ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย
- รายงานเสวนา3ประสาน “4 ทศวรรษ บทเรียนและประสบการณ์ขบวนการชาวนา กรรมกร นักศึกษา”
- เดี่ยวไมโครโฟน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ:ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่มีใครเป็นเจ้าของ
- เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
- รายงานเสวนา: 40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย
- ปาฐกถา 40 ปี 14 ตุลาโดย จาตุรนต์ ฉายแสง: อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย
- "ขอพระราชทานอภัยโทษ" ช่องว่างบนเส้นทางแห่งความไม่สำนึก
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย Posted: 13 Oct 2013 03:58 AM PDT 13 ต.ค.56 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ องค์ปาฐกคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และนักคิดนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เขากล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับความหมายทางการเมืองและเจตนารมณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่ประชาธิปไตยยังไม่สามารถปักหลักมั่นคงได้ในสังคม โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน, ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงพลังการเคลื่อนไหวในปัจจุบันว่าเป็นการสืบต่อเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาฯ ในการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิด "กลุ่มชนชั้นกลางใหม่" คือคนในชนบทและคนชั้นกลางหัวเมืองซึ่งกลายมาเป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันประชาธิปไตย แสวงหาพื้นที่ทางการเมือง ประกอบกับการเกิดขึ้นของทุนใหม่โลกาภิวัตน์ที่ต้องการมาแทนที่อำนาจเก่าด้วยการสร้างนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการชุบชีวิตระบบรัฐสภา และเป็น "หุ้นส่วนที่เหลือเชื่อ" ในทางการเมือง "พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต" เสกสรรค์กล่าว เขายังนำเสนอข้อเสนอแนะต่อขบวนเคลื่อนไหวหรือพลังประชาธิปไตยใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.พลังประชาธิปไตยต้องรักษากลไกของระบอบอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐบาลให้ทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบด้วย ไม่ใช่มุ่งปกป้องแต่พรรคใดหรือรัฐบาลใด 2. เพื่อเสถียรภาพของระบอบ จำเป็นต้องขยายแนวร่วมไปยังชนชั้นหรือบุคคลกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพราะในยุคโลกภิวัตน์ประชาชนมิได้เป็นก้อนเดียว พร้อมทั้งต้องยึดถือหลัก "เสรีนิยมทางการเมือง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีคู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ การเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิมก็เป็นพลังประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่จำเป็นต้องให้พื้นที่ในการเรียกร้อง วิจารณ์รัฐบาล สิ่งนี้เป็นกลไกทำให้ระบบดีขึ้น ไม่ได้ขัดแย้งกับพลังมวลชนที่ชื่นชอบพรรค 3. ขบวนประชาธิปไตยควรเรียนรู้การใช้อำนาจอ่อนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ซึมลึกในสังคมไทย นำเสนอสิ่งที่ดีกว่าเพื่อให้สังคมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผู้คนเท่าเทียมกันนั้นเป็นสิ่งน่าหวงแหน โดยมีจังหวะก้าวที่ระมัดรวังไม่ทำให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกสูญเสียที่ยืนในความคิดความเชื่อ เพราะความขัดแย้งประเด็นทางวัฒนธรรมบางอย่างละเอียดอ่อนและมีแนวโน้มนำสู่ความรุนแรงได้ง่าย
อ่านรายละเอียดปาฐกถาเต็มด้านล่าง
===================================
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และยิ่งยินดีเป็นพิเศษที่ได้พบปะกับมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อ 40 ปีก่อนในวันเวลาเดียวกันนี้ คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยได้พร้อมใจกันเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมวลมหาประชาชนประกาศตนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ มันเป็นการต่อสู้อันมีชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐด้วยอำนาจกระบอกปืน ขณะที่ฝ่ายเรามีสองมือเปล่าและหัวใจเปี่ยมความฝัน ชัยชนะในครั้งนั้นสอนเราว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งหรือการเติบโตของประชาชาติหนึ่ง เจตจำนงแน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะเมื่อมาจากคนเรือนแสนเรือนล้านที่ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียว ถามว่าเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาคืออะไร เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่ต้องโต้เถียงกันอีก ก่อนการลุกสู้ครั้งนั้น ประชาชนไทยต้องเจ็บช้ำอยู่ใต้ระบอบเผด็จการนานหลายปี ความฝันก็ดี ความแค้นก็ดี ล้วนถูกบ่มเพาะจากสภาวะปราศจากสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกเหยียบย่ำทำลาย ไม่ต้องเอ่ยถึงความเป็นอยู่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการเมืองที่ผูกขาด สภาพดังกล่าวทำให้เราปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม มันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่วันนั้นและยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยที่ปรารถนาย่อมแยกไม่ออกจากจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น เราไม่ต้องการเพียงระบอบการปกครองของชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจแล้วปะแป้งให้ดูดีกว่าเดิม หากเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมในฐานะทางการเมืองเท่าเทียมกัน เป็นกระบวนการทางการเมืองที่แนบแน่นอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ผู้คนได้อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถหลอมรวมจุดหมายและวิธีการไว้ด้วยกันได้อย่างแน่นแฟ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถจับโกหกได้ เมื่อมีใครแยกสองส่วนนั้นออกจากกัน หรือบอกเราว่าจุดหมายอยู่ที่ประชาธิปไตย แต่วิธีการกลับกลายเป็นอย่างอื่น คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สมารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหนหากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้มครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญาอยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง ในแนวคิดประชาธิปไตย ไม่มีใครมีสิทธิปกครองผู้อื่นได้ เพราะทุกคนมีความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน ดังนั้น การเป็นนายตัวเองจึงหมายถึงการปกครองตนเอง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นระบอบการเมืองแล้วเท่ากับว่ารัฐบาลต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน ในขณะที่ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความต้องการของเขา แต่ก็อีกนั่นแหละ แค่คิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว สำหรับสังคมที่ไม่เคยชินกับความเสมอภาค และยิ่งไม่เคยชินกับการลุกขึ้นยืนอย่างทรนงของประชาชนธรรมดา ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกรรมกรชาวนาและบรรดานักศึกษาที่เห็นอกเห็นใจในช่วงหลัง 14 ตุลา 16 จึงถูกป้ายสีอย่างเป็นระบบ และถูกให้ร้ายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในสายตาของชนชั้นปกครองไทย พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ของชนชั้นล่างๆ ที่เสียเปรียบ กระทั่งในที่สุดได้ก็ได้ใช้วิธีโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ผสานกำลังอันธพาลเข้ากับเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบล้อมปราบฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมใน มธ. เมื่อ 6 ตุลา 19 คงไม่ต้องย้ำ ท่านทั้งหลายคงรู้สึกเองอยู่แล้วว่า พื้นที่เล็กๆ ที่เราใช้ประชุมกันอยู่นี้เคยเป็นทั้งศูนย์กลางแห่งเสรีภาพและอนุสรณ์สถานของฝ่ายประชาชน เป็นที่ที่เราทั้งเคยปักธงแห่งชัยชนะและเช็ดเลือดของผองเพื่อนที่จากไป แน่นอน การต่อสู้ไม่อาจสิ้นสุดลงเพียงเพราะประชาชนถูกปราบปราม หลังปี 2519 เราอาจพูดได้ว่าประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของสงครามกลางเมืองและมันได้สั่นคลอนเผด็จการอำนาจรัฐอย่างถึงราก การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของนักศึกษาและประชาชนขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งชนชั้นปกครองในเวลานั้นจำเป็นต้องทบทวนท่าทีของตน อันที่จริงสงครามไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของผู้ใด เนื่องจากมันคือกองไฟที่อาศัยชีวิตมนุษย์เป็นฟ่อนฟืน กระนั้นก็ตาม เมื่อต้องเลือกระหว่างการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับการยอมจำนนกับการกดขี่ข่มเหง ก็คงมีน้อยคนนักที่จะเลือกชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี แม้ว่าท้ายที่สุด ความผันผวนของสถานการณ์สากลผนวกกับความผิดพลาดขององค์กรนำจะทำให้กองกำลังทางอาวุธต้องสลายตัวลง แต่ความไม่ยอมศิโรราบของหนุ่มสาวสมัยนั้นก็ส่งผลกระเทือนหนักหน่วงต่อชนชั้นนำผู้กุมอำนาจแห่งรัฐ มันทำให้พวกเขาตระหนักว่า การปกครองแบบก่อน 2516 เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องเร่งปรับตัวเข้าหาระบอบประชาธิปไตย ถึงจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม ถามว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คำตอบแรกคือ ประชาชนสามารถคัดหางเสือประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมแรงกันผลักดันบ้านเมืองไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่เราคงต้องยอมรับว่า เส้นทางเดินของประวัติศาสตร์มิใช่ทางตรง มันยอกย้อน คดเคี้ยว กระทั่งวกกลับได้เป็นบางครั้ง เส้นทางเดินของประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน จากการต่อสู้ 14 ตุลา ถึงวันนี้ เวลาผ่านมาถึง 40 ปี ถ้านับจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกแห่งการปักธงประชาธิปไตยของสังคมไทย เวลาก็ผ่านมานานกว่า 80 ปี อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปไม่ใช่พื้นที่ที่ว่างเปล่า แค่นับเฉพาะ 40 ปีหลังเราก็จะพบว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ในจำนวนนี้เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือในปี 2519, 2534,2549 ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการใช้กำลังรุนแรงโดยฝ่ายรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีพฤษภาคม 2535 และกรณีกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เช่นนี้แล้ว เราจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรเล่าเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้บ้านเมืองนี้สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างสันติต่อเนื่อง อะไรทำให้ประชาชนต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจ ด้วยเหตุอะไรหรือ ระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยจึงไม่สามารถหยั่งรากมั่นคงในประเทศไทย ผมเองในฐานะปัจเจกชนอาจจะมองปัญหาไม่ครบถ้วน แต่เท่าที่เห็น คิดว่า อุปสรรคใหญ่ของประชาธิปไตยน่าจะมาจากเหตุปัจจัย 3 อย่างที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน คือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา ขออนุญาตให้เวลาเพิ่มเติมกับประเด็นเหล่านี้ เราคงต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นความคิดทางการเมืองและระบอบการเมืองที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศที่มีอายุหลายร้อยปีอย่างไทย ดังนั้น แม้ว่าประชาธิปไตยจะสะท้อนจิตวิญญาณของยุคสมัย และขั้นตอนสูงขึ้นของวิวัฒนาการทางสังคม แต่ก็มีข้อเสียเปรียบที่ต้องแตกหน่อผลิใบบนผืนดินที่เต็มไปด้วยอำนาจเก่า ความคิดเดิม พูดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยจะโตใหญ่ขยายตัวไม่ได้เลย หากไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่จากความคิดอื่น อำนาจอื่น ขณะเดียวกันผู้พิทักษ์แนวคิดเดิมและผู้ปกครองแต่เดิมก็ย่อมดิ้นรนต่อต้านเพื่อรักษาพื้นที่ตน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของประวัติศาสตร์สังคม ดังนั้น ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนรอบห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหารซึ่งผูกพ่วงไปมาสลับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้รับอิสระเสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมของมนุษย์ต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน ถามว่าทำไมชนชั้นนำแต่เดิมไม่ยอมรับและเปิดทางให้ประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งที่การต่อต้านของฝ่ายประชาชนทำให้เห็นแล้วว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นสิ่งล้าหลังทางประวัติศาสตร์ ในยุคนี้สมัยนี้การบังคับบัญชาราษฎรจากข้างบนลงมานอกจากจะหักล้างศักดิ์ศรีความเป็นคนแล้วยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก คำตอบมีอยู่ว่า นอกจากต้องการรักษาสัดส่วนในพื้นที่อำนาจที่พวกเขาเคยครอบครองแล้ว ชนชั้นนำเก่ายังมีชุดความคิดที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้องกว่าประชาธิปไตยด้วย หรืออย่างน้อยก็ถูกต้องกว่าประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยประกอบด้วยมวลชนจำนวนไม่น้อยที่สมาทานชุดความคิดแบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม และชาตินิยมที่คับแคบและแยกออกจากประโยชน์สุขของประชาชน แนวคิดทั้งปวงนี้บางด้านเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางด้านก็ขัดแย้งกับคุณค่าประชาธิปไตยแบบประสานงา และยังถูกผลิตอย่างตั้งอกตั้งใจ และขยายเป็นพิเศษหลังรัฐประหารทุกครั้ง พูดอีกแบบก็คือ แทนที่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับมัน วัฒนธรรมที่เน้นย้ำเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม การณ์กลับกลายเป็นว่าประชาธิปไตยไทยยังไม่มีฐานวัฒนธรรมที่เหมาะสมคอยเกื้อหนุนและห้อมล้อมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นนี้แล้วจึงมีความเป็นไปได้ตลอดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำการเมืองบนเวทีประชาธิปไตย จะถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางวัฒนธรรมทั้งๆ ที่บางเรื่องมันไม่ได้เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองเลย ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เสมอที่มวลชนผู้ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมเก่าจำนวนไม่น้อยจะออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบบ หรืออย่างน้อยก็ออกมาต้อนรับการรัฐประหารโดยไม่คำนึงถึงผลเสียระยะยาว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าประชาธิปไตยมีพลังรองรับอย่างแน่นหนา คงเส้นคงวา เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนพอสมควร การที่เหตุการณ์ อย่าง 14 ตุลาคมเกิดขึ้นได้ หรือเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 เกิดขึ้นได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจนั้นมีมากพอที่จะขับพลังอำนาจนิยมให้ถอยร่นออกไป แต่การจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพยังเป็นอีกเรื่องและจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขมากกว่านี้ พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือว่า ประชาธิปไตยไทยต้องมีฐานพลังทางสังคมที่พร้อมแบกพันธะในการพิทักษ์รักษาและเสริมความมั่นคงในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นอาจตกเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอีก ถามว่าแล้วชนกลุ่มไหนเล่าที่พร้อมทำหน้าที่ดังกล่าว ช่วงหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเคยมีพลังทางการเมืองอย่างมหาศาล แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ขบวนกรรมกรแรงงานถูกควบคุมเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทุกวันนี้คนงานในระบบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะการก่อตั้งหสภาพแรงงานนั้นทำได้ยาก ผู้นำคนงานมักถูกนายทุนกลั่นแกล้ง กีดขวางไม่ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทั่งถูกปลดจากงาน ถูกคุกคามทำร้ายโดยที่ฝ่ายรัฐยืนข้างฝ่ายทุนเสมอมา ดังนั้น ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและไร้การจัดตั้งเป็นส่วนใหญ่ คงไม่ง่ายที่พลังกรรมกรจะเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ลองหันมามองพลังนักศึกษา ในอดีตนักศึกษาและปัญญาชนเคยเป็นกองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ หลังการปราบกวาดล้างปี 2519 มหาวิทยาลัยถูกอำนาจรัฐและพลังอนุรักษ์ดัดแปลงให้เป็นเพียงโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง ยิ่งมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งประกอบด้วยระบบการค้าเสรีการบริโภคเสรี สังคมไทยก็เปลี่ยนไปมาก ประชาการในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปด้วย พื้นที่ในมหาวิทยาลัยถูกยึดครองโดยบุตรหลานของผู้มีรายได้สูง มีความใฝ่ฝันในชีวิตกระจัดกระจายและกระเจิดกระเจิงไปตามจินตนาการส่วนตัวมากกว่าจะมีสายใยใดกับสังคมต้นกำเนิด และยิ่งไม่มีสำนึกผูกพันกับชนชั้นผู้เสียเปรียบ ดังนั้น เราจึงพูดได้ว่า เราไม่มีขบวนนักศึกษาในความหมายเดิม แม้จะมีนักศึกษากลุ่มย่อยที่เอาธุระอยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ของนักศึกษาแล้วอาจต้องอาศัยสถานการณ์ที่พิเศษมากๆ ในการปลุกพวกเขาให้ตื่นรู้ในเรื่องความเป็นมาและความเป็นไปในสังคม แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องนี้คงปัดความรับผิดชอบทางศีลธรรมให้เยาวชนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะชนชั้นกลางในระดับตัวพ่อตัวแม่เองก็ไม่ได้ดีกว่าเท่าใด โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่มักแกว่งไกวอยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ในอดีตคนชั้นกลางในเมืองเคยสร้างคุณูปการใหญ่หลวงในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ไม่ว่าปี 2516, 2535 เขาล้วนเป็นกำลังหลักในการต่อต้านเผด็จการ น่าเสียดายที่มาถึงวันนี้คนชั้นกลางดั้งเดิมกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษ์นิยม จากการที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเขากลับกลายเป็นชนชั้นที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ในจุดที่ตัวเองได้เปรียบในทุกด้าน ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม เน้นการส่งออก การค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน เงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มความมั่นคงให้คนชั้นกลางเดิมหลายเท่าและแยกชีวิตพวกเขาออกจากส่วนที่เหลือของสังคม ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการถือครองทรัพย์สินที่คนบนสุด 20% แรกของจำนวนประชากรไทย มีทรัพย์สินมากกว่าคน 20% ที่อยู่ข้างล่างถึงเกือบ 70 เท่า ความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ นับวันทำให้ชนชั้นกลางเก่ามีโอกาสในชีวิต วิถีชีวิตเหนือกว่าคนไทยอีกมหาศาล และยังตัดเฉือนความสัมพันธ์ที่เคยมีระหว่างพวกเขาและชนชั้นอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากปัจเจกบุคคลที่มีสายตากว้างไกลอันมีอยู่น้อยนิด เราอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่สนใจ ไม่เห็นใจชะตากรรมคนส่วนใหญ่ที่อยู่ล่างจากตน พวกเขามักหมกมุ่นกับเรื่องส่วนตัว การบริโภค การสร้างสไตล์ในชีวิตที่วิจิตรบรรจง กระทั่งนิยามความดี ความงามและความจริง หลุดลอยไปจากความถูกต้องเป็นธรรมทางสังคม โดยนัยยะทางการเมืองแล้ว สภาพดังกล่าวหมายความว่า ชนชั้นกลางเก่ามีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจกระทบฐานะตน ที่ผ่านมาเหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่า จำนวนไม่น้อยพร้อมสนับสนุนวิธีการนอกระบบในการเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าหากมันจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าโลกของตัวเองจะไม่ถูกโยกไหวสั่นคลอน เช่นนี้แล้วประชาธิปไตยจึงได้ขาดพลังที่สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม การเติบใหญ่ของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ได้เปลี่ยนฐานะและโลกทัศน์ของคนชั้นกลางในเมืองฝ่ายเดียว แต่กวาดต้อนคนในหัวเมืองและในชนบทมาไว้ในกรอบทุนนิยมด้วย ทำให้พวกเขามีฐานะทางชนชั้นและวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิมเช่นกัน นักวิชาการหลายท่านยืนยันตรงกันว่าระยะหลังชนบทไทยเปลี่ยนมาก เกิดการแบ่งตัวทางชนชั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ นอกเหนือจากการอพยพเข้ามาขายแรงงานและประกอบอาชีพอิสระในเมืองแล้ว ชาวนาชาวไร่อีกมหาศาลได้เปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรแบบเก่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ผลิตเพื่อขายและกลายเป็นนผู้เล่นอีกกลุ่มในตลาดทุนนิยม แม้คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ไม่ได้มีฐานะยากจนในความหมายสัมบูรณ์แต่พวกเขาก็ยังเสียเปรียบนานัปการในโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาผลผลิต การเข้าถึงทุน เข้าถึงสวัสดิการ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พูดง่ายๆ คือ ทั้งๆ ที่มีจำนวนมหาศาลและมีคุณูปการในกระบวนการผลิตในประเทศไทย แต่พี่น้องเหล่านี้เป็นชนชั้นที่ถูกมองข้ามหรือไม่มีตัวตน จึงไม่แปลกที่พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประกาศการดำรงอยู่ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้จะต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดเสรี และเพิ่มอำนาจขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน อันนี้นับเป็นข่าวดีจากมุมมองประชาธิปไตย เพราะใครเล่าจะต้องการเสรีภาพเท่ากับคนที่ต้องการบอกโลกว่าพวกเขามีเรื่องเดือดร้อน ใครเล่าจะต้องการระบอบนี้เท่ากับผู้คนที่แสดงหาความเสมอภาคและความเป็นธรรม ในฐานะผู้ผ่านศึก 14 ตุลาคม ผมเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านี้ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เดียวกับการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน เพียงแต่บริบทของยุคสมัยอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว มันเป็นการผูกโยงประชาธิปไตยกับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า ส่งเสริมให้ผู้คนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันซึ่งเป็นแก่นแท้ของปรัชญาประชาธิปไตย แน่นอน มันเป็นเรื่องธรรมดาทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นใหม่ต้องขอแบ่งพื้นที่ทางการเมืองในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ และเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกันที่ปฏิบัติการเช่นนี้ย่อมนำสู่การปะทะกับชนช้ั้นเดิม ปัญหามีอยู่ว่า พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต กล่าวสำหรับการยืนหยัดพิทักษ์ประชาธิปไตยนั้น ผมเชื่อมั่นว่า คนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมืองหลวงตลอดจนปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจคงจะยืนอยู่ในจุดนี้ไปอีกนาน ด้วยเหตุผลเรียบง่าย คือ พวกเขาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเสียเปรียบทางชนชั้นอันสืบเนื่องจากโครงสร้างทุนนิยมนั้น ไม่อาจแก้ไขหรือชดเชยด้วยวิธีอื่น นอกจากเพิ่มอำนาจต่อรองผู้เสียเปรียบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยเหตุดังนี้ เวทีประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้สำหรับคนเล็กคนน้อย เพราะนั่นเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในการแสดงตัวตน สามารถสร้างทางเลือกในระดับนโยบายและ สามารถอาศัยสิทธิพลเมืองสนับสนุนผู้แทนทางการเมืองที่ขานรับความต้องการของพวกเขา อันที่จริง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับช่วยชุบชีวิตให้ระบบรัฐสภาไทยซึ่งก่อนหน้านี้มักถูกออกแบบให้อ่อนแอต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจการนำของชนชั้นนำที่มาจากภาคราชการ ในอีกด้านความเคลื่อนไหวในรูปขบวนการชนชั้นกลางใหม่ต่างจังหวัด ก็กดดันให้พรรคการเมืองที่เคยจำกัดตัวในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ เดินแนวทางมวลชนมากขึ้นแม้จะยังไม่ใช่พรรคมวลชนในความหมายที่เต็มรูป แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นพัฒนาการสำคัญของประชาธิปไตย จะว่าไปความเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านั้นนับว่าต่างจากการเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิม ในด้านหนึ่งพวกเขายังต้องอยู่ในตลาดทุนนิยมแต่ในอีกด้านหนึ่งก็อยู่ในภาพที่เสียเปรียบสุด สภาพดังกล่าวจึงต้องเกาะติดและต่อรองกับการเมืองภาคตัวแทนเพื่อจะได้อาศัยนโยบายของรัฐมาช่วยคุ้มครองและถ่วงดุลข้อเสีย ในทางตรงกันข้าม กำลังของการเมืองภาคประชาชนในแบบฉบับเดิม มักมาจากกลุ่มชนที่อยากถอยห่างจากตลาดเสรี ต้องการบริหารจัดการชีวิตเรียบเรียบในท้องถิ่นของตัวเองในท้องถิ่นต่างๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐและทุนใหญ่ ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยในสายตาของขบวนการเมืองภาคประชาชนจึงมักเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร รวมทั้งลดอำนาจลดบทบาทการเมืองแบบตัวแทนควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ของประชาธิปไตยทางตรง ตามความมเห็นของผม การเมืองของคนเล็กคนน้อยทั้งสองกระแสล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังประชาธิปไตย และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน เนื่องจากจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายคือ ไม่ต้องการระบอบอำนาจนิยม และต่างฝันถึงอิสรภาพ ความเป็นธรรมที่ตัวเองพึงได้รับ ฝันถึงชีวิตที่ไม่ถูกละเมิดล่วงเกิน อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่า ความตื่นตัวของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทนั้นแม้จะสำคัญมากสำหรับการขยายตัวของประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เพียงพอจะขับดันประชาธิปไตยไปสู่ขั้นตอนใหม่ หากไม่มีปรากฏการอีกอย่างเกิดขึ้นในเวลาที่ประจวบเหมาะกันคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหม่นี้ก็มีปัญหาคล้ายชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดที่คิดว่าตนเองต้องการพื้นที่ทางการเมืองที่ควรได้รับและหนทางที่พวกเขาจะเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์อำนาจก็ต้องอาศัยเวทีประชาธิปไตยด้วย เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ จุดหมายของ 2 ฝ่ายจึงมาบรรจบกัน และกำลังทางสังคมของทั้ง 2 ส่วนที่โดยพื้นฐานแล้วต่างกันก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นคุมอำนาจและจัดการระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับนโยบายที่ตอบสนองปัญหาของตน ไม่ว่าการกำหนดราคาผลผลิตการเกษตร การเข้าถึงเงินทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การเข้าถึงสวัสดิการ ฯ พูดตามความจริง ปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตยกินได้ไม่ใช่ความฝันใหม่แต่อย่างใด มันมีมาตั้งแต่การต่อสู้ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาปัญญาชนผนึกกำลังกรรมกรชาวนาเรียกหาค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและที่ดินสำหรับผู้หว่านไถ แต่ทั้งหมดนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหม่ในระบบรัฐสภาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองจริง และนโยบายพรรคการเมืองเป็นสิ่งจับต้องได้ เกิดผลเป็นรูปธรรมแทนสัญญาลมๆ แล้งๆ เหมือนที่ผ่านมา แน่ล่ะ คนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมต้องเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลายประการ แต่สิ่งนี้ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่าโดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่องนโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นถ้าไม่คอขาดบาดตายต้องนับเป็นเรื่องรอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังคงต้องแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย แต่ก็อีกนั่นแหละ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มีผู้ได้และเสียประโยชน์ ดังนั้นภายในเวลาไม่กีปี่หลัง 2540 สถานการณ์ได้บ่มเพาะความขัดแย้งอย่างคาดไม่ถึงและในที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหาร 2549 นับเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิธีการนอกระบบ และไม่ว่าข้ออ้างเหตุผลจะเขียนไว้เช่นใด เจตจำนงสูงสุดได้ปรากฏในภายหลังว่า มันคือความพยายามพาประเทศไทยกลับไปสู่ระบบรัฐสภาก่อน 2540 ซึ่งมีองค์ประกอบของอำนาจนิยมผสมบางส่วน และมีข้อกำหนดหลายอย่างที่สกัดการเติบโตของนักการเมืองและพรรคการเมือง ถามว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกแม้สังคมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนมากเช่นกัน ทำไมเรายังต้องพบกับวิธีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ถอยหลังเข้าคลองขนาดนั้นอีก แน่นอน ความผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลนั้นมีอยู่จริงและสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนไม่น้อย แต่ในความคิดของผม ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งของชนชั้นนำเก่าที่สูญเสียฐานะการนำ กับชนชั้นนำใหม่ที่ขึ้นกุมอำนาจด้วยวิธีการต่างจากเดิม ความขัดแย้งดังกล่าวถูกทำให้แหลมคมขึ้นด้วยบรรยากาศความไม่พอใจรัฐบาลของกลุ่มทุนเก่าตลอดจนคนในเมืองหลวงที่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มทุนใหม่ และไม่คงเส้นคงวาทางประชาธิปไตย การก่อรัฐประหารครั้งนั้นจึงมีเงื่อนไขทางสังคมรองรับ อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหาร 2549 มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาลที่ประกอบเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมือง มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหนระบอบประชาธิปไตย มองไม่เห็นศักยภาพของการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เรื่องจึงไม่จบลงง่ายๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ควาามขัดแย้งที่ตามมากลับยิ่งรุนแรงและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยได้ลุกลามสู่ระดับมวลชนและหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเเมือง มิตรสหายทั้งหลาย พี่น้องทั้งหลาย ผมทราบดีว่าเรื่องราวข้างต้นแทบจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ทุกท่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย กระนั้นก็ตาม ผมจำเป็นต้องเอ่ยถึงสภาพดังกล่าวเพื่อบอกพวกท่านว่าผมยืนตรงไหนและคิดอย่างไร ในการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเรา ท่านจะสังเกตว่าผมจงใจหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อ บุคคล องค์กร ตัวละครใดๆ ออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากอยากชวนให้ท่านมามองปัญหาประชาธิปไตยในระดับโครงสร้างและเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางชนชั้นที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วและมีส่วนอย่างสูงในการกำหนดสถานการณ์ทางการเมือง ทุกวันนี้คนไทยในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ราษฎรก้อนเดียวที่หน้าตาเหมือนกันหมดอีกต่อไปหากแยกเป็นหลายชนชั้นและชั้นชน นอกจากนี้ภายในชนชั้นเดียวกันยังแบ่งป็นหลายหมู่เหล่าอันนำมาซึ่งความหลากหลายของผลประโยชน์ ความแตกต่างทางความคิด สภาวะทางจิต และวิถีชีวิตดำเนิน สภาพดังกล่าวคือความจริงทางภววิสัย ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการมีบทบาทนำในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงต้องนำมันมาพิจารณาประกอบยุทธศาสตร์และยุทวิธีของตน เรื่องนี้หากมองข้ามไม่ใส่ใจอาจเสี่ยงต่อการจ่ายราคาที่แสนแพง จริงอยู่ ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นมักอยู่เหนือการควบคุมและการเคลื่อนไหวของมวลชนอาจเกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพกำกับดูแลเสมอไป แต่ถ้าโยงเรื่องนี้กลับมายังประเด็นการสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นตัวเป็นตน สิ่งที่้ต้องนำมาครุ่นคิด ย่อมไม่ใช่การเชิดชูอุดมคติอย่างเดียว หากยังมีวิธีการขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เติบใหญ่มั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวเฉพาะประเด็นหลัง ผมมีข้อเสนอสองสามข้อที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนด้วยมิตรภาพและความหวังดี ในเมื่อพวกท่านให้เกียรติเชิญผมมาพูด ผมก็จะพูดความในใจอย่างตรงไปตรงมา 1.ในทัศนะของผม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อระบอบการเมือง ไม่ใช่เพื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ ดังนั้น พลังประชาธิปไตยจึงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่แค่พิทักษ์รักษารัฐบาลหรือนักการเมืองที่ตัวเองพอใจเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่สถานการณ์บีบคั้นให้การรักษารัฐบาลที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกับความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตย พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ พลังประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้ององค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่รัฐบาลด้วย เพื่อให้กลไกของระบอบทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนมั่นคงของระบบการเมืองที่เราเชื่อว่าดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุด สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งมีหลายหมู่เหล่า จำนวนไม่น้อยก็มักมีปัญหากับนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะประชาชนชายขอบที่ถูกการพัฒนาทอดทิ้ง หรือชุมชนท้องถิ่นที่มักได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐหรือทุน ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่ศัตรูของประชาธิปไตย แต่บางครั้งอาจขัดแย้งกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบอบและเสริมระบอบในการแก้ปัญหาต่างๆ พวกเขาเป็นพลังประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจต่างจากประชาธิปไตยแบบมวลชนที่ผูกพันกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ดังนั้น ผู้รักประชาธิปไตยที่สังกัดพรคทั้งหลายอาจต้องฝึกวางเฉยบ้าง เมื่อรัฐบาลที่ท่านเลือกถูกวิจารณ์คัดค้านบางเรื่อง หรือให้ดีกว่านั้น หากท่านสามารถเข้าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเมืองภาคประชาชนฉบับเดิมกับระบบรัฐสภาได้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง 2. ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เนื่องจากประชาธิปไตยไทยยังไม่สเถียร การขยายฐานทางสังคมของประชาธิปไตยจึงต้องทำต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลทั้งด้านหลักการและวิธีการ ขบวนประชาธิปไตยไม่อาจอาศัยกำลังของขนชั้นเดียวมากำหนดเส้นทางเดินของบ้านเมือง แม้ว่าชนชั้นดังกล่าวมีจำนวนมากพอที่จะคุมสนามการเลือกตั้ง หากต้องพูดถึงเสถียรภาพของระบอบหรือของประเทศแล้วฐานทางสังคมแค่นี้ยังไม่เพียงพอ พูดอีกแบบคือว่า ผู้รักประชาธิปไตยต้องขยายแนนวร่วมทางการเมืองออกไปให้ครอบคลุมอีกหลายชนชั้น ทำให้คนหลายหมู่เหล่าที่สุดมองเห็นและยอมรับว่าพื้นที่ประชาธิปไตยเป็นของเขาด้วย เห็นว่าระบอบการเมืองนี้ดี ต้องช่วยกันปกปักรักษา การสร้างแนวร่วมขนาดนั้นย่อมหมายถึงการจับประเด็นปัญหาที่หลากหลายมากกว่าเรื่องของชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดหรือผู้ประกอบการรายย่อยในเมือง ขบวนประชาธิปไตยควรต้องตอบโจทย์คนงานในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ขัดขวางข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมของชนชั้นกลางเก่าบางส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อันที่จริง นี่เป็นประเด็นทางทฤษฎีด้วย ถ้าเรายอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองของปวงชนก็ต้องยอมรับต่อว่าบางมิติประชาธิปไตยก็มิใช่อะไรอื่น หากคือเป็นเวทีต่อรองผลประโยชน์ทางชนช้้นและชั้นชนซึ่งหลากหลายและอาจขัดแย้งกัน เราต้องรักษาเวทีกลางเช่นนี้ไว้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะนองเลือด 3. ถ้าเรายอมรับว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นงานสร้างระบอบ การขยายพลังประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า เราคงต้องยอมรับว่าบรรยายกาศที่ห้อมล้อมระบอบการเมืองเป็นอื่นไมได้ นอกจากบรรยากาศเสรีนิยม อันที่จริงเสรีนิยมและประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งเดียวกันในทางปรัชญาแต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันจึงจะเกิดผลดี เสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด แต่เสรีนิยมอย่างเดียวก็ไม่อาจรวมพลังผู้คนหรือยึดโยงสังคมไว้ได้ กระทั่งหมิ่นเหม่ต่อสภาวะแตกกระจายตัวใครตัวมัน ประชาธิปไตยมีจุดแข็งในการสร้างฉันทามติ รวมพลังของคนจำนวนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายของส่วนรวม แต่ก็มีจุดอ่อนของความกระด้างต่อการจัดความสัมพันธ์ของคนกลุ่มใหญ่กับปัจเจกบุคลหรือคนเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ วิวัฒนาการของประชาธิปไตยในโลกที่เจริญแล้วจึงดำนินควบคู่กับลัทธิเสรีนิยมทางการเมืองมาโดยตลอด และประเทศไทยก็คงต้องเดินในเส้นทางเดียวกัน การสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการเมือง อย่างการเลือกตั้งหรือระบบรัฐสภาเท่านั้น หากสังคมไทยเองก็ต้องเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ไม่มีระบบอการเมืองใดจะอยู่ได้โดยปราศจากสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล จึงเห็นว่าขบวนประชาธิปไตยที่มีอยู่ควรต้องผลักดันบรรยากาศเสรีนิยมให้มากกว่าเดิม โดยแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างทัศนะหรือพลังปฏิปักษ์ กับทัศนะหรือผู้คนที่แค่คิดต่างซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเกินกว่าจะทะเลาะกัน ความแหลมคมของความขัดแย้งที่ผ่านมาอาจทำให้บางคนด่วนแขวนป้ายทางการเมืองใส่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม หลายคนถือโอกาสหว่านถ้อยคำหยาบคายใส่คนที่ไม่เห็นด้วยซึ่งบางทีเราสืบสาวต้นตอไม่ได้ว่ามาจากสภาพจิตส่วนตัวหรือปัญหาส่วนรวม สภาพนี้เข้าใจได้บางสถานการณ์ แต่ถ้าเกิดขึ้นไม่มีขอบเขตจะไม่เป็นผลดีกับเสรีภาพ และมีแต่จะเพิ่มศัตรูให้ตัวเอง ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา ขอยืนยันว่า การด่วนตัดสินคนด้วยข้อมูลผิวเผิน การด่าทอด้วยสูตรสำเร็จ ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของการต่อสู้ เพราะมีแต่สร้างความห่างเหินกับมวลชนที่ควรเป็นมิตร เป็นการโดดเดี่ยวขบวนประชาธิปไตย เรามีบทเรียนแล้ว ไม่อยากเห็นความผิดพลาดซ้ำเดิม แต่แน่นอน การต่อสู้ทางความคิดต้องมีต่อไป ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่มั่นคงมาจากวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่สอดคล้องกัน ด้วยเหตุนี้การโต้แย้งโต้เถียงกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ประชาธิปไตยก็มีระบบคุณค่า มีชุดศีลธรรมและครรลองชีวิตแตกต่างกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมเดิมของไทยพอสมควร ที่สำคัญคือ มีจุดเน้นที่ความเสมอภาคในทางการเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น มันจึงเป็นวัฒนธรรมแห่งการเคารพผู้อื่นพร้อมๆ กับการเคารพตัวเอง ตราบใดที่วัฒนธรรมเช่นนี้ยังไม่ใช่ด้านหลักของสังคมไทย ตราบนั้นประชาธิปไตยในฐานะระบอบการปกครองก็จะไม่มีฐานรองรับที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่าด้านการเมือง เพราะมันเป็นสิ่งที่ซึมลึกในจิตใจและจิตวิญญาณผู้คน อีกทั้งมีมวลชนเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ประเด็นวัฒนธรรมสามารถสร้างความขัดแย้งที่กว้างขวางและรุนแรงได้ ดังนั้น ในสนามแข่งขันด้านวัฒนธรรม นักสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงต้องรักษาจังหวะก้าวที่เหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นจริงในระดับพลาดไม่ได้ ควรเรียนรู้วิธีใช้อำนาจอ่อนที่มุ่งเสนอความดี ความจริง ความงามในนิยามตนมากกว่าพอใจกับภาพลักษณ์ของนักถอดรื้อที่เห็นทุกอย่างขวางหูขวางตาไปหมด วัฒนธรรมเก่าไม่จำเป็นต้องขัดแย้งประชาธิปไตยในทุกด้าน บางอย่างก็เข้ากันได้ ยกเว้นส่วนที่เป็นอำนาจนิยมที่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม กล่าวสำหรับในมิติอื่นๆ ในด้านวัฒนธรรมประเพณีไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถตัดขาดจากประวัติศาสตร์ของตัวเองได้ทั้งหมด ในประเด็นนี้การเปลี่ยนแปลงควรถูกปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ขบวนประชาธิปไตยไม่ควรทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่และตัวตนอย่างกระทันหัน หากควรทำให้เขารู้สึกได้รับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเก่า ซึ่งจะสร้างความผูกพันกับระบอบต่อไป พูดก็พูด แม้แต่ประชาธิปไตยในตะวันตกก็ต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ตราบเท่าที่ไม่สามารถทำให้มนุษย์มองโลกสีเดียวกันได้ และไม่อยากฆ่าฟันกันอย่างยืดเยื้อ ตราบนั้นการบริหารความขัดแย้งอย่างสันติวิธีของประชาธิปไตยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผมได้เรียนท่านทั้งหลายตั้งแต่แรกแล้วว่า เจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 คือการเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย มาถึงวันนี้ ประชาชนไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วหลายรอบ ได้เห็นการล้มลงของเผด็จการทั้งฝ่ายซ้ายและขวาในโลก และเผด็จการในไทย ดังนั้น เราจึงไม่เพียงมั่นใจมากขึ้นในการยืนยันเจตจำนงเดิม หากยังเข้าใจมากขึ้นว่าประชาธิปไตยคืออะไรและมีคุณค่าแค่ไหน สังคมจะอยู่รอดและรุ่งเรืองได้หรือไม่ขึ้นกับระบอบการปกครอง ด้วยเหตุดังกล่าว การช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากยืนยงจึงเป็นภารกิจสำคัญของประชาชนคนไทย สุดท้าย ผมขอยืนยันซ้ำว่า ปรัชญาประชาธิปไตยตั้งบนสมมติฐานที่เห็น่วาสมาชิกของสังคมทุกผู้ทุกนามล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากัน ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงมีเจตนารมณ์ที่มุ่งคัดค้านการเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางความคิดและการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม แค่ต่อต้านการกดขี่อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ปรัชญาเดียวกันนี้จึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนในฐานะรวมหมู่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง ขณะที่ประชาชนในฐานะปัจเจกมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง กล่าวโดยสรุป ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ทั้งปลดปล่อยและรวมพลังไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้จุดหมายและวิธีการของประชาธิปไตยจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวจึงจะเข้าถึงจุดหมายของเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมตัวใครตัวมัน แต่คือสังคมที่เสรีภาพของบุคคลถูกเชื่อมร้อยด้วยพันธกิจที่มีต่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้คือคลื่นความคิดที่ขับเคลื่อนการต่อสู้ 14 ตุลาคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคลื่นลูกใหม่จะยังคงมุ่งไปสู่ทิศเดียวกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงานเสวนา3ประสาน “4 ทศวรรษ บทเรียนและประสบการณ์ขบวนการชาวนา กรรมกร นักศึกษา” Posted: 13 Oct 2013 03:39 AM PDT มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชนจัด "สามประสานกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม" ถกบทเรียน 4 ทศวรรษ ของการเคลื่อนไหว นักศึกษาร่วมแจมชี้ความคิดแบบปัจเจคนิยม ทำลายพลังนักศึกษา 13 ต.ค.56 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชน "4 ทศวรรษ บทเรียนและประสบการณ์ขบวนการชาวนา กรรมกร นักศึกษา" โดยมีผู้ร่วมสวนาประกอบด้วย จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สมปอง เวียงจันทร์ ผู้นาชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล แตงอ่อน เกาฏีระ อดีตผู้นาสหภาพแรงงานอ้อมน้อย บำรุง คะโยธา อดีตเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนวพล อินทรสุวรรณ กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แตงอ่อน เกาฏีระ รัฐประหารทำลายอำนาจกรรมกร แตงอ่อน เกาฏีระ อดีตผู้นาสหภาพแรงงานอ้อมน้อย เล่าว่าตนทำงานตั้งแต่ 2497 และปี 2499 นั้นคนงานมีการชุมนุมที่บ้านมนังคศิลาจนได้ กฏหมายแรงงานขึ้นมา แต่ใช้ได้เพียงปีเดียว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กฏทำการรัฐประหาร รวมทั้งยกเลิก กฏหมายแรงงาน ส่งผลให้นายทุนเลิกจ้าง ไม่มีการขึ้นค่าแรง ได้อย่างสะดวกนอกจากยกเลิกกฏหมายแรงงานแล้ว ก็มีมาตรา 17 และกฏหมายคอมมิวนิสต์ ในการจัดการกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง แตงอ่อน เล่าว่าตนได้มีโอกาสพบกับคุณประสิทธิ์ ไชโย ที่เข้ามาเป็นช่างในโรงงาน พบกับการกดขี่ไม่ขึ้นค่าแรงจึงอาสาเป็นตัวแทนเจรจากับนายจ้าง ซึ่งขณะนั้นตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเจรจาเพราะจากบทเรียนของตนที่ผ่านมาหากใครเสนอหน้าเจรจากับนายจ้างมักจะถูกเลิกจ้างและตั้งข้อหาต่างๆมากมาย แต่คุณประสิทธิ์ไม่กลัว โดยในปี 15 โรงงานที่ตนอยู่คนงานทำการสไตร์คเพียงแค่วันเดียวก็ได้ข้อเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ เนื่องจากคนงานทุกคนพร้อมกันออกมา บทบาทนักศึกษาช่างกลพระราม 6 และธรรมศาสตร์ แตงอ่อน เล่าต่อว่า หลังจากนั้นประสิทธิ์ ไชโย ก็จดทะเบียนเป็นสมาคมลูกจ้าง จึงเริ่มกระบวนการจัดตั้ง และจดทะเบียนเป็นกิจการทอผ้าในลักษณะประเภทอุตสาหกรรมทำให้คนงานโรงงานอื่นสามารถร่วมกันได้มาก จนถึงปี 17 มีการหยุดงาน จากวิกฤติเศรษฐกิจโรงงานสั่งพักงานคนงานจำนวนมาก ทำให้คุณประสิทธิ์ปรึกษากับผู้นำคนงานอื่น จึงตัดสินใจ เดินขบวนจาก อ้อมน้อย ไปพระประแดง เมื่อเดือน มิ.ย. และเดินขบวนจากพระประแดงมาที่ กรมแรงงาน กทม. ส่งผลให้มีคนอื่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และคนเยอะมากจึงย้ายออกมาที่สนามหลวง มีการจัดกลุ่มดูแลความปลอดภัย มีนักศึกษาช่างกลพระราม 6 มาช่วยดูแลเป็นหน่วยฟันเฟืองให้ นักศึกษาและอาจารย์ที่นี้เห็นใจคนจน และได้ใช้ที่ธรรมศาสตร์ในการทำอาหาร ครั้งนั้นเราเจรจา 8 วัน 7 คืน โดยมีประสิทธิ์ ไชโย และเทิดภูมิ ในดี ผู้นำกรรมกรขณะนั้นเป็นตัวแทนเจรจากับนายกฯ จึงค่าแรงขั้นต่ำ 20 บาทต่อวัน และหลังจากนั้น ม.ค.18 รัฐบาลประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำ 25 บาทต่อวัน จนกระทั้งปี 18 เรามีการชุมนุมกันมา และตอน 17 เรามาก็อาศัยนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในการหุงข้าว จากสไตร์คถึงการชุมนุมอย่างมีการจัดตั้ง แตงอ่อน กล่าว่ากรรมกรขณะนั้นพึ่งเริ่มต้นเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างมีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันในปี 17 แต่ก่อนมีจะเป็นเพียงการสไตร์ค จนกระทั่งปี 18 มีการจัดงานวันกรรมกร กรรมกรจึงได้พบกับขบวนการชาวนา นำโดยนายใช่ วังตระกูล ที่มาร่วมจัดงานกับนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ จะเห็นได้ว่ากรรมกร ชาวนา และนักศึกษา มีการรวมกันตั้งแต่ตอนนั้น แต่ไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง จนปี 19 ฝ่ายนายทุนเข้มแข็งมาก มีการจัดตั้ง กอ.รมน. เข้ามาสืบข่าวความเคลือนไหวของกรรมกร ชาวนาและนักศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีการก่อตัวเป็นองค์กร 3 ประสานที่มีประสิทธิ ไชโย เป็นรองประธาน และมีเทิดภูมิ ใจดี เป็นประธานองค์กร โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเลขาธิการ กรรมกรใช้กลไกทางกฏหมายมากกว่ากาเคลื่อนไหว สำหรับการเคลื่อนไหวของกรรมกรในปัจจุบันนั้น แตงอ่อน มองว่า กรรมกรรุ่นใหม่เก่งขึ้น สามารถจัดตั้งเข้มแข็งได้มากกว่ารุ่นตน อย่างไรก็ตามตอนนี้มีการสู้เป็นรายบุคคล ใครโดนข้อหาอะไรก็สู้ทางในทางกฏหมายเป็นปีๆ ไม่เน่นการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็ไม่มีการจับกุมคุมขังเหมือนสมัยก่อน จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ศนท.กับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ จตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลัง 14 ตุลา 16 นั้นองค์กรนำของนักศึกษามี 2 องค์กรใหญ่ คือ 1. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลา และต่อเนื่องหลังจากนั้นโดย ปี 17 เลขาชื่อ คำนูณ สิทธิสมาน ปี 18 มีเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาฯ ในปีนี้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้จำนวนมาก ปี 19 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย มีเลขาฯ คือคุณสุธรรม แสงประทุม ที่ไปอยู่พรรคเพื่อไทย และตนอยู่ช่วงสุดท้ายในช่วงปี 19 เป็นรองเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ 2. สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ค่อนข้างมีความเห็นไม่ตรงกับ ศนท. ในปี 17 และมีเครือข่ายนักศึกษาเสรี ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เคลื่อนร่วมกับ กรรมกร ชาวนา ประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นปัญหาของแต่ละกลุ่ม กรรมกรมีปัญหาเรื่องค่าแรง นักศึกษาก็เข้าไปช่วย เวลาชุมนุม จะมี นักศึกษาเข้าไปในที่ชุมนุมด้วย ช่วยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ จตุรงค์ กล่าว่า กรรมกร ชาวนา นักศึกษา 3 กลุ่ม เชื่อมกันได้ในช่วงที่ชาวนาขึ้นมาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ และชนชั้นกลางก็คิดว่าการขึ้นมาของชาวนาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในกรุงเทพ แต่ได้นักศึกษาที่ไปสร้างความเข้าใจให้กับคนเหล่านั้น อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวนารุนแรงไปจนถึงถูกสังหาร เช่น พ่ออินถา ศรีบุญเรื่อง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือถูกยิงเสียชิวิตปี 18 และ น้าจำรัส ม่วงยา ถูกจับไปหลัง 6 ตุลา 19 และวันที่ 21 ก.ค. 22 ก็ถูกฆ่า และมีอีกมากที่ถูกลอบสังหีร ดังนั้นการต่อสู้ของชาวนาเข้มข้น เพราะขัดกับกลุ่มนายทุนที่หนุน รัฐบาลอยู่ บทเรียน 3 ประสาน อดีตรองเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทเรียน 3 ประสาน ในช่วง 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุล 19 ประกอบด้วย 1. การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไม่สามารถสู้แบบโดดเดี่ยวเฉพาะกลุ่มได้ หลัง 14 ตุลา เรียกว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ดังนั้นชนชั้นที่ถูกกดขี่คือกรรมกรชาวนา นักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งก็ถูดกดด้วย เพื่อให้เกิดพลังก็ต้องรวมพลังกันต่อสู้ เพราะลำพังการต่อสู้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะส่วนนั้น ไม่สามารถมีพลังต่อสู้ได้ 2. ช่วงนั้นมีแนวรบทางวัฒนธรรม มีวงดนตรีเพื่อชีวิตจำนวนมาก บทเพลงที่ร้อง เช่น คาราวาน วงกรรมาชน ทุกมหาวัทยาลัยมีวงดนตรีเพื่อชีวิตมาช่วย ตรงนี้จะปลุกเร้าจิตใจการชุมนุมต่อสู้ ในบทเพลงสะท้อนอุดมการณ์ ปลุกเร้าจิตใจในการต่อสู้หลอมรวมจิตใจได้ 3. ข้อเรียกร้องในการรณรงค์ต่อสู้แต่ละครั้งที่เกิดขึ้น หลัง 14 ตุลา ข้อเรียกร้องบางเรื่องไปในเชิงอุดมการณ์มาก ทำให้ปฏิบัติยาก ดังนั้นเวลาเคลื่อนไหวเรียกร้องโดยชูข้อเรียกร้องในเชิงอุดมการณ์มากกว่าเชิงปฏิบัติจึงทำให้หาทางลงยาก ทั้งที่สภานการณ์การต่อสู้ของเรานั้นมีความอ่อนแรงในบางช่วงได้ การลงยากก็มีผลต่อความรู้สึกพ้ายแพ้หากต้องลงในบางช่วง บำรุง คะโยธา บำรุง คะโยธา อดีตเลขาธิการสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหามันไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ขณะนี้ปัญหามันซับซ้อนและรุนแรงกว่าเก่า สมัยนายกคึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 18 มีโครงการเรียกว่า "เงินผัน" ลงไปตามหมู่บ้าน แต่คนก็เอาไปลงเหล้า มายุคเจ็ดหมื่นล้านนี้ คนก็เอาไปซื้อโทรศัพท์ ดังนั้นปัญหามันซับซ้อนขึ้น คิดว่าอนาคตเราจะลำบาก สมปอง เวียงจันทร์ สมปอง เวียงจันทร์ ผู้นาชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล เล่าว่ารเคลื่อนไหวของตนมีนักศึกษาลงไปสู้เคียงบ่าเคียงไหลอย่างเช่น คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และนันทโชติ ชัยรัตน์ ปี 34 คุณวนิดาก็เอาพวกตนมาเชื่อมกับพี่น้องแรงงานที่ชุมนุมหน้าทำเนียบ ไม่อาจมีชีวิตที่ดีได้หากไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตั้งข้อสังเกตุว่าสิ่งที่ได้เห็นภาพความร่วมมือกันของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ในอดีตมีสูง แต่ปัจจุบันทั้งที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี่ แต่การเคลื่อนไหวยังลำบาก สำหรับกรรมกรในรถไฟ มีความเชื่อว่ากรรมกรไม่มีชีวิตที่ดีได้ถ้าไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ในอดีตกรรมกรรถไฟจึงมีส่วนร่วมเคลื่อไหวทางการเมืองด้วย เหตารณ์เมื่อ 23 ก.พ. 34 ขบวนการกรรมกรถูกชนชั้นปกครองทำลาย หลังรัฐประหาร จาก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (รองหัวหน้า คณะรสช.) ออกกฏหมายการแยกคนงานรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ กรรมกร แต่กตัว อ่อนแอมาก สาวิทย์ แก้วหวาน ปัญหาอุปสรรคของการเคลื่อนไหว ปัญหาอุปสรรคของการเคลื่อนไหว สววิทย์มองว่า ด้านหนึ่ง ทัศนะชนชั้นนำยังไม่เปลี่ยน มีการพยายามทำร้าย ประชาชน ซึ่งรุนแรงและซับซ้อนขึ้น สอง โครงครอบทางวัฒนธรรม ที่ครอบผ่านทางภาษา สุภาษิต เรื่องเวรเรื่องกรรม เป็นต้น ทำหน้าที่ผลิตซ้ำความคิดของชนชั้นนำ สาม ด้านเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก กำลังของฝ่ายเราไม่เพียงพอ สาวิทย์ มองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้รักความเป็นธรรมนั้นยังไม่เรียบสนิทสำหรับวิธีคิดและการทำงานปัจจุบันกำลังของฝ่ายเรานั้นไม่เพียงพอ ความคิดในเชิงแยกส่วนยังมีอยู่ ไม่รวมศูนย์กัน สำหรับคนงานวันนี้งานมันกระจายไปสู่ห้องแถว ไม่มีการรวมศูนย์ ดังนั้นการรวมตัวก็เป็นไปได้ยาก เพราะรูปแบบการจ้างงานของนายทุนมีการพัฒนาไปมาก ทำให้ขบวนการแรงงานที่ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ ความเป็นปัจเจคบุคลภายใต้ความคิดเสรีนิยมใหม่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ทัศนความคิดทางการเมืองของกรรมกรปัจจุบันยังไม่ลงรากลึกไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราจะหาอุมกการณ์ร่วมกันอย่างไร คิดว่าความเป็นปัจเจคบุคลภายใต้ความคิดเสรีนิยมใหม่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ความคิดเราเห็นแต่ปัญหา เล็กๆ ความคิดอิสระรุกเข้าไปถึงจิตวิญญาณ วันนี้เราถูกกระทำโดยไม่รู้ตัวและส่งออกด้วยทัศนะและการกระทำที่ม่าสนใจส่วนรวมมากนัก สาวิทย์ มองว่าในอดีตอาจมีการต่อสู้ทางการเมืองที่ดีเนื่องจากมีลักษณะรวมศูนย์ และชนชั้นปกครองก็ชัดว่าเป็นเผด็จการ แต่ปัจจุบันมันกระจายออกจากศูนย์กลาง มีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การกดทับทับที่สบับซับซ้อน ในแง่การเปลี่ยนแปลงนั้นจึงย่งยาก สาวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เรายังขาดการคุยกันแบบรวมศูนย์ระหว่าง กรรมกร ชาวนา นักศึกษา และดังนั้นวันนี้เราต้องสร้างกองกำลังของภาคประชาชนขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปล้มล้างรัฐบาล อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลไม่ดีก็เป็นไปได้ที่จะชาชนจะถอดถอนเพราะสิทธิ
ความคิดแบบปัจเจคนิยม เป็นศูนย์กลางจักรวาลของนักศึกษาเสรีนิยมใหม่ นวพล อินทรสุวรรณ กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเรื่อง 3 ประสานนั้นมีความจำเป็นที่ต้องสอดรับอยู่ เนื่องจากมันไม่ได้ง่ายเลยที่คนที่อยู่ในยุคเสรีนิยมใหม่ เพราะปัจจุบันนักศึกษาทุกคนลึกๆแล้วคิดว่าตนเองเป็นศุนย์กลางของจักรวาล "จริงๆแล้วพลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน แต่ว่ามันไปอยู่ตรงไหนต่างหาก" นวพล กล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่าเราจะเห็นภาพที่เชียร์หรีดเดอร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะต่างๆ สามารถซ้อมได้ถึงตี 1 ตี 2 พลังของนักศึกษาได้กระจายไปตามแผนกของตนเอง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ภายใต้รูปแบบของการเอาตัวรอดตรงนี้ ศตรูของเราคืออะไรกันแน่ ในขณะที่อำนาจรัฐเริ่มลดลง แต่ความเป็นปัจเจคบุคคล เสรีนิยมเริ่มมีอำนาจมากขึ้น นักศึกษาถูกทำให้เห็นภาพว่าตนเองมีความเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทั้งๆที่ไม่จริงเลย พลังของนักศึกษาอยู่ที่การออกไปร่วมชุมนุม? ลักษณะของการเชื่อม 3 ประสาน นวพล มองว่า จริงๆแล้วมีอยู่บ้าง แต่เบาบาง เนื่อจากมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่าพลังนักศึกษาต้องไปแสดงออกด้วยการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งภาวะการณ์ของนักศึกษาอย่างนี้ คิดว่า เราต่างหากที่ควรจะปรับให้มีความสอดคล้องต้องกันกัน เช่นการนำเสนอเชิงโครงสร้าง หากทำให้นักศึกษามีความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วออกมาสัมผัสปัญหา เห็นอกเห็นใจกันบ้าง คิดว่าถ้าพลังนี้เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย ไปองค์กรเอกชนนั้นก็จะมีความเห็นอกเห็นใจให้ความเป็นธรรมกับคนงานและสังคมบ้าง อย่างไรก็ตามนักศึกษาก็มีภาพที่มองว่ากรรมกร ชาวนา ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่รวมตัวอยู่ ทั้งที่พนักงานออฟฟิสที่จบจากมหาวิทยาลัยก็เป็นแรงงานเหมือนกัน แต่กลับไม่เห็นอกเห็นใจคนงานอื่น ซึ่งจริงๆแล้วนักศึกษาเองก็มีปัญหาในตัวเอง เป็นความขัดแย้งเชิงจิตใจและจิตวิญญาณ เหมือนตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก แต่ความเป็นจริงแล้วว่างเปล่า ทุกอย่างเป็นเพื่อถมให้จิตใจให้ตัวเองให้เต็ม ซึ่งตนไม่รู้ว่านักศึกษารุ่นอื่นเป็นหรือไม่ แต่รุ่นนี้การถมจิตใจตัวเองก็เพื่อความเพลิดเพลิน แต่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราที่เคลื่อนไหวนั้นคือจะทำอย่างมีโอกาสค่อยๆเชื่อมต่อตรงนั้นมาสู่ปัญหาสังคมได้ เพราะในคามเป็นจริงแล้วนักศึกษาเหล่านั้นก็เป็นผู้ถูกกดขี่ในสังคมเช่นกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เดี่ยวไมโครโฟน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ:ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่มีใครเป็นเจ้าของ Posted: 13 Oct 2013 02:15 AM PDT ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ขึ้นเดี่ยวไมโครโฟน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน 40 ปี 14 ตุลา 2516 โดยออกตัวว่ามาพูดแบบคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทำหน้าที่รับไม้ต่อจากคนเดือนตุลา เขากล่าวว่าผู้กุมอำนาจมาสิบกว่าปี ล้มลงจากการต่อสู้เมื่อสี่สิบปีก่อน และเมื่อสี่สิบปีผ่านไป คนเดือนตุลาก็ยังอยู่จำนวนมาก ขนาดที่ว่าจัดงานพร้อมกันไม่ได้ ต้องแยกกันจัดงานสองภาค เหตุที่คนเดือนตุลาเหลือมาก ก็เพราะเก่ง กล้าหาญ และ โชคดี ดีที่สีสิบปีก่อนมีแค่ถนอม ประภาส ซึ่งถูกโค่นล้มเพราะไม่เห็นหัวประชาชน แต่อภิสิทธิ์ สุเทพ เห็นหัวประชาชน ยิงหัวล้วนๆ เขาแสดงความยินดีที่ได้มาพูดที่เวทีใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์ จาก'ศรีบูรพา' นั้นเป็นที่จดจำว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" แต่เมื่อศรีบูรพาล่วงลับไปหลายสิบปี วรรคทองถูกท้าทาย จาก 'ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน' มาเป็น 'ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรู้จักอั้ม เนโกะ' เขากล่าวว่า ใครจะเห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิในการแต่งตัวแของอั้ม เนโกะหรือไม่เขาไม่ได้ไปตัดสินในเรื่องนั้น "แต่ที่ผมไม่เข้าใจคือทำไมอาจารย์ธรรมศาสตร์บางคนจึงเห็นการไม่ใส่ชุดนักศึกษา ของอั้ม เนโกะ เป็นเรื่องร้ายแรงกว่าการเรียกร้องนายกพระราชทานของอธิการบางคน ทำไมการแสดงออกองเด็กคนหนึ่งซึ่งแสดงออกอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องร้ายแรงกว่าการที่นำธรรมศาสตร์ค้อมกายลงรับใช้เผด็จการของอดีตอธิการบางคน ผมไม่ต้องการคำตอบวันนี้เพราะผมเชื่อว่าเรื่องพวกนี้วันเวลามีคำตอบของมันเองได้" ณัฐวุฒิกล่าวว่างานรำลึกในประเทศไทยหรือในประเทศไหนก็ตามที่จัดงานรำลึก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูญเสียแต่เป็นผู้ชอบธรรม ไม่มีเหตุการณ์ที่เผด็จการที่ไหนรำลึกวันเข่นฆ่าประชาชน เช่นเดียวกับที่อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์จะไม่จัดงานรำลึกเพราะเขารู้ว่าเขาไม่ชอบธรรม การจัดงานรำลึกคือการถ่ายทอดของประชาชน ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น การจัดงานรำลึกเช่นนี้คือการชำระประวัติศาสตร์ ทำให้วิญญาณของวีรชนยังคงสง่างามในการรับรู้และเป็นที่จดจำของประชาชน มันไม่สำคัญว่าเคยร่วมเหตุการณ์หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเมื่อได้เข้าร่วมในงานรำลึกแล้วคิดอย่างไรกับเหตุการณ์เช่นนี้ "เด็กๆ อย่างผมได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ๆ รุ่นใหญ่หลายๆ คน ให้มีแรงต่อสู้ในช่วงเริ่มต้น แต่ผมประหลาดใจจริงๆ ว่าสู้ไปสู้มา มาปี 2549 อีกคนหนึ่งไล่พลเอกสนธิ อีกคนเดินตามหลังพลเอกสนธิเข้าไปทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร นี่คนเดือนตุลาทั้งนั้นนะครับ" เขากล่าวว่าพลเอกถนอมประภาสคงจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาเมื่อรู้ว่ามีคนเดือนตุลาไปเชียร์ให้มีการล้อมปราบประชาชนในปี 2553 "การแสดงออกในทางการเมืองมันต่างกรรมต่างวาระ ก็จริงอยู่แต่จุดยืนต้องชดเจนตรงไปตรงมา เรื่องการต้านรัฐประหาร ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ เป็นหลักการ เป็นสิ่งที่จะต้องบรรจุไง้ลึกสุดของจิตวิญญาณของฝ่ายประชาธิปไตยว่าเราต้องต้านรัฐประหาร ทีนี้อีกฝ่ายบอกว่าเราต้องสนับสนุนรัฐประหาร นี่คือรัฐประหารโดยชอบธรรม นี่คือรัฐประหารที่เข้าเงื่อนไข ผมไม่มีทางเข้าใจ และผมก็เชื่อว่าใครก็ตามที่เคารพในเหตุผล ใครก็ตามที่เคารพในความจริง จะไม่มีทางเข้าใจในข้ออ้างและคำอธิบายแบบนี้ แต่นี่เกิดขึ้นแล้วเพราะนี้เป็นประเทศไทย ประเทศที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เป็นประเทศที่ต่างชาติเขาเฝ้ามองว่าอะไรที่หาดูยากๆ แปลกๆ ให้มาหาดูทีประเทศไทย เดี๋ยวเห็น" เขากล่าวต่อไปคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่เรียนรู้เลยจากคามรุนแรงและความสูญเสีย เงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียนั้นขับเคลื่อนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ความอยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เวลานี้เป็นความพยายามทำให้เนียนในการล้มรัฐบาลและประชาธิปไตย และราวีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีกองไฟสองกองที่ไม่เคยดับ คือกองไฟของระบอบประชาธิปไตย และกองไฟของระบอบเผด็จการทั่งห้ำหั่นกันอยู่ทุกวันนี้ ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ปลายเปิดที่รอการจดจารบันทึก "แล้วถามว่าเมื่อไหร่มันจะจบ ผมเองก็ไม่ทราบแต่ผมแน่ใจว่ามันจะจบโดยที่ชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรตองสงสัย" อย่างไรก็ตามในฐานะปุถุชน บางทีการไปต่อว่าคนเดือนตุลาจุดยืนผิดเพี้ยนไปนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะเวลานั้นคนอายุ 19-20 ปีอาจจะไม่รูว่ามาเดินทำไม และเมื่อชีวิตคนเดินไปเรื่อยๆ อาจจะพบว่าสิ่งที่อยู่ข้างใน ทัศนะจิตวิญาณของตัวเองเป็นไปเพื่อรับใช้ฝ่ายใด " ใครจะยิ่งใหญ่อย่างไร ผมก็ขอเป็นคนตัวเล็กๆ ในขบวนนี้แต่ผมจะไม่เดินออกจากขบวนนี้เด็ดขาดเพราะผมชอบอยู่ฝ่ายชนะ" เขากล่าวว่าคนเดือนตุลาอาจจะพูดยากๆ แปลกๆ ดูเป็นปรัชญา และวางท่าเคร่งขรึม แต่แท้ที่จริงแล้วในความเป็นปุถุชนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มีรักโลภโกรธหลงเช่นเดียวกับคนทั่วไป "คนทีออกมาต่อสู้หลัง 19 กันยายน ก็คนธรรมดานะครับ อย่าคาดหวังจากมนุษย์เกินกว่าความเป็นมนุษย์ที่เขาเป็น แต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้ด้วยกันคืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต้องสู้ด้วยกัน และประนีประนอมไม่ได้แม้แต่น้อย คนเดือนตุลาก็คนนี่แหละ โชคดีหน่อยก็ตรงที่เป็นคนที่มีเดือนสังกัดชัดเจน ผมเองนอกจากไม่มีเดือนสังกัดแล้ว จึงตัดสินใจจะเป็นคนทุกเดือน เพราะการเป็นคนของเราคือต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมปลอดจากการกดขี่และความอยุติธรรม" เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ประวัติศาสตร์ทุกหน้าของประเทศไทยไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครประกาศตัวตนเป็นผู้ยึดกุมศรัทธาและพลังของมวลมหาประชานไว้ และเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นมีการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเดือนไหน โดยไม่ต้องรู้ด้วยว่าจะไปจบเอาเดือนไหน "สิ่งที่ผมอยากให้ท่านทราบก็คือว่ามีหลายคนเหลือเกินที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลาและยังสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ สี่สิบปี และมันมีเหตุการณ์ที่ทั้งน่าเศร้าน่าเจ็บปวดแต่น่าคิด ที่มาเชื่อมยงกัน 14 ตุลา คุณจิระ บุญมากถูกยิงเสียชีวิตเพียงเพราะต้องการเอาผมส้มไปให้เจ้าหน้าที่ ด้วยความปรารถนาดี ว่าในผลส้มมีความบริสุทธิ์ใจของการต่อสู้ และต้องการให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราตกลงกันแล้วตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือห่ากระสุน และเสียชีวิตตรงนั้น สำหรับผู้เผด็จการ แม้ประชาชนยื่นผลส้มให้เขาก็ปฏิเสธและเข่นฆ่า" แต่ในปี 2551 คณะเผด็จการได้ยื่นผมส้มให้กับชายคนหนึ่งชื่ออภิสิทธิ์ แล้วบอกว่านี่คือผลส้มที่หล่นลงมาจากการกระทำของฝ่ายเผด็จการทั้งหลาย จงรับเอาไปเถิด เรื่องมันน่าเศร้าตรงที่ว่า ตอนคุณจิระ บุญมาก ยื่นผลส้มให้เผด็จการ เขากลับเข่นฆ่า แต่พอเผด็จการยื่นผลส้มให้นายอภิสิทธิ์กลับรับอย่างหน้าชื่นตาบาน "จริงๆ อันตรายที่มากอย่างหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยคือความเป็นนักประชาธิปไตยจอมปลอมของคนบางกลุ่มบางคน ผมออกมาสู้ผมไม่เคยกลัวเผด็จการขอมปลอม เพราะมันไม่น่ากลัว แต่นักประชาธิปไตยจอมปลอมมันน่ากลัวมา มันบ่อนทำลายจิตวิญญาณและสิทธิเสรีภาพของประชาชน วันนี้ยังมีนักประชาธิปไตยจอมปลอมปะปนอยู่ไม่น้อย เราต้องจับมือกันให้แน่นแฟ้น และพร้อมเดินหน้าร่มกันไปจนกว่าจะถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง อย่างทีผมเรียนว่าไม่ทราบว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เขากล่าวว่าในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้น จะถูกหรือผิดเขาน้อมรับ แต่คิดว่าเขาต่อสู้ค่อนข้างตรงไปตรงมา ขณะที่ตอนนี้มีความสลับซับซ้อน ผู้เล่นหลากหลายแต่ผู้กำกับเป็นคนเดิมเป็นกลุ่มเดียวกัน" "วิวัฒนาการของฝ่ายประชาธิปไตยมีตลอดเวลา เดือนตุลา 16, 19 ถูกปราบแล้วเข้าป่า ปี 53 ถูกล้อมปราบแล้วเข้ากรุงเทพฯมาผูกริบบิ้นที่ราชประสงค์ เวลานี้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมาทั่วประเทศ ขณะที่ฝ่ายเผด็จการใช้วิธีการเดิม เอะอะก็ว่าไม่ประสงค์ดีต่อสถาบัน เป็นกองกำลังติดอาวุธ ใช้สื่อที่รับใช้บางเรื่องบางสำนัก ผมถามจริงๆ ฝ่ายเผด็จการทั้งหลาย ไม่มีครีเอทีฟไอเดียเลยเหรอครับ" ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่าเวลานี้สิ่งที่เป็นอาวุธของฝ่ายเผด็จการที่แหลมคมขณะนี้ คือองค์กรอิสระ ซึ่งจริงๆ แล้วการมีองค์กรอิสระนั้นดี หากเป็นธรรม แต่เมื่อไม่เป็นธรรมก็ต้องจัดการด้วยการบีบกล่องดวงใจ ดังนั้นองค์กรอิสระทั้งหลาย ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างเปิดเผยต่อประชาชน ต้องเข้าสู้กระบวนการตรวจสอบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส.ส. ส.ว. ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักการเมืองที่ท่านตรวจสอบ สุดท้ายเขากล่าวแสดงความชื่นชมคารวะศรัทธาต่อผู้อาวุโสในเหตุการณ์เดือนตุลามาทั้งชีวิต และเขาไม่เชื่อว่ามีใครเลือกเกิดเพื่อประชาธิปไตย แต่เชื่อว่ามีคนตั้งจะตายเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาทำให้เห็นแล้วจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 เมษา-พฤษภา 53 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 13 Oct 2013 01:54 AM PDT "คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สมารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ...ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้มครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญาอยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง" 13 ต.ค.56, ปาฐกถาเจตนารมณ์ 14 ตุลา ที่หอใหญ่ธรรมศาสตร์ จัดโคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ |
รายงานเสวนา: 40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย Posted: 13 Oct 2013 12:46 AM PDT
(13 ต.ค.56) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดราชดำเนินเสวนา "40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาโดยอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หลายรุ่น
บัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2534-35 เสรีภาพสื่อ สะท้อนเส้นทางของประชาธิปไตยในไทย โดยในยุค 14 ตุลา 16 เกิดพลังมหาศาลของมวลชนในการทำลายพลังของทหารที่สั่งสมมานาน พลังของมวลชนยังได้ปลุกจิตสำนึกสื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลังจากที่แล้วมา สื่ออ่อนประสบการณ์ไม่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพเท่าที่ควร ยอมจำนนต่ออิทธิพลของเผด็จการ เขียนข่าวเท่าที่ทหารออก ขาดการตรวจสอบผลกระทบต่อประชาชน เป็นการรับใช้เผด็จการโดยปริยาย ช่วงนี้จึงเป็น "น้ำลดตอผุด" คนที่ถูกกดขี่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพ มีการเปิดเผยเปิดโปงเหตุการณ์ลึกลับ อุ้มฆ่าต่างๆ สามปีต่อมา ยุค 6 ตุลา 19 กลุ่มขวาตกขอบที่เสียอำนาจขณะนั้นสร้างสถานการณ์ขึ้น มีกลุ่มกระทิงแดง วิทยุยานเกราะจนเกิดขบวนการปฏิรูปการปกครองขึ้น เสรีภาพสื่อมืดมิดที่สุด ขณะนั้น สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เป็นครั้งแรกที่ นสพ.ถูกปิดหมด ต้องไปรายการตัวในกองบัญชาการทหาร เพื่อจะได้เปิดรายฉบับ โดยมีเงื่อนไขให้นักข่าวบางคนออก หลายฉบับถูกปิดตาย บ้างถูกถ่วงไม่ให้เปิด ขณะเดียวกัน มีการใช้วิธีที่โหดเหี้ยมกับนักศึกษา ประชาชน สื่อ ทำให้มีคนจำนวนมากหนีเข้าป่า ช่วง พ.ค. 35 สุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ มีม็อบมือถือ มีการต่อสู้บนถนนราชดำเนิน นสพ. กับ วิทยุโทรทัศน์ที่คุมโดยรัฐบาล ออกข่าวคนละเรื่อง ประชาชนเกิดความสับสน สมาคมนักข่าวฯ ถูกสอบถามเข้ามาว่าทำไมออกข่าวคนละด้าน วิทยุที่รัฐบาลครอบครองถูกวิจารณ์อย่างมาก หลังจากนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำข่าว มีข่าวออกตามวิทยุโทรทัศน์แทบทุกต้นชั่วโมง เพราะความต้องการของประชาชน เป็นการปฏิวัติการออกข่าวยุคหนึ่ง มายุคนี้ เกิดความแตกแยกของสื่อ ไม่เห็นอิทธิพลทหาร แต่เห็นอิทธิพลของทุนสามานย์ในวงการสื่อ ซึ่งที่ผ่านมา มีความคิดรับใช้ประชาชนตรงกัน แต่วันนี้แยกเป็นสองส่วน ยืนคนละข้าง บ้างเสนออย่างโจ่งแจ้ง บางฉบับมีทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชาชนสับสนมาก นี่เป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นทางออก หวังว่าพลังของประชาชนที่สั่งสมมาแบบเดียวกับ 14 ตุลา ซึ่งตอนนี้เริ่มมีเครือข่ายประชาชนที่ลุกขึ้นรักษาสิทธิในแต่ละท้องที่ ประชาชนที่แสดงความไม่พอใจผ่านการชุมนุม ที่ลุกขึ้นมาทีละหย่อม แต่ยังไม่ประสานงานกัน ถ้ามีเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นร่วม คิดว่าเวลานั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ
สำเริง คำพะอุ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทุกวันนี้ นสพ.ไม่ได้ถูกปิด แต่เลือกเองได้ ว่าจะมีเสรีภาพ เป็นเสรีชน หรือเป็นทาส ทั้งนี้ เสรีภาพของ นสพ. ขึ้นอยู่กับ หนึ่ง นโยบายของเจ้าของว่าจะมีทิศทางอย่างไร สอง คนทำหนังสือ รับนโยบายนั้นได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ ก็เดินออก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ นสพ.ทุกวันนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์บ้าง ไม่ก็เจ้าของร่ำรวยเกินไป เมื่อมีคนลาออกก็จ้างใหม่ได้ มีคนให้เลือก เสรีภาพที่จะอยู่ที่เราจึงไม่มี ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนเดินมาจากแม่วงศ์ สื่อหลักไม่เสนอข่าว หรือเสนอเพียง 3-5 นาที แต่กลับเสนอเรื่องพรรคประชาธิปัตย์จะแตกกัน นสพ.เปลี่ยนไป จากที่ควรตรวจสอบรัฐบาล ดันไปตรวจสอบฝ่ายค้าน นสพ.เคยทนไม่ได้กับการกลับคำว่าจะไม่เป็นนายกฯ ของสุจินดา คราประยูร แต่ทนได้กับคนที่บอกจะไม่มายุ่งกับการนิรโทษกรรม ทนได้กับการที่รัฐรับจำนำข้าวขาดทุนปีละหลายแสนล้าน ทนได้กับการเป็นหนี้จากการกู้เงินสองล้านล้านบาทเพื่อลงทุนด้านคมนาคม ซ้ำ นสพ.ยังบอกว่ากู้เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เพื่อความมั่งคั่ง นสพ.พร้อมจะเสนอข่าวว่าปี 53 ทหารฆ่าประชาชน แต่ละเลยจะพูดถึงคนที่ฆ่าคนสองพันคนในนโยบายปราบปรามยาเสพติด เหตุการณ์กรือเซะ ไม่เคยพูดถึง ตั้งคำถามต่อ นัก นสพ.ว่า เป็นนัก นสพ. เพื่อรับใช้ตัวเองหรือนายทุนที่ขลาดเขลาและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
ย้ำหน้าที่สื่อ ทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งนี้ สื่อในไทยหลังปฏิวัติ 16 ก.ย. 2500 เสรีภาพของ นสพ.ถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ฉบับที่เชียร์รัฐบาลยังอยู่ได้ เสรีภาพสื่ออื่นๆ ก็ไม่มี เพราะมีเพียงทีวีวิทยุของทหารกับกรมประชาสัมพันธ์ นสพ.ส่วนใหญ่ที่ออกได้ ต้องเอาตัวรอด เสนอแต่ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง หลีกเลี่ยงทำตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม มีคนที่ทำลุกขึ้นมาทำคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ทำสื่อเป็นอาชีพ หรือ อาจเป็น นสพ.เล็กๆ โดยยกตัวอย่างการนำเสนอซึ่งจุดประเด็น 14 ตุลา ขึ้นอย่างการลงข่าวเรื่องทุ่งใหญ่ฯ ของนสพ.ประชาธิปไตย ย้ำว่าเสรีภาพเกิดจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่พยายามทำความจริงให้ปรากฏนี้ ไม่ใช่สื่อหลัก วิจารณ์สื่อปัจจุบันว่า เดี๋ยวนี้แค่เขียนข่าวให้ครบถ้วนตามหลักการเขียนข่าวว่า "ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่" ยังไม่ครบ แล้วจะไปพูดถึง "ทำไม และอย่างไร" ได้อย่างไร เสรีภาพสื่อไทยขณะนี้มีจนเลอะเทอะ ทำได้ทุกอย่างจะสัมภาษณ์ใครเอาขาวเป็นดำ ดำเป็นขาวก็ได้ เป็นคอลัมนิสต์เปเปอร์ ไม่ใช่นิวส์เปเปอร์ เสนอว่าสื่อต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนทั่วไปโดยส่วนรวม เพราะเสรีภาพของสื่อมีมากอยู่แล้ว ปัจจุบัน เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ก็สามารถนำเสนอข่าว สร้างวาระข่าวได้ ในสื่อทุกประเภทและทุกสถานที่ ตั้งคำถามต่อว่า เวลาบอกว่าจะพิทักษ์เสรีภาพสื่อ นั่นคือเสรีภาพของอะไรและของใคร
หวังสื่อทำหน้าที่ของตัวเองเข้มข้นขึ้น ช่วยประชาธิปไตยเดินหน้า สื่อมวลชนยุคนั้นการต่อสู้โดดเดี่ยวมาก ไม่มีแฟนเพจเชียร์เหมือนปัจจุบัน องค์กรสื่ออยู่ในมุมมืด เป็นการต่อสู้ที่คนในสังคมไม่ค่อยรับรู้ คนทำสื่อจึงไม่ได้ต้องการผลตอบแทนหรือความดังแบบในยุคนี้ แต่ทำด้วยหวังให้สังคมดีขึ้น ยุค 14 ตุลา เป็นยุคเปิดเสรีสื่อแต่ก็สั้นมาก ขณะที่ 6 ตุลา สมัคร สุนทรเวช เรียกหนังสือพิมพ์มาพบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องบันทึกเอาไว้ เพราะไม่มีภาพแบบนี้อีกแล้ว ตอนนั้นสื่อต้องรับเงื่อนไขว่าเปิดทำการได้ แต่ต้องไม่มี บก. หรือคอลัมนิสต์ คนนั้นคนนี้ เพราะวิจารณ์รัฐบาล หรือเอียงซ้ายไป นี่เป็นเรื่องผิดหลักการ ประเด็นของการต่อสู้ของสื่อในยุคก่อนกับยุคหลังยังเหมือนเดิม เป็นเรื่องประชาธิปไตย การทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก แต่ความเข้มข้นเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อนกลับน้อยลง ทั้งที่สื่อมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีมากขึ้น ในประเด็นประชาธิปไตย ตั้งคำถามว่า สื่อได้เข้าไปตรวจสอบ สะท้อนความจริงมากน้อยแค่ไหน การตรวจสอบฝ่ายที่มีอำนาจได้ทำมากแค่ไหน เมื่อประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่หย่อนบัตรเลือกตั้ง โดยการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยได้ จะต้องรู้เท่าทัน ซึ่งจะทำได้ ก็ต่อเมื่อสื่อรู้หน้าที่ของตัวเองด้วย ทั้งนี้้ การรายงานข้อเท็จจริง ไม่ใช่รายงานสิ่งที่นายกฯ พูด แต่คือการตรวจสอบทุกส่วนของสังคม แทนประชาชน ต้องเจอกับแรงปะทะเสียดทาน ไม่พอใจ เพราะไม่ว่ารัฐบาลแบบไหน ไม่ว่าจากทหารหรือจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีใครอยากเห็นสื่อมีเสรีภาพจริง เขาอยากเห็นสื่อที่ผู้มีอำนาจกำกับได้ ตรงข้ามกับความต้องการของสื่อที่ต้องการความโปร่งใส การตรวจสอบได้ ที่ผ่านมา มีพยายามแทรกแซงสื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วจะมากขึ้น ในกลางปีหน้า เราจะมีทีวีดิจิตอลอีกหลายช่อง ถามว่าเสรีภาพโอกาสในการรายงานข้อมูลข่าวสารเต็มที่จะจริงแค่ไหน จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่มีการแทรกแซง พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมา มีผู้หยิบใช้ภาพความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างกลไกกำกับควบคุมสื่อที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย จุดหักเหอีกครั้งหนึ่งของสื่อมวลชนไทย คือ การที่คนไม่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน ไม่มีทีวีในห้องนอนของคนรุ่นใหม่ คนเลือกรับข้อมูลข่าวสาร ทำให้สื่อคำนึงถึงการเข้าถึงกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าสื่อสารมวลชน คำนึงถึงศิลปะในการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหลักการสื่อไม่ควรเปลี่ยน ในการควบคุมสื่อ นอกจากทุนแล้ว มี กสทช. ที่จะกำกับสื่อ โดยที่ผ่านมา มีความพยายามออกระเบียบกำกับเนื้อหาสาระของทีวีดิจิตอล ซึ่งลงรายละเอียดไปถึงความเป็นกลางของการรายงานข่าว รายงานสัมภาษณ์ต้องมีสองฝ่ายที่เห็นต่างกัน ออกรายการพร้อมกัน มีอำนาจลงโทษถึงขั้นถอนใบอนุญาต ถ้า กสทช. มาจากการสรรหาที่เป็นอิสระโปร่งใส ก็ยังพอเชื่อได้ แต่กังวลว่า ต่อไปเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็นผู้สรรหา กสทช.แล้ว ไม่แน่ใจว่า กสทช.จะอิสระแค่ไหน
เตือนสื่อหันมากำกับกันเอง ก่อน กสทช.เข้ามา การเดินรณรงค์หลายร้อยกิโลเมตรกรณีต้านเขื่อนแม่วงก์ ก็เพื่อชิงพื้นที่ในหน้า นสพ. จอทีวี เนื่องจากเรียกร้องในพื้นที่ไม่ได้เพราะสื่อไม่สนใจ จึงต้องการเรียกร้องในศูนย์กลางอย่าง กทม. เมื่อก่อน นักข่าวที่มีจรรยาบรรณ ลงบ้าง ตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ปิดปากด้วยงบรัฐใช่หรือไม่ ทำให้ไม่กล้าพูดเต็มปาก ทั้งยังช่วยสปอนเซอร์บิดข่าว ในอีกแบบตามที่เขาต้องการ เช่น วิกฤตธรรมชาติ เบนไปอีกจุด ไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน ในอนาคต ทีวีดิจิตอลก็เป็นเช่นนี้ เพราะเงิน งบ มีแรงค่อนข้างมากในการชี้ซ้ายหันขวาหัน ไม่เฉพาะสื่อไทยที่เครดิตตกต่ำ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ในอังกฤษ ความน่าเชื่อถือของนักข่าว ตกต่ำไล่เลี่ยกับนักการเมือง ประชาชนมองสื่อว่าไม่มีพลัง ไม่ใช่ตัวแทนปากเสียงเหมือนเก่า เมื่อก่อนประชาชนไม่มีทางเลือก บ่นกันเอง แต่ตอนนี้อยู่ในยุคใหม่ที่คนรุ่นใหม่ มีการสื่อสารอีกรูปแบบ มีโซเชียลมีเดีย มีการตรวจสอบการนำเสนอของสื่อมากขึ้น เมื่อมีข่าว "ตะกายสวรรค์" สื่อวิจารณ์กันรุนแรง เมื่อมีการนำเสนอข่าวผิด ในทีวี นสพ.พลังการตรวจสอบของภาคประชาชนเริ่มมี แม้ยังไม่เกาะเกี่ยวกันเป็นก้อน เป็นหน่ออ่อนที่รอการประทุ เมื่อสื่อไทยถูกอำนาจรัฐ หรืออำนาจอะไรที่ใหญ่กว่า เมื่อนั้น พอหันมา ประชาชนจะบอกว่าเสรีภาพสื่อไม่ใช่เสรีภาพประชาชน เพราะไม่เคยสนใจ สื่อจะโดดเดี่ยว ประชาชนจะบอกว่าคุณควรเข้าแถว สื่อควรมองตัวเองอย่างยอมรับความเป็นจริงให้มากขึ้น ควรตรวจสอบ ตั้งคำถามกับตัวเองให้มาก ที่ผ่านมา สื่อบอกว่า หน่วยงานรัฐไม่ควรยุ่งเพราะดูแลกันเองได้ แต่เราก็รู้ความจริงว่าองค์กรต่างๆ เป็นเสือกระดาษ เมื่อไม่พอใจ ก็ลาออก แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมา ต้องง้อ ให้กลับมาเป็นปึกแผ่น ถามว่าเมื่อไม่สามารถมีพลังดูแลกันเองได้ จะให้ใครมาดูแล พลังที่จะสนับสนุนให้ดูแลคือพลังของภาคประชาชนให้มาตรวจสอบให้มากขึ้น ขณะที่สื่อแต่ละองค์กรควรตรวจสอบตัวเองก่อนถึงสภาวิชาชีพ คือมีผู้ตรวจสอบภายในองค์กรโดยเชิญคนที่เป็นกลางมาวิจารณ์การทำงาน ไม่เช่นนั้น หากวันหนึ่ง กสทช. จะเล่นงานสื่อด้วยมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ จะไม่มีใครสนใจสื่อ ประชาชนอาจจะบอกให้จัดแถวบ้างก็ดี แล้วจะรู้สึก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปาฐกถา 40 ปี 14 ตุลาโดย จาตุรนต์ ฉายแสง: อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย Posted: 12 Oct 2013 11:15 PM PDT ปาฐกถาโดยจาตุรนต์ ฉายแสง เนื่องในวาระ 40 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย" ชี้จุดร่วมกับตอนนี้กับ 14 ตุลา คือความพยายามเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำต้องแก้ไขรธน. เพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 13 ต.ค. 56 คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ร่วมกับมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย สมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 2516 ได้จัดงานฉลองในวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยเมื่อเวลา 10.30 หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการกล่าวปาฐกถาของจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในหัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคตประชาธิปไตยไทย" 0000
ก่อนถึงสิบสี่ตุลา จะขอพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อย่างย่อๆ จากการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 มีความพยายามสร้างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นตัวกำหนดให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน ด้วยอุดมการณ์ที่ให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร แต่หลังจากการเปลี่ยนการปกครอง ก็ต้องเผชิญกับการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ประกอบกับความขัดแย้งภายในคณะราษฎร ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการรัฐประหารจากฝ่ายกองทัพ ที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ภายใต้การสนับสนุนของมหาอำนาจและนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จตั้งแต่นั้นมา ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจทั้งสามเสา นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวบอยู่ที่คนคนเดียว มีการใช้มาตรา 17 ที่ให้อำนาจการประหารชีวิตคนด้วยการออกคำสั่งของคนคนเดียว ต่อมาเมื่อปี 2512 มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลอยู่ได้สั้นๆ ก็มีการรัฐประหารตนเองโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ในช่วงนั้นยังคงมีการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ มีปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง มีการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในหมู่ผู้ปกครองประเทศ เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่สามารถให้ประชาชนเสนอการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้นำไปสูการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องความถูกต้อง มีการเผยแพร่ความคิดกระแสประชาธิปไตยแบบตะวันตกในหมู่แกนนำนักศึกษา ที่เป็นผู้นำเอาเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การต่อต้านสงครามในต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสังคมไทยตกอยู่ในภาวะที่อยู่แบบชะงักงัน มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิบปี แม้จะมีการเลือกตั้งสั้นๆ แต่ก็อยู่ได้เพียงสั้นๆ จึงนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในช่วงนั้นมีคำขวัญที่เป็นที่ติดตรึงมาอย่างยาวนาน คือ "เราต้องการรัฐธรรมนูญ" อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญกลับถูกจับกุมในข้อหากบฏ กลายป็น "สิบสามกบฎ" ทำให้นักศึกษาประชาชนหลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นไปอีก เกิดเป็นเหตุการณ์สิบสี่ตุลา เหตุการณ์สิบสี่ตุลา ที่ในท้ายที่สุดสามารถขับไล่สามทรราชย์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์-ถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร) ออกไปนั้น คือการไม่พอใจการบริหารประเทศที่ล้มเหลวทางการเมืองเศรษฐกิจและการคอรํรัปชั่น จึงเกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คือการไม่ยอมให้อำนาจอยู่ในผู้บริหารเพียงไม่กี่หยิบมือ โดยสิ่งที่สำคัญในเหตุการณ์สิบสี่ตุลาคืออำนาจของประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่มารวมตัวกัน และความต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จากเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็มีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ซึ่งต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2519 เป็นการทำลายกำแพงที่ขวางกั้นประชาธิปไตย อำนาจทางเศรษฐกิจที่อยู่ในคนไม่กี่หยิบมือถูกทำลายไป เสรีภาพที่เพิ่มขึ้นมาทำให้เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย และการเรียนรู้ของประชาชนในเรื่องต่างๆ แต่สุดท้ายก็เกิดการตีกลับของฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเกิดการรัฐประหารปี 2519 และมีการปราบปรามประชาชน นำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ในระหว่างนั้นก็มีวิวัฒนาการของการต่อสู้ของประชาชนครั้งใหญ่ ที่มีการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธในพื้นที่ป่าเขา ทำให้ผู้ปกครองสรุปบทเรียนว่าต้องมีระบอบรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการยึดอำนาจสลับกันบ้าง อย่างเหตุการณ์การยึดอำนาจของรสช.ในปี 2534 สำหรับในช่วงนั้น ประสบการณ์ของผู้คนจากเหตุการณ์ 14 ตุลามีบทบาทในระหว่างนั้นมากพอสมควร เนื่องจากคนที่เคยต่อสู้ช่วง 14 ตุลารู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้เกิดการยึดอำนาจและปกครองโดยทหารอีก ฉะนั้นจึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทำให้ระอบบรัฐสภาพํฒนาไปบ้างหลังปี 2535 เกิดสภาปฏิรูปการเมือง มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้น เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 คือให้มีระบอบพรรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งโดยประชาชนและองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ก็เกิดความพยายามล้มรัฐบาลและประชาธิปไตยในการรัฐประหารปี 2519 ลักษณะการเมืองที่พิเศษก่อนปี 2549 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่สำคัญ อย่างแรก คือเกิดการย้ายข้าง เปลี่ยนข้างของปัญญาชนและพลังประชาธิปไตยบางส่วนที่ถือว่าตนเองเคยเป็นประชาธิปไตย ที่พูดว่าย้ายข้าง เพราะปัญญาชนไทยเคยมีบทบาทที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่มีจำนวนหนึ่งไม่สนับสนุนประชาธิปไตยอีกต่อไป กลับไปสนับสนุนการปกครองที่ถอยหลังเข้าคลอง เช่น คำพูดที่ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐบาลไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม ซึ่งนำไปสู่การเชิญชวนให้เกิดการรัฐประหาร ผู้ที่เข้าร่วมกับการเสนอข้อเสนอเหล่านี้ มีพลังบางส่วนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน แต่ท้ายที่สุดกลับนำไปสู่การรัฐประหาร สอง รัฐประหารปี 2549 ใช้ผู้นำกองทัพยึดอำนาจ แต่ผู้นำกองทัพพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีอำนาจจริง และไม่มีได้มีโอกาสใช้อำนาจใดซักเท่าไหร่ ซึ่งอันนี้อาจเกี่ยวกับการอธิบายคำนิยามของอำมาตย์ ขอให้นึกถึงว่า เมื่อก่อนสมัยสฤษดิ์ยึดอำนาจ เขามีอำนาจมาก ยึดได้แล้วเป็นแบบเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจมาตราสิบเจ็ด เมื่อมองดูรอบข้างก็แทบไม่มีใครที่มีอำนาจมากเท่านี้แล้ว แต่เมื่อพลเอกสนธิ บุญรัตกลินยึดอำนาจ คนรอบข้างก็ยังมีอำนาจ เหนือพลเอกสนธิก็ยังมีคนที่มีอำนาจอีกเต็มไปหมด สนธิถือว่าเล็กนิดเดียว นี่คือความหมายของอำมาตย์ สาม ได้เกิดการใช้สิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์เข้ามาจัดการกับการเมือง ที่จริงแล้วใช้คำว่า "ภิวัฒน์" น่าจะหมายถึงการทำให้ดีขึ้นของการใช้อำนาจตุลาการ แต่ในความจริง ตุลาการภิวัฒน์ เป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงครอบงำทางการเมือง การใช้กองทัพเป็นเครื่องมือนั้นใช้สำหรับยึดอำนาจ แต่ไม่ได้ใช้มาปกครอง สิ่งที่ถูกใช้ปกครองแทนคือตุลาการภิวัฒน์ สิ่งนี้ถูกเสนอโดยพวกปัญญาชนย้ายข้างตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว ต่อมาตุลาการภิวัฒน์กลายเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร คือตุลาการมีอำนาจเหนืออำนาจอื่นๆ สิ่งที่ปัญญาย้ายข้างเสนอ คือว่า ให้ตุลาการมาจัดการการเมืองเพราะการเมืองจัดการกันเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องให้ตุลาการ ซึ่งในหลายประเทศอำนาจตุลาการเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพองประชาชนเพราะมีความเป็นกลาง แต่สิ่งที่ผิดพลาด คือ ตุลาการของไทยไม่เคยมีประวัติในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ตุลาการในหลายประเทศ ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการเข้ามาจัดการทางการเมืองไม่น้อย แต่สิ่งที่เขาแตกต่างจากของไทย คือ ระบบตุลาการหลายประเทศ เขามีอำนาจยึดโยงกับประชาชนทางใดทางหนึ่ง แต่ตุลาการไทยไม่มีการยึดโยงเลย มันจึงกลายเป็นการเอาตุลาการเข้ามาทำในสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้การเมืองดีขึ้น แต่กลับสร้างปัญหาให้การเมืองในประเทศไทย ความจริงตนก็ทราบว่า มีคนในระบบตุลาการหลายส่วนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะเมื่อเอาตุลาการเข้ามาจัดการการเมืองและเลยเถิดดังที่เป็นอยู่ มันนำไปสู่ความเสื่อมเสียของตุลาการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เราเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญที่สลับกับการยึดอำนาจโดยทหารซึ่งมีธรรมนูญการปกครอง แต่อย่างน้อยพวกที่ยึดอำนาจเป็นฝ่ายเผด็จการ ยังเรียกว่าเป็นเพียงธรรมนูญการปกครอง เพราะมาจากการยึดอำนาจ แต่หลังรัฐประหารปี 2549 มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาโดยไม่มีความชอบธรรมแต่กลับเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ กระบวนการตั้งคนร่างขึ้นมาก็ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ข้อที่สี่ คือการใช้รัฐธรรมนูญ และออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างแยบยลซับซ้อน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ได้มุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เพื่อให้มีหลักประกันชัดเจนว่าประชาชนจะต้องไม่มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของประเทศ ฉะนั้นข้อความที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากเขาเขียนในหลายๆ หมวดและมาตราที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย แต่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนจริงๆ ห้า หลังรัฐประหารปี 2549 มีลักษณะพิเศษ คือไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด ระหว่างฝ่ายที่อยากเป็นประชาธิปไตย และไม่อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ยังมีลักษณะชักเย่อกันอยู่ อย่างสมัยสฤษดิ์ เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ก็เกือบจะกุมอำนาจได้ราบคาบและปกครองนานเป็นสิบปี แต่เมื่อสมัยรสช.ยึดอำนาจในปี 2534 อยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐประหารปี 2549 เมื่อรัฐประหารแล้ว กลับไม่เบ็ดเสร็จไปทางใดทางหนึ่ง จะเป็นเผด็จการเด็ดขาดทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ แต่จะเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วอย่างเต็มที่ก็ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ แม้มีกระแสที่ผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นไม่ได้จริงๆ เพราะยังมีพลังที่ยังเหนี่ยวรั้งประเทศไม่ให้เปนประชาธิปไตยอยู่อย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะทำลายพรรคก็แล้ว จัดองค์กรจัดการเลือกตั้งขึ้นเองก็แล้ว มีแผนบันไดสี่ขั้นก็แล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อเลือกตั้งแล้ว คนก็บอกไม่สนับสนุนพรรคที่เอาเผด็จการ นี่เป็นผลจากการพัฒนาทางการเมืองและประชาธิปไตย ตลอดหลายปีมานี้ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งปี 2544 คือการการพัฒนาและเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง คือประชาชนรู้ว่าต้องแข่งขันจากนโยบาย พรรคการเมือง ซึ่งมีผลต่อชีวิตประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างปี 2518 เคยมีนโยบายเงินผัน นั่นก็ติดปากประชาชนเรื่อยมาก แต่ปี 2544 2548 กระบวนการที่ประชาชนเลือกพรรค พรรคต้องนำเสนอนโยบาย ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า การเลือกพรรคการเมืองมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยกินได้ เวลาเลือกตั้ง ประชาชนจึงยังให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีความก้าวหน้า แต่หลังปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พัฒนาความแตกต่างของพรรคการเมือง ก็ยังเป็นการแข่งขันเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศ เรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเส้นแบ่งเรื่องการสนับสนุนประชาธิปไตยอีกด้วย ว่าพรรคไหนสนับสนุนประชาธิปไตย หรือไม่สนับสนุน เพราะจากสิบสี่ตุลามา คนรุ่นหลังๆ มาสรุปได้เหมือนกันว่า พลังประชาธิปไตย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที ความเสี่ยงในการย้อนไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นปัญหาคู่กันอยู่ตลอดการเมืองไทย ฉะนั้น การที่พรรคสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญอย่างมากจนถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2549 ถูกเขียนไว้เพื่อกำหนดว่าอำนาจต้องไม่อยู่ที่ประชาชน ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดอนาคตประเทศ แต่ล้มไม่ได้เพราะประชาชนยังไม่เห็นด้วย แต่กลไกในรัฐธรรมนูญ ยังสามารถชี้เป็นตายรัฐบาลได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ในขณะที่การเมืองยังอยู่ในภาวะชักเย่อ ฝ่ายที่ต้องการดึงกลับสภาวะประชาธิปไตย ก็ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรนูญ และใช้กลไกลตุลาการภิวัฒน์ ขัดขวางการใช้อำนาจรัฐสภา เช่นการตีความรัฐธรรมนูญตามใจชอบ มีการตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญ คือเรามีศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งตัวเป็นรัฐธรรมนูญเสียเองและอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วย สำหรับอนาคตของประชาธิปไตยไทย คิดว่ามีจุดร่วมอย่างมากกับการเคลื่อนไหว 14 ตุลาที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ถ้าจะให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ เราต้องรีบแก้มาตรา 190 แม้ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยเสียเท่าไหร่ แต่การบริหารประเทศไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐสภาซึ่งมาจากฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย และขั้นตอนต่อไปคือการแก้มาตรา 68 เพื่อปิดช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการแก้รัฐธรรมนูญ และเพื่อแก้มาตรา 291 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ต้องให้อำนาจอธิปไตยทั้งสามเป็นอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนเป็นผู้กำหนด ระบอบประชาธิปไตย เขามีความหมายว่าต้องมีหลักความยุติธรรมอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แต่ไทยพึ่งมาพูดเรื่องนี้กันหลังๆ เนื่องจากมีปัญหาจากการที่ตุลาการเข้ามาแทรกแซงระบบยุติธรรม รัฐธรรมนูญที่จะเป็นประชาธิปไตย จะมีองค์กรต่างๆ ช่วยตรวจสอบก็ได้ แต่ต้องไม่มีองค์กรใดๆ ที่ใช้อำนาจโดยไม่ยึดโยงจากประชาชน สามารถอิสระจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่จะอิสระจากสมบูรณ์จากประชาชนไม่ได้ อำนาจอธิปไตยสามอำนาจทั่วโลกเป็นแบบนี้ ไทยจึงไม่ควรมีอำนาจอธิปไตยที่สี่อย่างที่เป็นอยู่ องค์กรอิสระเป็นองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจอธิปไตยสามด้านอยู่ในองค์กรเดียว อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นต้น ประชาธิปไตยที่ดี ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี เช่นเรื่องคอร์รัปชั่น แต่คอร์รัปชั่นมีมาตลอด ปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีระบบการตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่ดีได้อย่างไร จะต้องโปร่งใส กลการตรวจสอบก็ต้องตรวจสอบได้จากประชาชนไม่ใช่ตรวจสอบได้ตามอำเภอใจ ทุกวันนี้เรามีองค์กรปปช. ซึ่งเป็นผลจากการยึดอำนาจ ที่มาก็ไม่ยึดโยงจากประชาชน เราตรวจสอบปชช. ไม่ได้ เขาเลือกเรื่องใดมาตรวจสอบก่อนหลัง ปัญหาระบบตรวจสอบไทยตอนนี้ อาจเทียบได้กับสมัยสิบสี่ตุลา คือมีความพยายามตั้งองค์กรตรวจสอบที่อิสระจากราชการ ตอนนั้นเรียกว่า กตป. ซึ่งตรวจสอบตามอำเภอใจ อยากตรวจใครก็ตรวจไม่ตรวจใครก็ไม่ตรวจ เมื่อมีการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์สิบสี่ตุลา เกิดการเผา ตึกแรกที่ประชาชนเผาคือกตป. เพราะกลไกการตรวจสอบที่ไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน คนจึงรู้สึกว่านี่เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ฉะนั้น เพื่อจะเป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้รัฐสภาเข้มข็ง ให้ออกกฎหมายได้ดีกว่านี้ แต่โดยรัฐธรรมนูญปัจจุบันมันไปบั่นทอนอำนาจรัฐสภา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้นิติบัญญัติพัฒนาตัวเอง ระบบพรรคการเมืองต้องเข้มแข็งขึ้น ต้องเรียกร้องต่อกันว่าต้องพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้น ที่สำคัญมาก คือ พลังของประชาชนและพลังประชาธิปไตย เรายังคงต้องสร้างพลังประชาชนพลังประชาธิปไตยต่อไปให้เข้มแข็ง พลังประชาชนในช่วงนี้มีความเข้มแข็ง เข้าใจปัญหาการเมืองมาก และเป็นพลังสำคัญในการคานอำนาจฝ่ายต่างๆ และผลักดันบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย พลังประชาชนมีความสำคัญ ต่อให้เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็สำคัญในการประคับประคองประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป ประเทศไทยต้องไม่โดดเดี่ยว เราอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่ถูกดึงให้ถอยหลังไปอีก การที่ประเทศไทยเปิดตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันและความร่วมมือเพื่อประชาธิปไตย ฉะนั้นหากผลักดันให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงของโลก จะสามารถฉุดลากอะไรที่เหนี่ยวรั้งอยู่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าที่เป็นประชาธิปไตย จุดร่วมของตอนนี้กับเหตุการณ์สิบสี่ตุลา คือการไปให้พ้นจากเผด็จการ เมื่อถึงจุดที่ประชาชนไทยสะสมความรู้ ความเข้มแข็ง ที่ร่วมมือกัน ก็จะสามารถก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
"ขอพระราชทานอภัยโทษ" ช่องว่างบนเส้นทางแห่งความไม่สำนึก Posted: 12 Oct 2013 04:53 PM PDT *iLaw บอกว่า.....
iLaw บอกว่า.....
แต่ในความเป็นจริงนั้น นักโทษในทุกคดี ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน เจตนารมณ์ของการพระราชทานอภัยโทษนั้น คือพระราชอำนาจตามจารีตที่กษัตริย์ทรงมี และเป็นไปเพื่อให้นักโทษที่กระทำผิดได้ "สำนึกและกลับตัว" ออกไปทำประโยชน์แก่สังคม แต่ไม่ใช่การเอา พระราชอำนาจตามจารีต มาเป็นเครื่องมือ และช่องทางในการ "ออกคุกให้เร็วขึ้น" กว่านักโทษคดีอื่น
แต่ในความเป็นจริงนั้น การพิจารณาพิพากษาในคดีอาญาทุกคดี ศาลจะพิจารณาชั่งน้ำหนัก และให้ความสำคัญพยานหลักฐานตามลำดับ กล่าวคือศาลให้ความสำคัญ "พยานชั้นหนึ่ง" เป็นลำดับแรก (เช่น DNA / ภาพจากกล้องวงจรปิด / หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น) ต่อมาพยานที่ศาลให้ความสำคัญรองลงมาคือ "พยานชั้นสอง" (พยานอื่น ๆ ที่นำสืบแทนพยานชั้นหนึ่ง เช่น สำเนาเอกสาร) และลำดับสุดท้ายคือ "พยานแวดล้อม" (Circumstantial evidence) "การรับสารภาพ ตัดตอนการค้นหาความจริง" กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีอาญาเอาไว้อย่างละเอียด ไล่เรียงตั้งแต่สิทธิขั้นต้นในกระบวนการของจำเลย ขณะโดนตำรวจจับกุม ไปจนถึงสิทธิขั้นปลายกระบวนการ อย่างการที่ศาลมีอำนาจอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย จำเลยจะสู้คดี หรือจะยอมรับว่ากระทำผิดจริง ไม่มีผู้ใดขู่เข็ญบังคับตัวจำเลย เมื่อจำเลยเลือกที่จะยอมรับว่าทำผิดจริง กฎหมายก็ต้องบอกว่าจำเลยรับสารภาพ ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิพิจารณาพิพากษาเป็นอื่นไปได้
ความเชื่อของจำเลย ไม่สามารถเอามาเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายได้ เพราะความเชื่อคือจินตนาการ และจินตนาการของแต่ละคนมีมากน้อย ฟุ้งซ่านและสงบ ไม่เท่ากัน เมื่อจำเลยมั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ จำเลยต้องพิสูจน์ตัวเอง "ในแบบที่จำเลยคดีอาญาอื่นทำ" หากศาลพิจารณาพิพากษาด้วยความเชื่อและจินตนาการในแบบที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยไม่มีวิธีพิจารณาที่ชัดเจน จำเลยคิดว่าจินตนาการและความฟุ้งซ่านดังกล่าว สามารถเอามาเป็นหลักในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ ดังนั้นการอ้างความเชื่อและจินตนาการของตัวเองให้เป็นหลักในการสู้คดีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
คดีนายอำพลฯ ศาลยิ่งพิจารณาพิพากษาถึงเหตุผลในการลงโทษไว้อย่างชัดเจน ถึงพยานหลักฐาน "ทั้งพยานชั้นหนึ่ง" (Cell site แสดงพื้นที่ใช้โทรศัพท์ขณะกระทำความผิด / หมายเลข Imei / รายการรับส่ง SMS จากเครือข่ายโทรศัพท์ ที่พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องหนักแน่นโดยที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน) "พยานแวดล้อม" (คำรับของบุตรสาวจำเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่อง) "พิรุธในคำให้การจำเลย" (ให้การต่อศาลว่านำโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้านฯ แต่ไม่สามารถจำร้านได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นโรคความจำเสื่อม / การแสดงหลักฐานว่าเลข Imei สามารถปลอมแปลงได้ โดยที่เพียงแต่ Print out มาจากอินเทอร์เน็ต และไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญรับรองความถูกต้อง)
จำเลยมีสิทธิเลือก ว่าจะสู้ หรือจะถอย ไม่มีใครสามารถบังคับจำเลยได้ ระบบศาลยุติธรรมของไทยมีทั้งหมด 3 ศาล ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา อรรถคดีต่าง ๆ ล้วนได้รับการแก้ไขโทษ กลับคำพิพากษาศาลล่างโดยศาลสูง มาแล้วนับหมื่นคดี ศาลชั้นต้นอาจพิพากษาว่าจำเลยผิดจริง แต่ศาลฎีกาอาจจะไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาต่างเป็นผู้พิพากษาที่มีความช่ำชองในข้อกฎหมาย และสามารถมองเห็นความผิดพลาดบกพร่องของศาลล่างได้เสมอ เมื่อกติกาบอกไว้ และต่างคนต่างถือปฎิบัติมาโดยตลอด คดี 112 เป็นเพียงแค่มาตราหนึ่งในกฎหมายอาญาเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษไปมากกว่าคดีอื่น
ในส่วนนี้นั้น เราต้องแยกประเด็นพิจารณาในเรื่องของ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐบาลโดยการออกเป็นกฎหมายเรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ" และการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายนั้น ผู้ต้องโทษ ผู้มีส่วนได้เสีย (บิดา มารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยรัฐในตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอเรื่องไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 259-261)
หากคนทำผิดไม่ได้รับการรับโทษ รอคอยแต่รับสารภาพเพื่อใช้ช่องกฎหมาย ออกมาทำผิดซ้ำ และไม่รู้สึกสำนึกในความผิดที่ตัวเองได้ก่อลงไป ประเทศนี้จะอยู่กันอย่างไร "เราต้องการอยู่กันด้วยหลักกฎหมาย หรืออยู่กันด้วยจินตนาการและความฟุ้งซ่านไร้สติ"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น