โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: นิรโทษกรรมฉบับเหล้าพ่วงเบียร์

Posted: 24 Oct 2013 12:27 PM PDT

ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมวาระที่สอง ในวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมได้ลงมติสนับสนุนให้เป็นไปตามร่างการแปรญัตติที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เสนอ ซึ่งใจความสำคัญ อยู่ที่มาตรา 3 ซึ่งมีข้อความคือ

"ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112"

การลงมติในลักษณะเช่นนี้เป็นการปรับแก้หลักการของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเดิมที่เสนอโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และคณะ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกับร่างที่ผ่านวาระแรก 4 ข้อ คือ ประการแรก เป็นการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทั้งหมด ประการที่สอง เป็นการนิรโทษกรรมแกนนำทุกฝ่าย ทั้งฝ่าย นปช.และฝ่ายพันธมิตร ประการที่สาม คือ นิรโทษกรรมให้กับทหารที่สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วงเวลา 9 ปี ประการที่สี่ เป็นการระบุชัดถึงการทอดทิ้งเหยื่อของมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อหาที่ไร้ความเป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งที่ในร่างเดิมไม่มีการระบุชัดเช่นนี้

ในเรื่องยกเว้นมาตรา 112 เป็นการบ่งชี้ว่า นี่ยังไม่ใช่เป็นนิรโทษแบบเหมาเข่งสุดซอยอย่างแท้จริง แต่เป็นการสะท้อนทัศนะยอมจำนนของฝ่ายกรรมาธิการเสียงข้างมากต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า ทั้งที่เหยื่อมาตรา 112 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล สมยศ พฤกษาเกษมสุข เอกชัย หงส์กังวาน ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ และคนอื่น ต่างก็ต้องคดีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องถือว่า เป็นการนิรโทษกรรมในลักษณะ"เหล้าพ่วงเบียร์" คือ นำเอาการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ และนิรโทษกรรมทหาร มาผูกพ่วงกับการนิรโทษกรรมประชาชนที่ปราศจากความผิด

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้พยายามอธิบายในวันที่ 21 ตุลาคมว่า การเสนอแปรญัตติดังกล่าวเพราะกรรมาธิการต้องการแก้ไขผลพวงความไม่เป็นธรรมและความวุ่นวายที่เกิดจากการรัฐประหาร และยึดหลักการให้ทุกฝ่ายได้รับความเสมอภาคทางกฎหมายเท่าเทียมกัน และว่า การปรองดองแห่งชาติต้องเริ่มต้นจากทุกฝ่ายให้อภัยกันก่อน การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายเป็นหลักการเดียวที่ทั่วโลกพึงปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศชาติกลับมาสงบ แม้กระทั่ง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ที่เดิมทีก็ไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรม แต่ภายหลังก็ยอมเสียสละ เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ เพราะหากยังมีความทิฐิอยู่ ก็ไม่เกิดการนิรโทษกรรมได้สำเร็จ

แต่กระนั้น นายปิยะบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมลักษณะนี้ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางการเมืองและในทางกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการแปรญัตติในระดับกรรมาธิการที่กระทำขัดกับหลักการที่สภารับในวาระแรก จะถูกฟ้องให้การแปรญัตตินี้เป็นโมฆะ นอกจากนี้ ก็คือ การไม่ระบุชัดว่า คดีในลักษณะใดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ก็จะกลายเป็นการเป็นที่ถกเถียงว่า เรื่องไหนเข้าข่ายนิรโทษ ทำให้การตัดสินสุดท้ายไปอยู่ที่ศาล กลายเป็นการเปิดทางให้ศาลผูกขาดการตีความเงื่อนไขการนิรโทษกรรม

ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มเสื้อเหลืองสลิ่มฝ่ายขวา ก็โจมตีการนิรโทษกรรมลักษณะนี้ โดยมุ่งไปที่ปัญหาที่ว่า จะเป็นการนิรโทษกรรมข้อหาทุจริตคอรับชั่น ซึ่งจะเท่ากับนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในหลายคดีทั้งที่ตัดสินไปแล้วและยังคั่งค้างอยู่ในศาล แล้วยังจะนำไปสู่การคืนทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้าน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลสั่งให้ยึดมา ทั้งยังยืนยันในข้ออ้างเดิมว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นการทำลาย"หลักนิติรัฐและนิติธรรม" โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำการประท้วงรัฐบาล ยังคาดหมายว่า ประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมนี้ จะเป็นประเด็น"จุดติด"ที่นำมวลชนมาต่อต้านรัฐบาลได้สำเร็จ

แต่กรณีของกลุ่มคนเสื้อแดง ประเด็นที่ไม่เป็นที่ยอมรับคือ การนิรโทษกรรมที่ยกเข่งให้กับฝ่ายทหาร ศอฉ. พ้นจากความผิด และยังยกความผิดให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นตัวการในการเข่นฆ่าสังหารประชาชน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังใช้วิธีการโกหกรายวันใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง เพื่อเอาตัวรอด และยังไม่เคยแสดงท่าทีในการสำนึกในโทษกรรมของตนเองเลย

ความจริงแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้ติดใจเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องถือด้วยซ้ำว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องของความอยุติธรรมที่ได้รับผลพวงจากการรัฐประหาร การหาเหตุมาเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยคดีของ คตส.(คณะกรรมการการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด กระบวนการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นเรื่องอันไร้เหตุผล เพียงแต่ว่าจะเป็นการดีกว่านี้ ถ้าจะไม่เอาเรื่องการขอนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณมาพ่วงกับกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ปัญหาของกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ มีวิธีการแก้ไขที่ง่ายกว่าและเป็นธรรม นั่นคือการยกเลิกผลพวงคณะรัฐประหาร พ.ศ.2549 ทั้งหมด ให้กฎหมายและคำสั่งที่ออกโดยคณะรัฐประหารเป็นโมฆะ แล้วนำ พ.ต.ท.ทักษิณมาพิจารณาด้วยกฎหมายธรรมดา

ดังนั้น ในวันที่ 19 ตุลาคม แกนนำของกลุ่ม นปช. เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และ วิภูแถลง พัฒนภูมิไท เป็นต้น ก็ได้แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมลักษณะเช่นนี้ ดังเช่นที่ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมฝ่ายฆาตกร ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และไม่ต้องการทรยศประชาชนหากการฆ่าบนท้องถนนเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบ และคิดว่าคนเสื้อแดง แม้เขาจะรักคุณทักษิณแต่เขาไม่เห็นด้วย ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์หน้านี้หายไปเฉยๆ ไม่ได้ และอธิบายว่า กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่วนที่พยายามทำเช่นนี้ เพราะมองแบบนักการเมือง คิดว่าถ้าสามารถเจรจากันแล้วจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ แต่มวลชนที่เติบโตมาจากการต่อสู้จะไม่คิดเช่นนั้น เพราะจะคิดในมิติของความเป็นธรรมที่ว่า ฆาตกรจะต้องถูกลงโทษ ส่วนนายแพทย์เหวง โตจิราการ ก็ประกาศจุดยืนว่า ยังยืนยันที่จะนิรโทษเฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่นิรโทษให้แกนนำและผู้สั่งการฆ่าประชาชนเด็ดขาด หากพรรคยืนยันให้นิรโทษ "ยกเข่ง"ก็จะขอสงวนความเห็น

สำหรับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวว่า ตนยังมีท่าทีเช่นเดิมคือไม่ต้องการให้มีการนิรโทษพวกตนและแกนนำคนเสื้อแดง แกนนำเสื้อเหลือง รวมถึงนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้แล้ว เพื่อยืนยันเนื้อหาในร่างเดิม

สรุปแล้ว ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหล่าพ่วงเบียร์เช่นนี้ ย่อมไม่อาจเป็นที่ยอมรับ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยควรจะต้องกลับไปพิจารณาใหม่ และนำกลับมาสู่หลักการของร่างเดิมที่ผ่านวาระแรกน่าจะเป็นการดีกว่า

 


ที่มา: โลกวันนี้วันสุข  26 ตุลาคม 2556


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนพิการนัดชุมนุมค้านทีโออาร์รถเมล์ NGV ร้องจัดซื้อรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้

Posted: 24 Oct 2013 12:27 PM PDT

กลุ่มคนพิการนัดบุก ขสมก.สำนักงานใหญ่ ต้านร่างทีโออาร์ประมูลรถเมล์ เอ็นจีวี 3,183 คัน จี้ขอรถเมล์พื้นต่ำให้คนพิการ
 
24 ต.ค.56 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า น.ส.อาภาณี มิตรทอง ตัวแทนเครือข่ายผู้พิการ ผู้เริ่มการรณรงค์ ให้กระทรวงคมนาคมจัดซื้อรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ ผ่านเว็บไซต์ Change.org กล่าวว่า ในวันที่ 25 ต.ค.56 เวลา 13.00น.เครือข่ายผู้พิการจะมีการจัดขบวนรถเข็นคนพิการกว่า 50 คน ไปที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานใหญ่ ถนนเทียนร่วมมิตร ห้วยขวาง เพื่อยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 7,600 คน ที่ลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ดังกล่าว
 
อีกทั้งเพื่อคัดค้านการสรุปร่างทีโออาร์ประมูลรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท เนื่องจากถือว่าทีโออาร์ดังกล่าวยังไม่มีการฟังเสียงประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการที่เสนอให้มีการจัดซื้อรถพื้นต่ำไม่มีขั้นบันได ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากผู้มีอำนาจดังนั้นจึงต้องการความเป็นธรรมในเรื่องนี้
 
"การออกเดินทางของคนพิการแต่ละครั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก เพราะระบบขนส่งสาธารณะ ที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะรถเมล์ประจำทางที่คนพิการไม่สามารถใช้ได้เลย โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้รถเข็น ที่อยากขึ้นรถเมล์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายบ้าง แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีรถเมล์พื้นต่ำแบบที่เข็นรถเข็นขึ้นไปได้ ทำให้เราจำใจต้องใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายสูงส่งผลให้คนพิการหลายคนจำใจต้องตกงาน เพราะเงินเดือนไม่พอค่าแท็กซี่" น.ส.นางอาภาณีกล่าว
 
ทั้งนี้ การร่วมลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์เรียกร้อง ขสมก.ครั้งนี้เดิมตั้งเป้าต้องการ 10,000 ชื่อ เพื่อไปยื่นต่อ ขสมก. โดยมีรายละเอียดหนังสือ ดังนี้
 
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม : จัดซื้อรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้
 
ถึง: 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค, ประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 
นายโอภาส เพชรมุณี, กรรมการและเลขานุการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 
การองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 
นายนเรศ บุญเปี่ยม, รองผู้อำนวยการการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 
 
ในสังคมเราจะเห็นคนพิการออกมาใช้ชีวิตน้อยมาก ไม่ใช่เพราะคนพิการมีจำนวนน้อย แต่เป็นเพราะคนพิการออกมาในสังคมไม่ได้ต่างหาก เพราะอะไรนั้นหรือ มันไม่ใช่เรื่องความพิการแน่นอน...
 
การออกเดินทางของคนพิการแต่ละครั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก เพราะระบบขนส่งสาธารณะ ที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะรถเมล์ประจำทางที่คนพิการไม่สามารถใช้ได้เลย โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้รถเข็น
 
อยากลองให้ทุกท่านนึกถึงภาพรถเมล์ในบ้านเรา ที่มีบันไดสูง มีเสากั้นตรงกลาง แคบ คนทั่วไปในสังคมเองที่ใช้บริการก็ลำบากในการขึ้นลง อันตรายก็เกิดขึ้นง่าย ความปลอดภัยมีน้อย แล้วอยากให้คุณนึกภาพของคนที่วิ่งขึ้นลงรถเมล์ลำบากขนาดไหน บางวันมีคนตกบันไดรถเมล์ ตกรถเมล์ คนพิการยิ่งหนักไปใหญ่ อยากจะขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ บันไดก็สูง แถมยังมีเสากั้นอีก
 
ต่อให้รัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน ก็ตาม คนพิการอย่างพวกเราๆ อยากจะใช้ก็ใช้ไม่ได้ จำใจต้องใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้คนพิการหลายคน จำใจต้องตกงาน เหตุผลที่คนพิการทำงานไม่ทน ทำงานไม่ได้นาน ต้องเปลี่ยนงานบ่อย มันเกิดจากเงินเดือนไม่พอจะจ่ายค่าแท็กซี่ไปทำงานได้ทุกวัน
 
เมื่อ ขสมก.มีนโยบายเตรียม จัดซื้อรถเมล์ใหม่ 3,183 คันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนพวกเราก็รู้สึกตื่นเต้น และได้รวมตัวกันเกาะติดเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมยื่นขอเสนออย่างเป็นทางการเพื่อเรียกร้องให้รถเมล์ใหม่ที่เตรียมจัดซื้อทั้งหมดเป็นรถที่ไม่มีขั้นบันได ที่สามารถติดตั้งแผ่นทางลาดให้ผู้ที่ใช้รถเข็น หรือรถเข็นเด็ก ผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อน สตรีมีครรภ์ สามารถขึ้นลงได้ สะดวก ปลอดภัย
 
แต่ความฝันของพวกเราที่จะได้เดินทางไปไหนมาไหนพร้อมรถเข็นคู่ใจ ก็ต้องพบกับอุปสรรค เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ขสมก.ยังคงยืนยันว่าต้องการจะจัดซื้อรถเมล์ในลักษณะแบบเดิมๆ
 
แต่ก่อนที่จะมีการตกลง TOR จัดซื้ออย่างเป็นการในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ดิฉัน และเครือข่ายคนพิการจะเข้าพบกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อยื่นข้อเสนอของเราอีกรอบ และพวกเราต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกท่านเพื่อนำไปยื่นประกอบ เพื่อแสดงพลังประชาชนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง
ร่วมกันลงชื่อให้ได้มากที่สุดนะคะ รถเมล์ทุกคันควรจะขึ้นได้ทุกคน ทั้งผู้สูงอายุ คนท้อง แม่ที่มีรถเข็นเด็ก รวมทั้งคนพิการ และรถเมล์ที่ไม่มีขั้นบันไดเป็นคือคำตอบ
 
ความฝันของคนเราทุกคน อยากมีรายได้ที่มั่นคง มีเงินเก็บหอมรอมริบ อยากเลี้ยงดูพ่อแม่ มีเงินไว้ซื้อเสื้อผ้า ไปเที่ยวบ้าง เก็บเงินไว้เพื่ออนาคต ฉันเชื่อว่าทุกคนมีความฝัน และการมีรถเมล์ที่เข้าถึงได้จะช่วยให้ส่วนหนึ่งของความฝันของดิฉันและเพื่อนๆอีกหลายคนเป็นจริง
 
ร่วมสนับสนุน
 
 
 
ผู้สนใจสามารถร่วมลงรายชื่อได้ที่: แคมเปญรณรงค์จัดซื้อรถเมล์ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเด็จพระสังฆราชฯ สิ้นพระชนม์ รัฐบาลลดธงครึ่งเสา 3 วัน ไว้ทุกข์ 15 วัน

Posted: 24 Oct 2013 12:20 PM PDT

สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์สิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ โดยจะมีการเชิญพระศพจาก รพ.จุฬาลงกรณ์พรุ่งนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์ (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

 

รพ.จุฬาลงกรณ์ประกาศข่าวสมเด็จพระสังฆราชฯ สิ้นพระชนม์

25 ต.ค. 2556 - เมื่อคืนวานนี้ (24 ต.ค.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า "วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19:30 นาฬิกา ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 24 ตุลาคม 2556"

ต่อมา เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 15 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศ ตามราชประเพณีทุกประการ"

นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์" ว่า "ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 นั้น รัฐบาลได้รับทราบด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง และได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่บวรพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ในสังฆมณฑล ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดมา จึงเห็นสมควรประกาศดังนี้"

"1.ให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงลงครึ่งเสา มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคม 2556  2.ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 ทั้งนี้ ขอความร่วมมือองค์กรอิสระทุกแห่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"

โดย รพ.จุฬาลงกรณ์จะเปิดให้กราบพระศพสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 25 ต.ค. เวลา 08.00 - 12.00 น. ที่ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร และจะเชิญพระศพโดยใช้เส้นทาง ถ.ราชดำริ ขึ้นทางด่วนพระราม 4 ลงที่อุรุพงษ์ ถ.หลานหลวง ผ่านแยกผ่านฟ้า ถ.ดินสอ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร โดยประชาชนทั่วไปสามารถส่งเสด็จได้ตลอดเส้นทาง

 

สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2532 ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

สมเด็จพระสังฆราชฯ นั้นนามเดิมคือ เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อ 4 ตุลาคม ปี 2456 ที่ จ.กาญจนบุรี เดิมนั้นเนื่องจากทรงเจ็บป่วยออดแอดเสมอ ญาติจึงบนไว้ว่าถ้าหายป่วยจะให้บวชเพื่อแก้บน ต่อมาเมื่อเรียนจบชั้นประถม 5 พระองค์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2469 ขณะมีชันษาได้ 14 ปี  โดยจำพรรษาที่วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาและได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม

หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งต่อมา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาจากสมเด็จพระสังฆราชว่า "สุวฑฺฒโน" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เจริญดี" จนกระทั่งเมื่อพระชันษาครบอุปสมบท จึงไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. 2476 และภายหลังกลับเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัย และได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกายที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ข้อมูลใน วิกิพีเดียระบุว่า ทั้งนี้สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2547 มีการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นคณะที่ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ 7 รูป จาก 7 พระอาราม ทำหน้าที่บริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ เนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวรฯ ประชวร ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก โดยคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชชุดปัจจุบันประกอบด้วย

1. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ฝ่ายมหานิกาย เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชลำดับต่อมาได้แก่ 2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 3.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดเทพศิรินทราวาส ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 4. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย 6. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 7. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ฝ่ายมหานิกาย

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถระสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

"ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ชัยชนะด้านวาทกรรม 14 ตุลา ของขบวนประชาธิปไตย

Posted: 24 Oct 2013 11:40 AM PDT

การจัดงานรำลึกครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปีนี้ ได้แยกจัดเป็นสองงานคือ งานดั้งเดิมที่จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา และงานใหม่ที่จัดเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่มีนายจรัล ดิษฐาอภิชัยเป็นประธาน นี่เป็นศึกต่อสู้ช่วงชิงสัญลักษณ์เหตุการณ์ 14 ตุลา ระหว่างคนเดือนตุลาฯกลุ่มที่รับใช้เผด็จการ กับคนเดือนตุลาฯที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน

งานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในแต่ละปีจะจัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา และมีคณะญาติวีรชน 14 ตุลา เข้าร่วม แต่ในหลายปีมานี้ บุคคลหลายคนในมูลนิธิ 14 ตุลา มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนเผด็จการอย่างคงเส้นคงวา ตั้งแต่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และสนับสนุนพันธมิตรเสื้อเหลืองในการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน จนทุกวันนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนพวกนี้อยู่กับมูลนิธิ 14 ตุลามายาวนาน ผูกขาดการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใช้สถานะไปแสวงหาผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองที่พวกเผด็จการโยนให้ เป็นกาฝากที่เกาะกินญาติวีรชนมานานหลายปี

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในหลายปีมานี้ งานรำลึก 14 ตุลาที่จัดโดยมูลนิธิ 14 ตุลา จึงแทบไม่มีคนเดือนตุลาฯที่ต่อต้านรัฐประหาร 2549 เข้าร่วมเลย รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและไม่ให้ความสนใจแต่อย่างใด จนทำให้งานรำลึกในแต่ละปีซบเซาลงไปเรื่อย ๆ และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทรยศต่อประชาธิปไตย หันไปรับใช้เผด็จการและสนับสนุนรัฐประหาร

แต่ในปี 2556 นี้ ฝ่ายประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นจนสามารถเข้ามาช่วงชิงงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยจัดแยกต่างหาก คณะญาติวีรชนตัดสินใจปลดแอกตนเอง หันมาเข้าร่วม ปรากฏว่า การจัดงานประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่าทุกปี มวลชนคนเสื้อแดงให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและจาตุรนต์ ฉายแสง ที่สามารถช่วงชิงพื้นที่ความสนใจในสื่อมวลชนกระแสหลักได้แทบทั้งหมด

คำปาฐกถาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลครั้งนี้ นับเป็นปาฐกถาประวัติศาสตร์ ซึ่งมาล่าช้ามาก จนเกือบจะสายเกินไปในการกอบกู้สัญลักษณ์ 14 ตุลา ปาฐกถานี้ก็คือคุณูปการสุดท้ายที่เสกสรรค์มอบให้แก่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหล่าบรรดาผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น กอบกู้มิให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องจมหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์ของฝ่ายเผด็จการด้วยน้ำมือของคนเดือนตุลาที่สนับสนุนรัฐประหารในปัจจุบัน

แน่นอนว่า เรายังอาจวิจารณ์บทบาทและท่าทีของเสกสรรค์ในหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ว่า เอื้อต่อการต่อต้านรัฐประหารและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสักเพียงใด รวมทั้งเนื้อหาของปาฐกถาหลายประเด็นก็สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เช่น การนำเอาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาเชื่อมต่อโดยตรงกับขบวนประชาธิปไตยของ "คนชั้นกลางใหม่" ในปัจจุบัน การเน้นประเด็น "ความเหลื่อมล้ำทางสังคม" มาเป็นส่วนหนึ่งโดยตรงภายในวาทกรรม 14 ตุลา เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ปาฐกถาของเสกสรรค์ในครั้งนี้ ได้สร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญในหมู่คนเดือนตุลาทั้งสองฝ่าย ต่อประชาชนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้น ต่อความรับรู้ของประชาชนทั่วไป ต่อวิกฤตการเมืองปัจจุบัน และเป็นบทสรุปสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่จะตกทอดไปสู่ชนรุ่นต่อ ๆ ไป ปาฐกถาครั้งนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลจึงเป็นคุณต่อประชาธิปไตย แต่เป็นโทษต่อเผด็จการ

นี่เป็นชัยชนะเด็ดขาดด้านวาทกรรม 14 ตุลา โดยฝ่ายประชาธิปไตย และทำให้คนเดือนตุลากลุ่มที่รับใช้เผด็จการไม่สามารถผูกขาดสัญลักษณ์ 14 ตุลาแต่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นหลักหมายสำคัญถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย

ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงสามารถช่วงชิงสัญลักษณ์วันที่ 24 มิถุนา มาได้ไม่ยากนัก เพราะฝ่ายจารีตนิยมไม่ต้องการให้มีการจดจำวันดังกล่าว ขณะที่คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองซึ่งเป็นพวกนิยมกษัตริย์ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ 24 มิถุนาได้

ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงช่วงชิงสัญลักษณ์เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาได้ตั้งแต่ปีแรก ๆ หลังรัฐประหาร 2549 เพราะมวลชนคนเสื้อแดงมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นั้นมากเป็นพิเศษ ทั้งในแง่เหยื่อนิสิตนักศึกษาที่ถูกเข่นฆ่าในวันนั้นเหมือนที่คนเสื้อแดงประสบในวันนี้ แต่ยังรวมไปถึงผู้วางแผนก่อการสังหารหมู่ในครั้งนั้นก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่วางแผนรัฐประหาร 2549 นั่นเอง ซึ่งประเด็นหลังก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเดือนตุลาที่รับใช้เผด็จการและพันธมิตรเสื้อเหลืองไม่เต็มใจที่จะจดจำเหตุการณ์นี้และพยายามทำเป็นลืม

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในการช่วงชิงสัญลักษณ์ 14 ตุลา ในปีนี้จึงมีความหมายพิเศษเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในด้านวาทกรรมทั้งหมดอีกด้วย ธงแดงที่อยู่ในมือของฝ่ายประชาชนในวันนี้คือธงประชาธิปไตย ที่รวมเอากระแสประชาธิปไตยนับแต่ 2475 จนถึงปัจจุบันไว้ด้วยกัน เป็นธงแดงแห่งประชาธิปไตยที่ถูกชูให้สูงเด่น เป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวของการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการ

ฝ่ายเผด็จการจึงประสบความพ่ายแพ้ทางวาทกรรมไปแล้วอย่างเด็ดขาด พวกเขาไม่อาจที่จะอ้างเอา "ประชาธิปไตย" มาเคลือบคลุมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงและสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาเหลือไว้แต่เนื้อในที่เป็นเผด็จการ ต่อต้านประชาธิปไตยเสรีนิยม ได้แต่ท่องซ้ำวาทกรรม "นักการเมืองโกง" "เผด็จการรัฐสภา" "คุณธรรมจริยธรรมและคนดี" สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอย่างเปิดเผยไม่มียางอายอีกต่อไปคือ ให้ตุลาการและทหารทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบเผด็จการเต็มรูป

แต่การเคลื่อนไหวของคนพวกนี้ก็อยู่ในสภาพกระเสือกกระสนรอวันล่มสลาย เพราะการพ่ายแพ้ทางวาทกรรมคือจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่จะตามมานั่นเอง

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
25 ตุลาคม 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมประชาสัมพันธ์ไฟเขียวใช้ดาวเทียมช่อง 11 เปิดทีวีมลายู 24 ชั่วโมง

Posted: 24 Oct 2013 11:04 AM PDT

ทีวีมลายูอิสระสะดุด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ไฟเขียวให้ใช้ช่องดาวเทียมรัฐ ผ่านช่อง 11 สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา ออกอากาศ 24 ชั่วโมง เปิดร่างผังรายการ 8 ประเภท 67 รายการ บอร์ดทีวีมลายูเล็ง เพิ่มรายการภาษาอาหรับ
 
อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 
 
23 ต.ค.2556 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมประชุมคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู เพื่อหารือถึงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง
 
อภินันท์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า รายการโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงสามารถออกอากาศได้ทันที ผ่านช่องดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กรมประชาสัมพันธ์
 
ส่วนการจัดทำผังรายการสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง รัฐบาลให้อิสระเต็มที่แก่คณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายูในการกำหนดผังรายการ แต่ที่คิดคราวๆ น่าจะมีรายการข่าว บันเทิง กีฬา ละคระ ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งเนื้อหาและสาระ
 
"สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง คือ จะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ต้องช่วยกันคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะต้องเปิดเวทีระดมความเห็นของประชาชนในพื้นที่" นายอภินันท์ กล่าว
 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวต่อที่ประชุมว่า คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ ศอ.บต.จัดทำยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ ตลอดจนออกแบบเนื้อหาและผังรายการ โดยมอบหมายให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ส่วนแยกยะลา กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้เผยแพร่เป็นภาษามลายูตลอด 24 ชั่วโมง
 
ทั้งนี้ เจตนารมณ์เดิมของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง ทางศอ.บต.ต้องการให้เปิดช่องเฉพาะของตัวเอง โดยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทดลองออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องทีเอ็มทีวี (ทีวีมุสลิม) แต่การเปิดช่องดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง การเปิดสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงจึงหันมาออกอากาศทางช่องดาวเทียมของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง11) ส่วนแยก จ.ยะลา
 
 
เล็งเพิ่มรายการภาษาอาหรับ
 
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู กล่าวระหว่างประชุมว่า สถานีโทรทัศน์ภาษามลายูสามารถสื่อสารกับประชากรในอาเซียนได้ 300 ล้านคน ทางคณะกรรมการฯ จะเพิ่มรายการภาษาอาหรับด้วย เพื่อให้สารมารถสื่อสารกับชาวอาหรับอีกประมาณ 2,000,000 ล้านคน
 
พล.ต.ต.จำรูญ แจ้งต่อที่ประชุมว่า สำหรับรายการของสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง มี 8 ประเภทเนื้อหาสาระ ได้แก่ 1.ด้านศาสนา 2.ด้านการเมือง การปกครองและกระบวนการยุติธรรม 3.ด้านสุขภาพ 4.ด้านเศรษฐกิจ อาชีพ การเกษตร การเงินและธนาคาร 5.รายการทางด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 6.รายการด้านการท่องเที่ยวและกีฬา 7.รายการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 8.รายการข่าวสารและบันเทิง
 
ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการประชุม ระบุว่าทั้ง 8 สาระดังกล่าว มีทั้งหมด 67 รายการ
 
นายอภินันท์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมง เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางราชการแก่ประชาชนในพื้นที่หรือการนำเสนอข้อมูลจากประชาชนไปสู่ราชการ
 
"ส่วนจะใช้ภาษามลายูท้องถิ่นหรือภาษามลายูกลางในสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู 24 ชั่วโมงนั้น ต้องให้คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด ทางรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์มีหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น" นายอภินันท์กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกเยอรมันต่อสายถึงโอบามา จี้แจงกรณีข่าวสหรัฐฯ ดักฟังโทรศัพท์

Posted: 24 Oct 2013 09:43 AM PDT

แองเกลา แมร์เคิล นายกเยอรมนีต่อสายถึงปธน.โอบามา หลังสำนักข่าวเยอรมันเปิดเผยว่า สหรัฐฯ ดักฟังโทรศัพท์มือถือของเธอ เพื่อขอให้ชี้แจง ด้านโฆษกทำเนียบขาวปฏิเสธว่าสหรัฐฯ ไม่เคยสอดแนม

24 ต.ค. 2556 - สำนักข่าวเยอรมัน Der Spiegel เปิดเผยว่าหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ อาจทำการดักฟังโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล เป็นผลให้นายกฯ เยอรมนีพูดคุยกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ในเรื่องดังกล่าว

แมร์เคิลได้โทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องนี้กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากที่ Der Spiegel ได้นำเสนอข่าวในกรณีดังกล่าว โดยแมร์เคิลเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ อธิบายว่าเหตุใดหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายเป็นโทรศัพท์มือถือของเธอในการปฏิบัติการ

สเตฟเฟน ซีเบิร์ต โฆษกของแมร์เคิลกล่าวว่า ถ้าหากเรื่องการสอดแนมเป็นความจริง ตัวเธอเองจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้โดยเด็ดขาด และถือว่าเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ เนื่องจากเป็นการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจและควรจะมีการหยุดการกระทำเช่นนี้โดยทันที

การสนทนาระหว่างแมร์เคิลกับโอบามาเกิดขึ้นหลังจากที่หน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศของเยอรมนี (BND) และสำนักงานความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสารของทางการเยอรมนีได้ตรวจสอบหลักฐานจากการค้นคว้าของ Der Spiegel พบว่า หลักฐานสร้างความน่าสงสัยมากพอที่จะมีเรียกร้องความจริงจากรัฐบาลสหรัฐฯ

โดยซีเบิร์ตกล่าวถึงรายละเอียดการพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศว่า แมร์เคิลต้องการให้สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการสอดแนมทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามที่รัฐบาลเยอรมนีเคยถามไว้เมื่อหลายเดือนที่แล้ว

"ในฐานะที่เป็นประเทศพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเยอรมนีต้องการให้เปิดเผยชัดเจนเรื่องการร่วมมือตามพันธสัญญาเกี่ยวกับพฤติกรรมขององค์กรข่าวกรองต่างๆ และผู้ที่คอยให้ความร่วมมือพวกเขาด้วย" ซีเบิร์ตกล่าว

ทางด้านฝ่ายสหรัฐฯ เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวพูดถึงกรณีนี้โดยอ่านจากแถลงการณ์ว่า โอบามาได้พูดคุยกับแมร์เคิลแล้ว โดยได้ให้คำมั่นกับแมร์เคิลว่า "ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้สอดแนมและจะไม่มีการสอดแนม" การสื่อสารของนายกฯ เยอรมนี และสหรัฐฯ ให้คุณค่าอย่างมากในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเยอรมนี

Der Spiegel ระบุว่า คำตอบจากสหรัฐฯ มีท่าทีในเชิงตั้งรับ โดยที่คาร์นีย์พยายามเลือกใช้คำอย่างระมัดระวัง และจากการถูกเปิดโปงในครั้งนี้ทำให้ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างแมร์เคิลกับโอบามาอยู่ในภาวะตึงเครียด

อย่างไรก็ตาม Der Spiegel ระบุอีกว่า แม้แมร์เคิลจะเล่นบทเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้ แต่เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แมร์เคิลก็เคยกล่าววิจารณ์และปฏิเสธข้อมูลที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานในหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ นำมาเปิดโปง และเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของเยอรมนีได้กล่าวไว้ว่าข้อสงสัยเรื่องที่องค์กรรัฐบาลเยอรมนีจะถูกสอดแนมนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน

 


เรียบเรียงจาก

Merkel's Phone: Spying Suspicions Put Obama in a Tight Spot, Spiegel, 24-10-2013
http://www.spiegel.de/international/world/suspicions-of-us-spying-on-merkel-phone-awkward-for-obama-a-929692.html

Berlin Complains: Did US Tap Chancellor Merkel's Mobile Phone?, Spiegel, 23-10-2013
http://www.spiegel.de/international/world/merkel-calls-obama-over-suspicions-us-tapped-her-mobile-phone-a-929642.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี คดีปิดถนนค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง

Posted: 24 Oct 2013 09:13 AM PDT

คดีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนต้านโครงการโรงไฟฟ้า-บ่อขยะปี 52 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลย 5 คน คนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท รอลงอาญา 2 ปี ชาวบ้านยันพร้อมจะสู้ต่อไป ชี้การกลัวถูกฟ้องคดีเป็นอุปสรรค์กระบวนการตรวจสอบ-การมีส่วนร่วม
 
 
24 ต.ค.2556 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดสระบุรีนัดอ่านคำพิพากษา คดีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซงและบ่อขยะในพื้นที่ เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.2552 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ ในทางสาธารณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร, ร่วมกันปิดกั้นทางหลวงนำสิ่งใด มากีดขวาง หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย เสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล, ไม่จอดรถชิดขอบทาง, ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
 
จำเลยในคดี 5 คน ประกอบด้วย นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี ภาวรรณ์ ชาวบ้านจากพื้นที่ อ.แก่งคอยและ อ.เมือง ซึ่งประสบปัญหาจากบ่อขยะเคมีของบริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด, นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนายสมคิด ดวงแก้ว ชาวบ้านจาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งประสบปัญหาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซง ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ และนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักพัฒนาเอกชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาศาล พร้อมทนายความจำเลยที่ 5 และชาวบ้านที่มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 พอใจผลคำพิพากษาไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จึงไม่ได้มาศาล
 
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่า คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากที่ยุติแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปิดถนน เอารถยนต์มาจอดกีดขวางในลักษณะน่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 และ พ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ให้จำคุกจำเลยทั้ง 5 คนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนดคนละ 2 ปี
 
ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จำเลยที่3 ในคดีกล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ถ้าสังเกตดูในคำพิพากษาจะเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ อย่างในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ก็บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยมีการตีความเรื่องการชุมนุม เป็นไปได้ว่าความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่อย่างจำกัด ในคดีนี้ศาลดูจะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญน้อยกว่ากฎหมายลูกอย่างกฎหมายควบคุมการใช้เครื่องเสียงและกฎหมายการจราจร  
 
ในแง่กระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน ตี๋ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลมักให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นตำรวจมาก เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีอคติหรือผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์พบว่าตำรวจเองก็มีผลประโยชน์ผูกพันกับกลุ่มทุนในรูปของการรับบริจาค โดยกลุ่มทุนจะบริจาคสิ่งของเช่นเครื่องใช้สำนักงานหรืออาคารสถานที่ให้กับตำรวจ และมีชื่อของกลุ่มทุนเขียนกำกับไว้ จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพ้นไปจากอคติและผลประโยชน์อย่างแท้จริง 
 
ตี๋ระบุด้วยว่า เหตุที่ถูกดำเนินคดีนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง มีการพยายามหาฐานความผิดมาฟ้องร้องเพื่อปรามไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาแข็งขืนกับรัฐ ส่วนตัวแม้ถูกดำเนินคดีก็จะไม่ยอมจำนนและพร้อมจะสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามมีชาวบ้าน บางส่วนถอนตัวจากการต่อสู้ เพราะการถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งที่มีต้นทุนสูงทั้งทรัพยากรและเวลา อีกทั้งชาวบ้านก็มักถูกสอนให้รักตัวเอง อย่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น ซึ่งค่านิยมแบบนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วม
 

อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติมได้ที่: http://freedom.ilaw.or.th/case/493#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดง-กลุ่มญาติฯ เดินประท้วงไม่เอาเหมาเข่ง เร่งนิรโทษฯ ปชช.ทุกสี รวม 112

Posted: 24 Oct 2013 05:10 AM PDT

กลุ่มญาติฯ สนนท. 'เสื้อแดงคนสุดท้าย' ร่วมเดินสวมเข่งประท้วง ไม่เอานิรโทษเหมาเข่ง ชี้ผิด กม.ระหว่างปท. วอนเร่งนิรโทษฯ ปชช.ทุกสี รวมความผิดหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ ขอรบ.ให้สัตยาบันไม่ช่วยผู้สังหารหมู่ปชช.

24 ต.ค. 2556 - เวลา 11.00 น. วันนี้เครือข่ายประชาชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใบสั่ง ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย และอื่นๆ ประมาณ 60 คน เดินขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริวเณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แก้เนื้อหาจากร่างเดิมที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะเสนอ ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้เร่งนิรโทษกรรมกับประชาชนทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ รวมถึงนักโทษการเมืองในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ม.112 โดยเร็วด้วย

ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีการแสดงกิจกรรมด้วยการนำเข่งมาสวมในการเดินขบวนประท้วงด้วย โดยมีการยืนหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามไม่มีการเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภาเนื่องจากเป็นพื้นที่ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีเพียงตัวแทน 10 คนที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่รัฐสภา

โดยแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.     รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่งรัดมาตราการทางนโยบายในการให้นักโทษการเมืองได้รับสิทธิในการประกันตัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องสงสัยตามหลักสิทธิมนุษยชนในทันที เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขต่อรองในการแก้ไขข้อความในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามใบสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

2.     รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้อชะลอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมใดใดไว้ก่อนและจัดให้มีเวทีพูดคุยในระดับชาติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาสังคม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เว้นแต่จะมีการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเพื่อนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ

3.     รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลต้องให้สัตยาบันว่าจะไม่แก้ไขข้อความเพื่อพยายามเอื้อประโยน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนอีกต่อไป

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มผู้ถูกยิงเสียชีวิตให้เหตุการณ์กระชับวงล้อม 15 พ.ค. 53 กล่าวถึงข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ว่าด้วยสิทธิเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถูกยกมาเป็นเหตุผลในการขยายนิรโทษกรรมถึงผู้สังการสลายการชุมนุมนั้นว่า หากยกมาตราดังกล่าวขึ้นมา ก็ต้องนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองมาตรา 112 ด้วย แต่กลับไม่มีการนิรโทษกรรมคนกลุ่มนี้

พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์อาชญากรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการละเมิดสิทธิในเรื่องต่างๆ นั้นขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ

โดย พันธ์ศักดิ์ เปิดเผยหลังเข้าพบตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ว่า เขาหวังให้พวกเราพูดถึงความผิดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ตัวนี้ ที่ละเมิดและหลีกเลี่ยงหลักการกฏหมายระหว่างประเทศ และกติกาในการนิรโทษฯ ของสหประชาชาติ รวมทั้งจะรายงานกลับไปยังสำนักงานใหญ่ที่เจนีวา แต่เขาไม่มีการรับปากว่าจะเกิดผลอย่างไร

พะเยาว์ อัคฮาด 

พะเยาว์ อัคฮาด มาดาของพยาบาลกมลเกด อัคฮาด 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่ศาลเพิ่งมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร กล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งว่า พรรคเพื่อไทยไม่เพียงจะถูกฝ่ายเดียวกันอย่างเสื้อแดงต่อต้าน ยังเป็นการปลุกผีฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาต้านอีกด้วย ดังนั้นควรให้นิรโทษประชาชนทุกสีทุกฝ่ายไปก่อนอย่างเร่งด่วน แต่แขวนแกนนำ คนสั่งการปราบปรามประชาชนไว้ รวมทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณ เอง ก็แสดงเจตนาว่าไม่เอานิรโทษกรรมจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว ตนจึงสงสัยว่าทำไมต้องเอาไปยัดใส่มือพวกเขาเหล่านั้นด้วย

ผุสดี งามขำ เสื้อแดงคนสุดท้าย

ผุสดี งามขำ ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่รู้จักกันในชื่อ "เสื้อแดงคนสุดท้าย" จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 กล่าวว่า รู้สึกเหมือนถูกเพื่อนทรยศ ฝ่ายตรงข้ามแทงเรายังไม่เท่าไหร่ เข้าใจได้ แต่นี่เป็นเพื่อนของเรา การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเหมือนเป็นการกลบศพเพื่อนแล้วไปอุ้มศัตรู ประเทศไทยกี่ครั้งแล้วที่ฆ่ากันกลางถนนแล้วไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำและสั่งการ ดังนั้นการกระทำของพรรคเพื่อไทยเป็นเหมือนการหลอกลวงและแทงข้างหลังคนเสื้อแดง เนื่องจากเป็นการยัดไส้การนิรโทษกรรมเหมาเข่งไว้กับร่างของ ส.ส. วรชัย เหมะ เธอกล่าวด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยต้องการจะเอานักโทษการเมืองออกมาโดยเร็วที่สุดจริงๆ ก็มีวิธีอื่นที่สามารถทำได้เช่นนั้น เช่นการออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อช่วยเหลือคนที่ติดคุกออกมาให้เร็วที่สุด

"ต้องการให้มีหลักเกณฑ์ มีความเป็นธรรม เมื่อมีคนตายจากเหตุการณ์เช่นนี้ก็หวังว่าความตายของเขาจะคุ้ม และต้องมีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อเป็นกำแพงกั้นไม่ให้มีการฆ่ากันอีกในอนาคต ประชาชนเขาสู้เพราะไม่ได้ต้องการเงิน คนอย่างแม่น้องเกดเขาต้องการสู้เพื่อสิ่งนี้" ผุสดี กล่าว

ภาพบรรยากาศ :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมแถลงค้านร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่

Posted: 24 Oct 2013 02:55 AM PDT

24 ต.ค.2556 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสายสารสนเทศ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ โดยยื่นต่อ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 

แถลงการณ์ระบุว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยตั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต หรือผู้ประกอบการเว็บไซต์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณายกร่างดังกล่าวด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


00000

24 ตุลาคม 2556

ประกาศแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่
 

ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ("กระทรวงไอซีที") ได้มีประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ได้ทำการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสายสารสนเทศ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ได้พิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก อันจะเห็นได้จากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการปิดบล็อคเว็บไซต์ให้ง่ายขึ้น โดยตัดส่วนของการกลั่นกรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีออกไป และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกละเมิด รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดรายละเอียดและมาตรฐานของการจัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 3 วัน อันขัดต่อแนวปฏิบัติและกฎกระทรวงท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่บังคับใช้อย่างน้อย 3 เดือน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายและมีการตีความในการใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข่าว อาทิเช่น กองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้เข้าแทรกแซงและควบคุมการติดต่อสื่อสารประเภทโซเชียลมีเดีย อันได้แก่ การกดไลค์ กดแชร์ ผ่านเฟซบุ๊ค การใช้ Line จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ เนื้อหาที่แก้ไขของกฎหมายฉบับนี้ ยังขัดต่อหลักโครงสร้างขั้นพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต และก่อให้เกิดความรับผิดแก่บรรดาผู้ประกอบการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการมือถือ ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วไป อันจะเห็นได้จากร่างกฎหมายที่ระบุให้การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์และการครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ลามกอนาจารที่ส่งผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและมือถือผิดกฎหมาย แม้ประมวลผลอัตโนมัติโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและก่อให้เกิดปัญหาในการตีความในภายหลัง ซึ่งขัดต่อหลักการร่างกฎหมายอาญาที่ต้องเคร่งครัดและรัดกุมเพื่อให้การตีความและบังคับใช้กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป ฯลฯ
 
ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ สื่อมวลชนที่กล่าวข้างต้นจึงขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและอาจก่อให้เกิดความสับสนในการตีความเพิ่มเติมมากกว่าเดิม โดยสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาของร่างที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และให้มีการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว และควรตั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการเชื่อมต่อบนอินเตอร์เน็ต หรือผู้ประกอบการเว็บไซต์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณายกร่างดังกล่าวด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีโมร็อกโกจับกุมวัยรุ่นจูบกัน ก่อประเด็นถกเถียงฮือฮา 'เสรีภาพส่วนบุคคล-พท.สาธารณะ'

Posted: 24 Oct 2013 02:21 AM PDT

ในโมร็อกโก การจับกุมวัยรุ่นที่แสดงภาพจูบกันในที่สาธารณะผ่านเฟซบุ๊กทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งพากันประท้วงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและการแสดงออกบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิฯ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีประชาชนที่ต่อต้านการกระทำเช่นนี้ในที่สาธารณะ

23 ต.ค.2556 - สำนักข่าวอัลจาซีรากล่าวถึงกรณีการจับกุมตัวคู่หนุ่มสาวในโมร็อกโกที่จูบกันในสถานที่สาธารณะ ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะในโมร็อกโก

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาโดยมีการจับกุมตัววัยรุ่นชายหญิงอายุ 14-15 ปีในเมืองนาดอร์ที่มีภาพยืนจูบกันในเฟซบุ๊ก เพื่อนของทั้งสองคนที่เป็นคนถ่ายรูปก็ถูกจับกุมตัวด้วย พวกเขาถูกตั้งข้อหากระทำอนาจาร โดยในตอนนี้ได้รับการประกันตัวและรอดำเนินคดี

กรณีดังกล่าวนี้กลายเป็นการจุดประเด็นในเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงได้รับความสนใจจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งประณามการจับกุมกลุ่มวัยรุ่นโมร็อกโกและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวโดยทันที

ฟิลิปส์ ลูเธอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์ว่า การที่วัยรุ่นต้องถูกจับเข้าคุกเพียงเพราะจูบกันแล้วโพสต์รูปลงเฟซบุ๊กเป็นเรื่องไร้เหตุผล และการพยายามเปิดการไต่สวนในศาลด้วยคดีเช่นนี้เป็นเรื่องน่าขัน

มีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กบางส่วนแสดงการสนับสนุนวัยรุ่นที่ถูกจับกุมด้วยการถ่ายภาพจูบกันพร้อมเขียนคำบรรยายว่า "มาจับพวกเราได้เลย" ส่วนแฮชแท็ก #FreeBoussa (Boussa แปลว่า "จูบ" ในภาษาอาหรับ) ก็กลายเป็นที่นิยมในทวิตเตอร์

นอกจากนี้ยังมีประชาชน 30 คนรวมกลุ่มแสดงการจูบกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงราบัตเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่การชุมนุมก็ถูกรบกวนโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่เห็นตรงกันข้าม พวกเขาตะโกนไล่ให้นักกิจกรรมสนับสนุนการจูบกันให้ไปอยู่ในประเทศตะวันตกและบอกว่าจะไม่ยอมให้มีการจูบกันในที่สาธารณะเกิดขึ้น

นิซาร์ เบนนาเมท อายุ 28 ปี หนึ่งในผู้ชุนมุนสนับสนุนการจูบกันกล่าวว่า กฎหมายควรจะเป็นสิ่งที่ช่วยจัดการความขัดแย้งในสังคมและช่วยปกป้องประชาชนชาวโมร็อกโก แต่กฎหมายที่ใช้ตัดสินวัยรุ่นที่จูบกันในนาดอร์มีความคลุมเครืออยู่มาก

กฎหมายที่นาซาร์กล่าวว่ามีความคลุมเครือคือกฎหมายอาญามาตรา 484 ของโมร็อกโก ที่ระบุว่าการกระทำอนาจารต่อผู้เยาว์มีโทษจำคุก 2-5 ปี และมาตรา 483 ที่ระบุว่าการกระทำอนาจารในที่สาธารณะจะต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 1 เดือน ถึงมากที่สุด 2 ปี

แต่นักศึกษากฎหมายจากเมืองคาซาบลังกา ซูเคนา เบนเชครุน ตีความกฎหมายในอีกแง่หนึ่งว่า การจับกุมจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อวัยรุ่นเหล่านั้นทำสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคมจริง การแค่วัยรุ่นจูบกันไม่ได้มีความชอบธรรมมากพอในการอ้างจับตัวพวกเขาเข้าสถานพินิจ


ข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ
อัลจาซีรารายงานว่า การจับกุมวัยรุ่นในครั้งนี้และความไม่พอใจที่เกิดตามมา ทำให้เห็นว่า แม้ประเทศโมร็อกโกซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นเสรีนิยมมากที่สุดในโลกมุสลิม ยังคงมีความอนุรักษนิยมอยู่ลึกๆ

มีประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบเสรี เช่น อับเดลลา ทูราบี นักประวัติศาสตร์และบรรณาธิการนิตยสารซามาน (Zamane) กล่าวถึงกรณีในโมร็อกโกว่า "แนวคิดสมัยใหม่ที่อยู่ในกำมือของกลุ่มชนชั้นนำไม่ได้สอดคล้องกับแนวคิดของประชาชนทั่วไป" เขาคิดว่าสำหรับสังคมโมร็อกโกแล้วการจูบกันควรกระทำในที่ส่วนตัว บางคนก็แสดงความเห็นว่าการจูบกันในที่สาธารณะไม่ใช่วัฒนธรรมของโมร็อกโก

"ในโมร็อกโก การแยกแยะสถานที่สาธารณะกับสถานที่ส่วนตัวจริงจังมาก การกระทำที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะ" ทูราบีกล่าว โดยเขายังได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนออกมาปิคนิคทานอาหารข้างนอกในช่วงเดือนถือศีลอดปี 2553  ซึ่งทำให้เกิดการจับกุมและเกิดข้อถกเถียงเช่นกัน

เมื่อช่วงปี 2554 ประชาชนชาวโมร็อกโกได้ออกมาประท้วงตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเรียกร้องให้มีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้น ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 6 เสนอให้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญตามเพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชน แต่พรรคการเมืองสายอิสลาม PJD ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลได้โต้แย้งข้อการสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักศาสนา

 


เรียบเรียงจาก

Teenage kiss arrests spark furore in Morocco, Aljazeera, 23-10-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/10/teenage-kiss-arrests-spark-furore-morocco-2013102282027588248.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ค้านไทยนิรโทษเหมาเข่ง

Posted: 24 Oct 2013 12:27 AM PDT

องค์กรสิทธิออกแถลงการณ์ค้านการนิรโทษผู้กระทำผิดสุดซอย ชี้รัฐบาลเสียคำพูดตัวเองเพื่อเอาใจกองทัพ

 
24 ต.ค. 2556 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งที่จะรวมถึงผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 53
 
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ถูกแก้ไขจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม จะเป็นการทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมที่มีความผิดไม่จำเป็นต้องรับโทษ 
 
"การลบล้างความผิดที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความยุติธรรมให้แก่เหยื่อผู้สูญเสีย และบอกผู้กระทำผิดว่าไม่ต้องเกรงกลัวต่อสิ่งใด" อดัมส์กล่าว 
 
"เป็นที่เห็นชัดว่า เพื่อเอาใจทหาร และชูวาระทางการเมือง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยยินยอมที่จะไม่รักษาสัญญาในการคืนความยุติธรรมให้เหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์อาสาในซีเรียเรียกร้องสร้างพื้นที่ด้านมนุษยธรรม ชี้สไนเปอร์อินเทรนด์เล่นเกมเล็งยิง

Posted: 23 Oct 2013 11:59 PM PDT

24 ต.ค. 2556 ซีเอ็นเอ็นเผยแพร่คลิป และภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ชี้ให้เห็นกระสุนในกระโหลกของทารกในครรภ์ พร้อมอ้างอิงการวิเคราะห์ของนายแพทย์อาสาสมัครชี้ การล็อกเป้ายิงเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในหมู่สไนเปอร์ในซีเรีย

การเล็งยิงลักษณะนี้ ทำให้ผู้เป็นแม่รอดชีวิต แต่เด็กไม่รอด น.พ. เดวิด นอตต์ ศัลยแพทยชาวอังกฤษซึ่งเป็นอาสาสมัครขององค์กร Syrea Relief อาสาทำงานให้โรงพยาบาลในประเทศซีเรียระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนเกมเล็งเป้ายิง และหญิงมีครรภ์ก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญ เขาระบุว่า เด็กในครรภ์ที่ถูกผ่าตัดออกจากท้องแม่หลังถูกยิง ส่วนใหญ่มีอายุในครรภ์ 7-9 เดือน ซึ่งเป็นอายุครรภ์ที่คนทั่วไปสังเกตเห็นได้ง่ายว่าแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยน.พ. น็อตต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากทารกในครรภ์แล้ว เด็กๆ ก็เป็นเป้าหมายในการโจมตีด้วย

น.พ. น็อตต์ระบุว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการผ่าตัดเป็นกรณีที่ถูกยิงจากสไนเปอร์ และบางครั้งลักษณะของการถูกยิงก็ใกล้เคียงกันมาก เช่น บางวันมีคนไข้ถูกยิง 10-15 กรณี และเขาพบว่า 8-9 กรณีถูกยิงบริเวณขาหนีบด้านซ้ายเหมือนกัน   จากนั้นอีกวันหนึ่ง คนไข้ที่เข้ามารับการรักษาถูกยิงที่ขาหนีบขวาเหมือนๆ กัน ซึ่งน.พ.น็อตต์ชี้ว่า นี่เป็นเหมือนเทรนด์ใหม่ในการเล่นเกมของมือสไนเปอร์

น.พ.น็อตต์ระบุว่าเหตุที่ประชาชนชาวซีเรียต้องเสี่ยงเพราะต้องข้ามถิ่นจากบ้านที่ตั้งอยู่ฝั่งของรัฐบาล ไปหาเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งของฝ่ายกบฏ ซึ่งทำให้เขาคิดถึงกรณีของบอสเนียซึ่งเขาเคยไปทำงานอาสาสมัคร แต่กรณีในบอสเนียนั้น องค์การสหประชาชาติเข้าไปกั้นพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่า ไม่ว่าความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะยังดำเนินต่อไปได้เช่นกัน ซึ่งเขาได้กล่าวเรียกร้องในที่สุดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการกั้นเขตให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขึ้นในซีเรีย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ได้เข้าไปในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือโดยไม่รู้สึกถูกคุกคาม

 

ที่มา

Syrian snipers target pregnant women, unborn babies, doctor says

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สององค์กรสิทธิมนุษยชนเปิดเผยรายงานชี้ปฏิบัติการ 'โดรน' อาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม

Posted: 23 Oct 2013 10:26 PM PDT

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลและฮิวแมนไรท์วอทช์ ทำรายงานสำรวจปฏิบัติการเครื่องบินไร้คนขับหรือ 'โดรน' (drone) ของสหรัฐฯ ที่มุ่งโจมตีผู้ก่อการร้ายในประเทศปากีสถานและเยเมน โดยระบุว่าในหลายกรณีมีพลเรือนเสียชีวิตและอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม

24 ต.ค. 2556 องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยรายงานเรื่องโครงการเครื่องบินไร้คนขับหรือ 'โดรน' (drone) ของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) โดยระบุว่าปฏิบัติการจู่โจมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายด้วยโดรนในประเทศปากีสถานอาจถือว่าเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีสิทธิถูกดำเนินคดี

โดยในรายงานขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลได้เน้นพูดถึงกรณีที่หญิงชราคนหนึ่งถูกสังหารขณะที่กำลังเก็บผัก รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่น่าจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายนานาชาติเกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือน

ทางด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนอีกแห่งหนึ่งคือฮิวแมนไรท์วอทช์ได้นำเสนอรายงานเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการโจมตีในเยเมน โดยกล่าวว่าปฏิบัติการในเยเมนอาจผิดหลักกฎหมายสงคราม (Laws of Armed Conflict), กฏหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาคิ และผิดหลักแนวทางปฏิบัติการโดรนของปธน. บารัค โอบาม่า เอง

ขณะที่การสำรวจเรื่องปฏิบัติการโดรนในเขตพื้นที่เกิดความไม่สงบแถบชายแดนอัฟกานิสถานเป็นเรื่องยาก เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มติดอาวุธอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากเกรงว่าจะถูกโต้ตอบจากทั้งฝ่ายกลุ่มติดอาวุธและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับโครงการโดรนของ CIA

มุสตาฟา คาดรี นักวิจัยเรื่องปากีสถานขององค์กรแอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการโครงการโดรนด้วยความโปร่งใสและมีการแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายต่างๆ โดยหวังว่าจะมีการชดเชยให้กับผู้สูญเสียและครอบครัวจากการโจมตี

รายงานของแอมเนสตี้ได้ทำการพิจารณากรณีการโจมตีด้วยโดรน 45 ครั้งในเขตภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานตั้งแต่เดือน ม.ค. 2012 ถึงเดือน ส.ค. 2013 โดยระบุว่ามีการโจมตี 9 ครั้งที่น่าจะเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายนานาชาติ

แอมเนสตี้ได้พูดถึงเหยื่อการโจมตีส่วนหนึ่งว่ามีเด็กอายุ 14 ปี และคนชราอายุ 68 ปี รวมอยู่ด้วย พวกเขาได้ทำการสำรวจพบว่าเหยื่อเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบและไม่ได้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นภัยต่อชีวิตผู้อื่น ซึ่งขัดกับข้ออ้างของฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่าปฏิบัติการโดรนเป็นการมุ่งสังหาร "ผู้ก่อการร้าย"

ทางการสหรัฐฯ กล่าวไว้หลายครั้งว่าปฏิบัติการโดรนมีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น และบอกว่าเป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในประเทศและกฎหมายนานาชาติ

ทางด้านรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นในเยเมน 6 กรณี โดยมี 2 กรณีที่มีการสังหารพลเรือนแบบไม่เลือกเป้าหมายถึอเป็นการละเมิดกฎหมายสงครามอย่างชัดเจน ขณะที่อีก 4 ครั้งมีการทำผิดกฎหมายสงครามเนื่องจากเป้าหมายไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ได้มีมาตรการลดความเสียหายต่อพลเรือนมากพอ โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าจากปฏิบัติการทั้ง 6 ครั้ง มีคนถูกสังหาร 82 คน มีอย่างน้อย 57 คนเป็นพลเรือน

มีญาตืของผู้สูญเสียรายหนึ่งเป็นชาวนาอายุ 23 ปีชื่อ อาห์หมัด อัล-ซาบูลี กล่าวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการโจมตีเมื่อเดือน ก.ย. 2012 ในเมืองซาราร์ของเยเมน ที่มีการโจมตีใส่รถตู้จนมีพลเรือนเสียชีวิต 12 ราย ขณะที่ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดาในพื้นที่ซึ่งเป้นเป้าหมายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เขาเล่าวาเมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์เขาพบร่างของเหยื่อที่ถูกโจมตีด้วยโดรนไหม้เกรียมจนจำหน้าไม่ได้ จนกระทั่งเขาได้เห็นร่างที่จำได้ว่าของพ่อแม่และน้องสาวของตน

นอกจากนี้การโจมตีบางส่วนยังเป็นการขัดต่อหลักแนวทางปฏิบัติของโอบาม่าที่ได้ประกาศไว้เมื่อต้นปี เช่นการให้คำมั่นว่าจะมีการสังหารผู้ต้องสงสัยก็ต่อเมื่อไม่มีทางอื่นที่สามารถจับกุมตัวได้ เช่นปฏิบัติการเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ปีนี้ ที่มีการโจมตีผู้นำกลุ่มอัล-เคดา ในจังหวัดดามาร์ ภาคกลางของเยเมน

ทางแอมเนสตี้มีข้อเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ และปากีสถานเปิดเผยความจริงเรื่องปฏิบัติการโดรนต่อสาธารณชนและมีการสืบสวนกรณีที่อาจเป็นการสังหารพลเรือนอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงมีการชดเชยให้ผู้สูญเสียและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกกดดันทั้งสองประเทศให้ปฏิบัติตามมาตรการและการเยียวยาดังกล่าว


เรียบเรียงจาก

Drone strikes by US could be classed as war crimes, says Amnesty International, The Guardian, 22-10-2013

USA must be held to account for drone killings in Pakistan, Amnesty, 22-10-2013

US: Reassess Targeted Killings in Yemen, Human Right Watch, 22-10-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น