โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เอ็นจีโอ คาด อิตัลไทย เตรียมขายเงินลงทุนเหมืองโปแตชอุดรฯ ให้ทุนจีน

Posted: 03 Jul 2013 12:50 PM PDT

อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  คาด อิตัลไทย เตรียมขายเงินลงทุนในเหมืองโปแตซ ส่งผลมูลค่าหุ้น คาดทุนจีนเข้าซื้อ โดยยังผลักดันโครงการต่อ แม้ชาวบ้านในพื้นที่ลุกขึ้นมาค้านเป็นจำนวนมาก

หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวหุ้นธุรกิจ รายงานว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เตรียมที่จะขายหุ้นในบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเงินกองทุนในการขยายธุรกิจ การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่จะหนุนให้อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างเข้าสู่วงจรขาขึ้นรอบใหญ่ที่สุด  โดยคาดว่าจะเห็นการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ (จะนำเข้าสู่ ครม เพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในเดือน ส.ค. นี้) ซึ่งจะทำให้เกิดการประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และถนนมอเตอร์เวย์ รวมไปถึง พ.ร.บ บริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ที่กลุ่มอิตัลไทย ได้รับส่วนแบ่งจากการชนะประมูลเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ในรายงานข่าวยังระบุด้วยว่า อิตัลไทยเตรียมขายเงินลงทุนในหมืองโปแตซ  โดยมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกในการประเมินมูลค่าเหมืองโปแตซ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว จากมูลค่าเงินลงทุนที่ 3,000 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 56 เวลา 16.00 น. นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าว่าอิตัลไทย ต้องมีการขายหุ้นเหมืองโปแตชอุดรฯ อย่างแน่นอน เพื่อนำเงินไปลงทุนและขยายกิจการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวออกมาหลายรอบ ตั้งแต่การรวบรวมเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจะไปลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในประเทศพม่า และด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล ล่าสุดกลุ่มอิตัลไทย ก็ได้รับส่วนแบ่งจากการชนะประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการรับเหมาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน จากพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยังกล่าวด้วยว่ามีการวิเคราะห์ และพูดกันมาเป็นปีแล้วว่าอิตัลไทยจะขายหุ้นโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าหุ้น ทั้งๆ ที่เหมืองยังไม่ขุด นอกจากนี้ก็เป็นที่น่าจับตาว่าทุนที่จะเข้ามาซื้อก็คือทุนจากจีน ที่กำลังรุกเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอย่างหนักในภาคอีสาน

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประทานบัตรกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่ลุกขึ้นมาค้านเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทฯ ผู้ประกอบการก็ยังเดินหน้าผลักดันโครงการต่อ

"สถานะปัจจุบันอยู่ที่บริษัทเอพีพีซี ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานอีไอเอ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสผ.แล้ว โดยที่มีการคัดค้านจากชาวบ้านว่ากระบวนการไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วม แต่บริษัทก็ไม่สน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านก็ยื่นคัดค้านไปที่ สผ.ด้วย" นายสุวิทย์ กล่าว

นางมณี  บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ว่า ตั้งแต่มีข่าวว่าอิตัลไทยจะขายหุ้นเหมืองโปแตชอุดรฯ ก็มีแหล่งข่าวภายในอุตสาหกรรมจังหวัดมาบอกกับตนว่า ปัจจุบันนี้มีความขัดแย้งกันภายในบริษัทเอพีพีซี ถึงกับส่งผลให้ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ต้องลาออก และการศึกษาดูงานเหมืองแร่โปแตชที่ประเทศลาว ของคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และผู้นำในพื้นที่ในวันที่ 11-12 ก.ค.นี้ ก็ถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพอียิปต์ประกาศหยุดใช้รธน.-ตั้งรบ.ชั่วคราว

Posted: 03 Jul 2013 12:40 PM PDT

หลังการชุมนุมของประชาชนชาวอียิปต์ ณ จตุรัสทาห์รีร์เรียกร้องให้ปธน.มอร์ซีลาออก กองทัพอียิปต์ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ล่าสุดประกาศยกเลิกการใช้รธน.ฉบับปัจจุบัน ตั้งรัฐบาลชั่วคราวและศาลเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่

เมื่อราว 21.00 น. ตามเวลาของอียิปต์ ได้มีการกล่าวแถลงการณ์จากผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของผู้ชุมนุมฝ่ายค้านที่จัตุรัสทาห์รีร์ มีการโบกธงชาติอียิปต์และมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง
 
พล.อ.อับเดล ฟาตาห์ อัลซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ และ รัฐมนตรีกลาโหม ได้อ่านประกาศผ่านทางโทรทัศน์ว่า "กองทัพเห็นว่าประชาชนชาวอียิปต์ได้เรียกร้องให้พวกเขาออกมาช่วยเหลือ ไม่ใช่การยึดอำนาจหรือขึ้นปกครอง แต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและปกป้องการปฏิวัติ ต่อจากนี้คือข้อความที่กองทัพได้รับมาจากทุกๆ ที่ในอียิปต์"
 
พล.อ.อับเดล ฟาตาห์ อัลซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ได้อ่านประกาศผ่านทางโทรทัศน์
 
ผู้นำกองทัพกล่าวอีกว่า "คำปราศรัยของประธานาธิบดีเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นการขัดต่อความต้องการและข้อเรียกร้องของประชาชน จึงจำเป็นที่กองทัพต้องขอคำปรึกษาจากบุคคลสำคัญของชาติด้านต่างๆ ทั้งการเมือง, ศาสนา และกลุ่มคนหนุ่มสาว รวมถึงคนที่เข้าร่วม ซึ่งเห็นพ้องกับโรดแม็ปในการสร้างสังคมอียิปต์ให้เข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น"
 
แถลงการณ์ระบุอีกว่า "โรดแม็ปดังกล่าวคือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นการชั่วคราว และให้มีรัฐบาลชั่วคราวขึ้นจนกว่าจะมีประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนใหม่ โดยจะมีการแต่งตั้งรัฐบาลผู้เชี่ยวชาญและศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่"
 
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายอิสลามนิยมได้ออกมาประท้วงการแทรกแซงของกองทัพอียิปต์
 
ทั้งนี้ กองทัพได้แต่งตั้งให้ อาดรี มานซูร์ ผู้พิพากษาของอียิปต์ผู้ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ และก่อนหน้านี้เขาได้รับแต่งตั้งโดยมอร์ซีให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.

หลังจากนั้นไม่นาน อะลีม แมคบูล ผู้สื่อข่าว BBC ในอียิปต์ก็บอกว่ามีการถอดช่องรายการโทรทัศน์ที่ "เอนเอียงไปทางอิสลาม" ออก


นับถอยหลังช่วงก่อน "รัฐประหาร"

ก่อนหน้าการรัฐประหารมีสื่อหลายแห่งรวมถึงในโซเชียลมีเดียได้กล่าวว่ามีวางกำลังทหารตามที่ต่างๆ ซึ่งทางทหารอ้างว่าเป็นไปเพื่อดูแลความสงบเรียกร้อย

บรรณาธิการข่าวตะวันออกกลางของ BBC รายงานว่า เมื่อช่วงเย็นตามเวลาของอียิปต์มีคนพบเห็นรถหุ้มเกราะบรรทุกทหารมุ่งไปยังมหาวิทยาลัยไคโร ที่มีการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่าย มีอย่างน้อย 16 คนที่เสียชีวิต และมีหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ แต่กองทัพก็ปล่อยทหารจำนวนไม่มากลงประจำการก่อนจะขับรถบรรทุกทหารออกไป ต่อมาไม่นานอดีตผู้สื่อข่าวของ The Guardian กล่าวว่าเขาพบเห็นกำลังทหารอยู่โดยรอบจัตุรัสทาร์รีย์ โดยมีรถถังจำนวนหนึ่ง และมีการยิงปืนขึ้นฟ้า

มีภาพจากทวิตเตอร์ ของคาริม ฟาฮิม แสดงให้เห็นกลุ่มสนับสนุนศาสนาอิสลามออกมาเผชิญหน้ากับรถถังของทหาร จนกระทั่งฝ่ายทหารยอมล่าถอยออกไป โดยเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าาพวกเขาแค่ต้องการมาคุ้มครองแต่กลับถูกขับไล่ โดยในช่วงที่พวกเขาล่าถอยมีผู้สนับสนุนมอร์ซีตะโกนว่า "มอร์ซีเป็นประธานาธิบดีของพวกเรา"

CNN กล่าวว่า กองทัพอียิปต์มีการวางกำลังรอบกรุงไคโร ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีบอกว่าทหารกำลังทำการรัฐประหาร

Ivan Watson ผู้สื่อข่าว CNN รายงานเมื่อช่วงเวลาราวสองทุ่มตามเวลาของอียิปต์ว่า มีการวางกำลังตำรวจหน่วยพิเศษใกล้กับมหาวิทยาลัยกรุงไคโร อยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งของกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนมอร์ซี โดยอ้างว่าเพื่อโอลความปลอดภัยเผื่อมีการใช้ความรุนแรงในช่วงที่เผยแพร่ "คำประกาศ"

สำนักข่าว อัล-อาราม ของทางการอียิปต์รายงานเมื่อคืนวันพุธว่า จะให้ผู้นำกลุ่มมุสลิม ผู้นำกลุ่มคริสเตียน และแกนนำฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลมอร์ซีเข้าร่วมกับผู้นำทหารในการวางแผนหาทางออกวิกฤติทางการเมืองร่วมกัน นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า "มอร์ซีไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอีกแล้ว"

ในเวลา 19.00 น. ตามเวลาของอียิปต์ อัล-อาราม ก็ประกาศว่า โมฮาเหม็ด มอร์ซี ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีออีกต่อไปแล้ว

ด้านสำนักข่าว MENA ของทางการอียิปต์รายงานว่า จะมีการตั้งโร้ดแมปทางการเมืองโดยสถาบันการศึกษาของอิสลาม มหาวิทยาลัย ชีค อัลชาร์ โดยให้กลุ่มพระนิกายคอปติกและแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โมฮาเหม็ด เอล-บาราดีย์ เข้าร่วมด้วย โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสององค์กรและเอล-บาราดีย์ ได้เข้าพบและพูดคุยกับผู้นำทหาร

โดยก่อนหน้าที่จะถึงเส้นตายไม่กี่ชั่วโมงมอร์ซีก็พยายามเสนอทางออกด้วยการให้มีการตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราว เพื่อจัดการกับการเลือกตั้งส.ส. ครั้งใหม่และมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และก่อนหน้านี้สำนักข่าว Euronews เปิดเผยว่า กำลังมีการ "รัฐประหาร" ในกรุงไคโร โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ประกาศห้ามปธน. และกลุ่มผู้นำอิสลามเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ทหารยังมีการล้อมรั้วลวดหนามและตั้งกำแพงรอบค่ายทหารที่มอร์ซีอาศัยอยู่

เรียบเรียงจาก

BBC Live Report

Egypt: military movements in Cairo amid rumours of a coup, Euronews, 03-07-2013

Morsy out of 'the decision-making circle', CNN, 03-07-2013

https://twitter.com/BowenBBC

https://twitter.com/IvanCNN

https://twitter.com/kfahim

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กษัตริย์เบลเยียมจะทรงสละราชบัลลังก์ 21 ก.ค.นี้

Posted: 03 Jul 2013 09:38 AM PDT

สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม จะทรงสละราชบัลลังก์ในวันที่ 21 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับวันชาติของเบลเยียม โดยเมื่อปลาย เม.ย.ที่ผ่านมา พระราชินีของเนเธอร์แลนด์ก็ทรงสละไปก่อนหน้าเช่นกัน

3 ก.ค.56 หนังสือพิมพ์รายวัน เลอ ซัวร์ และ สถานีโทรทัศน์อาร์ทีบีเอฟของเบลเยียม รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม จะทรงมีพระราชดำรัสเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่า พระองค์จะทรงสละราชสมบัติในวันที่ 21 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับวันชาติของเบลเยียม โดยจะทรงสละราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรส เจ้าชายฟิลิป

สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์มานาน 20 ปี และทรงมีพระชนมายุ 79 พรรษาแล้ว และยังทรงมีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองในประเทศเบลเยียม

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 3 (ค.ศ.1901-1983) กับเจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดน (ค.ศ.1905-1935) และ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1993 หลังการเสด็จสวรรคตของพระเชษฐา สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง ซึ่งไม่มีรัชทายาทสืบบัลลังก์

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พระองค์ทรงเคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี 2010-2011 และทรงเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งรัฐบาลในช่วงที่เบลเยี่ยมตกอยู่ในสภาพไร้รัฐบาล เป็นเวลานานถึง 541 วัน หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้ ระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่พูดภาษาเฟลมิชและฝรั่งเศส ที่มักทำให้รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาขาดความมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ดี ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ขั้วทางการเมืองทั้งสองกลุ่มสามารถประสานได้กันในที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศติดกับเบลเยียมอย่างเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ซึ่งทรงทรงครองราชย์เป็นพระราชินีของเนเธอร์แลนด์มา 33 ปี ก็ทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการโดย สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสขึ้นครองราชแทน

เรียบเรียงจาก Voice TV และ มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุมัติงบ 352 ล้าน วิจัยเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

Posted: 03 Jul 2013 04:31 AM PDT

 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนโครงการศึกษา วิจัย พัฒนา เทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ในการคิดค้น พัฒนา หรือริเริ่มการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนประจำปี 2556 ซึ่งในปีนี้มีโครงการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุน 24 โครงการ รวมวงเงินกว่า 352.6 ล้านบาท

โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจากข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษา ยื่นขอรับการสนับสนุนตามหัวข้อที่ประกาศ ได้แก่ งานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และงานวิจัยเทคโนโลยี และได้ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน มีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 12 โครงการ เป็นเงินสนับสนุน 185.8 ล้านบาท อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานของอาคาร โครงการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทย โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport : NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โครงการด้านพลังงานทดแทน มีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 12 โครงการ เป็นเงินสนับสนุน 166.8 ล้านบาท อาทิ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซไบโอมีเทนอัดเพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลวในอุตสาหกรรมเซรามิก โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมไบโอมีแทน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ โครงการการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการหญ้าเชื้อเพลิง (Feed stock management model) เพื่อผลิตพลังงานแบบครบวงจร เป็นต้น

"กระทรวงพลังงานคาดว่าทั้ง 24 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน จะช่วยให้การดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ในส่วนของมาตรการที่ยังไม่มีการดำเนินงาน อาทิ มาตรการบังคับให้ติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานสำหรับวัสดุอุปกรณ์ มาตรการส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งอย่างยั่งยืน มาตรการทางภาษีเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางตลาดในภาคขนส่ง ให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: สื่อไทยกับวัฒนธรรมโชว์ออฟ

Posted: 03 Jul 2013 01:05 AM PDT

ดูไปแล้วการเดินทางมาทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก(โดยเฉพาะทีวีช่องต่างๆ)  และการเดินทางมาทำข่าวอื่นหรือเหตุการณ์สำคัญบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ยังเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมาของการเดินทางมายังสหรัฐฯเพื่อทำข่าวในต่างประเทศ   

แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมๆ ที่อาจกล่าวได้ว่า  สื่อไทยไม่ค่อยมีระบบบริหารจัดการเชิงการวางแผนในการทำงานข่าวนอกบ้าน

หมายถึงสื่อเหล่านี้ยังคงไม่มีอะไรใหม่ไปฝากผู้บริโภคสื่อในประเทศไทย (คนไทย)  อย่างน้อยก็คาบเกี่ยวกับหลักการอยู่ 2 หลักการ   

หลักการประการที่หนึ่ง คือ  คนทำสื่อ หรือผู้สื่อข่าวต้องมีความรู้เรื่องอเมริกาและอเมริกันในด้านต่างๆพอสมควร ไมว่าจะเป็นด้าน การเมือง เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  สังคม  เช่น หากเป็นการรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐฯ(การเมือง) คนทำสื่อย่อมต้องมีความรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งของอเมริกัน(ระบอบอเมริกัน)

หลักการประการที่สอง คือ คนทำสื่อ หรือผู้สื่อข่าว ต้องรู้ความเคลื่อนไหวเชิงการข่าวของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ หมายถึง "ตัวข่าว" นั่นเอง


ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผมมองว่า การเดินทางมาทำข่าวของสื่อมวลชนไทยในอเมริกาง่ายกว่าแต่ก่อนมาก จากเหตุผล 2 ข้อ คือ  หนึ่ง การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น  การอนุมัติวีซ่าของสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยรวดเร็วมากขึ้น กับ สอง คือ ทุน(งบ)ในการทำงานด้านสื่อมีมากขึ้น องค์กรสื่อมีความพร้อมมากกว่าสมัยก่อน 10 กว่าปีที่แล้ว   ซึ่งหากมองย้อนหลังไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ค่าเดินทางของคนทำสื่อจะถูกองค์กรต้นสังกัดของสื่อคิดแล้วคิดอีกว่า การเดินทางไปทำข่าวในต่างประเทศจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักของนักข่าวหรือไม่

เดี๋ยวนี้ องค์กรข่าวต้นสังกัด ไม่ต้องคิดไรมาก คิดเพียงอย่างเดียวว่า จะได้ข่าวและภาพที่มาจากอเมริกาอะไรบ้างเท่านั้น  เช่น ในช่วงเหตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ภาพที่ผู้สื่อข่าวหรือทีมข่าวได้มาส่วนใหญ่ เป็นภาพการเข้าคิวของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในคูหาเลือกตั้ง  หรือ การสัมภาษณ์ประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เหล่านั้นว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการแข่งขันของ ประธานาธิบดีสองพรรคการเมือง ส่วนประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ อาจพูดได้ว่า ช่างมัน !! เพราะอย่างไรเสียก็ได้ชื่อว่า นักข่าวขององค์กรข่าวนั้นๆ เดินทางไปทำข่าวที่สหรัฐฯแล้ว  หรือแสดงว่า องค์กรข่าวเจ้าสังกัดได้ส่งนักข่าวโกอินเตอร์กับเขาแล้วเหมือนกัน  อีกนัยหนึ่งอาจเป็นในทำนองว่า การส่งนักข่าวโกอินเตอร์ดังกล่าว เป็นการบลั๊พคู่แข่งด้านข่าวองค์กรอื่นไปในที

เป็นที่ประจักษ์ว่า การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ทำให้โลกแคบลง การหาช่องว่าง "เชิงประเด็นข่าว" ย่อม มีความสำคัญมากขึ้น สื่อมวลชนผู้ผลิตข่าว ต้องหาความแตกต่างของประเด็นในการนำเสนอ เพื่อผลทางด้านการบริโภคของผู้บริโภคข่าว (rating) ซึ่งโยงไปถึงผลตอบแทนเชิงธุรกิจขององค์กรข่าวด้วยอีกส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญในโลกปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเวลาสื่อไทยไปทำงานในต่างประเทศ ก็คือ แทนที่เรื่อง "ประเด็นข่าว" จะกลายเป็นเรื่องสำคัญของสื่อ แต่กลับกลายเป็นการให้ความสำคัญกับ "ประเด็นภายนอก" คือ "การเดินทางและสถานที่"  เช่น เดินทางอย่างไร ไปประเทศอะไร      

ทั้งนี้ หากมองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคสื่อ และความเป็นมืออาชีพขอสื่อแล้ว น่าสนว่า สื่อมวลชนไทยน่าที่จะต้องคำนึงถึงหลัก 2 ประการ ในการไปทำธุรกิจ(news dealing) เรื่องข่าวและข้อมูลในต่างประเทศ ได้แก่

1.สื่อจะต้อง มีการเตรียมตัวที่ดี ทั้งในส่วนของตัวผู้สื่อข่าว สำนัก องค์กรข่าว และจุดปลายหมายทาง หรือประเทศจะไป (เช่น สหรัฐฯ เป็นต้น)  การเตรียมตัวที่ดี หมายถึงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกส่วนที่จะต้องไปทำข่าวหรือค้นหา รวมถึงการเสาะแสวงหาแหล่งข่าว(ผู้ให้ข่าว) ที่มีความเหมาะสมกับประเด็นข่าว ไม่ใช่การสุ่มหาเอาข้างหน้าแบบสะเปะสะปะ เช่น แสวงหาแหล่งข่าวเอาหน้าคูหาเลือกตั้ง เอาไมค์จ่อปากแบบขอไปที  หรือหวังให้เกิดภาพลักษณ์ออกมาเป็นแค่ว่า สื่อได้เดินทางไปเห็นบรรยากาศในประเทศนั้นแล้ว กรณีของการเลือกตั้งอเมริกัน ก็คิดว่าได้อยู่สถานการณ์รายงานข่าวในบรรยากาศของการเลือกตั้งของอเมริกันแล้ว  หากควรนัดหมายแหล่งข่าวไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทำสื่อในปัจจุบัน คือ แหล่งข่าวนั้น ต้องมีความสำคัญต่อประเด็นคำถาม พูดง่ายๆ คือ แหล่งข่าวนั้นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่ ที่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์เรื่องนั้นๆ เช่น หากเป็นในเรื่องการเลือกตั้งอเมริกัน อาจต้องสัมภาษณ์ตัวนักการเมืองอเมริกันหรือผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง นักวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้องก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่สำคัญน้อยกว่าตัวนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆที่ได้-เสียกับผลการเลือกตั้ง

2.สื่อจะต้องมีการเตรียมเรื่องประเด็นข่าว หรือประเด็นที่ต้องการจะถาม หรือประเด็นที่อยากรู้ , ข้อ นี้เป็นเรื่องสำคัญของคนทำสื่อในปัจจุบันเช่นกัน เป็นการแสดงความสามารถเชิงข่าวให้คนบริโภคข่าวได้เห็น เหตุผลคือ ความหลากหลายของสื่อและโลกที่แคบลง ทำให้ "การลอดช่องโหว่ประเด็นข่าว" เป็นเรื่องการแสดงความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว เพราะปัจจุบันคนบริโภคข่าวสามารถรับข่าวต่างๆได้จากผู้ผลิตข่าวทั่วโลกโดย ไม่จำกัดภาษาและวิธีการนำเสนอ  เช่น จาก wire services หรือ จากระบบออนไลน์ ดังนั้นการทำประเด็นข่าวที่คนอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของคนทำข่าว  ตัวอย่างกรณีการทำข่าวเลือกตั้งอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่สื่ออเมริกันสามารถล้วงลึกในรายละเอียดดีกว่า ทั้งสื่อในประเทศไทยก็มานำแปล หรือนำเสนออย่างปกติอยู่แล้ว (เป็นเรื่องธรรมดาที่สื่ออเมริกันในประเทศสามารถหาข้อมูลเชิงลึกดีกว่าสื่อ ไทยที่ไปจากเมืองไทย) แต่หากสื่อไทยที่มาทำข่าวในสหรัฐฯสามารถหาประเด็นที่แตกต่าง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ(ไทย-อเมริกา) ก็จะทำให้เกิดความแตกต่าง และเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคข่าวที่เมืองไทย ทั้งแสดงให้เห็นถึง "กึ๋น"หรือ ความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การรับข่าวสารจากอเมริกา ไม่จำเป็นถึงกับต้องส่งนักข่าวมาสหรัฐฯเสมอไป เพราะมีสื่ออเมริกันประเภทต่างๆกระจายออกไปทั่วโลกอยู่แล้ว  ความหมายของการส่งนักข่าวมายังสหรัฐฯ  จะต้องอยู่การพิจารณาแล้วว่านักข่าวต้องได้ข้อมูลเชิงลึก มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมากกว่าประเด็นอื่นที่เป็นเรื่องพื้นๆ และสำนักข่าวอเมริกันนำเสนออยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอเมริกัน ต้องไม่ลืมว่า

1.คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักประเทศไทย เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยที่ว่า คนอเมริกันรู้จักประเทศไทย  , อเมริกันรู้จักไต้หวันมากกว่าไทยและชอบคิดว่า ไต้หวันกับไทยแลนด์ เป็นประเทศเดียวกัน

2.พื้นที่การนำเสนอข่าวต่างประเทศในอเมริกามีน้อยหรือแทบไม่มี ยกเว้นกรณีเหตุการณ์ใหญ่ๆสำคัญๆเท่านั้น  จึงได้รับการนำเสนอโดยสื่ออเมริกัน โดยเฉพาะสื่อทีวี

หากมีการใคร่ครวญดังกล่าว ก็อาจจะได้คำตอบว่า

1.ความคุ้มค่าของการเดินทางมาทำข่าว(หรือสารคดีเชิงความรู้)ในอเมริกาอยู่ที่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือจากแหล่งข้อมูลที่ตรงกับจุดประสงค์ของการมาทำข่าว ไม่ใช่ได้ข่าวจากแหล่งข่าวใดหรือประชาชนอเมริกันคนใดก็ได้  หากประเด็นเกี่ยวข้องกับประเทศไทย แหล่งข่าวหรือตำแหน่งของแหล่งข่าวควร "รู้เรื่องหรือมีอำนาจ" เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สัมพันธ์ประเทศไทย เช่น ตำแหน่งของแหล่งข่าวอาจเป็นรัฐรัฐมนตรี นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้อง

2.ความคุ้มค่าของการทำข่าวอยู่ที่การป้อนประเด็นคำถามต่อแหล่งข่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่จะถามเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆทั่วไป หลายปีที่ผ่านมาตลอดถึงปัจจุบันทำเนียบขาวมีผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวนไม่ น้อยที่ประจำการอยู่ที่นั่น เพื่อรอตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศแต่ละประเทศของพวกเขา เช่น ผู้สื่อข่าวอินเดีย อาจตั้งคำถามต่อประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอินเดีย แคชเมียร์ หรือปากีสถาน เป็นต้น หมายความว่า หากเป็นผู้สื่อข่าวของไทย ก็อาจถามเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันต่อประเทศไทย ต่อประเทศในอาเซียน หรือในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค เป็นต้น

หากสามารถทำได้ดังนี้ การเดินทางมาทำข่าวที่สหรัฐฯของสื่อ ย่อมถือว่าไม่เป็นการกระทำเพื่อโชว์ออฟ แต่เพียงอย่างเดียว หากยังได้ประโยชน์ถึงประชาชนผู้บริโภคข่าวสารในประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันหลายสำนักข่าวสำคัญๆ ของเอเชีย เช่น CCTV(จีน) ,NHK(ญี่ปุ่น) หรือแม้กระทั่ง News Asia(สิงคโปร์) ถึงกับใช้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น (ในกรณีของเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ คือ การใช้ผู้สื่อข่าวอเมริกัน)มากกว่าที่จะส่งผู้สื่อข่าวมาจากประเทศที่เป็นเจ้าของกิจการสื่อเหล่านี้

เพราะ เขาตระหนักว่า แม้ส่งผู้สื่อข่าวมาก็ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะผู้สื่อข่าวที่ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่นนั้นมีประสบการณ์ในการติดต่อกับแหล่งข่าวมากกว่า นักข่าวต่างถิ่น  องค์กรสื่อเหล่าต่างประเทศเหล่านี้ยังใช้ผู้ประสานงานข่าวท้องถิ่น(Local news coordinator) เพื่อประสานให้นักข่าวจากต่างถิ่นได้เข้าหาแหล่งข่าว เช่น เพื่อสัมภาษณ์แบบถึงตัวและเข้าถึงประเด็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่อยู่ดีๆ เดินทางมาทำข่าวสหรัฐฯแล้วจะได้ข่าวและข้อมูลเชิงลึกง่ายๆ

เหมือนการ "โชว์ออฟ"  ของสื่อจากบางประเทศจำนวนไม่น้อยที่กระทำเมื่อคราวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันหรือเหตุการณ์สำคัญอื่นๆในสหรัฐฯครั้งที่แล้วๆมา.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านอาจขัด รธน.

Posted: 03 Jul 2013 12:55 AM PDT

คณิต ณ นคร ประธาน คปก.แถลง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน อาจขัด ม. 169 ของรัฐธรรมนูญ จ่ายเงินแผ่นดินทำนอกงบประมาณไม่ได้ หวั่นอนุมัติแล้วตรวจสอบไม่ได้อีก 7 ปี พร้อมเสนอแนะรัฐบาลทำในรูปแบบงบประมาณประจำปี

ภาพจากเฟซบุ๊ก สุนี ไชยรส

(3 ก.ค.56) คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....ซึ่ง คปก.ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556

คปก.มีความเห็นว่า การกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า "การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง..." ดังนั้น เมื่อการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอันเป็นหน่วยงานของรัฐ เงินกู้จึงเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งในการจ่ายเงินแผ่นดินนั้นจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตราเป็นพระราชบัญญัตินอกเหนือจากวิธีการตามที่กำหนดไว้ จึงอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้นอกจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงิน การคลังแล้ว การที่รัฐจะตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ เพื่อควบคุมองค์กรนิติบัญญัติไม่ให้ตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร  โดยกฎหมายที่ตราขึ้นนั้นต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
                
ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้  ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารเป็นเวลา 7 ปี การกู้เงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยกัน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่มีอิสระในการปฏิเสธโครงการเหล่านี้หรือเสนอโครงการพัฒนาใหม่ๆได้อีก เนื่องจากโครงการทั้งหมดถูกกำหนดไว้แล้วจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า
                
นอกจากนี้ โครงการจำนวนมากตามแผนยุทธศาสตร์แนบท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน/เศรษฐกิจ และหากโครงการดำเนินการไม่ได้หรือล่าช้า ไม่เกิดความต่อเนื่องตามระยะเวลาที่วางไว้ หรือ การเร่งรีบสรุปผลการศึกษาเพื่อให้ดำเนินการได้ทันใน 7 ปี จะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือการจัดประเภทการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีฐานะปานกลางถึงสูง ถือเป็นการวางแผนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เสี่ยงต่อปัญหาทางการเงินของประเทศในอนาคต และเป็นภาระหนี้สินสะสมของภาครัฐ

คปก.มีข้อเสนอแนะว่า การที่รัฐจะกู้เงินจำนวนมาก โดยเป็นการกู้ในนามประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดุลยภาพทางการเงินการคลังของประเทศ รัฐสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติรองรับไว้ โดยรัฐบาลสามารถดำเนินการในรูปแบบงบประมาณประจำปี และสามารถใช้วิธีการแสวงหาเงินทุนในรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นทางเลือกได้  เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน โดยไม่จำต้องตราเป็นพระราชบัญญัติที่นอกเหนือจากวิธีการทางงบประมาณ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ  และควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการอย่างรอบด้านเสียก่อนและดำเนินการโครงการเฉพาะเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจและลดจำนวนเงินกู้ที่จะต้องเกิดขึ้น
                
ทั้งนี้การกำหนดโครงการและมาตรการต่างๆ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความยั่งยืนของการตราหน้าของรัฐและศาสนา

Posted: 03 Jul 2013 12:43 AM PDT

เกริ่นนำ

"การตราหน้า" (Label) ทฤษฎีที่ถูกเสนอโดย Becker  [1] เป็นคำอธิบายสิ่งที่ผู้คนในสังคมปฏิบัติในฐานะผู้เฝ้ามองเหตุการณ์ (Audience) ซึ่งคือการกำหนดภาพพจน์และชุดคำอธิบายของผู้มีพฤติกรรมนอกรีตนอกรอย (Deviant Behavior) "อันเป็นการตราหน้าเพื่อการสร้างบรรทัดฐานของสังคม (Norm) ผ่านการมีอยู่จริง (Existence) ของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมัน" [2]  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าการฉ้อโกงเป็นพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยสำหรับสังคมพุทธศาสนา ดังนั้น ใครก็ตามที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนฉ้อโกงย่อมได้รับภาพพจน์และชุดคำอธิบายในแง่ร้ายมากกว่าแง่ดี ซึ่งการมีอยู่ของการฉ้อโกงนี้เองยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า สังคมดังกล่าวยังมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งอีกด้วย ฉะนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตจะถูกสมอ้างให้เป็นบรรทัดฐานหนึ่งในสังคมเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการอ้างอิงในครั้งต่อไป ยิ่งกว่านั้น  ลักษณะเชิงอุดมคติที่พิสูจน์ได้ยากของนามธรรมเหล่านี้ยังเข้ากันได้ดีกับสังคมยุคบริโภค (สัญญะ)  เพราะการผลิตซ้ำและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเปลี่ยนเรื่องสีดำเป็นเรื่องสีขาวที่มากพอ ย่อมทำให้ผู้เสพสัญญะถูกทำให้เข้าใจว่าเรื่องสีดำกลายเป็นสีขาวได้จริงๆ ตามเงื่อนไขการก่อรูปของความจริงเสมือน ตามข้อเสนอของ Baudrillard [3] จึงทำให้เห็นทันทีว่า "การตราหน้า" ยึดโยงอย่างไม่อาจแยกได้กับผู้ที่ครอบครองอำนาจในการสถาปนาความจริงและวาทกรรมอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ "ผู้ถูกตราหน้า" (Labeler) ย่อมไม่มีสิทธิ์และจะถูกปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกับคนในรีตในรอย  ปัญหาคือมีข้อน่าสงสัยอะไรบ้างหรือไม่? ในความยั่งยืนของการตราหน้าแห่งรัฐและศาสนา เพราะท่ามกลางความพยายามที่จะทำให้เป็นมาตรฐาน (Standardize) และเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unity) จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้วิธีตราหน้า? เพราะตามประวัติศาสตร์ของรัฐและศาสนายังไม่เคยพบความสำเร็จของวิธีนี้ในเลยแม้แต่น้อย และหลายครั้งวิธีเหล่านี้กลับก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อโครงสร้างทางสังคมอีกด้วย

เนื้อหา
ในประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจ เราสังเกตว่า "การตราหน้า" ช่วยสร้างมายาคติ (Myth) เมื่อมีความต่อเนื่องของการผลิตซ้ำที่มากพอ เช่น คำอธิบายเกี่ยวกับมายาคติทางสายตาเพื่อการเหยียดสีผิวที่คนขาวสร้างขึ้นสำหรับเหยียดคนดำของ Fanon [4] และวาทกรรมดังกล่าวก็ยังทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยซ้ำ ในฐานะภาพพจน์และชุดคำอธิบายของคนขาว ไม่ว่าจะเป็นโลกทัศน์หรือสำนวนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่จริงพลังแห่งการกดบังคับนี้มากจนถึงกับคนผิวสีบางคนก็สยบยอมไปตามการผลิตซ้ำนั้นด้วย คือ การกลายเป็นอย่างที่คนขาวตราหน้าไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้ตัว แง่นี้ คนเหล่านี้มักเป็น Subaltern (หมายถึง เป็นคนนอกโอกาสทางเศรษฐกิจ) เพราะว่าเป็นผู้ถูกกระทำและถูกจำกัดสิทธิ์อย่างต่อเนื่องนานพอและมากเสียจน หลงลืมหรือไม่รู้จักความเป็นองค์ประธานของตนเองเสียแล้ว นั่นคือ "ยิ่งพูดยิ่งแสดงออกกลับกลายเป็นการบอกโดยนัยว่าตนถูกกำหนดหรือตราหน้าไว้อย่างไร?" เพราะภาคปฏิบัติการของวาทกรรมแบ่งแยกเช่นนี้ จะจำกัดสิทธิ์ "ผู้ถูกตราหน้า" ให้ไม่สามารถติดต่อกับโลกปกติที่ชอบธรรมได้ ดังนั้น ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้ คือ สมาคมกันแต่เฉพาะพวกที่ถูกตราหน้าด้วยกัน บ่อยครั้ง การปล่อยให้ผู้ถูกตราหน้ารวมหมู่อยู่ด้วยกันเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อรัฐ เช่น ความห่างเหินระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นกรรมาชีพซึ่งก่อกำเนิดวิวัฒนาการแห่งการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ที่สุดเมื่อผู้ถูกตราหน้าสะสมจำนวนได้มากพอจนมีพลังงานศักย์ผ่านปัจจัยกระตุ้นมากพอ พวกเขาย่อมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยและจะกลายเป็นการสถาปนาวาทกรรมใหม่อีกต่อหนึ่งด้วยตรรกะต่างตอบแทน นั่นคือเบียดแทรกวาทกรรมแห่งอำนาจเดิมและสถาปนาวาทกรรมของตนเป็นอำนาจใหม่ นั่นคือ บทพิสูจน์ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า ความพยายามของกระแสหลัก (Meta narrative) ในอันที่จะคืนทุกสิ่งกลับไปสู่ความเป็นระเบียบนั้น ในลักษณะที่มีภาพพจน์จากวิทยาศาสตร์นั้น ไม่เคยเป็นไปได้ ดูเหมือนว่ายิ่งทำเท่าไรก็จะยิ่งเกิดทางเลือกใหม่ (Alternative way) หรือ ภาวะปราศจากบรรทัดฐานไปเสียทุกครั้งไป (Normless)

หากมองแบบหลังสมัยใหม่สายเข้ม (Radical) ปรากฏการณ์นี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสูตรสำเร็จหรือสูตรการแก้ปัญหาทั่วไป ประเภท Grand theory เพราะความจริงทางสังคมศาสตร์แตกต่างจากวิทยาศาสตร์มาก เนื่องจากมีการเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ อย่างสัมพัทธ์ ไม่มีความหมายที่แน่นอนถาวร (Intrinsic meaning) หากแต่มองแบบหลังสมัยใหม่สายกลาง (Moderate) ปรากฏการณ์นี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า ชุดเครื่องมือแบบเดิมๆ เป็นต้น โลกทัศน์แบบเดิม ไม่อาจใช้แก้ปัญหาและอธิบายความได้ จำเป็นต้องสร้างสรรค์และตีความตัวบทขึ้นมาเสียใหม่อย่างระมัดระวัง เป็นต้น ผ่านกระบวนการวิภาษหรือตั้งคำถาม เช่น การศึกษาแบบย้อนกลับ (Retrospective) เพื่อกระจายสิ่งที่ถูกรวมไว้ให้มีหลายเหลี่ยมจนง่ายต่อการพิจารณาและสร้างสรรค์ใหม่ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องระมัดระวังการเป็นผู้สถาปนาวาทกรรมขึ้นใหม่เสียเอง ฉะนั้น ลักษณะที่กำกวมและไม่ลงข้อสรุป-สูตรทั่วไปที่แน่ชัดย่อมช่วยคุ้มครองความหลากหลายที่ว่า เนื่องจากลักษณะที่กำกวม (Obscure) หรือไม่เป็นทางการ (Informal) ทำให้วาทกรรมยากจะถูกปรุงแต่งผ่านพิธีกรรมสถาปนาเป็นอำนาจ เพราะไร้ความเป็นมาตรฐานสากล และมายาคติแบบโครงสร้างนิยมก็ยังหนาแน่นอยู่มากในศตวรรษนี้

ศาสตร์เทียม (Pseudo-Science) เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการ "ตราหน้า" เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกมีน้ำหนักในผู้รับสาร จึงเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ เป็นต้น  MLM พุทธพาณิชย์ บุญนิยม มนุษย์พลังพิเศษ-ต่างดาว เพราะการเที่ยวแปะป้ายผ่านวาทศิลป์ว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้นเพราะแบบนี้ เป็นอย่างนี้เพราะแบบนั้น ด้วยการสมอ้างอำนาจที่ตนมีและตรวจสอบไม่ได้ ดูเผินๆเป็นหลักเหตุผลที่รับสารเข้ามาแบบไม่คิดอะไรมากแล้วก็ดูมีน้ำหนัก ที่จริงโลกสมัยใหม่ได้พัฒนาศาสตร์เทียมออกมาในรูปแบบของทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ซึ่งให้น้ำหนักกับการผลิตซ้ำที่มากพอ (เรื่องเล่าจะเหนือจริงอย่างไรก็ได้) ดังนั้น ในศตวรรษที่ 21 เราจะได้เห็น การผลิตชุดการสื่อสารอย่างซ้ำๆ ที่มีนัยสำคัญบนอินเตอร์เน็ต เป็นขั้นเป็นตอน และมีผู้ร่วมสมคบคิดหลายคน ประเด็นคือ ทฤษฏีสมคบคิดหลายข้อถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย เช่น การตราหน้าหรือใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มการเมืองคู่ตรงข้ามอย่างมีนัยสำคัญ โดยมากแล้ว หลักการเกี่ยวกับตรรกะวิบัติ (Fallacies Logic) ช่วยจัดจำแนกความสมเหตุสมผลของตรรกะได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบางเรื่องที่มีการสร้างภาพกันมาอย่างยาวนานเป็น 10 ปี หรือ 20 ปีแล้ว การแกะรอยความเป็นศาสตร์เทียม (Pseudo-Science) ยิ่งทำได้ยาก แม้ว่า เราจะสมมติฐานไปแล้วว่าน่าจะเป็นศาสตร์เทียมก็ตาม หากแต่การทิ้งเหตุผลข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วด่วนสรุปเอา ก็จัดเป็นวังวนแห่งตรรกะวิบัติอีกเช่นกัน

โดยที่ไม่ต้องมีเป้าหมายหรือเจาะจงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราพบศาสตร์เทียมได้ทั่วไป เป็นต้น ศาสตร์เทียมซึ่งรัฐเป็นผู้อนุญาตให้มีการประกอบสร้าง เช่น การเหยียดพวกลาว พวกเขมร, การเหยียดชาวเขาชนกลุ่มน้อย, การเหยียดอำมาตย์กับไพร่ [5] เหล่านี้เป็นลักษณะของการตราหน้าแบบหนึ่งทั้งสิ้น ปฏิเสธเลยไม่ได้เลยว่าก่อให้เกิดพลังงานศักย์เพื่อปลดปล่อยกลุ่มผู้ถูกตราหน้าให้พ้นจากอำนาจวาทกรรมนี้เช่นกัน เป็นต้น การสร้างวาทกรรมตอบโต้ เช่น การเหยียดไทย การเหยียดอำมาตย์ และนั่นไม่ได้หมายถึงความชอบธรรมแบบต่างตอบแทนแต่ประการใด เพราะที่จริงอยู่ในวังวนเดียวกัน ใครก็ตามที่จะฉกฉวยความขัดแย้งคู่ตรงข้ามให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองก็มักจะใช้เหตุการณ์ทำนองนี้ ประกอบสร้างตนเองขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญ เป็นต้น กรณีพระชาวพม่าที่เคลื่อนไหวเชิงอนุรักษนิยมต่อพลเมืองอิสลามในประเทศ บทพิสูจน์อย่างง่ายๆ คือ เราจะพบการได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลเป็นตัวเงินหรืออำนาจเบื้องหลังศาสตร์เทียมที่นำมาอ้างอิงนั้นเสมอ อาศัยกระบวนการตราหน้าคนอื่นว่าเป็นผู้ไม่สมควรด้วยประการต่างๆ

"ผลประโยชน์และอำนาจ" เป็นที่สิ่งรัฐและศาสนาแสวงหามากที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะความหมายดั้งเดิมของรัฐและศาสนาถูกทำให้เลื่อนไหลไปมากแล้วในกระแสหลัก ทั้งที่จริงมีตัวอย่างค้าน (Counter example) อยู่ตลอดในประวัติศาสตร์กระแสทางเลือก ทว่า การคัดค้านมักเป็นไปโดยปราศจากความรอบคอบเสียอีก จึงกลายเป็นว่า ผู้เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านอำนาจเก่า และสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมามักกลายเป็น ผู้รับผลประโยชน์รายใหม่ โดยปริยาย เช่น ความวุ่นวายเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างสายสกุลเจ้าผู้ปกครองที่เกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ตอนกลางถึงตอนปลาย ต่อเนื่องกันยาวนานนับร้อยปี มีผู้บริสุทธิ์ เด็กและสตรีเสียชีวิตจากการเปลี่ยนผ่านนี้มากมาย และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตราหน้าเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ไทย อย่างที่ทราบกันดี ปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกตราหน้า ถึงแม้ว่าจะอำพรางประวัติศาสตร์เท่าไรก็ตาม แต่การตราหน้าก็เป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของตัวมันเอง ในอนาคตและมักเป็นเหตุทำให้เกิดแรงบันดาลในการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยตนเองจากการถูกกดบังคับด้วย กลายเป็นว่า ผลประโยชน์และอำนาจเก่าจะสั่นคลอน ถ้าจะฝืนใช้วิธีตราหน้าเช่นนี้ต่อไป แต่ก็มักใช้?

หลายปฏิบัติการทางวาทกรรมของรัฐและศาสนามีกลยุทธ์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าการตราหน้าแบบใส่ร้ายป้ายสี เป็นต้น การวางแผนอย่างยาวนานและใช้ความอดทนรอคอยความสำเร็จ เช่น การรื้อฟื้นระเบียบวิธีในการแบ่งชนชั้นของผู้คนในสังคมด้วยเกณฑ์บุญ-วาสนา ซึ่งเป็นการตัดทอนข้อความในพระไตรปิฎกแล้วนำมาตีความเสียใหม่แต่ส่วนเดียว (ตรรกะวิบัติชนิดหนึ่ง) แต่จะไม่เป็นปัญหาโดยตรงต่อสังคมแต่ประการใด ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการตราหน้าผู้อื่นว่า "ไม่มีบุญวาสนา" [6] จนนำไปสู่โลกทัศน์เชิงอนุรักษ์แบบฝังหัวเกี่ยวกับ "การเป็นเจ้าคนนายคน" เพราะในขณะพูดถึงคำว่า "เจ้านาย" ก็จำเป็นต้องมีคำว่า "บ่าว" แน่นอนที่สุด ปัจเจกบุคคลของความเป็นเจ้านายย่อมปฏิบัติต่อบ่าวไพร่แตกต่างกัน ไม่มีการันตีใดเป็นเกณฑ์ว่าบ่าวไพร่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะคนเหมือนเจ้านาย หลายครั้งบ่าวไพร่จะถูกตราหน้ามาตั้งแต่กำเนิดด้วยซ้ำว่า เป็นผู้ไม่มีบุญวาสนา เป็นต้น วิธีคิดแบบทาสในเรือนเบี้ย และบ่าวไพร่เหล่านั้นจะลบการตีตรานี้ได้ก็ต่อเมื่อ ยกระดับชีวิตตนเองให้พ้นจากความเป็นบ่าวเท่านั้น จึงก่อให้เกิด อนุภาคในละครน้ำเน่าสไตล์ย้อนยุคอยู่ร่ำไป คือ การที่บ่าวสาวผู้มีความทะเยอทะยานสูงจะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งภรรยาของเจ้านาย ทำนองเดียวกันวิธีคิดแบบนี้มีบางส่วนคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเมียฝรั่งในชนชั้นล่างด้วย [7] เพื่อเป็นการตอบโต้การถูกตีตราหรือดูถูก ด้วยการให้เงินและสถานภาพทางสังคมมากลบเกลื่อนปมด้อยที่ได้รับจากการตีตราด้วย
 

สรุป
การตราหน้าเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันทั่วโลกและยังฝังแน่นอยู่ในโลกทัศน์ของทุกคนอยู่ไม่มากก็น้อย เช่น การถูกตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้คุก หรือการเหยียดคนผิวสีของคนขาว เช่นนั้นก็ดีในวิถีตะวันออกการถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏทรยศต่อแผ่นดินเป็นอนุภาคที่เกิดขึ้นบ่อย พอๆกับ การใช้เต้าไต่เต้าจากบ่าวขึ้นตำแหน่งภรรยาของเจ้านาย ตราบใดก็ตามที่การตราหน้าคนอื่นทำให้เกิดประโยชน์อเนกอนันต์กับตัวเอง เฉพาะอย่างยิ่งการตราหน้าที่ไม่จำเป็นต้องผูกเรื่องราวให้ซับซ้อนชาญฉลาดมากนัก ในสังคมที่อ่อนแอทางปัญญา ตราบนั้นการตราหน้าจะยังปฏิบัติการควบคู่กับศาสตร์เทียมอยู่ร่ำไป เพื่อล่อลวงเอาผลประโยชน์จากบรรดาผู้ที่เสพสัญญะ ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ช่วยกันสมคบคิดผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง และการสานเสวนาหรือหาทางออกของปัญหาเรื้อรังนี้ ถ้าไม่ก้าวข้ามจากมายาคติประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของแต่ละวาทกรรมตราหน้าแล้ว อาจสรุปได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิดความสร้างสรรค์ หรือแตกต่างหลากหลายขึ้นได้จริง เพราะไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รัฐและศาสนา ก็ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการควบคุม ยับยั้ง ห้ามหรืออนุญาต การตราหน้าในลักษณะต่างๆ อยู่นั่นเอง ดังจะเห็นได้จาก กฎหมายของรัฐที่ห้ามพลเมืองมิให้ตราหน้าผู้อื่นเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ในทางปฏิบัติเราเห็นการตราหน้าแบบนี้ดาษดื่นทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น รัฐคงหมดประสิทธิภาพที่จะเข้ามาควบคุมการตราหน้านี้ได้ จึงสิ่งที่เรากระทำได้ คือ เริ่มจากตัวเองและระมัดระวังตนเองไม่ให้เคลิบเคลิ้มไปกับศาสตร์เทียมและการตราหน้าที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นกันแต่ชาติปางใด?
 

 

เชิงอรรถ           
[1] Howard Becker เป็นผู้เสนอ Labeling Theory ซึ่งใช้อธิบายเหตุผลของพฤติกรรมที่ผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคม (มีสำนวนแปลไทยว่า เบี่ยงเบน-(D)eviance) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การใช้คำว่าเบี่ยงเบนซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะอาจทำให้เกิดภาพพจน์เชิงเดี่ยวเป็นต้นเบี่ยงเบนทางเพศได้ จึงใช้คำว่านอกรีตนอกรอยเพื่อให้เห็นภาพพจน์ว่า การตีตรานั้นทำให้เกิดผู้ถูกตีตรา ซึ่งจะถูกบังคับให้ปฏิสัมพันธ์กับบรรดาผู้ถูกตีตราด้วยกันเท่านั้นโดยไม่มีทางเลือก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น อาชีพโสเภณี เกย์ กลุ่มความคิดเห็นทางการเมืองแบบสุดโต่งสายต่างๆ

[2] "การยืนยันว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงโดยสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมัน" เป็นแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ ถูกนำเสนอผ่านคำอธิบายเรื่อง Differance ของแดร์ริดา กล่าวคือ สิ่งหนึ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ผันแปรไปตามบริบท ณ ขณะนั้น

[3] ทฤษฎีเกี่ยวกับการผลิตซ้ำสัญญะของ Jean Baudrillard ดูเบื้องต้นที่ บทบรรณาธิการนิตยสารวิภาษา ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 ลำดับที่ 42 โดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ https://www.facebook.com/note.php?note_id=10150978561043493

[4] Franz Fanon. Black Skin, White Masks (New York: Grove Press, 1967)

[5] "อำมาตย์กับไพร่" เป็นวาทกรรมที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงกับ "ระบบอำมาตย์กับไพร่" ในประวัติศาสตร์ และปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่อาจแทนที่หรือสรุปว่าเหมือนกันได้ แต่ทั้งสองวาทกรรมมีรากฐานมาจากการตราหน้าทั้งสิ้น

[6] "ไม่มีบุญวาสนา" ที่จริงเป็นโลกทัศน์สากล หากแต่ในตะวันตกจะเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำหนดทุกอย่างแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาในตะวันตก ถือว่า พระเจ้าไม่ได้กำหนดเรื่องนี้อย่างตายตัวทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นจากตนเอง (ก่อนที่จะเกิดยุคคริสตพาณิชย์) ในขณะวาทกรรมไม่มีบุญวาสนาของประเทศไทยยึดโยงกับความคิดว่าต้องเติมบุญเติมวาสนา จนที่สุดทำให้เกิดยุคพุทธพาณิชย์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคกลาง

[7] ในชนชั้นล่างหรือสังคมชนบท การได้เป็นภรรยาของชาวต่างประเทศ ให้ภาพพจน์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แฉอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ดันกลุ่มผู้ป่วยเสนอ พ.ร.บ.ยา ตัดทางอย.ต่อรองราคายา

Posted: 03 Jul 2013 12:43 AM PDT

อุตสาหกรรมยาล่ารายชื่อผู้ป่วย 10,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายที่จัดทำโดยบริษัทยา ห้าม อย.ต่อรองราคายา ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา เรียกร้องบริษัทยาข้ามชาติยุติการใช้ผู้ป่วยเป็นเครื่องมือ


(3 ก.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชมรมสายใยความหวังผู้ป่วย ซึ่งสนับสนุนโดยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมบริษัทยาข้ามชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ได้ออกจดหมายเชิญชวนให้สมาชิกร่วมลงรายชื่อเสนอร่าง พรบ.ยา พ.ศ...(ฉบับเครือข่ายประชาชนรักษ์สุขภาพ) โดยมีสาระสำคัญไม่ให้ อย.ทำหน้าที่ต่อรองราคายา

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นว่า วิธีนี้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้มาแล้วทั่วโลกเพื่อแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง โดยใช้เงินเป็นตัวล่อสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มเพื่อพูดแทนบริษัทยาข้ามชาติ หากจำกันได้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีความพยายามที่จะยุบคณะอนุกรรมการกำหนดราคากลางยาและพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อไม่สำเร็จสมาคมพรีม่าก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการต่อรองราคายา แต่ขณะนี้ เขากำลังหลอกใช้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งและสถาปนาคนของตัวเองในนามผู้ป่วยเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทยา

"ต้องตั้งคำถามในเชิงจริยธรรม ล้วงเงินจากกระเป๋าซ้าย แล้วก็ทำทีเป็นเทวดา มาสนับสนุนการทำงานผู้ป่วย เงินมาจากการฉกฉวยเอาประโยชน์จากผู้ป่วย น่าตั้งคำถามกับกระบวนการสนับสนุนว่า ทำเพื่ออะไร เพื่อรักษาราคาแพงเอาไว้ ไม่ให้รัฐต่อรองราคายา ล้างสมองว่า ยาต้องลงทุนวิจัย ห้ามต่อรอง แพงๆ นั่นแหละเหมาะสมแล้ว ที่ผ่านมา คนทำงานด้านเอดส์ถูกยื่นข้อเสนอจากบริษัทยามาตลอด ให้เงิน ให้ทำกิจกรรม เสนอให้ไปดูงานต่างประเทศ เสนอ 'ความร่วมมือวิชาการ' เพื่อให้ข้อมูลโดยตรงกับผู้ป่วย ซึ่งเราพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย แต่เราไม่รับเงินบริษัทยา เพราะเงินเหล่านั้นคือเงินของเราที่เขาขโมยไปในรูปของราคายาแพงๆ มีบทเรียนช่วงแรกๆ ที่บางองค์กรรับ แต่พบว่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความเอารัดเอาเปรียบของบริษัทยา เรื่องราคายา คุณพูดได้อย่างไม่เต็มปากเต็มคำ ฉะนั้น 20 ปีของการทำงานเอดส์ในประเทศไทย แทบไม่มีการรับเงินบริษัทยา

เรื่องสำคัญคือ ในระบบสุขภาพของประเทศ ต้องได้ยาที่ดีในราคาที่เหมาะสม การได้ยาในราคาที่เหมาะสม ไม่เคยได้มาจากการสำนึกรู้เองของบริษัทยาแต่ได้มาด้วยการต่อรอง มีกลไกสำคัญที่รู้โครงสร้างราคา เจรจาต่อรองให้มีการลดราคา มีกลไกบัญชียาหลักที่คำนึงถึงประสิทธิภาพ และราคา กลไกแบบนี้สำคัญ แต่บริษัทยาข้ามชาติกำลังจะยื่นกฎหมายในนามผู้ป่วยเพื่อทำลายกลไกสำคัญในการต่อรองราคายาเหล่านี้ เท่ากับการฆ่าผู้ป่วย และที่สำคัญจงใจจะแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วทั่วโลก"

นอกจากนี้ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดการเด็ดขาดกับผู้ผลิต-นำเข้ายาปลอมว่า หากเป็นยาปลอมตาม พ.ร.บ.ก็ต้องสนับสนุน แต่เกรงว่า จะพยายามขยายนิยามยาปลอมให้ครอบคลุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามที่พรีม่าผลักดันมาตลอด และยังเห็นว่า มีความพยายามสอดแทรก ระบบที่เรียกว่า Patent Linkage ให้ อย.ทำหน้าที่เป็นตำรวจทรัพย์สินทางปัญญาตามความต้องการของสหรัฐฯด้วย

ทางด้าน ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมการขายยาสู่บุคลากรสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบต่อการสั่งจ่ายยา หรือจัดหายาทำให้เกิดการใช้ยาไม่สมเหตุผล และยังทำให้ยาราคาแพงขึ้นจากต้นทุนการส่งเสริมการขายยา  ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่เสนอโดยบริษัทยาข้ามชาติครั้งนี้  จึงเป็นการดิ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจตนเองโดยแท้   ที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของภาคธุรกิจที่ให้ตัดส่วนของการควบคุมการส่งเสริมการขายยาออกไปจากร่าง พ.ร.บ.ยา ในหลายกรรมหลายวาระ ที่ชัดเจนที่สุดคือร่างกฎหมาย ฉบับของภาคธุรกิจ ที่ไปอ้างใช้ชื่อกลุ่มผู้ป่วยมาเป็นเจ้าของ ทั้งที่กลุ่มอุตสาหกรรมยาเป็นผู้ยกร่างและให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งให้แก่กลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

มีงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศ ที่แสดงความห่วงใยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ประกอบวิชาชีพ แม้แต่สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ยังประกาศกฎหมาย ให้เปิดเผยมูลค่าการสนับสนุนเงินแก่แพทย์เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานระหว่างบริษัทยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดกระบวนการ จัดการระบบธรรมาภิบาล ให้มีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 

"เรื่องแรกที่ต้องทำ หากอุตสาหกรรมยาจริงใจ คือ การประกาศจุดยืนด้านจริยธรรม ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ยอมรับและนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยมาปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้เป็นเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลในทางปฏิบัติอย่างทุกวันนี้ ทั้งที่ผ่านมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2555

ส่วนประเด็นเรื่องผู้ป่วยที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยา  ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อยๆ  และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่า หากให้การสนับสนุน จะต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝง มิฉะนั้นแล้ว เป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างยิ่ง  ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้ป่วยในเรื่องยาหลายประเด็น"

ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายากล่าวว่า ยาในประเทศไทยที่เป็นยาผูกขาด (มีสิทธิบัตร) จำนวนมาก มีราคาแพงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว  ทั้งนี้กลไกการควบคุมราคายาตามกฎหมายแบบหลวมๆ ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการให้แสดงราคาที่จำหน่ายเท่านั้น จึงเป็นที่ชื่นชอบของธุรกิจยา เพราะเป็นการเปิดอิสระในการกำหนดราคายา โดยภาคอุตสาหกรรม และไม่มีกระบวนการควบคุมราคาใดๆ เลย

"ไม่มีการประชุมคณะอนุกรรมการใดๆ ดังนั้น จึงเป็นความพยายามที่จะยังยืนยันมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพนี้ ในร่างกฎหมาย ฉบับประชาชนปลอมๆ ทั้งที่ในประเทศผู้ผลิตยาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ล้วนมีระบบการควบคุมราคายาที่เข้มแข็งทั้งสิ้น แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตยาก็ตาม ดังนั้น การมาพยายามทำให้กระบวนการควบคุมราคายาของไทยอ่อนแอลง ยิ่งจะความสร้างเสียหายให้กับทั้งประเทศไทยและคนไทย ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญใหม่ที่ อย. ดูแลอยู่ในปัจจุบันนั้นก็เป็นระบบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว และก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการมียาชื่อสามัญใหม่เข้าสู่ท้องตลาดนั้น เป็นผลดีกับผู้ป่วยเพราะมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์มีเพียงบริษัทยาต้นแบบที่ต้องลดราคายา ลดกำไรของตนเองลงมาแข่งขัน ข้อเสนอนี้จึงไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วยอย่างแน่นอน"

ทั้งนี้ สาระสำคัญในเอกสารของชมรมสายใยความหวังผู้ป่วยระบุว่า 1.ไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้ผลิต นำเข้า ขายยาปลอมต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด 2.ให้ควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายยาเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่ยกเว้นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการให้ความรู้ใหม่ๆ 3.จำแนกบทบาทของ อย.กับกรมการค้าภายในให้ชัดเจน โดยให้ อย.เน้นบทบาทประเมิน ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของยา ส่วนกรมการค้าภายในรับผิดชอบเรื่องราคายาเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วในการรักษาใหม่ๆ 4.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญใหม่ เพื่อป้องกันกรณีพิพาทในการละเมิดสิทธิบัตร 5.เพิ่มกรรมการในคณะกรรมการยาแห่งชาติโดยเฉพาะจากองค์กรผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การรักษา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำแถลงการณ์จากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในมอสโคว์ผ่านวิกิลีกส์

Posted: 03 Jul 2013 12:00 AM PDT

ในวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม (เวลา 21:40 UTC) ที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ผ่านวิกิลีกส์ (http://wikileaks.org/statement-from-edward-snowden-in.html?snow ไว้ดังนี้
*หมายเหตุ: อาจเข้าถึงเพจนี้ไม่ได้ หรือ เข้าถึงได้ยากในประเทศไทย)
**หมายเหตุประชาไท: ดูได้ที่ http://www.guardian.co.uk/world/2013/jul/01/edward-snowden-statement-wikileaks-text

 


เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้ออกจากฮ่องกง หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเสรีภาพและความปลอดภัยของผมนั้นอยู่ในสภาวะที่ถูกคุกคามจากการเปิดเผยความจริง อิสรภาพที่ผมยังได้รับอยู่นั้นเป็นผลจากความพยายามของเพื่อนใหม่และเก่า ครอบครัวและคนอื่นๆ ที่ผมได้พบ และอาจจะไม่ได้พบ ผมเชื่อมั่นพวกเขาด้วยชีวิตของผมและพวกเขาได้ตอบแทนความเชื่อมั่นนั้นด้วยการเชื่อถือในตัวผม ซึ่งผมรู้สึกขอบคุณเสมอมา

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบาม่าได้แสดงเจตนารมณ์ต่อประชาคมโลกว่าเขาจะไม่ "เข้ามาสั่งการหรือยุ่งเกี่ยวกับ" กรณีของผม ถึงขณะนี้ มีรายงานว่าหลังจากประธานาธิบดีสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เขาก็ได้สั่งการให้รองประธานาธิบดีกดดันผู้นำชาติต่างๆ ที่ผมได้ยื่นขอความคุ้มครอง เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ปฏิเสธคำร้องขอลี้ภัยของผม

เล่ห์กลเพทุบายจากผู้นำโลกคนหนึ่งนั้นย่อมไม่ใช่ความยุติธรรม และย่อมไม่เป็นแค่การเนรเทศที่นอกเหนือกฏหมายด้วย วิธีเหล่านี้เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่โบราณและย่ำแย่แบบหนึ่ง จุดประสงค์คือให้เกิดความกลัว ไม่ใช่ให้ผมกลัว แต่ให้คนที่จะทำตามผมกลัว

เป็นเวลานับหลายทศวรรษที่สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ลี้ภัยอย่างขันแข็ง ช่างน่าเศร้า ที่สิทธิซึ่งกำหนดและลงคะแนนโดยสหรัฐอเมริกา ตามมาตรา 14 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น ได้ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลประเทศของผมในปัจจุบัน การบริหารของโอบาม่าใช้ความเป็นพลเมืองมาเป็นอาวุธ แม้ว่าผมไม่ได้ถูกพิพากษาว่าผิดแต่อย่างใด แต่ก็ได้มีการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ทำให้ผมกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ด้วยความที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีใดๆ ตอนนี้ฝ่ายปกครองของสหรัฐฯ ก็ยังหาช่องทางหยุดการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐานของผม สิทธิที่ทุกๆคนมี นั่นคือ สิทธิที่จะได้ลี้ภัย

สุดท้ายแล้วรัฐบาลโอบาม่าไม่ได้กลัว "ผู้เปิดเผยข้อมูล" (whistleblower) อย่างผม แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง หรือ โธมัส เดรค หรือกลัวคนอย่างพวกเราที่เป็นคนไร้รัฐ ถูกจองจำ และ ไร้ซึ่งอำนาจ ไม่เลย หากแต่รัฐบาลโอบาม่านั้นกลัวคุณ กลัวประชาชนที่ได้รับรู้ข่าวสาร ประชาชนที่ขุ่นข้องหมองใจ ที่เรียกร้องหาการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างที่ได้สัญญาเอาไว้ – และควรจะเป็นเช่นนั้น

ผมไม่ขอก้มหัวต่อคำพิพากษาที่ได้รับและผมขอแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของหลายท่านไว้ ณ ที่นี้



เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน
วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สื่อเสี้ยมมวลชน

Posted: 02 Jul 2013 11:36 PM PDT

 
คือนกน้อย ในโถส้วม ศูนย์รวมขี้
สื่อวันนี้ แสนชั่ว เป็นตัวเสี้ยม
ขี้โกหก ใส่ไฟ เผาไหม้เกรียม
ข่าวก็เทียม นั่งเทียน เขียนออกมา
 
สมาคม ผู้สื่อข่าว ก็เน่าเหม็น
ไม่รู้ร้อน รู้เย็น ไม่เห็นหน้า
วิชาชีพ กูใหญ่ ไร้จรรยา
มีปากกา อยากด่าใคร ทำได้เลย
 
ไม่ต้องเช็ค เนื้อข่าว ที่กล่าวหา
พอพลาดท่า เพลี่ยงพล้ำ ก็ทำเฉย
จะขอโทษ หรือแก้ไข ก็ไม่เคย
ยิ่งเปิดเผย ว่าใจ ไม่เป็นกลาง
 
ประชาชน ทะเลาะ กันเพราะสื่อ
ไม่ยึดถือ จรรยาบรรณ ที่มันอ้าง
เหมือนนักเขียน นิยาย ได้สตางค์
ที่เลือกข้าง พระเอก-โจร โหนความดี
 
เป็น"สื่อเสี้ยมมวลชน" พอทนไหว
ทำหน้าที่ ตีไข่ และใส่สี
คนเกลียดชัง หวังฆ่าฟัน กันทุกที
ก็เพราะมี สื่อจัญไร ในบ้านเมือง
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: วิจัยเผยกำไรอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์สูงสวนกระแส

Posted: 02 Jul 2013 10:16 PM PDT

ติดตามข่าวสารรอบโลกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจกับ 'อธิป จิตตฤกษ์' นำเสนอเรื่องศาลสูงสหรัฐตัดสิน "ยีนที่ถูกค้นพบ" ตามธรรมชาติจดลิขสิทธิ์ไม่ได้, ญี่ปุ่นจะแซงหน้าสหรัฐในฐานะตลาดบันทึกเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

14-06-2013

ศาลสูงสหรัฐตัดสินแล้วว่ายีน "ที่ถูกค้นพบ" ไม่สามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้

เรื่องของเรื่องคือบริษัท Myriad Genetics ได้ค้นพบยีนตัวหนึ่งที่คิดว่าอาจเป็นยีนที่ใช้ระบุว่าจะเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทางบริษัทพยายามจะผูกขาดการใช้ยีนนี้ทดสอบกระบวนการดังกล่าวไปจนถึงการทดลองด้วยการจดสิทธิบัตรยีน (การทดสอบมะเร็งเต้านมที่แพงมากๆ ซึ่ง Angelina Jolie ไปทดสอบจนตัดสินใจ "ตัดนม" ก็คือการทดสอบยีนตัวนี้แหละ)

Association for Molecular Pathology คิดว่าการจดสิทธิบัตรนี้ไม่ชอบธรรมจึงฟ้องศาล และเรื่องก็ไปเรื่อยๆ ถึงศาลสูง (อ่านความเป็นมาคดีได้ที่  http://en.wikipedia.org/wiki/Association_for_Molecular_Pathology_v._Myriad_Genetics )

ล่าสุดศาลสูงตัดสินว่ายีนที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่นักวิจัย "ค้นพบ" นั้นไม่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ไม่ว่าการค้นพบนั้นจะถล่มทลายพลิกองค์ความรู้อย่างไรก็ตาม

อย่างไรก็ดีศาลก็ชี้ว่าแม้ยีนที่มีอยู่ตามธรรมชาติจะนำไปจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่ยีนที่ถูกสังเคราะห์ในห้องทดลองก็ยังจดสิทธิบัตรได้อยู่ และวิธีการทดสอบยีนก็จดสิทธิบัตรได้เช่นกัน

ทั้งนี้สำนักงานสิทธิบัตรของอเมริกาก็มีการให้จดสิทธิบัตรยีนมานานแล้ว และกรณีนี้น่าจะเป็นกรณีแรกที่ศาลสูงตัดสินถึงขีดจำกัดของยีนที่จดสิทธิบัตรได้

มีการถกเถียงถึงผลตัดสินนี้อย่างกว้างขวาง บางบรรษัทก็โวยวายว่ามันจะเป็นคำตัดสินที่ฆ่าไบโอเทคเพราะมันไม่มีการคุ้มครองให้ผู้ค้นพบยีนใช้ประโยชน์จากการค้นพบยีนใหม่ๆ แต่ก็มีฝ่ายที่เถียงว่าแนวทางการตัดสินนี้จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่มากขึ้น

แต่ที่แน่ๆ ภายหลังคำตัดสิน 1 ชั่วโมง ก็มีบริษัทเสนอบริการทดสอบยีนมะเร็งเต้านมในราคาเพียง 1 ใน 4 ของราคาเดิม คือ 995 ดอลลาร์ จากราคาเดิมของ Myriad ที่อยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130613/09593423449/supreme-court-strikes-down-gene-patents.shtml , http://infojustice.org/archives/29897 , http://www.popsci.com/science/article/2013-06/us-supreme-court-rules-breast-cancer-genes , https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/supreme-court-patents-require-act-invention

 

18-06-2013

ผลการวิจัยจาก policybandwidth ชี้ว่าอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ช่วงปี 2003-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่โดนสำเนาเถื่อนหนักที่สุดก็ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น

โดยเฉลี่ยแล้วอัตราผลกำไรหลังภาษีของอุตสาหกรรมการพิมพ์และภาพยนตร์ก็สูงกว่า 10% ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็สูงกว่า 20% ด้วยซ้ำ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหมือง และอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยราวปีละไม่เกิน 5% เท่านั้น

ทั้งนี้ในรอบ 10 ปีของการวิจัยก็พบว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์โดยรวมขึ้นมา 3.98% ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ขึ้นมาเพียง 0.75% ด้วยซ้ำ
ซึ่งอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ที่สูงอย่างสัมพัทธ์ดูจะชี้ว่าการกล่าวอ้างความเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการไล่ปราบการทำสำเนาเถื่อนมีน้ำหนักน้อยลงพอสมควรทีเดียว

News Source: http://infojustice.org/archives/29916

 

Church of Scientology อ้างอำนาจเหนือลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อปิดเว็บล้อเลียน

เป็นที่รู้กันพอสมควรว่า Will Smith นักแสดงนำ คนเขียนเรื่อง และหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ After Earth เป็นหนึ่งในสาวกของ Church of Scientology

จึงมีคนทำเว็บล้อเลียนโดยแกล้งเขียนจดหมายจากเจ้าลัทธิเชิญชวนชาว Church of Scientology ไปดูหนังเรื่องนี้ของ Smith

แน่นอนว่าทาง Church of Scientology ไม่พอใจ จึงแจ้งไปทาง GoDaddy ซึ่งเป็นผู้ให้ขึ้นทะเบียนโดเมนเนมและบริษัทโฮสต์ของเว็บไซต์ว่าเว็บล้อเลียนดังกล่าวละเมิดทั้งลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของ Church of Scientology และ GoDaddy ก็ปิดเว็บอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นเรื่องช็อคสำหรับหลายๆ ฝ่าย เพราะโดยทั่วไปแล้วการล้อเลียนนั้นถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่หนึ่ง (First Amendment) ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการพูด และการกระทำของเว็บนี้ก็น่าจะอยู่ในข่ายการคุ้มครองอย่างชัดเจน

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/church-scientology-lands-takedown-hall-shame

 

สถิติยอดขายงานดนตรีในไตรมาสแรกของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นทั้งแบบดิจิทัลและจับต้องได้ แนวโน้มนี้น่าจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดงานบันทึกเสียงทางดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปีนี้แทนอเมริกา

เคยได้รายงานมาแล้วว่าญี่ปุ่นมียอดขายงานบันทึกเสียงที่มูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกาเพียงนิดเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดีตลาดอเมริกาก็หดตัวลงเรื่อยๆ กับยอดขายของงานดนตรีดิจิทัลที่เพิ่มขึนในอัตราที่ช้าไม่ทันการลดลงของยอดขายงานดนตรีที่จับต้องได้

แต่ทางด้านญี่ปุ่นตลาดงานดนตรีดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ และยอดขายงานที่จับต้องได้ก็เริ่มกลับมาอยู่ในขาขึ้นตั้งแต่ปี 2012 แล้ว

และในอัตราการเติบโตนี้ก็คงจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดบันทึกเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนอเมริกาไปสำหรับปี 2013

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130616japan

 

22-06-2013

รัฐบาลเยอรมันยืนยันว่าซอฟต์แวร์ไม่สามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้เนื่องจากได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์อยู่แล้ว

และก็น่าจะมีการพยายามผลักมาตรฐานของการห้ามให้มีสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ขึ้นในยุโรปติดตามมาด้วย

ทั้งนี้ ประเทศแรกๆ ที่ออกมาปฏิเสธความชอบธรรมของการจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์คือนิวซีแลนด์ซึ่งประกาศไปเดือนที่แล้ว

ทางด้านอเมริกา แม้ว่าจะมีกระแสปฏิรูปสิทธิบัตรอย่างแพร่หลายตั้งในหมู่นักกิจกรรมหรือจากรัฐบาลเอง แต่แนวทางการยกเลิกสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ก็ยังไม่ชัดเจนในความคิดเรื่องการปฏิรูปต่างๆ

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/german-parliament-says-no-more-software-patents

 

02-07-2013

ศาลชั้นต้นเยอรมนีตัดสินว่าหนังโป๊ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายเยอรมัน

หลังจากบริษัทหนังโป๊อังกฤษพยายามจะหาตัวตนคนโหลดหนังโป๊เพื่อจะฟ้อง (น่าจะฟ้องเพื่อเอาค่ายอมความตามประสา "เกรียนลิขสิทธิ์") กับศาลเยอรมัน

ปรากฏว่าศาลตัดสินไป 3 ชั้นว่า

  1. บริษัทหนังโป๊อังกฤษพิสูจน์ไม่ได้ว่าตนเป็นเจ้าของคลิปที่ตนอ้างว่ามีการละเมิดจริง
  2. บริษัทหนังโป๊อังกฤษยังไม่ "ออก" หนังเรื่องนี้ในเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือดีวีดี (แม้จะอ้างว่าออกทั่วโลกในอินเทอร์เน็ต) ดังนั้นจึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์เยอรมนี
  3. เนื้อหาในหนังโป๊เป็นเพียงการแสดง "การร่วมเพศที่มีมาแต่โบราณ" เท่านั้น ไม่ใช่ผลผลิตทางปัญญาใดๆ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์เยอรมนี

News Source: http://torrentfreak.com/porn-films-dont-get-copyright-protection-in-germany-court-rules-130701/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไม? มานีต้องมีแชร์ หาคำตอบกับแอดมินแฟนเพจ 'มานีมีแชร์'

Posted: 02 Jul 2013 09:25 PM PDT

คุยกับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มานีมีแชร์' ก่อนเก้าอี้ในมือจะสั่น จากตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี สู่ Gag เสียดสีการเมืองและวัฒนธรรม

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

หากคนที่เรียนระดับประถมเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว คงยังจำตัวละครอย่างมานะ - มานี รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น, ชูใจ เลิศล้ำ, วีระ ประสงค์สุข, ดวงแก้ว ใจหวัง คุณครูไพลิน  รวมไปถึง เจ้าโต เจ้าจ๋อ เจ้าแก่และสีเทา ฯลฯ ที่เป็นตัวละครหลักในหนังสือชุดแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาในยุคนั้นได้ ซึ่งเป็นผลงานของ รัชนี ศรีไพรวรรณ ส่วนผู้วาดภาพมี 3 คนคือ เตรียม ชาชุมพร, โอม รัชเวช และ ปฐม พัวพิมล ด้วยตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ถือว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนที่โตมาในยุคนั้นเช่นกัน

ปกแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 2 เล่ม 1 ที่มีภาพมานะและมานี

ปัจจุบันยุคที่สื่ออย่างโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊กมีบทบาทมากขึ้น ตัวละครเหล่านั้นก็กลับถูกนำมาใช้ ทั้งในแง่การโพสต์เพื่อหวนรำลึกวันเก่าๆ ที่ถูกสร้างนั้น และการนำมาใช้ล้อเลียนเสียดสี อย่างแฟนเพจ หนังสือเพี้ยน ป.1  และ กาตูนร์ ระทม ที่นำตัวละครอย่างมานี ที่เป็นเด็กเรียบร้อยเรียนดี ต้นแบบเด็กไทยที่หนังสือพยายามสร้างมาใช้เป็นมีมในมุกที่เพจเสนอ และเพจที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาอย่างเพจ "มานีมีเเชร์" ที่นำตัวละครเหล่านั้นมาใช้ล้อเลียนทางการเมืองและวัฒนธรรมปัจจุบัน จน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า "อิมแพ็คของมานีและโต ที่สัญญะแม่งแรง จนคนรุ่น "แก้วกับกล้า" ยังเก็ตกับความหมาย" เนื่องจากถูกทำให้กลายเป็นสัญญะข้ามรุ่นและเป็นผลจากการทำมานีให้เป็นสินค้าด้วย ในโอกาสที่เพจดังกล่าวมียอดกดไลค์กว่าหมื่นในเวลาไม่กี่วัน ประชาไทจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับแอดมินเพจมานีมีแชร์ เพื่อทำความเข้าใจความคิดและตัวตนของพวกเขา

0000

ประชาไท : แอดมินแฟนเพจนี้เป็นใครบ้าง

แอดมินเพจ มานีมีแชร์ : หลักๆ มีแอดมินดูแลเพจแค่สองคน แต่วาดรูปมีคนเดียวค่ะ คือช่วยดูกันเป็นกลุ่มปรึกษากันเรื่องมุก เฉลี่ยอายุทุกคนเเล้วอยู่ที่ 30 หน่อยๆ ค่ะ ส่วนอาชีพก็หลากหลาย ทั้งทางด้านงานกราฟิก ช่างทำรองเท้า วิศวกร ฯลฯ

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

ทำไมถึงตั้งเพจลักษณะนี้ขึ้นมา ตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มต้นตั้งเเต่ช่วงม็อบหน้ากากวีเริ่มมีเเรกๆ ค่ะ เเต่ตอนนั้นบทเรียนมานีอยู่ในเพจ "ทวงคืนเทือกเขาอัลไต" ก่อนที่จะเเตกออกมาเป็นเพจใหม่ สาเหตุที่สร้างเพจลักษณะนี้ขึ้นมาเพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กของหนู 99% เป็นสลิ่ม เลยอยากหาที่ระบาย เพราะไม่สามารถพูดได้ที่หน้าบ้านตัวเอง

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์

ทำไมต้องเอาเก้าอี้ใส่มือมานี

ข้อนี้ไม่ค่อยอยากตอบเลย (หัวเราะ) หนูว่าแต่ละคน ดูมานีแล้วมีมุมมองที่ต่างกัน บางคอมเมนต์ไปไกลกว่าหนูอีก

ทำไมเอาตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา มานะมานี ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี เอามาใช้สื่อสาร

เพราะหนูคือ มานี แต่อยู่ในมุมมองของสาวใหญ่วัย 36 (หัวเราะ) ล้อเล่นค่ะ จริงๆ มันเป็นความบังเอิญของหนูเอง บวกความทรงพลังของมานีอยู่เเล้ว เพราะอย่างที่บอกไป มีคนติดตามเยอะมากตอนอยู่ที่อัลไต เลยต้องเเตกออกมา เพื่อจะได้ไม่ไปรบกวนภารกิจการทวงคืนเทือกเขาอัลไตกลับมาสู่ประเทศไทยให้ได้

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์
 

ตัวละครแต่ละตัวมีความหมายอะไรไหม อย่างมานีคืออะไร เก้าอี้คืออะไร และเจ้าโตคือตัวแทนอะไร

ถ้าจะบอกไปก็จะกลายเป็นการปิดกั้นจินตนาการของแฟนเพจ ผิดคอนเซ็ปต์ของโลกเสรี (หัวเราะ) เอาเป็นว่าให้แฟนๆ สมาชิกในเพจเขาให้ความหมายกันเองดีกว่าค่ะ

ใช้เทคนิคและโปรแกรมอะไรทำภาพ

ตัดแปะและ paint ทับค่ะ

ภาพ Gag จากเฟซบุ๊กแฟนเพจมานีมีแชร์
 

การทำการ์ตูนเอาเก้าอี้ฟาดเจ้าโตซ้ำๆ คิดว่ามันไม่ส่งเสริมความรุนแรงหรือ

ก็มีคนส่งข้อความมาถามเหมือนกันค่ะ แต่อยากจะบอกว่ามันเป็นแค่คอนเซ็ปต์ของเพจให้ดูขำๆ จริงๆ ทีมงานหลายคนของเพจมานีฯ ก็เลี้ยงหมากันนะคะ บางคนรักหมาตัวเองยิ่งกว่าแฟน รักยิ่งกว่าเมียอีก แต่พวกเราเข้าใจว่านี่เป็นเพียงการเสียดสี เหมือนตลกคาเฟ่รับมุกเอาถาดเคาะหัวขำๆ นั่นแหละค่ะ


(หมายเหตุ : ทางผู้สัมภาษณ์ไม่สามารถสัมภาษณ์ไปมากไปกว่านี้ เนื่องจากเก้าอี้ในมือของมานีเริ่มสั่น จึงได้ทำการตัดบทและจบการสัมภาษณ์ก่อนจะกลายเป็นเจ้าโต ทำให้พลาดคำถามสำคัญบางอย่างไป )

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียิปต์: ทหารประกาศเข้าแทรกแซงเหตุวุ่นวายทางการเมืองภายใน 48 ชม.

Posted: 02 Jul 2013 08:06 PM PDT

หลังจากที่มีการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลในอียิปต์ ทางกองทัพอียิปต์ก็ออกมาประกาศขีดเส้นตาย 48 ชั่วโมงก่อนจะเข้า "แทรกแซง" ท่ามกลางการคาดเดาว่าการแทรกแซงดังกล่าวจะเป็นการรัฐประหารหรือไม่ ปธน.มอร์ซีก็ประกาศว่าคำแถลงของกองทัพอาจสร้างความสับสน ด้านโอบาม่าย้ำวิกฤติอียิปต์ต้องแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมืองเท่านั้น

2 ก.ค. 2013 - ขณะที่ในอียิปต์ยังคงมีการประท้วงใหญ่ และทางกองทัพก็ออกมาประกาศขีดเส้นตายภายใน 48 ชั่วโมงก่อนจะ "แทรกแซง" แต่ทางประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ของอียิปต์ได้กล่าวปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ปรึกษากับกองทัพในเรื่องขีดเส้นตายการชุมนุมและกล่าวว่าเขายังจะใช้วิธีการประนีประนอมกับผู้ชุมนุม

มอร์ซีกล่าวว่าคำแถลงของฝ่ายกองทัพอาจเป็นการสร้างความสับสน ซึ่งมอร์ซีสัญญาว่าเขาจะยังคงใช้วิธีการเดิมคือการเจรจาในระดับชาติ ขณะที่ทางกองทัพเตือนว่าพวกเขาจะเข้าแทรกแซงหากรัฐบาลและผู้ต่อต้านรัฐบาลไม่สามารถเป็นตัวแทนความต้องการของประชาชนได้ อย่างไรก็ตามทางกองทัพปฏิเสธว่าการขีดเส้นตายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะทำรัฐประหาร

สำนักข่าว Mena ของทางการอียิปต์รายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอียิปต์เพิ่งยื่นใบลาออกเมื่อวันอังคาร (2 ก.ค.) เนื่องจากวิกฤติทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีอื่นๆ ลาออกไปแล้ว 4 ราย

ประชาชนชาวอียิปต์ได้เรียกร้องให้มวลชนออกมาประท้วงใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง การชุมนุมได้ดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ (1 ก.ค.) ที่ผ่านมามีผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเข้าไปทำลายที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องและให้การสนับสนุนปธน. มอร์ซี

ผู้ต่อต้านมอร์ซีกล่าวหาว่าเขาคอยเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มภราดรภาพฯ มากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2012 จากการเลือกตั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปฏิวัติในปี 2011 เพื่อโค่นล้มฮอสนี มูบารัค ผู้นำคนก่อน

บารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้มอร์ซีตอนสนองต่อความต้องการของผู้ชุมนุม โดยย้ำว่าวิกฤติการณ์ของอียิปต์ในครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการทางการเมืองเท่านั้น


ส่อเค้ารัฐประหาร?

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองก็มีบางส่วนเกรงว่า คำประกาศจากกองทัพอาจจะกลายเป็นการก่อการรัฐประหาร โดยนายพล อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี  รมต.กลาโหมของอียิปต์และผู้นำเหล่าทัพกล่าวถึงการประท้วงว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และถ้าหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทางกองทัพอาจต้องรับผิดชอบในการวางแผนอนาคต ซึ่งมีหลายคนมองว่าคำกล่าวของนายพลอียิปต์เป็นการพูดถึงการรัฐประหาร แม้ว่านายพลอับเดล ฟัตตาร์ จะอ้างว่ากองทัพจะไม่ยุ่งกับการเมืองหรือรัฐบาล

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประท้วงก็พากันส่งเสียงแสดงความยินดีเมื่อได้ยินว่าทางกองทัพ "ขีดเส้นตาย" โดยพวกเขาแปลความหมายของการขีดเส้นตายว่าเป็นการขับมอร์ซีออกจากตำแหน่ง ฝูงชนลายหมื่นคนพากันโบกธงแสดงการสนับสนุนกลุ่มประท้วงรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า "ขบวนการทามารอด" ที่แปลว่า "กบฏ" และพากันเฉลิมฉลองช่วงกลางดึกที่จัตุรัสทาห์รีร์

ทางฝ่ายภราดรภาพมุสลิม หนึ่งในสมาชิกอาวุโส มูฮัมหมัด อัล-บิลทาจิ เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนมอร์ซีเตรียมตัวพาญาติพี่น้องจากที่ต่างๆ ออกมาชุมนุมที่จัตุรัสเพื่อให้การสนับสนุนประธานาธิบดีของพวกเขา

"การพยายามทำรัฐประหารได้ๆ ก็ตาม ต้องข้ามศพพวกเราไปก่อน" มูฮัมหมัด อัล-บิลทาจิ กล่าวที่ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในย่านนัซร์ ของกรุงไคโร ท่ามกลางผู้มาฟังหลายพันคน

โดยก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวการปะทะกันด้วยอาวุธปืนระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านในเมืองซุเอช

อะลีม แมคบูล ผู้สื่อข่าว BBC ในกรุงไคโรประเมินว่า เมื่อดูจากสภาพการณ์ที่นักการเมืองทุกฝ่ายยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ ก็เป็นไปได้ที่มอร์ซีจะต้องออกจากตำแหน่งจากการขัดเส้นตาย 48 ชั่วโมงในครั้งนี้

เจเรมี โบเวน บรรณาธิการข่าวจะวันออกกลางของ BBC วิเคราะห์ว่า กองทัพเป็นทั้งวีรบุรุษและผู้ร้ายสำหรับกลุ่มคนที่เคยขับไล่มูบารัคในปี 2011 พวกเขาเป็นวีรบุรุษตอนทีช่วยปกป้องผู้ชุมนุมปี 2011 จากเจ้าหน้าที่ของมูบารัค แต่ต่อมากองทัพก็ถูกวิจารณ์ว่าอยู่ในอำนาจนานเกินไป และในความเป็นจริงแล้วกองทัพอียิปต์ก็ยังคงมีบทบาทเบื้องหลังโดยเฉพาะในด้านอำนาจเศรษฐกิจ แน่นอนว่ากองทัพอียิปต์คงไม่ยอมละจากอำนาจง่ายๆ


ขบวนการทามารอด ล่ารายชื่อร้องเรียนได้ 22 ล้านคน

เมื่อวันเสาร์ (29 มิ.ย.) ที่ผ่านมาขบวนการทามารอดได้ทำการล่ารายชื่อร้องเรียนในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อ 22 ล้านคน BBC ระบุว่า พวกเขาได้ร้องเรียนในหลายประเด็นเช่น การที่อียิปต์ยังขาดเสถียรภาพหลังจากการปฏิวัติในปี 2011 การที่คนจนไม่มีที่ยืนในสังคม อยากให้รัฐบาลกู้ยืมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน รวมถึงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกสังหารตั้งแต่การลุกฮือมาจนถึงการประท้วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

เรียบเรียงจาก

Egypt President Morsi warns of army ultimatum 'confusion', BBC, 02-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น