลสำรวจในประเทศไทยพบว่า พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย (มีจำนวนถึง 42% ที่ส่งข้อความ ในขณะที่มีจำนวน 46% ใช้ในการสื่อสารกัน) มีสูงกว่าการส่งข้อความหากันระหว่างดูโทรทัศน์ (27%)
 

ความภาคภูมิใจและความอดทนอดกลั้น

กลุ่มคนรุ่นนี้กำลังแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มีมากขึ้นต่อความภาคภูมิใจในประเทศของตนเองรวมไปถึงการแสดงออกถึงความสนใจในการรักษาประเพณีพื้นเมือง ในขณะเดียวกันพวกเขาเปิดใจกว้างมากขึ้นและอดทนอดกลั้นต่อมุมมองของนานาประเทศและวัฒนธรรมอื่นๆ

• มีจำนวนถึง 83% ที่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า "ฉันภูมิใจที่เกิดเป็นคนประเทศ..." ซึ่งเพิ่มจาก 77% ในปี พ.ศ.2549

• มีจำนวนกว่า 76% ที่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันรักษาประเพณีของประเทศตนเอง โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี พ.ศ.2549

• มีจำนวน 73% ที่คิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านเกิดของพวกเขา ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยที่เพิ่มจาก 51% ในปี พ.ศ.2549

• มีจำนวนถึง 86% ที่ระบุถึงตัวเองว่าเป็นคนที่อดทนอดกลั้น

• 84% ของคนกลุ่มนี้ เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า "ช่วงวัยเรามีศักยภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้"


ภาวะปกติในอนาคต : ระหว่าง "พวกเรา" กับ "ตัวเรา"

จากผลการวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่า "ภาวะปกติในอนาคต" เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับ "พวกเรา" มากกว่า "ตัวเรา" โดยลักษณะพิเศษที่สำคัญที่นิยามถึงกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนี่ยลส์นี้คือ ความตระหนักต่อสังคมทั่วโลก ความอดทนอดกลั้นและการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น รวมไปถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการส่งต่อและเชื่อมต่อไปทั่ว

• พบว่ามีจำนวนถึง 87% ที่มีความกระตือรือร้นและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกใบนี้

• และมีจำนวน 87% เช่นกันที่ได้ประยุกต์ใช้วลีที่ว่า "ส่งต่อและเชื่อมต่อ" สู่กันและกัน ("sharing and connecting")

• 85% ของคนกลุ่มนี้ได้ระบุว่าตัวเองมีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้พร้อมเสมอกับการเปลี่ยนแปลง

• มีจำนวนกว่า 93% ทั่วโลกที่เชื่อว่าการปฏิบัติต่อผู้คนอื่นๆ ด้วยความเคารพถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือจะเป็นความหลากหลายทางเพศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ขอพระราชทานอภัยโทษ” ช่องว่างบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

Posted: 09 Oct 2013 07:19 AM PDT

ว่ากันว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีโทษหนักแต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะเมื่อมีใครถูกลงโทษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะพระราชทานอภัยโทษให้ในท้ายที่สุด ดังเช่น กรณีนายวีระ มุกสิกพงศ์ ในปี 2531 นายโอลิเวอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2550 นายแฮรี่ ชาวออสเตรเลีย ในปี 2552 

การพระราชทานอภัยโทษ เป็นขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 มีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ หนึ่งการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในวาระโอกาสสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น วันที่ 5 ธันวาคม วันที่ 12 สิงหาคม โดยคณะรัฐมนตรีจะตราพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ สอง การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งเป็นช่องทางพิเศษที่นักโทษทุกคนที่คดีถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้

ในช่วงปี 2552-2553 มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง และเริ่มมีการก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมกับที่ข้อหา "ล้มเจ้า" ถูกปลุกขึ้นมาใช้อย่างหนักหน่วงในสังคมไทย ทำให้มีคดีตามมาตรา 112 เกิดขึ้นจำนวนมาก ถึงขั้นที่คดีจำนวนหนึ่ง ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและอัยการอ้างความเป็น "คนเสื้อแดง" ของจำเลยเป็นหนึ่งในพยานแวดล้อม จำเลยหลายคดียังดิ้นรนต่อสู้หาความบริสุทธิ์ให้กับตัวเองอยู่ หลายคดีก็สิ้นสุดไปแล้วด้วยการพระราชทานอภัยโทษ

นักโทษที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จะสนใจการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแบบเป็นกรณีพิเศษรายบุคคล เนื่องจากเชื่อว่าวิธีการนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่อิสระภาพได้โดยเร็วที่สุด

แม้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่ได้เขียนไว้โดยตรง จำเลยต้องรับสารภาพก่อนจึงจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติกันว่าจำเลยต้องรับสารภาพและต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป โดยเขียนสิ่งเหล่านี้ลงในหนังสือที่ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เองทำให้ระบบการขอพระราชทานอภัยโทษในปัจจุบันสร้างช่องว่างขึ้นระหว่างทางของกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 


 

1.  การรับสารภาพ ตัอตอนการค้นหาความจริง

การที่ต้องรับสารภาพก่อนทำให้หลายคดีจำเลยตัดสินใจไม่สู้คดี รีบรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องเลือกวิธีนี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ได้รับอิสรภาพเร็วกว่า ตัวอย่างเช่น

โจ กอร์ดอน หรือนายเลอพงษ์ ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 แม้นายเลอพงษ์จะยืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เนื่องจากเขาไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีจนชนะได้ เพราะเขาเชื่อว่าคดีตามมาตรา 112 จะถูกพิจารณาด้วยอคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นายเลอพงษ์จึงเลือกใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ในวันนัดขึ้นศาลครั้งแรกเมื่อศาลถามว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือไม่ นายเลอพงษ์ให้การต่อศาลว่า "ผมไม่ขอต่อสู้คดี" แต่ศาลต้องถามจนกว่านายเลอพงษ์จะยอมตอบว่า "รับสารภาพ" และสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพในวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ทำให้จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริงว่านายเลอพงษ์กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และตำรวจใช้หลักฐานใดในการกล่าวหาว่าเขากระทำความผิด

อากงSMS หรือ นายอำพล ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 นายอำพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ขณะที่นายอำพลยืนยันมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิดและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษและไม่ให้ประกันตัว ต่อมานายอำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ และยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ (ต่อมาเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังก่อนได้รับการอภัยโทษ) จนถึงวันนี้นายอำพลก็ยังไม่เคยได้โอกาสอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ตัวเอง

หนุ่ม เรดนนท์ หรือ นายธันย์ฐวุฒิ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 นายธันย์ฐวุฒิต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี แม้ว่าหลักฐานในคดีของเขายังมีจุดอ่อนอยู่มาก แต่หลังยื่นอุทธรณ์ไปเกือบหนึ่งปีแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด นายธันย์ฐวุฒิจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์เพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับอิสรภาพจากการอภัยโทษในเวลาต่อมา

 

2. การยอมรับว่าการแสดงออกนั้นเป็นความผิด ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานการตีความ

บางกรณีจำเลยยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้องจริง แล้วเลือกที่จะรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด มากกว่าเลือกที่จะต่อสู้ว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวได้ว่า ไม่ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา ตัวอย่างเช่น

สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากการปราศรัยในหลายพื้นที่ นายวราวุธ ฐานังกร หรือสุชาติ นาคบางไทร ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เนื่องจากการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง นายวันชัย แซ่ตัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 จากการแจกเอกสารแผ่นปลิว พวกเขาเลือกที่จะรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยื่นขออภัยโทษในทันที และในปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นอิสระแล้ว โดยสุรชัยได้รับอภัยโทษแบบเฉพาะราย ส่วนสุชาติและวันชัย ได้รับอภัยโทษแบบเป็นการทั่วไป

ขณะที่คดีที่เลือกต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา คือ ยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้อง แต่เนื้อหาของสิ่งตัวเองที่แสดงออกนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และไม่เลือกขอพระราชทานอภัยโทษ เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขดา ตอร์ปิโด, นางปภัสนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ (เจ๊แดง) หรือ นายเอกชัย ต่างก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

เมื่อคนที่เลือกต่อสู้ไม่เคยชนะ ทำให้คนอื่นๆ เลือกที่จะไม่ยืนยันต่อสู้ในประเด็นการตีความเนื้อหาและเลือกใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น จึงไม่ค่อยปรากฏว่ามีคดีความตามมาตรา 112 ที่ขึ้นถึงศาลฎีกา และไม่มีแนวบรรทัดฐานของศาลที่วินิจฉัยว่าเนื้อหาแบบใดที่เป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้พื้นที่ของการตีความมาตรา 112 ก็ยังเป็นแดนสนธยาที่ไม่ว่าอะไรเฉียดใกล้ก็ถือเป็นผิดไปหมด และผลักให้การเอ่ยถึงบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดต่อไป

 

3. การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องแลกกับอิสรภาพระดับหนึ่งที่ไม่แน่นอน

เนื่องจากคดีที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว หมายความว่า หมดระยะเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลแล้ว ดังนั้นหลายคดีต้องรอให้กำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาสิ้นสุดลงก่อน หรือคดีที่ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วจึงต้อง "ถอนอุทธรณ์" ก่อน จึงจะยื่นขออภัยโทษได้ซึ่งก็หมายความว่าจำเลยจะไม่มีสิทธิต่อสู้คดีด้วยช่องทางอื่นอีกต่อไปแล้ว ความหวังที่เหลืออยู่อย่างเดียวของพวกเขาก็คือรอวันที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น

ซึ่งระยะเวลาในการรอคำสั่งอภัยโทษของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และไม่แน่นอน กว่าแต่ละคนจะได้รับอิสรภาพก็ต้องลุ้นกันตัวโก่งโดยไม่มีใครบอกได้ว่าการจะได้อิสรภาพเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง เมื่อนักโทษที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังทิ้งหนทางอื่นที่จะต่อสู้ด้วยสิทธิตามกฎหมายของตนจนหมดแล้ว ก็เหลือแต่การรอคอยคำสั่งอภัยโทษเท่านั้นโดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้หรือไม่ และเมื่อใด ซึ่งเป็นการผลักให้นักโทษเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต

สิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อกัน คือ ระหว่างที่ขอคำสั่งอภัยโทษนั้น นักโทษต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิด โดยการเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เลิกกิจกรรมรณรงค์ หรือยอมทำตัวให้เงียบเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกห้องขังนั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่ายิ่งคนที่เงียบเท่าไรก็ยิ่งได้รับอิสรภาพเร็วเท่านั้น

ตัวอย่าง ในกรณีของนายวันชัย นายธันย์ฐวุฒิ และนายสุรชัย ซึ่งยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษในไปในคราวเดียวกันแต่ได้รับอิสรภาพไม่พร้อมกัน โดยนายวันชัย ซึ่งเป็นคดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 นายธันย์ฐวุฒิ ซึ่งเป็นคดีที่มีคนรู้จักบ้าง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 และนายสุรชัย ซึ่งเป็นคดีที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ไม่ว่าจะเงียบเท่าไรก็ตาม กว่าคดีจะถึงที่สุด กว่าจะยื่นขอหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและรอคำสั่ง จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพจริง ก็ต้องแลกมากับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเสมอ เช่น กรณีนายเลอพงษ์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 1 เดือน 18 วัน กรณีนายอำพล ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน 6 วัน ก่อนจะเสียชีวิต กรณีนายวันชัย ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 ปี 2 เดือน 1 วัน กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 3 ปี 3 เดือน 5 วัน (ระยะเวลานี้รวมช่วงเวลาที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น)

ขณะที่คดีในอดีต อย่าง กรณีนายแฮรี่ ก็ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 5 เดือน 19 วัน กรณีนายโอลิเวอร์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 เดือน 6 วัน หรือกรณีของนายวีระ มุสิกพงศ์ ต้องถูกจองจำอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ

กล่าวโดยสรุป การใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ของนักโทษคดีมาตรา 112 นั้น เป็นช่องทางที่ช่วยให้นักโทษหลายคนได้รับอิสรภาพอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันช่องทางนี้ก็ต้องแลกกับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นการจองจำที่ไม่มีหลักประกันและระยะเวลาที่แน่นอน ต้องแลกกับการยกเว้นเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองโดยการทำตัวให้เงียบที่สุด ต้องยอมรับว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นไม่ใช่สิทธิแต่เป็นการกระทำความผิด และยอมสละสิทธิที่จะไม่ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงบางประการ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัย LSE ชี้การโหลดเพลงเถื่อนไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์แย่ลง

Posted: 09 Oct 2013 06:00 AM PDT

อวัตถุศึกษากับอธิปสัปดาห์นี้นำเสนอข่าวงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้การปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยรัฐไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์, เว็บไซต์ Popular Science ปิดช่องคอมเมนต์ท้ายข่าวแล้ว

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

24-19-2013

ช่อง Comedy Central ฉลองครบรอบ 17 ปีของ South Park ด้วยการสตรีมตอนเก่าๆ รวม 234 ตอนจาก 16 ซีซั่นต่อเนื่องไม่หยุดเป็นเวลา 5 วัน ให้ดูฟรีออนไลน์โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2013

ทั้งนี้จริงๆ แล้วตอนเก่าๆ ของ South Park ก็สามารถดูได้ฟรีออนไลน์อยู่แล้วบางตอน

ผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมกับการสตรีมระดับมาราธอนครั้งนี้ได้ที่ http://www.southparkstudios.com/events/spmarathon/live.html

อย่างไรก็ดี น่าจะมีการจำกัดพื้นที่ของผู้ที่ร่วมดูได้เพราะในไทยอาจไม่สามารถดูการฉายมาราธอนออนไลน์ครั้งนี้ได้

News Source: http://gigaom.com/2013/09/23/south-parks-95-hour-long-online-marathon-pays-tribute-to-shows-legacy/

 

25-09-2013

เว็บไซต์ Popular Science ปิดช่อง "คอมเมนต์" ในข่าวแล้ว

ในที่สุดเว็บของนิตยสารวิทยาศาสตร์อายุกว่า 140 ปีนี้ก็ไม่ต้องการจะต้องวุ่นวายกับการแสดงความคิดเห็นที่ "เกรียน" ไปจนถึง "แสปม" ทั้งหลายอีกต่อไป จึงตัดปัญหาด้วยการปิดการแสดงความเห็นในช่องทางเว็บ

ซึ่งส่งผลให้เกิดคำวิจารณ์มากมายว่าการปิดการรับ "คำวิจารณ์" แบบนี้สมควรหรือไม่สำหรับเว็บข่าววิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดี Popular Science ก็ไม่ใช่เว็บแรกที่จัดการกับปัญหาที่เว็บแทบทุกเว็บก็ประสบร่วมกันด้วยการตัดปัญหาแบบนี้

News Source: http://www.popsci.com/science/article/2013-09/why-were-shutting-our-comments?dom=PSC&loc=recent&lnk=3&con=why-were-shutting-off-our-comments-, http://paidcontent.org/2013/09/24/if-popular-science-cares-about-science-why-not-try-to-fix-comments-instead-of-killing-them/

 

26-09-2013

ผลอุทธรณ์ของ Gottfrid Svartholm หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay คือการลดโทษลงในคุกสวีเดน  แต่เขาต้องโดนส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีต่ออีก

หลังจากอุทธรณ์ว่าเขาอาจถูก "ยัด" หลักฐานในการเอาผิดมาในคอมพิวเตอร์ Gottfrid ก็พ้นผิดคดี "แฮ็ค" ไป 1 ข้อหาในการแฮ็คธนาคาร แต่ยังคงมีความผิดอีก 1 ข้อหาในการแฮ็คบริษัทไอทีซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานภาษีของสวีเดน ซึ่งผลคือโทษของเขาลดจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี

อย่างไรก็ดี เขากำลังจะถูกส่งไปดำเนินคดีที่เดนมาร์คพร้อมกับชายอีกคนซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ต้องสงสัยในการแฮ็คข้อมูลการขับขี่และเลขทะเบียนสวัสดิการสังคมของชาวเดนมาร์ค

News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-founder-hacking-sentence-slashed-in-half-on-appeal-130925/

 

01-10-2013

BitTorrent Inc. จะออก "แอปป์" แชท "ไร้เซิร์ฟเวอร์" เพื่อป้องกันการสอดส่องของรัฐ

ในยุคที่ความเป็นส่วนตัวเริ่มถูกรัฐคุกคามอย่างเด่นชัด หลายบริษัทก็เริ่มนำความเป็นส่วนตัวมาแปลงให้เป็นสินค้า

ทาง BitTorrent Inc. เจ้าของโปรแกรม BitTorrent และ uTorrent อันลือชื่อก็ได้มาร่วมวงนำเสนอความเป็นส่วนตัวด้วยการเสนอโปรแกรมคือ "แอปป์" (app) ที่ใช้สำหรับการส่งข้อความสนทนาทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า "แชท"

โดยแอปป์นี้จะทำงานคล้าย BitTorrent คือจะไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลาง แต่จะทำให้คู่สนทนาส่งข้อมูลถึงกันผ่านแทร็คเกอร์ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ไม่มีการกองข้อมูลไว้ที่ส่วนกลางที่จะทำให้ง่ายต่อการค้นและขอข้อมูลโดยรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay อย่าง Peter Sunde ก็ได้ริเริ่มทำแอปป์แชทป้องกันการสอดส่องอย่าง Hemlis มาแล้ว โดยกลไกการป้องกันการสอดส่องจะเป็นการเข้ารหัสทั้งต้นทางและปลายทางสาร ซึ่งจะทำให้ทั้งเจ้าของแอปป์ ทางผู้ให้บริการเครือข่าย ไปจนถึงรัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในการสนทนาได้ (ติดตามได้ที่ https://heml.is )

News Source: http://torrentfreak.com/bittorrent-launches-nsa-proof-messenger-app-130930/

 

องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีสาธารณะของนิวซีแลนด์ 2 องค์กรได้รวมกันสร้างสำนักงานเพื่อ "ให้บริการจุดเดียวจบ" ในการออกใบอนุญาตในการแสดงดนตรีต่อสาธารณะ

โดยพื้นฐานแล้วในหลายๆ พื้นที่ในโลกที่แม้จะมีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดง "บทประพันธ์" ดนตรีสาธารณะให้นักแต่งเพลงเพียงองค์กรเดียว (ในไทยเคยมีกว่า 30 องค์กร แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 15 องค์กร ซึ่งก็ยังมากอยู่ดี) แต่ส่วนของลิขสิทธิ์ใน "งานบันทึกเสียง" ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการใบอนุญาตก่อนการนำแสดงต่อสาธารณะ

กล่าวคือการเปิดเพลงในที่สาธารณะทั้งหมดนั้นต้องการใบอนุญาตจากทั้งผู้ประพันธ์เพลง และนักดนตรีที่บันทึกเสียง (หรือเจ้าของลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง ซึ่งในกรณีเพลงดังๆ ทั้งหลายมักจะเป็นค่ายเพลง) การได้ใบอนุญาตจากเพียงองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามจารีตนั้นไม่ได้ทำให้การเปิดเพลงในที่สาธารณะถูกต้องตามลิขสิทธิ์ เพราะตัวงานบันทึกเสียงดนตรีก็ต้องการใบอนุญาตต่างหาก

การต้องขอใบอนุญาต 2 ใบนี่ก็สร้างความเวียนหัวและงุนงงให้ผู้ใช้จำนวนมากแม้ในภาคธุรกิจเอง ซึ่งในอเมริกาก็ยังใช้ระบบนี้อยู่ และจริงๆ ในโลกนี้ก็ใช้ระบบ 2 ใบอนุญาตทั้งนั้น

แต่ทางนิวซีแลนด์ก็ได้มีโครงการริเริ่มใหม่ที่จะตั้งสำนักงานที่จะสามารถซื้อใบอนุญาต "ใบเดียวจบ" เลย ไม่ต้องมาไล่ซื้อทั้ง 2 ใบจากคนละองค์กร โดยสององค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ของนิวซีแลนด์จะตั้งองค์กรชื่อ OneMusic (ดูได้ที่ https://www.onemusicnz.com/ ) ขึ้นมาเป็นจุดที่ให้บริการทีเดียวจบไม่ว่าจะต้องการใบอนุญาตไปเพื่อเปิดในร้านอาหาร เปิดวิทยุ เอาไปใส่รายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเอาไปบันทึกเสียงคัฟเวอร์

นี่ก็เป็นการจัดการลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจที่จะทำให้การชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้นกว่าระบบที่เป็นอยู่ที่การต้องไปตามหาและตามขอเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกครั้งเป็นการสร้างต้นทุนธุรกรรมไม่น้อยเลย

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130930newzealand

 

05-10-2013

นักวิชาการจาก London School of Economics ชี้ว่าการ "โหลด" ไฟล์แบบสำเนาเถื่อนทั้งหลายไม่ได้ทำลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังที่ทางอุตสาหกรรมกล่าวอ้าง

รายงานของกลุ่มนักวิชาการจาก London School of Economics ชี้แบบเดียวกับผู้ที่ศึกษาและติดตามผลกระทบขอบการทำสำเนาเถื่อนอกภาคธุรกิจ โดยชี้ว่า

1. อุตสาหกรรมเดียวที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการทำสำเนาเถื่อนออนไลน์ คืออุตสาหกรรมดนตรีในส่วนอุตสาหกรรมบันทึกเสียง (Recording Industry) ซึ่งอุตสาหกรรมดนตรีในส่วนของอุตสาหกรรมดนตรีสด (Live Music Industry) และอุตสาหกรรมเก็บค่าเช่าลิขสิทธิ์ (Music Publishing Industry) นั้นนอกจากจะไม่ได้ซบเซาแล้ว ยังเติบโตได้ดีทั้งคู่ด้วย ซึ่งพอหักลบกับความซบเซาของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแล้ว ก็จะพอว่าอุตสาหกรรมดนตรีในภาพรวมไม่ได้มีรายได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

2. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นอกอุตสาหกรรมดนตรีนั้นแทบจะไม่พบความเสียหายทางธุรกิจใดๆ ที่เกิดจากการทำสำเนาเถื่อนออนไลน์ ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ในทางตรงข้าม อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ยังโตวันโตคืนในสิ่งแวดล้อมดิจิทัล

3. ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ ว่ามาตรการปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นรายบุคคลโดยรัฐ (เช่น HATOPI ในฝรั่งเศส) จะส่งผลที่ดีใดๆ ต่อภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสรุปว่ามาตรการพวกนี้ได้ผลเป็นเพียงการเล่นข้อมูลแบบด่วนสรุปเพื่อล็อบบี้นโยบายรัฐของทางอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์

ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อเบรคและปรามการบังคับใช้กฎหมาย Digital Economy Act 2010 ของอังกฤษที่แม้จะเป็นกฎหมายที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ และมีการพิจารณามาตรการต่างๆ ในกฎหมายอยู่

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.lse.ac.uk//media@lse/documents/MPP/LSE-MPP-Policy-Brief-9-Copyright-and-Creation.pdf

News Source: http://www.slashgear.com/london-school-of-economics-analysts-piracy-is-good-for-business-05300355/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ ณ ระนอง

Posted: 09 Oct 2013 05:41 AM PDT

"ประเทศที่สื่อ และที่แย่กว่านั้นคือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแทบทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับโหร/ดวง ซึ่งพวกโหรดังๆ ไม่เคยต้องมี accountability(ความรับผิดชอบ) ยกเว้นโหรคนจนอย่างพ่อปลาบู่ เราก็คงจะได้ยินเรื่องแบบนี้ไปอีกนาน"

กล่าวถึงข่าวที่ 'ฟองสนาน' ผู้สื่อข่าวอาวุโสและนักโหราศาสตร์ ออกมากล่าวว่า 25-31 ต.ค. การเมืองพลิกแน่ ทั้งที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆ ตามที่โหรเคยทำนายกันไว้

ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง 3 เขต 10 วัน คุมม็อบกองทัพประชาชน

Posted: 09 Oct 2013 03:18 AM PDT

9 ต.ค.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็ก ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมได้เห็นชอบให้ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 9 -18 ต.ค. ใน 3 เขตพื้นที่ คือ พระนคร ดุสิต ป้อมปราม และแต่งตั้งพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ทำหน้าที่ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยศูนย์บัญชาการอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังการเจรจาระหว่าง พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกับแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท. เพื่อขอคืนพื้นที่ี่บริเวณถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะที่แผนปฏิบัติการจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยขั้นแรกจะมีการติดประกาศให้ผู้ชุมนุมได้ทราบ สกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้ามาเพิ่มเติม และจะมีการกำหนดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่หน้าทำเนียบฯ รวมทั้งจะมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงฯประเมินว่าอย่างน้อยวันที่ 10 ต.ค.กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางออกจากพื้นที่

อนึ่งระหว่างวันที่ 11 - 13 ต.ค.นี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือข้อราชการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบฯ ว่า เรื่องข้อกฎหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติ ความชอบธรรมที่สังคมรับได้ เมื่อถามว่า มีการรายงานให้นายกฯ รับทราบ หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า มีการประเมินสถานการณ์ให้นายกฯ รับทราบเป็นระยะอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราจะมีแขกต่างประเทศ มีการย้ายที่ชุมนุมจากสวนลุมพินี มายังทำเนียบฯ ทำให้เกิด อุปสรรคในการปฏิบัติราชการ เมื่อถามว่าเหตุผลรวม ๆ เพราะนายกฯ จีน มาเยือน หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นสถานการณ์โดยรวม เพียงแต่ว่า นายกฯ จีนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ต้องดูแลผู้นำระดับประเทศ เราต้องสร้างความมั่นใจ ให้ทีมรักษาความปลอดภัยของจีน และต้องยืนยันให้ชัดเจน

 

หมอชูชัยเตือนตำรวจละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้ชุมนุม

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่บริเวณทำเนียบว่า ยังไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ จึงถือเป็นการชุมนุโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่สะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนทั่วไปอยู่บ้าง แต่ประชาชนก็ยังไม่สามารถเดินทางได้โดยเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ซึ่งความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตยทั่วไป หากเปรียบเทียบกับการชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองที่ผ่านมา

นายแพทย์ชุูชัยกล่าวเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ต้องระมัดระวังการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม ตำรวจมีหน้าที่เข้าไปดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการและความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไป รวมถึงจัดการการจนาจรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณนั้นได้ แต่ตำรวจไม่อาจห้ามบุคคลเข้าร่วมการชุมนุม การตรวจค้นผู้ชุมนุมต้องมีเหตุผล หากเป็นการตรวจค้นเพื่อป้องกันการนำอาวุธเข้ามาในบริเวณที่ชุมนุมก็อาจทำได้ แต่หากเป็นการตรวจค้นมากเกินกว่าความจำเป็ฯในการรักษาความสงบเรียบร้อยและมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอุปสรรคในการเข้าร่วมชุมนุม อาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตและเป็นการกีดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 50นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า ไทยมีพันธะกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบในฐานะรัฐภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือกติกา ICCPR (International Convenant on Civil and Political Rights)

 

ศอ.รส. เผยยึดหลักเจรจา โปร่งใส เมตตาธรรมภายใต้กรอบกฎหมาย

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ระบุ ครม. มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมและประชาชน โดยมอบหมายผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บังคับการกองกำลัง ยึดหลักการเจรจา โดยให้ใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ จากข้อมูลขณะนี้พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะยึดพื้นที่บริเวณทำเนียบฯ และจะชุมนุมยืดเยื้อ รวมทั้งการข่าวพบว่าจะมีการระดมผู้ชุมนุมเข้ามากดดันเจ้าหน้าที่ และปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง หากไม่มีมาตรการป้องกันอาจเกิดความรุนแรงและยืดเยื้อ โดย ศอ.รส. จะปฏิบัติหน้าที่เน้นยึดหลักเมตตาธรรมภายใต้กรอบกฎหมาย จะใช้กำลังเท่าที่จำเป็น และโปร่งใสทุกขั้นตอน ยึดการเจรจามุ่งเน้นคลี่ลคลายสถานการณ์ให้เร็วที่สุด เช่น การเจรจาเปิดถนน
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องคัดกรองผู้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เพื่อป้องกันบุคคลที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์ โดยตั้งแต่วันนี้เจ้าหน้าที่จะอยู่ในขั้นตอนของแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 30 กองร้อยอยู่ในที่ตั้ง และพร้อมเสริมกำลังเป็น 50 กองร้อย หากเกิดสถานการณ์รุนแรง ยืนยันทุกขั้นตอนการปฏิบัติจะมีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมและยึดเจรจา เบื้องต้นยังไม่มีประกาศปิดถนน ต้องประเมินตามสถานการณ์แต่ละวัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานร้องถูกกลุ่มคนอ้างตัวเป็น ตร.คุกคาม หลังกลับจากรณรงค์ที่ทำเนียบ

Posted: 09 Oct 2013 02:05 AM PDT

สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ร่อนหนังสือถึงบริษัทต้นสังกัด แจ้งถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ล้อม หลังกลับจากรณรงค์ที่ทำเนียบ ขอบริษัทจับมือสหภาพฯ ตรวจกล้องวงจรปิด-เพิ่มมาตรการความปลอดภัย

(8 ต.ค.56) สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIG) โดย ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพฯ ทำหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  เรื่อง ขอให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยให้คนงานที่สาขาเวลโกรว์ พร้อมสำเนาถึง สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และสหภาพแรงงานในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย (PCFT), กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ (CWUA), IndustriALL Thailand, ICEM Thai Committee, FES, IGBCE, LINDE UNION NETWORK และคณะผู้จัดงานวันที่ 7 ต.ค.56

โดยหนังสือระบุว่า หลังตัวแทนสหภาพฯ เดินทางกลับจากการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับองค์กรด้านแรงงานอื่นๆ กว่า 30 องค์กร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98  เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเย็นวันดังกล่าว บริเวณหน้าประตูทางเข้าโรงงานลินเด้ สาขาเวลโกรว์ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ 6-10 คน เข้าล้อมคนงานซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพฯ พร้อมถามหาแกนนำสหภาพฯ และคนงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพฯ โดยอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และว่าได้รับแจ้งให้มาดำเนินการ เนื่องจากสมาชิกสหภาพฯ ก่อความไม่สงบในการไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

สหภาพฯ ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งคนงานและบริษัท เนื่องจากมีบุคคลภายนอกหลายคนมาปรากฏตัวที่ทางเข้าในลักษณะไม่เป็นมิตร ทั้งยังอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่เพราะมีเหตุจากการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรม อย่างไรก็ตาม ยังดีที่มีจุดดังกล่าวมีกล้องวงจรปิดของบริษัท จึงขอเรียกร้องให้บริษัทร่วมกับตัวแทนสหภาพฯ ตรวจสอบภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด เพื่อหาแนวทางป้องกันเพื่อความปลอดภัยของคนงาน รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทจัดมาตรการด้านความปลอดภัย ให้คนงานที่สาขาเวลโกรว์ เพื่อไม่ให้คนงานถูกคุกคามจากบุคคลภายนอกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ผ่านกม.วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ลงโทษผู้ดัดแปลงหมิ่นกษัตริย์-ความมั่นคง

Posted: 09 Oct 2013 01:14 AM PDT

 

9 ต.ค.56 ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม หรือ คุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่น ภาษา การแสดง การดนตรี พิธีกรรม ประเพณี เทศกาล และงานช่างฝีมือ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักการสำคัญ คือ กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งมีบทลงโทษ โดยมาตรา 40 ระบุว่า หากมีการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว ไปเผยแพร่ในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีสิทธิเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร โดยหากผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบร่างกม.ฉบับดังกล่าว มาตรา 5  กล่าวถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมตามพ.ร.บ. นี้ ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1.วัฒนธรรมทางภาษาและการสร้างสรรค์ทางภาษา รวมทั้งการแสดงออกโดยใช้ภาษาเป็นสื่อถ่ายทอด

2.ศิลปะการแสดงและการดนตรี

3.การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และประเพณีหรือเทศกาล

4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

5.ผลงานซึ่งเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิม

6.มีลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกายกฟ้อง รพ.พญาไท ฟ้องหมิ่นประมาท 'คนไข้' 100 ล้าน

Posted: 08 Oct 2013 11:53 PM PDT

(8 ต.ค.56) เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า  ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่บริษัท รพ.พญาไท 1 จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางปรียนันท์ หรือ ดลพร ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นจำเลย เรื่องละเมิด จากการหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเมืองไทยรายวัน ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถึงการทำคลอดของโรงพยาบาล ที่ส่งผลให้บุตรชายของเธอกลายเป็นคนพิการขาสั้น-ยาวไม่เท่ากัน

โดยคดีนี้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นการกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรม และปกป้องสิทธิตามครองธรรม จึงไม่เป็นการละเมิดต่อ รพ.โจทก์  โจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

นางปรียนันท์ กล่าวภายหลังว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเรื่องที่พูดในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นข้อความที่ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 ซึ่งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ป้องกันส่วนได้เสียของตนตามทำนองคลองธรรม การกระทำของตน จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง โดยการวินิจฉัยของศาลยังฟังได้อีกว่า การรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษามาในวันนี้แล้วถือว่าคดีถึงที่สุดทุกอย่างจบแล้วหลังจากต่อสู้คดีมานาน

ส่วนคดีที่ยื่นฟ้องบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการ รพ.พญาไท1, พญ.ยรรยงค์ มังคละวิรัช และ นพ.สันติ สุทธิพินทะวงศ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 คดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ.1821/2552 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท จากกรณีที่บุตรชายต้องเกิดความผิดปกติทางร่างกาย หลังจากทำคลอดออกมา กระทั่งอายุ 18 ปี ( ปี 2552) เกิดความเสียหายใหม่ กระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงไขสันหลังตีบแคบ และหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 28 ก.ค.52 เห็นว่าฟ้องซ้ำและคดีขาดอายุความ ต่อมาตนยื่นอุทธรณ์ ศาลก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.54 เห็นว่าคดีขาดอายุความ โดยตนก็ยังรอลุ้นคำพิพากษาศาลฎีกาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้บุตรก็ต้องรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกซึ่งมีการค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรรักษา 30 บาทได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: 40 ปี

Posted: 08 Oct 2013 11:41 PM PDT



เหตุการณ์ผ่าน นานมา กว่าสามรอบ
ยังไม่เห็น คำตอบ ว่าใครฆ่า
ประชาชน เดือดร้อน สุดคณา
ติดตามหา ประชาธิปไตย ก็ต้องตาย
 

ตายเมื่อ สี่สิบปี  ที่ผ่านพ้น
กลางถนน ในเมืองหลวง ศพก็หาย
เจ็บพิการ นานปี ทุกข์มิคลาย
คนคิดร้าย ยังคิดฆ่า มิรามือ
 

สี่สิบปี สิบสี่ตุลาฯ  ปีหนึ่งหก
โอ้ นรก  กลางเมืองหลวง อันลือชื่อ
สยามเมืองยิ้ม ยิ้มไม่ออก บอกระบือ
เสียงปืนอื้อ ควันไฟอวล ป่วนทั้งเมือง
 

สี่สิบปี  การเมือง ยังไม่เปลี่ยน
ยังหมุนเวียน วกวน ไม่เป็นเรื่อง
"รัฐธรรมนูญ" เป็นกฎหมาย ใช้สิ้นเปลือง
และเป็นเครื่องมือใช้ ทำลายกัน
 

ไม่เห็นความสำคัญ ประชาราษฎร์
นักการเมืองผูกขาด ทางสวรรค์
มีความสุข ปลุกกระแส ม็อบทุกวัน
เสกคำปั้น สร้างนิยาย ขายอุดมการณ์
 

สี่สิบปี  สิบสี่ตุลาฯ ปีห้าหก
ยังปิดปก ความจริง สิ่งที่ผ่าน
ยังปล่อยให้การตาย เป็นตำนาน
และยังต้าน  กระแส  การเปลี่ยนแปลง...

.......................................................
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.ไม่รับคำร้องแก้ รธน. ที่มา ส.ว.

Posted: 08 Oct 2013 11:31 PM PDT

ที่ประชุมศาลรธน.มีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ รวม 68 คน กับนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ วิปฝ่ายค้าน กับคณะ รวม 142 คน ขอให้วินิจฉัยว่า ร่างแก้รธน.เกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดหรือแย้งรธน.หรือไม่

(9 ต.ค.56) ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน ถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีคำสั่งไม่รับคำร้องกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะ รวม 68 คน กับนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กับคณะ รวม 142 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ทั้งสองเรื่องมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลจึงพิจารณารวมกันแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291โดยบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่าให้ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ ทั้งมาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขีดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผีโม่แป้ง’ รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย

Posted: 08 Oct 2013 11:17 PM PDT

ก่อนหน้าที่ตำรวจพร้อมกองกำลังผสมที่เป็นพนักงานบริษัท จำนวน 700 นาย  ทำการปิดกั้นประชาชนผู้เห็นต่างในนาม  'กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด'  ไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิ้ง  เพื่อกำหนดขอบเขตในการจัดทำร่างรายงาน EHIA  เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ทองแดงและเงิน แปลงที่ 76/2539  ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย  ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ("ทุ่งคำ")   เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556  ที่ผ่านมา  ได้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555  โดยกองกำลังตำรวจผสมทหาร  อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และพนักงานบริษัท  จำนวนมากกว่า 1,000 นาย  ทำการปิดกั้นประชาชนผู้เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก สโคปปิ้ง  เพื่อกำหนดขอบเขตในการจัดทำร่างรายงาน EHIA  เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  ของทุ่งคำเช่นเดียวกัน

สิ่งที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเห็นต่างและมีเหตุผลในการคัดค้านการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538  (แปลงภูเหล็ก)  พื้นที่ประมาณ 291 ไร่  โดยได้ทำจดหมายถึงหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นก่อนวันจัดเวทีดังกล่าว  และเตรียมนำข้อมูลไปแสดงต่อที่ประชุมพับลิก สโคปปิง ในวันที่ 25 ธันวาคม 2555  ด้วย  ก็คือว่า  ณ บริเวณที่เป็นภูเหล็ก  ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแปลงประทานบัตรบนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน  ที่กำลังดำเนินการทำเหมืองและประกอบโลหกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) แร่ทองคำและทองแดง  อยู่ในเวลานี้  มีลักษณะภูมินิเวศเป็นภูเขาลูกโดดชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก  สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 500 เมตร  ถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม  ตามมาตรา 6 จัตวา[1]  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ("กฎหมายแร่")  ดังนั้น  การดำเนินการตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  สมควรถูกยกเลิกหรือยุติลง  เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงการสงวนหวงห้ามเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก  มิใช่นำพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมดังกล่าวมาขอประทานบัตรเพื่อออกประทานบัตรได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม  หรือใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินในพื้นที่นั้น  

ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554  ว่าให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  แปลงที่ 104/2538  และแปลงอื่น ๆ  ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของ 'สาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน'  และให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน  ทั้งนี้  เนื่องจากข้อเท็จจริงในการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบเหมืองดังกล่าวหลายครั้ง  ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2549  พบว่ามีสารหนู แคดเมียมและแมงกานีส  เกินเกณฑ์มาตรฐาน  และผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2553  พบว่ามีธาตุเหล็ก  ตะกั่ว  แคดเมียม  ในบางจุดเกินเกณฑ์มาตรฐาน  แต่สารไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  โดยยังไม่มีข้อสรุปของแหล่งที่มาและสาเหตุของสารปนเปื้อนที่ชัดเจน  ประกอบกับราษฎรในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะระงับการขอขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  แปลงที่ 104/2538  และแปลงอื่น ๆ  ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ  ที่ชัดเจน

 

 

แผนที่แสดงลำห้วย  ลำราง  ป่าน้ำซับซึม

ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ  แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัดขอขอบคุณแผนที่ฉบับนี้  โดย  วัชราภรณ์ วัฒนขำ  และประชาชนจากหลายหมู่บ้านในเขต  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  ที่ร่วมกันจัดทำขึ้นมา.  มีนาคม 2555

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวอีกว่า  ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบสารปนเปื้อน  ดำเนินการตรวจสอบสารปรอทด้วย  เนื่องจากมีการพบว่ามีปริมาณสารปรอทสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่นในสภาพปกติ

แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดทั้งส่วนราชการและผู้ประกอบการกระตือรือร้นที่จะหาข้อสรุปของแหล่งที่มาและสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่อย่างใด 

ตรงกันข้าม  กลับมีการเล่นแร่แปรธาตุขึ้นมาแทน  โดยเอาความทุกข์ร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาและผลกระทบมาหาผลประโยชน์  ด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554  เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ในเวลานั้นได้  ด้วยการรายงานผลการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดิน  น้ำบาดาลและดินในบริเวณทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน  และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ  ให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  เพื่อที่จะเปิดทางให้ผู้ประกอบการดำเนินการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ได้  ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554  ที่ไม่ตรงประเด็น

ไม่เพียงเท่านี้  ก่อนหน้านี้  มีกระบวนการ 'ผีโม่แป้ง'  เพื่อที่จะทำให้พื้นที่บริเวณที่ยื่นคำขอประทานบัตร  แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  ไม่เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม  ตามมาตรา 6 จัตวา  ของกฎหมายแร่  ด้วยการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ  ดังนี้

1. รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  พบว่ามีข้อความที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นเท็จ  กล่าวคือรายละเอียดที่ระบุไว้ในข้อ 2. – 5.  ของรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรฯ ดังกล่าว  ระบุว่าไม่พบทางน้ำสาธารณะ  ในพื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  และพื้นที่ในรัศมีระยะ 50 เมตร  ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงในพื้นที่  เนื่องจากว่า  ในพื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าว  และพื้นที่ในรัศมีระยะ 50 เมตร  พบทางน้ำสาธารณะหลายเส้นทางที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน  โดยทางน้ำสาธารณะมีลักษณะเป็นน้ำซับน้ำซึม  ลำราง  ลำห้วยสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของประชาชนหลายชุมชนหมู่บ้าน  โดยลำห้วยลำรางเหล่านี้ไหลลงห้วยเหล็กและลำน้ำฮวย  ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเลยต่อไป (ดูแผนที่แสดงลำห้วย ลำราง ป่าน้ำซับซึม  ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  ในบทความนี้  และเอกสารแนบ รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  ท้ายบทความนี้)

2. เนื่องจากรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรดังกล่าวเป็นเอกสารตั้งต้นของกระบวนการและขั้นตอนในการอนุญาตให้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่  รวมทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  ตามมาตรา 67 วรรคสอง  ของรัฐธรรมนูญฯ  ดังนั้น  เมื่อเอกสารสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดมีข้อความเป็นเท็จหรือผิดไปจากข้อเท็จจริง  จึงทำให้กระบวนการและขั้นตอนเกี่ยวกับการอนุญาตให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่  ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนของการจัดทำรายงาน EHIA  เท็จหรือผิดตามไปด้วย  

แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น  ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา  กลับละเลยเพิกเฉยหรือไม่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าว  โดยยังคงดื้อรั้นจัดเวทีพับลิก สโคปปิง  เพื่อจัดทำรายงาน EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 104/2538  (แปลงภูเหล็ก)  ต่อไป  แทนที่จะแก้ไขรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรให้ถูกต้องเสียก่อน

3. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา  ที่ร่วมมือในการจัดเวทีพับลิก สโคปปิ้ง  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555  ดังกล่าว  ไม่สามารถอ้างได้ว่าการจัดทำเวทีดังกล่าวนั้นเป็นคนละขั้นตอนกับการขออนุญาตประทานบัตร  เพราะว่าในระเบียบของการอนุญาตประทานบัตรนั้นต้องมีการจัดทำรายงาน EHIA ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน  เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสาร/หลักฐานสำคัญในการที่จะได้รับอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตร  

ซึ่งการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง  ดังกล่าวนั้น  เป็นขั้นตอนแรกสุดของการจัดทำรายงาน EHIA  ส่วนการจัดทำรายงาน EHIA  ก็อยู่ในขั้นตอนที่ 2  ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากที่ต้องจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 1  ของทั้งหมด 8 ขั้นตอน  ของขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตร กรณีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ  (ดูภาพแผนผัง-ขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตร  กรณีโครงการที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรง  ตามมาตรา 67 วรรคสอง  ของรัฐธรรมนูญฯ  ในบทความนี้)  

ดังนั้น  ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษา  หรือคณะผู้ร่วมจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555  จะอ้างไม่ได้ว่าการจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555  เพื่อจัดทำรายงาน EHIA  กับขั้นตอนดำเนินการอนุญาตประทานบัตรไม่เกี่ยวข้องกัน

 

อธิบายภาพแผนผัง  ภาพแผนผังนี้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อขอประทานบัตรตามกฎหมายแร่  ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.)  กระทรวงอุตสาหกรรม  จัดทำขึ้นมาเพื่อวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแร่แก่เจ้าพนักงานและผู้ลงทุนในการยื่นขอสิทธิทำเหมืองแร่  เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  เข้าถึงได้ที่  http://www.dpim.go.th/pr/article?catid=42&articleid+2377

ในภาพแผนผังนี้  จะเห็นได้ชัดเจนว่า  การรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่  และการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  (ในภาพแผนผังนี้  เขียนย่อว่า  "รังวัด+ไต่สวนฯ")  อยู่ในขั้นตอนที่ 1.  ส่วนการจัดทำเวที  Public scoping  เพื่อจัดทำรายงาน  EHIA  อยู่ในขั้นตอนที่ 2.  ของทั้งหมด  8  ขั้นตอน      

ถึงแม้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร  จะมีใบแทรกแนบท้ายใบไต่สวนฯ  มาด้วย  โดยทำการไต่สวนเพิ่มเติมว่าพื้นที่ที่ขอประทานบัตร  แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  ประมาณ 291 ไร่  อยู่ในพื้นลุ่มน้ำชั้นที่  1  เอ  และ  1  บี  ก็ตาม  ผลของมันก็ไม่สามารถหักล้างการไต่สวนเท็จที่ปรากฏอยู่ในข้อ  2. – 5.  ในรายงานการไต่สวนฯ  ตามที่กล่าวมาแล้วได้  เนื่องจากว่าแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึม  ตามมาตรา 6 จัตวา  ของกฎหมายแร่  มีความหมายกว้างและแสดงให้เห็นถึงความหมายของระบบน้ำผิวดินและใต้ดินที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศป่าไม้มากกว่าคำว่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ  ที่มีความหมายในเรื่อง 'การจัดการพื้นที่ลาดชัน'  เป็นหลัก  ด้วยสมมติฐานอันคับแคบว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงจะเป็นที่อยู่ของต้นน้ำเท่านั้น 

ซึ่งขัดกับหลักธรรมชาติที่กำเนิดต้นน้ำมาจากภูมินิเวศอันหลากหลาย  เช่น  ภาคเหนือของไทยต้นน้ำอาจจะมาจากภูเขาสูง  แต่ในภาคอีสานของไทยต้นน้ำส่วนใหญ่มักเกิดจากบริเวณที่ราบลอนคลื่น  หรือที่ราบสลับโคกเนิน  ซึ่งเป็นภูเขาลูกเตี้ย  ที่มีความลาดชันต่ำกว่าภูเขาสูงบริเวณภาคเหนือของไทย  หรือบางท้องที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ไม่จำเป็นต้องเกิดภูเขาสูง  ในที่ราบลุ่มก็เป็นบ่อเกิดของต้นน้ำ โดยมีลักษณะตาน้ำ  น้ำผุด  น้ำออกรู  น้ำซับซึม ฯลฯ  ได้เช่นเดียวกัน

นี่คือกระบวนการผีโม่แป้ง  ด้วยการจัดทำรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน  แปลงที่ 104/2538  (แปลงภูเหล็ก)  ให้เป็นเท็จ  เพื่อทำลายความเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหรือป่าน้ำซับซึมให้ราบคาบ  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดำเนินการขอประทานบัตรได้ 

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่รายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ เงินและทองแดง  แปลงที่ 76/2539  ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย  จะมีผีไปรับจ้างโม่แป้งด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

ภาพที่หนึ่ง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)

คัดลอกจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping)  โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  คำขอประทานบัตร  104/2538  หน้า 6.  25 ธันวาคม 2555

บรรยายภาพที่หนึ่ง  นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา  ของกฎหมายแร่แล้ว  คำขอประทานบัตร  แปลงที่ 104/2538 (แปลงภูเหล็ก)  ยังเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี  ตามที่ระบุไว้ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวอีกด้วย

ภาพที่สอง  ภาพถ่ายแสดงลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539

คัดลอกจากเอกสารรายละเอียดโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน คำขอประทานบัตรที่ 76/2539  และขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  หน้า 5.  เอกสารประกอบเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1 หรือพับลิก สโคปปิง)  โครงการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด  คำขอประทานบัตร 76/2539.  8 กันยายน 2556

บรรยายภาพที่สอง  บริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 76/2539 และ 77/2539  มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเตี้ยชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันออก  ที่แสดงถึงความเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามมาตรา 6 จัตวา ของกฎหมายแร่  อย่างชัดเจน  เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ  มีลำห้วย  ลำราง  ทางน้ำ  ไหลผ่าน   นอกจากนั้น  พื้นที่นี้ยังมีความสำคัญต่อระบบน้ำใต้ดิน  เพราะเป็น Recharge Area  หรือพื้นที่รับน้ำเพื่อเติมน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป

 

                                               


[1]               มาตรา 6 จัตวา  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา  กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม  ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์  และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว  หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม  หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น  แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชัย จิตสุชน: ทำไมต้องมี Thai PBO

Posted: 08 Oct 2013 08:20 PM PDT

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีอีกหลายแง่มุมที่ทั้งผู้เขียนและคนทั่วไปยังไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่หากกล่าวโดยสรุปก็คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ต้องมีที่มาจากประชาชน (ส่วนรูปแบบใดจึงจะถือเป็นการได้รับอำนาจจากประชาชนอย่างแท้จริงยังถกเถียงกันได้) นอกจากนั้น เมื่อได้อำนาจมาแล้ว การใช้อำนาจก็ต้องมีรากฐานจากประชาชนเช่นกัน โดยการใช้อำนาจต้องคำนึงถึงการตรวจสอบและการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสาม

ที่กล่าวข้างต้นเป็นเรื่องของหลักการ เมื่อนำมาแปลงเป็นการปฏิบัติ ก็จะขึ้นกับระบบการปกครองในรายละเอียด เช่น การเลือกประมุขฝ่ายบริหารซึ่งอาจแยกเป็นระบบประธานาธิบดีที่เลือกโดยตรงจากประชาชน หรือระบบนายกรัฐมนตรีที่เลือกจากสมาชิกรัฐสภาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์เชิงการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ คือนายกรัฐมนตรี (และต่อเนื่องไปถึงคณะรัฐมนตรี) ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภา และเนื่องจากรัฐสภาย่อมเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วยเสียงข้างมากในตอนต้น อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติจึงมีความแนบแน่นและไม่ค่อยขัดแย้งกันเหมือนกับระบบประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกโดยตรง การทำหน้าที่ของผู้แทนในรัฐสภาที่อาจเห็นต่างจากฝ่ายบริหาร (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือกระทั่งสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล) จึงมีข้อจำกัด ตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องนี้คือการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของฝ่ายบริหาร หากสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถอ้างข้อมูลและการวิเคราะห์ที่หนักแน่นอันแสดงถึงผลดีผลเสีย ก็จะไม่สามารถโน้มน้าวให้เสียงข้างมากในรัฐสภาคล้อยตามได้ ในทางตรงข้าม รัฐบาลก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในสภา เพราะไม่ต้องเสนอการวิเคราะห์ที่ถี่ถ้วนและรอบด้านมากนัก ก็สามารถผลักดันการใช้งบประมาณผ่านสภาได้

แนวทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหาข้างต้นก็คือ ต้องมีระบบที่ช่วยเพิ่มความสามารถของสมาชิกรัฐสภาในการวิเคราะห์งบประมาณและการคลังของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณประจำปี งบประมาณระยะปานกลาง การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ หรือกิจกรรมทางการคลังและกึ่งการคลังอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี การเสนอกฎหมายทางการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีรูปธรรมคือการจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ในชื่อเรียกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยหน่วยงานลักษณะนี้ที่ได้รับการยอมรับและถือเป็นต้นแบบสำหรับประเทศต่างๆ คือ Congressional Budget Office (CBO) ที่ขึ้นกับรัฐสภาอเมริกัน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1974

เป็นที่น่าเสียใจว่าประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานลักษณะนี้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายบริหารซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาสามารถผ่านกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายการเงินอื่นๆ ได้อย่างค่อนข้างง่าย โดยไม่ได้รับการตรวจสอบการใช้เงินเท่าที่ควร เนื่องจากฝ่ายบริหารได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านการคลังจากหน่วยงานในสังกัดจำนวนมาก เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสมาชิกรัฐสภาต้องศึกษาและวิเคราะห์งบประมาณด้วยตนเอง หรือใช้ทีมงานขนาดเล็กของตนเองซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์งบประมาณและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลงบประมาณที่จำเป็นได้

ความจริงแล้วมีการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของหน่วยงานลักษณะนี้ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยสิบกว่าปีที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาไทยหลายท่านให้ความสนใจ มีการไปดูงานในต่างประเทศหลายครั้ง นักวิชาการหลายท่านก็ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องนี้ในหลายเวที แต่ก็ไม่มีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ซึ่งก็คือประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตำแหน่ง) มีคำสั่งตั้ง "สำนักงบประมาณของรัฐสภา" โดยมีสถานะเป็น "กลุ่มงาน" ขึ้นตรงต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอัตรากำลัง 31 อัตรา โดยมีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้ากลุ่มงาน และมีงบประมาณจัดสรรให้แล้วจำนวนหนึ่ง

เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างจัดตั้ง หน่วยงานข้างต้นจึงยังมิได้ทำหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณและวิเคราะห์การคลัง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาบทบาทที่สำคัญนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งอาจต้องมีการยกระดับสถานะขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะตัวรองรับดังเช่นในต่างประเทศ เพราะหน่วยงานนี้ต้องมีความยั่งยืน มีงบประมาณเพียงพอ และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

สำหรับการพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์งบประมาณและการวิเคราะห์การคลัง ได้มีพัฒนาการอีกด้านหนึ่งที่คู่ขนานกับการจัดตั้งสำนักงบประมาณของรัฐสภาที่กล่าวถึงข้างต้น คือมีโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยสถาบันพระปกเกล้า (KPI) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษา "โครงการส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินประจำรัฐสภา" ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก เป็นโครงการวิจัยระยะปานกลางที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์งบประมาณและการคลังที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่เลือกข้าง (nonpartisan) มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ มีการเผยแพร่ผลงานในวงกว้าง โดยให้บริการทั้งสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป และในปัจจุบันได้ทำการจัดตั้งทีมงานภายใต้โครงการนี้ ซึ่งเรียกตัวเองอย่างไม่เป็นทางการว่า Thai Parliamentary Budget Office หรือ Thai PBO

ในทางปฏิบัติ แนวทางการทำหน้าที่ของ Thai PBO จะเริ่มจาก "หลักปฏิบัติที่ดี" หรือ good practice ที่ OECD ได้ศึกษาและกำหนดแนวทางไว้ ประกอบด้วย (ก) ต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากประชาชนและจากภาคการเมืองทุกส่วน (ข) มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (nonpartisanship) และ (ค) มีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่ต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา
การปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้นมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก เช่น สำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือ Thai PBO จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการระดับดีถึงดีมาก และทำการวิเคราะห์โดยปราศจากอคติทางการเมือง ผลการวิเคราะห์ก็ต้องเปิดเผยและโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนั้น ประเด็นที่หยิบยกมาวิเคราะห์ก็ควรเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการคลังของประเทศ เป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภาและประชาชนให้ความสนใจ

ในส่วนของความเป็นกลางทางการเมืองและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด Thai PBO จะต้องไม่ผลิตผลงานหรือนำเสนอการวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นโจมตีนโยบายหรือมาตรการของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ ประเด็นที่เลือกมาวิเคราะห์มีความสำคัญต่อสถานะการคลังของประเทศ การนำเสนอผลการวิเคราะห์จะต้องไม่มีลักษณะชี้นำหรือชี้ผิดชี้ถูกว่านโยบายหรือมาตรการอะไรดีหรือไม่ดี แต่เป็นเพียงการนำเสนอผลกระทบทางการคลังหรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจของบางนโยบาย โดยผู้อ่านจะเป็นผู้ตีความเองว่าผลกระทบที่วิเคราะห์เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาหรือไม่ ซึ่งรวมถึงสมาชิกรัฐสภาไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด ว่าจะใช้ผลการวิเคราะห์ในแนวทางใด หน้าที่ของ Thai PBO สิ้นสุดเพียงการนำเสนอผลการวิเคราะห์ที่รอบด้านที่สุดและถูกต้องตามหลักวิชาเท่าที่เป็นไปได้

เพื่อให้การวิเคราะห์และการนำเสนอมีความเป็นกลางทางการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น Thai PBO จะต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการออกแบบเชิงสถาบันของหน่วยงาน ประสบการณ์ในต่างประเทศบ่งชี้ว่าหน่วยงานลักษณะ Thai PBO ควรมีกฎหมายรองรับ (กล่าวคือมีพระราชบัญญัติรองรับ) โดยกฎหมายนี้ต้องแยก Thai PBO ออกจากฝ่ายบริหาร ให้อำนาจ Thai PBO ในการเข้าถึงข้อมูลงบประมาณที่เท่าเทียมกับฝ่ายบริหาร กำหนดให้มีการจัดสรรทรัพยากรการเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ กำหนดกระบวนการแต่งตั้งบุคลากร โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงาน ที่รัดกุมและปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือจำนวนน้อย และมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน เป็นต้น

ความเป็นอิสระของ Thai PBO ไม่ใช่ความเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง เนื่องจากต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา เช่น ต้องนำเสนอรายงานทั้งหมดต่อรัฐสภา ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณหรือคณะกรรมาธิการอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชนในวงกว้าง โดยต้องเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ให้ทุกคนเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส และเป็นกลางทางการเมือง ควรมีกระบวนการตรวจสอบการทำงานของ Thai PBO เป็นระยะ โดยองค์กรภายนอกเป็นผู้ตรวจสอบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคอยตรวจสอบผลงานการวิเคราะห์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เป็นต้น

จะเห็นว่าทั้งการจัดตั้งและการทำให้ Thai PBO ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและท้าทาย สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและบทบาทของ Thai PBO โดยเฉพาะต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง จากนั้นก็ต้องมีกระบวนการจัดตั้งและการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของ Thai PBO พร้อมๆ กับกำกับให้การทำงานของ Thai PBO มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง

ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่มีหน่วยงานแบบ Thai PBO หรืออยู่ในกระบวนการจัดตั้ง ล้วนบ่งชี้ถึงความละเอียดอ่อนและความท้าทายที่กล่าวถึงข้างต้น ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ จึงเป็นเรื่องดีที่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ระยะต่อไปคงจะได้เห็นผลงานของทีมงาน Thai PBO และสำนักงบประมาณของรัฐสภามากขึ้น ผู้เขียนอยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านติดตามผลงานและช่วยวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน ก่อนจะถึงวันที่สังคมและการเมืองไทยพร้อมยอมรับ และให้กำเนิด PBO ของประเทศไทยอย่างจริงจัง.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้เสนอทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ โบซอน ได้โนเบลฟิสิกส์ปี 2013

Posted: 08 Oct 2013 08:14 PM PDT

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2013 มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลคือนักวิทยาศาสตร์สองคนที่เป็นผู้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับอนุภาคชื่อฮิกส์ โบซอน (Higgs Boson) เมื่อราวเกือบ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่งถูกประกาศค้นพบโดยองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) เมื่อปี 2012

ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองคนเป็นนักฟิสิกส์ชื่อ ฟรองซัว อองเกลอร์ จากประเทศเบลเยียม และปีเตอร์ ฮิกส์ จากสหราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อปี 1964 พวกเขาได้ตั้งทฤษฎีอนุภาคฮิกส์ ซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายว่าทำไมอนุภาคมูลฐานของจักรวาลถึงมีมวล โดยก่อนหน้านี้ เรื่องนี้ถือเป็นปริศนาในแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์เชิงอนุภาค

สตาฟฟาน นอร์มาร์ก เลขาธิการถาวรของราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) กล่าวว่ารางวัลโนเบลสาชาฟิสิกส์ของปีนี้ เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เว็บไซต์ไลฟ์ไซเอนท์ระบุว่านักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเมื่อทราบข่าวนี้ก็พากันยินดีบอกว่า "เป็นวันที่วิเศษสุดสำหรับวงการฟิสิกส์เชิงอนุภาค"

มีนากชี นาเรน จากมหาวิทยาลัยบราวน์ รัฐโรดไอแลนด์ ผู้เข้าร่วมทีมสำรวจพิสูจน์อนุภาคฮิกส์ใน CERN กล่าวว่ารางวัลนี้ถือเป็นเกียรติสำหรับผลงานการค้นพบครั้งสำคัญของสองนักฟิสิกส์ และการค้นพบถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งในวงการฟิสิกส์

CERN ได้แบ่งทีมวิจัยออกเป็นสองทีมเพื่อค้นหาอนุภาคฮิกส์โดยทดลองภายในเครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider - LHC) จนกระทั่งค้นพบเมื่อเดือน มิ.ย. 2012 และได้ประกาศยืนยันการค้นพบในเดือน มี.ค. ปีนี้

นอกจาก อองเกลอร์และฮิกส์ แล้วในปี 1964 ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกคนชื่อโรเบิร์ต เบราท์ ที่ร่วมตีพิมพ์แนวคิดนี้ผ่านทางวารสารฟิสิกส์ แต่กฏตามที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศไว้ห้ามไม่ให้มอบรางวัลแก่ผู้เสียชีวืตแล้ว และจำกัดให้มีผู้ร่วมรับรางวัลได้ไม่เกิน 3 คน อีกทั้งไม่อนุญาตให้รางวัลกับกลุ่มองค์กรซึ่งผิดกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

โจ อินแคนเดลา โฆษกของหนึ่งในทีมวิจัยของ CERN กล่าวว่า เมื่อนักฟิสิกส์ที่ CERN ได้ยินคำประกาศรางวัลนี้ พวกเขารู้สึกปิติยินดีมาก โดยในฐานะนักทดลอง พวกเขาคงไม่หวังอะไรกับรางวัลโนเบล รางวัลสำหรับพวกเขาคือการค้นพบ และพวกเขายินดีที่ผลงานของพวกเขาเป็นที่รับรู้

เว็บไซต์ไลฟ์ไซเอนท์กล่าวว่า หลังค้นพบอนุภาคฮิกส์ทำให้แบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์สมบูรณ์แล้ว ปริศนาหลังจากนี้เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจบทบาทของแรงโน้มถ่วง การค้นคว้าเรื่องสสารมืดและพลังงานมืด ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ร้อยละ 96 ของจักรวาล

"เมื่อการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์ได้รับการยืนยันแล้ว ทำให้อธิบายได้ว่าเหตุใดอนุภาคพื้นฐานในธรรมชาติถึงมีมวล ในตอนนี้พวกเราก็สามารถออกเผชิญสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายความเข้าใจเรา เช่นปรากฏการณ์เรื่องสสารมืด และทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัม (quantum gravity)" ฟรานเซส เซาน์เดอส์ ประธานสถาบันฟิสิกส์ของอังกฤษกล่าว


คำอธิบายอนุภาคฮิกส์โบซอนอย่างง่ายๆ

สำนักข่าวบีบีซีได้นำเสนอแผนภาพเพื่ออธิบายทฤษฏีอนุภาคฮิกส์อย่างง่ายๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่า การที่สิ่งต่างๆ มีมวลเนื่องจากมีสิ่งที่เรียกว่า "สนามพลังฮิกส์" (Higgs field) โดยมวลในที่นี้วัดจากการถูกต้านการเคลื่อนไหวของสิ่งนั้นๆ

แผนภาพแรกเปรียบเทียบสนามพลังฮิกส์เป็นห้องๆ หนึ่งซึ่งมีนักฟิสิกส์ยืนคุยกันอยู่ จากนั้นในแผนภาพที่สองก็มีนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเดินเข้ามาในห้อง ทำให้คนในห้องถูก 'กระตุ้น' ความสนใจและหยุดการพูดคุย

แผนภาพที่สามแสดงให้เห็นนักวิทยาศาสตร์ถูกห้อมล้อมด้วยคนที่อยู่ในห้อง ทำให้เธอเดินผ่านไปในห้องได้ยากลำบาก ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่า เมื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้เข้ามาในห้องเธอก็ได้รับมวล (การถูกต้านการเคลื่อนไหว) จาก "สนามพลัง" ของกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งแฟนคลับผู้รายล้อมแต่ละคนเปรียบเสมือนอนุภาคฮิกส์หนึ่งอนุภาค

และในแผนภาพที่สี่ เมื่อนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่เป็นที่นิยมน้อยกว่าเดินเข้ามาในห้องเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนเข้าไปรายล้อม แต่มีน้อยกว่าและไม่มีเสียงตะโกนเรียกความสนใจ ทำให้นักวิทยาศาสตร์คนใหม่เคลื่อนตัวผ่านห้องได้ง่ายกว่า ซึ่งในที่นี้เปรียบเทียบกับการที่มีสิ่งใหม่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอนุภาคฮิกส์จำนวนน้อยกว่า ทำให้เขามีมวลน้อยกว่า



เรียบเรียงจาก

Higgs Boson's Nobel Nod Marks 'Fantastic Day' for Particle Physics, Livescience, 08-10-2013
http://www.livescience.com/40251-higgs-boson-nobel-prize-reactions.html

Higgs boson scientists win Nobel prize in physics, BBC, 08-10-2013
http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-24436781

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น